การเล่นเพลง

คำว่า “เพลง” เป็นชื่อของการเล่นหลายอย่าง ปทานุกรมของกระทรวงธรรมการแปลความไว้กว้าง ๆ ว่า “ลำนำ, ทำนอง, คำขับร้อง, ทำนองดนตรี, ท่าทาง, ชื่อการมหรสพที่ร้องแก้กันมีชื่อต่างๆ เช่นเพลงปรบไก่ เพลงฉ่อย เป็นต้น” ดังนี้ เมื่อกล่าวถึงคำว่า “เพลง” ชวนให้นึกถึงเสียงที่คล้ายกัน คือ “เปล่ง” ได้แแก่วาจาที่เปล่งขึ้น ไม่ใช่วาจาที่ใช้พูดกันเป็นปกติ ในภาษาบาลีใช้ความนี้ว่า อุทาน ซึ่งไม่หมายถึงคำพูดโดยปกติ หมายถึงคำพูดที่เปล่งออกในเวลามีความรื่นเริง มีสุข มีโสมนัสส์ เช่นสุขจริงหนอ สบายจริงหนอ อย่างเช่นนางวิสาขาสร้างโลหปราสาทถวายพระพุทธเจ้า เมื่อจัดการฉลองเสร็จเงียบร้อยแล้ว นางเปล่งอุทานแสดงความอิ่มใจที่ได้ทำบุญกุศลสมปรารถนา จนพวกพระภิกษุที่ได้ยินเข้าไปทูลพระพุทธเจ้าว่า นางวิสาขาเห็นจะเป็นบ้า นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า นางวิสาขาเปล่งอุทานออกมานั้นไม่ใช่เสียงปกติ เป็นเสียงร้องเพลง จนถึงกับพาให้พวกพระภิกษุเข้าใจไปเช่นนั้น จึงน่าสันนิษฐานว่า เปล่ง เป็นคำเดียวกับคำเพลง การที่ในปทานุกรมแปลว่า ลำนำ, ทำนอง, คำขับร้อง ก็รวมอยู่ในความว่าเปล่งเสียงผิดปกติ แต่เมื่อเอาคำว่า เปล่ง ไปใช้ในสิ่งอื่นจนชิน เช่นเปล่งรัสมี หรือใช้คู่คับคำว่า ปลั่ง ซึ่งหมายความไปทางแจ่มใส สุกใส ฯลฯ ความก็ห่างออกไป เพลงที่แปลว่า ลำนำ, ทำนอง, คำขับร้อง จะไม่กล่าวในหนังสือนี้ ส่วนทำนองดนตรี ที่ปทานุกรมแปลจากคำ เพลง ก็เหตุที่เปล่งเสียงออกจากเครื่องดนตรีเหมือนกัน แต่ทำนองดนตรีนั้น ชั้นเดิมคงไม่เรียกว่า เพลง จะเป็นแต่เสียงปรบมือ หรือเคาะไม้เพื่อให้จังหวะแก่ เพลง เท่านั้น ต่อเมื่อมนุษย์มีความคิดอ่านมากขึ้น คิดเครื่องอุปกรณ์ที่ให้จังหวะได้มากและได้หลายเสียง จนรวมเข้าเป็นวงกงเป็นประเภทตามภูมิลำเนาที่คิดได้ และสามารถดีดสีตีเป่าคลอเข้ากับเพลงได้ ใช้จดจำเป็นแบบแล้วจึงเลยเป็น เพลง ไปด้วย แต่กิริยาที่ทำให้เสียงดนตรีเปล่งออกไปได้นั้น เรียกว่าบรรเลง เห็นกันโดยมากกว่าย่อออกจากคำ เพลง หรือ เปล่ง นั้นเอง คำเช่นนี้มีมาก แต่ไม่ใช่หน้าที่ของหนังสือเรื่องนี้ และ เพลง ที่ปทานุกรมแปลว่า ท่าทาง นั้น คงจะหมายถึงแต่ท่าทางรำอาวุธ หรือท่าทางฟ้อนรำ และท่าทางเล่นหัวซึ่งมีลักษณะเช่นนั้น เช่นกวนอูรบกับฮองตงได้ร้อยเพลง ก็ยังไม่แพ้ชะนะกัน ท่าทางรำเชิด ฯ ล ฯ และท่าทาง “อันกลเพลงบทนี้ไม่มีครู” ท่าทางรบก็ดี ท่าทางรำเชิดก็ดี ฯลฯ คงเนื่องมาแต่เมื่อเดิมเริ่มฝึกหัดต้องให้จังหวะดังกล่าวแล้ว และพอตกถึงระยะเครื่องให้จังหวะกลายเป็น เพลง เข้าอีก ท่าทางรำอาวุธ ท่าทางรำฟ้อน ก็เลยอาศัยชื่อเข้าด้วย ท่าทางจึงเป็น เพลง ขึ้นอีก ทีนี้ “อันกลเพลงบทนี้ไม่มีครู” หมายความถึงการเล่นหัวของหญิงสาวชายหนุ่มในที่ลับก็ตามท่ารบและท่ารำเข้ามาอีก แต่ เพลง ที่จะกล่าวต่อไปในหนังสือนี้จะไม่กล่าวถึง เพลง ที่กล่าวมาข้างต้น จะกล่าวฉะเพาะ เพลง ที่ปทานุกรมแปลไว้ในวรรคท้าย และแปลยืดยาวกว่าเพื่อน คือ “ชื่อมหรสพชะนิดหนึ่งที่ร้องแก้กัน มีชื่อต่างๆ เช่นเพลงปรบไก่ เพลงฉ่อยเป็นต้น” ได้ลองค้นชื่อเพลงลักษณะที่ว่านี้ในหอสมุดแห่งชาติที่คัดลอกไว้ก็มี ที่พิมพ์แล้วก็มี ได้จำนวนชื่อเพลงกว่า ๒๐ ชื่อได้คัดบางชื่อมาลงไว้ ดังต่อไปนี้ :-

๑. เพลงโคราช

๒. เพลงฉ่อย

๓. เพลงเรือ

๔. เพลงเกี่ยวข้าว

๕. เพลงสงฟาง

๖. เพลงพิสถาน

๗. เพลงพวงมาลัย

๘. เพลงระบำ

๙. เพลงปรบไก่

๑๐. เพลงเทพทอง

๑๑. เพลงชาวเหนือ

๑๒. เพลงชาวใต้

๑๓. เพลงสวรรค์

๑๔. เพลงพาดควาย

เพลงอื่น ๆ ซึ่งไม่เคยได้ยินชื่อสงสัยว่าผู้แต่งจะตั้งชื่อขึ้นใหม่ฉะเพาะเรื่องหนึ่ง ๆ จึงไม่ได้จดลงไว้

ตรวจดูคำประพันธ์แห่งเพลงเหล่านี้ มีลักษณะต่างกันไม่มาก เป็นบทประพันธ์อย่างง่าย ๆ มีสัมผัสทุกๆ วรรค แต่ดูเหมือนจะไม่มีข้อบังคับอะไรนัก ยังไม่เคยพบหลักฐานที่นักวิจารณ์ได้สอบสวนวางเป็นแบบแผนไว้แน่นอน มีอยู่บ้างก็กล่าวไว้รวมๆ จึงยังไม่หาญพอที่จะกล่าวลงไปว่ามีข้อบังคับหรือไม่ แต่ถึงมีก็คงไม่จุกจิกอย่างพวกโคลงฉันท์ กาพย์กลอน ประเภทอื่น เว้นแต่ร่าย ชาวบ้านตามท้องถิ่นจึงร้องเพลงกันได้โดยมาก เทียบบทเพลงบางเพลงที่รวมพิมพ์เป็นเล่มสมุดแล้ว ดูรสชาติจะหย่อนกว่าที่เล่นที่จำกันมา ได้พยายามสืบหาบทเพลงตามนักเล่นเพลงในเวลากระชั้นได้มาเล็กน้อย พิจารณาถึงลักษณะที่แต่งพอจับเค้าข้อบังคับได้บ้าง ดังจะกล่าวต่อไปนี้

เพลงโคราช

ไหว้ครู

(สืบหาที่เพราะ ๆ ไม่ทัน จึงคัดจากหนังสือพิมพ์จำหน่ายในท้องตลาด ฉะบับโรงพิมพ์พาณิชศุภผลมาลงไว้ดังต่อไปนี้)

๑. จะยกหัตถ์เหนือผม จะประณมเหนือเกล้า
จะไหว้คุณพระเจ้า ท่านผู้มีคุณดอกเด
ไหว้ทั้งพระพุทธพระธรรม ที่เลิศล้ำในเวไนย ฯ
๒. ไหว้บิดรมารดา อีกทั้งคุณฟ้าคุณดิน
จะไหว้เสียให้เสร็จสิ้น ตามอารมณ์ประสงค์
ไหว้ทั้งครูพักอักษร ที่ได้ชี้บ่อนบอกตรงให้ ฯ

กลอนเพลงโคราชที่ตีพิมพ์และจดจำกันได้มีลักษณะดังนี้่โดยทั่วๆ ไป กลอนที่ยาวกว่านี้ก็มีบ้างจะได้อธิบายภายหลัง เมื่อตั้งกลอนขึ้นสองกลอนแล้วลองนับดู (สมมตชื่อให้ตามอย่างที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงไว้ อันมีปรากฎในหนังสือชุมนุมตำรากลอน หอสมุดแห่งชาติพิมพ์แล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗) กลอนหนึ่งมี ๓ บท บทหนึ่งมี ๒ บาท บาทหนึ่งมี ๖ อักษร (บาทหนึ่งมี ๖ อักษรนั้นไม่แน่นัก ตรวจดูในบทเพลงทั่ว ๆ ไป บาทหนึ่งมีตั้งแต่ ๔ ถึง ๗ อักษร) ส่วนสัมผัสนั้น ท้ายบาทดูวางสัมผัสตรงกันทุกกลอน (ดูเส้นที่ขีดโยงไว้) แต่กลาง ๆ บาทสัมผัสตรงตัวที่ ๒ บ้าง ที่ ๓ บ้าง ที่ ๔ บ้าง แล้วแต่เหมาะ และสัมผัสที่แปลกออกไปมีอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือท้ายบาท ๔ ไปสัมผัสท้ายบาท ๖ ไม่สัมผัสตัวถัดเข้าไปดังที่ข้ดเส้นไว้ มีตัวอย่างดังนี้

พานางชมดง

๑ เจ้าเดินเหนื่อยหรือนาง เชิญน้องมาน่งร่มนี้
เรามาอาศัยไพรศรี กันเถิดแม่น้ำเสียงใส
เรามาหยุดร่มหายร้อน เสียพอแก้กล่อนทางไกล ฯ

สอบถามตามนักเลงเพลงได้ความว่า ที่สัมผัสผิดกันเช่นนี้เป็นกลอนลง เป็นข้อสังเกตที่จะขึ้นความใหม่หรือให้ลูกคู่รับหรือพักให้อีกฝ่ายหนึ่งว่า และลงเอยก็ผิดกัน กลอนไหว้ครูข้างต้นลง เอ่ย ต่อจากตัวสัมผัสท้ายบาท ๔ คือดอกเด เช่น ที่เลิศล้ำในเว เอ่ย ไนย กลอนพานางชมดงลง เอ๋ย จากตัวสัมผัสรับท้ายบาท ๕ คือ หายร้อน เช่น เสียพอแก้กล่อน เอ๋ย ทางไกล ได้ให้นักเลงเพลงร้องดูโดยไม่แจ้งเหตุผลให้ทราบว่า ผิดกันอย่างไร เขาร้องไปหลาย ๆ บทก็ไปลง เอย ดังบทพานางชมดงเสียคราวหนึ่ง เพลงโคราชกลอนหนึ่งที่มีบทบาทมากกว่าที่ยกมาเป็นตัวอย่างก็มี เช่น ไหว้ครูหญิงตอนท้าย (คัดจากเล่มเดียวกับไหว้ครูชาย เมื่อไหว้ครูมาเกือบจบจะเลี้ยวเข้าฉะหน้าโรง) ว่าดังนี้

๑. ให้อุปถัมภ์ค้ำจุน ไปเสียด้วยบุญทำมา
๒. ชายใดจะว่า ขอให้พ่ายแพ้อย่างหมาย
๓. ให้มันต้องตกประหม่า เสียจนเลยว่าไม่ได้
๔. เจ้าหน้าเนื้อใจเสือ ไม่เคยเป็นเยื่อเป็นใย
๕. ให้ขี่คอกันมาสักพัน แม่ยังไม่พรั่นหัวใจ ฯ

กลอนนี้มีถึง ๕ บท ๑๐ บาท แต่ก็อยู่ในหลักเดิมนั้นเอง ถ้ายกเอาบทที่ ๓ ที่ ๔ ออกเสีย จะแลเห็นสัมผัสดังกล่าวมาข้างต้น สอบถามนักเลงเพลงว่าเหตุใดจึงมีมากบ้างน้อยบ้างไม่เหมือนกัน ได้รับตอบแต่เพียงว่า จะว่าให้ยาวเท่าใดก็ได้ แต่ขึ้นต้นลงท้ายต้องมีสัมผัสอย่างนั้น จึงเป็นอันเข้าใจได้ว่า ผู้หัดต้องหัดหลักกลอน ๓ บทนั้นจากครูบาอาจารย์เป็นเบื้องต้นก่อน เมื่อชำนาญแล้ว จึงใช้กลอนด้นแซกลงในระหว่าง ๆ ตามที่ต้องการว่า เพราะกลอนแซกในระหว่างกลางนั้นสังเกตดูไม่ยากนัก มีปลายบาทต้นไปสัมผัสกับกลางบาทท้าย เปิดปลายบาทท้ายเป็นสระเดียวเรื่อยไป ได้สอบถามพระเจนจีนอักษรผู้มีชาติภูมิเดิมอยู่โคราช และได้อยู่ในเขตต์เหล่านั้นกว่า ๒๐ ปี เล่าว่า เพลงโคราชนั้นแต่ก่อน ๆ มาเขาหัดกันจริงจัง ต้องท่องจำกลอนของครูให้ได้มาก ๆ แล้วไปนั่งนอนตามใต้ต้นไม้หัดว่าด้นไปคนเดียว พรรณนาลักษณะต้นไม้ที่ตนไปอาศัยนั่งนอนอยู่ตั้งแต่โคนถึงยอดให้ชำนิชำนาญ จนเห็นสิ่งใดเข้าก็สามารถพรรณนาเข้ากระบวนเพลงได้หมด ยังมีเคล็ดครูบาอาจารย์มีคาถามุตโตเสกใบไม้ให้ลูกศิษย์กินว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ทำให้มีสติปัญญาดีขึ้น ศิษย์คนใดมีความสามารถว่าเพลงด้นพรรณนาสิ่งที่ตนเห็นได้ละเอียดละออและใช้ตัวอักษรสละสลวย เรียกว่า เรียนมุตโตแตกฉาน คาถามุตโตนั้นจะว่าอย่างไรยังไม่ได้สืบ เข้าใจว่าจะยกเอาคาถาซึ่งบอกฉันทลักษณะของคัมภีร์วุตโตทัยนั้นเองไปเสก แต่เรียกเพี้ยนเป็นมุตโตไป พระเจนจีนอักษรจำเพลงที่เป็นของชาวโคราชแท้ๆ ได้มากอยู่ ได้ขอจดมาแต่สองสามบท ดังต่อไปนี้.

ชมดง

๏ โน่นแน่ต้นนมนาง ดูเหมือนอย่างนมน้อง
ต้นนมนางข้างหนอง แลดูไม่อางขนาง
พี่พิศดูนมของน้องช่างนวย ดูเหมือนหน่วยนมนางนา ฯ

จาก

 
๏ ถึงเวลาค่ำค่ำ น้องเคยตำข้าวคอย
จักรลันลอยลอย พี่เดินเลาะทางหลวง
น้องลืมกระด้งพี่ยังถือด่ง เอาตามไปส่งแม่ดวงใจ ฯ
๏ เคยอาบน้ำเล่นงอ ด้วยกันหนอแม่งาม
กระโดดตูมดิ้นตาม จิดเตใจตัน
เคยกินหูมุดหา เมื่อเวลาตะวันบ่าย ฯ

เพลงโคราชนี้เป็นเพลงที่มีชื่อเสียง ถึงกับประชาชนในจังหวัดอื่น ๆ เอาอย่างมาร้องมาเล่นเรียกกันว่าเพลงโคราช สนใจกันมากไม่แพ้เพลงฉ่อย ลักษณะการเล่นเพลงโคราชนั้น สอบถามพระเจนจีนอักษรได้ความว่าเล่นเหมือน ๆ กันกับเพลงฉ่อย คือขั้นแรกมีไหว้ครูทั้งชายและหญิง ดูกลอนไหว้ครูที่เขียนไว้ข้างต้น ขั้นที่ ๒ เกริ่น คือชายร้องเกริ่นเรียกหญิง เช่น

ชายเกริ่น

๏ ทุกวันพี่เที่ยวหานาง เปรียบเหมือนหนึ่งกวางหาหนอง
ทุกวันพี่เที่ยวหาน้อง เปรียบเหมือนหนึ่งพรานหาเนื้อ
โอ้เหมือนคานน้อยหาบหนัก ไม่รู้จะหักลงเมื่อไร ฯ

และเกริ่นบทอื่นต่อไป

เพลงเกริ่นบทนี้จำกันได้โดยมาก ถือกันว่าเป็นเพลงไพเราะ รสชาติไม่ใช่เพลงเกิดในพระนครแน่ๆ กวางหาหนอง ในท้ายบาทสองนั้น รู้ได้อย่างไรไม่ทราบ ว่ากวางหาหนองยาก แต่พวกพรานคงสังเกตได้ แต่พรานหาเนื้อบาท ๔ นั้นเป็นที่ทราบกันดีแล้ว ถ้ายิ่งพบรอยกวางเขาอ่อนด้วยแล้ว เปืนนอนค้างอ้างแรมกลางป่าทีเดียว บาท ๕ โอ้เหมือนคานน้อย แสดงถึงหัวใจอันมีอยู่นิดเดียว แต่หาบหนักคือความรักอันหนักนั้น คานจะทนได้หรือ

ต่อนี้ไปหญิงก็เกริ่นออกรับ ชายประหรือฉะหน้าโรงคือว่าปลอบอย่างเพลา ๆ ก่อน เช่น

๏ ทุกวันพี่วงตามเกียน ทุกวันพี่เวียนตามเกี้ยว
แต่ตาซ้ายน้องก็ไม่เหลียว เลยแม่กุหลาบสวนหลวง
โอ้แม่ภิญโญเนื้อเย็น เจ้าช่างไม่เห็นในดวงใจ ฯ
๏ แต่ปาเลปางหลัง เราเคยได้สร้างกุศล
มากับแม่คุณสองคน มันจริงเสียแท้มั่นคง
นี่แหละเนื้อคู่ของน้อง แม่คอปล้องจงปลงใจ ฯ

หญิงว่าแก้ชายว่าเกี้ยวค่อย ๆ แรงขึ้น ๆ กลอนเพลงที่พบและจำได้มักหยาบไม่ไพเราะ แต่เห็นจะต้องให้อภัยเพราะต้องด้นแก้กันทันควันประกอบกับเอารัดเอาเปรียบกันด้วย จึงใครนึกได้อย่างไรก็ต้องว่าไปอย่างนั้น ฟังเองจะดีกว่า พอฉะหน้าโรงแล้วก็จับเรื่อง ที่ทราบมาว่าอยู่ในลักษณะ ๔ อย่างตามธรรมชาติที่มีอยู่ประจำตัวคนคือ ลักหาพาหนี ตีหมากผัว ชิงชู้ สู่ขอ

ลักหาพาหนีนั้นมีพ่อเพลงหนึ่งแม่เพลงหนึ่งมักเดินเรื่องตอนท้าย ไม่ใคร่จับแต่เริ่มรัก หรือเอาเริ่มรักบวกเข้าไว้เสียในฉะหน้าโรง มาเริ่มตอนนัดแนะ เช่น

๏ ฉวยผ้าห้อยบ่า ลงจากเคหาขมีขมัน
รีบจรจัล คิดถึงความสัจจา
มาพบน้องที่ท่าน้ำ จึงพูดไปตามเวรามี ฯ
๏ พ่อแม่ท่านว่า เจ้าไม่สันทัดการงาน
ท่านไม่ให้ร่วมสงสาร เรารักกันสิ้นสงสัย
เรื่องแหวนผ้าคาค้าง จะทำเป็นอย่างกะไรดี ฯ

เมื่อพากันไปแล้วก็เข้าป่าเข้าดงมีการชมนกชมไม้ เคยฟังนักเลงเพลงโคราชว่าไพเราะมาก กลอนที่จำมาจดไว้นี้ถึงจะไม่ไพเราะเท่าใดก็พอเป็นตัวอย่าง เช่น

๏ เข้าป่ารังราย เห็นแต่ไม่รังเริง
เข้าป่ารังเริง ใบไม้ก็ร่วงโหรงเหรง
ได้ยินเสียงนกกระเหว่า จิตต์ให้เว้าวังเวงใจ ฯ
๏ เสียงนกกระเหว่าเราร้อง กึกก้องอรัญ
นกกระเหว่าเสียงหวาน มันมาบินว่อนผวา
นกกระเหว่าเจ้าเหวย เชิญมาเสวยลูกหว้าหวาย ฯ

ลักหาพาหนีนี้ ถ้าอ่านดูตามเค้าแต่เพียงที่จดมานี้ดูเหมือนจะกร่อยเต็มที แต่ที่จริงไม่กร่อย เพราะมีเพลงแกะเกาะเราะรายก้นเรื่อยไป เช่น เมื่อชายรับหญิงลงทางหน้าต่าง มีตัวอย่างจำได้กลอนหนึ่ง แต่ข้างต้นหายไปเสียแล้ว เหลือแต่ -

...............เจ้าจงระวังลิ่มหน้าต่าง มันจะตำเอานางตกตาย ฯ หญิงก็ว่าแก้ และเมื่อชมดงก็เหมือนกัน หญิงมักจะถามถึงพรรณสัตว์และพรรณพฤกษชาติ อาจมีเหตุผลไปในทางนิทานพื้นเมืองหรือธรรมเนียมประเพณี และมีคำเบียดแว้งในเชิงกระทบกระเทียบกันเรื่อยไป.

ตีหมากผัวนั้นมีพ่อเพลงหนึ่ง แม่เพลง ๒ หึงหวงกัน เริ่มเรื่องก็มีไหว้ครูและเกริ่นฉะหน้าโรงแล้วเดินเรื่อง ซึ่งตั้งต้นก็สมมตให้ชายไปวุ่นอยู่กับหญิงคนหนึ่ง (คู่รักหรือเมียน้อยแล้วแต่จะสมมต) กำลังปลอบหรือพ้อกัน หญิงอีกคนหนึ่ง (คู่รักเก่าหรือเมียหลวง) ไปพบเข้าทะเลาะกัน ตัวอย่าง (จำอะไรไม่ได้เลย ขออ้างตัวอย่างกลอนเพลงเรื่องโคบุตรพิมพ์ขายในท้องตลาด ตอนนางอำพันทำเสน่ห์ อยู่ในเพลงโคราชเล่ม ๑ หน้า ๔๔๙ มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ)

ชิงชู้ มีพ่อเพลง ๒ คน แม่เพลงคนเดียว เริ่มเรื่องก็มีกลอนไหว้ครูแล้วเกรินฉะหน้าโรงแล้วแยกเรื่อง มักจับเริ่มแต่ชายชู้พบเมียเขาแล้วกล่าวเกี้ยว เช่น

๏ เมื่อแรกพี่ไม่พบเจ้า เมื่อน้องเป็นสาวเต็มทรวง
เดี๋ยวนี้มาเจอมะม่วง มันก็เป็นเดนหมูมด
ถึงน้องเจ้ามีภัสดา พี่ดูหน้าตายังสดใส ฯ
๏ พี่มารู้เช่นเห็นชั่ว น้องมาได้ผัวคนพาล
ทั้งขี้เกียจขี้คร้าน การกินเหล้าก็เก่ง
เข้าโรงบ่อนแผ่เบี้ย มันมาด่าเมียไม่เกรงใจ
๏ มันไม่ได้ยัดห่าเหล้า ทำนั่งเจ่าหน้าจิ๋ว
แต่มีดสักเท่าสองนิ้ว คิดจะเอาจำนำ
อ้ายหลังยาวขี้ยา น้องจะเอามาไว้ทำไม ฯ

ลางทีเกี้ยวเมียเขาสมมตว่าหญิงไม่รัก ก็ร้องไปทางใช้เสน่ห์เวทมนต์ เช่น

๏ พี่จึงทำผงปถมัง เอาไปวางโรยหว่าน
ในโอ่งน้ำมินาน สมนึกนงนัว
ผงใส่หลงเซ่อ รักเพ้อลืมผัวไป ฯ
๏ ลืมลูกลืมเต้า ลืมเข้าลืมของ
ลืมเงินลืมทอง ลืมข้าวลืมน้ำ
ลืมหัวขุนเพ็ด เหาะระเห็ดวิ่งตามไป ฯ

เมื่อตกลงหญิงตามชู้ไปแล้ว ผัวตามไปพบก็ว่าฉะกันใหญ่โตแล้วจบ หรือบางทีเลยไปถึงฟ้องกัน ถ้าถึงตอนนี้ก็ต้องมีตุลาการเพิ่ม

สู่ขอนั้น มีพ่อเพลงแม่เพลงมาก อย่างน้อยฝ่ายละ ๓ คือจะต้องมีพ่อแม่ทั้ง ๒ ฝ่าย หนุ่มสาว เถ้าแก่ แต่ก็ซ้ำตัวกันได้บ้าง เพราะไม่ได้ประดังหน้ากันเสมอ วิธีเล่นก็เริ่มอย่างเดียวกัน มีความเสียใจที่จำตัวอย่างไม่ได้เลย และไม่มีเวลาเที่ยวสืบด้วย

ลักษณะการเล่นเพลงโคราชทั้ง ๔ อย่างนี้เมื่อขยายตัวออกไปเป็นเพลงเรื่อง ก็มักหาตอนที่เกี่ยวด้วยลักษณะ ๔ อย่างนี้ เช่นเรื่องขุนช้างขุนแผน มักเล่นตอนนางวันทองหึงกับนางลาวทอง เรื่องลิ้นทอง ตอนจับชู้ เหล่านี้เป็นต้น และขยายออกไปโดยลำดับ จนไม่มีที่สุด อย่างเช่นเพลงฉ่อยซึ่งเล่นกันอยู่ทุกวันนี้

ประเพณีการเล่นเดิม ก็คงร้องเล่นคนเดียวหรือร้องท้อกันเป็นคู่ เป็นมหรสพประจำตัว ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ที่อยู่ต่างท้องที่ท้องถิ่นจะหาความเพลิดเพลินเจริญใจได้ในเวลาว่างงาน ในที่เปล่าเปลี่ยวไม่มีอะไรจะทำให้สนุกเพลิดเพลินได้ แต่ก็เป็นธรรมดาเมื่อมีผู้ว่าได้มากและว่าได้ดี ๆ ผู้ทรามกว่าก็ย่อมอับเฉา หรือผู้มีงานการมากจะหมกมุ่นอยู่ในการฝึกหัดเพลงไม่ได้ เมื่อต้องการความรื่นเริงก็ต้องไปไหว้วานหรือจ้างออนผู้ชำนาญมาว่าให้ฟัง พาให้เพลงเกิดเป็นวิชาอาชีพขึ้น ต่อนั้นไปพวกมีวิชาอาชีพเช่นเดียวกันก็ต้องแข่งขันกันเอง แข่งขันกันคนละคราว แล้วก็แข่งขันประชันหน้า หาเรื่องให้เหมาะแก่งานที่เจ้าภาพหาไปเล่น เช่นงานโกนจุกก็ว่าเรื่องโกนจุก งานบวชนาคก็ว่าเรื่องบวชนาค อย่างปุจฉาวิสัชนา ยังแถมประกวดกันในเชิงกลอนและสระสัมผัสให้ยากขึ้นไป ที่เคยใช้สระง่ายๆ เช่น อา อี ไอ อัน อะไรเหล่านี้ กลายเป็น เอะ แอะ โอะ เอาะ จนสิ้นเสนาะเพราะพริ้ง เสียงตี๊กๆ ตั๊ก ๆ ยิ่งมีคนชมว่าว่ากลอนตายดีก็ยิ่งตี๊กตั๊กกันไปใหญ่ การแข่งขันนั้นเองทำให้เพลงเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ เพราะต้องการให้ทันสมัย จนถึงประเพณีเดิมหาย กลายเป็นเพลงวงเพลงเรื่องดังปรากฎอยู่ทุกวันนี้ เพลงฉ่อยก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเนื้อเพลงโคราชก็ดี เพลงฉ่อยก็ดี ที่ส่องให้เห็นธรรมชาติโบราณจึงค่อย ๆ จางไป มีเพลงกลอนใหม่ ๆ ขึ้นแทนที่เสมอ ๆ ไม่เหมือนเพลงบางชะนิดที่ไม่เป็นอาชีพ แต่เป็นเพลงเล่นสำหรับพักผ่อนหย่อนใจในเวลาว่างงาน เช่นเพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงพิสถาน (อธิษฐาน) เพลงพวงมาลัย และเพลงระบำ ขอวาดภาพแห่งเพลงเหล่านี้ให้ดูแต่สิ่งละอันพรรณละน้อยพอเป็นตัวอย่างตามที่จดและจำได้

เพลงเรือ

ปลอบ ชาย

๏ รอเรียงเคียงประทับ สองมือพี่ก็จับนาวา
ให้น้องเอาเสียงขึ้นมาร้อง นึกว่าฉลองผ้าป่า
มีมั่งก็ไขว่าได้ก็ว่า ไม่มากสักห้าคำ ฯ

หญิง

๏ ได้ยินเสียงชายมากรายเกริ่น ตัวน้องไม่เนิ่นอยู่ช้า
ครั้นจะไม่เล่นจะว่าเช่นหญิงชั่ว จะว่าเล่นตัวเล่นตา
จะเล่นเสียสักหน่อยไม่ให้น้อยแก่หน้า เสียแรงพี่ได้มาวอน ฯ

เพลงเรือเป็นเพลงเล่นตามใจสมัครของชาวบ้าน พอขึ้นต้นก็บอกให้รู้ได้ว่าเล่นกันในเรือ เพลงเรือเหล่านั้นไม่มีใครเชื้อเชิญหรือจ้างหา ล้วนแต่เรือเพลงที่มาเล่นตามใจสมัคร พอกลองผ้าป่าตูม ๆ ต้อม ๆ มาตามลำน้ำในเวลาราตรี หนุ่มสาวชาวบ้านได้ยินต่างก็รีบแต่งตัวคว้าพายลงเรือพวกละมากบ้างน้อยบ้าง ชายที่เล่นเพลงเป็นมักไปลำพังชาย หญิงที่เล่นเพลงเป็นมักไปลำพังหญิง แต่มักมีชายถือท้ายเรือ ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันอยู่ตามธรรมเนียม ถ้าหญิงชายปนไปในลำเดียวกัน เป็นการตะขิดตะขวงในการเล่น และไม่ถนัดว่าฝ่ายไหนจะเป็นชายฝ่ายไหนจะเป็นหญิง ชายหญิงที่ปนไปในลำเดียวกันมักเป็นพวกไม่สันทัดเพลง หรือไม่สมัครจะเล่น แล้วต่างก็พายเรือตามเรือทรงผ้าป่าไป เรือผ้าป่านั้นมักแห่ไปเหนือน้ำแล้วล่องลงมาทางใต้ เพื่อให้ชาวบ้านได้ยินเสียงกลองจะได้โมทนา หรือเผื่อเรียกเรือให้มามาก ๆ มีเรือพวกเหล่าเล่นค่อย ๆ จูงไป ตอนแรกก็ยังไม่สนุก เพราะพวกเรือบ้านใกล้เรือนเคียงกันจะเล่นเพลงกันบ้างก็เพียงประปรายฐานชอบพอคุ้นเคย พอตกเข้าหลาย ๆ คุ้งน้ำ มีเรือพรั่งพร้อม ชายเพลงก็สังเกตเรือหญิง เห็นลำไหนเข้าทีก็กรายเข้าไปปลอบ ถ้าหญิงไม่สมัครเล่นก็นิ่งเสียไม่ตอบ ออดกันอยู่เล็กน้อยพอเห็นว่าท่าไม่ดีก็เลยไปลำอื่น ถ้าหญิงตอบแต่หญิงไม่สู้สันทัดเพลงก็เป็นแต่ประปรายกันเล็กน้อยแล้วเลิก ในกระบวนนี้มักจะมีหญิงชายในบ้านเหนือบ้านใต้ที่สันทัดเพลงคาดหมัดกันไว้ ถ้าคู่นั้นพบกันเข้าก็เป็นได้ชก ชาวบ้านทราบกันดีอยู่โดยมากว่าคู่ไหนพอเปรียบกับคู่ไหน ถ้าคู่คาดเชือกขึ้นเวที เรือก็เข้ามาล้อมเป็นกลุ่ม ลักษณะเล่นเพลงเรือไม่เคยได้ยินว่ามีเพลงไหว้ครู พอประกันเข้าก็ปลอบดังที่จดไว้ให้ดูสองบทแล้ว ต่อนั้นก็มีประ (อย่างฉะหน้าโรง) ถ้าเวลาน้อยก็ประกันเรื่อยไป ขอจดกลอนประไว้ให้ดูสักบทตามที่จำได้

๏ พิศดูตัวน้องแม่ทองคำ เปรียบเหมือนหนึ่งลำสำเภา
เจ้าอยู่คนเดียวเห็นจะเปลี่ยวน้ำใจ ด้วยยังไม่มีใบมีเสา
ทั้งคลื่นจะโย้ราโทจะแยก สำเภาน้องจะแตกน้ำจะเข้า
แม่ใจอารีจงเอาพี่ไว้ใช้ แต่พอได้เป็นใบเป็นเสา
จะได้แล่นออกแล่นเข้า กันกับตัวของเจ้างาม ฯ

เมื่อประกันแล้ว ถ้ามีเวลาก็เล่นเรื่องมีลักษณะเช่นกันกับเพลงโคราช อยู่ในลักษณะลักหาพาหนี ตีหมากผัว ชิงชู้ สู่ขอเหมือนกัน แต่เพลงเรือเมื่อจวนจะเลิกมักว่าเพลงจาก ดูก็เข้าทีเพราะเขาเล่นกันโดยใจสมัคร อาจรักใคร่กันขึ้นในเวลานั้นก็ได้ จึงจูงน้ำใจไปในทางอาลัยอาวรณ์ ด้วยเล่นกันตามลำพังหนุ่ม ๆ สาว ๆ ขอยกกลอนจากตามที่จำได้มาให้ดูกลอนหนึ่ง ดังนี้

๏ สองกรเข้าข้อนทรวง น้ำตาไหลร่วงลงหยดย้าง
คนงามฉันเอ๋ยกะไรเลยไม่ยืด ไม่ทันที่จะจืดหรือเจ้าก็มาจาง
เจ้ามาสละสลัดไมตรี มาตัดพี่เสียตามทาง
เรารักกันเอ๋ยนี้มันก็ยาก เมื่อยามจะจากเจ้าไม่เหลียวหลัง
ช่างมาแรมทุเรศเสียไม่เวทนัง ดังหัวอกพี่จะพังตาย ฯ

ความดูก็เข้าที เพราะมันจากกันกลางทางจริง ๆ

ลักษณะกลอนของเพลงเรือนี้คล้ายกับเพลงโคราชและเพลงฉ่อย แต่หย่อนกว่า เพราะสัมผัสบทต้น ๆ เท่ากับบทแทรกของเพลงโคราช ไม่เดินสัมผัสอย่าง ๓ บาทต้นของเพลงโคราช สัมผัสตอนท้ายเดินคล้ายร่ายยาว แต่อักษรในบาทหนึ่ง ๆ นั้นดูยาว ๆ กว่าเพลงโคราชมีถึง ๘ ถึง ๙ ก็มี ขอให้พิจารณาดูตามตัวอย่างที่จดลงไว้นั้น

เพลงเรือนี้เล่นกันในฤดูน้ำ เวลาปักดำทำนาแล้ว ในงานไหว้พระประจำปี เช่นวัดปากโมกข์ และวัดป่าเลไลยบ้าง ในงานฉลองกฐินบ้าง งานผ้าป่าบ้าง แต่ที่เล่นกันชุกนั้นในงานทอดผ้าป่าดังกล่าวแล้ว เพราะเป็นการง่าย อยากเล่นกันเมื่อไรก็หาผ้าเหลืองผืนสองผืนกล้วยอ้อยเป็นต้น ลงเรือตุ่งๆ ตุ่งๆ ไปเท่านั้น เป็นที่น่าเสียดายที่ภาพเหล่านี้ค่อยๆ เลือนลงไป เกือบจะลบอยู่แล้ว เพราะอะไร? ตอบอย่างง่าย ๆ ว่า เพราะชาวบ้านไม่ชอบเล่นด้วยตนเอง ชอบแต่ดู อย่างชาวพระนคร

เพลงเกี่ยวข้าว

ถัดฤดูน้ำไปก็ถึงฤดูเกี่ยวข้าว ชาวชนบทก็ยังหาความรื่นเริงได้ในเวลาทำงาน เช่นเล่นเพลงเกี่ยวข้าวในเวลาลงแขก หรือเกี่ยวข้าวอาสา ถ้าไม่ลงแขกมีแต่พี่ๆ น้อง ๆ ก็ไม่เล่น เพราะการยั่วยวนคนในเรือนเดียวกัน ไม่ใช่กิจที่จะพึงทำ ดูเขาก็ฉลาดแบ่งเวลาและบทเพลงดี คือเวลาเกี่ยวนั้นมีร้องประปรายกันเล็กน้อย เพลงที่ว่าก็เป็นกลอนสั้นๆ พอที่จะร้องจะว่าได้ทั่วๆ ไป เช่น

๏ คว้าเถิดหนาแม้คว้า รีบตะบึงให้ถึงคันนา
จะได้พูดจากัน (เอ่ย) ฯ  
๏ เกี่ยวเถิดหนาแม่เกี่ยว อย่ามัวแลมัวเหลียว
เคียวจะบาดมือ (เอ่ย) ฯ  
๏ เกี่ยวข้าวแม่ยาย ผักบุ้งหญ้าหวาย
พันที่ปลายกำ (เอ่ย) ฯ  
๏ คว้าเถิดหนาแม่คว้า ผักบุ้งสันตะว้า
คว้าให้เต็มกำ (เอ่ย) ฯ  

คำเล็กน้อยๆ หยุมๆ หยิมๆ เหล่านี้ ร้องเป็นการยั่วเย้ากันในเวลาเกี่ยว เป็นโอกาสให้หญิงสาวชายหนุ่มรู้จักท่วงทีกิริยากัน และยังไม่มีคำเผ็ดร้อน พอตกเย็นหยุดพักเกี่ยวข้าวแล้วจึงเล่นกันใหม่ เรียกว่ารำกำรำเคียว คือถือกำข้าวมือหนึ่งถือเคียวมือหนึ่ง ตอนนี้ตั้งวง เริ่มต้นไหว้ครู (ตามที่จดมาได้)

ไหว้ครู

๏ ลูกจะไหว้โพธิ์ศรีแม่โพสพ แม่นพดารา
นางพระธรณีแม่พระคงคา ลูกก็ไหว้
ให้มาปกเกล้าปกผม ลูกรักดังร่มโพธิ์ไทร ฯ
๏ ไหว้ครูเสร็จสรรพ ลูกจะคำนับคุณใหม่
ไหว้บิดรมารดา ที่ท่านเลี้ยงมาจนใหญ่
ได้อาบน้ำป้อนข้าว มาแก่ตัวของเรานี่กะไร
ทั้งน้ำขุ่นมิให้อาบ ขมิ้นหยาบๆมิให้ทา
ท่านเอาลูกใส่ในเปล ร้องโอละเห่ละช้าไกว ฯ

พิจารณาคำตามกลอนข้างบนนี้ จะเห็นได้ว่าออกมาจากน้ำใจจริงแห่งชาวนา ไหว้คุณต้นโพธิ์ที่หยุดพักร้อน และข้าวดาวนพเคราะห์ ดินน้ำเป็นพระเจ้ายิ่งกว่าพ่อแม่ ซึ่งก็เป็นที่พึ่งที่อาศัยของเขาจริงๆ ไหว้ครูแล้วก็เริ่มปลอบและฉะหน้าโรงกันต่อไป ขอยกตัวอย่างกลอนปลอบซึ่งหอสมุดแห่งชาติคัดไว้ดังต่อไปนี้

บทปลอบ - ชาย

๏ พี่จะขอฟังสำเนียงเสียงน้อง แม่เอ๋ยจงร้องร่ำว่า
พี่เข้ามาปลอบแม่ทรามสงวน ทั้งกาลก็จวนเวลา
ขอเชิญแม่เยื้อนเอื้อนโอฐ เถิดแม่พวงมะโหดสุมนทา
แม่งามประกอบจงตอบวาจา เถิดแม่ดอกจำปาทอง (เอ่ย) ฯ
๏ ถ้วนกำหนดสามบทปลอบ แม่งามประกอบไม่ตอบมา
เสียแรงพี่มาวอนแม่ยอดรัก อยู่ก็เป็นนักเป็นหนา
ขอเชิญน้องร้องน้องรำ พี่จะขอฟังน้ำคำเจ้าเจรจา
อย่าให้พี่ชายขายหน้า ที่เพื่อนเขามาเลย (เอ่ย) ฯ

หญิง

๏ แต่พอพี่เอ่ยทรามเชยก็ร้อง ตอบสนองสนทนา
ฉันเสียแค่นของพี่ไม่ได้ ซังกะตายจำจะว่า
ไหนๆก็ได้เข้ามาปลอบ แล้วจำจะตอบวาจา
มิให้พี่ชายอายหน้า ที่เพื่อนเขามาดอก (เอ่ย) ฯ

ระยะที่ว่าเพลงนี้มือที่ถือกำข้าวและเคียวก็รำไปตามจังหวะของคำที่ร้อง เพลงเกี่ยวข้าวนี้กลอนและทำนองคล้ายกันมากกับเพลงเรือ แต่เพราะมีเวลาน้อย ประกอบทั้งเกี่ยวข้าวเหนื่อยมาแล้วจึงไม่สู้จะเล่นกันนานนัก

เพลงสงฟาง

เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จถึงเวลานวดข้าว ประเพณีเก่าๆ หมู่บ้านหนึ่งๆ มักทำลานใหญ่ ๆ นวดข้าวรวมกัน ผลัดกันนวดคนละวันสองวัน ฯลฯ ตามที่ใครได้ข้าวมากและน้อย ใช้วัวควายตามที่มีนวด ถึงมีแข่งวัวแข่งควาย คือหาวัวควายมีฝีเท้าจัดผูกปลายแถวให้หลั่นลงมาตั้ง ๒๐ ตัว ถ้าปลายแถวฝีเท้าเร็วไม่พอมักถูกลาก ถ้าปลายแถวฝีเท้าจัดมากวิ่งบิดแถวได้ก็ยกย่องกันว่าดี เป็นที่สนุกครึกครื้น ย่ำปลายรวงพอฟางลอยขึ้นมาบ้างก็พานฟาง อยู่ในสองสามคราว ก็ถึงรุ รุแล้วฉีกอก ฉีกอกแล้วพานอีกราวสองสามครั้งก็เสร็จ เวลาพานฟางและรุและฉีกอกนี้และชาวบ้านถือขอฉายออกมาประชุมกันพร้อม พานฟางไปพลาง ร้องเพลงสงฟางไปด้วย

เพลงสงฟางนั้นใช้กลอนสั้น ๆ อย่างง่ายๆ เช่น

๏ พานเถิดหนาแม่พาน พี่มานั่งรอบขอบลาน
มาช่วยน้องพานฟาง (เอ่ย) ฯ  
๏ สงเถิดหนาแม่สง แม่คิ้วต่อคอระหง
ขอเชิญแม่สงฟาง (เอ่ย) ฯ  

ถ้ามีพ่อเพลงแม่เพลงดี ก็ว่ากลอนยาว ๆ อย่างเกี่ยวข้าวเหมือนกัน

แต่เดี๋ยวนี้ ถ้าท่านออกไปตามชนบทจะหาลานใหญ่ๆ ทำยายาก มีแต่ลานเล็กๆ ใช้วัวควายตัวสองตัวย่ำต๊อกๆ ไป ของใครของมัน เข้ากันไม่ติด หัวอกชาวนาอาภัพลงมาก เพลงสงฟางก็พลอยอาภัพไปด้วย

เพลงพิสถาน (อธิษฐาน)

พอนวดข้าวเสร็จก็ถึงเทศกาลตรุษสงกรานต์ หญิงชายชาวบ้านไปทำบุญที่วัด หนุ่มสาวหาพานดอกไม้เข้าไปในโบสถ์ ว่าเพลงพิสถาน (คือตั้งสัตย์อธิษฐาน) ดังๆ ดูไม่กระดากกันเลย จดมาได้ ๒ คำฉะเพาะถิ่นบ้านบางพลับกับบ้านกระบอกอยู่ใกล้ ๆ กัน (อยู่ในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี)

ชาย

๏ พิสถานเอย มือหนึ่งถือพานดอกจอก
เกิดมาชาติใดแสนใด ขอให้ได้พวกบ้านกระบอก ฯ

หญิง

๏ พิสถานเอย มือหนึ่งถือพานปากกระจับ
เกิดมาชาติใดแสนใด ขออย่าให้ได้พวกบางพลับ ฯ

พิสถานตามและหนีกันอยู่อย่างนี้ แต่เพลงที่พิสถานนั้นดูใช้ถ้อยคำละเมียด แม้เสียดสีกันบ้างก็ไม่ใคร่หยาบ เห็นจะกระดากพระพุทธรูป เดี๋ยวนี้เพลงพิสถานก็กร่อยลงเหมือนกัน ว่ากันพอสมควรแล้วก็กลับมาพักผ่อนในเวลากลางวัน ตกเวลาเย็นออกไปชุมนุมกันหลังบ้าน เล่นลูกช่วงบ้าง ไม้หึ่งบ้าง แล้วจับวงเล่นเพลงพวงมาลัยต่อไป

เพลงพวงมาลัย

ชาย

๏ ลอยล่อง พี่จะขอร้องเป็นพวงมาลัย
น้องจะเล่นก็เล่น จะให้วงพี่เย็นทำไม
น้องจะรำก็รำ คนสวยอย่าร่ำพิไร
ช่อมะม่วงพวงมาลัย รำได้รำไปเถิด (เอย) ฯ

หญิง

๏ ลอยมา ลอยมาจะขอฟัง
พี่มายืนเป็นแถว พี่มีเมียแล้วหรือยัง
ผมกระจายลายกระจัง บอกน้องบ้างเถิด (เอย) ฯ

ชาย

๏ ลอยมา ลอยมาแต่ไกล ๆ
พี่ได้แบกรักข้ามทุ่ง มาเป็นสองกระบุงใหญ่ ๆ
ฝนไม่ตกซังไม่อ่อน พี่ไม่ขอย้อนกลับไป
พวงเอ๋ยมาลัย ไม่ได้ไม่ไปเลย (เอย) ฯ

หญิง

๏ ลอยมา ลอยมาก็ลอยไป
มาถึงมาพึ่งว่ารัก น้องยังไม่รู้จักว่าใคร
พวงเอ๋ยมาลัย น้องรับไม่ได้แล้ว (เอย) ฯ

ชาย

๏ ลอยมา ลอยมาก็ลอยไป
เรามาผูกรักกันเสียบ้าง จะขืนผูกชังไปทำไม
ช่อมะม่วงพวงมาลัย รับรักพี่ไว้เถิด (เอย) ฯ

หญิง

๏ ลอยมา พัดชีวาเย็นใจ
ถ้าพี่รักจริงให้พี่มาขอ ถ้าพี่รักล้อให้ถอยไป
พวงเอ๋ยมาลัย เชื่อคำน้องไว้เถิด (เอย) ฯ

ชาย

๏ ลอยมา ได้ฟังน้องว่าก็เสียใจ
อ้ายเรื่องสู่ขอมันก็จะช้า เรามาพากันไป
พวงเอ๋ยมาลัย เชื่อคำพี่ชายเถิด (เอย) ฯ

หญิง

๏ ลอยมา ลอยมาก็ลอยไป
พ่อแม่ท่านเลี้ยงมายาก จะกินขันหมากให้ได้
ไม่ได้กินหนมต้มอมน้ำตาล น้องไม่รับประทานของใคร
พวงเอ๋ยมาลัย ถอยหลังกลับไปเถิด (เอย) ฯ

ชาย

๏ ลอยมา ลอยมาแต่ไกลๆ
พาไปก่อนค่อยย้อนมาแต่ง ฝากระดานแดงๆ ถมไป
พวงเอ๋ยมาลัย น้องเชื่อพี่ไว้เถิด (เอย) ฯ

หญิง

๏ ลอยมา ลอยมาก็ลอยไป
บ้านน้องนี้ไม่เคย ไม่เหมือนชะเลยบ้านชาย
พวงเอ๋ยมาลัย ชาตินี้อย่าหมายเลย (เอ่ย) ฯ
๏ ลอยมา ลอยมาแต่บางแก้ว
ทอดสะพานแหงนเถ่อ ไม่ได้เออน้องแล้ว
ฝอยทองน้องแก้ว ลอยไปตามน้ำ (เอย) ฯ

เพลงพวงมาลัยที่เคยฟังมา หญิงมักร้องยักคำว่าลอยมาแต่อะไร เช่นตัวอย่างกลอนท้ายนี้ หญิงร้องว่าลอยมาแต่บางแก้ว ชายต้องร้องซ้ำลอยมาแต่บางแก้ว แล้วจึงหาความอื่นร้องต่อไป ที่ว่าเก่งๆ จึงจะต่อกลอนกันได้ดี มิฉะนั้นก็ต้องร้องลอยมาลอยไปอยู่เรื่อยๆ ไป เพราะสระไอหาง่าย กลอนเพลงพวงมาลัยกลอนหนึ่งก็อยู่ใน ๓ บท และมีกลอนแซกในระหว่างได้มาก ๆ เหมือนกัน ในเวลาเดียวกันนี้ ถ้าไม่เล่นเพลงพวงมาลัยก็เล่นเพลงระบำประกอบลูกช่วง ร้องให้ผู้แพ้รำ เพลงระบำก็ใช้ทำนองอย่างเดียวกับเพลงพวงมาลัย ตัวอย่างมีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

เพลงระบำ

๏ ระบำไหนเอย ระบำดอนเตย
อกของพี่จะช้ำ เสียเพราะด้วยคำเขาเย้ย
ระบำดอนเตย เขาก็รำงาม (เอ่ย) ฯ
๏ ระบำไหนเอย ระบำวัดหลวง
เห็นสาว ๆ เขาเดินมา ใส่ระย้าตุ้มหูควง
ระบำวัดหลวง เขาก็รำงาม (เอ่ย) ฯ
๏ ระบำไหนเอย ระบำบางกอก
สาวน้อยเอวกลม เจ้าสวยเพราะห่มผ้าดอก
ระบำบางกอก เขาก็รำงาม (เอ่ย) ฯ
๏ ระบำไหนเอย ระบำฟากคะโน้น
ถ้าน้องมาอยู่เสียกับพี่ ฉันจะให้ขี่เรือโขน
ระบำฟากคะโน้น เขาก็รำงาม (เอย) ฯ
๏ ระบำไหนเอย ระบำบ้านกล้วย
รูปร่างอย่างนี้ เผยอจะมีเมียสวย
ระบำบ้านกล้วย เขาก็รำงาม (เอย) ฯ
๏ ระบำไหนเอย ระบำโพหัก
ดูยกแขนขึ้นรำ เหมือนหนึ่งดังด้ามจวัก
ระบำโพหัก เขาก็รำงาม (เอย) ฯ
๏ รำบำไหนเอย ระบำวัดโคก
เจ้านุ่งแต่ผ้ายั่นตะนี เจ้าห่มแต่สีดอกโศก
ระบำวัดโคก เขาก็รำงาม (เอ่ย) ฯ

เพลงพวงมาลัยและเพลงระบำนี้ก็ชราลงอีกแล้วเหมือนกัน บรรดาบทเพลงต่าง ๆ ตามตัวอย่างที่นำมาพิมพ์ไว้อย่างละเล็กละน้อยนี้ย่อมมีขนบธรรมเนียมประเพณีเจือปนอยู่ในเนื้อเพลง ตัวอย่างเพลงพวงมาลัย หน้า ๒๕ บันทัด ๑๓ “ถ้าไม่ได้กินหนมต้มอมน้ำตาล” ถ้าผู้ไม่เคยเห็นขันหมากเอกที่เขาสู่ขอกันก็รู้ไม่ได้ว่าทำไมจึงไม่ได้กินหนมต้ม ธรรมเนียมสู่ขอกันตามบ้านนอกต้องมีขันหมากเอกใส่ใบเงินใบทอง ฯลฯ และมีขนมต้มด้วยดังนี้เป็นต้น และในบทเพลงยังมีถ้อยคำซึ่งยังไม่ได้ขึ้นสังคายนาของปทานุกรมก็มี เช่นเพลงระบำหน้า ๒๗ บันทัด ๑๗ เจ้านุ่งแต่ผ้ายั่นตะนี ยังไม่ทราบว่าผ้าอะไร กลอนนี้เป็นกลอนทางจังหวัดอ่างทอง ซ้ำไปมีทางจังหวัดสุพรรณอีกว่า

๏ ระบำไหนเอย ระบำท้ายวัด
เจ้านุ่งแต่ผ้ายั่นตะนี เจ้าห่มแต่สีแดงฉาด
ระบำท้ายวัด เขาก็รำงาม (เอ่ย) ฯ

เมื่อกลอนเพลงต่าง ๆ อาจให้ความรู้ในทางลัทธิธรรมเนียมและภาษาได้ถึงอย่างนี้ และมาค่อย ๆ จางลง ๆ จวนจะลบแล้ว จึงเป็นทีน่าเสียดาย ถ้าไม่รีบรวบรวมไว้นานไปก็จะศูนย์ จึงขอเสนอต่อผู้สนใจในเรื่องนี้เพื่อพิจารณาต่อไป

----------------------------

  1. ๑. เพลงโคราชในที่นี้ หมายความถึงทำนองกลอนของชาวโคราช แต่กลอนเพลงที่คัดมาลงได้เป็นตัวอย่างหลายแห่งนั้น ดูก็จะไม่ใช่กลอนของชาวโคราชแท้ จะเป็นกลอนที่แต่งในจังหวัดภาคกลาง เช่นพระนครศรีอยุธยา อ่างทองและสุพรรณเป็นต้น

  2. ๒. เพลงฉ่อยมีลักษณะอย่างเดียวกับเพลงโคราช ผิดกันแต่ทำนอง มีเล่นอยู่ทั่วไปในเวลานี้ ไม่จำต้องกล่าวถึง

  3. ๓. กลอนเพลงต่าง ๆ ที่นำมาลงไว้ต่อไปนี้ จะไม่กล่าวถึงลักษณะการแต่ง เพราะนักกลอนอาจแลดูประเดี๋ยวเดียวก็ทราบลักษณะได้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ