อธิบายเรื่องคำให้การสมณทูตพะม่า
เดิมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ มีผู้ขุดพบพระสรีระธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพวกสักยราชสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้ณเมืองกบิลพัสดุ์ ลอร์ดเคอสันไวสรอยผู้สำเร็จราชการประเทศอินเดียของอังกฤษ๑ ทูลมายังพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ประชาชนที่เลื่อมใส่ในพระพุทธศาสนามีอยู่ในนานาประเทศเป็นอันมาก แต่สมเด็จพระราชาธิบดีที่ทรงเลื่อมใสเป็นพุทธศาสนูปถัมภก ยังคงอยู่แต่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์เดียว เพราะฉะนั้น เต็มใจจะถวายพระพุทธสรีระธาตุแด่พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรงแบ่งพระราชทานแก่พวกพุทธศาสนิกชนชาวประเทศอื่นตามแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อยังเป็นพระยาสุขมนัยวินิต ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นราชทูตไปรับพระพุทธสรีระธาตุมาแต่ประเทศอินเดีย มาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๒
ครั้นวันที่ ๒๓ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๘ โปรด ฯ ให้รับพระพุทธสรีระธาตุมาจากเมืองสมุทรปราการโดยทางรถไฟ และจัดกระบวนแห่ใหญ่ มีทั้งกระบวนของหลวงและของชะเลยศักดิ์ไปรับที่สถานีหัวลำโพง แห่พระพุทธสรีระธาตุไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ทองสำฤทธิ์ ซึ่งโปรด ฯ ให้หล่อขึ้นประดิษฐานไว้ในคูหาพระมหาเจดีย์บนยอดบรมบรรพต ที่วัดสระเกศ แล้วมีมหกรรมการฉลองพร้อมด้วยเครื่องมหรสพสมโภช ๓ วัน
ครั้นต่อมาพวกพุทธศาสนิกชนในนานาประเทศ คือประเทศลังกา ประเทศพะม่า ประเทศญี่ปุ่น และประเทศไซบีเรีย ต่างแต่งทูตเข้ามาทูลขอพระพุทธสรีระธาตุไปไว้บูชาในประเทศนั้น ๆ แต่ในทีนี้จะกล่าวถึงฉะเพาะทูตพะม่า เพราะเหตุที่เกี่ยวแก่เรื่องหนังสือพิมพ์ในสมุดเล่มนี้แต่พวกเดียว
ทูตพะม่าที่เข้ามารับพระพุทธสรีระธาตุคราวนั้น มาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒ มีพระภิกษุ ๗ รูป คฤหัสถ์ ๖ นาย และพระภิกษุพะม่าที่มา ๗ รูปนั้น ได้รับสมมติมาเป็นสมณทูต ๕ รูปคือ
พระสาครมหาเถร รูป ๑
พระรวินทเถร รูป ๑
พระเกสรภิกษุ รูป ๑
พระกุมารภิกษุ รูป ๑
พระนันทวังสภิกษุ รูป ๑
เป็นแต่ผู้มากับสมณทูต ๒ รูป คือพระจันทิมภิกษุ รู้ภาษาอังกฤษมาเป็นล่ามรูป ๑ พระโสมภิกษุมาปฏิบัติพระมหาเถรรูป ๑ คฤหัสถ์พะม่าที่มาในคณะทูต ๖ นายนั้น กือ
อูเซววอง มียศเป็นผู้ช่วยข้าหลวงเมืองร่างกุ้ง ๑
อูทากยวย มียศเป็นนายอำเภอกิติมศักดิ์เมืองร่างกุ้ง ๑
โพพูซัน เลขานุการของคณะทูต ๑
มองโลม อุบาสก ๑
มองโกยา อุบาสก ๑
จีนโก๊บาปาน อุบาสก ๑
ได้โปรด ฯ ให้รับทูตพะม่าเป็นแขกเมือง และจัดที่ให้พระสงฆ์พะม่าพักอยู่ณวัดมหาธาตุ แล้วโปรด ฯ ให้เข้าเฝ้าที่มุขกระสัน ด้านตะวันออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พระราชทานไตรแพร ย่ามโหมดเทศ แก่พระสงฆ์พะม่าทั้ง ๗ รูป แต่พระเถร ๒ รูปนั้นได้พระราชทานพัดรองปักด้วย ส่วนคฤหัสถ์ก็ได้พระราชทานสิ่งของทั่วกัน และผู้ที่มียศเป็นกรมการ ๒ นายนั้น ได้พระราชทานเหรียญราชรุจิด้วย
ครั้นถึงวันที่ ๙ มกราคม เป็นวันกำหนดททูตพะม่ากับทูตลังกาจะรับพระพุทธสรีระธาตุพร้อมกัน จึงโปรด ฯ ให้จัดการพิธีที่วัดพระเชตุพน เชิญพระเจดีย์ทองบรรจุพระพุทธสรีระธาตุ ส่วนที่จะพระราชทานนั้นไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ ตั้งเครื่องสักการบูชา มีพระสงฆ์สยามทุกนิกาย กับทั้งราชบัณฑิตและอุบาสกทั้งหลายไปประชุมเป็นอันมาก เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการเป็นประธานในที่นั้น ทูตทั้ง ๒ ประเทศเชิญพระเจดีย์ทองคำประดับเพ็ชร์พลอยซึ่งสร้างมาสำหรับรับพระธาตุไปตั้งในที่ประชุม ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมงเศษ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ จึงประกาศกระแสพระบรมราชโองการในที่ประชุม แล้วเชิญพระเจดีย์ทองในนั้นมีผะอบทรงพระพุทธสรีระธาตุ ๓ องค์ มอบแก่ทูตลังกาสำหรับจะได้ประดิษฐานไว้ณเมืองขัณฑิยองค์ ๑ เมืองอนุราธบุรีองค์ ๑ เมืองโคลัมโพองค์ ๑ ตามประสงค์ของชาวลังกา ส่วนประเทศพะม่านั้นก็ได้รับพระเจดีย์ มีผะอบบรรจุพระธาตุพระราชทานเป็น ๒ องค์ ตามความประสงค์ของพวกพะม่าดุจกัน สำหรับจะได้ไปประดิษฐานได้ในประเทศพะม่าภาคเหนือองค์ ๑ ไว้ในประเทศพะม่าภาคใต้องค์ ๑ ขณะที่มอบพระพุทธสรีระธาตุแก่ทูตนั้น พระสงฆ์ที่ประชุมสวดไชยปริตร ฝ่ายชาวประโคมก็ประโคมปี่พาทย์ด้วยพร้อมกัน แล้วทูตทั้ง ๒ ประเทศต่างก็รับพระพุทธสรีระธาตุไปยังที่พัก
ครั้นวันที่ ๑๐ มกราคม โปรด ฯ ให้ทูตพะม่าทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ขึ้นไปเผ้าทูลลาที่พระราชวังบางปะอิน เสด็จออกทรงปฏิสันถารแล้ว โปรด ๆ ให้นิมนต์พระสงฆ์พะม่าเข้าไปฉันเพลที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร เสด็จลงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์พะม่าฉันแล้วเจริญพระปริตรถวายไชยมงคลและถวายอนุโมทนา แล้วจึงถวายพระพรลากลับไป
เมื่อสมณทูตเข้ามาพักอยู่ในกรุงเทพ ฯ ครั้งนั้น ได้สมาคมคุ้นเคยกับพระราชาคณะในประเทศนี้หลายรูป ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างไต่ถามสนทนากันถึงเรื่องศาสนวงศ์และความเป็นอยู่ของสังฆมณฑลทั้ง ๒ ประเทศ สมณฑูตพะม่าจะได้จดจำเรื่องราวที่มารู้ในประเทศนี้ไปอย่างไรบ้าง หาปรากฏไม่ แต่พระราชาคณะในประเทศนี้บางรูปได้อุตสาหะจดเรื่องราวที่ได้ทราบจากสมณทูตพะม่าเรียบเรียงไว้ หนังสือนั้นหอพระสมุด ฯ ได้ฉะบับมาจากพระธรรมวโรดมวัดเบ็ญจมบพิตร ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ พิจารณาดูเห็นน่าอ่าน ด้วยมีข้อความอธิบายถึงลัทธิธรรมเนียมสงฆมณฑลในประเทศพะม่า ทั้งในสมัยเมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง และในสมัยเมื่อประเทศตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ มีเรื่องราวน่ารู้อยู่หลายอย่าง กรรมการหอสมุด ฯ จึงได้พิมพ์ไว้ในจำพวกลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ
----------------------------
-
๑. เมื่อลอร์ดเคอสันยังมิได้มีตำแหน่งในราชการมาเที่ยวดูนานาประเทศ ได้เคยเข้ามากรุง ฯ ครั้ง ๑ เคยเฝ้าพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่นั้น ↩