เรื่องแพทย์หมอ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์

ทรงนิพนธ์

----------------------------

คำเรียกว่าหมอ ๆ ในภาษาของเรา ดูเหมือนจะเข้าใจกันว่าผู้รู้แก้โรคภัยไข้เจ็บอย่าง ๑ คนเจ้าตำรับตำราเข้าใจการอะไร ๆ อย่าง ๑ เพราะฉะนั้นคำว่าหมอจึงเป็นชื่อของคนหลายจำพวก เช่นหมอที่รักษาโรคภัย ด้วยวิธีใช้สรรพยาต่างๆ ตามคัมภีร์แพทย์ก็เรียกว่าหมอ ยังพวกที่ใช้วิชาอย่างหนึ่ง เช่นหลับตาบ่นงึมๆ งำๆ เสกอะไรให้กินให้ทา หรือขีดๆ เขียนๆ แล้วทายไปตามตำราที่ตนเชื่อถือบ้าง ตามที่ได้หลับตาเห็นตามสังเกตของตนบ้าง คือหมอดู หมอเสกเป่า หมอน้ำมนต์ หมอภูตเรียกว่ารักษาทางใน แก้ฝีแก้กระทำเหล่านี้ ก็เรียกหมออีกพวก ๑ ยังผู้ที่ชำนาญในการหัดปรือปราบปรามสัตว์ต่าง ๆ เช่นหมอช้าง หมอม้า หมอจระเข้เหล่านี้ เขาก็เรียกว่าหมอเหมือนกัน ที่สุดจนคำคนเรียกกันโดยหยอกล้อของคนโบราณหรือคนต่ำๆ ในทุกวันนี้ ก็พอใจเรียกเพื่อนกันว่า หมอนั่นหมอนี่ จนถึงเติมคำว่า อ้ายหมอนั่นอ้ายหมอนี่ ก็มีคำหมอปนอยู่ จะมาแต่อะไร เพราะเหตุใดจึงเรียกกันเช่นนั้นก็ไม่ทราบ คำเรียกหมอนี้ ถ้าไม่ใช่คำหยอกล้อที่กล่าวมาข้างต้น เป็นคำเรียกโดยพวกเจ้าตำราแล้ว ก็เติมคุณวิชาของคนจำพวกนั้น ๆ เข้าท้ายคำหมอ เช่นหมอนวด หมอยา หมอกุมาร หมอพยุงครรภ์ หมอดู หมอเสกเป่า หมอช้าง หมอจระเข้ เป็นต้น ตรวจดูคำว่าหมอของชาวเราอยู่ข้างคล้ายกับภาษาจีน เรียกหมอยาหมอดูว่าซินแส หรือภาษาอังกฤษเรียกว่าดอกเตอร์นั้นก็เรียกคนหลายจำพวก คือหมอยา หมอศาสนา หมอกฎหมายเหล่านี้ เป็นดอกเตอร์ทั้งสิ้น แล้วเติมคุณวิชาเข้าท้ายชื่อด้วย เช่นหมอยาเรียกดอกเตอร์ออฟเมดิซีน หมอศาสนาเรียกดอกเตอร์ออฟเดวินิตี หมอชำนาญภาษาต่าง ๆ เรียกดอกเตอร์ออฟฟิโลโซฟี หมอกฎหมายเรียกดอกเตอร์ออฟลอ คำว่าดอกเตอร์แล้วเติมคุณวิชานี้เหมือนคำว่า หมอและเติมยาหรือนวด ในภาษาของเราทีเดียว แต่คำเรียกดอกเตอร์ในภาษาอังกฤษนั้น ผิดกับคำว่าหมอของเราอยู่อย่างหนึ่ง ค่อนอยู่ข้างจะยะโสกลาย ๆ คล้ายไปข้างคำเรียกพระสงฆ์ที่ได้ไล่หนังสือแล้ว ว่าเปรียญหรือมหานั่นมหานี่อยู่หน่อยหนึ่ง เป็นต้นว่าพระสงฆ์องค์ใด ถึงจะรู้พระปริยัติธรรมแตกฉานจนเป็นครูเป็นอาจารย์ใคร ๆ แล้วก็ดี ถ้าไม่ได้มาไล่หนังสือในท่ามกลางพระราชาคณะผู้ใหญ่ และได้พระราชทานพัดยศเปรียญแต่ง จะใช้ชื่อว่าเปรียญหรือมหาไม่ได้เป็นอันขาด ดอกเตอร์ทุก ๆ อย่างก็เหมือนกัน ถ้าไม่ได้เข้าไล่วิชานั้น ๆ ในที่ประชุมนักปราชญ์มีหนังสือสำหรับตัวชำนิชำนาญวิชานั้นจริงแล้ว เป็นดอกเตอร์ไม่ได้ดุจกัน ส่วนหมอของเรานั้นจะไล่มิไล่สุดแต่เขารู้ว่ามีวิชาอย่างดังกล่าวมาแล้วเรียกหมอทั้งสิ้น

ในที่นี้ประสงค์จะว่าแต่ลักษณะหมอที่รักษาไข้เจ็บมนุษย์ทั้งหลายซึ่งบางทีเรียกว่าแพทย์อย่างเดียว ที่ได้ชักหมออื่นๆ คือหมอดูหรือดอกเตอร์ซินแสว่ามาข้างต้น ก็เพราะเกี่ยวกับคำว่าหมอเท่านั้น แต่หมอรักษาไข้เจ็บด้วยคุณยาที่แลเห็นประโยชน์ได้จริงๆ มีหมอยาหมอนวด หมอกุมาร หมอยาตา หมอทรพิษ หมอบาดแผล เหล่านี้ควรจะเรียกว่าแพทย์ทั้งสิ้น เพราะวิชาเหล่านี้ออกจากคัมภีร์แพทย์คือเวชชศาสตรตามภาษามคธ แต่คำเวชชมากลายเป็นแพทย์นี้เห็นจะเป็นโบราณาจารย์ใช้แผลงมา

ส่วนวิชาของหมอแพทย์ ซึ่งมีแพร่หลายอยู่ในเมืองเรามาช้านานแล้วนี้ ก็เป็นวิชามาแต่ชาวมคธ หรือฮินดูแท้ทีเดียว ข้าพเจ้าได้เห็นในคัมภีร์แพทย์แทบทุกเล่ม อ้างว่าโกมารภัจแพทย์ซึ่งเป็นชาวมคธแท้ได้เรียบเรียงไว้ หรือมิฉะนั้นก็มีคำอัญชลีนอบน้อมแก่โกมารภัจทุกเล่ม ทั้งคำเริ่มต้นก็เป็นภาษามคธก่อนแล้วจึงแปลเป็นไทย บางทีก็ใช้ภาษามคธ ดุจคำว่า ตรีกะฏก ตรีผลา ปถวีธาตุ มารุตวิการ ใช้ศัพท์ดังนี้เป็นต้น ทั้งสรรพยาที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็มักเป็นเครื่องเทศต่างๆ ซึ่งเป็นของในอินเดียเป็นพื้นของยาไทย แต่ผู้ที่จะนำมาและแปลออกเป็นภาษาสยามนี้ มิได้ปรากฏในที่ใด คงจะแพร่หลายเข้ามาช้านานหลายร้อยปีแล้ว เหมือนกับผู้ที่นำพุทธศาสนาและไสยศาสตรเข้ามาก็ไม่ปรากฏว่ามาเมื่อไร ใครเอามาบอกให้เหมือนกัน วิชาแพทย์นี้ก็คงมาถึงประเทศเราพร้อม ๆ กันกับศาสนานั้นๆ เพราะเหตุนั้นจึงควรเรียกชนพวกที่รู้วิชาแพทยศาสตร ว่าแพทย์เสียทีเดียวจะได้ต้องกับคำแผลง ซึ่งมาแต่เวชชภาษามคธเจ้าของวิชาเดิมนั้น ทั้งจะได้แปลกกับหมอต่าง ๆ ที่มิได้ใช้วิชาอย่างนี้เช่นหมอสัตว์เป็นต้น แต่คำว่าแพทย์นั้นมิใช่ว่าในบัดนี้จะไม่ใช้เมื่อไร ก็มีคำเรียกร้องอยู่บ้างแต่น้อยตัวไม่ทั่วไป อยู่ข้างถนัดคำว่าหมอมากกว่าเพราะขึ้นปากเจนใจ

การที่คนเรามารู้จักยาแก้โรคภัย ซึ่งนับว่าเป็นประกันชีวิตรในเหตุที่ไม่ควรตาย ไม่ให้ตายได้นี้ ก็น่าจะสืบหาตัวผู้ต้นคิด ซึ่งเป็นผู้มีคุณแก่เรามาก และเป็นผู้ฉลาดผู้มีความเพียรยิ่งจริง ๆ อุตส่าห์สืบสวนสังเกตจนถึงรู้รสสรรพยาอย่างนั้นแก้นั่น ซึ่งเป็นของจะทดลองได้ช้านานเต็มที แต่คัมภีร์แพทย์ที่มีอยู่ก็ว่าลิ่วลอยไปจนเหลือจะเชื่อได้ เป็นต้นว่า โกมารภัจได้เรียนวิชาจากทิศาปาโมกข์ เมืองตักกศิลา มีญาณวิเศษ จะเดินไปที่ใดสรรพว่านยาก็ร้องประกาศตัวว่าชื่อนั้นแก้โรคนั้นดังนี้ ในคัมภีร์ตักกสิลาที่ว่าด้วยไข้จับไข้พิษ ก็ว่าคนในเมืองตักกสิลาประพฤติพาลทุจริต บังเกิดไข้พิษตายทั้งเมือง กระดูกก่ายกองอยู่ มีพระดาบสอันทรงฌาน เมื่อออกจากสมาบัติแล้ว ก็เข้ามาเพื่อเยี่ยมเยียนชาวเมือง ได้เห็นกาลมรณะมีแก่มนุษย์ในที่นั้น เกิดสังเวชแล้วเล็งญานก็รู้เหตุบังเกิดความกรุณา จึงเลือกสรรดูด้วยอำนาจฌาน รู้จักซากศพบุคคลที่จะเป็นผู้ทรงวิชาแพทย์ได้จึงชุบให้เป็นขึ้น แล้วก็บอกวิธีพยาบาลทั้งยาทุกอย่างให้สั่งสอนสืบกันต่อมา ดาบสนั้นจะได้วิชามาแต่ผู้ใด หรือได้ด้วยฌานสมาบัติอย่างไรก็มิได้กล่าวไว้ การที่คนโบราณพอใจแต่งหนังสือหรือสอนวิชาอันใดแล้ว อ้างว่าได้มาแต่เทวดา หรือดาบสฤๅษีมีตะบะฌานกล้าเช่นนี้ชุกชุมนั้น ก็คงมีประโยชน์ดีในเวลานั้นมาก เพราะเหตุที่คนย่อมนับถือผู้สร้างโลกเทวดาต่างๆ ถ้าจะไม่อ้างเช่นนั้นและบอกว่าตนสืบสวนเรียบเรียงตกแต่งทดลอง ก็คงไม่มีใครเชื่อถือวิชานั้น เขาจะมุ่งหมายประโยชน์อย่างหนึ่งแล้วจึงแอบอ้างเอา ถ้าจะเอาถ้อยคำแอบอ้างนั้นมาเล่าให้คนในบัดนี้ ที่เป็นผู้ค้นคว้าทดลอง หรือหมั่นคิดหาเหตุ ก็คงจะหมิ่นประมาทและเหมาว่าช่างเถอะเป็นแน่แท้ เห็นจะสู้บอกว่าสืบสวนทดลองเองไม่ได้ แต่คนทุกวันนี้ที่ยังเชื่อถือเช่นนั้นก็มีถมไป ส่วนการที่ควรจะเดาเอาได้นั้น ธรรมดามนุษย์ที่รู้จักกินอาหารรู้นุ่งห่มปิดบังความอาย หรืออยู่ในที่มุงบังกันแดดฝนแต่เดิมมา ก็คงจะไม่มีฤๅษีชีป่าอะไรบอกให้ทำ คงจะค่อยรู้ค่อยทำมาทีละน้อย ๆ

เมื่อมีความกระวนกระวายด้วยไข้เจ็บขึ้นแล้ว ก็คงเดาหาอะไรกินอะไรแก้ เมื่อหายสบายปกติ ก็จำไว้ทีละเล็กละน้อยเหมือนกินอาหารเหมือนกัน เดิมก็คงจะกินได้น้อยสิ่งน้อยอย่างมาก่อน แล้วก็ทำให้ปราณีตและเลือกฟั้นเพิ่มเติมต่อมา ส่วนยานั้นก็คงจำได้บอกเล่ากันมาหลายชั่วชีวิต จนมากขึ้น ๆ ผู้มีปัญญาได้เก็บร้อยกรองเป็นตำราไว้ ตั้งแต่แรกรู้ยามาจนบัดนี้คงไม่ต่ำกว่า ๓๐๐๐ ปี เพราะอาหารและยานี้นับว่าเป็นของคู่ชีวิตมนุษย์และสัตว์เดียรฉานได้ ด้วยถ้าว่าไม่กินอาหารก็คงหิว เมื่อเจ็บไม่สบายก็ต้องกระวนกระกายแก้ไข เห็นจะไม่ต้องมีเทวดาหรือผู้ใดบอกให้เป็นแน่ อย่าว่าแต่มนุษย์ที่มีความคิดมาก ซึ่งจะรู้ทางทุกข์สุขได้ยาวกันยาวเวลาเลย แต่สัตว์บางจำพวกที่เราพบจะสังเกตได้ เช่นแมวเป็นต้น ใคร ๆ ก็จะเคยเห็น คือเมื่อแมวไม่สบายในคอหรือในตัวแล้ว มักพอใจกินใบตะไคร้บ้าง หญ้าบ้าง ให้เข้าไปกวาดน้ำลายแล้วสำรอกออกมาดังนี้ ส่วนสัตว์อื่น ๆ ก็คงจะมีเหมือนกัน แต่เรามิได้สังเกตก็ไม่รู้เท่านั้น เพราะเหตุว่าอาหารเครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ทั้งสิ้น เป็นของคนทดลอง แล้วใช้บริโภคทีละน้อย ๆ จึงได้ไม่เหมือนกันทั่วไปทุกประเทศ มนุษย์ที่อยู่หมู่หนึ่งก็ใช้ก็กินไปอย่างหนึ่ง แปลกกว่าพวกมนุษย์ที่อยู่ไกลออกไปอีกหมู่หนึ่ง เช่นคนไทยกินข้าวเป็นอาหารสำคัญ ยาแก้โรคภัยก็ใช้รากไม้ใบไม้เป็นพื้น ฝรั่งกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารสำคัญ ยาก็ชอบใช้แร่ใช้ธาตุเป็นพื้น ถ้าจะมีรากไม้ใบยาก็ทำเป็นกรดเป็นเกลือต่าง ๆ ผิดกว่าของชาวเรามาก ก็เพราะคนและภูมิประเทศอยู่ต่างกัน ก็ต่างเดาและเชื่อถือ เมื่อไปมาหากันเข้าได้ ก็ได้แลกเปลี่ยนกันใช้สรอย ที่ว่าเดานี้ก็มีพยานอยู่ คือ หมอฝรั่งแต่ก่อน มักใช้ยาที่เอาเพชร์ทับทิมมรกตและธาตุแร่เงินทองต่าง ๆ บดเป็นยา ในบัดนี้ก็มักใช้รากไม้ใบไม้ผลไม้ ที่ค้นสืบได้จากประเทศอื่นได้มากแล้ว แต่ก็ยังเว้นที่จะกัดเป็นกรดเป็นเกลือไม่ได้ ส่วนเพชร์ทับทิมมรกตก็เป็นอันเลิกไป ส่วนตำราหมอไทยที่ว่าด้วยเบญจกูลนั้น ก็มีความชัดว่าเดา คือเดิมฤๅษีองค์หนึ่งฉันแต่รากช้าพลู องค์หนึ่งฉีนแต่สค้าน องค์หนึ่งขิงแห้ง องค์หนึ่งเจตมูลเพลิง องค์หนึ่งพริกไทย แล้วมาปฤกษารวมกันทุกอย่างเข้า เรียกว่าเบญจกูล ให้มีคุณมากขึ้น นี่ก็เป็นเดาขึ้น แต่เป็นฤๅษีเดาทั้งนั้น เป็นวิสัยโบราณ จะเว้นเทวดาฤๅษีไม่ได้ ยาอื่น ๆ ก็คงเป็นดังนี้ทั้งสิ้น แต่ทว่าอ้างฤๅษีและเทวดามอบให้นี้ ไม่ใช่ชาวเราทีเดียว เป็นมาแต่ชาวอินเดียทำมาก่อนแล้ว การทว่าเดานี้ก็มีนิทานเบ็ดเตล็ดเล่ากันต่อ ๆมาว่า นายใช้บ่าวทำการกรำฝนทนแดดจนตัวร้อนเป็นไข้จับ ส่วนนายก็โกรธว่าบ่าวบิดพลิ้ว ด้วยอำนาจโทสะเพื่อจะลงโทษให้สมกับความที่บิดพลิ้ว จึงเก็บบอระเพ็ดมาตำเอาน้ำ แล้วขู่ข่มให้กินให้เดือดร้อน ในการที่เจ็บต้องป่วยการ บ่าวกลัวอาญากินโดยไม่เต็มใจ แต่ตัวบอกป่วยท่านไม่เชื่อแล้ว ก็ต้องจำใจกินบอระเพ็ดขมเย็นดับพิษก็ทำให้ไข้หาย ส่วนนายก็เข้าใจว่าบ่าวทนขมไม่ได้ต้องยอมแพ้ แต่ทำดังนี้มามากกว่ามาก ครั้นอยู่มาบุตรของตัว ที่ให้ไปเล่าเรียนหนังสือกับอาจารย์บอกป่วย ก็เข้าใจว่าบิดพลิ้ว ก็ตำบอระเพ็ดและขู่จะให้กินเช่นนั้นอิก ส่วนมารดาเด็กนั้นเชื่อว่าเจ็บก็เข้าลูบคลำตัวโดยฉันผู้หญิงที่มักตามใจ จนเกิดเถียงกับสามี ๆ ไม่ฟังขืนให้กินให้ได้ บุตรก็หายไข้ บิดาก็ทับถมเอามารดา ๆ มีความสงสัยว่าบอระเพ็ดจะเป็นยาแก้ไข้ อธิบายจนปรองดองกันว่าจะลองดูต่อไป พอทาสคนหนึ่งซึ่งเป็นที่เชือถือของนายทั้งสองเจ็บลงก็คิดจะลองดู จึงทำดังนั้น ให้กินก็หายโดยเร็ว จึงได้รู้ว่าที่ตัวทำนั้น ไม่ใชลงโทษเปล่าเป็นยาจริง ด้วยสรรพยาทั้งปวง ก็คงเป็นเช่นนี้ก่อนโดยมาก แล้วจำไว้ต่อมาทุกที ชะรอยผู้ที่เป็นแพทย์ต้นเดิมนั้น จะเป็นคนไม่มีวิชาอะไร จะรู้แต่เครื่องยาเช่นนี้และเป็นคนพอใจลองนั่งแก้นี่ซุกซนอยู่เสมอ ครั้นเมื่อมีใครเจ็บไข้ก็จะไปแก้นั่นลองนี่ เมื่อเห็นดีเห็นหายได้ก็ยิ่งทำหนักขึ้น เพราะเห็นเป็นคุณเป็นผลดีแล้วจะมีคนที่อารมณ์อย่างเดียวกันรับมรดก การที่ทำเช่นนั้นต่อมาทุกทีจนถึงเป็นวิชาสำคัญ ซึ่งจำเป็นที่จะมีสิ่งที่แก้ความเดือดร้อนเพราะไข้เจ็บนั้นโดยปัญญามนุษย์

ส่วนวิชาแพทย์ในเมืองเรา ที่ทำตามตำราของฮินดูหรือพราหมณ์ ตามเหตุที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนั้น มักทำตามตำราเดิมโดยมาก กว่าจะคิดเดาลองต่างๆ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงบ้างก็แต่หมดที่ฉลาดเฉลียวไหวพริบดี การที่เป็นแพทย์นั้นมักเป็นตามตระกูลต่อ ๆ กันมาหรือเป็นคนใช้ของแพทย์ได้คุ้นเคยการยาการไข้ ก็เลยเข้าใจเป็นหมอไปโดยมาก แพทย์ที่เป็นสืบต่อกันเช่นนี้ ได้ความรู้ดีและวางใจในการรักษาได้

ยังหมอที่ห้ามตามลักษณะพยาน มิให้เป็นพยาน คือ หมอไม่ได้เรียนคันภีร์แพทย์ เล็งเอาหมอไม่มีครู เช่นพระบางพวกก็บวชเมื่อแก่ ไม่มีวิชาเลี้ยงตน มีตำรายาก็ทำเป็นหมอ คฤหัตถ์ที่ทำเช่นนั้นก็เหมือนกัน ถูกเวลาเหมาะเจ้าพลัดเจ้าผล กลายมีชื่อลือเลื่องไปก็มี หมอเหล่านี้ไม่ใคร่รู้วิธียาและไว้ เป็นแต่ยาเคยใช้ไข้เคยรักษา ที่สุดจนภาษาที่แพทย์พูดติดปาก เช่นกำเดา ตริกฏก ก็แปลไม่ได้ว่าอะไร ถามก็บอกอ้อม ๆ แอ้ม ๆ กำเดาซัดว่าโลหิตบ้าง แต่หมอทั้งสองพวกนี้คงจะได้รักษาไข้เจ็บหายด้วยกันตายด้วยกันทั้งสองข้าง เพราะลักษณะโรคมีอยู่ ๓ อย่าง คือรักษาก็หายไม่รักษาก็หาย ๑ รักษาถึงหายไม่รักษาถึงตาย ๑ รักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย ๑ ถึงจะมีแพทย์ที่รู้คัมภีร์ดี มียาดีเท่าใจ ถ้าเป็นโรคที่จะตายแล้ว รักษาไม่หายเป็นอันขาด.

มีคำเล่ากันว่า พระบำเรอราช (หนูแดง) เป็นผู้รู้คัมภีร์แพทย์ได้เรียบเรียงตกแต่งไว้มาก แต่เมื่อไปรักษาไข้ใครก็ไม่ใคร่หาย ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า คัมภีร์แพทย์ทั้งปวงที่มีอยู่บัดนี้เป็นของแต่โบราณ บางทีก็ไม่เป็นประโยชน์พอกับประเทศกาลเวลาแล้วก็มี บางเล่มก็กล่าวฟูมฟายไม่เป็นที่เชื่อถือได้ จนกลายเป็นช่างเถอะก็มี ที่ยังเป็นประโยชน์มากเช่นสรรพคุณบอกรสยาลักษณะโรคต่าง ๆ ก็ยังมีอีกหลายคัมภีร์ เมื่อจะว่าแล้วคัมภีร์ตำรายาเหมือนเป็นผู้บอกหนทาง และเป็นศัสตราวุธสำหรับมือ แต่ที่จะเห็นไปถึงที่ใดเร็วและช้า ปราศจากภัยมีชัยชนะได้ลาภผลแล้วแต่ปัญญาผู้นั้น แพทย์ทั้งปวงก็ดุจกัน ถ้าจะไม่ดูคัมภีร์ที่บอกลักษณะให้รู้หนทางก็คงเป็นที่ลำบาก ในการที่จะต้องเป็นหมอยาเคยใช้ไข้เคยรักษา ถ้าปะไข้ที่พลิกแพลงก็ต้องหนีไป ส่วนผู้ที่ถือมั่นตามคัมภีร์ เมื่อไม่มีความไหวพริบทดลองเคยเห็นไข้หายไข้ตายกับมือมาก ก็คงดีไม่ได้เหมือนกัน แพทย์ที่จะดีได้ต้องอาศัยทั้งดูคัมภีร์เป็นหนทาง แล้วได้เคยพยาบาลไข้ที่หายกับมือตายกับตามามาก และไม่มีความดื้อดึงถือตนถือครู ต้องสืบสวนจดจำและไหวพริบจึงจะสมควร ความไข้เจ็บทั้งปวงที่เกิดในร่างกายภายในออกมานอก เช่นวรรณโรคเป็นต้น คงเกิดแต่ความเย็น ๑ ร้อน ๑ เท่านั้น เย็นเกินไปหรือร้อนเกินไป หรือน้อยถอยไปด้วยกัน เมื่อควรจะผ่อนปรนอย่างไรก็ต้องแก้ไป ใช่ว่าความเจ็บไข้ทั้งปวงจะเหมือนกับในคัมภีร์ไปหมดก็หาไม่ เพราะฉะนั้นถึงจะรู้คัมภีร์ดีอย่างไร ถ้าไม่ชำนาญแล้ว ไม่ได้ดีเป็นแน่ หมอที่เคยเห็นไข้มากและรู้จักส่วนร่างกายดีแล้ว ถึงจะรักษาไม่หายก็คงรู้ได้ว่าโรคผู้นี้จะไม่หาย แต่เนิ่นนานได้แต่ในเวลากาลสมควร คงจะไม่ละเมอไปจนจะตายจึงหนี หรือไม่เป็นไรจนตายคามือเป็นแน่ แพทย์ที่รู้ได้รู้เสียดังนี้ ย่อมนับว่าเป็นดีได้ แต่หมอที่มือยู่ทุกวันนี้ ย่อมเจือคละกันตามธรรมดาที่มีดีต้องมีชั่วด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง วิธีที่เล่าเรียนเป็นแพทย์ในชาวสยามนี้ เดิมก็ให้รู้จักรากไม้ใบยาสรรพยาทั้งปวงก่อน แล้วจึงได้ดูคัมภีร์ลักษณะไข้อาการที่จะเป็นไป และตำรายาคัมภีร์สรรพคุณที่บอกรสยาทั้งปวง คัมภีร์ที่จะต้องดูในเบื้องต้น ก็คือสมุฏฐานวินิจฉัย ๑ ธาตุวินิจฉัย ๑ โรคนิทาน ๑ ปฐมจินดา ๑ มหาโชตรัต ๑ ตักกะสิลา ๑ สาโรธ ๑ รัตนมาลา ๑ ชาดาร ๑ ติจรณสังคหะ ๑ ปุจฉาปักขันธิกาพาธ ๑ เป็นลำดับก่อน แต่ถ้าได้ดูตำราของพระยาจันทบุรี (กล่อม) แล้วก็จะเว้นได้หลายคัมภีร์ ถ้าได้รู้คัมภีร์เหล่านี้แล้ว ถึงจะยังไม่ดูคัมภีร์อื่นซึ่งยังมีอีกเป็นอันมากก็จะไม่เป็นไร

เมื่อจำเค้าเงื่อนได้แล็วเข้าไปดูอาการไข้ ให้อาจารย์แนะนำเทียบอาการ จนเคยเห็นตายหรือหายด้วยลักษณะอย่างใดแล้ว จึงได้ออกรักษาโดยลำพัง เมื่อมีไหวพริบว่องไวก็ดีได้เร็ว แต่เมื่อรวบรวมลักษณะที่หมอรู้ ก็คือรู้จักส่วนร่างกายมนุษย์และสิงที่มีอยู่ในกายอะไรเป็นพนักงานใด ๑ โรคที่เกิดขึ้นเพราะอะไรชำรุดหรือเกิดขึ้นมากไป ๑ การที่จะแก้ไขจะควรแก้อย่างใด ๑ ยาที่ใช้กับไข้รสใดควรแก่โรคอย่างไร ๑ เมื่อรู้จริง ๆ เท่านี้เป็นพอใช้ได้

การที่ใช้ยาของแพทย์ในประเทศนี้ มักใช้เครื่องยาที่เป็นเปลือก ราก ผล ดอก ใบไม้ ที่เกิดในป่าของเรา เช่น จันทน์แดง สมอ มะขามป้อม หรือที่เกิดในเรือกในสวนเป็นของปลูกบ้าง ขึ้นเองบ้าง เช่นไพล ดอกบุนนาค ใบมะกา ของทั้งปวงนี้เรียกว่าเครื่องสมุนไพรอย่าง ๑ ดอกไม้ผลไม้ที่มาแต่ต่างประเทศ เช่น โกษฐ เทียน ผลจันทน์ ดอกจันทน์ เรียกเครื่องเทศอย่าง ๑ ของที่เกิดแต่ยางไม้หรือธาตุอะไร ๆ เช่นสุพรรณถัน มหาหิงค์ุ สารส้มอย่าง ๑ เครื่องหอมที่เกิดแต่ไม้หรือสัตว์ เช่นพิมเสน ชมดเชียง อำพันอย่าง ๑ ของที่เกิดแต่สัตว์หรือร่างกายสัตว์ เช่นโคโรค คุลิก่า กระดูกต่าง ๆ อย่าง ๑ รวมเป็น ๕ พวกที่ว่าโดยย่อ แล้วเอายาเหล่านั้นมาผสมตามส่วนของตำราจะว่าไว้ตำเป็นผงบ้างทำเป็นเม็ดบ้างอย่าง ๑ สับเป็นท่อนเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มหรือดองเอาแต่น้ำให้กินอย่าง ๑ ตำหยาบ ๆ แล้วกวนบ้าง หมักใช้บ้างเรียกว่ายากวนอย่าง ๑ วิธีที่จะให้กินยาเม็ดยาผงบดละลายให้กินบ้าง ปั้นก้อนกลม ๆ ให้กลืนเรียกว่าลูกกอนบ้าง แต่ถ้าเป็นเด็กไม่ให้กินลูกกอนเลยเพราะกลัวติดคอ ยาของหมอไทยนี้พอใจให้กินครั้งละมาก ๆ ยาเหล่านี้ขนานหนึ่ง ก็มีสรรพยาตั้งแต่ ๑๐ สิ่งขึ้นไป จน ๕๐ สิ่ง ๖๐ สิ่งก็มี และมักจะมีชื่อประจำขนานเป็นชื่อเพราะ ๆ เช่นยากำลังราชสีห์ ทำลายพระสุเมรุ จันทรลิลา เทพจิตรารมณ์ สุขไสยาสน์เป็นต้น แต่ชื่อเหล่านี้เห็นจะไม่ใช่ของครูเดิม เพราะยาในคัมภีร์แท้ ๆ ไม่ใครมีชื่อ คงจะเป็นของแพทย์ที่เจือเป็นจินตกระวีเช่นพระยาจันทบุรี (กล่อม) พระบำเรอราช (หนูแดง) แต่งตั้งไว้ การที่ยาไทยมักใช้สรรพยาหลายสิ่งต่อขนาน ก็เพราะเหตุที่คัมภีร์แพทย์กำหนดไว้ด้วยรสยามีอยู่ ๙ รส การทดลองยาแต่บุราณมาก็คงลองหยาบ ๆ คือเป็นเพียงแต่ชิมดูว่ารสอะไรอย่างไร ตามที่เป็นเหตุสมควรกับเวลากาละก่อน ครั้นชิมดูก็รู้ได้แต่ว่าใบไม้นันรสร้อน รากไม้นั้นเบื่อเมา ผลอันนั้นรสขม เมื่อจะประกอบยา ถ้าแก้ไข้จับเพื่อโลหิต ก็เก็บเอารากไม้ใบยาที่มีรสขมให้แก้ทางโลหิต เอารสเบื่อเมาให้แก้ทางพิษ จึงต้องใช้ยาหลายสิ่งหลายรสให้ประชุมกันเข้ามาก ๆ แพทย์ใช้ยาประกอบตามอาการไข้ที่เห็นว่าเป็นเพราะโทษอะไร ก็ประกอบรสนั้น ๆ ตามโรค เมื่อผู้ฉลาดประกอบเป็นขนาน ๆ ให้ชื่อไว้ว่าชื่อนั้นแก้โรคนั้น หมอภายหลังก็ใช้ตามมา

ครั้นต่อมาแพทย์ภายหลังไม่ต้องประกอบยาใหม่ ใช้ตามแบบเก่าหมด และการทดลองยาก็ไม่ได้ลองเอง มีแจ้งอยู่ในสรรพคุณ แล้วก็ทำตามวิธีบุราณ ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีเครื่องมือ หรือเวลาจะทดลองให้ยืดยาวไปได้ การวิชาแพทย์ตามอย่างชาวมคธจึงไม่ดีกว่าเจริญกว่าแต่ก่อนได้ ส่วนหมอชาวยุโรปนั้นพอใจซุกซนซอกแซกเหมือนครูแพทย์เดิมของคนที่เป็นหมอทั้งโลก คือพอใจทดลองไม่หยุดหย่อน สืบนั่นแก้นี่ลองโน่นอยู่เสมอ ก็ย่อมจะได้เห็นแปลก ๆ ขึ้นทุกทีอยู่เอง หมั่นทดลองก็คงหมั่นรู้ การทั้งปวงในวิชานั้นก็เดินเปลี่ยนแปลงไปทุกทีตามที่สืบรู้มา ถ้าจะเปรียบก็เหมือนเด็กสองคนที่ไม่มีการเล่าเรียนอะไรเลย คนหนึ่งพอใจไปดูโน่นดูนี่คงจะรู้อะไร ๆมาก แต่บางทีก็จะต้องตกใจ หรือเป็นภัยเป็นโทษแก่ตัว หรือพ่อแม่บ้าง แต่คงฉลาดขึ้น เด็กคนหนึ่งไม่พอใจไปไหนอยู่แต่เย่าเรือนของตน ก็คงจะซึมเซาไม่ใคร่รู้เห็นอะไร แต่ไม่นำความวุ่นวายมาถึง และจะโง่กว่าเด็กที่ไปเที่ยวมากเป็นแน่ ฉันใดก็เหมือนหมอชาวยุโรปกับแพทย์ที่มีอยู่ในเมืองเราเหมือนกัน ถ้าจะต้องการความรู้แน่ ต้องหมั่นสืบสวนทดลองจึงจะได้ เพราะหมอทั้งโลกอาศัยประกอบรสยาตามอาการไข้ที่ตนแลเห็นไข้ทั้งปวง จึงหายบ้างไม่หายบ้าง ด้วยการดูไข้พลาดพลั้งของหมอ เมื่อดูผิดไปก็ประกอบยาผิดไปด้วย เหตุดังนั้นต้องอาศัยความชำนาญเป็นสำคัญที่หนึ่ง ความไหวพริบละเอียดละออเป็นที่สอง ส่วนยาไทยกับยาฝรั่งที่ผิดกันบ้างนั้น ถ้าจะตัดสินว่ายาใครดีกว่ากัน ใครจะหายเร็วกว่ากัน ดังนี้ไม่ได้เป็นแน่ ตามคำที่พูดกันชุม ๆ ว่าลางเนื้อชอบลางยา เป็นถ้อยคำอันจริงแท้ แล้วแต่แพทย์ผู้ฉลาดจะเทียบประโยชน์ได้เสียด้วยความเคยเห็นและฉลาด ถึงการตรวจไข้ทายอาการก็เหมือนกัน หมอยุโรปที่มีเครื่องมือตรวจต่าง ๆ มาก บางทีเคลื่อนผิดไปกว่าแพทย์ไทยก็มีเหมือนกัน อนึ่งนักปราชญ์บางจำพวกในประเทศอื่นที่ไม่พอใจกินยา ถือเสียว่าเป็นเองหายเอง ถึงจะกินก็กินน้อย ๆ เช่นยาหยดหนึ่งน้ำถึงร้อยถ้วยพันถ้วยก็มี เมื่อคิดไปก็เห็นว่าคนพวกนี้ จะตายด้วยโรคก็เห็นจะไม่มากกว่าคนที่ชอบกินยาแก้ร่ำไปสักครึ่งสักค่อนนักดอก เพราะโรคมีสามอย่างดังว่ามาแล้วข้างต้น ถ้าเป็นโรคที่ไม่ต้องรักษาก็หาย ถ้าเป็นโรคที่ต้องรักษาเข้าก็คงจะตาย ส่วนคนที่กินยาเล่า เมื่อเป็นโรคที่ไม่ต้องรักษาแต่แก้เกินไป หมอดูผิดไป ก็กลายเป็นกินยาผิดตายได้เหมือนกัน ถ้าจะว่ายาดับทุกขเวทนาได้ดังนี้ พวกที่เขาไม่ชอบยาเขาจะทนความเวทนาหรือไม่ถือเอาได้ดอกกระมัง กลัวจะลงเค้าแล้วแต่ความที่ตนจะนิยมไปนั้นเอง

การที่ไม่พอใจกินยาหมอหรือกินยามากนั้น ถึงในประเทศเรานี้ก็มีชุกชุมในคนบางจำพวก เพราะเหตุนับถือผีสางเจ้านายใช้ยาบางอย่างที่คนทรงเจ้าบอกใช้บ้าง ที่นอนฝันเพราะอารมณ์ผูกแล้วเรียกว่ายาผีบอกปิดกันหนักหนา ใครได้ม็กิต้องเป็นผู้ประสมยาเอง แล้วเที่ยวให้ใครๆ กินก็มีบ้าง ที่ยากไร้ไม่มีหมอไม่มีทรัพย์ก็กินยาตามที่รู้กันต่อมา ซึ่งบางทีจะเป็นยาหมอนั้นเอง แต่เขาเรียกว่ายากลางบ้านคือสรรพยาก็ง่าย ๆ และน้อยสิ่งด้วย อย่างนี้ก็มี ที่นับถือรากไม้แก่นไม้อะไร ๆ ตามความรู้ เจ็บอะไรก็ฝนรากไม้อย่างเดียวนั้นแก้ได้ร้อยอย่างพันอย่างก็มีบ้าง คนจำพวกนี้บางทีก็หายเหมือนกัน ยาทั้งหลายเป็นของแก้โรค หมอเป็นผู้ชำนาญโรค ถ้าเมื่อเรามีเหตุเกี่ยวข้องก็ควรให้ผู้ชำนาญมาตรวจตราแนะนำดีกว่าทำโดยเดาของผู้ไม่ชำนาญ แต่คนบางจำพวกที่กินยามากเกินไปเจ็บไม่เจ็บก็กินไว้เสมอดังนี้ไม่สมควรเลย

การพยาบาลของแพทย์ที่ทำตามตำราชาวมคธ ได้เป็นธุระรักษาชำนิชำนาญอยู่ในเมืองเรานั้น ก็คือ การครรภ์รักษาที่ใช้นอนเพลิงและโรคที่ชำรุดภายใน เช่นวรรณโรคภายใน ริสสีดวง โรคบิด หรือตาลทรางของเด็ก ไข้จับไข้พิษ ฝีเม็ดเดียวต่าง ๆ โรคจรมาเป็นครั้งเป็นคราว เช่นอหิวาตกโรค ฝีดาด ตาเจ็บ ซึ่งรวมเข้า ว่าธาตุทั้งสี่หย่อนลง พิการไป กำเริบขึ้นจึงเป็นโรคทั้งปวงนี้เป็นพนักงานของหมอยา แต่การที่เกิดอันตรายพลาดพลั้งภายนอก เช่นตกที่สูงแขนหัก ขาหัก หรือถูกคมอาวุธบาดแผลสด ๆ ซึ่งเปนการเซยเยอรีผ่าตัดเย็บผูก มักเป็นธุระของหมอเสกเป่าเขาใช้เข้าเฝือกเสกน้ำมันงาดิบ เรียกน้ำมันประสานและอื่น ๆ ให้ทา เป็นพื้นของราษฎร ไม่เป็นหน้าที่ของหมอยา ครั้นบัดนี้ก์ใช้ให้หมอชาวยุโรปรักษาบ้าง หมอฝรั่งโปรตุเกตที่อยู่ในกรุงสยามมาช้านานแล้วนั้นรักษาบ้าง เพราะเหตุว่าวิชาผ่าตัดเย็บผูกของแพทย์อย่างสยามนี้ไม่ใคร่มีตำหรับตำรา การพยาบาลไข้เจ็บของแพทย์สยาม ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็มิได้รักษารวมกันหมด แบ่งตามถนัดเป็นหมอผู้ใหญ่พวกหนึ่งรักษาแต่ผู้ใหญ่ แต่ก็แบ่งออกอีก คือชำนาญการครรภ์รักษาและทางโลหิตบ้าง รักษาได้แต่โรคต่าง ๆ ที่เรื้อรังบ้าง นี่เป็นพวกหมอผู้ใหญ่ หมอนวดอีกพวกหนึ่งตำหรับบีบนวด แก้ยอกขัดเมื่อยโรคลมจับต่าง ๆ มีแพร่หลายในประเทศนี้ช้านาน ถ้าเป็นไข้เจ็บเล็กน้อย ก็แก้แต่ลำพังเขาหายได้บ้าง เมื่อจะว่าจริง ๆ ถ้าเราไม่หัดตัวเราให้รู้จักต้องนวดให้เคยเสียแล้วไม่ต้องใช้หมอนวดเลยก็ได้ แต่คนเป็นอันมากยังต้องการเป็นประโยชน์อยู่ ถึงข้าพเจ้าเองก็ใช้เสมอเป็นนิจ การที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเคยมาแล้วเท่านั้น ผู้ไม่ชอบนวดหรือไม่ยอมให้นวดเลยอยู่ดีกินดีมีถมไป หมอกุมารอีกพวกหนึ่ง รักษาแต่เด็กทั้งสิ้น หมอนี้เห็นแปลกกับหมอผู้ใหญ่แต่ที่ชอบกวาดยาบ่อย ๆ นอกนั้นก็เป็นแต่ลดหย่อนยาให้อ่อนลงเท่านั้น เพราะเหตุว่าโรคของเด็กที่เป็นอยู่ ถ้าจะเรียกชื่อโรคให้ผิดกับโรคผู้ใหญ่แล้ว ก็คล้ายโรคผู้ใหญ่มาก มีแปลกบ้างเล็กน้อยเท่านั้น หมอยาตาก็แยกไปอีก หมอพวกนี้ถ้าจะเป็นธุระของหมอผู้ใหญ่ก็ได้ หมอบาดแผลหรือหมอฝีอีกพวกหนึ่ง ชำนาญรักษาแต่ฝีเม็ดเดียวใหญ่น้อย และการเปื่อยพังทั้งปวงเป็นธุระของพวกนี้ หมอทรพิษเป็นธุระโรคฝีดาด หรือโรคอะไรที่เป็นเม็ดไปทั้งตัว หมอพวกนี้ใช้ทั้งยาและเวทมนต์ด้วย แต่ตั้งแต่มีการปลูกฝีดาดแล้วก็ลดน้อยลงเสื่อมไปก็ว่าได้ เพราะไม่ใคร่มีทางหากิน ยังมิหนำซ้ำเจ้าพวกหมอน้ำมนต์แย่งรักษาเสียบ้าง เพราะโรคนี้ถ้าไม่สลักสำคัญจะใช้แต่อาบน้ำบ่อย ๆ ก็หายได้เอง ยังมีหมออีกพวกหนึ่งเรียกหมอพยุงครรภ์ พวกนี้ไม่น่ารู้สึกว่าหมอเลย ถ้ามีหมอยาดี ๆ คนหนึ่งแล้วพวกนี้เกือบจะเป็นแต่คนสำหรับใช้ทำการสกปรกแทน เช่นตัดสายอุทรและล้างเด็กเท่านั้น เว้นไว้แต่ไม่มีหมอยา หมอพวกนี้จึงต้องทำธุระบ้าง โดยจะเรียกแต่ว่าผู้พยุงครรภ์หรือพยาบาลครรภ์ก็ได้ การที่หมอแยกกันรักษาเป็นอย่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วนั้น เป็นธรรมเนียมมาช้านานแล้ว แพทย์ภายหลังจึงได้ชำนาญมาเป็นอย่าง ๆ แต่ความรู้นั้น ก็รู้คนละหลายอย่างด้วยกันทุกคน เมื่ออย่างใดชำนาญก็ทำแต่อย่างนั้น เหตุที่จะแยกกันรักษานี้คงเกี่ยวด้วยราชการก่อน เพราะตำแหน่งราชการมีกรมหมอโรงพระโอสถ คือหมอผู้ใหญ่หมอกุมารหมออื่น ๆ เป็นกรม ๆ ไป หมอที่ดีเข้ารับราชการต้องทำตามตำแหน่งกรม ขวนขวายไปในทางเดียวจึงชำนาญอย่างเดียว เมื่อมีบุตรหลานก็ฝึกหัดตามทางปู่ บิดา สืบตระกูลใหญ่ไปในทางนั้นเป็นต้นเหตุ ส่วนหมอเชลยศักดิที่ไม่เกี่ยวข้องกับหมอในราชการมักจะรักษาแทบทุกอย่าง แต่ไม่ใคร่เห็นมีฝีมือดีเลย และเป็นด้วยห่างเหินต่อไข้เจ็บและไม่มีครูดีอย่างไร ถ้าเป็นผู้มีฝีมือดีก็มักจะเข้ารับราชการเสียแทบทั้งนั้น หมอเชลยศักดิที่รักษาชำนาญอย่างเดียวก็มีบ้าง แต่มักเป็นเชื้อสายศิษย์หาหมอหลวงโดยมาก

การบำเหน็จรางวัลที่แพทย์ในเมืองนี้ได้อยู่ตามธรรมเนียมของราษฎร หรือแพทย์ตามบ้านนอกเดี๋ยวนี้นั้น พอหาหมอไปดูไข้ตกลงรับรักษา ก็ให้ตั้งขวัญข้าว มีข้าวสารกล้วยหมากพลู เงินติดเทียนหกสลึง หมอให้ยาผงแล้วบอกเกณฑ์ให้เจ้าไข้เก็บเครื่องยาสมุนไพรให้ต้มยา ส่วนเครื่องเทศหมอเรียกเงินไปซื้อบ้าง เมื่อไข้ไม่สำคัญหายเร็วก็ส่งขวัญข้าว คือเอาของขวัญข้าวทั้งปวงให้หมอ กับให้ค่ายาอีกสามบาทเท่านี้ เมื่อเป็นไข้สำคัญตามที่แลเห็น ผู้เป็นเจ้าของไข้เกรงหมอจะไม่ทำเต็มมือ ก็ว่ากำหนดบำเหน็จรางวัลพอสมควร แต่เขาพอใจใช้คำที่ไม่เพราะเรียกว่าให้สินบนเท่านั้น ๆ หมอก็ได้มากขึ้นไปอีก การเช่นนี้นาน ๆ หมอจึงจะได้ครั้งหนึ่ง อยู่ข้างจะฝืดเคียงในการลาภผลเพราะวิชาหมอแพทย์ตามสวนหรือบ้านนอก จึงต้องประกอบการหากินอย่างอื่นเลี้ยงตน การวิชาแพทย์ก็อยู่ข้างทรามสักแต่ชื่อว่าหมอเพราะมียา ส่วนหมอที่มีบรรดาศักดิที่รักษาผู้มียศวาสนาตลอดจนพ่อค้าพลเรือนในกรุงเทพ ฯ นั้นไม่มีใครเรียกค่ายา ให้ตั้งขวัญข้าวอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อตกลงรับรักษาก็ลงทุนยาไปก่อน ไม่พูดจาถึงเงินทองเลย ถ้ารักษาไม่หายเขาเปลี่ยนหมอหรือไข้ตายไป ก็เป็นขาดทุนและเสียเวลาเปล่า แต่โดยมากที่เจ้าไข้ใจดีใจใหญ่ก็ให้บ้าง ถ้ารักษาหายก็ให้รางวัลมาก ๆ พอเลี้ยงตนในผลแห่งวิชาได้ จึงทำให้ขวนขวายในวิชาแพทย์มากขึ้น เพราะฉะนั้นหมออย่างนี้จึงรุ่งเรืองด้วยวิชาดีกว่าหมอบ้านนอกมาก ส่วนหมอเชลยศักดิในกรุง ก็มักเอาอย่างหมอหลวงเสียมากแล้ว การเรียกขวัญข้าวที่ใช้อยู่นั้น ใช่ว่าจะเป็นธรรมเนียมชาวเราก็หาไม่ เป็นธรรมเนียมของครูเดิมมาแต่ชาวมคธหรือสันสกฤตแล้ว

เรื่องแพทย์ที่กล่าวมาทั้งนี้ ถ้าผู้ใดไม่เอาใจใส่อยากทราบเรื่องแพทย์ศาสตรก็น่าจะอ่านด้วยความรำคาญเห็นป่วยการ แต่เพื่อจะให้เล่าสู่กันฟัง ให้มีเรื่องต่าง ๆ ในหนังสือวชิรญาณ ถ้าจะเป็นเครื่องรำคาญโสตป่วยการอ่าน ก็จงโปรดถือว่าผู้แต่งมีความปรารถนาจะเล่าให้ถูกใจผู้อ่านฟังเท่านั้น แต่ความพลาดพลั้งผิดไปเปรียบเหมือนกับเข้าที่หาลงในสำรับวันหนึ่ง ก็คงจะมีที่ถูกใจเราบ้างไม่ถูกบ้าง หนังสือฉบับนี้ก็มีหลายเรื่อง คงเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านบางพวกบ้างเป็นแน่ ขอผู้อ่านทั้งปวงจงมีความสุขสวัสดิ์เทอญ ๚

  1. ๑. เป็นบุตรขุนหลวงตาก

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ