ประเพณีบวชนาค

กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงเรียบเรียง

----------------------------

การบวชนาคนี้เปนของมีมาช้านาน เนื่องมาจากพุทธกาล เปนกิจฝ่ายพระพุทธสาสนา แลการที่เรียกว่านาคนี้ เมื่อจะคิดค้นดูว่ามาจากอะไร เหตุใดจึงเรียกว่านาค ก็จะสันนิฐานได้สองอย่าง ๆ หนึ่งมีนิทานเล่า ๆ กันมาอ้างว่าเปนคำเทศนาว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่นั้น มีพระยานาคแปลงเปนมนุษย์ มาปลอมบวชเปนภิกษุในพระพุทธสาสนา แลวิไสยนาคนั้นถึงจะแปลงตัวเปนอะไร ๆ ก็ดี ถ้าเวลานอนหลับแล้ว ร่างกายกลับเปนนาคตามเพศเดิม แลพระยานาคที่มาปลอมบวชนี้ เวลานอนหลับก็กลับกลายเปนนาคไป แต่หามีผู้ใดเห็นไม่ จึงได้บวชอยู่ช้านาน อยู่มาวันหนึ่งเวลาพระยานาคที่ปลอมบวชนั้น นอนหลับกายกลับเปนนาคตามธรรมดา มีพระภิกษุไปเห็นเข้า จึงนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ครั้นพระภิกษุที่เปนนาคนั้นมาเฝ้า จึงรับสั่งถาม ภิกษุนั้นก็กราบทูลตามความจริงว่าตนเปนนาค มีศรัทธาอยากจะบวชจึงได้แปลงเปนมนุษย์มาบวช พระพุทธเจ้าดำรัสว่าสัตว์ดิรัจฉานใช่วิไสยที่จะบวชในพระสาสนา ดำรัสดังนี้แล้ว ก็โปรดให้พระภิกษุนั้น ออกจากเพศบรรพชิตกลับเปนนาคตามเดิม พระยานาคมีความอาไลยมากจึงกราบทูลว่า ถึงจะไม่ได้บวชอยู่ต่อไปก็ตามแต่วาศนา แต่ขอฝากชื่อไว้ ถ้าผู้ใดจะบวชแล้วขอให้เรียกชื่อว่านาคเสียก่อนให้เสมอไป พระพุทธเจ้าทรงรับตามคำพระยานาคแล้ว พระยานาคก็กลับไปยังพิภพของตน ตั้งแต่นั้นมาพระพุทธเจ้าจึงได้ตั้งธรรมเนียมไว้ ว่าถ้าผู้ใดจะบวชให้ชื่อนาคเสียก่อนแล้วจึงบวช จึงเปนธรรมเนียมเรียกผู้ที่จะบวชว่านาคสืบมาจนบัดนี้ แลนิทานนี้เปนแต่เล่ากันมาว่าเปนคำเทศนา แต่ตัวข้าพเจ้าเองไม่เคยได้ฟังพระเทศน์ แลไม่เคยได้เห็นหนังสือในเรื่องนี้เลย มีเรื่องที่คล้ายคลึงอยู่เรื่องหนึ่ง แต่นิทานเอรกปัตนาคที่มีในธรรมบท เปนเรื่องว่าด้วยพระยานาคศรัทธาในพระพุทธสาสนา แต่ความก็ไม่เหมือนกันไม่ถึงกับมาบวช เปนแต่ถึงสรณเท่านั้น แต่เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าเปนผู้สดับธรรมเทศนาน้อยจึงไม่เคยได้ฟังพระเทศน์ในเรื่องนี้ แลเปนผู้ดูหนังสือน้อย จึงไม่พบนิทานเรื่องนี้ ฤๅอย่างไรก็ไม่ทราบ

อิกอย่างหนึ่งในตำราบวชนาค ยกอุทาหรณ์ที่จะสวดญัตินั้นให้คำว่านาโคคือนาค เปนชื่อผู้บวช จะคิดไปว่าเปนด้วยพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้ใช้อย่างนี้ตามคำพระยานาคทูลขอไว้ ก็จะคิดไปได้ แต่เห็นว่าในวิธีบรรพชาอุปสัมปทา ที่มีในคัมภีร์มหาวรรคนั้น ก็หามีนาโคไม่ จึ่งเห็นว่าจะเปนท่านพระเถระองค์ใดองค์หนึ่งตั้งตำราขึ้นไว้สำหรับท่องบ่นโดยง่าย ที่วางชื่อว่านาโคนั้นก็โดยขึ้นปากเจนใจในชื่อนั้น ฤๅอาไศรยเหตุใดเหตุหนึ่ง แต่คงจะไม่ใช่เรื่องพระยานาคปลอมบวช เมื่อวางเปนตำราไว้แล้วก็เปนแบบเรียกกันสืบมา การที่เรียกคนที่จะบวชว่านาค อาไศรยเหตุสองอย่างเช่นว่ามานี้

จะกล่าวถึงความประสงค์ ของการที่บวชนาคต่อไป ความประสงค์เดิมเมื่อแรกเกิดการบวชขี้นแต่ครั้งพระพุทธเจ้านั้น ก็ประสงค์เพื่อจะกระทำให้ถึงพระอรหัตผลพ้นจากกองกิเลศกองทุกข์ทั้งปวง คือเมื่อบวชแล้วก็ต้องสำรวมศีลมละกิเลศหยาบ แลเจริญสมาธิมละนิวรณ์ห้า เกิดปัญญาได้บรรลุมรรคผลจนถึงที่สุดกิจของการบวชคือพระอรหัต ส่วนผู้ที่พยายามไปไม่สมประสงค์สิ้นอุสาหทำไปไม่ตลอดก็สึกออกมาเสียก็มี ครั้นพุทธกาลล่วงมานานผู้ที่จะพยายามให้ถึงที่สุดกิจบรรพชิตนั้นก็ไม่ใคร่มี แลผู้ที่จะรู้ที่สุดกิจแห่งบรรพชิตนั้นก็น้อยลง ก็เห็นแต่ผลอย่างต่ำ ๆ ลงมา ผู้ที่สันดานดีก็เห็นว่าการบวชเปนการสงบระงับกายวาจาใจ ปราศจากความกังวลเดือดร้อนรำคาญ ไม่ต้องรับภาระอันหนัก ก็บวชอยู่ได้โดยมาก เมื่อศึกษาเล่าเรียนพุทธวจนะก็ได้ทราบธรรมแล้วแลปฏิบัติให้เกิดผลแก่ตนโดยประการต่าง ๆ ตามสมควร ฝ่ายผู้ที่สันดานหยาบเห็นว่าบวชอยู่ไม่ต้องทำการงาน ประกอบด้วยลาภสักการโลกามิศก็บวชอยู่ได้โดยมากเหมือนกัน แลเมื่อสืบมาอิกชั้นหนึ่งนั้น รู้ตื้นๆ แต่เพียงว่าบวชได้บุญ เมื่อมีศรัทธาอยากได้บุญก็บวชแล้วแลประพฤติตนตามธรรมวินัย บางพวกก็ไม่มีศรัทธา แต่ขัดบิดามารดาญาติพี่น้องไม่ได้ ก็บวชไปตามธรรมเนียม บางทีก็ประพฤติดี บางทีก็ประพฤติชั่ว ตามสันดานแลอัธยาไศรยของคน

การบวชนาคนั้น ผู้ที่จะบวชจะมีความประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงมิใช่ประสงค์พระอรหัตผลก็ดี ถ้าจิตรเปนกุศลจิตรประกอบด้วยศรัทธาแล้ว เมื่อบวชเขาคงจะประพฤติแต่การที่ดี แลปฏิบัติตามธรรมวินัย ก็จะได้รับผลตามสมควร ตั้งแต่อย่างสูงลงมาจนอย่างต่ำ คือเมื่อบวชเข้าแล้วก็จะได้เล่าเรียนธรรมวินัยพุทธวจนะบังเกิดความรู้ ความศรัทธาแก่กล้าขึ้น ก็จะได้บรรลุผลอย่างสูง คือโลกุตรธรรมได้บ้างดอกกระมัง ถ้าไม่บรรลุผลเช่นนั้นก็คงจะเปนผู้มั่นในพระรัตนไตรย ประพฤติกายวาจาใจเรียบร้อยละบาปบำเพ็ญบุญ สงบสงัดจากความเดือดร้อนรำคาญ ห่างจากความกังวลขุ่นข้องหมองใจ ถ้าไม่เช่นนั้นก็คงได้รู้ข้อธัมมะรู้จักบาปบุญคุณโทษ ถึงจะสึกหาออกมาก็คงจะเปนคนใจดีประพฤติดี ห่างจากความเปนพาลสันดานทุจริต แลได้รู้วิชาฝ่ายโลกีย์ คือ เลขหนังสือเปนต้น เปนทางเลี้ยงชีพโดยชอบธรรมสืบไป การที่บวชนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ประสงค์ต่อพระอรหัตผลก็ดี ก็ยังเปนคุณเปนประโยชน์เปนอันมาก เพราะเปนหนทางที่จะได้รับผลอันดีโดยประการต่าง ๆ สูงแลต่ำมากแลน้อย ดังเช่นว่ามาแล้ว จะว่าไม่มีคุณนั้นไม่ถูกเลย แต่คนที่บวชเพื่อลาภสักการโลกามิศ ฤๅบวชด้วยความจำใจไม่มีศรัทธาเลยเหล่านี้ ได้ผลน้อยนักฤๅไม่มีผลเลย บางทีก็กลับเปนโทษไม่ควรจะสรรเสริญเลย ไม่นับว่าเปนความประสงค์ของการบวช เว้นแต่ผู้นั้นจะกลับมีศรัทธาประพฤติตนดีได้จึงกลับเปนคุณได้

วิธีที่บวชนั้น แต่เดิมเมื่อแรก เกิดขึ้นครั้งพระพุทธเจ้านั้นบวชด้วยเอหิภิกขุ แล้วต่อมาบวชด้วยรับสรณคมน์ ภายหลังบวชด้วยญัติจัตตุตถกรรมซึ่งใช้ตลอดมาจนกาลบัดนี้ แต่การที่บวชกันอย่างไรในวิธีสามอย่างนี้ จักล่าวในที่นี้ก็จะยืดยาวนัก

ขอกล่าวแต่พิธีฝ่ายชาวบ้าน ที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ คือ เมื่อแรกจะบวชนั้นผู้ที่จะบวชต้องมีดอกไม้ธูปเทียน เที่ยวขอลาญาติพี่น้องแลผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งเปนที่พึ่งที่นับถือ นัยว่าเปนการแสดงความเคารพนับถือ แล้วเริ่มการพิธีบวช คือก่อนวันที่จะบวชวันหนึ่งนั้นในเวลาเย็นมีการทำขวัญ ถ้าเปนเจ้านายจะทรงผนวชเรียกว่าเปนนาคหลวง มีการสมโภชในพระราชมณเฑียรสถานองค์ใดองค์หนึ่ง รุ่งขึ้นไปทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการแห่บ้างไม่แห่บ้าง บางทีข้าราชการโปรดให้บวชเปนการพิเศษเปนนาคหลวงก็มี การบวชนาคหลวงของดไว้

จะขอกล่าวแต่นาคราษฎร การทำขวัญนั้นตัวผู้ที่จะบวชซึ่งเรียกว่าเจ้านาคนั้น โกนผม โกนหนวด แต่ในเวลาเย็นแล้วแล้วตัวนุ่งเยียรบับ สวมเสื้อครุยห่มเฉียงบ่าข้างหนึ่ง สอดแหวนคาดเข็มขัด มานั่งในเคหสถานที่จะทำขวัญ มีบายศรีแลแว่นเวียนเทียน พวกญาติพี่น้องมิตรสหายมานั่งล้อมพร้อมกัน ไตรบาตรแลเครื่องบริขารเครื่องสักการทั้งปวง ก็มาตั้งในที่ทำขวัญด้วย แล้วมีอาจารย์ผู้มีเสียงอันไพเราะมาว่าทำขวัญเปนทำนอง เหมือนเทศนามหาชาติหลายลาหลายแหล่ เมื่อจบลาแล้วตีฆ้องหุ่ยโห แล้วว่าต่อไป

เมื่อจบแล้วเปิดแว่นเวียนเทียน ผู้ที่ว่าทำขวัญนั้นเปิดแว่นเองบ้าง พราหมณ์เปิดแว่นบ้าง ประโคมพิณพาทย์เวียนเทียนทำขวัญเจ้านาค ในเวลาเย็นวันทำขวัญนั้นบางแห่งก็มีกระบี่กระบองมวยปล้ำเปนการฉลองบ้างไม่มีบ้าง แลบางแห่งที่ไม่ทำขวัญเลยก็มีเปนอันมาก ที่ไม่ทำเพราะความขัดสน ไม่สามารถจะทำการใหญ่ได้ก็มี ที่มีกำลังพอจะทำได้ แต่ไม่ชอบการเอิกเกริกไม่ทำก็มี ครั้นเวลารุ่งขึ้นเปนวันที่จะบวชนั้น ญาติพี่น้องฤๅผู้เปนใหญ่ซึ่งเปนเจ้าของนาคนั้น จัดการที่จะแห่นาคไปวัด กระบวนแห่นั้นก็มีต่าง ๆ กันเหลือที่จะพรรณาให้เลอียดได้ จะยกตัวอย่างแต่ที่เห็นอยู่โดยชุกชุมนั้น คือมีแตรวงอย่างฝรั่ง แต่คนเป่าไม่ใคร่แต่งเปนทหาร แต่งตัวนุ่งผ้าสวมเสื้อโดยธรรมดาเสียมาก บางทีก็ไม่มีแตร แลของไทยธรรมที่จะถวายพระสงฆ์ต่าง ๆ นั้น ก็มักจะให้คนถือเดินสองแถวแห่ไป บางทีอย่างแขงแรงถึงกับถวายไตรพระที่นั่งหัตถบาศทั้งหมด ใช้คนขี่ม้าถือไตรเรียงสองแถวดังนี้ก็มี แลมีพวกกระบี่กระบองมาก ๆ ตั้งเก้าคนสิบคนฤๅสิบห้าคนสิบหกคน ถือกระบองควงทำท่าทางต่าง ๆ ตามแต่จะสำแดงฤทธิไปได้ ในเวลาเดินกระบวนแห่ไปนั้น แลยังมีเครื่องเล่นสำคัญอิกอย่างหนึ่ง ซึ่งการแห่นาคจะเว้นไม่ได้เลย ถึงแม้ว่าเปนการแห่อย่างเลวที่สุด จะไม่มีเครื่องแห่อย่างอื่นเลย ก็คงยังมีสิ่งนั้นอยู่สิ่งหนึ่งไม่ขาดไม่ได้เลย สิ่งที่สำคัญที่ว่านี้คือเถิดเทิง พวกเถิดเทิงนั้นมีกลองยาวสามใบฤๅสี่ใบ แลมีฉาบมีฆ้องกับมีคนตีกรับมาก ๆ คนตะพายกลองนั้นแต่งตัวตามปรกติบ้าง แต่งเปนตลกถึงเขียนหน้าเขียนตาก็มีบ้าง เวลาตีนั้นก็ทำท่าทางเปนตลกต่าง ๆ จะให้เปนการขบขันการประหลาด กลองนั้นตีด้วยมือบ้าง เอาศอกกระทุ้งบ้าง บางทีสบท่าเหมาะอย่างอุกฤษฐเข้าลงนอนกลิ้งตีไป แล้วลุกขึ้นยืนตีต่อไปอิกก็มี เถิดเทิงนั้นมักอยู่ตรงหน้าเท้านาค การแห่นาคนี้ถ้าไม่มีเถิดเทิงแล้ว คนดูเกือบจะไม่รู้สึกว่าแห่นาค แลตัวเจ้านาคนั้นแต่งตัวนุ่งเยียรบับบ้างยกบ้าง สวมเสื้อครุยกับเนื้อ ๆ ชั้นเดียวบ้างมีเสื้อซับในบ้าง คาดเข็มขัดสอดแหวนสวมชฎาพอกบ้าง ชฎาเปนศีศะนาคบ้าง ตามแต่จะหาได้ อย่างต่ำที่สุดจนไม่มีอันใดสวมศีศะก็มี พาหนะที่ขี่ไปนั้นขี่ม้าเปนพื้น ขี่ม้าเทศบ้างรถบ้างเปนการพิเศษ ที่อย่างเลวที่สุดเดินไปก็มี แลถ้าเจ้านาคขี่ม้าแล้ว ผ้าไตรแลบาตรที่จะบวชนั้น ก็มีคนถือไปบนหลังม้าด้วย ผ้าไตรที่จะถวายพระอุปัชฌาย์แลคู่สวดนั้น ก็ไปบนหลังม้าโดยชุกชุม ผ้าไตรแลบาตรที่ไปบนหลังม้าก็ดีตัวเจ้านาคก็ดีย่อมมีกลดกั้น กลดนั้นใช้พระกลดเจ้านายตามแต่จะหาได้มากแลน้อย ถ้าหาได้อย่างน้อยที่สุดก็เพียงเจ้านาคกั้นคันเดียวก็มี พระกลดเจ้านายนี้ โดยปรกติคนที่มิใช่เจ้าก็เปนข้อห้ามใช้กันไม่ได้ แต่คนที่จะบวชนาคนี้กั้นได้ไม่มีข้อห้าม เทียนแลกรวยที่จะถวายพระอุปัชฌาย์แลคู่สวดนั้น มักให้คนถือเดินนำไตรแลบาตรบ้าง นำเจ้านาคบ้าง ขึ้นม้าไปบ้าง คนถือนั้นถ้าอย่างดีใช้เด็กแต่งตัวมีเกี้ยวมีนวม ถ้าอย่างต่ำลงมาก็แต่งตัวตามธรรมดา ข้างหลังเจ้านาคลงไป ก็มีเครื่องไทยธรรมที่จะถวายเจ้านาคเองบ้าง ถวายพระนั่งหัตถบาศบ้าง พวกญาติพี่น้องมิตรสหายตามไปข้างหลังบ้าง ที่เปนคนมีวาศนาก็ขี่รถขี่ม้าตามไปข้างหลังบ้าง กระบวนแห่นั้นแห่ไปจากบ้านไปยังวัดที่จะบวชนั้น แต่มักเดินอ้อมค้อมไปมาก ถึงทางที่ไปจากบ้านถึงวัดเปนทางใกล้ก็ไม่เดินไปตามทางนั้น เพราะจะไม่ได้สำแดงการที่แห่ให้เปนการเอิกเกริก จึงต้องเดินอ้อมให้ทางแห่ยาวขึ้น เมื่อถึงวัดแล้วเจ้านาคลงจากม้าเข้าไปในวัด พวกเถิดเทิงมายืนตีเถิดเทิงขวางน่าเจ้านาคอยู่ไม่ให้เข้าวัด สมมุติกันว่าเปนพระยามารมาผจญ (บางทีจะเห็นสำคัญของเถิดเทิง ตรงข้อนี้ จึงชอบมีในการบวชนาคก็เปนได้) เจ้านาคต้องให้เงินแก่พวกเถิดเทิงนั้น แล้วจึงปล่อยให้เข้าไป เมื่อเข้าวัดแล้วบางแห่งก็มีทิ้งอัฐทิ้งเงินเปนทานบ้าง บางแห่งก็ไม่มี แล้วเจ้านาคแต่งตัวลดเสื้อครุยลงเฉียงบ่า ถอดเครื่องสวมศีศะออก แล้วไปจุดธูปเทียนบูชาสิมาที่น่าพระอุโบสถ

การที่บูชาสิมานี้จะหมายเอาความอย่างไร ตรองไม่เห็นความแลไม่ได้เค้าว่ามูลเดิมจะมีมาอย่างไร เปนแต่ทำตามกันมา จะว่าบูชาพระรัตนไตรยก็ไม่แท้ เพราะส่วนที่บูชาพระรัตนไตรย ก็จะบูชาอิกในพระอุโบสถนั้นแล้ว จะว่าบูชาพระผู้เปนเจ้าฤๅผีสางเทพารักษ์ก็ไม่เปน เพราะเจ้านาคนับว่าเปนผู้ศรัทธาต่อพระรัตนไตรยแล้ว จะไปหาส่วนอื่นธุระอะไร จึงตกลงสันนิฐานว่าบูชาพระรัตนไตรยนั้นเอง เปนแต่ผิดที่เท่านั้น การที่บูชานี้ก็ไม่เปนการเสียหายอันใด เปนแต่ให้ตั้งจิตรบูชาพระรัตนไตรยแล้ว ถึงจะบูชาที่ไหนก็นัยว่าเปนอันบูชาได้ ถึงแม้ว่าจะไปบูชาในพระอุโบสถอิก จะเปนสองซ้ำไปก็ไม่เปนไร ยิ่งบูชามากยิ่งดี ครั้นบูชาสิมาแล้ว บิดามารดาญาติพี่น้องจูงเจ้านาคเดินประทักษิณ เวียนรอบพระอุโบสถสามรอบบ้างรอบหนึ่งบ้าง แต่นาคหลวงก็ไม่มีการบูชาสิมาแลไม่มีประทักษิณเลย เมื่อประทักษิณเสร็จแล้ว ผู้ที่จูงนั้นก็จูงเจ้านาคเข้าในพระอุโบสถ มีแตรสังข์พิณพาทย์กลองแขกประโคม แตรสังข์นี้ในการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การหลวงแลไม่เนื่องด้วยพระรัตนไตรยแล้ว ย่อมเปนที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดใช้ แลไม่มีของผู้ใดด้วย มีแต่ของหลวงแห่งเดียว แต่การบวชนาคนี้เกี่ยวด้วยพระรัตนไตรย จึงใช้ได้ไม่มีข้อห้าม แลการแห่นาคกับการประโคมแตรสังข์พิณพาทย์นี้ บางแห่งถึงเจ้าของนาคจะเปนผู้มีอำนาจแลทรัพย์สมบัติกำลังพาหนะมากที่ไม่ทำก็มี เปนแต่พาเจ้านาคไปวัดแล้วไปบวชกันเงียบ ๆ เหตุที่ไม่ทำนั้นเพราะเจ้าของนาคไม่ชอบการเอิกเกริกบ้าง บางทีท่านเจ้าอาวาศที่นาคจะไปบวชนั้น ไม่ชอบในการที่จะมีแห่แลประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ ถึงเจ้าของนาคจะชอบการเอิกเกริกก็ต้องผ่อนผันตามอัธยาไศรยของท่านเจ้าอาวาศ ไม่อาจที่จะมีการเอิกเกริกได้

เมื่อเจ้านาคเข้าในพระอุโบสถแล้ว ก็ไปจุดเทียนบูชาพระ เทียนที่บูชาพระนี้เปนของที่เสี่ยงทายกลาย ๆ อยู่ ว่าถ้าเจ้านาคปักเทียนตรงแล้วบวชทนอยู่ได้นาน ถ้าปักเทียนเอนแล้วบวชไม่ทน ยิ่งเอนมากยิ่งไม่ทนมาก การนี้ก็เปนแต่กล่าวกันสืบ ๆ มา ไม่เคยได้สอบสวน เมื่อบูชาพระแล้วมานั่งยังที่ควร พวกญาติพี่น้องแลมิตรสหายของเจ้านาคเอง ฤๅของผู้เปนเจ้าของนาค ก็เข้าไปประชุมพร้อมกันแน่นอยู่ในโบถ ถ้าเจ้าของนาคเปนผู้มีอำนาจมาก การที่นั่งลุกกันก็เปนการเรียบร้อย ถ้าเจ้าของนาคมีอำนาจน้อยก็มักจะโกลาหล คือพวกที่มาช่วยนั้นก็นั่งเรี่ยรายไม่เปนหมู่เปนเหล่า ยิ่งรวมกันหลายนาคหลายเจ้าของเข้า ก็ยิ่งวุ่นวายเกลื่อนกล่นปะปนกัน ทั้งศิษย์วัดก็เข้ามาพลุ่มพล่ามดูอยู่ในโบถ ถ้าวุ่นวายอื้ออึงกันนัก ท่านพระสงฆ์เจ้าอาวาศมักลุกขึ้นยืนดูกราดไปโดยรอบ เพื่อจะห้ามปรามให้เรียบร้อยมิให้วุ่นวาย เมื่อการนั่งลุกเปนที่ทางเรียบร้อยแล้ว ผู้เปนเจ้าของนาค จึงหยิบผ้าไตรส่งให้เจ้านาค ผ้าไตรที่จะบวชนั้นมักมีดอกไม้สดร้อย ผูกโครงไม้ตามรูปผ้าไตร มีอุบะห้อยรอบคลุมผ้าไตรอยู่ เมื่อจะส่งผ้าไตรให้เจ้านาคนั้น เอาดอกไม้ออกทิ้งเสีย เจ้านาคจึงถือเอาผ้าไตรนั้นเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์ขอบรรพชา วิธีขอนั้นตามลัทธิฝ่ายธรรมยุติกนิกายแลมหานิกาย คือมียืนวันทาบ้างไม่ได้ยืนบ้าง ทำนองนั้นขานอย่างไพเราะก็มี อย่างมคธก็มี ว่ากันเปนพูดตามธรรมดาก็มี ที่ขานได้เรียบร้อยก็มี ที่ประหม่าเสียงสั่นไปบ้างเสียงเบาไปบ้างก็มี มักประหม่ากันเสียมาก ด้วยเวลาพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันย่อมมีสง่าน่าเปนที่เกรงขามมาก ถึงผู้ที่ขานนาคนั้นจะรู้แน่ว่าพระสงฆ์ไม่ทำอะไรเลย ในการที่จะพลั้งพลาดไปก็ดี ก็ยังมีความครั่นคร้ามสทกสเทิ้นอยู่ด้วยอำนาจสง่าสงฆ์ บางทีผู้ที่บวชไม่ได้เรียนขานนาคเลย พระสงฆ์ต้องสอนให้ว่าไปทีละคำสองคำในเวลานั้นก็มี เมื่อขอบรรพชาแล้วออกมาห่มผ้า ถ้าเปนนาคหลวงราชบัณฑิตย์ห่มให้ ถ้าเปนนาคชาวบ้าน พวกพี่น้องพวกพ้องที่เคยบวชมาแล้วรู้จักวิธีนุ่งผ้าห่มผ้า ก็เข้าช่วยห่มให้โดยเรียบร้อยก็มี เจ้านาคห่มได้เองเพราะเคยบวชเปนสามเณรมาแต่ก่อน ฤๅเคยเห็นเคยสังเกตมาห่มได้โดยเรียบร้อยก็มี บางทีก็ห่มกันไม่ค่อยถูก คนที่ช่วยห่มทำแต่ท่าทางเปนคนเข้าใจในการห่มผ้า แต่เมื่อมาทำเข้าจริงก็ทำไม่ถูก เงอะงะงุ่มง่ามรุง ๆ รัง ๆ ไป จนพระสงฆ์ต้องลุกมาช่วยห่มก็มีโดยมาก เมื่อเวลาห่มผ้านั้นประโคมด้วย แต่ถ้าเปนนาคหลวงไม่ประโคม ครั้นห่มผ้าเสร็จแล้ว ก็เข้าไปขอศีลที่ท้ายอาศน์สงฆ์ ท่านผู้จะเปนกรรมวาจาออกมานั่งให้ศีล ครั้นรับศีลเสร็จแล้วเข้าไปขอนิสสัยต่อไป เมื่อจะขอนิสสัยนั้น เจ้าของนาคเอาบาตรประเคนให้ก่อน แล้วจึงถือเข้าไปขอนิสสัย ในบาตรนี้มักจะมีญาติลอบเอาของบรรจุไว้ในนั้น คือเครื่องรางต่าง ๆ แลว่านไพล เมื่อบวชแล้วถือกันว่าเครื่องรางนั้น เปนของขลังขึ้นเหมือนหนึ่งได้ปลุกเศก ส่วนว่านแลไพลนั้นก็เปนเหมือนหนึ่งไพลเศกว่านเศก ใช้มีคุณวุฒิแก้โรคไภยต่าง ๆ ตามแต่จะนับถือกันไป เมื่อผู้จะบวชเข้าไปขอนิสสัย ในท่ามกลางสงฆ์แล้ว พระอุปัชฌาย์แลพระกรรมวาจาให้ตะพายบาตร แล้วบอกบาตรแลจีวรแลไล่ออกมายืนห่างหัตถบาศ แล้วท่านกรรมวาจาออกมาถาม กรรมวาจานั้นสวดองค์เดียวบ้างสององค์บ้าง นาคที่จะบวชนั้นสวดทีละองค์บ้างทีละคู่บ้าง ครั้นท่านกรรมวาจาออกมาถามนอกแล้วกลับเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์แล้วสวดขึ้นแลเรียกผู้ที่จะบวชเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์ ผู้บวชเข้าไปขออุปสัมปทา แล้วพระกรรมวาจาสวดญัติจตุตถกรรมสำเร็จกิจอุปสัมปทา ในเมื่อเสร็จกิจอุปสัมปทานี้ ต้องดูเงาเหยียบชั้นฉายว่ากี่ชั้น เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติให้กำหนดวันเวลาที่บวชไว้สำหรับเมื่อเวลาพบเพื่อนพรหมจรรย์ จะได้รู้พรรษาอายุแก่อ่อน แต่ในกาลบัดนี้ใช้ดูนาฬิกาเสียมาก ที่ยังใช้ตามเดิมก็มี ที่ใช้ทั้งสองอย่างก็มี แล้วพระกรรมวาจาองค์หนึ่งบอกอนุสาสน์ ผู้ที่จะบวชกี่คนก็ฟังพร้อมกัน บอกอนุสาสน์เสร็จแล้ว ผู้บวชถวายเครื่องสักการะแก่ท่านผู้บอกอนุสาสน์อิกครั้งหนึ่ง เครื่องสักการะนั้นมีเทียนอย่างหนึ่ง กรวยอย่างหนึ่งเปนประธาน แต่การที่ทำนั้นมีประเภทต่าง ๆ เหลือที่จะพรรณา จะว่าแต่ที่จำได้ ของนาคหลวงใช้เทียนสีผึ้งปิดทองทึบฐานไม้กลึง ของราษฎรมีเทียนสีผึ้งเล่มเล็ก ๆ บ้างเทียนไขบ้าง ๕-๖ เล่ม มัดเปนกำคาดลายกระดาษทองอังกฤษ มีฉัตรทองอังกฤษปักยอด ปักบนเชิงเทียนบ้างบนปากขวดบ้าง ที่ใช้เทียนล้วนก็มี ใช้ธูปกับเทียนก็มี ธูปนั้นเปนธูปกระแจะ ใช้ประดับคาดลายทองอังกฤษเหมือนเทียน กรวยนั้นทำด้วยใบตอง เปนเหมือนหนึ่งกระทงเจิมมีฝาชีครอบทำด้วยใบตอง จีบเปนชั้น ๆ ทำนองเหมือนบายศรี ในกระทงนั้นมีเมี่ยงใบคำหนึ่ง

เมี่ยงอย่างที่ทำกันนี้เปนของสำหรับกินเปนอาหาร แต่ที่เอามาใช้ในที่นี้ดูไม่สำหรับกินเลยเพราะนิดเดียวเท่านั้น ประการหนึ่งเวลาที่บวช มักจะบวชเพนแล้วจึงเห็นว่าไม่เปนของควรกิน จะว่าเปนของบูชาก็ดูไม่นำบูชาด้วยเมี่ยงเลย เมื่อใคร่ครวญถึงเหตุที่จะใช้เมี่ยงนี้ก็พอจะนึกเดาไปได้ คือวิธีนี้จะมาจากลาวก่อน ด้วยลาวข้างเชียงใหม่เขาใช้อมเมี่ยงกันทั้งเมือง เหมือนหนึ่งกินหมาก เขาจะใช้เมี่ยงอย่างนั้นถวายพระ เมี่ยงอย่างนั้นมีใบเมียงหุ้มห่อซึ่งกระเทียมเกลือ เห็นว่าเปนยาวชีวิก กินในเวลาวิกาลได้จึงมาใช้ถวายไม่ขัด แต่เมี่ยงที่เราใช้นั้น เมี่ยงมะพร้าวไม่เปนยาวชีวิกเลย พระฉันต้องเปนวิกาลโภชน์ ถ้าจะใช้ให้ถูกกับประเทศบ้านเมืองเราแล้ว ควรใช้หมากพลูเปนการสมควร

แลกรวยเมี่ยงนี้มีถ้วยแก้วรองเปนฐาน ต่อมาบัดนี้ทำวิจิตรขึ้นไม่ใคร่ใช้ใบตอง ใช้กาบพลับพลึง บางทีก็ใช้ดอกลำเจียก เมี่ยงก็ไม่ใคร่มี กรวยอย่างนี้นับว่าเปนกรวยอย่างหนึ่ง ยังกรวยดอกไม้อิกชนิดหนึ่ง คู่กันกับกรวยที่ว่ามาแล้ว ใช้ดอกมลิดอกพุทธิชาต ร้อยเปนพวงมาไลยเถา ๕ ชั้นบ้าง ๓ ชั้นบ้างซ้อน ๆ กันแล้วมียอดพุ่มข้างปลาย มีถ้วยแก้วรองเปนฐาน กรวยดอกไม้นี้ก็ใช้กันโดยมาก. สักการะเหล่านี้มีลักษณดังว่ามาแล้ว จะรวมจัดเปนประเภทก็ลงในสี่อย่าง คือ เทียนอย่างหนึ่ง ธูปอย่างหนึ่ง กรวยสองอย่าง บางทีมีทั้งสี่อย่าง บางทีมีสามอย่าง คือยกธูปฤๅกรวยอย่างใดอย่างหนึ่งเสีย บางทีมีสองอย่าง ยกธูปกับกรวยเสียอย่างหนึ่ง เวลาที่จะถวายนั้นเปนสี่ครั้ง คือเมื่อขอบรรพชาครั้งหนึ่ง ถวายแก่พระอุปัชฌาย์ เมื่อขอศีลครั้งหนึ่ง ถวายท่านกรรมวาจาผู้ให้ศีล เมื่อขอนิสสัยนี้มักใช้เทียนตามธรรมดาไม่ใคร่ประดับประดา เรียกกันว่าเทียนนิสสัย เวลาบอกอนุสาสน์แล้วถวายท่านผู้บอกอนุสาสน์อิกครั้งหนึ่ง ถ้าพระอุปัชฌาย์บอกเองก็ไม่ต้องถวายซ้ำอิก แลยังเจ้าของนาคอิกจำพวกหนึ่ง ที่ยักใช้เทียนอุปัชฌาย์เปนเทียนมัดธูป มีรองพานแก้วแทนเทียนแลกรวยที่ว่ามาแล้วก็มี ตามแต่ความประสงค์ของคนต่าง ๆ กัน

พรรณาถึงเครื่องสักการะเพลินมานาน พึ่งรู้สึก จะขอยุติไว้ กลับกล่าวถึงการบวชต่อไปอิก ครั้นถวายเครื่องสักการะแล้ว พระภิกษุที่บวชใหม่ถวายผ้าไตร ไทยธรรม แก่พระอุปัชฌาย์พระกรรมวาจา แลพระสงฆ์ที่นั่งหัตถบาศทั่วกันแล้วออกมารับของ ผู้มีศักดิแลมีอำนาจใหญ่ถวายก่อน แล้วพวกญาติพี่น้องมิตรสหายถวายต่อไป ของที่มาถวายกันนั้นมีผ้าสบงจีวรเปนพื้น ของอื่น ๆ มีบ้าง ครั้นรับของเสร็จแล้ว พระอุปัชฌาย์ยะถา พระสงฆ์รับสัพพีอนุโมทนา พระที่บวชใหม่กรวดน้ำ เปนเสร็จการบวชกันเพียงนี้ เมื่อเสร็จการแล้วประโคมอิกครั้งหนึ่ง การต่อไปนี้ถ้าเจ้าของจะมีงานฉลองต่อไป ก็มักมีกระบี่กระบอง ใช้พวกที่ถือพลองแห่ไปบ้าง หามาใหม่บ้าง บางพวกก็ไปส่งพระที่กฏิแล้วกลับบ้าน เปนเสร็จการบวชนาคเท่านี้

เรื่องราวที่ว่ามานี้ เช่นเรื่องที่ข้าพเจ้าได้เห็นด้วยตาเองบ้าง ได้ยินคำคนอื่นเล่าบ้าง คงจะไม่หมดความที่มีที่เปนอยู่ แลการที่บวชนี้จะทำการเอิกเกริกฤๅเปนการเงียบ มีทำขวัญฤๅไม่ทำ แห่ฤๅไม่แห่ เปนต้นนี้ ก็ไม่เปนการสำคัญอันใดในที่จะติเตียนฤๅสรรเสริญว่าชั่วฤๅดี ผิดฤๅถูก เพราะใครมีกำลังทุนรอนมากก็ทำ ไม่มีกำลังก็ไม่ทำ มีข้อสำคัญอยู่แต่จิตรของผู้บวชแลผู้เจ้าของนาค ถ้าประกอบด้วยกุศลจิตรมีศรัทธาเปนต้นอยู่แล้ว ก็คงจะมีผลานิสงษ์ด้วยประการต่าง ๆ โดยไม่สงไสยเลย. ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ