เพลงยาวสามชาย
บทที่ ๑ ของชายที่ ๑
๏ สงสารสามอนุชานิจาเอ๋ย | |
เชษฐาช่างไม่เห็นอกวิตกเลย | มีแต่เย้ยเย้าเล่นอยู่เช่นนั้น |
เฝ้าบอกแต่ธุระร้อนแกล้งผ่อนผัด | ถึงสามนัดแล้วมิลงคงคำมั่น |
ให้น้องคลั่งนั่งนึกปฤกษากัน | จนนอนฝันว่าเชษฐาจะพาไป |
น้องลืมเลยเคยศึกษาวิชาทหาร | ทั้งงานการก็ไม่สู้เอาใจใส่ |
พากันร้อนร่านรักหนักฤไทย | ด้วยจะใคร่พบภักตร์อิกสักคราว |
ถึงลำบากยากอย่างไรก็ไม่ว่า | จะสู้ฝ่าฟ้าฝนไปทนหนาว |
พอได้สนิทชิดเชื่องเปนเรื่องราว | ครั้นได้ข่าวให้มานัดเปนสัจจา |
ว่าจะไปในราตรีวันนี้แน่ | ก็กริ่งแต่จะไม่ต้องที่ปราถนา |
ถึงกระนั้นก็ยินดีทั้งปรีดา | ขอแต่อย่าหน่วงเหนี่ยวให้เหี่ยวใจ |
อันที่จะให้น้องแน่พอแก้หนาว | ก็ได้ข่าวคำฦๅว่ารื้อไข้ |
พี่เอนดูอนุชาช่วยพาไป | จึงจะได้เห็นว่าเมตตาน้อง |
จงพร้อมความตามประสงค์จำนงหมาย | พอห่างหายคลายกังวลกระมลหมอง |
อย่าหนีเร้นเช่นวันมิปรองดอง | จะต้องร้องตะโกนเรียกกันเพรียกไป |
อันเรื่องหนึ่งนั้นเชษฐาได้รับที่ | มะเดหวีไว้นั้นลืมแล้วฤๅไฉน |
ถึงจะขัดอยู่ด้วยเขินสเทินใจ | น้องก็ไม่น้อยจิตรคิดขุ่นเคือง |
แต่ธรรมดาว่าเปนมะเดหวี | ต้องปรานีข้างอิเหนาตามราวเรื่อง |
จะคิดไปให้ถึงเข้ามาเผาเมือง | ก็อายชื่อจะฦๅเลื่องทั้งแดนดิน |
จะขอแปลงแต่งอิเหนาเสียอย่างใหม่ | เปนมะเดหวีช่วยให้ได้สมถวิล |
ชำระเรื่องเปลื้องปลดหมดมลทิน | จึงจะยินดีได้โดยใจนิยม |
อันทุกข์น้องสองวิตกโอ้อกเอ๋ย | ไม่เห็นเลยใครจะช่วยให้เสร็จสม |
จะนอนนั่งตั้งแต่ร้อนฤไทยระทม | ให้ปรารมภ์กลัวว่าพี่มิเมตตา |
สิ่งใดข้องน้องขออไภยโทษ | จงอวยโอษฐอนุญาตดังปราถนา |
ขอเชิญไปเสียสักวันตามสัญญา | ต่อกลับมาจึงค่อยพร้องสนองเอย |
ฯ ๒๔ คำ ฯ
บทที่ ๒ ของชายที่ ๓
๏ ประสันตาคนคะนองสนองสาร | |
นี่เรื่องใหม่ใช่อิเหนาสำเนาบุราณ | ได้คิดอ่านยินยอมกันพร้อมใจ |
อันบาหยันนั้นสิของประสันตา | ก็บุษบาของระเด่นนั้นจะเปนไฉน |
มะดีหวีจึงมิว่าจะพาไป | จนอิเหนาเฝ้าเปนไข้คนึงนาง |
เตือนให้ช่วยด้วยเห็นดีกว่านิ่งอยู่ | เผื่อว่าพี่จะเอนดูแก่น้องบ้าง |
สงสารนายต้องตะกายไปนอกทาง | ซึ่งว่านางบาหยันขันเข้ามา |
ทั้งนวดพัดจะจัดแจงแต่งให้ | แล้วกลัวว่าจะไม่ได้เหมือนเช่นว่า |
อย่าเพ่อดำริห์ติเตียนประสันตา | ผิดก็พามามอบไว้กับนาย |
สุดแต่จะคิดสางให้สิ้นยุ่ง | ถ้าอิเหนาสมมุ่งก็สมหมาย |
ที่จะพร้องสองสามเปนความปลาย | ขอเชิญไปชมเดือนหงายเล่นอิกเอย |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
บทที่ ๓ ของหญิง
๏ สดับบทที่กำหนดมาในสาร | |
ว่าเรื่องใหม่ใช่สำเนาอิเหนาบุราณ | ท่านคิดอ่านเห็นพร้อมกันยอมใจ |
อันบาหยันนั้นก็จริงเหมือนเช่นว่า | แต่บุษบาเหลืออกจะยกให้ |
องค์อิเหนาเฝ้าประชวรป่วนพระไทย | มะเดหวีมิใช่เช่นเรื่องราว |
เพราะสุจริตคิดตามอารมณ์รัก | ไม่เทียมภักตร์บุษบาจึงพาฉาว |
ต้องขัดบทกำหนดนัดผัดคราว | ไว้เปนหล่าวนางชเลยที่เคยเปน |
เพราะนอกทางจึงค้างบทต้องงดเรื่อง | ประทานโทษเสียอย่าเคืองเปนเรื่องเล่น |
ที่นัดใหม่มิใช่เรื่องฉันขอเว้น | ประสันตากับระเด่นเร่งตรึกตรอง |
ต่อสี่กระษัตริย์นัดพร้อมในกาหลัง | สมดังมาดมุ่งบำรุงสนอง |
นางชเลยเคยเปนข้าฝ่าลออง | จึงจะพาไปรองธุลีเอย |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
บทที่ ๔ ของชายที่ ๒
๏ ขนิษฐ์น้อยพลอยโสมนัศา | |
พี่แต่งตั้งเปนสังคามาระตา | จะขอว่าให้เห็นความแต่ตามจริง |
ฉันสำหรับพนักงานการแต่งถ้ำ | อันเรื่องน้ำจะต้องหาแต่ท่าตลิ่ง |
ใช่ฉันจะลามล่วงเข้าท้วงติง | ด้วยคิดกริ่งอยู่ที่ข้อจะต่อไป |
พี่รับที่มะเดหวีไว้วันนั้น | ต่อหน้าฉันมั่นคำยังจำได้ |
ครั้นประสันตาเตือนเห็นเบือนไป | ก็เสียใจแต่ว่ายังจะฟังดู |
ด้วยเชษฐาได้แถลงไว้แจ้งประจักษ์ | จึงถือว่ารักข้างอิเหนานี้มากอยู่ |
แม้นชอบช่องเข้าก็เห็นจะเอนดู | อยากจะรู้ถึงปัญญาเชษฐาคิด |
เมื่อไรหนอจะเสร็จสมอารมณ์หมาย | น้องจะได้เคลื่อนคลายสบายจิตร |
จะรับส่วนนางชเลยไปเชยชิด | ให้เปนสิทธิ์สักสองสามตามจินดา |
พี่ช่วยตัดลัดเรื่องให้สมหวัง | ถึงสึกชีที่กาหลังเสียนัดน่า |
นี่ปลายบทสังคามาระตา | ขอเชษฐาหาให้อิกคนเอย |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
บทที่ ๕ ของหญิง
๏ ฟังสังคามาระตาน่าสงสาร | |
ต้องแต่งถ้ำทำท่ามาช้านาน | กำหนดการก็ไม่แน่ยังแชเชือน |
ฉันรับบทมะเดหวีไม่หนีคำ | แต่บุษบาจะพลอยทำให้จำเปื้อน |
ไม่แน่ไหนแต่อาไลยใหลเลือน | อึ้งเอื้อนอยู่ไม่อาจจะขาดคำ |
ให้ตัดกลางสร้างหนังแล้วแล้วฤๅ | เกรงแอหนังจะรื้อฉันเข้าค่ำ |
มะเดหวีไม่มีบทกำหนดทำ | แท้บุษบาเจ้ากรรมของฉันเอย |
ฯ ๖ คำ ฯ
บทที่ ๖ ของชายที่ ๑
๏ เนาในติกาหรังวังสถาน | |
เปนไข้ใจให้อาวรณ์ร้อนรำคาญ | แต่คิดการที่ลอบประโลมลอง |
พออนุชาคู่คิดขนิษฐา | กับพี่เลี้ยงประสันตามาทั้งสอง |
เข้าชี้แจงแถลงความตามทำนอง | เอาอักษรสารสนองให้น้องยล |
ทั้งสองฉบับสดับเรื่องเห็นเคืองขึ้ง | ก็นิ่งอึ้งอัดจิตรด้วยคิดฉงน |
เมื่อวอนว่าตามประสาเข้าตาจน | ฤๅไม่พ้นความผิดมาติดตัว |
น้องตอบโดยน้ำจิตรสุจริตรัก | ระวังนักมิให้มีราคีกลั้ว |
ด้วยว่าเปนงานประชันเข้าพันพัว | จะเปลื้องตัวเสียก็อายแก่ชายชาญ |
ฉันขอบคุณพี่การุญร่ำภ้อตัด | น้องก็รู้อยู่ชัดว่าขมหวาน |
ถึงสักหมื่นอื่นฤๅจะเทียมประทาน | ก็ไม่นานดอกจะได้เห็นใจน้อง |
ครั้นฟังฟังก็น่าสรวลสำรวลเล่น | ว่านางชเลยนั้นไม่เปนเช่นสารสนอง |
เหมือนตีปลาหน้าไซไม่ปรองดอง | ถ้ารักน้องแล้วอย่าฉาวเสียคราวครวญ |
ทุกวันนี้อนุชาอุส่าห์ชื่น | ทั้งเช้าค่ำกล้ำกลืนแต่กำสรวญ |
เปนหลายทุกข์หลายเท่าเข้าประมวล | ให้รัญจวนใจสวาดิ์เพียงขาดใจ |
ดังแผ่นทรวงพุพองเป็นหนองซาม | อย่าได้ถามเลยว่าเจ็บสักเพียงไหน |
ยิ่งเยียวยาโรครักยิ่งหนักไป | ไม่เห็นใครที่จะมาพยาบาล |
ชะรอยบุญบุพเพพาศนา | จึงเชษฐาให้มีจิตรคิดสงสาร |
มาถามดูรู้แน่ในอาการ | รับเป็นภารธุระมั่นช่วยผันแปร |
ว่าโรคทรวงพังพองเพราะข้องขัด | เอาไม้กลัดเสี้ยมส่งให้บ่งแผล |
ก็พลันหายคลายเจ็บในดวงแด | ยังเปนแต่เฝ้าติดอยู่นิดเดียว |
น้องมิได้มีจิตรคิดเข็ดขาม | จะรื้อเข้าสู้สงครามสิหนามเกี่ยว |
กลับอักเสบแสบยิ่งจริงจริงเจียว | โอ้ใครจะเยียวยาเล่าคิดเศร้าใจ |
ก็เห็นแต่พี่ซึ่งมีเมตตาน้อง | จะตรึกตรองให้เห็นความหนามนี้ได้ |
ทั้งช่วยคิดประกอบยาทาหไทย | นั่นแลไข้ใจฉันจะพลันคลาย |
ที่เชษฐาปรานีนุชช่วยอุดหนุน | ก็คิดคุณพี่อยู่ไม่รู้หาย |
จะจงรักไปกว่าชีวาวาย | น้องนี้หมายใจเปนหนึ่งจะพึ่งพา |
อันกำเนิดเกิดมาเปนบุรุษ | ได้ทุกข์สุดก็แต่สิ่งเสน่หา |
กับมานะในสันดานการพูดจา | สุดแต่ว่าเปนชายอย่าหมิ่นชาย |
น้องจะสู้สงครามด้วยความคิด | ถ้าสิ้นฤทธิ์รู้แน่จะแพ้พ่าย |
ก็จะเชิดเรื่องนี้เปนนิยาย | ขึ้นถวายไว้ให้เล่นลครรำ |
ซึ่งสังคามาระตาขอตัดบท | ก็ทราบหมดว่ายังเลื่อนแลเอื้อนอ้ำ |
บุษบาราคาแพงควรแคลงคำ | แต่ว่าจำจะรังแกให้แชเชือน |
แต่รุ่นเยาว์เท่าบัดนี้นะเชษฐา | ได้น้อยใจครั้งไรมาไม่มีเหมือน |
ดังจารึกด้วยหมึกหมายถึงลายเลือน | ยากจะเกลื่อนเกลี่ยไกล่ให้หายรอย |
น้องสนองพจมานสารสวัสดิ์ | สารพัดสัตย์ซื่ออย่าถือถ้อย |
ถ้าข้อไหนไม่งามเงื่อนแลเลื่อนลอย | จงตรองหน่อยอย่าด่วนแหนงระแวงเอย |
ฯ ๓๖ คำ ฯ
บทที่ ๗ ของชายที่ ๑
๏ ได้ฟังข่าวกล่าวไข้ก็ใจหาย | |
ว่าจับสท้านหนาวเย็นเปนมากมาย | ทั้งผิวกายก็ร้อนรุ่มคลุมสไบ |
โภชนากระยาหารก็ลืมรศ | อันโอสถซึ่งเคยประกอบหาชอบไม่ |
เห็นอาการจะนานคลายหลายวันไป | ดังจิตรใจน้องจะขาดอนาถทรวง |
แต่เวียนถามโรคาเชษฐาน้อง | มิได้พร้องเลยในกิจการหลวง |
ดังแสนเขาเท่าทับฤดีดวง | ให้เหงาง่วงหงอยจิตรคิดคนึง |
ครั้นจะใช้คนสนิทธิดาเลี้ยง | มากล่าวเกลี้ยงคำงามถามข่าวถึง |
ก็เกรงคนจะแหนงในสงไสยอึง | ด้วยพี่พึ่งจะนับน้องครองไมตรี |
ถ้าไปได้น้องจะไปให้ถึงสถาน | พยาบาลโรคารักษาพี่ |
จะชอ้อนวอนถามไปตามที | ให้ปรานีบอกโรคที่รึงกาย |
ทั้งจะวอนให้อุส่าห์เสพอาหาร | เห็นอาการเชษฐานั้นจะพลันหาย |
นี่ตัวไกลใจเพียงจะขาดตาย | ได้แต่คอยข่าวคลายไม่วายวัน |
อันอกน้องที่ต้องหนามสองสามแผล | ก็กำเริบขึ้นแหลแท้เวรฉัน |
จึงพเอิญให้เจ็บป่วยลงด้วยกัน | เห็นแสงจันทร์แล้วยิ่งแสนเสียดายเดือน |
จะแก้ใจด้วยกาพย์กลอนลครคิด | โคลงลิลิตกระบี่ปืนไม่ชื่นเหมือน |
ยามนอนนอนกระสันนึกฟั่นเฟือน | คิดจะเตือนก็พอทราบซึ่งอาการ |
อนุชาพากันวิตกนัก | จึงลิขิตลายลักษณ์อักษรสาร |
มาต่างกายอยู่รักษาพยาบาล | อย่าไข้นานเลยจงหายเคลื่อนคลายเอย |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
บทที่ ๘ ของหญิง
๏ อภิวาทรับกระดาษบรรหารสาร | |
นิพนธ์ทรงแทนพระโอษฐโปรดประทาน | ได้ทราบสารก็สิ้นแคลงระแวงวน |
ดังสุหร่ายทิพย์โรยโปรยลออง | ชำระหมองกระหม่อมฉันสักพันหน |
มิเสียแรงที่เพียรพากฝากสกนธ์ | ถวายชนม์ชีพไว้ใต้บาทมูล |
สัจจังจิตรมิได้คิดรำพรรณภ้อ | คิดว่าก่อไม่สานตามเกรงความสูญ |
เมื่อตรัสประภาษสิไม่อาจสนองทูล | เกรงจะภูลเพิ่มผิดเมื่อปลายมือ |
จึงทูลฉลองโดยทำนองสุจริต | กระหม่อมฉันนั้นคิดตามจิตรซื่อ |
ไม่ลบล้างบทเบื้องให้เคืองครือ | ใช่จะรื้อเสียไม่ริดำริห์ตรอง |
ทุกวันนี้เว้นแต่หลับจึงลืมตรึก | คนึงนึกถึงพระคุณการุญสนอง |
ที่สิ่งชั่วมิให้กลั้วใต้ฝ่าลออง | ที่สิ่งเคืองมิให้ข้องพระอัธยา |
ประสาใจโดยที่สุจริต | ระแวงผิดจะติดพันไปวันน่า |
เหมือนทรงดำรัสตัดภ้อในอักขรา | ว่าตีปลาน่าไซไม่ปรองดอง |
ยามการุญก็เปนคุณอยู่ส่วนตัว | แม้นไม่โปรดก็จะชั่วมัวหมอง |
ใช่ทูลทัดให้ขัดเคืองใต้เบื้องลออง | มาเกี่ยวข้องเปนเช่นนี้นี่เนื้อกรรม |
ก็ทราบสิ้นอยู่ว่าปิ่นกระษัตริย์ศึก | หมายนึกในสงครามจะห้ำหั่น |
ก็ย่อมหมายชนะกะได้กัน | กระหม่อมฉันฤๅจะกล้าเข้าฝ่าเกิน |
ซึ่งหนามความรับสั่งมาครั้งนี้ | ว่าหมอดียาชงัดตรัสสรรเสริญ |
รับสอยส่งบ่งให้บุพโพเดิน | ไม่ทันเนิ่นสิหนามเกี่ยวน่าเหี่ยวใจ |
รับสั่งให้ประกอบยาทาแผลหนาม | พิเคราะห์ความข้อนี้น่าสงไสย |
พระโรคคลายย้ายยักกลับหนักไป | จนแพทย์ไม่ทันตรึกรำฦกยา |
เห็นเหลือหมอจะหายาทาพระแผล | เกรงพระโรคจะแปรไปวันน่า |
เมื่อแพทย์เดียวเวียนด้นค้นตำรา | เฝ้าตรึกตราถึงพระโรคจนเจียนงอม |
ซึ่งจะให้เสื่อมคลายหายแผลหนาม | ทรงจับความเรื่องปลายที่หมายถนอม |
เห็นพอจะคลายลงที่ทรงตรอม | นั่นและทูลกระหม่อมเปนทิพยา |
ใช่จะทูลเกี่ยงกันนั้นมิได้ | ด้วยสุดใจเหลืออกจะยกว่า |
ซึ่งออกพระโอษฐโปรดปรานประทานมา | จะชุบเลี้ยงไปกว่าชีวันวาย |
พระคุณเหลือเจือจอมกระหม่อมชุ่ม | ดังโพธิ์พุ่มแม่นมั่นสำคัญหมาย |
ขอรองบาทยุคลจนวันตาย | ไม่หนีหน่ายหลีกเลี่ยงคิดเบี่ยงเบือน |
จะทอดกายหมายว่าแทนฉลองบาท | ธุลีพาดมิให้หมองลอองเปื้อน |
อาสาโดยสุจริตไม่บิดเชือน | ไม่ลอยเลื่อนหมายเปนหนึ่งจะพึ่งพา |
เว้นเสียแต่ในภพนภาพื้น | นั้นสุดฝืนที่จะฝ่าทูลอาสา |
ที่จัดจริงทุกสิ่งสนองมา | เปนสัจจาสารพัดจะขัดเคือง |
อันสารสนองรองเบื้องบทรัช | ไม่สันทัดทูลความไปตามเรื่อง |
ที่ข้อไหนไม่ประจักษ์ยังยักเยื้อง | ประทานโทษโปรดอย่าเคืองเบื้องบาทเอย |
ฯ ๓๔ คำ ฯ
บทที่ ๙ ของชายที่ ๑
๏ สดับสารแสนโสมนัศา | |
ปานจุลจักรพรรดิขัติยา | ได้จินดาดวงรัตน์จำรัสเรือง |
ทราบสุนทรที่อำนวยอวยโอษฐ์ | เสนาะโสตรแสนประคิ่นจนสิ้นเรื่อง |
สารพัดจะการุญไม่ขุ่นเคือง | แต่ยักเยื้องอยู่ที่ข้อจะต่อความ |
ขอเชษฐาอย่าได้แคลงแหนงฉงน | อันอนุชานี้เปนคนเคยสนาม |
ถ้าใครก่อพอเห็นเส้นคงสานตาม | มิใช่จะลามย่ามใจไม่เกรงกลัว |
ด้วยเห็นว่าเปนเนื้อน้ำธรรมชาติ | ถึงจดมาศมิได้มีราคีกลั้ว |
จึงสู้ออมตรอมจิตรไม่คิดกลัว | จนพันพัวเพิ่มวิตกในอกน้อง |
ฉันบอกพี่ว่าหนามเหน็บที่เจ็บเหลือ | ก็มิเชื่อเนื้อกรรมมาจำสนอง |
ที่ข้อแคลงแหนงฤไทยในทำนอง | ไม่การุญขุ่นข้องหมองกระมล |
น้องใจซื่อถือว่าพี่เปนที่หวัง | จะปลูกฝังแล้วควรรักเปนพักผล |
เหมือนหว่านกล้านาปลังริมฝั่งชล | จะงามต้นไปทุกกอแตกหน่อรวง |
อย่าประวิงกริ่งเหตุเลยเชษฐา | ว่าน้ำน้อยจะเสียนาต้องคว้าสวง |
จงเห็นรักประจักษ์แจ้งใช่แสร้งลวง | ก้ควรท้วงแล้วที่กลัวจะมัวไป |
ฉันขอบคำพี่ร่ำว่าเมตตาน้อง | ช่วยตรึกตรองเว้นแต่หลับหาลืมไม่ |
ครั้งนี้น้องก็หมายมั่นสำคัญใจ | จะรื้อไข้ก็เพราะพี่พยาบาล |
ซึ่งให้จับเรื่องปลายจะคลายเจ็บ | เมื่อหนามเหน็บอยู่ยังหาแต่ยาสมาน |
เห็นเหลือกำลังประทังทุกข์ที่ทรมาน | กระยาหารมื้อหนึ่งลงครึ่งช้อน |
ถึงจะสูญสิ่งสวาดิสิ้นวาศนา | น้องจะเอาใจไว้ท่าเชษฐาก่อน |
จะสู้ยากพากเพียรไปเวียนวอน | กว่าจะอ่อนผ่อนจิตรคิดเมตตา |
ซึ่งเชษฐาตอบตัดว่าขัดข้อง | ด้วยโรคน้องนี้ยังยากเหลือรักษา |
ฉวยหายแล้วจะกลับเล่าเฝ้าขอยา | ฟังพี่ว่าก็เห็นต้องทำนองความ |
อันธรรมดาหญิงชายทั้งหลายหมด | ควรกำหนดได้ฤๅหนอน้องขอถาม |
ย่อมทุกข์โศกโรคร้อนทุกรูปนาม | ใครไม่ห้ามหักได้ใจเจตนา |
เป็นนิไสยประเพณีชาตรีบุรุษ | มิรู้สุดสิ้นสวาดิ์แลปราถนา |
ควรฤๅพี่ช่างไม่คิดอนิจา | ให้อนุชาทุกข์ตรอมออมอาไลย |
จงเห็นว่าน้องหมองจิตรคิดขัดสน | เหมือนนอนว่ายสายชลชเลไหล |
จะหมายฝั่งมหาสมุทก็สุดไกล | จะพึ่งไม้ขอนน้อยไม่ลอยเคียง |
จะอ่อนแรงสิ้นกำลังประทังว่าย | ก็หมายใจว่าจะตายนี้แท้เที่ยง |
ได้แต่กุศลผลสัตย์ไว้เปนเสบียง | บำรุงเลี้ยงชีพว่ายอยู่หลายวัน |
อันพี่นางอย่างเทพอับศร | ซึ่งเขจรจากสถานพิมานสวรรค์ |
มาช่วยน้องในมหาสาครคัน | ให้รอดชีวันพ้นชลทนเวทนา |
ทุกวันนี้ไม่ลับล่วงเพราะห่วงน้อง | ด้วยรักสองดรุณเรศกับเชษฐา |
เหมือนถือสัตย์ว่ายวนในชลชลา | จนนางฟ้ามาชูช่วยไม่ม้วยมรณ์ |
จะเปรียบปรายคล้ายพระลอรัญจวนจิตร | เมื่อต้องวิทยาน้องสองสมร |
ไม่อาไลยในสุรางค์แลนคร | สู้สัญจรไปสมสองได้ครองกัน |
อันเรื่องอิเหนานั้นก็คิดเปนนิจอยู่ | จะพันตูสู้ศึกสงครามขัน |
แต่ยังขัดอยู่ด้วยแผลนี้แก่วัน | ฤๅแสงจันทร์นั้นไม่คอยน่าน้อยใจ |
โอ้ดวงเดือนเลื่อนฟ้าวราฤทธิ์ | ยังดลจิตรพี่นางบ้างฤๅไฉน |
ให้พาน้องสองสมรเขจรไป | พอพี่ได้พบภักตร์รู้จักเอย |
ฯ ๔๐ คำ ฯ
บทที่ ๑๐ ของหญิง
๏ ชลีกรอ่อนศิโรตม์รับสั่งสาร | |
น้อมสดับจับโสตรโปรดประทาน | พระบรรหารล้วนเลิศประเสริฐทรง |
ดังตรีเนตรประเวศดาวดึงษ์หวัง | ประสิทธิ์สังขวารินมาโสรจสรง |
เฉลิมยศปรากฎขจรพงศ์ | เปนฉัตรทรงร่มเกล้ากระหม่อมเย็น |
พระเดชานุภาพเพียงปราบภพ | ไม่เล็งลบในทวีปชมพูเห็น |
พระเมตตาดังมหาพิรุณกระเซ็น | มิได้เว้นว่างหน้าข้าลออง |
น้ำพระไทยใสสุดจะเอื้อมอ้าง | จะไว้หว่างเกล้าจอมกระหม่อมสนอง |
ประภาษพจน์แต่ละคำดังจำลอง | จารึกทองไว้กับแผ่นศิลางาม |
ด้วยการุณังหวังพระไทยในนพมาศ | แต่ธรรมชาตินี้เชื่อเพียงเนื้อสาม |
เพราะน้ำย้อมช่วยถนอมจึงชูนาม | เห็นไม่งามรับยาราชาวดี |
ที่ตรงแท้แน่นพคุณถ้วน | นั่นและควรเครื่องคู่ให้ชูศรี |
อันเนื้อต่ำช้ำยาราชาวดี | ที่ทูลนี้โดยรักไม่ชักแช |
ก็ทราบสิ้นในระบิลพระโรครบ | หนามกระทบยอกช้ำระกำแผล |
ทำไมกับเสี้ยนนิดไม่คิดแปร | วิตกแต่ข้างสงครามให้งามควร |
ซึ่งนิไสยประเพณีชาตรีบุรุษ | มิรู้สุดสิ้นมาดสวาดิ์หวน |
ก็ชอบชื่อในระหัศตรัสประมวล | ประทานถ้วนทูลถามด้วยความแคลง |
อันธรรมดาว่ากุมารประธานโลก | จะซูบโศกเฝ้าช้ำเปนคำแฝง |
ด้วยสงครามนั้นสิค้างอยู่กลางแปลง | ว่าศึกทรวงหน่วงแย่งไว้หว่างการ |
จะยั้งทัพกลับรอพอประทะ | รักษาแผลพระอุระเห็นผิดสาร |
ฤๅเยื้องเล่นเช่นราชาธิราชชาญ | นั่นทหารลองพระไทยให้แจ้งจริง |
เมื่อทูลกระหม่อมนี้เปนจอมจรรโลงเลิศ | พระโรคเกิดตรัสเยื้องอย่างเรื่องสมิง |
เห็นไม่ต้องพระธรรมนูญทูลท้วงติง | ประทานโทษโปรดอย่ากริ่งว่าทูลเกิน |
พระวาจังหวังเกล้ากระหม่อมเปรียบ | ประทานเทียบเทียมเทพสรรเสริญ |
เปนอับศรรักษาชลาเนิน | สำหรับเชิญช่วยชีพให้พ้นชล |
ก็ควรขอบชอบพระกำหนดอ้าง | แต่ใช่นางจะช่วยศุขทุกแห่งหน |
จะขึ้นพ้นกระสินธุ์สายที่ว่ายวน | นั่นกุศลส่วนพระองค์ดำรงชู |
อันสองนางอย่างเรื่องพระลอดิลก | ประทานยกบทห้ามยังคร้ามอยู่ |
จับเมื่อจากหมันหยามาพันตู | จะได้ดูระเด่นโศกวิโยคโทรม |
ศศิธรจรดลบันดาลเดช | ก็สังเกตตามรับสั่งยังบังโฉม |
ไม่เด่นดวงมืดมิดปิดโพยม | สุดที่โทมนัศคอยน่าน้อยใจ |
อนิจาแขดวงจะล่วงรีบ | สี่ทวีปส่องกระจ่างสว่างไข |
ที่มืดมนัศขัดข้องหมองฤไทย | ไม่เรื่อไรเมฆปิดเจียนมิดดวง |
ทั้งสูงโสดนับโยชน์เหลือโอษฐ์แถลง | ชมแต่แสงไม่ทันสิ้นเมฆินหวง |
สู้ทนมืดฝืดช้ำระกำทรวง | จะถามท้วงเกรงจะเคืองเบื้องบาทเอย |
ฯ ๓๔ คำ ฯ
บทที่ ๑๑ ของชายที่ ๑
๏ สำเนาลักษณ์อักขรานุชาสนอง | |
โดยระบอบชอบความตามทำนอง | สิ่งใดข้องคำขัดอย่าตัดใจ |
ซึ่งสรรเสริญอนุชามาทั้งเรื่อง | ก็กระเดื่องดินฟ้าสุธาไหว |
สมพรปากให้เปนจริงทุกสิ่งไป | น้องจะได้โกยกองสนองคุณ |
ว่านพมาศชาติทองคำเปนน้ำสาม | ช่วยชูนามย้อมเนื้อเกื้อหนุน |
ฟังก็งามตามประสาไม่การุญ | เหมือนน้ำขุ่นแต่กลั้วกลิ่นจึงกินเย็น |
อันที่กำเนิดเกิดบ่ออุไรร่อน | ทั่วนครที่มีอยู่น้องรู้เห็น |
ได้ร่อนแล้วแล้วก็ได้ไปไว้เปน | จะชี้เช่นน้ำเนื้อเห็นเหลือประมาณ |
ถึงบ่อบางตะพานใหญ่ก็ได้ฟื้น | ก็ไม่ยืนเนื้อน้ำซ้ำแตกฉาน |
อันอัตปือเขาฦๅแร่แต่บุราณ | น้องก็พานพบบ่อได้พอเพียง |
แต่ร่อนลองสองตำบลจนล้นเหลือ | จะถือว่าเนื้อแปดที่ไหนนั้นไม่เที่ยง |
บ้างสูงน้ำต่ำนิดพอชิดเคียง | บ้างก็เพียงสี่เศษสังเกตตา |
อันบ่อบางตะพานน้อยนี้ลอยเลิศ | เปนที่เกิดชมพูนุทเห็นสุดหา |
ถึงร่อนได้ก็แต่ล้วนคู่ควรราคา | จึงอุส่าห์สู้ลำบากพากเพียรกาย |
จะสูงต่ำน้ำเนื้อนั้นทราบสิ้น | แต่รักถิ่นธรรมชาติจึงมาดหมาย |
ทำไมกับการสงครามเปนความปลาย | ซึ่งจักนิยายรามัญรำพรรณมา |
นั่นยกไว้ต่อเมื่อแน่จะแพ้ฤทธิ์ | จึงจะคิดหาเหตุลองเชษฐา |
เปนมั่นแม่นแม้นมิเฮก็ได้ฮา | พี่แต่งตาไว้คอยดูเงี่ยหูฟัง |
เมื่อหนามเหน็บเจ็บสวาดิ์เพียงขาดชีพ | ฤๅกลับบีบให้แผลช้ำเนื้อกรรมหลัง |
สงสารตัวมัวรักพี่จริงจัง | พี่หากชังน้องนี้แน่จึงแปรปรวน |
โอ้อาไลยประหนึ่งใจจะจากร่าง | ฤๅพี่นางก็มาเอื้อนให้เตือนหวน |
แม้นรู้ว่าถ้ามิได้แล้วไม่กวน | จะสู้ม้วนหน้าเศร้ากอดเข่าตรอม |
นี่เวรเคยได้เชือนชักสมัคสมาน | ทรมานมิใช่คู่เข้าชูถนอม |
มาตามทันชาตินี้มีแต่ตรอม | สุดจะอ้อมอกช้ำระกำใจ |
ครั้นคิดคำที่ร่ำว่าเมตตาน้อง | สิ่งประสงค์มิให้ข้องอัชฌาไศรย |
เว้นแต่ดวงดอกฟ้านภาไลย | ในต่ำใต้แล้วคงเสร็จสำเร็จรัก |
ยังจับจิตรคิดคุณมิรู้หาย | ฤๅมากลายเปนแสลงพึ่งแจ้งประจักษ์ |
เพราะดวงเดือนไม่เลื่อนล่องจึงหมองภักตร์ | ครั้นส่องนักเกลือกจะเบือนให้เดือนอาย |
น้องขอถามถึงความไข้ด้วยเชษฐา | ได้ยินข่าวกล่าวว่าโรคาหาย |
จงอยู่ชมธิดาสามแต่ตามสบาย | อันน้องชายนี้อย่าคิดให้จิตรพะวง |
โอ้สองสมรมิตรขนิษฐนาฎ | แม้นสิ่งสวาดิ์พี่ไม่เสร็จสำเร็จประสงค์ |
จะจาบัลย์รันทดกำสรดทรง | เชษฐาจงกรุณาเมตตาเอย |
ฯ ๓๒ คำ ฯ
บทที่ ๑๒ ของชายที่ ๓
๏ ฉันทราบข่าวเล่าฦๅกันอื้อฉาว | |
ว่ามีโจทย์กล่าวโทษด้วยเรื่องราว | ขอกราบท้าวเรียนฟ้องทำนองความ |
เปนสาหัสคัดข้อต่อสาเหตุ | ปฏิเสธกลับความให้งามสนาม |
ในข้อหาว่าฉันขันประชันงาม | ไม่ต่อตามราคาว่าเต็มแพง |
ข้อหนึ่งว่าของดีไม่มีชั่ว | ฉันปลุกปล้ำจำให้มัวด้วยลมแสลง |
จะแบกบาปหาบหักจนหนักแรง | แยกแย้งไม่เกรงผิดจนติดพัว |
สู้ฟันฝ่าสามิภักดิ์รักสินจ้าง | มณีนางแผ้วผ่องว่าหมองสลัว |
เอาเท็จแฝงแต่งคำให้จำมัว | แกล้งถมชื่อฦๅทั่วจนมัวนวล |
ในข้อหาทราบมาพอสมนึก | ที่ตรอมตรึกจะใคร่ให้คุณไต่สวน |
ที่ข้อแฝงแต่งคำยังอำยวน | ให้ถามทวนเบิกความตามข้อฟ้อง |
แต่คอยฟังตั้งท่าทิวาเนิ่น | กำหนดเกินนั้นเลื่อนจึงเตือนสนอง |
ข้อคดีนี้ได้ทราบกราบฝ่าลออง | ฤๅเกี่ยวข้องอยู่เพียงเท้าเจ้าคุณเธอ |
คือตัวใครกล่าวโทษเปนโจทย์อ้าง | ที่เรื่องร่างข้อคำนำเสนอ |
แม้นเจ้าคุณได้อำนวยอวยเออ | โปรดอย่าเพ่อฟังความถามฝ่ายเดียว |
จงวินิจฉัยไตร่ตรองให้ถ่องแท้ | โปรดแปรสำเนาความตามซีกเซี่ยว |
ให้สะส่างสว่างอกที่รกเรี้ยว | เดือนหงายจะได้เที่ยวเล่นอิกเอย |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
บทที่ ๑๓ ของชายที่ ๒
๏ สนทนาอยู่กับนายถึงรายหนาม | |
พอพี่ใช้ให้มาแจ้งแถลงความ | พิเคราะห์ตามคำว่าก็น่าแคลง |
แต่เวียนอ่านสารสำนวนทวนหลายกลับ | ดูเลื่อนลับคมขำเปนคำแฝง |
เห็นความนิดที่ข้อว่าราคาแพง | ไม่โจ่งแจ้งต้นปลายให้ทายเดา |
เหลือปัญญาตรึกไตรจะไต่สวน | ด้วยความทวนทบเยื้องไปเรื่องอิเหนา |
ไม่ได้เห็นไม่ได้รู้เลยหูเรา | นี่ใครเล่าประหลาดหนอมาก่อการ |
จึงนำสำเนาเค้ามูลขึ้นทูลสนอง | ตามเรื่องฟ้องโจทย์หาให้ว่าขาน |
เกรงเกลือกจะไม่มีสักขีพยาน | ตระลาการถูกอุทธรณ์แน่นอนใจ |
ท่านยิ้มเยื้อนเอื้อนโอษฐ์โปรดประภาษ | ฟังประหลาดเหลือสังเกตนี่เหตุไฉน |
ทั้งข้อหาก็น่าแหนงแคลงฤไทย | เมื่อใครมิได้มากล่าวโทษเปนโจทย์ยัน |
ครั้นจะว่าแสร้งสงไสยก็ใช่ที่ | เห็นจะมีผู้กระตุ้นให้หุนหัน |
ช่างต่อติดผิดถูกเข้าผูกพัน | ยังมิทันที่จะเชิดสิเกิดความ |
แล้วท่านกลับหารือรื้อปฤกษา | กับตัวฉันประสันตาด้วยเปนสาม |
รู้ฤๅไม่อย่างไรอยู่ดูงุ่มง่าม | ใครต่อตามให้จนขึ้นราคาแพง |
เมื่อเราสำรวลอยู่ไม่รู้เรื่อง | เขาฦๅเลื่องที่ตรงใครก็ไม่แจ้ง |
ทั้งไม่มีผู้จะกล้ามายุแยง | มิรู้แห่งจะตรึกไตรใคร่ครวญ |
ถ้าหากว่ามีผู้บอกออกตัวให้ | เห็นพอจะวินิจฉัยไต่สวน |
นี่เปนแต่ฦๅอื้อฉาวกล่าวทบทวน | จะเก็บประมวลเอามาฟ้องแลร้องฎีกา |
กฎหมายห้ามตามธรรมนูญกระทรวงศาล | ตระลาการผู้บังคับอย่ารับว่า |
แต่เปนความมลทินเขานินทา | ผูกสาเหตุเชษฐาว่าน้อยใจ |
อนุชาก็คิดแค้นแสนพิโรธ | แต่หารู้ที่จะโกรธผู้ใดไม่ |
ฤๅพี่หากชังฉันนอนฝันไป | ก็ผิดนิไสยใช่ที่จะควรเปน |
ฉันใดจะได้ตัวคนโกรธพี่ | ใครตาทิพหนอช่วยชี้ออกให้เห็น |
จะสืบสาวลมปากนี้ยากเย็น | ประหนึ่งเล่นปิดตาเที่ยวหากัน |
ท่านให้น้องสนองมาว่าความพี่ | ถ้าแม้นมีผู้ถ้อยยำคำมั่น |
จะออกเปนตัวว่ากล้ายืนยัน | ก็ให้ไปว่ากันในวันแรม |
อันข้อฟ้องน้องฟังกระแสตรัส | มิให้ผัดนัดเลื่อนถึงเดือนแจ่ม |
ทั้งท่านบ่นอยู่ด้วยความหนามเหน็บแนม | ไม่มีแย้มยิ้มสรวลสำรวลเลย |
เห็นพระจริตปรวนแปรกว่าแต่ก่อน | เฝ้าอาวรณ์ถอนพระไทยไม่สรงเสวย |
สารพัดจะผิดจริงทุกสิ่งเคย | จนลืมเลยเรื่องอิเหนาคิดเผาเมือง |
น้องขอเชิญไปตรวจงานการวัดใหม่ | พอชูพระไทยที่กำสรดให้ปลดเปลื้อง |
เหมือนพี่ได้การุญอย่าขุ่นเคือง | อย่าให้เปลืองวันคืนไปหมื่นปี |
ทั้งทุกข์ฉันจะบันเทาที่โหยหา | ประสันตาก็คลายหายปวดฝี |
น้องชะอ้อนวอนว่าจงปรานี | ในราตรีพรุ่งนี้เชิญดำเนินจร |
อันข้อดำรัสตรัสประภาษนั้นอาจหาญ | ตามทำนองตระลาการไม่โอนอ่อน |
เชษฐาจงอวยโอษฐ์ที่โทษกร | อย่าตัดรอนเลื่อนนัดผัดผ่อนไป |
ฉันขอกระซิบความลับกำชับพี่ | ที่หนามนี้คิดถวายให้จงได้ |
เบื้องน่าถ้ามิงามความชอบไซ้ | จึงอย่าได้นับหน้าอนุชาเอย |
ฯ ๓๘ คำ ฯ
บทที่ ๑๔ ของชายที่ ๓
๏ ลิขิตสารโดยการสุจริต | |
ได้แจ้งร้อนใช่นอนอารมณ์คิด | สัจจังจิตรใช่จะเฉลยละเลยความ |
แต่คอยฟังตั้งท่าทิวานับ | โสตรสดับคอยความสงครามสนาม |
ตาตั้งระวังประตูคอยดูงาม | ตามสั่งมิให้คลาศประมาทเมิน |
เห็นวาวแววแล้วไม่แน่อารมณ์เล่า | เรียนใต้เท้าทวนถามกลับขามเขิน |
คุณอ้ำเอื้อนเหมือนฉันถามข้อความเกิน | มีกรรมพเอิญแล้วฤๅหนอน่าท้อใจ |
สำคัญคิดจิตรจงแต่ตรงซื่อ | โอ้ยามนี้สิท่านรื้อนี่เหตุไฉน |
ก็แล้วเถิดคุณอย่าให้วุ่นฉันต่อไป | จะเจียมใจเจียมตัวด้วยกลัวพราง |
สารพันในอกหยิบยกแจ้ง | นี่ระแวงข้อใดหนอไม่พอหมาง |
ไม่พอที่จะมามัวชั่วอยู่กลาง | อันเรื่องนางไม่ขอเพียรเรียนแล้วเอย |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
บทที่ ๑๕ ของหญิง
๏ สรวมชีพข้าบาทบรมนารถ | |
ควรมิควรขออย่าเคืองใต้เบื้องบาท | อันชีวาตม์อยู่ใต้ธุลีลออง |
จะเท็จจริงไฉนไม่ทราบเกล้า | เปนแต่คำฦๅเล่ากล่าวสนอง |
ว่าจอมเจ้าอิเหนานารถนั้นสมปอง | กระหม่อมฉันก็พลอยผ่องอารมณ์ครัน |
เห็นศศิส่องผ่องแผ้วนภาพื้น | โดยแต่ชื่นแสงเดือนจนเชือนฝัน |
ว่าจากถิ่นสู่ท่าสาครครัน | ประทับมั่นบางจากข้ามอารามตรง |
จนฟื้นฝันแล้วยังมั่นไม่วายชื่น | เปนหลายคืนตั้งเพ้อละเมอหลง |
ฝันประหลาดอนาถจิตรคิดพะวง | ฤๅจะส่งยศยิ่งภิญโญเรือง |
ฤๅจะถอยอัพลานิรายศ | จะกำหนดลงไฉนไม่ได้เรื่อง |
ฤๅจะผิดราชกิจระแวงเคือง | ประทานเปลื้องแก้นิมิตรประสิทธิ์พร |
เหมือนพระอิศโรราชประสาทพจน์ | ชำระรดอุปัทวะสละสลอน |
เจริญสวัสดิ์สารพัดสถาวร | จะได้จรไปชมเดือนเหมือนฝันเอย |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
บทที่ ๑๖ ของชายที่ ๑
๏ เปนน่าสรวลสำนวนคำช่างทำเส | |
เดิมไม่แจ้งก็สำคัญว่าฝันคะเน | มิรู้เล่ห์สุกระสารจึงเสียกล |
ซึ่งเชษฐาว่าอิเหนานั้นสมหวัง | น้องฟังฟังก็แหนงนึกตรึกฉงน |
บัดนี้ระเด่นเปนขุนแผนแสนขลังมนต์ | ผูกภาพยนต์มาหาน้องวันทองไป |
อันท่านแท้องค์อิเหนาอสัญหยา | ย่อมเรืองณรงค์ทรงปัญญาจะหาไหน |
ทั้งสมบัติพัศถานออกลานใจ | ควรจะได้นางดาหาวราทรง |
ด้วยมะเดหวีก็รับรักช่วยชักเย่อ | ไหนพวกพ้องจะอือเออเสนอส่ง |
รู้จักภักตร์ตระหนักนามอยู่สามอนงค์ | ล้วนแต่จงใจพุ้ยตะกุยตะกาย |
ขี้คร้านฟังขี้คร้านเชื่อมันเหลือยุ่ง | จะใส่ถุงถ่วงให้ละลายหาย |
แต่เสียแรงที่กำเนิดเกิดเป็นชาย | จำจะส่ายเสียให้เฟื่องตามเรื่องราว |
เจ้าข้าเอ๋ยนักเลงเล่นจงเห็นประจักษ์ | อยากปลูกรักไว้กันกาจะพาฉาว |
ถ้าแม้นได้เปนเพื่อนชมเดือนดาว | จึงค่อยกล่าวขอสู่ได้ดูใจ |
ประการหนึ่งฟังให้รู้ในเชิงด้วย | ถ้าแต่งมวยแล้วเราอย่าเข้าใกล้ |
เล็บจะหักเสียดอกพ่อฉันขออะไภย | ขอเชิญไปพูดกันสักวันเอย |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
บทที่ ๑๗ ของชายที่ ๑
๏ ขนิษฐน้องหมองฤไทยไห้หวน | |
ด้วยพี่นางขนางจิตรคิดมิควร | ฤๅมาปรวนแปรสวาดิ์เหมือนขาดรัก |
จะว่าไปไหนเลยจะเล็งเห็น | ประหนึ่งเช่นว่าหงษ์หลงตกปลัก |
สุบรรณบินรีบรุดไม่หยุดพัก | จนปีกหักตกตมระทมใจ |
แต่เสร็จศึกสมนึกน้องได้ครองชื่น | ไม่มากคืนก็ใจจางทางพิศมัย |
ด้วยข้อขำอำเอื้อนชายเกลื่อนไป | จึงเห็นว่าใจจะเกรงจิตรคิดคำปราม |
ก็ใช่น้องจะฟื้นฝอยหารอยตะเข็บ | ใช่หนามเหน็บแล้วจะคงบ่งด้วยหนาม |
คอยจะเยียวยาให้มิดผนิดความ | ได้ทำตามถึงสามครั้งไม่พังเค |
ครั้นจะปรามห้ามกันไปก่อนพร้อง | เห็นพวกพ้องเขาจะชวนกันสรวลเส |
ที่น้องว่าถ้ามิฮาก็ได้เฮ | จะต้องเร่เรื่องสงครามไปตามชิง |
แต่เกรงผิดคิดตัวด้วยกลัวจะหมอง | ถึงหนาวเนื้อจะต้องกองอัคคีผิง |
อนุชากาฝากนี้ยากจริง | แต่ความนิดหนึ่งก็กริ่งประวิงประแวง |
แม้นคืนคายได้ดังจันทคาธจับ | เปนแต่เลียมเทียมทับพอลับแสง |
จะบอกบริสุทธิ์ให้อย่าได้แคลง | มิให้แล้งฝนฟ้าทั้งนาดอน |
ได้รู้เช่นเห็นงามสิ้นยามชื่น | น้องไม่คืนคิดเพียรมาเวียนหลอน |
จะได้ดูเล่นสบายฝีพายคอน | ให้นายอากรผูกขาดเขามาดประมูล |
โอ้อาไลยไยเชษฐานิราสวาดิ์ | มิทันสมอารมณ์มาดจะขาดสูญ |
เมื่อเคยเอนดูชูช่วยอนุกูล | ให้เพิ่มภูลสิ่งเสน่ห์ไม่เรรวน |
เห็นเฉยเชือนครั้นจะเตือนก็เกรงจิตร | แต่ใคร่คิดทุกคืนค่ำกินกำสรวญ |
เหมือนจะแสร้งแกล้งกลบให้รบกวน | เมื่อไม่ควรฤๅมาเคืองกระเดื่องใจ |
น้องรับผิดแล้วที่ปลิดนางดาหา | จนเชษฐาได้หมองหมางทางพิศมัย |
ก็สาเจ็บสิที่คิดให้ผิดไป | สาแก่ใจสิที่ช่างไม่รั้งรอ |
ซึ่งพี่นางปรานีน้องไว้สองนัด | ก็เห็นชัดแล้วสวาดิ์สิทธิ์ขาดหนอ |
อายุสัตว์เจ็ดสิบปีนี้มิพอ | ทำไมจะขอต่อชีวันได้พันปี |
บุรุษฤๅควรถือเช่นไว้เปนอย่าง | เหมือนแอหนังท่าเรือจ้างกับปันหยี |
สู้พากเพียรเวียนระไวเปนไมตรี | ได้สมนึกสึกชีชรารา |
อันเดือนพิธีตรุษแม้นหลุดเลิก | เห็นสิ้นฤกษ์แล้วหนอต่อปีน่า |
ฉวยจะเลยลับเลื่อนเดือนแรกนา | พระวสาสารทซ้ำอัมพวาย |
ประจบจนชนเดือนสี่สิ้นปีเถาะ | ก็เปนเคราะห์จึงไม่สมอารมณ์หมาย |
ใช่น้องจะคิดแก่ยากลำบากกาย | จะเพียรพายไปจนเสร็จสำเร็จรัก |
แม้นชาตินี้มิได้ครองประคองชื่น | ด้วยได้อื่นรื่นสำราญสมานสมัค |
ควรจำเภาะเจาะจงเอาทรงสพัก | ทำธงปักขึ้นบูชาจุฬามณี |
จะตั้งจิตรพิศฐานการกุศล | เดชะผลสามิภักดิ์ที่รักพี่ |
จะเกิดเปนบุรุษไปในโลกีย์ | ขอให้มีปรีชาเฉลียวการเกี้ยวพาน |
บรรดาหญิงใช่ญาติสนิทให้จิตรประวัติ | เหมือนลมพัดถูกธงจงใจสมาน |
จะนึกไหนได้สมหวังจิรังกาล | อย่ารู้รานรักร่ำระกำตรอม |
การวิวาห์อย่าหน่วงเนิ่นให้เหินหาว | ต้องนอนหนาวนึกแพรดำร่ำกลิ่นหอม |
ขอชมเดือนเหมือนเมื่อยังประนังประนอม | ประชุมพร้อมเช่นเชษฐาเคยพาพาย |
อันเรื่องอิเหนานี้ขยาดไม่อาจต่อ | แต่เรื่องพระลอลิลิตนั้นยังมั่นหมาย |
ถึงพงศ์เผ่าเขาห้ำหั่นชีวันวาย | ก็นับว่าชายตายด้วยรักประจักษ์จริง |
ต้องถืออย่างเรื่องอุเซ็นไว้เปนทำเนียบ | จะทานเทียบเปรียบปรายคล้ายทุกสิ่ง |
เพราะแรงรักหักรอนสู้วอนวิง | ถึงเจ็ดปีมีแต่นิ่งไม่นึกจาง |
อนุชาพจมานสารสุจริต | ขอเชษฐาอย่าได้คิดอางขนาง |
มาก่อกวนชวนเชิญไว้พลางพลาง | พอเดือนสว่างจะได้จรเช่นก่อนเอย |
ฯ ๔๔ คำ ฯ
บทที่ ๑๘ ของหญิง
๏ สงสารจิตรเหลือผัดแล้วอกเอ๋ย | |
ทรงพระคุณไม่การุญกระหม่อมเลย | มีแต่เปรยปรายเปรียบประเทียบมา |
เมื่อสุจริตจิตรจริงทุกสิ่งซื่อ | มีกรรมฤๅกลับเห็นเปนโทษา |
อนาถจิตรคิดคิดน่าอนิจา | โอ้ชาตาคล้ายจันทร์มณีพราหมณ์ |
ก็เพราะทรงอนุกูลการุญเลี้ยง | จึงเรียบเรียงศุภอรรถมาตรัสถาม |
ได้ทูลสนองโดยทำนองสำเนาความ | ตามจริงสิ่งสัตย์ไม่ดัดแปลง |
พเอิญเปนกุศลเข้าดลแทรก | แย้งแยกความจริงเปนสิ่งแฝง |
ความสัตย์ที่วิบัติเปนคำระแวง | กลับเปนแกล้งแย้งแยกแหวกกัน |
สู้สามิภักดิ์รักเบื้องบทรัช | ด้วยความสัตย์ใจจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
โอ้ยามหนาวคราวระดูเหมันต์ | เวลานั้นลืมหนาวเปนคราวเพลิน |
จึงชวนเชิญโฉมอัปศรไปชมชล | เสาวคนธ์จึงได้ฟุ้งจรุงเหิน |
ฤๅมีโทษที่พาจรสาครเกิน | กระนั้นแน่แท้พเอิญว่าเวรจอง |
โอ้เทวาองค์ใดมาให้โทษ | จึงส่างโปรดเคืองคำที่นำสนอง |
ที่สุจริตคิดเปนข้าใต้ฝ่าลออง | กลับเปนเปลือกท่านเลือกดองไม่เปนอัน |
กว่าจะต้องคำบุราณว่านานเห็น | สิจวนเจียนจะไม่เปนกระหม่อมฉัน |
กว่าจะเห็นสิท่านเล่นเสียครันครัน | ถ้ากระนั้นก็ตายเปล่าน่าเศร้าใจ |
โอ้สัตว์ผู้ยากไร้ปากยากทุกสิ่ง | สัจจังจริงก็ไม่กู้ชูตัวไหว |
ท่านยังไม่สมก็ตรอมตรมด้วยเกรงไภย | ครั้นท่านได้ยิ่งโทษทับกลับความ |
ได้พึ่งพระเดชปกเกษเป็นฉัตรกั้น | รวีวันเดือนสิบเอ็ดขึ้นสิบสาม |
จึงขึ้นชื่อฤๅเลื่องกระเดื่องนาม | งามด้วยชุบเกล้าย้อมกระหม่อมชู |
ครั้นยามเคืองเบื้องบาทสิคาดโทษ | โอ้แสนโหดชั่วช้าน่าอดสู |
มืดมิดปิดสิ้นทุกประตู | จนอุดอู้เพียบล่มลงจมลำ |
เดชะผลกตัญญูนั้นชูช่วย | กับสัตย์ด้วยนั้นเปนที่อุปถัมภ์ |
ชาตาพ้นอำพุอุระระยำ | กุศลนำขึ้นนระสละเคือง |
จึงทรงดำริห์ถึงความเมื่อยามหลัง | มีรับสั่งทวนถามมาตามเรื่อง |
จะกราบทูลให้ประจักษ์ไม่ยักเยื้อง | ซึ่งจะเปลื้องฤๅมิเปลื้องสุดแต่ใจ |
ที่รอรั้งหวังจะให้ประมูลเพิ่ม | เหมือนเช่นเดิมฦๅกันสนั่นไหว |
จึงหน่วงนัดผัดเดือนเลื่อนออกไป | เห็นมากไหนจึงจะล่มนิยมยอม |
อันแอหนังท่าเรือจ้างอย่างเช่นตรัส | นั่นท่านชัดคู่คงจะจงถนอม |
ถึงสักหมื่นพระวษาชรางอม | ก็ประนอมจิตรจงอยู่คงงาม |
ที่ทูลกระหม่อมทรงตรอมด้วยนัดเนิ่น | เกรงพระชนม์นั้นจะเกินกำหนดห้าม |
เปนปะวังทะศกยกข้อความ | พิกัดห้ามความคู่สู้สืบพยาน |
ประการหนึ่งถึงจะสู้สงครามเล่า | ก็ไม่เพราเคล่าคล่องทำนองหาญ |
จึงรีบร้นขนไปให้ทันกาล | แต่ชนมานยังหนุ่มสาวคราวรื่นรวย |
แม้นทราบลงตรงแท้แน่กระนั้น | กระหม่อมฉันผู้ไปเล่นก็เห็นด้วย |
ว่านางใดดังใบไม้ได้ลมชวย | ก็เออเอยลงให้เห็นเปนใจดี |
เจ้าข้าเอ๋ยหญิงใดอย่าใจดื้อ | ไม่ทันอือก็ให้ปรึงถึงข้างที่ |
นั่นแลแน่แท้ว่ายอดกระสัตรี | ลูกหลานมีจะสอนใหม่ให้ใจลอย |
ซึ่งทรงขยาดตัดขาดเรื่องชวา | ก็บุษบาที่ไหนนี่มีบ่อยบ่อย |
ประภาษตรัสต้องขาดความไปตามรอย | ใช่ฟื้นฝอยหาตะเข็บให้เหน็บแหนม |
ซึ่งทรงศรัทธาเอาผ้านั้นทำธง | ต้องประสงค์เช่นหลังครั้งเดือนแจ่ม |
ทรงสละมัจฉริยะไม่ปะแปม | ต่อเดือนแรมจึงจะค่อยไปโมทนา |
แพรดำร่ำนั้นจะทำคัมภีร์รัด | จะตั้งสัตยอะธิฐานพานภพน่า |
จะเกิดไหนขอให้งามตามเจตนา | เหมือนดังผ้าห่อมั่นพันคัมภีร์ |
อย่าให้หมองลอองวายุพาพาด | อย่ารู้หวาดไหวตรงอยู่คงที่ |
ประสายากบริจาคได้ตามมี | กุศลนี้ขอถวายใต้บาทมูล |
ขอให้ทรงภิญโญยิ่งทุกสิ่งศุข | ชื่อว่าทุกข์เคืองระคายจงหายสูญ |
ถ้วนหน้าข้าลอองสนองทูล | จงเพิ่มภูลสิ่งศุขทุกหน้าอนงค์ |
ซึ่งจะทรงเรื่องพระลอต่ออิเหนา | ตามสำเนาลิลิตนั้นฉันต้องประสงค์ |
นั่นพระลอมิได้ปองสองนางจง | พระลอหลงคุณสาตรจึงอาจจร |
ที่ต่อไปนั้นไฉนไม่ทราบเรื่อง | ประทานโทษโปรดอย่าเคืองว่าทูลหลอน |
ใช่จะหวงหน่วงไว้ให้ทรงวอน | จนต้องผ่อนตามทำเนียบเปรียบอุเซ็น |
เปนเหลืออกที่จะยกรำพรรณแจ้ง | จะชี้แจงทูลถวายไม่หมายเห็น |
แสนเทวศนองเนตรทุกเช้าเย็น | จะไปเล่นเกรงจะเคืองเบื้องบาทเอย |
ฯ ๕๔ คำ ฯ