คำชี้แจง

เรื่องคำฤษฎีนี้ ว่าด้วยพากย์และศัพท์ต่าง ๆ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ช่วยกันทรงรวบรวมจัดทำคำอธิบายไว้ ในลักษณะเป็นอธิบายศัพท์ที่ใช้ในวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ

ต้นฉบับตัวเขียนเรื่องคำฤษฎีนี้ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ได้คัดออกไปตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ซึ่งพระดิษฐการภักดีได้เขียนคำนำไว้ว่า

ข้าพเจ้าได้พบศัพท์ภาษามคธและภาษาอื่นบ้าง ซึ่งแปลเป็นภาษาไทย เป็นของพระเจ้าบรมไอยกาเธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร แลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ช่วยกันทรงไว้ ข้าพเจ้าจึงได้นำมาให้โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ เรียบเรียงโดยถูกต้องตามต้นฉบับเดิม เพื่อจะให้เห็นว่า เป็นของเก่าๆ ของท่านทำไว้เท่านั้น”

อนึ่ง ปรากฏข้อความในฉบับตีพิมพ์ครั้งนั้นว่า

หนังสือนี้

สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

สมเด็จกรมพระเดชาอดิศร

กรมหลวงภูวเนตร

ช่วยกันทรงใช้ชื่อเรียกว่าคำฤษฎี

มีพากย์ต่าง ๆ อยู่ในนี้.

หนังสือคำมคธแผลงเป็นสังสกฤษและคำมคธตรง คำเขมร คำลาว คำสยาม คำโบราณ เก็บมาเรียงไว้เพื่อจะให้หญิงชายผู้รักรู้ในการกาพย์ โคลง ลิลิศ ฉันท์ เข้าใจว่าไว้เป็นแบบอย่างคล้ายกันกับอภิธานศัพท์”

คำว่า ฤษฎี ค้นไม่พบศัพท์นี้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ แม้แต่ในหนังสือคำฤษฎีนี้เองก็ไม่ปรากฏคำ ๆ นี้ แต่สันนิษฐานว่า คงจะมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า สฤษฎี (สฺริดสะดี) หรือ สฤษฏฺ (สฺริด) ซึ่งหมายถึงการทำหรือการสร้าง และที่เราคุ้นเคยกันดีในภาษาไทยคือ รังสฤษฎิ์ และ รังสรรค์ ซึ่งหมายถึงการสร้างหรือการแต่งตั้ง ดังนั้น จึงน่าจะเชื่อได้ว่า องค์ผู้ทรงพระนิพนธ์ ได้ทรงคิดคำนี้ขึ้นมาใช้กับงานรวบรวมคำศัพท์ อันเป็นพากย์ต่าง ๆ พร้อมด้วยคำแปลหรือคำอธิบายสั้น ๆ เป็นอุปกรณ์แก่การแต่งหรือการอ่านงานกวีนิพนธ์ตลอดจนวรรณคดีทั่ว ๆ ไป

เนื่องจากคำว่า ปทานุกรม พจนานุกรม ศัพทานุกรม หรือแม้แต่คำว่าอภิธานศัพท์ ยังไม่มีผู้ใดคิดขึ้นใช้ในสมัยนั้น องค์ผู้ทรงพระนิพนธ์ จึงได้ทรงคิดคำฤษฎีนี้ขึ้นใช้ ซึ่งโดยลักษณะเนื้อหาแล้ว คำฤษฎี อาจจัดเป็น ปทานุกรม พจนานุกรม ศัพทานุกรม และหรืออภิธานศัพท์ก็ได้ จะมีแตกต่างกันก็เฉพาะรูปแบบเท่านั้น เพราะท่านจดคำต่าง ๆ ไว้พร้อมคำแปล หรือคำอธิบายสั้น ๆ ท่านคิดคำใดได้ก็จดลงไป ยังมิได้นำมาจัดระบบแห่งคำโดยเรียงตามลำดับอักษร ศัพท์ที่ทรงจดไว้ ส่วนมากเป็นคำเดี่ยว เช่น ทรอึง ว่า ถือตัว, ทรหึง ว่า ชั่วนาน, กระลี ว่า โทษ, วินาศ ว่า ฉิบหาย, ฉิบหาย ว่า หายพลัน ฯลฯ ลางครั้งก็ทรงจดเป็นศัพท์หมวด เช่น เครื่องกุกกุฏภัณฑ์ ๕ ได้แก่ พระขรรค์ ว่า ดาบสี่คม ๑ ฉัตร ว่า พระกรด ๑ อุณหิศ ว่า เครื่องประดับพระเศียร ๑ ปาทุกา ว่าฉลองพระบาท ๑ วาลวิชนี ว่า พัชนี ๑ ฯลฯ อนึ่ง ที่ทรงจดไว้เป็นหมวดศัพท์ก็มีหลายแห่ง เช่น เวรุ ริปุ ปัจนึก ปรปักษ ปฏิปักษ อมิตร ศัตรู ปัจามิตร ว่า คนมีเวรเป็นฆ่าศึก เศิก ว่า ศึก ดังนี้เป็นต้น

คำฤษฎี นี้ น่าเชื่อว่า เป็นหนังสือประเภทศัพทานุกรม หรืออภิธานศัพท์ ที่สร้างขึ้นเป็นเล่มแรกของไทย เพราะจากหลักฐานหนังสือประเภทเดียวกันมีปรากฏว่า หนังสืออักขราภิธานศรับท์ (Dictionary of Siamese Language) ฉบับของ ดร. แดนบีช แบรดเลย์ หรือหมอบรัดเล เป็นผู้รวบรวมและจัดพิมพ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ ก็เกิดขึ้นภายหลังจากสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ แล้ว

อนึ่ง เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๘๙ มิชชันนารี เทเลอร์ โจนส์ ได้รวมคำไทยและจัดทำคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่มิได้ตีพิมพ์ และใน พ.ศ. ๒๓๙๗ สังฆราชปัลเลอกัวซ์ ได้รวมคำไทยแล้วทำคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ละติน ตีพิมพ์ที่กรุงปารีส ให้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า สัพพะพจนะพาสาไทย (D.J.B. Pallegoix Dictionnaire, Siamois, Francois - Anglais) และต่อมาบาทหลวง เวย์ ได้แก้ไขเพิ่มเติมและจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ให้ชื่อว่าศริพจน์ภาษาไทย สำหรับพจนานุกรมไทยนั้น กระทรวงธรรมการได้มอบหมายให้พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ สมัยที่ยังเป็นขุนประเสริฐอักษรนิติ) จัดทำพจนานุกรมของราชการขึ้นเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๔๒๖

ผู้เขียนเชื่อว่า คำฤษฎี นี้ องค์พระนิพนธ์ได้ทรงไว้ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๗๔-๒๓๗๗ ซึ่งเป็นช่วงที่ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ได้ทรงร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่าง ๆ แต่งขึ้นจารึกแผ่นศิลาประดับไว้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยเฉพาะช่วงนี้ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงงานพระนิพนธ์มาก แม้งานพระนิพนธ์อื่น ๆ บางเรื่อง ก็ทรงไว้เป็นอย่างช้าภายในปี พ.ศ. ๒๓๘๘ คือพระปฐมสมโพธิกถา และที่ทรงแต่งต่อเติมเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ก็เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ นั้น สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระชราภาพมากแล้ว มิได้ทรงงานพระนิพนธ์มากนัก มีปรากฏแต่พระธรรมเทศนา พระราชพงศาวดารสังเขปและ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความสมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรสเท่านั้น ซึ่งจากปีที่ยกขึ้นมาอ้างเทียบกับปีที่มีผู้สร้างหนังสือประเภทพจนานุกรมหรืออภิธานศัพท์ขึ้นในเมืองไทย ผู้เขียนเชื่อว่า คำฤษฎี เป็นเรื่องแรกในเมืองไทยในหนังสืออ้างอิงประเภทเดียวกัน

จริงอยู่ อาจมีผู้แย้งว่า หนังสือนี้ไม่น่าจะถือว่า เป็นประเภทพจนานุกรมหรืออภิธานศัพท์เล่มแรกของเมืองไทย เพราะเมื่อพูดตามหลักการทำพจนานุกรม ย่อมเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า หนังสือพจนานุกรมภาษาใด จะต้องรวบรวมคำทั้งหมดที่มีใช้อยู่ในภาษานั้น ตลอดจนให้ความรู้ในเรื่องอักษรวิธี การบอกเสียงอ่าน ความหมาย และประวัติของคำ เป็นต้น และมักเป็นที่เข้าใจกันว่า พจนานุกรม จะต้องรวบรวมคำศัพท์ไว้เป็นจำนวนมาก เช่น อักขราภิธานศรับท์ ฉบับของหมอบรัดเล จัดพิมพ์ บรรจุคำไว้ถึง ๔๐,๐๐๐ คำ แต่คำฤษฎี นี้ รวบรวมคำไว้ประมาณ ๑,๒๐๐ คำ เฉพาะที่ใช้ในการแต่งและอ่านวรรณคดีเท่านั้น ในประเด็นนี้ ผู้เขียนไม่คัดค้าน แต่ได้เพ่งเล็งพิจารณาไปเฉพาะเรื่องแนวความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ขององค์ผู้ทรงพระนิพนธ์เป็นหลัก และเชื่อด้วยว่า หากมีพระประสงค์จะทรงจัดทำพจนานุกรมจริง ๆ แล้ว ย่อมอยู่ในวิสัยแห่งพระปรีชาสามารถที่จะทรงกระทำได้ในฐานะที่ทรงรอบรู้คำไทยและคำที่ใช้ในภาษาไทยเป็นอย่างเลิศ

เนื่องจากหนังสือคำฤษฎีนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีการพิมพ์แพร่หลายนัก ฉบับที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) นั้น นับถึงบัดนี้เป็นเวลาถึง ๘๕ ปี ซึ่งจะใช้ค้นหาอ้างอิงก็คงยากเสียแล้ว ครั้นต่อมานายณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ได้คัดมารวมพิมพ์ผนวกไว้ในหนังสือ “พระประวัติและพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส” โดยสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งเมื่อนับถึงบัดนี้ก็เป็นเวลาถึง ๒๘ ปี จะค้นคว้าหาอ่านได้ยากเช่นเดียวกัน จึงเห็นควรจัดพิมพ์เผยแพร่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้จัดระบบเรียงคำศัพท์ขึ้นใหม่ตามลำดับอักษรแบบพจนานุกรม ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้อ่านจะพึงได้รับในฐานะเป็นอุปกรณ์แก่วรรณคดีเป็นสำคัญ และในการคัดลอก จัดเรียงลำดับอักษร ตลอดจนตีพิมพ์ต้นฉบับครั้งนี้ ได้อาศัยแรงเพื่อนร่วมงาน คือ นางดารณี โชติไพบูลย์ นางสาวเลขา ลิมจิตติ นางสาววันทนีย์ มงคลทรัพย์กุล และ นางสาวปานใจ เจียมพาณิชย์ ช่วยกันจัดทำ ส่วนสะกดการรันต์นั้นคงไว้ตามต้นฉบับเดิม เพื่อรักษาของเก่าที่โบราณาจารย์ท่านทำไว้

การทั้งหลายทั้งปวงที่จัดทำและจัดพิมพ์หนังสือคำฤษฎีจนเป็นผลสำเร็จดั่งนี้ ก็ด้วยความดำริชอบของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตร (กมล โกวิโท) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในฐานะที่เป็นศิษย์ ก็ได้สนองความประสงค์ดังกล่าว และขอกราบขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้.

(นายทรงวิทย์ แก้วศรี)

หอสมุดแห่งชาติ

ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร

๕ ธันวาคม ๒๕๓๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ