เวชชปุจฉา

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ

ทรงนิพนธ์

๏ นามจรูญโรจสร้อย เรืองศรี
เรียงเรียบแบบวิธี แพทย์ไว้
หวังจิตรเพื่อปราณี นำแนะ กันเนอ
ดุจประทีปส่องให้ สว่างด้าวเดินสบาย
๏ ภิปรายยุบลฉบับนี้ แนะนาม
เวชชปุจฉากล่าวตาม ตำรับแท้
ใช่จักแต่งเดาความ คิดแต่ ใจนา
ใดขาดปราชญ์ช่วยแก้ ตกแต้มแซมเสริม ๚ะ

----------------------------

ถาม. ทำไมเมื่อป่วยเจ็บจึงต้องไปรับหมอ รับหมอมาทำไม

ตอบ. เขารับมาเพื่อจะให้ช่วยแก้ไข โรคที่เขาป่วยนั้นให้หาย

ถาม. โรคที่ป่วยนั้นกลัวกันด้วยเหตุใด จึงต้องหาหมอมาให้ช่วย

ตอบ. โรคที่ป่วยนั้นเป็นตะพานแห่งความตาย ความตายย่อมไต่มาตามโรคที่ป่วยเจ็บก่อนจึงได้ตาย เพราะเช่นนั้นเขาจึงได้กลัวความไข้เจ็บกันนัก เมื่อไข้เจ็บบังเกิดขึ้นในตัวของเขาเอง หรือบิดามารดาบุตรภรรยาคณาญาติ ทาสกรรมกรข้าช่วงใช้ของเขาแล้ว เขาก็รีบปรับหมอมาเร็วพลัน เพื่อจะให้ช่วยแก้ไขโรคที่บังเกิดนั้นให้หาย

ถาม. ก็ถ้าอย่างนั้นหมอมาช่วยแก้ไขแล้ว โรคที่เป็นคงจะหายทั้งสิ้นหรือ เห็นจะไม่มีใครตายกันหละหนอ จะตายแต่ที่มิได้รับหาหมอมาช่วยแก้

ตอบ. อ๊ะไม่เช่นนั้น หมอจะเป็นผู้สำหรับประกันชีวิตคนไม่ให้ตายไม่ได้ ความตายนั้นเมื่อถึงกาละของใคร ๆ ก็ต้องตาย หมอเป็นผู้แก้ได้แต่คนเป็น คือ เมื่อมรณะยังไม่มา

ถาม. ความซึ่งว่ามรณะยังไม่มานั้นอย่างไร ท่านอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจสักหน่อย

ตอบ. ท่านคอยฟังนะจะอธิบายให้ฟัง คือ คนเรานี้มีโรคสำหรับตัวอยู่สามอย่าง โรคที่รักษาก็หาย ไม่รักษาก็หายอย่างหนึ่ง โรคที่รักษาจึงจะหายไม่รักษาไม่หายอย่างหนึ่ง โรคที่รักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตายอย่างหนึ่ง เป็นสามอย่างดังนี้ ก็โรคที่ไม่รักษาก็หาย หรือโรคที่รักษาจึงจะหาย สองอย่างนี้เรียกว่ามรณะยังไม่มา โรคที่รักษาก็ตายไม่รักษาก็ตายนั้นเรียกว่ามรณะมาถึง โรคที่มรณะมาถึงนั้น หมอจะช่วยแก้ไขให้หายไม่ได้เลยเป็นอันขาด ในเวชชภาษาเรียกว่า “ตัด” คือ ตัดเสียไม่ให้มีประตูที่จะแก้ไขต่อไป ก็ความเข้าใจของท่านว่าถ้าหมอไปช่วยแก้ไขแล้ว จะหายไปหมดนั้นเป็นการผิดไป ถ้าไข้ใดที่มรณะมาถึงเข้าแล้วดังว่ามาจะหายไม่ได้เลย

ถาม. ก็หมอที่หาไปช่วยแก้นั้น เขารู้ไหมว่าไข้นี้มรณะมาถึงแล้วหรือยังไม่มาถึง

ตอบ. อ่อหมอนั้นหรือเขารู้นักเทียว แต่ต้องเป็นหมออย่างหนึ่งนะจึงจะรู้ได้ดี เขารู้ล่วงหน้าก่อนตั้งแต่สามวัน,เจ็ดวัน,สิบห้าวัน,หรือเดือนหนึ่งจนถึงเจ็ดปีเสียอีก

ถาม. ชอบกล ๆ หมอชนิดไรที่เขาเป็นผู้รู้ เขาได้รู้ด้วยเหตุใด

ตอบ. หมอที่เขาเป็นผู้รู้นั้น มักเป็นหมอที่เรียกว่า “วิญญูแพทย์ สิกขแพทย์ สัมพันธแพทย์” ยังไรเล่า ที่รู้นั้นเขารู้ด้วยชำนาญในคัมภีร์ซึ่งชื่อว่า “มรณสูตร มรณญาณ”

ถาม. บ๋า ท่านอ่างเอาคัมภีร์ขึ้นพูดแล้ว คัมภีร์ของหมอไทย ๆ ดูเลือน ๆ อยู่นี่ ข้าพเจ้าสงสัยอยู่น่า หมายว่ามีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรตรวจสอบเป็นหลักฐานเล่า หารู้ว่าเดาสวดไปตามคัมภีร์ดอกหรือ

ตอบ. อ้าว พุโท่ ๆ ท่านประมาทคัมภีร์ของหมอไทย ๆ เสียแล้ว คัมภีร์นั้นมาจากไหนท่านรู้ไหม คัมภีร์ก็มาจากความตรวจสอบจดจำนั้นเอง คือคนแต่ก่อน ๆ ที่เขาเป็นผู้ชอบใจพยาบาลไข้ หรือจะว่าชอบเล่นรักษาไข้ก็ตามเขาได้สังเกตอาการไข้ว่าเป็นอย่างนั้นแล้วต้องตาย เป็นอย่างนี้กี่วัน ๆ ถึงตาย แล้วก็จดลงไว้ในสมุดเพื่อจะมิให้ลืม จึงสังเกตตรวจสอบคนหลัง ๆ ต่อไปอีกเล่า ก็เห็นอาการและความเป็นไปเช่นกันแทบทุก ๆ คน จึงได้จารลงในใบลานยกเป็นคัมภีร์ขึ้น ให้ชื่อว่า “คัมภีร์มรณญาณ” ประสงค์จะให้ถาวรไปสิ้นกาลนาน แล้วจะได้เป็นนิทัศนะตัวอย่างแห่งคนอันจะเกิดภายหลัง ซึ่งรักเล่นรักษาโรคหรือเป็นหมอ คนเกิดภายหลังได้เห็นตำรานั้นเข้าจึงสังเกตตรวจสอบดู ก็เห็นเที่ยงแท้แน่ประจักษ์ตามคัมภีร์ที่กล่าวได้ จะจับปดของคนบุราณว่าจดหลอกได้ก็ไม่ได้ คัมภีร์นี้จึงได้สืบเนื่องมาหลายชั่วบรรพบุรุษจนชั้นคนในทุกวันนี้เขาก็ได้ตรวจสอบอยู่เสมอ ก็ยังจับปดของคนบุราณไม่ได้ เพราะเช่นนั้น คัมภีร์จึงได้ตั้งอยู่เป็นแพทย์ศาสตรสำหรับให้แพทย์ได้ศึกษา ถ้าเป็นถ้อยคำที่ไม่จริงแล้วจะดำรงอยู่ได้แหละหรือ เขาก็คงจะเผาไปเสียเป็นแท้ นี่การตรวจสอบกับท้องคัมภีร์ก็ตรงกันจึงได้เป็นหลักฐานอยู่ ท่านอย่าเพ่อประมาทตำรับตำราของไทย ๆ ก่อน ที่ยังเป็นแบบอย่างแม่นยำได้จริงมีถมไป

ถาม. ข้าพเจ้าอยากถามท่านอีกข้อหนึ่ง คำที่เรียกว่า “หมอ” นั้นแปลว่ากระไร

ตอบ. ก็หมอนี้เป็นคำไทยแล้ว จะให้ข้าพเจ้าแปลว่ากะไรอีกละ ถ้าถามว่าแพทย์แปลว่ากระไร จะได้บอกว่าแพทย์มาจากเวช เวชแปลว่าหมอ

ถาม. ซึ่งข้าพเจ้าถามนั้น อยากจะทราบว่า “หมอ” เป็นคนชนิดใด ด้วยเห็นว่าคนที่ขี่ช้างเขาก็เรียกว่าหมอ คนที่จับงูได้เล่นงูได้เขาก็เรียกว่าหมอ

ตอบ. ถ้าอย่างนั้น ก็พอจะแปลให้เข้าใจได้นั่นซิหมอนั้นหรือ คือคนที่ชำนาญแก้ หรือจะว่าผู้ชำนาญในการนั้นๆ ก็ควร เช่นกับหมอยาผู้ชำนาญยาที่สำหรับแก้โรค หมอยาตาผู้ชำนาญแก้ตา หมอฝีผู้ชำนาญแก้ฝี หมอนวดผู้ชำนาญนวด หรือหมอความผู้ชำนาญในการความ หมอช้างผู้ชำนาญในการช้าง หมองูก็ผู้ชำนาญในการงู หมอจระเข้ก็ผู้ชำนาญในการจระเข้ คำที่เรียกว่าหมอ ๆ นั้นก็ชำนาญในการนั้น ๆ นั่นเอง ข้าพเจ้าอธิบายเพียงเท่านี้ท่านพอเข้าใจไหมละ

ถาม. เข้าใจแล้ว ๆ แต่ข้าพเจ้าออกจะทราบขบวนหมอยาที่เป็นผู้ชำนาญแก้โรคอย่างเดียว หมออื่นไมประสงค์จะทราบในที่นี้ ด้วยความเดิมสิเราพูดกันมาถึงเรื่องหมอยา

ตอบ ท่านอยากทราบเรื่องหมอยาอย่างไรถามมาซิ

ถาม ข้าพเจ้าอยากทราบว่าหมอที่เขาเป็นผู้ชำนาญแก้โรคนั้นเขามีแต่ยาอย่างเดียวก็นับค่าเป็นหมอ หรือต้องประกอบการความรู้อย่างใดบ้าง

ตอบ มีแต่ยาอย่างเดียวจะนับว่าหมอไม่ได้ หมอนั้นต้องมีปัญญาอันสุขุมละเอียด คือ ต้องตรอจตราตรึกตรองในการที่จะแก้ไขโดยเอารัดเอาเปรียบแก้ไข้อย่างเดียว คำที่เรียกว่าเอารัดเอาเปรียบแก้ไข้นั้น คือ ไข้จะเป็นมากแก้เสียให้เป็นน้อย ไข้จะหายช้าแก้เสียให้หายเร็ว ที่สุดจนไข้นี้เป็นต้องตายเป็นแท้ ยังแก้ให้ตายช้าถ่วงวันและเวลาออกไป อย่างนี้และเรียกว่าเอารัดเอาเปรียบแก่ไข้ แล้วยังต้องประกอบความรู้ให้ขึ้นจิตเจนใจอีกสี่ประการจึงจะนับว่าเป็นหมอ ซึ่งจะมีแต่ยาอย่างเดียวแล้วจะเป็นหมอนั้นไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นแล้วตำรายามีถมไป คือ ในวัดพระเชตุพนท่านจารึกไว้ในแผ่นศิลาเป็นอันมาก หรือที่วัดบวรนิเวศในศาลาฤๅษีดัดตนก็มีอยู่อีกถึงสี่ศาลา จะไปจดไปลอกเอามาแล้วทำขึ้นไว้เที่ยวรักษาโรค เช่นนั้นจะเรียกว่าหมอได้หรือ หมอนี้ต้องศึกษาให้ชำนิชำนาญในศาสตร และความรู้ทั้งสี่ประการก่อนจึงจะเรียกว่าสิกขแพทย์ได้ สิกขแพทย์นี้เป็นสำคัญกว่าแพทย์อื่น ๆ คือวิญญูแพทย์ก็อาศัยความศึกษาก่อน จึงจะเป็นแพทย์ผู้รู้ได้ สัมพันธแพทย์ก็ต้องอาศัยความศึกษาก่อนจึงจะเป็นแพทย์ต่อไปได้ ถ้าไม่ศึกษาแล้วจะนับว่าเป็นหมออย่างไรได้ เพราะเช่นนั้น ความรู้ทั้งสี่ประการนี้จึงเป็นของสำหรับกับหมอ

ถาม ความรู้ทั้งสี่ประการนั้นขอท่านได้อธิบายให้พิสดารสักหน่อย อย่างไรจึงชีอว่าเป็นความรู้สำหรับกับหมอ

ตอบ ท่านจะให้ข้าพเจ้าอธิบายความรู้ของหมอโดยพิสดารนั้นเห็นจะยืดยาวนัก จะต้องขออธิบายแต่พอเป็นสังเขปด้วยจะเปลืองหน้ากระดาษไป ความรู้ทั้งสี่ประการซึ่งเป็นต้นเค้าของความศึกษานั้น คือ “รู้ที่แรกเกิดของโรค ๑ รู้จักชื่อโรค ๑ รู้ยาสำหรับแก้โรค ๑ รู้ว่ายาอย่างใดจะควรแก้ด้วยโรคใด ๑” เป็น ๔ ประการด้วยกัน ความรู้ทั้ง ๔ ประการนี่แหละ จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ชำนาญ ผู้ชำนาญนี่แหละจึงจะเรียกว่าเป็นหมอ ถ้าไม่รู้ทั้ง ๔ ประการแลกจะเรียกว่าผู้ชำนาญไม่ได้ ถ้าเป็นผู้ชำนาญแลกจะเรียกว่าหมอก็ได้

ถาม รู้จักที่แรกเกิดของโรคนั้นอย่างไร รู้จักชื่อโรคอย่างไร รู้จักยาสำหรับแก้โรคอย่างไร รู้จักยาที่จะควรแก้ด้วยโรคใดนั้นอย่างไร ว่าไปให้ชัดอีกสักหน่อยเถิดนะ ข้าพเจ้าออกอยากฟัง

ตอบ จะให้อธิบายให้ชัดเจนนั้น ก็จะอธิบายได้แต่อย่างไทยๆ เป็นโวหารแพทย์สยาม จะอธิบายเป็นโวหารแพทย์ภาษาอื่น ๆ นั้นไม่ได้ แต่ถึงอย่างไรข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่าถึงแพทย์ภาษาอื่น ๆ ก็คงต้องชำนิชำนาญในความรู้ทั้งสี่ประการ เช่นว่ามานั้นเหมือนกัน จึงจะนับว่าเป็นหมอได้

ถาม เอาเถิดนะเราเป็นไทยนี่น่ะ อยากจะฟังโวหารหมอไทยๆเล่นบ้าง ด้วยไม่มีใครเขาพูดกันอยู่ โวหารหมอภาษาอื่นๆนั้นได้ยินเข้าหูอยู่บ่อยๆมาแล้ว

ตอบ เอ้าท่านคอยฟังเถิดนะ ในคำอธิบายโวหารของหมอไทยๆน้ะ ความที่ว่ารู้ที่แรกเกิดของโรคนั้นคือเขารู้ว่าฤดูแปรไป ๑ อาหารให้โทษ ๑ ไม่เปลี่ยนอริยาบถ ๑ ต้องร้อนยิ่งนัก ๑ ต้องเย็นยิ่งนัก ๑ อดนอน ๑ อดข้าว ๑ อดน้ำ ๑ กลั้นอุจจาระ ๑ กลั้นปัสสาวะ ๑ โทษทั้งปวงดังกล่าวมานี้แหละเป็นต้นเหตุที่แรกเกิดของโรค โรคจะบังเกิดขึ้นก็อาศัยเหตุที่ว่ามา จึงได้จัดว่าเป็นที่แรกเกิดของโรค

ถาม ก็รู้จักชื่อโรคนั้นอย่างไรเล่า

ตอบ รู้จักชื่อโรคนั้น คือผู้ป่วยเจ็บลงเขาได้ไปตรวจดูว่า ความเจ็บป่วยของมนุษย์นี้ใช่อื่นไกล คือธาตุทั้ง ๔ ซึ่งแจกออกเป็นธาตุไฟ ๔ ธาตุลม ๖ ธาตุน้ำ ๑๒ ธาตุดิน ๒๐ นี้เองกำเริบหรือวิการไปจึงทำให้ป่วยเจ็บมีอาการต่าง ๆ แต่หากสามัญชนย่อมสมมติชื่อของโรคนั้นต่างๆ จะกำหนดลงเป็นแน่ไม่ได้ มีหวัดไอไข้ลมเป็นต้น หมอนั้นก็กำหนดรู้ตามชื่อของโรคซึ่งได้สมมติไว้ ว่าอาการเช่นนั้นๆ ชื่อโรคนี้ อาการเช่นนี้ชื่อโรคนั้น ความรู้เช่นว่านี้แหละเรียกว่ารู้จักชื่อโรค

ถาม ก็รู้จักยาแก้โรคนั้นอย่างไร

ตอบ รู้จักยาสำหรับแก้โรคนั้น คือรู้ว่าของสิ่งนี้รูปอย่างนั้น สีอย่างนั้น กลิ่นอย่างนั้น รสอย่างนั้น ชื่ออย่างนั้น เป็นของสำหรับจะแก้โรคของมนุษย์ให้หายได้ รูปเช่นใบไม้เเก่นไม้รากไม้ หรือของบังเกิดในตัวสัตว์มีหนัง, เขา, กระดูก, กีบ, ดี, เป็นต้น หรือของเกิดแต่ธรรมธาตุเอง เช่นเกลือ, มวกผา, ศิลายอนเหล่านี้ จัดว่ารู้จักรูปของยา สีนั้นคือรู้ว่ายาอย่างนี้สีขาว, เขียว. ดำ, แดง, เช่นการบูร สีขาว จุณสีๆเขียว ยาดำสีดำ ฝางเสนสีแดง เป็นต้น เหล่านี้ จัดว่ารู้จักสีของยา

กลิ่นนั้นคือรู้ว่ายาอย่างนี้กลิ่นหอม ยาอย่างนี้กลิ่นเหม็น เช่นกับพิมเสน, เป็นของหอม ยาดำมหาหิงค์ุ เป็นของเหม็นเหล่านี้ จัดว่ารู้จักกลิ่นของยา

รสนั้นคือรู้ว่ายาอย่างนี้รสจืด, ฝาด, หวาน, ขม. เช่นสุพรรณถัน รสจืด ผลเบญกานีรสฝาด ชะเอมรสหวาน ผลสบาฝักรสเมา บอระเพ็ดรสขม เมล็ดพลิกไทยรสเผ็ดร้อน เมล็ดงารสมัน ดอกมะลิรสเย็น เกลือรสเค็ม มะขามเปียกรสเปรี้ยวเหล่านี้ จัดว่ารู้จักรสของยา

ชื่อนั้น คือรู้ว่ายาอย่างนี้ชื่อนั้นดัง ขิง, ข่า, กระทือ, ไพล เป็นต้นเหล่านี้ จัดว่ารู้จักชื่อของยา แล้วยังรู้จักชื่อของยาที่เขาประสมกันแล้วตั้งแต่ ๒ สิ่งขึ้นไปจน ๙ สิ่ง เช่นตรีผลา, ตรีกระฏก, ตรีสาร, ตรีสุคนธ์ หรือเบญจกูล เบญจโลหะ สัตตโลหะ นวะโลหะ เป็นต้น

แล้วยังรู้จักวิธีผสมอีกอย่างหนึ่ง คือผสมกันตั้งแต่ ๕ สิ่งจนถึง ๑๐๐ สิ่ง หรือกว่า ๑๐๐ ขึ้นไปก็มี วิธีผสมนั้น คือไม่ผสมก็ไม่เป็นยาดัง พริกไทย, หอม, กระเทียม, เหล่านี้ถ้าแต่สิ่งเดียว ๆ แล้ว ก็เป็นอาหารสำหรับรับประทานไป ต่อผสมกันเข้าหลาย ๆ สิ่ง จึงจะมีฤทธิ์ และกำลังที่เรียกว่ายา อาจจะแก้โรคที่ไมถึงความตายให้หายได้ ความที่รู้จักรูป สี, กลิ่น, รส, ชื่อ, ของยา และวิธีผสมดังว่ามานี้แหละ เรียกว่า รู้จักยาที่สำหรับแก้โรค

ถาม รู้จักยาอย่างใดจะควรแก้ด้วยโรคใดนั้นอย่างไรเล่า

ตอบ รู้จักยาที่ควรจะแก้ด้วยโรคนั้น คือรู้ว่าโรคอย่างนี้จะชอบแก้ด้วยยาอย่างนั้น ขนานนั้นรสนั้น ดังโรคซึ่งควรถ่ายต้องถ่าย โรคซึ่งควรปิดต้องปิด โรคที่ควรหักหาญต้องใช้ยาหักหาญ โรคที่ควรอนุโลมต้องใช้ยาอนุโลม โรคที่หยาบต้องใช้ยาอย่างหยาบ โรคที่ละเอียดต้องใช้ยาอย่างละเอียด โรคที่ชอบยาเก้ารสอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องใช้ยาเก้ารสให้ชอบแก่โรคนั้น ๆ ดังคำของพระยาจันทบุรี (กล่อม) ได้แต่งเป็นคำร่ายไว้ว่า “รสเฝื่อนฝาดชอบสมาน ยารสหวานชอบเนื้อ รสเมาเบื่อแก้พิษ ดีโลหิตชอบรสขม เผ็ดร้อนลมถอยถด เส้นชอบรสแห่งมัน หอมเย็นนั้นเพื่อชูใจ เค็มซาบในผิวหนัง เสมหะยังชอบส้ม” ยาทั้งเก้ารสนี้เป็นอาวุธสำคัญของหมอที่สำหรับจะได้ต่อสู้แก่โรค เมื่อเห็นว่าโรคใดควรจะแก้ด้วยยารสใดแล้ว ก็รับปรุงยารสนั้นเข้าแก้โรค ความดังว่ามานี้แหละเรียกว่ารู้จักยาอย่างใดที่ควรจะแก้ด้วยโรคใด รวมความรู้ทั้ง ๔ ประการดังพรรณนามาแต่ต้นแล้วนั้น จึงจะเรียกว่าผู้นั้นเป็นผู้ชำนาญคือเป็นหมอได้

ถาม ยาทั้งเก้ารสยังจะได้จริงได้จงเหมือนเช่นกล่าวไว้หรืออย่างไร หรือจะว่าพอเป็นกลอนคล่อง ๆ ปากเล่น

ตอบ อ่อยาทั้งเก้ารสนั้นหรือ เป็นของได้จริงได้จังวิเศษนักเทียว จะว่าให้เห็นแต่ง่าย ๆ ยารสฝาดว่าชอบสมานนั้น ท่านเห็นใหม่เล่า ถ้าคนเขาปากแตกปากเปื่อยเป็นขุมกินเผ็ดไม่ได้ หมอเขาก็เอาผลเบญจกานี, สีเสียดเทศ, พิมเสน. ผสมกันเข้าทาปาก หรือเอาเปลือกหว้า, เปลือกแค, เปลือกมะเดื่อ, ต้มเอาน้ำอมก็หายมิใช่หรือหายด้วยเหตุใด หายด้วยยานั้นมีรสฝาด ก็ไปสมานซึ่งบาดแผลแตกเปื่อยให้ปากนั้นหาย ด้วยอำนาจยาที่มีรสฝาด

ยารสหวานที่ว่าซาบเนื้อนั้น ถ้าไข้ใดทำให้หน้าซีดตัวซีดและกล้ามเนื้อซูบผอมไป ชักให้เรี่ยวแรงซุดน้อยถอยกำลัง เรื้อรังมานมนานไม่ใคร่จะหาย หมอเขาก็ประกอบยาด้วยรสหวาน แทรกเจือเข้าไป คือใช้ชะเอม, ขันทสกร, น้ำตาลกรวด, เป็นต้น โรคที่เนื้อหนังเหี่ยวชีดซูบผอมก็หายได้ ด้วยอำนาจที่มีรสหวาน

ยารสเมาเบื่อที่ว่าแก้พิษนั้น ถ้าไข้ใดจับเป็นพิษให้ตัวร้อนตาแดงร้อนในระหายน้ำ ดิ้นร้องกระสับกระส่าย บางทีให้คลั่งเพ้อไม่เป็นสติ ที่สมมติเรียกกันว่าไข้พิษนั้น หมอเขาก็วางยาที่เข้าพิสนาศ, ระย่อม, ใครเครือ, เนระภูสี, มหาสะดำ, ผลสะบาฝัก, หรือวางยาที่ชื่อว่า “นวเห็ด” คือเข้าเห็ดทั้งเก้า สรรพยาเหล่านี้ก็ล้วนแต่มีรสเมาเบื่อทั้งสิ้น โรคที่ว่าเป็นไร้พิษก็หายได้ ด้วยอำนาจยาที่มีรสเมาเบื่อ

ยารสขมที่ว่าแก้ดีกับโลหิตนั้น ถ้าไข้ใดที่เจือดีกับโลหิตเป็นสมุฏฐานเช่นไข้จับเป็นต้นนี้ หมอเขาก็วางยาที่มีรสขมจัด ดังผลกระดอม, บอระเพ็ด, ก้านสะเดา, ใบชิงช้าชาลี, ใบปีบ, หรือดิสัตว์ต่างๆ เป็นต้น หรือเปลือกไม้อย่างหนึ่งที่มาจากต่างประเทศ คือเปลือกซินโคนา หรือยาของหมอชาวยุโรปที่เรียกว่ายา “ควินนิน” เหล่านี้ก็ล้วนเป็นยาอันมีรสขมทั้งสิ้น โรคที่เกิดแต่ดีกับโลหิต คือ ไข้จับนั้นเมื่อถูกยารสขมเข้าก็หายไม่ใช่หรือ หรือโรคอีกอย่างหนึ่งที่เกิดแต่ผู้หญิงที่ขึ้นปากเจนใจกันว่า “โทษโลหิตๆนั้น” หมอเขาก็ใช้ยาที่มีรสขมเข้าแก้ โรคนั้นก็หายได้ด้วยอำนาจยาที่มีรสขม

ยารสเผ็ดร้อนที่ว่าแก้ลมนั้น ถ้าไข้ใดที่เกิดแต่กองลม จะเป็นสุขุมวาตหรือโอฬาริกวาตก็ตาม หมอเขาก็ใช้ยาที่รสเผ็ดร้อนเข้าแก้ เช่นกับพริกไทย, ดีปลี, ขิง, ข่า, การะบูร, เป็นต้นเหล่านี้ เมื่อลมกองละเอียดก็ใช้ยาที่ร้อนอย่างละเอียดลงมา เช่นโกฐทั้ง ๙ เทียนทั้ง ๙ กฤษณา, กระลำพัก, ขอนดอก, เหล่านี้ โรคที่เกิดด้วยกองลมทั้งสองก็หายได้ด้วยอำนาจยาที่มีรสเผ็ดร้อน

ยารสมันที่ว่าแก้เส้นนั้น ถ้าโรคใดที่เกิดแต่เส้นเอ็นวิการ ที่ทำให้ขัดข้อแลแข้งขาหรือยอกเสียดเสียวสะดุ้งไปในตัวแห่งใดแห่งหนึ่งก็ดี หมอเขาก็ใช้ยารสมัน คือน้ำมันงา, น้ำมันละหุ่ง, น้ำมันมะพร่าวไฟ, หรือใช้อย่างอุกฤษฐ์ขึ้นไปจนน้ำมันงูเหลือมเข้าคลึงไคลรีดประคบที่เส้นเอ็นที่ทำให้ยอกเสียดเสียวสะดุ้ง หรือเมื่อยขบขัดข้อพลิกแพลงอยู่ โรคที่เกิดแต่เส้นเอ็นพิการอันทำโทษต่าง ๆ ก็หายได้ด้วยอำนาจยาที่มีรสมัน

ยารสหอมเย็นที่ว่าชื่นชูใจนั้น ถ้าโรคใดที่ทำให้จิตใจขุ่นมัวสวิงสวาย เช่นเป็นเมื่อเวลาไข้จับหรือเมื่อลมจับหมอเขาก็ใช้ยาที่มีรสหอมเย็น ดังยาหอมที่มีชื่อต่าง ๆ แล้วแทรกเจือหญ้าฝรั่น, อำพัน, ชะมดเชียง, ละลายด้วยน้ำดอกไม้เทศดอกไม้สด ประสงค์จะให้รสและกลิ่นนั้นหอมเย็นยิ่งขึ้นไป คนที่ป่วยด้วยโรคไข้ขุ่นมัวสวิงสวายนั้น เมื่อได้รับประทานยาที่มีรสหอมเย็นแล้ว ก็ทำให้จิตใจเบิกบานชื่นชูขึ้น บางทีเมื่อควรหายก็หายได้โดยเร็ว ด้วยอำนาจยาที่มีรสหอมเย็น

ยารสเค็มที่ว่าซึมในผิวหนังนั้น ถ้าโรคใดที่ทำให้ถึงหนังชาซากเหี่ยวแห้งไป ที่สมมติว่า “โรคริดสีดวงแห้ง” นั้น หมอเขาก็ใช้ยาแทรกเกลือจนเค็มอย่างจัด ๆ ทีเดียว หรือโรคใดที่จะต้องใช้ยาให้แล่นตลอดถึงผิวหนัง ก็แทรกเกลือลงประสงค์จะให้รสเค็มนั้นพาแล่นซึมซาบตลอดออกไป โรคนั้นก็หายได้ด้วยอำนาจยาที่มีรสเค็ม

ยารสเปรี้ยวที่ว่าแก้เสมหะนั้นถ้าโรคใดที่เนื่องด้วยเสมหะ ทั้งสามคือสอเสมหะ, อุระเสมหะ, คูธเสมหะ, หมอเขาก็วางยาซึ่งมีรสเปรี้ยว เช่นใบมะขาม, ใบส้มป่อย, ใบมะดัน, ใบส้มเสี้ยว, เหล่านี้โรคที่เกิดแต่กองเสมหะทั้งสามก็หายได้ ด้วยอำนาจยาที่มีรสเปรี้ยว เพราะฉะนั้นยาทั้งเก้ารสนี้จึงเป็นของจริงไม่สับปลับ ที่ท่านสงสัยว่าจะว่าเล่นพอเป็นกลอนคล่อง ๆ ปากนั้นอย่าได้สงสัยเลย ข้าพเจ้ายกเอาพยานมาให้เห็นดังนี้ ท่านพอจะเชื่อได้หรือยัง

ถาม เชื่อแล้ว ๆ ถูกละ ๆ แต่ข้าพเจ้าจะขอถามท่านอีกสักหน่อยหนึ่ง คือ หมอที่รู้แต่ยาไม่รู้อาการโรค หรือรู้แต่ยาไม่รู้อย่างใดจะควรแก่โรคใดนั้นจะมีโทษอย่างไรบ้าง ทำไมท่านไม่กล่าว

ตอบ อ๋อ หมอที่ไม่รู้อาการโรคและไม่รู้ยาที่ควรแก้โรคใดนั้นหรือมีโทษมากนักเทียว ข้าพเจ้าจะชี้แจงให้ฟัง คือหมอที่มียาไม่รู้อาการโรคนั้น ก็จะไปวางผิด ๆ ถูกๆ ให้คนไข้กินเข้าไป ถ้าวางยาให้ผิดกะโรคที่เป็นอยู่แล้ว ความเดิมตั้งใจว่าจะแก้โรคก็เหมือนอย่างวางยาพิษ ช่วยซ้ำให้โรคกำเริบหนักยิงขึ้นไป หรือเหมือนเอาของแสลงไปให้คนไข้กิน ไข้นั้นก็จะกลับทับทวีมากขึ้นไม่ต้องสงสัย ความว่าวางยาผิด ๆ ถูก ๆ นั้น คือโรคนี้จะชอบคุมก็ไปวางยาถ่าย โรคนี้จะชอบถ่ายก็ไปวางยาคุม หรือโรคไข้ไปวางยาร้อน โรคลมไปวางยาเย็นเป็นต้นดังนี้ เรียกว่าวางยาผิด ๆ ถูก ๆ

อนึ่ง รู้ยาแต่ไม่รู้ว่าจะควรแก้โรคสถานใดนั้น ก็คือไม่รู้ว่าโรคนี้จะชอบด้วยยารสนั้น โรคนั้นจะชอบด้วยยารสนี้ เช่นเป็นโรคในกองเสมหะ เอายารสเผ็ดร้อนไปวางเข้า เป็นโรคในกองลมเอายารสหวานไปวางเข้า เป็นโรคในกองดีเอายารสเปรี้ยวไปวางดังนี้ เรียกว่าไม่รู้จักยาที่ควร ก็หมอใดที่ไม่รู้จักอาการโรคไปวางยาผิด ๆ ถูก ๆ หรือไม่รู้ว่ายาอย่างใดจะควรแก่โรคใด แม้นคนไข้กินล่วงล้ำคอลงไปแล้ว ถ้าไข้น้อยก็กลับเป็นมาก ไข้มากแต่ไม่ถึงความตายก็จะต้องตายเป็นแท้ ดุจหมอผู้นั้นฆ่ามนุษย์เสียก็ปานกัน นี่แหละการซึ่งจะเป็นหมอนั้นจึงต้องประกอบการตรึกตรองโดยสุขุมอย่างยิ่ง และต้องศึกษาในเวชชศาสตรให้ชำนิชำนาญจริง ๆ จึงจะนับว่าเป็นหมอได้

ถาม. อ๊ะๆ ความที่ท่านว่าหมอวางยาผิดล่วงลำคอลงไปแล้ว ไข้ไม่ถึงความตายก็จะต้องตายนั้น ความต้นกับความปลายมิไม่สมกันอยู่หรือ ส่วนความต้นสิว่ามรณะยังไม่มาไข้นั้นเป็นต้องหาย ก็ใช้ที่หมอวางยาผิดนั้นมรณะก็ยังไม่มา เหตุไฉนจึงต้องตายด้วยเล่า ถึงหมอจะวางยาผิดก็จะเป็นไรเพราะมรณะยังไม่มา

ตอบ. อ้าว ชั้นเดิมมรณะยังไม่มาก็จริงอยู่แล แต่ทว่าหมอไปวางยาผิดเข้านั้น เปรียบเหมือนมีก๊าดไปเชิญมรณะมา มรณะนั้นเห็นก๊าดเข้าแล้วจะขัดได้หรือ หรือเปรียบความอีกอย่างหนึ่งเหมือนแม่น้ำและลำคลองขวางหน้าอยู่ มรณะยังจะมาไม่ได้ หมอนั้นช่วยทำตะพานให้มรณะเข้ามาได้ ฉันใดความนี้ก็เปรียบเหมือนหมอวางยาผิดช่วยเชิญหรือรับให้มรณะมาฉันนั้น

ถาม. เอ๊ะ ถ้าอย่างนั้นการที่จะหาหมอมาพยาบาลไข้ มิเป็นการน่ากลัวนักเจียวหรือ ยากที่จะวางยาให้เป็นที่มั่นคงได้

ตอบ. ยังนั้นซิ การที่จะหาหมอมารักษานั้นเป็นการยากอย่างยิ่ง ด้วยชีวิตของมนุษย์เป็นของหายาก เพราะมีด้วยกันคนละหนเท่านั้น แต่ข้าพเจ้าขอเตือนท่านว่า ถ้าจะหาหมอมาแล้ว ก็ต้องดูหมอที่เป็นผู้รู้จริง ๆ คือ ผู้ที่ได้ศึกษาในเวชชศาสตรโดยชำนิชำนาญ เช่นวิญญูแพทย์, สิกขแพทย์ สัมพันธแพทย์, หรือคำสามัญเรียกว่า “คงกะเรียนฉะนั้น” ถ้าจะหาหมอที่ไม่รู้คัมภีร์แพทย์เป็นแต่งู ๆ ปลา ๆ มาแล้ว จะได้รับเสียใจเมื่อภายหลังเป็นแท้ เพราะเช่นนั้นท่านไม่รู้หรือเมืองยุโรปนั้น หมอเขาจึงได้มีหนังสือคู่มือฉบับหนึ่ง ที่เรียกว่า “เซอร์ติฟิเคต” ๆ นี้ ถ้าผู้ใดได้ร่ำเรียนในแพทย์ศาสตรไล่ได้โดยชำนาญแล้ว เขาก็ได้หนังสือฉบับนี้สำหรับตัวเป็นคู่มือฉบับไป เพื่อจะได้เที่ยวรักษาโรคมิให้คนทั้งหลายมีความรังเกียจ แสดงความว่าผู้นั้นได้สอบไล่แล้วว่าเป็นหมอได้ ก็ในสยามประเทศซึ่งเป็นพระราชอาณาเขตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรานี้ การสอบไล่ในวิชาแพทย์ยังไม่มี แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือสัญญาบัตรที่พระราชทานเป็นตราตั้งประกอบฐานันดรศักดิ์ของแพทย์ผู้ขึ้นว่า “พระยา, พระหลวง, ขุน” ก็เพราะเหตุใดเล่า เพราะด้วยวิชาคุณของเขาที่ได้อุตสาหะร่ำเรียนในเวชชศาสตรจึงได้พระราชทานยศ ให้ปรากฏประกอบความรู้ของเขาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็เรานี้ย่อมรู้แล้วว่าหมอหลวงนั้นเป็นหมอได้ศึกษาในเวชชศาสตร จนได้พระราชทานฐานันดรศักดิ์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญแล้วดังนี้ ก็ควรจะเชื่อถือไว้วางใจแก่พวกหมอหลวงได้ ด้วยสัญญาบัตรนั้นแล เป็นคู่มืออันประเสริฐของเขา อนึ่งหมอหลวงนี้ก็มักจะเป็นสัมพันธแพทย์มากกว่าคนกรมอื่นซึ่งจะยกมา หรือจะเป็นคนกรมอื่นยกมาก็จัดว่าได้ไล่เลียงสอบสวนแล้ว ด้วยจางวาง, เจ้ากรม, ปลัดกรม, ในกรมหมอนั้น เขาได้สอบสวนว่าเป็นหมอได้จึงได้ยกมา อีกประการหนึ่งหมอหลวงนั้น ได้ดูไข้เห็นไข้เคยพยาบาลมามากกว่าหมอเชลยศักดิ์ เพราะท่านได้เป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏคนย่อมเชื้อเชิญรับไปรักษาโดยมากต่อมาก ถ้าหมอคนใดได้เห็นไข้มากเคยรักษามามากแล้ว หมอผู้นั้นก็ย่อมจะเป็นผู้ชำนาญในการแก้ไข้ จัดว่าเป็นผู้มีฝีมือเป็นธรรมดาอยู่เช่นนั้น ด้วยอาการโรคของมนุษย์นั้นอาจจะเป็นตัวอย่างให้หมอจดจำ ในการที่จะแก้ไขคนอื่นต่อๆ ไปอีกได้ ข้าพเจ้าตักเตือนท่านได้เพียงนี้แหละ จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามแต่อัธยาศัย

สาธุ ๆ การที่ท่านตักเตือนข้าพเจ้านี้เหมือนชี้หนทางให้เดิน โอเวลาจวนจะค่ำเสียแล้วแหละน่าเสียดายจริงหนอ จะต้องเลิกพูดกันเสียที คำที่ท่านอธิบายมาแต่ต้นนั้นก็ชอบกลอยู่

เลิกก็เลิกกันเถิด วันอื่นมีเวลาจึงค่อยมาพูดกันใหม่ ในเรื่องหมอ ๆ นี้หนทางยังพิสดารกว้างขวางนัก. ๚

----------------------------

พิมพ์ที่ ร.พ. อรุณศิริ ถนนจักรพงค์ บางลำพู สุภาพ อรุณศิริ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ