นักขัตตฤกษ์ของชาวฮินดู

มกรสังกรานตี ตกในวันขึ้นค่ำหนึ่งเดือนมาฆ (คือเดือน ๓) กำหนดว่าพระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีมังกร ในระยะเวลาตั้งแต่นี้ไปจนถึงพระอาทิตย์เดิรขึ้นทิศเหนือจนสุดทาง เรียกว่าอุตตรายนะ นับตั้งแต่นั้นต่อไปพระอาทิตย์เดิรลงทางใต้ถึงราศีมังกรซึ่งเป็นที่สุดทางใต้ เรียกว่าทักษณายนะ ในระยะเวลาข้างต้นนับว่าเป็นโชคดี ข้างหลังเป็นโชคร้าย ในการนักขัตตฤกษ์มกรสงกรานตีนี้ ชาวฮินดูทั้งหลายอาบน้ำชำระกายพร้อมด้วยพวกพราหมณ์ และเอาเมล็ดงามาถูตัว และเชื้อเชิญพวกพราหมณ์มาเอาหม้ออันเต็มไปด้วยเมล็ดงาและของสิ่งอื่นมอบให้แก่พราหมณ์นั้น ชาวฮินดูทั้งหลายนุ่งห่มผ้าใหม่และตกแต่งเครื่องประตับ แล้วเอาเมล็ดงาคลุกกับน้ำตาลทรายแจกจ่ายกัน

วสันตปัญจมี ตกภายในวันขึ้น ๕ ค่ำเดือนมาฆเป็นนักขัตตฤกษ์แห่งฤดูวสันตะ

รัถสัปตมี ตกในวันขึ้น ๓ ค่ำเดือนมาฆ ว่าเป็นสมัยที่พระอาทิตย์แรกขึ้นรถ

ศิวราต (หรือศิวราตรี) ตกในวันแรก ๑๔ ค่ำเดือนมาฆ ชนทั้งหลายกระทำสักการบูชาพระอิศวรรด้วยดอกไม้ต่าง ๆ ตลอดราตรี

โหลี เป็นนักขัตตฤกษ์อุทิศต่อพระนารายณ์ ตกในวันขึ้นค่ำหนึ่งเดือนผาลคุณ (คือเดือน ๔) กระทำพิธีโหนชิงช้า และเอาแป้งแดงโปรยปรายให้ถูกคนทั่วไป หนังสืออนุญาตต่าง ๆ มักจะอนุญาตในวันนั้น

คุฒี ปาฑวา ตกในวันขึ้นค่ำหนึ่งเดือนไจตระ (คือเดือน ๕) ชนทั้งหลายเอาใบกระเพรามาบริโภคเพื่อสิริสวัสดิ ในวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ ชนทั้งหลายกระทำสักการบูชาปฏิทินสำหรับปีนั้น

รามนวมี - ตกในวันขึ้น ๙ ค่ำเดือนไจตระ เป็นนักขัตตฤกษ์อุทิศถวายพระรามจันทร (คือพระรามอวตาร) เป็นวันประสูติของพระรามนั้น ในวันนี้ที่เมืองอโยธยา ชนทั้งหลายเชิญรูปพระรามองค์เล็ก ๆ ลงในเปล แล้วกระทำสักการบูชา และเอาแป้งแดงซึ่งเรียกว่า คุลาล โปรยปรายลงด้วย

วทะ สวิตฤ ตกในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนไชยษฏะ (คือเดือน ๗) ผู้หญิงทั้งหลายกระทำสักการบูชาต้นมะเดื่อ

อาษาฒี เอกาทศี ตกในวันขึ้น ๑๑ ค่ำเดือนอาษาฒ (คือเดือน ๘) เป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิของพระนารายณ์ คือเป็นเวลาที่พระองค์เริ่มประทมสินธุ์ ตั้งแต่วันนี้ตลอดไป ๔ เดือน

นาคปัญจมี ตกในวันขึ้น ๕ ค่ำเดือนศราวณ (คือเดือน ๙) เป็นเวลาที่พระกฤษณสังหารพระยานาคชื่อว่ากาลี การพิธีชนทั้งหลายได้กระทำเพื่อจะป้องกันมิให้งูมาขบกัด

นารลี ปูรณิมะ ตกในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนศราวณ กำหนดว่าสิ้นฤดูพยุห์ใหญ่ในเวลานั้น ชนทั้งหลายเอาผลมะพร้าวมาเป็นเครื่องเส้นสังเวย แล้วทิ้งลงในทะเล

โคกุล อัษฐมี ตกในวันแรม ๘ ค่ำเดือนศรารณ กล่าวกันว่าเป็นวันที่พระกฤษณอวตารไปเกิดในบ้านโคกุล ชนทั้งหลายไม่กินเข้าในวันนี้ กินแต่ผลไม้และถั่วงา ในเวลากลางคืนพวกฮินดูอาบน้ำชำระกาย แล้วนมัสการรูปพระกฤษณ และประดับรูปนั้นด้วยดอกไม้ ผู้เป็นหัวหน้าในการบูชาซึ่งอยู่ที่เทวสถาน เต้นรำทำท่าโดยอาการอันรื่นเริง และได้รับสิ่งของต่าง ๆ เป็นเครื่องสักการะ ภายหลังท่านผู้นั้นได้ทำโทษแก่ผู้ที่แลดู

ปิตริ อมาวาสยะ ตกในวันสิ้นเดือนศราวณ พวกฮินดูไปยังเทวสถานชื่อ วัลเกศวาร ในเมืองบอมเบ และอาบน้ำที่สระเรียกว่า ภังคังคะ ซึ่งกล่าวกันว่าสระนั้นพระรามไปเอาศรแทงลงในแผ่นดิน จึงบังเกิดน้ำขึ้นเป็นสระ และพิธีชื่อ สรทะ เป็นพิธีอุทิศต่อบุรพญาติ มีบิดามารดาปู่ย่าตายายเป็นต้น อันสิ้นชีพไปแล้วนั้น ได้กระทำที่ริมสระนั้น

คเณศ จาตุรถี ตกในวันขึ้น ๔ ค่ำเดือนภัทรปัท (คือเดือน ๑๐) อุทิศต่อพระคเณศ ชนทั้งหลายกระทำสักการบูชารูปพระคเณศที่ปั้นด้วยดิน แล้วเชื้อเชิญพวกพราหมณ์มาเลี้ยงดูกัน และเป็นข้อห้ามไม่ให้พวกฮินดูแลดูพระจันทรในวันนี้ และถ้าผู้ใดได้เห็นพระจันทรโดยการพลั้งพลาดเผลอไป พวกบ้านเรือนใกล้เคียงต้องแช่งด่าผู้นั้น ด้วยหวังว่าจะกระทำให้พ้นคำสาปได้

ฤษี ปัญจมี ตกในวันขึ้น ๕ ค่ำเดือนภัทรปัท เป็นนักขัตตฤกษ์อุทิศต่อพระฤษี ๗ องค์

เคารี วหัน ตกในวันขึ้น ๗ ค่ำเดือนภัทรปัท เป็นนักขัตตฤกษ์อุทิศต่อพระชายาของพระอิศวร ซึ่งเรียกว่านางเคารี พวกผู้หญิงกินขนมปั้นเป็นรูปเหมือนก้อนกรวด

วามัน ทวาทศี ตกในวันขึ้น ๑๒ ค่ำเดือนภัทรปัท เป็นนักขัตตฤกษ์ เป็นที่ระลึกถึงพระวิษณุเมื่ออวตารครั้งที่ ๕ ซึ่งอวตารลงมาเป็นคนเตี้ย เพื่อจะสังหารยักษชื่อว่าพลี

อนันตะ จตุรทศี ตกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือนภักรปัท เป็นนักขัตตฤกษ์ของพระยาอนันตนาคราชที่มีกายยาวไม่มีที่สุด

ปิตฤ ปักษ ตกในวันสิ้นเดือนภัทรปัท เป็นนักขัตตฤกษ์อุทิศต่อบุรพการี ชนทั้งหลายเอาน้ำและไฟบูชาบุรพการีทั้งหลายนั้น

ทสระ ตกในวันขึ้น ๑๐ ค่ำเดือนอัศวิน หรืออาศวยุช (คือเดือน ๑๑) เป็นนักขัตตฤกษ์เป็นที่ระลึกถึงพระนารายณ์ครั้งอวตารลงมาทรงพระนามว่า ทุรคา ได้ฆ่ายักษที่มีศีรษะเป็นกระบือมีนามว่า มเหษาสุร ให้สิ้นชีวิตในวันนี้ อีกประการหนึ่ง ในวันนี้เหมือนกัน เป็นวันที่พระรามยกพยุหโยธาทัพไปต่อรบด้วยราวณะหรือราพณาสูร คือทศกัณฐ์ เพราะเหตุฉะนี้ชนชาวมรฐะทั้งหลายถือเอาว่าวันนี้เป็นวันดี สำหรับจะเดิรทางไกลไปในที่ใดที่หนึ่ง และเป็นวันฤกษ์ดีสำหรับที่จะส่งเด็กไปเข้าโรงเรียนด้วย ชนทั้งหลายมักเอากิ่งไม้อย่างหนึ่งไปบูชาที่เทวสถาน ก่อนแต่นี้ขึ้นไป ๙ วัน คือตั้งแต่วันขึ้นค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ มาจนถึงขึ้น ๙ ค่ำนี้ เรียกว่า นวราตระ พวกพราหมณ์ได้สวดมนตร์บูชาพระนารายณ์อวตาร ซึ่งทรงพระนามว่า ทุรคา

ทีวาลี ตกในวันขึ้นค่ำหนึ่ง เดือนการตติก (คือเดือน ๑๒) เป็นนักขัตตฤกษ์อุทิศในนางกาลีหรือภวานีหรือพระนางลักษมี พวกพ่อค้านายหางและผู้ประกอบกิจด้วยการเงิน (คือพวกแบงก์) ทั้งหลาย ได้ตรวจนับเงินทองในบริษัทของตน แล้วกระทำสักการบูชาทำขวัญเงินทองนั้น และกล่าวกันว่าในวันนั้นแลพระพิษณุได้ฆ่ายักษ์ตนหนึ่ง มิได้ปรากฎว่าชื่อไร และว่าพวกสตรีทั้งหลายพากันไปเฝ้าพระพิษณุ มีโคมจุดไฟถือไปด้วย ในการที่จะให้นักขัตตฤกษ์เป็นที่ระลึกถึงการนี้ ชนทั้งหลายจึงจุดประทีปลอยลงในแม่น้ำและทะเล และตามที่ประทีปซึ่งลอยไปนั้น รุ่งโรจน์โชตนาการหรือริบหรี่หรือดับ ก็มีการทำนายดีร้ายต่าง ๆ

พลิ ประติปะทะ ก็ตกในวันขึ้นค่ำหนึ่ง เดือนการตติกเหมือนกัน พวกฮินดูเอาหยากเยื่อฝุ่นฝอยบรรจุลงในตะกร้าแล้ว ตั้งตะเกียงลงในท่ามกลาง แล้วโยนทิ้งออกไปนอกเรือน สมมตว่าให้อุปัทวอันตรายทั้งปวงออกไปจากเรือน และเชิญให้กรุงพาลีเข้ามาคุ้มครองป้องกัน

การตติก เอกาทศี ตกในวันขึ้น ๑๑ ค่ำเดือนการตติก เป็นเวลาที่พระนารายณ์ประทมสินธุ์ในเกษียรสมุทรครบ ๔ เดือนแล้วประทมตื่นในวันนี้

การตติก ปุรณีมะ ตกในวันเพ็ญเดือนการตติก เป็นที่กำหนดว่าในวันนี้พระอิศวรได้ทรงสังหารยักษ์ชื่อว่าตรีปุราสูร หรือตรีปุรำ และในวันนี้ราษฎรตั้งร้านขายของต่าง ๆ (อย่างมีงานพระบาทวัดจักรวรรดิและภูเขาทอง) ที่เทวสถาน พวกพราหมณ์พากันนมัสการพระอิศวร และซื้อขนมและตุ๊กตาแจกเด็ก ๆ ลูกหลานของตน

นักขัตตฤกษ์ฮินดูมีดังนี้ ได้ทราบตามคำบอกเล่า

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ