เรื่องสวน

พระยาภาสกรวงศ์ เรียบเรียง

----------------------------

การทำสวนนี้เป็นส่วนหนึ่งอยู่ใน กฤษิกรรม ซึ่งเป็นศิลปของการเพาะ ปลูก หว่าน ไถ บำรุงที่แผ่นดินแผนกหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันสมควรที่จะให้รู้ธรรมชาติของที่แผ่นดิน อันจะได้ขุดร่องยกคันโก่นสร้างที่แผ่นดิน จะได้หว่านเพาะต้นไม้มีผลที่เป็นต้นไม้ยืนนาน และต้นไม้ล้มลุกเพาะหว่านตามฤดูสมัย ให้ได้ผลอันดีมีราคามาก และต้องยากลำบากที่จะต้องลงแรงลงทุน และเปลืองเวลาแต่น้อย ในการประสงค์จะให้ผลดังนี้ มีการอยู่ ๔ อย่าง ที่ชาวสวนควรจะมีจะทรงไว้ ความคาดหมายประโยชน์จึงจะเป็นอันสำเร็จได้ คือว่าจะต้องมีทุน คือเงินที่จะได้ออกใช้สอยในสิ่งที่ควรต้องการ ๑ แรงหรือมือเพื่อที่จะได้ทำงานที่ต้องการ ๑ ความรู้ในทางดีที่สุดแห่งการงานที่ทำ ๑ และความฉลาดเพื่อที่จะได้บัญชาใช้ทุนและแรงที่จะต้องออกต้องทำ ๑ คุณสมบัติ ๔ อย่างนี้มีอยู่ในชาวสวนผู้ใดแล้ว ความมาดหมายที่จะให้เกิดประโยชน์ ก็คงเป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่ง รวมเป็นสิ่งซึ่งเป็นวิชชาสำหรับชาวสวนที่ควรต้องศึกษา และประพฤติไปด้วยกัน ครั้นจะพรรณนาให้ละเอียดแล้ว ตลอดปีก็คงไม่หมดเรื่องได้ เพราะฉะนั้นในที่นี้ข้าพเจ้าจะขอกล่าวแต่สังเขป ที่เป็นส่วนลักษณะของการเพาะปลูกที่กิน และวิธีการทำสวนที่บรรพบุรุษได้ทำมาแล้ว เป็นอยู่ประการใด และความชำนาญที่ได้ทดลองมาแล้ว เป็นการดีขึ้นอย่างไรบ้าง ทั้งวิธีวิชชาเป็นความรู้ที่จะเชิดชูการเพาะปลูกทำสวนให้เจริญยิ่งขึ้น และเหตุที่เป็นการขัดขวางในทางที่ชักให้เป็นความท้อถอยแก่การเพาะปลูกอยู่นั้น จะได้พรรณนาการเหล่านี้สืบไป บัดนี้จะขออธิบายคำว่า สวนและที่แผ่นดินของเรามีอยู่กี่อย่างกี่ชะนิด และเทียบเทียมดูกับธรรมเนียมต่างประเทศ ที่เป็นไมตรีด้วยสักหน่อยก่อน

สวนคำนี้ เมื่อเป็นนามศัพท์แล้ว ก็เข้าใจว่าที่แผ่นดินอันยกคันเป็นร่องขึ้นแล้ว ก็เรียกว่าเป็นสวนคู่กับคำว่านา และมีคำว่าไร่แซกอยู่เป็นคำกลางด้วย เพราะสวนสำหรับปลูกไม้ดอกไม้ผล นาปลูกเข้า ไร่ปลูกไม้ล้มลุก สวนนั้นมีประเภทต่าง ๆ ตามคำที่คุณศัพท์จะตามหลัง คือสวนใหญ่ สวนจาก สวนดอกไม้ เป็นต้น

ที่ใดซึ่งปลูกต้นผลไม้ อันเป็นไม้ยืนต้นเข้าอากรใหญ่ก็ดี เข้าพลากรก็ดี ที่เป็นไม้ล้มลุกเสงเครงเข้าสมพัตสรก็ดี ล้วนแต่ต้นสิ่งนั้นมาก มีไม้ขึ้นแซมแต่น้อยแล้ว ก็เรียกว่าสวนสิ่งนั้น เอาชื่อต้นผลไม้ประกอบเป็นคุณศัพท์ อธิบายความพิเศษจำเพาะในที่ดินอันนั้น และอยู่ตำบลนั้นจึงจะดี

ที่ดินปลูกต้นทุเรียน มังคุด มะม่วง มะปราง ลางสาด หมาก พลูค้างทองหลางต้น ๗ พรรค์นี้ เข้าในอากรใหญ่ ต้นใดมีจำนวนในที่อันนั้นมากก็เรียกว่าสวนสิ่งนั้น ในตำบลวัดทองล่างปลูกทุเรียนมาก ก็เรียกว่าสวนทุเรียน ในตำบลนี้ต้นทุเรียนงอกงามได้ผลมากมีรสดีกว่าที่ตำบลอื่น จึงมีชื่อทุเรียนเป็นคุณพิเศษของตำบลนี้ แต่ก่อนนั้นทุเรียนบางบนในคลองบางกอกน้อย มีบางผักหนามเป็นต้น เป็นทุเรียนดีมีชื่อจำเพาะต้นนั้นพันธ์ุนั้น ผลโตงามภูใหญ่สีเนื้อเหลืองแต่หยาบ รสมันมากกว่าหวาน ซื้อขายกันได้ราคาเรียกว่าทุเรียนบางบน ครั้นภายหลังมาในถิ่นบางบนนี้มีน้ำท่วมบ่อย ๆ ต้นทุเรียนทนน้ำไม่ค่อยจะไหวล้มตายเสียแทบหมด ผู้ที่จะเพาะปลูกขึ้นใหม่ก็ระอาไป หาค่อยจะปลูกให้เต็มภูมิ์ไม่ ทุเรียนบางบนจึงได้เสื่อมทรามลง ไปเจริญงอกงามดีในที่ตำบลบางล่าง เพราะฤดูน้ำท่วมไหลลงเร็ว ชาวสวนคิดยกคันอยู่ได้ และทุเรียนบางล่างนั้นเนื้อละเอียดแต่บาง สีก็เหลืองอ่อนมักจะเป็นสีลาน แต่รสนั้นหวานสนิทดีกว่าบางบน คนชอบใจกินมาก ต้นทุเรียนมีอยู่ในที่อะเลอใดมาก ที่อะเลอนั้นก็เรียกว่าสวนทุเรียนเหมือนกัน ถึงต้นไม้อื่นก็เช่นกัน ผิดกันแต่พันธุ์ที่เกิดงอกงามในตำบลต่าง ๆ มีรสดีกว่ากันตามชั้นชนที่ชอบ

เหมือนอย่างมะม่วง มีชื่อจำเพาะว่าอกร่อง และมะม่วงทุเรียนนั้น ที่พาหิรุทยาน ซึ่งเรียกตามสามัญว่าสวนนอก ในแขวงเมืองสมุทรสงคราม มีสวนมะม่วงบางช้างเป็นที่ทราบซึมอยู่ด้วยกันมาก มะม่วงคิดว่าสวนใน ยังมะม่วงอีกพันธุ์หนึ่ง เป็นมะม่วงไร่หรือป่าก็ได้ เรียกว่ากะล่อนเขียว ในแขวงเมืองชลบุรีมีรสหวาน และปลาดโอชายิ่งนัก อีกพันธ์หนึ่ง เรียกว่ากะล่อนทอง มาแต่เพ็ชรบุรีเป็นอย่างดี และมักได้กินก่อนฤดู มักจะทันใส่บาตรในเวลาเทศกาลตรุษ แต่รสหาสู้ดีไม่ มักจืด ๆ ชืด ๆ ไป สู้รสมะม่วงอื่นไม่ได้ ยังมะม่วงกะล่อนอีกพันธุ์หนึ่ง เรียกว่าขี้ไต้ มีประปรายรายทั่วไปตามสวนและไร่ แต่รสไม่อร่อย ได้รู้สึกกลิ่นคล้ายดังชัน จึงเรียกกันว่า ขี้ไต้ แต่ยังมะม่วงพันธุ์อื่น ๆ อีกตั้งร้อยชะนิดจะพรรณนาก็ยืดยาวนัก

มะปรางปลูกที่ตำบลบางท่าอิฐ แขวงเมืองนนทบุรีฝั่งตะวันตก เยื้องปากเกร็ดล่างหน่อยหนึ่ง เป็นมะปรางมีรสดีเนื้อแน่นไม่ช้ำ ผลก็งามดี มะปรางปลูกที่ตำบลอื่น ถึงผลจะงามเนื้อในมักเป็นน้ำและช้ำเรียกว่าท้องขึ้น ปอกริ้วไม่ค่อยจะได้ รสก็มักจะจืดไม่สู้แหลมเหมือนมะปรางที่ท่าอิฐ มะปรางนั้นเราแบ่งประเภทไปตามรสมีสองอย่าง คือเปรี้ยวกับหวาน แต่คำที่ชำนาญพูดกันนั้นปณีตออกไปอีกถึง ๕ อย่างตามรสนั้น คือมะปรางที่มีรสหวานชืด ๆ ไม่มีเปรี้ยวแกม เรียกว่ามะปรางหวาน ที่มีรสเปรี้ยวแกมแต่น้อย มีหวานเข้าประสมเป็นรสปลาดมาก เรียกว่ามะยงชิด ที่มีรสเปรี้ยวมากกว่าหวานเรียกว่ามะยงห่าง และที่เปรี้ยวมีรสหวานรู้สึกแต่เล็กน้อยเปนมะปรางเปรี้ยวตามธรรมดา ยังเปรี้ยวแจ๊ดอีกพันธุ์หนึ่งผลใหญ่งาม ลางแห่งก็เท่าฟองไก่ตะเภา เรียกว่ากาวาง เพราะเปรี้ยวเหลือที่จะประมาณ จนนกกาไม่อาจจิกกินได้แล้ว มะปรางอย่างนี้สำหรับเป็นของกำนัลเป็นที่ดูชมเล่นเท่านั้น ส่วนมะปรางที่ท่าอิฐเป็นดีกว่าที่อื่น

ลางสาดปลูกที่ตำบลคลองสาร มักมีรสหวานเจือหอมพิเศษดีกว่าที่ตำบลอื่น และพันธุ์เมืองชะวาหรือบะเตเวีย พันธุ์ที่มาปลูกเป็นขึ้นในบ้านเมืองเรา มีผลเขื่องเติบบ้าง พวงใหญ่งามดี สีเนื้อขาวซีด มีรสหวานชืดจืด โอชะไม่ถึงลางสาดของเรา เป็นแต่นับถือว่าเป็นของชักนำมาแต่ต่างประเทศเท่านั้น ด้วยเป็นของยังมีน้อยต้นอยู่ เรียกกันว่าลางสาดกะหลาป๋า หรือบะเตเวีย แต่ที่คำว่าชะวา หรือยะวาซึ่งควรจะเรียกนั้นหากล่าวไม่

มังคุดนั้นไม่เป็นตำบลลงได้ มีเรี่ยรายไป สุดแต่ที่ใดปลูกมากก็เรียกว่าสวนมังคุด มีชื่อตำบลอันปรากฏมาในพงศาวดาร ว่าสวนมังคุดแห่งหนึ่ง คือแถบวังหลัง ซึ่งเป็นมูลราชนิเวศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปฐมรัชชกาลนั้นตำบลหนึ่ง แต่ที่จริงนั้นเดี๋ยวนี้ต้นมังคุดมีน้อย หรือจะว่าไม่มีเลยก็ได้ นามสวนมังคุดนั้นเดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยจะมีใครเรียกเสียแล้ว สวนมังคุดในบ้านเมืองเรามีผลหาค่อยจะพอจำหน่ายไม่ ในเวลาต่อวายจึงต้องบรรทุกเข้ามาแต่เมืองสิงหปุระ ซึ่งกลายไปเป็นเมืองสิงคโปร์ก็มี เพราะที่สิงคโปร์มีสวนมังคุดมาก ทางไปมาด้วยเรือเมล์กลไฟใกล้เข้า และต้นมังคุดที่ในหัวเมืองตะวันตกของเราก็มาก แต่หาได้เป็นสินค้าซื้อขายถึงในกรุงเทพ ฯ ไม่ เป็นแต่ใช้กันอยู่ในพื้นบ้านพื้นเมืองนั้นเท่านั้นเอง

หมากบางล่างมีตำบลราชบุรณะบางผึ้งแจงร้อนเป็นต้น เป็นสวนหมากอันมีชื่อเสียงปรากฏมาแต่ก่อน เพราะหมากนั้นหน้าฝาดยิ่งเคี้ยวกระชับจับปากดีกว่าตำบลอื่น แต่ฝั่งตะวันตกยิ่งดีกว่าฝั่งตะวันออก และไม่สู้ช้านานนักมาเกิดเคี้ยวหมากดิบที่ยังไม่เป็นสง เนื้อขาวเรียกว่าหน้าหวานกันขึ้นมาก ในหมู่ผู้ที่เป็นชั้นสูงถือว่าหมากหน้าฝาดกระชับจับเจ็บปากไป หมากดิบหน้าหวานจึงเป็นที่ชอบใจ มีราคาขึ้นกว่าหมากหน้าฝาดมาก ที่ปลูกในแขวงเมืองฉะเชิงเทรา และเมืองจันทบุรีที่หน้าขาวซิดก็กลายเป็นหมากดีไปทั้งนั้น แต่หมากเหล่านี้แต่ก่อนเป็นหมากเลวทราม เดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นดีไป หมากซึ่งเรียกว่าหน้าหวานนั้น แบ่งเป็นฝาดหวาน หวานแดง หวานแท้ คือหน้าขาวซีดมีเยื่อเช่นวุ้นหรือเยลลีมาก สวนหมากนี้ที่แขวงเมืองฉะเชิงเทราปลูกมาก และต้นก็เตี้ยตั้งแต่ ๔ ศอกขึ้นไปเพียง ๖ ศอก ๗ ศอกก็มีผล หาสูงดวดเหมือนหมากที่สวนในและสวนนอกไม่และมักมีผลเสมอ จะว่าเป็นหมากต่อวายก็ได้ เราใช้เคี้ยวกันอยู่เดี๋ยวนี้ในเวลาฤดูวายแล้ว ก็ใช้หมากสวนแขวงเมืองฉะเชิงเทรามาก เรื่องหมากนี้มีประเภทและข้อความที่จะกล่าวบรรยายได้เล่มสมุดกว่า เพราะนับถือเข้ามาเป็นเครื่องเคี้ยวสำหรับประดับชั้นยศบรรดาศักดิ์เสียแล้ว ใช้เคี้ยวทั่วไปทั้งชายหญิง จะไม่เคี้ยวอยู่บ้างก็น้อยตัว ที่มักจะเก๋เป็นอย่างฝรั่ง หรือวิงเวียนยันไม่เป็นที่ชอบใจ หรือที่เห็นเป็นการเปรอะเปื้อนไปบ้างก็มี ถ้าจะเทียบดูแล้วชาวเราผู้ที่ไม่เคี้ยวหมากหมื่นคนจะมีสักคน ๑ เพราะฉะนั้นหมากที่เพาะปลูกในสวนนอกสวนในก็ดี ที่ได้นับเมื่อเดิรรังวัดสวนในปีมะเมียปีมะแมหลังนี้ หมากที่นับได้อย่างเข้าอากรมีอยู่ ๖,๓๗๑,๘๕๕ ต้น ที่เพาะปลูกยังไม่ได้อย่าง ๑,๒๗๓,๐๗๐ ต้น รวม ๓,๖๔๔,๙๒๕ ต้น แต่ยังเพาะปลูกใหม่อยู่เสมอไปมากกว่าที่ตายและตัดฟัน ก็ยังไม่พอชาวเราที่ใช้สอยต้องจำบรรทุกเข้ามาแต่ต่างประเทศ เรียกว่าหมากเกาะคือมาแต่เมืองปินังหรือเกาะหมาก ปีหนึ่งตั้งหมื่นหาบ ต้นหมากต้นหนึ่งที่อย่างดกปีหนึ่งมีผลสองปูน ที่งามประมาณถึง ๓,๐๐๐ ผล และที่สอนเป็นตั้งแต่ ๑๐๐ ขึ้นไปคิดถัวลงปีหนึ่งเป็นต้นละ ๕๐๐ ผล ราคาซื้อขายกันตามฤดูถูกแพง ที่แพงก็ถึงร้อยละบาท ร้อยละห้าสลึง ที่ถูกเพียงร้อยละสลึงเฟื้องบ้าง สลึงบ้าง เฟื้องสองไพบ้าง คิดถัวกันเป็นปีหนึ่งอย่างน้อยได้ผลต้นหนึ่งราคาเพียงบาทหนึ่ง ก็เป็นเงินถึง ๙๕,๕๖๑ ชั่ง ๑๑ ตำลึงกับบาทหนึ่ง ถ้าคิดเพียงต้นละสองสลึงก็ถึง ๔๗,๗๘๐ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง ดูมากมายนักที่ใช้เคี้ยวอยู่ทั่วกัน

พลูค้างทองหลางเป็นของเกิดมีมานานตามสวน ปลูกแล้วก็ทิ้งให้เลื้อยขึ้นบนต้นทองหลาง เก็บใบเคี้ยวปนกับหมาก เป็นใบเขียวมีรสเผ็ด มีตามสวนบางบนและสวนนอกมาก เพราะเป็นของเลื้อยยืนต้นนาน จึงได้นับเข้าในอากรใหญ่ ภายหลังมาไม่สู้ช้านานนัก พวกจีนชำนาญในการเพาะปลูกดีกว่าชาวเราที่ใช้ปุ๋ยรดที่ดินให้มีรสแรงขึ้น จึงได้คิดปลูกพลูให้เลื้อยขึ้นค้างด้วยต้นโปลง หาใช้ให้เลื้อยขึ้นบนต้นทองหลางไม่ ได้เพาะปลูกในตำบลบางใส้ไก่และบางยี่เรือมาก ที่เหล่านั้นจึงเรียกว่าสวนพลู พลูค้างที่พวกจีนปลูกอาศัยอุดหนุนที่ดินด้วยปุ๋ยปลาเน่าเป็นต้น ต้นพลูเกิดงอกงามออกยอดแตกใบมีกำหนดวันทันเก็บขายและสีพลูนั้นก็เหลืองมีรสไม่สู้เผ็ด ผิดกับพลูค้างทองหลางมาก ขายได้ราคา

ในสวนพลูบางใส้ไก่และบางยี่เรือนั้น ชาวสวนพลูเด็ดใบเก็บซ้อนกันเรียกว่าเรียง ๘ ก้านเป็นเรียง ๑ ไม่ว่าใบเล็กใบใหญ่ แล้วก็มัดเป็นกำบรรจุเข่งหาบมาบ้าง บรรทุกมาด้วยเรือเล็กบ้าง มาขึ้นที่ท่าในคลองบางกอกใหญ่เคียงกับวัดอินทาราม จันทาราม ราชคฤห์ เรียกตามสามัญว่า วัดบางยี่เรือทั้ง ๓ หรือวัดบางยี่เรือไทย ยี่เรือมอญก็เรียก ท่าที่บรรทุกพลูลงมาจำหน่ายนั้นก็กลายเป็นตลาดพลูไป และที่บรรทุกมาจำหน่ายทางตอนล่าง ออกคลองดาวคนองก็มีแต่น้อย พลูไม้ค้าง นัยหนึ่งว่าพลูจีนก็เรียก นี้เป็นสินค้าไม่จำเพาะใช้แต่ในกรุงเทพ ฯ บรรทุกไปขายตามหัวเมืองตลอดถึงกรุงเก่า อ่างทองก็มีที่เป็นพลูสด ถ้าเมืองไกลขึ้นไปก็นาบให้แห้งไปขาย แต่พลูค้างทองหลางนั้นมักจะมัดเป็นกลุ่มเสียมากกว่าเรียง และใช้นาบขายมากกว่าพลูจีน ด้วยรังเกียจสีเขียวและไม่เป็นที่ชอบใจที่ใช้สอยนัก พลูจีนคู่กับหมากดิบหมากสงสดอยู่แล้ว พลูนาบนี้เป็นของคู่กับหมากเกาะหมากสงแห้ง ขายกันเป็นหาบทั้งสองอย่าง

ที่พรรณนามานี้ เป็นส่วนต้นผลไม้ที่เข้าอากรใหญ่ที่มีประเภทสวนต่าง ๆ ยังส่วนที่เป็นพลากรมีสวนเงาะสะท้อนเป็นต้น เงาะนั้นตำบลบางยี่ขันเป็นสวนดี มีราคากว่าที่อื่น สวนสะท้อนนั้นบางบัวทองในคลองอ้อมเป็นอย่างดีกว่าที่อื่น และที่เป็นสะท้อนพิเศษเรียกชื่อว่านิ่มนวลนั้นพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลที่ ๒ ทรงโปรดจนถึงยกอากรพระราชทานให้แก่สวนที่เรียกว่านิ่มนวลนั้นด้วย

ยังต้นไม้ล้มลุก และไม้เสงเครงที่จัดเป็นสวนขึ้น คือ อ้อยจีนนั้นแต่ก่อนอ้อยจีนตำบลบางใหญ่ในคลองบางกอกน้อย เป็นมีรสหวานดีกว่าที่อื่น จนลูกค้าที่ขายเร่ร้องเป็นคำกลอนกระทบกันว่า “ซื้ออ้อยจีนบางใหญ่อ้อยไทยบางโควัด เข้าหลามตัดวัดระฆัง แม่เฮ้ย” แต่เดี๋ยวนี้อ้อยจีนบางใหญ่นั้นเสื่อมทรามไป หาค่อยจะมีใครเพาะปลูกไม่ เป็นที่นาไปเสียหมดแล้ว อ้อยจีนเลื่อนไปเพาะปลูกงอกงามอยู่ตาม บางแวก บางเชือกหนังเป็นอย่างดี แต่อ้อยไทยบางโควัดนั้น ยังคงเป็นอ้อยมีชื่อดีอยู่ เพราะรสหวานฉ่ำและอ่อน ที่อื่นสู้ไม่ได้ ยังไร่อ้อยทำน้ำตาลที่อื่นๆ อีกมาก และเข้าหลามตัดวัดระฆังนั้น เดี๋ยวนี้ก็สูนย์สิ้นชื่อไปแล้ว

ผลฝรั่ง นัยหนึ่งว่าไม้จีน เป็นสวนมีผลและรสดีอยู่ที่บางเสาธง และยังมีต้นผลไม้อื่นที่มีชื่อตำบลชมกันว่าเป็นของดียิ่งนั้นอีกมาก ยังสวนไม้เสงเครง ในเวลาเมื่อเสด็จพระราชดำเนิรกลับจากประเทศเมืองอินเดีย ได้เม็ดพุดซาจากเมืองกาละกะตามาเพาะเป็นผล ในปีแรกผลใหญ่รสก็ไม่เปรี้ยวฝาด บางท่านที่ชอบพุดซานั้น ก็ปลูกพุดซาโดยมาก เรียกว่าสวนพูดซาลักกะตาก็มี ครั้นล่วงมาหลายปีต้นพุดซาเหล่านั้น รู้จักที่ดินได้ชลากาศของเราเข้า ผลก็เล็กลง มีผลออกเปรี้ยวและฝาด ชื่อพุดซาลักกะตาก็คลายเงียบไป เกือบจะเป็นพุดซาไทยหมดแล้ว

ยังต้นชิกโก มาดัดเรียกว่าลมุดฝรั่ง มาจากแหลมมะลายู สิงคโปร์และชวาบ้าง เพาะปลูกและตอนปลูกต่อ ๆ กันไป มีผลตลอดปีแต่ช้า คิดตั้งแต่เผล็ดดอกไปจนผลสุก ๘ เดือนจึงกินได้ มีรสหวานฉ่ำดังน้ำตาล แต่เป็นทรายมีอยู่ ๒ พันธุ์ ผลยาวใหญ่และผลกลมเล็ก กำลังเป็นที่ชอบใจจับใจของผู้เพาะปลูกมาก ลางบ้านหรือสวนก็ปลูกล้วนแต่ลมุดฝรั่งทั้งนั้น เรียกว่าสวนลมุดฝรั่ง และตามบ้านเรือนก็ปลูกชมเล่น ได้ผลซื้อขายมีราคามาก ตลาดผลไม้ที่ท้องสำเพ็งนั้นมีขายอยู่เป็นนิจ แต่ราคายังแพงอยู่ ผลใหญ่ผลละเฟื้องบ้าง ๖ ผลบาทบ้าง ผลเล็ก ๔ ผล ๕ ผลเฟื้องบ้าง ลมุดฝรั่งที่เรียกดังนี้ไม่สู้ช้านานนัก คงจะเป็นดังลมุดไทยไป เพราะคนชอบตอนไปเพาะปลูกมาก ถ้าเพาะเมล็ดแล้ว ๑๐ ปีก็ยังไม่ออกผล

ข้าพเจ้าเพ้อด้วยประเภทคำสวนต่าง ๆ ที่มีต้นไม้เข้าอากรใหญ่มามากอยู่แล้ว ยังสวนคำนี้ใช้เป็นคำกิริยาศัพท์หรือคุณศัพท์พิเศษ ประกอบกับอาขยาตบ้าง อุปสัคบ้าง มีเนื้อความต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่าจะให้สืบการสิ่งใดก็เรียกว่าไต่สวน สอบสวน ส่งข่าวไปมาเรียกว่าสื่อสวน คนหนึ่งเดิรไปคนหนึ่งเดิรมาตามทางพ้นกันไป หรือตรวจทางเสียก่อน ก็เรียกว่าสวนทาง ยังสัตว์ถูกเจ็บวิ่งไล่ผู้ทำเข้ามา เรียกว่าสวนควัน พบปะกันหลีกไปมา มีรถและเรือเป็นต้น ก็เรียกว่าสวนกัน เดิรเรือในลำคลองเวลาค่ำ เรือจะหลีกกันก็บอกว่าสวน คือให้ไปทางตะวันตก ทะเลไปทางตะวันออก ถ้าเป็นคลองคูพระนคร ก็เรียกว่ากำแพงแทนสวน คือให้หลีกไปทางกำแพง มีการซ้อมแห่โสกันต์เป็นต้น และมีการจะพะนันในท้องสนาม ก่อนที่จะแห่ เล่นพะนัน ก็เรียกว่าสวนสนาม ยังผู้ที่ป่วยไข้ไม่ไปอุจาระ ก่อนเวลาที่ชักนำสูบเอนิมาเข้ามา ใช้ก้านมะละกอปากอมยาเป่าทางก้านมะละกอเข้าไปในทวารหนักเพื่อจะให้อุจาระเดิร ก็เรียกว่าสวน การหัวร่อกัน ถ้าเจ้านายก็เรียกว่าทรงพระสรวล สามัญก็เรียกแต่ว่าสวน ยังในหนังสือโคลงกล่าวว่า สวนเสียงพระสมุทรอื้อ อลเวงเป็นต้น ก็สวนคำนี้ จะว่ามาจากภาษามคธ สะวะนัง แปลว่าการฟังการได้ยินก็ดูเหมือนจะได้ แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมรับแน่ว่าเป็นผู้ต้นยืนยัน ต้องแล้วแต่ประชุมชนจะเห็นชอบ ยังคำสวนเป็นวิเศษ ก็นามชื่อบุรุษสตรีก็มีอยู่ชุม ๆ แต่ผู้ที่ชื่อสวนทั้งชายหญิงนี้ มักจะมีเหตุไปอุปบัติเกิดที่สวน ดังเกิดที่แพหรือเรือนแพเป็นต้น เอานามสถานที่มาให้เป็นชื่อ เพื่อความระลึกให้เป็นผลไว้ก็มี นามพระผู้เป็นเจ้ามคธว่าอิศระ สังสกฤตอิศวระ เรามาเรียกเป็นพระอินสวนไปให้ผิดกับพระอินโปหรือพระอินเขียว และคำว่าสวนยังจะใช้อย่างอื่นได้อีกก็มีอยู่ เป็นต้นว่า ผ้าตาทองแกมไหม ในโบราณเรียกว่า ตาหิ่งห้อยชมสวนเป็นต้น สวนคำนี้เข้าเป็นยาดำแซกแซงถ้อยคำอยู่หลายอย่าง จะค้นเก็บพรรณนาก็เกรงว่าจะเพ้อเจ้อพล่ามมากไปนัก ขอยุติไว้ทีหนึ่ง จะได้พรรณนาถึงที่ดินต่อไป

ที่แผ่นดินซึ่งขุดร่องยกเป็นคันเรียกว่า สวนใหญ่ นั้นเป็นแผนกหนึ่งจากที่แผ่นดินทั้งปวง มีอยู่ในแขวงกรุงเทพ ฯ เมืองนนทบุรี ประทุมธานี นครเขื่อนขันธ์ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครไชยศรี สมุทรสงคราม ราชบุรี เพ็ชรบุรี และฉะเชิงเทรา รวม ๑๑ เมืองทั้งในกรุงเทพ ฯ ที่แผ่นดินซึ่งเป็นสวนใหญ่นี้ ก็ย่อมมีโฉนดตราสารเป็นสำคัญสำหรับที่สวนนั้น ๆ แบ่งออกเป็นอะเลอไป อะเลอหนึ่งไม่กำหนดจะกว้างยาวเท่าไร สุดแต่มีโฉนดตราสารสำหรับที่นั้นฉะบับ ๑ เป็นสำคัญแล้ว ก็เรียกว่าอะเลอ ๑ ที่สวนอะเลอ ๑ ก็แบ่งออกเป็นขนัดไป ขนัดสวนนั้นก็มิได้ประมาณกว้างยาวเหมือนกัน สุดแต่มีร่องขวางแล้วก็นับเป็นขนัดไป สวนอะเลอ ๑ บางทีก็มีเพียงสองร่องสามร่อง กี่ไม่เป็นขนัดบ้าง ที่เปนขนัดก็นับตั้งแต่ ๑ ขนัดไปจน ๑๒ ขนัด หรือมากกว่าขึ้นไปก็มีแต่น้อย มักจะอยู่ใน ๑๒ ขนัดเสียโดยมาก

สวนอะเลอ ๑ นั้น ผู้กินผู้ถือต้องรับโฉนตตราสารจากเจ้าพนักงานไปไว้เป็นคู่มือ หวงห้ามที่นั้นไว้เพาะปลูกได้ ก็ต้องเสียค่าอากรที่ดิน เรียกว่าเดิมจอง เป็นเงินมีปีหนึ่ง สลึง ๖๐๐ เบี้ย ถ้าปลูกต้นผลไม้ ๗ อย่างคือต้น ทุเรียน แมงคุด มะม่วง มะปราง ลางสาด หมาก พลูค้างทองหลาง เรียกว่าอากรใหญ่ ต้นผลไม้ ๗ อย่างนี้ ถ้าเงินอากรปีหนึ่งยังไม่ถึง ๖๐๐ เบี้ยแล้ว ก็ต้องเสียอากรอยู่ตามเดิมจอง ถ้าต้นผลไม้ ๗ สิ่งมีค่าอากรมากกว่า สลึง ๖๐๐ เบี้ยขึ้นไปแล้ว ก็ต้องเสียอากรตามจำนวนไม้ ๗ อย่างนั้น ยกค่าเดิมจองสลึง ๖๐๐ เบี้ย ให้คงคิดเอาตามจำนวนไม้ ๗ อย่างนั้น มีพิกัดดังนี้

ต้นทุเรียนต้นละสองสลึงเฟื้อง แต่เดิมอากรต้นละบาท ครั้นมาในรัชชกาลที่ ๔ เมื่อเดินสวนคราวหลังในปีฉลูสัปตศกจุลศักราช ๑๒๒๗ (พ.ศ. ๒๔๐๘) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ลดอากรลงเป็นต้นละสองสลึงเฟื้อง เพราะว่าต้นทุเรียนเป็นไม้ทนน้ำไม่ได้ ถ้าฤดูน้ำท่วมมากขังแช่ต้นอยู่ตั้งแต่ ๓ วันขึ้นไปก็มักจะล้มตายเสียมาก ถ้าไม่ตายก็เป็นไข้ทิ้งกิ่งทิ้งใบไม่เป็นผลไปหลายปี จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ลดเงินอากรลง ก็เพื่อจะบำรุงการเพาะปลูกให้เจริญขึ้น เงินอากรจึงได้คงอยู่ต้นละสองสลึงเฟื้องมาจนบัดนี้ ต้นแมงคุดต้นละเฟื้อง มะม่วงต้นละเฟื้อง มะปรางต้นละ ๔๐๐ เบี้ย ลางสาดต้นละเฟื้อง หมาก จัดเป็นหมากเอกต้นละ ๑๓๘ เบี้ย หมากโทต้นละ ๑๒๘ เบี้ย หมากตรีต้นละ ๑๑๘ เบี้ย หมากผการายตกจั่นประปรายต้นละ ๑๒๘ เบี้ย หมากเล็กสูงศอก ๑ ขึ้นไปต้นละ ๕๐ เบี้ย พลูค้างทองหลางค้างละ ๒๐๐ เบี้ย ๗ อย่างนี้ คงเป็นไม่เข้าอากรใหญ่ ยังต้นมะพร้าวห้าวแต่เดิมมาก็เป็นไม่เข้าอยู่ในอากรใหญ่ อากรต้นละ ๑๐๐ เบี้ย มาในรัชชกาลที่ ๔ เดินรังวัดสวนครั้งแรก ในปีฉลูเบ็ญจศกจุลศักราช ๑๒๑๕ โปรดเกล้า ฯ ให้ขึ้นอากรเป็นสามต้นสลึง ในเวลานั้นผลมะพร้าวราคาถูกเพียงร้อยละสลึงเฟื้องบ้าง สองสลึงเฟื้องบ้าง เป็นอย่างราคาสูง ชาวสวนเห็นว่าอากรแพงนัก ได้ผลไม่คุ้มกับค่าอากรจึงได้พากันท้อถอยในการเพาะปลูกต้นมะพร้าว ชาวสวนที่มีต้นมะพร้าวอยู่ก็พากันมาร้อง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สักหลังโฉนดยกอากรต้นมะพร้าวใหญ่เสีย คงเรียกเป็นภาษีน้ำมันแทน ต้นมะพร้าวจึงได้พ้นอากรใหญ่แต่นั้นมา

ในสวนอะเลอ ๑ นอกจากอากรไม้ ๗ อย่างหรือค่าเดิมจองก็ดี ถ้าปลูกไม้ล้มลุกหรือไม้ ๘ อย่างที่เรียกว่าพลากร คือต้นขนุน สะท้อน เงาะ ส้มต่าง ๆ มะไฟ ฝรั่ง สาเก สับปะรด แล้วก็ต้องเสียค่าอากรสมพัตสรต่างหาก มีพิกัดดังนี้ ขนุน ๑๐ ต้นเฟื้อง สะท้อน ๕ ต้นเฟื้อง ๑ เงาะ ๕ ต้นเฟื้อง ส้มต่าง ๆ ๑๕ ต้นเฟื้อง มะไฟ ๑๒ ต้นเฟื้อง ฝรั่ง ๑๒ ต้นเฟื้อง สาเก ๑๕ ต้นเฟื้อง สัปปะรด ๑๐๐ ต้นสลึงเฟื้อง เป็นพลากร และอากรสมพัตสร ไม้ล้มลุกนั้น คือกล้วยอ้อยเป็นต้น สมพัตสรนี้ แต่เดิมมาในหัวเมืองที่มีสวนใหญ่ก็ทราบว่า เจ้าพนักงานกรมพระคลังสวนเป็นผู้เก็บอากรสมพัตสรเหมือนกัน ถึงคราวเก็บอากรใหญ่นายระวางก็ออกตรวจจับต้นผลไม้ที่เป็นพลากร เพราะหาได้มีบัญชีอยู่ในโฉนดตราสารไม่ ด้วยไม่เป็นไม้ยืนนาน เรียกอากรสมพัตสรตามที่ตรวจนับได้ นายระวางผู้ตรวจนับเรียกอากรก็ไปทำรวม ๆ เหลวไหลไป หาใคร่จะได้เงินอากรส่งพระคลังไม่ ในรัชชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอากรผูกขาด จึงได้ไปขึ้นตรงอยู่ในพระคลังมหาสมบัติ ให้ผูกขาดไปคู่กับสมพัตสรไร่และไม้หัวไร่ มีต้นมะม่วง มะขาม น้อยหน่า กล้วย พลู เป็นต้น

สวนใหญ่อะเลอ ๑ นอกจากอากรใหญ่อากรสมพัตสรหรือค่าเดิมจองที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็ยังต้องถูกเฉลี่ยขอแรงอีก คือในรัชชกาลที่ ๓ เกณฑ์ขอแรงให้ชาวสวนปลูกต้นคำและต้นดีปลี สำหรับย้อมผ้าเหลืองและประกอบโอสถ ขอเอาผลสิ่งละทะนาน และในรัชชกาลนั้นยังค้าสำเภาอยู่ ขอแรงชาวสวนเป็นค่าไม้ประกำใบเฟื้อง ๑ ค่าน้ำมันเฉลี่ยหยอดเพลาอีกเฟื้อง ๑ ก็แต่ต้นคำดีปลีนั้นบางสวนได้ปลูกบ้าง ที่ไม่ได้ปลูกโดยมาก จึงขอเสียค่าผลคำและดีปลีสิ่งละทะนานนั้นให้เป็นเงินเสีย คิดทะนานละเฟื้อง ๑ ครั้นมาในรัชชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่าไม่ได้ค้าสำเภาแล้ว ที่ขอแรงชาวสวนให้เสียค่าประกำใบ และค่าน้ำมันเฉลี่ยหยอดเพลานั้น เป็นการจุกจิกคิดเอาเล็กเอาน้อยหนักไป ให้ยกเลิกพระราชทานให้แก่ชาวสวนเสีย จึงคงอยู่แต่ค่าผลคำและดีปลีสิ่งละเฟื้องนั้น เป็นเงินสำหรับพระราชทานเป็นเบี้ยหวัดเจ้าพนักงาน กรมพระคลังสวนนายระวาง ผลคำและดีปลีชาวสวนไม่ได้ส่งเป็นสิ่งของแล้ว ก็คิดให้เป็นเงินอย่างละเฟื้อง เจ้าพนักงานกรมพระคลังสวน ก็ต้องจัดซื้อผลคำส่งพระคลังศุภรัตยอมผ้าเหลืองกว่าจะพอ และมีการจะต้องจ่ายสิ่งไรตามหมายเกณฑ์ ก็ใช้ในเงินค่าคำดีปลีนั้น เมื่อเหลือจากแจกเบี้ยหวัดและซื้อคำดีปลีและของส่งราชการแล้ว เงินค่าดีปลีนั้นก็ส่งไว้ยังท่านผู้ว่าการกรมพระคลังสวนก็เงียบหายอยู่ที่นั้น

ในปัจจุบันนี้สวนอะเลอ ๑ ถ้าไม่มีต้นผลไม้ใหญ่ที่เข้าอากรมากกว่าค่าเดิมจองขึ้นไป และค่าอากรสมพัตสรแล้ว ชาวสวนต้องเสียค่าเดิมจองสลึง ๖๐๐ เบี้ย แต่เรียกเต็มสลึงเฟื้องเพราะเศษไม่มี แต่เดิมได้แก่นายระวาง ๒๐๐ เบี้ยนั้น ค่าคำเฟื้อง ดีปลีเฟื้อง รวมสองสลึงเฟื้อง และค่าเผาค่าตาดูอีกเฟื้อง ๑ รวมเป็นสามสลึง แต่ค่าเผาค่าตาดูนี้คิดรวมประมาณชั่งละสามสลึง แต่ก่อนมาเคยได้แก่เจ้ากรม ปลัดกรม ตามสวนขึ้นสลึง ๑ นายระวางสลึง ๑ เจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติผู้ดูเงินรับเงินสลึง ๑

ก่อนที่จะได้กล่าวถ่งเจ้าพนักงานที่เป็นหน้าที่รักษาการและจัดการสวนที่แบ่งออกเป็นสวนซ้ายขวาสวนนอก และข้าหลวงออกเดินรังวัดนับต้นผลไม้เป็นครั้งเป็นคราวนั้น ข้าพเจ้าประสงค์จะกล่าวด้วยที่แผ่นดินในบ้านในเมืองเรา พอเป็นทางดำริสักเล็กน้อย ตามที่สังเกตที่มีที่เป็นแยกย้ายกันอยู่ณปัจจุบันนี้ ก็ที่แผ่นดินทั้งปวงในพระราชอาณาเขตต์ ที่เป็นส่วนเก็บว่านาค่าอากรสมพัตสรก็มี ที่เป็นส่วยและบรรณาการดังเมืองที่เรียกว่าประเทศราชก็มี ที่แผ่นดินเหล่านี้ทั่วพระราชอาณาจักร เข้าใจว่าเป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น ได้ดำรงโดยราชประเพณีที่บรรพบุรุษของเราผู้เป็นประชุมชนยกขึ้นเป็นชาติ ตั้งราชประเพณีเป็นขัติย หรือกษัตริย์มาแล้วนั้น เลือกสรรเอาตระกูลวงศ์อันหนึ่ง ซึ่งมีคุณธรรมโดยปรีชาญาณอันสามารถอาจจะเป็นที่พึ่งที่พำนักบำรุงพิทักษ์รักษาเป็นมุขประธานของหมู่ประชุมชน ซึ่งตั้งขึ้นเป็นชาตินั้น ได้ปกครองภัยพิบัติที่จะเกิดมีเกิดเป็นขึ้นทั้งภายในและภายนอก ให้หมู่ประชุมชนนั้นได้ความเกษมสำราญ โดยพระบารมีเดชานุภาพ ความปกครองของท่านผู้เป็นมุขประธานโดยเอกองค์ มิได้อาศัยประชุมชนที่เห็นมากเป็นประมาณ ยกขึ้นเป็นกษัตริย์สืบสันตติวงศ์ตามอารยันต์นิยม ก็ประเภทของขัติยหรือกษัตริย์นั้น มีแจ้งอยู่ในพระราชนิพนธ์ในเรื่องพระราชพิธีสัจจปานการ ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พิธีประจำเดือน ๕ นั้นแล้ว หมู่ประชุมชนที่ตั้งขึ้นเป็นชาติหนึ่งนั้น ก็ได้ยอมสวามิภักดิ์ ประพฤติตามโอวาทของท่านผู้เป็นมุขประธานทุกประการ สละความที่เป็นธรรมานุภาพของประชุมชนที่พึงจะมีได้โดยธรรมดาเป็นเอกชนก็ดี หมู่ประชุมชนก็ดี ท่านผู้เป็นมุขประธานนั้นได้รับความสวามิภักดิ์ และความสละธรรมานุภาพของหมู่ประชุมชนทั้งหลายแล้ว พระองค์จึงได้เป็นอิศระมีอานุภาพ บริบูรณ์โดยราชประเพณีที่หมู่ประชุมชนบัญญัติขึ้นไว้ จึงได้ทรงตั้งบทกฎหมายเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดบัญญัติ ตามพระบรมราโชวาทราโชบาย ให้ประชุมชนทั้งหลายที่ได้มีความสวามิภักดิ์แล้ว รับประพฤติสืบเนื่องต่อมาทุกชั่วชั้นบุตร์สันดาน ก็เพราะพระองค์นั้นได้รับความยินยอมของประชุมชน ได้เลือกสรรพระองค์นั้นขึ้นโดยพระราชประเพณีมีทำการพระราชพิธีราชาภิเศก ราชบัณฑิตซึ่งจัดว่าเป็นปราชญ์ผู้ได้รับฉันทะของประชุมชนถวายแผ่นดินแด่พระองค์ เมื่อขณะราชาภิเศกนั้นแล้ว ภายหลังราชเสวกผู้เป็นพนักงาน ทำการพิทักษ์รักษาที่แผ่นดินอยู่แต่เดิม ดำรงที่มาตยาธิบดีจึงได้รวมกันถวายที่แผ่นดิน ซึ่งรักษาเป็นส่วน ๆ นั้นคืนทุกคราวบรมราชาภิเศก พระองค์ทรงรับที่แผ่นดินไว้แล้วจึงได้ทรงพระนามาภิธัย โดยคำที่ประชุมชนเรียกร้องซึ่งเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวง ว่าพระเจ้าแผ่นดิน อันเป็นที่หมายของพระองค์ผู้ดำรงแผ่นดินและประชุมชนได้ตั้งขึ้นเป็นชาตินั้น คำที่หมายใช้โดยอริยกพจน์ประกอบคุณศัพท์พิเศษให้เป็นที่หมาย ว่าเป็นใหญ่เป็นผู้ครอบครองของแผ่นดิน มีคำว่า ภูมินทร ภูบดี ภูบาล ภูมิบาล ภูมิศวร ภูวนารถ ภูวเนตร ภูวนายก ภูวไนย ภูธร ภูธเรศ ที่สุดจนคำว่าภูมีเปล่า ๆ ก็ใช้ และยังคำอื่นอีก ที่หมายว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทั้งคำโบราณและสามัญพากย์ว่า ธเรศ ษัตรียสรวล จอมพสุธา จอมภพ จอมภูวดล ปิ่นภพ ดิลกหล้า เจ้าหล้าเป็นต้น ก็คำที่ใช้ว่าเป็นใหญ่ของแผ่นดินดังพรรณนามาข้างบนนั้น ได้สังเกตเป็นพยานไว้แต่ที่ได้เห็นว่า ในรัชชกาลที่ ๔ หรือปัจจุบันนี้ เมื่อได้ทรงเลือกแล้ว ที่จะสืบกระษัตริย์ก่อนที่ยังมิได้บรมราชาภิเศก ก็หาได้ใช้คำว่าพระเจ้าแผ่นดิน หรือคำเทียบต่าง ๆ ที่กล่าวมาไม่ ยังคงเรียกคำนำและพระนามเดิมอยู่ เป็นแต่เติมที่หมายอิสสริยศักดิ์ว่า ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ก่อน ต่อเมื่อบรมราชาภิเศกแล้ว จึงได้เรียกว่าพระเจ้าแผ่นดินสืบไป ก็เมื่อพระองค์ผู้เป็นมุขประธานของหมู่ประชุมชนนั้นรับแผ่นดินไว้ เป็นผู้ปกครองดำรงแล้ว จึงได้มอบแบ่งที่แผ่นดินนั้นให้มีเจ้าพนักงานเป็นหน้าที่รักษาการอยู่ตามเคย และพระราชทานราชานุญาตให้แก่เอกชนหรือหมู่ชนชาติที่ต้องการแผ่นดินได้อาศัยอยู่แล้วก็ดี หรือที่จะประสงค์ทำการเพาะปลูกก็ดี ก็ให้ได้อยู่ให้ได้ทำไปตามประสงค์ แต่ต้องอยู่ในหน้าที่รับรองต่อเจ้าพนักงานผู้รักษาที่แผ่นดินนั้น ด้วยประการฉะนี้

ที่แผ่นดินทั้งปวง จึงได้แยกย้ายอยู่ในเจ้าพนักงานต่าง ๆ ทั้งผู้ที่รับอำนาจไปหวงห้ามที่จะทำที่ดินนั้นได้โดยความได้รับอนุญาตด้วยสิ่งสำคัญ คือมีโฉนดตราสารเป็นต้น ประชุมชนผู้รับที่แผ่นดินไปทำให้เกิดผลนั้น เจ้าพนักงานผู้รักษาก็ต้องขอแบ่งผลนั้นมาเป็นพระราชทรัพย์ เพื่อการปกครองประชุมชนและชาติให้ได้ความเกษมสำราญ เพราะว่าการที่ปกครองรักษาความสงบให้ได้ความเกษมสำราญนี้ พระเจ้าแผ่นดินผู้รับปกครองต้องเลือกคัดเอาหมู่ประชุมชนนั้นเป็นเสวกให้ทำการแทนพระองค์ตามราโชบาย การที่มีผู้ทำการแทนนี้ ต้องใช้ทรัพย์สมบัติจำแนกให้ปันแก่ผู้ทำการแทน และใช้ไนการอื่น ๆ ประกอบความปกครองนั้นมาก จึงเกิดเป็นส่วยสาอากรและค่านาค่าที่ขึ้น เฉลี่ยในผู้ที่ทำประโยชน์ในที่แผ่นดิน ซึ่งรับไปหวงห้ามทำให้เกิดผลนั้น ทรัพย์เหล่านี้ซึ่งเป็นส่วนได้มาจากที่แผ่นดินก็ใช้ในการปกครองแผ่นดิน เพื่อให้หมู่ประชุมชนได้ความเกษมสำราญนั้นเอง

ที่แผ่นดินซึ่งข้าพเจ้ากล่าวว่า มีประเภทแยกย้ายกันอยู่โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานนั้น และที่ได้ส่วนผลประโยชน์จากที่แผ่นดินเป็นค่าเช่าค่าถือมาเจือจานใช้ในการปกครองนั้นคือ

๑ ที่แผ่นดินซึ่งขุดร่องยกเป็นคัน เรียกว่าสวนใหญ่ใน ๑๑ หัวเมืองดังกล่าวมาแล้วอย่าง ๑ ซึ่งเจ้าพนักงานกรมพระคลังสวนเป็นเจ้าหน้าที่แผ่นดินที่เป็นสวนอย่างนี้ เอกชนผู้รับไปทำในที่แผ่นดินให้เกิดผลนั้น แบ่งส่วนผลที่จะได้อย่างน้อยที่สุดรับโฉนดตราสารไปฉะบับ ๑ อยู่ในปีละ ๓ สลึงนั้น ก็มีแต่มากขึ้นไปตามผลที่จะได้มากและน้อย คงแบ่งเป็นส่วนตามพิกัดอัตรา

๒ ที่แผ่นดินซึ่งโก่นสร้างหรือหักร้างถางพง ยกขึ้นเป็นคันเรียกว่าที่นานั้น ผู้ที่หวงห้ามทำประโยชน์ให้เกิดในที่นาเหล่านี้ ต้องรับโฉนดตราสารเป็นสำคัญ โฉนดตราสารนั้นเป็น ๒ ชะนิด คือโฉนดตราแดงอย่าง ๑ ซึ่งมีเจ้าพนักงานเป็นข้าหลวงแปดนายออกไปเดิรรังวัด ออกโฉนดตราสารให้เป็นครั้งเป็นคราวอย่าง ๑ เรียกว่าโฉนดตราจอง เจ้าพนักงานผู้ออกสำรวจและเก็บค่านาเรียกว่าข้าหลวงเสนา พร้อมด้วยกรมการผู้กำกับและกำนันท้องที่ ออกโฉนดตราจองให้ทุกปีตามแต่ผู้ที่ต้องการ ผู้ทำผลประโยชน์ในที่แผ่นดินซึ่งเรียกว่าที่นานั้น ถ้ามิได้รับโฉนดตราแดงหรือตราจองแล้ว จะหวงห้ามในที่ซึ่งทำอยู่ ว่าตัวเคยทำอยู่ไม่ได้ ที่นั้นตกเป็นหลวง ที่ซึ่งเรียกว่านานั้น มีประเภทจัดไว้เป็นสองอย่าง ในการที่จะเสียค่าเช่าถือในที่นั้น อย่าง ๑ เรียกว่านาคู่โคหรือนาตราแดงก็เรียกมีอยู่ ๔ หัวเมือง คือกรุงเก่า อ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรี นาคู่โคนี้ต้องมีโฉนดตราสารเป็นสำคัญ ผู้ที่มีอำนาจหวงห้ามที่เหล่านี้ไว้ได้ ก็เสียค่าเช่าค่าถือ คือค่านาอยู่เสมอทุกปี ถึงจะทำก็ดีไม่ทำก็ดี มีพิกัดที่จะเสียค่านาโดยกำหนดเขตต์วัดเป็นตรางเส้น คือเส้น ๔ เหลี่ยมเรียกว่าไร่ ๑ เสียค่านาปีละสลึง ที่นาคู่โคนี้ผู้ที่หวงห้าม มีทุนรอนที่จะเสียค่านาอยู่เป็นนิจแล้ว อำนาจที่หวงห้ามที่ไว้ได้ก็ตกอยู่แก่ตนตลอดไปจนบุตร์และหลาน ซึ่งสามารถจะมีทุนรอนเสียค่านาอยู่แล้ว หรือจะส่งต่อแก่ผู้ซึ่งเรียกว่าซื้อขายกันก็ได้ ผู้ที่รับซื้อรับขายนั้นสามารถที่จะเสียค่านาให้ตามพิกัดแล้ว การที่ส่งต่อรับต่อแก่กันซึ่งสามัญเรียกว่าซื้อขายนี้ ที่แท้มิได้ซื้อขายที่แผ่นดินสิ่งไรเลย ด้วยเป็นที่แผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งต่อรับต่อกันโดยอำนาจที่ผู้รับโฉนดตราสาร มาจากเจ้าพนักงานเป็นสำคัญ คือขายโฉนดตราสาร ที่รับอำนาจไปหวงห้ามที่แผ่นดินซึ่งเป็นนา ตามที่กำหนดไว้ในโฉนดตราสารเท่านั้น ที่นาชะนิดนี้เมื่อผู้หวงห้ามไม่สามารถที่จะเสียค่านาอยู่ตามกำหนดประจำปีเมื่อไร ก็ต้องนำโฉนดตราสารนั้นมามอบเวนคืนยังเจ้าพนักงาน จึงขาดอำนาจความหวงห้ามไม่ต้องเสียค่าเช่าค่าถือต่อไป

ที่นาอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่านาฟางลอย มีอยู่ทั่วไปทุกเมือง ผู้ที่จะหวงห้ามที่นี้ไว้ได้ ก็ต้องรับโฉนตตราแดงตราจองต่อเจ้าพนักงานจึงจะหวงห้ามที่นั้นไว้ได้ตามกำหนดเขตต์ ที่มีอยู่ในโฉนดตราสารนั้น ผู้ที่หวงห้ามต้องประกอบโดยความอุตสาหะด้วย ไม่ฉะเพาะแต่โฉนดตราสารอย่างเดียว ที่ซึ่งหวงห้ามไว้นี้ ถ้าทอดทิ้งไม่ทำ ๓ ปีไปแล้วก็ขาดอำนาจความหวงห้าม ผู้หนึ่งผู้ใดจะเข้ารับทำต่อก็ได้ เป็นแต่บอกให้เจ้าพนักงานทราบไว้ เพราะที่ว่านาชะนิดนี้ เสียค่าเช่าค่าถือมิได้ทั่วไป จำเพาะแต่ทำได้ผลที่มีฟางเป็นตอซังได้เท่าไร ต้องเสียค่าเช่าถือแต่เท่านั้น โดยกำหนดเขตต์ไร่ละสลึงเฟื้อง มากกว่านาคู่โคอยู่เฟื้อง ๑ เพราะว่าที่นาซึ่งทำไม่ได้ผล หรือไม่ได้ทำก็ไม่ต้องเสีย จึงได้เป็นการผิดกันอยู่ มีเจ้าพนักงานไปประเมินเก็บทุกปี นาฟางลอยเช่นนี้มีประเภทตามชื่อในสถานที่เพาะปลูกทำอยู่นั้นหลายอย่าง คือ นาน้ำฝน นาฟาง นาทุ่ง นาป่า นาไร่ นาเข้าหางม้า นาเข้าเรื้อ นาในท้องร่องสวน นาอกร่องสวน นาท้องมาบ นาชายเลน นาริมน้ำ นาปรัง เป็นต้น นาที่มีประเภทต่าง ๆ เหล่านี้ มักเรียกตามภูมิ์ที่ซึ่งทำนั้น แต่ก็ลงเป็นอย่างนาฟางลอย ตามที่ต้องเสียค่านาแต่จำเพาะที่จะทำได้ผล ๚

----------------------------

โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

ถนนราชบพิธ พระนคร

๑๙/๑๐/๗๕

  1. ๑. เมื่อเวลาแต่งหนังสือเรื่องนี้ยังไม่มีเรือไฟไปมาเสมอ และยังไม่มีรถไฟ

  2. ๒. พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๒๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ