คำนำ

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ มีรับสั่งมายังกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณว่า ทรงศรัทธาจะพิมพ์หนังสือเปนของแจกในการพระกุศลจัดการปลงศพนายพลเรือตรี พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ทจว. จม. ภช. รดม. (ศ), รจปร. ๒ รจม. องคมนตรี มีพระประสงค์จะพิมพ์กาพย์เห่เรือ ขอให้กรรมการช่วยเลือกหาฉบับแลจัดการพิมพ์ถวาย กรรมการมีความยินดีที่จะรับพระธุระ ด้วยคิดเห็นอยู่เหมือนกันว่ากาพย์เห่เรือเปนหนังสือดีในภาษาไทย ซึ่งสมควรจะรวบรวมพิมพ์ไว้เปนเล่มโดยเฉภาะ ถ้าพิมพ์ขึ้นคงจะเปนที่ชอบใจของบรรดานักเรียนทั่วไป เมื่อทราบว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ จะทรงรับพิมพ์ กรรมการจึงได้ลงมือรวบรวมกาพย์บทเห่เรือทั้งเก่าใหม่บรรดาที่ปรากฎ คือ กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงนิพนธ์แต่ครั้งกรุงเก่าเรื่อง ๑ กาพย์เห่เรือพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเรื่อง ๑ ทั้ง ๒ เรื่องนี้มีต้นฉบับอยู่ในหอพระสมุดฯ กาพย์เห่เรือพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง ๑ ยังไม่พบหนังสือ ต้องเที่ยวถามจากผู้ที่จำไว้ได้ กาพย์เห่เรือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลปัจจุบันนี้เรื่อง ๑ พิมพ์ไว้ในหนังสือสมุทสาร ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานตามประสงค์ แลกาพย์เห่เรือพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงษ์เรื่อง ๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตประทานฉบับมา เปนอันรวมกาพย์เห่เรือบรรดามีพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ได้ทั้งหมด จึ่งให้ชื่อสมุดเล่มนี้ว่า “ประชุมกาพย์เห่เรือ”

ตำนานเห่เรือ

กาพย์เห่เรือเหล่านี้ ถ้าว่าโดยกระบวนหนังสือ ล้วนเปนกลอนสังวาศซึ่งแต่งดีอย่างที่สุดในหนังสือไทยพวก ๑ ด้วยเหตุนี้คนทั้งหลายจึงชอบอ่าน แลพอใจจำไว้ขับร้องเล่นตั้งแต่ไร ๆ มา จนตราบเท่าทุกวันนี้ ผู้ที่ได้สมุดเล่มนี้เห็นจะไม่ใคร่มีใครฤๅถ้ามีก็คงน้อยตัวทีเดียว ที่จะไม่เคยอ่านแลไม่ชอบบทเห่เรือ เพราะฉนั้นไม่จำเปนที่จะต้องอธิบายบอกว่าบทเห่เรือเปนของดีอย่างไร แต่เห่เรือ ถ้าว่าโดยประเพณีแลเรื่องราวของบทเห่เหล่านี้ ตำนานในทางโบราณคดีมีอยู่บ้าง บางทีจะมีผู้ซึ่งยังไม่เคยทราบ ข้าพเจ้าจึงจะลองอธิบายตำนานเห่เรือในคำนำนี้ ตามที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินผู้ใหญ่บอกเล่าประกอบกับความรู้แลความสันนิฐานของตนเองด้วย ถ้าความที่ข้าพเจ้าแสดงวิปลาศคลาดเคลื่อนบ้างอย่างไร ขอท่านผู้อ่านจงให้อภัยโทษด้วย

จะกล่าวด้วยการเห่เรือก่อน ลักษณการที่พลพายขับร้องอย่างหนึ่งอย่างใดในเวลาพายเรือนั้น เห็นจะมีเปนประเพณีด้วยกันทุกชาติทุกภาษาบรรดาที่ใช้เรือพาย แลคงมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ทีเดียว ด้วยมีประโยชน์เปนสัญญาให้พายพร้อมกัน แลให้เกิดความรื่นเริงพอแก้เหนื่อยได้บ้าง เห่เรือของชนชาติอื่น ๆ มีจีนแลญวนเปนต้นนั้น ที่เขาร้องเล่นลิเกกันก็ได้ยินอยู่ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้เอาใจใส่สืบสวน ด้วยไม่เกี่ยวแก่เรื่องที่จะกล่าว จะกล่าวเฉภาะแต่เห่เรือของไทยเรา เข้าใจว่าเห่เรือทุก ๆ อย่าง ย่อมจะมีมูลเหตุซึ่งรู้ได้ในเวลานี้บ้าง รู้ไม่ได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่นขานยาว “เหยอว เย่อว” ที่เราเคยได้ยินอยู่ทั่วกันนี้เปนเห่อย่างต่ำ มูลเหตุจะมาแต่ไหน แลจะเปนภาษาไร ข้าพเจ้าไม่เคยทราบ จนไปได้เค้าเงื่อนเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๓๔ เมื่อไปราชการประเทศยุโรป ขากลับโปรดให้มาทางประเทศอินเดีย ได้ไปแวะที่เมืองพาราณสี เขาจัดที่ให้อยู่แห่ง ๑ ต่างฟากแม่น้ำคงคากับรามนคร ซึ่งเปนที่อยู่ของมหาราชาพาราณสี วันที่ข้าพเจ้าจะไปรามนครนั้น มหาราชาได้จัดเรือขนานมารับข้ามฟาก เปนเรือ ๒ ลำผูกติดกัน ทำเปนมณฑปไว้ข้างท้าย ตั้งเก้าอี้รับแขกไว้ในมณฑปนั้น พอออกเรือพายข้ามแม่น้ำคงคา ฝีพายคนหนึ่งขับร้องเปนภาษาสันสกฤต ขึ้นด้วยคำว่า “โอม” แต่คำต่อไปว่ากะไรข้าพเจ้าไม่เข้าใจ ประมาณอักษรสักบาทฉันท์ ๑ พอจบฝีพายก็รับด้วยเสียงดังคล้าย ๆ “เย่อว” ทั้งลำ แล้วต้นบทก็ขึ้นใหม่ ฝีพายรับเย่อวอิก เห่ไปอย่างนี้จนข้ามถึงท่ารามนคร ข้าพเจ้าถามเขาว่าฝีพายขับร้องอะไรกัน เขาอธิบายว่าเปนคำขับบูชาพระรามพระลักษณ์ ได้ความเช่นนี้จึงเห็นว่า เรื่องขานยาวเหยอวเย่อวของไทยเรานั้น เห็นพวกพราหมณ์จะพาแบบแผนเข้ามาแต่มัชฌิมประเทศเปนแน่ แต่เดิมคงจะขับเปนภาษาสันสกฤต ครั้นนานเข้าหลุดลุ่ยไปทีละน้อย ด้วยเราไม่รู้ภาษา จึงเหลืออยู่แต่เหยอวเย่อว จึงไม่รู้ว่าภาษาอะไร ยังเห่ที่มีตำราอิกอย่าง ๑ ซึ่งเรียกว่า “สวะเห่” นั้น ถ้อยคำก็แปลก ขึ้นว่า “เห่แลเรือ” พลพายรับว่า “เห่ โห เห่ โห” เมื่อจะจบต้นบทชักว่า “ไชยแก้วพ่อเอย” พลพายรับว่า “โอว โอว” นี้ ดูท่าเดิมก็น่าจะเปนภาษาสันสกฤตอิก แต่มูลเหตุจะมาอย่างไรข้าพเจ้าหาทราบไม่ ถ้อยคำที่เข้าใจได้เจือไปด้วยคำเริงทัพ คงจะได้ใช้เห่กระบวนเรือหลวงมาแต่ก่อน แต่บทเห่เรือที่เราชอบร้องกันเล่น เช่นชมเรือกระบวนเสด็จ แลชมปลาเปนต้น ที่แต่งครั้งกรุงเก่าก็ดี ฤๅบทเห่แต่งในชั้นกรุงรัตนโกสินทร เช่นเห่ชมกับเข้าของกินนั้นก็ดี มิใช่บทเห่ในการหลวง รู้ตำนานเปนแน่ (ดังจะกล่าวต่อไปข้างน่า) ว่าเมื่อแต่งขึ้นเปนแต่สำหรับเห่เล่นโดยลำพัง พึ่งเอาบทเห่เหล่านั้นมาเห่ในการหลวงเมื่อรัชกาลที่ ๔ นี้เอง บทเห่เรือกระบวนหลวงของเดิม นอกจากสวะเห่น่าจะมีบทอะไร ๆ อิก ในกาพย์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรก็บ่งไว้ว่า “พลพายกรายพายทอง ร้องโอ้เห่โอ้เห่มา” ดังนี้ เห็นจะไม่ได้หมายความว่าเห่แต่สวะเห่อย่างเดียว แต่บทเก่าหากสูญเสีย จึงทราบไม่ได้ในเวลานี้ว่ามีบทเห่อะไรอิกบ้าง

ถ้าว่าโดยลำนำสำหรับเห่เรือ ในตำราบอกไว้แต่ ๓ อย่าง เรียกว่า สวะเห่อย่าง ๑ ช้าลวะเห่อย่าง ๑ มูลเห่อย่าง ๑ แต่ที่เคยสังเกตเห็นลักษณเห่ในกระบวนหลวง เห็นเห่อยู่ ๔ อย่าง คือเมื่อเสด็จลงประทับในเรือพระที่นั่งแล้ว หลวงพิศณุเสนี ขุมรามเภรีเปนต้นบท (จะได้เปนต้นบทโดยตำแหน่งฤๅโดยเฉภาะตัว ข้าพเจ้าไม่ทราบแน่) คนหนึ่งนั่งคุกเข่าพนมมือเห่โคลงนำกาพย์ บางทีเรียกกันว่าเกริ่นโคลงก็เคยได้ยิน เมื่อจบบทโคลงแล้วจึงออกเรือพระที่นั่ง พลพายพายนกบินจังหวะช้า เพราะว่าเรือตามน้ำไม่หนักแรง ผจงพายเอางามได้ ใช้ทำนองเห่ช้า เข้าใจว่าได้กับที่เรียกในตำราว่า ช้าลวะเห่ (คงเปนช้าแลว่าเห่) คงหมายความว่าเห่ข้า พอจวนจะถึงที่ประทับ ต้นบทก็ชักสวะเห่ คำนี้จะหมายความอย่างไรยังคิดไม่เห็น คเนพอจบบทเรือพระที่นั่งก็ถึงที่จอด ขากลับเรือทวนน้ำ มีระยะย่านไกลต้องพายหนักจังหวะเร็ว ใช้เห่ทำนองเร็ว ที่มีพลพายรับ “ฮะไฮ้” นั้น เข้าใจว่าได้กับที่เรียกในตำราว่ามูลเห่ คงหมายความว่าเห่เปนพื้น เมื่อจบบทพายจ้ำ ๓ ทีส่งทุกบท ถ้าลอยพระประทีปเดือน ๑๒ ซึ่งมีการแต่งเรือพระที่นั่งกึ่งทรงพระไชยลำหนึ่ง พานพุ่มดอกไม้พุทธบูชาลำหนึ่ง เวลาเรือกิ่งเข้ามาทอดเทียบเรือบัลลังก์พระที่นั่ง ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว โปรดให้จอดเห่ถวายอยู่นาน ๆ ว่าเปนทำนองมูลเห่ เห่ถวายแล้วออกเรือ จึงเปลี่ยนเปนทำนองช้าลวะเห่ ลักษณะการเห่เรือเคยเห็นดังกล่าวมานี้

ทีนี้จะว่าถึงตำนานบทเห่เรือต่อไป บทเห่เรือที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ มีตำนานได้ทราบมาดังนี้

๑ บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์มี ๒ เรื่อง เรื่องที่ ๑ ชมกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ขึ้นต้นแต่ “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย” ต่อชมกระบวนเรือว่าด้วยชมปลา ชมไม้ ชมนก เปนนิราศ บทเห่เรื่องนี้เห็นได้ในสำนวนว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงนิพนธ์ สำหรับเห่เรือพระที่นั่งของท่านเองเวลาตามเสด็จขึ้นพระบาท ออกจากกรุงเก่าเวลาเช้า พอเย็นก็ถึงท่าเจ้าสนุก

บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เรื่องที่ ๒ นั้น เปนคำสังวาศ เอาเรื่องพระยาครุธลักนางกากีมานำบท ขึ้นต้นว่า “กางกรอุ้มโอบแก้ว เจ้างามแพร้วสบสรรพางค์” แล้วว่าต่อไปเปนกระบวนสังวาศจนจบ ถ้าสังเกตจะเห็นได้ในสำนวนว่าเอาเรื่องจริงอันเปนความขำลับลี้ในพระไทยของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ออกมาว่าตลอดทั้งเรื่อง เรื่องที่ว่านั้นอาจจะรู้ได้ในปัจจุบันนี้ ด้วยมีปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดาร ที่ได้กล่าวถึงเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ลอบผูกสมัครักใคร่กับเจ้าฟ้าสังวาล จึงเข้าใจว่าบทเรื่องหลังนี้ ว่าด้วยเรื่องสังวาศเจ้าฟ้าสังวาลทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้แต่เดิมเห็นจะใช้บทเรื่องนี้เห่แต่เฉภาะเวลาทรงเรือประพาศที่ลับโดยลำพัง เช่นไปเที่ยวทุ่งเปนต้น

๒ บทเห่เรือพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยนั้น ตั้งแต่ชมกับเข้าของกิน ขึ้นว่า “มัศหมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารศร้อนแรง” เปนต้น ตลอดจนว่าด้วยงานนักขัตฤกษ์ เข้าใจว่าทรงพระราชนิพนธ์แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า พระราชนิพนธ์นี้ทรงชมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี แต่ยังเปนสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ด้วยกระบวนแต่งเครื่องเสวยไม่มีผู้ใดจะดีเสมอในครั้งนั้น บทเห่เรือซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยทรงพระราชนิพนธ์ ก็สำหรับเห่เรือเสด็จประพาศมิได้ใช้ในราชการ ความข้อนี้ในโคลงพยุหยาตราพระกฐิน ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงนิพนธ์เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ไม่ได้กล่าวถึงเห่เรือเลย จึงเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เอาบทเห่เรือ ทั้งบทครั้งกรุงเก่า แลบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ มาใช้เห่เรือในราชการต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๔

๓ บทเห่พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ นั้น มีแต่ชมโฉมบทเดียว ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้เห่ถวายเวลาลอยพระประทีปดังกล่าวมา ไม่ใคร่จะได้ใช้ในที่อื่น นาน ๆ ได้ยินเอาไปเห่กระบวนพระกฐินพยุหยาตราครั้ง ๑ เห่พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ผู้เคยตามเสด็จลงเรือบัลลังก์ลอยประทีป ได้ยินเห่ทุก ๆ ปีจึงจำไว้ได้ แต่ไม่ปรากฎว่าได้เคยพิมพ์ฤๅจดไว้ที่ไหน เมื่อจะพิมพ์สมุดเล่มนี้ ข้าพเจ้าเองก็ลืมเสียมาก เที่ยวสืบหาหนังสือก็ไม่ได้ ต้องไปเที่ยวถามตามผู้ที่เคยจำไว้ ได้มาเพียงเท่าที่พิมพ์ ยังขาดอยู่ ๒ บาท ขอโอกาศแจ้งไว้ในคำนำนี้ ถ้าท่านผู้ใดได้จดไว้ฤๅจำได้จนจบ ถ้าจดมาให้หอพระสมุดฯ ให้ได้พระราชนิพนธ์ไว้บริบูรณ์ กรรมการจะขอบคุณเปนอันมาก

๔. บทเห่พระราชนิพนธ์ในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มาพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ด้วยนั้น ทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานสำหรับพิมพ์ในหนังสือสมุทสาร อุดหนุนราชนาวีสมาคม เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ เอาเค้าเรื่องบทเห่เรือเก่ามาทรงพระราชนิพนธ์ เทียบลักษณการในเวลาปัจจุบันนี้ เปนต้นว่า เห่เก่าชมกระบวนเรือพาย ซึ่งเปนเรือพระที่นั่งแลเรือรบเรือไล่ในครั้งนั้น พระราชนิพนธ์ทรงชมเรือพระที่นั่งแลเรือรบเรือไล่ ซึ่งเปนเรือกลไฟในเวลานี้ ถึงบทอื่นก็ทรงเทียบให้ตรงกับการที่เปนอยู่แลความนิยมในสมัยนี้ ทั้งในทางพรรณาแลในกลอนสังวาศ ถ้าผู้เปนนักเรียนโบราณคดีอ่านด้วยความสังเกต บทเห่เรือตั้งแต่แต่งครั้งกรุงเก่า แลที่แต่งครั้งรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร แลพระราชนิพนธ์ในรัชกาลปัจจุบันนี้ จะได้ประโยชน์ความเข้าใจการที่เปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับทั้งความนิยมแลการงาน นอกจากประโยชน์ที่ได้ในทางอ่านหนังสือกลอนที่แต่งดีอีกส่วน ๑ เชื่อว่าผู้อ่านคงจะขอบพระเดชพระคุณด้วยกันทุกคน

๕. บทเห่เรือพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงษ์นั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตทูลเชิญให้ทรงนิพนธ์ เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเศกสมโภชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ด้วยมีการสมโภชส่วนกระทรวงทหารเรือสนองพระเดชพระคุณ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐ พ.ศ. ๒๔๕๔ มีการตกแต่งสถานที่ในกรมทหารเรือแถวท่าราชวรดิฐทั้ง ๒ ฟากแม่น้ำ ตลอดถึงวัดอรุณราชวราราม แลมีกระบวนแห่เรือในแม่น้ำ บทเห่เรือนี้เห่ในเรือพระที่นั่งกิ่ง เมื่อมาจอดถวายไชยมงคลที่ท่าราชวรดิฐ ตำนานของบทเห่เรือมีดังแสดงมานี้

ข้าพเจ้าประสงค์จะกล่าวความตรงนี้สักหน่อย เพื่อจะขอบพระเดชพระคุณ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงษ์ ด้วยเมื่อก่อนแต่งคำนำนี้ ได้ทูลปฤกษาหารือ ได้ทรงเปนพระธุระช่วยข้าพเจ้าหลายอย่าง

อนึ่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต มีพระประสงค์จะให้แสดงประวัติของพระยาราชสงคราม (กร) ไว้ในคำนำ ให้ปรากฎเกียรติยศอยู่คู่กับสมุดเล่มนี้ ได้ทรงคัดต้นเรื่องประวัติมาให้ข้าพเจ้าเก็บความเรียบเรียง ข้าพเจ้าก็มีความยินดีที่ได้มีโอกาศอันนี้ ด้วยพระยาราชสงคราม (กร) เปนมิตรกับข้าพเจ้า ได้คุ้นเคยชอบพอกันมา นับได้ว่าตั้งแต่แรกรู้จักกันมาจนตลอดอายุของพระยาราชสงคราม มีเรื่องประวัติซึ่งข้าพเจ้าอาจจะกล่าวได้ด้วยความรู้เห็นของข้าพเจ้าเองก็หลายอย่าง ประวัติของพระยาราชสงคราม (กร) มีเนื้อความดังจะกล่าวต่อไปนี้

ประวัติพระยาราชสงคราม (กร)

พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีกุญเบญจศก จุลศักราช ๑๒๒๕ ในรัชกาลที่ ๔ ตรงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๐๖ (คฤศตศก ๑๘๖๓) เปนบุตรพระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) สกุลนี้สืบลงมาแต่พระยาเพ็ชรพิชัย หงษ์ ในรัชกาลที่ ๑, พระยาเพ็ชรพิไชย เกษ ที่สร้างวัดโปรดเกษเชษฐาราม เปนบุตรพระยาเพ็ชรพิไชย หงษ์ พระยาเพ็ชรพิไชย หนู กับพระยาราชสงคราม ทัด บิดาพระยาราชสงคราม กร เปนบุตรพระยาเพ็ชรพิไชย เกษ แต่ต่างมารดากัน ผู้เปนบรรพบุรุษในหงสกุลล้วนเคยรับราชการมีตำแหน่งเปนนายงานทำการก่อสร้างต่าง ๆ เปนต้นว่า สร้างพระมหาปราสาทราชมณเฑียร สร้างพระอารามแลป้อมปราการ ตลอดจนการปลูกสร้างพระเมรุมาทุกชั้น จึงฝึกหัดวิชาช่างก่อสร้างสืบต่อกันลงมาเปนนิติในสกุล ตลอดจนถึงชั้นพระยาสามภพพ่าย (เจริญ) พระยาราชสงคราม (กร) แลพระนวการโกวิท (เกลื่อน) บุตรพระยาราชสงคราม (ทัด) ทั้งสามคนนี้ก็ได้ศึกษาวิชาสำหรับสกุลมาแต่เล็ก พอไปไหนได้ก็ติดตามบิดาไปดูทำงาน จนเติบใหญ่ได้ช่วยบิดาทำราชการทางก่อสร้างตลอดมา จนได้รับน่าที่อันนั้นโดยลำพังตน เปนทายาทในวงษ์ทุกสกุลคน

พระยาราชสงคราม (กร) ถวายตัวเปนมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒ รับราชการเปนมหาดเล็กเวรสิทธิ์อยู่ ๗ ปี ได้เริ่มปรากฎความสามารถในวิชาสำหรับสกุลมาแต่ยังเปนมหาดเล็ก ด้วยในสมัยนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช ทรงบัญชาการสร้างพระเมรุ พระยาราชสงคราม (ทัด) เปนนายงาน พระยาราชสงคราม (กร) ไปช่วยบิดาทำงาน สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอฯ ทรงสังเกตเห็นความสามารถของพระยาราชสงคราม (กร) มีรับสั่งเรียกมาใช้สอยใกล้ชิดติดพระองค์ เปนเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคุ้นเคย แลทรงพระเมตตามาแต่ครั้งนั้น จึงพระราชทานสัญญาบัตรเปนขุนพรหมรักษา ปลัดกรมทหารในขวา เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ รับราชการก่อสร้างต่าง ๆ ปรากฎความสามารถยิ่งขึ้นโดยลำดับ ครั้นปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ พระวรวงษ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ได้ทรงบัญชาการกรมทหารเรือ จึงทูลขอพระยาราชสงคราม แต่ยังเปนขุนพรหมรักษา ไปเปนหัวน่าพนักงานอู่เรือหลวง ครั้งเมื่อแรกซ่อมแซมอู่เรือรบขึ้นใหม่ พระยาราชสงครามจึงได้มีน่าที่แลตำแหน่งในกรมทหารเรือตั้งแต่นั้นมาจนตลอดอายุ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดให้ย้ายน่าที่ไปขาด ยังคงรับราชการก่อสร้างอย่างตำแหน่งเดิมอันเปนน่าที่สำหรับสกุลสืบมาอีกส่วน ๑ จึงได้มีโอกาศทำการงานถวายใกล้ชิดพระองค์มาตั้งแต่ดูแลการก่อสร้างสถานที่ต่าง ๆ ที่เกาะสีชัง เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ เปนเหตุให้ทรงคุ้นเคยจนเปนที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาไศรยต่อมาจนตลอดรัชกาล

ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๕ พระยาราชสงคราม แต่ยังเปนที่ขุนพรหมรักษา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ มงกุฎสยาม ชั้นที่ ๕ วิจิตราภรณ์ เปนทีแรก แล้วในปีนั้นได้พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยาด้วย ต่อมาอิกปี ๑ ถึงปีมเสง พ.ศ. ๒๔๓๖ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเปนพระราชโยธาเทพ เจ้ากรมทหารในซ้าย แลได้เปนนายงานลงไปอยู่ตรวจการสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ มงกุฎสยามเลื่อนขึ้นเปนชั้นที่ ๓ มัณฑนาภรณ์ ต่อมาได้พระราชทานเหรียญราชินี เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ แลได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๔ ภูษนาภรณ์ เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้พระราชทานเหรียญราชรุจิทองเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓

ในปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ นั้น พระยาราชสงคราม แต่ยังเปนพระราชโยธาเทพ ได้เปนนายงานสร้างพระเมรุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ได้พระราชทานโต๊ะกาทองคำเปนเกียรติยศ แต่นั้นก็ได้เปนนายงานสร้างพระเมรุใหญ่จนตลอดรัชกาลที่ ๕

ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิขึ้นเปนพระยาราชสงคราม จางวางทหารใน ได้เปนองคมนตรี แลได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๒ จุลสุราภรณ์ รัตนาภรณ์ จ ป ร. ชั้นที่ ๓ แลเหรียญจักรมาลาในปีนั้น

ถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้พระราชทานพานทองแลเครื่องราชอิศริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า

ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้พระราชทานสัญญาบัตรเปนนายพลเรือตรี

ต่อมาอิก ๒ ปี ได้พระราชทานดาราราชอิศริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

ถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้พระราชทานรัตนาภรณ์เลื่อนขึ้นเปนชั้นที่ ๒ ขอบประดับเพ็ชร

จะแลเห็นได้ในระยะเวลาแลชั้นเครื่องราชอิศริยาภรณ์ที่พระยาราชสงครามได้รับพระราชทานนั้น ว่าพระยาราชสงครามได้พระราชทานเกียรติยศนับว่าเปนอย่างสูงสุด ซึ่งข้าราชการในชั้นเดียวกันสามารถจะได้รับพระราชทาน ที่ได้อย่างนั้น ด้วยพระยาราชสงครามได้รับราชการต่าง ๆ ในน่าที่มากมายหลายอย่างอยู่เปนนิจ เปนผู้บริบูรณ์ด้วยความเพียรแลอุสาหะ เรียกได้ว่าไม่รู้จักเหนื่อย ทำการอันใดก็สำเร็จทันพระราชประสงค์ จะพรรณาบรรดาการที่พระยาราชสงครามได้ทำ ยากที่จะให้ถ้วนทุกอย่างได้ จะกล่าวถึงแต่บางอย่างซึ่งยังแลเห็นฤๅจำกันได้ในเวลานี้ คือ

๑ ที่พระราชวังดุสิต เปนนายงานทำพลับพลาแต่แรกสร้างพระราชวัง ต่อมาเปนนายงานสร้างพระที่นั่งวิมานเมฆ เปนนายงานสร้างพระที่นั่งอภิเศกดุสิต

๒ วัดเบญจมบพิตร เปนนายงานก่อสร้างทั้งวัด ตั้งแต่ทรงปฏิสังขรณ์มา จนตลอดรัชกาล

๓ วัดอรุณราชวราราม เมื่อกรมหมื่นปราบปรปักษ์ทรงบัญชาการปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๕ พระยาราชสงครามเปนนายด้านดูการต่างพระเนตรพระกรรณทุกอย่าง แล้วต่อมารับน่าที่เปนมรรคนายกด้วย ครั้นเมื่อทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์ แลบริเวณพระอารามในครั้งบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุสมมงคล โปรดให้พระยาราชสงครามเปนนายงานทำการปฏิสังขรณ์นั้นทุกอย่าง

๔ วัดปรมัยยิกาวาศ ช่วยพระยาสงคราม (ทัด) บิดา เปนนายงานเมื่อปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๕ ทั้งพระอาราม

ยังการต่าง ๆ ที่ทำในส่วนน่าที่ในกรมทหารเรือก็มีอีกมาก ถ้าว่าเฉภาะที่เกี่ยวด้วยการช่างอย่างโบราณ คือต่อเรือพระที่นั่งไชยสุพรรณหงษ์ลำใหม่นั้นเปนต้น

พระยาราชสงคามจับมีอาการป่วยวรรณโรคภายในมาตั้งแต่ในปลายรัชกาลที่ ๕ ต้องแขงใจมาทำการงานอยู่เสมอ อาการหนักลงโดยลำดับ ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงเปนองคมนตรี แต่มีความทุพลภาพจะรับราชการต่อไปไม่ได้ จึงกราบถวายบังคมลาออกจากน่าที่ราชการ ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญต่อมา

ในระยะนี้ พระยาราชสงครามมักลงเรือไปอยู่รักษาตัวตามอำเภอใจในที่ต่าง ๆ พอบันเทาโรค โรคนั้นทรงอยู่บ้าง แต่เปนโรคที่เหลือจะเยียวยารักษาได้ อาการค่อยหนักลงโดยลำดับ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ชวนไปพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ที่คลองเตย ด้วยอากาศถูกกับความสบายของพระยาราชสงคาม เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ช่วยเปนธุระให้พระยาราชสงครามได้ปลูกเรือนขึ้นพักอาไศรยอยู่ในบ้านของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ แต่อาการโรคหนักเหลือกำลังเสียแล้ว อยู่ได้สักเดือน ๑ ก็ถึงอนิจกรรม เมื่อณวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ คำนวณอายุได้ ๕๒ ปี

พระยาราชสงครามแต่งงานกับเยื้อน ธิดาพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เปนภรรยาแรก เยื้อนได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า ไม่มีบุตรด้วยกัน เยื้อนถึงแก่กรรมก่อนพระยาราชสงคราม ๆ มีบุตรธิดาด้วยภรรยาอื่น ยังมีตัวอยู่สืบสกุลต่อไป คือ

๑. นายเตียบ เกิดปีจอ พ.ศ. ๒๔๕๓ เวลานี้อายุได้ ๗ ขวบ คน ๑

๒. นายจวบ เกิดปีกุญ พ.ศ. ๒๔๕๔ เวลานี้อายุได้ ๖ ขวบ คน ๑

๓. นายสืบ เกิดปีฉลู พ.ศ. ๒๔๕๖ เวลานี้อายุได้ ๔ ขวบ คน ๑

๔. ธิดาชื่อดวงตุมล เกิดปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อบิดาถึงอนิจกรรมแล้วเวลานี้อายุได้ ๓ ขวบ ทั้ง ๔ คนนี้อรุณเปนมารดา

ธิดาชื่อเจียดอิกคน ๑ เกิดปีวอก พ.ศ. ๒๔๕๑ เวลานี้อายุได้ ๙ ขวบ สงวนเปนมารดา

พระยาราชสงคราม (กร) นี้ มีผู้ชอบพอกว้างขวางมาก ทั้งในพระบรมวงษานุวงษ์ ในเพื่อนข้าราชการแลพระสงฆ์ ตลอดจนผู้น้อยซึ่งเคยอยู่ในอำนาจ ด้วยเปนผู้มีอัธยาไศรยซื่อตรง เปนคนมักน้อยแต่โอบอ้อมอารีในบรรดาผู้ที่คุ้นเคยทั่วไป จึงมีคนรักใคร่มาก

กรรมการหอพระสมุดฯ ขออนุโมทนาในพระกุศลบุญราษี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ทรงบำเพ็ญในการปลงศพพระยาราชสงคราม (กร) แลเชื่อว่าบรรดาผู้ที่ได้อ่านสมุดเล่มนี้ จะถวายอนุโมทนาด้วยทั่วกัน

กรมพระยาดำรงราชานุภาพสภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑๑ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๐

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ