บันทึกเพิ่มเติมของผู้รวบรวม

เมื่อได้เสนอต้นฉะบับหนังสือเล่มนี้ต่อเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานแล้ว เลขาธิการราชบัณฑิตยสถานได้กรุณาจดความทรงจำซึ่งนึกได้ในระยะชั่วเวลาเขียนคำนำ ซึ่งเป็นความรู้เพิ่มขึ้นจากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังได้นำมาพิมพ์ไว้ต่อไปนี้

๑. เพลงเรือ ตามที่เคยเห็นมาไม่ใช่เริ่มร้องแต่เมื่อมีเรือหญิงมาพร้อมกันเท่านั้น บางครั้งมีเรือชายไปลอยอยู่ตามหน้าบ้านหญิงก่อน ร้องเพลงชักชวนให้หญิงลงเรือมาเล่นเพลงกัน คำลงท้ายของฝ่ายชายในตอนนี้มักลงท้ายว่า

.......................................... เชิญเจ้าฉวยพายลงเรือ
เชิญเจ้าฉวยเสื้อห้อยบ่า ฉันจะรอนาวาคอย เอย

ถ้าบ้านใดมีหญิงเก่งเพลง พวกชายก็เข้าเทียบตลิ่งร้องชวนเอาทีเดียว ฝ่ายหญิงถ้าจะลงมาเล่นด้วย มักร้องตั้งแต่ยังไม่ลงเรือ คำร้องมักเป็นคำยินดีจะไปเล่นด้วย แล้วก็ลงท้ายว่า

.......................................... ขอเชิญพี่รอนาวาคอย เอย

แล้วมาลงเรือเล่นเพลงกันไป เนื่องจากประเพณีร้องก่อนหญิงลงเรือเช่นนี้ มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งเรือชายลอยเกริ่นร้องหาหญิง พอลอยเรือผ่านหน้าวัด ก็มีเสียงหญิงร้องลงมาจากวัดว่า

๏ เรือฉันหัวตัดท้ายตัด อยู่ตามหลังวัดหลังวา
ฉันเอาน้ำขมิ้นล้างเท้า ฉันเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้า
ถ้าแม้นพี่ไปกับฉัน แล้วจะไม่มีวันกลับมา
ขอเชิญพี่รอนาวาคอย เอย ฯ  

พวกผู้ชายรู้ตัวว่าผี ก็รีบจ้ำหนี กลับถึงบ้านเป็นไข้ไปตามๆ กัน เรื่องนี้มีเล่ากันแพร่หลายมาแต่โบราณ ซึ่งเป็นพะยานอันหนึ่งว่ามีประเพณีที่ชายฝ่ายเดียวร้องเพลงเกริ่นชวนหญิงมาเล่นเพลงเรือ

๒ เพลงเกี่ยวข้าว คำที่เขียนไว้ในหน้า ๑๙ บันทัด ๑๒ ว่า “เคียวจะบาดมือเอย” นั้น ตามที่เคยได้ยินมาว่า “เคียวจะบาดก้อยเอย” และได้ฟังพวกชาวนาพูดกันว่า การเกี่ยวข้าวถ้าไม่ระวัง นิ้วก้อยจะถูกเคียวบาด และการถูกเคียวบาด มักถูกนิ้วก้อยเสมอ เพราะรวบข้าวด้วยมือซ้ายตัดด้วยมือขวา ถ้าพลาดก็มักถูกนิ้วก้อยของมือซ้าย แต่ที่จดว่า บาดมือ ก็คงไม่ผิดอะไร เพราะไทยเราพูดว่ามีดบาดมือเสมอ เราไม่พูดว่าบาดนิ้ว ข้อที่ควรสังเกตก็คือว่า เพลงเกี่ยวข้าวแม้ต่างท้องถิ่นกันไกล ความคิดในการเล่นเพลงก็ลงรอยกัน ผิดกันเล็กๆ น้อยๆ ดังจดไว้ให้ดูนี้

๓. พิสถาน เคยออกชื่อกันตรงๆก็มี ถ้าชื่อคนสามารถจะสัมผัสกับชื่อดอกไม้ เช่น

๏ พิสถานเอย มือหนึ่งถือพานดอกกรรณิการ์
เกิดมาชาติใดแสนใด ขอให้ได้กับแม่จำปา ฯ

ถ้ามีชื่อสัมผัสกับดอกไม้อยู่มาก ๆ คนในที่นั้นแล้วก็สนุกมาก

๔. พวงมาลัย ตามที่จดมานั้นแปลกจากที่เคยเห็นและเคยฟังมา พวงมาลัยที่เคยเห็นไม่ใช่ร้องแก้กัน เป็นการเล่นลูกช่วงหรือไม้หึ่ง ซึ่งฝ่ายแพ้จะต้องเป็นผู้รำ และจะต้องรำให้เป็นไปตามบทที่ฝ่ายชะนะจะร้องให้ คล้ายเกมเงากระจกของฝรั่ง เนื้อร้องตามที่เคยทราบมีสั้นกว่านี้ เช่น

๏ พวงมาลัยเอย ลอยไปทางฟากโน้น
ลอยมาทางนี้ ลอยมาหาพี่สักคน
ฟากโน้นทั้งร่ำ ใครจะรำเหมือนเอย ฯ

เวลาเปลี่ยนบทก็เปลี่ยนแต่ว่า ลอยไปทางไหน แล้วก็แก้เนื้อให้สัมผัสกัน เช่นถ้าผู้ชายถูกเป็นผู้รำ หญิงเคยร้องว่า

๏ พวงมาลัยเอย ลอยไปทางท่าอิฐ
จะหาเมียให้ ที่เป็นแม่หม้ายลูกติด
ท่าอิฐทั้งร่ำ ใครจะรำเหมือน เอย ฯ

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ