ประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิม

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์

เจ้าจอมมารดาทับทิม ป จ. รัตนาภรณ์ ม ป ร ๕. จ ป ร ๒. ว ป ร ๒. พระสนมเอกในรัชชกาลที่ ๕ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม ปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) ขรัวยายอิ่มเป็นมารดา สกุลของท่านเป็นข้าหลวงเดิม ทั้งในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นต้นสกุลชื่อ “บุญเรือง” เป็นตำเเหน่งหลวงวัง กรมการจังหวัดสวรรคโลก เมื่อสมัยกรุงธนบุรี ได้รับราชการอยู่ในบังคับบัญชาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุพาโลก เมื่อก่อนเสวยราชย์ ตามเสด็จทำศึกสงครามเช่นรบพะม่าเมื่อครั้งอะแซหวุ่นกี้ตีเมืองพิษณุโลกเป็นต้น มีความชอบต่อพระองค์มา ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเศก จึงทรงนับหลวงวังบุญเรืองอยู่ในพวกซึ่งสมควรจะได้รับบำเหน็จ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ตั้งให้เป็นที่พระจันทราทิตย์ เจ้ากรมสนมพลเรือน ปรากฏชื่อในคำปรึกษาการพูนบำเหน็จเมื่อแรกเสวยราชย์ (พิมพ์อยู่ในหนังสือพงศาวดารรัชชกาลที่ ๑) ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาจันทราทิตย์ในรัชชกาลที่ ๑ นั้น (มีชื่อปรากฎอยู่ในหนังสือ “พระราชวิจารณ์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์) พระยาจันทราทิตย์ บุญเรือง มีบุตรชื่อเลี้ยงคน ๑ คงได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาแต่ในรัชชกาลที่ ๑ แต่ไม่ปรากฏว่าได้มียศศักดิ์อย่างใด ทั้งในรัชชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ จนถึงรัชชกาลที่ ๓ ได้เป็นที่จมื่นอินทรประพาสในกรมวังวังหน้า จมิ่นอินทราประพาส เลี้ยง มีบุตรคน ๑ ชื่อ ดิศ เกิดแต่ในรัชชกาลที่ ๑ (คือพระยาอัพกันตริกามาตย์บิดาของเจ้าจอมมารดาทับทิม) พระยาจันทราทิตย์ บุญเรือง ผู้เป็นปู่อยู่มาจนรัชชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ มีการพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระยาจันทราทิตย์นำเด็กดิศ หลานชาย เวลานั้นอายุได้ ๗ ขวบ ถวายสมโภช จึงได้เป็นมหาดเล็กรับใช้ในพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นพระราชกุมารตลอดมาจนเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ สกุลจึงเป็นข้าหลวงเดิมต่อมาอีกชั้นหนึ่ง ข้อนี้เป็นมูลซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสกุลว่า “โรจนดิศ” คำหน้ามาแต่นามเดิมของพระยาจันทราทิตย์ และคำหลังมาแต่นามเดิมของพระยาอัพภันตริกามาตย์ โดยสกุลมีเรื่องประวัติดังกล่าวมา

เจ้าจอมมารดาทับทิมเกิดในรัชชกาลที่ ๔ พออายุได้ ๖ ขวบ บิดาก็ให้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังกับเจ้าจอมมารดาเที่ยงพระสนมเอก ซึ่งเป็นพี่คนใหญ่ เป็นเหตุให้เจ้าจอมมารดาทับทิมได้รับความอบรมและศึกษาที่ในพระบรมมหาราชวังแห่งเดียวมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ข้อนี้เป็นโอกาสดีที่สุดซึ่งที่จะพึงได้ เพราะในสมัยนั้นโรงเรียนสำหรับสอนเด็กผู้หญิงอย่างตั้งขึ้นเมื่อภายหลังยังไม่มี คนทั้งหลายนับถือกันมาแต่โบราณว่า การศึกษาและอบรมสำหรับเด็กผู้หญิงไม่มีที่ไหนจะดีเสมอเหมือนที่ในพระบรมมหาราชวัง จนมีคำภาษิตซึ่งคนทั้งหลายชอบเปรียบเมื่อสรรเสริญกิริยามารยาตรหญิงสาวมัก กล่าวว่า “เหมือนผู้หญิงชาววัง” ดังนี้ วิธีการฝึกสอนเด็กหญิงที่ในพระบรมมหาราชวังตามแบบโบราณเดี๋ยวนี้เลิกสูญเสียนานแล้ว แต่ตัวข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้เคยอยู่ในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่เกิดมาจนอายุ ๑๓ ปี ได้เคยรู้เห็นแบบแผนประเพณีนั้น ซึ่งยังใช้อยู่ในรัชชกาลที่ ๔ สมัยเมื่อเจ้าจอมมารดาทับทิมศึกษานั้น แม้นับเวลาล่วงมาจนบัดนี้กว่า ๖๐ ปียังจำได้อยู่บ้าง จะลองเขียนพรรณนารักษาไว้มิให้สูญไปเสีย

อันขนบธรรมเนียมฝ่ายในพระบรมมหาราชวังกรุงรัตนโกสินทรนี้มิได้คิดตั้งขึ้นใหม่ เอาขนบธรรมเนียมในพระราชวังครั้งกรุงศรีอยุธยามาใช้เป็นแบบแผน ถึงขนบธรรมเนียมข้างฝ่ายหน้าก็เป็นเช่นเดียวกัน ข้อนี้มีจดหมายเหตุปรากฎอยู่หลายฉะบับ ว่าทั้งในสมัยกรุงธนบุรีและในรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร ได้โปรดให้ข้าราชการครั้งกรุงศรีอยุธยาซึ่งยังมีตัวเหลืออยู่ประชุมกันเป็นทำนองอย่างกรรมการ บอกขนบธรรมเนียมเก่าเอามาฟื้นตั้งเป็นแบบแผน จะว่าแต่ฉะเพาะขนบธรรมเนียมฝ่ายในพระราชวัง เมื่อถึงกรุงรัตนโกสินทรยังมีนารีที่สูงศักดิ์เคยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายคน ที่สำคัญคือเจ้าฟ้าพินทวดี พระราชธิดาพระเจ้าบรมโกษฐเป็นต้น เป็นผู้บอกแบบแผนขนบธรรมเนียมฝ่ายในพระบรมมหาราชวังที่ใช้เป็นตำราสืบมา หากจะมีแก้ไขบ้างในรัชชกาลภายหลังก็เป็นแต่รายการ ส่วนรูปโครงการณ์ยังคงอยู่อย่างเดิม ค่อยเสื่อมมาโดยลำดับเพราะแก้ไขขนบธรรมเนียมในราชสำนักให้เข้ากับการที่เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมบ้านเมือง จนประเพณีฝ่ายในพระบรมมหาราชวังอย่างเดิมเลิกสูญเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นเมื่อรัชชกาลที่ ๖

ที่เรียกว่า “ผู้หญิงชาววัง” นั้น ที่จริงมีตางกันเป็น ๓ ชั้น จะเรียกอย่างง่ายๆ ว่าชั้นสูง ชั้นกลาง และชั้นต่ำ มีฐานะและโอกาสกับทั้งการที่ศึกษาอบรมผิดกัน

ชั้นสูง คือ เจ้านายที่เป็นพระราชธิดา ประสูติและศึกษาในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงพระเจริญวัยก็ได้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในวัง บางพระองค์ได้พระราชทานอนุญาตให้เสด็จออกไปอยู่วังกับเจ้า นายพี่น้องก็มี เจ้านายพระองค์ชายที่เป็นพระราชบุตรประสูติในพระราชวัง ก็ทรงศึกษาวิชาชั้นปฐมที่ในวังจนพระชันษา ๑๓ ขวบ โสกันต์แล้วจึงเสด็จออกไปอยู่นอกวังต่างหาก ในชั้นสูงนั้นต่อลงมาถึงหม่อมเจ้าอันเกิดที่วังพระบิดา ถ้าพระบิดาสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรด ฯ รับเข้าไปเลี้ยงไว้ในพระราชวัง หรือมิฉะนั้นเจ้านายบางพระองค์ส่งหม่อมเจ้าโอรสธิดาที่ยังเยาว์เข้าศึกษาอยู่กับเจ้าพี่เจ้าน้องหญิงที่ในวังแต่เวลายังดำรงพระชนม์อยู่ก็มี ถ้าเป็นหม่อมเจ้าหญิงโตขึ้นก็มักเลยรับราชการอยู่ในวัง ถ้าเป็นชายพอชันษาได้ราว ๑๐ ขวบก็ต้องออกไปอยู่นอกวัง ในพวกเจ้านายนับว่าเป็นชาววังโดยกำเนิดพวก ๑ ต่อลงมาถึงชั้นลูกผู้ดีมีตระกูลคือ พวกราชนิกูลและธิดา ข้าราชการเป็นต้น หม่อมราชวงศ์ก็นับอยู่ในพวกนี้ เป็นชาววังด้วยถวายตัว นับอยู่ในชั้นสูงเหมือนกัน ลักษณการที่ถวายตัวเป็นชาววังนั้น ถ้าผู้ปกครองสกุลปรารถนาจะให้ลูกหลานหญิงเล่าเรียนศึกษาที่ในพระบรมมหาราชวัง ต้องหาที่สำนักหลักแหล่งฝากกับท่านผู้ใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นญาติหรือเคยนับถือกันมาแต่ก่อน แล้วส่งธิดาเข้าไปอยู่กับท่านผู้เป็นเจ้าสำนักนั้นแต่ยังเป็นเด็ก เจ้าสำนักบางแห่ง ฝึกสอนให้เองบ้าง บางแห่งส่งไปฝากแก่ท่านผู้อื่น ซึ่งชำนิชำนาญการฝึกสอนบ้าง ลักษณการฝึกสอนเด็กผู้หญิงชั้นสูงเมื่อแรกเข้าไปอยู่ในวัง เบื้องต้นฝึกหัดมารยาตรทั้งกิริยาวาจาและให้รู้จักสัมมาคารวะ ก่อน แล้วให้เรียนหนังสือและการเรือนอย่างที่เด็กจะทำได้ (ตรงกับชั้นปฐมศึกษา) รู้แล้วจึงให้เรียนชั้นสูงกว่านั้นต่อขึ้นไป (เป็นชั้นมัธยมศึกษา) คือฝึกสอนการต่าง ๆ อย่างเดียวกับชั้นต้นแต่เป็นคนสูงขึ้นไป ดังเช่นการฝึกสอนกิริยามารยาตรและสัมมาคารวะ ถึงตอนนี้เวลาท่านผู้สอนไปยังที่สมาคม มักให้ลูกศิษย์ถือหีบหมากตามหลังไปด้วย เพื่อจะให้เห็นกิริยามารยาตรและลักษณการสมาคมของท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในกิจการต่างๆ ทั้งจะได้รู้จักเพื่อนเด็กลูกผู้ดีอยู่ในวังด้วยกัน การเรือนก็สอนชั้นสูงขึ้นไป เช่นให้ทำเครื่องแต่งตัวได้เอง และเริ่มสอนเย็บปักถักร้อยทำกับข้าวของกิน ทั้งสอนให้รู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาด้วย แต่การสอนหนังสือนั้น เมื่ออ่านออกเขียนได้แล้วก็เป็นยุติเพียงนั้น การศึกษาถึงชั้นกลางที่ว่ามานี้มีข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ที่เป็นเวลาท่านผู้ใหญ่ในวังพิจารณาเลือกเด็กให้ฝึกหัดทำราชการอย่างใดโดยฉะเพาะต่อไปในภายหน้า แล้วนำถวายตัวเป็นข้าราชการฝ่ายในได้ รับพระราชทานเบี้ยหวัดแต่นั้นมา ราชการอันเป็นหน้าที่สำหรับชาววังที่เป็นชั้นสูงนั้น ถ้าว่าอย่างกว้างมีเป็น ๔ ประเภท คือ

๑) เรียนวิชาประเภท ๑ เช่นหัดเขียนหนังสือและเรียนอักษรศาสตร์ถึงชั้นแต่งโคลงฉันทกาพย์กลอน กระบวนช่างก็เรียนถึงชั้นฝีมืออย่างประณีต เช่นร้อยดอกไม้สดและปักสดึง ซึ่งไม่มีที่ไหนอื่นจะทำได้งามเหมือนที่ในวัง การพยาบาลไข้เจ็บก็ฝึกหัดในชั้นนี้ ถ้าเป็นผู้มีอุปนิสสัยชอบเรียนเลขหรือความรู้เรื่องพงศาวดารก็เริ่มเรียนในตอนนี้ เจ้านายชั้นพระราชธิดาทรงศึกษาประเภทนี้เป็นพื้น จึงมักเป็นพระอาจารินีฝึกสอนคนชั้นหลังต่อ ๆ กันมา

๒) เป็นนางพนักงานประเภท ๑ คือทำการงานต่าง ๆ ในราชสำนัก เช่นเป็นพนักงานพระภูษา พนักงานพระศรี เป็นต้น และมีการอย่างอื่นอีก หลายอย่าง หม่อมเจ้าและหม่อมราชวงศ์มักรับราชการในประเภทนี้ นอกจากนั้นก็มักเป็นผู้ดีที่เคยรับราชการแต่รัชชกาลก่อน ๆ มาจนอายุเป็นกลางคน ที่ยังเป็นสาวมิใคร่จะมี

๓) เป็นนางอยู่งานประเภท ๑ คือสำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้สอย เช่นเชิญเครื่องราชูประโภคตามเสด็จ และผลัดเวรกันประจำอยู่บนพระราชมนเทียรคอยรับสั่งเป็นต้น ล้วนเป็นสาวทั้งนั้น

๔) เป็นมโหรีหรือหัดฟ้อนรำเป็นระบำและละคร ซึ่งเรียกกันว่า “ละคร (ฝ่าย) ใน” ประเภท ๑ ใน ๒ พวกนี้มักเลือกที่มีแววฉลาดแต่อายุยังเยาว์ เพราะเป็นการยาก ต้องฝึกหัดนานจึงจะทำได้

ราชการฝ่ายในทั้ง ๔ ประเภทที่กล่าวมาก็เป็นประเพณีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา บางอย่าง เช่น มโหรี ระบำ และละครใน ดูเค้ามูลอาจจะเป็นวิชาได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ ที่ว่าดังนี้เพราะเมื่อข้าพเจ้าตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปเมืองชวา ได้เห็นเจ้านครยกยาและเจ้านครโซโลรับเสด็จ ให้มีระบำนางในและละครซึ่งราชบุตรเล่นเป็นตัวละครรำถวายทอดพระเนตร นึกพิศวงว่าระบำและละครหลวงของชวาช่างละม้ายคล้ายคลึงกับของไทยเราเสียจริง ๆ จะว่าใครเอาอย่างใครก็ไม่มีหลักฐานที่จะคิดเห็นได้ ครั้นภายหลังมาข้าพเจ้ามีกิจต้องคิดค้นเรื่องการขับรำของไทยแต่โบราณ จึงพบเค้าเงื่อนของมโหรีและระบำกับละครใน ซึ่งเคยมีมาในต่างสมัยเป็นชั้น ๆ ดังจะเขียนเรียงตำนานแทรกลงไว้ที่ตรงนี้

มโหรี เดิมเป็นเครื่องสำหรับขับกล่อมผู้อื่นให้สบายใจเมื่อเวลาจะนอน ดังมีคำขับในบทละครเรื่องอิเหนาตอนอุนากันชมสวนว่า

“พระเอยพระยอดฟ้า

จะสนิทนิทราอยู่บนที่

ทรงสดับขับไม้มโหรี

ซอสีส่งเสียงจำเรียงราย

เชิญพระบรรทมสถาพร

จะกล่าวกลอนถนอมกล่อมถวาย

ให้ไพเราะเสนาะใจสบาย

พระฤๅสายจงไสยา เอย”

ที่เรียกว่า “ขับไม้” เห็นจะเป็นเครื่องขับกล่อมอย่างเดิม มีคนเสียงว่าบทกลอนเป็นลำนำคน ๑ คนสีซอสามสายคน ๑ สีเพลงประสานเสียงเมื่อเวลาคนขับ และสีบรรเลงแต่โดยลำพังเสียงซอในระหว่างบทให้คนขับมีเวลาพัก (ทำนองเดียวกับขับเสภาส่งปี่พาทย์) และมีคนไกวบัณเฑาะว์ให้จังหวะอีกคน ๑ พวกขับไม้วง ๑ แต่มี ๓ คนดังว่ามา ที่เรียกว่า “มโหรี” เห็นจะแก้มาแต่ขับไม้ เพราะมีคนเสียงขับร้องเข้ากับซอสามสายเหมือนอย่างขับไม้ ผิดกันแต่คนเสียงใช้กรับพวงให้เป็นจังหวะไม่ต้องมีคนไกวบัณเฑาะว์ และมีเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้น ๒ อย่างสำหรับทำด้วยกันกับซอสามสายเวลาบรรเลงระหว่างบทขับ คือคนดีดกระจับปี่คน ๑ คนตีทับ (มักเรียกกันว่า “โทน”) คน ๑ มโหรีชั้นแรกมีวงละ ๔ คน ยังใช้ขับกล่อมกันมาจนในกรุงรัตนโกสินทรรัชชกาลที่ ๑ ด้วยมีใน “เพลงยาวว่าความ” ปรากฏว่าเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เวลานอนยังมีมโหรีขับกล่อม แต่ภายหลังมา น่าจะเป็นในรัชชกาลที่ ๒ หรือที่ ๓ เอาเครื่องปีพาทย์เพิ่มเข้าในมโหรี มีระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวง และ รำมนาตีเข้ากับทับ ขลุ่ย (ใช้แทนปี่) และใช้ฉิ่งให้จังหวะ เสียงมโหรีดังอึกทึกกึกก้องขึ้น ก็เลิกใช้สำหรับขับกล่อม มโหรีหลวงจึงทำแต่ในงานสมโภชและพระราชพิธีต่าง ๆ

ระบำและละครผู้หญิงซึ่งเรียกกันว่า “ละครใน” นั้น หัดแต่ลูกผู้ดีที่ถวายตัวอยู่ในพระราชวังมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สำหรับเล่นในการพระราชพิธี เช่นบวงสรวงและสมโภชเป็นต้น มีพระราชบัญญัติห้ามมิให้ผู้อื่นนอกจากพระเจ้าแผ่นดินและพระมหาอุปราชหัดระบำและละครผู้หญิง แต่คำที่เรียกชื่อว่า “ละคร” ชวนให้คนเข้าใจผิดสำคัญว่าเป็นอย่างเดียวกันกับละครที่ราษฎรเล่นเป็นอาชีพในพื้นเมือง จึงเพิ่มคำเรียกให้ผิดกันว่า “ละครนอก” หมายความว่าละครนอกวัง และ “ละครใน” หมายความว่า ละครในวัง ที่จริงละครนอกกับละครในกระบวนเล่นเป็นคนละอย่างต่างกันทีเดียว “ละครนอก” เล่นให้คนดูสนุกสนาน แต่ละครในสำหรับเล่นในพระราชพิธีทางไสยศาสตร์ เล่นแต่เรื่องรามเกียรติ เฉลิมเกียรติพระนารายณ์ เรื่อง ๑ กับเรื่อง มหาภารตะ (ไทยเราเรียกว่าเรื่องอุณรุธ) เฉลิมเกียรติพระอิศวร เรื่อง ๑ ทำนองเดียวกับเล่น “แสดงตำนาน” (พวกชาวอินเดียยังเล่นทั้ง ๒ เรื่องนั้นอยู่จนบัดนี้) ต่อมาในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบรมโกษฐโปรดเรื่องอิเหนาซึ่งได้มาจากเมืองชวา ตรัสสั่งให้ละครในเล่นเพิ่มขึ้นสำหรับการบำเรออีกเรื่องหนึ่ง มีกล่าวในคำฉันท “บุรโณวาท” ซึ่งมหานากวัดท่าทรายแต่งในรัชชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ พรรณนาว่าด้วยการมหรสพ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสมโภชพระพุทธบาท ว่า

“ฝ่ายฟ้อนละครใน บริรักษจักรี
โรงริมคิรีมี กลลับบ่แลชาย
ล้วนสรรสกรรจ์นาง อรอ่อนลอออาย
ใครยลบ่อยากวาย จิตตเพ้อมะเมอฝัน
เล่นเรื่องระเด่นได้ บุษบาตุนาหงัน
พาพักคูหาบรร- พตร่วมฤดีโฉม”

ละครในเล่นแต่ ๓ เรื่องที่ว่ามาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทรรัชชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงบำรุงวิชาฟ้อนรำ จึงทรงพระราชนิพนธ์บทและโปรดให้หัดละครในเล่นเรื่องต่างๆ ที่ “ละครนอก” เล่นเพิ่มขึ้นอีก ๖ เรื่อง

ระบำนั้นชั้นเดิมเป็นแต่การฟ้อนรำบวงสรวงหรือแสดงความโสมนัศ ไม่ได้เล่นเรื่องอย่างละคร พิเคราะห์ดูอาจจะมีมาแต่สมัยเมื่อถือกันเป็นประเพณี ว่าผู้ดีทุกคนทั้งที่เป็นผู้ชายและเป็นผู้หญิงต้องหัดฟ้อนรำเป็นหลักสูตรอย่างหนึ่งในการศึกษา และมีการพิธีบางอย่าง ซึ่งเจ้านายชายหญิงนับแต่เจ้าผู้ครองเมือง ต้องออกฟ้อนรำในที่ประชุมชนให้เป็นสิริ ข้าพเจ้าได้เคยเห็นพิธีเช่นนั้นเมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในรัชชกาลที่ ๕ ขึ้นไปตรวจราชการมณฑลพายัพครั้งแรกตั้งแต่ยังไม่มีทางรถไฟ ในมณฑลพายัพเขายังถือประเพณีฟ้อนรำอย่างโบราณอยู่ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงเมืองนครลำปาง เขาจัดรับเหมือนอย่างรับเจ้าผู้ครองนครแรกเข้าเมือง คือตั้งพลับพลาแรมรับห่างเมืองสัก ๑๐๐ เส้น ถึงวันจะเข้าเมืองเวลาเช้าเจ้านายผู้ชายทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยแต่งเต็มยศขี่ช้างออกจากเมืองมากับกระบวนที่จะแห่รับเข้าเมือง พวกเราก็แต่งเต็มยศคอยรับอยู่ เมื่อกระบวนแห่มาถึงใกล้ที่ตั้งพลับพลา พวกเจ้านายลงจากคอช้างแยกกันเป็น ๒ แถวมีกลดคันยาวกันทุกคน พากันเดินตามคนเชิญ พานดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะนำหน้ามา พอเข้าบริเวณพลับพลา เจ้านายทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยก็พากันฟ้อนรำเป็นคู่ ๆ เข้ามาหาข้าพเจ้า ดูงามสง่าน่าพิศวง ผู้ที่รู้ประเพณีเขากระซิบบอกข้าพเจ้า ว่าข้าพเจ้าควรจะฟ้อนรำออกไปรับจึงจะถูกธรรมเนียม แต่ขัดข้องด้วยข้าพเจ้าไม่เคยหัดรำนึกขวยใจไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ขณะนั้น พระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพอยในเวลานั้น รับอาสาฟ้อนรำออกไปรับแทนตัวข้าพเจ้าก็เป็นแล้วกันไป ครั้นไปถึงเมืองลำพูนเขาว่าจะจัดรับอย่างพระเวสสันดรกลับคืนเข้าเมือง คือตั้งราชวัฏิฉัตรธง และมีมหรสพรับรายทาง ได้เห็นเขาจัดเด็กผู้หญิงพวกลูกผู้ดีมายืนเรียงฟ้อนรำรับเป็นระยะไป เห็นจะหัดกันมาแต่ยังเด็กจึงรำได้งดงาม แต่ที่เมืองเชียงใหม่เวลานั้น พระเจ้าอินทรวิชานนท์เพิ่งถึงพิราลัย จัดแต่กระบวนแห่มารับมิได้มีการฟ้อนรำ ตั้งแต่ครั้งนั้น ก็ไม่ได้ยินว่ามีการฟ้อนรำอย่างใหญ่รับใครอีก โดยฉะเพาะเมื่อมีทางรถไฟแล้ว รถไฟเข้าไปถึงเมืองก็รับกันเพียงสถานี มาจนถึงรัชชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลพายัพ พระราชชายา เจ้าดารารัศมีชักชวนเจ้านายมณฑลพายัพทั้งผู้ชายและผู้หญิงให้ฟ้อนรำรับเสด็จ เพื่อจะ ได้ทอดพระเนตรเห็นประเพณีโบราณเมื่อวันสมโภชณเมืองเชียงใหม่ วันนั้นมีกระบวนต่าง ๆ ของพวกชาวเชียงใหม่ทุกชาติทุกภาษาแห่นำหน้าแล้วถึงกระบวนบายศรี มีปี่พาทย์นำหน้า พวกเจ้านายผู้ชายเดินตามบายศรีที่สำหรับสมโภชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีเจ้านครเชียงใหม่ เจ้านครน่าน และเจ้านครลำพูน เป็นหัวหน้า ต่อลงมาถึงเจ้านายชั้นรอง รวมกันกว่า ๓๐ คน แล้วแต่งตัวนุ่งผ้าสมปักลาย ใส่เสื้อเยียรบับคาดสำรด ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เดินเป็นคู่ ๆ อยู่ข้างหลังบายศรี พอเข้าในบริเวณพลับพลา ก็พร้อมกันยกมือขึ้นถวายบังคม แล้วต่างรำฟ้อนตรงเข้าไปเฝ้า พระราชชายาหัดหม่อมเจ้าหญิงเล็ก ๆ ในกรมพระกำแพงเพ็ชร ซึ่งท่านเลี้ยง ๒ องค์ให้ฟ้อนออกไปรับต่างพระองค์ ถึงกระบวนบายศรีสำหรับสมโภชสมเด็จพระบรมราชินี พวกเจ้านายผู้หญิงก็เดินตามเป็นคู่ ๆ และรำฟ้อนเข้าไปเฝ้าอย่างเดียวกัน พวกคนดูทั้งไทยและฝรั่งที่ขึ้นไปจากกรุงเทพ ฯ และชาวเมืองนั้นพากันพิศวง ออกปากว่าสง่างามอย่างแปลกดูน่าชมเป็นอย่างยิ่ง การรำฟ้อนอย่างใหญ่ตามประเพณีโบราณในมณฑลพายัพเห็นจะมีเป็นที่สุดเมื่องานสมโภชครั้งนั้น ที่เอาเรื่องเจ้านายฟ้อนในมณฑลพายัพมาเล่าแทรกลงตรงนี้ เพื่อจะชี้ชวนให้เห็นว่าการรำฟ้อนเช่นนั้นเป็นประเพณีของไทยมาแต่โบราณ และคงเคยมีลงมาถึงกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือเก่ายังปรากฏว่า ผู้ดีแม้จนเป็นเจ้านายก็ชอบฟ้อนรำ เช่นในบทละครเรื่องอิเหนาตอนท้าวดาหาใช้บน เมื่อนางบุษบาเล่นธารแล้ว มีบทนางบุษบาว่า

“ชวนฝูงอนงค์นางรำฟ้อน

ทอดกรกรีดกรายซ้ายขวา”

และมีบทท้าวดาหาสั่งอิเหนากับพวกเจ้าชายว่า

“จงชวนกันขับรำให้สำราญ

ทำสักการเทวาในป่าใหญ่”

บทที่ยกมากล่าวนี้ส่อให้เห็นว่าผู้ดีทั้งชายหญิง ยังหัดฟ้อนรำมาจนสมัยกรุงศรีอยุธยา เพิ่งมาเลิกหัดฟ้อนรำในหลักสูตรสาธารณศึกษาต่อชั้นหลัง จะเป็นแต่เมื่อใดหาทราบไม่ ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ยังฝึกหัดฟ้อนรำอยู่แต่ฉะเพาะในวิชาบางอย่าง ส่วนผู้ชายเมื่อศึกษายุทธศาสตร์ ต้องหัดรำกระบี่กระบอง และศึกษาวิชาคชศาสตร์ก็ต้องหัดรำพัดชาและรำขอช้างเป็นต้น ข้อนี้มีเรื่องเกร็ดจะเล่าแทรกลงเพื่อรักษาไว้มิให้สูญไปเสีย คือเมื่อรัชชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงฝึกหัดแต่รำกระบี่กระบอง เพราะชันษายังไม่ถึงขนาดที่จะทรงศึกษาวิชาคชศาสตร์ จนเสวยราชย์แล้วจึงได้ทรงศึกษาวิชานั้นต่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นหมอเฒ่าอาจครอบ ให้กรรมสิทธิได้ตามตารา เวลานั้นข้าพเจ้ายังเป็นเด็กอยู่แต่พอจำได้ว่า ปลูกโรงพิธีที่ฝึกหัดคชกรรมในสนามตรงหน้าศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้ มีม่านบังตารอบโรงพิธี ในโรงนั้นนอกจากที่บูชาเทวรูปและเครื่องใช้ในคชศาสตร์ เช่นเชือกบาศเป็นต้น ทำรูปหุ่นเท่าตัวช้างเพียงท้อง สำหรับเสด็จขึ้นประทับบนคอหัดใช้ข้อบังคับช้าง และต้องทรงหัดรำตามแบบในตาราคชศาสตร์ เจ้าพี่ที่ท่านทรงพระเจริญทันได้ฝึกหัดตามเสด็จ ตรัสเล่าให้ฟัง ว่าในตำราคชศาสตร์มีแบบรำหลายอย่าง เป็นต้นรำพัดชา จนกระทั่งรำชอช้างเป็นกระบวนต่าง ๆ เช่นว่าเย้ยข้าศึกเมื่อชนช้างชะนะ และรำบวงสรวงเป็นต้น เมื่อทรงฝึกหัดสำเร็จแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นพระบาท ดูเหมือนเมื่อปีวอก ๒๔๑๕ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาปราบ ฯ ทรงจัดกระบวนเสด็จครั้งนั้นให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงคอช้าง พระยาเพทราชา (เอี่ยม) เป็นควาญ เสด็จขึ้นพระพุทธบาทอย่างราชประเพณีโบราณ เมื่อเสด็จไปถึงลานพระพุทธบาท ต้องทรงรำขอบูชาต่อหน้าธารกำนันตามแบบ แต่ทางฝ่ายผู้หญิงยังมีแต่ประเพณีที่หัดนางในสำหรับรำฟ้อนเป็นระบำและละครใน ระบำก็เปลี่ยนแปลงให้เล่นเป็นอย่างละคร เอาเรื่องนางเมขลากับรามสูรในรามเกียรติมาประสม ระบำก็กลายเป็นละครไป (สันนิษฐานว่า ตั้งแต่ในรัชชกาลที่ ๒) แต่คงเรียกว่าระบำ สำหรับเล่นเบิกโรงละคร ใน ระบำแบบเดิมก็เลยเลิกสูญไป

มูลที่มีละครใน พิเคราะห์ดูเหมือนว่าพวกพราหมณ์จะพาตำราเข้ามาจากเมืองเขมรด้วยกันกับระบำบวงสรวงและแบบพิธีไสยศาสตร์ต่าง ๆ เมื่อครั้งไทยตีได้เมืองเขมรในสมัยกรุงศรีอยุธยา ข้าพเจ้าไปเมืองเขมรได้สังเกตดูตามเทวสถาน ที่เรียกกันว่าปราสาทหินเช่นนครวัดเป็นต้น มีชาลาทำไว้สำหรับรำบวงสรวง คือ “ระบำ” ทุกแห่ง เรื่องรามเกียรติ์ และมหาภารตะ ก็ชอบจำหลักเป็นภาพเครื่องประดับไว้ในเทวสถาน คงชอบเล่นแสดงตำนานยอพระเกียรติพระเป็นเจ้าอย่างเช่นพวกชาวอินเดียยังเล่นนั้นเนือง ๆ เมื่อไทยได้ตำราพิธีพราหมณ์มาทำตามในประเทศนี้ จึงให้หัดระบำและโขนขึ้น สำหรับเล่นเฉลิมเกียรติพระเป็นเจ้าให้เกิดสวัสดิมงคล เดิมหัดแต่ผู้ชายชั้นผู้ดีที่เป็นตำรวจและมหาดเล็ก ดังปรากฏในรายการพระราชพิธีอินทราภิเศกในกฎมนเทียรบาลเก่า (โขนหลวงก็ยังเป็นมหาดเล็กอยู่จนทุกวันนี้) ต่อมา (จะเป็นในรัชชกาลไหนยังค้นไม่พบหลักฐาน) จึงโปรดให้ถ่ายแบบโขนและระบำเข้าไปหัดนางใน เอาวิธีฟ้อนรำอย่างโบราณของไทยมาดัดแปลงใช้เป็นแบบรำระบำและละครใน สำหรับเล่นในการพิธีและบำเรอในพระราชฐานสืบมา วินิจฉัยตำนานระบำละครใน เห็นว่าจะปืนดังว่ามานี้ จึงมีได้แต่ของหลวงมาจนในรัชชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดพระราชทาน อนุญาตให้ผู้อื่นมีละครผู้หญิงได้ ก็มีละครและระบำผู้หญิงเล่นกันแพร่หลายสืบมา

บรรดาผู้หญิงชาววัง ชั้นที่ถวายตัวทำราชการ นอกจากที่เป็นเจ้าจอมมารดาพระเจ้าลูกเธอ ถ้าใครไม่สมัครจะอยู่เป็นข้าราชการฝ่ายใน แม้เป็นเจ้าจอม ก็ทูลลาออกได้ตามใจสมัครไม่ห้ามปราม แต่สังเกตดูเหมือนที่ทูลลาออกจะมีน้อย และมักทูลลาออกเมื่อเปลี่ยนรัชชกาล และมักอยู่ในชั้นที่ยังเป็นสาว พวกที่อยู่ในวังมานานจนอายุถึงกลางคนแล้วมักสมัครทำราชการอยู่ในวังต่อไปจนตลอดอายุ เพราะอยู่ในวังได้รับเบี้ยหวัด และมีที่อยู่เป็นสุขสบายไม่ต้องเสี่ยงภัยในความลำบากต่าง ๆ เหมือนออกไปอยู่นอกวัง อีกประการ ๑ ตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการฝ่ายในก็มีหลายชั้นและหลายอย่าง แม้อายุเข้าขนาดกลางคน ที่เป็นเจ้าจอมก็รับราชการตามตำแหน่งเจ้าจอมไปจนตลอดรัชชกาล ต่อมาในรัชชกาลหลังก็มักจะได้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในวัง บางคนที่มีความสามารถรอบรู้ขนบธรรมเนียมในพระราชวังก็ได้เป็นตำแหน่ง “ท้าวนาง” เหมือนอย่างเป็นขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายในได้ว่ากล่าวชาววัง และรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชวังสืบมา ที่ไม่ได้เป็นถึงชั้นท้าวนาง ถ้าเคยเป็นเจ้าจอมมาในรัชชกาลก่อนๆ ก็เป็น “เจ้าจอมเถ้าแก่” สำหรับฝึกหัดนางในชั้นหลัง ที่มิได้เป็นเจ้าจอมมาในรัชชกาลก่อน ๆ ก็เป็นแต่ “เถ้าแก่” สำหรับควบคุมนางในเวลาออกไปนอกวัง และเป็นผู้ออกไปสั่งกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายข้างฝ่ายหน้า แม้ที่เป็นพนักงานต่าง ๆ เมื่ออายุเข้าเขตต์ชราก็อาจจะได้รับตำแหน่งเป็น “ผู้รับสั่ง” สำหรับบอกขานราชการที่มีพระราชดำรัสสั่ง มิฉะนั้นก็คงเป็นพนักงานต่อมาจนตลอดอายุ

ส่วนเจ้าจอมมารดานั้น ถ้ามีพระเจ้าลูกเธอเป็นพระองค์ชาย เมื่อลูกเธอเสด็จออกไปอยู่วังต่างหากแล้ว พระราชทานอนุญาตให้เจ้าจอมมารดาออกไปอยู่ช่วยควบคุมดูแลการรั้ววังของพระโอรสได้เป็นครั้งเป็นคราว เมื่อล่วงรัชชกาลนั้นก็เลยอยู่กับพระโอรสหรือหม่อมเจ้าที่เป็นนัดดาต่อไปจนตลอดอายุ เจ้าจอมมารดาที่มีพระเจ้าลูกเธอแต่พระองค์หญิง หรือพระเจ้าลูกเธอที่มีสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์ ที่อยู่ในพระราชวังต่อมาจนตลอดอายุก็มี ที่ออกไปอยู่นอกวังกับญาติในเวลาเมื่อแก่ชราก็มี ถ้าอยู่ในวังถึงรัชชกาลหลัง ๆ ได้เป็นตำแหน่งท้าวนางผู้ใหญ่ก็มี เป็นแต่เจ้าสำนักฝึกสอนพวกชาววังชั้นหลังก็มี ที่เคยเป็นละครในเมื่อก่อนเป็นเจ้าจอมมารดาก็มักได้เป็นอาจาริน ฝึกหัดละครหลวงรุ่นหลังรักษาวิชาฟ้อนรำสืบกันมา บาง คนถึงมีชื่อเสียงเลื่องลือ เช่นเจ้าจอมมารดาแย้มอิเหนา และเจ้าจอมมารดาลูกจันท์นาง ซึ่งเคยเป็นละครเมื่อรัชชกาลที่ ๒ เป็นต้น

หญิงชาววังชั้นกลางนั้นไม่ได้ถวายตัวทำราชการมักเป็นลูกคฤหบดี ผู้ปกครองปรารถนาจะให้ได้รับความอบรมและศึกษาอย่างชาววัง จึงส่งเข้าไปถวายตัวเป็น “ข้าหลวง” อยู่กับเจ้านายพระองค์หญิง หรืออยู่กับท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่ในพระราชวังแต่ยังเด็ก รับใช้สอยและศึกษาอยู่จนสำเร็จการศึกษาแล้ว พอเป็นสาวก็ลากลับออกไปมีเหย้าเรือนตามฐานะของสกุล แต่บางคนชอบอยู่ในวังเลยอยู่ต่อไปจนแก่ก็มี บางทีข้าราชการที่ถวายลูกหญิงทำราชการฝ่ายในคนหนึ่งหรือสองคน แล้วส่งลูกผู้หญิงที่เป็นน้องเข้าไปอยู่ในวังกับพี่สาว เพื่อประโยชน์การศึกษา แล้วให้กลับออกไปไม่ถวายตัวทำราชการก็มี ยังมีผู้หญิงชาววังอีกพวก ๆ ซึ่งควรนับว่าอยู่ในชั้นกลาง คือพวกพนักงานที่ไม่ได้ถวายตัว เช่นพวกพนักงานกลางสำหรับเชิญเครื่องเสวยจากห้องเครื่อง ขึ้นไปส่งถึงพระราชมนเทียรเป็นต้น พวกทนายเรือนและพวกจ่าโขลนซึ่งมักขึ้นจากชาววังชั้นต่ำ (ซึ่งจะพรรณนาต่อไปข้างหน้า) เมื่ออายุเป็นกลางคน ทำราชการดีมีความสามารถก็ได้เป็นตำแหน่งนั้น ๆ ได้เบี้ยหวัด นับเป็นข้าราชการฝ่ายใน หน้าที่พวกทนายเรือนสำหรับนำคำสั่งกิจการไปบอกตามตำหนัก และเรือนข้าราชการฝ่ายใน และเป็นพนักงานคุมผู้ชาย เช่นหมอเป็นต้น เข้าไปในวัง (แต่เจ้านายเถ้าแก่เป็นผู้ควบคุม) พวกจ่าโขลนนั้นเป็นพนักงานดูแลบังคับบัญชาพวกโขลนรักษาพระราชวัง กับทั้งผู้หญิงชาววังทีมิได้เป็นข้าราชการด้วย

พวกชาววังชั้นต่ำนั้น พวก ๑ เรียกว่า “โขลน” เป็นลูกหมู่คนหลวง (ผู้ชายเรียกว่า “ไพร่หลวง”) ตามกฎหมายเก่า เกณฑ์ให้ต้องผลัดเปลี่ยนเป็นเวรกันเข้าไปรับราชการในพระราชวังตั้งแต่รุ่นสาว (เพิ่งเลิกการเกณฑ์เปลี่ยนเป็นจ้างคนตามใจสมัคร เมื่อรัชชกาลที่ ๕) มีหน้าที่สำหรับรักษาประตูวังและรับใช้เช่นกรรมกรในการงานต่าง ๆ แต่จะมีลูกผัวได้ไม่ห้ามปราม อีกพวก ๑ เป็นคนรับใช้ของชั้นผู้ดีที่อยู่ในวัง พวกชั้นที่ ๓ นี้ ถ้าจะว่าเป็นชาววัง ก็แต่ด้วยอยู่ในวังเท่านั้น ลักษณะชาววังตามที่ข้าพเจ้าจำได้เป็นดังพรรณนามา

จะพรรณนาว่าด้วยประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิม ต่อไป แรกท่านเข้าไปอยู่ในวังเมื่ออายุได้ ๖ ขวบนั้น เจ้าจอมมารดาเที่ยงฝากให้คุณท้าววรคณานันท์ (หุ่น) ฝึกสอน ด้วยท่านเคยเป็นเจ้าจอมละคร ในรัชชกาลที่ ๒ แล้วได้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในพระราชวังในรัชชกาลหลังต่อ ๆ มา และเป็นเจ้าสำนักแห่งหนึ่ง ซึ่งนับถือกันในสมัยนั้นว่าฝึกหัดเด็กดี การที่เจ้าจอมมารดาทับทิมไปอยู่กับคุณท้าววรคณานันท์ (หุ่น) นั้น ตรงกับอย่างเป็น “ลูกศิษย์” เพราะท่านรับไปเลี้ยงดูเหมือนกับเป็นลูกของท่าน มิใช่สักแต่ว่าฝึกสอนตามเวลา อย่างเช่นครูโรงเรียน ท่านให้อยู่กินด้วยกันกับท่าน และฝึกหัดสั่งสอนตั้งแต่ชั้นต้นตามระเบียบที่กล่าวมาแล้ว แต่เจ้าจอมมารดาทับทิมได้ถวายตัวแต่ยังเป็นเด็กอยู่ในชั้นปฐมศึกษา เพราะบิดาของท่านเป็นข้าหลวงเดิม และมีเหตุอีกอย่างหนึ่ง ด้วยประสบเวลาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้หัดละครในรุ่นเล็กขึ้นใหม่ หนุนละครชั้นใหญ่ซึ่งบกพร่องลง ด้วยเป็นเจ้าจอมมารดาไปบ้าง หรือล้มตายหายจากไปเสียบ้าง โดยกระแสรับส่งนั้น ท่านผู้ใหญ่ในพระราชวังและท่านอาจารินในการฟ้อนรำ สังเกตเห็นเจ้าจอมมารดาทับทิมมีแววฉลาด จึงแนะนำให้รับราชการเป็นละครหลวง เจ้าจอมมารดาเที่ยงก็เห็นชอบด้วย เพราะน้องของท่านที่เป็นพี่เจ้าจอมมารดาทับทิม แม้ที่เป็นเจ้าจอมมารดา ก็เคยรับราชการเป็นละครหลวงมาแล้วหลายคน เจ้าจอมมารดาทับทิมจึงได้ถวายตัวเป็นละครหลวงแต่ในรัชชกาลที่ ๔ ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่เจ้าจอมมารดาทับทิมได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ม ป ร. เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะท่านได้ถวายตัวเป็นข้าราชการมาแต่ในรัชชกาลที่ ๔ ท่านผู้ใหญ่เลือกให้เจ้าจอมมารดาทับทิมหัดเป็นนาง ได้ขึ้นครูต่อเจ้าจอมมารดาลูกจันท์รัชชกาลที่ ๒ แล้วเจ้าจอมอรุ่นบุษบาในรัชชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นหลานคุณท้าววรคณานนท์ฝึกหัดให้ต่อมา

การที่ท่านผู้ใหญ่ในวังเลือกละครหลวง จะมีตำราอย่างไรเป็นที่สังเกตข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่พิเคราะห์ดูที่ท่านเลือกเจ้าจอมมารดาทับทิม เมื่อยังเป็นเด็กให้เป็นละครหลวงนั้นน่าชมว่าเลือกถูก พอยุติว่าจะเป็นละคร เจ้าจอมมารดาทับทิมก็ตั้งหน้าฝึกหัดฟ้อนรำไปด้วยกันกับศึกษาวิชาชั้นมัธยมของเด็กผู้หญิงที่จะเป็นนางใน และเกิดรักวิชานาฏศาสตร์ยิ่งขึ้นโดยลำดับ เมื่อละครหลวงชั้นเด็กออกโรงในตอนปลายรัชชกาลที่ ๔ ได้รับความชมเชยของคนทั้งหลาย ว่ารำงามกว่าคนอื่นที่เป็นละครชั้นเดียวกันโดยมาก พออายุท่านได้ ๑๑ ปีก็สิ้นรัชชกาลที่ ๔ จึงรับราชการเป็นละครหลวงในรัชชกาลที่ ๕ ต่อมา ถึงตอนรุ่นสาวนี้ฝีมือฟ้อนรำของท่านยิ่งดีหนักขึ้นจนขึ้นชื่อลือนาม ว่าเป็นชั้นนางเอกในละครหลวงสมัยนั้น ต่อมาพอเป็นสาว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดฯ ชุบเลี้ยงเป็นเจ้าจอม

เมื่อเจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นเจ้าจอมนั้น เจ้าจอมมารดาเที่ยง ออกไปอยู่วังกรมหมื่นราชศักดิ์ สโมสรแล้ว ท่านจึงให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี (คือกรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ) พระธิดาองค์ใหญ่ ซึ่งครอบครองตำหนักต่อมา รับเจ้าจอมมารดาทับทิมมาจากสำนักท้าววรคณานันท์ (หุ่น) และจัดเรือนในบริเวณตำหนักหลัง ๑ กับทั้งคนสำหรับใช้สอยให้ครอบครองสมกับบรรดาศักดิ์ ถึงตอนเป็นเจ้าจอมมักตามเสด็จไปบางปะอิน และตามเสด็จประพาสหัวเมืองเนือง ๆ ข้าพเจ้ายังจำได้ครั้ง ๑. เมื่อตัวข้าพเจ้าเองยังเป็นเด็กไว้ผมจุก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี ดูเหมือนเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ข้าพเจ้าได้ไปตามเสด็จด้วย เจ้าจอมมารดาทับทิมท่านรับดูแลให้กินอยู่ และเกล้าจุกให้ตลอดทางโดยฐานที่ท่านเป็นน้า ครั้งนั้นเสด็จทรงเรือกำปั่นรบต่อใหม่ชื่อ “มุรธาวสิษฐสวัสดี” ไปจากกรุงเทพ ฯ ทางทะเลจนถึงลำน้ำแม่กลองแล้ว ทรงเสด็จโดยกระบวนเรือแจวพ่วงเรือไฟเล็ก ขึ้นไปจนถึงเมืองราชบุรี แต่นั้นเสด็จไปทางบกด้วยกระบวนช้างม้า พระเจ้าอยู่หัวทรงม้า ข้าพเจ้าขึ้นข้างไปกับกระบวนข้างใน ได้ตามเสด็จเดินทางอย่างเรียกในหนังสือโบราณว่า “ประพาสป่า” เป็นครั้งแรก เสด็จออกจากเมืองราชบุรีวันแรกประทับแรมที่ตำบล “หนองบัวค่าย” วันที่ ๒ ประทับแรมที่ตำบล “ทับตะโก” (ในสมัยนั้นถือกันว่าเป็นที่เปลี่ยวเสือชุม ต้องกองไฟที่เกราะเคาะไม้ล้อมวงอย่างกวดขัน) วันที่ ๓ ถึงลำน้ำไทรโยค ประทับแรมที่บ้าน “ท่าตะคร้อ” อันเป็นท่าเรือ แล้วเสด็จกลับด้วยกระบวนเรือแจวแวะประพาสที่ต่าง ๆ ลงมาทาง เมืองกาญจนบุรีจนถึงเมืองราชบุรี เมื่อเสด็จกลับมากรุงเทพ ฯ จากเมืองราชบุรี ดูเหมือนได้ทรงทำพิธีเปิดคลองดำเนินสดวกด้วย ที่พรรณนาถึงเรื่องตามเสด็จครั้งนั้น ด้วยข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะเป็นครั้งแรกที่เจ้าจอมมารดาทับทิมได้ไปเที่ยวป่า ถึงตัวข้าพเจ้าก็เช่นนั้นเหมือนกัน อาจจะเป็นมูลที่เกิดวิสัยชอบเที่ยว ทั้งตัวท่านและตัวข้าพเจ้าสืบมาแต่ครั้งนั้น ดังจะปรากฎในเรื่องประวัติของเจ้าจอมมารดาทับทิมตอนเมื่อท่านแก่ชราและถึงอสัญกรรม

ถึง พ.ศ. ๒๔๑๙ เจ้าจอมมารดาทับทิมทรงครรภ์พระเจ้าลูกเธอ ก็ออกจากละคร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรด ฯ พระราชทานตำหนักเจ้านายหมู่หนึ่งให้อยู่เป็นอิสสระอย่างเจ้าจอมมารดาประสูติพระราชกุมารเป็นหัวปี เมื่อณวันอังคารที่ ๗ พฤศจิกายน ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (คือกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช) พระองค์ ๑ ถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒ เจ้าจอมมารดาทับทิมมีพระราชธิดา ประสูติเมื่อณวันอังคารที่ ๒ ธันวาคม อีกพระองค์ ๑ สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าประเวศวรสมัย ต่อมาถึงปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖ เจ้าจอมมารดาทับทิมมีพระราชกุมารอีกพระองค์ ๑ ประสูติเมื่อณวันพุธที่ ๕ ธันวาคม สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าวุฒิชัยเฉลิมลาภ (คือกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร) รวมพระเจ้าลูกเธอของเจ้าจอมมารดาทับทิม มี ๓ พระองค์ด้วยกัน

ตั้งแต่ท่านเป็นเจ้าจอมมารดาก็เปลี่ยนหน้าที่ไปรับราชการสนองพระเดชพระคุณตามตำแหน่ง แต่มีหน้าที่ซึ่งท่านถือเป็นการสำคัญอย่างยิ่งเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือที่จะถนอมกล่อมเลี้ยงและระวังสั่ง สอนพระเจ้าลูกเธอของท่านทั้ง ๓ พระองค์ เรื่องประวัติของท่าน เมื่อเป็นเจ้าจอมมารดาตอนที่กล่าวมานี้ ไม่มีอะไรแปลกถึงควรจะยกมากล่าวในที่นี้ ตัวข้าพเจ้าเองก็ออกมาทำราชการอยู่ฝ่ายหน้าแล้ว นานๆจะได้พบกับท่านโดยฉันท์ญาติสักครั้งหนึ่ง ได้ยินแต่คนชมอยู่เสมอ ว่าท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยที่ไม่มีใครเกลียดชัง มีแต่คนชอบทั้งวัง และว่าท่านทำราชการด้วยมีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทมาก ข้อนี้มีหลักฐานด้วยทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเครื่องยศยกขึ้นเป็นชั้นพระสนมเอก อันสูงศักดิ์กว่าเจ้าจอมมารดาสามัญ.

เจ้าจอมมารดาทับทิมรับราชการประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จนกรมหลวงนครชัยศรีสำเร็จการที่ไปทรงศึกษาในยุโรปแล้วกลับคืนมาพระนคร สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างวังพระราชทานที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมตอนต่อกับปากคลองมหานาค เมื่อกรมหลวงนครชัยศรีแรกขึ้นวัง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้าจอมมารดา ทับทิมออกไปอยู่ช่วยดูแลการในวังของพระโอรสได้เป็นครั้งเป็นคราว แต่นั้นท่านก็ออกไปอยู่ที่วังกรมหลวงนครชัยศรีบ้าง กลับเข้าไปอยู่ตำหนักในพระบรมมหาราชวังกับพระองค์เจ้าหญิงประเวศวรสมัยพระธิดาบ้าง ส่วนกรมหลวงสิงหฯนั้นยังเสด็จไปเรียนวิชาทหารเรืออยู่ยุโรป ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ย้ายพระราชสำนักเสด็จไปประทับที่พระราชวังดุสิต ท่านจึงอยู่ประจำที่วังกรมหลวงนครชัยศรี เข้าไปในวังแต่เวลามีการงาน หรือไปเยี่ยมเยือนพระองค์หญิงประเวศวรสมัยเป็นครั้งเป็นคราว ครั้นกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรทรงสำเร็จการศึกษากลับมา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างวังอีกวัง ๑ ติดกันกับวังกรมหลวงนครชัยศรี พระราชทานกรมหลวงสิงหฯ เจ้าจอมมารดาทับทิมก็อยู่ที่วังกรมหลวงนครชัยศรีฯ บ้าง ไปอยู่วังกับกรมหลวงสิงหฯ บ้าง ครั้นกรมหลวงนครชัยศรีสิ้นพระชนม์ในรัชชกาลที่ ๖ พระองค์เจ้าหญิงประเวศวรสมัยได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกมาประทับอยู่วังกรมหลวงสิงหฯ พระธิดาและพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์นั้น กับทั้งหม่อมเจ้าหญิงวิมล ปัทมราชธิดาองค์ใหญ่ของกรมหลวงนครชัยศรี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสเรียกว่า “หญิงทับทิม” ซึ่งคุณย่าเลี้ยงติดตัวมาแต่เด็ก ช่วยกันอุปฐากท่านมาด้วยกันกับหม่อมเจ้าที่เป็นสุนิสา และเป็นโอรสธิดาในกรมหลวงนครชัยศรีฯและในกรมหลวงสิงหฯ ซึ่งเจริญวัยสำเร็จการเล่าเรียนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับมา ให้ท่านอยู่เย็นเป็นสุขสบายจนตลอดชีวิต.

ตอนนี้จะกล่าวถึงวัตรปฏิบัติของเจ้าจอมมารดาทับทิมเมื่อออกมาอยู่วังกับพระโอรสธิดา หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งคือในสมัยเมื่อท่านมีอายุเข้าเขตต์เป็นกลางคน เมื่อตอนแรกกรมหลวงนครชัยศรีฯ ออกวัง ท่านเอาเป็นธุระดูแลการรั้ววังให้ทุกอย่าง จนเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาฯ ดำรัสขอหม่อมเจ้าหญิงประวาศสวัสดี ในกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระราชทานเป็นชายากรมหลวงนครชัยศรีฯแล้ว แต่นั้นท่านก็คอยปลดเปลื้องการรั้ววังให้หม่อมหญิงประวาศฯเป็นผู้ว่ากล่าวมาโดยลำดับ จนเห็นว่าการรั้ววังเรียบร้อยและมีความสมัครสโมสรดีได้ดังใจหวังแล้ว ท่านก็ปล่อยการงานให้หมด เป็นแต่ไปมาเยี่ยมเยือน หรือไปช่วยรักษาพยาบาลในเวลาประชวร หรือมีหม่อมเจ้าคลอดใหม่ หาไปเกี่ยวข้องด้วยการปกครองวังไม่ ยิ่งกิจการต่างๆ อันเนื่องกับหน้าที่ราชการของกรมหลวงนครชัยศรีฯ ด้วยแล้ว ท่านหลีกออกห่างไม่เข้าไปเกี่ยวข้องทีเดียว ภายหลังมาเมื่อกรมหลวงสิงหฯ ขึ้นวัง ท่านก็ประพฤติเช่นเดียวกันกับพระโอรสพระองค์ใหญ่ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาดำรัสขอหม่อมเจ้าหญิงพร้อมเพราพรรณธิดาของข้าพเจ้า พระราชทานเป็นชายาของกรมหลวงสิงหฯ ท่านก็ค่อยมอบการงานรั้ววังให้หม่อมเจ้าหญิงพร้อมเพราพรรณมาโดยลำดับเช่นนั้นจนสามารถเป็นแม่เรือนได้

มีเรื่องเนื่องกับประวัตเจ้าจอมมารดาทับทิมเกี่ยวมาถึงตัวข้าพเจ้าในตอนนี้ ซึ่งทำให้เสียใจครั้ง ๑ และให้เบาใจครั้ง ๑ จะเขียนแทรกลงไว้ด้วย คือ กรมหลวงนครชัยศรีฯทรงศึกษาวิชาทหารบกมาจากยุโรป พอเข้ารับราชการในกระทรวงกลาโหมก็ปรากฎพระสติปัญญาสามารถ โปรดให้จัดการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบทหารบกหลายอย่าง พระหฤทัยของกรมหลวงนครชัยศรี ฯ ไปหมกมุ่นอยู่แต่ในราชการ ไม่นำพาต่อการที่จะบำรุงรักษาพระองค์เอง หมายแต่จะทำการให้สำเร็จเป็นประมาณ เช่นวันไหนมีงานมากก็ไม่เสวยกลางวันให้เสียเวลาทำงาน หรือเสวยแต่ของแสลงเป็นเครื่องว่างพอแก้หิว เป็นเช่นนั้นมาจนเกิดอาการประชวรขึ้น เจ้าจอมมารดาทับทิมสังเกตเห็นว่าเป็นเพราะทำงานเกินพระกำลัง ว่ากล่าวตักเตือนกรมหลวงนครชัยศรีฯ ก็ไม่ฟัง ท่านจึงเข้าไปกราบทูลร้องทุกข์ต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีรับสั่งให้หาข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้า ดำรัสว่า “นางทิมมาร้องทุกข์ ว่าจิระเอาแต่ทำงาน ไม่เป็นอันจะกินอยู่ จนมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ห้ามก็ไม่ฟัง เธอลองไปว่ากล่าวกับจิระดูสักทีเป็นไร” พอออกจากเฝ้า ข้าพเจ้าก็เลยไปวังกรมหลวงนครชัยศรีฯ เวลานั้นกำลังประชวรอยู่ ข้าพเจ้าบอกให้ทราบกระแสรับสั่ง เธอก็ไม่โต้แย้งอย่างไร แต่ต่อมาพอหายประชวรก็กลับไปทำงานทรมานพระองค์เช่นนั้นอีก จนเลยเกิดโรคภายในประจำพระองค์ ออกไปรักษาถึงยุโรปก็ไม่หาย เพราะรักษาช้าเกินไปเสียแล้ว จึงสิ้นพระชนม์แต่ยังไม่ทันแก่ เรื่องนี้นึกขึ้นมาเมื่อไรข้าพเจ้ายังเสียใจ ถ้ากรมหลวงนครชัยศรีฯ เชื่อฟังเจ้าจอมมารดาเสียตั้งแต่แรก ก็อาจจะเสด็จอยู่มาได้จนบัดนี้ เรื่องที่ท่านทำให้ข้าพเจ้าเบาใจนั้น เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสขอลูกหญิงพร้อมเพราพรรณให้เป็นชายากรมหลวงสิงหฯ ครั้งนั้นเป็นแรกที่ธิดาข้าพเจ้าจะไปออกเรือน ประจวบเวลาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เมื่อยังเป็นพระยาคทาธรธรณินทร์เข้ามากรุงเทพฯ ท่านก็เพิ่งแต่งงานธิดาของท่านเป็นคนแรกมาไม่ช้านัก ข้าพเจ้าจึงถามท่านว่าแต่งงานลูกชายกับแต่งงานลูกสาวรู้สึกผิดกันอย่างไรบ้าง เจ้าพระยาอภัยภูเบศรบอกว่ารู้สึกว่าผิดกันมาก แต่งงานลูกชายไม่มีความวิตก แต่แต่งงานลูกหญิงนั้นเกิดวิตกมาก เพราะเกรงว่าถ้าหากไปมีเหตุเกิดแตกร้าวไม่เป็นสามัคคีกับสกุลของผัว เป็นผู้หญิงเสียเปรียบ ท่านวิตกอยู่กว่าปี จนเห็นว่าผัวเมียผูกสมัครรักใคร่กันดี และผู้ใหญ่ในสกุลผัวก็ไม่รังเกียจจึงสิ้นวิตก ท่านบอกให้ทราบดังนี้ เมื่อแรกพระราชทานหญิงพร้อมเพราพรรณ ข้าพเจ้าก็ออกวิตกอยู่บ้าง ต่อเมื่อเห็นเจ้าจอมมารดาทับทิมท่านอารีรักใคร่ ทั้งโดยที่เป็นสุนิสาและเป็นหลานย่าอย่างสนิทสนม และกรมหลวงสิงหฯ กับหญิงพร้อมฯก็ถูกอัชฌาสัยรักใคร่สนิท จึงเบาใจสิ้นวิตก ไม่ต้องรอถึงปีเหมือนเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคต เจ้าจอมมารดาทับทิมอายุได้ ๕๓ ปี ถึงเวลานั้นพระโอรสธิดาของท่านตั้งพระองค์เป็นหลักฐานแล้วทั้ง ๓ พระองค์ ท่านสิ้นห่วงใยก็บำเพ็ญวัตรปฏิบัติหาความสุขตามสมควรแก่ฐานะของผู้มีบรรดาศักดิ์เมื่ออายุเข้าเขตต์เป็นคนแก่ชรา คือฟังเทศน์ ทำบุญ ให้ทาน และมีแปลกฉะเพาะตัวท่านอย่าง ๑ ที่ชอบไปเที่ยวตามหัวเมือง จึงเห็นว่าการเที่ยวนั้นจะเป็นความนิยมติดใจมาตั้งแต่ตามเสด็จเมื่อยังเป็นเจ้าจอม ดังกล่าวมาแล้ว การฟังเทศน์ ท่านชอบปฏิภาณของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์) วัดบรมนิวาศ เป็นเหตุให้เกิดศรัทธาในพรหมวิหารทั้ง ๔ คือ ความ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถึงถือเป็นวิหารธรรมของตัวท่านต่อมาจนตลอดชีวิต และชอบสร้างหนังสือเทศนาพรหมวิหาร ถวายไปตามวัด สำหรับพระจะได้เทศน์สอนมหาชน หนังสือนั้นท่านสร้างคราวละหลายๆ จบ ครั้งสุดท้ายสร้างสำเร็จพอทันท่านได้จบมืออุทิศเมื่อก่อนถึงอสัญกรรมไม่กี่วันนัก ความเลื่อมใสที่กล่าวมาเป็นเหตุให้ท่านช่วยทำนุบำรุงวัดบรมนิวาศกับทั้งพระสงฆ์ในวัดนั้นยิ่งกว่าวัดอื่น ถึงสร้างกุฏิที่สำนักสำหรับเจ้าอาวาศถวายวัดบรมนิวาศหลัง ๑ ขนานนามว่า “กุฏิปัทมราช” และได้สร้างกุฎีถวายวัดตามหัวเมืองมีหลายแห่ง นอกจากนั้นท่านชอบช่วยสงเคราะห์ผู้ที่จะบวชเรียน บางรายเจ้านาคที่จะบวชอัตคัดขัดสน ท่านรับเป็นเจ้าภาพก็มีเนืองๆ และอุปการะต่อไปจนถึงส่งอาหารบิณฑบาตเลี้ยงด้วย ทำบุญอย่างนี้แทบทุกปี ทางฝ่ายฆราวาสนอกจากบริจจาคทานสงเคราะห์คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ท่านชอบเกื้อกูลญาติและมิตรด้วยประการต่างๆแม้จนผู้เป็นแขก เมื่อมีใครไปหาท่าน หรือแม้ข้าราชการที่มีกิจธุระไปเฝ้าพระโอรสของท่าน ๆ พบปะก็ทักทายปราสัย แสดงไมตรีจิตต์โดยฐานที่เป็นผู้ใหญ่ แม้ใครไปใกล้เวลากินอาหารท่านก็ชอบหาอาหารเลี้ยง เพราะฉะนั้นคนทั้งหลายที่ได้รู้จักกับท่าน โดยฉะเพาะพวกข้าราชการ ทั้งทหารและพลเรือนจึงพากันเคารพนับถือ บางคนก็พาครอบครัวไปหาให้ท่านรู้จัก และเวลามีงานการอย่างใดที่วังก็พร้อมใจกันไปช่วย ข้างฝ่ายตัวท่านถ้าเขามีการงานก็ช่วยเหลือตอบแทนตามกำลัง ไม่เอาเปรียบผู้อื่นแต่ฝ่ายเดียว ลักษณการเลี้ยงของท่านยังมีอีกอย่างหนึ่ง สำหรับญาติและมิตรที่เป็นเจ้านายหรือบุคคลสูงศักดิ์ เวลาเมื่อท่านคิดถึงคนไหนเมื่อใด ก็มักทำของกินที่มีโอชารสฉะเพาะสิ่งส่งไปให้ ของกินที่ท่านชอบทำส่งไปนั้น ขนมปั้นสิบฝีมือของท่านถึงเลื่องลือว่าไม่มีใครทำได้ ข้าพเจ้าอาจรับรองว่าจริง ด้วยเคยได้กินเนืองๆ

เรื่องที่เจ้าจอมมารดาทับทิมชอบแปรสถานไปเที่ยวตามหัวเมืองนั้น มีเหตุอย่าง ๑ นอกจากที่ท่านชอบการเที่ยวเตร่มาแต่ยังเป็นเจ้าจอม คือเมื่อท่านแก่ตัวลง ถ้าอยู่แต่กับเรือนนานๆมักมีอาการคล้ายกับจะเจ็บป่วย ถ้าได้แปรสถานไปที่อื่นชั่วคราวก็กลับฟื้นมีความสบาย เพราะเหตุนั้น เมื่อใดพระโอรสธิดาทรงสังเกตเห็นว่า เจ้าจอมมารดามีอาการไม่สบายเป็นปกติ แม้ตัวท่านยังมิได้ออกปาก ก็ชวนให้ท่านแปรสถานไปเที่ยวเตร่ และทรงขวนขวายจัดหาพาหนะให้ท่านไป บางคราวพระโอรสธิดาก็เสด็จไปด้วย บางคราวท่านก็ไปแต่กับหลานตามลำลองของท่าน เพราะพวกข้าราชการตามหัวเมืองซึ่งเคารพนับถือท่านมีมาก เขารับอุปการะทุกหนแห่งไม่มีความลำบาก ท่านได้ไปเที่ยวถึงเมืองไทรโยคถึง ๔ ครั้ง นอกจากนั้นมักชอบเที่ยวแต่ในมณฑลอยุธยากับที่ในแขวงจังหวัดราชบุรี แต่ชอบไปพักอยู่ที่บริเวณพระราชวังบางปะอินมากกว่าแห่งอื่น เพราะไปมาง่าย และท่านชอบไปทางเรือยิ่งกว่าไปทางบก ลักษณการเที่ยวของท่านนั้น ถ้ามิใช่ทางไกล เช่นไปไทรโยค ถึงที่ไหนที่ท่านเห็นสบาย เช่นที่บางปะอิน ก็มักจอดพักอยู่ที่นั่นนาน ๆ ลงเรือเล็กไปตามทุ่งเที่ยวเก็บผักน้ำต่าง ๆ หรือมิฉะนั้นไปเที่ยวซื้อหาเครื่องอาหารตามบ้านราษฎรมาทำครัวเลี้ยงพวกบริวาร เวลาพักอยู่ใกล้วัดก็ชอบไปทำบุญและฟังเทศน์ ไม่ยอมให้ใครรับรองเป็นอย่างทางราชการ ถ้าว่าโดยย่อ คือชอบเที่ยวอย่างคนแก่ แต่คงไปเที่ยวปีละหนหนึ่งหรือกว่านั้นเป็นนิจ ทางฝ่ายชายทะเล ท่านก็ชอบไปที่เมืองสมุทรปราการ และไปที่ตำบลหนองแกต่อหัวหินลงไปข้างใต้ ด้วยกรมหลวงสิงหฯ มีสวนและสร้างตำหนักที่พักไว้ที่นั้น ถึงฤดูร้อนท่านมักแปรสถานลงไปพักอยู่ที่หนองแกด้วยกันกับพระองค์หญิงประเวศ ฯ และกรมหลวงสิงห ฯ คราวละนาน ๆ แทบทุกปี แม้ที่สุดเมื่อพระองค์หญิงประเวศ ฯ กับกรมหลวงสิงหฯเสด็จออกมาพักรักษาพระองค์อยู่ณเมืองปีนัง ท่านคิดถึงก็ยอมทนความลำบากที่ต้องมาทางไกลในรถไฟ อุส่าห์มาเยี่ยมพระธิดาและพระโอรส เป็นครั้งแรกที่ท่านได้ออกนอกอาณาเขต ประเทศสยาม เมื่ออายุใกล้จะถึง ๘๐ ปีอยู่แล้ว แต่เมื่อมาถึงเมืองปีนังท่านก็ชอบ ชมว่าอากาศสบายดี เลยพักอยู่ที่ตำหนักพระองค์หญิงประเวศ ฯ ถึง ๑๑ เดือน ตัวท่านเองก็สำราญอนามัยเป็นสุขสบายตลอดเวลาที่มาอยู่นั้น

ครั้นถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ มีกิจธุระเกิดขึ้นทางกรุงเทพ ฯ ที่ทานจำจะต้องไปจัดทำเอง จึงกลับไปจากเมืองปีนัง เมื่อเสร็จธุระนั้นแล้วก็ลงมือเตรียมการจะทำบุญฉลองอายุของท่านครบ ๘๐ ปี การนั้นท่านไม่พอใจจะทำที่ในกรุงเทพ ฯ ให้เอิกเกริก แต่ก่อนมาท่านได้รับไว้กับพระพรมหมุน (อ้วน) วัดบรมนิวาศ ซึ่งเป็นเจ้าคณะสงฆมณฑลอีสาน ว่าจะสร้างสำนักวิปัสนาธุระที่ในวัดสุปัฏนณเมืองอุบล จึงปรารภว่าจะไปทำบุญฉลองอายุที่เมืองอุบล แต่ยังไม่ทันถึงกำหนดงาน ท่านรู้สึกว่ามีอาการทุพลภาพเกิดขึ้นในตัวของท่านยิ่งกว่าแต่ก่อน เกรงว่ากำลังจะทนลำบากไปรถไฟทางไกลไม่ไหวเสียแล้ว ก็เลิกความคิดที่จะไปทำบุญฉลองอายุณเมืองอุบล เปลี่ยนเป็นบริจาคทรัพย์ตามจำนวนที่กะไว้ ขอให้พระพรหมมุนีช่วยอำนวยการให้สมดังเจตนาของท่าน

ความทุพลภาพที่ท่านรู้สึกว่ามีหนักขึ้นนั้น ที่จริงคือเริ่มโรคชราอันเป็นเหตุให้ท่านถึงอสัญกรรมนั้นมาถึงตัว ท่านก็มีอาการป่วยลงในไม่ช้า หมอก็รู้ว่ายากที่จะกลับฟื้นดีได้ แต่ท่านเจ้าจอมมารดาทับทิมท่านใคร่จะแปรสถานที่ไปรักษาตัวที่บางปะอิน ผู้รักษาพยาบาลเห็นว่าโรคของท่านร้ายยิ่งกว่าป่วยครั้งก่อน ๆ เกรงว่าถ้าท่านแปรสถานจะเร่งให้โรคกำเริบมากขึ้น แต่ก็ทัดทานท่านไม่ฟัง จะไปให้ได้ ท่านได้ลงเรือไปในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

พอพระองค์หญิงประเวศฯและกรมหลวงสิงหฯ ทรงทราบก็รีบเสด็จกลับจากปีนัง เสด็จตามไปที่บางปะอินในวันที่ ๑๒ มีนาคมนั้น พอไปถึงพอประจวบกับอาการท่านเกิดมากเสียแล้ว ได้ทรงทาบทามถึงการที่จะกลับกรุงเทพ ฯ แต่ท่านไม่ยอมกลับ จึงทรงพระดำริว่าท่านกำลังเบิกบานในการที่ท่านได้มาพักอยู่บางปะอิน ถ้าจะเชิญท่านกลับ ท่านคงจะโทมนัศขัดแค้นก็จะยิ่งซ้ำร้าย กลายเป็นเพิ่มความทุกขเวทนาให้มากขึ้น ยอมให้ท่านพักอยู่บางปะอินตามความประสงค์ดีกว่า การที่ท่านไปถึงบางปะอิน ท่านชื่นบานหายกลัดกลุ้ม ถึงกับสามารถเป็นธุระสั่งการเลี้ยงดูญาติและมิตรซึ่งขึ้นไปเยี่ยมเยือนได้ แต่อาการป่วยแม้ดูเหมือนค่อยคลายขึ้น แต่ไม่ช้าก็กลับทรุดลงเป็นลำดับมา ที่ไปรักษาตัวอยู่ที่บางปะอินได้ ๗๙ วัน ถึงวันอังคารที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เวลา ๑๗ นาฬิกากับ ๕ นาฑี เจ้าจอมมารดาทับทิมก็ถึงอสัญกรรม คำนวณอายุได้ ๘๒ ปี (หรือ ๘๑ ตามทางสุริยคตกาล) เชิญศพลงมายังวังกรมหลวงสิงหฯ ในวันนั้น รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ ทำพิธีรดน้ำศพ ได้พระราชทานโกศประกอบลองไม้สิบสองเป็นเกียรติยศพิเศษ นอกจากนั้นเครื่องศพเสมออย่างเจ้าจอมมารดาพระสนมเอก ตั้งศพ ประดิษฐานไว้บนตำหนักใหญ่ที่วังกรมหลวงสิงห ฯ จนกว่าจะถึงงานพระราชทานเพลิงตามประเพณี

ในเรื่องประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิมมีความบางข้อ ซึ่งสมควรจะยกเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

๑) ท่านเป็นผู้ที่ได้รับความอบรมและการศึกษาของชาววังอย่างแบบโบราณ ผู้หญิงที่ได้ศึกษาเช่นท่านยังเหลือน้อยตัวแล้ว ท่านผู้อ่านหนังสือนี้ที่เป็นบุคคลชั้นหลัง แต่ได้รู้จักและเคยคุ้นกับเจ้าจอมมารดาทับทิมมีมาก จะเห็นตัวอย่างได้ในอัธยาศัยและกิริยามารยาตรของเจ้าจอมมารดาทับทิม ว่าการฝึกสอนที่ในพระบรมมหาราชวังตามแบบโบราณ สามารถจะอบรมให้ดีได้เพียงใด

๒) ในพระบาลึกล่าวว่า มารดาเป็นครูคนแรกของบุตรและธิดา ความหมายว่าเมื่อบุตรธิดาเติบใหญ่ขึ้นจะดีหรือจะชั่ว มารดาย่อมมีส่วนรับผิดชอบว่าเลี้ยงลูกดีหรือไม่ดี ความรับผิดชอบข้อนี้เป็น สามัญแก่ผู้เป็นมารดาทั่วไป เจ้าจอมมารดาทับทิมมีพระเจ้าลูกเธอ ๓ พระองค์ ท่านอุส่าห์ถนอมกล่อม เลี้ยงและระวังสั่งสอนมาแต่ยังทรงพระเยาว์จนทรงพระเจริญ แต่คุณวิเศษของท่านในการเลี้ยงพระโอรสธิดา เพิ่งมาปรากฏแก่ตาคนทั้งหลายในสมัยเมื่อท่านออกมาอยู่นอกวังกับพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์ ว่าท่านประพฤติต่อพระโอรสธิดาน่าสรรเสริญ เช่นตอนแรกพระโอรสขึ้นวังใหม่ ท่านช่วยดูแลว่ากล่าวการรั้ววังทุกอย่าง แต่เมื่อพระโอรสมีชายาแล้ว ท่านก็ตั้งต้นถอนตัวค่อยสละการรั้ววังให้พระโอรสกับชายาช่วยกันปกครอง จนเห็นว่าสามารถจะปกครองได้เองแล้ว ท่านก็ปล่อยให้เป็นอิสสระ ดังพรรณนามาแล้วในเรืองประวัติ ข้อนี้ควรนับว่าท่านเป็นตัวอย่างมารดาที่ดีด้วยอีกสถาน ๑

๓) การที่เจ้าจอมมารดาทับทิมเลื่อมใสในพรหมวิหารธรรมสังวรความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกชา เป็นวิหารธรรมของท่านนั้น พิเคราะห์ดูเหมือนจะมีในอุปนิสัยของท่านมาแต่เดิม จึงปรากฏว่าเมื่อท่านอยู่ในวังหามีใครเกลียดชังไม่ ครั้นออกมาอยู่นอกวังมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาเนือง ๆ ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมหมวดพรหมวิหาร จนถึงถือเป็นหลักในวัตรปฏิบัติของท่าน ข้อนี้เองเป็นเหตุให้มีคนเคารพนับถือท่านมากมาตลอดอายุ แม้จนเมื่อถึงอสัญกรรมแล้ว ข้าพเจ้าอยู่ไกลได้ยินว่า มีคนที่ระลึกถึงคุณและที่เคารพนับถือท่านพากันไปช่วยงานหน้าศพเป็นอันมาก ทั้งเมื่อทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วันและ ๓๐๐ วัน อันนี้เป็นผลของพรหมวิหารที่ท่านสังวรมาแต่หนหลัง ควรนับว่าท่านเป็นตัวอย่างดีในธรรมจารินีด้วยอีกสถาน ๑

สิ้นเรื่องประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิม รัชชกาลที่ ๕ เพียงเท่านี้.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ