กัณฑ์ที่ ๑

นิทานกะถา เรื่องมิกาทุระ

อันมีมาในคัมภีร์หริสตนฺลีโอพร

๏ อตีเต กิร ชีปนทีเปสุ มิกาทุโรนาม ราชา โตกิเย นคเร รชฺชํ การาเปสิ ปุตฺโต ปนสฺส เอกูนวีสติวสฺโส อภิรูโป ปาสาทิโก พฺยตฺโต เมธาวี อโหสีติ ฯ

บัดนี้จะได้วิสัชชนาความตามนิทานกะถา ซึ่งมีมาในคัมภีร์หริสตนฺลีโอพร ดำเนินความว่า อตีเต ในกาลปางก่อน มีพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามบัญญัติมิกาทุรราช เสวยไอสุริยสมบัติกรุงโตกิยนคร ในแว่นแคว้นแดนชีปนทวีปทั้งหลาย พระองค์มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง เอกูนวีสติวสฺโส นับพระชนมายุกาลได้สิบเก้าพรรษา ทรงพระศิริลักษณวิลาศเปนอันงาม สามารถจะทำความปลื้มจิตรให้เกิดแก่ชนผู้ได้ทัศนาการ แลมีพระปรีชาญาณอันเฉลียวฉลาด พระเจ้ามิกาทุรราชชีปนาธิบดี พระองค์มีพระหฤทัยผูกพันไปในการที่จะให้ประชาราษฎร์ประพฤติรักษามารยาตรให้ดีกว่าแต่กาลก่อน พระองค์จึงตั้งไว้ซึ่งพระราชบัญญัติเพื่อจะตัดรอนสกัดกั้นความประพฤติอันชนสามัญตั้งอยู่โดยธรรมดานั้นเปนเอนกประการ เอกสมึ สมเย ในสมัยกาลครั้งหนึ่งนั้น ราชปุตฺโต อันว่าพระราชบุตรได้ประพฤติผิดต่อบทอัยการ บังเกิดความวิปฏิสารเดือดร้อนพระหฤทัย ด้วยพระราชบิดาจะให้ทำการวิวาหมงคล ด้วยมหัลกนารีมีนามว่ากติจฉกา แม้นมิยอมทำตามพระราชบัญชาในสัปตวาร ก็จะให้ประหารชีพเสียให้ประลัย จึงมาทรงรำพึงในพระไทยว่า ยนฺนูนาหํ ดังฤๅจำอาตมจะหลบหนีไปเสียให้พ้นภัยแลความเดือดร้อนสักครั้งหนึ่ง เมื่อทรงรำพึงฉนี้แล้วก็ทรงเปลี่ยนจากขัติยเพศ เปนคีตกะบุรุษย์มีนามว่านังกิปุระ เที่ยวจาริกไปตามชนบทน้อยใหญ่ทุกสถาน ติติปุรํ คนฺตวา ครั้นจำเนียรกาลก็บันลุถึงติติปุระชนบท อันเปนเมืองออกแห่งพระเจ้าชีปนราชชนกาธิบดี ตสฺมึ ขเณ ในขณะนั้น มีตรุณนารีผู้หนึ่ง เดินสวนมรรคาลงมา ราชปุตฺโต อันว่าพระราชบุตรซึ่งแปลงเปนคีตกะบุรุษย์มานั้น ครั้นได้ทอดทัศนาการเห็นนารีผู้นั้น ก็มีพระกมลเบิกบานทราบซ่านไปด้วยความเสนหา จึงกล่าวสุนทรกถา วาจาอันไพเราะห์ว่า ภทฺเท ดูกรเจ้าผู้มีภักตร์อันเจริญ เจ้าจักเดินไปยังสถานที่ดังฤๅ เปนกุศลสมภารซึ่งได้สั่งสมมาแต่บุรพชาติจึงบันดาลให้คลาคลาศมาพบกันในวันนี้ ขอเจ้าผู้มีศรีสุนทรวิลาศจงแจ้งนามให้อาตมทราบตระหนักในกาลบัดนี้สักหน่อยรา สา มธุรวจนํ สุตฺวา ฝ่ายนางยัมมะยัมมา อันเปนสาวใช้ในเคหสถานแห่งโกโกกะอำมาตย์ ได้สดับคำคีตกะบุรุษย์มากล่าวดังนี้ ก็ให้มีความขวยเขินสเทิ้นใจ แล้วแข็งขืนอารมณ์ตอบไปว่า ภาติก ดูกรพี่ผู้เปนคีตกะบุรุษย์ ตัวน้องนี้มีนามว่ายัมมะยัมมา อาศรัยอยู่ในบ้านท่านมหาอำมาตย์ผู้มีนามว่าโกโกกะท่านมีความกรุณานำมาเลี้ยงไว้ เพื่อจะให้ชำนิชำนาญในการบำเรอกล่อมขับ แล้วจะรับเปนบริจาริกาสืบไปในอนาคตภาค เหตุการณะดังนี้ ท่านจะสั่งสนทนาพาทีกับน้องนี้มากก็มิบังควร น้องจะขอลารีบด่วนไปยังเคหสถาน โสโทมนสฺสปฺปตฺโต อันว่านังกิปุระคีตกะบุรุษย์ได้ทราบสารฉนั้น ก็มีความโทมนัศเศร้าโศกเปนกำลัง ทอดทัศนาดูนางยัมมะยัมมาอันเดินไปจนลับหลัง แล้วก็เดินเซซังไปยังวนะประเทศ เหตุด้วยโทมนัศกลัดกลุ้มในอารมณ์ ก็ถึงความโศกเศร้า บ่นเพ้อปริเทวะรำพรรณอยู่ในวนะประเทศ ด้วยเหตุประการฉนี้

มิกาทุโร ราชา อันว่าพระยามิกาทุรราช อันเปนใหญ่ในประชาชาติชีปนะชน มีพระกมลเดือดร้อนรำคาญ ด้วยแต่ได้พระราชทานถานันดรศักดิ์แก่โกโกกะอำมาตย์ ให้เปนที่พระยาเพ็ชฌฆาฏคอยประหารชีวิต ผู้ซึ่งทำความผิดต่อกำหนดบทพระอัยการ มิได้เห็นประหารชีวิตผู้ใด ก็เกิดความวิมุติสงสัยเคลือบแคลงว่าโกโกกามาตย์จะไม่กระทำราชกิจโดยเคารพ จึงได้โปรดให้มีอักษรสาสน์สำทับไปว่า ถ้าโกโกกามาตย์มิได้พิฆาฏฆ่ามนุษย์ไซร้ จะให้ถอดเสียจากถานันดรศักดิ์ ทั้งติติปุระประเทศ ที่มีชื่อประจักษ์ว่าชนบทบุรี ก็จะให้ลดที่ลงมาเปนคามเขตรหมู่บ้านน้อย โส สาสนํ ตฺวา เมื่อโกโกกามาตย์ได้ทราบอักษรสาสน์ฉนั้น ก็มีความเกรงพระราชอาญาเปนสาหัส จึงได้รีบรัดไปปฤกษาด้วยมหาสัพพเสนาบดี อันมีนามว่าปุรพาหะ

ในคำคันถรจนาจารย์ ท่านแสดงไว้ว่า กิร ดังได้สดับมา ปุรพาหะเสนาบดีผู้นี้เปนสูทะชาติ หากินด้วยการสิพนะกรรมสืบมาหลายสิบชั่วบุรุษย์ ครั้นเมื่อได้รับตำแหน่งเปนเสนาบดี ผู้ซึ่งมีตระกูลสูงกว่าก็พากันรังเกียจ มิอยากจะใคร่ยอมอ่อนน้อมอยู่ในอำนาจแห่งปุรพาหะอำมาตย์เสนาบดีผู้มีตระกูลต่ำกว่า จึงพากันกล่าวคืนตำแหน่งเสียโดยมาก ปุรพาหะอำมาตย์ก็มีความยินดีรับเอาตำแหน่งที่นั้นเสียผู้เดียว มิได้ให้ผู้ใดรับราชกิจแทนสืบไป เหตุการณะดังนั้น ตำแหน่งแห่งปุรพาหะเสนาบดีจึงได้มีนามปรากฏว่า เอกอรรคมหาสัพพเสนาบดี ด้วยประการฉนี้

บัดนี้จะได้วิสัชชนาเนื้อความตามนิทานกะถาสืบไป ปุรพาหามจฺโจ มหาเสนาปติ อันว่าปุรพาหะอำมาตย์มหาเสนาบดี เมื่อได้สดับคำปฤกษาแห่งโกโกกามาตย์ดังนั้น จึงตอบว่าดูกรท่านผู้เจริญ การซึ่งจะหาผู้ที่ควรประหารชีวิตให้ได้ในทันใดนี้ เราก็หาเห็นผู้ใดที่สมควรยิ่งกว่าตัวท่านเองไม่ เหตุว่าตัวท่านก็เปนผู้มีความผิด จนถึงจะต้องประหารชีวิตแล้ว มาพ้นมรณะภัยได้ด้วยเหตุที่จะเลือกหาผู้เปนพระยาเพ็ชฌฆาฏ เหตุซึ่งเกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็มีมาด้วยท่านได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งน่าที่เช่นนี้ แต่มิได้สังหารชีวิตผู้ใด เหตุว่าหาผู้ทำโทษผิดดังตัวท่านกระทำนั้นมิได้ โทษอันนี้จึงควรจะตกอยู่แก่ท่าน ผู้มีความผิดแล้วแลรอดจากโทษอยู่นั้นยิ่งกว่าผู้อื่น ผิวะถ้าท่านมีความประสงค์จะรักษาชื่อเสียงแห่งท่านแลเกียรติยศแห่งบ้านเมืองเราไซร้ ท่านจงพิฆาฏฆ่าตนท่านเองเสีย จึงจะสมควรแก่ผู้ซึ่งมีความซื่อตรงต่อชาติภูมแห่งตน

คำพระคันถรจนาจารย์ อธิบายไว้ในข้อความซึ่งโกโกกะอำมาตย์มีโทษถึงจะต้องประหารชีวิตนี้ว่า กิร ดังได้สดับมา โกโกกะผู้นี้เดิมเปนช่างเย็บทำการจ้างหาเลี้ยงชีวิตอยู่ในติติปุระประเทศ ณกาลครั้งหนึ่งมีความยินดีต่อสัตรีผู้ใดผู้หนึ่ง แล้วแลแสดงความยินดีแย้มสรวล ซึ่งเปนการผิดด้วยพระราชกำหนด จึงต้องจับคุมขังไว้ในตรุใหญ่มีกำหนดวันอันจะได้ประหารชีวิตไม่ช้านัก ตทา ราชา จินฺเตสิ ในกาลครั้งนั้น พระเจ้ามิกาทุรราชทรงพระดำริห์โดยพระปัญญาว่า วินิจฉัยอำมาตย์ซึ่งพิจารณาแลตัดสินข้อคดีของนรชนทั้งปวงนั้น ย่อมเปนตำแหน่งสำคัญเพราะเปนผู้สั่ง ส่วนผู้ซึ่งได้ฟังบังคับรับไปทำโทษนั้น ก็นับว่าเปนตำแหน่งสำคัญเพราะเปนผู้ยังคำตัดสินนั้นให้สำเร็จไป สองตำแหน่งนี้ย่อมมีน่าที่เสมอกัน จึงทรงพระดำริห์จะตั้งตำแหน่งใหม่ให้เพ็ชฌฆาฏมียศเสมอด้วยวินิจฉัยอำมาตย์ แต่การซึ่งจะตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งเช่นนี้ ควรที่จะหาผู้ซึ่งต้องโทษถึงจะประหารชีวิตเอง อันได้รู้สึกความทุกข์ร้อนคับแค้นประการใด ในเวลาซึ่งต้องตัดสินโทษถึงตาย เมื่อจะสังหารชีวิตผู้ใด จะได้ทราบอาการแลน้ำใจแห่งผู้ซึ่งต้องโทษนั้นชัดเจน ด้วยตนได้เคยตั้งอยู่ในอาการแห่งบุคคลผู้จะต้องประหารชีวิตเช่นนั้นมาแต่กาลก่อน จึงมีพระราชบัญชาให้ไต่สวน หาผู้ซึ่งมีความผิดโทษถึงตายในเวลานั้น ก็ได้ความว่าโกโกกะเปนผู้จะต้องประหารชีวิตในกาลนั้น จึงรับสั่งให้โกโกกะพ้นโทษ แล้วพระราชทานตำแหน่งชีวิตาโวโรปกะอำมาตย์ ให้แก่โกโกกะผู้นี้ด้วย แต่นั้นมาจึงได้ปรากฏนามว่าโกโกกะอำมาตย์ เมื่อโกโกกะอำมาตย์ปฤกษาด้วยมหาสัพพเสนาบดี ๆ จึงได้ชี้โทษซึ่งมีมาแต่ปางก่อน ยกเหตุให้เห็นว่าโกโกกามาตย์ เปนผู้ที่ควรจะต้องประหารชีวิตก่อนกว่าผู้อื่นดังได้แสดงมา

วิสัชชนาความตามนิทานกะถาสืบไป ตํ อตฺถํ สุณนฺโต เมื่อโกโกกามาตย์ได้สดับสารดังนี้ ก็ให้มีความครั่นคร้ามขามขยาด ยังมิได้ทันว่าจะตกลงประการใด นงฺกิปุโร ฝ่ายนังกิปุระราชบุตร เมื่อได้สดับข่าวสาสน์ว่าโกโกกามาตย์มีโทษจะถึงแก่ชีวิตันตราย ก็มีความโสมนัศปราโมชเปนกำลัง เร่งรีบนิวัตนาการกลับหลังยังติติปุระสถาน เมื่อได้ประสบทราบการจากบุรุษย์ผู้หนึ่ง ซึ่งมีนามปรากฏว่าปิชะตุชะ ว่าโกโกกะหาได้สิ้นชีพดังกล่าวไม่ ก็มีความโศกเศร้าในพระทัยเปนกำลัง จึงดำริห์ว่า กึ เม ชีวิเตน ดังฤๅอาตมจะครองชีพไว้ด้วยประโยชน์อันใด จำจะผูกสอให้ชีพประลัยเสียดีกว่า เมื่อดำริห์ฉนี้แล้ว ก็แสวงหาได้เชือกเส้นหนึ่ง จึงคมนาการไปโดยมรรคา พอมาประสบโกโกกามาตย์กับปุรพาหะมหาสัพพเสนาบดี สั่งสนทนาอยู่ใกล้วิถีทางที่จะไป สองอำมาตย์เมื่อได้ทอดทัศนาการเห็นคีตกะบุรุษย์ทำอาการปานประหนึ่งฉนั้น ก็ไต่ถามได้ความตามประสงค์ทุกประการ โกโกกะอำมาตย์จึงกล่าวสารว่า คีตก ดูกรพ่อผู้เปนคีตกะบุรุษย์ เจ้าจะมาประหารชีวิตตนเองให้ตายตกไปเสียเปล่าไป จงมาให้เราผู้เปนมหาอำมาตย์เพ็ชฌฆาฏใหญ่ประหารชีวิต จะได้มีชื่อเสียงติดอยู่ในแผ่นดินสืบไป นังกิปุระมิได้มีความอาลัยแก่ชีวิต คิดแต่จะให้สิ้นชีพพ้นจากความทุกขเวทนานั้นอย่างเดียว จึงยอมตามคำที่ชักชวน แล้วเร่งว่าท่านจงด่วน ๆ สังหารเราให้ตายในบัดนี้เถิด ฝ่ายโกโกกามาตย์ยังมิเคยพิฆาฏฆ่าคนแต่สักครั้งหนึ่งเลย ให้สทกสท้านครั่นคร้ามขามขยาด จึงกล่าวคำขอโอกาศต่อนังกิปุระว่า ดูกรพ่อคีตกะบุรุษย์ผู้เจริญ การซึ่งพ่อจะยอมเสียสละชีวิตให้เราประหารด้วยสาตราวุธตามแบบอย่าง มิให้เสียวัตรปฏิบัติในราชกิจแห่งเรานี้ ก็นับว่าเปนคุณยิ่งใหญ่แก่ตัวเรา ผิไฉนเจ้าจงรั้งรอพอให้ล่วงกาล นับประมาณเดือนหนึ่งเปนกำหนดพอจะได้มีช่องลองประหารซึ่งแม่มดเปนประถม แล้วจึงจะค่อยฆ่าสัตว์ใหญ่ขึ้นไปโดยอนุกรมลำดับ นับแต่มุสิกะเภตราเปนต้น เมื่อจะประหารคนจะได้ไม่เข็ดขามคร้ามขยาด มือก็จะได้มั่นไม่พลั้งพลาดเสียท่วงที นงฺกิปุโร ฝ่ายนังกิปุระได้สดับถ้อยคำอำมาตย์กล่าวดังนี้ มิได้มีความยินดีที่จะดำรงชีพให้นานวัน จึงมิได้รับคำอำมาตย์ผัด เร่งรัดแต่จะให้ประหารชีวิตเสียถ่ายเดียว ด้วยถ้อยคำอันกล่าวว่าจะดำรงชีพอยู่ช้านั้น จักหวังประโยชน์ดังฤๅ อมจฺโจ จินฺเตสิ ฝ่ายโกโกกะอำมาตย์มาดำริห์แต่ในใจว่า ดังอาตมารำพึง ไฉนหนอคีตกะบุรุษย์ผู้นี้จึงมีแต่ความอยากจะทำลายชีพอย่างเดียว คงจะเห็นว่าเวลาที่ดำรงชีพอยู่นั้นจะได้เสวยแต่ความทุกขเวทนา ผิแลว่าถ้าเรารับรอง ว่าจะให้ได้เสวยสุขเวทนากว่าจะถึงกาลแห่งชีพประลัยแล้วไซร้ บุรุษย์ผู้นี้ก็จะไม่กระวนกระวายที่จะถึงแก่ความมรณะ เมื่อดำริห์ฉนี้แล้ว จึงกล่าววาจาว่า คีตก ดูกรพ่อผู้ชำนาญในการดนตรี ถ้าพ่อจะรั้งรอชีวิตไว้ดังเราขอต่อเจ้าไซร้ เราจะให้เครื่องอุปโภคอันเปนของควรแก่ตัวเราให้เจ้าได้รับความสุข บริโภคสิ่งทั้งหลายนั้นตลอดเดือนหนึ่งตามปราถนา เมื่อนังกิปุระได้สดับวาจาโกโกกะอำมาตย์ เห็นเปนโอกาศอันควรแก่ความปราถนา จึงกล่าววาจาว่า โภ อมจฺจ ดูกรท่านผู้เปนมหาอำมาตย์ สมบัติทั้งหลายอันใดอันท่านออกปากยกให้เราได้บริโภคเดือนหนึ่งจนถึงมรณะกาลนั้น เรามิได้มีความปราถนาซึ่งสมบัติอันนั้น ผิแลว่าถ้าท่านจะให้เรามีชีวิตอยู่ตลอดเดือนหนึ่งดังประสงค์ไซร้ ท่านจงยกนางยัมมะยัมมาอันเปนนารีที่ท่านเลี้ยงไว้เพื่อเปนบริจาริกานั้นให้อยู่ด้วยเราตลอดเดือนหนึ่ง เราจึงจะดำรงชีพอยู่ได้ดังปราถนา อมจฺโจ จินฺเตสิ ฝ่ายอำมาตย์ครั้นได้สดับคำนังกิปุระกล่าวฉนั้น จึงดำริห์แต่ในใจว่า ถ้าแลอาตมจะมิยอมให้นางยัมมะยัมมาไซร้ไหนเลยบุรุษนี้จะมีชีวิตต่อไปเล่า ตัวเราก็จะไม่พ้นราชทัณฑ์เปนมั่นคง เมื่อดำริห์ฉนี้แล้วก็ตกลงยินยอมยกนางยัมมะยัมมา ให้เปนภรรยานังกิปุระโดยถ้อยคำสำคัญสัญญาว่า ให้อยู่ด้วยเดือนหนึ่งเปนกำหนด สพฺพา อิตฺถิโย อันว่าหญิงทั้งหลาย บันดาที่อยู่ในคฤหสถานแห่งโกโกกามาตย์นั้นก็ดี ทั้งเหล่านารีที่ชอบอัธยาศรัยรักใคร่กับนางยัมมะยัมมา ได้ทราบเหตุการณ์อันเปนไปนั้น ก็ชวนกันมายังสำนักนางยัมมะยัมมาช่วยแต่งชำระกายให้หมดมลทิน ปรุงประทิ่นลูบไล้สุคนธ์ธารประดับประดาไปด้วยเสื้อผ้าอันงามวิจิตร ควรแก่กิจวิวาหกรรมเสร็จแล้ว บางคนก็มีจิตรผ่องแผ้วพลอยชื่นบาน บางคนก็หวนคิดสงสารด้วยจะได้อยู่ด้วยกันแต่เดือนหนึ่งเปนกำหนด ความยินดีและความเศร้าสลดเจือกันอยู่ฉนี้ บางนางก็ยินดีอำนวยชัย บางคนก็ร่ำไห้โดยความกรุณา ยมฺมยมฺมา ปน ฝ่ายนางยัมมะยัมมาอันมีความปราถนาตักเตือนอยู่ในใจแต่เดิมแล้วก็มีจิตรผ่องแผ้ว ห้ามปรามบันดานารีที่โศกเศร้าทั้งหลายให้วายความโศก แล้วก็แวดล้อมกันคลาศแคล้วไปสู่สำนักแห่งนังกิปุระด้วยประการฉนี้ ๚

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ