ประเพณีบวชนาค

การบวชนาคนี้เป็นของมีมาช้านาน เนื่องมาจากพุทธกาล เป็นกิจฝ่ายพระพุทธสาสนา และการที่เรียกว่านาคนี้ เมื่อจะคิดค้นดูว่ามาจากอะไร เหตุใดจึงเรียกว่านาค ก็จะสันนิษฐานได้สองอย่าง ๆ หนึ่งมีนิทานเล่า ๆ กันมาอ้างว่าเป็นคำเทศนาว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่นั้น มีพระยานาคแปลงเป็นมนุษย์ มาปลอมบวชเป็นภิกษุในพระพุทธสาสนา และวิสัยนาคนั้นถึงจะแปลงตัวเป็นอะไร ๆ ก็ดี ถ้าเวลานอนหลับแล้ว ร่างกายกลับเป็นนาคตามเพศเดิม และพระยานาคที่มาปลอมบวชนี้ เวลานอนหลับก็กลับกลายเป็นนาคไป แต่หามีผู้ใดเห็นไม่ จึงได้บวชอยู่ช้านาน อยู่มาวันหนึ่งเวลาพระยานาคที่ปลอมบวชนั้น นอนหลับกายกลับเป็นนาคตามธรรมดา มีพระภิกษุไปเห็นเข้า จึงนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ครั้นพระภิกษุที่เป็นนาคนั้นมาเฝ้า จึงรับสั่งถาม ภิกษุนั้นก็กราบทูลตามความจริงว่าตนเป็นนาค มีศรัทธาอยากจะบวชจึงได้แปลงเป็นมนุษย์มาบวช พระพุทธเจ้าดำรัสว่าสัตว์ดิรัจฉานใช่วิสัยที่จะบวชในพระสาสนา ดำรัสดังนี้แล้ว ก็โปรดให้พระภิกษุนั้น ออกจากเพศบรรพชิตกลับเป็นนาคตามเดิม พระยานาคมีความอาลัยมากจึงกราบทูลว่า ถึงจะไม่ได้บวชอยู่ต่อไปก็ตามแต่วาสนา แต่ขอฝากชื่อไว้ ถ้าผู้ใดจะบวชแล้วขอให้เรียกชื่อว่านาคเสียก่อนให้เสมอไป พระพุทธเจ้าทรงรับตามคำพระยานาคแล้ว พระยานาคก็กลับไปยังพิภพของตน ตั้งแต่นั้นมาพระพุทธเจ้าจึงได้ตั้งธรรมเนียมไว้ ว่าถ้าผู้ใดจะบวชให้ชื่อนาคเสียก่อนแล้วจึงบวช จึงเป็นธรรมเนียมเรียกผู้ที่จะบวชว่านาคสืบมาจนบัดนี้ และนิทานนี้เป็นแต่เล่ากันมาว่าเป็นคำเทศนา แต่ตัวข้าพเจ้าเองไม่เคยได้ฟังพระเทศน์ และไม่เคยได้เห็นหนังสือในเรื่องนี้เลย มีเรื่องที่คล้ายคลึงอยู่เรื่องหนึ่ง แต่นิทานเอรกปัตนาคที่มีในธรรมบท เป็นเรื่องว่าด้วยพระยานาคศรัทธาในพระพุทธสาสนา แต่ความก็ไม่เหมือนกันไม่ถึงกับมาบวช เป็นแต่ถึงสรณเท่านั้น แต่เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าเป็นผู้สดับธรรมเทศนาน้อยจึงไม่เคยได้ฟังพระเทศน์ในเรื่องนี้ และเป็นผู้ดูหนังสือน้อย จึงไม่พบนิทานเรื่องนี้ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ

อีกอย่างหนึ่งในตำราบวชนาค ยกอุทาหรณ์ที่จะสวดญัตินั้นให้คำว่า นาโคคือนาค เป็นชื่อผู้บวช จะคิดไปว่าเป็นด้วยพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้ใช้อย่างนี้ตามคำพระยานาคทูลขอไว้ ก็จะคิดไปได้ แต่เห็นว่าในวิธีบรรพชาอุปสัมปทา ที่มีในคัมภีร์มหาวรรคนั้น ก็หามีนาโคไม่ จึงเห็นว่าจะเป็นท่านพระเถระองค์ใดองค์หนึ่งตั้งตำราขึ้นไว้ สำหรับท่องบ่นโดยง่าย ที่วางชื่อว่านาโคนั้นก็โดยขึ้นปากเจนใจในชื่อนั้น หรืออาศัยเหตุใดเหตุหนึ่ง แต่คงจะไม่ใช่เรื่องพระยานาคปลอมบวช เมื่อวางเป็นตำราไว้แล้วก็เป็นแบบเรียกกันสืบมา การที่เรียกคนที่จะบวชว่านาค อาศัยเหตุสองอย่างเช่นว่ามานี้

จะกล่าวถึงความประสงค์ ของการที่บวชนาคต่อไป ความประสงค์เดิมเมื่อแรกเกิดการบวชขี้นแต่ครั้งพระพุทธเจ้านั้น ก็ประสงค์เพื่อจะกระทำให้ถึงพระอรหัตผลพ้นจากกองกิเลศกองทุกข์ทั้งปวง คือเมื่อบวชแล้วก็ต้องสำรวมศีลมละกิเลศหยาบ และเจริญสมาธิมละนิวรณ์ห้า เกิดปัญญาได้บรรลุมรรคผลจนถึงที่สุดกิจของการบวชคือพระอรหัต ส่วนผู้ที่พยายามไปไม่สมประสงค์สิ้นอุสาหทำไปไม่ตลอดก็สึกออกมาเสียก็มี ครั้นพุทธกาลล่วงมานานผู้ที่จะพยายามให้ถึงที่สุดกิจบรรพชิตนั้นก็ไม่ใคร่มี และผู้ที่จะรู้ที่สุดกิจแห่งบรรพชิตนั้นก็น้อยลง ก็เห็นแต่ผลอย่างต่ำ ๆ ลงมา ผู้ที่สันดานดีก็เห็นว่าการบวชเป็นการสงบระงับกายวาจาใจ ปราศจากความกังวลเดือดร้อนรำคาญ ไม่ต้องรับภาระอันหนัก ก็บวชอยู่ได้โดยมาก เมื่อศึกษาเล่าเรียนพุทธวจนะก็ได้ทราบธรรมแล้วและปฏิบัติให้เกิดผลแก่ตนโดยประการต่าง ๆ ตามสมควร ฝ่ายผู้ที่สันดานหยาบเห็นว่าบวชอยู่ไม่ต้องทำการงาน ประกอบด้วยลาภสักการโลกามิสก็บวชอยู่ได้โดยมากเหมือนกัน และเมื่อสืบมาอีกชั้นหนึ่งนั้น รู้ตื้นๆ แต่เพียงว่าบวชได้บุญ เมื่อมีศรัทธาอยากได้บุญก็บวชแล้วและประพฤติตนตามธรรมวินัย บางพวกก็ไม่มีศรัทธา แต่ขัดบิดามารดาญาติพี่น้องไม่ได้ ก็บวชไปตามธรรมเนียม บางทีก็ประพฤติดี บางทีก็ประพฤติชั่ว ตามสันดานและอัธยาศัยของคน

การบวชนาคนั้น ผู้ที่จะบวชจะมีความประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงมิใช่ประสงค์พระอรหัตผลก็ดี ถ้าจิตต์เป็นกุศลจิตต์ประกอบด้วยศรัทธาแล้ว เมื่อบวชเข้าคงจะประพฤติแต่การที่ดี และปฏิบัติตามธรรมวินัย ก็จะได้รับผลตามสมควร ตั้งแต่อย่างสูงลงมาจนอย่างต่ำ คือเมื่อบวชเข้าแล้วก็จะได้เล่าเรียนธรรมวินัยพุทธวจนะบังเกิดความรู้ ความศรัทธาแก่กล้าขึ้น ก็จะได้บรรลุผลอย่างสูง คือโลกุตรธรรมได้บ้างดอกกระมัง ถ้าไม่บรรลุผลเช่นนั้นก็คงจะเป็นผู้มั่นในพระรัตนไตร ประพฤติกายวาจาใจเรียบร้อยละบาปบำเพ็ญบุญ สงบสงัดจากความเดือดร้อนรำคาญ ห่างจากความกังวลขุ่นข้องหมองใจ ถ้าไม่เช่นนั้นก็คงได้รู้ข้อธัมมะรู้จักบาปบุญคุณโทษ ถึงจะสึกหาออกมาก็คงจะเป็นคนใจดีประพฤติดี ห่างจากความเป็นพาลสันดานทุจจริต และได้รู้วิชาฝ่ายโลกีย์ คือเลขหนังสือเป็นต้น เป็นทางเลี้ยงชีพโดยชอบธรรมสืบไป การที่บวชนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ประสงค์ต่อพระอรหัตผลก็ดี ก็ยังเป็นคุณเป็นประโยชน์เป็นอันมาก เพราะเป็นหนทางที่จะได้รับผลอันดีโดยประการต่าง ๆ สูงและต่ำมากและน้อย ดังเช่นว่ามาแล้ว จะว่าไม่มีคุณนั้นไม่ถูกเลย แต่คนที่บวชเพื่อลาภสักการโลกามิส หรือบวชด้วยความจำใจไม่มีศรัทธาเลยเหล่านี้ ได้ผลน้อยนักหรือไม่มีผลเลย บางทีก็กลับเป็นโทษไม่ควรจะสรรเสริญเลย ไม่นับว่าเป็นความประสงค์ของการบวช เว้นแต่ผู้นั้นจะกลับมีศรัทธาประพฤติตนดีได้จึงกลับเป็นคุณได้

วิธีที่บวชนั้น แต่เดิมเมื่อแรกเกิดขึ้นครั้งพระพุทธเจ้านั้นบวชด้วยเอหิภิกขุ แล้วต่อมาบวชด้วยรับสรณคมน์ ภายหลังบวชด้วยญัติจตุตถกรรมซึ่งใช้ตลอดมาจนกาลบัดนี้ แต่การที่บวชกันอย่างไรในวิธีสามอย่างนี้ จักล่าวในที่นี้ก็จะยืดยาวนัก

ขอกล่าวแต่พิธีฝ่ายชาวบ้าน ที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ คือ เมื่อแรกจะบวชนั้นผู้ที่จะบวชต้องมีดอกไม้ธูปเทียน เที่ยวขอลาญาติพี่น้องและผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่พึ่งที่นับถือ นัยว่าเป็นการแสดงความเคารพนับถือ แล้วเริ่มการพิธีบวช คือก่อนวันที่จะบวชวันหนึ่งนั้นในเวลาเย็นมีการทำขวัญ ถ้าเป็นเจ้านายจะทรงผนวชเรียกว่าเป็นนาคหลวง มีการสมโภชในพระราชมณเฑียรสถานองค์ใดองค์หนึ่ง รุ่งขึ้นไปทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการแห่บ้างไม่แห่บ้าง บางทีข้าราชการโปรดให้บวชเป็นการพิเศษเป็นนาคหลวงก็มี การบวชนาคหลวงของดไว้

จะขอกล่าวแต่นาคราษฎร์ การทำขวัญนั้นตัวผู้ที่จะบวชซึ่งเรียกว่าเจ้านาคนั้น โกนผม โกนหนวด แต่ในเวลาเย็นแล้วแล้วตัวนุ่งเยียรบับ สวมเสื้อครุยห่มเฉียงบ่าข้างหนึ่ง สอดแหวนคาดเข็มขัด มานั่งในเคหสถานที่จะทำขวัญ มีบายศรีและแว่นเวียนเทียน พวกญาติพี่น้องมิตรสหายมานั่งล้อมพร้อมกัน ไตรบาตรและเครื่องบริขารเครื่องสักการทั้งปวง ก็มาตั้งในที่ทำขวัญด้วย แล้วมีอาจารย์ผู้มีเสียงอันไพเราะมาว่าทำขวัญเป็นทำนอง เหมือนเทศนามหาชาติหลายลาหลายแหล่ เมื่อจบลาแล้วตีฆ้องหุ่ยโห แล้วว่าต่อไป

เมื่อจบแล้วเปิดแว่นเวียนเทียน ผู้ที่ว่าทำขวัญนั้นเปิดแว่นเองบ้าง พราหมณ์เปิดแว่นบ้าง ประโคมพิณพาทย์เวียนเทียนทำขวัญเจ้านาค ในเวลาเย็นวันทำขวัญนั้นบางแห่งก็มีกระบี่กระบองมวยปล้ำเป็นการฉลองบ้างไม่มีบ้าง และบางแห่งที่ไม่ทำขวัญเลยก็มีเป็นอันมาก ที่ไม่ทำเพราะความขัดสน ไม่สามารถจะทำการใหญ่ได้ก็มี ที่มีกำลังพอจะทำได้ แต่ไม่ชอบการเอิกเกริกไม่ทำก็มี ครั้นเวลารุ่งขึ้นเป็นวันที่จะบวชนั้น ญาติพี่น้องหรือผู้เป็นใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของนาคนั้น จัดการที่จะแห่นาคไปวัด กระบวนแห่นั้นก็มีต่าง ๆ กันเหลือที่จะพรรณาให้ละเอียดได้ จะยกตัวอย่างแต่ที่เห็นอยู่โดยชุกชุมนั้น คือมีแตรวงอย่างฝรั่ง แต่คนเป่าไม่ใคร่แต่งเป็นทหาร แต่งตัวนุ่งผ้าสวมเสื้อโดยธรรมดาเสียมาก บางทีก็ไม่มีแตร และของไทยธรรมที่จะถวายพระสงฆ์ต่าง ๆ นั้น ก็มักจะให้คนถือเดินสองแถวแห่ไป บางทีอย่างแข็งแรงถึงกับถวายตรัยพระที่นั่งหัตถบาศทั้งหมด ใช้คนขี่ม้าถือไตรเรียงสองแถวดังนี้ก็มี และมีพวกกระบี่กระบองมาก ๆ ตั้งเก้าคนสิบคนหรือสิบห้าคนสิบหกคน ถือกระบองควงทำท่าทางต่าง ๆ ตามแต่จะสำแดงฤทธิไปได้ในเวลาเดินกระบวนแห่ไปนั้น และยังมีเครื่องเล่นสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งการแห่นาคจะเว้นไม่ได้เลย ถึงแม้ว่าเป็นการแห่อย่างเลวที่สุด จะไม่มีเครื่องแห่อย่างอื่นเลย ก็คงยังมีสิ่งนั้นอยู่สิ่งหนึ่งไม่ขาดไม่ได้เลย สิ่งที่สำคัญที่ว่านี้คือเถิดเทิง พวกเถิดเทิงนั้นมีกลองยาวสามใบหรือสี่ใบ และมีฉาบมีฆ้องกับมีคนตีกรับมาก ๆ คนตะพายกลองนั้นแต่งตัวตามปรกติบ้าง แต่งเป็นตลกถึงเขียนหน้าเขียนตาก็มีบ้าง เวลาตีนั้นก็ทำท่าทางเป็นตลกต่าง ๆ จะให้เป็นการขบขันการประหลาด กลองนั้นตีด้วยมือบ้าง เอาศอกกระทุ้งบ้าง บางทีสบท่าเหมาะอย่างอุกฤษฐเข้าลงนอนกลิ้งตีไป แล้วลุกขึ้นยืนตีต่อไปอีกก็มี เถิดเทิงนั้นมักอยู่ตรงหน้าเท้านาค การแห่นาคนี้ถ้าไม่มีเถิดเทิงแล้ว คนดูเกือบจะไม่รู้สึกว่าแห่นาค และตัวเจ้านาคนั้นแต่งตัวนุ่งเยียรยับบ้างยกบ้าง สวมเสื้อครุยกับเนื้อ ๆ ชั้นเดียวบ้างมีเสื้อซับในบ้าง คาดเข็มขัดสอดแหวนสวมชฎาพอกบ้าง ชฎาเป็นศีร์ษะนาคบ้าง ตามแต่จะหาได้ อย่างต่ำที่สุดจนไม่มีอันใดสวมศีร์ษะก็มี พาหนะที่ขี่ไปนั้นขี่ม้าเป็นพื้น ขี่ม้าเทศบ้างรถบ้างเป็นการพิเศษ ที่อย่างเลวที่สุดเดินไปก็มี และถ้าเจ้านาคขี่ม้าแล้ว ผ้าตรัยและบาตรที่จะบวชนั้น ก็มีคนถือไปบนหลังม้าด้วย ผ้าตรัยที่จะถวายพระอุปัชฌาย์และคู่สวดนั้น ก็ไปบนหลังม้าโดยชุกชุม ผ้าตรัยและบาตรที่ไปบนหลังม้าก็ดีตัวเจ้านาคก็ดีย่อมมีกลดกั้น กลดนั้นใช้พระกลดเจ้านายตามแต่จะหาได้มากและน้อย ถ้าหาได้อย่างน้อยที่สุดก็เพียงเจ้านาคกั้นคันเดียวก็มี พระกลดเจ้านายนี้ โดยปรกติคนที่มิใช่เจ้าก็เป็นข้อห้ามใช้กันไม่ได้ แต่คนที่จะบวชนาคนี้กั้นได้ไม่มีข้อห้าม เทียนและกรวยที่จะถวายพระอุปัชฌาย์และคู่สวดนั้น มักให้คนถือเดินนำไตรและบาตรบ้าง นำเจ้านาคบ้าง ขึ้นม้าไปบ้าง คนถือนั้นถ้าอย่างดีใช้เด็กแต่งตัวมีเกี้ยวมีนวม ถ้าอย่างต่ำลงมาก็แต่งตัวตามธรรมดา ข้างหลังเจ้านาคลงไป ก็มีเครื่องไทยธรรมที่จะถวายเจ้านาคเองบ้าง ถวายพระนั่งหัตถบาศบ้าง พวกญาติพี่น้องมิตรสหายตามไปข้างหลังบ้าง ที่เป็นคนมีวาสนาก็ขี่รถขี่ม้าตามไปข้างหลังบ้าง กระบวนแห่นั้นแห่ไปจากบ้านไปยังวัดที่จะบวชนั้น แต่มักเดินอ้อมค้อมไปมาก ถึงทางที่ไปจากบ้านถึงวัดเป็นทางใกล้ก็ไม่เดินไปตามทางนั้น เพราะจะไม่ได้สำแดงการที่แห่ให้เป็นการเอิกเกริก จึงต้องเดินอ้อมให้ทางแห่ยาวขึ้น เมื่อถึงวัดแล้วเจ้านาคลงจากม้าเข้าไปในวัด พวกเถิดเทิงมายืนตีเถิดเทิงขวางหน้าเจ้านาคอยู่ไม่ให้เข้าวัด สมมุติกันว่าเป็นพระยามารมาผจญ (บางทีจะเห็นสำคัญของเถิดเทิง ตรงข้อนี้ จึงชอบมีในการบวชนาคก็เป็นได้) เจ้านาคต้องให้เงินแก่พวกเถิดเทิงนั้น แล้วจึงปล่อยให้เข้าไป เมื่อเข้าวัดแล้วบางแห่งก็มีทิ้งอัฐทิ้งเงินเป็นทานบ้าง บางแห่งก็ไม่มี แล้วเจ้านาคแต่งตัวลดเสื้อครุยลงเฉียงบ่า ถอดเครื่องสวมศีร์ษะออก แล้วจุดธูปเทียนบูชาสีมาที่หน้าพระอุโบสถ

การที่บูชาสีมานี้จะหมายเอาความอย่างไร ตรองไม่เห็นความ และไม่ได้เค้าว่ามูลเดิมจะมีมาอย่างไร เป็นแต่ทำตามกันมา จะว่าบูชาพระรัตนตรัยก็ไม่แท้ เพราะส่วนที่บูชาพระรัตนตรัย ก็จะบูชาอีกในพระอุโบสถนั้นแล้ว จะว่าบูชาพระผู้เป็นเจ้าหรือผีสางเทพารักษ์ก็ไม่เป็น เพราะเจ้านาคนับว่าเป็นผู้ศรัทธาต่อพระรัตนตรัยแล้ว จะไปหาส่วนอื่นธุระอะไร จึงตกลงสันนิษฐานว่าบูชาพระรัตนตรัยนั้นเอง เป็นแต่ผิดที่เท่านั้น การที่บูชานี้ก็ไม่เป็นการเสียหายอันใด เป็นแต่ให้ตั้งจิตต์บูชาพระรัตนตรัยแล้ว ถึงจะบูชาที่ไหนก็นัยว่าเป็นอันบูชาได้ ถึงแม้ว่าจะไปบูชาในพระอุโบสถอีก จะเป็นสองซ้ำไปก็ไม่เป็นไร ยิ่งบูชามากยิ่งดี ครั้นบูชาสิมาแล้ว บิดามารดาญาติพี่น้องจูงเจ้านาคเดินประทักษิณ เวียนรอบพระอุโบสถสามรอบบ้างรอบหนึ่งบ้าง แต่นาคหลวงก็ไม่มีการบูชาสีมาและไม่มีประทักษิณเลย เมื่อประทักษิณเสร็จแล้ว ผู้ที่จูงนั้นก็จูงเจ้านาคเข้าในพระอุโบสถ มีแตรสังข์พิณพาทย์กลองแขกประโคม แตรสังข์นี้ในการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การหลวงและไม่เนื่องด้วยพระรัตนตรัยแล้ว ย่อมเป็นที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดใช้ และไม่มีของผู้ใดด้วย มีแต่ของหลวงแห่งเดียว แต่การบวชนาคนี้เกี่ยวด้วยพระรัตนตรัย จึงใช้ได้ไม่มีข้อห้าม และการแห่นาคกับการประโคมแตรสังข์พิณพาทย์นี้ บางแห่งถึงเจ้าของนาคจะเป็นผู้มีอำนาจและทรัพย์สมบัติกำลังพาหนะมากที่ไม่ทำก็มี เป็นแต่พาเจ้านาคไปวัดแล้วไปบวชกันเงียบ ๆ เหตุที่ไม่ทำนั้นเพราะเจ้าของนาคไม่ชอบการเอิกเกริกบ้าง บางทีท่านเจ้าอาวาศที่นาคจะไปบวชนั้น ไม่ชอบในการที่จะมีแห่และประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ ถึงเจ้าของนาคจะชอบการเอิกเกริกก็ต้องผ่อนผันตามอัธยาศัยของท่านเจ้าอาวาศ ไม่อาจที่จะมีการเอิกเกริกได้

เมื่อเจ้านาคเข้าในพระอุโบสถแล้ว ก็ไปจุดเทียนบูชาพระ เทียนที่บูชาพระนี้เป็นของที่เสี่ยงทายกลาย ๆ อยู่ ว่าถ้าเจ้านาคปักเทียนตรงแล้วบวชทนอยู่ได้นาน ถ้าปักเทียนเอนแล้วบวชไม่ทน ยิ่งเอนมากยิ่งไม่ทนมาก การนี้ก็เป็นแต่กล่าวกันสืบ ๆ มา ไม่เคยได้สอบสวน เมื่อบูชาพระแล้วมานั่งยังที่ควร พวกญาติพี่น้องและมิตรสหายของเจ้านาคเอง หรือของผู้เป็นเจ้าของนาค ก็เข้าไปประชุมพร้อมกันแน่นอยู่ในโบถ ถ้าเจ้าของนาคเป็นผู้มีอำนาจมาก การที่นั่งลุกกันก็เป็นการเรียบร้อย ถ้าเจ้าของนาคมีอำนาจน้อยก็มักจะโกลาหล คือพวกที่มาช่วยนั้นก็นั่งเรี่ยรายไม่เป็นหมู่เป็นเหล่า ยิ่งรวมกันหลายนาคหลายเจ้าของเข้า ก็ยิ่งวุ่นวายเกลื่อนกล่นปะปนกัน ทั้งศิษย์วัดก็เข้ามาพลุ่มพล่ามดูอยู่ในโบถ ถ้าวุ่นวายอื้ออึงกันนัก ท่านพระสงฆ์เจ้าอาวาศมักลุกขึ้นยืนดูกราดไปโดยรอบ เพื่อจะห้ามปรามให้เรียบร้อยมิให้วุ่นวาย เมื่อการนั่งลุกเป็นที่ทางเรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นเจ้าของนาค จึงหยิบผ้าตรัยส่งให้เจ้านาค ผ้าตรัยที่จะบวชนั้นมักมีดอกไม้สดร้อย ผูกโครงไม้ตามรูปผ้าตรัย มีอุบะห้อยรอบคลุมผ้าตรัยอยู่ เมื่อจะส่งผ้าตรัยให้เจ้านาคนั้น เอาดอกไม้ออกทิ้งเสีย เจ้านาคจึงถือเอาผ้าตรัยนั้นเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์ขอบรรพชา วิธีขอนั้นตามลัทธิฝ่ายธรรมยุติกนิกายและมหานิกาย คือมียืนวันทาบ้างไม่ได้ยืนบ้าง ทำนองนั้นขานอย่างไพเราะก็มี อย่างมคธก็มี ว่ากันเป็นพูดตามธรรมดาก็มี ที่ขานได้เรียบร้อยก็มี ที่ประหม่าเสียงสั่นไปบ้างเสียงเบาไปบ้างก็มี มักประหม่ากันเสียมาก ด้วยเวลาพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันย่อมมีสง่าน่าเป็นที่เกรงขามมาก ถึงผู้ที่ขานนาคนั้นจะรู้แน่ว่าพระสงฆ์ไม่ทำอะไรเลย ในการที่จะพลั้งพลาดไปก็ดี ก็ยังมีความครั่นคร้ามสทกสเทิ้นอยู่ด้วยอำนาจสง่าสงฆ์ บางทีผู้ที่บวชไม่ได้เรียนขานนาคเลย พระสงฆ์ต้องสอนให้ว่าไปทีละคำสองคำในเวลานั้นก็มี เมื่อขอบรรพชาแล้วออกมาห่มผ้า ถ้าเป็นนาคหลวงราชบัณฑิตย์ห่มให้ ถ้าเป็นนาคชาวบ้าน พวกพี่น้องพวกพ้องที่เคยบวชมาแล้วรู้จักวิธีนุ่งผ้าห่มผ้า ก็เข้าช่วยห่มให้โดยเรียบร้อยก็มี เจ้านาคห่มได้เองเพราะเคยบวชเป็นสามเณรมาแต่ก่อน หรือเคยเห็นเคยสังเกตมาห่มได้โดยเรียบร้อยก็มี บางทีก็ห่มกันไม่ค่อยถูก คนที่ช่วยห่มทำแต่ท่าทางเป็นคนเข้าใจในการห่มผ้า แต่เมื่อมาทำเข้าจริงก็ทำไม่ถูก เงอะงะงุ่มง่ามรุง ๆ รัง ๆ ไป จนพระสงฆ์ต้องลุกมาช่วยห่มก็มีโดยมาก เมื่อเวลาห่มผ้านั้นประโคมด้วย แต่ถ้าเป็นนาคหลวงไม่ประโคม ครั้นห่มผ้าเสร็จแล้ว ก็เข้าไปขอศีลที่ท้ายอาศน์สงฆ์ ท่านผู้จะเป็นกรรมวาจาออกมานั่งให้ศีล ครั้นรับศีลเสร็จแล้วเข้าไปขอนิสสัยต่อไป เมื่อจะขอนิสสัยนั้น เจ้าของนาคเอาบาตรประเคนให้ก่อน แล้วจึงถือเข้าไปขอนิสสัย ในบาตรนี้มักจะมีญาติลอบเอาของบรรจุไว้ในนั้น คือเครื่องรางต่าง ๆ และว่านไพล เมื่อบวชแล้วถือกันว่าเครื่องรางนั้น เป็นของขลังขึ้นเหมือนหนึ่งได้ปลุกเศก ส่วนว่านและไพลนั้นก็เป็นเหมือนหนึ่งไพลเศกว่านเศก ใช้มีคุณวฒิแก้โรคไภยต่าง ๆ ตามแต่จะนับถือกันไป เมื่อผู้จะบวชเข้าไปขอนิสสัย ในท่ามกลางสงฆ์แล้ว พระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาให้ตะพายบาตร แล้วบอกบาตรและจีวรและไล่ออกมายืนห่างหัตถบาศ แล้วท่านกรรมวาจาออกมาถาม กรรมวาจานั้นสวดองค์เดียวบ้างสององค์บ้าง นาคที่จะบวชนั้นสวดทีละองค์บ้างทีละคู่บ้าง ครั้นท่านกรรมวาจาออกมาถามนอกแล้วกลับเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์แล้วสวดขึ้นและเรียกผู้ที่จะบวชเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์ ผู้บวชเข้าไปขออุปสัมปทา แล้วพระกรรมวาจาสวดญัติจตุตถกรรมสำเร็จกิจอุปสัมปทา ในเมื่อเสร็จกิจอุปสัมปทานี้ ต้องดูเงาเหยียบชั้นฉายว่ากี่ชั้น เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติให้กำหนดวันเวลาที่บวชไว้สำหรับเมื่อเวลาพบเพื่อนพรหมจรรย์ จะได้รู้พรรษาอายุแก่อ่อน แต่ในกาลบัดนี้ใช้ดูนาฬิกาเสียมาก ที่ยังใช้ตามเดิมก็มี ที่ใช้ทั้งสองอย่างก็มี แล้วพระกรรมวาจาองค์หนึ่งบอกอนุสาสน์ ผู้ที่จะบวชกี่คนก็ฟังพร้อมกัน บอกอนุสาสน์เสร็จแล้ว ผู้บวชถวายเครื่องสักการะแก่ท่านผู้บอกอนุสาสน์อีกครั้งหนึ่ง เครื่องสักการะนั้นมีเทียนอย่างหนึ่ง กรวยอย่างหนึ่งเป็นประธาน แต่การที่ทำนั้นมีประเภทต่าง ๆ เหลือที่จะพรรณา จะว่าแต่ที่จำได้ ของนาคหลวงใช้เทียนสีผึ้งปิดทองทึบฐานไม้กลึง ของราษฎรมีเทียนสีผึ้งเล่มเล็ก ๆ บ้างเทียนไขบ้าง ๕-๖ เล่ม มัดเป็นกำคาดลายกระดาษทองอังกฤษ มีฉัตรทองอังกฤษปักยอด ปักบนเชิงเทียนบ้างบนปากขวดบ้าง ที่ใช้เทียนล้วนก็มี ใช้ธูปกับเทียนก็มี ธูปนั้นเป็นธูปกระแจะ ใช้ประดับคาดลายทองอังกฤษเหมือนเทียน กรวยนั้นทำด้วยใบตอง เป็นเหมือนหนึ่งกระทงเจิมมีฝาชีครอบทำด้วยใบตอง จีบเป็นชั้น ๆ ทำนองเหมือนบายศรี ในกระทงนั้นมีเมี่ยงใบคำหนึ่ง

เมี่ยงอย่างที่ทำกันนี้เป็นของสำหรับกินเป็นอาหาร แต่ที่เอามาใช้ในที่นี้ดูไม่สำหรับกินเลยเพราะนิดเดียวเท่านั้น ประการหนึ่งเวลาที่บวช มักจะบวชเพนแล้วจึงเห็นว่าไม่เป็นของควรกิน จะว่าเป็นของบูชาก็ดูไม่นำบูชาด้วยเมี่ยงเลย เมื่อใคร่ครวญถึงเหตุที่จะใช้เมี่ยงนี้ก็พอจะนึกเดาไปได้ คือวิธีนี้จะมาจากลาวก่อน ด้วยลาวข้างเชียงใหม่เขาใช้อมเมี่ยงกันทั้งเมือง เหมือนหนึ่งกินหมาก เขาจะใช้เมี่ยงอย่างนั้นถวายพระ เมี่ยงอย่างนั้นมีใบเมียงหุ้มห่อซึ่งกระเทียมเกลือ เห็นว่าเป็นยาวชีวิก กินในเวลาวิกาลได้จึงมาใช้ถวายไม่ขัด แต่เมี่ยงที่เราใช้นั้น เมี่ยงมะพร้าวไม่เป็นยาวชีวิกเลย พระฉันต้องเป็นวิกาลโภชน์ ถ้าจะใช้ให้ถูกกับประเทศบ้านเมืองเราแล้ว ควรใช้หมากพลูเป็นการสมควร

และกรวยเมี่ยงนี้มีถ้วยแก้วรองเป็นฐาน ต่อมาบัดนี้ทำวิจิตต์ขึ้นไม่ใคร่ใช้ใบตอง ใช้กาบพลับพลึง บางทีก็ใช้ดอกลำเจียก เมี่ยงก็ไม่ใคร่มี กรวยอย่างนี้นับว่าเป็นกรวยอย่างหนึ่ง ยังกรวยดอกไม้อีกชนิดหนึ่ง คู่กันกับกรวยที่ว่ามาแล้ว ใช้ดอกมะลิดอกพุทธิชาต ร้อยเป็นพวงมาไลยเถา ๕ ชั้นบ้าง ๓ ชั้นบ้างซ้อน ๆ กันแล้วมียอดพุ่มข้างปลาย มีถ้วยแก้วรองเป็นฐาน กรวยดอกไม้นี้ก็ใช้กันโดยมาก. สักการะเหล่านี้มีลักษณดังว่ามาแล้ว จะรวมจัดเป็นประเภทก็ลงในสี่อย่าง คือ เทียนอย่างหนึ่ง ธูปอย่างหนึ่ง กรวยสองอย่าง บางทีมีทั้งสี่อย่าง บางทีมีสามอย่าง คือยกธูปหรือกรวยอย่างใดอย่างหนึ่งเสีย บางทีมีสองอย่าง ยกธูปกับกรวยเสียอย่างหนึ่ง เวลาที่จะถวายนั้นเป็นสี่ครั้ง คือเมื่อขอบรรพชาครั้งหนึ่ง ถวายแก่พระอุปัชฌาย์ เมื่อขอศีลครั้งหนึ่ง ถวายท่านกรรมวาจาผู้ให้ศีล เมื่อขอนิสสัยนี้มักใช้เทียนตามธรรมดาไม่ใคร่ประดับประดา เรียกกันว่าเทียนนิสสัย เวลาบอกอนุสาสน์แล้วถวายท่านผู้บอกอนุสาสน์อีกครั้งหนึ่ง ถ้าพระอุปัชฌาย์บอกเองก็ไม่ต้องถวายซ้ำอีก และยังเจ้าของนาคอีกจำพวกหนึ่ง ที่ยักใช้เทียนอุปัชฌาย์เป็นเทียนมัดธูป มีรองพานแก้วแทนเทียนและกรวยที่ว่ามาแล้วก็มี ตามแต่ความประสงค์ของคนต่าง ๆ กัน

พรรณาถึงเครื่องสักการะเพลินมานาน พึ่งรู้สึก จะขอยุติไว้ กลับกล่าวถึงการบวชต่อไปอีก ครั้นถวายเครื่องสักการะแล้ว พระภิกษุที่บวชใหม่ถวายผ้าตรัย ไทยธรรม แก่พระอุปัชฌาย์พระกรรมวาจา และพระสงฆ์ที่นั่งหัตถบาศทั่วกันแล้วออกมารับของ ผู้มีศักดิและมีอำนาจใหญ่ถวายก่อน แล้วพวกญาติพี่น้องมิตรสหายถวายต่อไป ของที่มาถวายกันนั้นมีผ้าสบงจีวรเป็นพื้น ของอื่น ๆ มีบ้าง ครั้นรับของเสร็จแล้ว พระอุปัชฌาย์ยะถา พระสงฆ์รับสัพพีอนุโมทนา พระที่บวชใหม่กรวดน้ำ เป็นเสร็จการบวชกันเพียงนี้ เมื่อเสร็จการแล้วประโคมอีกครั้งหนึ่ง การต่อไปนี้ถ้าเจ้าของจะมีงานฉลองต่อไป ก็มักมีกระบี่กระบอง ใช้พวกที่ถือพลองแห่ไปบ้าง หามาใหม่บ้าง บางพวกก็ไปส่งพระที่กุฏิแล้วกลับบ้าน เป็นเสร็จการบวชนาคเท่านี้

เรื่องราวที่ว่ามานี้ เช่นเรื่องที่ข้าพเจ้าได้เห็นด้วยตาเองบ้าง ได้ยินคำคนอื่นเล่าบ้าง คงจะไม่หมดความที่มีที่เป็นอยู่ และการที่บวชนี้จะทำการเอิกเกริกหรือเป็นการเงียบ มีทำขวัญหรือไม่ทำ แห่หรือไม่แห่ เป็นต้นนี้ ก็ไม่เป็นการสำคัญอันใดในที่จะติเตียนหรือสรรเสริญว่าชั่วหรือดี ผิดหรือถูก เพราะใครมีกำลังทุนรอนมากก็ทำ ไม่มีกำลังก็ไม่ทำ มีข้อสำคัญอยู่แต่จิตต์ของผู้บวชและผู้เจ้าของนาค ถ้าประกอบด้วยกุศลจิตต์มีศรัทธาเป็นต้นอยู่แล้ว ก็คงจะมีผลานิสงส์ด้วยประการต่าง ๆ โดยไม่สงสัยเลย ๚

  1. ๑. เมื่อรวมพิมพ์คราวนี้ได้ให้ค้นหาเรื่องตามที่ทรงเล่าไว้นี้ พบในมหาขันธกคัมภีร์มหาวรรค มีเรื่องเพียงพระพุทธเจ้าให้พระยานาคออกจากเพศบรรพชิต แต่ข้อที่ว่าพระยานาคฝากชื่อนั้น ทั้งในบาลีและอรรถกถาไม่ได้กล่าวถึง น่าจะเป็นอย่างทรงอธิบายต่อลงมา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ