ความสุข

คำทั้งหลายที่กล่าวถึงความสุข คือคำให้พรมีคำว่า “ขอให้มีความสุขเทอญ” หรือ “จงเจริญสุขเทอญ” เป็นต้นก็ดี คำอุทานที่กล่าวเพราะอาศัยความโสมนัสว่า “เป็นสุขจริงหนอ” เป็นต้นก็ดี เพราะอาศัยความโทมนัสว่า “ไม่มีสุขเลยหนอ” เป็นต้นก็ดี และคำอื่น ๆ นอกจากที่ยกตัวอย่างมากล่าวนี้ บรรดาที่กล่าวถึงความสุขที่พูดกันอยู่มีเป็นอันมากก็ดี คำทั้งหลายเหล่านั้น ถึงแม้ว่าจะใช้ถ้อยคำในที่ต่าง ๆ กันไปตามความมุ่งหมายประสงค์ที่จะกล่าว ก็รวมความในคำว่าความสุข เป็นอันเดียวกันทั้งสิ้น คำว่าความสุชนี้มิใช่ภาษาของเราดอก เป็นภาษามคธและสังสกฤต แต่เราเอามาเข้าใจกันซึมซาบ ถึงไม่ได้เรียนภาษามคธและสังสกฤตก็เข้าใจคำนี้ได้ จนแทบจะไม่มีใครรู้สึกว่ามิใช่ภาษาของตน ถ้าจะว่าตามภาษาของเราก็มีคำเรียกเหมือนกันคือคำว่าสะบายนี้เอง ตรงกับคำว่าสุข และความสุขนี้มีสองประการ คือ สุขกายประการ ๑ สุขจิตต์ประการ ๑ ที่เรียกว่าสุขกายสุขจิตต์นี้ ก็เป็นภาษามคธหรือสังสกฤตมิใช่ภาษาของเราอีก ถ้าจะว่าตามภาษาของเรา สุขกายตรงกับสะบายตนคือความสะบายในตัว ไม่มีความกระวนกระวาย สุขจิตต์ตรงกับสะบายใจ คือสะบายในใจไม่มีกังวลเดือดร้อน

คำทั้งปวงมีคำให้พรเป็นต้นบรรดาที่กล่าวถึงความสุข ย่อมประสงค์ความสุขทั้งสองประการ คือสุขกายสุขจิตต์ทกล่าวมานี้ และความสุขนี้ย่อมเป็นที่ปราร์ถนาของประชุมชนทุกหมู่ทุกเหล่าทั่วหน้า ต่างกันแต่บางพวกประสงค์สุขกายมาก บางพวกประสงค์สุขจิตต์มาก บางพวกประสงค์เทียมกันทั้งสองอย่าง ผู้ที่ไม่ประสงค์ไม่มี

ก็ความสุขกายสุขจิตต์นี้ แยกออกได้เป็นอย่างละ ๒ ประเภท คือมีสุขกายสุขจิตต์เพราะประสพสิ่งที่พึ่งใคร่ประเภท ๑ มีสุขกายสุขจิตต์เพราะพ้นสิ่งที่พึงหน่ายประเภท ๑ จะยกตัวอย่างขึ้นกล่าวโดยสังเขป เหมือนหนึ่งคนหิวได้กินอาหาร คนกระหายได้ดื่มน้ำ คนหาวนอนได้ลุถึงที่นอน คนร้อนได้รับลมหรืออาบน้ำ คนหนาวได้รับไออบอุ่นหรือห่มผ้าสวมเสื้อเป็นต้น เหล่านี้นับว่าเป็นสุขกายเพราะประสพสิ่งที่พึงใคร่ คนที่เจ็บไข้อยู่แล้วและหายไข้ คนที่ต้องทรมานจองจำได้พ้นโทษ คนที่ทำการหนักอันเป็นที่เบื่อหน่ายได้หยุดการเป็นต้นเหล่านี้ นับว่าเป็นสุขกายเพราะพ้นสิ่งที่พึงหน่าย คนที่ได้ทรัพย์สินเงินทองสิ่งของ ได้รับยศศักดิ์หรือเครื่องแสดงเกียรติคุณ ได้ฟังคำยกย่องสรรเสริญ ได้พบกับญาติหรือมิตรสหายอันเป็นที่รักเป็นต้น เหล่านี้นับว่าเป็นสุขจิตต์เพราะพ้นสิ่งที่พึงหน่าย

ความสุขเหล่านี้ก็เป็นไปโดยความที่ถือมั่นเอาว่าการเช่นนั้น ๆ เป็นความสุข แล้วและยินดีรับเอาความสุขนั้น ที่จริงแท้ความสุขบรรดาที่ได้รับนั้น ก็มิได้ตั้งมั่นเที่ยงแท้ถาวรอยู่ได้ อาศัยความประพฤติให้เกิดความสุขเนือง ๆ ความสุขที่เกิดขึ้นแล้วล่วงพ้นไป ความสุขใหม่เพราะอาศัยความประพฤติก็ย่อมบังเกิดขึ้น ที่จะหมายว่าได้รับความสุขแล้ว สุขที่ได้รับนั้นจะคงทนถาวรไปได้สิ้นกาลนานนั้นก็ไม่ได้ คงจะล่วงลับไป ถึงโดยว่าจะไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อารมณ์ที่ยินดีถือว่าความสุขนั้นคงจะเสื่อมคลายหายไปไม่คงอยู่ได้ เมื่ออารมณ์ที่ยินดีไม่คงอยู่แล้วจะมีความสุขมาแต่ไหน ความสุขจะมีอยู่ได้ก็เพราะอารมณ์ที่ยินดีถือว่าความสุขนั้นแอง เพราะเหตุที่ความสุขที่เกิดขึ้นแล้วไม่ตั้งมั่นคงอยู่ได้ เมื่อผู้ใดไม่ประพฤติให้เกิดสุขขึ้นใหม่แล้ว ผู้นั้นก็จะไม่ได้รับความสุขเสมอไป เมื่อไม่ได้รับความสุขแล้วก็จะกลับได้รับอาการที่ตรงกันข้าม คือความทุกข์ ซึ่งไม่เป็นที่ปราร์ถนาของชนทั้งปวงทั่วหน้า

ก็ประพฤติอย่างไรที่จะเป็นเหตุให้ได้ความสุข พิจารณาเห็นว่าความประพฤติที่งดเว้นการบางอย่างที่คนเป็นอันมากนิยมกันว่าเป็นการชั่ว กระทำการบางอย่างที่คนมิใช่น้อยนับถือกันว่าเป็นการดี ประกอบด้วยความซื่อตรง ความฉลาด ความหมั่น ทั้งสามประการนี้เป็นที่ตั้ง เมื่อมีแต่ความซื่อตรงหรือมีแต่ความฉลาด หรือมีแต่ความหมั่น อย่างใดอย่างหนึ่งแต่อย่างเดียว ขาดไปสองอย่าง หรือมีสองอย่าง แต่ขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ครบทั้งสามอย่างแล้ว ก็ไม่อาจจะนำความสุขมาให้บริบูรณ์ดีได้ ถึงจะได้รับความสุขเพราะความประพฤตินั้น ๆ บ้าง ก็ไม่ไพบูลย์เต็มที่ ถ้าประกอบทั้งสามอย่างแล้ว คงจะได้รับความสุขแน่แท้ไม่ต้องสงสัย ข้าพเจ้าจึงหาญที่จะกล่าวว่า ความประพฤติดีที่เว้นและกระทำการบางอย่าง ประกอบด้วยความซื่อตรง ฉลาด หมั่น เป็นเหตุให้ได้ความสุข

ในเวลานี้ท่านทั้งหลายเหล่าใด ที่ได้มาประชุมพร้อมกันก็ดี ที่มิได้มาก็ดี บรรดาที่จะได้รับได้อ่านหนังสือนี้ ข้าพเจ้าแน่ใจว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้นจะมีความปราร์ถนาความสุขกายสุขจิตต์ทุกทั่วหน้าตามวิสัยธรรมดาของสามัญชน ข้าพเจ้ามีความจำนงใจที่จะให้ท่านทั้งหลายได้รับความสุขตามปรารถนา จึงกล่าวพรรณนาถึงความสุขพอเป็นมงคลพจน์ และกล่าวเหตุที่จะให้เกิดความสุขไว้ โดยสังเขป เป็นหนทางเตือนใจให้ท่านทั้งหลายประพฤติตนหาความสุขที่ต้องประการโดยทางที่ชอบธรรม

ในที่สุดนี้ข้าพเจ้าขอโอกาสที่จะได้นำเอาคำพรที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นมาอำนวยแก่ท่านทั้งหลายว่า

“ขอให้มีความสุขเทอญ จงเจริญสุขเทอญ”

----------------------------

  1. ๑. ต่อตรงนี้น่าจะกล่าวว่า “เพราะประสพสิ่งที่พึงใคร่” และควรจะมีความต่อไปอย่างน้อยว่า “คนที่ต้องจำใจอยู่กับญาติมิตรอันเกลียดกัน และหาอุบายย้ายแยกไปอยู่เสียแต่ลำพังได้ อย่างนี้นับว่าเป็นสุขจิตต์” เอาความเข้าต่อกับวรรคสุดในเรื่องจึงจะได้ความเต็ม เข้าใจว่าทรงไว้เต็มแต่ผู้เรียงพิมพ์จะเรียงตกเสีย ซึ่งมักมีบ่อย ๆ ในความที่กล่าวคล้าย ๆ กันหลายหน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ