จดหมายเหตุเรื่องบัลเลศเตียราชทูตอเมริกัน เข้ามาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓

ณวันขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๕ จุลศักราช ๑๒๑๒ ปีจอโทศก กำปั่นไฟทำด้วยเหล็กกะปิตันออเล็ตถือหนังสือเจ้าเมืองสิงหโปรากับหนังสือเซอร์เชมสบรุกเข้ามาส่งที่เมืองสมุทปราการ แล้วกำปั่นไฟกะปิตันออเล็ตกลับไปณวันขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๕ เพลาใกล้รุ่ง รุ่งขึ้นณวันขึ้น ๑๒ ค่ำเดือน ๕ คอยนอกเข้ามาแจ้งว่า เห็นกำปั่นเรือใหญ่ ๓ เสาเข้ามาทอดอยู่นอกสันดอนน้ำลึก ๑ แต่สังเกตดูเห็นว่าจะเปนกำปั่นรบชาติอเมริกัน

เพลานั้นสมเด็จพระบวรมหาอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศร์รังสรรค์ พระนายไวยวรนาถ ยังอยู่ที่เมืองสมุทปราการ จึงมีรับสั่งจัดให้ขุนปรีชาชาญสมุทพูดภาษาอังกฤษได้กับคนชาวการ ๖ คน ขี่เรือศีร์ษะญวนยาว ๔ วาออกไปกำปั่น ขุนปรีชาชาญสมุทกลับเข้ามาแจ้งว่า ไปถึงกำปั่นรบ กำมะโดอรหิต แจ้งว่ากำปั่นชื่อว่าแประโมต ยาว ๒๖ วาปากกว้าง ๖ วาคืบ กินน้ำลึก ๑๑ ศอก คนในลำกำปั่นชาติอเมริกัน กำมะโดอรหิต ๑ บาเลศเตียทูต ๑ ดิศมิตกะปิตัน ๑ นายทหาร ๑๗ ต้นหนลูกเรือ ๑๙๖ รวม ๒๑๖ คน จีนคนใช้ ๔ คน รวม ๒๒๐ คน มีปืนสำหรับลำ ปืนโบมยาว ๔ ศอกเศษ กระสุน ๘ นิ้ว ๑๘ กระบอก ปืนโบมยาว ๔ ศอกเศษ กระสุน ๑๐ นิ้ว ๔ กระบอก รวม ๒๒ กระบอก มาแต่เมืองอเมริกันไปเมืองจีนแล้วกลับมาเมืองสิงหโปรา แต่มาอยู่ที่เมืองจีนกับเมืองสิงหโปราประมาณ ๔ ปีเศษ มีหนังสือเปรสิเดนต์เจ้าเมืองอเมริกันมา ให้บาเลศเตียเปนทูตไปทำหนังสือสัญญาการค้าขายกับเมืองญวน ไปเข้าอยู่ที่อ่าวตุรน ๑๐ วัน หาพบปะขุนนางญวนไม่ ฝากแต่หนังสือไว้แล้วใช้ใบมาจากอ่าวตุรน ๘ วันถึงที่นอกสันดอนน้ำลึก ๕ วา ขุนนางในกำปั่นฝากหนังสือเข้ามาถึงพระนายไวยวรนาถฉบับ ๑ แปลได้ความในหนังสือว่า หนังสือกำมะโดอรหิตขุนนางนายทหารกำปั่นรบอเมริกัน บอกมายังพระนายไวยวรนาถให้แจ้งว่าเปรสิเดนต์เจ้าเมืองอเมริกันแต่งให้บาเลศเตียเปนทูตเข้ามาณกรุงศรีอยุธยา ขอให้พระนายไวยวรนาถจัดเรือที่สมควรไปรับทูตเข้ามา ถ้าพระนายไวยวรนาถพบกับทูตที่เข้ามาแล้วก็ให้รับโดยดี ด้วยคนนั้นเปนขุนนางผู้ใหญ่มิใช่เปนคนน้อย และเขาจะใคร่ทราบว่าความใข้ที่กรุงฯ กับเมืองสมุทปราการเปนอย่างไรบ้าง ขอให้เขียนหนังสือออกไปให้ทราบความก่อน มีความมาในหนังสือแต่เท่านี้ พระนายไวยวรนาถ พระยาสุรเสนา พระยาโชฎึกราชเศรษฐี พระยาราชวังสรรค์ พระยาวิเศษศักดา แจ้งความแล้วบอกขึ้นมาณกรุงเทพา จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดเรือรบไล่สลัดมีเสาใบเก๋งทั้งปักธงทวน พลแจวใส่เสื้อแดงหมวกแดงส่งลงไปให้ แล้วสั่งให้ปลูกเรือนรับทูตเรือนใหญ่ ๕ ห้องเฉลียงรอบหลัง ๑ โรงครัว ๓ ห้องหลัง ๑ โรงพักคนใช้ ๓ ห้อง หลัง ๑ ที่น่าวัดประยุรวงศ์อาวาส ให้เจ้าพนักงานจัดสิ่งของไปเตรียมไว้ณโรงพักฝรั่งให้พร้อมสำหรับทูตจะได้อยู่ แจ้งอยู่ในหมายรับสั่งนั้นแล้ว

ครั้นณวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๕ เพลาเช้าพระนายไวยวรนาถ พระยาสุรเสนา พระยาโชฎึกราชเศรษฐี พระยาราชวังสรรค์ พระยาวิเศษศักดา ซึ่งลงไปรักษาเมืองสมุทปราการบอกขึ้นมาถึงกรุงเทพ ฯ ว่าทูตนั้นจะให้ส่งขึ้นมาเมื่อไร พระยาพิพัฒนโกษาตอบลงไปว่า เพลานี้ยังติดการพระศพพระเจ้าลูกยาเธออยู่ ให้งดไว้ถึงณวันแรม ๗ ค่ำเดือน ๕ สิ้นการพระศพแล้วจึงให้ส่งทูตขึ้นไป แต่พระนายไวยวรนาถให้ขึ้นไปคิดราชการณกรุงเทพ ฯ แล้วจึงให้กลับลงมา

ครั้นถึงณวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๕ เพลากลางคืนพระนายไวยวรนาถ พระยาสุรเสนา พระยาโชฎึกราชเศรษฐี พระยาราชวังสรรค์ พระยาวิเศษศักดา จึงจัดให้หลวงยกกระบัตร หลวงอาจณรงค์ หลวงวุฒสรเดช เจ้ากรมทหารปืน หลวงฤทธิสรเดช ฝรั่งแม่นปืน ล่ามฝรั่ง ๒ คน ขี่เรือรบไล่สลัดที่ส่งลงไปลำ ๑ กับเรือแง่ทรายยาว ๑๑ วา ๑๒ วา ๒ ลำ คนแจวลำละ ๔๐ คน ๕๐ คน ใส่เสื้อแดงหมวกแดงมีธงทวนปัก ออกไปรับทูตที่กำปั่นโยเสฟบาเลศเตียทูต ๑ มิดฉนารียหมอดีน ๑ คนใช้ ๑ ลงจากกำปั่นมาลงเรือที่ไปรับ เรือออกจากกำปั่น กำมะโดอรหิตให้ยิงปืนส่งทูต ๒๑ นัก ณวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๕ เพลาเช้า ๓ โมงเรือซึ่งไปรับทูตเข้ามาถึงเมืองสมุทปราการ ให้ยิงปืนป้อมผีเสื้อสมุทรับทูต ๒๑ นัด พระยาวิเศษสงครามทำกับข้าวของกินอย่างฝรั่งเลี้ยงดูทูต ที่ศาลากลางเมืองสมุทปราการ แล้วส่งทูตเข้ามาถึงเมืองนครเขื่อนขันธ์ เพลาบ่าย เจ้าเมืองกรมการได้รับเลี้ยงดูทูต เอาของมาทักทูต พักที่ศาลากลางเมืองนครเขื่อนขันธ์ แล้วส่งทูตขึ้นมาถึงกรุงเทพ ฯ ขึ้นอยู่ที่เรือนปลูกด้วยไม้น่าวัดประยุรวงศ์อาวาส

ณวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๕ เพลาเช้าจัดให้พระยาวิเศษสงคราม จางวางทหารแม่นปืน ๑ หลวงวุฒสรเดช เจ้ากรมทหารแม่นปืน ๑ หลวงฤทธิสำแดง เจ้ากรมทหารแม่นปืน ๑ แต่งตัวโอ่โถงลงไปด้วย รับทูตขึ้นเรือนพัก แล้วสั่งให้พระยาวิเศษสงครามฝรั่งเบิกเอาเงินที่เจ้าภาษีกรมท่าพระคลังสินค้า จัดพวกครัวฝรั่งมาอยู่สำหรับทำกับข้าวของกินอย่างฝรั่งเลี้ยงทูตกว่าทูตจะกลับไป

ครั้นณวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ บาเลศเตียทำหนังสือให้ล่ามมาส่งให้พระนายไวยวรนาถฉบับ ๑ ในหนังสือว่า หนังสือมิศบาเลศเตียฝากมาถึงคุณพระนายไวยวรนาถจะใคร่ให้ท่านทราบความว่า เจ้าแผ่นดินเมืองอเมริกันสั่งข้าพเจ้าให้ถือหนังสือของเจ้าแผ่นดินนั้น มาถวายแก่ท่านผู้เปนกระษัตริย์ในเมืองไทย ข้าพเจ้าขอให้ได้ช่องได้โอกาศ จะได้หาฤๅปฤกษากันกับขุนนางผู้ใหญ่อันตั้งเปนธุระที่ว่ากล่าว จะได้เอาหนังสือเข้าถวายตามรับสั่ง อันจะได้ช่องนั้นยิ่งเร็วยิ่งดี หนังสือมาณวันศุกร์แรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอโทศก พระนายไวยวรนาถทำหนังสือตอบไปให้บาเลศเตียฉบับ ๑ ว่า หนังสือพระนายไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก มายังมิศโยเสฟบาเลศเตีย ด้วยมีหนังสือมาถึงเรานั้นได้แจ้งแล้ว ได้นำเอาความขึ้นกราบเรียนแต่ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ เสนาบดีผู้ใหญ่ว่า ครั้งก่อนอิศตาโดอุนิโดดาอเมริกาเจ้าเมืองอเมริกันให้เอดแมนรอเบตขุนนางเปนทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาเปนทางไมตรี จะให้ลูกค้าชาติอเมริกันเข้ามาค้าขายณกรุง ฯ ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่มีความยินดี จึงพร้อมกันทำหนังสือสัญญากับเอดแมนรอเบตเปนไมตรีทางค้าขาย เอดแมนรอเบตได้เอาหนังสือสัญญาออกไปปิดตราเจ้าเมืองอเมริกันมาในหนังสือสัญญาแล้ว ว่าขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยณเมืองอเมริกันก็เห็นดีพร้อมกัน ได้ปิดตราสำหรับเมืองมาที่ต้นหนังสือสัญญาอิกดวงหนึ่ง ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ณกรุง ฯ และขุนนางผู้ใหญ่ณเมืองอเมริกันก็เห็นดีพร้อมกันทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว ทางไมตรีกรุง ฯ กับเมืองอเมริกันก็สนิทกันจนทุกวันนี้ ซึ่งบาเลศเตียเข้ามาครั้งนี้จะเฝ้าทูลลออง ฯ ในสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวนั้น ยังไม่ควรก่อน จะว่าด้วยการซื้อขายประการใด ก็ให้มาพูดจากันกับท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ โดยฉันทางไมตรีเถิด หนังสือมาณวันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอโทศก แล้วท่านเสนาบดีจึงให้ล่ามมาบอกกับทูตว่า เปนอย่างธรรมเนียมมาแต่ก่อน ทูตมาถึงที่พักแล้ว ให้จัดเรือมารับหนังสือไปแปล รู้ความแล้วจึงได้นทูตเข้าเฝ้า ณวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ เพลาเที่ยงจะให้เรือลงมารับหนังสือ บาเลศเตียก็ยอม ท่านเสนาบดีจึงสั่งให้เจ้าพนักงานจัดแจงเรือไว้จะมารับหนังสือพร้อมแล้ว

ครั้นรุ่งขึ้น เพลาเช้าบาเลศเตียให้มิดฉนารีหมอมะตุน มาบอกว่า มีหนังสือมา ๒ ฉบับ ๆ หนึ่งเปนหนังสือเปรสิเดนต์เจ้าแผ่นดินอเมริกัน มาถวายในสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุงฯ เมื่อทูตเข้าเฝ้าทูลลออง ฯ แล้ว จึงจะเอาหนังสือถวายในสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว อีกฉบับ ๑ เปนหนังสือเปรสิเดนต์ มีมาสำหรับตัวทูต ไม่ได้มีมาถึงผู้ใด จะให้ไปรับนั้นไม่ได้ การซึ่งจัดเรือไว้จะให้ไปรับหนังสือก็หาได้ไปรับไม่ ด้วยครั้งนั้นเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม หาอยู่ไม่ ออกไปราชการสักเลขหัวเมืองฝ่ายตวันตก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้ารับทูตแทน

ครั้นณวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอโทศก เพลาบ่าย ๓ โมงเศษ ท่านพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ๑ พระยาราชสุภาวดี ๑ พระยาสุรเสนา ๑ พระยาพิพัฒน์โกษา ๑ พระยาจุฬาราชมนตรี ๑ พระยาเพ็ชร์ชฎา ๑ พระยาสวัสดิ์วารี ๑ พระมหามนตรี ๑ พระสุริยภักดี ๑ พระนายไวยวรนาถ ๑ พระนรินทร์เสนี ๑ หมื่นราชามาตย์ ๑ รวม ๑๒ คน ข้าราชการณกรุง ฯ และหัวเมือง พร้อมกันที่บ้านพระยา ศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาเปนอันมาก ให้เอาเรือเก๋งทั้งบรรจุพลพายให้ครบกระทงไปรับโยเสฟบาเลศเตียที่เรือนพัก ครั้นเรือทูตมาถึงบ้าน ท่านพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ๆ ให้พระยาวิเศษสงครามจางวาง ทหารปืนใหญ่ หลวงวุฒสรเดช หลวงฤทธิ์สำแดง เจ้ากรม แต่งตัวโอ่โถงกับเจ้ากรมปลัดกรมนายทหาร ๘ คน ลงไปรับทูตที่สพานตามธรรมเนียมฝรั่ง ขุนนางไทยนั้นพร้อมกันที่รับแขกรับตามธรรมเนียม โยเสฟบาเลศเตียทูตขึ้นจากเรือเอามิดฉนารียหมอสมิทบุตรเลี้ยงมิดฉนารียหมอยอนซึ่งอยู่ที่กรุงฯ แต่ก่อน ถือหีบราชสาส์นเจ้าแผ่นดินเมืองอเมริกันมามือหนึ่ง ถือร่มของโยเสฟบาเลศเตียหนีบรักแร้มาคันหนึ่ง เดินตามหลังขึ้นไปบนหอนั่ง แต่มิดฉนารียหมอดีน มิดฉนารียหมอยอน มิดฉนารียหมอมะตุนมาคอยอยู่ก่อนแล้ว ครั้นโยเสฟบาเลศเตียมาถึงที่ประชุมแล้ว ก็นั่งบนเก้าอี้อย่างดี มิดฉนารียหมอดีนนั่งถัดลงมากับมิดฉนารียหมอยอน มิดฉนารียหมอมะตุน ซึ่งอยู่ณกรุงฯ ก็นั่งเปนลำดับถัดๆกันลงมา ท่านเสนาบดีปราไสยกับโยเสฟ บาเลศเตียทูตว่า บาเลศเตียมาทางทเลสบายอยู่ฤๅ มาแต่เมืองอเมริกันเมื่อไร บาเลศเตียตอบว่ามาแต่เมืองอเมริกันเมื่อณเดือน ๑๐ ปีระกาเอกศก มาตามทางสบายอยู่ จึงถามว่ามาแต่เมืองอเมริกันมากำปั่นลำนี้ฤๅามากำปั่นลำใด บาเลศเตียบอกว่ามาแต่เมืองอเมริกันมากำปั่นไฟลำหนึ่ง มาลงกำปั่นลำนี้ที่เมืองกวางตุ้ง จึงถามว่ามาอยู่ที่เมืองกวางตุ้งนานอยู่ฤๅ บาเลศเตียตอบว่าอยู่ที่เมืองกวางตุ้ง ๓ เดือน จึงถามว่ามาแต่เมืองกวางตุ้งเมื่อเดือนไร มาแวะที่ไหนบ้าง ฤๅเข้ามากรุง ฯ ทีเดียว บาเลศเตียตอบว่าถามอยู่อย่างนี้ป่วยการเพลา บาเลศเตียจึงชักหนังสือเขียนอักษรไทยใช้กระดาษฝรั่งเหน็บมาในกลีบเสื้อส่งให้ว่า ให้ดูความในหนังสือนั้นเถิด

ความในหนังสือนั้นว่า ท่านโยเสฟบาเลศเตียราชทูตอเมริกัน มาถึงท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ให้ทราบ ด้วยว่าข้าพเจ้าได้รับคำสั่งเจ้าแผ่นดินอเมริกัน แล้วถือราชสาส์นเข้ามาถวาย และข้าพเจ้าปราถนาจะหาช่องโอกาศที่จะเอาราชสาส์นนี้เข้าถวายตามคำสั่งเจ้าอเมริกัน และเมื่อถวายราชสาส์นของเจ้าอเมริกันแล้ว จะใคร่เอาหนังสือข้าพเจ้าแต่งไว้ฉบับ ๑ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว คราวเมื่อยังเฝ้าอยู่นั้น หนังสือแปลพอเปนใจความเปนภาษาไทยแล้ว เพื่อท่านจะได้ทราบ หนังสือทำณวันอังคารแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๕ ปีจอโทศก

(พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา) จึงว่า อย่างธรรมเนียมกรุง ฯ ที่จะเอาหนังสือเข้าไปถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดังว่านั้นไม่ควร จะพูดจาการสิ่งใดให้พูดกับเสนาบดีให้รู้ความก่อน เสนาบดีทั้งปวงก็รักใคร่กับชาติอเมริกันเปนอันมาก ความจะพูดจากันประการใดก็จะได้พูดจากันไปตามการ ให้สมควรกับที่เปนไมตรีอันสนิทกัน

บาเลศเตียตอบว่า จะเอาหนังสือให้กับเสนาบดีนั้น ไม่ได้ จะขอเฝ้าเอาหนังสือฉบับนี้ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก่อน ให้ถูกกับในหนังสือเจ้าแผ่นดินเมืองอเมริกัน ซึ่งมีเข้ามาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จะโปรด ฯ ให้ขุนนางคนใดพูดการอันนี้ จึงจะได้พูดความต่อไป

(พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา) จึงว่า กรุง ฯ กับเมืองอเมริกันแต่ก่อนมาก็ยังหาเคยรู้จักอย่างธรรมเนียมบ้านเมืองกันไม่ทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อปีมะโรงจัตวาศกศักราชฝรั่ง ๑๘๓๓ ปี (พ.ศ. ๒๓๗๖) เอดแมนรอเบต ถือหนังสือ อันเรยักสอน เจ้าเมืองอเมริกันเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางค้าขาย หนังสือซึ่งเจ้าเมืองอเมริกันมีเข้ามาปิดตราประจำผนึกเปนสำคัญเข้ามา ท่านเสนาบดีได้จัดเรือกัญญารับหนังสือมาแปลได้ความแล้ว จึงพาเอดแมนรอเบตเข้ามาเฝ้าทูลลออง ฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวแล้ว ท่านเสนาบดีจึงทำหนังสือสัญญาทางค้าขายกับชาติอเมริกัน เอดแมนรอเบตพาเอาหนังสือสัญญาออกไปปิดตราเจ้าเมืองอเมริกัน ครั้นปีวอกอัฐศกศักราชฝรั่ง ๑๘๓๗ ปี (พ.ศ. ๒๓๘๐) เอดแมนรอเบตกับขุนนางหลายคนเอาหนังสือสัญญาเข้ามาส่ง แล้วว่าขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยในเมืองอเมริกัน มีความยินดีพร้อมกัน จึงได้ปิดตราเจ้าเมืองอเมริกันลงในหนังสือดวง ๑ ปิดตราสำหรับเมืองผูกมาในหนังสือสัญญาอิกดวง ๑ ท่านเสนาบดีก็ได้จัดแจงเรือสีเขียนทองไปรับหนังสือสัญญากรุงฯ กับชาติอเมริกัน จึงได้เปนไมตรีสนิทกันมา ที่กรุง ฯ จึงได้ถือเอาหนังสือสัญญากันอย่างเอดแมนรอเบตเข้ามาสองครั้งเปนธรรมเนียมมาจนทุกวันนี้ บาเลศเตียเข้ามาครั้งนี้ว่าถือหนังสือเจ้าเมืองอเมริกันเข้ามา เราก็ได้จัดแจงเรือจะให้ไปรับหนังสือ ให้เปนยศเปนเกียรติในเจ้าเมืองอเมริกันเหมือนครั้งเอดแมนรอเบตเข้ามา ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวรักใคร่ในเจ้าเมืองอเมริกันมาก จะให้ไมตรียืนยาวสืบไป บาเลศเตียว่ามีหนังสือเข้ามาว่า ๒ ฉบับ ๆ ๑ ว่าเปนหนังสือสำหรับตัวเจ้าเมืองอเมริกัน ให้มาให้คนทั้งปวงรู้ว่าบาเลศเตียเปนทูตเมืองอเมริกันฉบับ ๑ ต่อบาเลศเตียได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงจะถวายไม่ส่งให้ ผิดอย่างธรรมเนียมเมื่อครั้งเอดแมนรอเบตมาทำอย่างธรรมเนียมไว้แต่ก่อน บาเลศเตียจึงเอาหนังสือคลื่ออกให้ดูดวงตรา (พระยาศรีพิพัฒนฯ) จึงตอบว่าตราซึ่งปิดมาในหนังสือนั้นเราไม่สงสัย เราสงสัยอยู่แต่ว่า ตราไม่ปิดประจำผนึกจะมาเขียนเอาอย่างไรก็เขียนได้ ผิดกับอย่างที่เคยมาแต่ก่อน บาเลศเตียตอบว่า เจ้าเมืองอเมริกันเปลี่ยนกันมาหลายคนแล้ว เดี๋ยวนี้เจ้าเมืองอเมริกันจะมีหนังสือไปถึงเจ้าเมืองฝรั่งเศส เมืองอังกฤษก็มีไปอย่างนี้ มอบกุญแจหีบหนังสือให้ผู้ถือหนังสือไปแล้วก็หาได้ปิดตราประจำผนึกไม่

(พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา) ซึ่งว่า ซึ่งมีหนังสือไปถึงเจ้าเมืองฝรั่งเศส เจ้าเมืองอังกฤษ ใส่หีบลั่นกุญแจไปไม่ปิดตราดังนี้ เราไม่รู้ เราถืออย่างธรรมเนียมครั้งเอดแมนรอเบตเข้ามาทำหนังสือสัญญาครั้งนั้น มีหนังสือปิดตราประจำผนึกเข้ามาด้วยเปนสำคัญ หนังสือเข้ามาครั้งนี้ว่าเปนหนังสือเจ้าเมืองอเมริกัน ไม่ประจำผนึกผิดกับเมื่อครั้งเอดแมนรอเบตเข้ามา จะเชื่อฟังยังไม่ได้ ที่กรุง ฯ เราถือ พระ (พุทธสาสนา) ได้พูดจาสัญญาเปนธรรมเนียมลงแล้ว ถึงจะนานไปสักเท่าใด ๆ ก็กลับธรรมเนียมไม่ได้

บาเลศเตียตอบว่า หนังสือเจ้าเมืองอเมริกันเข้ามาครั้งนี้จะรับฤๅไม่รับ

(พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา) จึงว่า หนังสือนั้นจะส่งให้ก็จะรับ แต่ที่จะให้เฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวนั้นไม่ได้ ด้วยผิดธรรมเนียมกรุง ฯ อยู่

บาเลศเตียก็ลุกจากเก้าอี้ยืนขึ้นแล้วจึงว่า ถ้าไม่รับหนังสือแล้ว จะไปบอกเจ้าเมืองอเมริกัน เขาจะคิดอย่างไรไม่รู้ด้วย หันหน้าออกเดินไปประมาณ ๕ ศอก ๖ ศอก แล้วกลับเข้ามาถามว่าจะรับหนังสือฤๅไม่รับ

(พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา) จึงว่า หนังสือให้ไว้ก็จะรับ แต่ความในหนังสือสัญญาข้อ ๙ มีอยู่ว่า ชาติอเมริกันเข้ามาณกรุง ฯ ก็ให้ทำตามอย่างธรรมเนียมกรุง ฯ บาเลศเตียพูดให้ผิดอย่างธรรมเนียมกรุง ฯ ไปดังนี้จะให้เข้าเฝ้าไม่ได้

บาเลศเตียจึงว่ากับพวกหมออเมริกันว่า ให้หมออยู่เถิดข้าจะไป แล้วบาเลศเตียก็ลงเรือไปโดยกำลังโทโส

ครั้นณวันแรม ๑๓ ค่ำเดือน ๕ โยเสฟบาเลศเตียทูตทำหนังสือมายื่นอีก ความในหนังสือที่บาเลศเตียยื่นนั้นว่า มิศโยเสฟบาเลศเตีย ผู้เปนราชทูตรับใช้แต่เจ้าแผ่นดินอเมริกันทั้ง ๓๐ เมืองที่เข้ากันเปนเมืองเดียว จะได้ถือราชสาส์นมาถึงเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ส่วนพิภพอาเซียทิศตวันออกเฉียงใต้ มีมหานครศรีอยุธยาเปนต้น เมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นควรจะแต่งหนังสือใบนี้มาเรียนท่านเจ้าคุณศรีพิพัฒน์ ฯ ด้วยความว่า เพลาวานนี้เมื่อข้าพเจ้าไปอยู่ที่หอเฝ้าเจ้าคุณ มีขุนนางเปนอันดับอยู่พร้อมมีเจ้าคุณเปนใหญ่ ข้าพเจ้าได้เข้าใจว่าธุระที่ประชุมกันนั้น เปนที่จะได้ปฤกษาด้วยการเอาราชสาส์นซึ่งข้าพเจ้าถือมาถวายแก่ท่านผู้เปนกระษัตริย์ในมหานครศรีอยุธยานี้ เมื่อแรกเดิมเจ้าคุณได้ถามข้าพเจ้าว่าด้วยออกมาจากเมืองอเมริกันเมื่อไร ข้าพเจ้าเห็นว่าคำถามดังนี้มิได้เข้าในเรื่องความ อันเปนเหตุให้ประชุมกัน แต่ยังได้ตอบให้ท่านทราบด้วยดี ท่านจึงได้ถามข้าพเจ้าต่อไปว่า ครั้นออกจากเมืองจีนแล้วได้ไปแวะที่เมืองอื่นบ้างฤๅไม่ คำถามกันนี้ข้าพเจ้ามิได้ควรจะตอบประการใด ด้วยธุระที่ให้ประชุมกันเปนที่ปฤกษาด้วยการถวายราชสาส์น ข้าพเจ้าจึงนำหนังสือที่แปลเปนภาษาไทยแล้วส่งให้แก่เจ้าคุณให้ทราบ เมื่อเจ้าคุณได้อ่านหนังสือนั้นแล้วท่านได้ถามข้าพเจ้าว่า หนังสือที่ถือมานั้นเปนอย่างไร จึงเรียกว่าเปนราชสาส์น ข้าพเจ้าได้ตอบว่าหนังสือพระราชสาส์นนั้นได้แปลเปนภาษาไทย และคุณพระนายไวยวรนาถได้รับฉบับ ๑ เปน ๔ วัน ๕ วันแล้ว คุณพระนายไวยวรนาถอยู่ที่ในประชุมก็ว่าได้ด้วยความนี้ เจ้าคุณยังได้ว่าหนังสือราชสาส์นนั้นไม่มีตราสำหรับแผ่นดินเปนสำคัญ ท่านยังมิได้เห็นหนังสือ ข้าพเจ้าจึงได้ไขหีบอันเปนที่รักษาเอาหนังสือพระราชสาส์นยกออกมาชี้ให้เห็นว่า มีตราหลวงสำหรับแผ่นดินอเมริกันตีไว้ตามธรรมเนียม เจ้าคุณก็ได้ว่าต่อไปว่า กระดาษอันห่อพระราชสาส์นนั้น มิได้ผนึกตามอย่างแต่ก่อน ข้าพเจ้าได้ตอบว่าราชสาส์นได้รักษาไว้ในหีบทำด้วยไม้จันทน์ มีกุญแจทั้งลูกเปนทอง ตามอย่างที่ถวายราชสาส์นแก่มหากระษัตริย์เจ้าปักกิ่ง อันได้รักษาดังนี้ก็เปนด้วยหวังจะให้เปนเกียรติยศแก่กระษัตริย์แห่งมหานครนี้เปนอันยิ่ง เจ้าคุณได้อ้างว่า ด้วยอย่างธรรมเนียมคราวมิศรอเบตถือราชสาส์นมา ข้าพเจ้าได้ตอบว่า ข้าพเจ้ามิได้มีช่องจะรู้ด้วยธรรมเนียมของมิศรอเบตไปทั่ว ไม่เปนข้อใหญ่ที่อื่นมิได้ถือ เมื่อเจ้าคุณว่าด้วยอย่างธรรมเนียมคราวมิศรอเบตมาเปนอันมากแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ถามว่า วันข้าพเจ้าจะได้โอกาศถวายพระราชสาส์นตามรับสั่ง เสนาบที่ผู้ใหญ่จะยอมฤๅมิยอมเปนประการใด เจ้าคุณได้รื้อความว่าด้วยความคราวมิศรอเบตถือราชสาส์นมา ข้าพเจ้าได้ถามอีกว่า อันข้าพเจ้าจะได้เข้าเฝ้าถวายราชสาส์นจะได้ฤๅมิได้ เจ้าคุณได้กล่าวว่า เสนาบดีจะรับหนังสือราชสาส์น และครั้นได้ปฤกษากันจะจัดแจงตามสมควร ข้าพเจ้าจึงได้ว่า ถ้าเสนาบดีทั้งปวงจะรับหนังสือ และครั้นพิจารณาปฤกษากันแล้ว จึงจะคืนให้แก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้าจะได้ถวายตามรับสั่ง ข้าพเจ้าจะเอาหนังสือมอบให้เสนาบดีใดมิได้ขัด เมื่อข้าพเจ้าว่าดังนี้ไม่มีผู้ใดตอบประการใด ข้าพเจ้าเห็นว่าเสนาบดีผู้ใหญ่มิยอมให้เอาพระราชสาส์นถวายตามรับสั่ง ข้าพเจ้าจึงได้ลุกขึ้นจากที่นั่งและได้ว่า อันมิยอมให้รับราชสาส์นนี้เปนการประมาทต่อท่านผู้เปนเจ้าแผ่นดินอเมริกันทั้ง ๓๐ เมืองที่เข้ากันเปนเมืองเดียว การประมาทนี้เปนข้อใหญ่ เจ้าแผ่นดินนั้นแต่งหนังสือราชสาส์นให้จำเริญพระราชไมตรี ตีตราสำหรับแผ่นดินลงชื่อด้วยลายมือของตน ตั้งข้าพเจ้าเปนทูตถือราชสาส์นมาในกำปั่นหลวงใช้ข้างอเมริกันมาทางไกลสุดแผ่นดิน มาแต่เมืองอันเปนเมืองใหญ่ อันเสนาบดีมิยอมให้เอาราชสาส์นถวายแก่ท่านผู้เปนกระษัตริย์ในมหานครนี้ เปนที่อัประยศต่อเมืองอเมริกันโดยมาก จะบันดาลเหตุเปนประการใดข้าพเจ้าจะว่ามิได้ ครั้นข้าพเจ้าได้ว่าทั้งนี้แล้ว ข้าพเจ้าได้ก้มหน้าคำนับเจ้าคุณกับขุนนางทั้งหลาย แล้วก็ถอยออกมาถึงที่อยู่

ทีนี้นั้นราชทูตจะใคร่ว่าด้วยข้อที่เจ้าคุณได้ถาม ด้วยความอันมีอยู่ในราชสาส์นแห่งเจ้าเมืองอเมริกัน ถ้าเจ้าคุณเข้าใจว่าหนังสือราชสาส์นผนึกไว้แล้ว ที่ไหนเจ้าคุณจะได้เห็นว่าราชการ ทูตได้รู้จักความในหนังสืออันผนึกไว้แล้ว แต่ครั้นออกมาดูเห็นว่าตีตราหลวงเปนปรากฎแก่ตาอยู่แล้ว ท่านจึงอ้างเอาเหตุว่า เมื่อมิศรอเบตนั้นราชสาส์นติดผนึกอยู่ดูเปนเหมือนหนึ่งท่านจะก่อเหตุมิให้รับราชสาส์นได้ ที่มิให้ถวายราชสาส์นแห่งเจ้าแผ่นดินอเมริกันตามรับสั่ง จะเปนเหตุให้อัประยศแต่ข้อเดียวเท่านั้นหามิได้ ราชทูตได้จ้างคนจีนคนหนึ่งจะให้เขียนหนังสือ ครั้นคนจีนนั้นขึ้นบกแล้ว พวกขุนนางให้พาเอาจีนคนนั้น ไปบ้านของขุนนางผู้ใหญ่ ให้ซักถามด้วยเหตุทั้งปวงของราชทูตตั้งแต่ออกจากเมืองจีนจนถึงเมืองนี้ ครั้นได้ความแล้วก็จดเขียนไว้ต่อหน้าขุนนางผู้ใหญ่ อันทำดังนี้ต่อราชทูตที่มาจากเมืองอันเปนไมตรีกัน เปนการผิดการเคืองมากนัก ท่านไม่ได้ต้องการจะแก้โทษเสีย

อนึ่งราชทูตนึกเสียดายว่าได้อยู่ที่นี่แปดวันมาแล้ว และขุนนางผู้ใหญ่ผู้ใดผู้หนึ่งมิได้มาเยี่ยมเยือนสักทีสักครั้งหนึ่งเลย อันใครผู้ใดจะได้เชิญไปหาผู้ใหญ่ผู้ใด ฤๅไปดูอะไรแปลกประหลาดก็หามีไม่ เห็นจะผิดธรรมเนียมแต่ก่อน

อนึ่งราชทูตได้ยินข้อหนึ่งซึ่งเปนเหตุให้หลากใจหนักหนา ซึ่งราชทูตขึ้นมาจากกำปั่นแต่ผู้เดียวมีแต่คนหนึ่งมาด้วย สำหรับจะช่วยแต่งหนังสือ ขุนนางผู้ใหญ่เอาเปนเหตุว่ากล่าวเปนที่สงสัย เจ้าคุณทราบอยู่ว่าที่กำมะโดผู้เปนใหญ่ในกำปั่น กับขุนนางฝ่ายทหารและทหารทั้งหลายมิได้ขึ้นมานั้น เปนเพราะขุนนางไทยอันมีธุระออกไปถึงกำปั่นเปนพยานได้กล่าวว่า โรคลงรากเปนกำลังมีที่ในกรุง ฯ ผู้คนตายมากหนักแล้ว และยังตายทุกวันๆ วันละหลายคน จึงมีคำสั่งมิให้ชาวเรือขึ้นบกเลย เปนเหตุดังนี้สิ่งเดียว

อนึ่งนอกจากการถวายราชสาส์น ราชทูตได้รับสั่งให้ว่าด้วยการเปลี่ยน (แก้) หนังสือสัญญาอันแต่งไว้แต่ก่อน เปลี่ยน (แก้) บ้าง เติมเข้าบ้าง เพราะเหตุดังนี้ ราชทูตได้แต่งหนังสือฉบับ ๑ จะได้กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ หนังสือนั้นแปลเปนภาษาไทยฉบับ ๑ ฝากไปให้เจ้าคุณด้วยกันกับหนังสือใบนี้

ข้อ ๒ ในหนังสือสัญญาอันแต่งไว้ในศักราช ๑๘๓๓ คือ ปีมะโรงศักราชไทย ข้อนั้นว่าใครผู้ใดที่มีสินค้าจะซื้อขายกันได้มิให้ใครห้าม แต่ครั้นตั้งเจ้าภาษีแล้วไม่มีใครว่าจะซื้อขาย เว้นไว้แต่ตามคำของเจ้าภาษีนั้น คำสัญญานั้นจึงสิ้นกำลังเปนประโยชน์มิได้ เพราะเจ้าภาษีคาดค่าแพงให้เกินขนาด พ่อค้าจะซื้อขายมิได้ อันจะขายกันได้มีแต่เจ้าภาษีพวกเดียว เพราะมิได้ถือคำสัญญาข้อนี้ และเพราะค่าธรรมเนียมเปนอันมากนัก หนังสือสัญญานั้นฝ่ายการซื้อขายกัน จึงเปนเหมือนหนึ่งไม่ได้เปน ดังนี้เปนหลายปีมาแล้ว ในศักราชปี ๑๘๓๘ (พ.ศ. ๒๓๗๑) มีกำปั่นอเมริกัน ๒ เสาครึ่งชื่อสตัดมาถึงเมืองไทยนี้ จะใคร่ซื้อน้ำตาลทรายบรรทุกเต็มลำ คราวนั้นน้ำตาลทรายมีอยู่ใน (คลังสินค้า) โรงหลวงเปนอันมาก อันจะตีราคามีแต่เจ้าภาษี และว่าเจ้าภาษีว่าราคาแพงนัก ผู้ทำน้ำตาลทรายมิอาจจะขายผิดคำสั่งเจ้าภาษี กำปั่นนั้นจึงต้องไปซื้อในเมืองมนิลา ตั้งแต่คราวนั้นเปนสิบสองปีมาแล้ว และกำปั่นอเมริกันมิอาจจะเข้ามาสักลำ

ประการหนึ่งราชทูตจะใคร่ว่าต่อไปให้เจ้าคุณทราบว่า การตั้งเจ้าภาษีดังว่ามาแล้วเปนการผิดต่อสัญญา แล้วการซื้อขายกับประเทศอื่น ๆ จะทำได้แต่ในกำปั่นถือธงไทย กำปั่นเหล่านี้มิได้เสียค่าธรรมเนียม และกรมสินค้าเปนของพวกไทย ถึงจะฝากขายเมืองนอก ฤๅจะซื้อเข้ามามิต้องเสียภาษี อันนี้เปนร้ายต่อการซื้อขายของพวกชาวอเมริกัน ครั้นการดังนี้แล้ว และแผ่นดินอเมริกันกับแผ่นดินไทยเปนมิตร์สหายกันดีแล้ว เห็นเปนอันควรจะได้จัดแจงแต่งหนังสือสัญญาใหม่ ฝ่ายเจ้าแผ่นดินและขุนนางในเมืองอเมริกันก็ปราถนาจะได้ไปมาซื้อขาย ทำการเปนอันสมควรใจกว้างขวางอารีรอบ ถ้าและท่านผู้เปนกระษัตริย์และขุนนางในเมืองไทย ยอมให้ทำอันสมด้วยทางไมตรีต่อเมืองอเมริกัน ข้างเมืองอเมริกันก็จะยอมทำต่อเมืองไทยเหมือนกัน กำปั่นอเมริกันได้เข้ามาในเมืองไทยฉันใด กำปั่นไทยจะเข้าถึงเมืองอเมริกันก็ฉันนั้น ขอ (ความในต้นฉบับขาด) ราชทูตในปลายหนังสือ (ความในต้นฉบับขาด) คำนับเปนอันดี หนังสือที่เขียนไว้ที่อยู่ของราชทูตในกรุง ฯ (ความที่ขาดตอนนี้คงเปนลงวันที่เขียนหนังสือฉบับนี้ คือ ที่ ๑๐ เมษายน คฤศตศก ๑๘๕๐)

(จดหมายฉบับต่อไปนี้ความเปนคำที่เตรียมจะกราบบังคมทูลเวลาเข้าเฝ้า) ข้าพเจ้า (ผู้ซึ่งเปรสิเดนต์) อเมริกัน (ซึ่ง) ครองทั้งสามสิบเมืองที่เข้ากันเปนเมืองเดียว ท่านได้โปรดตั้งให้ข้าพเจ้าเปนทูตใช้มาถึงเมืองในทวีปอาเซียอันตั้งอยู่ในส่วนทวีปอาเซียตวันออกเฉียงใต้ มีพระนครศรีอยุธยาเปนต้น จึงถือราชสาส์นมาถวายแก่พระองค์ ราชสาส์นนั้นขอถวายเดี๋ยวนี้ ท่านเจ้าแผ่นดินนั้นได้สั่งข้าพเจ้าให้กราบทูลว่า ท่านมีใจถือไมตรีต่อพระองค์เปนอันดี ด้วยหวังจะให้ทรงพระราชไมตรีจำเริญยิ่งใหญ่ ด้วยเปิดทางขึ้นให้ชาวอเมริกันกับชาวมหานครศรีอยุธยานี้ไปมาหาสู่ค้าขายถึงให้ยิ่งมาก เมื่อเจ้าแผ่นดินอเมริกันตั้งใจดังนี้ ท่านจึงตั้งข้าพเจ้าให้ถืออาชญามาปฤกษาหาฤๅกันกับเสนาบดีผู้ใหญ่ จะได้เอาหนังสือสัญญาเดิมซึ่งได้จัดแจงไว้ในปีคฤศตศักราช ๑๘๓๓ เปนปีมะโรง มาแปลงเปลี่ยนตกแต่งเสียใหม่ ให้ถูกต้องตามธรรมเนียมแห่งเมืองอื่นที่เปนเมืองใหญ่มีเมืองอเมริกันเปนต้น ด้วยว่าในเมืองทั้งหลายเหล่านั้น ผู้เปนกระษัตริย์ครองและขุนนางผู้ใหญ่เข้าใจชัดอยู่แล้วว่า เมื่อชาวบ้านชาวเมืองไปมาค้าขายถึงกันกับประเทศอื่น ๆ มากเท่าใด วาสนาเกียรติยศแห่งเมืองนั้น ก็แผ่ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

อนึ่งเจ้าแผ่นดินอเมริกันประสงค์จะให้พระองค์ทราบว่า เมืองอเมริกันนั้นหามีเมืองในประเทศอื่นมาขึ้นไม่ แล้วการศึกสงครามกับประเทศใด ๆ ทั่วทั้งโลกนี้ไม่มี ชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงจึงปลงใจทำมาหากินด้วยวิชาต่างๆ คือ หากินด้วยทางค้าขายในประเทศอื่นโดยมาก

อนึ่งเจ้าแผ่นดินนั้นก็ได้สั่งข้าพเจ้าว่า ซึ่งพวกหมออเมริกันที่ได้มาอาศรัยในมหานครนี้ ได้พึ่งพระบารมีของพระองค์ จึงปราศจากภัยอันตรายท่านได้รู้พระคุณแล้วก็ขอบใจ แล้วท่านยัง (หวัง) ใจว่า พระองค์ยังจะโปรดอนุเคราะห์ต่อไป แต่พวกหมอกับทั้งชาวอเมริกันผู้ใด ๆ ที่จะมาและมิได้ประพฤติให้เลมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน ข้าพเจ้าก็ยินดีเปนอันมาก เพราะข้าพเจ้ามีโอกาศที่จะว่า อันได้รับคำนับข้าพเจ้าโดยสมควรตามอย่างที่ได้รับราชทูตก็ขอบใจหนักหนา อันข้าพเจ้าได้โอกาศเข้ามาเฝ้าพระองค์เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนเกียรติยศและคุณต่อข้าพเจ้าเปนอันมาก

ท่านพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ทำหนังสือตอบบาเลศเตียไปใจความว่า หนังสือพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาเสนาบดี มาถึงโยเสฟบาเลศเตียทูต ด้วยมีหนังสือมาว่า ข้อ ๒ ในหนังสือสัญญาอันแต่งไว้ในศักราช ๑๘๓๓ คือ ปีมะโรงศักราชไทย ข้อนั้นว่าใครผู้ใดที่มีสินค้าจะซื้อขายกันมิให้ใครห้าม แต่ครั้นตั้งเจ้าภาษีแล้วไม่มีใครอาจจะซื้อขาย เว้นไว้แต่ตามคำของเจ้าภาษีนั้น คำสัญญาจึงสิ้นกำลัง เปนประโยชนมิได้ เพราะเข้าภาษี (พิกัด) ค่าแพงให้เกินขนาด พ่อค้าจะซื้อขายกันมิได้ อันจะขายกันได้มีแต่เจ้าภาษีพวกเดียวเพราะมิได้ถือสัญญาข้อนี้ และเพราะค่าธรรมเนียมเปนอันมากนัก หนังสือสัญญานั้นฝ่ายการซื้อขายกัน จึงเปนเหมือนหนึ่งมิได้เปนดังนี้ เปนหลายปีมาแล้ว ในศักราช ๑๘๓๘ มีกำปั่นอเมริกัน ๒ เสาครึ่งชื่อสตัดมาถึงเมืองไทยจะใคร่ซื้อน้ำตาลทรายบรรทุกพอเต็มลำ คราวนั้นน้ำตาลทรายมีอยู่โรงหลวงเปนอันมาก อันจะตีราคามีแต่เจ้าภาษีและเจ้าภาษีว่าราคาแพงนัก ผู้ทำน้ำตาลทรายมิอาจจะขายผิดคำเจ้าภาษี กำปั่นนั้นจึงต้องซื้อในเมืองมนิลา ตั้งแต่คราวนั้นเปนสิบสองปีมาแล้ว และกำปั่นอเมริกันมิอาจจะเข้ามาสักลำ

ประการหนึ่งราชทูตจะใคร่ว่าต่อไปให้เจ้าคุณทราบว่า การตั้งเจ้าภาษีดังว่ามาแล้ว เปนการผิดข้อคำสัญญา และการซื้อขายกับประเทศอื่น ๆ จะทำได้แต่กำปั่นถือธงไทย กำปั่นเหล่านี้มิได้เสียค่าธรรมเนียม และครั้นสินค้าเปนของพวกไทย ถึงจะฝากขายเมืองนอกฤๅจะซื้อเข้ามามิต้องเสียภาษี อันนี้เปนการร้ายต่อการของพวกชาวอเมริกัน ครั้นการดังนี้แล้ว และแผ่นดินอเมริกันกับแผ่นดินไทยเปนมิตร์สหายกันดีแล้ว เห็นเปนอันควรจะได้จัดแจงแต่งหนังสือสัญญาใหม่ ฝ่ายเจ้าแผ่นดินและขุนนางในเมืองอเมริกันก็ปราถนาจะได้ไปมาซื้อขายทำการ เปนอันสมด้วยใจกว้างขวางอารีรอบ ถ้าและท่านผู้เปนกระษัตริย์และขุนนางในเมืองไทยยอมให้ทำอันสมด้วยทางไมตรีต่อเมืองอเมริกัน ข้าง เมืองอเมริกันจะยอมทำต่อเมืองไทยเหมือนกัน กำปั่นอเมริกันได้เข้ามาถึงเมืองไทยฉันใด กำปั่นไทยจะเข้าที่เมืองอเมริกันเหมือนฉันนั้น

ความข้อนี้เห็นว่าเมื่อศักราชฝรั่ง ๑๘๓๓ ปี เอดแมนรอเบตเปนทูตเข้ามาทำหนังสือสัญญาไว้ ๑๐ ข้อ ตั้งแต่นั้นมาหามีกำปั่นชาวอเมริกันเข้ามาค้าขายไม่ ด้วยอยู่หลายปีเมื่อศักราชฝรั่ง ๑๘๓๘ ปี ศักราชไทย ๑๑๘๙ ปีระกานพศก กำปั่นชาติอเมริกันเข้ามาลำ ๑ จะมาจัดซื้อน้ำตาลทรายเปนปลายมรสุมน้ำตาลทรายซื้อขายกันสิ้นแล้ว น้ำตาลทรายในโรงหลวงก็ไม่มี ยังมีอยู่บ้างแต่น้ำตาลลูกค้าคนละเล็กน้อย ประมาณน้ำตาลทรายสิ้นด้วยกันหนักสัก ๕,๐๐๐ บาท ครั้งนั้น นักกุดามะหะหมัด นักกุดากุละมะหะหมัด แขกลูกค้าเมืองบุมไบ คุมกำปั่น ๒ ลำเข้ามาจัดซื้อน้ำตาลทราย ราคาน้ำตาลทรายแพง เจ้าของจะขายหาบละ ๒ ตำลึง ๒ บาท นักกุดามะหะหมัด นักกุดากุละมะหะหมัดต่อให้หาบละ ๒ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง ลูกค้าอเมริกันจะซื้อหาบละ ๒ ตำลึง เจ้าพนักงานเห็นว่าลูกค้าชาติอเมริกันไม่ได้มาค้าขายนานแล้วพึ่งจะมีมา จะช่วยสงเคราะห์ให้ลูกค้าชาติอเมริกันได้ซื้อน้ำตาลทรายไป จะได้เข้ามาซื้อขายอิก ช่วยว่ากล่าวกับลูกค้าณกรุงฯ จะให้ขายน้ำตาลทรายให้กับพวกอเมริกันให้ลดราคาลงบ้าง ให้พวกอเมริกันขึ้นราคาให้บ้าง นักกุดามะหะหมัด นักกุดากุละมะหะหมัด ลูกค้าเมืองบุมไบมาต่อไว้หาบละ ๒ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง ลูกค้าพวกอเมริกันก็ไม่ขึ้นราคาให้ เจ้าของน้ำตาลทรายก็ไม่ยอมขายก็ไม่ได้ซื้อกัน ความดังนี้จะว่าเจ้าภาษีตั้งพิกัดราคาน้ำตาลทรายให้ลูกค้าซื้อขายกันให้ผิดหนังสือสัญญาประการใด ใครเอาความไปบอกเล่ากับโยเสฟ บาเลศเตียทูต จึงได้หยิบยกเอาขึ้นว่า ข้อหนึ่งว่าการตั้งเจ้าภาษีดังว่ามาแล้วเปนการผิดข้อคำสัญญาและการซื้อขายกับประเทศอื่น ๆ จะทำได้ก็แต่ในกำปั่นถือธงไทย กำปั่นเหล่านี้มิได้เสียค่าธรรมเนียม และครั้นสินค้าเปนของพวกไทยถึงจะฝากขายเมืองนอกฤๅจะซื้อเข้ามามิต้องเสียภาษี อันนี้เปนการร้ายของพวกชาวอเมริกัน ครั้นการอันนี้แล้ว และแผ่นดินอเมริกันกับแผ่นดินไทยเปนมิตรสหายกันดีแล้ว เห็นเปนอันจะได้จัดแจงแต่งหนังสือสัญญาใหม่ ความดังนี้ยากที่จะพูดจาความบ้านเมืองด้วยโยเสฟบาเลศเตียต่อไป มาถึงแรกจะได้พบปะกัน ควรที่จะปราไสยพูดจาเปนความยินดีต่อกัน โยเสฟบาเลศเตียก็โกรธขึ้นมา ตักความห้ามเสียไม่ให้พูดจาว่าป่วยการเพลา เอาหนังสือซึ่งเขียนใส่กลีบเสื้อมาส่งให้ ความในหนังสือว่าจะขอถวายหนังสือแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แล้วจะใคร่เอาหนังสือที่ทำไว้ฉบับ ๑ ถวายแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวในคราวเมื่อยังเฝ้าอยู่นั้น เสนาบดีพร้อมกันตอบว่าธรรมเนียมกรุง ฯ ต้องรับเอาพระราชสาส์นมาแปลให้รู้ความในพระราชสาส์นก่อน จึงจะนำทูตเข้าเฝ้าทูลลออง ฯ เหมือนอย่างเมื่อครั้งเอดแมนรอเบตเปนทูตเข้ามา โยเสฟบาเลศเตียก็โกรธ ลุกขึ้นกระทำหยาบหยามข่มขู่ในที่ประชุม กรุง ฯ รักใคร่ในทางไมตรีชาติอเมริกันอยู่จงกระทำได้ดังนี้ ผิดกับทูตขรมาแต่ก่อน ๆ จะพูดจาการบ้านเมืองกันสืบต่อไปประการใดได้

ข้อหนึ่งว่าได้จ้างคนจีนคนหนึ่ง จะให้เขียนหนังสือ ครั้นจีนคนนั้นขึ้นบกแล้ว พวกขุนนางให้พาตัวจีนคนนั้นไปบ้านของขุนนางผู้ใหญ่ ให้ซักถามด้วยเหตุทั้งปวงของโยเสฟบาเลศเตียราชทูต ตั้งแต่ออกจากเมืองจีนมาจนถึงเมืองนี้ ครั้นได้ความแล้วก็ให้จดหมายเขียนไว้ต่อน่าขุนนางผู้ใหญ่ อันทำดังนี้โยเสฟบาเลศเตียราชทูตที่มาจากเมืองอันเปนไมตรี เปนการผิดการเคืองมากนักทนไม่ได้ต้องการจะแก้โทษเสีย ความข้อนี้จีนซึ่งโดยสานเรือนำขึ้นมาจากกำขึ้นรบ จีนคนนี้เปนจีนเข้ามาอยู่เมืองไทย แล้วกลับออกไปเมืองจีนกลับเข้ามากับกำปั่นรบ ฝ่ายไทยจะได้รู้ว่าโยเสฟบาเลศเตียจ้างมาให้เขียนหนังสือนั้นหาไม่ เปนอย่างธรรมเนียมกรุงฯ คนมาแต่ทางไกลแล้วก็ต้องไถ่ถามถึงทางไปมาตามธรรมเนียม ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับโยเสฟบาเลศเตีย ไม่ควรที่จะหยิบยกเอาความเล็กน้อยขึ้นโกรธขึ้งเปนข้อใหญ่

ข้อหนึ่งว่านึกเสียดายว่าได้อยู่ที่นี่ ๘ วันมาแล้ว และขุนนางผู้ใหญ่ผู้ใดผู้หนึ่งมิได้เยี่ยมเยือนสักทีสักครั้งหนึ่งเลย อันใครผู้ใดจะได้เชิญไปหาผู้ใหญ่ผู้ใดฤๅไปดูอะไรแปลกประหลาดหามิได้ เห็นว่าผิดธรรมเนียมแต่ก่อน ความข้อนี้ล่ามและเจ้าพนักงานก็มาอยู่พิทักษ์รักษาพร้อมแล้ว ได้จัดเรือพลพายให้มาประจำอยู่ สำหรับจะได้ไปเที่ยวเล่นตามสบาย ขุนนางฝรั่งพระยาวิเศษสงคราม นายทหารผู้ใหญ่ก็ได้ไปมาเยี่ยมเยือนอยู่มิได้ขาด ขุนนางไทยนั้นจะไปมาเยี่ยมเยือนบ้างก็ผิดภาษากัน เห็นว่าโยเสฟบาเลศเตียมักโกรธขึ้ง จะพูดจาประการใดกลัวจะเกิดความจึงไม่มา หนังสือมาณวันศุกร์ขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๖ ปีจอโทศก

เมื่อณวันพฤหัศ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๖ บาเลศเตียทำหนังสือมายื่นอิกว่า หนังสือของโยเสฟบาเลศเตีย ผู้ราชทูตรับใช้ของเจ้าแผ่นดินอเมริกันทั้งสามสิบเมืองอันเข้ากันเปนเมืองเดียว ถือราชสาส์นมาถึงเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในพิภพส่วนอาเซียทิศตวันออกเฉียงใต้ มีมหานครศรีอยุธยาเปนต้น ฝากมาถึงเจ้าคุณเจ้าพระยาพระคลัง ด้วยว่าเมื่อเจ้าคุณยังมิได้กลับเข้ามาในกรุงเทพ ฯ กำปั่นหลวงเปนเรือรบชื่อแประโมตถือธงอเมริกัน ได้ส่งข้าพเจ้าเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร ครั้นได้เข้ามาแล้วได้รับเชิญเข้าที่หอเฝ้าของเจ้าคุณศรีพิพัฒน์ฯ กับขุนนางอื่น ๆ ได้ว่ากล่าวปฤกษากันด้วยการที่จะเอาราชสาส์นซึ่งข้าพเจ้าถือมานั้น จะเข้าเฝ้าถวายตามข้าพเจ้ารับสั่งแต่เจ้าแผ่นดินอเมริกัน เจ้าคุณศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษากับขุนนางทั้งหลายเพราะเหตุต่าง ๆ มิยอมให้ถวายราชสาส์น ข้าพเจ้าจึงได้คอยท่าหลายวัน คิดจะได้ยินด้วยความนั้นต่อไป ครั้นหลายวันมาแล้วข้าพเจ้าก็ได้แต่งหนังสือ ๒ ฉบับ ฝากให้เรียนเจ้าคุณศรีพิพัฒน์ฉบับ ๑ ได้เล่าเหตุการณ์ที่ปฤกษาว่ากล่าวกับเจ้าคุณเมื่อไปบ้านของท่านวันก่อนนั้น ก็ได้เล่าความอันเปนเหตุจะให้ว่าและควรจะแก้เสีย

อนึ่งก็ได้ว่าด้วยการในขุนนางผู้ใหญ่ในมหานครกระทำให้เสียประโยชน์ในหนังสือสัญญาอันมีมาแล้ว อันควรจะถือให้ครัดเคร่ง หนังสือฉบับ ๑ นั้นแต่งไว้หวังจะให้ทราบว่า ด้วยการทางจะถวายราชสาส์นนั้น ข้าพเจ้ามิได้ปราถนาจะผิดอย่างธรรมเนียมแห่งแผ่นดินเลย หนังสือทั้ง ๒ ฉบับนั้น หมอมะตุนได้ถือไปให้แก่บุตร์ของเจ้าคุณ คือคุณพระนายไวยวรนาถ ๆ ได้ว่าจะส่งให้เจ้าคุณศรีพิพัฒน์ ฯ ตั้งแต่นั้นมาเปน ๕ วัน ราชทูตมิได้รับหนังสือตอบประการใดเลย ไม่ได้ยินผู้ใดว่าจะมีหนังสอตอบมา ฝ่ายแผ่นดินอเมริกันยังถือไมตรีต่อมหานครเปนอันดี ที่เจ้าแผ่นดินอเมริกันให้ทูตถือราชสาส์นมาถวายคราวนี้เปนสำคัญ ว่ายังถืออยู่ดี ถึงการดังนั้นอันราชทูตเห็นว่ามหานครทั้งผู้เปนใหญ่ในมหานครถือไมตรีต่อเมืองอเมริกันก็หาเห็นไม่ มีแต่จะเห็นว่ามหานครมิได้ปราถนาจะขาดจากทางไมตรีแล้ว เมื่อการเปนดังนี้แล้ว จำเปนให้ราชทูตเรียนเจ้าคุณว่า ถ้าเสนาบดีผู้ใหญ่ในมหานครไม่มีน้ำใจปฤกษาหาฤๅกันต่อไป ราชทูตจะได้ลงเรือออกไปถึงกำปั่นอันถือธงอเมริกัน ครั้นจะกำหนดวันลงเรือออกไป ก็กำหนดเปนวันเสาร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ขอเจ้าคุณได้โปรดสั่งด้วยเรือที่จะออกไป ราชทูตขอคำนับเจ้าคุณเจ้าพระยาพระคลังเปนอันดี หนังสือมาณวันพุธขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอโทศก

หนังสือฉบับนี้บาเลศเตียว่าเจ้าพระยาพระคลัง กลับบอกถึงกรุง ฯ ณวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนยี่จึงทำมาให้ เจ้าพระยาพระคลังไม่ตอบ

ณวันเสาร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ โยเสฟบาเลศเตียทำหนังสือมายื่นอิกฉบับ ๑ ว่าจะขอลากลับไปกำปั่น ความในหนังสือว่า หนังสือของท่านโยเสฟบาเลศเตียราชทูตเมืองอเมริกัน ฝากมาถึงท่านคุณพระนายไวยวรนาถให้ทราบว่า ข้าพเจ้าได้ยินพวกหมออเมริกันได้พบคุณพระนายไวยวรนาถ เมื่อเพลาคืนนี้ว่า แต่ขุนนางไทยปราถนาจะให้พวกหมออเมริกันนั้นไปส่งท่านราชทูตถึงกำปั่น ท่านราชทูตก็มีความยินดีด้วย แต่ว่าเพลาพรุ่งนี้เปนวันพระของพวกรีดพระเยซูเปนวันถือ พวกหมอไม่ชอบที่จะไปในกลางทางในวันพระนั้น ข้าพเจ้าจะกำหนดที่จะออกไปกำปั่นนั้นแต่ณวันจันทร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ เพลาเช้าทีเดียว

อิกประการ ๑ เรือที่จะไปนั้นข้าพเจ้าขอเรือหลวงทไปรับข้าพเจ้าเข้ามานั้น ฤๅเรือล่องบดกะปิตันปรอนฤๅมิศเฮส์ ถ้าจะโปรดให้เรือกะปิตันปรอนไปส่งข้าพเจ้า ขอให้กะปิตันปรอนไปส่งด้วย เพราะว่าข้าพเจ้าไม่รู้จักคนอื่น ด้วยกะปิตันปรอนไว้เนื้อเชื่อใจเป็นคนชำนาญในการทเลนั้น ฤๅจะมีหนังสือไปถึงนายกำปั่นให้เอาเรือล่องบดเข้ามารับที่หลังเต่าก็ได้ แต่ว่าเห็นไม่สู้ดี เพราะว่าพวกหมอไปส่งถึงกำปั่นไม่ได้ด้วยพวกหมอจะกลับมาก็ไม่มีเรือจะกลับมา ข้าพเจ้าขอให้ไปมาโดยดี หนังสือนี้มาณวันเสาร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอโทศก หนังสือนี้ไม่ได้ตอบ

ท่านเสนาบดีทราบความแล้ว สั่งให้จัดเรือแง่ทรายยาว ๑๒ วา ๑๓ วา ๒ ลำ มีธงทวนคนแจวลำละ ๔๐ คน ๕๐ คน ใส่เสื้อแดงหมวกแดงเตรียมไว้ ถึงกำหนดจะได้ส่งโยเสฟบาเลศเตียทูตลงไปถึงเมืองสมุทปราการ แล้วให้มีหนังสือพระนายไวยวรนาถส่งไปถึงกำมะโดนายทหารกำปั่นรบอเมริกัน ซึ่งเข้ามากับบาเลศเตียทูตฉบับ ๑

ความในหนังสือว่า หนังสือจมื่นไวยวรนาถผู้ได้บังคับกำปั่นรบและปากน้ำกรุงเทพ ฯ มาถึงกำมะโดอรหิต ขุนนางนายทหารกำปั่นรบอเมริกันด้วยใจรักใคร่ยิ่งนัก ขอเล่าความออกมาให้กำมะโดอรหิตฟัง ด้วยท่านมีหนังสือเข้ามาถึงเราว่า ให้จัดเรือใหญ่ลำหนึ่งกับคนแจวที่ดีออกไปรับขุนนาง ถ้าเราพบขุนนางที่เข้ามาแล้ว ขอให้ (รับรอง) โดยดี ด้วยคนนั้นเปนขุนนางผู้ใหญ่มิใช่ขุนนางผู้น้อย เราก็ได้นับถือตามหนังสือของท่านที่มีเข้ามา จึงจัดเรือเสา เรือใบยาว ๑๑ วา ๑๒ วา ๓ ลำ คนแจว ๔๐ คน ๕๐ คน ใส่เสื้อแดงหมวกแดงมีธงทวนปัก เหมือนอย่างรับทูตมาแต่ก่อน ๆ ออกไปรับ โยเสฟ บาเลศเตียทูตกับหนังสือที่มีมาแต่เมืองอเมริกัน ณวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๕ โยเสฟ บาเลศเตียทูตอเมริกันนาย ๑ มิดฉนารียชื่อดีน ๑ คนใช้คน ๑ ลงเรือที่ออกไปรับมาถึงเมืองสมุทปราการ ก็ได้ยิงปืนป้อมรับทูตอเมริกัน ๒๑ นัดเปนคำนับ ตามอย่างรับทูตมาแต่เมืองใหญ่ซึ่งเปนไมตรีกัน ได้เชิญโยเสฟบาเลศเตียขึ้นกินเลี้ยงที่เมืองสมุทปราการ แล้วส่งโยเสฟบาเลศเตียทูตขึ้นมาถึงเมืองนครเขื่อนขันธ์เปนเมืองชั้น ๒ ผู้รักษาเมืองกรมการก็ได้จัดลูกไม้ของกินไปกำนันและเลี้ยงดูตามอย่างธรรมเนียม ท่านเสนาบดีรู้ความให้จัดแจงปลูกเรือนใหญ่เปนที่อยู่มีรั้วล้อมรอบเปนบริเวณ ทำให้ทูตอยู่สมยศเกียรติในชาติอเมริกัน ครั้นโยเสฟบาเลศเตียขึ้นไปกรุง ฯ ก็ได้เชิญโยเสฟบาเลศเตียอยู่ที่เรือนใหม่ จัดพ่อครัวมาให้ประจำทำกับข้าวของกินเลี้ยงดูมิได้ขัดสน จัดเรือและคนไว้สำหรับโยเสฟบาเลศเตียจะได้ไปเที่ยวตามสบายอย่างธรรมเนียมกรุง ฯ ทูตมาแต่ก่อน ๆ ขึ้นไปถึงที่อยู่เปนปรกติดีแล้ว ขุนนางเจ้าพนักงานได้จัดเรือให้ลงมารับหนังสือขึ้นไปแปลจะได้รู้ความในหนังสือ ท่านเสนาบดีจะได้นำความในหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลแต่พระบาทสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าให้ทรงทราบ โยเสฟบาเลศเตียมาถึงที่อยู่ณวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๕ เจ้าพนักงานรับโยเสฟบาเลศเตียขึ้นอยู่ที่พักแล้ว บอกว่าในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ เพลาเที่ยง จะจัดเรือกระบวนแห่รับหนังสือ โยเสฟบาเลศเตียก็ยอม ครั้นรุ่งขึ้นเพลาเช้า โยเสฟบาเลศเตียทูต ให้มิดฉนารียหมอมะตุนมาบอกว่าหนังสือมีมา ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งเปนหนังสือเปรสิเดนต์เจ้าแผ่นดินอเมริกัน มีมาถวายในสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงฯ เมื่อโยเสฟบาเลศเตียได้เข้าเฝ้าทูลลออง ฯ แล้วจึงจะเอาหนังสือถวายในสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว อิกฉบับ ๑ เปรสิเดนต์มีมาจะให้คนทั้งหลายรู้ว่า ได้แต่งให้โยเสฟบาเลศเตียเปนทูตเข้ามาณกรุง ฯ เปนหนังสือสำหรับตัวมิได้มีมาถึงผู้ใด จะให้รับไปนั้นไม่ได้ การซึ่งจัดแจงกระบวนแห่เรือไว้จะไปรับหนังสือก็ค้างอยู่

ครั้นณวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ท่านเสนาบดีประชุมพร้อมกันณบ้านท่านพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา แล้วจึงให้เรือยาวมีกัญญาสำหรับขุนนางขี่ พลพาย ๒๐ คนไปรับโยเสฟบาเลศเตียจะได้พูดจากันโดยฉันไมตรีรักใคร่ เมื่อเรือมาถึงสพานที่จะขึ้นบ้านท่านเสนาบดี ๆ ก็ให้พระยาวิเศษสงคราม ฝรั่งนายทหารใหญ่ ๑ หลวงวุฒสรเดช หลวงฤทธิสำแดง นายทหารที่ ๒ กับตัวนาย ๆ ทหาร ๘ คนลงไปคอยรับขึ้นบกตามธรรมเนียมฝรั่ง ขุนนางไปทันพร้อมกันที่รับแขกตามธรรมเนียมไทย โยเสฟบาเลศเตียขึ้นจากเรือ เห็นมิดฉนารียสมิทบุตร์เลี้ยง มิดฉนารียยอนถือหีบหนังสือที่ว่าเปนราชสาส์นปิดตราเจ้าเมืองอเมริกันมามือหนึ่ง ถือร่มของโยเสฟบาเลศเตียทูตมามือหนึ่ง เดินตามหลังมา ขุนนางไทยได้เห็นดังนั้นก็มีความเสียใจ ว่าพระราชสาส์นเจ้าเมืองอเมริกันมาถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุง ฯ พระนามทั้ง ๒ ฝ่ายอยู่ในหนังสือ เอาถือเดินตามหลังมาดังนี้ไม่สมควรตามอย่างธรรมเนียมไทย เมื่อครั้งเอดแมนรอเบตพาพระราชสาส์นเจ้าเมืองอเมริกันเข้ามาครั้งก่อน ขุนนางเจ้าพนักงานได้จัดแจงเรือเขียนทองไปรับพระราชสาส์นขึ้นมาแปลตามอย่างธรรมเนียม เมื่อเอดแมนรอเบตไปหาท่านเสนาบดีก็มีทหารมีฝีพาย มีปี่ มีกลอง ป่าวนำน่าสมเกียรติสมยศดูงดงาม ครั้นโยเสฟบาเลศเตียขึ้นมาถึงที่ประชุมแล้วก็นั่งบนเก้าอี้อย่างดี มิดฉนารียหมอดีนนั่งถัดลงมากับมิดฉนารียหมอยอน มิดฉนารียหมอมะตุนซึ่งอยู่ณกรุง ฯ ก็นั่งเปนลำดับถัดๆ กันลงมา ท่านเสนาบดีปราไสยตามอย่างธรรมเนียมว่า โยเสฟบาเลศเตียทูตมาทางทเลสบายอยู่ฤๅ มาแต่เมืองอเมริกันเมื่อไร มากำปั่นลำนี้ฤๅมากำปั่นลำใด มาอยู่ที่เมืองกวางตุ้งนานอยู่ฤๅ

โยเสฟบาเลศเตียตอบว่า มาแต่เมืองอเมริกันเมื่อเดือน ๑๐ ปีระกาเอกศก มาทางทเลสบายอยู่ มาจากเมืองอเมริกัน มาจากกำปั่นไฟมาอยู่ที่เมืองกวางตุ้ง ๓ เดือน มาลงกำปั่นลำนี้ที่เมืองกวางตุ้ง

ท่านเสนาบดีถามต่อไปว่า มาแต่เมืองกวางตุ้งแวะที่ไหนบ้าง ฤๅเข้ามากรุง ฯ ทีเดียว

โยเสฟบาเลศเตียว่า จะถามอยู่อย่างนี้ป่วยการเพลา ว่ากล่าวเปนโกรธขึ้ง จึงชักเอาหนังสือในกลีบเสื้อออกยื่นให้เขียนเปนอักษรไทยว่า ให้ดูความในหนังสือนั้นเถิด ความในหนังสือที่เขียนมานั้นใจความว่า ท่านโยเสฟบาเลศเตียราชทูตอเมริกัน จะขอถวายหนังสือแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แล้วจะได้เอาหนังสือที่แต่งไว้ฉบับ ๑ ถวายแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวคราวเมื่อยังเฝ้าอยู่นั้น หนังสือนี้แปลเปนภาษาไทยเพื่อท่านจะได้ทราบ ท่านเสนาบดีจึงว่าอย่างธรรมเนียมกรุงเทพ ฯ ที่จะเอาหนังสือไปถวายในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังว่านี้ไม่ได้ จะพูดการสิ่งใดก็ให้พูดกับเสนาบดีให้รู้ความก่อน เสนาบดีและขุนนางทั้งปวงก็รักใคร่กับชาติอเมริกันอยู่เปนอันมาก ความจะพูดกันประการใดจะได้พูดกันไปตามการ ให้สมควรที่เปนไมตรีสนิทกัน โยเสฟบาเลศเตียว่าจะขอเฝ้าเอาหนังสือฉบับนี้ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก่อน ถ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจะโปรด ฯ ให้ขุนนางผู้ใดทำการอันนี้ จึงจะได้พูดความต่อไป ท่านเสนาบดีจึงตอบว่า เมื่อปีมะโรงจัตวาศกศักราชฝรั่ง ๑๘๓๓ ปี (พ.ศ. ๒๓๗๖) เอดแมนรอเบต ถือหนังสืออันเรยักสอนเจ้าเมืองอเมริกันเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางค้าขาย หนังสือซึ่งเจ้าเมืองอเมริกันมีเข้ามาก็ปิดตราประจำผนึกเปนสำคัญเข้ามา ท่านเสนาบดีได้จัดเรือกัญญาพนักทองรับหนังสือมาแปลได้ความแล้ว จึงพาเอดแมนรอเบตเข้าเฝ้าทูลลออง ฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเปนอย่างธรรมเนียมมาแล้ว โยเสฟบาเลศเตียเข้ามาครั้งนี้ต้องทำให้เหมือนเมื่อครั้งเอดแมนรอเบตเข้ามา โยเสฟบาเลศเตียจึงว่า หนังสือเจ้าเมืองอเมริกันมีเข้ามาครั้งนี้จะรับฤๅไม่รับ ท่านเสนาบดีจึงว่า หนังสือนั้นส่งให้ก็จะรับแต่ที่จะให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวถวายหนังสือเองนั้นไม่ได้ ด้วยผิดอย่างธรรมเนียมมาแต่ก่อน โยเสฟบาเลศเตียก็ลุกขึ้นจากเก้าอี้เดินออกไปแล้วกลับเข้ามาถามอิกว่า หนังสือนั้นจะรับฤๅไม่รับ ท่านเสนาบดีว่าหนังสือให้ไว้ก็จะรับ แต่จะให้เข้าเฝ้าก่อนนั้นไม่ได้ โยเสฟบาเลศเตียจึงพูดกับหมอภาษาอเมริกันจะว่าประการใดไม่รู้ แต่หมอยอนแปลความมาว่า ถ้าไม่รับหนังสือจะไปบอกเจ้าเมืองอเมริกันเขาจะคิดอย่างไรไม่รู้ด้วย แล้วโยเสฟบาเลศเตียโกรธก็กลับ ไป ความซึ่งจะได้พูดจากันโดยฉันไมตรีก็ยังค้างอยู่ หนังสือสัญญาข้อเก่านั้นมีอยู่ว่า ชาติอเมริกันจะเข้ามาณกรุงไทย (จะ) ทำตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมกรุง ฯ ทุกสิ่ง โยเสฟบาเลศเตียจะเอาตามใจของโยเสฟบาเลศเตียไม่ได้ ก็โกรธขึ้งว่ากล่าวเปนคำแขง

ณวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๖ โยเสฟบาเลศเตียทำหนังสือมาให้อิกว่า ข้อ ๒ ในหนังสือสัญญาอันแต่งไว้ในศักราช ๑๘๓๓ คือ ปีมะโรงศักราชไทยข้อนั้นว่า ใครผู้ใดที่มีสินค้าจะซื้อขายกันมิให้ใครห้าม แต่ครั้นตั้งเจ้าภาษีแล้วไม่มีใครอาจจะซื้อขาย เว้นไว้แต่ตามคำของพวกเจ้าภาษีนั้น คำสัญญาจึงสิ้นกำลังหาประโยชน์มิได้ เพราะเจ้าภาษีคาดค่าแพงให้เกินขนาด พ่อค้าจะซื้อขายกันมิได้ อันจะขายกันได้มีแต่เจ้าภาษีพวกเดียว เพราะมิได้ถือคำสัญญาข้อนี้ และเพราะค่าธรรมเนียมเปนอันมากนัก หนังสือสัญญานั้นฝ่ายการซื้อขายกันจึงเปนเหมือนหนึ่งมิได้เปนดังนี้เปนหลายปีมาแล้ว ในศักราช ๑๘๓๘ มีกำปั่น ๒ เสาครึ่งชื่อสตัดมาถึงเมืองไทยนี้ จะใคร่ซื้อน้ำตาลทรายบรรทุกพอเต็มลำ คราวนั้นน้ำตาลทรายมีอยู่ในโรงหลวงเปนอันมาก อันจะตีราคามีแต่เจ้าภาษีและเจ้าภาษีว่าราคาแพงนัก ผู้ทำน้ำตาลทรายมิอาจจะขายผิดคำเจ้าภาษี กำปั่นนั้นจึงต้องไปซื้อเมืองมนิลา ตั้งแต่คราวนั้นเปนสิบสองปีมาแล้ว และกำปั่นอเมริกันมิอาจเข้ามาสักลำหนึ่ง

ประการหนึ่งราชทูตจะได้ว่าต่อไปให้เจ้าคุณทราบ การตั้งเจ้าภาษีดังว่ามาแล้ว เปนการผิดข้อคำสัญญาและการซื้อขายกับประเทศอื่น ๆ จะทำได้แต่ในกำปั่นถือธงไทยกำปั่นเหล่านี้มิได้เสียค่าธรรมเนียม และครั้นสินค้าเปนของพวกไทย ถึงจะฝากขายเมืองนอกฤๅจะซื้อเข้ามามิต้องเสียภาษี อันนี้เปนการร้ายต่อการของพวกชาวอเมริกัน ครั้นการดังนี้แล้วและแผ่นดินอเมริกันกับแผ่นดินไทยเปนมิตรสหายกันดีแล้ว เปนอันควรจะได้จัดแจงแต่งหนังสือสัญญาใหม่

ฝ่ายเจ้าแผ่นดินและขุนนางในเมืองอเมริกัน ก็ปราถนาจะได้ไปมาซื้อขายทำการเปนอันสมควรด้วยใจกว้างขวางอารีรอบ ถ้าและท่านผู้เปนกระษัตริย์และขุนนางในเมืองไทยยอมให้ทำอันสมด้วยไมตรีต่อเมืองอเมริกัน ข้างเมืองอเมริกันจะยอมทำต่อเมืองไทยเหมือนกัน กำปั่นอเมริกันได้เข้ามาในเมืองไทยฉันใด กำปั่นไทยเข้าไปที่เมืองอเมริกันเหมือนฉันนั้น แล้วโยเสฟบาเลศเตียทูตว่า ได้จ้างคนจีนคนหนึ่งจะให้เขียนหนังสือ ครั้นคนจีนคนนั้นขึ้นบกแล้วพวกขุนนางไทยพาเอาตัวจีนคนนั้นไปบ้านขุนนางผู้ใหญ่ ให้ซักถามด้วยเหตุทั้งปวงของโยเสฟบาเลศเตียราชทูต ตั้งแต่ออกจากเมืองจีนจนมาถึงเมืองนี้ ครั้นได้ความแล้วก็ให้จดเขียนไว้ต่อหน้าขุนนางผู้ใหญ่ อันทำดังนี้โยเสฟบาเลศเตียราชทูตที่มาจากเมืองอันเปนไมตรีเปนการผิดการเคืองมากนัก ทนไม่ได้ต้องการจะแก้โทษเสีย

ความ ๒ ข้อนี้ท่านเสนาบดีตอบไปว่า เมื่อศักราช ๑๘๓๓ เอดแมนรอเบตเข้ามาทำหนังสือสัญญาไว้ ๑๐ ข้อ ตั้งแต่นั้นมาหามีกำปั่นชาติอเมริกันเข้ามาค้าขายไม่ คอยอยู่เปนหลายปี ครั้นเมื่อศักราชฝรั่ง ๑๘๓๘ ปี ศักราชไทย ๑๑๘๙ ปี มีกำปั่นชาติอเมริกันเข้ามาลำหนึ่ง จะมาจัดซื้อน้ำตาลทรายเปนปลายมรสุม น้ำตาลทรายซื้อขายกันสิ้นแล้ว น้ำตาลทรายในโรงหลวงก็ไม่มี ยังมีอยู่บ้างแต่น้ำตาลทรายลูกค้าคนละเล็กน้อย ประมาณน้ำตาลทรายสิ้นด้วยกันหนัก ๕,๐๐๐ บาท ครั้งนั้นนักกุดามะหะหมัด นักกุดากุละมะหะหมัดแขกลูกค้าเมืองบุมไบ (นำ) กำปั่น ๒ ลำเข้ามาจัดซื้อน้ำตาลทราย ราคาน้ำตาลทรายแพง เจ้าของจะขายหาบละ ๒ ตำลึง ๒ บาท นักกุดามะหะหมัด นักกุดากุละมะหะหมัดต่อให้หาบละ ๒ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง ลูกค้าชาติอเมริกันเข้ามาจะซื้อหาบละ ๒ ตำลึง เจ้าพนักงานเห็นว่าลูกค้าชาติอเมริกันไม่ได้มาค้าขายนานแล้ว พึ่งจะมีมาจะช่วยสงเคราะห์ให้ลูกค้าชาติอเมริกันได้ซื้อน้ำตาลทรายไป จะได้เข้ามาซื้อขายอิก ช่วยว่ากล่าวลูกค้ากรุงเทพ ฯ จะให้ขายน้ำตาลทรายให้กับพวกอเมริกันให้ลดราคาลงบ้าง ให้พวกอเมริกันขึ้นราคาให้บ้าง นักกุดามะหะหมัก นักกุดากุละมะหะหมัดลูกค้าเมืองบุมไบต่อไว้หาบละ ๒ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง ลูกค้าพวกอเมริกันไม่ขึ้นราคาให้ เจ้าของน้ำตาลทรายก็ไม่ยอมขาย ก็ไม่ได้ซื้อกัน ความดังนี้จะว่าเจ้าภาษีตั้งพิกัดราคาน้ำตาลทรายให้ลูกค้าซื้อขายกันประการใด กรุง ฯ ได้ทำสัญญาแล้วก็รักษาสัญญาไปชั่วฟ้าชั่วดิน ไม่ทำให้ผิดหนังสือสัญญา ใครเอาความไปเล่าบอกกับโยเสฟบาเลศเตียทูตจึงได้หยิบยกขึ้นว่า และจีนซึ่งโดยสานเรือมา ขึ้นมาจากกำปั่นรบ จีนคนนี้เปนจีนเข้ามาอยู่เมืองไทย แล้วกลับออกไปเมืองจีนกลับเข้ามากับกำปั่นรบ ฝ่ายไทยจะได้รู้ว่าโยเสฟบาเลศเตียทูตจ้างมาให้เขียนหนังสือนั้นหาไม่ เปนอย่างธรรมเนียมกรุง ฯ คนมาแต่ทางไกลแล้วก็ต้องไถ่ถามถึงทางไปมา ถามก็ถามเปนความดีจะถือโทษประการใด ความข้อนี้เห็นว่าไม่ผิด กรุง ฯ รักษาสัญญาทางไมตรีชาติอเมริกันยิ่งนัก จะรักษาไปชั่วพระอาทิตย์พระจันทร์นั้นอยู่ จะได้หมิ่นประมาททำสิ่งไรเหลือเกินให้โยเสฟบาเลศเตียทูตโกรธขึ้งนั้นหาไม่ จะพาโยเสฟบาเลศเตียทูตเข้าเฝ้าตามซึ่งทำหนังสือมาขอ ก็ยังไม่รู้ความในพระราชสาส์นผิดด้วยอย่างธรรมเนียมกรุง ฯ ท่านเสนาบดีเห็นว่าโยเสฟบาเลศเตียทูตเปนคนโทโสโมโหมาก จะไปกระทำเหลือเกินในที่เฝ้าเหมือนกระทำกับท่านเสนาบดีขุนนาง และทหารพร้อมกันอยู่ในที่เฝ้า ไม่ให้กระทำก็จะวิวาทกันขึ้น ทางไมตรีก็จะมัวหมองไป ท่านเสนาบดีคิดเห็นโดยใจปราถนาจะมิให้ทางไมตรีมัวหมอง จึงมิได้นำโยเสฟบาเลศเตียเข้าเฝ้าทูลลออง ฯ ใช่จะมีความรังเกียจในชาติอเมริกันนั้นหาไม่ ราชสาส์นนั้นโยเสฟบาเลศเตียทูตส่งให้ก็จะรับ ไม่ส่งให้จึงไม่รับ ความดังนี้ให้กำมะโดอรหิตขุนนางนายทหารและทหารในกำปั่นรบพิเคราะห์ความดูเถิด ถ้าและขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองอเมริกันจะแต่งให้ขุนนางผู้ใดเข้าไปพูดจาด้วยทางไมตรีต่อไป ขอคนที่มีสติปัญญาอัชฌาศรัยไม่เปนโทโสโมโห ให้ (เหมือน) เอดแมนรอเบตเข้ามาทำหนังสือสัญญาครั้งก่อน จะได้พูดจาปราไสยโดยดีผ่อนปรนตามอย่างธรรมเนียมกรุง ฯ บ้าง ทางไมตรีและไมตรียิ่งนานจะได้ยิ่งสนิทยืดยาวสืบต่อไปภายน่า หนังสือมาณวันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอโทศก

ครั้นถึงณวันเสาร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ท่านเสนาบดีสั่งให้จัดกาแฟกระสอบ ๑ ใบชาหีบใหญ่หีบ ๑ น้ำตาลทรายหนัก ๑๑ บาท มะพร้าวอ่อน ๑๐๐ ทลาย ผลตาลเฉาะ ๖๐ ทลาย มอบให้กรมการเมืองสมุทปราการลงไปให้กำมะโดอรหิตนายทหารกำปั่นรบอเมริกัน

ครั้นถึงกำหนดวันจันทร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๖ จึงเอาเรือแง่ทรายที่เตรียมไว้ ๒ ลำมารับโยเสฟบาเลศเตีย กะปิตันปรอน มิดฉนารียยอน มิดฉนารียเหา มิดฉนารียสมิท มิดฉนารียดีน มิดฉนารียบุต หลวงวุฒสรเดชฝรั่ง หลวงอาจ เจ้ากรมทหารปืนใหญ่ นายยิ้ม นายใหญ่ ล่ามฝรั่งไปลำ ๑ หลวงวุฒสรเดชเจ้ากรมทหารปืนใหญ่ขี่เรือป้องกันทูตลงไปส่งเมืองสมุทปราการลำ ๑ ได้มอบหนังสือที่มีไปถึงกำมะโดให้นายยิ้มล่ามลงไปส่งให้กำมะโดที่กำปั่น ครั้นทูตลงไปถึงเมืองนครเขื่อนขันธ์ เจ้าเมืองกรมการให้เชิญทูตขึ้นพักที่ศาลากลางได้จัดสำรับคาว ๑๐ สำรับสำรับหวาน ๑๐ สำรับลูกไม้น้ำร้อนน้ำซาเลี้ยงทูต ครั้นลงไปถึงเมืองสมุทปราการเพลาบ่าย ๔ โมงเศษ เจ้าเมืองกรมการได้เชิญทูตขึ้นพักที่ศาลากลาง จึงจัดกับข้าวของกินอย่างฝรั่งมาเลี้ยงทูต แล้วโยเสฟบาเลศเตียทูต กะปิตันปรอน มิดฉนารียบุต มิดฉนารียยอน มิดฉนารียสมิท มิดฉนารียเหา มิดฉนารียดีน นายยิ้ม นายใหญ่ ล่าม ลงเรือบดของกะปิตันปรอนไปลงกำปั่นนอกหลังเต่า

ครั้นณวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ปีจอโทศก กะปิตันปรอน มิดฉนารียมะตุน มิดฉนารียยอน มิดฉนารียดีน มิดฉนารียเหา มิดฉนารียสมิท นายยิ้ม นายใหญ่ กลับมาจากกำปั่นรบอเมริกัน กำมะโดอรหิตมีหนังสือตอบมาถึงพระนายไวยวรนาถฝากนายยิ้มล่ามขึ้นมาฉบับ ๑ โยเสฟบาเลศเตียทูตมีหนังสือมาถึงเจ้าคุณท่านพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาให้มิดฉนารียบุตถือขึ้นมาฉบับ ๑ ถึงกรุง ฯ ณวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๖ พระยาพิพัฒน์โกษาราชปลัดให้นายพานิชบุตร์มิศหันแตร ขุนปรีชาชาญสมุท นายยิ้มล่าม พร้อมกันที่เวรกรมท่า แปลหนังสือออกเปนไทย

ได้ความในหนังสือโยเสฟบาเลศเตียว่า หนังสือโยเสฟบาเลศเตียราชทูตเมืองอเมริกัน มายังท่านเจ้าคุณพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาผู้ประเสริฐ ด้วยณวันขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๖ ปีจอโทศกเพลาค่ำ ได้รับหนังสือของเจ้าคุณพระยาศรีพิพัฒน์ ฯ ตอบข้อ ๑ ข้อ ๒ บาเลศเตียได้ความเข้าใจแล้ว เมื่อไรมีเวลาจะเอาหนังสือของเจ้าคุณพระยาศรีพิพัฒน์ ฯ กับหนังสือบาเลศเตียไปให้เปรสิเดนต์ดู เจ้าคุณพระยาศรีพิพัฒน์ ฯ ว่าวันพร้อมกันที่หอของเจ้าคุณพระยาศรีพิพัฒน์ ฯ นั้น บาเลศเตียโกรธเปนคนโทโสโมโหนั้นไม่จริง บาเลศเตียหาได้คิดโกรธขึ้งไม่ บาเลศเตียไปหาขุนนางเมืองอื่น ๆ ก็หาตามธรรมเนียมอย่างนี้ เจ้าคุณพระยาศรีพิพัฒน์ ฯ จะต้องรู้ธรรมเนียมที่เมืองอาหรอบอเมริกัน ไม่ได้นบนอยหมอบคลานกันเหมือนที่กรุง ฯ เจ้าคุณคิดว่าบาเลศเตียโกรธนั้นเจ้าคุณโกรธเสียเปล่า ด้วยธรรมเนียมอเมริกันจะพูดจากันในที่ประชุมขุนนางพร้อมแล้ว คนที่พูดต้องยืนขึ้นพูดดัง ๆ ให้ได้ยินทั่วกัน เจ้าคุณหยิบเอาความโกรธนี้ไว้ว่ามาไม่มีหนังสือ เจ้าคุณว่าความที่ไม่ให้เฝ้าทั้งสองครั้งนั้นก็ไม่ได้บอก ด้วยเหตุไม่ให้ไปเฝ้าเพราะไม่ได้ปิดตราเปรสิเดนต์ที่หนังสือ เมื่อทีหลังนั้นได้ให้ขุนนางไปดูตราเปรสิเดนต์ แล้วขุนนางว่าไม่มีตราประจำผนึกจึงไม่ยอมให้ไปเฝ้า เจ้าคุณเห็นจะลืมไปด้วยเหตุที่พูดจายืดยาว ก่อนบาเลศเตียลุกขึ้นจากเก้าอี้ ได้ว่าทำอย่างนั้นไม่ถูกต้องว่าอย่างนั้นเปนความประมาทเปรสิเดนต์เจ้าแผ่นดินอเมริกัน แล้วประมาทไมตรีชาติอเมริกันทั้งสิ้น ขุนนางไทยทั้งสิ้นคิดทำอย่างนี้ก่อนบาเลศเตียยังไม่ถึงปากน้ำ ขุนนางไทยได้บอกความอันนี้ จะว่าต่อไปด้วยความที่จะถวายหนังสือเปรสิเดนต์เจ้าแผ่นดินอเมริกัน ทูตบาเลศเตียได้อ่านหนังสือพิมพ์ที่เอดแมนรอเบตเข้ามากรุงเทพ ฯ ครั้งก่อน หาเห็นมีข้อความชี้แจงที่จะถวายหนังสือของเปรสิเดนต์ประการใดไม่ เพราะอย่างนั้นบาเลศเตียจึงไม่มีข้อที่จะรู้ เมื่อการะฝัดทูตอังกฤษเข้ามาทำหนังสือสัญญาที่กรุง ฯ มีข้อความเปนประการใดได้ใส่ในหนังสือพิมพ์ทุกข้อ เมื่อทูตการะฝัดถือหนังสือเจ้าเมืองบังกล่าเข้ามาถวายนั้น เสนาบดีได้มาประชุมพร้อมกันเหมือนอย่างที่บ้านเจ้าคุณศรีพิพัฒน์ ฯ เมื่อทูตการะฝัดจะส่งหนังสือให้ขุนนางไทยนั้น ขุนนางไทยได้สัญญาว่าหนังสือนั้นจะแปลออกเปนภาษาไทย แล้วจึงจะเอาต้นหนังสืออังกฤษคำที่แปลออกเปนไทยไปถวาย เมื่อเพลาพาทูตการะฝัดเข้าเฝ้านั้น ทูตหาได้เห็นขุนนางผู้ใดได้เอาต้นหนังสืออังกฤษและคำที่แปลออกเปนไทยอ่านถวายไม่ เพราะบาเลศเตียเห็นในหนังสือนั้นแล้ว บาเลศเตียจะทำเหมือนอย่างทูตการะฝัดเข้ามานั้นไม่ได้ ผิดคำสั่งของเปรสิเดนต์เจ้าแผ่นดินอเมริกัน และหนังสือของบาเลศเตียที่แปลเปนภาษาไทยส่งให้กับเสมียนผู้คุม ความในหนังสือนั้นเปนหนังสือเปรสิเดนต์ฉบับ ๑ หนังสือบาเลศเตียฉบับ ๑ เจ้าคุณได้ทราบในหนังสือนั้นแล้ว กับเจ้าคุณได้ว่าความที่ภาษีน้ำตาลทรายนั้น เจ้าคุณไม่ได้บอกตรงว่าภาษีมี ภาษีไม่มี เจ้าคุณว่าใครเอาความไปบอกกับบาเลศเตียว่าภาษีมี ทำไมบาเลศเตียว่าเจ้าภาษีตั้งพิกัดราคาน้ำตาลทรายให้ลูกค้าซื้อขายกันไม่ได้ให้ผิดหนังสือสัญญา บาเลศเตียตอบว่า ซึ่งลูกค้าขายซื้อกันเองไม่ได้ก็ไม่ได้ว่า ลูกค้าจะซื้อน้ำตาลทรายที่เจ้าภาษีไม่ได้ก็ไม่ได้ว่า ตำแหน่งที่เคยซื้อน้ำตาลทรายที่ในกรุง ฯ ควรที่จะเชื่อได้ไม่บอกให้บาเลศเตียรู้ความ น้ำตาลทรายที่กรุงฯ ทั้งสิ้นต้องไปหาจีน ๒ คน ชื่อเจ๊สัวฉิมผู้ใหญ่ ๑ เจ๊สัวยง ๑ คน ๒ คนนั้นตีราคาน้ำตาลทรายแล้วทีหลังขายกับลูกค้าตามชอบใจ ตีราคาแพงกว่าเจ้าของโรงน้ำตาล ๆ ขายราคาน้ำตาลทรายถูกกว่าที่กรุง ฯ ก็ยังมีกำไรอยู่ และน้ำตาลทรายที่ลูกค้าบรรทุกเข้ามาขายณกรุง ฯ นั้น เก็บเข้าในคลังหลวงเสียเกือบหมด ถึงเวลาเจ้าภาษีจะต้องการขายก็เอาออกขาย ความดังนี้บาเลศเตียว่าไทยทำผิดหนังสือสัญญา ประเดี๋ยวนี้บาเลศเตียเห็นว่าเปนความผิดจริง ในหนังสือบาเลศเตียได้เขียนแต่เดิมนั้นได้ขอให้แปลงความดังนี้เสียใหม่ และน้ำมันมะพร้าวเปนของซื้อขาย ของอื่น ๆ ก็มีภาษีเหมือนกันกับน้ำตาลทราย เมื่อศักราชฝรั่ง ๑๘๔๒ ปี (พ.ศ. ๒๓๘๕) ในปีนั้นราคาน้ำมันมะพร้าวหาบละ ๑ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึงบ้าง ๑ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึงบ้าง ในเดี๋ยวนี้เจ้าภาษีเก็บไว้จำหน่ายเอง ราคาน้ำมันมะพร้าวเปนหาบละ ๑ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง แล้วเอาออกขายปลีกพอใช้สอยกันที่กรุงเทพฯ หาบหนึ่งเปนราคา ๑๒ บาทบ้าง ๑๕ บาทบ้าง กับทำผิดสัญญาอิกอย่างหนึ่ง เหล็กกล้าและเหล็กอื่น ๆ ที่ได้เข้ามากับกำปั่นอเมริกันที่ได้เสียค่าธรรมเนียมวาละ ๑,๗๐๐ บาทแล้ว ลูกค้าจะซื้อเหล็กนั้นยังต้องเสียภาษีอิกหาบละ ๑ บาท เพราะอย่างนั้นราคาเหล็กจึงสูงขึ้นหาบละ ๑ บาท หาได้ยอมให้บาเลศเตียทูตมีท่าทางปฤกษาราชการของทูตไม่ บาเลศเตียจะใคร่พูดความอื่น ๆ เปนความสำคัญหลายอย่าง ท่านเสนาบดีจะได้ปฤกษากันอย่างนี้เปนอย่าง ๑ ขอได้โปรดให้กงสุลอเมริกันเข้ามาอยู่ณกรุงฯคน ๑ ถ้าไม่โปรดให้กงสุลเข้ามาอยู่จะทำหนังสือสัญญาประการใดก็ไม่เปนผล

เจ้าคุณแก้ความที่จับเอาตัวจีนของทูตไปไถ่ถามไล่เลียงความนั้นว่าไม่ถูก เพราะว่าคุณพระนายไวยวรนาถให้คนที่ปากน้ำไปเอาตัวจีนมาคุมไว้ แล้วส่งขึ้นมาณกรุง ฯ ไล่เลียงไถ่ถามความต่อไป เมื่อแรกถามขุนนางก็จะต้องรู้ว่าเปนคนของทูตบาเลศเตีย ทูตจะต้องให้ขุนนางรู้ว่าความอันนี้เปนความผิด แล้วผิดกับธรรมเนียมนับถือทูต ข้าพเจ้าขอคำนับมายังเจ้าคุณพระยาศรีพิพัฒน์ ฯ เปนอันดี หนังสือนี้เขียนที่บ้านราชทูตอยู่ณวันขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๖ ศักราชฝรั่ง ๑๘๕๐ ปีจอโทศก หนังสือฉบับนี้ไม่ได้ตอบ

หนังสือกำมะโดตอบมาถึงพระนายไวยวรนาถนั้นแปลออกได้ความว่า หนังสือกำมะโดอรหิตนายทหารและกองทัพของเมืองอเมริกันข้างอินเดีย คำนับมาถึงท่านพระนายไวยวรนาถ ผู้ได้บังคับกำปั่นรบและปากน้ำณกรุงเทพ ฯ ให้ทราบ ด้วยได้รับหนังสือของท่านเขียนมาแต่กรุงฯ ณขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๖ เล่าความซึ่งทูตอเมริกันมิศโยเสฟบาเลศเตีย ได้กระทำการเมื่อมาจัดแจงว่ากล่าวด้วยหนังสือสัญญาอเมริกันณกรุงฯ นั้น อนึ่งคำนับมาถึงต่อไปว่า หนังสือของท่านซึ่งมีออกมาถึงด้วยการดังนี้ ก็จะมีไปถึงเปรสิเดนต์เมืองอเมริกันข้างเหนือให้ทราบด้วย คำนับมาถึงท่าน หนังสือเขียนที่เรือกำปั่นรบปลิแประโมตทอดที่ใกล้เกาะริ้น เมื่อณวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๖ ปีจอโทศก ต้นฉบับอยู่ (กับ) คุณพระนายไวยวรนาถ

และหนังสือเจ้าแผ่นดินเมืองอเมริกันที่บาเลศเตียถือเข้ามาว่าเปนราชสาส์นนั้นมีสำเนาเข้ามาด้วย ได้ขอคัดลอกเอาสำเนามาจากหมออเมริกันไว้ ความในสำเนานั้นมีว่า

สากรีเตเลอ ผู้เปนเจ้าแผ่นดินอเมริกันทั้ง ๓๐ เมืองที่เข้ากันเปนเมืองเดียว คำนับมาถึงท่านผู้เปนกระษัตริย์อันใหญ่ในพระมหานครศรีอยุธยา ดูกรท่านผู้เปนมิตร์สหายอันใหญ่อันประเสริฐ เราได้ลงใจเลือกให้มิศโยเสฟบาเลศเตียไว้ใช้เปนราชทูตผู้ใหญ่ ไปอาศรัยในเมืองของท่านให้รับธุระที่จะปฤกษาว่ากล่าวด้วยความอันเปนข้อใหญ่หลายข้อ อันเปนการสำหรับเมืองอเมริกันกับมหานครศรีอยุธยา เราขอให้ท่านโปรดปรานป้องกันรักษามิศโยเสฟบาเลศเตียไว้ อนุเคราะห์ให้มีช่องจะได้ทำให้พนักงานนี้สำเร็จโดยสดวก มิศโยเสฟบาเลศเตียผู้นี้จะว่าเปนประการใด ขอให้ท่านวางพระไทยเชื่อได้ ถ้าจะว่าข้าพเจ้าถือไมตรีต่อท่านเปนชนิดที่ จงเชื่อเถิดเปนความจริง ข้าพเจ้าขอพระเปนเจ้าทรงพระกรุณารักษาท่านผู้เปนมิตร์สหายและประเสริฐให้จำเริญพระชัณษาเถิด ข้าพเจ้าจึงปิดตราสำหรับเมืองอเมริกันทั้ง ๓๐ เมือง เข้ากันเปนเมืองเดียวนั้นเปนสำคัญ และเขียนชื่อของข้าพเจ้าลงเปนสำคัญด้วยณเมืองวอชิงตัน คฤศตศักราช ๑๘๔๙ เดือนออกัสต์ ๑๖ ค่ำ นับแต่อเมริกันตั้งเปนเมือง ๗๔ ปี แปลเปนไทยจุลศักราช ๑๒๑๑ ปี เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำปีระกาเอกศก

ความในหนังสือเจ้าแผ่นดินเมืองอเมริกัน ซึ่งบาเลศเตียว่าเปนหนังสือให้เข้ามาเปนสำหรับตัวนั้นได้ความว่า สากรีเตเลอ ผู้เปนเจ้าแผ่นดินเมืองอเมริกันให้มาแก่ขุนนางผู้ใหญ่ผู้ควรจะรู้หนังสือนี้ ให้เข้าในเถิดว่ามิศโยเสฟบาเลศเตียเปนชาวเมืองอเมริกันนั้น เราไว้ใจในมิศโยเสฟบาเลศเตียเปนอันดีว่า เปนผู้ซื่อสัตย์มีสติปัญญา เราจึงตั้งมิศโยเสฟบาเลศเตียนั้นให้ว่าความสิทธิ์ขาด ให้รับธุระฝ่ายข้างเมืองอเมริกัน เปนพนักงานสำหรับจะได้ไปสู่หาปฤกษากันกับผู้ใดๆ ที่พระมหากระษัตริย์ผู้ครองราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยานั้น ได้ตั้งให้มีความสิทธิ์ขาดเหมือนกัน จะได้เอาหนังสือสัญญาเดิมซึ่งจัดแจงทำไว้ในปีมะโรงล่วงมาได้ ๑๘ ปีแล้ว ออกมาปฤกษาแล้วจะได้แปลงเปลี่ยนเสียบ้างเติมเข้าบ้าง เมื่อปฤกษาด้วยการทางไมตรีและการซื้อขายและข้อความใด ๆ อันเปนเหตุที่การจะปฤกษาให้ตกลงเห็นพร้อมกันแล้ว มิศโยเสฟบาเลศเตียจะได้ลงชื่อเปนสำคัญ ฝ่ายข้างเมืองอเมริกันนั้น แล้วจะได้เอาหนังสือสัญญานั้นส่งออกไปให้แก่เจ้าแผ่นดินเมืองอเมริกันนั้น เมื่อเจ้าแผ่นดินอเมริกันกับที่ปฤกษาเห็นชอบพร้อมกันแล้ว จะได้ลงชื่อของเจ้าแผ่นดินนั้นเสร็จแก่กัน ด้วยเหตุที่ว่ามาแล้ว เราจึงปิดตราสำหรับแผ่นดินเมืองอเมริกันเปนสำคัญ ได้เขียนชื่อของเราด้วย ที่เมืองวอชิงตันในคฤศตศักราช ๑๘๔๙ เดือนออกัสต์ ๑๖ ค่ำ เปนจุลศักราช ๑๒๑๑ ปี เปนเดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ ปีระกาเอกศก สิ้นความในหนังสือ ๒ ฉบับเท่านี้

ต้นหนังสือและสำเนาหนังสือ ๒ ฉบับบาเลศเตียทูตไม่ได้ส่งให้ บาเลศเตียจะขอเข้าเฝ้าถวามสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่ทีเดียว บาเลศเตียไม่ได้เฝ้า ต้นหนังสือสำเนาหนังสือบาเลศเตียทูตก็พากลับออกไปเมืองอเมริกันทั้ง ๒ ฉบับ ร่างมีขอลอกไว้จากหมออเมริกัน

จีนเสี่ยงที่มากำปั่นเดียวกับโยเสฟบาเลศเตียๆว่าจ้างจีน(เสี่ยง)มาเขียนหนังสือ ขุนนางเอาตัวจีน(เสี่ยง)มาไถ่ถามนั้นถามได้ความว่า ข้าพเจ้าจีนเสี่ยงแต้จิ๋วแซ่หลิมให้การว่า เดิมข้าพเจ้าอยู่เมืองหัวเนียกุยแขวงเมืองตังเลง เมื่ออายุข้าพเจ้า ๒๗ ปี ข้าพเจ้าโดยสานสำเภาลูกค้าเมืองตังเลงเข้ามาณกรุงเทพฯ ได้ปี ๑ หมอดีนฝรั่งอเมริกันเชิญให้ข้าพเจ้าสอนหนังสือจีน ข้าพเจ้าได้สอนหนังสือจีนหมอดีนอยู่ได้ประมาณ ๙ ปี หมอดีนให้ค่าจ้างข้าพเจ้าเปนเงินตราเดือนละ ๔ ตำลึง แล้วหมอดีนสรรเสริญสาสนาของหมอดีนว่าประเสริฐ ข้าพเจ้าก็เชื่อถือ ข้าพเจ้าจึงเข้ารีดฝรั่งชาติอเมริกันจนทุกวันนี้ จะเปนปีเดือนใดข้าพเจ้าจำมิได้ หมอดีนโดยสานกำปั่นออกไปอยู่เมืองจีนได้ประมาณ ๓ ปี เมื่อปีมะแมนพศก (พ.ศ. ๒๓๘๐) ข้าพเจ้าโดยสานกำปั่นส่งพระราชสาส์นออกไปณเมืองกวางตุ้ง ข้าพเจ้าไปสอนหนังสือจีนหมอดีนอยู่ที่ฮ่องกงได้ประมาณ ๓ ปี เมื่อเดือนข้างแรมกี่ค่ำจำไม่ได้ หมอดีนไปเมืองมเก๊าหมอดีนกลับเข้ามาบอกกับข้าพเจ้าว่า กำปั่นรบชาติอเมริกันมาทอดอยู่ที่น่าเมืองมเก๊าลำหนึ่ง จะเข้ามาณกรุงเทพ ฯ ได้ไปว่าขอแก่กะปิตันนายกำปั่นจะโดยสานเข้ามาณกรุง ฯ ด้วย นายกำปั่นก็ยอมให้โดยสาน ครั้นณวันขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๔ นายกำปั่นมีหนังสือมาถึงหมอดีนว่ากำปั่นจวนกำหนดจะใช้ใบให้หมอดีนไปลงกำปั่น ข้าพเจ้ากับหมอดีนก็ขนของจากเรือเล็กให้มาส่งขึ้นกำปั่นรบที่น่าเมืองมเก๊าอยู่ที่กำปั่นวัน ๑

ณวันขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๔ ปีระกาเอกศก กำปั่นรบอเมริกันออกใช้ใบจากเมืองมเก๊ามากลางทเล ๔ วันถึงปากน้ำเมืองหุยวาน ขุนนางญวนนายด่านลงมาถามที่กำปั่น ได้ทราบความแล้วมีหนังสือบอกขึ้นไปถึง จงต๊ก เมืองหุยวานว่า กำปั่นรบชาติอเมริกันมาทอดอยู่ที่ปากน้ำลำ ๑ อยู่ประมาณ ๑๒ วันญวนนายด่านลงไปบอกกับนายกำปั่นว่า จงต๊กเมืองหุยวานลงมาทปากน้ำแล้ว จะมาพูดประการใดก็ให้นายกำปั่นขึ้นไปที่ปากน้ำเถิด นายกำปั่นทราบความว่าจงต๊กเมืองหุยวานลงมาอยู่ที่ปากน้ำ ขุนนางนายกำปั่นชาติอเมริกัน ๔ คนกับลูกเรือคนถ่อประมาณ ๑๐ คน ข้าพเจ้ากับหมอดีนก็ขึ้นไปด้วย ข้าพเจ้าเห็นที่ปากน้ำมีโรงกงก๊วนขื่อประมาณ ๓๐ ศอกหลังคามุงกระเบื้องหลัง ๑ จะเปนกี่ห้องนั้นข้าพเจ้าหาได้สังเกตไม่ ข้าพเจ้าเห็นจงต๊กเมืองหุยวานนั่งเก้าอี้อยู่ ญวนถือง้าว ถือดาบ ถือโล่ห์ ยืนอยู่ข้างน่า ๒ แถว ๆ ละ ๑๐ คน ขุนนางฝรั่งอเมริกันไปถึงจงต๊กก็ยืนขึ้นต้อนรับ แล้วนั่งลงพูดกันเปนภาษาอังกฤษ จะพูดกันประการใดข้าพเจ้าหาทราบไม่ พูดกันอยู่ประมาณชั่วโมง ๑ จงต๊กให้ญวนจัดโต๊ะอย่างฝรั่งโต๊ะ ๑ เชิญให้นายกำปั่นกิน นายกำปั่นก็ไม่กิน พูดกันแล้วก็กลับลงมากำปั่น ข้าพเจ้าถามหมอดีนว่าขึ้นไปพูดกันด้วยความสิ่งไร หมอดีนจึงเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า นายกำปั่นขึ้นไปพูดกับจงต๊กว่าจะมาทำหนังสือสัญญาค้าขายที่เมืองญวน จงต๊กว่าสินค้าที่เมืองญวนมีน้อย ลูกค้าใหญ่ที่จะรับรองสินค้าก็ไม่มี ที่จะมาค้าขายนั้นเห็นจะไม่ได้ นายกำปั่นจัดแจงตักน้ำหาฟืนได้เสร็จแล้ว ครั้นณวันขึ้น ๒ ค่ำเดือน ๕ นายกำปั่นก็ออกใช้ใบจากปากน้ำเมืองหุยวานมากลางทเล ข้าพเจ้าได้พูดกับหมอดีนว่า ฝรั่งชาติอเมริกันจะเข้ามากรุง ฯ ด้วยราชการสิ่งไร หมอดีนบอกกับข้าพเจ้าว่าจะเข้ามาทำหนังสือสัญญาค้าขายกับกรุงเทพฯ ใหม่ จะขอลดค่าธรรมเนียมให้น้อยลงกว่าที่มาทำหนังสือสัญญาไว้ครั้งก่อน หมอดีนได้พูดให้ข้าพเจ้าฟังแต่เท่านี้ กำปั่นใช้ใบมากลางทเล ๑๐ วัน ณวันขึ้น ๑๒ ค่ำเดือน ๕ ถึงปากน้ำเจ้าพระยา อยู่ ๒ วันข้าพเจ้าเห็นกำปั่นไฟฝรั่งชาติอังกฤษแล่นกลับออกไป ครั้นณวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๕ จมื่นไวยวรนาถให้เรือบรรทุกของออกไปให้ที่กำปั่น ข้าพเจ้าจึงโดยสานมาด้วย มาถึงด่านเมืองสมุทปราการ ขุนนางจะชื่อไรหาทราบไม่ เอาตัวข้าพเจ้าไปถามจดหมายเอาถ้อยคำข้าพเจ้าไว้ แล้วส่งข้าพเจ้ามาณกรุง ฯ สิ้นคำให้การข้าพเจ้าเท่านี้

บาเลศเตียทูตเข้ามาครั้งนี้ เจ้าพนักงานจัดของแต่งเรือนทูตและจัดของทักและจ่ายของหลวงในนี้

วันอาทิตย์แรม ๓ ค่ำเดือน ๕ ปีจอโทศก พระยาพิพัฒน์โกษา รับพระราชโองการใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า เจ้าเมืองอเมริกันแต่งให้บาเลศเตียขุนนางถือหนังสือเข้ามาเปนทางไมตรี บาเลศเตียขี่กำปั่นรบเข้ามา กำปั่นกินน้ำฦกเข้ามาปากน้ำไม่ได้ ให้เรือออกไปรับตัวบาเลศเตีย ๑ ขุนนางรอง ๑ หมอดีน ๑ คนใช้ ๑ รวม ๔ คน กำหนดจะได้ขึ้นมาถึงกรุง ฯ ขึ้นอยู่เรือนพักน่าวัดประยุรวงศ์อาวาส

ณวันแรม ๗ ค่ำเดือน ๕ ปีจอโทศกเพลาเช้านั้น ๔ ตำรวจไปยืมเตียงมาจากกรมท่าไปตั้งให้บาเลศเตีย ๑ ขุนนางรอง ๑ หมอ ๑ รวม ๓ หลัง พระคลังวิเศษเอามุ้งแพรไปผูกให้บาเลศเตีย ๑ ขุนนางรอง ๑ หมอ ๑ รวม ๓ หลัง พระคลังในซ้ายเอาฟูกไปปูเตียง ๓ ฟูก ผ้าขาวไปฟูก ๓ ฟูก หมอนหนุนศีร์ษะ ๓ ใบ หมอนข้าง ๓ ใบให้บาเลศเตีย ๑ ขุนนางรอง ๑ หมอ ๑ รวม ๓ คน ให้รักษาองค์รับอ่างเขียวต่อพระคลังในซ้ายไปตั้งให้ฝรั่ง ๓ ใบ ให้พระคลังในซ้ายจ่ายอ่างเขียวให้รักษาพระองค์ ๓ ใบ ให้กรมพระกลาโหมจ่ายตุ่มน้ำให้กรมเมือง ๒ ใบ ให้กรมเมืองรับเอาตุ่มน้ำต่อกรมพระกลาโหมไปตั้งให้ฝรั่งแขกเมือง ๒ ใบ ให้กรมนาเอาเข้าสารซ้อมไปจ่ายให้ฝรั่งและทหาร ๑๐ วันไปครั้ง ๑ ครั้งละ ๓๐ ถังกว่าฝรั่งจะกลับ และพระคลังราชการเอาเสื่ออ่อน ๒ ชั้นไปปูเตียงให้ฝรั่ง ๓ ผืน เสื่อห่วง ฟืนหุงเข้า น้ำมันมะพร้าว ให้เจ้าพนักงานข้างที่เร่งเอาสิ่งของไปเตรียมณโรงพักฝรั่งแต่ณวันแรม ๖ ค่ำเดือน ๕ เพลาเย็นให้พร้อม และให้ขุนศาลมหาดไทย ขุนศาลกลาโหม ขุนศาลจตุสดมภ์จัดแจงแต่งสิ่งของเวียนกันไปทักฝรั่งเมืองอเมริกัน มหาดไทย วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ ที่ ๑ กลาโหม วันแรม ๑๑ ค่ำเดือน ๕ ที่ ๒ กรมวัง วันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๕ ที่ ๓ กรมนาวันขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๖ ที่ ๔ กรมเมือง วันขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๖ ที่ ๕ กรมท่าวันขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๖ ที่ ๖ และให้เจ้าพนักงานทั้งนี้จัดสิ่งของเวียนกันไปทักแขกเมืองฝรั่ง ๓ วันครั้ง ๑ กว่าแขกเมืองจะกลับไป และส่งของซึ่งไปทักนั้นราคาเปนเงิน ๑ ตำลึงจงทุกครั้ง แล้วให้ทำหางว่าวยื่นเสมียนตรา ยื่นกรมท่าจงทุกครั้ง

ด้วยพระยาพิพัฒน์โกษารับพระราชโองการใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า ให้กรมนาเอาน้ำนมโคมาจ่ายให้ฝรั่งแขกเมืองแต่ณวันแรม ๗ ค่ำเดือน ๕ เพลาเช้าเสมอทุกวันกว่าฝรั่งแขกเมืองจะกลับไป

วันแรม ๗ ค่ำเดือน ๕ ปีจอโทศก โปรดเกล้า ฯ ให้พระราชทานเงินกับขุนนางอเมริกันให้ซื้อจ่ายรับพระราชทาน ๑ ชั่ง ให้พระคลังมหาสมบัติจ่ายเงินให้พระคลังวิเศษ ๑ ชั่ง ให้พระคลังวิเศษไปรับเอาเงินต่อเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ ลงไปณจวนท่านพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา แต่ณวันแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๕ ปีจอโทศก เพลาเช้า จะได้พระราชทานให้กับขุนนางอเมริกัน

วันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอโทศก หมายไปว่าให้หลวงอุดมภักดีจางวางฝีพายจัดเรือกราบยาว ๑๑ วาลำหนึ่ง มีกัญญา ให้นายนิด นายชิด จัดพนักข้างพนักหลัง แต่งให้ครบกะทงให้มาคอยรับอาลักษณ์กับพาน ๒ ชั้น ไปรับหนังสือเจ้าเมืองอเมริกันที่โรงพักน่าวัดประยุรวงศ์อาวาสแต่ณวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๕ เพลาเช้า ล่ามเอาหนังสือมาส่งให้ อาลักษณ์เอาหนังสือใส่พาน ๒ ชั้นกลับมาประทับน่าพระตำหนักน้ำ ให้อาลักษณ์เอาหนังสือมาส่งณโรงพระมาลาภูษา แล้วให้พันพุฒ พันเทพราชจ่ายเลขให้นายนิดนายชิด แล้วนายนิดนายชิดไปรับเสื้อแดงหมวกแดงต่อชาวพระคลัง เสื้อ หมวก ให้ครบกะทง แล้วให้นายเวรกรมพระอาลักษณ์เอาพาน ๒ ชั้นไปลงเรือน่าพระตำหนักน้ำ

ณวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอโทศก เพลาเที่ยงไปรับหนังสืออเมริกันณโรงพักน่าวัดประยุรวงศ์อาวาส ล่ามส่งหนังสือให้แล้วให้อาลักษณ์ใส่พาน ๒ ชั้นมาถึงน่าพระตำหนักน้ำ แล้วให้เอาหนังสือมาส่งณตึกพระมาลาภูษา แล้วให้นายเวรกรมท่ารับเอาหนังสืออเมริกันไปแปล ให้พระคลังเสื้อหมวกจ่ายเสื้อแดงหมวกแดงให้กับนายนิดนายชิดให้ครบพลพาย อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง เงินซึ่งเคยพระราชทานให้ทูตเข้ามาแต่ก่อน ๆ กับให้ขุนศาลทักทูตนั้น ทูตเข้ามาครั้งนี้ให้งด หาได้พระราชทานและจัดของให้ขุนศาลจัดของมาทักไม่ แต่เงินค่ากับข้าวซึ่งทำเลี้ยงทูตนั้น ให้เรี่ยรายเอาเงินที่เจ้าภาษีขึ้นในกรมท่าพระคลังสินค้า ให้พระยาวิเศษสงครามฝรั่งจัดพ่อครัวทำกับข้าว

----------------------------

  1. ๑. คือประธานาธิบดีชื่อเตเลอ

  2. ๒. พระเจ้าลูกยาเธอสิ้นพระชนม์เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ รวม ๔ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงเกศนี ๑ พระองค์เจ้าหญิงพวงแก้ว ๑ พระองค์เจ้าชายเฉลิมวงศ์ ๑ พระองค์เจ้าชายจินดา ๑

  3. ๓. คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ฯ ในรัชกาลที่ ๔

  4. ๔. คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ในรัชกาลที่ ๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ