ประวัติ

คุณหญิงอบเชย พิพิธสมบัติ นามเดิบอบเชย ดุลยจินดา เป็นธิดานายปู่และนางเทียน เกิดเมื่อวันศุกร์แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๗ กำพร้าบิดาตั้งแต่อายุได้ ๓ ขวบ เมื่อมีอายุพอสมควร พระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สารสิน) ผู้เป็นลุงได้ส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อเสร็จการศึกษาแล้วได้ออกมาช่วยมารดาประกอบอาชีพที่บ้าน และได้สมรสกับนายตาบ กุวานนท์ หลังจากสมรสประมาณปีเศษ นายตาบฯ ได้รับทุนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติให้ไปศึกษาการบัญชี ณ ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา ๔ ปี ระหว่างนั้นมิสโคลอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวังหลังได้ข้อให้ไปช่วยปฏิบัติงานที่โรงเรียนเป็นเวลาประมาณ ๑ ปี

คุณหญิงอบเชย พิพิธสมบัติ มีบุตรธิดา ๔ คน คือ

๑. นางสาว ประพิธ กุวานนท์

๒. พลตรีประพัทธ์ กุวานนท์ สมรสกับคุณสัตยวดี จารุดุล

๓. เด็กชายวิจิตร (ถึงแก่กรรม)

๔. แพทย์หญิงมุกดา สมรสกับทันตแพทย์ประเสริฐ เกษมสุวรรณ

คุณหญิงอบเชย พิพิธสมบัติ เป็นคนทันสมัยอยู่เสมอ สมกับการศึกษาอบรมที่ได้รับจาก “โรงเรียนแหม่มโคล” ชอบอ่านหนังสืออ่านเล่น และหนังสือข่าวสารการเมืองเป็นประจำ และสนทนาเรื่องต่างๆ ได้ทุกเรื่อง รวมทั้งข่าวสารการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นผู้สนใจติดตามและจำเรื่องราวได้ทุกกาลสมัย ก่อนหน้าถึงแก่กรรมสัก ๒ เดือน ได้ปรารภว่าอยากจะอ่านพระราชนิพนธ์ วิวาหพระสมุท อีก เพราะเป็นผู้ที่มีอารมณ์ชื่นบาน และชอบยกสุภาษิตเป็นโคลงกลอนมาเปรียบเทียบประกอบการสนทนา ทำให้ผู้ร่วมสนทนาได้รับความสนุกสนานไปด้วย ท่านเป็นภรรยาที่ดีของสามี ร่วมทุกข์ร่วมสุขตั้งแต่นายตายฯ จนกระทั่งเป็นมหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพิธสมบัติ ปลัดทูลฉลองกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ดูแลการบ้านการเรือนแลอบรมลูกหลาน กับส่งเสริมให้เล่าเรียนอย่างดีที่สุดเท่าที่จะให้ได้ นอกจากลูกหลานแล้วยังไดอุปการะเด็กที่มีผู้มาฝากให้อยู่ที่บ้านได้เล่าเรียนจนสำเร็จทำการงานเป็นหลักฐานไปก็หลายคน ท่านเป็นผู้ใจบุญสุนทร์ทาน โอบอ้อมอารี เผื่อแผ่ และมีความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา เมื่อยังแข็งแรงได้ไปฟังเทศน์ที่วัดทุกวันพระ เมื่อชราได้เปิดวิทยุฟังพระธรรมเทศนาแทนที่จะออกไปนอกบ้าน ดังได้กล่าวแล้ว่าเป็นคนทันสมัย นอกจากการทำบุญช่วยในการบวชพระ ทอดกฐิน สร้างวัด ซึ่งพุทธมามกะปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำแล้ว ยังได้ช่วยการกุศลอื่นๆ อีกตามกาลสมัย ท่านเคยปรารภอยู่เสมอว่า เงินทองมีไว้ไม่ใช่สำหรับใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายให้หมดสิ้นไปหรือตระหนี่ถี่เหนียว แต่ต้องใช้ให้เป็นประโญชน์แก่ตัวเอง และแก่ผู้อื่นที่ขัดสน ท่านได้ส่งเงินไปสมทบสร้างวัดไทยที่ลอนดอนเป็นการกุศลรายสุดท้าย

คุณหญิงอบเชย พิพิธสมบัติ มีโรคประจำตัวอยู่อย่างเดียวคือโรคหืด แต่ก็มิได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคนั้น ว่าไปแล้วเป็นผู้มีอายุยืนนานกว่าพี่น้อง โดยมีอายุถึง ๘๒ ปี นางเง็ก สุจริตกุล พี่สาวใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นมารดาของคุณหญิงอนุรักษ์ราชมณเฑียรได้ถึงแก่กรรมไปก่อน ต่อมาน้องชายคนสุดท้อง อำมาตย์เอกพระยาสุวภัทรวิจิตร (กวย ดุลยจินดา) แลต่อมาจึงถึงพี่ชาย อำมาตย์เอกพระยาดุลยธรรมธาดา (เสียง ดุลยจินดา) ท่านเป็นคนสุดท้ายที่ถึงแก่กรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก หมดสติที่หน้าหิ้งพระ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๙ เวลา ๑๘.๐๐ น. บุตรและแพทย์ประจำตัวได้รีบนำส่งโรงพยาบาลหญิง แต่ก็แก้ไขไม่ฟื้น จนกระทั่งสิ้นลมด้วยอาการอันสงบเมื่อเวลา ๒๑.๐๐ น.

ด้วยอำนาจบุญกุศลที่ท่านได้บำเพ็ญไว้แล้วด้วยดี จงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ประสบแต่อิฏฐวิบุลมนุญผลในสัมปรายภพเทอญ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ