๒ ถึงเมืองกำปอด

วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน เวลาเช้า ๖ นาฬิกาครึ่ง ถึงอ่าวแก๊ป พอเรือทอดสมอ เรือยนต์ของรัฐบาลฝรั่งเศสก็แล่นออกมาหาเรือสุทธาทิพย์

มองสิเออริชชอมม์ เรสิดังมณฑลกำปอดมาต้อนรับในนามของเกาวเนอเยเนอราลคน และเรสิดังสุปีริเอกรุงกัมพูชาคน ๑ นายร้อยโทกอนเน นายทหารคนสนิทของเรสิดังสุปีริเอ คุมรถยนต์ลงมารับขึ้นไปเมืองพนมเพ็ญคน ๑ นางสาวซีซานคาปูเลส ซึ่งเคยเข้าไปอยู่ในกรุงเทพ ฯ คราวหนึ่ง ได้คุ้นเคยก้บเจ้าหญิงทั้ง ๓ มาแต่ก่อน เวลานี้มีตำแหน่งอยู่ในกรุงกัมพูชา รัฐบาลให้ลงมารับและอยู่เปนเพื่อนเจ้าหญิงด้วยคน ๑

เมื่อทักทายปราไสกับผู้ที่มารับและลากัปตันแล้ว เวลา ๘ นาฬิกาลงเรือยนต์ของรัฐบาลไปขึ้นที่สพานท่าตำบลแก๊ป มีรถยนต์สำหรับคนขี่ ๔ หลัง รถยนต์สำหรับบรรทุกของ ๒ หลัง ผู้มารับเชิญขึ้นรถยนต์ไปพักที่บ้านเรสิดังสุปีริเอ ภรรยาเรสิดังกำปอดมาคอยรับเจ้าหญิงอยู่ด้วย การรับรองแสดงความเอื้อเฟื้อมาก ที่จริงเรามาคราวนี้ ตั้งใจจะเที่ยวเตร่โดยลำพัง มิให้เกี่ยวข้องในทางราชการบ้านเมือง หรือแสดงยศศักดิอย่างหนึ่งอย่างใด แม้เมื่อมาในเรือก็ได้ห้ามมิให้ชักธงราชวงศ์ เปนแต่เพื่อจะมิให้เสียอัธยาศัยจึงได้แจ้งความแก่กระทรวงการต่างประเทศ ขอให้บอกรัฐบาลฝรั่งเศสให้ทราบพอเปนคำนับ การรับรองแต่นี้ไป จนตลอดเวลาที่พวกเราอยู่ในดินแดนของฝรั่งเศส เปนโดยความเอื้อเฟื้อของรัฐบาลฝรังเศสทั้งสิ้น ต้องรู้สึกขอบคุณอย่างยิ่ง แต่ความรำคาญอย่างยิ่งก็มามีขึ้นอย่างหนึ่ง ด้วยตัวเราพูดภาษาฝรั่งเศสไม่เปน ถึงพูดอังกฤษได้ก็ไม่เปนประโยชน์เพียงใด รู้สึกอึดอัดขัดขวางรำคาญใจในข้อนี้ เปนเครื่องถ่วงความสำราญตั้งแต่แรกไปถึงจนตลอดเวลาที่อยู่ในดินแดนของฝรั่งเศส

ที่ตำบลแก๊ปนี้เปนหมู่บ้านน้อยอยู่ชายทะเลในแขวงเมืองกำปอดไปข้างใต้ เปนที่ดีด้วยที่ริมทะเลเปนเนินเขา และที่บนเขาข้างหลังนั้นมีน้ำจืดทำเปนประปาลงมาใช้ตามบ้านได้ กล่าวกันว่า เดิมพระเจ้ากรุงกัมพูชาสร้างตำหนักไว้สำหรับเปนที่ประพาสที่บ้านแก๊ปนี้แห่งหนึ่ง มีความปรากฎในลายพระราชหัดถเลขาพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าครั้งหนึ่งทรงพระราชดำริห์จะเสด็จลงมาประพาสถึงกรุงกัมพูชา สมเด็จพระนโรดมเตรียมปลูกพลับพลารับเสด็จที่เมืองกำปอด ก็เห็นจะเปนที่ตำบลแก๊ปนี้ แต่ครั้งนั้นหาได้เสด็จไม่ ครั้นเมื่อกรุงกัมพูชาตกอยู่ในความป้องกันของฝรั่งเศส เรสิดังสุปีริเอ แต่ก่อนมาเที่ยวเล่น ชอบใจที่ตำบลแก๊ป จึงสร้างบ้านที่พักขึ้นสำหรับลงมาเปลี่ยนอากาศในระดูร้อน ภายหลังข้าราชการฝรั่งเศสตำแหน่งอื่นๆ ก็มาสร้างที่พักขึ้นตามกัน และทำถนนหลายสาย จึงกลายเปนที่ชายทะเลสำหรับพวกข้าราชการเมืองพนมเพ็ญ และเมืองกำปอดมาพักเปลี่ยนอากาศ เดี๋ยวนี้เลยมีโรงพยาบาลและโฮเต็ล ทั้งบ้านที่พักหลายหลัง ครั้นทำถนนขึ้นไปถึงเมืองพนมเพ็ญ ตำบลแก๊ปก็เลยเปนท่าเรือสำหรับผู้ที่เดิรทางลงมาจากกรุงเทพ ฯ หรือจะไปกรุงเทพ ฯ เหตุด้วยหน้านี้หลบคลื่นใหญ่ได้ และเร็วขึ้นกว่าลงเรือที่เมืองไซ่ง่อน จึงมีผู้พอใจขึ้นลงที่แก๊ปนี้โดยมาก

ในเวลาที่พักอยู่นั้น เจ้าพนักงารจัดส่งของและส่งศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ กับครอบครัวให้ล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพวกเรารออยู่จนเวลาเที่ยงเลี้ยงกลางวัน เสร็จเวลาบ่าย ๑ นาฬิกาครึ่ง จึงขึ้นรถยนต์ ๓ หลังออกจากตำบลแก๊ป เรื่องรถยนต์ในเมืองขึ้นของฝรั่งเศส มีพวกที่เคยมาแต่ก่อนกลับไปเล่าในกรุงเทพ ฯ ว่าโชเฟอญวนขับรถเร็วยิ่งนัก จนน่ากลัวอันตราย เราก็นึกครั่นคร้ามมาแต่กรุงเทพ ฯ เมื่อมาถึงแก๊ปจึงเบี่ยงบ่ายบอกนางสาวซีซานคาปูเลส ขอให้เขาไปสั่งให้ขับช้าลงสักหน่อย เราจะได้ดูภูมิที่ในระยะทางได้ถนัด เขาก็ขับช้าลงให้ตามประสาของเขา ว่าแล่นราวชั่วโมงละ ๔๐ กิโลเมต ประมาณตาว่าเห็นจะเร็วขนาดแล่นรถไฟสายใต้ก็พอทนได้ เพราะถนนฝรั่งเศสทำเรียบดี รถมิใคร่จะกระเทือน เขากระซิบบอกว่าโชเฟอที่ขับรถ ๓ คันนั้น คนหนึ่งเปนโชเฟอคู่ใจของเรสิดังสุปีริเอ เขาตั้งใจให้มาขับรถหลังที่เราจะไป แต่โชเฟอคนนั้นขับรถเร็วไม่มีตัวจับในกรุงกัมพูชา เขาเกรงจะมาขับอวดฝีมือเราให้เร็วเกินประสงค์ จึงให้ไปขับรถคันที่ ๒ ซึ่งตามเรามา เอาคนที่ ๒ มาขับรถที่เราจะไป แต่ที่จริงพวกโชเฟอญวณถึงขับเร็วก็ขับดี และเอาใจใส่ระมัดระวัง จะเร็วก็เร็วแต่ตอนที่ถนนตรง ถ้าถึงที่คดเคี้ยวก็รอ แม้ในตอนถนนตรง พอเห็นวัวหรือม้าอยู่ริมถนนก็เปนรอลงทันที ไม่มีที่จะขับผ่านไปโดยเร็ว เจ้าหล่อนเห็นจะเคยชนมาบ้างแล้ว เมื่อนั่งรถไปนานเข้าก็เกิดรู้สึกไว้วางใจพวกโชเฟอญวน ครั้นถึงวันหลัง ๆ ต่อมา เมื่อต้องเดิรทางด้วยรถยนต์ บางวันถึง ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง ก็เต็มใจเลิกห้าม ปล่อยให้เขาขับตามเคย แรก ๆ ก็ออกน่ากลัวบ้าง แต่แล้วก็เคยไปและหามีเหตุอันตรายอย่างใดไม่ เมื่อรถขับมาถึงเมืองกำปอด เขาพาแล่นรถเที่ยวดูเมือง เมืองกำปอดนั้นตั้งอยู่ริมลำน้ำห่างทะเลขึ้นมาว่าเรือไฟเดิร ๒ ชั่วโมง แลเห็นเรือเสาเรือใบจอดอยู่ที่ท่า ๒-๓ ลำ เปนเมืองเก่ามีชื่อปรากฎอยู่ในหนังสือพงศาวดารแต่โบราณ กองทัพไทยยกมาตีกรุงกัมพูชาคราวใด ถ้าเปนทัพเรือก็มาขึ้นที่เมืองกำปอดนี้ทุกคราว ข้าราชการมาในเวลาปรกติ ถ้ามาเรือก็มาขึ้นที่เมืองกำปอดนี้ เมื่อยังมิได้ทำถนนรถ ว่าต้องเดิรบกไปจากเมืองกำปอด ๔ วันจึงถึงเมืองพนมเพ็ญ เมืองกำปอดเดี๋ยวนี้เปนที่ตั้งเรสิดังบังคับการมณฑลกำปอด มีอาณาเขตทางชายทะเล ตั้งแต่แดนไทยลงไปจนเมืองฮาเตียนต่อแดนญวน ซึ่งเปนเมืองขึ้นของไซ่ง่อน หัวเมืองซึ่งรวมอยู่ในมณฑลกำปอดนี้ ๓ เมือง คือ เมืองกำปอด เมืองเกาะกง (ประจันตคิรีเขต) และเมืองไผทมาศ ออกจากเมืองกำปอด สองข้างทางเปนที่ทำนาบริบูรณ์ พอขึ้นที่ดอนเข้าเชิงเขาเปนป่าเตงรัง เขาบอกว่าป่าไม้ของรัฐบาล เห็นมีไม้ท่อนทำเปนไม้เหลี่ยมบรรทุกเกวียนอยู่ริมทาง ๔-๕ เล่ม ตามทางที่มาเพราะมาตามถนนตัดใหม่ ไม่ได้ผ่านเมืองหรือหมู่บ้านใหญ่เลยสักแห่งเดียว มีแต่โรงจากเรือนไม้อยู่ริมถนนเปนแห่ง ๆ ไม่แลเห็นเรือนมุงหลังคาสังกะสีสักหลังเดียว พบรถยนต์รับคนโดยสารหลายหลัง เกวียนมีน้อย เพราะพึ่งจะทำเกวียนล้อรัดเหล็กสำหรับเดิรบนถนนยังไม่แพร่หลาย ยังใช้เกวียนอย่างโบราณกันอยู่โดยมาก พ้นเขตจังหวัดกำปอดเข้าเขตจังหวัดตะแก้ว แล้วจังหวัดเกียนสวาย แล้วจึงเข้าเขตกรุงพนมเพ็ญ รวมระยะทาง ๑๗๕ กิโลเมต (หรือ ๔๓๗๕ เส้น) คิดเทียบดูกับระยะทางรถไฟสายใต้ เท่ากับออกจากบางกอกน้อยไปถึงหนองศาลาเกินเมืองเพ็ชรบุรี รถยนต์ขับมา ๔ ชั่วโมงเศษ หยุดเติมน้ำครั้งหนึ่ง ถึงเมืองพนมเพ็ญเวลาบ่าย ๕ นาฬิกาครึ่ง ตรงไปที่บ้านเรสิดังสุปีริเอ มองซิเอบอดูแองเรสิดังสุปีริเอ ต้อนรับโดยอัธยาศัยไมตรี จัดให้พักที่เรือนรับแขกหลังหนึ่งอยู่ริมเรือนของเรสิดังสุปีริเอ รับรองเปนแขกอยู่กินในบ้านเดียวกัน

เวลาค่ำ ๘ นาฬิกา กินอาหารเย็นกับเรสิดังสุปีริเอ มีแต่พวกเรากับผู้ที่ให้อยู่ด้วย นอกจากนั้นมีช่างปั้นฝรั่งเศสคนหนึ่ง ชื่อมองสิเออดือคูแองเปนช่างมีชื่อเสียงในเมืองฝรั่งเศส ได้เปนตำแหน่งนายช่างปั้นในโรงทำเครื่องถ้วยชาม “เชฟร์” ของรัฐบาลฝรั่งเศส และได้ทำรูปอนุสาวรีย์ที่ในเมืองฝรั่งเศสหลายแห่ง รัฐบาลฝรั่งเศสให้ทำรูปพระเจ้ากรุงกัมพูชา รูปพระเจ้าแผ่นดินญวน และอนุสาวรีย์ทหารเขมรซึ่งได้ไปร่วมมหายุทธสงคราม ซึ่งจะประดิษฐานไว้ในเมืองพนมเพ็ญนี้ มองสิเออดือคูแองจึงออกมาจากยุโรปเพื่อการนั้น เปนผู้ชอบอัชฌาไสยกับมองสิเออบอดูแองเรสิดังสุปีริเอ รับไว้ให้อยู่ด้วยตั้งแต่ก่อนเรามาถึง จึงได้เปนเพื่อนแขกของเรสิดังสุปีริเอด้วยกัน อากาศที่เมืองพนมเพ็ญเวลานี้เย็นแต่ไม่หนาวเท่าบางกอก ตอนดึกฝนตกหนัก ฝนทางเมืองเขมรปีนี้ชักล่าเรื่อยมาเหมือนกับในเมืองไทย ที่เมืองพนมเพ็ญยังมียิงปืนรุ่งอย่างธรรมเนียมกรุงเทพ ฯ ครั้งรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕

  1. ๑. ในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ว่าญวนชิงเอาเมืองผไทมาศไปจากเขมร เมื่อรัชกาลที่ ๒ สืบถามในท้องที่ได้ความว่าญวนชิงเอาไปแต่ตัวเมือง ซึ่งเรียกว่าเมืองฮาเตียน แต่เขตจังหวัดผไทมาศยังเปนของเขมรอยู่จนบัดนี้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ