ประวัติ

พระยาประชุมประชานารถ (วัน, อมาตยานนท์) เกิดในรัชกาลที่ ๓ เมื่อณวันอังคาร เดือน ๗ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีชวดโทศก จุลศักราช ๑๒๐๒ พ.ศ. ๒๓๘๓ เปนบุตรจมื่นราชนาคา (เข็ม) ๆ เปนบุตรพระยามหาอำมาตย์ (จุ้ย) ได้เล่าเรียนในสำนักสมเด็จพระวันรัต (แดง) แต่ยังเปนเปรียญอยู่วัดสุทัศน์ แลได้อุปสมบทที่วัดนั้น ถวายตัวทำราชการเปนมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนนายรองพิจิตรสรรพการ เมื่อปีชวดอัฐศก พ.ศ. ๒๔๐๙ รับราชการในตำแหน่งนั้นอยู่จนตลอดรัชกาล

ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเปนนายสุดจินดา หุ้มแพร เมื่อปีกุญสัปตศก พ.ศ. ๒๔๑๘ รับราชการในกรมมหาดเล็กต่อมาอีก ๓ ปี ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนที่พระอนุรักษ์โยธา เจ้ากรมทวนทองซ้าย ในกระทรวงกลาโหม เมื่อปีขาลสัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๔๒๑ เมื่อเปนพระอนุรักษ์โยธา ได้ออกไปรับราชการเปนข้าหลวงรอง ประจำอยู่ณเมืองภูเก็จ ๒ ปี ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเปนพระยาพิไชยชาญฤทธิ เมื่อปีจออัฐศก พ.ศ. ๒๔๒๙ ต่อมาได้ขึ้นไปรับราชการเปนข้าหลวงรองในมณฑลพายัพ ประจำอยู่ที่เมืองน่าน ในเวลารับราชการอยู่ที่นั้น ได้ช่วยราชการปราบฮ่อ ซึ่งมาตีเมืองหลวงพระบาง แลจัดการรักษาเมืองสิงค์ในสิบสองปันนา เมื่อเข้ามาสามิภักดิ์พึ่งพระบรมโพธิสมภาร รับราชการอยู่ในมณฑลภาคพายัพ ๔ ปี จนปีขาลโทศก พ.ศ. ๒๔๓๓ จึงได้กลับมารับราชการกรุงเทพฯ ถึงปีมเสงเบญจศก พ.ศ. ๒๔๓๖ เมื่อเกิดเหตุอริกับฝรั่งเศสทางฝ่ายตวันออก พระยาพิไชยชาญฤทธิได้เปนข้าหลวงออกไปตั้งจัดเสบียงพาหนะส่งกองทัพอิกคราว ๑ เปนคราวที่สุดซึ่งได้ออกไปรับราชการหัวเมือง แต่นั้นก็เข้ามารับราชการประจำ ในกรุงเทพ ฯ จนปีมเสงสัปตศก พ.ศ. ๒๔๔๘ มีความชราทุพลภาพจะรับราชการไม่แข็งแรงได้ดังแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนเปนพระยาประชุมประชานารถ ตำแหน่งในกรมพระสุรัสวดีเปนเกียรติศักดิ์พิเศษ ด้วยเปนผู้ที่ได้ทรงคุ้นเคยมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ทั้งได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณลำบากกรากกรำมาตามหัวเมืองมาก ไม่ต้องมีน่าที่ทำราชการอย่างใด ต่อมาพระยาประชุมประชานารถจับป่วยด้วยโรคชรามาแต่ปีกุญตรีศก พ.ศ. ๒๔๕๔ ป่วยอยู่ ๒ ปี ถึงอนิจกรรมเมื่อปีฉลูเบญจศก พ.ศ. ๒๔๕๖ อายุได้ ๗๓ ปี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์แลเลื่อนชั้นขึ้นโดยลำดับตามบำเหน็จความชอบ จนถึงเครื่องราชอิศริยาภรณ์ นิภาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๓ มัณฑนาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๕ เหรียญปราบฮ่อ เหรียญจักรพรรดิมาลา แลเหรียญที่ระฦกต่าง ๆ ตามบันดาศักดิ

พระยาประชุมประชานารถ ได้หุ่นเกตุทัต ธิดาพระยาเพ็ชรพิไชย (หนู เกตุทัต) เปนภรรยา มีบุตรธิดาด้วยกัน ๑๐ คน หลวงพจนาตถ์วินิจฉัย (ชื่น อมาตยานนท์) เปนบุตรคนใหญ่ รองลงมาหลวงอำไพพิจารณ์กิจ (แก้ว อมาตยานนท์) เล็ก ธิดาคนที่ ๔ เปนภรรยาพระยาศรีธรรมศุกราช (เจริญ จารุจินดา) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ปลื้ม ธิดาที่ ๖ เปนหม่อมห้าม ในพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ น่าน ธิดาที่ ๑๐ เปนภรรยาหลวงนิพัทธชนานุกูล (ยู่โง้ย ณระนอง) ปลัดเมืองระนอง

ความเพิ่มเติมในประวัติของพระยาประชุมประชานารถ ควรกล่าวอิก ๒ ข้อ คือ

พระยาประชุมประชานารถ ได้ฝึกหัดเปนช่างกลึงฝีมือดีมาแต่ยังหนุ่ม แปลกกว่าช่างกลึงอื่นที่กลึงได้ทั้งไม้ ทั้งงา แลศิลา เมื่อเปนมหาดเล็กอยู่ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กลึงสิ่งของต่าง ๆ ถวายที่ในพระราชวังเสมอ เปนต้นแต่กลึงพระเต้าศิลา กลึงพระเจดีย์ศิลา เข้าใจว่าเครื่องยศศิลาอ่อนทั้งสำรับ ซึ่งพระราชทานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชสามเณร ก็เปนฝีมือพระยาประชุมประชานารถกลึง ส่วนเจ้านายพระเจ้าลูกเธอ ที่ได้ทรงรู้จักคุ้นเคยกับพระยาประชุมประชานารถแต่ครั้งนั้น ก็เพราะโปรดให้กลึงงาช้างเผือกพระราชทาน เปนลูกสกดผูกข้อพระหัตถ์ กระบวนไปตักเตือนแลไปดูกลึงเปนเหตุให้ทรงคุ้นเคย ประกอบกับอัธยาไศรยของพระยาประชุมฯ ซึ่งอยู่ในจำพวกมหาดเล็กที่รับเสด็จแลปฏิบัติพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ เจ้านายชั้นพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลนั้น จึงมีไมตรีจิตรติดต่อกับพระยาประชุม ฯ มาแทบทุกพระองค์ แม้ในรัชกาลที่ ๕ พระยาประชุมฯ ก็ยังรับราชการเปนช่างกลึงสิ่งของต่างๆ ถวายต่อมา จนไปจากกรมมหาดเล็ก เมื่อพระยาประชุมฯ เปนข้าหลวงออกไปรับราชการอยู่หัวเมือง เวลากลับมากรุงเทพฯ ก็ยังกลึงสิ่งของเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลถวายตามเจ้านายลูกเธอ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ใคร่ขาด อิกประการ ๑ นั้นพระยาประชุมประชานารถ เปนข้าราชการคน ๑ ซึ่งหมั่นเฝ้าอย่างที่สุด ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ มาจนในรัชกาลที่ ๕ ดูเปนไม่รู้จักขาดเฝ้าเสียทีเดียว จนถึงเปนเครื่องถามกันเล่นในเจ้านาย เมื่ออยากทรงทราบว่ามีผู้คนไปมากหรือน้อย มักจะถามกันว่า พระยาประชุม ฯ ไปหรือเปล่า เปนของเล่นกันมาอย่างนี้ พึ่งเลิกเมื่อพระยาประชุม ฯ เข้าวังไม่ไหว ด้วยเรื่องราวมีมาดังนี้ นอกจากคุณวุฒิในราชการ ควรยกย่องได้อิกอย่าง ๑ ว่าพระยาประชุม ฯ เปนผู้ที่เจ้านายบรรดาได้ทรงคุ้นเคย ย่อมทรงพระเมตตาแทบทั่วทุกพระองค์

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ