๓ อยู่เมืองพนมเพ็ญครั้งแรก

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน โปรแกรมการที่เราจะเที่ยวเตร่ มองสิเออบอดูแองเรสิดังสุปีริเอเปนธุระกะให้เอง วันนี้เขากะตั้งต้นแต่เวลาเช้า ๙ นาฬิกา เราตื่นแต่เช้ากินกาแฟแล้วเวลา ๗ นาฬิกาว่างอยู่ จึงเดิรไปเที่ยวแต่โดยลำพัง กับพระยาพจนปรีชา และหลวงสุริยพงศ์ เห็นทหารเขมรคุมนักโทษเที่ยวกวาดถนนอยู่หลายกอง เดิรไปดูพระธาตุพนมเพ็ญ อันอยู่ตรงกับหลังป้านเรสิดังสุปีริเอที่เราพัก ที่บริเวณพระธาตุนี้ ฝรั่งเศสจัดทำเปนป๊ากสำหรับคนเดิรเล่นและเปนที่สวนเลี้ยงสัตว์มีอยู่ ๔-๕ กรง น่าดูแต่เสือโคร่งตัวหนึ่ง ใหญ่จริง ยังไม่เคยเห็นเสือเปนใหญ่เท่าตัวนี้

พระธาตุพนมเพ็ญนั้น เขาบอกเรื่องตำนานว่า เดิมทีเดียวมียายแก่คนหนึ่งชื่อ เพ็ญ ตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลนั้น มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระสาสนาแก่กล้า ปราถนาจะสร้างวัด แต่ขัดข้องด้วยยากจน จึงตั้งสัตย์อธิษฐาน โดยอำนาจกุศลผลบุญของยายเพ็ญ บันดาลให้มีไม้ซุงลอยลำน้ำโขงลงมาติดอยู่ที่ตรงนั้น มีทั้งพระพุทธรูปแลเทวรูปอยู่ในโพรงไม้ซุง ยายเพ็ญจึงได้ไม้ได้พระ แล้วได้กำลังสร้าง “พนม” คือภูเขาขึ้นในที่นั้น ภูเขานั้นจึงได้ชื่อว่าพนมเพ็ญ ถ้าจะเรียกเปนภาษาไทยก็เห็นจะเรียกว่า “เขายายเพ็ง” ครั้นมาสร้างเมืองขึ้นเมื่อภายหลัง คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อเมืองตามชื่อภูเขาอันเปนสิ่งสำคัญอยู่ในท้องที่ ว่าเมืองพนมเพ็ญ ดังนี้ ส่วนเรื่องพระธาตุนั้นมีในพงศาวดาร ว่าเดิมราชธานีของเขมรตั้งอยู่ที่นครธม ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๕ สมเด็จพระบรมราชาธิราข (สามพระยา) กรุงศรีอยุธยายกกองทัพไทยลงมาปราบปรามเมืองเขมรตีได้นครธม พระเจ้าธรรมาโศกเจ้ากรุงกัมพูชาสิ้นพระชนม์ในระหว่างสงคราม สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงตั้งราชบุตรองค์หนึ่ง ซึ่งครองเมืองสรรค์อยู่ก่อน ให้เปนพระอินทราชา อยู่ครองกรุงกัมพูชาที่นครธม ครั้งนั้นมีเจ้าเขมรองค์หนึ่งทรงนามว่าพระยาญาติ ให้ลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระอินทราชาเสีย (ความนั้นไม่ทราบถึงกรุงศรีอยุธยา สำคัญว่าประชวรสิ้นพระชนม์เพราะทนความไข้ไม่ได้ จึงไม่ตั้งเจ้านายองค์อื่นลงมาอิก) พระยาญาติก็ได้เปนเจ้ากรุงกัมพูชา ทรงนามว่าสมเด็จพระบรมราชา รามาธิบดีศรีสุริโยประพันธ์ ธรรมิกราช แล้วย้ายราชธานี (หนีอำนาจไทย) ลงมาตั้งที่เมืองพนมเพ็ญ มาสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๐ สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราชราชบุตรได้เปนเจ้ากรุงกัมพูชา จึงสร้างพระเจดีย์เปนที่บรรจุพระอัฐิธาตุของพระบิดาไว้บนยอดเขาพนมเพ็ญดังนี้ แต่ต่อมากษัตริย์เขมรทิ้งเมืองพนมเพ็ญ ไปตั้งราชธานีอยู่ที่อื่น คือที่เมืองปาสาณ เมืองโพธิสัตว์ เมืองละแวก เมืองศรีสุนทร เมืองอุดงค์มีชัย ตลอดเวลาหลายร้อยปี กลับมาอยู่เมืองพนมเพ็ญแต่เมื่อเกิดยุคเข็ญเปนครั้งเปนคราว จน พ.ศ. ๒๔๐๘ สมเด็จพระนโรดมจึงกลับมาตั้งเมืองพนมเพ็ญเปนราชธานีสืบมาจนกาลบัดนี้ ตัวเขาพนมเพ็ญนั้นเปนของก่อด้วยศิลาแลงก้อนใหญ่ๆ และมีรอยก่อเสริมด้วยอิฐ แล้วถมดินออกไปให้เปนเนินโดยรอบ ก่อบันไดตรงไว้เปนทางขึ้นข้างด้านตวันออก ขนาดสูงของเขาพนมเพ็ญเห็นจะราวสัก ๖ วา (เตี้ยกว่าภูเขาทองวัดสระเกศมาก) พระมหาธาตุที่อยู่บนยอดเขานั้น ประมาณว่าสูงสัก ๔ วา ทำเปนพระสถูป รูปสัณฐานจะเรียกว่าพระเจดีย์ทรงเขมรก็ควร เพราะเขมรชอบทำพระสถูปรูประฆังยาวแต่ยอดสั้น ผิดกับทรงพระสถูปของชาติอื่นๆ หน้าพระมหาธาตุลงมามีศิลาจารึกสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ให้ทำขึ้นเมื่อคฤสตศก ๑๙๑๙ ว่าพระเจดีย์นสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราช สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๐ เปนที่บรรจุพระอัฐิธาตุของสมเด็จพระบรมราชาพระยาญาติ ผู้เปนพระราชบิดา เมื่อสุรคตพระชันสาได้ ๗๔ ปี มีวิหารหลังหนึ่งอยู่บนยอดเขาข้างหน้าพระมหาธาตุ เปนของสร้างชั้นหลัง แต่ชำรุดจวนจะพัง (ได้ยินว่ากำลังเรี่ยไรกันจะปฏิสังขรณ์) ลวดสายที่ปั้นในวิหารก็ดี เครื่องประดับในบริเวณ เช่นรูปภาพที่ตั้งรายตามบันไดที่ขึ้นก็ดี มักถ่ายแบบรูปภาพที่นครวัดมาทำ แปลว่าทำในสมัยเมื่อกำลังอยากจะได้นครวัดกลับคืนมาเปนของเขมร ครั้นเมื่อได้สมประสงค์ จึงทำรูปสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ทรงเครื่องต้น หล่อด้วยทองบรอนส์ตั้งไว้ที่กลางเนินเขาพนมเพ็ญข้างด้านใต้ มีศิลาจารึกบอกเรื่องเปนอนุสาวรีย์ด้าย แต่รูปสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ซึ่งช่างฝรั่งเศสคิดทำนั้น ถ้าว่าตามใจเรา เห็นมีที่เสียสำคัญอยู่ที่ทำเปนรูปนางละคอนเขมรสามคนเชิญเครื่องอยู่ข้าง ๆ ดูขัดในตาเสียโฉมไป ถ้ามีแต่รูปสมเด็จพระศรีสวัสดิ์เท่านั้นจะดีกว่า ที่ในลานรอบเขาพนมเพ็ญมีพระเจดีย์ทรงเขมรของโบราณสร้างรายอยู่อิกหลายองค์ คงเปนที่บรรจุอัฐิธาตุของเจ้านายหรือผู้มีบันดาศักดิ์แต่โบราณ แต่เดี๋ยวนี้ทอดทิ้งมิได้ซ่อมแซมให้คืนดีอย่างเดิม มีต้นไม้ขึ้นอยู่ทุกองค์

เวลาเช้า ๙ นาฬิกา ขึ้นรถไปดูพิพิธภัณฑ์สถาน อยู่ต่อพระราชวังข้างด้านเหนือ เช่นที่หอพระสมุดฯ ในกรุงเทพฯ นี้ ข้างหน้าก็เปนสนามที่สำหรับทำพระเมรุกลางเมืองเช่นเดียวกัน ตัวพิพิธภัณฑ์สถานนั้นเปนตึกชั้นเดียวทำใหม่ใหญ่โต ตั้งใจจะทำแบบเขมร คือฐานล่างอย่างนครวัด หลังคามุงกระเบื้องมีช่อฟ้าใบระกาและแถมมียอดเปนปราสาทด้วย ของในพิพิธภัณฑ์สถาน รวบรวมของเขมรรักษาไว้ทั้งของเก่าและของใหม่ ของเก่ามีเครื่องศิลา เครื่องสำริดและเครื่องดินเผาเปนต้น เครื่องศิลาเก็บรวบรวมมาจากประสาทหินณที่ต่าง ๆ ของดีน่าชมมีมาก เครื่องศิลาฝีมือขอมแต่โบราณที่พบในแดนกรุงกัมพูชา ผิดกับที่พบในประเทศของเราชอบกลอยู่อย่างหนึ่ง ที่ทางกรุงกัมพูชาเปนเทวรูปข้างสาสนาพราหมณ์เปนพื้น พระพุทธรูปมีน้อย แต่ที่พบในประเทศของเรานี้ เปนพระพุทธรูปเปนพื้น มีเทวรูปน้อยกว่า แต่ถ้าจะว่าข้างเปนของดีโดยกระบวรฝีมือช่าง เครื่องศิลาที่พบในแดนกรุงกัมพูชาของฝีมือดีมีมากกว่าในประเทศของเรา แต่เครื่องสำริดนั้น แม้ของฝีมือขอม ที่ในประเทศของเรามีมากกว่าและดีกว่าที่มีในพิพิธภัณฑ์สถานณเมืองพนมเพ็ญ เรื่องเครื่องดินเผานั้นดูเหมือนจะได้ความรู้ใหม่อย่างหนึ่งว่า คราวพวกจีนหนีมาอยู่ที่เมืองเขมรและที่เมืองไทย เมื่อพวกมงโคลมาตีเมืองจีนนั้น มีจีนที่เปนช่างทำเครื่องถ้วยชามมาตั้งทำทั้งที่ในเมืองไทยและที่เมืองเขมร แต่เห็นจะเปนเพราะดินปั้นถ้วยชามที่มีในเมืองเขมรเนื้อไม่สู้ดี ทำได้แต่ของอย่างเทอะทะ เคลือบก็อย่างหยาบ ๆ ไม่ทำดีได้เหมือนของทำที่เมืองสวรรคโลกสุโขทัย ส่วนของใหม่ที่รวบรวมไว้ได้นั้น ไม่สู้มีของแปลกปลาดอันใดนัก แต่ฝรั่งเศสเขาจัดการพิพิธภัณฑ์เนื่องกับโรงเรียนเพาะช่าง มีนายช่างฝรั่งเปนผู้อำนวยการ มีนักเรียนทั้งชายหญิงราวสัก ๒๐๐ คน ฝึกหัดหัดถกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่วาดเขียนเปนต้น ตลอดจนวิชาช่างปั้น ช่างทอง ช่างรัก ช่างไม้ จนถึงช่างทอผ้า ผู้อำนวยการเลือกหาแบบอย่างของฝีมือเขมรทั้งอย่างโบราณและอย่างใหม่มาให้นักเรียนทำขึ้นในโรงเรียน แล้วตั้งไว้ขายในห้องพิพิธภัณฑ์สถานตอนหนึ่ง เปนต้นว่าจำลองรูปของโบราณ หล่อด้วยทองสำริดบ้าง ทำด้วยปูนปลาสเตอร์บ้าง แม้ตัวของโบราณจริง ๆ ที่เปนขึ้นเล็กน้อย ไม่เปนของดีถึงควรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถาน เขาก็เอาออกขาย ของอย่างใหม่ทำเครื่องเงินเครื่องหินอ่อน และทำตุ๊กตาหล่อบ้างปั้นบ้าง เขียนรูปภาพลงในจานบ้าง เขียนกระถางต้นไม้บ้าง มีจนรูปฉายาลักษณโบราณวัดถุต่างๆ และผ้าปูมซึ่งให้นักเรียนทอไว้ขายในพิพิธภัณฑ์สถาน เปนที่หาซื้อสิ่งของเขมรได้ดีกว่าที่อื่น

พระองค์หญิงมาลิการาชธิดาของสมเด็จพระนโรดม ซึ่งเคยเข้าไปกรุงเทพ ฯ ได้คุ้นเคยกันมาแต่ก่อน มาหาที่ที่พักไม่พบ ตามไปพบที่พิพิธภัณฑ์สถาน ออกจากพิพิธภัณฑ์สถานมีเวลาไปเที่ยวขับรถดูภูมิเมือง กลับยังที่พักเวลา ๑๑ นาฬิกา

เวลาเที่ยง กินกลางวันกับเรสิดังสุปีริเอ แล้วพัก ประเพณีที่ในเมืองขึ้นฝรั่งเศสใช้แบบเดียวกันกับพวกฮอลันดาที่ในชวา คือเวลากลางวันหยุดการงาร และปิดห้างร้านบ้านเรือน กินกลางวันแล้วนอนเสียตื่นหนึ่ง แม้จนบ่าวไพร่มันก็นอน ไปจนบ่าย ๓ นาฬิกา จึงทำการงารต่อไปจนค่ำ

เวลาบ่าย ๓ นาฬิกา เรสิดังสุปีริเอชวนไปให้ช่างถ่ายรูปของรัฐบาลถ่ายรูปหมู่เปนที่ระลึก เรื่องถ่ายรูปวันนี้ถูกช่างของรัฐบาลถ่ายกว่าโหลตั้งแต่เมื่อไปดูพิพิธภัณฑ์สถานตอนเช้า เมื่อถ่ายรูปแล้วออกจากบ้านเรสิดังสุปีริเอไปดูวัดอุณาโลม อันเปนวัดสังฆราชฝ่ายมหานิกาย อยู่ข้างด้านเหนือพระราชวัง บรรดาวัดในเมืองพนมเพ็ญ ไม่ว่าวัดหลวงวัดราษฎร์ หามีที่ทำแบบอย่างและฝีมือดีน่าดูไม่ ด้วยมักเปนของสร้างใหม่ในชั้นสมเด็จพระนโรดมมาตั้งเมืองพนมเพ็ญเปนราชธานี ขนาดพระอุโบสถนอกจากวัดพระแก้วที่ในวัง จะหาใหญ่เท่าวัดมงกุฎกษัตริย์หรือวัดโสมนัสวิหารไม่มีเลย ได้ยินว่าสมเด็จพระศรีสวัสดิ์กำลังสร้างวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง แต่อยู่ห่างไกล เราหาได้ไปดูไม่ แต่วัดหลวงมีจำนวนพระสงฆ์วัดละมากๆ เช่นวัดอุณาโลมนี้ว่ามีจำนวนพระสงฆ์ถึง ๓๐๐ ราชาคณะมี ๑๐ องค์ เวลานี้สังฆราชว่าง พระธรรมลิขิตเปนผู้ว่าที่มหาสังฆนายก อายุเกือบ ๘๐ เดิรไม่ใคร่ไหวอุส่าห์ลงมารับ พูดไทยได้บ้าง ให้ศีลให้พรอย่างผู้ใหญ่ เข้าไปในโบสถ์พบเขากำลังมีมหาชาติคนแน่น นึกอยากฟังมหาชาติเขมรขึ้นมา บูชาพระแล้วจึงเข้าไปนั่งฟังกับเขาในที่ว่าง พวกสัปรุษสุดใจเลยชุลมุนเอาพรมเจียมมาปูตั้งเครื่องนมัสการให้ นั่งฟังอยู่สักครู่หนึ่ง จึงรู้ว่าเทศน์คาถาพันธ์กัณฑ์มัทรี ได้ให้เงินช่วยติดเทียน ๕ เหรียญ แล้วเลยไปวัดประทุมวดีอยู่ข้างด้านใต้พระราชวัง ซึ่งเปนวัดสมเด็จพระสุคนธ์ สังฆนายกฝ่ายธรรมยุติกา แต่ตำแหน่งว่าง เวลานี้พระมงคลทิพาจารย์เปนสังฆนายกฝ่ายธรรมยุติออกมารับพูดไทยได้บ้าง แต่มีพระที่พูดไทยได้ดีทั้งวัดอุณาโลมและวัดนี้ ได้ความว่า แบบแผนธรรมวินัยตามลัทธิธรรมยุติกานั้น พระธรรมยุติในกรุงกัมพูชาส่งกันเข้าไปศึกษาที่วัดบวรนิเวศเสมอ แบบแผนอันใดออกในกรุงเทพ ฯ ที่นี่ก็ได้มาทั้งนั้น จึงอนุโมทนาว่าทำเช่นนั้นสมควรนัก ด้วยการถือพระสาสนา ถึงบุคคลจะอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ต่างชาติต่างภาษากันอย่างไร เมื่อสมาทานถือลัทธิอย่างใด ก็ควรจะถือให้เหมือนกัน อันลัทธิธรรมยุติกา เปนของพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดขึ้น นับว่าต้นแบบแผนอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ควรแล้วที่พระสงฆ์ธรรมยุติกาในกรุงกัมพูชาจะเอาเปนธุระสืบสวน

เมือกลับมาบ้านเรสิดังสุปีริเอ พระมหาพิมลธรรม (ทอง) อยู่วัดอุณาโลมมาหา พระมหาพิมลธรรมองค์นี้ เปนอาจารย์ใหญ่ในบาลีวิทยาลัยเมืองพนมเพ็ญ ได้เคยเขาไปกรุงเทพฯ หลายครั้ง คุ้นเคยกับเรามาแต่ก่อน เมื่อสนทนากันได้ไต่ถามเรื่องทำเนียบคณะสงฆ์และประเพณีการบำเพ็ญพระราชกุศลในกรุงกัมพูชา ได้ความรู้บางอย่างจะพรรณาในที่อื่นต่อไปข้างหน้า

เวลาบ่าย ๕ นาฬิกาครึ่ง แต่งครึ่งยศ เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ วันนี้เฝ้าแต่ผู้ชาย ลูกหญิงนั้นว่าจะทรงรับวันอื่นอิกครั้งหนึ่ง (ได้ยินว่าเพราะพึ่งทรงทราบว่า มีลูกสาวมาด้วย เจ้าหญิงในพระราชวังเตรียมพระองค์รับไม่ทัน) รถไปถึงพระราชวังมีคนคอยดูมาก แต่ดูโดยมีอัธยาศัย ที่เปนผู้ดีมาจอดรถเรียงอยู่ริมถนนหน้าวังก็มี ที่ในวังตามซอกและเพิงพลคนเต็มไปทั้งนั้น แต่ไม่ออกมาละเล้าละลุม รถขับเข้าไปจนหน้าพระที่นั่งบรรยงก์รัตนา ซึ่งเสด็จออกรับ ที่รับนั้นอยู่ห้องใน มีโต๊ะกลมตั้งเครื่องราชูปโภค รวมทั้งพระมาลาเพ็ชร์ที่ทรงเมื่อไปปารีสอยู่กลาง มีเก้าอี้เล็กเปนที่ประทับอยู่ข้างใน ตั้งเก้าอี้แขนให้เรานั่งข้างขวา ต่อเราไปเปนเก้าอี้สำหรับผู้ไปด้วยนั่งกับเสนาบดีฝ่ายทหารแถว ๑ ตรงข้ามกับที่เรานั่งตั้งเก้าอี้พระองค์มณีวงศ์ราชบุตร ซึ่งสถาปนาเปนตำแหน่งพระแก้วฟ้า และพระองค์ภานุวงศ์ราชบุตรสมเด็จพระนโรดม ซึ่งเปนตำแหน่งอรรคมหาเสนา กับเสนาบดีฝ่ายพลเรือนนั่งต่อกันไปอิกแถว ๑ ลูกเธออิก ๔ องค์นั้นยืนอยู่ข้างหลังที่ประทับ

สมเด็จพระศรีสวัสดิ์เสด็จลุกออกมาต้อนรับจับมือ เรานำพระยาพจนปรีชาเฝ้า ทูลว่าเปนหลานเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ นำหลวงสุริยพงศพิสุทธิแพทย์ ทูลว่าเปนหลานพระยามนตรี ดูชอบพระอัธยาศัยด้วยเคยทรงรู้จักปู่ ตรัสว่า “อ้อหลานเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ หลานเจ้าคุณมนตรี” แล้วนำศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ ซึ่งทรงรู้จักมาแต่ก่อนแล้ว ส่วนตัวเรา เมื่อตรัสชวนให้นั่งแล้ว ตรัสว่ายินดีมากที่ได้พบปะ ไม่ได้นึกว่าเปนคนอื่น ด้วยเปนพระราชบุตรพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปนลูกของเจ้าของนาย แล้วประทานพร ขอให้มีความสุขความเจริญ สังเกตดูเห็นทรงปีติยินดีจริง ๆ ถึงตรัสประกาศแก่ข้าราชการที่เฝ้าอยู่นั้นว่า “นี่ลูกเจ้านายของข้า ข้าเปนข้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ามาแต่ก่อน” ดังนี้ แต่ตรัสแก่เราว่ายินดีที่เราออกไปถึงเมืองพนมเพ็ญให้ได้ทรงพบปะซ้ำอยู่หลายครั้ง และตรัสต่อไปว่ายินดีเหมือนได้พบญาติ อย่าให้เรานึกว่าเปนคนอื่นเลย ทูลตอบว่า เจ้านายซึ่งเปนพระราชโอรสธิดาของพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ดูเหมือนจะรู้สึกอยู่ด้วยกันทุกพระองค์ ว่าราชวงศ์กรุงกัมพูชาเหมือนกับเปนพระญาติ ด้วยทรงทราบอยู่ว่าพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตากรุณาสนิทสนมมาแต่ก่อน ต่อนี้สนทนาเปนเรื่องเบ็ดเตล็ด แล้วสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ทรงชักนำเจ้านาย และเสนาบดีให้รู้จักเรียงตัว เมื่อเสร็จการสนทนาปราไส เจ้าพนักงารยกถาดรองถ้วยเครื่องดื่มเข้ามาแจก เครื่องดื่มนั้นมี ๒ อย่าง สีเหลืองรู้ได้ว่าแชมเปญอย่าง ๑ สีใสเหมือนน้ำอิกอย่าง ๑ แล้วแต่ใครจะเลือกดื่มอย่างใด เขาเอามาให้เราเลือกก่อน เราเห็นเปนการเฝ้าแหน ถึงไม่ชอบดื่มเมรัยก็เห็นจำต้องเลือกเอาแชมเปญ แล้วเขาเอาไปถวายสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ ทรงเลือกถ้วยน้ำใส (วันนั้นเราเข้าใจว่าเห็นจะเปนเพราะเปนวันอุโบสถ จึงให้มีถ้วยน้ำมาถวายสำหรับทรงดื่มแทนเมรัย ต่อคราวหลังจึงทราบว่าถ้วยน้ำใสนั้นคือน้ำเลมอเนด โปรดเสวยแทนแชมเปญ ก็ถูกใจเรา เลยตามเสด็จด้วยในคราวหลัง) ทรงยกถ้วยกระทบดื่มประทานพร แล้วทูลลากลับ

จะกล่าวถึงเรื่องพระราชประวัติของสมเด็จพระศรีสวัสดิ์โดยสังเขป พอให้ทราบเหตุที่ทรงเคารพนับถือในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีสวัสดิ์เปนพระราชบุตรของสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (พระองค์ด้วง) ประสูติในกรุงเทพ ฯ ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีขวด พ.ศ. ๒๓๘๓ เมื่อพระราชบิดาออกมาครองกรุงกัมพูชายังทรงพระเยาว์ ถึงรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระหริรักษ์จึงให้เข้าไปถวายตัวรับราชการอยู่ในกรุงเทพ ฯ พร้อมกับพระองค์ราชาวดี คือสมเด็จพระนโรดมด้วยกัน พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกลาเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ชุบเลี้ยงทำนุบำรุงอย่างเปนพระราชบุตรบุญธรรมทั้ง ๒ องค์ เมื่อพระชันสาครบอุปสมบทก็โปรดฯ ให้ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่างเจ้านายในพระราชวงศ์ แล้วไปอยู่วัดบวรนิเวศ ด้วยเหตุนั้นบรรดาเจ้านายกรุงกัมพูชา ทั้งที่เปนราชบุตรของสมเด็จพระนโรดม และที่เปนราชบุตรของสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ จึงทรงผนวชเปนธรรมยุติตามเยี่ยงอย่างต่อมาจนกาลบัดนี้

ครั้นถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระองค์ราชาวดี ราชบุตรองค์ใหญ่ของสมเด็จพระหริรักษ์ เปนพระนโรดม พรหมบริรักษา มหาอุปราช และทรงสถาปนาพระองค์ศรีสวัสดิ์ เปนพระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า (ตำแหน่งพระแก้วฟ้า) โปรดฯ ให้กลับออกมาอยู่กรุงกัมพูชา สมเด็จพระหริรักษ์จึงถวายพระองค์วัตถา กับพระองค์ศิริวงศ์เข้าไปรับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ อิก ๒ องค์ ครั้นสมเด็จพระหริรักษ์สุรคตเมื่อปีวอก พ.ศ.๒๔๐๓ พระองค์วัตถากราบถวายบังคมลาออกมาในการพระศพ มาเกิดวิวาทรบพุ่งขึ้นกับพระนโรดมมหาอุปราช เพราะต่างมีพรรคพวกมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย และพรรคพวกไม่เข้ากัน ต้องให้หาเข้าไปกรุงเทพ ฯ ทั้งสององค์ โปรด ฯ ให้สมเด็จพระศรีสวัสดิ์เมื่อยังเปนพระแก้วฟ้ารักษากรุงกัมพูชาอยู่คราวหนึ่ง ด้วยมีผู้คนนับถือมากกว่าเจ้าเขมรองค์อื่นๆ ได้ยินว่าถึงมีปัญหาปรึกษากันในกรุงเทพ ฯครั้งนั้น ว่าจะควรโปรดฯตั้งให้พระนโรดม หรือพระแก้วฟ้าเปนพระเจ้ากรุงกัมพูชา แต่ความเห็นข้างมาก เห็นว่าควรตั้งพระนโรดมเพราะเปนราชบุตรองค์ใหญ่ จึงทรงตั้งเปนสมเด็จพระนโรดมพระเจ้ากรุงกัมพูชา พระแก้วฟ้าก็ได้เปนที่อุปราช สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ได้เข้าไปกรุงเทพฯ ครั้งหลังที่สุดเมื่อไปเฝ้าพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ แล้วกลับมาเปนมหาอุปราชกรุงกัมพูชา อยู่จนสมเด็จพระนโรดมสุรคต รัฐบาลฝรั่งเศสจึงเชิญขึ้นทรงราชย์ครองกรุงกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ เวลานั้นพระชันสาได้ ๖๔ ปี ต่อมาได้เสด็จไปเมืองฝรั่งเศสครั้งหนึ่ง เสวยราชย์มาจนบัดนี้ได้ ๒๐ ปี พระชันสาได้ ๘๕ ปี

เรากลับมาถึงบ้านเรสิดังสุปีริเอสักประเดี๋ยวหนึ่ง พระแก้วฟ้าก็มาเยี่ยมตอบต่างพระองค์ มากับนักพระองค์สิงหราบุตรเขย และออกญาวังวรเวียงชัย การที่สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ไม่ได้เสด็จมาเยี่ยมตอบเองนี้ ฝรั่งชี้แจงว่าเปนด้วยเดี๋ยวนี้ทรงพระชรามาก เวลาฤดูหนาวระวังพระองค์ มิใคร่ไปไหน พระองค์มณีวงศ์ซึ่งเปนพระแก้วฟ้านี้ เปนราชบุตรองค์ใหญ่ ได้ไปเรียนวิชาทหารที่เมืองฝรั่งเศส ๓ ปี ฝรั่งเศสให้มียศเปนนายพันตรีทหารบกของฝรั่งเศส ทำนองจะเปนรัชทายาท แต่ยังไม่ได้ประกาศ

วันที ๒๐ พฤศจิกายน เวลาเช้า ๙ นาฬิกา สนทนากับผู้ส่งข่าวของหนังสือพิมพ์อิมปาเชียลที่เมืองไซ่ง่อน การที่จะสนทนากันนี้ เรสิดังสุปีริเอได้บอกเราเมื่อวันก่อน ว่าหนังสือพิมพ์นั้นทราบวาเราจะมาถึงเมืองพนมเพ็ญ ได้ให้ผู้ส่งข่าวขึ้นมาเพื่อจะขอให้สนทนากับเรา เรสิดังสุปีริเอเห็นว่าถ้าเราให้พบปะก็จะเปนที่พอใจแก่หนังสือพิมพ์ เราตอบว่าจะพบก็ได้ไม่มีความรังเกียจอันใด แต่ว่าเราลงมาคราวนี้ไม่ได้มีความประสงค์จะเกี่ยวข้องด้วยเรื่องราชการบ้านเมือง ตั้งใจมาเที่ยวอย่างเปนคนเดิรทาง เพื่อจะดูของโบราณ เพราะฉนั้นการที่จะสนทนากับผู้ส่งข่าวหนังสือพิมพ์ ขออย่าให้เปนการสนทนาเรื่องราชการบ้านเมือง เข้าใจกันอย่างนี้ เมื่อมาพบปะเขาก็มีอัชฌาสัย ถามแต่ที่เราได้ไปเห็นฝรั่งเศสจัดการบ้านเมืองเปนอย่างไรบ้าง ก็ตอบสรรเสริญตามที่คิดเห็น นอกจากนั้นก็ถามประวัติของเรา ซึ่งศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ เปนคนบอก สนทนากันอยู่ราวครึ่งชั่วโมง พอถึงเวลาตามโปรแกรมก็ขึ้นรถไปดูพระราชวัง พบพระแก้วฟ้า กับออกญาวังวรเวียงชัย และออกญามหามนตรีเปนผู้พาเที่ยวดู

ก่อนที่จะพรรณาถึงพระราชวังกรุงกัมพูชา จำจะต้องเล่าเรื่องตำนานการสร้างพระราชวังที่เมืองพนมเพ็ญนี้ให้ทราบเปนเค้าเสียก่อน คือสมเด็จพระนโรดมย้ายราชธานีกรุงกัมพูชาจากเมืองอุดงค์มีชัยลงมาตั้งที่เมืองพนมเพ็ญตามคำแนะนำของฝรั่งเศส เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ เปนปลายรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร เวลานั้นที่เมืองพนมเพ็ญไม่มีรั้ววัง เปนแต่สร้างตำหนักพักชั่วคราว สมเด็จพระนโรดมได้กำลังฝรั่งเศสอุดหนุน จึงเริ่มสร้างพระราชวังนี้ขึ้นเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระนโรดมได้เคยเข้ามาทำราชการอยู่ในกรุงเทพ.ฯ เมื่อรัชกาลที่ ๔ นิยมแบบแผนพระราชวังในกรุงเทพ ฯ การที่สร้างวังจึงเลียนอย่างพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ ครั้งรัชกาลที่ ๔ มาสร้างเท่าที่สามารถจะทำได้หมดทุกอย่าง ตั้งแต่แบบป้อมปราการตลอดจนมนเทียรสถาน เปนต้นว่าท้องพระโรง ก็ทำอย่างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยขนาดย่อมๆ และให้ชื่อว่าพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย มีหอพระเจ้าอยู่ข้างขวา หอพระอัฐิอยู่ข้างซ้าย และตอนข้างหน้าออกไป มีหอพระปริตอยู่ข้างขวา เรียกว่าหอปริตพิมาน มีพระที่นั่งเย็นอยู่ข้างซ้าย เรียกว่าพระที่นั่งสำราญภิรมย์ เช่นเดียวกันกับหอพระปริตและพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ในกรุงเทพฯ ต่อไปข้างหลังท้องพระโรงมีพระที่นั่งหลังขวาง เช่นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เรียกว่าพระมหามนเทียรสถาน ทางข้างขวาหมู่ท้องพระโรงสร้างพระที่นั่งตึกอย่างฝรั่ง ๒ หลังให้เปนทำนองเดียวกับพระอภิเนาวนิเวศของพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่าพระที่นั่งบรรยงก์รัตนามหาปราสาทหลัง ๑ พระที่นั่งโอภาสโศภนหลัง ๑ ข้างซ้ายสร้างพระที่นั่งอิกหลัง ๑ เรียกว่าพระที่นั่งพิมานอากาศ (แต่เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว ว่าจะทำใหม่) ข้างหน้าพระที่นั่งบรรยงก์ออกมามีพระที่นั่งโถงหลัง ๑ เรียกว่าพระที่นั่งโภชนีโสภา สำหรับเลี้ยงแขกเมือง อย่างหอโภชนลีลาสในพระอภิเนาวนิเวศน์ ที่ริมประตูสองชั้น (อย่างเช่นตรงทิมดาบ ตำรวจในกรุงเทพฯ ) มีตึก ๒ ชั้น ๒ หลังๆ ได้จัดเปนมิวเซียม ที่เก็บเครื่องราชูปโภค เอาอย่างพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ หลังเหนือเปนคลังมหาสมบัติ ต่อออกไปถึงริมกำแพงหน้าวังมีปราสาทพลับพลาสูง อย่างพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เรียกว่าพระที่นั่งจันทฉายา ยังมีชื่อพระที่นั่งต่างๆ ซึ่งสร้างครั้งสมเด็จพระนโรดม ปรากฎอยู่ในทำเนียบอิกหลายหลัง ว่ารื้อเสียแล้วบ้าง ยังอยู่ข้างในตอนที่เราไม่ได้เข้าไปดูบ้าง สังเกตชื่อที่ขนานเลียนชื่อพระที่นั่งในกรุงเทพฯ โดยมาก คือ

๑ พระที่นั่งมหามนเทียรราชฐาน

๒ พระที่นั่งพิมานจักรพรรดิ์

๓ พระที่นั่งนารีรัตนโสภา

๔ พระที่นั่งสุธามรินทร์

๕ พระที่นั่งทักษิณทิศา

๖ พระที่นั่งเทวาวินิจฉัย

๗ พระที่นั่งโอภาส (อำไพ?) นารี

๘ พระที่นั่งมณีเมขลา

๙ พระที่นั่งนงคราญภิรมย์ (สภานงคราญ ?)

๑๐ พระที่นั่งวิมานดุษฎี

๑๑ พระที่นั่งโภชนีโสภา

๑๒ พระที่นั่งกัลยาโศภน

๑๓ พระที่นั่งพิมานอากาศ

๑๔ พระที่นั่งประพาสทิพวัน

๑๕ พระที่นั่งจันทฉายา

๑๖ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนามหาปราสาท

๑๗ พระที่นั่งโอภาสโศภน

๑๘ พระที่นั่งมนเทียรดนตรี

๑๙ พระที่นั่งเบญจเกษตร (ที่ไว้ราชกกุธกัณฑ์)

๒๐ พระที่นั่งมนเทียรดำกลพระรูป

๒๑ พระราชโรงหัด (โรงละคอน)

พระที่นั่งต่างๆ ที่อยู่ตอนด้านหน้าวัง ฝรั่งเศสรื้อของเก่าสร้างถวายสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ใหม่โดยมาก ยังเหลือของสมเด็จพระนโรดมคงอยู่แต่พระที่นั่งบรรยงก์ กับพระที่นั่งโอภาส และตึกอื่นอิกหลัง ๑ หรือ ๒ หลัง คราวนี้จะพรรณาสิ่งซึ่งมีอยู่เดี๋ยวนี้ต่อไป

พระที่นั่งเทวาวินิจฉัยสร้างใหม่ใหญ่โต (เห็นจะยาวกว่า แต่กว้างขนาดพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย) ยกพื้นสูงสักเท่าพระมหาปราสาทที่กรุงเทพฯ ว่าก่อด้วยคอนคริตทั้งหลัง ทำเปนปราสาทตรีมุขสามยอด หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีเหลืองขอบเขียว หลังกลางนั้นข้างในมีเสาราย เพดานทำอย่างฝรั่งเขียนสีเปนลายภาพห้องเรื่องรามเกียรติ์ ฝาผนังก็เขียนลาย กลางท้องพระโรงตรงยอดปราสาทตั้งพระแท่นเศวตฉัตรของเดิม (ย่อมกว่าพระแท่นเศวตฉัตรในกรุงเทพฯ) หนุนฐานขึ้นไป ๓ คั่น ตั้งสูงกว่าพื้นสัก ๒ ศอก แต่เศวตฉัตรนั้นทำสูงเกินขนาด เพราะเอารูปฉัตรเครื่องสูงมาทำเปนเศวตฉัตร ส่วนฉัตรจึงสูงขึ้นไปจนยอดค้ำเพดาน ตรงหน้าพระแท่นเศวตฉัตรตั้งพระแท่นออกขุนนางอย่างเก่า มีพระยี่ภู่พระเขนย อย่างพระแท่นออกขุนนางที่ในกรุงเทพฯ แต่เดี๋ยวนี้เอาเตียงจมูกสิงห์รองอิกชั้นหนึ่ง (จะเสด็จขึ้นก็เห็นจะยาก) ต่อเข้าไปถึงผนังด้านหุ้มกลองข้างใน มีพระที่นั่งบุษบกมาลาอยู่หน้าพระทวาร มีท้ายเกริ่นเอาอย่างของกรุงเทพฯ แต่ไม่มีฉัตรปักสองข้าง ฝีมือเต็มดู มุขสองข้างนั้นทำเปนปราสาทอยู่ตรงยอดปราสาทกลางออกไป มุขข้างขวาเปนหอพระเจ้า มุขข้างซ้ายเปนหอพระอัฐิ มีบานประตูเหล็กโปร่งกั้นกับท้องพระโรง กลางห้องมุขทั้งสองนั้นมีฐานสำหรับตั้งพระพุทธรูปและตั้งโกษฐพระอัฐิ ทำเปนชั้น ๓ ชั้น พื้นทาสีน้ำเงิน มีลายพุ่มเข้าบิณฑ์ปิดทองประดับกระจกสูงสัก ๖ ศอก ในหอพระมีพระพุทธรูปมาก แต่จะหาดูของเก่าหรือของงามไม่พบเลยสักองค์เดียว ในหอพระอัฐินั้นบนฐานชั้นบนตั้งโกษฐ์พระอัฐิสมเด็จพระหริรักษ์ (พระองค์ด้วง) ซึ่งเปนพระราชบิดาของสมเด็จพระนโรดมและสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ เปนโกษฐ์ทอง (ฝีมือทำพระราชทานมาแต่กรุงเทพฯ เปนแน่ไม่มีที่สงสัย) ชั้นรองลงมาตั้งโกษฐ์พระอัฐิเจ้านายกรุงกัมพูชาทั้ง ๒ ชั้นกว่า ๑๐ โกษฐ์ เปนโกษฐ์กาไหล่ฝีมือทำในกรุงกัมพูชา พระที่นั่งมหามนเทียร ซึ่งต่อพระที่นั่งเทวาวินิจฉัยเข้าไปก็ทำใหม่ แต่ข้างในจะเปนอย่างไรเขาไม่ได้เปิดให้เราดู ดูข้างนอกสังเกตแต่ว่าไม่ได้ขยายให้ใหญ่ออกไปกว่าเดิม เปนแต่ยกพื้นให้สูงขึ้นทันพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย ที่ในพระที่นั่งเทวาวินิจฉัยมีของน่าดูอิกสิ่งหนึ่ง คือรูปสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ทรงเครื่องต้น ถือพระแสงดาบยี่ปุ่น นั่งบนพระแท่นเศวตฉัตร หล่อด้วยบรอนส์ทั้งสิ้น โตกว่าจริงเท่าครึ่ง ตั้งบนฐานศิลาอ่อน ๓ คั่นอิกชั้นหนึ่ง ประดิษฐานไว้ตรงพระแท่นเศวตฉัตรไปข้างด้านใต้ รูปนี้เปนของรัฐบาลฝรั่งเศสให้มองสิเออดือดูแองเปนผู้ทำ แล้วถวายสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ ตอบแทนในการที่ได้ช่วยมหายุทธสงครามรูปหนึ่ง ทำถวายพระเจ้ากรุงเวียดนำรูปหนึ่ง รูปพระเจ้าเวียดนำนั้น ว่าพระเจ้าเวียดนำให้ประดิษฐานไว้ณที่ฝังพระศพ ซึ่งสร้างเตรียมสำหรับพระองค์ แต่รูปสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ให้ตั้งไว้ในท้องพระโรงนี้ พึ่งสมโภชมาไม่ช้านัก ตัวช่างยังอยู่กับเรสิดังสุปีริเอที่เมืองพนมเพ็ญ ได้พบกับเราอยู่ทุกวัน วันนี้ก็ตามเข้าไปเพื่อจะอธิบายรูปนั้นด้วย แต่ไม่ต้องอธิบายพอเราเห็นก็ชอบ ด้วยเห็นเขาทำดีจริงๆ คือทำเหมือนพระเจ้ากรุงกัมพูชาแต่งพระองค์ทรงเครื่องต้น ไม่เปนรูปเทวดาและไม่เปนรูปละคอน ขนาดใหญ่ถึงปานนั้นยังทำเหมือนคนจริง ส่วนรูปพระเจ้ากรุงเวียดนำนั้น ได้เห็นแต่รูปถ่ายซึ่งตัวช่างให้ ทำนั่งเก้าอี้ประสานหัดถ์ พิเคราะห์เทียบกับรูปพระเจ้ากรุงเวียดนามที่เคยเห็นดูก็เหมือนจะทำดีอิก

พระที่นั่งเทวาวินิจฉัยที่ทำใหม่นี้ ว่าตามความเห็นของเราเห็นว่าฝีมือทำนั้นควรชมว่าทำหมดจดมั่นคงดี แต่ถ้าว่าด้วยแบบอย่างออกจะน่าเสียดาย เห็นควรจะทำได้งามกว่านี้ แต่หากนายช่างฝรั่งเศสผู้คิดอย่าง ไม่รู้ตำนานการช่างของกรุงกัมพูชา อันการช่างของกรุงกัมพูชั้น ว่าที่แท้มีอย่างเก่าและอย่างใหม่ อย่างเก่านั้นคือแบบปราสาทหิน ถ้านายช่างถ่ายแบบอย่างและลวดลายกระบวรช่างเช่นที่นครธมนครวัดมาคิดทำให้เปนใช้แบบช่างกระบวนเก่าเสียก็จะงาม แบบช่างอย่างใหม่ของกรุงกัมพูชานั้น ที่จริงเลียนแบบอย่างของไทยมาแต่กรุงเทพฯ เมื่อครั้งสมเด็จพระนโรดมดังกล่าวมาแล้ว ถ้าจะทำอย่างใหม่นายช่างควรไปดูแบบอย่างที่กรุงเทพฯ เสียก่อนแล้วจึงมาคิดทำ เช่นนั้นก็จะงาม นี่ไปหลงสำคัญเสียว่าของที่เขมรเลียนไทยมาทำนั้นเปนแบบอย่างของเขมรเอง ไปทำเลียนของเลียนก็เลยเลอะ จะดูยอดปราสาทหรือช่อฟ้าใบระกาเปนเครื่องรำคาญตาทั้งนั้น ถึงพวกฝรั่งที่ได้ไปรู้เห็นแบบอย่างการช่างที่ในกรุงเทพฯ ก็เห็นเช่นเดียวกันดังกล่าวนี้

เมื่อมาดูพระราชวังวันนี้ช่างถ่ายรูปมาตามถ่ายอิก ทั้งช่างของรัฐบาลและองค์พระแก้วฟ้าก็เล่นชักรูปมาขอถ่ายด้วย พระแก้วฟ้านั้นมาคุ้นเคยกันยิ่งขึ้น ก็ออกจะเกิดชอบอัธยาศัยกัน

ออกจากพระที่นั่งเทวาวินิจฉัยไปดูหอพระปริต ซึ่งฝรั่งเศสสร้างใหม่เหมือนกัน แต่ย้ายออกไปตั้งไว้ห่างพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย เปนคู่กับพระที่นั่งเย็น ซึ่งใช้เปนห้องเครื่องมหาดเล็ก ที่ในหอพระปริตมีชั้นพระที่ตั้งเทวรูปและพระขรรค์สำหรับกรุงกัมพูชา เทวรูปมีสำริดของเก่าพอดูได้แต่ ๒ องค์ นอกนั้นเปนของใหม่ทั้งนั้น แต่พระขรรค์เปนของดีน่าดู ในตำนานว่าเปนของพระอินทร์เอาลงมาประทานพระเจ้าชัยวารมันที่ ๒ เมื่อราว พ.ศ. ๑๔๐๐ ตัวพระขรรค์ยาวสัก ๒ ศอก ที่โคนจำหลักเหล็กเปนหน้าราหู ต่อขึ้นไปเปนรูปพระอินทร์ขี่ช้างเอราวัณ แล้วถึงหน้าเทวดาอิกองค์หนึ่ง คร่ำทองที่ลายจำหลักตลอดจนตัวพระขรรค์ พ้นที่จำหลักก็คร่ำเปนลายต่อขึ้นไปอิก หอกดาบจำหลักเหล็กคร่ำทองอย่างนี้เคยเห็นในกรุงเทพฯ มีพระแสงขรรค์ไชยศรี ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงได้ไปจากกรุงกัมพูชาองค์ ๑ หอกของเจ้านายมีอยู่อิก ๒ เล่ม พิเคราะห์ดูเปนฝีมือขอมด้วยกันทั้งนั้น คงสร้างในสมัยเมื่อพวกขอมมีอำนาจมาก แต่จะสร้างยุคไหนนั้นเหลือรู้ พระขรรค์กรุงกัมพูชาโตและยาวกว่าพระขรรค์ไชยศรี ส่วนฝักนั้นเปนฝักทองเกลี้ยง จำหลักลายภาพเรื่องพระนารายณ์ สังเกตรูปภาพและลวดลายที่จำหลัก เห็นว่าจะเปนฝีมือสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือรัชกาลที่ ๑ แต่ฝีมือดี มีหีบไม้ทำเปนอย่างรูปพระขรรค์ทาสีแดงเขียนลายทองประกับข้างนอกฝักอิกชั้น ๑ และมีเตียงจมูกสิงห์ปูเบาะตั้งไว้ข้างหน้าพระ สำหรับเปนที่วางพระขรรค์เวลาเชิญออกชำระ พระครูพราหมณ์เปนเจ้าหน้าที่รักษาและชำระพระขรรค์ ถือกันเปนคติว่า จะชักพระขรรค์ออกจากฝักทั้งหมดได้แต่วันอังคารกับวันเสาร์ (คือเอาออกชำระในวันอังคารวันเสาร์ โดยคติเดียวกับพระแสงที่ในกรุงเทพฯ) ถ้าหากชักออกหมดในวันอื่นเปนอัปมงคล ด้วยเหตุนั้นวันเราไปดูเปนวันพฤหัสบดีนึกเกรงใจเขา จึงมิได้ชักออกดูตลอดเล่ม

มีกิจเรื่องหนึ่ง ซึ่งตั้งใจจะมาสืบหาความรู้จากพวกพราหมณ์ที่กรุงกัมพูชา ด้วยพราหมณ์ในกรุงเทพ ฯ มี ๓ พวก พวกพราหมณ์พิธีมาจากเมืองนคร พวกพราหมณ์โหรดาจารย์มาจากเมืองพัทลุง พวกพราหมณ์พฤฒิบาศไปจากกรุงกัมพูชา เคยสืบได้ความจากพราหมณ์ที่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง ว่าต้นสกุลพราหมณ์พิธีมาจากเมืองรามนคร ส่วนพวกพราหมณ์โหรดาจารย์นั้นได้ความว่าต้นสกุลมาจากเมืองพาราณสี แต่พวกพราหมณ์พฤฒิบาศสืบในกรุงเทพฯ ไม่ได้ความว่าต้นสกุลมาจากไหน จึงหมายจะถามพวกพราหมณ์ที่กรุงกัมพูชา ได้ถามพระครู บอกได้แต่ว่า “มาแต่พนมไกลาส” หมายความว่า มาจากเขาไกรลาส พวกฝรั่งนักเรียนโบราณคดีที่ไปด้วยกันถึงฮา เปนอันสิ้นกระแสสืบไม่ได้ความว่าพวกพราหมณ์พฤฒิบาศเดิมอยู่เมืองใดในมัชฌิมประเทศ

อยากดูเครื่องต้น เขาเชิญเครื่องทรงพระเศียรพระเจ้ากรุงกัมพูชามาตั้งให้ดู ๔ องค์ และอธิบายให้ทราบ คือ พระมงกุฎลงยา ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนั้น สำหรับทรงราชาภิเษกและทรงเลียบพระนครกระบวรราบ พระมาลาเสร้าสะเทิน (เหมือนอย่างต่างกรมทรงในกรุงเทพ ฯ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน สำหรับทรงเลียบพระนครกระบวรม้า พระชฎาห้ายอดทองเกลี้ยง สร้างขึ้นในกรุงกัมพูชา สำหรับทรงเลียบพระนครกระบวรรถ พระมาลาทรงประพาส พื้นตาดเครื่องทอง ทำในกรุงกัมพูชา สำหรับทรงเลียบพระนครกระบวรช้าง ดูก็ชอบกลอยู่

ออกจากหอพระปริต ไปดูมิวเซียม (คือตึกประพาสพิพิธภัณฑ์) ซึ่งเก็บของต่างๆ ชั้นล่างไว้เสลี่ยงทรง และวอสำหรับพระอรรคมเหษี และมีพระกลดยอดหน้าพรหมใส่ถุงตั้งไว้หลายองค์ ราชยานที่ได้ไปพบที่พิพิธภัณฑ์สถานแต่วันก่อน ๒ องค์ คือยานมาศ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน กับราชยานทองคำ ซึ่งสมเด็จพระนโรดมสร้างขึ้น เดิมก็คงอยู่ในตึกนี้ (ราชยานทองคำนั้น พวกเขมรบอกว่าทำมาแต่กรุงเทพฯ แต่เราเห็นว่าลวดลายเปนฝีมือช่างเขมร และเชื่อว่าคงไม่ปล่อยให้ทำในกรุงเทพฯ) ชั้นบนมีเครื่องเพ็ชร์พลอยของบรรณาการต่างประเทศ และของสร้างในเมือง เปนของดีมีราคาหลายอย่าง ว่าเปนของสมเด็จพระนโรดมทั้งนั้น เมื่อจะสุรคตได้สั่งให้เก็บของเหล่านี้ไว้เปนมิวเซียม สมเด็จพระศรีสวัสดิ์จึงจัดตามพระประสงค์ ของที่เก็บในที่นี้มีพานทองกลมเครื่องยศใบหนึ่ง ขนาดเขื่องกว่าพานทองเครื่องยศเจ้านาย ข้าพเจ้าเห็นฝีมือจำได้ ถามเจ้าพนักงารผู้เก็บว่าเปนของพระราชทานมาแต่กรุงเทพฯ หรือ เขาก็รับว่าถูกต้อง ที่จริงฝีมือเครื่องทองทำในกรุงเทพฯ กับที่กรุงกัมพูชาผิดกันสังเกตได้ไม่ยาก

ออกจากมิวเชียมประพาสพิพิธกัณท์ไปดูวัดพระแก้ว วัดพระแก้วอยู่ข้างขวาพระราชมนเทียร อย่างเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่ในกรุงเทพฯ แต่ทำกำแพงกั้นเปนต่างบริเวณกัน มีถนนคั่นกลาง แต่ถนนนั้นมีประตูสกัดถนนทั้งสองด้าน วัดพระแก้วมีพระระเบียงล้อมรอบ ฝาผนังพระระเบียงเขียนเรื่องรามเกียรติ์ อย่างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่รูปภาพเขียนเลวไม่น่าดู ดีแต่ฝาผนังไม่ชื้น ภาพยังดี ในลานอุปจารข้างหน้ามีพระเจดีย์ ๒ องค์ ทำงามพอดู เปนที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระหริรักษ์องค์หนึ่ง พระอัฐิสมเด็จพระนโรดมองค์หนึ่ง พระอุโบสถอยู่กลาง ข้างหน้าพระอุโบสถมีรูปหล่อเปนรูปสมเด็จพระนโรดมแต่งพระองค์อย่างฝรั่งเศสขี่ม้า ทำเพดานไว้ข้างบน แต่รูปนั้นขะมุกขะมอมเต็มที สองข้างพระอุโบสถมีมณฑปข้างละหลัง มณฑปข้างซ้ายเปนที่ไว้พระธรรม มณฑปข้างขวาเปนที่ไว้รอยพระพุทธบาท เชิงมณฑปนี้ก่อเขาล้อมรอบ หน้ามณฑปหลังข้างขวามีวิหารน้อยหลังหนึ่ง เปนที่ไว้พระบาท ๔ รอย ข้างหลังพระอุโบสถดูเหมือนมีการเปรียญอิกหลังหนึ่ง แต่ไม่ได้ไปดู พระอุโบสถนั้นทำเปนทรงพระอุโบสถสามญ แต่มียอดปราสาท ข้างในพระอุโบสถพื้นปูกระเบื้องเงิน ฝาผนังหว่างหน้าต่างเขียนเรื่องทศชาติและเวสสันตรชาดก เหนือหน้าต่างขึ้นไปเขียนเรื่องปฐมสมโพธิ์ กลางพระอุโบสถมีฐานชุกชี ตั้งบุษบกรองพระแก้ว พระแก้วนั้นสมเด็จพระนโรดมสั่งให้ไปทำเปนพระแก้วมรกฎที่ห้างปักกะราต์ฝรั่งเศส ข้อนี้ทราบมานานแล้ว มาได้ความรู้เพิ่มเติมเมื่อเห็นตัวจริง ว่าตั้งใจจะจำลองให้เหมือนพระแก้วมรกฎที่ในกรุงเทพฯ สมเด็จพระนโรดมเห็นจะให้ไปสืบและวัดมาด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้ขนาดเท่ากัน แต่รูปสัณฐานนั้นผิดกันห่างไกล สีแก้วมรกฎที่ฝรั่งหล่อก็เขียวใสเปนอย่างขวดเขียวสีเหลี่ยมที่มักใช้ใส่น้ำอบกันแต่ก่อน เครื่องประดับก็ทำแต่ทองครอบพระเกตุมาลา แล้วติดรัศมีต่อขึ้นไป สองข้างบุษบกตั้งลับแลบังปันที่เปนข้างหน้าข้างในอย่างวัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพฯ มีของแปลกที่น่าดูอย่างหนึ่ง คือพระพุทธรูปทองฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนโรดม ทำเปนพระยืนทรงเครื่อง (แบบพระฉลองพระองค์ในกรุงเทพฯ) แต่แต่งเครื่องเพ็ชรพลอยอย่างใหม่ฝีมือฝรั่ง ซึ่งเปนของสมเด็จพระนโรดมทรงพระอุทิศไว้ ฝีมือทำพระก็งามดี เสียแต่ใส่ตู้กระจกตั้งตรงหน้าบุษบกยกลงมา ออกจะบังพระแก้วมรกฎ ที่ดูในวัดพระแก้วมีเท่านี้ ดูเสร็จกลับมาพอเวลา ๑๑ นาฬิกาเศษ

เวลาบ่าย ๓ นาฬิกา พระวันรัตน ราชาคณะผู้ใหญ่อยู่วัดอุณาโลมมาหา พระวันรัตน์องค์นี้ชื่อจันทร์ เมื่อบวชเปนสามเณรเข้าไปเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วไปบวชเปนพระอยู่ที่วัดจักรวรรดิ เธอไปเรียนหนังสือในสำนักพระยาธรรมปรีชา (บุญ) ที่พระพุทธปรางค์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งเรายังเปนอธิบดีกระทรวงธรรมการ จึงได้คุ้นเคยกันมาแต่ครั้งนั้น เปนเหตุให้มาหาเมื่อเราออกมาคราวนี้ ไต่ถามขนบธรรมเนียมได้ความเพิ่มเติมจากที่ถามพระมหาพิมลธรรมออกไปอิก จะรวมความแสดงต่อไปในที่นี้

ทำเนียบสมณศักดิ์กรุงกัมพูชา

สำรับเอก

พระมหาสังฆปรินายก

สมเด็จพระมหาสังฆราชาธิบดี ที่มหาสังฆนายก และเปนเจ้าคณะมหานิกาย

สมเด็จพระสุคนธาธิบดี ที่ธรรมเสนาบดี และเปนเจ้าคณะสงฆ์ธรรมยุติกา

พระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นจตุสดมภ์

พระธรรมลิขิต

พระโพธิวงศ

พระมงคลทิพาจารย์

พระวันรัตน

พระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นโอภาสราชนิมนต์

(เห็นจะสำหรับสวดประกาศ)

พระมหาพิมลธรรม

พระมหาพรหมมุนี

พระราชาคณะสามัญสำรับเอก

พระพุทธโฆษาจารย์

พระธรรมโฆษาจารย์

พระโฆษธรรม

พระธรรมอุดม

พระธรรมไตรโลกาจารย์

พระศิริสังคามมุนี

พระอมรโมลี

พระบวรสัตถา

พระอมราภิรักขิต

พระญาณบวรวิชา

พระสุธรรมเถร

พระราชาคณะสามัญสำรับโท

พระศรีสมมติวงศ

พระพุทธวงศ

พระสากยวงศ

พระธรรมกวีวงศ

พระอริยวงศ

พระราชาคณะสามัญสำรับตรี

พระญาณรังสี

พระศรีวิสุทธิวงศ

พระญาณวิริยะ

พระธรรมปัญญาญาณ

พระญาณโกศล

พระราชาคณะสามัญสำรับจัตวา

พระธรรมวิปัสนาญาณ

พระสมาธิธรรม

พระธรรมวิสุทธ

พระธรรมวิริยะ

พระธรรมนิโรธรังสี

ที่แบ่งพระราชาคณะเปน ๔ สำรับนั้น เปนตามแบบทำเนียบบันดาศักดิ์ในกรุงกัมพูชาแต่โบราณ สำรับเอก พระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงตั้ง สำรับโท พระมหาอุปโยราชตั้ง สำรับตรี พระมหาอุปราชตั้ง สำรับจัตวา พระวรราชินีตั้ง แต่ทุกวันนี้พระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงตั้งทั้งนั้น

สมเด็จพระสังฆราชกับสมเด็จพระสุคนธ์มีถานานุกรมองค์ละ ๘ รูป ถานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราชนั้นคือ

พระครูปลัดสังฆวงศ์ องค์ ๑

พระครูปลัดสังฆวิชา องค์ ๑

พระครูสังฆวิชา องค์ ๑

พระครูสังฆสัททา องค์ ๑

พระวินัยธร องค์ ๑

พระวินัยธรรม องค์ ๑

พระสมุห์ องค์ ๑

พระใบฎีกา องค์ ๑

ถานานุกรมของสมเด็จพระสุคนธ์ ๘ องค์นั้น ก็เหมือนของสมเด็จพระสังฆราช ผิดกันแต่ชื่อปลัดกับพระครู ชื่อพระครูปลัดมหาอุตตระองค์ ๑ พระครูปลัดมหาปัททุมะองค์ ๑ พระครูปัญญาวินิจฉัยองค์ ๑ พระครูไตรวิชาองค์ ๑ พระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นรองลงมามีถานานุกรม ๔ รูป คือ ปลัดรูป ๑ พระครู ๒ รูป สมุห์รูป ๑ พระราชาคณะสามัญมีถานานุกรมแต่ปลัดกับสมุห์ ตำแหน่งวินัยธรและวินัยธรรมตามแบบในกรุงกัมพูชา เปนตำแหน่งสำหรับวัดเหมือนกับตำแหน่งใบฎีกา ถ้าวัดใหญ่ถึงสมภารจะเปนพระราชาคณะชั้นต่ำก็มีวินัยธรวินัยธรรม แต่พระราชาคณะถึงจะเปนตำแหน่งชั้นสูง เช่นพระวันรัตนและพระมหาพิมลธรรม ถ้าอยู่วัดเดียวกับสมเด็จพระสังฆราช จะมีวินัยธรวินัยธรรมหาได้ไม่

อนึ่งเปรียญมิใคร่จะมี เพราะการสอบพระปริยัติธรรมในกรุงกัมพูชา นานๆ จึงจะมีพอเปนพระเกียรติยศสักครั้งหนึ่ง ครั้งสมเด็จพระหริรักษ์ครองกรุงกัมพูชาปรากฎว่ามี ๒ ครั้ง ครั้งสมเด็จพระนโรดมครองกรุงกัมพูชาก็มี ๒ ครั้ง มาถึงครั้งสมเด็จพระศรีสวัสดิ์พึ่งมีเพียงครั้งหนึ่ง สอบได้ ๕ ประโยคเปนอย่างสูง ตาลิปัตรยศพระสงฆ์กรุงกัมพูชานั้นใช้แบบเดียวกับกรุงเทพ ฯ มีทั้งพัดแฉกพัดพุดตาลและพัดหน้านาง ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เปนพื้นกำมะหยี่ปักไหมทองและดิ้นเลื่อมทุกอย่าง ว่าเดิมพระราชทานออกมาจากกรุงเทพ ฯ ครั้งสมเด็จพระหริรักษ์ เห็นจะเปนเมื่อในรัชกาลที่ ๔ จึงเอาเปนแบบอย่างทำต่อมา แต่พัดเปรียญนั้นทำคล้ายๆ พัดพระครูสังฆ์ ไม่เหมือนพัดเปรียญในกรุงเทพ ฯ

การพระราชพิธีประจำปีคือถือน้ำ ทำพิธีที่วัดพระแก้ว แต่ก่อนมีทั้งเดือน ๕ และเดือน ๑๐ เดี๋ยวนี้มีแต่เดือน ๑๐ ปีละครั้งเดียว สวดมนต์ ๓ วัน แต่เมื่อพราหมณ์ชุบพระแสงนั้น พระสงฆ์หาได้สวดไม่

พิธีเผด็จศกสงกรานต์ เดือน ๕ สวดมนต์ ๓ วัน ทรงรดน้ำพระสงฆ์เท่าพระชันสา และเสด็จออกสนาม มีการเล่นกิฬาและมวยปล้ำ

พิธีแรกนา เดือน ๖ สวดมนต์ ๓ วัน แรกนาขวัญที่ทุ่งพระเมรุ ข้างเหนือพระราชวัง

เข้าพรรษา เดือน ๘ สวดมนต์ในพระราชวังวันหนึ่ง ทรงจุดเทียนวัสสาที่วัดพระแก้ว

เฉลิมพระชันสา เดือน ๙ สวดมนต์ในพระราชวัง ๓ วันถวายไตรเท่าพระชันสา ที่ในวังแต่งประทีป และเกณฑ์ข้าราชการตั้งโต๊ะเครื่องบูชา นัดออกร้านขายของที่พระระเบียงวัดพระแก้วด้วย

พิธีสารท เดือน ๑๐ แต่ก่อนตั้งแต่แรมค่ำ ๑ จนสิ้นเดือน ๑๐ เลี้ยงพระที่ในพระราชวังทุกวัน แต่เดี๋ยวนี้ลดลงคงเลี้ยงแต่ ๓ วัน

พิธีถือน้ำ (ได้กล่าวมาแล้ว) ในหนังสือพงศาวดารกรุงกัมพูชาว่าเดือน ๑๐ มีพิธีถวายบังคมพระรูปพระราชบิดรอิกอย่างหนึ่ง เห็นจะเนื่องอยู่ในพิธีถือน้ำอย่างที่ในกรุงเทพฯ และว่ามีการเทศน์คาถาพันด้วยอิกอย่างหนึ่ง

ออกพรรษา เดือน ๑๑ ในพงศาวดารกรุงกัมพูชาว่ามีพิธีลอยประทีป ๓ วัน และมีการแข่งเรือ ไม่เกี่ยวแก่สงฆ์พระจึงไม่เล่า พระเล่าแต่เรื่องเสด็จกฐิน ว่าเดี๋ยวนี้เสด็จทอดแต่ ๔ วัด สมเด็จพระศรีสวัสดิ์เสด็จไปรถยนต์ ให้กระบวรไปคอยรับอยู่ที่วัด ไม่ได้แห่พยุหยาตราเช่นครั้งสมเด็จพระนโรดม คำอุปโลกน์กฐิน ว่าเปนภาษาเขมร ดังนี้

คำอุปโลกน์พระกฐิน องค์ที่ ๑

บพิตเตย รีองค์พระกถินทานเนะ ชาองค์พระกถินทานไถลในพระบาทสมเด็จพระสิริสุวัดถิ จอมจักระพงสหริราชบรมบพิตรธัมมิกมหาราชาธิราช พระราชสมภารฏ็ทรงเนาพระคุณธรรม์มหาปนเสืรฐ์ ทรงพระราชสัทธาทรงจำณายพระราชทรัพย์ ปรดับชาองค์พระกถินทานมานไตรจีวรครบปรดับสรับเนาเครื่องบริกขารบริวารทังปวง พรอมทังพระราชวงสานุวงศ์องค์ราชเสวกอรรคเสนาบดีกวีชาติ แหรนำจูลมกกนุงอาวาสวิหารเนะ นึงบานจำเพาะตรงภิกขุองค์เอณานีมวยก็เท จำเพาะแตพระสงฆ์แฎลคงจำพระวัสสาออสไตรมาสเนากนุงอาวาสวิหารเนะริองค์ พระกถินทานเนะ ครุวนาดูจชาสมพตทิพย์โกเสยพัสตร์ฏ็อนแดดตรอแสดโดยนภาลัยปรเทสเหยธลักจุะมกกนุงกนดาลชุมนุมสงฆ์ พระพุทธองค์อนุญาตกนุงกถินักขันธกะ ถาตรูวโอยภิกขุองค์ ๑ แฎลเจะอานิสงส์ ๕ มาติกา ๘ ปลิโพธ ๒ นูวกถินัตถารกิจทังปวงท็ทวลกราลครอง

ฎูจเนะเบอภิกขุองค์เอณามวย มานไตรจีวรทุพลภาพฎัจฎาจมิน อวจนึงเปรอประบาน เหยแจะอานิสงส์ ๕ มาติกา ๘ ปลิโพธ ๒ นูวกถินัตถารกิจทังปวง ก็จูรโอยเฉลยมก นึงบานโอยพระวินัยธรบงแวรบง วิลองค์พระกถินทานเนะ โอยท็ทวลกราลครองฉลองพระราชสัทธาถวายพระราชกุสล ฯ

คำอุปโลกน์พระกฐิน องค์ที่ ๒

บพิตเตย รีออสเยิงขญม สึงฎ็มานจีวรครองครบองค์บริบูรณ์เหย รีองค์พระกถินทานเนะ เฆิญสมควรแตสมเด็จพระมหาสงฆราช สงฆนายก อาจเจะอานิสงส์ ๕ มาติกา ๘ ปลิโพธ ๒ นูวกถินัตถารกิจทังปวง ท็ทวลกราลครอง

ฎูจเนะเบอภิกขุองค์เอณา เฆิญถามินสมควรโดยปรการฎูจเมด็จ ก็จูรเฉลยมกกุมโอยมานโกดญ็เญิดเลย เบอเฆิญถาสมควรเหยก็จูร โอยสัททสัญญาสาธุการโอยพรอม ๆ ครอบองค์เทาฮอง ฯ

แปลคำอุปโลกน์พระกฐิน

องค์ที่ ๑

องค์พระกฐินทานนี้ เปนองค์พระกฐินทานอันวิเศษ ของพระบาทสมเด็จพระศรีสวัสดิจอมจักรพงศหริราชบรมบพิตรธรรมิกมหาราชาธิราช พระราชสมภารผู้ทรงซึ่งพระคุณธรรมมหาประเสริฐ ทรงพระราชศรัทธาทรงจำหน่ายพระราชทรัพย์ ประดับเปนองค์พระกฐินทานมีไตรจีวรครบประดับ กับเครื่องบริกขารบริวารทั้งปวง พร้อมทั้งพระราชวงศานุวงศ์ ราชเสวกอรรคเสนาบดีกวีชาติ แห่นำเข้ามาในอาวาสวิหารนี้ จะได้ฉะเพาะเจาะจงต่อภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็หามิได้ ฉะเพาะแด่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพระพรรษาสิ้นไตรมาสอยู่ณอาวาสวิหารนี้ องค์พระกฐินทานนี้ ครุวนาดุจดังผ้าทิพย์โกไสยพัสตร์อันลอยโดยนภาลัยประเทศ แล้วแลตกลงมาณท่ามกลางชุมนุมสงฆ์ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตในกฐินักขันธกะ ว่าต้องให้ภิกษุรูป ๑ ที่รู้อานิสงส์ ๕ มาติกา ๘ ปลิโพธ ๒ แลกฐินัตถารกิจทั้งปวง รับกรานครอง

เหตุฉนี้ ถ้าแล (พระสงฆ์ทั้งปวงเห็นว่า) ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง มีไตรจีวรทุพลภาพเก่าคร่ำคร่ามิอาจที่จะใช้สอยได้ แล้วแลรู้อานิสงส์ ๕ มาติกา ๘ ปลิโพธ ๒ และกฐินัตถารกิจทั้งปวง ก็จงแสดงขึ้น จะได้ให้พระวินัยธรมอบองค์พระกฐินทานนี้ ให้รับกรานครองฉลองพระราชศรัทธา ถวายพระราชกุศล ฯ

องค์ที่ ๒

ข้าพเจ้าล้วนแต่มีไตรจีวรครองครบรูปบริบูรณ์แล้ว องค์พระกฐินทานนี้ เห็นสมควรแด่สมเด็จพระมหาสังฆราช สังฆนายก อาจรู้อานิสงส์ ๕ มาติกา ๘ ปลิโพธิ ๒ แลกฐินัตถารกิจทั้งปวง รับกรานครอง เหตุฉนี้ ถ้าและภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเห็นว่าไม่สมควรโดยประการใด ๆ ก็จงทักท้วงมาอย่าได้มีความครั่นคร้ามเกรงกลัวเลย ถ้าเห็นว่าสมควรแล้ว ก็จงให้สัตสัญญาสาธุการขึ้นให้พร้อม ๆ กันทุกรูป เทอญ

----------------------------

เดือน ๑๒ ไม่มีพิธีสงฆ์ ในพงศาวดารกรุงกัมพูชาว่า มีแต่พิธีตั้งเสาโคมไชย อย่างมีในกรุงเทพ ฯ แต่ก่อน แต่ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ว่าแม้เดี๋ยวนี้ยังมีพิธีไล่น้ำ อย่างกล่าวในกฎมณเฑียรบาล สมเด็จพระศรีสวัสดิ์เสด็จลงตำหนักแพ ทรงตัดเชือก ทำพิธีปล่อยน้ำซึ่งท่วมทุ่งอยู่ให้ลดไหลลงไปทะเล กับพิธีบูชาพระจันทร์ (เห็นจะเปนอันเดียวกับตั้งเสาโคมไชย) แลพิธีกินเข้าเม่า (จะเปนพิธีอันใดยังไม่ทราบแน่) อิกอย่าง ๑

พิธีโล้ชิงช้าในกรุงกัมพูชาหามีไม่ ไปมีเอาพิธีตรุษในเดือน ๔ มีสวดมนต์เลี้ยงพระและยิงปืนอาฎานาเหมือนในกรุงเทพ ฯ

มีตำแหน่งพระครูคู่สวด สำหรับสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร ๔ องค์ สำหรับสวดมหาสมัยสูตร ๔ องค์ เปนที่

พระครูอมรโฆษิน ๑

พระครูอินทรโฆษิต ๑

พระครูอมรวิวิต ๑

พระครูวิจิตรสัททา ๑

พระครูศีลสังวร ๑

พระครูอมรสัททา ๑

พระครูอุดมปัญญา ๑

พระครูโฆษาวิสุทธ ๑

มีพระพิธีธรรมสำหรับสวดภาณยักษ์ ๘ รูป

ประเพณีการบำเพ็ญพระราชกุศลโดยปรกติ มีการทรงบาตรในพระราชวังเวลาเช้าทุกวัน เหมือนเช่นเคยมีในกรุงเทพ ฯ แต่ก่อน แต่มีกำหนดจำนวนพระสงฆ์เข้าไปรับบาตรเท่าพระชันสา เดี๋ยวนี้วันละ ๘๕ รูป พระสงฆ์ ๕ วัดผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปรับบาตรเวลาเช้า ๗ นาฬิกา แต่ก่อนสมเด็จพระศรีสวัสดิ์เคยเสด็จลงทรงบาตรเปนนิจ แต่ใน ๓ ปีมานี้ทรงพระชราลงมาก เสด็จลงบ้าง เว้นบ้าง ถึงวันพระมีเลี้ยงพระสวดมนต์แลทรงธรรมที่ในพระราชวัง ทั้งในพรรษาและนอกพรรษา และมีพระสงฆ์มหานิกาย ๕ รูป ธรรมยุติ ๕ รูปสวดจตุเวททำน้ำมนต์สำหรับสรงด้วยทุกวันพระ อนึ่งในเวลาเสด็จออกท้องพระโรงโดยปรกติ ใช้ประเพณียืนและนั่งเก้าอี้ในที่เฝ้า แต่ถ้าเสด็จออกในการพิธีสงฆ์ ยังทอดราชอาสน์ และปูลาดอาสนสงฆ์กับพื้น เหล่าข้าเฝ้ายังต้องหมอบคลาน

ได้ขอให้พระมหาพิมลธรรมจดคำอติเรกและถวายพระพรพระเจ้ากรุงกัมพูชา จดให้มาดังนี้

คำอติเรก

อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ (๓ ครั้ง) ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ สุขิโต โหตุ มหาราชา สิทฺธิกิจฺจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ชโย นิจฺจํ ปรมมหาราชวรสฺส ภวตุ สพฺพทา ฯ สูมถวายพระพร ฯ

คำถวายพระพรนำเทศนา

สูมถวายพระพรบวรจำเริญ พระราชสิริสุวัดถิพิพัฒนมงคล พระชนมสุขครบปรการ จูรมานแด่พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมมหาจักรพัตราธิราช พระบรมนาถมหาบพิตร์ ธัมมิกมหาราชาธิราช พระราชสมภารฎ็ทรงเนาพระคุณธรรม์มหาปรเสีรฐ์ ดบิดเวลาเนะ อตมาภาพบานท็ทวลพระราชนิมนต์มกสมแดงพระธัมมเทสนา ตอบสนองพระราชสัทธา เทาะบีเบออตมาภาพสมแดงเทาเหยขวะขาดชุสโดยเนา โวหารอัตถาธิบายบทวารพระบาฬี สัจกดีเอณามวยสูมทรงพระราชขันตีอภัยโทส อตมาภาพสมแดงโดยมานสติปัญญาโอนถอย สูมถวายพระพร ฯ

คำถวายพระพรลา

สูมถวายพระพรบวรจำเริญ พระราชสิริสุวัดถพิพัฒนมงคลพระชนมสุขครบปรการ จูรมานแดพระบาทสมเด็จพระนโรดมบรมมหาจักรพัตราธิราช พระบรมนาถมหาบพิตย์ ธัมมิกมหาราชาธิราชพระราชสมภารฎ็ทรงเนาพระคุณธรรม์มหาปรเสืรฐ์ ดบิดเวลาเนะมานกาลฎ็สมควรเหย อตมาภาพเนาพระภิกขุสงฆ์ทั้งปวง สูมถวายพระพรลา สูมถวายพระพร ฯ

แปลคำถวายพระพรนำเทศนา

ขอถวายพระพรบวรเจริญ พระราชสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ จงมีแด่พระบาทสมเด็จพระนโรดมบรมมหาจักรพัตราธิราช พระบรมนาถมหาบพิตร ธรรมิกมหาราชาธิราช พระราชสมภารผู้ซึ่งทรงพระคุณธรรมมหาประเสริฐ วาระนี้ อาตมภาพได้รับพระราชทานนิมนต์มาสำแดงพระธรรมเทศนา ตอบสนองฉลองพระราชศรัทธา ถ้าแลอาตมภาพสำแดงไปแล้วมิได้ถูกต้องตามโวหารอรรถาธิบายบทวารพระบาลี ข้อใดข้อหนึ่ง ขอทรงพระราชขันตีอภัยโทษ แด่อาตมภาพผู้มีสติปัญญาน้อย ขอถวายพระพร

แปลคำถวายพระพรลา

ขอถวายพระพรบวรเจริญ พระราชสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล พระชนมสุขทุกประการ จงมีแด่พระบาทสมเด็จพระนโรดมบรมมหาจักรพัตราธิราช พระบรมนาถมหาบพิตร ธรรมิกมหาราชาธิราช พระราชสมภารผู้ทรงพระคุณธรรมมหาประเสริฐ เวลานี้มีกาลอันสมควรแล้ว อาตมภาพกับพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ขอถวายพระพรลา ขอถวายพระพร

สวดมนต์ ไม่ว่างารหลวงหรืองารราษฎร สวดแต่เจ็ดตำนานหรือสิบสองตำนาน ถ้าเปนงารเปตพลี สวดอนัตตลักขณ หรืออาทิตตปริยาย แต่ธรรมจักรกับสมัยนั้นสวดแต่บนเตียงสวดในพิธีตรุษ หาสวดงานอื่นไม่ ได้ความตามที่ไต่ถามดังนี้

สนทนากับพระวันรัตนแล้ว ขึ้นรถยนต์ไปดูการปกครองหัวเมืองของกรุงกัมพูชา เรสิดังสุปีริเอให้มองสิเออเมลิเย เรสิดังมณฑลกันดาล (แปลว่ามณฑลกลาง) คือมณฑลราชธานี เปนผู้พาไป มองสิเออเมลิเยนี้เคยไปอยู่กรุงเทพฯ และเคยเปนกงสุลที่เมืองอุบล รู้วิธีปกครองท้องที่ของไทย และยังพูดภาษาไทยได้ พาไปดูที่ว่าการอำเภอกันทวดในแขวงเมืองดันดาลสะทึงแห่งหนึ่ง นายอำเภอต้อนรับเลี้ยงเครื่องว่าง แล้วพาไปดูวัดบ้านนอกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทในแผ่นไม้จำหลักเปนของโบราณ มีกำนันผู้ใหญ่บ้านและราษฎรมาคอยรับอยู่มาก พระสงฆ์ก็จัดรับรอง แต่ท่านพระสมภารที่มาต้อนรับนั้นตรงมาถึงยื่นมือมาขอจับ ก็เลยได้จับมือกับพระดูแปลกอยู่ ออกจากวัดพาขึ้นรถไปเที่ยวอิกไกล แปลว่าจะให้ดูถนนที่สร้างไปตามหัวเมือง สังเกตดูไปตามทาง ในหมู่บ้านใหญ่มักจะมีตลาดสร้างเปนของถาวรทุกแห่ง บางตำบลก็มีโรงเรียนมีโอสถศาลาและสถานีโทรศัพท์ ตลาดนั้นมอซิเออเมลิเยบอกว่าที่แห่งใดควรจะมีตลาด รัฐบาลก็ให้สร้างขึ้นด้วยทุนของรัฐบาล แล้วให้มีผู้ผูกไปเก็บค่าเช่าตามอัตราของรัฐบาล ที่ทำเช่นนั้นเพื่อจะให้สะอาดหมดจด และมิให้แย่งชิงกันทำ ขับรถไปถึงตัวเมืองเกียนสวาย ออกญาผู้ว่าราชการเมือง พูดภาษาไทยได้คล่อง มาต้อนรับเชิญไปแวะที่จวนเลี้ยงดูอิกครั้งหนึ่ง แล้ววกมาเมืองพนมเพ็ญ มาแวะบ้านมองสิเออเมลิเยเลี้ยงเครื่องดื่มอิกครั้งหนึ่ง แล้วจึงกลับมาถึงที่พักเวลาค่ำ

ระเบียบการปกครองหัวเมืองในกรุงกัมพูชา คล้ายคลึงกับระเบียบของไทย ทั้งแบบโบราณและแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ชอบกลฉยู่ แต่โบราณในทำเนียบหัวเมืองของกรุงกัมพูชาว่ามี ๕๔ เมือง แยกกันขึ้นอยู่ในเสนาบดีต่างกระทรวง มีหัวเมืองขึ้นทุกกระทรวง เดี๋ยวนี้ฝรั่งเศสจัดหัวเมืองเปนมณฑล ตามที่สดวกแก่การปกครอง กำหนดเปน ๑๓ มณฑล มณฑลหนึ่งมีเรสิดังฝรั่งเศสเปนเช่นสมุหเทศาภิบาลของเราคน ๑ และมีกรมการฝรั่งเศสชุด ๑ ส่วนตามเมืองในมณฑลนั้น ตั้งขุนนางเขมรเปนเจ้าเมืองกรมการทุกเมือง ในเมืองหนึ่งแบ่งท้องที่เปนอำเภอมากบ้างน้อยบ้าง มีนายอำเภอปกครอง ท้องที่อำเภอหนึ่งแบ่งเปนตำบลตามหมู่บ้านของราษฎร มีกำนันนายตำบล และมีผู้ใหญ่บ้านรองจากกำนันลงไป เช่นเดียวกับวิธีการปกครองท้องที่ในประเทศนี้ สังเกตดูฝรั่งเศสตั้งใจจะให้การปกครองสนิทสนมกันในระหว่างฝรั่งเศสกับเขมร เปนต้นว่าตัวผู้เปนเรสิดังจะต้องพูดภาษาเขมรได้ไม่ให้ต้องมีล่ามอย่างแต่ก่อน และต้องเที่ยวเตร่ให้รู้จักคุ้นเคยกับราษฎร ส่วนเจ้าเมืองนั้น เจ้าเมืองชั้นเก่าปลดเปลื้องไปแล้วโดยมาก เจ้าเมืองชั้นใหม่เลือกผู้ที่ได้ศึกษาในโรงเรียนและรู้ภาษาฝรั่งเศสทุกคน ชั้นนายอำเภอก็ตั้งใจจะเลือกสรรค์เช่นนั้น เจ้าเมืองรุ่นใหม่ซึ่งเราได้พบหลายคน เปนคนชั้นหนุ่มพูดไทยคล่องแทบทุกคน ดูเหมือนพบที่พูดไม่คล่องอยู่คนเดียว วิธีที่ฝรั่งเศสจัดดังกล่าวมา ว่าตามความคิดของเราเห็นว่าดีควรชม

  1. ๑. ในพงศาวดารเขมรเรียกว่าพระยาแพรก สำคัญผิดไปว่าเปนเขมร

  2. ๒. เมื่อศฤสตศก ๑๙๑๙ นั้น สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ทรงทำศิลาจารึกบอกเรื่องตำนานประดิษฐานไว้ตามโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้พบอิกหลายแห่ง เปนการสมควรยิ่งนัก.

  3. ๓. ขอบใจมองสิเออบอดูแลเรสิดังสุปีริเอกรุงกัมพูชา ในเรื่องหาทำเนียบต่างๆ เราอยากได้อย่างใด ช่วยเปนธุระเรียกมาให้ทั้งนั้น

  4. ๔. อ่านว่า “โดจฉะเนะ”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ