คำชี้แจง

การเล่นเพลงของประชาชนชาวชนบท มีเพลงเกี่ยวข้าว เพลงปรบไก่ เพลงพวงมาลัยและอื่น ๆ ย่อมเป็นของสำคัญส่วนหนึ่งที่ผู้รักหาความรู้พึงเอาใจใส่ เพราะในการเล่นนั้นเอง จะพบขนบธรรมเนียมประเพณี การเชื่อถือตลอดจนเรื่องราวความเป็นอยู่ของประชาชนชาวบ้าน ที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ แซกเร้นอยู่ ความรู้เหล่านี้เป็นดั่งแว่นฉายให้เห็นการเป็นอยู่ของบรรพบุรุษแต่เก่าก่อน ซึ่งในหนังสือพงศาวดารมักผ่านเลยไป ไม่สู้กล่าวถึงนัก ทุกวันนี้ความเจริญในปัจจุบันแพร่หลายไปยังท้องถิ่นชนบทต่าง ๆ ได้รวดเร็ว เพราะไปมาติดต่อถึงกันได้สะดวกยิ่งขึ้น นับวันขนบธรรมเนียมของเดิม มีแต่จะเปลี่ยนแปลงและกลายไปตามอำนาจแห่งความเจริญ และความก้าวหน้าของประเทศ ด้วยเหตุดังนี้ นานาชาติที่เจริญแล้ว จึงตื่นตัวรวบรวมเรื่องขนบธรรมเนียมเหล่านี้รักษาไว้ไม่ให้สูญ เพราะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ความรู้ในวิชาประวัติศาสตร์และวิชาอื่น ๆ อยู่ไม่น้อย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา ก็ได้เคยทรงขอร้องให้ทางราชการช่วยเป็นธุระ จดบทเห่กล่อมบทร้องและบทเล่นของเต็กซึ่งมีอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทั้งพระราชอาณาจักรมารวบรวมรักษาไว้ เวลานี้หอสมุดแห่งชาติจึงมีบทเห่กล่อมบทร้องและบทเล่นของเด็ก ได้มาจากจังหวัดต่างๆ แทบทุกจังหวัดอยู่เป็นจำนวนมาก หากแต่ยังไม่มีโอกาสจะชำระและรวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นเท่านั้น

นอกจากบทกล่อมเด็กบทร้องและบทเล่นของเด็กแล้ว หอสมุดแห่งชาติยังมีบทเล่นเพลงต่าง ๆ ไว้บ้าง แต่เป็นจำนวนเล็กน้อย ถ้าได้มีการจดและรวบรวมขึ้นไว้ เลือกเอาแต่ที่เห็นว่าเป็นของเก่า ที่ความคิดความอ่านอย่างใหม่ ๆ ยังไม่เข้าไปปนอยู่มากนัก แล้วทำคำอธิบายถึงลักษณะเพลงที่แต่งพร้อมทั้งวิธีเล่น ก็พอจะเป็นประโยชน์แก่ความรู้อยู่บ้าง ด้วยความคิดดั่งนี้ กรมศิลปากรจึงได้ขอร้องพระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) ให้ช่วยเป็นธุระเลือกหาตัวอย่างบทเล่นเพลงต่าง ๆ แล้วทำคำอธิบายประกอบพอให้เห็นเค้าเนาทางไว้ทีก่อน เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ที่ใฝ่ใจในการรวบรวมต่อไป แต่ในการเลือกหาตัวอย่างบทเล่นเพลงในครั้งนี้มีเวลาจำกัด เพราะจะต้องให้แล้วและพิมพ์เสร็จภายในเวลาเพียง ๑๐ วันกว่า ๆ เท่านั้น ไม่มีโอกาสที่จะสอบสวนเลือกเฟ้นและเขียนคำอธิบายประกอบให้ถี่ถ้วนได้ ถึงกระนั้น กรมศิลปากรก็ยังรู้สึกขอบใจพระพินิจวรรณการ ที่ได้มีแก่ใจรับธุระช่วยจัดทำเรื่องนี้ ให้ได้มีโอกาสพิมพ์ขึ้นทันในงานกฐินพระราชทานของราชบัณฑิตยสถาน ณวัดราชผาติการาม (ส้มเกลี้ยง) เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙

ในการพิมพ์บทเล่นเพลง ได้กำหนดหมายไว้ว่าจะเลือกสรรแต่บทของเก่าพอเป็นตัวอย่างของเพลงเหล่านั้นไว้ และที่จะได้มาสมประสงค์ ก็ต้องอาศัยสืบถาม และจดเอามาจากปากคำของผู้ที่ทรงจำเอาไว้ได้ ส่วนที่แต่งขึ้นใหม่ แม้จะแต่งดี มีถ้อยคำน่าฟัง และได้เคยมีตีพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือแล้วก็ดี ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่เก็บ เพราะต้องการจะรักษาเนื้อถ้อยกระทงความ ซึ่งเป็นความรู้สึกนึกคิดของชาวชนบทโดยธรรมชาติไว้ ถ้าใช้ตัวอย่างที่แต่งใหม่ ก็จะเข้าลักษณะที่พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณทรงเล่าไว้ในที่แห่งหนึ่ง ในหนังสือเรื่อง The Past time of Rhyme-making and Singing in Rural Siam (J S S. Vol. XX, 1927) ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงแสดงที่สยามสมาคม ว่าได้ทรงแต่งบทเล่นเพลงขึ้นบทหนึ่ง โดยเลียนวิธีแต่งตามแบบอย่างของชาวชนบท แล้วประทานให้ชาวชนบทผู้หนึ่งที่อ่านหนังสือออก ทดลองร้องเป็นทำนองเพลง ผู้นั้นอ่านได้ดีอยู่ แต่ทรงคิดว่า ถ้าจะให้เขาแต่งบทเล่นเพลงของเขาเอง ดูเหมือนจะได้เร็วกว่าอ่านบทที่ทรงนิพนธ์ไว้ และในที่สุดก็ร้องบทที่ทรงนิพนธ์ไว้ได้เรียบร้อย ได้ทรงถามความเห็นของนักเล่นเพลง ว่าบทที่ทรงนิพนธ์ขึ้นนี้เป็นอย่างไร ก็ได้รับตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ามีถ้อยคำยากแทบทั้งนั้น และโวหารการประพันธ์ตอนเกี้ยวพาราสี ก็ใช้คำพูดสูงเกินกว่าที่หญิงสาวชาวชนบทจะเข้าใจ ถ้าใช้เป็นบทร้องเกี้ยว สาวชาวชนบทก็คงงงงันและร้องตอบแก้ไม่ได้ ดั่งนี้ การเลือกตัวอย่างมาพิมพ์ไว้ จึงเฟ้นแต่ที่เห็นว่าน่าจะเป็นสำนวนของชาวชนบทแท้ ที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ชะนิดที่แต่งขึ้นใหม่ หรือที่นักเล่นทางอาชีพแต่งขึ้นไว้หากิน จริงอยู่ในบทกลอนนี้ บางตอนก็มีถ้อยคำหยาบคาย ถ้าจะตัดทิ้งเสียทีเดียวก็เท่ากับไปแก้ความเก่าของเขาเสีย ไม่ให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริง ในการเลือกตัวอย่างพิมพ์ไว้ในเล่มนี้ จึงตกลงเลือกเอาแต่บทที่เห็นว่าพอเป็นประมาณ มีลักษณะเป็นโวหารศิลป สมควรจะพิมพ์ไว้ได้ เพื่อไม่ให้เสียของเก่า ถ้าจะเปรียบก็เท่ากับดูรูปศิลป นักศิลปีผู้ปั้นมุ่งไปในแง่ที่ให้เห็นว่างดงาม ตามที่นักศิลปีผู้นั้นนึกฝันไว้ ก็เมื่อผู้ดูไม่ได้ดูในแง่ที่งดงาม ก็ไม่ใช่ความผิดของรูปศิลปรูปนั้น นี้ฉันใด การพิมพ์ตัวอย่างเล่นเพลงเหล่านี้ก็ฉันนั้น.

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๗๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ