เรื่องทำนา

กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงนิพนธ์

บัดนี้จะได้อธิบายถึงประโยชน์ และวิธีการปลูกเข้าเจ้าตามที่ได้รู้เห็นในประเทศเรานี้ แต่เนื้อความนี้มียืดยาว จะกล่าวให้สิ้นความในที่ฉะเพาะเท่านี้นั้นมิได้ จำเป็นต้องตัดความที่จะกล่าวให้น้อยเข้า คือ การปลูกเข้าเจ้านี้ ก็นับอยู่ในการกสิกรรม (อาคริคัลเช่อ) ข้อความที่จะว่าก็เป็นอันอยู่ในวิชชาการกสิกรรม (อาคริคัลตุรัลไซแอนส์) แต่แท้จริงตัวตำราวิชชากสิกรรมคัมภีร์ใหญ่อันมีอยู่ในโลกนี้ ก็เกิดแต่ความพิจารณาศึกษาการกสิกรรมในทวีปยุโรป ซึ่งมีอาการแห่งดินฟ้าอากาศ กับทั้งพันธุ์และเพศที่ปลูกสร้างต่างกันกับการในชมพูทวีปแห่งเรา และซ้ำพันธุ์เข้าเจ้านี้มีชาติและเพศต่างกับไม้มีผลอื่น ๆ แม้แต่ในทวีปอันเดียวกัน เพราะฉะนี้ข้อความในคัมภีร์ที่มีชื่อว่า อาคริคัลตุรัลไซแอนส์ ของชาวยุโรปไม่เป็นที่อาศัยแก่การปลูกเข้าได้อย่างไรนัก แม้แต่ใจความ (ปรินสิเปอล์) เป็นต้นว่าไม้ทั้งปวงไม่ชอบที่มีน้ำแฉะแช่รากจึงต้องการไขน้ำออก ที่เป็นความข้อใหญ่ในวิชชานั้น แต่เข้าชอบที่ชุ่มแฉะจนไม่มีไม้อื่นทนอยู่ได้จึงจะงาม เพราะฉะนั้นวิธีที่จะบำรุง ก็ต้องเป็นอันกลับกันตรงกันข้ามกับวิธีบำรุงไม้อื่น ๆ ที่มีในคัมภีร์วิชชาการปลูกไม่บกทั้งหมด ผู้ศึกษาจะอาศัยแก่ความรู้ในวิชชาตำราที่มี ๆ อยู่นี้ได้แต่เพียงจะตามรูปแบบและวิธีที่จะศึกษาแบ่งปันความคิดความรู้ตามระเบียบของวิชชาเท่านั้น ส่วนความรู้จำต้องศึกษาสอบสวนต่อปากผู้รู้ผู้เคยทำการ แต่ก็ลำบากยากที่จะศึกษา ด้วยผู้รู้ก็รู้แต่การที่เคย ครั้นต่างที่ต่างอากาศดินน้ำไปก็หมดความรู้ แม้ถึงความที่รู้ที่เคยนั้น ที่แท้ก็เป็นแต่เคยเท่านั้น ไม่ใคร่รู้เหตุผลต้นปลายอันใดนอกจากเคย เมื่อเหตุใดเหลือรู้หรือไม่เคยมีมา ก็พาโลผิดต่าง ๆ มีอำนาจปิศาจเป็นต้น เมื่อเป็นดังนี้วิธีที่แก้ไขภัยพิบัติหรือบำรุงการปลูกสร้าง ก็เป็นแต่ผลแห่งความเดาผิดมากถูกน้อยตามธรรมดาผลแห่งความเดาทั้งปวง จะต้องเป็นมากกว่าความรู้ที่เป็นผลแห่งความสังเกตศึกษา ครั้นจะไปเอามาเชื่อมาเล่าก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด คงจะเป็นเปล่าไปดังความเดาทั้งปวงเท่านั้น ผู้หาความรู้จริงจำต้องอาศัยแก่ความเสาะแสวงคิดค้นทดลองเทียบเคียงด้วยตัวเองด้วยกันทุก ๆ คน รู้แล้วก็รู้อยู่แต่ในใจ ไม่ได้จดจำร่ำเรียนสอบสวนแก่ผู้อื่นที่อื่นก็จำรู้ได้ฉะเพาะแต่ที่เคยเท่านั้น และธรรมดาความเคยของคน ๆ เดียว ไม่สามารถจะให้กว้างขวางไปกว่าเวลาอายุที่จะเป็นโอกาสให้เคยได้ ความรู้นี้ก็จำน้อยเท่าที่จะมีได้ แต่ถึงดังนี้ก็ยังเป็นข้อความที่ได้จดไว้ด้วยความตั้งใจ อาศัยคิดค้นแต่ในสิ่งที่เป็นสามัญธรรมดา ไม่พาโลของที่เป็นอจินตัยรู้จริงไม่ได้ มีอำนาจปิศาจเป็นต้น ดังนี้ แม้ผิดหรือถูกคงเป็นประโยชน์แก่ผู้ค้นคิด คนอื่นพอเทียบเคียงได้ เมื่อดังนี้ผู้อ่านพึงเข้าใจเถิดว่าจะได้รู้แต่ฉะเพาะเรื่องเข้าเจ้าอย่างเดียว แต่ถึงฉะเพาะเท่านี้ก็ยังต้องการความรู้คนเป็นหลายร้อยและสมุดใหญ่หลายเล่ม ที่จะได้อธิบายถึงประเภทวิธีที่จะทำนาให้ถี่ถ้วนและทั่วทุกแห่งได้ ในที่นี้มีน้อยทั้งที่เขียนและความรู้ ต้องขอตัดให้แคบสั้นเข้ามา ว่าแต่เข้าในพระราชอาณาเขตต์ และฉะเพาะแต่ที่ได้ทำอยู่ในแขวงกรุงเทพ ฯ และกรุงเก่าเท่านั้น

เข้าเจ้านี้จะว่าไปก็เป็นเจ้าเป็นใหญ่แก่เข้าทั้งหลาย ในการที่เป็นคุณแก่มนุษย์ทั้งปวงในโลก หรือว่าอิกอย่างหนึ่งเข้าเจ้าเปนเชื้อชีวิตของมนุษย์โลกมากกว่าเข้าอย่างอื่นทั้งหมด และเป็นกำลังอันใหญ่อันเดียวแห่งความเป็นไปในชีวิตของชาวชมพูทวีปเรานี้ เมื่อจะคิดไปก็เป็นของคู่กันกับชีวิตมนุษย์ สำหรับอาศัยซึ่งกันและกันราวกะน้ำกับปลา ในชมพูทวีปเรานี้แล้วแทบจะกล่าวได้ ว่าที่ใดมีเข้าก็มีคน มีคนก็คงมีเข้า เป็นของที่อาศัยแก่กัน คนที่ไม่ได้อยู่เพราะเข้า ๆ ที่ไม่ได้อยู่เพราะคนในเวลานี้หายาก แทบจะว่าได้ว่าเกือบไม่มี เข้าป่าคนป่าก็ได้ยินอยู่ว่ามี แต่มักเป็นแต่ในนิทานดังเช่นเข้าป่าในเกาะแก้วพิศดาร และอ้ายย่องตอดในเรื่องพระอภัยในทวีปตาสุนทรภู่เป็นต้นเท่านั้น คิดดูก็เป็นการประหลาดที่มีสัตว์น้อยอย่างที่จะมีชีวิตเจริญอยู่ได้ในที่ทั้งปวงต่าง ๆ แต่ยอดเขาลงมาจนในมหาสมุทรดังมนุษยชาติ และก็มีพันธุ์ไม้น้อยอย่างที่จะเป็นจะงามได้ในที่ทั้งปวงดังพันธุ์เข้า สิ่งทั้งสองคือคนและเข้า ก็กลับเป็นเครื่องอาศัยแก่กัน ก็พากันเจริญพัฒนางอกงามทวีมากขึ้น มีขึ้นในที่ทั้งปวงที่แต่ก่อนไม่เคยมี และซ้ำบัดนี้มาแพร่หลายออกไปเลี้ยงมนุษย์นอกทวีปได้ ก็ยิ่งเจริญทวีข้ามมหาสมุทรและมหาประเทศไปตั้งอยู่ในที่ทั้งหลายทั่วทั้ง ๔ ทวีป และยังจะยิ่งเจริญมากมายในภายหน้า สำหรับเป็นมนุษย์อาชีพทั่วไปในทวีปทั้งปวงเป็นแท้ หาสงสัยบ่อมิได้ ได้กล่าวมาแล้วว่าเข้าคล้ายกับมนุษย์ที่สามารถจะอยู่จะเป็นได้ ในที่ทั้งปวง แต่ยอดเขาลงมาจนในน้ำก็จริง แต่ต้องอาศัยความคุ้นเคยเหมือนกับคนที่จำต้องอาศัยแต่ดินน้ำลมไฟ ที่มีส่วนต่าง ๆ ไม่เสมอกันในทิศและที่ต่าง ๆ เป็นต้นว่ายอดเขากับในหนองนั้น ย่อมจำต้องผิดกันมากในส่วนแห่งน้ำเป็นต้น แม้คนและเข้าจะอยู่ได้ในที่ ๆ ต่างกันถึงเพียงนี้ก็จริง แต่ต้องอาศัยแก่ความเคยเหมือนกัน เป็นต้นว่าจะเอากะเหรี่ยงมาเดิรเรือในทะเล หรือเอาหญิงชาวในไปไว้ในป่า ก็คงอยู่ได้ด้วยยาก เพราะเหตุที่ขาดความเคย ก็ไม่สามารถจะผ่อนผันกันแก้ภยันตรายทั้งหลายที่จะมีมาสำหรับตัวและสำหรับที่ มีแสวงหาอาหารเป็นต้น ย่อมจำต้องขัดสนด้วยไม่รู้ ก็ย่อมต้องทนยากและอันตรายในเบื้องต้นมาก ต่ออยู่สืบบุตรหลานนานไป ได้สังเกตการต่าง ๆ ได้โดยรอบค่อยรู้กันรู้แก้สรรพภัยในท้องที่มากขึ้น นานเข้าก็นับว่าเคย ด้วยแก้ไขได้ภัยก็ลดน้อยถอยไป ความเจริญจึงจะมีได้ฉันใด ฝ่ายกำลังแห่งพันธุ์เข้าเจ้าทั้งหลายก็มีอยู่มากหลายเพศพันธุ์ สำหรับจะเป็นได้ในดินน้ำที่มีอาการต่าง ๆ กันในประเทศและที่ต่าง ๆ นับด้วยร้อยและพันชะนิดสำหรับเกิดในฤดูทั้ง ๔ มีทุกฤดูดังเข้ามะหลางของลาว ที่ฉะเพาะจะมีผลได้ในฤดูแล้งและที่ดอน ถ้าเอามาปลูกในที่เปียกหรือฤดูฝนก็งอกงามจนเกินไป มีแต่ใบหาเมล็ดและผลมิได้ จนถึงฤดูแล้งดินแห้งจึงจะมีผลก็มี พันธุ์หนึ่งเรียกว่าเข้าสามเดือนทันสารท มีผลเร็วกว่าเข้าทั้งปวง ควรจะปลูกได้ถึงปีละ ๓ หน แต่ยังทำดังนั้นไม่ได้ ด้วยเข้าชะนิดนี้ฉะเพาะชอบแต่ฤดูฝน ต้นและรากและใบชุ่มแช่ไปด้วยน้ำแก่สุกแต่ในฤดูฝนและในที่ลุ่ม ต้องเกี่ยวเปียกในน้ำลำบาก จึงทำกันน้อยก็มี อีกพันธุ์หนึ่งเรียกว่า เข้ากลางปี ๔ เดือนสุก สำหรับทำนาดอนนาน้ำฝนที่น้ำท่าไม่ท่วมได้ พอสิ้นฝนก็สุกเก็บเกี่ยวได้ แต่มีผลน้อยนั้นก็มี พันธุ์หนึ่งเรียกว่าเข้าหนักหรือเข้านาปี อายุกึ่งปีจึงสุก ทำได้แต่ในเนื้อนาที่มีน้ำบริบูรณ์นาน สิ้นฝนแล้วก็ได้น้ำท่าท่วมต่อไปจนถึงกำหนดเข้าสุกจึงสิ้นน้ำ เกี่ยวได้ต่อเดือน ๓ เดือน ๔ เข้าอย่างนี้มีผลมาก รวงใหญ่เข้าพืชเมล็ดเดียวก็แตกกอออกไปแต่ ๑๐ ต้น ถึง ๒๐ ต้นก็มี เพราะมีเวลาแต่งตัวงอกงามนาน เมล็ดเข้าก็ใหญ่รสก็ดี เข้าพันธุ์นี้ที่ทำมากในแขวงกรุงเทพฯ และกรุงเก่าและเมืองที่น้ำท่วมที่ลุ่ม พันธุ์ต้นยาวเป็นเข้าเลื้อย เรียกว่าเข้านาทุ่งหรือนาเมืองนั้น และในเข้าทั้ง ๔ ฤดูที่เวลาเป็นผลไม่เสมอกันที่ได้กล่าวมา ใช่จะมีแต่อย่างละพันธุ์หรือ ๒ พันธุ์นั้นก็หามิได้ ละหมู่ๆย่อมมีเพศและลักษณต่างๆกันออกไปอีก แม้แต่เวลาที่เป็นผลในฤดูเดียวกันแล้วก็ยังไม่พร้อมกัน มีเร็วมีช้าเป็นชั้นๆ แต่ต้นฤดูถึงปลายฤดูหมู่ละ ๙ อย่าง ๑๐ อย่าง สำหรับกับที่ๆมีน้ำเลี้ยงช้าและเร็ว ไม่เสมอกันทั้งปวงแทบทุกอย่าง คงจะมีพันธุ์เข้าที่เป็นผลสุกทันเวลาที่น้ำมี แม้บนยอดเขาแล้วยังมีพันธุ์เข้าที่ไม่ชอบน้ำ และไม่มีผลได้ในที่ต่ำ ไว้สำหรับเป็นเข้าไร่เลี้ยงกะเหรี่ยงอีกหลายสิบพันธุ์เหมือนกันดังนี้ เพราะฉะนี้ผู้จะทำนาจำเป็นในชั้นต้นจะต้องรู้จักเวลากาลฤดูแห่งน้ำฝนน้ำท่า และเนื้อที่นาลุ่มหรือนาดอน เพื่อจะได้เลือกพันธุ์เข้าที่จะเป็นผลในเวลาที่สมควรทุกอย่าง ตัดความยากลำบากและอันตรายให้น้อยลงและได้ผลทวีขึ้น

ถ้าและหากจะไม่รู้หรือไม่เลือก สุดแต่แลเห็นเป็นเข้าเปลือกจะงอกได้ ก็จะเอาเป็นพันธุ์หว่านทำดำไปตามที่ไม่รู้และไม่เลือกดังนี้ก็ดี หรือถ้านาเป็นนาทุ่งเห็นพันธุ์เข้านาสวนของเขาดี มีเมล็ดงามและมีผลมากมีราคามาก อยากจะให้ดีมีกำไรไปกว่าเพื่อนบ้าน จะไม่เอาพันธุ์เข้าในท้องที่ ไปเอาเข้านาสวนมาหว่านหรือดำทำลงตามวิธีนาทุ่งหรือนาสวน อย่างไรก็ดี เมื่อแรก ๆ งอกงามดีแตกกอหน่อใบงดงามกว่าเพื่อนบ้านก็อย่าเพ่อฮึกไป คอยพอตั้งท้องน้ำปีมีมาแต่เพียงตามธรรมดานาทุ่งสัก ๓ ศอก ๔ ศอก ไม่ใช่น้ำมากก็จะท่วมหมด แลไม่เห็นยอดไม่เห็นใบ คงแลโล่งโปร่งไปเป็นแต่น้ำ ไม่ช้าแม่น้ำนั้นลดให้แต่ใน ๗ วันเท่านั้น เมื่อน้ำลดไปแล้วก็จะมีแต่ต้นเข้าที่เน่าตายดำไปเต็มนาเท่านั้น จะเหลือเขียวอยู่แต่ใบหญ้า เหลืองอยู่แต่ยอดกกตามคันนาเท่านั้น หรือถ้าจะไม่ผิดมากถึงดังนี้คงใช้พันธุ์เข้าที่เคยใช้อยู่ ๓ พันธุ์ ๔ พันธุ์พอยักย้ายใช้ในที่ต่าง ๆ ตามที่ลุ่มและดอนในเนื้อนาที่ไม่เสมอกัน และผ่อนผันตามฤดูฝนชุกมาล่าหรือเนิ่นทุก ๆ ปีนั้นแล้ว แต่พะเอิญหลงผิดเขียนฉลากผิดหลงพันธุ์ไปเอาพันธุ์ ๑ ไปใส่ที่หนึ่งคือเอาเข้าเนิ่นไปใส่ที่ล่า เอาพันธุ์เข้าล่าไปใช้ที่เนิ่น อย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อเป็นดังนี้ ครั้นถึงปลายฤดู ที่ดอนน้ำแห้งไปเสียก่อนเข้ายังไม่ทันสุกก็จะม้านไปครึ่งเม็ดหรืองันเสียไม่ออก ฝ่ายที่ลุ่มด่วนสุกออกมาแต่กำลังน้ำยังมาก ไม่เกี่ยวเสียก็จะจมต้องจำลงยืนแช่น้ำเกี่ยวให้ปลิงกินอยู่กึ่งขา หรือเกี่ยวบนเรือซึ่งเสียแรงเสียเวลาไม่เกี่ยวได้วันละกี่วา ต้องช้าป่วยการอื่นๆ ไปเท่านี้ ก็นับอยูในทางหายนะยังทำนาไม่เจริญได้ แม้ที่สุดขาดแต่ความพิจารณาปล่อยให้เข้าพันธุ์อื่นมาปะปนเข้าปลูกที่คัดไว้หว่านดำทำปนกันไป ที่เข้าเนิ่นก็สุกก่อน ที่ล่าก็ยังอ่อนปนกันอยู่ จะเกี่ยวลงก็ยังไม่ได้ ด้วยเข้าอ่อนยังติดอยู่ต้องรอไปกว่าจะสุกลงพร้อมกัน เข้าต้องคอยอยู่กลางนาช้าเกินอายุหักล้มจมไปก็มี เป็นอาหารแก่สัตว์น้ำสัตว์บก และนกหนูหนอนหมดไปก่อนเพื่อนกันจึงสุกดังนี้ ก็สุรุ่ยสุร่ายส่ายเสียมาก เพราะฉะนี้แม้แต่เพียงจะเลือกพันธุ์เข้าจะปลูก ก็ยังมีทางที่คนไม่รู้จำจะต้องลองเสีย ๆ ก่อน จึงรู้ได้ดังกล่าวมานี้ก็ยังมีอยู่มาก ต่อผู้รู้สังเกตรู้ทีที่จะทำโดยรอบคอบแล้ว จึงจะสามารถเลือกพันธุ์เข้าที่จะใช้ให้ชอบที่ชอบกาลได้ หรือหาไม่ก็ต้องไต่ถามตามเพื่อนบ้าน แล้วก็ทำตาม ๆ เขาไป ชาวนาแท้ๆ ก็น้อยตัวรู้ว่าเหตุใด จึงจะใช้เข้าพันธุ์นั้นไม่เอาพันธุ์นี้ ถามก็ว่าพ่อแม่เคยใช้มาก็ใช้ตาม ๆ มา หรือว่าทำอย่างนี้เคยได้อยู่เท่านี้ ครั้นจะเปลี่ยนก็ไม่ไว้ใจว่าจะมากไปหรือจะขาดไป ไม่ชอบการที่ไม่แน่ก็ไม่เปลี่ยนเป็นดังนี้อยู่โดยมาก ในการที่เลือกเข้าปลูกนี้ใช่แต่เท่านี้ ยังมีเหตุการณ์อื่นที่จะต้องเอามาตริตรองเทียบเคียงอีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า (๑) ผลเมล็ดเล็กหรือใหญ่ (๒) รวงใหญ่หรือย่อม จะได้ผลมากหรือน้อย (๓) คุณสมบัติในเนื้อดีหรือไม่ดี จะแน่นหรือหลวม ถี่หรื่อห่าง หนักหรือเบา ป่นหรือเป็นตัว (๔) กลิ่นและรสดีหรือชั่ว (๕) สีขาวคล้ำดำแดงตามอันดับ (๖) เข้าเหนียวหรือเข้าเจ้า (๗) ความที่ต้องการใช้ต่าง ๆ ดังเข้าเม็ดมะเขือ เผื่อนักเลงนกเขาเป็นต้นหรือ (๘) เก็บทนหรือไม่ทน รังมอดรังหนอนมีหรือไม่มี (๙) ซ้อมสียากหรือง่าย (๑๐) เปลือกมากหรือเนื้อมากและอื่น ๆ อีก ตามแต่ปฏิรูปเทศและเหตุผลต้นปลายที่ประกอบอยู่รอบข้างต่าง ๆ กัน ก็และการทุก ๆ ส่วนที่ออกแต่ชื่อสั้น ๆ ละส่วน ๆ นี้ ก็ยังมีเหตุผลต้นปลายทั้จะอธิบายได้เหมือนกันกับข้อต้นที่กล่าวมาแล้วทุก ๆ ข้อ แต่หน้ากระดาษขนาดหนังสือไม่พอจะทำดังนั้นได้ จึงต้องตัดเสียดังเช่นทำแล้วนี้ นั่นและอย่าว่าถึงการที่สำคัญอื่น ๆ เลย แม้แต่เพียงการเลือกพันธุ์เข้าปลูก ซึ่งเป็นแต่การเล็กน้อยเท่าส่วนหนึ่งในร้อยส่วนของการทำนาทั้งหลายทั้งปวงเท่านี้ ก็ยังต้องการความเพียรความรู้ความคิด และความรู้สึกรับผิดรับชอบของผู้วางการเป็นหลายเท่าหลายอย่างดังนี้ ก็เป็นความที่จริงแท้ แต่ถึงจะยิ่งกว่านี้ก็อย่าเพ่อท้อใจ พึงเชื่อมั่นในอำนาจแห่งความต้องการจริงตัวเดียวเท่านั้น ว่าหากจะพาให้การทั้งหลายที่เห็นยากเห็นติด แม้เห็นว่าจะทำไปไม่ได้ ให้เป็นการสำเร็จไปได้ดังการทำนาที่มีอยู่มากทั้งที่ทำง่ายหรือทำยาก เพราะกำลังแห่งความที่ต้องการจริง จำให้ทำได้เป็นอย่างแลเห็นอยู่ผิดก็ชั่วกับดี ช้ากับเร็ว มากกับน้อยเท่านั้น

การทำนานี้สิ่งซึ่งเป็นของต้องการก่อนสิ่งอื่นทั้งปวงก็เนื้อที่นา ถ้ายังไม่มี จะคิดซื้อหาก็ต้องการความรู้และความพิจารณาเลือกฟั้นก่อน แม้ว่าผู้ที่มีเนื้อที่บังคับเสียแล้ว จะเลือกฟั้นไม่ได้ก็ดี ก็ยังต้องการความรู้การดีชั่วแห่งเนื้อที่ต่าง ๆ อีกเหมือนกัน เพราะฝีมือและปัญญามนุษย์ยังสามารถจะทำของที่ไม่มีให้มีมาได้อยู่ ถึงจะเปลี่ยนที่ไปตามชอบใจไม่ได้ ก็สามารถจะแปลงที่ให้มีให้ต้องด้วยลักษณะแห่งเนื้อที่ ๆ ตนเห็นดีได้อยู่หลายอย่าง เป็นต้นว่าถ้าที่นามีอยู่กลางทุ่งห่างฝั่งน้ำ แต่อยากจะให้เนื้อนาเป็นที่ใกล้น้ำเหมือนแห่งอื่นดังนี้ ถ้ามีกำลังอยู่ก็ทำได้ด้วยขุดคลองเข้าไปหาที่นาก็ได้ ถ้าที่ลุ่มเปียกอยากจะให้แห้งก็ขุดคูขุดรางไขให้น้ำไหลเข้าออกได้ก็เป็นนาแห้งไปได้ และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เพราะฉะนี้จำเป็นผู้อยากรู้หรือจะทำการนา ควรรู้จักลักษณะแห่งเนื้อที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่เกิดเข้าโดยอาการและคุณพิเศษต่าง ๆ กัน เพื่อเลือกและกอยกันอันตรายให้น้อย ผ่อนผันแก้ไขให้เกิดประโยชน์มากกว่าเวลาที่ไม่รู้ได้โดยนัยต่าง ๆ ตามความเคยที่เป็นผลแห่งความสังเกตทดลองของผู้มาก่อน และผู้อยู่ไกลและใกล้ได้พบปะคุ้นเคยอยู่รอบข้าง เป็นเยี่ยงอย่างมาแล้วนั้น แต่เป็นการลำยากมากอยู่ที่จะค้นคว้าหาความรู้ที่ถูกที่จริงโดยเหตุต่าง ๆ เป็นอันมากและผู้รู้ ๆ แต่ตัวไม่จดไม่บอกเป็นต้น และข้างความเป็นไปของต้นเข้าผิดแปลกกับไม้ที่มีผลอื่น ๆ ที่มีตำหรับตำราดี ๆ มากยากจะหาที่อ้างอิงอาศัยเทียบเคียง นอกจากความทดลองและคุ้นเคยด้วยตนเองนาน ๆ หลาย ๆ ปี แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องเป็นนักเรียนได้ความรู้ใหม่และรู้สึกความรู้ผิดเห็นผิดคิดผิดอยู่ร่ำไป ไม่จบลงได้ เนื้อที่ ๆ เข้าจะเป็นผลได้นั้นมีมากหลายอย่าง ดังที่ได้รู้แล้วว่าเข้าเป็นของสำหรับกับชีวิตมนุษย์ ๆ อยู่ที่ใดคงมีที่เกิดเข้าได้ในที่ใกล้เคียงเหล่านั้น แม้บนยอดเขาเป็นต้น แต่ก็เป็นแต่เกิดได้อยู่ได้ด้วยลักษณะและประเภทต่าง ๆ แต่เมื่อจะว่าโดยประโยชน์มาก และฉะเพาะแต่ที่เราต้องการ คือฉะเพาะแต่ภายในพระราชอาณาเขตต์แล้ว ไม่มีที่นาใดจะดีกว่าเนื้อที่ทุ่งทะเลตมแถบที่กรุงเทพ ฯ ตั้งอยู่ทุกวันนี้ การที่เป็นดังนี้ก็ไม่ต้องสงสัยในความรู้และความฉลาดในการปลูกสร้างของท่านผู้ดำริการตั้งพระนครนี้ว่าจะไม่เป็นผู้รู้เห็นลึกซึ้ง ในสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ของมนุษย์ที่จะต้องทำตามความชักนำของท่านนั้น

อนึ่งวิชชาตำราการปลูกสร้าง สรรพไม้อันมีผลเพราะคนปลูกสร้างดีกว่าที่เป็นเองตามธรรมดานั้นและชื่อว่า วิชชาการกสิกรรม คืออาคริคัลตุรัลไซแอนส์นั้น ตามตำรานั้นกล่าวว่าไม้ทั้งปวง เป็นธรรมชาติอันหนึ่งซึ่งมีชีวิต รู้เกิดรู้แก่รู้ไข้รู้ตายตามธรรมดาสังขารเหมือนสัตว์ทั้งปวงเหมือนกัน เป็นแต่ขาดคุณพิเศษบางสิ่งที่สัตว์มี และมีธรรมชาติอันพิเศษแปลกไปต่าง ๆ แม้ไม่มีปากก็จริงแต่จำต้องบริโภคอาหารและดื่มน้ำ กับทั้งต้องถ่ายมูลและหายใจบริโภคและใช้ธาตุทั้ง ๔ เต็มบริบูรณ์ทุกอย่าง ถ้าของทั้งปวงมีอาหารเป็นต้นขัดขาดไป ไม้นั้นก็ไม่สามารถจะงอกงามไปได้ เป็นต้นว่าถ้าต้นไม้จะมิได้บริโภคเอาธาตอื่น ๆ เข้าไปเพิ่มเติมร่างกายแล้วต้นไม้นั้นจะเอาสิ่งใดมางอกมาโตขึ้นทุก ๆ วันได้เล่า จำต้องคงอยู่เสมอไปและไม่รู้แก่รู้ตายได้ หรือไม่ฉะนั้น ว่าที่รู้ๆ เห็นๆ อยู่ด้วยกันว่าต้นไม้ทั้งปวงต้องดื่มกินน้ำเป็นกำลังเสมอเป็นนิจ เมื่อน้ำแห้งหมดไปไม่ได้ดื่มหรือต้องกัดฟันกันเสียดื่มน้ำไม่ได้เมื่อใด ก็ต้องเหี่ยวแห้งเป็นอันตรายตายไปเห็นอยู่กับตา ก็และน้ำนั้นสามารถจะอบแอบเอาโอชารสกับทั้งลมอากาศและธาตุต่าง ๆ ไว้ด้วยไปด้วยได้ ต้นไม้ที่เป็นของดื่มน้ำก็คงต้องดื่มเอาอาหารอันปนอยู่ในน้ำด้วยได้ เราไม่ต้องค้นลึกไปจนถึงจะต้องทดลองในข้อต้น ที่ว่าไม้กินอาหารหรือไม่กินนี้ให้มากความไปเสียเวลา ด้วยเป็นความจริงที่น้อยคนจะเถียงเอาเป็นเชื้อเป็นพอว่าไม้กินอาหารได้ เมื่อดังนี้ก็ยังคงแต่จะนึกดูว่าจะกินทางไหนอย่างใด ก็รู้ได้โดยเร็วว่าคงกินทางรากด้วยอาศัยน้ำนำปนขึ้นไป เพราะฉะนี้อาหารที่ต้นไม้จะกินได้ จำจะต้องเป็นของที่อยู่ในอาณาเขตต์ที่รากไม้จะไปถึง จึงต้องเชื่อว่าอาหารของต้นไม้อยู่ในดินที่รากไม้มุดแทรกอยู่ทั้งหลายเหล่านั้น นักปราชญ์ทั้งหลายผู้มีฝีมือและความรู้ จึงเอาดินในที่ต้นไม้ต่าง ๆ งอกงามและไม่งาม และที่ดินที่ต้นไม้ไม่ขึ้นได้มาไล่แจกแยกธาตุออกดูตามวิธี รู้ชัดจับได้ว่าไม้สิ่งนั้นสิ่งนี้ชอบด้วยอาหารอย่างนั้น ที่ดินอันนี้หรืออันนั้นเจือปนด้วยธาตุที่เป็นอาหารแห่งต้นไม้ มีสิ่งนี้บ้างสิ่งนั้นบ้าง มากบ้างน้อยบ้างตามเนื้อที่ ๆ มีอยู่ต่าง ๆ รูปรสกลิ่นสีและลักษณะแห่งเนื้อที่ก็มีต่าง ๆ กันได้พบได้รู้แล้ว ก็เลือกปันจัดสรรไว้ตามอันดับเป็นตำรา ว่าเนื้อที่อันมีลักษณะดังนั้นชอบด้วยชีวิตไม้มากหรือน้อย ดีหรือชั่ว คนผู้รู้ก็รู้เลือกฟั้นเสาะแสวงหา ที่อันจะช่วยแก้ไม้อันมีผลที่ตนปรารถนาจะปลูกสร้างได้โดยดีกว่าไม่รู้ หรือไม่ฉะนั้นมีเนื้อที่ดินอยู่แล้ว ก็รู้เลือกหาพืชพันธุ์อันจะชอบด้วยอาหาร และลักษณะอันมีในที่แห่งตนมาปลูกสร้าง ก็ได้ผลมากกว่าจะคลำปลูกไม้ที่ไม่ต้องอย่าง ที่ไม่ชอบกับที่ดังจะปลูกทุเรียนในที่ท้องนา ปลูกจำปาในท้องล่อง ก็ต้องเป็นอันตรายด้วยความไม่รู้ อีกอย่างหนึ่งที่ดินก็มีแล้ว ไม้ก็ต้องกำหนดไม่เลือกได้ก็ดี แต่ถ้าว่ารู้ลักษณะประเภทแห่งที่ดินและความต้องการของไม้ที่ตนจะปลูกดังนี้ ก็ยังสามารถจะแก้ไขผ่อนผันได้ เป็นต้นว่ามีที่ควรจะปลูกเข้ารู้อยู่ว่าเข้าชอบที่แฉะ จะไม่งอกงามในที่ของตนเป็นที่ดอน ก็ยังถ่ายเทขุดเป็นรางทำทางน้ำเข้าไป หรือก่อคันกันเสียให้รอบที่อย่าให้น้ำฝนที่ตกลงมาไหลแห้งไปเสียได้ ให้คงค้างแฉะชุ่มจนชอบแก่ชีวิตเข้าก็ได้ ถ้าฝนไม่มีก็ยังเพียรทำสูบทำระหัด ใช้ไฟ ใช้สัตว์ ใช้ลม ใช้คนวิดขนเอาน้ำมาแฉะที่ ๆ ต้องการจงได้ ดีกว่าไม่รู้หลับตาทำไปตามมีตามได้ ซึ่งช่องเสียช่องขัดในปัจจุบัน และเป็นเหตุปัจจัยให้ยากแก่การภายหน้าอันหาประมาณมิได้ จำจะต้องมีมากกว่าคนที่รู้และคิดเป็นแท้

และการที่เลือกที่ทำนา คือปลูกเข้านี้จะรู้ได้ด้วยยาก โดยเหตุด้วยชีวิตเข้าผิดกับไม้อื่น ๆ ไม่ตรงตำรา จำต้องแสวงหาความรู้โดยสืบสอบสังเกตเทียบเคียงเอาเองมาก แต่ที่อิงอาศัยตำราได้บ้างก็มี แต่ยังต้องอยู่ในต้องเลือกใช้แต่ที่ควร ส่วนที่คล้ายคลึงพอเทียบได้ หรือเทียบเอาการที่กลับตรง ๆ กันก็ได้ คือตามตำราว่าธรรมดาที่ทั้งปวงที่ต้นไม้จะเกิดได้ต้องมีธาตุที่เคยเป็นไม้หรือเป็นสัตว์มาแต่ก่อนเน่าแห้งป่นละเอียด แยกตัวออกจากกันเป็นลมเป็นไอเป็นผงเป็นเกลือแทรกระคนปนอยู่สำหรับเป็นอาหารด้วย ถ้าและในที่ ๆ ไม่มีเชื้อดังนี้ชีวิตไม้จะมีมาและเป็นไปมิได้ เพราะสรรพธาตุทั้งหลายที่เคยได้มาประชุมกันเป็นรูปและสังขารแห่งต้นไม้ได้แต่ก่อน จะต้องมาประชุมกันเป็นต้นไม้ได้อีก แม้จะแตกต่างรูปและลักษณะโดยส่วนของสรรพธาตุที่มาประชุม ไม่เสมอเหมือนกันด้วยต่างเหตุและต่างปัจจัยก็ดี สรรพธาตุที่ต้นไม้แต่ก่อนดื่มกินไว้ได้ ต้นไม้บัดนี้ก็คงจะสามารถเก็บก่อต่อรูปสังขารต่อไปได้ ด้วยรู้คัดเลือกเก็บเอาธาตุที่ต้องการตามควรแก่ปัจจัยแห่งพันธุ์ไม้ละอย่างละอย่างนั้น ๆ ความจริงอันนี้เป็นที่อาศัยให้อาจารย์ทั้งหลายตั้งกำหนดสังเกตไว้ว่า ที่ดินที่ใดเมื่อทดลองด้วยวิชชาความรู้หรือดูสังเกตโดยวิธีใด ๆ ให้รู้ได้ว่า ที่แห่งใดเจือปนระคนอยู่ด้วยธรรมชาติที่เคยเป็น หรือจะเป็นสัตว์และไม้ได้มีสระสมอยู่ที่ใดมาก ที่นั้นจำจะเป็นที่ ๆ ชอบกับชีวิตไม้ ที่จะได้เกิดก่อต่อไปมากกว่าแห่งอื่น ๆ ความจริงอันนี้มีตลอดมาถึงเข้าและไม้อื่น ๆ หมด แต่ลักษณะชีวิตไม้บกอื่นกับต้นเข้านี้แตกต่างกันที่ไม้บกชอบน้ำน้อย ส่วนต้นเข้าชอบน้ำมากจนชุ่ม เพราะฉะนี้การเลือกที่นากับที่ปลูกไม้อันอื่นจึงผิดกันไป อาศัยตำราเดียวกันทีเดียวไม่ได้ ด้วยในตำราว่าเนื้อที่ ๆ มีทรากเชื้อไม้เก่ามีมากจึงชอบแก่ชีวิตไม้มากก็จริง แต่ต้นไม้ที่เป็น ๆ ยังต้องการธาตุอื่น ๆ ที่ทรากไม้ตายแล้วไม่มีอยู่อีกหลายอย่าง ดังความสว่างและความร้อนเป็นต้น และไม้ทั้งหลายไม่มีปากจะดื่มน้ำ ต้องจำสูบเอาได้แต่น้ำที่เป็นละอองละเอียด ปรมาณูอันเจือปนด้วยธาตุอาหาร ก็และลักษณะที่น้ำจะเป็นรูปและลักษณะประการฉะนี้ได้ก็แต่ฉะเพาะเมื่อได้รับความร้อนก่อน จึงจะได้เป็นละอองไออุ้มเอาธาตุรสาหารขึ้นมาผะสมกับลมอากาศ เป็นรูปและส่วนอาหารที่ควรไม้จะบริโภคไต้ เพราะฉะนี้ที่ ๆ ต้องการให้อาหารต้นไม้เกิด จะต้องเป็นที่เปียก ๆ แห้ง ๆ ไม่เสมอกันเพื่อต้องการก่อให้เกิดอาหารและต้มแกงให้ควรแก่ความต้องการบริโภค คือว่าที่ ๆ จะปลูกต้นไม้ต้องเป็นที่เปียกก่อนแล้วแต่ให้ค่อย ๆ แห้งไปได้แล้วก็เปียกใหม่เล่าดังนี้ ต้นไม้จึงจะเป็นงามได้ เพราะถ้าไม่ดังนี้ที่แห้งนักน้ำไม่มีก็ไม่ได้ เปียกนักน้ำก็ไม่เป็นไอละอองต้องรากและใบให้ไม้กินได้ เพราะฉะนี้ไม้ทั้งปวงจึงต้องการที่ ๆ มีอาหารให้เป็นที่เปียกแห้งได้ ใช่แต่เท่านั้นที่ ๆ มีอาหารนั้น จะต้องไม่เป็นก้อนแท่งแข็งเหนียวที่จะสูบอมเอาน้ำและอาหารไว้ไม่ได้ หรือสูบได้แต่ไม่คืนไม่คายและไม่แห้งหายไปโดยเร็ว หรือรากไม้ไม่สามารถจะสอดแทรกไปหาอาหารในที่นั้นได้ อย่างใดในลักษณะสิ่ง ๆ เหล่านี้ ตามตำราว่าไม่ควรแก่ชีวิตไม้ทั้งสิ้น ตำราต้องการที่ๆร่วนซุยเป็นปรมาณู ศิลาที่หยาบเรียกกรวดเรียกทราย ที่ละเอียดเรียกฝุ่นหรือดิน อันมีทรากสัตว์และไม้เจือปนระคนอยู่โดยลักษณะและอาการต่าง ๆ กัน ท่านไม่เลือกจัดเอาเนื้อที่ ๆ ปรมาณูหยาบนัก ซึ่งน้ำจะไหลรั่วเร็วเกินไป หรือทรากสัตว์และไม้ที่ละเอียดไม่ใคร่จะเป็นอยู่ด้วยได้ และท่านไม่เลือกเอาเนื้อที่ ๆ เป็นปรมาณูละเอียดเกินไปนัก มักเบียดตัวแน่นเหนียวสนิทกัน น้ำติดค้างอยู่ในนั้นช้าเกินไปจนเกิดบูดเสีย หรือรากไม้และไอน้ำไม่แซกได้ ที่ดังนี้แม้นมีอาหารอยู่มากเท่าใดก็ยังใช้ไม่ได้ จัดไว้เป็นลักษณะที่สุดข้างส่วนไม่ดี ในตำราท่านจัดเลือกเนื้อที่ ๆ ปรมาณูเป็นปานกลาง และระคนปนด้วยทรากสัตว์และไม้มาก (ดินทราย) ว่าเป็นเอก ความข้อนี้เป็นอันแตกต่างตรงกันข้ามกับที่ ๆ จะต้องการทำนา เพราะชีวิตเข้าชอบมีต้นรากแช่อยู่ในน้ำจนตลอดเวลา ไม่สู้จะต้องการอาศัยอาหารที่เป็นละอองไอมาก ใช้อยู่บ้างแต่ที่ใบ ส่วนลำต้นและรากหากดื่มน้ำและอาหารอันพิเศษที่ยังอยู่ในน้ำและในดินได้ตรง ไม่ต้องอาศัยไอร้อนมาก (และแม้เข้าชอบน้ำดังนี้ก็ดี ถ้าหากน้ำมากเกินไปจนท่วมใบไม่ได้รับไออากาศหายใจ และรับแสงแดดขับขี้และคายของที่ไม่ต้องการแล้ว ก็จะพลันอันตรายโดยพลันเหมือนกัน) เพราะฉะนี้ชีวิตและความต้องการอาหารของต้นเข้าที่ชอบน้ำจำต้องผิดกับไม้ ในตำรา ที่ต้องการอาหารที่เปียก ๆ แห้ง ๆ ฝ่ายข้างเนื้อที่ปลูกเข้าชอบที่ ๆ มีปรมาณูยิ่งละเอียดอ่อนเท่าใดยิ่งดี เพราะต้องการเนื้อที่ ๆ เป็นดินเหนียวแน่นน้ำไม่หนีซึมซาบไปได้ ยิ่งช้าก็ยิ่งดี แต่ส่วนทรากสัตว์และไม้ที่เป็นอาหารนั้น ต้องการยิ่งมากยิ่งดีเหมือนกัน เคลื่อนอยู่บ้างแต่เข้าใช้อาหารในดินน้อย ใช้อาหารที่มีในน้ำมากกว่า เพรารฉะนี้แม้ที่ดินจะไม่สู้มีเชื้อ แต่มีน้ำอยู่ช้า ๆ ก็เป็นที่อย่างดีได้เหมือนกัน รากเข้าและหญ้าที่หยั่งไปในดินนั้น ดูเหมือนจะต้องการใช้ยึดต้นเข้าให้ ยืนอยู่แน่นที่เสียมากกว่าหาอาหารในใต้ดินดังไม้อื่น ๆ เพราะอาหารที่เป็นละอองในดินที่แช่น้ำจะมีมากไม่ได้ เหตุฉะนี้นาที่น้ำท่าท่วมได้ให้ผลมากกว่านาน้ำฝนเกือบสองเท่า เพราะมีน้ำนาน และน้ำท่าท่วมมาแต่ที่ทั้งหลายเป็นอันมาก ย่อมจะมีอาหารเจือปนมามากกว่าน้ำฝนที่ตกกับที่ เว้นแต่ธาตุบางอย่างที่น้ำฝนได้มาแต่อากาศ แต่ธาตุกองนี้ก็มีในน้ำท่าที่มาแต่ฝนก่อนเกือบจะเท่ากัน เพราะเหตุทั้งหลายเหล่านี้เนื้อที่แน่นเหนียว ที่ตำราใหญ่ว่าไม่ดีกลับเป็นที่ดีอย่างยิ่งในการทำเป็นที่นา แต่เนื้อที่ปรมาณูหยาบน้ำไม่ขัง และไม่มีเชื้อเป็นอย่างชั่วที่สุดนั้นเหมือนกัน เนื้อที่ ๆ นาเป็นอย่างดีในตำรากลับเป็นที่นาไม่ได้ เว้นแต่จะปลูกเข้าพันธุ์หนึ่ง ซึ่งเป็นเข้าบกเรียกว่าเข้าไร่เท่านั้น

การเลือกที่นานอกจากเลือกเนื้อดินแล้ว ยังมีสิ่งสำคัญที่เรื่องน้ำต้องจำมีที่มาให้พอใช้ เพราะการทำนาใช้น้ำเป็นต้นเป็นกลางเป็นปลายของการนา จำต้องมีความรู้ว่า การที่เกิดมีมาเองโดยธรรมดาของน้ำฝนน้ำท่า และวิชชาความรู้ท่าทาง และกำลังที่จะบังคับเอาน้ำมาใช้ให้พอจงได้ ในเนื้อที่ไม่มีน้ำเองพอการ ข้อนี้ก็เป็นการสำคัญมากในการนา จะลัดตัดเสียไม่ได้ จะขอว่าไว้ภายหลังเมื่อถึงเวลาต้องการ ในที่นี้พอเพียงแต่ที่จะให้เข้าใจว่าการเลือกที่นาจะเลือกแต่เนื้อที่อย่างเดียวมิได้ จำต้องเลือกดูที่น้ำด้วยเป็นสำคัญ อันที่มาแห่งน้ำนั้นก็แม่น้ำและบนฟ้าซึ่งมีอยู่ทั่วไป เมื่อที่ใดเป็นที่เนื้อดินละเอียดดีมีอยู่ริมลำแม่น้ำใหญ่ ฝ่ายสุดทิศใต้ใกล้ลงมาทางปากน้ำที่น้ำยังไม่เค็มนั้นและเป็นเนื้อที่อันอย่างดี นอกจากนี้ก็จะต้องดูปฏิรูปเทศสุขทุกข์ของผู้ที่เคยอยู่ในท้องที่ และท่าซื้อทางขายไปมาเข้าออกยากง่าย ที่เลี้ยงสัตว์ของใช้ และการระวังรักษาโจรผู้ร้าย และที่หาผักปลาอาหาร การที่ประกอบอยู่รอบข้างต่าง ๆ นั้นอีกโดยอเนกประการ ถ้าผู้ใดได้มีที่อันดี มีคุณสมบัติอันอุดมครบทุกอย่างดังกล่าวมานี้ ก็นับได้ว่าเป็นผู้มีทางเจริญใหญ่ ใช่ฉะเพาะแต่การทำนา มีอยู่ณกาลภายหน้านั้นแล

ผู้จะทำนาเมื่อมีเนื้อที่ ๆ ดี มีน้ำท่าบริบูรณ์พร้อมแล้ว ก่อนถึงฤดูจะลงมือทำการควรจะต้องคิดจัดหากำลัง และเครื่องมือจะได้ทำการ เพราะเหตุที่ในตำรากล่าวว่ารากไม้ชอบไปในเนื้อดินที่อ่อนยุ่ยซุยจะไปได้ง่ายอย่างหนึ่ง อาหารต้นไม้และน้ำท่าอยู่ในที่เป็นก้อนแท่งแข็งเหนียว ก็ไม่สามารถขยายตัวออกให้รากและใบไม้ถือเป็นอาหารได้ประการหนึ่ง ไม้ทั้งหลายต้องบริโภคอาหารจนพอเพียง เหมือนมนุษย์และสัตว์จึงจะเจริญได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าและต้นหญ้าและไม้ที่เราไม่ต้องการมาชิงขึ้นเบียดเสียดแย่งชิงเอาอาหารแสงสว่างและสิ่งอื่น ที่ต้นไม้ต้องการจะได้กินไปเสียโดยส่วนมาก หรือหมดสิ้นจนไม้ที่ต้องการต้องถอยกำลังไป บางทีจนถึงไม่สามารถจะทรงชีวิตอยู่สู้หญ้าไม้ที่มีกำลังแย่งชิงอาหารได้แรงกว่าได้ก็มี ผู้ประสงค์การดีจำต้องคิดกีดกันกำจัดเสียอย่าให้มีสิ่งซึ่งมีอันตรายมามีปะปนได้ ความต้องการทั้งหลายเหล่านี้และอื่นๆ จำให้ผู้ปลูกสร้างต้องขุดกลับพลิกคุ้ยที่แผ่นดินให้แตกตัวเป็นผงปรมาณูฟูฟุชุ่มชื่น ชอบด้วยรากไม้ที่จะได้เดิรไปและสรรพธาตุอันเป็นอาหารแก่ต้นไม้ได้ทั้งหลาย ซึ่งหมกซ่อนอยู่ใต้ดินไม่เป็นประโยชน์ได้ ครั้นต้องขุดคุ้ยขึ้นมาต้องด้วยแดดลมและน้ำ กระทำให้เกิดอาหารทวีมากกว่าที่ธรรมดาไม่ได้ขุดคุ้ย ต้นรากหญ้าและไม้อันไม่ต้องการที่มีอยู่ในเนื้อที่ เมื่อต้องขุดตัดด้วยการที่พลิกฟื้นขุดไถเนื้อที่ที่จะได้ช่วยชีวิตไม้ที่ต้องการปลูกสร้างสืบไป แรงการเข้าช่วยให้เกิดประโยชน์ขึ้นอีกมากดังนี้ จึงให้ผู้ปลูกสร้างทั้งหลายต้องลงแรงทำที่ตระเตรียมเสียให้ดีก่อนลงมือปลูกสร้าง แต่การที่จะทำดังนี้ จะต้องใช้กำลังแรงเพื่อทำการทั้งหลายให้สำเร็จ การนี้มีหลายอย่างตามแต่ประเทศและเนื้อที่ ทั้งกำลังทรัพย์กำลังปัญญาของผู้กระทำการใหญ่และน้อยประกอบให้เป็นไปได้ อย่างน้อยที่ผู้จะปลูกสร้างเป็นคนยากจนที่สุดก็ยังจำต้องใช้จอบหรือเสียมหรือมีดพร้า ที่จะได้ถากทายดายหญ้า ขุดรางทำร่องพลิกฟื้นเนื้อที่ถากฟันคันนากั้นน้ำและอื่น ๆ ในชั้นต้นเหล่านี้เป็นอย่างต่ำอย่างน้อย แม้ทำดังนี้ถ้าเป็นเนื้อนาใหม่ ๆ ดี ๆ เป็นที่ริมห้วยหนองหรือที่ลุ่มฟูซึ่งมีอยู่ตามทุ่งชายทะเล นาที่ในท้องร่องสวนข้างบางล่างเหล่านี้ ปีแรกทำปีสองปียังไม่ต้องทำอันใด นอกจากหวดดายต้นอ้อแขมในเวลาที่น้ำมากท่วมที่ หน่อต้นไม้ต้นหญ้าที่ขึ้นใหม่ไม่ทันพ้นน้ำได้ก็เน่าตายไปไม่ขึ้นได้ (การที่ทำดังนี้ ก็เพราะรู้วิธีที่ไม้ไม่ขึ้นได้ในที่ไม่มีแสงสว่าง และอากาศที่จะให้หายใจ) เมื่อหญ้าเน่าฟุดีก็จ้างวานผู้เลี้ยงกระบือให้ต้อนฝูงกระบือให้เหยียบย่ำหญ้าเน่าลงไว้เป็นเชื้อปุ๋ยใต้ดิน กลับเลนอ่อนให้ลอยขึ้นไว้ข้างบน พอน้ำนอนก็ดำได้ ที่นาดังนี้ถ้าได้น้ำได้ฝนเหมาะกับต้องการดีแล้ว ถึงปีทีหลังอีกปีหนึ่งไม่ต้องทำอันใดอีก ทิ้งให้เมล็ดเข้าที่ร่วงลงแต่ปีก่อนงอก ก็ขึ้นงามได้เกือบจะเต็มที่เหมือนหว่านใหม่ เพราะหญ้าใหญ่ ๆ ที่ฆ่าตายไว้แต่ปีหลังหญ้าใหม่ไม่ทันขึ้น ที่ก็ยังไม่ทันแน่น หญ้าที่ฟันไว้แต่ปีแล้ว ก็พอผุได้ที่พอดีที่ต้นเข้าจะใช้จึงไม่ต้องทำอีกใหม่เลย ถ้าต่อไปที่เก่าเข้าก็ต้องไถทำโดยวิชชาต่อไปทุกปี ไม่ทำเข้าก็ขึ้นไม่ได้ ด้วยพันธุ์หญ้าเล็ก ๆ มีกกเป็นต้น ปลิวมาแต่นาเก่าเพื่อนบ้าน พบที่เตียนได้แดดได้น้ำก็มาชิงขึ้นชิงงามเสียก่อนเข้า กับทั้งเชื้ออาหารใช้หว่านเข้าก็หมดไปไม่พอใช้ ต้องขุดคุ้ยเอาอาหารที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาช่วยอีกใหม่ ตามแต่เหตุผลที่ได้รู้มาแล้ว ทำดังนี้สองคนผัวเมียเนื้อที่ดี ๆ ก็ได้ปีละ ๕ เกวียน ๖ เกวียนพอได้ขายบ้าง ถ้าเนื้อที่ไม่สู้ดีหรือปานกลางแล้ว ก็พอ ๆ เลี้ยงลูกเมียกินและใช้ไปปีหนึ่ง ๆ และน้อยตัวคนที่ทำดังนี้ ในเวลานี้ยังมีแต่ชาวเขาชาวป่าทำเข้าไร่เข้าไผ่เพราะเข้าอย่างนี้ไม่ได้ใช้ที่น้ำขังอย่างนาลุ่ม ใช้แต่ขวานตัดไม้ใหญ่ลงเผาหญ้า และไม้เล็กเตียนดีแล้ว ก็เอาเสียมขุดหลุมแล้วเอาเข้าหยอดเป็นระยะไป และในระวางกอต้นเข้าลางทีก็เอาพริกมะเขือผักไม้เล็ก ๆ ปลูกแซกกลางรดน้ำและคอยฝน ปลูกอย่างเดียวกัน เรียกว่าเข้าไร่อย่างนี้ถ้านานหลายปีไปพอหญ้าเล็กขึ้นแน่นรกเสียแล้ว ก็ทิ้งเสียทีเดียวไม่ใช้ต่อไป นาอย่างนี้เป็นสวนหรือไร่ไม่ควรนับว่านา ได้ผลก็เล็กน้อยไม่ต้องมีเครื่องมืออันใด วิธีทำก็อย่างทำไร่ทั้งสิ้นเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก แต่การนาที่ทำกันอยู่ตามธรรมดาเป็นอันมาก ที่มิใช่การใหญ่นักหรือน้อยนักนั้น ก็อย่างที่กลับดินด้วยไถใช้แรงสัตว์เป็นกำลัง ลางทีและลางประเทศก็ใช้โคบ้างกระบือบ้างม้าบ้าง แต่การทำนาเข้าเจ้านั้นใช้โคและกระบือเปนพื้น ถ้าเป็นประเทศที่ทรายที่ดอนก็ใช้โค ถ้าที่ลุ่มและเลนก็ใช้กระบือ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีนิสสัยเป็นชาวนาแท้ การอื่นไม่ถนัดได้เหมือนนา เป็นสัตว์อันมีคุณแก่ประเทศบ้านเมืองเราแท้ จะหาสัตว์อันใดเปรียบไม่ได้ นึกดูถ้าไทยเราไม่มีกระบือจะใช้ช่วยแรงทำนาแล้ว ถึงคนจะแข็งแรงและช่างรู้เท่าใด ที่จะทำเข้าให้กว่าพอกินจนถึงจำหน่ายไปต่างเมืองที่ไหนได้ กระบือเป็นสัตว์มีคุณจริง ๆ ควรจะได้มีเรื่องราวต่างหากสักท่อนหนึ่ง เดชะบุญได้มีโอกาสอันอื่นสักคราว จะต้องคิดพรรณนาคุณกระบืออีกสักเรื่อง คงไม่เลวกว่าคราวนี้

เครื่องมื่อที่ใช้ขุดดินด้วยแรงสัตว์ก็คือไถ เครื่องมืออย่างนี้ใช้ทั่วไปในการปลูกสร้างไม้เล็ก ๆ ต่าง ๆ แทบทุกอย่าง รูปร่างก็ต่าง ๆ กัน แต่ไถที่ได้ใช้อยู่เป็นอันมากทุกวันนี้ก็มีอยู่สองอย่าง คือไถเดี่ยวและไถคู่ และไถทั้งสองอย่างนี้ก็มีเป็นสองชื่อ คือหนึ่งเรียกว่าไถขาเดียว เพราะรูปไถที่ทำใช้ตัวไม้เล็ก ๆ และเบา สำหรับไถที่นา ที่พื้นที่เป็นทรายหรือเป็นฝุ่น เป็นดินยุ่ยซุยคุ้ยขึ้นได้ง่าย ๆ ไม่หนักแรงสัตว์แรงคน วันหนึ่งทำได้มาก ๆ อีกรูปเรียกว่าไถสองขาสำหรับใช้ในนาดินแข็งเหนียวทำด้วยไม้แก่นแน่นหนา มีขาไขว้กันลงมาต่อด้ามผาล (เหล็กที่กินดิน) เป็นสองขาเพื่อให้มั่นคง ถ้าเป็นไถโคก็ใช้คู่ ไถกระบือก็เป็นไถเดี่ยว คู่มีบ้างแต่น้อยทีใช้ วิธีที่ทำก็ไม่เหมือนกัน พวกนาทุ่งและนาน้ำฝนใช้ไถที่แห้ง เพราะเป็นที่ทรายขุดดินลงได้ง่าย แม้น้ำฝนจะมีมา ไขออกทันได้ ก็เพียงไขให้แห้งก่อนจึงไถ เพราะถ้าดินเปียกก็ติดกันเป็นก้อนเป็นลำ ไม่แตกตัวรุ่ยร่วนดังเจ้าของต้องการได้ ถ้าฝนชุกมากดินไม่แห้งได้ ไขไม่ทันก็ต้องคิดปิดขังน้ำไว้พอท่วม (ผาล) ทนทำไปในน้ำดังนาดินเหนียวข้างแถวสวน ซึ่งเวลาดินแห้งตัวสนิดแล้วไม่มีไถอะไรจะไถเข้า แม้ใช้ไถเหล็กฝรั่งที่อย่างแข็งแรง ก็ไถไม่ลงกระท้อนกึก ๆ ไปหมด จำต้องคอยรอจนฝนมีชุมมา น้ำขังในท้องนาท่วมหน้าผาลจึงจะลงมือไถได้ และเวลาที่ทำก็จำต้องท่องน้ำและเลนเปียกเปื้อนอยู่จนตลอดเวลากาล

ในที่ดังนี้ นอกจากกระบือแล้วไม่มีสัตว์ใดจะทนอยู่ได้ และในเวลาทุกวันนี้มนุษย์มีฝีมือและความคิดมากกว่าแต่ก่อนมากก็จริง แต่ยังไม่เห็นมีเครื่องมือใหม่ ๆ อันใดที่ใช้ได้ดีกว่าของเก่า ที่ใช้มากว่าพันสองพันปีมาแล้วได้สักอย่าง แต่เหตุนี้จะว่าไม่มีช่องจะทำให้ดีกว่าได้ก็ว่าไม่ได้ เป็นด้วยราษฎรชาวนาของเรายังไม่มีกำลังพอจะตั้งกองสำหรับดูแลตรวจตราการที่จะทำให้การนาดีขึ้นได้โดยลำพัง กับทั้งไม่มีความรู้และตัวอย่างอันใด ที่จะชักนำให้เห็นว่าจะมีของที่ดีกว่าใช้ได้ให้เห็นอย่างทะยานอยากในทางใดอย่างใด เคยเห็นแต่ของเก่าที่เคยใช้ ๆ อยู่ทั่ว ๆ กัน ก็ตกลงใจเสียว่าสิ่งดีจะมีได้อยู่แต่เพียงเท่านั้น แม้หากจะมีคนที่ซุกซนค้นคิดไป ถ้าเป็นคนตามธรรมดาก็ไม่สามารถจะฟาดฟันทุนรอนไปทดลองได้ หรือคนที่กล้า ๆ ลองเข้าพลาดไปสักทีก็ฉิบหาย เขตต์กันขึ้นกีดกันการดีเสียดังนี้ การจึงยังคงเป็นดังแต่ก่อน ๆ มา แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังกระทำผลประโยชน์เป็นกำลังอันใหญ่ที่สุดของราษฎรชาวพระนคร จนพอใจและเป็นกำลังอันใหญ่อันหนึ่งในราชการด้วยเหมือนกัน พระไพสพของเราอาจจะเยาะเย้ยไยไพประเทศทั้งหลายที่คนต้องตายเพราะอดเข้าได้โดยเต็มปากเต็มมือ เพราะเหตุที่ในแขวงสยามประเทศ ที่นับถือเอาเข้าเป็นชีวิต คนทั้งหลายจะตายเพราะอดเข้านั้นน้อยนักน้อยหนา ทั้งจน ๆ เก่า ๆ โง่ ๆ ไม่มีฝีมือและปัญญา (ความสุข) เหมือนนายช่างผู้พิเศษต่าง ๆ ที่เรียกว่าเวอกเมนในยุโรปผู้สิวิลัยดังนี้ก็จริงแล้ว แต่โง่ก็มีพอนั่งกินได้นิ่ง ๆ ไม่ต้องอึกอักตึงตัง หรือบ่นพึม ๆ พำ ๆ ว่าไม่มีเข้าจะกิน ไม่มีงานจะทำ (จบที)

นอกจากไถที่เป็นเครื่องมืออันสำคัญในการทำนา ที่ได้ว่ามาแล้วนี้ ยังมีคราดสำหรับชักลากต้นและรากหญ้าที่ลอยน้ำอันไม่เน่าจะงอกได้นั้นออกเสียให้พ้นที่ นอกนั้นก็มีเคียว ขอมีดพร้าและเครื่องมืออื่นก็ยังมี ซึ่งจะได้ออกชื่อถึงเมื่อเวลาจะกระทำการที่ต้องกระทำนั้น ๆ แต่ปลูกไปจนเก็บเกี่ยวและอื่น ๆ ซึ่งจะได้มีในหมวดหน้า ๆ ต่อไป ฯ

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ