ประเพณีเลี้ยงลูก

พระยาราชวรานุกูล (อ่วม) เรียบเรียง

----------------------------

ธรรมดาบิดามารดากับบุตร ก็เปนธรรมเนียมของปุถุชนทั่วโลกย่อมมีความกรุณาอุปถัมภ์แลสั่งสอนจะให้เปนคุณประโยชน์แก่บุตรของตนนั้นสืบมาทุกรูปทุกนาม จะพรรณาได้กว้างขวางโดยเลอียดก็จะยืดยาวไป ทราบแก่ใจของปุถุชนทั้งปวงอยู่แล้ว

จะขอกล่าวความโดยโวหาร แลไต่ถามท่านผู้รู้พระบรมพุทโธวาทมาเรียบเรียงลงไว้พอเปนสังเขป ตามบาฬีอังคุตระนิกายติกกะนิบาตว่า ตโย เม ภิก์ขเว ปุต์ตาสํวิช์ชมานา โลกัสมิ กตเม ตโย อภชาโต อนุชาโต อวชาโต จาติ ความว่าบุตรมี ๓ จำพวก คือ อภิชาตบุตรจำพวก ๑ อนุชาตบุตรจำพวก ๑ อวชาตบุตรจำพวก ๑ เปน ๓ จำพวกดังนี้ อภิชาตบุตรนั้น คือบุตรชายบุตรหญิงก็ดี มีน้ำใจตั้งอยูในถ้อยคำบิดามารดาสั่งสอน แลมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จะร่ำเรียนวิชาการต่าง ๆ ฤๅคิดทำการสิ่งใดก็ว่องไวเฉียบแหลมยิ่งเกินบิดามารดา จะมียศศักดานุภาพทรัพย์สมบัติก็ยิ่งกว่าบิดามารดา บุตรจำพวกนี้ได้ชื่อว่าอภิชาตบุตร อนุชาตบุตรนั้น มีน้ำใจตั้งอยู่ในถ้อยคำบิดามารดาสั่งสอนบ้าง ประพฤติการที่ชอบประกอบคำบิดามารดาสั่งสอนบ้าง มีสติปัญญาเล่าเรียนวิชาทำการสิ่งใด ๆ ฤๅประกอบไปด้วยยศแลสมบัติ ก็ไม่ยิ่งไม่ต่ำกว่าบิดามารดานัก พอเสมอตามตระกูลบิดามารดา บุตรดังนี้ได้ชื่อว่าธนชาตบุตร อวชาตบุตรนั้น มิได้ตั้งอยู่ในถ้อยคำบิดามารดาสั่งสอน ประพฤติการสิ่งซึ่งมิชอบ คบเพื่อนเสพสุราประกอบการทุจริตต่าง ๆ มีความประพฤติต่ำเลวทรามกว่าบิดามารดา จะคิดทำการสิ่งใดก็ไม่เปนคุณประโยชน์ไม่เปนที่ชอบใจแห่งบิดามารดา แลวงษาคณาญาติ ชักให้ตระกูลบิดามารดาต่ำถอยลงด้วย บุตรอย่างนี้ได้ชื่อว่าอวชาตบุตร ก็แลบุตรทั้ง ๓ จำพวกดังกล่าวมานี้ จะมาบังเกิดในสำนักบิดามารดาตระกูลใด บิดามารดาก็ย่อมมีความสิเนหาอุปถัมภ์สั่งสอนบุตรทั้ง ๓ จำพวก ให้ประพฤติการตามตระกูลเสมอกัน หากอุปนิไสยของบุตรผิดกัน จึงแตกต่างไปเปน ๓ จำพวก ดังกล่าวมา

เมื่อบิดามารดาทราบว่าบุตรมาปฏิสนธิในครรภ์มารดาแล้วก็มีความยินดี ตั้งใจทนุบำรุงรักษาบุตรในครรภ์ตามสมควรแก่ความสามารถของบิดามารดา มารดานั้นแม้อยากจะบริโภคอาหารที่เผ็ดร้อนเปนของที่ชอบใจก็สู้อดงดเว้นไม่บริโภค เมื่อจะนั่งนอนเดินไปมาก็ระวังรักษากาย เพื่อจะมิให้บุตรในครรภ์ป่วยเจ็บเปนอันตรายด้วยเหตุต่าง ๆ ฝ่ายบิดาก็หาหมอมาประกอบยาให้มารดาบุตรนั้นรับประทาน เพื่อจะได้รักษาบุตรในครรภ์ให้มีความศุขสบายเจริญไวยวัฒนาขึ้น จนครรภ์มารดาถ้วนกำหนดจวนจะคลอดบุตรแล้ว จึงหาหมอพยุงครรภ์หมอยาหมอนวดมาประจำรักษาครรภ์มารดาอยู่ เผื่อจะเจ็บครรภ์ฤๅจะขัดขวางประการใด จะได้แก้ไขให้ทันท่วงที มารดาต้องทนทุกขเวทนารักษาครรภ์บุตรนั้นมาได้ความลำบากถึง ๙ เดือน ๑๐ เดือน.

ครั้นถึงฤกษ์งามยามดีบุตรคลอดพ้นจากครรภ์มารดา บางทีขัดขวางทนทุกขเวทนาต่าง ๆ กัน บางทีจนถึงมารดานั้นตายก็มี ถ้าบุตรคลอดจากครรภ์มารดาโดยสดวกแล้ว บิดามารดาก็มีความโสมนัศจัดการเลี้ยงดูโดยประเพณีที่นับถือ เปนคติสืบกันมาตั้งต้นแต่หาสมุดดินสอมาจดหมายฤกษ์ยามวันคืนเดือนปีบุตรไว้ เพื่อจะได้ให้โหรดูชตาราษีบุตรให้ถูกต้องตามตำรา ส่วนหมอพยุงครรภ์ก็รับเอาบุตรมาเอานิ้วมือควักโลหิตในปากบุตรนั้นออก แล้วเขาน้ำผึ้งทองคำเปลวกวาดที่ต้นลิ้น เพื่อจะมิให้ทารกนั้นมีโรคป่วยเจ็บตานทรางต่าง ๆ ถ้าหมอพยุงครรภ์ควักโลหิตในปากทารกนั้นออกไม่หมด ฤๅไม่ได้ควักออกแล้ว ก็ถือว่าทารกนั้นมักจะมีโรคป่วยเจ็บตานทรางต่าง ๆ แลน้ำผึ้งทองคำเปลวนั้นบิดามารดาหาเตรียมไว้ ก็ได้กวาด ถ้าไม่มีก็หาได้กวาดไม่ หมอก็เอาบุตรนั้นมาตัดสายอุทรที่ติดอยู่กับรก วิธีที่ตัดสายอุทรนั้น ต้องไว้สายยาวเสมอกับเข่าทารกนั้น แล้วเอาด้ายดิบที่ย้อมครามผูกคาดสายอุทรที่จะตัดให้แน่น ปราถนาจะไม่ให้เลือดลมเดินได้ เมื่อจะตัดสายอุทรนั้นเอาก้อนดินที่แขง รองสายอุทรไว้ จำเภาะให้เอาผิวไม้รวกตัดสายอุทรนอกกายที่ผูกคาดไว้ แลรกที่ตัดขาดออกแล้วต้องล้างน้ำให้หมดจด ใส่หม้อตาลเอาเกลือใส่ทับรกไว้บนปากหม้อ ซึ่งเอารกล้างน้ำให้หมดจดนั้น เพราะปราถนาจะกันไม่ให้บุตรป่วยเจ็บเปนพุพองเปื่อยพังได้ แล้วหมอพยุงครรภ์จึงได้รับเอาบุตรไปอาบน้ำ ชำระกายให้หมดมลทิน ปูเบาะแลผ้าในกระด้งยกบุตรลงวาง ถ้าบุตรเปนชายบิดาแลญาติก็เอาสมุดดินสอวางไว้ในกระด้งข้างเบาะ ถ้าบุตรเปนหญิงก็เอาเข็มด้ายใส่ลงไว้ ความประสงค์ของบิดามารดา เพื่อจะให้บุตรชายบุตรหญิงรู้วิชาในการหนังสือแลการเย็บปักร้อย แล้วหมอพยุงครรภ์มีลัทธิ ยกกระด้งที่รองบุตรนั้นขึ้นร่อนออกวาจาว่าสามวันลูกผีสี่วันลูกคน ลูกของใคร ๆ มารับเอาเน้อ แล้วทิ้งกระด้งลงกับพื้นเรือนเบา ๆ พอให้บุตรที่นอนในกระด้งตกใจสดุ้งร้องดังขึ้น แต่หมอยกกระด้งรองบุตรขึ้นร่อนแล้วทิ้งลงออกวาจาดังกล่าวมาแล้วนั้นถึง ๓ ครั้ง บางทีบิดาบ้าง ญาติผู้ใหญ่ซึ่งมีอายุบ้าง ออกวาจาว่า “ลูกของข้าเอง” หมอจึงได้ส่งกระด้งรองทารกนั้นให้ ท่านผู้รับก็วางลงไว้ในที่สมควรใกล้มารดา ฝ่ายข้างมารดานั้น บุตรคลอดออกจากครรภ์แล้ว ก็รับประทานน้ำส้มมะขามเปียกกับเกลือก่อน นอนไฟอยู่ด้วยเตาเชิงกรานมีฟืน ๓ ดุ้นอยู่ ๓ วัน แล้วบิดาแลญาติจึงหาวันดีทอดเตาไฟใหญ่ เมื่อจะทอดเตาไฟนั้น มีหมอทำน้ำมนต์ธรณีสารประพรมเตาไฟ เศกเข้าสารกับเกลือเคี้ยวพ่นหลังพ่นท้องผู้ที่จะอยู่ไฟ แลพ่นเตาไฟด้วยเรียกว่าดับพิศม์ไฟ มีธูปเทียนเข้าตอกดอกไม้หมากพลูกะทงเล็ก ๆ ใส่กุ้งพล่าปลายำวาง ๔ มุมเตาไฟ แล้วมารดาต้องกราบไหว้เตาไฟ รฦกถึงคุณพระเพลิงพระพายพระธรณีพระคงคาเปนที่พึ่ง หมอเศกขมิ้นกะปูนทาหลังทาท้อง แล้วจึงขึ้นอยู่บนกระดาน รับประทานยาแก้โลหิตเช้าเย็นกว่าจะออกไฟ แต่การที่นอนไฟนั้นลางทีนอนอยู่ครบเดือนบ้าง ไม่ครบเดือนบ้าง สุดแต่จะอยู่ได้ไม่ได้ หม้อตาลที่ใส่รกนั้นต้องวางไว้ริมเตาไฟด้วย เพราะจะให้สายอุทรบุตรแห้งเร็ว ครั้นสายอุทรบุตรนั้นหลุดแล้ว หมอจึงเอาใบพลูสดลนควันไฟไต้เสม็ดให้ร้อนพอประมาณ มาทาบกับสดือบุตร โรยผงดินสอพองบ้าง พิมเสนบ้าง แล้วเอาผลมะกรูดลนควันไฟไต้เสม็ดมาคลึงท้องบุตรปราถนาจะให้สดือแห้งเร็ว แลให้เนื้อที่ท้องทารกนั้นหนาจะไม่ได้ปวดท้อง

เมื่อบุตรนอนอยู่ในกระด้งครบ ๓ วันนั้น บิดามารดาให้ญาติแลคนใช้ทำบายศรีปากชาม ทำขวัญแล้วยกบุตรขึ้นจากกระด้งขึ้นนอนเปลตามธรรมเนียมมา ที่บิดามารดาบริบูรณ์ก็จัดหาพี่เลี้ยงแม่นมเลี้ยงดูรักษาบุตรตามสมควร ที่บิดามารดาขัดสนยากจนก็อุปถัมภ์เลี้ยงดูบุตรไปตามกำลัง ครั้นบุตรมีอายุครบเดือน กำหนดจะโกนผมไฟแล้ว บิดามารดาจึงได้บอกกล่าวญาติพี่น้องมาช่วยในการมงคลโกนผมไฟ มีบายศรีทำขวัญเลี้ยงดูกันตามประเพณี ผู้ที่มาช่วยมีเงินแลสิ่งของมาทำขวัญให้กับบุตรนั้น ตามวงษ์ตระกูลมากแลน้อย ที่เปนคนขัดสนอนาถา ก็เอาแต่ด้ายดิบมาผูกข้อมือบุตรเรียกมิ่งขวัญโกนผมไฟบุตรไปตามจน เมื่อมารดาออกจากนอนไฟแล้ว ก็หาผู้รู้ตำราวิธีที่จะฝังรกบุตรนั้นที่ต้นไม้ใหญ่ที่ทิศใดทิศหนึ่ง มีกำหนดหลุมฦกแลตื้นเปนสำคัญ เพื่อจะให้บุตรนั้นมีความเจริญสืบไป บางคนก็หาได้ทำตามตำราไม่ ทิ้งหม้อรกผุพังไปก็มีโดยมาก

เมื่อบุตรมีอายุเจริญขึ้นสมควรที่จะไว้ผมจุกผมเปียอย่างไร บิดามารดาก็หาวันดีไว้ผมจุกผมเปียให้บุตรตามประเพณี ฤๅมิได้ไว้ผมจุกผมเปียให้แก่บุตรให้โกนผมเสียทีเดียวประสงค์จะให้สอาดก็มีบ้าง ถ้าบุตรป่วยเจ็บลงประการใดบิดามารดามีความร้อนใจเปนอย่างยิ่ง ไม่เปนอันที่จะนอนที่จะบริโภคอาหาร หาหมอมารักษาพยาบาลกว่าบุตรจะหายป่วย ต้องเสียเงินขวัญเข้าค่ายาอยู่เนือง ๆ ครั้นบุตรมีอายุเจริญขึ้นไปโดยสมควรที่จะหาเครื่องตกแต่งต่าง ๆ ให้แก่บุตรแล้ว บิดามารดาก็หาทองคำทำรูปพรรณประดับเพ็ชรพลอยต่าง ๆ เปนเครื่องแต่งตัวให้แก่บุตรตามสมควร ถ้าบุตรชายมีอายุสมควรที่จะสั่งสอนให้ประพฤติที่ชอบด้วยประเทศบ้านเมืองประการใด บิดามารดาก็ควรจะตั้งใจสั่งสอนบุตรนั้นให้อยู่ในอำนาจของบิดามารดา เปนต้นว่า ให้บุตรเล่าเรียนรู้ธรรมวินัยพุทโธวาท บวชเปนสามเณรภิกขุปฏิบัติตามวินัยสิกขาบทฝ่ายคันถธุระวิปัสนาธุระดังนี้เปนที่ประเสริฐอย่างยิ่ง ถ้าจะประกอบการตามโลกีย์แล้ว ก็ให้เล่าเรียนรู้หนังสือเลขลูกคิดประกอบกันศึกษาในทางเสมียนแบบอย่างทางราชการฝ่ายทหารพลเรือน ฤๅเปนเสมียนตระลาการดูพระราชกำหนกดกฎหมาย ทางพิจารณาตัดสินคดีความฝึกหัดการช่างต่าง ๆ ให้ชำนาญรู้ได้จริง ๆ ถ้าเปนบุตรหญิง บิดามารดาก็ตั้งใจสั่งสอนบุตรให้รู้หนังสือ แล้วประกอบการให้ดูแลรวบรวมทรัพย์สมบัติในบ้านเรือนโดยเลอียดทั่วไป ฝึกหัดเปนช่างปักช่างเย็บช่างร้อย ช่างทำเครื่องคาวหวาน ฤๅให้บุตรชายบุตรหญิงประพฤติการทำมาหากิน เลี้ยงชีพตามเพศตระกูลบิดามารดา ในประเทศนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยประสงค์จะให้เปนคุณประโยชน์แก่บุตรแลธิดา

ปุถุชนที่มักประพฤติการเปนพาลทุจริต เช่นคบเพื่อนเปนพาลกินสุราสูบยาฝิ่นเล่นเบี้ยโปการพนันต่าง ๆ แลฉกลักตีชิงวิ่งราวปล้นสดมทรัพย์สมบัติของท่านผู้อื่นนั้น เพราะไม่ประพฤติการตามความประสงค์ของบิดามารดาที่เลี้ยงดูมา ที่จะเปนเพราะบิดามารดาไม่ปราถนาจะให้ลูกดีนั้นหาไม่ แต่บางทีก็เปนเพราะบิดามารดาเลินเล่อไม่ระวังดูแลตามสมควร บุตรจึงได้พากันเปนพาลทุจริตไปต่าง ๆ ถ้าบิดามารดามีความอุสาหะกดขี่สั่งสอนบุตรให้อยู่ในอำนาจบิดามารดา ให้บุตรชายบุตรหญิงเล่าเรียนรู้วิชาประพฤติการทำมาหากินที่ชอบตามประเทศบ้านเมืองดังกล่าวมาช่วงต้นแล้ว บุตรนั้นก็คงจะไม่ใคร่ประพฤติการเปนพาลทุจริตได้ ถ้าจะเปนไปบ้างก็คงจะเบาบางน้อยลง การที่จะป้องกันมิให้บุตรชายบุตรหญิงประพฤติการเปนพาลทุจริตไปโดยมาก จะเอาสิ่งอันใดมาแก้ไขกดขี่ให้บุตรประพฤติการแต่ที่ชอบได้ ก็ต้องอาไศรยอำนาจแห่งบิดามารดาฤๅอาจารย์ ที่สั่งสอนนั้นข่มขืนน้ำใจบุตรไว้ ตั้งแต่เมื่อเจริญไวยขึ้นมาได้ ๕ ปี ๖ ปี ๗ ปีตลอดไป อย่าให้บุตรประพฤติในทางพาลทุจริตได้ ถ้าบิดามารดาละเลยตามใจให้บุตรนั้นประพฤติการทุจริตซึ่งไม่เปนประโยชน์แล้ว ภายหลังบุตรนั้นมีความเจริญเกินที่บิดามารดาจะสั่งสอนแล้ว บิดามารดาจะกลับมากดขี่สั่งสอนให้บุตรกลับมาประพฤติการสิ่งที่ชอบนั้นโดยยาก จะต้องถึงอำนาจบ้านเมืองบังคับกดขี่ไปตามกฎหมาย บิดามารดาก็คงจะได้ความเดือดร้อนแม้อย่างต่ำก็ได้ความโทมนัศแก่บิดามารดาญาตินั้นโดยมาก

เมื่ออายุบุตรเจริญได้ ๑๑ ปี ๑๓ ปีบ้าง บิดามารดาจึงทำการตัดจุกบุตรเปนการมงคลใหญ่อิกครั้งหนึ่ง แต่บุตรหญิงนั้นมักทำการมงคลตัดจุกเสียแต่ในอายุ ๑๑ ปีโดยมาก หาเหมือนบุตรชายไม่ เพราะหญิงมีลักษณร่างกายเจริญวัฒนาเร็วกว่าบุตรชาย ถ้าบุตรชายเมื่ออายุได้ ๗-๘ ปี ๙-๑๐ ปีขึ้นไป สมควรที่จะศึกษาเล่าเรียนศิลปสาตรวิชาประการใด บิดามารดาก็ส่งบุตรไปอยู่วัดบวชเปนสามเณรบ้างเปนลูกศิษย์วัดบ้าง ฤๅส่งโรงเรียนที่มีอาจารย์สั่งสอน ให้บุตรนั้นเล่าเรียนหนังสือหัดวิชาตามสติปัญญาจนอายุนับปีเดือนบริบูรณ์เต็ม ๒๐ ปีแล้ว บิดามารดาก็จัดหาผ้าไตรเครื่องอัฐบริขารแลสิ่งของไทยทาน ซึ่งจะถวายพระอุปัชฌาย์คู่สวดอันดับ กำหนดวันคืน มีธูปเทียนไปลาท่านผู้ใหญ่ในวงษ์ญาติพี่น้อง มาประชุมณบ้านเรือนทำขวัญเวียนเทียนให้บุตรซึ่งจะบวชเรียกว่าเจ้านาค ครั้นเวลาเช้าบิดามารดาวงษาคณาญาติพร้อมกันแห่นาคไปวัด แต่บิดามารดานั้นต้องจูงมือบุตรเข้าไปในพระอุโบสถเปนธรรมเนียมมาแต่โบราณ เพราะเปนการศรัทธาเชื่อถือคุณพระรัตนไตรย ให้บุตรอุปสมบทในพระบวรพุทธสาสนาเปนการกุศลอย่างอุกฤษฐ การบวชนาคนี้มีแจ้งอยู่ในหนังสือวชิรญาณ เล่ม ๔ น่า ๑๘ นั้นแล้ว

ครั้นบุตรอุปสมบทเปนภิกษุอยู่วัดตลอดไป บิดามารดาก็เปนธุระจัดสำรับคาวหวานติดตามไปส่งเช้าส่งเพนไม่ให้บุตรอดอยากได้ ครั้นบุตรนั้นละเพศบรรพชิตเปนฆราวาศแล้ว สมควรจะตกแต่งให้มีภรรยา ฤๅบุตรหญิงอายุได้ ๑๕ ปี ๑๖ ปี ๑๗ ปีขึ้นไป มีผู้มากล่าวสู่ขอไปเปนภรรยาก็ดี บิดามารดาเห็นดีสมควรที่จะให้บุตรมีสามีภริยาได้ ก็ประชุมปฤกษาญาติทำการมงคลใหญ่ ให้บุตรชายบุตรหญิงมีสามีภริยาแบ่งปันเงินทองทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ แก่บุตรตามมากแลน้อย มีแจ้งอยู่ในเรื่องทำการวิวาหมงคลซึ่งจะมีต่อไปภายหลังนั้นแล้ว ถ้าบุตรชายหญิงซึ่งบิดามารดาตกแต่งให้มีสามีภริยาออกจากบิดามารดาไปทำมาหาบริโภคตามกำลังตนเองแล้ว ถ้ามีความเจริญประกอบด้วยยศศักดิทรัพย์สินบริบูรณ์ บิดามารดาก็มีความยินดีชื่นชมโสมนัศในบุตรนั้นเปนอันมาก ถ้าบุตรมีความทุกข์ร้อนคับแค้นอนาถาลงด้วยเหตุต่าง ๆ บิดามารดาก็มีความโทมนัศเสียใจด้วย ถึงโดยบุตรจะชั่วช้าประพฤติแต่การทุจริต ไม่อยู่ในถ้อยคำสั่งสอนเปนที่โกรธเคืองของบิดามารดาก็ดี บิดามารดาก็เสียไม่ได้ต้องเกื้อหนุนสั่งสอนสงเคราะห์แก่บุตรต่อไปตามกำลัง ซึ่งบิดามารดามีความเมตตากรุณาอุปถัมภ์สั่งสอนบุตรชายบุตรหญิงนั้นเปนการไม่รู้สิ้นสุดลงได้ ต่อเมื่อใดบิดามารดาฤๅบุตรดับขันธ์ไปสู่ปรโลกย์ฝ่ายหนึ่งแล้ว การอุปถัมภ์แลการสงเคราะห์สั่งสอนบุตรนั้นจึงจะขาดไม่มีต่อไปได้ ถึงดังนั้นก็ยังมีความกรุณาเมตตารฦกถึงบุตรด้วยความอาไลยอยู่เนือง ๆ ถ้าบุตรนั้นได้ชื่อว่าอภิชาตบุตรอนุชาตบุตรแล้ว บิดามารดาก็มีความเสน่หารักใคร่มาก จะมีทรัพย์สมบัติศฤงฆารบริวารมากน้อยเท่าใด ก็เต็มใจที่จะยกให้แก่บุตรไม่มีความรังเกียจทุกประการ เรียบเรียงความเรื่องบิดามารดากับบุตร มีความอุปถัมภ์บำรุงรักษาสั่งสอนกันมาพอเปนสังเขปเพียงนี้ ฯ

  1. ๑. คือที่กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงพระนิพนธ์ ที่คัดมาพิมพ์ต่อตอนนี้ไป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ