อธิบายเรื่องจันทโครบ
นิทานคำกลอนเรื่องจันทโครบ เป็นวรรณคดีที่คนไทยรู้จักมาช้านาน ด้านประวัติผู้แต่ง นักวิชาการมีความเห็นต่างกัน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์อธิบายไว้ในหนังสือประวัติสุนทรภู่ว่า
...ส่วนเรื่องจันทโครบนั้น ได้พิเคราะห์ดูไม่พบกลอนตอนใดที่จะเชื่อได้ว่าเป็นสำนวนกลอนสุนทรภู่สักแห่งเดียว คำที่กล่าวกันก็กล่าวแต่ว่า สุนทรภู่แต่งกับผู้อื่นอีกหลายคน จึงเห็นว่าน่าจะเป็นสำนวนผู้อื่นแต่งตามอย่างสุนทรภู่ หากว่าจะเกี่ยวข้องกับสุนทรภู่ก็เพียงแต่งแล้ว บางทีจะเอาไปให้สุนทรภู่ตรวจแก้ไขจึงขึ้นชื่อว่าสุนทรภู่ได้เกี่ยวข้อง แต่ที่แท้หาได้แต่งไม่...
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านวรรณคดีบางท่าน อาทิ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) และ พ. ณ ประมวลมารค มีความเห็นว่า สุนทรภู่น่าจะแต่งไว้ถึงตอนพระจันทโครบเข้าถํ้านางมุจลินท์ เพราะคำประพันธ์ในช่วงนี้มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ ดังคำกลอนบรรยายความงดงามภายในถํ้านางมุจลินท์ ความว่า
แสงสว่างวามแวมแจ่มจำรัส | จำรูญแสงนพรัตน์วิเชียรฉาน |
วิเชียรฉายลายเลื่อมศิลาลาน | ศิลาล้วนชัชวาลสว่างพลอย |
สว่างพลามตามเพลิงศิลาลาด | ศิลาแลเดียระดาษดั่งพู่ห้อย |
เป็นฟองหินสินธุก็หยดย้อย | ก็หยาดหยั่งดั่งพลอยดาดกระเด็น |
ล้วนประดับซับซ้อนเป็นรูปสัตว์ | เป็นรูปสิงห์ยืนหยัดอยู่แลเห็น |
เป็นทีหงส์ปีกหางเหมือนอย่างเป็น | เหมือนอย่างปั้นไว้เล่นประหลาดตา |
ที่ลางแห่งก็เหมือนแกล้งไปกั้นห้อง | เป็นช่องช่องตะละฉากกำบังฝา |
เป็นที่อาสน์ลาดเลี่ยนสำอางตา | แผ่นศิลาหลากหลายสลับกัน |
ที่สีแดงแสงสุกดั่งน้ำครั่ง | ที่ลังก้อนสีเขียวก็เขียวขัน |
ที่สีขาวขาวช่วงดั่งดวงจันทร์ | เป็นสีมันหมอกเมฆประราคำ |
ที่สีเหลืองเรืองรองดั่งทองแท่ง | ที่ลางแห่งดูดำก็ดำขำ |
มีดวงแก้วสุริยกานต์ลอยประจำ | ในท้องถํ้ามิได้รู้ว่าราตรี |
เรื่องจันทโครบนี้ กล่าวกันว่ามีเค้าโครงเรื่องบางส่วนคล้ายกับจุลธนุคคหชาดก ซึ่งเป็นเรื่องที่ ๓๗๔ ในนิบาตชาดก นิยมนำไปแสดงในรูปละครหรือลิเกในรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ จึงทำให้วรรณคดีเรื่องนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย มีเรื่องย่อว่า
ท้าวพรหมทัตมีโอรสทรงพระนามว่าพระจันทโครบ เมื่อพระองค์ทรงพระชราภาพ มีพระราชประสงค์จะให้โอรสสืบราชสมบัติแทน จึงมีรับสั่งให้พระจันทโครบไปศึกษาศิลปศาสตร์กับพระฤาษีซึ่งนำเพ็ญพรตอยู่ในป่า เพื่อให้รอบรู้ในสรรพวิชาอันเหมาะสมจะเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน
พระจันทโครบเดินทางเข้าป่า และได้พบพระฤๅษีซึ่งเมตตาสอนศิลปวิทยา และเวทมนตร์คาถาให้ เมื่อเรียนจบและฝึกฝนจนเชี่ยวชาญแล้วจึงลากลับเมือง พระฤๅษีให้ศรและพระขรรค์เป็นอาวุธป้องกันตัว พร้อมทั้งผอบซึ่งมีนางงามชื่อโมราอยู่ภายใน ด้วยหวังให้เป็นคู่ครอง และสั่งไม่ให้เปิดระหว่างทาง แต่พระจันทโครบมีความสงสัยจึงเปิดผอบออกดูก่อน ครั้นได้นางโมราแล้วก็พากันเดินทางกลับเมืองตามเส้นทางที่ยากลำบาก พระจันทโครบต้องอุ้มนางและยอมสละเลือดให้นางดื่มแทนนํ้า จนกระทั่งมาพบพวกโจรห้าร้อย นายโจรเห็นนางโมราก็มีความพึงพอใจ จึงสั่งให้พวกโจรเข้าต่อสู้ช่วงชิงนาง แต่ถูกพระจันทโครบใช้ศรสังหารจนหมดสิ้น ขณะพระจันทโครบต่อสู้กับนายโจร ได้บอกให้นางโมราส่งพระขรรค์ที่นางถือไว้มาให้ แต่นางโมราสองใจ หันด้ามพระขรรค์ไปทางมือโจร ครั้นนายโจรได้ทีจึงกระชากด้ามพระขรรค์ฟันพระจันทโครบ ก่อนพระจันทโครบจะสิ้นชีพ ได้ประกาศให้ดูตัวอย่างหญิงพาลสองใจเช่นนางโมรา เมื่อนายโจรได้ยินก็สิ้นรักในตัวนาง ครั้นได้นางแล้วก็ทิ้งไว้กลางป่าแต่เพียงผู้เดียว
นางโมราเดินทางระหกระเหินมาถึงริมฝั่งมหาสมุทร พระอินทร์เล็งทิพยเนตรทราบเหตุการณ์ทั้งหมด จึงแปลงเป็นพญาเหยี่ยวคาบเนื้อย่างมากินอยู่ที่ฝั่งพระสมุทรนั้น เมื่อนางโมราแลเห็นจึงขอแบ่งเนื้อย่างเพื่อประทังความหิว พญาเหยี่ยวจึงแกล้งลองใจนางด้วยการพูดเกี้ยวพาราสี นางโมราได้ฟังก็พูดในเชิงตอบสนองพญาเหยี่ยวเพื่อตอบแทนพระคุณที่จะแบ่งเนื้อย่างให้ พระอินทร์แจ้งประจักษ์ถึงจิตใจนางโมรา จึงกล่าวประจานและลงโทษด้วยการสาปให้เป็นชะนี จากนั้น จึงชุบชีวิตพระจันทโครบ แล้วกล่าวสั่งสอนให้เห็นโทษของการคบหญิงกาลกิณี พร้อมทั้งบอกทิศให้พระจันทโครบเดินทางไปหาเนื้อคู่ชื่อนางมุจลินท์ ซึ่งเป็นธิดาพญานาคกับนางกินรี พระจันทโครบเดินทางไปพบถํ้าที่อยู่ของนางมุจลินท์ ได้ต่อสู้ชนะทหารของพญานาค และทำลายผ้าพยนต์ยักษ์ซึ่งเฝ้าอยู่ปากถ้ำได้สำเร็จ จากนั้นจึงเข้าไปหานางภายในถํ้าและได้นางเป็นชายา
เนื้อหาของเรื่องจันทโครบนื้ แสดงให้เห็นโทษของการคบหญิงกาลกิณี พร้อมทั้งคำสอนที่มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิต แทรกด้วยนิทานปรัมปราหรือตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับเรื่องราวของสัตว์ ซึ่งทำให้วรรณคดีเรื่องนี้มีลักษณะเด่นน่าสนใจมากขึ้น เช่น ตำนานของชะนี ซึ่งกล่าวไว้ในตอนที่พระอินทร์สาปนางโมราว่า
กูเป็นเจ้าดาวดึงส์วิมานมาศ | อันสัญชาติหญิงร้ายไม่หมายสมาน |
กูรู้เช่นว่ามึงนี้กาลีพาล | จะประจานไว้ให้ทั่วทั้งโลกา |
หญิงกาลกิณีกาลีทวีป | จนสิ้นชีพมิให้ชายเสน่หา |
ให้ฝูงค่างกลางดงเป็นภัสดา | ชาวโลกาจึงเรียกชะนีนาง |
ให้สมจิตแพศยามึงฆ่าผัว | ทั้งกายตัวก็ให้คล้ายกับกายค่าง |
พอขาดคำอำมรินทร์ที่สาปนาง | สารพางค์กายกลับไปฉับพลัน |
ทั้งแข้งขาหน้าเนื้อแต่พื้นขน | ก็วิ่งซนเข้าป่าพนาสัณฑ์ |
อันภูษาผ้าผ่อนไม่มีพัน | แต่กายนั้นเปลี่ยวเปล่าไปกลางไพร |
ให้คลับคล้ายคลับคลาภาษาคน | ที่บาปตนฆ่าผัวนั้นนึกได้ |
ที่เคยมีความอายให้หายไป | ขึ้นไต่ไม้ทรมานประจานตัว |
ครั้นสิ้นสายสุริยแสงแดงอากาศ | รำลึกชาติขึ้นมาได้ว่าเลือดผัว |
เที่ยวร่ายไม้ห้อยโหนแล้วโยนตัว | ร้องเรียกผัวเสียงชัดภาษาคน |
นั่นแลชะนีจึ่งไม่มีตัวผู้ผัว | เพราะหญิงชั่วสาระยำทุกแห่งหน |
ได้เชยค่างต่างเพศเป็นผัวตน | ด้วยเดิมคนต้องคำอำมรินทร์ |
อีกทั้งตำนานความเป็นมาของสีขนกาและนกยูง ดังคำกลอนว่า
กูเป็นเจ้าดาวดึงส์วิมานมาศ | อันสัญชาติหญิงร้ายไม่หมายสมาน |
กูรู้เช่นว่ามึงนี้กาลีพาล | จะประจานไว้ให้ทั่วทั้งโลกา |
หญิงกาลกิณีกาลีทวีป | จนสิ้นชีพมิให้ชายเสน่หา |
ให้ฝูงค่างกลางดงเป็นภัสดา | ชาวโลกาจึงเรียกชะนีนาง |
ให้สมจิตแพศยามึงฆ่าผัว | ทั้งกายตัวก็ให้คล้ายกับกายค่าง |
พอขาดคำอำมรินทร์ที่สาปนาง | สารพางค์กายกลับไปฉับพลัน |
ทั้งแข้งขาหน้าเนื้อแต่พื้นขน | ก็วิ่งซนเข้าป่าพนาสัณฑ์ |
อันภูษาผ้าผ่อนไม่มีพัน | แต่กายนั้นเปลี่ยวเปล่าไปกลางไพร |
ให้คลับคล้ายคลับคลาภาษาคน | ที่บาปตนฆ่าผัวนั้นนึกได้ |
ที่เคยมีความอายให้หายไป | ขึ้นไต่ไม้ทรมานประจานตัว |
ครั้นสิ้นสายสุริยแสงแดงอากาศ | รำลึกชาติขึ้นมาได้ว่าเลือดผัว |
เที่ยวร่ายไม้ห้อยโหนแล้วโยนตัว | ร้องเรียกผัวเสียงชัดภาษาคน |
นั่นแลชะนีจึ่งไม่มีตัวผู้ผัว | เพราะหญิงชั่วสาระยำทุกแห่งหน |
ได้เชยค่างต่างเพศเป็นผัวตน | ด้วยเดิมคนต้องคำอำมรินทร์ |
และนิทานเล่าถึงที่มาของพฤติกรรมฝูงกาและนกออก มีคำกลอนดังนี้
พระบอกพลางทางเบือนพระพักตร์ยิ้ม | เจ้างามพริ้มยิ้มละไมอยู่ในหน้า |
เห็นกาล้อมตอมตามนกออกมา | กัลยาทูลถามไปทันที |
เออนกออกนั่นยังไรไฉนเล่า | กาจึ่งเฝ้าตอมตามอยู่อึงมี่ |
พระฟังนางพลางบอกยุบลมี | เมื่อเดิมทีสกุณาไปหาภักษ์ |
เข้าฉวยฉาบคาบปลาเขามาได้ | เขาก็ไล่ยิงถูกทวารหนัก |
ลูกกระสุนคาทวารรำคาญนัก | เจียนว่าจักขาดใจลงหลายครา |
ข้างฝ่ายกาเป็นเพื่อนไปเยือนถาม | จึ่งนกออกบอกความแล้วโหยหา |
แม้นเกลอช่วยมิให้ม้วยมรณา | จะเป็นข้าของสหายจนวายปราณ |
กาฉกรรจ์มั่นหมายอุบายบอก | ให้นกออกลงแช่กระแสสาร |
ลูกกระสุนก็ละลายไม่วายปราณ | คิดรำคาญกลัวจะต้องเป็นข้ากา |
เที่ยวดัดดั้นสัญจรไปซ่อนกาย | การู้ว่าไม่ตายก็ตามหา |
นี่แลน้องมันจึ่งต้องมากลัวกา | ใครเขาว่าพี่ก็ว่าไปตามกัน |
นอกจากนี้ยังแทรกด้วยคำสอนที่มีคุณค่าต่อกุลบุตรดังนี้
จึ่งกล่าวรสพจนาตถ์สนองคำ | หลานจงจำไว้หนาตาจะสอน |
อันพระขรรค์ศิลป์ชัยอย่าไกลกร | จะนั่งนอนกุมกอดไว้กับกาย |
อันฉ้อชั้นเมืองแมนแดนมนุษย์ | จะสิ้นสุดฤษยานั้นอย่าหมาย |
แม้นมีของป้องกันอันตราย | ไว้ห่างกายก็จะเกิดไพรีกวน |
อนึ่งการโลกีย์ทั้งสี่ข้อ | ประโลมล่อสามัญให้ผันผวน |
คือหลงรักนารีมีกระบวน | กับหลงชวนเชยชื่นที่รูปงาม |
ทั้งเสภาดนตรีเป็นสี่สิ่ง | ใครรักนักมักกลิ้งลงกลางสนาม |
หนี่งอุบายหลายเล่ห์ในสงคราม | อย่าหมิ่นความควรระมัดระวังองค์ |
ถึงศึกวายสุริยฉายไม่ยอแสง | เร่งระแวงระวังไว้อย่าใหลหลง |
จะเรียนรู้อย่าละเลิงบันเทิงทะนง | อย่าอวดองค์กล้าหาญในการดี |
จะครองสัจจงอุตส่าห์รักษาสัจ | จงบำหยัดอย่างงาราชหัตถี |
เจ้าจงจำคำตาไปธานี | จะเป็นที่สรรเสริญจำเริญพร |
ในการตรวจสอบชำระต้นฉบับเพื่อจัดพิมพ์เรื่องจันทโครบนั้น ได้ตรวจสอบเทียบเคียงกับต้นฉบับสมุดไทยเลขที่ ๑๓ หมวดวรรณคดี หมู่กลอนอ่าน ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึกสำนักหอสมุดแห่งชาติและหนังสือเรื่องจันทโครบฉบับพิมพ์ครั้งแรก พร้อมทั้งจัดทำเชิงอรรถอธิบายความและปรับปรุงอักขรวิธีบางส่วนเป็นปัจจุบัน เพื่อความสะดวกแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ผู้สนใจทั่วไป