คำนำ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ฯ สมเด็จพระมหาสมณะ ทรงพระปรารภจะรับพิมพ์หนังสือช่วยหอพระสมุดวชิรญาณ เปนการอุดหนุนความพยายามของกรรมการหอพระสมุด ฯ ซึ่งขวนขวายพิมพ์รักษาหนังสือเก่า ให้ความรู้เจริญแพร่หลาย ในขณะเมื่อทรงปรารภอยู่นั้น พอท่านหุ่น อมาตยานนท์ ซึ่งเปนพระญาติ ไปเฝ้ากราบทูลหารือ ถึงเรื่องหนังสืออันมีประสงค์จะพิมพ์แจกในงานปลงศพอำมาตย์เอก พระยาประชุมประชานารถ (วัน, อมาตยานนท์) น. ช., ม. ม. ผู้สามี จึงมีรับสั่งแจ้งพระประสงค์มายังกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ ให้กรรมการเลือกเรื่องหนังสือซึ่งเห็นสมควรจะทรงสร้าง แลให้จัดการพิมพ์หนังสือนั้นถวายเปนของส่วนพระองค์ ประทานแก่หอพระสมุดวชิรญาณส่วน ๑ ประทานท่านหุ่นช่วยในงานปลงศพพระยาประชุม ฯ ส่วน ๑

กรรมการหอพระสมุด ฯ มีความยินดี ที่สมเด็จพระมหาสมณะ ทรงอุดหนุนการพิมพ์หนังสือในหอพระสมุดวชิรญาณ เพราะจะเปนพยานปรากฎแก่คนทั้งหลายทั่วไป ว่าที่กรรมการขวนขวายในเรื่องพิมพ์หนังสือเก่าให้แพร่หลาย ได้รับความอุดหนุน โดยนิยมว่าเปนสาระประโยชน์ทั้งในฝ่ายพุทธจักรแลอาณาจักร

ข้าพเจ้าเปนผู้ตรวจหาเรื่องหนังสือถวายสมเด็จพระมหาสมณะในคราวนี้ มาคิดว่า ถ้าจะเลือกหาเรื่องหนังสือในทางธรรมบรรยายไม่เหมาะ ด้วยพระองค์ทรงบำเพ็ญธรรมทานอยู่เปนเนืองนิจแล้ว ข้าพเจ้าได้อ่านพระธรรมเทศนา ซึ่งพระองค์ทรงแสดงเมื่อเร็วๆ นี้ ทรงแสดงธัมมบท ๑ ว่า “อโรคิยาปรมาลาภา ความปราศจากโรค เปนลาภอันประเสริฐ” รำฦกขึ้นถึงธัมมที่ทรงแสดงข้อนี้ จึงมาคิดเห็นว่า เลือกหนังสือซึ่งเปนประโยชน์ในทางข้างบำบัดพยาธิ เปนสุขทานแก่มหาชนเห็นจะดี ข้าพเจ้าจึงตรวจดูในหนังสือจำพวกเวชสาตร ซึ่งมีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ พบตำราพระโอสถของเก่า เห็นว่าเปนหนังสือดี ควรสมเด็จพระมหาสมณะจะทรงสร้างได้ ข้าพเจ้าได้นำความคิดทั้งนี้ไปกราบทูล พระองค์ก็ทรงพระดำริห์เห็นชอบด้วย จึงพิมพ์หนังสือตำราพระโอสถเล่มนี้เปนครั้งแรก

เรื่องหนังสือที่พิมพ์ในตำราพระโอสถเล่มนี้ ที่จริงเปนหนังสือ ๒ เรื่อง แต่เนื่องกัน คือ ตำรายาในโรงพระโอสถเรื่อง ๑ ตำราพระโอสถเรื่อง ๑ ข้าพเจ้าขนานนามสมุดเล่มนี้แต่ว่า “ตำราพระโอสถ” เพื่อจะให้เรียกง่าย

เรื่องตำรายาในโรงพระโอสถ ซึ่งพิมพ์ไว้ข้างตอนต้นมีตำนานปรากฎ ว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ปีวอกจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๗๔ พ.ศ. ๒๓๕๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยทรงพระราชปรารภ ว่าตำรายาในโรงพระโอสถยังบกพร่องนัก จึงโปรดให้พระพงษ์นรินทร์ ราชนิกูล ซึ่งเปนโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี เวลานั้นรับราชการเปนใหญ่อยู่ในกรมหมอ เปนผู้รับกระแสรับสั่ง สืบถามตามพระราชาคณะแลข้าราชการ ตลอดจนราษฎร ผู้ใดมีตำรายาดี ขอให้จดสรรพคุณยานั้น ๆ มาถวาย เพื่อจะได้ตรวจสอบจดลงเปนตำราไว้ในโรงพระโอสถ ครั้งนั้นมีผู้จดตำรายา ซึ่งเคยใช้ เคยเห็นคุณ ถวายตามพระราชประสงค์มาก กรมหมอหลวงคงจะได้สอบสวน เลือกแต่ที่เชื่อว่าดีจริง จดลงไว้ในตำราหลวงสำหรับโรงพระโอสถ ตำรานั้นมีฉบับหลวงอยู่ในห้องอาลักษณ์ พระเจ้าบรมวงษ์เธอ ชั้น ๔ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ประทานมาให้คัดสำเนาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ ได้คัดเฉภาะที่มีชื่อผู้ถวายปรากฎอยู่ในฉบับหลวง มาพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ข้างตอนต้น

ตอนที่ ๒ ในเล่มนี้ ที่เปนตัวตำราพระโอสถ ซึ่งได้เคยประกอบถวายจริง บางขนานได้จดหมายบอกวันที่ได้ตั้งพระโอสถนั้น สอบศักราชได้ความว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๒ จึงว่าเนื่องกับเรื่องข้างตอนต้น ตำราพระโอสถนี้ หอพระสมุดวชิรญาณได้ต้นฉบับมา ๓ เล่มสมุดไทยขนาดบาง น่าเสียดายที่หนังสือ ๓ เล่มนี้ เล่ม ๑ จะเปนด้วยปลวกกัดหรือไฟไหม้ ข้างปลายสมุดขาดไปน่อย ๑ แต่เฉภาะทำให้ตัวหนังสือข้างท้ายบันทัดขาดหายไปเสียมากบ้างน้อยบ้างทุกน่าสมุด ถ้าจะใช้จำต้องเดาคำที่ขาดว่าจะเปนอย่างไร การเดาตำรายา ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนของไม่ควรทำ ด้วยพลาดพลั้งอาจจะเปนอันตรายแก่ผู้อื่น จึงยกทิ้งเสียทั้งเล่ม คงใช้ได้แต่ ๒ เล่ม หนังสือชุดนี้เดิมเปนของพระเจ้าบรมวงษ์เธอ ชั้น ๒ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เปนมรดกตกอยู่กับพระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ แล้วได้มาแก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร ประทานมายังหอพระสมุดวชิรญาณเมื่อเร็ว ๆ นี้

กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์มาแต่ในรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงรับรักษาไข้ จนปรากฎพระเกียรติคุณเมื่ยในรัชกาลที่ ๓ ในปลายรัชกาลนั้น โปรดให้ทรงกำกับกรมหมอ แลได้กำกับต่อมาในรัชกาลที่ ๔ จนประชวรเปนอัมพาต พระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๒ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ จึงได้ทรงรับน่าที่กำกับกรมหมอต่อมา เพราะเหตุที่กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงชำนาญวิชาแพทย์ แต่ได้รับราชการกรมหมอมาช้านาน จึงทรงสะสมตำราแพทย์ไว้มาก แต่ทราบว่าเมื่อสิ้นพระชนม์ ตำราแตกกระจายไปเสียหลายแห่ง พระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ไม่ได้มาหมด แม้ที่ได้มาน่าเสียดายที่การรักษาในตอนหลัง หนังสือถูกฝนแลปลวกกัดชำรุดเสียมาก เมื่อกรมหมื่นไชยนาทนเรนทรได้มา ทรงเกรงว่าหนังสือเก่าจะเปนอันตรายเสียหมด จึงรับสั่งให้รีบส่งมาไว้ในหอพระสมุด ฯ สำหรับพระนคร เพื่อรักษาไว้ให้อยู่ถาวรสำหรับชาติไทยต่อไป

ข้างท้ายตอนตำรายาโรงพระโอสถ ข้าพเจ้าได้ลงตำรายาหอมเพิ่มเติมไว้อิก ๒ ขนาน เรียกว่ายาเทพมงคลขนาน ๑ ยาอินทโอสถขนาน ๑ ยา ๒ ขนานนี้ นายพันโท หม่อมเจ้ากรรมสิทธิ ในพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ มารักษาไข้ที่บ้านข้าพเจ้า ได้วางยา ๒ ขนานนี้ แก้คนไข้เวลามีอาการกระวนกระวายด้วยเสลดตีขึ้นขัดทางหายใจ ระงับทุกขเวทนาได้จริง ข้าพเจ้าได้แลเห็นคุณเอง จึงขอตำราไว้ หม่อมเจ้ากรรมสิทธิคัดให้ แลได้อนุญาตในคราวนี้ ให้พิมพ์รักษาไว้ในสมุดเล่มนี้ด้วย

เมื่อได้กล่าวถึงตัวตำราที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้เสร็จแล้ว ยังมีความอิกข้อ ๑ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นควรจะตักเตือนผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ไว้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าบรรดาผู้ที่ได้รับแลได้อ่านหนังสือตำราพระโอสถเล่มนี้จะพอใจ แลจะอนุโมทนาในพระกุศล ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณะได้ทรงสร้างหนังสือเรื่องนี้ให้ได้ทราบกันแพร่หลาย แต่ความจริงมีอยู่อิกอย่าง ๑ ซึ่งจะลืมเสียไม่ได้ ว่าตำรายาไม่ได้ทำให้เจ้าของเปนหมอ ผู้ที่มีแต่ตำรายา ถ้ามิได้รู้วิชาแพทย์ เอาไปประกอบใช้รักษาโรคโดยพละการ อาจจะเปนเหตุให้เกิดอันตราย หรือไม่เปนประโยชน์ได้ดังความมุ่งหมาย ท่านทั้งหลายผู้มีตำราเล่มนี้ ถ้าประสงค์จะใช้รักษาโรค อย่าลืมความที่กล่าวข้อหลังนี้ ถ้าแลมิได้เปนหมอเอง ควรจะปฤกษาหารือผู้เปนหมอเสียก่อน อย่าประกอบยา แม้มีจดหมายเหตุว่า เคยตั้งถวายเปนพระโอสถ เอาแต่โดยพละการ จึงจะเปนผู้ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ๚

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ