อธิบายเหตุที่ทูตอเมริกันเข้ามาในรัชกาลที่ ๓

ประเทศสหปาลีรัฐอเมริกาแรกมามีทางพระราชไมตรีกับกรุงสยาม ในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๗๕ ตรงกับคฤศตศักราช ๑๘๓๓ ครั้งนั้นประธานาธิบดีแยกสัน แต่งให้เอตมันด์รอเบิตเปนทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าขาย ได้ตกลงทำหนังสือสัญญากันเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๕ หนังสือสัญญาการค้าขายที่ทำกับอเมริกาครั้งนั้น เปนทำนองเดียวกับหนังสือสัญญาที่ไทยได้ทำกับอังกฤษครั้งเฮนรีเบอร์นีเปนทูตเข้ามาในต้นรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙ ข้อสำคัญนั้นคือ อังกฤษและอเมริกันยอมให้ไทยเก็บค่าปากเรือซึ่งบรรทุกสินค้าเข้ามาขายตามขนาดเรือ คิดเปนวาละ ๑,๗๐๐ บาท ถ้าเปนเรือเปล่าบรรทุกแต่อับเฉาเข้ามาหาซื้อสินค้าเก็บวาละ ๑,๕๐๐ บาท ฝ่ายไทยยอมว่าถ้าได้เก็บค่าปากเรือเช่นว่าแล้วจะไม่เก็บภาษีอากรอย่างอื่นจากสินค้าอิกดังนี้ ก็และในสมัยนั้นทั้งในหลวงและเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยยังประกอบการค้าขายตามประเพณีซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่งเรือของตนเองไปซื้อขายสินค้าถึงนานาประเทศบ้าง เช่าระวางเรือของผู้อื่นฝากสินค้าไปมาบ้าง ส่วนการค้าขายของหลวงยังมีพระคลังสินค้า สำหรับซื้อขายสินค้าบางอย่างซึ่งห้ามมิให้ผู้อื่นซื้อขายเปนประเพณีมา พวกอังกฤษและอเมริกัน เมื่อมีหนังสือสัญญาแล้ว กล่าวหาว่ารัฐบาลแย่งค้าขาย และตั้งพระคลังสินค้าเก็บภาษีโดยทางอ้อมไม่ทำตามสัญญา ฝ่ายข้างไทยว่าไม่ได้ทำผิดสัญญา เพราะพวกพ่อค้าแขกและจีนต้องเสียภาษีอากรอยู่อย่างเดิม พวกฝรั่งจะขอเปลี่ยนเสียค่าปากเรือแทนภาษีก็ได้ ยอมตามใจสมัค การที่ทำสัญญานั้นไม่ได้หมายความว่าจะเลิกการค้าขายของหลวงฤๅไม่อนุญาตให้เจ้านายข้าราชการค้าขาย เปนข้อทุ่งเถียงกันดังนี้

ครั้นถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ รัฐบาลอเมริกันแต่งให้มิสเตอร์โยเสฟ บัลเลศเตียเปนทูตเข้ามาขอแก้สัญญาที่ได้ทำไว้ ทูตอเมริกันมาด้วยเรือรบ มาถึงในเดือน ๕ ต้นปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ เวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เมื่อยังเปนเจ้าพระยาพระคลัง ที่สมุหพระกลาโหม ลงไปสักเลขอยู่ที่เมืองชุมพร พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อยังเปนที่พระยาศรีพิพัฒน์เปนผู้รับทูตแทนเจ้าพระยาพระคลัง ได้จัดการรับทูตอเมริกันตามแบบอย่างราชทูตที่มาแต่ก่อน แต่โยเสฟ บัลเลศเตียไม่สันทัดวิธีการทูต ความประพฤติและพูดจาก้าวร้าว ผิดกับทูตที่เคยมาแต่ก่อน พอพูดจากับไทยเพียงข้อที่จะขอเข้าเฝ้า ก็เกิดเปนปากเสียงเกี่ยงแย่งกัน บัลเลศเตียเกิดโทษะก็กลับไปในเดือน ๖ ปีจอ หาสำเร็จประโยชนที่เข้ามาคราวนั้นไม่ รายการที่จัดรับบัลเลศเตียและที่ได้พูดจาว่ากล่าวกันประการใด แจ้งอยู่ในจดหมายเหตุที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้โดยถ้วนถี่ทุกประการ เมื่อบัลเลศเตียทูตอเมริกันกลับไปแล้ว ถึงเดือน ๙ ในจอนั้น รัฐบาลอังกฤษแต่งให้เซอร์เชมสบรุก เปนทูตเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาเช่นเดียวกัน แต่ประจวบเวลาพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มทรงประชวรคราวจะเสด็จสวรรคต การที่ปฤกษาก็หาตกลงกันไม่ จดหมายเหตุคราวเซอร์เชมสบรุกเข้ามานั้น หอพระสมุด ๆ ได้มาก่อนฉบับนี้ ได้พิมพ์แต่เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๕๖ แล้ว

ลักษณการพูดจากันในระหว่างไทยกับทูตอังกฤษ เมื่อคราวครอเฟิตเข้ามาในรัชกาลที่ ๒ ก็ดี และคราวเฮนรีเบอร์นีเข้ามาเมื่อต้นรัชกาลที่ ๓ ก็ดี เปนการลำบากมาก ด้วยยังไม่มีผู้ใดที่จะรู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยสำหรับใช้เปนล่าม ทูตอังกฤษมีแต่ล่ามที่รู้ภาษาอังกฤษกับภาษามลายู ต้องพูดภาษาอังกฤษให้ล่ามส่งภาษามลายูมาให้ล่ามมลายูของไทยแปลเสนอเปนภาษาไทย ฝ่ายไทยจะพูดไปก็ต้องใช้ล่าม ๒ ต่อเช่นนั้น ครั้นมาถึงทูตอเมริกันเข้ามาครั้งเอตมันด์รอเบิต มีพวกมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพ ฯ จนรู้ภาษาไทยแล้ว ได้อาศรัยพวกมิชชันนารีเปนล่าม เมื่อมาถึงคราวบัลเลศเตียเข้ามามีมิชชันนารีเข้ามาอยู่หลายคน และได้มาฝึกหัดคนไทย เช่นขุนปรีชาชาญสมุท ที่ปรากฎนามในจดหมายเหตุนี้เปนต้น ให้รู้ภาษาอังกฤษมีขึ้นบ้างในชั้นนั้น ต่อมาในปีเดียวกันนั้นเอง เมื่อคราวเซอรเชมสบรุกเข้ามาถึง มีไทยคือพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวช สามารถจะตรวจหนังสือภาษาอังกฤษที่มีโต้ตอบกันได้ การที่จะส่งภาษาก็ไม่ลำบากดังแต่ก่อน เปนต้นที่ภาษาอังกฤษจะรุ่งเรืองในเมืองไทยแต่สมัยนี้มา

อนึ่งจดหมายเหตุที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ผู้ที่มีนามปรากฏต่อมาได้เลื่อนยศศักดิ์เปลี่ยนนามไปจากที่เรียกในจดหมายเหตุโดยมาก จึงสืบนามตามที่ปรากฏในชั้นหลัง ทำเปนบาญชีไว้ข้างท้ายคำอธิบายนี้ เพื่อให้สดวกแก่ผู้อ่านในสมัยนี้ แต่ส่วนมิชชันนารอเมริกันที่ปรากฎนามในจดหมายเหตุต่างกันเปน ๒ พวก จะต้องอธิบายให้ชัดเจนอิกสักหน่อย

พวกมิชชันนารีอเมริกันที่ออกมาสั่งสอนสาสนาคฤศตังจนถึงเมืองไทยเรานี้ เรียกว่าอเมริกันเปรสะบิเตอเรียนมิชชัน เดิมมาตั้งสั่งสอนในเมืองจีนพวก ๑ เรียกว่าอเมริกันบัปติสต์มิชชัน เดิมมาตั้งสั่งสอนในเมืองพม่าพวก ๑ เหตุที่พวกมิชชันนารีอเมริกันจะเข้ามาถึงเมืองไทยนั้น เดิมพวกอเมริกันเปรสะบิเตอเรียนมิชชันที่สอนสาสนาอยู่ในเมืองอื่น ทราบว่ามีจีนเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมาก และมีทางคมนาคมไปมากับเมืองไทยได้สดวก มิชชันนารีชื่อตอมลินคน ๑ ชื่อคุตสะลัฟ (ซึ่งมีชื่อในหนังสือกิจจานุกิจของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เรียกว่าหมอกิศลับ) คน ๑ จึงชวนกันเข้ามากรุงเทพ ฯ ในต้นรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๗๑ มาขออนุญาตอยู่สอนสาสนาคฤศตังแก่พวกจีน ก็ได้รับอนุญาตตามประสงค์ ในชั้นแรกพวกมิชชันนารีรู้แต่ภาษาจีนและมีหนังสือสอนแต่ในภาษาอื่น ไม่สามารถจะสอนไทยได้ จึงเปนแต่ช่วยรักษาไข้เจ็บให้แก่ไทย ๆ จึงเรียกว่าหมอ เปนมูลเหตุให้ไทยเรียกพวกมิชชันนารีอเมริกันว่าหมอทุกคนสืบมาจนกาลบัดนี้ ต่อมาถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๕ มิชชันนารีชื่อยอนเตเลอโยนส์พวกอเมริกันบัปติสต์มิชชันมาจากเมืองพม่า เข้ามาตั้งอิกพวก ๑

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๙๑ หมอบรัดเลตั้งอเมริกันมิชชันนารีแอสโซสิเอชันขึ้นอิกคณะ ๑ จึงมีมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพ ฯ ๓ พวกแต่นั้นมา ภายหลังพวกบัปติสต์กับพวกแอสโซซิเอชันถอนไปทำการที่อื่น ปล่อยให้พวกเปรสะบิเตอเรียนตั้งสั่งสอนสาสนาและวิชาการอยู่แต่พวกเดียวสืบมาจนทุกวันนี้

ด. ร.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ