๏ จะกล่าวกาลกิณีนารีร้าย |
ให้แจ้งชายกุลบุตรที่ฝึกสอน |
ยังมีราชนิเวศน์เขตนคร |
นรินทรพรหมทัตกระษัตรา |
มีเมืองขึ้นอัติเรกเสกรฉัตร |
กรุงกระษัตริย์มีองค์โอรสา |
ชื่อพระจันทโครบกุมารา |
พระชันษาถ้วนถึงสิบสองปี |
ด้วยสมเด็จพระบิดาชรานัก |
พระลูกรักจะให้ครองบูรีครี |
พระตรึกความตามในประเพณี |
จึ่งมีเทวราชเรียกโอรสพลัน |
เจ้าพ่อเอ๋ยพระบิดาชราแล้ว |
อันลูกแก้วจะให้ครองมไหศวรรย์ |
ประเพณีมีมาแต่สามัญ |
ทุกเขตขัณฑ์แว่นแคว้นในแดนดิน |
กระษัตริย์ใดให้เมืองกับโอรส |
ย่อมปรากฏเรียนรู้ธนูศิลป์ |
เจ้าจะสืบสุริวงศ์ดำรงดิน |
ไปเรียนศิลปศาสตร์ให้เชี่ยวชาญ |
อันฤๅษีชีไพรวิไสยเพท |
ย่อมเรืองเดชวิทยามหาศาล |
สันโดษเดียวเปลี่ยวองค์ในดงดาล |
นมัสการกองกูณฑ์ทุกเวลา ฯ |
๏ บัดนั้นพระจันทโครบ |
ก็นอบนบอภิวันท์ด้วยหรรษา |
ลูกตั้งจิตคิดไว้แต่ไรมา |
ขอกราบลาสององค์พระทรงธรรม์ |
แล้วทรงเครื่องกัมพลสุคนธรส |
ละไมหมดแม้นเทพรังสรรค์ |
เครื่องบุปผามาลัยกระแจะจันทน์ |
สารพันธูปเทียนปทุมา |
จึงกราบลาพระบิดาแลมารดร |
ก็อวยพรลูกน้อยเสน่หา |
พอฆ้องคํ่าย่ำแสงพระสุริยา |
กุมาราออกจากพระบูรี |
ตั้งพระพักตร์จำเพาะหิมพานต์ |
เข้าดงดาลแดนด้าวคิรีศรี |
สันโดษเดียวเปลี่ยวองค์ในพงพี |
จนไขศรีแสงหิรัญอร่ามพราย |
ละอองนํ้าอำมฤคก็โรยร่วง |
ผกาดวงชื่นแช่มแย้มขยาย |
แมลงภู่เคียงประคองละอองอาย |
ขจรจายรื่นรสมารวยริน |
วายุว่องต้องใบก็ไกวกวัด |
สารพัดผลไม้ในไพรสิน |
บ้างร่วงโรยหล่นตกวิหคกิน |
พระนรินทร์เก็บเสวยสว่างใจ |
แล้วเดินชมพนมพนาเวศ |
สาคเรศกรวยกรอกซอกไศล |
เป็นธารนํ้าอำมฤคพิลึกไป |
คงคาใสดั่งแสงมณีดี |
ในท้องธารลานแลล้วนกรวดแก้ว |
บ้างพรอยแพรวพร่างพรายเป็นหลายสี |
มัจฉาว่ายรายเรียงในวารี |
ประกอบมีปทุมมาศดาษดา |
เป็นเหง้างอกดอกแซงขึ้นแฝงฝัก |
พรรณผักขึ้นสลับกับบุปผา |
ทั้งก้ามกุ้งบัวผันสันตะวา |
ยื่นระย้าทอดยอดไปตามธาร |
ที่หว่างเขาเงาเงื้อมชะโงกโกรก |
ชลกระโชกสาดซัดฉะฉัดฉาน |
กระแทกดังพังแผ่นศิลาลาน |
กระทบธารโกงก้องกะกางกัง |
พระกุมารลานแลละเลิงจิต |
พลางพินิจพรรณไม้พระทัยหวัง |
เป็นเซิงซุ้มพุ่มพันเถาวัลย์บัง |
ต้นฝรั่งรังนกประจำนอน |
มะลิเลื้อยพันกุหลาบตลอดยอด |
เถาวัลย์ลิงลิงลอดเล่นสลอน |
กรรณิการ์กาเหว่าขึ้นเซานอน |
รักซ้อนซ้อนกลีบสลับกัน |
รุกขาข่อยนกคอยระวังคู่ |
หงอนไก่ไก่กู่ตะโกนขัน |
สนโศกโศกสนระคนกัน |
มูลมันมันมือพยัคฆา |
อ้อยช้างช้างชิงกันหักชัก |
นางกวักกวักแกว่งริมเพิงผา |
คณานกนกร้องคะนองมา |
มยุราเคียงนางมยุริน |
กระตั้วเต้นไต่ไม้ตามกระต้อย |
ค้อนหอยหาหอยในหุบหิน |
อรหันผันพักตร์กระพือบิน |
กินรินเคียงข้างนางกินรี |
ฝูงเลียงผาเลียบเหลี่ยมผาโผน |
กิเลนโจนไล่นางกิเลนหนี |
มโนมัยไล่หานางพาชี |
ราชสีห์แอบอิงนางสิงหรา |
ครั้นยามเย็นยอแสงพระสุริเยศ |
คชเรศเริงร้องก้องพฤกษา |
ฝูงปิศาจกราดเกริ่นเนินวนา |
กุมาราวังเวงประหวั่นใจ |
จะเหลียวซ้ายแลขวาน่าอนาถ |
ถึงที่ลาดเหลี่ยมผาเข้าอาศัย |
พอรุ่งแสงสุริยาก็คลาไคล |
ประมาณได้สามเดือนแต่เดินดง |
พระเกศาคลี่คลายสยายเกล้า |
พระสร้อยเศร้าเปลี่ยวจิตพิศวง |
พระทรวงชํ้าซํ้าแสบบาทบงสุ์ |
พระโฉมยงปิ้มกายจะวายปราณ |
พอลุถึงอัศโมพระโคดม |
ที่จงกรมสร้างพรตในไพรสาณฑ์ |
นิยมปองกองกูณฑ์นมัสการ |
เข้านั่งฌานหลับเนตรภาวนา ฯ |
๏ หน่อกระษัตริย์ขัตติยาวราเดช |
ทอดพระเนตรแลเห็นก็หรรษา |
ค่อยลอดลัดดัดดั้นอรัญวา |
ถึงศาลาเห็นองค์พระทรงธรรม์ |
ชักประคำสำรวมพระเนตรนิ่ง |
ดั่งขอนพิงพาดไว้ในไพรสัณฑ์ |
จึงกราบลงตรงบาทพระทรงธรรม์ |
ใบไม้ลั่นเสียวโสตพระสิทธา |
เธอเหลือบลืมนัยนาเห็นมาณพ |
นั่งเคารพบาทบงสุ์อยู่ตรงหน้า |
สำอางนวลล้วนเลิศวิไลตา |
พระมหาโคดมก็ยินดี |
จึ่งกล่าวรสพจนารถปราศรัยสาร |
ประสกหลานมาไยในไพรศรี |
ฤๅเดินดงหลงป่าพนาลี |
ฤๅมามีสุขทุกข์ประการใด ฯ |
๏ พระกุมารฟังสารฤๅษีถาม |
จึ่งยกความมาแสดงคดีไข |
พระบิดาข้าครองพระเวียงไชย |
ชื่อท้าวไทพรหมทัตกระษัตรา |
พระรำจวนป่วนโศกด้วยโรคร้าย |
ชรากายเกือบจะสิ้นพระชันษา |
จะมอบเวนบูรีรักษ์นัครา |
ให้ตัวข้าครอบครองบูรีรมย์ |
แต่การศิลป์หม่อมฉันไม่สันทัด |
อันสมบัติยังไม่ควรจะเษกสม |
จึ่งให้ข้ามาในไพรพนม |
แสนระทมเถื่อนธารกันดารดง |
ไม่รู้แจ้งแห่งหนเที่ยวซนซุก |
เสี่ยงบุญบุกป่าไม้ไพรระหง |
ถึงสามเดือนโดยค้างมากลางดง |
จึ่งถึงองค์จอมเจ้าใจอารี |
ขออยู่เป็นเกือกทองฉลองบาท |
เหมือนอย่างทาสใต้เบื้องบทศรี |
พระโคดมบรมมุนี |
เธอก็มีโสมนัสเสน่ห์ใน |
จึ่งแย้มเยื้อนเอื้อนอรรถปราศรัยสาร |
ช่างกล้าหาญเดินดงคนเดียวได้ |
จงอยู่ด้วยอัยกาเถิดยาใจ |
จะสอนให้เรียนรู้วิชาการ |
แต่ตัวตามาบวชอยู่กลางเถื่อน |
ไม่มีใครเยี่ยมเยือนเหมือนอย่างหลาน |
แล้วโอบอุ้มแอบองค์พระทรงญาณ |
ประโลมหลานลูบไล้พระพักตรา |
สงสารเจ้าเศร้าซูบน่าสังเวช |
แล้วเกล้าเกศกวดกันพระเกศา |
ให้เสวยเผือกมันผลผลา |
จนสุริยาเย็นเยื้องคิรีวัน |
พระทรงญาณชวนหลานไปสู่สระ |
ลงชำระวารินเกษมสันต์ |
ให้หลานรักหักบุษะบัวบัน |
พอสายัณห์คืนมาศาลาลัย |
ให้ไสยาสน์เคียงบาทพระดาวบส |
พระทรงพรตเข้าฌานตามวิสัย |
ชักประคำรํ่าภาวนาไป |
ประมาณได้หลายวันทิวากาล ฯ |
๏ หน่อกระษัตริย์ปรนนิบัติพระนักสิทธิ์ |
สำราญจิตปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
พระโคดมบรมเรืองญาณ |
สอนกุมารสังวัธยายมนต์ |
ว่าคาถาอาคมของพรหมเมศ |
ซึ่งวิเศษจำได้ไม่ขัดสน |
ประสิทธิทดลองละเลิงตน |
การประจญข้าศึกก็เจนใจ |
ถึงวันดีฤๅษีจึ่งชุบศร |
แผ่นดินดอนดงดาลสะท้านไหว |
ศิลป์พระขรรค์พลันเกิดในกองไฟ |
หยิบยื่นให้นัดดาแล้วอวยพร |
จึ่งกล่าวรสพจนารถฉลองคำ |
หลานจงจำไว้หนาตาจะสอน |
อันพระขรรค์ศิลป์ชัยอย่าไกลกร |
จะนั่งนอนกุมกอดไว้กับกาย |
อันฉ้อชั้นเมืองแมนแดนมนุษย์ |
จะสิ้นสุดฤษยานั้นอย่าหมาย |
แม้นมีของป้องกันอันตราย |
ไว้ห่างกายก็จะเกิดศัตรูกวน |
อนึ่งการโลกีย์ทั้งสี่ข้อ |
ประโลมล่อสามัญให้ผันผวน |
คือหลงรักนารีมีกระบวน |
กับหลงชวนเชยชื่นที่รูปงาม |
ทั้งเสภาดนตรีทั้งสี่สิ่ง |
ใครรักนักมักกลิ้งลงกลางสนาม |
หนึ่งอุบายหลายเล่ห์ในสงคราม |
อย่าหมิ่นความควรระมัดระวังองค์ |
ถึงศึกวายสุริยฉายไม่ยอแสง |
เร่งระแวงระวังไว้อย่าใหลหลง |
จะเรียนรู้อย่าละเลิงบันเทิงทะนง |
อย่าอวดองค์อาจหาญในการดี |
จะครองสัจจงอุตส่าห์รักษาสัจ |
จงบำหยัดอย่างงาราชหัตถี |
เจ้าจะคิดคืนคงเข้าธานี |
จะเป็นที่สรรเสริญจำเริญพร ฯ |
๏ ภูวนาถกราบบาทพระดาวบส |
ขอรับรสอำมฤคในคำสอน |
หลานจะลาพระเจ้าตาคืนนคร |
สนองคุณบิดรพระมารดา |
ป่านฉะนี้สององค์พระทรงศักดิ์ |
ไม่เห็นพักตร์ข้าน้อยจะคอยหา |
พอแจ้งการหลานรักจักกลับมา |
สนองคุณอัยกาในไพรวัน |
พระฟังหลานทูลลาน่าสังเวช |
กลั้นพระเนตรลูบไล้แล้วรับขวัญ |
อย่าทุกข์ถึงอัยกาในป่าวัน |
สารพันเภทภัยไม่แผ้วพาน |
ถึงเสือสีห์ผีสางคะนองร้าย |
ไม่กล้ำกรายกลัวหลีกไปอีกหลาน |
ด้วยเดชะภาวนารักษาฌาน |
ความรำคาญโรคาไม่ยายี |
แต่ตัวเจ้าคืนเข้านครได้ |
จงตั้งใจปกครองบูรีศรี |
สนองคุณชนกชนนี |
อย่าให้มีข้อเคืองระคางใจ |
เมื่อคิดถึงอัยกาจึ่งมามั่ง |
ตาจะยั่งยืนอยู่ไปถึงไหน |
แล้วจูบกอดแก้วตาด้วยอาลัย |
งามละไมดั่งเทพเทวา |
นารีใดในทวีปวงศ์มนุษย์ |
ก็แสนสุดที่จะสมเสน่หา |
เห็นคู่ชมจะไม่สมกุมารา |
จำจะให้กัลยาไปครองกัน |
ดำริพลางทางนิมิตผอบแก้ว |
อันพรายแพรวพริ้งเพริศดูเฉิดฉัน |
ขนโมราเสกใส่ลงในนั้น |
พระทรงธรรม์ป้องปิดผนิดดี |
แล้วโอมอ่านคาถาจินดาเวท |
ขนโมเรศกลายเป็นนารีศรี |
ทรงโฉมประโลมลักษณ์ภัคินี |
กุมารีอยู่ในผอบทอง |
แล้วเขียนชื่อนางใส่ลงในฝา |
ชื่อโมราโฉมศรีไม่มีสอง |
จึ่งแย้มโอษฐ์โปรดยื่นผอบทอง |
นี่แน่ของตาให้เอาไปเมือง |
แม้นเดินทางกลางป่าเจ้าอย่าเปิด |
เอาไปเถิดให้ระบือเขาลือเลื่อง |
ถึงชนกชนนีบูรีเรือง |
ได้ครองเมืองเป็นมหาวราชัย ฯ |