คำปรารภ
ในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดาทับทิม รัชชกาลที่ ๕ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประเวศวรสมัย กับ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร พระธิดาและโอรสของท่านผู้ถึงอสัญกรรม มีพระประสงค์จะพิมพ์หนังสืออนุสสรณ์ สำหรับแจกสนองคุณผู้ไปช่วยงานให้เป็นประโยชน์ทั้งคดีโลกและคดีธรรม กรมหลวงสิงหฯ จะทรงพิมพ์หนังสือแสดงพรหมวิหาร ซึ่งเจ้าจอมมารดาทับทิมเคยเลื่อมใสถือเป็นวิหารธรรมของท่านเรื่อง ๑ พระองค์หญิงประเวศ ฯ เสด็จมาปรึกษาข้าพเจ้าถึงหนังสือส่วนคดีโลกซึ่งพระองค์จะทรงพิมพ์ ตรัสขอให้ข้าพเจ้าช่วยแต่งเรื่องประวัติของเจ้าจอมมารดาทับทิม ข้าพเจ้าก็เต็มใจรับแต่งถวาย ด้วยเจ้าจอมมารดาทับทิมท่านเป็นน้าและได้มีคุณูปการแก่ข้าพเจ้ามาแต่ก่อน จะเป็นโอกาสให้ข้าพเจ้ามีส่วนสนองคุณได้บ้าง หนังสือนอกจากประวัตินั้น พระองค์หญิงประเวศฯ ตรัสบอกว่า นานมาแล้วเจ้าจอมมารดาทับทิมท่านได้อ่านหนังสือ เรื่อง ๑ เป็นกลอนสุภาสิต เรียกชื่อว่า “ทุคคตะสอนบุตร” ท่านชอบคำสั่งสอนในหนังสือเรื่องนั้น ถึงให้คัดสำเนาไว้และกล่าวว่าถ้าจะพิมพ์แจกในงานศพของท่านก็ได้ แต่ข้าพเจ้านึกไม่ออกว่าเคยอ่านหนังสือเรื่องนั้นมาแต่ก่อนหรือไม่ พระองค์หญิงประเวศ ฯ จึงประทานฉะบับมาให้ข้าพเจ้าพิจารณาในทางวรรณคดี ว่าหนังสือเรื่องทุคคตะสอนบุตรนั้นจะสมควรพิมพ์แจกได้หรือไม่ ถ้าข้าพเจ้าเห็นไม่เหมาะจะหาหนังสือเรื่องอื่นถวายให้พิมพ์ก็ได้
หนังสือสุภาสิตต่างๆ ที่แปลหรือแต่งเป็นภาษาไทยมีมาก แต่ถ้าว่าโดยรูปความต่างกันเป็น ๓ ประเภท (เวลาแต่งคำนำนี้ ข้าพเจ้าไม่มีหนังสือจะตรวจหาตัวอย่างได้กว้างขวาง จะว่าแต่ที่จำได้)
ประเภทที่ ๑ เป็นคำสอนของผู้แต่ง เช่นสุภาสิตพระร่วง และสวัสดิรักษาของสุนทรภู่เป็นต้น ประเภทที่ ๒ แต่งเป็นแก้ปฤษณา เช่นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์แก้อัฏฐธรรมปฤษณาของสมเด็จพระเพทราชาธิราช และประคนธรรมของพระอมราภิรักขิต (เกิด) วัดบรมนิวาสเป็นต้น ประเภทที่ ๓ แต่งอาศัยอ้างนิทานเก่าที่มีอยู่แล้วหรือแต่งนิทานขึ้นใหม่ ให้คนหนึ่งสอนคนอื่นที่มีตัวในนิทานนั้นด้วยกัน เช่นสุภาสิตนางกฤษณาสอนน้อง พาลีสอนน้อง และอัษฎาพานร ที่จารึกแผ่นศิลาติดไว้เป็นตำราในวัดพระเชตุพนเป็นต้น เรื่องทุคคตะสอนบุตรก็อยู่ในสุภาสิตประเภทที่ ๓ ตามว่ามานี้
แต่งเรื่องนิทานว่ามีผัวเมียเป็นคนยากจน ๒ คน พยายามทำมาหากินเลี้ยงลูกชายยังเป็นเด็กอายุ ๙ ขวบ คน ๑ ลูกหญิงอายุ ๗ ขวบ คน ๑ อยู่มาทั้งผัวเมียมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นจนทุพลภาพ ไม่สามารถจะไปทำมาหากินได้ดังแต่ก่อน ต้องเอาทรัพย์สมบัติที่ยังมีเหลืออยู่กับตัวออกขายกินจนจวนจะสิ้นเนื้อประดาตัว คืนหนึ่งเวลานอนอยู่ในเรือน ผัวปรารภกับเมียว่า ในไม่ช้าเห็นจะพากันอดอยากถึงตาย แต่เป็นห่วงลูกเป็นกำพร้าจะได้ความเดือดร้อน ขณะนั้นลูกนอนอยู่ในห้องติดกันได้ยินพ่อแม่ปรารภเช่นนั้นก็สงสารพ่อแม่เป็นกำลัง ครั้นรุ่งเช้าจึงพากันเข้าไปหาพ่อแม่ อ้อนวอนขอให้เอาตัวทั้ง ๒ คนไปขายเป็นทาส เอาเงินมาเลี้ยงชีวิตอย่าให้ถึงตายแต่พ่อแม่รักลูกไม่ยอมเอาไปขายเป็นทาส ข้างฝ่ายลูกก็วิงวอนขอให้เอาไปขาย มิฉะนั้นจะฆ่าตัวตายตามพ่อแม่ไปด้วย พ่อแม่ก็จนใจจำต้อง รับจะทำตามประสงค์ของลูก เมื่อก่อนจะพาไปขายนั้นพ่อให้โอวาทสั่งสอนลูกให้รู้หน้าที่ของทาสกรรมกร อันเป็นตัวสุภาสิตของเรื่องทุคคตะสอนบุตรีนี้ ที่เจ้าจอมมารดาทับทิมท่านชอบ เพราะเป็นคำสั่งสอนวัตรปฏิบัติของคนชั้นต่ำ ผิดกับเรื่องสุภาสิตอื่นซึ่งมักสอนแต่วัตรปฏิบัติของบุคคลชั้นสูงโดยมาก เรื่องนิทานมีต่อไป ว่าพ่อพาลูก ๒ คนนั้นไปขายไว้กับเศรษฐีคนหนึ่งซึ่งเป็นคนใจดี เด็กทั้ง ๒ คนไปประพฤติตัวตามโอวาทของพ่อจนเศรษฐีรักใคร่ยกขึ้นเป็นลูกเลี้ยง ฝ่ายพ่อแม่ได้เงินค่าตัวลูกมาใช้รักษาตัวจนหายทุพลภาพ กลับทำมาหากินได้อย่างแต่เดิม และที่สุดเมื่อเศรษฐีจะตายไม่มีลูกจะสืบสกุลก็มอบทรัพย์สมบัติให้เด็กคนพี่ชายครอบครองสืบสกุลต่อไป เมื่อลูกชายได้เป็นเศรษฐีแล้ว ก็ไปรับพ่อแม่มาเลี้ยงดูสนองคุณให้เป็นสุขสบายมาจนตลอดชีวิต สิ้นเรื่องนิทานเท่านี้
หนังสือทุคคตะสอนบุตรนี้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง สังเกตสำนวนกลอนดูชอบแต่งตามอย่างกลอนของสุนทรภู่ และหนังสือสุภาสิตซึ่งแต่งเป็นกลอนแปดมักชอบแต่งกันเมื่อสมัยสุนทรภู่มีชื่อเสียงเลื่องลือแล้ว ข้าพเจ้าจึงสันนิษฐานว่า เรื่องทุคคตะสอนบุตรนี้ เห็นจะแต่งในตอนปลายรัชชกาลที่ ๓ หรือในรัชชกาลที่ ๔ ดูสำนวนบางแห่งแต่งดี แต่บางแห่งยังบกพร่อง เช่นใช้ถ้อยคำอย่างว่า “ขอไปที” หรือ “กลอนพาไป” มีอยู่บ้าง จะนับว่าเป็นสำนวนกวีชั้นสูงไม่ได้ แต่ก็ไม่เลวนัก ข้าพเจ้าเคยถือเป็นคติมาช้านาน ว่าหนังสือซึ่งจะพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้ใด ถ้ามีหนังสือซึ่งท่านผู้นั้นได้แต่งไว้เอง หรือเป็นเรื่องที่ท่านชอบโดยฉะเพาะ ควรพิมพ์หนังสือเช่นนั้น ต่อไม่มีจึงหาเรื่องอื่น ก็หนังสือเรื่องทุคคตะสอนบุตรนี้ เจ้าจอมมารดาทับทิมท่านชอบจนถึงได้ออกปากไว้ว่าควรพิมพ์ในงานศพของท่าน ต้องตามคติของข้าพเจ้า อีกประการหนึ่งหนังสือเรื่องนี้ดูเหมือนจะยังไม่เคยพิมพ์ คนทั้งหลายยังไม่เคยอ่านกันโดยมาก ข้าพเจ้าจึงทูลขอให้พระองค์หญิงประเวศ ฯ ทรงพิมพ์เรื่องทุคคตะสอนบุตร สำหรับแจกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดาทับทิม แม้เรื่องอยู่ข้างสั้น ถ้าพิมพ์ในเล่มเดียวกันกับเรื่องประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิมที่ข้าพเจ้าแต่งถวาย ก็เห็นจะพอได้ขนาดหนังสือแจกในงานเมรุ พระองค์หญิงก็ทรงพระดำริเห็นชอบด้วยจึงโปรดให้พิมพ์สมุดเล่มนี้
ข้าพเจ้าขอถวายอนุโมทนาพระกุศลบุญราศีซึ่งพระองค์เจ้าหญิงประเวศวรสมัย และกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร กับทั้งหม่อมเจ้าหลาน ๆ บำเพ็ญสนองพระคุณเจ้าจอมมารดาทับทิม และหวังใจว่าท่านทั้งหลายบรรดาได้รับหนังสือแจก คงจะถวายอนุโมทนาทั่วกัน.
เมืองปินัง ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑