ภาค ๒ บนดิน
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวชัยทัตเทียมสีห์ |
๓๔แกล้วกล้ามหารถฤทธี | ราชาธิบดีเดชิต ฯ |
๏ เกลื่อนพลกล่นแสนยากร | เพียงพลสุรามรมาสถิต |
ริปูฤๅปองลองฤทธิ์ | แม้อมิตรมุ่งร้ายวายปราณ |
อึงอัศวานึกครึกครื้น | เริงเหล่าพลปืนหื่นหาญ |
แรงรณพลคชชัยชาญ | เช่นช้างโลกบาลบ่มมัน |
งามสง่ารถาธึกกึกก้อง | แคล่วคล่องเริงแรงแขงขัน |
บรขามนามพลสี่พรรค์ | ศรขรรค์แข่งค้ำรำบาญ ฯ |
๏ ชนลือชื่อเวียงเกรียงไกร | กรุงอินทิราลัยไพศาล |
หลั่นลดปรากฎปราการ | ตระหง่านแง่ง้ำอำไพ |
หอยุทธเชิงยวนชวนยุทธ | เศิกสุดใจสั่นหวั่นไหว |
รายเคียงเรียงคั่นหลั่นไป | เชียงชัยชโยดมข่มยุทธ |
งามพลบนป้อมพร้อมเพรียง | คูเวียงแม่นแม้นแมนขุด |
ลมชายปลายปลิวทิวธุช | แสนสุดสำราญบานรมย์ |
มนเทียรเถือกทองก่องแก้ว | เพริศแพร้วเรืองอร่ามงามสม |
ช่อฟ้าเชิดฟ้าน่าชม | เกลียวกลมแลรับกับฟ้า |
นพศูลสูงเยี่ยมเทียมเมฆ | รุจิเรขเรืองรองห้องหล้า |
ปราสาทมาศแก้วแววตา | อาภาผ่องค้ำอัมพร |
ภาพครุฑสุดสง่าสามารถ | ขคราชเริงแรงแขงขร๓๕ |
๓๖อุรงค์ฤทธิ์ล้ำกำธร | ผกหงอนแผ่ง้ำอำไพ |
ภาพสิงห์หยิ่งย่างอย่างสิงห์ | มีมิ่งหมายเหมือนเคลื่อนไหว๓๗ |
เทพนมชมเห็นเปนไป | ดังเทพที่ในเมืองฟ้า |
ก่องเก็จเพ็ชร์รัตน์รุ้งร่วง | โชติช่วงแวววับจับหล้า |
แสงทองส่องสุกมุกดา | งามสง่าวังเวียงเพียงแมน ฯ |
๏ ส่ำสนมสมสนองรองบาท | นวลนาฎนบน้อมห้อมแหน |
เฝ้าใฝ่ไป่คลาดขาดแคลน | แม่นแม้นสุรนาถเนาฟ้า ฯ |
๏ ท้าวมีมหิษีทรงลักษณ์ | งามพักตร์เพ็ญเล่ห์เลขา |
โฉมตรูคู่ปราณนานมา | นัยหนึ่งนัยนาภูวนัย |
สององค์ทรงครองกันมา | พระดนัยดนยาหาไม่๓๘ |
ทรงศักดิ์หนักอกหมกใจ | รอยกรรมทำไว้ในบรรพ์๓๙ |
๔๐ไร้บุตรสุดบาปปลาบจิตต์ | หงุดหงิดหฤทัยไหวหวั่น |
ธำรงทุกข์หลวงทรวงตัน | จักได้ไปสวรรค์ฉันใด ฯ |
๏ ชอกช้ำรำคาญนานปี | จวบพระมหิษีศรีใส |
เปล่งปลั่งดวงจันทร์พรรณ์ไร | อรไทยโฉมยงทรงครรภ์ |
ปางกษัตร์ภัดดาปราเณศ | ทรงเดชฤๅร้างห่างขวัญ |
จงถนอมจอมนางพางจันทร์ | สาวสวรรค์เสวยสุขทุกวาร |
ราชแพทย์แวดล้อมพร้อมพรัก | พิทักษ์อรไทยใสศานติ์ |
พงศ์เผ่าเฒ่าแก่แม่งาน | บริหารมหิษีมียศ |
จวบวันฤกษ์งามยามบุญ | เพ็ญชุณห์แจ่มวงทรงกลด๔๑ |
กัลยาณิ์เจ็บครรภ์รันทด | ไป่ปลดปลิดปวดรวดเร้า |
ราชาอาทรร้อนจิตต์ | เพียงพิษเพลิงใหญ่ไหม้เผา |
ชี้ชอบปลอบโฉมโลมเล้า | อ้าเจ้าจงสกดอดใจ ฯ |
๔๒๏ นางคลอดชาดาลาวัณย์ | คือจันทร์แจ่มห้องผ่องใส |
พิมพ์พักตร์ลักษณ์ล้ำอำไพ | ไฉไลแลปลื้มลืมพริบ |
ล้วนเลิศเฉิดฉายหลายหลาก | แสนยากสาธกยกอยิบ |
โฉมยงนงรามงามทิพย์ | ลอยลิบลงมาธาตรี ฯ |
๏ บัดนั้น | ราชแพทย์แวดล้อมมหิษี |
๔๓เห็นราชทาริกานารี | ทรงฉวีเลิศล้ำจำเริญ |
หลากจิตต์พิศขนงนงลักษณ์ | แปลกนักพากันสรรเสริญ |
เหมือนเมฆย้อยอยู่ดูเพลิน | ลอยเหิรบังพระศศธร |
บัดเดี๋ยวเธอลืมนัยนา | เหมือนเมฆในฟ้าเปิดถอน |
ดวงจันทร์เยี่ยมยอดอัมพร | สองทิศากรพร้อมกัน |
รัศมีสีนิลกลบห้อง | ใสส่องคือโคมโสมสรร |
ต่างตนต่างตลึงอึ้งพลัน | ฤๅจันทร์ล่องฟ้ามาดิน |
จักษุแสงฉายพรายแพร้ว | สองแก้วใสจริงยิ่งสินธุ์ |
ส่ายส่องผ่องพ้นมลทิน | แสงเนตรสีนิลแปลกนัก |
โชติช่วงดังดวงเดือนฉาย | แลลม้ายพระศศีมีศักดิ์ |
เป็นที่จำเริญเพลินรัก | ต่างนั่งตั้งพักตร์ภักดี |
ชนปวงไป่รแวงแจ้งจิตต์ | ยามพิศเนตรเรื้องรังสี |
ว่าได้เห็นศรีพระศุลี | อันมีปนในนัยนา |
ต่างคิดพิศวงสงสัย | อำไพเพ็ญพักตร์นักหนา |
แลเพ่งเล็งพิศติดตา | โศภายิ่งคนบนดิน |
ชมพลางต่างถวายอภิวาทน์ | พระนราธิราชเรืองศิลป์ |
บูชาบารมีภูมินทร์ | รัศมีสีนิลกลบไป ฯ |
๏ บัดนั้น | อำมาตย์ประมุขผู้ใหญ่ |
ก้มเกล้าทูลองค์ทรงชัย | ข้าไม่เคยเห็นเช่นนี้ |
อันพระบุตรีนี้ไซร้ | อำไพยิ่งมานุษี |
แสงเนตรนางไหนใครมี | รังสีดังเช่นเห็นชัด |
ข้าอยู่ในแดนรัศมี | นัยนาดรุณีจำรัส |
จักเปรียบเทียบใดไป่ทัด | ความสัตย์สงสัยใจจริง |
เหมือนได้เห็นกลิ่นการบูร | จำรูญจำเริญเพลินยิ่ง |
จักยกตัวอย่างอ้างอิง | หาสิ่งเปรียบยากหลากใจ |
หนึ่งเหมือนได้เห็นกลิ่นจันทน์ | หอมหรรษ์เหมจิตต์พิสมัย๔๔ |
แปลกนักจักชี้ฉันใด | นึกเห็นเปนไปเช่นนี้ |
อันองค์พระราชชาดา | เห็นได้ใช่มานุษี |
นางฟ้ามาในธานี | เกิดเป็นบุตรีภูบาล |
ขอจงทรงพระจำเริญ | เพลิดเพลินผาสุกทุกฐาน |
บุญใหญ่ได้องค์นงคราญ | เกิดในวงศ์วารภูวนัย ฯ |
๏ เมื่อนั้น | พระนราธิบดีอดิศัย |
สำราญบานราชหฤทัย | ตรัสให้กำหนดกฎการ |
สมโภชบุตรีศรีแคว้น | ทั่วแดนกรุงไกรไพศาล |
ผ้าเสื้อเหลือกะปริมาณ | ประทานเปนทานมากมาย |
เหล่าพราหมณ์ตามกันมารับ | สินทรัพย์บริจาคหลากหลาย |
เงินทองกองแก้วแพรวพราย | งัวควายม้าช้างรางวัล ฯ |
๏ ตรัสให้หาโหราจารย์ | ไวชาญวิชชากล้ากลั่น |
อีกพราหมณ์ความรู้สำคัญ | ทรงธรรม์ให้เขาเข้ามา |
เลือกนามประทานโฉมยง | ว่าองค์กนกเรขา |
โพยภัยไม่มีบีฑา | โศภาเพียงแก้วแพรวพรรณ์ ฯ |
๏ ได้ลูกโดยหวังดังจิตต์ | ทรงฤทธิ์ปรีเปรมเหมหรรษ์ |
แจ่มใจใสสุขทุกวัน | จงถนอมจอมขวัญบุตรี |
ปวงราษฎร์ปราศเศร้าเปล่าโศก | ชูโฉลกเฉลิมเลื่องเรืองศรี |
ทั่วเขตเทศคามพราหมณ์ชี | ต่างมีสุขล้ำสำราญ |
ครอบครองคลองธรรมบำรุง | เกียรติ์ฟุ้งเฟื่องไปไพศาล |
ดังร่มไทรใหญ่ใบบาน | บังแสงสุริย์ฉานมิดชิด |
ทนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงองค์ | โฉมยงชาดายาจิตต์ |
ปราศข้อขุ่นเคืองเนืองนิตย์ | เกริกกิตติ์เรืองลือฤๅลด ฯ |
๏ ฝ่ายพระบุตรีนิรมล | โศภนอาภาปรากฎ |
ชายยลโฉมยงทรงยศ | รันทดรันทมกรมทุกข์ |
ได้เห็นดังถูกทำโทษ | ร้อนโลดราวไฟไหม้สุข |
ยั่วให้ใจง่านพล่านพลุก | เพลิงลุกราคเร้าเผาใจ |
รุ่นสาวราวโสมโฉมฉาย | ศรีผายแสงผ่องส่องใส |
นัยนาน่าเพลินเชิญใจ | ให้ไปเปนทาสเทวี ฯ |
๏ เมื่อนั้น | องค์พระนเรศวรเรืองศรี |
เห็นราชชาดานารี | เปนที่สำราญบานตา |
เอวองค์ทรงลักษณ์พักตร์พริ้ม | ยามยิ้มยั่วแย้มแจ่มหน้า |
รังสีแสงใสนัยนา | ใต้หล้าปราศเปรียบเทียบทัน |
สมควรเษกสาวบ่าวสม | ชิดชมเชยคู่ชูขวัญ |
สยุมพรโฉมยงทรงวรรณ์ | ให้สรรเกศกษัตร์ภัดดา |
บำเรอภิรมย์สมสู่ | ได้คู่ดังใคร่ใจหา |
สมศักดิ์สมวงศ์ชาดา | คงสมปราถนานงลักษณ์ |
ตรึกตรองคลองธรรมนำท้าว | จอมด้าวอิ่มในใจหนัก |
ตรัสเรียกมหิษียอดรัก | เพียงจักษุเจ้าปัฐพี ฯ |
ท้าวชัยทัตตรัสว่า
๏ อ้าเจ้าเยาวมาลย์กานดา | แก้วตาผู้มิ่งมารศรี |
อันกนกเรขาเทวี | ยุวดีทรงวัยใหญ่แล้ว |
สมควรอภิรมย์สมสอง | สิงสู่คู่ครองผ่องแผ้ว |
ทรงลักษณ์ศักดิ์เลิศเพริศแพร้ว | เหมือนแก้วทั้งคู่ดูพราย |
พี่ม่งบงกิจพิธี | สรรหาสวามีเฉิดฉาย |
ส่งข่าวป่าวคำกำจาย | ลืมเกียรติ์ฤๅวายวันเว้น |
โฉมเจ้าดำริห์ฉันใด | อรไทยกล่าวความตามเห็น |
ประสงค์องค์นางพางเพ็ญ | คงเช่นเดียวกันมั่นใจ ฯ |
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมหิษีศรีใส |
อภิวาทน์บาทมูลทูลไป | โดยนัยข้อความตามจริง ฯ |
พระมหิษีทูลว่า
๏ ข้าแต่อวนินทร์ปิ่นขัติย์ | ดำรัสระบอบชอบยิ่ง |
ใคร ๆ ไป่หาญค้านติง | เว้นแต่ลูกหญิงองค์เดียว |
ทรามวัยไม่คิดมีคู่ | ตั้งจิตต์โฉมตรูอยู่เดี่ยว |
เกลียดผัวกลัวยิ่งจริงเจียว | จักเหนี่ยวจักรั้งฤๅยอม |
ข้าได้ชี้แจงแจ้งเหตุ | อุปเทศคำขานหวานหอม |
เสาวรสพจมานหว่านล้อม | นงเยาว์ฤๅยอมอย่างคิด ฯ |
ท้าวชัยทัตตรัสว่า
๏ อ้าองค์นงคราญกานดา | อันกนกเรขายาจิตต์ |
ไม่คิดมีคู่ชูชิด | กล่าวเกลื่อนเบือนบิดผิดไป |
หญิงไม่อยากมีสามี | หาในโลกนี้หาไหน |
อันพวงบุบผามาลัย | เกลียดแมลงภู่ไซร้ฤๅมี |
๔๕๏ ควรจำธรรมดานาไร่ | จักไม่รับไถใช่ที่ |
ฉันใดชาดานารี | พึงมีสามีแนบตัว |
อันกนกเรขาทรามวัย | เติบใหญ่สมควรมีผัว |
ไป่พึงรังเกียจเกลียดกลัว | ดอกบัวเกรงผึ้งห่อนมี |
ปัญหามีแต่จักหา | ภรรดาสมศักดิ์สมศรี |
หาได้ใช่ง่ายชายดี | สมกับเทวีลูกเรา ฯ |
พระมหิษีทูลว่า
๏ ข้าแต่พระมหาราชา | ชาดาดวงใจใช่เฉา๔๖ |
นางนึกแน่ในใจเยาว์ | ไป่คิดชิดเคล้าคู่ครอง |
พระองค์จงโปรดดำรัส | ชี้แจงแจงอัตถ์ทั้งผอง |
ให้นางทราบความตามคลอง | ทำนองซึ่งทรงจงใจ |
นางกล่าวแก่ข้าว่าผัว | กริ่งกลัวรังเกียจเกลียดใกล้ |
แม้ในความฝันทรามวัย | ก็ไม่ขอเห็นสามี ฯ |
๏ เมื่อนั้น | พระมหากษัตร์เรืองศรี |
ยินพระมหิษีเทวี | นรสีห์สนเท่ห์หฤทัย |
๔๗๏ ตรัสให้หาราชพาลา | ชาดาดวงจิตต์พิสมัย |
คิดหวังฟังความทรามวัย | พิศวงสงสัยจินดา ฯ |
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์กนกเรขา |
ทราบคำดำรัสราชา | สุภคาขึ้นเฝ้าภูมี ฯ |
๏ วาดวงองค์อรอ้อนแอ้น | งามแขนคืองวงคชสีห์ |
เรืองรามงามจริตจรลี | ทรงฉวีผ่องผุดสุดใจ |
๔๘๏ มัธยมกลมเกลาเพราเพริศ | ล้ำเลิศรังสีศรีใส |
อุโรชโชติชูดูไป | คลื่นไกรกลิ้งสมุทรดุจกัน |
มยูรยาตร์นาดกรอ่อนช้อย | ดังย้อยจากฟ้ามาผัน |
สุรีศรีหล้าลาวัณย์ | หาเทียบฤๅทันเทวี |
ถึงที่ประทับภูธร | บังอรซุดองค์มารศรี |
แย้มยิ้มพริ้มพักตร์ภักดี | อัญชลีบิตุเรศร์เลอลักษณ์ ฯ |
๏ เมื่อนั้น | พระนราธิราชเรืองศักดิ์ |
เห็นพระลูกหญิงพริ้งพักตร์ | เพียงจักษุเจ้าปัฐพี |
ภูบาลตรึกไตรในจิตต์ | นงรามงามจริตเลอศรี |
หาไหนไป่เทียมเทวี | ใครเห็นเปนที่เพลินตา |
ชายใดได้เห็นโฉมยง | ห่อนจืดใจจงใจหา |
แม้กูผู้เปนบิดา | ชนม์ชรามานานปานนี้ |
เห็นนางพางสบนางสรวง | ในทรวงปลื้มเปรมเต็มที่ |
แม้ใครได้สู่ศูลี | สำนึกนึกมีเช่นกัน |
ชายหนุ่มไหนเลยเฉยได้ | จักใคร่จักครวญหวนฝัน |
ราคีกำหนดกลัดพลัน | ป่วนปั่นใจร้อนห่อนเว้น |
นางอื่นงามเพ็ญเช่นนี้ | ไหนมีคือใครได้เห็น |
หนุ่ม ๆ รุมใจใคร่เคล้น | คลึงเคล้าเช้าเย็นเปนนิตย์ |
นางเป็นยอดหญิงมิ่งภพ | ใครสบโชคชื่นรื่นจิตต์ |
จักเห็นเช่นได้อมฤต | ค่ำเช้าเฝ้าชิดเชิงรัก |
ลาวัณย์บรรเจิดเลิศหล้า | เกิดมาในวงศ์ทรงศักดิ์ |
แม้นไม่มีคู่ชูพักตร์ | น่าเสียดายนักเช่นนี้ ฯ |
ท้าวชัยทัตตรัสว่า
๏ อ้าเจ้าเยาวมาลย์กานดา | แก้วตาผู้มิ่งมารศรี |
โฉมเฉลาเสาวภาคพรรณี | เจ้านี้ทรงวัยใหญ่แล้ว |
สมควรอภิรมย์สมสอง | มีคู่อยู่ครองผ่องแผ้ว |
ทรงลักษณ์ศักดิ์เลิศเพริศแพร้ว | เหมือนแก้วทั้งคู่ดูพราย |
พ่อม่งบงกิจพิธี | สรรหาสวามีเฉิดฉาย |
ส่งข่าวป่าวคำกำจาย | ลือเกียรติฤๅวายทิวา ฯ |
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์กนกเรขา |
ยินคำดำรัสราชา | กัลยาณิ์ก้มกราบทูลไป ฯ |
นางกนกเรขาทูลว่า
๏ ข้าแต่อวนินท์ปิ่นราช | ภพนาถเลอฤทธิ์อดิศัย |
ซึ่งทรงรำลึกตรึกไตร | จักให้ข้าหาสามี |
เพราะเหตุเม็ตตาการุญ | พระคุณเปี่ยมเกล้าเกศี |
แต่ว่าข้าผู้บุตรี | ไม่รักจักมีภรรดา |
อยู่เดียวเปนสุขทุกเมื่อ | พระองค์จงเชื่อคำข้า |
ให้เปนเช่นตูอยู่มา | ไม่เปนภริยาชายใด ฯ |
ท้าวชัยทัตตรัสว่า
๏ ดูรานงเยาว์เสาวลักษณ์ | ดวงจักษุผู้พิสมัย |
เจ้าตรัสอัตถ์นั้นฉันใด | ใครฟังดังไร้ความคิด |
นงเพ็ญเปนราชกัญญา | เกิดมาในวงศ์ทรงกิตติ์ |
แม้นไม่มีคู่ชูชิด | ชีวิตไร้ผลข้นแค้น ฯ |
นางกนกเรขาทูลว่า
๏ ข้าแต่บิตุราชเลอศักดิ์ | ลูกแน่ใจหนักจิตต์แน่น |
แม้นชายฉายเฉิดเลิศแมน | สุดงามสามแดนฤๅทัน |
หมายมาเปนสามีลูก | ลูกไซร้ไป่ผูกใจสรร |
ขอพระนรเทพทรงธรรม์ | ฟังคำสำคัญวันนี้ |
ไม่ขอมีคู่อยู่ข้าง | หมายหมางใจเกลียดเสียดสี |
ข้าผิดธรรมดานารี | ภูมีอย่าเผด็จเม็ตตา |
นางสิ้นดินแดนแสนหมื่น | ใครอื่นไป่เปนเช่นข้า |
พระองค์ทรงฤทธิ์บิดา | จงเชื่อวาจาลูกรัก ฯ |
๏ เมื่อนั้น | องค์พระวีรวงศ์ทรงจักร |
ยินคำสำคัญมั่นนัก | ทรงศักดิ์รำพึงอึ้งคิด |
หานางอย่างนี้หาไหน | ในแดแน่ได้ไม่ผิด |
ชาดามานุษสุดทิศ | หาไหนได้ชนิดนงเยาว์ |
นางเกิดเปนลูกเราไซร้ | ลูกเราฤๅใช่ลูกเล่า |
นางฟ้ามาเปนลูกเรา | ดูเค้าจักเปนเช่นนี้ |
จึงทรงรูปลักษณ์นักหนา | งามจริงยิ่งมานุษี |
ไม่รักจักมีสามี | ผิดแบบนารีธรรมดา ฯ |
๏ องค์พระภูวนัยไตร่ตรอง | ให้หมองใจหนักนักหนา |
ค่ำเช้าเฝ้าปลอบกัญญา | สุภคายืนคำร่ำไป |
จนองค์ทรงเดชเกศรัฐ | เคืองขัดขุ่นอกหมกไหม้ |
อาวรณ์ร้อนราชหฤทัย | ภูวนัยออกอัตถ์ตรัสไป ฯ |
ท้าวชัยทัตทรงกล่าวคำแค้นว่า
๏ อ้ากูผ้ใจไร้สุข | เจ็บทุกข์จำทนหม่นไหม้ |
เคราะห์เรื่องเบื้องบรรพ์อันใด | กรรมในชาติก่อนร้อนร้าย |
เปนบาปตราบในชาตินี้ | มีราชบุตรีเฉิดฉาย |
ดื้อดึงขึ้งเคียดเกลียดชาย | มุ่งหมายไม่หาสามี |
ผิดแบบผิดแผนแสนร้าย | เคืองคายขุ่นข้องหมองศรี |
กูในชาติก่อนห่อนดี | ชาตินี้ขุกเข็ญเห็นชัด |
หมายมุ่งรุ่งเรืองเบื้องหน้า | เห็นแน่แก่ตาว่าขัด |
เพราะกรรมทำอยาบบาปซัด | รู้ถนัดเล่ห์นั้นมั่นนัก ฯ |
๏ เมื่อนั้น | องค์พระบุตรีมีศักดิ์ |
ยินนราธิบดีชี้ชัก | นงลักษณ์ส้อยเศร้าเปล่าใจ |
สงสารบิตุรงค์ทรงเดช | ภูธเรศร้อนรนหม่นไหม้ |
เคารพนบน้อมจอมชัย | อรไทยทูลความตามจริง ฯ |
นางกนกเรขาทูลว่า
๏ ข้าแต่ปัฐพินทร์ปิ่นเกศ | ทรงเดชการุญคุณยิ่ง |
เปนที่ปกปักพักพิง | ทุกสิ่งเมตตาอาทร |
ข้าไซร้ใช่เกลียดมีผัว | ใช่กลัวชายกริ่งยิ่งศร |
แท้จริงใจข้าอาวรณ์ | ใคร่สู่คู่ช้อนชูชิด |
สำคัญที่ตรงองค์ชาย | มีหมายในใจไม่ผิด |
มานุษสุดภพจบทิศ | องค์เดียวข้าคิดใคร่รัก ฯ |
ท้าวชัยทัตตรัสว่า
๏ อ้าเจ้าเผ่ารัตน์ขัติเยศ | นรเศรษฐ์สูงวงศ์ทรงศักดิ์ |
ชายใดไหนเล่าเสาวลักษณ์ | ซึ่งเจ้าเพราพักตร์พึงชิด |
เผ่าพงศ์ทรงราชย์แหล่งไหน | กุลงามนามใดไกรกิตติ์ |
เหนือใต้ให้ตูรู้ทิศ | ประจักษ์จักคิดตามควร ฯ |
นางกนกเรขาทูลว่า
๏ ข้าแต่พระมหาราชา | เมตตาเชิงชอบสอบสวน |
แสนยากหากจักชักชวน | โดยขบวนเบี่ยงแบบแยบใด |
เหตุว่าข้าไซร้ไป่รู้ | ชายผู้โศภนคนไหน |
ยรรยงพงศ์เผ่าเหล่าใคร | อยู่ไหนในถิ่นดินดอน |
ทราบเพียงว่าชายนายหนึ่ง | ข้าพึงรักร่วมปัจถรณ์ |
กรุงงามนามกนกนคร | แท้เที่ยงเวียงอมรแมนฟ้า |
ชายไหนมาจากเมืองนั้น | ชายนั่นคือสามีข้า |
ใครอื่นหมื่นแสนแน่นมา | ลูกยาฤๅปลงหฤทัย ฯ |
ท้าวชัยทัตตรัสว่า
๏ ดูรานงเยาว์เสาวภาค | จักยากโดยเลศเหตุไหน |
ทราบความนามเวียงเกรียงไกร | จักให้สืบด้นค้นดู |
ร้อยพราหมณ์ถามเที่ยวเลี้ยวเลาะ | สืบเสาะสื่อความตามผลู |
พึงค้นหนไหนใคร่รู้ | โฉมตรูจงบอกบิดา ฯ |
นางกนกเรขาทูลว่า
๏ อ้าพระพีรพงศ์ทรงศักดิ์ | ยากจักสืบเสาะเลาะหา |
ลูกไซร้ไม่แจ้งจินดา | อันว่าเวียงทองก่องกาญจน์ |
จักสถิตทิศไหนในดิน | ฤๅถิ่นตรีทิพไพศาล |
เมืองนาคในมหาบาดาล | ฤๅฐานถิ่นหล้าอานันท์ |
ข้าทราบในยามศัยยา | พระอิศวรเสด็จมาเข้าฝัน |
ว่าพระภัดดาข้าอัน | ชาติบรรพ์เคยอยู่คู่ครอง |
ห่อนช้าจักสู่อยู่สม | สุขาภิรมย์ร่วมห้อง |
จักเสด็จจากเมืองเรืองรอง | งามก่องกาญจน์แก้วแพร้วพิศ |
ชายอื่นใช่ผู้คู่ชื่น | แสนหมื่นไป่ม่งปลงจิตต์ |
ขอพระบิตุรงค์ทรงฤทธิ์ | มีประกาศิตสั่งความ |
ให้ป่าวข่าวรั่วทั่วแห่ง | ทุกแหล่งกระหลบภพสาม |
ชายใดได้เรื่องเมืองงาม | อันนามเวียงทองผ่องเพ็ญ |
ให้รีบมากล่าวข่าวสาร | ยกข้อส่อพยานให้เห็น |
๔๙มาตร์แม้นมีวรรณอันเปน | ชายเช่นควรคู่ตูนี้ |
ทรงศักดิ์จักอวยชาดา | ให้เปนภริยาเสริมศรี |
ชายใดในภพธาตรี | รู้ที่รู้เรื่องเมืองนั้น |
ยินข่าวป่าวคงตรงมา | ข้าทราบสัญญาแม่นมั่น |
จักแจ้งโดยคำสำคัญ | ว่ามานพนั้นสามี ฯ |
ท้าวชัยทัตตรัสว่า
๏ อ้าเจ้าเสาวภาคเพ็ญพักตร์ | ดวงจักษุผู้ภูลศรี |
มานพเช่นเจ้าเล่านี้ | อาจมีมามากยากใจ |
เจ้าจักแจ้งจิตต์คิดมั่น | เพราะสัญญามีที่ไหน |
พ่อทราบสำคัญนั้นไซร้ | จักให้สืบทั่วธาตรี ฯ |
นางกนกเรขาทูลว่า
๏ ข้าแต่พระองค์ทรงภพ | พระคุณล้ำลบเกศี |
ทรงชัยให้ทูลเช่นนี้ | เหลือที่ลูกกล้าวายาม |
พระวิศเวศวรบอกข้า | แต่มีวาจาว่าห้าม |
มิให้พรายแพร่งแจ้งความ | ลูกจำทำตามศุลี |
พระองค์จงโปรดโทษให้ | แก่ตูผู้ใต้บทศรี |
แม้นทูลมูลความตามมี | เกรงอุมาบดีเดชิต ฯ๕๐ |
๏ เมื่อนั้น | พระนราธิราชเรืองกิตติ์ |
คำนึงอึ้งอัดขัดคิด | แปลกจิตต์เห็นยากหลากแท้ |
ข้อความตามฝันนั้นไซร้ | ควรเชื่อฤๅไม่ไม่แน่ |
สงสัยในจิตต์อิดแด | ถึงแม้จริงตามความนั้น |
เมืองไหนในถิ่นดินดอน | คือกนกนครในฝัน |
ไป่เคยยินชื่อลือกัน | บอกเบื้องเมืองอันอาจมี |
ยากหนักจักนิ่งเสียเล่า | โฉมเจ้าไร้คู่ชูศรี |
จักเลยเฉยไปไป่ดี | นารีไร้ผัวมัวพรรณ |
จำใจให้ข่าวป่าวร้อง | ทำนองนงเยาว์กล่าวสรร |
หาไม่ไหนเจ้านวลจันทร์ | จักหันหาคู่ชูพักตร์ ฯ |
๏ ทรงธรรมดำริห์เล่ห์นี้ | พลางพระภูมีมีศักดิ์ |
โปรดให้โฉมยงทรงลักษณ์ | คืนสู่ตำหนักนางใน |
ตรัสเรียกอำมาตย์มนตรี | พลางมีบรรหารขานไข |
สูจงตรงรีบเร็วไป | สั่งให้ประกาศธานี |
ลั่นฆ้องร้องข่าวป่าวทั่ว | ให้รั่วรู้รอบกรุงศรี |
ชายใดใต้หล้าธาตรี | ทราบที่ทราบเรื่องเมืองทอง |
แม้นชาติชูบวรณ์ควรอยู่ | ฝังปลูกลูกกูคู่ห้อง |
จักแบ่งราชัยให้ครอง | ทำนองราชบุตรสุดรัก |
ทั้งจักยกราชชาดา | ให้เปนชายายอศักดิ์ |
ให้เขาเข้ามาอย่าพัก | กูจักอุปถัมภ์ดำกล ฯ |
๏ บัดนั้น | คณามาตย์หลากจิตต์คิดฉงน |
รับสั่งพระองค์ทรงพล | ต่างตนคลานคล้อยถอยไป |
จัดให้ตีฆ้องร้องป่าว | ยินข่าวไร้ผู้รู้ได้ |
โจษจรรกันทั่วกรุงไกร | ต่างใคร่ทราบเรื่องเมืองทอง ฯ |
๏ ฝ่ายราชบุรุษสุดเสียง | ป่าวไปในเวียงทั้งผอง |
เสียงคนไปเคียงเสียงฆ้อง | ส่งข่าวป่าวร่องก้องไป ฯ |
๏ เจ้าเอยเจ้าจ้า ใครยินอย่าช้า เร่งมาเร็วไว ฟังคำประกาศ ดังราชหฤทัย ถ้อยคำจำไป สืบส่อต่อกัน ฯ
๏ ชายดีมีชาติ ควรสู่คู่ราช ชาดาลาวัณย์ เคยเห็นเมืองทอง งามผ่องเพียงจันทร์ จงเฝ้าเจ้าอัน ทรงสิทธิ์ฤทธี ฯ
๏ ท้าวจักยอยศ ลือชาปรากฎ เกียรติ์แกว่นแดนตรี จัดสรรปันให้ ราไชศวรศรี สารพรรณอันมี แบ่งมอบครอบครอง ฯ
๏ หนึ่งจะประทาน ยุพยงนงคราญ ลักษณ์ล้ำลำยอง องค์กนกเรขา บุบผาผิวทอง ประคบประคอง เปนคู่ชูใจ ฯ
๏ ชายดีมีชาติ แจ้งเรื่องเมืองมาศ สู่ราชเร็วไว๕๑ รางวัลอันยิ่ง ทุกสิ่งสมใจ กอบโกยโดยนัย ที่ประกาศเอย ฯ
๏ บัดนั้น | ทวยราษฎร์ยินเค้าเขาเฉลย |
แปลกมากหลากใจไม่เคย | ยินข่าวป่าวเผยเช่นนี้ |
ต่างคนเอมอิ่มยิ้มย่อง | สืบเรื่องเมืองทองผ่องศรี |
บ้างออกเดินดงพงพี | ทุกที่คลาไคลไปมา |
บางคนตนเดียวเที่ยวเดิน | ในแถวแนวเถินเนินผา |
พบลิงพบค่างช้างม้า | หมูหมาเหลือหลากมากมาย |
ไม่พบเมืองทองรองเรือง | พบเมืองเลว ๆ แหล่หลาย |
กระทิงสิงห์โตโคควาย | ไม่หมายอยากพบ ๆ มัน |
บางคนด้นไปในป่า | นึกหน้านางเลิศเฉิดฉัน |
มัวเหม่อเผลอฝ่าอารัณย์ | พบเสือ ๆ มันกัดเอา |
บางตนบ่ายตีนปีนผา | พลาดท่าหัวหกตกเขา |
ลำบากยากเข็ญเย็นเช้า | ไต่เต้าเสาะเรื่องเมืองทอง ฯ |
๏ บางพวกเกลื่อนกลุ้มกลุ่มกัน | พัลวันยัดเยียดเสียดถอง |
สืบข้อต่อความถามลอง | แซ่ซ้องในถนนกล่นไกล |
เดือดจิตต์คิดใคร่ได้ความ | เมืองงามโศภิตทิศไหน |
ต่างคนถามกันลั่นไป | หาใครจักรู้ฤๅมี |
โจษจรรบรรลือรอบด้าว | ยินข่าวยุพยงทรงศรี |
ทั่วกันบรรดาธานี | ทุกที่ใกล้ไกลในภพ |
ต่างใคร่ได้เรื่องเมืองทอง | เที่ยวท่องสืบไปไป่สบ |
แตกตื่นดื่นหน้ามานพ | ปรารภไล่เลียงเถียงกัน |
ทุกเมืองเนื่องมาไม่อยุด | อุตลุดรอบเวียงเสียงลั่น |
ระเบ็งเซ็งแซ่แจจรร | กลางคืนกลางวันฤๅเว้น |
ละการละงานดาลเดือด | ไป่เหือดดึกดื่นตื่นเต้น |
ทิ้งถิ่นเที่ยวเต้าเช้าเย็น | ขุกเข็ญลือเลื่องเครื่องร้าว |
วิวาทบาดเทลาะเบาะแว้ง | ตีรันฟันแทงกันฉาว |
กลุ่ม ๆ กลุ้มเที่ยวเกรียวกราว | เปนคราวจลาจลข้นแค้น |
ทิ้งอาชีวะละหมด | ปรากฎความเสื่อมสุดแสน |
อาการบ้านเมืองเคืองแคลน | ทั่วแดนอักอ่วนป่วนกัน ฯ |
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวชัยทัตรังสรรค์ |
ร้อนร้าวคราวเข็ญเปนควัน | ป่วนปั่นปวงราษฎร์หวาดไป |
หฤทัยราชาอาวรณ์ | เมืองกนกนครอยู่ไหน |
สงสัยใช่จริงกริ่งใจ | อรไทยเล่นหลอกออกกล |
ลวงกูผู้พ่อล่อให้ | สืบข่าวป่าวไปในหน |
น่าหัวมัวเมอเผลอตน | ให้คนฟุ้งซ่านดาลใจ |
จักจริงฤๅเล่นเช่นนึก | รู้สึกแสนเลวเหลวไหล |
ไป่เห็นเปนผลกลใด | เมืองมาศคาดได้ไม่มี |
ผู้คนเนืองแน่นแสนหมื่น | แตกตื่นมาสู่กรุงศรี |
ป่วนปั่นกันทั่วธาตรี | เพราะราชดรุณีนงลักษณ์ ฯ |
๏ พระมหาราชาอาทร | เร่าร้อนหฤทัยทรงศักดิ์ |
ดังมีดกรีดเชือดเผือดพักตร์ | โศกสลักทรวงท้าวร้าวราน ฯ |
• • • • • • • • •
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวธรรมราชอาจหาญ |
ครอบครองอละกามานาน | สำราญเลื่องชื่อลือชา |
ไพรีเข็ดนามขามยศ | ปรากฎรู้รั่วทั่วหล้า |
ทรงเดชเขตรอบขอบฟ้า | แกล้วกล้ารณรงค์วงศ์ราม ฯ |
๏ ท้าวมีโอรสเลอศักดิ์ | ทรงลักษณ์เลิศลบภพสาม |
โศภาอาภรณ์งอนงาม | ทรงนามอมรสิงห์พริ้งพักตร์ |
คือพญากมลมิตรมาเกิด | ชื่นเชิดชูวงศ์ทรงจักร |
องอาจชาติฟ้ากล้านัก | สมศักดิ์สมศรีมีชัย |
ศึกษาศรศาสตร์อาจสุด | ยงยุทธกาจแกว่นแดนไหว |
เข้มแขงแรงล้ำกำไร | ริปูรู้ไปใจคร้าม |
แสงขรรค์บั่นเศียรเสี้ยนเศิก | เอิกเกริกเลื่องชื่อลือขาม |
แคล่วคล่องคลองรงค์สงคราม | ห้าวหาญชาญสนามน่าชม ฯ |
๏ นารีมีใจใคร่หา | อาศาเปนคู่สู่สม |
เพลิงราคมากไหม้ใจกรม | รันทมทุกข์เร้าเผาใจ |
ตามตอมด้อมเมียงเอียงอาย | ล้อมรายเรียงรุมกลุ้มใกล้ |
ถดถอยชม้อยชม้ายกรายไป | หฤทัยรัญจวนมวนกาม |
ท่าเย้าทียวนชวนชิด | ครวญใคร่ในจิตต์วับหวาม |
รักเธอ ๆ ห่อนผ่อนตาม | นางงามพระไม่ไยดี ฯ |
๏ ปางท้าวธรรมราชเลอเดช | สังเกตโอรสเรืองศรี |
๕๒ยรรยงทรงลักษณ์รูปี | ไม่มีใครเทียบเปรียบปาน |
๕๓ศัตรูศัสตรีหนีหน้า | ไป่กล้าปองรายหมายผลาญ |
แสนสง่าอ่าโอ่โอฬาร | องอาจชาติทหารเหิมรณ |
ทนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมา | นับว่าสำเร็จเผล็ดผล |
หมายไว้ได้สมใจตน | ปวงชนจงรักภักดี |
ยุพราชขาดคู่ชูชื่น | เริงรื่นอารมณ์สมศรี |
รำลึกตรึกหานารี | ดรุณีลูกท้าวด้าวใด |
ควรสู่อยู่ห้องครองคู่ | ลูกกูบุญหนักศักดิ์ใหญ่ |
สำรวจตรวจตรึกนึกไป | นึกได้หนึ่งหน้านารี |
ลูกสาวท้าวใหญ่ไกรยศ | จิตรรถราชาอ่าศรี |
จอมแคว้นแกว่นกล้าราวี | ไพรีเข็ดฤทธิ์คิดท้อ |
มีราชดรุณีศรีศักดิ์ | กูจักจัดให้ไปขอ |
สมพงศ์สมเผ่าเหล่ากอ | คงยอทรามวัยให้พลัน๕๔ |
ได้สาวสะใภ้ใสศรี | ดังมีน้ำใจใฝ่ฝัน |
จักสบจิตต์สุขทุกวัน | แม่นมั่นสมมาดปราศร้อน ฯ |
๏ ทรงเดชเกศกษัตร์ตรัสสั่ง | เขาฟังคำองค์ทรงศร |
จัดทูตพูดไวให้จร | สื่อสู่ภูธรจิตรรถ |
ขอองค์อรรคราชชาดา | คือเพ็ญเผ่นฟ้าปรากฎ |
เษกสองครองคู่ตรูยศ | กำหนดการในไม่ช้า ฯ |
๏ ปางท้าวธรรมราชเรืองรัตน์ | ดำรัสสั่งไปให้หา |
องค์ราชโอรสเจ้ามา | ราชาออกอัตถ์ตรัสพลัน ฯ |
ท้าวธรรมราชตรัสว่า
๏ ดูราอมรสิงห์ยิ่งยศ | โอรสผู้เลิศรังสรรค์ |
เจ้าไร้ชายาลาวัณย์ | ร่วมน้องครองกันฉันทิต |
ทรงลักษณ์ศักดิ์เลิศเชิดหน้า | แกล้วกล้าสมวงศ์ทรงกิตติ์ |
สมควรมีคู่ชูชิด | โดยหวังดังจิตต์บิดา |
พ่อตรึกนึกในใจมั่น | จักสรรสมบุญสุณหา๕๕ |
นางหนึ่งซึ่งเปนชาดา | จิตรรถราชาธิบดี |
โศภาอ่าองค์นงลักษณ์ | สมศักดิ์สมทรงพงศ์สีห์ |
สมปองสองราชธานี | เปนแผ่นปัฐพีเดียวกัน ฯ |
๏ เมื่อนั้น | ยุพราชฤทธิ์เลิศเฉิดฉัน |
ยินตรัสบิตุรงค์ทรงธรรม์ | เธอพลันก้มกราบทูลไป ฯ |
พระอมรสิงห์ทูลว่า
๏ ข้าแต่พระมหาราชา | วาจาภูบาลขานไข |
การุญคุณลบภพไตร | หาไหนจักเหมือนฤๅมี |
ข้านี้มีคู่อยู่แล้ว | คือพระขรรค์แก้วชัยศรี |
ไป่คิดใคร่หานารี | ภูมีจงทราบบทมาลย์ ฯ |
ท้าวธรรมราชตรัสว่า
๏ ดูราลูกเราเผ่าขัติย์ | เจ้าตรัสไม่เปนแก่นสาร |
วาจาน่ารกำรำคาญ | ชายชาญเหตุไฉนไร้คิด |
เจ้าลูกคนเดียวของพ่อ | จำต่อเผ่าพงศ์ทรงสิทธิ์ |
ไม่คิดมีคู่ชูชิด | เหมือนจิตต์จักสลัดตัดวงศ์ |
เผ่าราชแหล่งนี้จักสูญ | ประยูรยับยุ่ยผุยผง |
อยาขืนยืนคำจำนง | เจ้าจงตรึกไตรให้ดี ฯ |
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอมรสิงห์เรืองศรี |
ยินพระบิดาพาที | อัญชลีนรราชเรืองชัย |
ห่อนรับคำพระบิตุรงค์ | ห่อนขัดคำองค์อดิศัย |
บังคมก้มลาคลาไคล | คืนไปสู่ที่ศัยยา ฯ |
๏ ปางท้าวธรรมราชรังสรรค์ | สามวันรับสั่งให้หา |
องค์ราชโอรสเข้ามา | พลางมีวาจาตรัสซัก |
อมรสิงห์ยืนคำร่ำไป | ภูวนัยพักตร์นิ่วกริ้วหนัก |
พระนราธิบดีชี้ชัก | ทั้งรักทั้งร้อนถอนใจ |
ท้าวธรรมราชตรัสว่า
๏ ดูก่อนกุมารหาญดื้อ | เจ้าถือเยี่ยงแยบแบบไหน |
คิดความตามเลศเหตุไร | จักไม่ชื่นชมรมณี๕๖ |
จักเสียคำตูผู้พ่อ | ส่งข่าวกล่าวขอโฉมศรี |
ลูกสาวท้าวพญาธานี | ทรงสิทธิ์ฤทธีเกรียงไกร |
เจ้าดื้อคือเจ้าจะริ | ส่อร้าวสาวอริเรื่องใหญ่ |
บ้านเมืองเคืองเข็ญเปนไป | เพราะใจเจ้าถือดื้อดึง ฯ |
พระอมรสิงห์ทูลว่า
๏ ข้าแต่บิตุรงค์ทรงภู | แม้นกษัตร์ศัตรูจู่ถึง |
เพียบพยู่ห์ผู้คนพลอึง | ไป่พึงร้อนจิตต์บิดา |
ข้านี้แกล้วกล้าอาวุธ | ชาญสุดเชิงศึกศึกษา |
ไพรีนี่นันกันมา | ลูกยาฤๅย่อต่อฤทธิ์ ฯ |
ท้าวธรรมราชตรัสว่า
๏ ดูก่อนกุมารชาญศึก | หาญฮึกรณรงค์ทรงอิทธิ์ |
เศิกกล้ามาแวดแปดทิศ | เจ้าคิดไป่กริ่งชิงชัย |
รู้ดอกเจ้าทรงฤทธี | ข้อนั้นไม่มีสงสัย |
ห่อนคิดยำเยงเกรงใคร | ศัตรูผู้ใดไป่รอ |
แต่เจ้าจงรำลึกว่า | คำข้าซึ่งไปสู่ขอ |
เลอะเลื่อนเหมือนปดคดงอ | อันพ่อเปนใหญ่ในดิน |
กล่าวแล้วแคล้วข้อสัญญา | เสื่อมเสียยิ่งกว่าเสียสิน |
อื้อฉาวกล่าวไปใครยิน | จักนินทาทั่วชั่วจริง ฯ |
พระอมรสิงห์ทูลว่า
๏ อ้าพระธรณินทร์ปิ่นเกศ | ทรงเดชเกรียงไกรใหญ่ยิ่ง |
ใครกล้ากล่าวหาญค้านติง | ลูกรักจักชิงชีพมัน |
ผู้อาจนินทาว่าร้าย | จักวายชนม์ม้วยด้วยขรรค์ |
แม้นดามาดื่นหมื่นพัน | เศียรมันจักขาดดาษดา ฯ |
ท้าวธรรมราชตรัสว่า
๏ อ้าเจ้าเฉาจิตต์คิดตื้น | ใครอื่นห่อนเห็นเช่นว่า |
คนกล่าวข่าวฉินนินทา | จักเที่ยวเคี่ยวฆ่าดังฤๅ |
อย่าทำกำเริบเอิบจิตต์ | เหิมคิดคำนึงดึงดื้อ |
พ่อกล่าวเจ้าห่อนผ่อนปรือ | ได้ชื่อว่าชั่วมัวมนท์ ฯ |
พระอมรสิงห์ทูลว่า
ข้าแต่พระองค์วงศ์ราม | ข้าเคยทำตามทุกหน |
ครั้งนี้อาภัพอับจน | ทรงพลจงโปรดปรานี |
ข้ามีนางหนึ่งในจิตต์ | เปนนิตย์นึกหามารศรี |
นางอื่นหมื่นหน้านารี | ลูกไซร้ไม่มีใจรัก ฯ |
๏ เมื่อนั้น | พระนราธิราชเลอศักดิ์ |
ยินคำพระดนุชสุทธลักษณ์ | เห็นจักสมใจไป่แคล้ว |
ตรัสว่าอ้าเจ้าเอารส | ยงยศฦๅชากล้าแกล้ว |
นางไหนฉายเฉิดเพริศแพร้ว | ลูกแก้วตรึกไตรใคร่ชิด |
ตำแหน่งแหล่งไหนใต้หล้า | ราชาธิบดีมีกิตติ์ |
ลูกสาวท้าวใดในทิศ | จงแถลงแจ้งจิตต์บิดา ฯ |
พระอมรสิงห์ทูลว่า
๏ ข้าแต่พระชนกภูวนัย | ทรงชัยตรัสตั้งปัญหา |
เหลือรู้ตูจนปัญญา | จิตต์ข้าเห็นยากหลากแท้ |
สองเดือนต่อครั้งข้าฝัน | เห็นน้องผ่องพรรณเพ็ญแข |
ลักษณ์ล้ำน้ำนวลยวนแด | ยิ่งแลยิ่งล้ำอำไพ |
เรือจันทร์อันกลิ่นกลบทั่ว | สระบัวศรีส่องผ่องใส |
อันองค์นงรามทรามวัย | เนาในเรือนวลชวนชม |
พายเงินงามเงาเพราพราย | นวลฉายยึดด้ามงามสม |
เรือน้อยลอยลำขำคม | บัวฉมชูล้อมห้อมเรือ |
งามพักตร์เพียงไหนไม่เห็น | รูปทรงนงเพ็ญงามเหลือ |
ใคร่สิงอิงแอบแนบเนื้อ | ห่อนเบื่อตาพิศติดตา |
นงรามนามไรไม่แจ้ง | ตำแหน่งสรวงสรรชั้นหล้า |
ฤๅแหล่งแห่งใดใต้ฟ้า | ลูกยาห่อนแจ้งใจตู |
ชั่งจิตต์เชื่อใจในฝัน | นางนั้นนึกเห็นเปนคู่ |
จักสถิตทิศใดในภู | เหลือรู้เหลือคิดติดตาม |
นึกมั่นวันใดวันหนึ่ง | นางซึ่งงามลบภพสาม |
คงสู่คู่สิงจริงตาม | ในความซึ่งฝันนั้นแท้ |
ข้าคอยยุพยงองค์นั้น | แม่นมั่นเปนคู่รู้แน่ |
หญิงอื่นหมื่นแสนแม่นแด | ถึงแม้มาใกล้ไม่ชม ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อวนินทร์ยินห่อนเห็นสม |
สรวลเย้ยเหวยเจ้าเมางม | โสมมมึนเมอเผลอมัว |
นางไหนเสาวภาคหลากเหลือ | ลอยเรือโศภาหาผัว |
งามทั่วกลั้วทองทั้งตัว | แหวกบัวมือกวักพักตร์พริ้ง |
แม้นเจ้าฝันเห็นเช่นว่า | เปนบ้าเพราะเขลาเข้าสิง |
เฉาเหลือเชื่อเล่นเปนจริง | ไป่กริ่งเกรงผู้ไยไพ |
หรือหลอกออกมาว่าฝัน | หมายมั่นให้พวงหลงใหล |
กล่าวคำกล้ำความตามใจ | หวังไม่ตามจิตต์บิดา |
หากเจ้าเฉาเชื่อความฝัน | เช่นนั้นจริงจังดังว่า |
เจ้าจงปลงเปลี่ยนศรัทธา | มิฉะนั้นเปนบ้าเปนแท้ |
หากเจ้าลวงพ่อล่อหลอก | จักบอกจงเชื่อใจแน่ |
เปลี่ยนคิดเถิดเจ้าเบาแด | หลอกพ่อล่อแม่ไม่ดี ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อมรสิงห์เคืองข้องหมองศรี |
เฉียวฉุนขุ่นข้อพาที | ทูลนราธิบดีทันใด |
ข้าทูลมูลความตามจริง | ไป่กริ่งจักทรงสงสัย |
บัดนี้ท้าวเห็นเปนไป | ว่าตูผู้ดนัยไร้คิด |
ลวงพ่อล่อผู้มีคุณ | ทารุณยิ่งสุดทุจริต |
ดูถูกลูกองค์ทรงฤทธิ์ | แค้นจิตต์มาเปนเช่นนี้ |
วาจาข้าทูลนั้นไซร้ | ภูวนัยจงทราบบทศรี |
จักเชื่อมิเชื่อตามที | ข้านี้ไม่เห็นเปนไร |
อันนางซึ่งไปสู่ขอ | มาตรแม้นแม่พ่อยกให้ |
เชิญพระบิตุรงค์ทรงชัย | เอาไว้เปนราชชายา |
ข้าไซร้ไม่มีจำนง | ดังซึ่งท้าวทรงปรารถนา |
ใคร่ได้ดวงมาลย์กานดา | นางในฝันข้าองค์เดียว |
หญิงอื่นหมื่นแสนแน่นมา | หมดในใต้หล้าฟ้าเขียว |
ไม่ขอสู่สมกลมเกลียว | จักเหนี่ยวจักรั้งฤๅตาม ฯ |
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวธรรมราชเรืองสนาม |
ยินคำสำนวลลวนลาม | วู่วามคือไฟไหม้ฟ้า ฯ |
ท้าวธรรมราชตรัสว่า
๏ พูดจาฉุนเฉียวเจียวสู | ดูดู๋บังอาจกาจกล้า |
หลู่กูผู้เปนบิดา | ไม่เกรงอาญาย่อท้อ |
ดีหละจะได้เห็นกัน | เชื่อฝันยิ่งกว่าเชื่อพ่อ |
พูดหยาวกล่าวพจน์คดงอ | ไม่ง้อเห็นงามตามใจ ฯ |
๏ ตรัสพลางเรียกราชตำรวจ | สำแดงแรงดวจเสือใหญ่ |
เชิญพระกุมารชาญชัย | ให้ไปที่ขังคุมองค์ |
ตรึกไตรในราชหฤทัย | คงไม่แคล้วคลาดมาดม่ง |
แม้นสละละพยดลดลง | แปรปลงเปลี่ยนปลดพจน์ร้าย |
จึ่งถอดคืนมาตั้งแต่ง | อยู่ในตำแหน่งเฉิดฉาย |
เษกสองครองกันพรรณราย | สมหวังดังหมายไม่แคล้ว |
ตราบใดดึงดื้อถือฝัน | โมหันธ์เห็นว่ากล้าแกล้ว |
ใฝ่หาโฉมฉายพรายแพรว | นางแก้วในฝันนั้นไซร้ |
ตราบนั้นไม่ถอดจากจำ | ให้มันครวญคร่ำร่ำไห้ |
มีฝันเปนเพื่อนเตือนใจ | ทนได้ทนไปช่างมัน ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อมรสิงห์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
คิดแสนแค้นเจียนจาบัลย์ | บิตุรงค์ทรงธรรม์ฉันใด |
ตูตั้งใจตรงองค์นาง | อยู่ห่างในแห่งแหล่งไหน |
เปนคู่รู้แจ้งจริงใจ | จึ่งได้เวียนฝันฉันนี้ ฯ |
๏ อ้าเจ้าเสาวภาคเพ็ญโฉม | ดังโสมส่องหล้าราศี |
แจ่มลักษณ์เลิศหล้านารี | ไม่มีพรรณเพ็ญเช่นน้อง |
ลอยกลางอ่างบัวยั่วจิตต์ | ทศทิศหาไหนได้สอง |
เรือจันทร์โศภาทาทอง | พายเงินลำยองพึงยล |
งามบัวชูห้อมล้อมเฝ้า | งามเจ้าแจ่มห้องเวหน |
หมายโลมโฉมเฉลาเสาวคนธ์ | นิรมลอยู่ไหนไม่รู้ |
หวังไว้ไม่สมดังปอง | คิดใคร่ได้น้องครองคู่ |
อันพระบิตุรงค์ทรงภู | เธอวู่วามโกรธโทษกรณ์ |
คุมขังดังไพร่ใจร้าย | แสนอายอกเบื่อเหลือถอน |
จักลี้หนีออกซอกซอน | เดิรป่าฝ่าดอนโดยกรรม |
สืบตามทรามวัยในฝัน | บุกบั่นแขงขืนคืนค่ำ |
เคราะห์ดีผีหนุนบุญนำ | คงสำเร็จจิตต์คิดปอง ฯ |
๏ อมรสิงห์นิ่งนึกตรึกไตร | ช้ำในอกอัดกลัดหนอง |
หงุดหงิดจิตต์ใจไข้ครอง | ขัดข้องขุ่นล้ำรำคาญ |
เล่าเหตุระหัสให้รู้ | จึ่งผู้คุมคิดสงสาร |
ภักดีศรีราชกุมาร | ยิ่งกว่าภูบาลนฤบดี |
เธอแจ้งจำนงทรงหมาย | อุบายปลดปลีกหลีกหนี |
เขาทำไม่รู้ดูที | เหมือนมีใจเผลอเมอมนท์ |
พระเสด็จเตร็จหนีที่ขัง | มุ่งตั้งพักตร์ไปในหน |
จรจู่สู่ป่าฝ่าพน | ดั้นด้นหลีกลี้หนีไป ฯ |
๏ บัดนั้น | ผู้คุมแสร้งรงับหลับใหล |
รุ่งเช้าป่าวกันลั่นไป | เธอหนีทางไหนไม่รู้ |
แสร้งค้นด้นหาหน้าตื่น | ร้ายเหลือเมื่อคืนยังอยู่ |
ทุกแหล่งแบ่งเที่ยวเกรียวกรู | เที่ยวดูเที่ยวตามหลามกัน ฯ |
๏ บ้างเข้าเฝ้าพระภูวนาถ | องค์ท้าวธรรมราชรังสรรค์ |
ทูลว่าราโชรสอัน | คุมไว้ในพันทิ์ศาลา๕๗ |
หายไปในเช้าวันนี้ | ภูมีจงโปรดโทษข้า |
ร้อนตัวกลัวราชอาชญา | รักษาเธอไว้ไม่ดี |
แท้จริงกริ่งใจไม่ขาด | ว่าอาจหลีกเลี่ยงเบี่ยงหนี |
ทุกวารทิวาราตรี | ไม่มีปล่อยปละละเลย |
ยุพราชอาจลี้หนีได้ | อยู่ ๆ จู่ไปเฉย ๆ |
แปลกมากหลากใจไม่เคย | ได้เปนเช่นเฉลยนี้ไซร้ |
แล้วแต่พระอาญาราช | แห่งพระภูวนาถเปนใหญ่ |
จักโปรดโทษการฐานใด | ตามแต่ภูวนัยปรานี ฯ |
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวธรรมราชเรืองศรี |
ยินข่าวร้าวจิตต์ภูมี | มันหนีไปไหนในแดน |
แหวดตวาดกราดกริ้วนิ่วพักตร์ | แค้นนักน่าโกรธโทษแสน |
ควรหั่นบั่นหัวมึงแทน | สับให้ไม่แค้นคอกา |
ดูดู๋ไว้ใจให้เฝ้า | ลูกเจ้าเฟี้ยมฟักรักษา |
ฟั่นเฟือนเหมือนกับหลับตา | ควรเฆี่ยนควรฆ่าสาใจ |
กูจักงดโทษโปรดก่อน | จงร้อนรีบฝ่าป่าใหญ่ |
ทุกทิศทุกทางห่างไกล | ทุกไศละสิ้นดินดอน |
ลูกกูอยู่ไหนในภพ | หาจบธานีที่ซ่อน |
เที่ยวตรับทุกตรอกซอกซอน | รีบจรไว ๆ ไป่ช้า ฯ |
๏ ภูธเรศร้อนรนหม่นไหม้ | หฤทัยรัญจวนหวนหา |
เนืองนิตย์จิตต์ผูกลูกยา | อ่วนอาดูรเศร้าเนาทรวง ฯ |
• • • • • • • • •
๏ เมื่อนั้น | อมรสิงห์ทรงลักษณ์ศักดิ์หลวง |
หลบลี้หนีพ้นคนปวง | ในดวงแดช้ำลำเค็ญ |
ออกจากอละกาธานี | ยิ่งทวีทุกข์แค้นแสนเข็ญ |
เปล่าเปลี่ยวเที่ยวเต้าเช้าเย็น | ปลอมเปนชายต่ำทำกล |
ซอกแซกแหวกไปในเหล่า | ชนเผ่าพงศ์ซามตามหน |
ชอกช้ำลำบากยากจน | ดั้นด้นเดิรป่าหากิน |
เสาะหาโฉมยงนงเยาว์ | ผู้เนาเรือน้อยลอยสินธุ์ |
สระบัวทั่วไปในดิน | เธอยินรีบมุ่งตรงไป |
คอยดูอยู่รอบขอบหนอง | ไป่สบพบน้องผ่องใส |
ทรามวัยในฝันนั้นไซร้ | หาใครจักเหมือนฤๅมี ฯ |
๏ เที่ยวไปในเมืองทั้งหลาย | ห่อนหน่ายนึกหามารศรี |
ทุกเทศเขตขอบธานี | สัตรีใด ๆ ไป่คล้าย |
วันหนึ่งถึงเวียงเกรียงไกร | กรุงอินทิราลัยเฉิดฉาย |
กินข่าวป่าวคำกำจาย | หาชายรู้เรื่องเมืองทอง |
เสียงคนเสียงฆ้องก้องลั่น | พัลวันยัดเยียดเสียดถอง |
สืบข้อต่อความถามลอง | แซ่ซ้องทั่วหน้าธานี ฯ |
๏ อมรสิงห์นิ่งไว้ไม่เอื้อ | แสนเบื่อเสียงฆ้องก้องมี่ |
เบื่อยินวาจาพาที | เบื่อนามยูนีนงคราญ |
เบื่อชนชาวเวียงเกรียงไกร | จักพูดกับใครไป่ขาน |
หาใครไม่บ้าสามานย์ | ในล้านไม่ถึงกึ่งคน |
เบื่อโลกเบื่อมีชีวิต | คิด ๆ ไม่เห็นเปนผล |
จักทรงชีพไปไป่ยล | ประโยชน์แก่ตนสักน้อย |
ขรรค์นี้คมกล้าสาหัส | จักตัดเศียรอาจขาดผลอย |
กาลเก่ากองกรรมทำรอย | ตามคอยล้างผลาญฐานนี้ ฯ |
๏ ขรรย์ชักจักเชือดเงือดเงื้อ | หมายเมื้อสู่เบื้องเมืองผี |
พอแว่วยินฆ้องร้องมี | คำที่เปิดข่าวป่าวไป ฯ |
๏ เจ้าเอยเจ้าข้า ใครยินอย่าช้า เร่งมาเร็วไว ฟังคำประกาศ ดังราชหฤทัย น้อยคำจำไป สืบส่อต่อกัน ฯ
๏ ชายดีมีชาติ ควรสู่คู่ราช ชาดาลาวัณย์ เคยเห็นเมืองทอง งามผ่องเพียงจันทร์ จงเฝ้าเจ้าอัน ทรงสิทธิ์ฤทธี ฯ
๏ ท้าวจักยอยศ ลือชาปรากฎ เกียรติแกว่นแดนตรี จัดสรรปันให้ ราไชยศวรศรี สารพรรณอันมี แบ่งมอบครอบครอง ฯ
๏ หนี่งจะประทาน ยุพยงนงคราญ ลักษณ์ล้ำลำยอง องค์กนกเรขา บุบผาผิวทอง ประคับประคอง เปนคู่ชูใจ ฯ
๏ ชายดีมีชาติ แจ้งเรื่องเมืองมาศ สู่ราชเร็วไว รางวัลอันยิ่ง ทุกสิ่งสมใจ กอบโกยโดยนัย ที่ประกาศเอย ฯ
พระอมรสิงห์ทรงคิดว่า
๏ อ้ากูรู้ข่าวป่าวร้อง | ทำนองที่เขากล่าวเผย |
ร้อยครั้งไป่ผิดนิดเลย | เราเฉยเพราะเหลือเบื่อยิน |
ฟัง ๆ ยั้งใจได้คิด | กูนี้ชีวิตจักวิ่น |
เหตุมีใจจงปลงจินต์ | เกลียดสิ้นเลือดเนื้อเบื่อนัก |
จักเชือดคอตายวายชืพ | ไป่ควรด่วนรีบเร็วหนัก |
ใจปองลองเล่นสักพัก | ใครจักรู้เท่าเราทำ |
เรื่องที่ตีฆ้องร้องป่าว | สืบข่าวเวียงงามความขำ |
หาผู้รู้เรื่องเมืองคำ | จดจำมาได้ไม่มี |
แม้นกูจู่เข้าเล่าแจ้ง | หลักแหล่งเวียงทองผ่องศรี |
ใครจักเปนผู้รู้ที | กูนี้กล่าวบอกหลอกลวง |
อาจเสร็จสมหวังดังใจ | จวบได้ตำแหน่งเขยหลวง |
ใครเล่าเชาวน์ล้นชนปวง | จักล่วงคัดค้านฐานใด |
ได้ยศได้ศักดิ์หนักหนา | ภายน่านึกเห็นเปนใหญ่ |
อาจยกกองทัพฉับไว | คืนไปอละกาธานี |
พระชนกยกเมืองให้ใคร | ทัพใหญ่ฤๅย่อท้อหนี |
จักเข้ารุกโรมโจมตี | ไพรีแพ้เราเข้าครอง |
ส่วนปรัตยุบันนั้นเล่า | กูเชาวน์เชี่ยวแล้วแคล่วคล่อง |
ใครจักซักความถามลอง | ทำนองไล่เลียงเสียงเรา |
จักหลอกว่าได้ไปยล | เมืองทองโศภนบนเขา |
ล้ำเลิศเฉิดฉายพรายเพรา | ผิวทองผ่องเงางามตา |
ใคร ๆ ก็ไม่เคยเห็น | กูอาจพูดเล่นเช่นว่า |
ซักไซร้ไป่พรั่นปัญญา | ปัญหาตอบได้ไม่คร้าม |
หากจักจับปดกูได้ | โทษทัณฑ์อันใดไม่ขาม |
เหตุเรามีจิตต์คิดความ | จักฆ่าตนตามใจตัว |
ราชทัณฑ์ฉันไหนไม่ว่า | ไม่ยิ่งไปกว่าตัดหัว |
บรรดาโทษกรณ์ห่อนกลัว | กูจักฆ่าตัวอยู่แล้ว ฯ |
๏ ตรองตรึกนึกเห็นเช่นนั้น | พลางสอดแสงขรรค์คมแกล้ว |
คืนลงฝักฉายพรายแพรว | คล่องแคล่วออกอัตถ์ตรัสไป ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสว่า
๏ อ้าราชบุรุษสุดเหนื่อย | ตีฆ้องร้องเรื่อยไปไหน |
เมืองชื่อเวียงคำอำไพ | ข้าได้ไปสู่อยู่นาน |
เร็วมาพาตูไปเฝ้า | ทูลเจ้าตามข่าวกล่าวขาน |
เสื้อผ้าแพรแพรวแก้วกาญจน์ | ประทานต่างๆ รางวัล ฯ |
๏ บัดนั้น | ราชบุรุษยินดีขมีขมัน |
พาองค์อมรสิงห์ไปพลัน | สู่พระโรงอันโอฬาร |
ทูลท้าวชัยทัตภูมี | ว่าชายหนุ่มนี้กล้าหาญ |
เปนผู้รู้เรื่องเมืองกาญน์ | จงทราบบทมาลย์ภูมี ฯ |
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวชัยทัตเทียมสีห์ |
ภูวนัยได้ยินยินดี | สมที่ทรงถวิลจินดา |
พิศองค์อมรสิงห์พริ้งพักตร์ | ท่วงทีมีศักดิ์หนักหนา |
แต่ไฉนเปื้อนดำต่ำช้า | เสื้อผ้าคร่ำเครอะเปรอะนัก |
จักพาหาองค์นงราม | ไต่ถามโฉมยงทรงศักดิ์ |
นงเพ็ญเห็นชอบสอบซัก | จึงจักรู้ความตามการณ์ ฯ |
ท้าวชัยทัตพาพระอมรสิงห์ไปยังพระราชธิดาแลตรัสว่า
๏ อ้าเจ้าเพราพักตร์ศักดิ์ศรี | ชายนี้มีข่าวกล่าวขาน |
ทราบเรื่องเมืองคำชำนาญ | นงคราญจุ่งฟังดังจง |
ไถ่ความถามถ้อยดูเถิด | โชคเชิดชูใจใช่หลง |
สอบซักหลักอันมั่นคง | อาจตรงตามฝันกันดา ฯ |
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์กนกเรขา |
ยินคำดำรัสราชา | วนิดานิ่งเพ่งเล็งพิศ |
ชายนี้ลักษณะประจักษ์ | เหมือนจักรู้จักแจ้งจิตต์ |
เคยเห็นหนใดในทิศ | ยิ่งคิดยิ่งหลากหฤทัย |
ตัวตูอยู่ยังวังนี้ | เคยเห็นชายนี้ที่ไหน |
โอกาสปราศแท้แน่ใจ | ไป่ได้เคยพบสบพักตร์ |
แต่ตูรู้สึกนึกเห็น | เหมือนเช่นว่าผู้รู้จัก |
รูปร่างหน้าตาน่ารัก | ทึกทักหฤทัยใคร่รู้ |
จำจักซักถามความลอง | เมืองทองอยู่ไหนในผลู |
แม้นเปนคู่ครองของตู | อาจรู้เร็วพลันทันใจ ฯ |
นางกนกเรขาตรัสว่า
๏ ดูราบุรุษผุดผ่อง | เมืองทองอยู่แหล่งแห่งไหน |
ท่านได้เดินด้นหนใด | มีพยานฐานไหนใคร่ยิน |
อันกนกธานีนี้ไซร้ | อยู่ไหนอ้างว้างกลางสินธุ์ |
ปัจฉิมฤๅว่าปราจิน | ทักษิณฤๅเหนือเมื้อไป |
ท่านจงชี้แจงแจ้งความ | เมืองงามไพจิตรทิศไหน |
แผนที่ชี้ทางอย่างไร | จริงใจจงแถลงแจ้งความ ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อมรสิงห์กุมารชาญสนาม |
เห็นราชบังอรงอนงาม | วับหวามใจป่วนอ่วนทรวง |
โศภาอาภรณ์อ่อนช้อย | ดังย้อยจากแคว้นแดนสรวง |
ผิวทองผ่องเห็นเพ็ญยวง | นางปวงงามใกล้ไม่มี |
งามกรรณงามแก้มแย้มยิ้ม | พักตร์พริ้มเพราองค์ทรงศรี |
งามพระนัยนานารี | รังสียิ่งจันทร์วันเพ็ญ |
รัสมีสีนิลสิ้นภพ | มานพหนุ่มไหนได้เห็น |
จะรทมหฤทัยไม่เว้น | คือเปนทาสนางอย่างกู |
พระรูปพระราชกานดา | ดูคุ้นกับตาเราอยู่ |
เคยเห็นเคยชมโฉมตรู | ฤๅไรไม่รู้เมื่อไร |
กูไซร้ไม่อาจได้เห็น | รูปทรงนงเพ็ญที่ไหน |
แปลกจิตต์คิดมาคิดไป | คิดไม่ตกหนอท้อคิด |
นึกเห็นเป็นนางในฝัน | นวลจันทร์อำไพไพจิตร |
เสาวภาคโศภาน่าพิศ | เรือขำลำนิดนางเนา |
ไป่เคยเห็นเนตรเหตุว่า | ไป่เคยเห็นหน้านวลเจ้า |
จึ่งไม่สามารถคาดเดา | นัยนานงเยาว์อย่างไร |
รัศมีสีนิลอย่างนี้ | ฤๅเนตรดรุณีอย่างไหน |
เหลือคิดเหลือขัดอัดใจ | หฤทัยทึก ๆ ตรึกตรอง |
ยินถ้อยยุพยงทรงถาม | คิดขามใจข่นหม่นหมอง |
รังเกียจเคียดคำทำนอง | ซึ่งปองจักกล่าวข่าวเท็จ |
จักทูลคำใดใช่สัตย์ | อึดอัดห่อนทำสำเร็จ |
ขื่นขมอมปดคดเคล็ด | พึงเข็ดพึงจำรำคาญ |
นางกษัตร์ตรัสเตือนเหมือนกับ | ยุพยงทรงสับด้วยขวาน |
อักอ่วนป่วนปั่นพรั่นนาน | จึ่งมีพจมานทูลไป |
พระอมรสิงห์ทูลนางว่า
๏ อ้าองค์พระราชดรุณี | ข้านี้ห่อนแน่ทางไหน |
เมืองหนึ่งซึ่งข้าคลาไคล | ดำเนินใกล้ไกลไป่จำ |
เวลาช้าเร็วฤๅทราบ | ที่ลุ่มทราบเดินร่ำ |
ใต้เหนือเหลือบอกชอกช้ำ | บนบกในน้ำลืมเลอะ |
ทิศไหนทางไหนไม่รู้ | ใจตูหลงเลือนเปื้อนเปรอะ |
ดวงจิตต์ผิดเผลอเซ่อเซอะ | งะเงอะโง่เห็นเช่นนี้ |
เลือน ๆ เหมือนได้ไปถึง | เมืองหนึ่งเปนทองผ่องศรี |
สิ่งอื่นจำได้ไม่มี | เทวีจุ่งแจ้งใจนาง ฯ |
๏ เมื่อนั้น | ยุพยงทรงแค้นแสนหมาง |
ฟังบอกหลอกเล่นเปนทาง | ปราศสัตย์ขัดขวางในคอ |
พูดไม่เต็มปากหลากเหลือ | บ้าเบื้อเช่นนี้มีหนอ |
ย้อนยอกหลอกเล่นเห็นพอ | มาล่อหมายราชนารี |
เรานี้สิพวงหลงใหล | คิดไปว่าทรงศักดิ์ศรี |
นึกเห็นเปนเหล่าเผ่าดี | ผู้มียศด้อมปลอมมา |
ช่างเปนไปได้ใจตู | นึกเห็นเช่นรู้จักหน้า |
รูปร่างอย่างนั้นมั่นตา | เหมือนว่าเคยพบเนือง ๆ |
พลาดผิดจิตต์เราเฉาโฉด | ประโยชน์เปล่าปลดหมดเรื่อง |
เจ็บแสบแปลบแสนแค้นเคือง | เปนเครื่องคนหยามลามเลีย |
เผลอจิตต์พูดจาพาที | ย่อมเห็นเปนที่เสื่อมเสีย |
อันชนชาติชั่วปัวเปีย | เหมือนเหี้ยขึ้นเรือนเปื้อนพลัน |
ครู่หนึ่งนางแสนแค้นเข็ญ | อีกครู่กลับเห็นเปนขัน |
สำรวลหวลตรัสอัตถ์อัน | เย้ยหยันคำปดคดงอ ฯ |
นางกนกเรขาตรัสว่า
๏ ดูราบุรุษสุดเปรื่อง | พูดจาเปนเรื่องเจียวหนอ |
ผ้าเสื้อเหลือคล้ำกำรอ | ลวงล่อเลอะเลื่อนเหมือนตม |
น่าเชื่อจริงหนอข้อเล่า | ฟังเล่าคำเท็จเข็ดขม |
จักกลืนขื่นเหลือเบื่ออม | มุสาโสมมเช่นนี้ |
แม่นยำจำได้ไปถึง | เมืองหนึ่งงามทองผ่องศรี |
สิ่งอื่นจำได้ไม่มี | วิถีทางไหนไม่รู้ |
ทางใกล้ทางไกลไป่ทราบ | ที่ลุ่มที่ราบในผลู |
หนเหนือหนใต้ไม่ดู | เมืองอยู่ทิศไหนไม่เดา |
เรื่องราวไพเราะนักหนา | น่าฟังวาจาของเจ้า |
โสมมขมคำกำเดา | มัวเมาโมห์มนท์ข้นแค้น |
นี่แน่ะจักแนะให้แจ้ง | ซึ่งแหล่งเมืองทองผ่องแสน |
เวียงตรูอยู่ใกล้ในแดน | แว่นแคว้นความปดคดเค้า |
กรุงทองผ่องพรรณนั้นไซร้ | อยู่ในมุสาของเจ้า |
เล่าเรื่องเมืองคำลำเนา | เห็นเงาส่องงามความเท็จ |
มุ่งหน้ามาล่อทั้งที | ผูกเท็จไม่ดีเดี่ยวเด็จ |
ควรปดให้ปลอดลอดเล็ด | มีเคล็ดมีข้อต่อกัน |
อึ่งอ่างอย่างนี้มีหน้า | เข้ามาลวงเล่นเห็นขัน |
เจ้าไซร้ต่ำช้าสามัญ | กำเริบเสิบสันแสนร้าย ฯ |
๏ ตรัสพลางนางผินพักตร์ทูล | พระชนกนเรสูรทรงฉาย |
มานพนี้ไซร้ไร้อาย | เปนชายชั่วช้ามาลวง |
ขอพระบิตุรงค์จงไล่ | ให้ไปเสียนอกวังหลวง |
หน้าขลาดหวาดหวั่นพรั่นทรวง | จาบจ้วงมาบอกหลอกเรา |
โทษทัณฑ์ฟั่นเฝือเหลือเติบ | กำเริบสด ๆ ปดเจ้า |
ยินดีในชั่วมัวเมา | โฉดเฉาพูดจาสามานย์ |
จักฆ่าก็เสียคมดาบ | เปนบาปไม่มีแก่นสาร |
พระจงอวยชีพเปนทาน | อย่าลงโทษการฐานใด |
ขับไสไปจากวังหลวง | ชนปวงทราบพลันหมั่นไส้ |
ปล่อยเขาคนเดียวเที่ยวไป | หาใครจักคบฤๅมี ฯ |
๏ เมื่อนั้น | พระมหากษัตร์เรืองศรี |
ยินคำสุภคาพาที | ภูบดีดำรัสสั่งพลัน |
ให้เรียกตำรวจมาจับ | ไล่ขับอมรสิงห์รังสรรค์ |
มือหนักผลักไล่ไสกัณฐ์ | แล่นถลันถลารีบถีบไกล ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อมรสิงห์ใจสั่นหวั่นไหว |
เซซวนหวนหันปั่นไป | เขาเสือกเขาไสไล่ทุบ |
แล่นออกนอกวังยังมี | ชนหลามตามตีตุบ ๆ |
หลบลี้หนีลอบหมอบฟุบ | บ่นอุบอิบโกรธโทษตน |
ถูกผู้ดูถูกทุกที่ | ไล่ตบรุมตีทุกหน |
จักต่อจักสู้หมู่คน | ใครเลยจักทนฝีมือ |
คิดไปไป่ควรโกรธเขา | เขาข่มเหงเราผิดหรือ |
ขุ่นขัดอัดใจไฟฮือ | เสียชื่อเปือกปนมลทิน |
คิดไปใคร่จักชักขรรค์ | ไล่หั่นหัวราษฎร์ขาดวิ่น |
กีดธรรมที่ในใจจินต์ | เราคิดผิดสิ้นทุกเค้า ฯ |
๏ นึกองค์อรไทยใสศรี | นึกหน้านารีหล่อเหลา |
นึกขนงนงรามงามเงา | นึกเนตร์นงเยาว์เพราพราย |
งามจริงยิ่งคนบนดิน | รัศมีสีนิลเฉิดฉาย |
แสงส่องผ่องล้ำกำจาย | อับอายคันธินกลิ่นฟ้า |
นัยนายามยิ้มพริ้มเพรา | เนตร์เจ้ายามโกรธโรจน์หล้า |
ยามหมางนางเมินเพลินตา | ใจข้าราวดับวับไป ฯ |
๏ อมรสิงห์ยิ่งคิดยิ่งขุ่น | หมกมุ่นดังเพลิงเริงไหม้ |
หลบคนด้นทางห่างไกล | เจ็บใจเจ็บอกฟกจริง |
ไปถึงซึ่งสระระบือ | เรียกชื่อว่าสระผีสิง |
เป็นนามอันเหมาะเพราะพริ้ง | ชายหญิงมาโดดน้ำตาย ฯ |
๏ สันธยาสายัณห์พลันเห็น | ศศพินทุ์ผ่องเพ็ญภูลฉาย |
ส่องแจ้งแสงจันทร์พรรณพราย | งามคล้ายแสงเนตรนารี |
ศศธรสีทองมองหน้า | นัยนาสีนิลผินหนี |
เพราะเรากล่าวไปไป่ดี | มารศรีอางขนางหมางเท็จ |
หมายใจใคร่โลมโฉมฉาย | ใจหมายห่อนทำสำเร็จ |
อุบายหมายปลอดลอดเล็ด | ผลเผล็ดเปนอื่นขื่นแค้น |
เคราะห์กรรมทำไว้ในกี้ | ตามมีมาเหน็บเจ็บแสน |
เทพเจ้าเนาเบื้องเมืองแมน | เธอแค้นขึ้งเคียดเกลียดชัง |
เที่ยวเสาะนางสิ้นถิ่นภพ | ครั้นสบห่อนสมใจหวัง |
อกผ่าวราวแยกแตกพัง | จักยังชีพไปไยกู |
คิดถ้อยยุพยงทรงหยาว | คือหลาวเสียบแสร้งแทงหู |
นึกเนตรนวลแขแลดู | อดสูที่เย้ยมายา |
จักอยู่ไปไยใช่เรื่อง | เปนเครื่องอับอายขายหน้า |
พงศ์เผ่าเหล่าเลิศเกิดมา | ชั่วช้าเสียชาติปราศคุณ |
จำจักโจนในสระนี้ | จงผีเอื้อเฟื้อเกื้อหนุน |
พาสู่โลกหน้าการุญ | ตามบุญตามกรรมทำมา ฯ |
๏ อมรสิงห์นิ่งคิดสักครู่ | เดินสู่สระพลางตั้งท่า |
พอจักโจนลงคงคา | แว่วยินวาจาป่าวไป ฯ |
๏ เจ้าเอยเจ้าข้า ใครยินอย่าช้า เร่งมาเร็วไว ฟังคำประกาศ ดังราชหฤทัย ถ้อยคำจำไป สืบส่อต่อกัน ฯ
๏ ชายดีมีชาติ ควรสู่คู่ราช ชาดาลาวัณย์ เคยเห็นเมืองทอง งามผ่องเพียงจันทร์ จงเฝ้าเจ้าอัน ทรงสิทธิ์ฤทธี ฯ
๏ ท้าวจักยอยศ ลือชาปรากฎ เกียรติแกว่นแดนตรี จัดสรรปันให้ ราไชศวรศรี สารพรรณอันมี แบ่งมอบครอบครอง
๏ หนึ่งจะประทาน ยุพยงนงคราญ ลักษณ์ล้ำลำยอง องค์กนกเรขา บุบผาผิวทอง ประคับประคอง เปนคู่ชูใจ ฯ
๏ ชายดีมีชาติ แจ้งเรืองเมืองมาศ สู่ราชเร็วไว รางวัลอันยิ่ง ทุกสิ่งสมใจ กอบโกยโดยนัย ที่ประกาศเอย ฯ
๏ อมรสิงห์นิ่งนึกตรึกซ้ำ | ถ้อยคำที่เขากล่าวเผย |
หวนนึกนงรามทรามเชย | จักเลยไร้คู่อยู่เดียว |
เวียงไรใครจรห่อนได้ | เราไซร้ชายชาติฉลาดเฉลียว |
น้ำใจเสาะยิ่งจริงเจียว | ไม่เที่ยวเสาะหาธานี |
ชั่วหนักจักฆ่าตัวตาย | เช่นชายขี้ขลาดบัดสี |
อันราชชาดานารี | พาทีหมิ่นเรากล่าวเท็จ |
จักเพียรจนพบเมืองมาศ | มุ่งเสาะเหมาะอาจสำเร็จ |
เที่ยวสืบเที่ยวสอดลอดเล็ด | ผลเผล็ดสมใจไม่ช้า ฯ |
๏ ตรึกไตรในแดแน่แล้ว | ทรงชักขรรค์แก้วคมกล้า |
กลัดแกว่งโยนไปในฟ้า | ตกยังพสุธาทันใด |
ปลายขรรค์ชี้ไปทักษิณ | เธอผินพักตร์ทางข้างใต้ |
ดุ่มดั้นเดินดงพงไพร | มุ่งใจจักค้นจนมรณ์ ฯ |
• • • • • • • • •
๏ ดังภมรจรชมบุบผา | จากผกาสู่ผกาเร่ร่อน |
พระเสด็จองค์เดียวเที่ยวจร | จากนครสู่นครซอนเดิน |
สืบเสาะเลาะทางพลางถาม | ทุกคามทุกเขตเทศเขิน |
บุกชัฏลัดไพรไต่เนิน | แถวเถินภูธรดอนดิน๕๘ |
ร้อยวันพันคืนขืนเต้า | ค่ำเช้าบั่นบุกทุกถิ่น |
เวียงทองทิศไหนใคร่ยิน | ชนสิ้นถามใครไป่รู้ |
เดินทางพลางนึกตรึกตรอง | เราท่องเที่ยวไปในผลู |
๕๙ทุกราษฎร์ลดเลี้ยวเที่ยวดู | หาผู้ทราบเรื่องเมืองทอง |
ไม่มีที่ใครจักแจ้ง | ซึ่งแหล่งเวียงสุดผุดผ่อง |
มาตร์แม้นมีเมืองเรืองรอง | ดังข่าวป่าวร้องนั้นไซร้ |
ห่อนใช่ในเขตมานุษ | เที่ยวสุดไป่สบพบได้ |
นอกจากปักษินบินไกล | เห็นไม่มีผู้รู้ทาง ฯ |
๏ ตรึกพลางพระพลันผันพักตร์ | เข้าสู่สำนักเสือสาง |
ป่าใหญ่ไม้สูงยูงยาง | แม้กลางวันมืดชืดชื้อ |
เสียงสิงห์ขรึม ๆ ครึมคราง | เสียงช้างคือแตรแปร๋ปรื๋อ |
แซกซอกชอกช้ำชำงือ | ดุ่มดื้อดึงดันดั้นเดิน |
ค่ำคืนขืนไปในป่า | ตั้งหน้าในแถวแนวเถิน |
เจ็บเนื้อเหลือนับยับเยิน | หมายเดินมุ่งด้นหนชัฏ |
แสงจันทร์ดั้นเมฆรำไร | ไม้ใหญ่ยอดเยี่ยมเทียมฉัตร |
ยางยูงสูงร่มลมพัด | โบกบัตรบังพรรณจันทร |
พื้นดินจักเดินฤๅเห็น | มืดเช่นในถ้ำสิงขร๖๐ |
ค่อยก้าวค่อยย่างพลางจร | ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เดินไป ฯ |
๏ บัดเดี๋ยวเห็นแสงแปลบปลาบ | แวบวาบอยู่ข้างทางใหญ่ |
พระชงักชักขรรค์ทันใด | ยืนนิ่งกริ่งไม่ไหวติง |
มีผู้แลบลิ้นยาวมา | จนสบนาสาอมรสิงห์ |
เห็นคน ๆ แรกแปลกจริง | ยืนนิ่งอยู่ใต้ไม้โต |
แต่งกายเปนเพศโยคี | พระกุมารเกิดมีโมโห |
ฤๅษีชีเก๊เฉโก | แลบลิ้นปลิ้นโร่หลอกกัน |
เธอยืนขืนใจไม่กริ้ว | พักตร์นิ่วข่มจิตต์คิดขัน |
เราจำทำดีต่อมัน | หวังถามความอันใคร่รู้ ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสถามว่า
๏ ดูราอาจารยฌานเชี่ยว | ท่านเที่ยวไปไหนในผลู |
กลางคืนมืดแท้แลดู | แผ่นภูจักเห็นห่อนมี |
ท่านบำเพ็ญพรตในไพร | เปนสุขหรือไรฤๅษี |
กองบุญหนุนกรรมทำดี | โยคีพรตแกล้วแผ้วภัย ฯ |
โยคีกล่าวว่า
๏ ดูรามานุษสุดกล้า | ตั้งหน้าเดินด้นหนไหน |
กลางคืนมืดจริงกริ่งใจ | ป่าใหญ่สิงห์เสือเหลือร้าย |
ประสงค์สิ่งใดในดง | ไพรพงภัยหลากมากหลาย |
ไม่รักษาตัวกลัวตาย | ต้นปลายเหตุผลกลใด ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสว่า
๏ อ้าอาจารย์ผู้รู้ธรรม์ | ข้าบั่นบุกมาป่าใหญ่ |
สืบเรื่องเมืองคำอำไพ | หาผู้รู้ในไพรแวง |
ตัวท่านชาญผลูรู้ทาง | อยู่บ้างหรือไรใคร่แจ้ง |
ตูเดินดงดอนอ่อนแรง | โปรดแถลงให้รู้ลู่ทาง ฯ |
โยคีกล่าวว่า
๏ ดูราชายชาญหาญกล้า | เดินป่าขัดข้องหมองหมาง |
สืบเรื่องเมืองคำสำอาง | โลกกว้างเที่ยวไปไป่พบ |
เมืองทองส่องงามสามหล้า | ยากหาคนได้ไปสบ |
น้อยนักน้อยหนามานพ | เคยพบไม่มีกี่คน |
ยากหนักจักได้ไปลุ | เวียงสุวรรณในไพรสณฑ์ |
ใครถึงเมืองคำอำพน | น้อยตนที่ได้กลับมา |
จักไปให้จนดลเมือง | เปนเรื่องยากยิ่งจริงหนา |
เสือสีห์ผีเสื้อนานา | แมวหมาเท่าช้างอย่างโต |
เหลือบยุงบุ้งริ้นกินเลือด | ราวเชือดด้วยมีดกรีดโหว่ |
ใครเดียวเที่ยวเร่เซโซ | มันโห่กันล้อมตอมกิน |
จักกล่าวโพยภัยในป่า | มากนักมากหนาทาหิน๖๑ |
ภัยห้อยภัยเหินเดินดิน | ภัยบินภัยบ่างต่างร้าย ฯ |
พระอมรสิงห์กล่าวว่า
๖๒๏ อ้าวนัสถายีมีพรต | ภัยป่าปรากฎมากหลาย |
ข้าไม่รักตัวกลัวตาย | มาดหมายสู่เมืองเรืองรอง |
ลำบากยากใจไม่ว่า | บุกป่าฝ่าทุ่งมุ่งจ้อง |
โปรดด้วยช่วยชี้เวียงทอง | ท่านคล่องใจรู้ลู่ทาง ฯ |
โยคีตอบว่า
๏ ดูรามานุษสุทธลักษณ์ | เราไซร้ใช่จักขัดขวาง |
มุ่งเมื้อเมืองคำสำอาง | ไพรกว้างลาดเลาเรารู้ |
ปัญญาข้านี้มีค่า | ไม่น่าไขข้อต่อสู |
แม้นเจ้ามีใจให้ตู | บอกตามความรู้ของเรา |
จงเอาความรู้มาแลก | ความรู้แปลก ๆ ของเจ้า |
วิชชาข้าไซร้ใช่เดา | มีเค้ามีเคล็ดเขบ็จขบวน ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสว่า
๏ ความรู้อันใดใคร่แจ้ง | จักแถลงโดยดีถี่ถ้วน |
ใคร่ถามเชิญถามตามควร | เลิศล้วนความรู้ตูล้น ฯ |
โยคีกล่าวว่า
๏ อ้าสูผู้มั่นปัญญา | ตูข้าขอถามสามหน๖๓ |
ผู้มีปรีชาอย่าจน | จงค้นคำตอบสอบทาน |
ที่หนึ่งคือทางแห่งโลก | สุขโศกอย่างไรให้ขาน |
ที่สองทางหญิงมิ่งมาลย์ | สำราญฤๅเศร้าเล่าความ |
ที่สามนามทางนิรพาณ | จงท่านอย่าพรางทางสาม |
แม้นเจ้าเล่าบอกออกตาม | ข้อเค้าเราถามนี้ไซร้ |
หมายมุ่งกรุงทองผ่องพิศ | เราจักชี้ทิศบอกให้ |
สูอย่าอาวรณ์ร้อนใจ | ความรู้แลกได้ดังจินต์ |
ที่หนึ่งทางโลกอย่างไร | เจ้าจงว่าไปทั้งสิ้น |
เมื่อตูรู้คดีที่ยิน | สมหวังดังถวิลสิ้นความ |
วิถีที่ท่านคำนึง | จักบอกให้หนึ่งในสาม |
อย่าคิดบิดเบือนเงื่อนงาม | เราถามเร่งตอบชอบที ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อมรสิงห์นิ่งฟังฤๅษี |
ยินคำสำนวนโยคี | อ้ายนี่เห็นได้ใช่คน |
รากษสปดโป้โอหัง | กูฟังรู้แน่แต่ต้น |
มุ่งร้ายหมายหลอกออกกล | เวทมนต์ไม่พรั่นปัญญา |
กูจักอดใจไว้ก่อน | ยอกย้อนแก้กันปัญหา |
ตริตรึกนึกในไปมา | พลางมีวาจาตอบไป ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสว่า
๏ อ้ามหามุนีมีเดช | อุปเทศปัญญาหาไหน |
ท่านตั้งปัญหามาไซร้ | โตใหญ่ยากเข้มเต็มที |
จักบอกออกเบื้องเมืองงาม | เอาแลกถึงสามวิถี |
ข้าจักชักความตามมี | ขอเชิญโยคีตรับฟัง ฯ |
นิทานแสดงวิถีแห่งโลก
๏ ปางหลังยังมีวัดใหญ่ | คือเทวาลัยริมฝั่ง๖๔ |
ชำรุดซุดรวนจวนพัง | ฝูงคั้งคาวอยู่มากมาย |
ในบริเวณวัดนั้นไซร้ | เกลื่อนกล่นผลไม้เหลือหลาย |
คั้งคาวแสนสนุกสุขกาย | ไป่วายอิ่มหนำสำราญ |
ห่อนต้องท่องเที่ยวหากิน | นอกถิ่นคือเทวสถาน |
โสมมบ่มบ้าช้านาน | ซมซานเซ่อซ่าหน้าเซอะ |
เหตุไม่เคยออกนอกแหล่ง | จึงแสดงโง่งำหยำเหยอะ |
ความคิดติดงันตันเงอะ | เลอะเทอะเต็มทีขี้คร้าน ฯ |
๏ วันหนึ่งในเมื่อคราวฝน | มียายแก่คนหนึ่งจ้าน |
เดินรีบหลบฝนลนลาน | เข้าเทวสถานทันใด |
มีนกเค้าแมวตัวหนึ่ง | มาถึงที่เทวาศัย |
รีบลี้หนีฝนเข้าไป | กับยายแก่ไซร้พร้อมกัน |
ฝ่ายฝูงคั้งคาวกราวบิน | โผผินริกรัวตัวสั่น |
ยิ่งบินยิ่งเหนื่อยเมื่อยพลัน | พากันเกาะอยู่ดูเดา |
ไป่มีอันตรายบังเกิด | แตกตื่นเปิดเตลิดเปล่า ๆ |
ปราศภัยในภูมิ์ลำเนา | บันเทาอกสั่นขวัญบิน |
เกาะย้อยห้อยหัวเปนราว | คั้งคาวคิดในใจถวิล |
สองนี้คือใครใคร่ยิน | คิดพลางต่างบินลงมา |
ถึงที่ยายแก่แกนั่ง | จึ่งคั้งคาวเข้าไปหา |
ย่อยอบนอบน้อมบูชา | พลางมีวาจาถามไป ฯ |
๏ ข้าแต่ท่านผู้ชูศักดิ์ | ประจักษ์ปรากฎยศใหญ่ |
ท่านนี้มีชื่อคือใคร | เปนอไรจงแถลงแจ้งจริง |
พวกเราเอาเปนที่พึ่ง | หวังสึงสุขล้วนถ้วนสิ่ง |
ฟังคำร่ำวอนอ้อนอิง | เถิดท่านผู้ยิ่งกรุณา ฯ |
๏ จักกล่าวข้างฝ่ายยายเฒ่า | เห็นคั้งคาวเข้าไปหา |
ยอบย่อขอความเมตตา | ยายเจ้ามายาตอบไป ฯ |
๏ ดูราฝูงเจ้าเหล่านี้ | อยู่นี่หัวโตโง่ใหญ่ |
ใคร่รู้กูหรือคือใคร | บอกให้จงฟังดังจินต์ |
๖๕๏ กูคือพระบรมพรหมี | นามสรัสวดีทรงศิลป์ |
นกนั้นคือมยูรภูลพินธุ์ | โบกบินเปนยานผ่านฟ้า ฯ |
๏ คอยอยู่ครู่หนึ่งฝนหาย | จึ่งยายผู้สุดมุสา |
ออกจากวัดร้างพลางคลา | ไคลตามมรรคาต่อไป |
ส่วนนกเค้าแมวนั้นเล่า | เห็นวัดเปนเย่าโตใหญ่ |
มืดๆ ชืดชื้นชื่นใจ | จึงอยู่อาศัยต่อมา |
ฝ่ายฝูงค้างคาวนั้นไซร้ | ภักดีมีใจหรรษา |
แวดล้อมพร้อมกันบูชา | คิดว่านกยูงสูงยศ ฯ |
๏ วันหนึ่งมีมยูรภูลศรี | แวววามงามฉวีสีสด |
บินกรายหลายแหล่งแรงลด | หมายปลดปลิดเหนื่อยเมื่อยล้า |
จึงสู่ซุ้มหักพักอยู่ | ประตูวัดร้างข้างหน้า |
คั้งคาวแปลกใจใครมา | เข้าหาพลางถามความไป ฯ |
๏ ข้าแต่ท่านผู้ชูศรี | งามฉวีคือทองผ่องใส |
เราเห็นหนแรกแปลกใจ | ท่านนี้เปนอะไรใคร่ยิน |
เรืองอร่ามงามแท้แลเลิศ | แพรวเพริศเพราพริ้งยิ่งสิ้น |
เราเห็นเปนใหญ่ในดิน | ใจถวิลใคร่ถามนามใด ฯ |
๖๖๏ ปางศิขินยินคั้งคาวถาม | ตอบความให้สิ้นสงสัย |
จักบอกสูเจ้าเข้าใจ | กูไซร้นกยูงสูงลักษณ์ |
พาหนะพระสรัสวดี | เทวีเลิศรบือฦๅศักดิ์ |
รูปล้ำสำอางนางรัก | จงเจ้าประจักษ์ใจปวง ฯ |
๏ คั้งคาวหัวเราะเยาะเย้ย | เจ้าเอ๋ยกำเริบใหญ่หลวง |
ปวดหูกูเบื่อเหลือตวง | จาบจ้วงใจบาปอยาบช้า |
อวดบ้าว่าเปนนกยูง | ลักษณ์สูงเลิศศักดิ์หนักหนา |
พูดได้ไม่อายวาจา | คิดว่าพวกเราเขลานัก |
โน่นแน่ะคือมยูรภูลศรี | ใช่นกอัปรีอัปลักษณ์ |
เธอไซร้โศภาน่ารัก | เกาะพักอยู่ซุ้มมุมนั้น ฯ |
๏ นกยูงยินข้อคำหยาว | คั้งคาวหลงเสมอเพ้อฝัน |
สงบจิตต์คิดตอบไปพลัน | นกนั้นใช่ศิขีศรีบวรณ์ |
คือนกเค้าแมวดอกเจ้า | หลงเชื่อเปล่า ๆ น่าสรวล |
เจ้าอย่าฟังคำสำนวน | ข้อคดปดปรวนแปรคิด |
กูมีแววกนกนกยูง | จงฝูงเจ้าฟังชั่งจิตต์ |
รูปข้าอ่าโอ่โศภิต | ลืมตาดูนิดคงรู้ ฯ |
๏ คั้งคาวตอบว่าอย่าปด | โกหกสดๆเจียวสู |
พระสรัสวดีศรีตรู | เธอตรัสบอกกูวานซืน |
ว่าโน่นคือยูงสูงศักดิ์ | เองจักมาปดคดขืน |
หวังให้กูเชื่อเหลือกลืน | ขมขื่นคำเท็จเผ็ดลิ้น ฯ |
๏ นกยูงได้ฟังคั้งคาว | ดึงดื้ออื้อฉาวกล่าวฉิน |
โผจากวัดร้างพลางบิน | สู่ถิ่นสำนักพักกาย |
ไป่เห็นเปนคุณประโยชน์ | จักแก้ความโฉดให้หาย |
สัตว์ดื้อถือตนจนตาย | ไม่วายโง่เขลาเมามันท์ ฯ |
๏ ฝ่ายฝูงคั้งคาวนั้นไซร้ | หฤทัยปรีเปรมเหมหรรษ์ |
เข้าไปนบน้อมพร้อมกัน | อภิวันทน์ไหว้เจ้าเค้าแมว |
เพราะคิดว่ายูงสูงศักดิ์ | ทรงลักษณ์เลิศเหลือเชื้อแถว |
ปัญญาไม่มีวี่แวว | คลาดแคล้วเพราะเขลาเบาใจ ฯ |
พระอมรสิงห์เล่ามาเพียงนี้จึงตรัสต่อไปว่า
๏ ดูราโยคีมีญาณ | จงท่านทราบข้อคำไข |
ที่หนึ่งทางโลกอย่างไร | มีนัยดังเราเล่านี้ ฯ |
โยคีตอบว่า
๏ อ้าท่านผู้ฉลาดปราดเปรื่อง | เล่าเรื่องเห็นความตามที่ |
แจ่มแจ้งแจงข้อพอดี | วาทีเกลี้ยงเกลาเลาความ |
วิถีที่ท่านคำนึง | จักบอกให้หนึ่งในสาม |
ท่านจงม่งใจไปตาม | เขตคามข้าบอกบัดนี้ ฯ |
๏ พูดพลางจำแลงแปลงตน | เปนพั้งพอนด้นดินหนี |
แลบลิ้นวิ่งเฉลียงเลี่ยงลี้ | เข้าโพรงอันมีริมทาง ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อมรสิงห์นิ่งคิดจิตต์หมาง |
อ้ายนี่มันทำอำพราง | แปลงเล่นเช่นอย่างโยคี |
แลบลิ้นปลิ้นตาทำหลอก | เปนพั้งพอนซอกดินหนี |
ในรูอยู่ข้างทางนี้ | ฤๅษีพั้งพอนซ่อนตัว ฯ |
๏ พระกุมารแลดูรูดิน | เดี๋ยวยินโยคีแย้มหัว |
แอบอยู่ข้างหลังบังตัว | ยืนยั่วหัวร่ององัน |
ยุพราชแลพักตร์นักสิทธ์ | แค้นจิตต์มันเล่นเห็นขัน |
เราไซร้ไม่รู้เท่าทัน | จึ่งมันหลอกล้อพอใจ |
ควรเราเอาใจไว้ก่อน | มันจักยักย้อนเพียงไหน |
ตรึกถ้อยตรัสถามความไป | เหตุไฉนท่านเล่นเช่นนี้ |
บอกข้าว่าแลกความรู้ | ไหนเล่าท่านผู้ฤๅษี |
อย่าเสียสัญญาพาที | มุนีจงแจ้งแหล่งทาง ฯ |
โยคีตอบว่า
๏ ดูราบุรุษสุทธลักษณ์ | เราไซร้ใช่จักขัดขวาง |
ท่านนี้มีคำอำพราง | พูดอย่างปฤษณาพาที๖๗ |
เราจึ่งตอบชนิดปฤษณา | กิริยาบอกบวรณ์ถ้วนถี่ |
สูใคร่ดลเมืองเรืองมี | วิถีแถวเถินเนินใด |
จงกล่าวชี้แจงแจ้งจริง | ว่าทางแห่งหญิงอย่างไหน |
เจ้าให้ความรู้ตูไซร้ | จักให้ความรู้สู่กัน ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อมรสิงห์นิ่งขุ่นหุนหัน |
สงบจิตต์คิดตอบไปพลัน | อำพรางอย่างนั้นตามที |
เราจักชี้แพร่งแห่งหญิง | ทุกสิ่งสำแดงแจ้งที่ |
เชิญสดับตรับฟังดังมี | คะดีโดยอย่างอ้างอิง ฯ |
นิทานแสดงวิถีแห่งหญิง
๏ ปางหลังยังมีดาบส | ทรงพรตเด็ดเดี่ยวเชี่ยวยิ่ง |
แรงเริงเพลิงฌานนานจริง | เผาผิงขึ้นไปในฟ้า |
แสนสรวงปวงอมรร้อนสิ้น | จึงองค์อมรินทร์ปิ่นหล้า |
๖๘เสกสร้างแกล้งจัดอัจฉรา | ลงมายั่วยวนชวนชม |
ฤๅษีหูป่าตาเถิน | เพลิดเพลินใจจริงสิงสม |
ส้วมกอดสอดเกี้ยวเกลียวกลม | อารมณ์ร่านเร้าเมามัว |
ครั้นตาดาบสหมดฤทธิ์ | นางปลิดตนพรากจากผัว |
ลูกหญิงทิ้งไว้แทนตัว | เถรขรัวเลี้ยงดูอยู่ดง ฯ |
๏ วันหนึ่งโยคีมีจิตต์ | หวนคิดที่ได้ใหลหลง |
เสียตบะสละผลหนยง | จักคงคืนได้ไป่มี |
เสียดายความเพียรเจียรกาล | สมาธิสมาทานถึงที่ |
เหตุที่มีเมียเสียที | ความดีทำไว้ไร้คุณ๖๙ |
นางงามตามมาล้างผลาญ | บรรดาลใจเสียวเฉียวฉุน |
เร่าร้อนราคเหลือเจือจุน | ชุลมุนในจิตต์พิษนัก |
เพราะมีนัยนาเปนเหตุ | ดวงเนตรคุณโหดโทษหนัก |
แม้นไม่เห็นองค์นงลักษณ์ | ไหนจักมาเปนเช่นนี้ |
ติดใจในทรงองค์นาง | หลงรูปหลงร่างมารศรี |
แม้นเนตรเราไซร้ไม่มี | จักเห็นนารีอย่างไร |
แค้นนักจักษุเปนเหตุ | จึงควักดวงเนตรสองใส |
สิ้นห่วงบ่วงกามตามนัย | สืบสำรวมใจโยคี ฯ |
๏ ฝ่ายดนุชบุตรีนิรมล | เสาวภาคโศภนเพ็ญศรี |
นางสิ้นดินฟ้าธาตรี | ไม่มีจักเปรียบเทียบทัน |
ลำเภาเพราทรงองค์อร | อรชรชูเชิดเฉิดฉัน |
งามพักตร์พนิดาลาวัณย์ | งามกรรณเกศเกล้าเกลากร |
แต่เยาว์ตราบใหญ่ในเถื่อน | ปราศเพื่อนพูดฟังสั่งสอน |
นอกจากดาบสบิดร | ใครพบบังอรฤๅมี |
เสียดายความงามทรามวัย | เนตรใครฤๅส่องเห็นศรี |
แม้ชนกผู้เปนโยคี | ห่อนเห็นดรุณีนงเพ็ญ |
เหมือนเพ็ชร์ตกสมุทสุดลึก | เหลือนึกว่าใครได้เห็น |
แลเหลียวเปลี่ยวเปล่าเช้าเย็น | งามเด่นอยู่ดงองค์เดียว ฯ |
๏ วันหนึ่งมีกามาเห็น | นงเพ็ญที่ในไพรเขียว |
ศรีทรงนงรามงามเจียว | งามเดี่ยวอยู่อรัณย์กันดาร |
กาเฒ่าเข้าไปใกล้นาง | พิศพลางกล่าวคำฉ่ำหวาน |
ดูราโฉมยงนงคราญ | เยาว์มาลย์งามจริงยิ่งคน |
ข้าไซร้ได้เที่ยวทุกแหล่ง | ได้เห็นทุกแห่งทุกหน |
จักหาดรุณีนิรมล | ทรงภาคโศภนเพียงนี้ |
ไม่มีในแคว้นแดนใด | แข่งงามทรามวัยไขศรี |
โฉมเฉลาเสาวภาคพรรณี | นารีในโลกฤๅแม้น |
นงรามงามพบูอยู่ป่า | นึกน่าเสียดายสุดแสน |
มาตรแม้นโฉมตรูสู่แดน | แว่นแคว้นจอมกษัตร์ฉัตรชัย |
นางจักเปนขวัญกันดา | แห่งพระราชาเปนใหญ่ |
เกียรติ์เลื่องเดื่องรั่วทั่วไป | อรไทยจงจำคำตู |
เดินห่างทางนี้ฤๅนาน | ถึงย่านมานุษในผลู |
หมู่ราชมาดโลมโฉมตรู | จักกรูกินหลามตามตอม |
เหมือนผึ้งบินห้อมล้อมหา | บุบผาคันธินกลิ่นหอม |
หนุ่ม ๆ คลุ้มคลั่งหวังออม | หมายถนอมเหมือนมณีศรีเรื้อง |
อยู่นี่มีผู้ดูหรือ | อยู่กรุงฟุ้งชื่อลือเลื่อง |
เชิญเถิดทรามวัยไปเมือง | เปนเครื่องเชิดชูตรูยศ |
จักได้เปนศรีวังราช | ชนปวงเปนทาสนางหมด |
อยู่ป่าอารัณย์รันทด | อยู่กรุงปรากฎเกียรติ์ฟุ้ง ฯ |
นางยินกะถากาเฒ่า | โฉมเจ้าเฉาจิตต์คิดยุ่ง |
อกทึกนึกใคร่ไปกรุง | หมายทุ่งมุ่งทางหว่างเนิน |
หวนคิดบิดาอาทร | บังอรเคียดแค้นแสนเขิน |
ขัดใจที่จิตต์คิดเพลิน | จักเดินด้นป่าหาเมือง |
ทิ้งชนกตกไร้ในป่า | เริงร่าใจตัวมัวเฟื่อง |
คิดไปใจวุ่นขุ่นเคือง | เปนเรื่องที่จิตต์คิดเลว ฯ |
นางกล่าวแก่กาว่า
๏ ดูรากาดำอำมหิต | ความคิดน่าแค้นแสนเหลว |
พูดเล่นเปนบาปปลาบเปลว | เลวเปวเลอะเปื้อนเชือนแช |
แม้นชนกตกไร้ในป่า | ตัวข้าไปร้างห่างแห |
ใครเล่าจักอยู่ดูแล | คนแก่ลำบากยากล้ำ |
ใครจักตักน้ำตำข้าว | เก็บฟืนกองเฝ้าเช้าค่ำ |
ใครจักปฏิบัติจัดทำ | จักค้ำจักชูดูแล |
น้ำใจเจ้าสุดทุจริต | เราไซร้ไม่คิดแยแส |
เบื่อฟังวาจากาแก | ชั่วแท้จงไปให้พ้น ฯ |
๏ พูดพลางนางทิ้งกิ่งไม้ | ขับไล่กาผินบินด้น |
จากป่าสู่ยังรังตน | บนต้นไม้ใหญ่ในกรุง ฯ |
๏ ฝ่ายนางลูกสาวฤๅษี | รับใช้โยคีต้มหุง |
ใฝ่เฝ้าเช้าค่ำบำรุง | มาดมุ่งปฏิบัติบิดา |
จวบจนชนมายุเจ้า | แก่เฒ่าอ้างว้างกลางป่า |
ม้วยมุดสุดปราณนานมา | นัยนาชนใดไป่ยล ฯ |
พระอมรสิงห์เล่ามาเพียงนี้จึงตรัสต่อไปว่า
๏ ดูราโยคีมีพรต | กำหนดอุปเทศเหตุผล |
อันทางนางล้วนถ้วนตน | มีนัยดังยุบลกล่าวนี้ ฯ |
โยคีตอบว่า
๏ ดูรามานุษสุดเปรอะ | เลอะเทอะเหลือทนป่นปี้ |
เราถามวิถีนารี | ท่านบอกวิถีนิรพาณ |
ถามโน่นบอกนี่ดีหนอ | เราไซร้ใคร่ขอถามท่าน |
สูใคร่ทราบเรื่องเมืองกาญจน์ | จักเดินโดยย่านทางใด |
แม้นข้าบอกเรืองเมืองเงิน | โดยเลินเล่อคำร่ำไข |
เจ้าจักเห็นทางอย่างไร | จักเชื่อหรือไม่ใคร่รู้ ฯ |
พระอมรสิงห์ตอบว่า
๏ ดูราฤๅษีชีเฉา | คำเราใช่บอกหลอกสู |
นางใดในดินสิ้นภู | ย่อมเปนเช่นตูกล่าวไว้ |
ทรมาทารกำจำกลืน | ประโยชน์ผู้อื่นจักได้ |
ตนเองยอมสละสะใจ | หลงใหลทุกนางอย่างนี้ ฯ |
โยคีกล่าวว่า
๏ เจ้าถามตามจิตต์คิดไว้ | เราไม่ดื้อดึงถึงที่ |
สูชาญปัญญาพาที | ยินดีแลกเรื่องเมืองงาม |
อันทางที่ใคร่ใจปอง | จักบอกให้สองในสาม |
เจ้าจงม่งใจไปตาม | ข้อความข้าบอกบัดนี้ ฯ |
๏ พูดพลางโยคีหนีตัว | เปนคั้งคาวหัวเราะรี่ |
แลบลิ้นเปิดปีกหลีกลี้ | บินหนีหายไปไม่ช้า ฯ |
๏ ฝ่ายพระอมรสิงห์นิ่งอึ้ง | แขงขืนยืนตลึงในป่า |
ครู่หนึ่งจึ่งโยคีมา | หัวร่อร่า ๆ หลังเธอ |
ยุพราชเหลียวหน้าว่าขาน | เห็นว่าอาจารย์จักเผลอ |
หลงตนลืมตัวมัวเมอ | เหลอ ๆ หัวร่องอไป |
ไหนเล่าจักแจ้งแหล่งหน | เวียงคำโศภนอยู่ไหน |
อย่าเสียสัญญาว่าไว้ | บอกไปเถิดหนาอาจารย์ |
โยคีตอบว่า
๏ เจ้าเอยอย่าใจไวนัก | ไม่พักเปนไฟไขขาน |
จงแจ้งวิถีนิรพาณ | ดังท่านสัญญาว่าไว้ |
๗๐เวียงไรใหญ่โตโศภิต | เราจักชี้ทิศบอกให้ |
จักแลกความรู้ตูไซร้ | จงแสดงแจ้งไปจนครบ ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อมรสิงห์รู้เช่นเห็นจบ |
อ้ายนี่ยอกย้อนซ้อนซบ | แสแสร้งแตลงตลบเหมือนลิง |
เราจักซักความสามครั้ง | โดยหวังคู่ครองน้องหญิง |
แม้นมันบอกแหล่งแจ้งจริง | จักยิ่งประโยชน์โรจน์เรื้อง ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสว่า
๏ ท่านผู้ปัญญาเปนทรัพย์ | เชิญสดับตูแสดงแจ้งเรื่อง |
เพื่อแลกความรู้สู่เมือง | อันเรืองรุ่งอร่ามงามทอง |
นิทานแสดงวิถีนิรพาณ
ปางหลังยังมีกรุงกษัตร์ | สมบัติบริบูรณ์ภูลผอง |
ปราสาทราชฐานกาญจน์กอง | แก้วก่องงามก่ำกำไร |
พระคลังดังทิพย์สมบัติ | สารพัดมาศมณีศรีใส |
สุรางค์นางสนมกรมใน | ไฉไลแลล้ำน้ำนวล |
อุทยานซ่านซาบนาสา | บุบผากลิ่นกลบอบสวน |
เสาวรสสดล้ำรำยวน | แลล้วนงามล้ำลำยอง |
เสนาคณามาตย์ชาติเชื้อ | คนเสือภูลพลํทั้งผอง |
ทวยราษฎร์รุ่งเรืองเนืองนอง | หาเทียบเปรียบสองฤๅแม้น ฯ |
๏ แต่พระนราธิปราชา | เธอทรงพระชรายิ่งแสน |
ความสุขแห่งราชขาดแคลน | ฤๅแกว่นกำลังวังชา |
วันหนึ่งท้าวเยี่ยมพระแกร | แลไปในลานด้านหน้า |
ปวงชนกล่นไกลไปมา | ท้าวนิ่งทัศนาดูไป |
เห็นเด็กหนึ่งลากเกวียนเล็ก | เกวียนหักจึ่งเด็กร้องไห้ |
นฤบดีมีราชหฤทัย | รำลึกที่ได้เคยเปน |
ครั้งเมื่อพระองค์ยังเด็ก | เคยลากเกวียนเล็กวิ่งเล่น |
เกวียนหักเธอรกำลำเค็ญ | โหยหวนครวญเห็นเช่นนี้ |
คำนึงถึงเมื่อยังเล็ก | เปนเด็กไร้ทุกข์สุขี |
บัดนี้ความชรายายี | ผาสุกไม่มีเสียแล้ว |
คิดใคร่เปนเด็กอีกครั้ง | เนื้อหนังนวลลอองผ่องแผ้ว |
แม้นคืนรูปกายพรายแพรว | เหมือนแก้วหายไปได้คืน |
เดือดใจใคร่กลับเปนหนุ่ม | กลัดกลุ้มเกินแรงแขงขืน |
แสนยากบากบั่นกลั้นกลืน | ท้าวอื้นออกอัตถ์ตรัสไป ฯ |
พระราชาทรงเปล่งอุทานว่า
๏ อ้าอุมาบดีตรีเนตร | เรืองณรงค์ทรงเดชอดิศัย |
ทรงศูลศักดิ์ศรีมีชัย | ฤทธิไกรเข็ดขามสามแดน |
โปรดข้าผู้ชราภาพแล้ว | คลาดแคล้วสรรพสุขทุกข์แสน |
ความแก่ลำบากยากแค้น | ขอความหนุ่มแทนเถิดพระ |
ใคร่คืนวัยปฐมสมจิตต์ | ด้วยฤทธิ์พระศุลีอีศะ |
ขอความอิ่มเอมเปรมะ | พระศิวะจงโปรดข้าน้อย ฯ |
๏ ปางพระอิศวรทรงยิน | พระนราธิบดินทร์กล่าวถ้อย |
๗๑จึ่งเสด็จโดยแดแต่ดอย | เลื่อนลอยอยู่หน้าราชา |
ตรัสว่าอ้าพระอะธิป | เก้าสิบเก้าครั้งแล้วหนา |
ทุกชาติที่ท่านเกิดมา | ท่านมีปราถนาเล่ห์นี้ |
เราได้อวยตามทุกครั้ง | ท่านลืมความหลังดังกี้ |
ทุกครั้งเปนดังครั้งนี้ | จู้จี้รำพึงรึงรุม |
ต่อเฒ่าเคราคร่ำปรำปรา | จึ่งเห็นราคาความหนุ่ม |
เช่นนี้ได้ทุกข์ชุกชุม | ปัญญาสุขุมฤๅมี ฯ |
พระราชาทูลว่า
อ้าองค์พระวิศวนาถ | ข้าบาทก้มเกล้าเกศี |
๗๒ขอพึ่งพระองค์ทรงตรี | ข้ามีกรรมก่อส่อทุกข์ |
อันทางนิรพาณฐานใด | โปรดแสดงแจ้งใจให้สุข |
พระจงอุปถัมภ์ทำนุก | ข้าบุคคลเขลาเบาคิด ฯ |
พระอิศวรตรัสว่า
๏ ดูราพระนราธิบดี | เธอมีความฟุ้งยุ่งจิตต์ |
อันพระนิรพาณโศภิต | เราไม่ให้ทิศอวยทาง |
รู้ได้ใช่ด้วยเวลา | รู้เพราะวิชชาเปิดกว้าง |
ท่านจงสนใจไปพลาง | ทราบได้ในรวางชีวิต |
ถึงแม้แก่เฒ่าเท่าท่าน | ไม่นานจะหลับดับจิตต์ |
ไป่พึงหมดหมายหน่ายคิด | เวลาน้อยนิดยังมี |
ท่านอาจทราบสิทธิ์วิชชา | ก่อนคลาไคลเบื้องเมืองผี |
จงจำคำเราเท่านี้ | ตรองไตร่ให้ดีเถิดท้าว ฯ |
๏ ตรัสพลางพระวิศวนาถ | คืนสู่ไกลาสผาขาว |
ปางองค์นฤบาลรานร้าว | ป่วนปั่นใจราวเพลิงร้อน |
รำลึกตรึกราชชาดา | ขวัญตาบิตุรงค์ทรงศร |
ท้าวเสด็จเยี่ยมองค์บังอร | หวังวายคลายร้อนรนทรวง |
เพอินมีงูพิษฤทธิ์กล้า | กัดองค์วนิดาลูกหลวง |
ขวัญอนงค์ปลงชนม์คนปวง | ไป่ล่วงทูลราชบิดา |
เพราะเกรงท้าวเธอจักโศก | เกิดโรครึงเร้าเจ้าหล้า |
ฝ่ายองค์พระชนกราชา | เห็นราชกานดาดวงเพ็ญ |
หฤทัยเธอรกำอ้ำอึง | คำนึงนวลแขแลเห็น |
แมลงวันตัวดำลำเค็ญ | ไต่เล่นบนโอษฐ์บังอร |
องค์พระภูวไนยได้คิด | ความรู้สู่จิตต์อดิศร |
สิ้นอยากเปนหนุ่มรุมร้อน | ภูธรเหนื่อยหน่ายวายคิด |
๗๓๏ แดเผด็จเสด็จลงคงคา | ตั้งหน้าล้างบาปปราบปลิด |
บ่มตบะบำเพ็ญเปนนิตย์ | ข่มจิตต์ปลงใจในพรต |
จวบจนแม่น้ำคงคา | พาศพราชาดาบส |
ลอยชลวนเชี่ยวเลี้ยวลด | สู่สมุทสุดบถบรรยาย ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสต่อไปว่า
๏ ดูราโยคีมีเชาวน์ | คำเราใช่แกล้งแสร้งหมาย |
อันทางมรรคผลต้นปลาย | เหลือหลายลึกลับซับซ้อน |
เราไซร้ได้แสดงแจ้งเรื่อง | อย่าเยื้องยักยอกหลอกหลอน |
ทิศไหนเวียงคำกำจร | ตูวอนให้บอกออกไป ฯ |
๏ บัดนั้นโยคีชีเก๊ | แสร้งเสยักยอกหลอกให้ |
วิถีที่สมัคจักไป | อยู่ใกล้จงดูตูชี้ |
พูดพลางแลบลิ้นปลิ้นยื่น | จักแปลงเปนอื่นหลีกหนี |
อมรสิงห์นิ่งดูรู้ที | ทรงขรรค์ฤทธีฟาดไป |
ถูกลิ้นรากษสขาดกลาง | มันโลดโกรธพางเพลิงไหม้ |
กายใหญ่กำยำกำไร | ปากใหญ่แยกเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
กล่าวว่าดูรามานุษ | เองสุดกำเริบเสิบสัน |
มามึงกับกูสู้กัน | จักหั่นหัวเล่นเปนชิ้น |
อวดกล้าอาวุธคมหนัก | มากูจะหักให้สิ้น |
เหตุใดเอาขรรค์ฟันลิ้น | กูกินพ่อมึงเมื่อไร ฯ |
๏ เมื่อนั้น | ยุพราชฤๅพรั่นหวั่นไหว |
ตอบว่ามึงนี้ผีไพร | จักขู่กูให้หลงกลัว |
ลิ้นยาวโกหกพล่อย ๆ | ตัดให้เหลือน้อยยังชั่ว |
เจ้ามาพัลวันพันพัว | กูจักตัดหัวบัดนี้ ฯ |
๏ ตรัสพลางแกว่งขรรค์ครรชิต | รากษสเกรงฤทธิ์หลีกหนี๗๔ |
ออกห่างพลางกล่าววาที | ดีแล้วจักได้เห็นกัน |
กูนี้เปนใหญ่ในป่า | มึงมาอวดแรงแขงขัน |
คงได้แก้แค้นแทนทัน | จักพ้นมือนั้นฤๅมี |
พวกพ้องของกูอยู่ทั่ว | เองกลัวจงเองเร่งหนี |
พูดพลางหายพลันทันที | หัวเราะเยาะมี่ลอยไป ฯ |
๏ เมื่อนั้น | ยุพราชเรืองฤทธิ์อดิศัย |
แขงขืนยืนนึกตรึกไตร | อ้ายนี่ตัวภัยใช่น้อย |
พูดพลิ้วชิวหากล้าหาญ | ฉาดฉานมี่ฉาวกล่าวถ้อย |
แนวไพรในพงดงดอย | มันคอยทำร้ายหลายทาง |
ฤทธิ์มันฉันใดไม่พรั่น | แต่ต้องป้องกันมันบ้าง |
อยุดยั้งฟังภัยไปพลาง | ผีกลางดงดื่นหมื่นพรรค์ ฯ |
๏ ทรงแสงขรรค์ทรงยงย่าง | ตามทางไต่แถวแนวสัณฑ์ |
ไม้ใหญ่ยอดเยี่ยมเทียมกัน | แสงจันทร์สีผ่องส่องพื้น |
เหมือนพรมปูลาดบาทพระ | พรมเงินงามรดะผืน ๆ |
แสงโพยมโสมสว่างกลางคืน | ดาวดื่นดกห้อมล้อมจันทร์ |
โสมส่องแสงเดือนเหมือนพิศ | พระกุมารชาญฤทธิ์รังสรรค์ |
๗๕ยุพราชยาตร์ไปในวัน | ในสวรรค์เนตรแขแลชม |
ดำเนินเพลินนึกตรึกหา | องค์กนกเรขาสวยสม |
ระอุอุระระบม | นางตรัสตัดคมคือตาว |
จับปดคดคำจำได้ | ไยไพพิษแม้นแหลนหลาว |
เนตรนางปางโกรธโรจน์ราว | ไฟขาวเริงแรงแสงร้อน |
เคราะห์กรรมทำให้ไปเฝ้า | นงเยาว์เพื่อบอกหลอกหลอน |
นางกริ้วนิ่วโกรธโทษกรณ์ | ขับไล่ไสต้อนตามทัณฑ์ |
จักแก้ตัวใหม่ให้สม | อารมณ์ที่หมายผายผัน |
ไม่พบเมืองทองผ่องพรรณ์ | ไม่หันหน้าตูสู่นาง ฯ |
๏ ตรึกพลางย่างยาตร์บาทเหยียบ | ลัดเลียบรุกข์ไสวไพรฉวาง |
บุกป่าผ่าเดินเมิลทาง | เห็นสว่างแสงจันทร์ดั้นพฤกษ์ |
ช่องว่างหว่างไม้ใหญ่ล้ำ | ยลน้ำแผ่นกว้างกลางดึก |
ศศธรสีทองส่องทึก | ดูลึกเดือนไรใสซึ้ง |
พระสดุดอยุดอยู่ดูสระ | พลางพระแขงขืนยืนขึง |
เงาอไรในน้ำรำพึง | เธอตลึงแลเห็นเปนนาง |
สาวฟ้ามาอยู่ขอบสระ | ยังอุระให้เต้นเผ่นผาง |
แจ่มเจิดเลิศล้ำสำอาง | รางชางไฉไลใคร่ชิด |
สำเนียงเพียงพิณไพเราะ | แสนเสนาะนางขับจับจิตต์ |
พระยั้งฟังนางพลางพิศ | งามจริตคมขำรำฟ้อน |
กรีดหัตถ์ดัดกรอ่อนองค์ | ยุพยงร่ายเรียงเอียงอ้อน |
เพลินดูเพลินฟังบังอร | ภูธรยืนตลึงอึ้งพิศ |
ยักษิณีผีไพรใดหนอ | รูปล่อลามลวนยวนจิตต์ |
นึกน่าสนิทสนมชมชิด | งามจริตกิริยาน่ารัก ฯ |
๏ บัดนั้นนางพบสบเนตร | อมรสิงห์ทรงเดชสูงศักดิ์ |
อยุดฟ้อนอยุดขับตรับพัก | พลางกวักหัตถ์งามทรามวัย |
นางกล่าวว่า
๏ ดูรามานุษสุทธชาติ | ท่านมาดหมายด้นหนไหน |
สวยสมคมขำอำไพ | ใกล้ ๆ เถิดเจ้าเข้ามา |
ข้าฟ้อนคนเดียวเปลี่ยวนัก | เชิญพักในเถื่อนเพื่อนข้า |
คู่ขับคู่เล่นเจรจา | ดีกว่าท่องเที่ยวเดียวดาย |
หนึ่งข้าขอถามความขำ | ใคร่จำใคร่ฟังดังหมาย |
เชิญนั่งใกล้กันบรรยาย | อย่ารคายขุ่นข้องหมองเมิน ฯ |
๏ อมรสิงห์พิศวงสงสัย | นี่ไฉนแกล้วกล้าป่าเถิน |
สกดใจไม่พวงหลงเพลิน | ดำเนินเข้าหานารี |
สาวน้อยนวลลออฉอเลาะ | เหมาะเจาะหมดจดสดศรี |
๗๖๏ ช่วงโชติโรจน์ร่วงท่วงที | มายายายียั่วเย้า |
เอนอิงพิงพฤกษ์นึกยิ้ม | พักตร์อิ่มเอมแอร่มแชล่มเฉลา |
หัตถ์ขาวท้าวสเอวองค์เยาว์ | สองเต้าเต่งตั้งดังบัว |
ทรงฤทธิ์พิศนางพลางคิด | งามชนิดนี้ไซร้ใช่ชั่ว |
บุตรีผีป่าน่ากลัว | พันพัวเปนภัยใหญ่นัก |
ยิ่งกว่าบิดาห้าเท่า | เพราะเย้ายวนยีดีหนัก |
เนตรคมนมขาวสาวยักษ์ | นัยนาน่ารักเลิศแล้ว |
เราไซร้ได้เคยเห็นเนตร | สีนิลวิเศษยิ่งแก้ว |
เสมอเปนเกราะกั้นกันแนว | ภัยเนตรนี้แคล้วคลาศไป |
หัวใจกูมาตร์ปราศเกราะ | คงจักถูกเจาะแผลใหญ่ |
คิดพลางพระองค์ทรงชัย | เข้าใกล้ยืนอยู่ดูนาง |
๏ บัดนั้นนางงามทรามวัย | แขไขขำคมสมร่าง |
เข้าใกล้หน่อกษัตร์หัตถ์วาง | บนหว่างทรวงองค์ทรงฤทธิ์ |
แหงนหน้าดูเนตรนรนาถ | ผุดผาดพรรณ์ภวลยวนจิตต์ |
กล่อมเกลาเสาวภาคโศภิต | นัยนาคือกฤชฤทธิ์ร้าย ฯ |
นางกล่าวว่า
๏ ดูรามานุษสุทธลักษณ์ | ข้าซักจงท่านขานขยาย |
ตูเปล่าใจเปลี่ยวเดียวดาย | ไร้สหายร้องรำสำราญ |
ข้าเปนเผ่าพงศ์วงกว้าง | แห่งนางทิติสิริสานติ์๗๗ |
ไป่เคยส้องสบพบพาน | ใครใดในย่านไพรพน |
อยากทราบความงามตามจริง | แห่งหญิงทุกแหล่งแห่งหน |
ใคร่เทียบเปรียบความงามตน | มีคนใดบ้างอย่างตู |
ท่านจงแจ้งความตามคิด | อย่าปิดอย่าปดหดหู่ |
เคยเห็นนัยนาน่าดู | ดุจตาแห่งตูบ้างฤๅ ฯ |
๏ พระฟังนางงามถามถ้อย | เธอค่อยกลบไกล่ไขสือ |
อันแก้วแพร้วพรรณ์บรรลือ | ขึ้นชื่อลือชาว่าดี |
ย่อมมีก่ายกองก่องเก็จ | ล้วนเมล็ดเลิศรุ้งรังสี |
แต่จักหาไหนไม่มี | เหมือนมณีทรงฤทธิ์วิษณุ |
อันได้จากท้องพระสมุท | แสนสุดรุจิเรขเอกอุ |
งามคือศศพินทุ์อินทุ | วิชชุโชติช่วงดวงรัตน์ ฯ |
๏ นางฟังคั่งแค้นขุ่นข้อง | ทืบเท้าป่อง ๆ ปัด ๆ |
กลุ้มกลัดอัดอึดฮึดฮัด | สบิ้งสบัดแสนงอนค้อนควัก |
บัดเดี๋ยวอยุดยืนฝืนจิตต์ | ตีสนิทดีถนัดหัตถ์กวัก |
สอยสยายมวยองค์นงลักษณ์ | งามผมสมพักตร์ลำพอง |
มวยลุ่ยผมตกดกดื่น | ดำคือกลางคืนยามสอง |
เนตรนางหว่างเผ้าเพ็ญทอง | คือสองดาวสง่าราตรี |
ยิ้มพลางนางมีพจมาน | อ้าท่านผู้เยี่ยมเทียมสีห์ |
แม้ว่านัยนานารี | ยังมีงามกว่าข้าไซร้ |
แต่ผมคมขำของข้า | ใครจักงามกว่าไม่ได้ |
ท่านคิดคัดค้านฐานใด | เห็นไม่มีข้อคำอิง |
จงเร่งรับรองคลองธรรม | กล่าวคำสุภาพต่อหญิง |
ว่าผมข้าเลิศเพริศพริ้ง | งามยิ่งนางใดในดิน ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสว่า
๏ ดูรานงเยาว์เสาวภาค | ใช่อยากอุดตริติฉิน |
๗๘อันเจ้าเผ้าผ่องโศภิน | งามสิ้นทุกเส้นเห็นชัด |
จักเปรียบพึงเปรียบเทียบฟ้า | แสนสง่างามศักดิ์นักษัตร์๗๙ |
พิศดาวพราวเด่นเพ็ญพัฒน์ | เฉกรัตน์รุ้งโรจน์โชติชี้ |
แต่สมุทรสุดใหญ่ใสซึ้ง | ลึกดึ่งดูหมดสดสี |
งามทเลเวลาราตรี | จำรัสรัศมีดารา |
เงาฟ้ามาอยู่ในน้ำ | งามล้ำแลเล่ห์เวหา |
ยังแถมความงามธรรมดา | แห่งสาครด้วยช่วยงาม ฯ |
๏ นางฟังเคืองขัดปัดป่อง | ท่านพร้องถ้อยพล่ำส่ำสาม |
ไม่ชมผมข้าว่างาม | กล่าวความพาดพิงอิงเท็จ |
ชิชะเฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง | น่าเคืองนึกแค้นแสนเข็ด |
ใจแห้งแขงดื้อคือเพ็ชร์ | อาจเผด็จหฤทัยไมตรี |
พูดพลางแขงขืนยืนอึ้ง | หน้าบึ้งแดงบ่นสมศรี |
บัดเดี๋ยวเปลี่ยนหน้านารี | ทำทีเอียงฉอ้อนวอนวิง |
พิงพลางนางเอาเผ้าหอม | พาดห้อมห่มพระอมรสิงห์ |
พระสัมผัสผมฉมจริง | เกศหญิงกลบกลั้วทั่วองค์๘๐ |
๘๑เหมือนบาศพระอนงค์ทรงคล้อง | ติดต้องหฤทัยใหลหลง |
บ่มรักฝักใฝ่ใจจง | อำนาจพระอนงค์ทรงยัง๘๒ |
อมรสิงห์นิ่งขืนฝืนหัก | บาศงามความรักฤๅขลัง |
นางวอนวาจาน่าฟัง | คือคลังดนตรีวีณา ฯ๘๓ |
นางแทตย์กล่าวว่า
๘๔๏ อ้าภมรอ่อนเขลาเบาราค | เหลือยากผกาย้อยห้อยหา |
คิดแสนแค้นสุดบุษบา | เกิดมาเพื่อภู่ชูชม |
พบภู่ผู้ประหม่าราคะ | ลอยละเริศร้างห่างสม |
หลีกเลี่ยงเอียงอายงายงม | อารมณ์ลุ่ยเหลือเบื่อจริง |
ปะลาภไป่รู้ว่าลาภ | โดยสภาพพึงภู่สู่สิง |
น่าที่พี่ภมรวอนวิง | อ้อนอิงองค์อนุชบุษบา |
๘๕มธุกรหย่อนในหน้าที่ | ไม่มีหฤทัยใฝ่หา |
บุบผาอาภัพอับภา | วชะน่ากังวลผลกรรม๘๖ |
เรณูชูสุคนธ์กล่นกลั้ว | ยวนยั่วให้มธุปอุปถัมภ์๘๗ |
มธุกรจรจากตรากตรำ | ชอกช้ำอ้างว้างปางมรณ์ |
สงสารมาลย์ผกาหน้าโศก | รุมโรครักเรื้อเหลือถอน |
ในยามปัจจุบันอันร้อน | เชิญภมรมั่วเคล้าเสาวคนธ์ ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสว่า
๏ อ้าเจ้าเยาวมาลย์หวานถ้อย | สาวน้อยกล่าวไยไร้ผล |
ตูฤๅคือเต้าเต็มชล | เต็มแล้วต้องล้นเลยไป |
เจียนม้วยด้วยเสน่ห์นางหนึ่ง | ไป่พึงชมชื่นอื่นได้ |
เดินดงม่งป่าฝ่าไพร | หวังได้ทราบเรื่องเมืองทอง |
เจ้ารู้ผลูดงจงแจ้ง | ย่านแหล่งอย่าสลัดขัดข้อง |
แม้นสบอารมณ์สมปอง | คุณของเจ้าไซร้ไป่วาย ฯ |
๏ บัดนั้นนางแทตย์แปรดเสียง | ดูดู๋สูเลี่ยงเบี่ยงบ่าย |
เจ้ามีใจม่งจงร้าย | ยักย้ายย้อนยอกหลอกเรา |
บุญญาพาทีดีหนัก | เดี๋ยวจักประจักษ์เจียวเจ้า |
อันเมืองเรืองอร่ามงามเงา | ข้าไม่ให้เจ้าไปพบ |
ชายอะไรเช่นนี้มีบ้าง | ชิช่างแชเชือนเกลื่อนกลบ |
พูดจาบ้าเบื้อเบื่อคบ | บัดซบแสนเข็นเช่นนี้ |
หญิงชวนยวนชื่นรื่นรส | กลับหดหัวปลีกหลีกหนี |
เจ็บใจใคร่เวียนเฆี่ยนตี | อยากขยี้ด้วยบาทราดเกลือ ฯ |
๏ พูดพลางนางพร่ำร่ำไห้ | ชลนัยน์นองหลากมากเหลือ |
ไหลตรงลงสระคละเจือ | เหมือนน้ำลำเหนือหลากมา |
ทันใดไหลท้นล้นหนอง | เร็วนองเนื่องไปในป่า |
เดี๋ยวใจในพื้นพสุธา | กลายเปนเช่นมหาสาคร |
อมรสิงห์นิ่งตลึงอึ้งคิด | ทุกทิศเปนลลอกฉอกฉอน |
เหลียวเนตรดูนงองค์อร | นางหลอนลอยฉิวปลิวไป |
เย้ยยั่วหัวเราะเยาะหยัน | ก้องลั่นราวป่าฟ้าไหว |
อมรสิงห์นิ่งคิดอิดใจ | น้ำใกล้ถึงอกตกตลึง |
เหลียวเหลือบแลเขม้นเห็นรุกข์ | เธอบุกลุยชลจนถึง |
ปีนพลางพึมพำรำพึง | สำนึงกิ่งไม้ใบบัง |
ตรึกว่าธรรมดานารี | ย่อมมีชลนัยน์ไหลหลั่ง |
ยามอัดขัดใจไม่ยั้ง | แค้นคั่งขุ่นคร่ำน้ำตา |
แต่ว่าชลเนตรเลศนี้ | ทุกที่ท่วมไปในป่า |
๘๘เล่ห์ลึกทึกใหญ่ไหลมา | แลเห็นเช่นมหาสาคร |
น้ำหลากๆแท้แน่ว่า | มายานางนั้นมันหลอน |
มันแค้นกูขัดตัดรอน | ง้องอนเราไม่ไยดี |
หากกูได้มาอาศัย | บนค่าคบไม้ใหญ่นี่ |
จึ่งพ้นชลภัยได้มี | ชีวีไว้ก่อนผ่อนปรน |
ดูหมอกคลุมน้ำสำอาง | จันทร์สว่างวารีมีผล |
เหมือนข่ายเงินงามอำพน | คลุมบนแผ่นพื้นไพฑูรย์ |
คิดเห็นเช่นเศียรศิวะ | คือพระผู้ทรงตรีศูล |
เหล่าพฤกษ์คือผมสมบูรณ์ | นองน้ำจำรูญลานตา |
๘๙น้ำคือคงคามาหลง | เวียนวงอยู่ในเกศา |
๙๐ตามเรื่องโบราณนานมา | ครูบาอาจารย์ท่านแสดง |
อันเราเนาบนต้นไม้ | น้ำใกล้ขึ้นมาน่าแสยง |
จำต้องปีนต่อพอแรง | หวังแสวงความรอดปลอดภัย ฯ |
๏ พลางพระไต่ตีนปีนพฤกษ์ | ยามดึกน้ำมากหลากไหล |
ยิ่งปีนยิ่งด้นต้นไม้ | น้ำใหญ่ครึน ๆ ขึ้นตาม |
เหลียวดูผลูใดไป่เห็น | นอกจากจันทร์เพ็ญเปนสาม |
กับรุกข์แลน้ำคำราม | เปนคลื่นครืนครามงามฟู |
ยิ่งปีนยิ่งน้ำตามพระ | เสียงละลอกเหลือเบื่อหู |
พระอ่อนกำลังยั้งดู | นึกว่าน่ากูจะม้วย |
เว้นแต่วิษณุเปนเจ้า | บรรดาลเปนเต่ามาช่วย๙๑ |
พระไม่อุปถัมภ์อำนวย | จักม้วยชีพล่มจมน้ำ |
ดูทึกนึกในใจคร้าม | ฉนากฉลามโลมาคลาคล่ำ |
ยิ่งปีนยิ่งฟกอกช้ำ | กองกรรมเกินเพลิงเริงร้าว ฯ |
๏ ไต่ตลอดยอดพฤกษ์นึกพรั่น | พอตวันรุ่งสางหว่างหาว |
๙๒รำไพไขกลบลบดาว | อื้อฉาวปักษีมี่เกรียว |
พระก้มพักตร์ตรูดูน้ำ | ยิงซ้ำอกสั่นขวัญเสียว |
เมื่อกี้น้ำมากหลากเจียว | เดี๋ยวเดียวแห้งลดหมดลง |
อันต้นไม้ใหญ่ใบหนา | เปนผาน่าคิดพิศวง |
เมื่อกี้ปีนไม้ใจจง | จักลง ๆ ได้ไม่แคลง |
พฤกษ์หายกลายเปนผาเงื้อม | เหมือนเอื้อมถึงฟ้าน่าแสยง |
จักไต่ลงดินสิ้นแรง | ผาแขงชันดิ่งกริ่งภัย |
เล่ห์กลนางนั้นมันล่อ | นัยนาเปนท่อทึกใหญ่ |
เราลี้หนีชลซนไป | น้ำไล่รีบด้นดลพฤกษ์ |
มันใช้มายาพาให้ | เห็นเขาเปนไม้ในดึก |
ปีนรุกข์รีบลี้หนีทึก | พฤกษ์ใหญ่ใช่พฤกษ์ใบบาน |
ดินแห้งเราเห็นเปนน้ำ | ผาล้ำเราเห็นเปนศาล๙๓ |
ต่อรุ่งแสงตวันบรรดาล | ให้มายามารหมดมวญ |
เราจึ่งรู้สึกนึกเห็น | ความเปนอันแปลกแผกผวน |
อยู่ยอดผาชันรัญจวน | จักสงวนชีพไฉนไม่รู้ |
ผิวหมายป่ายปีนตีนลื่น | คงหกตกพื้นแผ่นผลู |
แม้นเมี้ยนเศียรมุดคุดคู้ | ยั้งอยู่ยังยอดเขานี้ |
ไม่มีอาหารธารน้ำ | จะรกำกองเข็ญเปนผี |
เหลือรู้เหลือกู้ชีวี | กรรมกี้กีดกั้งรังแก ฯ |
๏ จนตวันผันผายบ่ายคล่อย | พระลห้อยหานางห่างแห |
คำนึงเนตรนิลดิ้นแด | ดวงแขคือพบูชูรัก |
หวังได้สมสู่อยู่สอง | แนบน้องขวัญอนงค์ทรงศักดิ์ |
ยิ่งโศกยิ่งแสนแค้นนัก | หมายพักตร์มุ่งเพียรเวียนค้น |
เวียงตรูอยู่ไหนในโลก | ทุกโกรกทั่วกรอกซอกหน |
มุ่งท่องมองเที่ยวเทียวทน | แค้นรคนเคืองรคายหมายเพียร |
พงศ์เราเผ่าเลิศเชิดผู้ | ควรรู้มายาพาเหียร |
เสียกลจนหลงวงเวียน | น่าเฆี่ยนน่าฆาฏอาตมะ |
มายามันหยอกหลอกหลอน | ชลฉ่อนท่วมท้นล้นสระ |
๙๔เราไม่รู้ใจไทตยะ | เปะปะปีนลี้หนีน้ำ |
ผิวกูรู้เท่าเค้าเล่ห์ | แม้ทเลมายามาคล่ำ |
นิ่งไว้ให้มันสรรทำ | จักซ้ำเติมได้ไป่มี๙๕ |
ได้ยากเพราะเราเบาคิด | เชื่อสนิทโง่ถนัดบัดสี |
สุดแสนแค้นขุ่นมุ่นมี | เสียทีเพราะเขลาเท่านั้น ฯ |
๏ พระทรงกำสรดหมดคิด | น้อยจิตต์นั่งเจ่าเหงาพรั่น |
ผินพบูดูไปไกลพลัน | เห็นวิหคผกผันโผมา |
ลิ่ว ๆ ลุยฟ้ามาลิบ | นกทิพย์ท่องทเลเวหา |
สองตัวพัวพันกันคลา | คาบพาอีกพิหงค์ม่งบิน |
อมรสิงห์ซบองค์ทรงเร้น | นกเห็นที่ว่างหว่างหิน |
บินบ่ายหมายหน้าผานิล | วางศพปักษินลงไว้ ฯ |
๏ ปางพระอมรสิงห์นิ่งดู | เห็นคู่หงส์เงินงามไข |
คาบศพหงส์ทองยองใย | มาใกล้ที่องค์ทรงเร้น |
เกาะยั้งยังยอดภูผา | เห็นท่าหงอยเหงาเศร้าเข็ญ |
เหนื่อยหนักพักร้อนผ่อนเย็น | คงเขม้นมุ่งไปไป่ช้า ฯ |
๏ พระเสด็จแสดงองค์ทรงขาน | อ้าท่านสองพิหคนกกล้า |
ขนเงินงามเงาเพราตา | ยิ่งกว่าปวงสกุณบุญแรง |
ใช่นกธรรมดาข้าเห็น | คงเปนเทพดามาแฝง |
ในร่างนกต่ำจำแลง | ถูกแช่งปางหลังดังฤๅ |
ข้าใคร่สอบความถามนก | สองวิหคอย่าได้ไขสือ |
อันศพหงส์สุวรรณนั้นคือ | ศกุนีมีชื่อฉันใด |
ท่านมาแต่ไหนใคร่ทราบ | จักคาบกันจู่สู่ไหน |
จงแถลงให้เราเข้าใจ | อย่าได้อางขนางพรางนาม ฯ |
๏ สกุณยินผินเห็นมานุษ | แสนสุดสดุ้งจิตต์คิดขาม |
จวนตัวกลัวเลมิดเกิดความ | กล่าวตามจริงใจไปพลัน ฯ |
หงส์ทูลว่า
๏ ข้าแต่มานุษสุดกล้า | สองข้ามุ่งหมายผายผัน |
พาศพพญาหงส์ทรงธรรม์ | สู่ด้าวแดนสวรรค์ชั้นบน |
๙๖สระชื่อมานสะสระศรี | เปนที่แสนสราญบานผล |
อันพญาหงส์คำทำงน | วายชนม์เมื่อเสด็จเตร็จบิน |
ถึงกนกนครอ่อนล้า | เธอถลาปีกหักปักหิน |
เราเชิญศพพญาสามินทร์ | สู่ถิ่นสระใหญ่ในฟ้า ฯ |
๏ เมื่อนั้น | องค์พระยุพราชชาติกล้า |
ยินหงส์จำนรรจ์พรรณนา | หัตถ์ขวาชักขรรค์ทันที |
ขมีขมันถลันไปใกล้นก | ก่อนวิหคพาศพหลบหนี |
เงื้อขรรค์ขู่ท่าราวี | พลางมีวาจาตรัสไป ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสว่า
๏ ดูราสองหงส์จงรู้ | คำตูว่าวานขานไข |
อันเรื่องเมืองคำอำไพ | ข้าใคร่แจ้งถนัดชัดเจน |
ประสงค์จงใจใคร่รู้ | เล่าสู่บุตรทารหลานเหลน๙๗ |
ท่านอย่าหลีกเลี่ยงเบี่ยงเบน | ข้าเกณฑ์ให้พาข้าไป |
คืนสู่เวียงคำซ้ำก่อน | จึ่งย้อนกลับมาผาใหญ่ |
ศพพญาหงส์ทองยองใย | พักไว้ที่นี่ดีแล้ว |
จงตั้งวาจาสาบาล | ว่าท่านทั้งสองผ่องแผ้ว |
จักพาข้าไปไป่แคล้ว | ตามแนวตูทรงบงการ |
ผิวหนีคลี่ปีกหลีกหลบ | อันศพเจ้าสกุณขุนห่าน |
จักหั่นบั่นเล่นเปนทาน | อาหารแร้งกามาทึ้ง |
หมายสู่มานสะสระเลิศ | เชื่อเถิดมิให้ไปถึง |
อย่าไถลไขสือดื้อดึง | จงคนึงชั่งใจให้งาม ฯ |
๏ บัดนั้น | สองหงส์ได้สดับวับหวาม |
ตรึกตรองถ่องแท้แน่ความ | เห็นตามคำทรงบงการ |
จักหมายบ่ายเบี่ยงเลี่ยงล่อ | ย่อท้อถ้อยกล่าวห้าวหาญ |
จึงถวายปฏิญญาสาบาล | จักทยานพาองค์ทรงภพ |
ไปกนกนครก่อนอื่น | แล้วคืนกลับมาพาศพ |
สู่แหล่งโดยรบอบนอบนบ | ไป่ตลบแตลงล่อข้อความ ฯ |
๏ ทูลพลันสองหงส์ม่งหน้า | จากผาพานรินทร์บินข้าม |
ป่าเขาเลาทุ่งมุ่งตาม | หนเหิรเพลินยามบ่ายคล้อย |
งามสองปักษินบินโผน | พระโหนคอหงส์ทรงห้อย |
ปีกผสมลมส่งหงส์ลอย | เหมือนพลอยพุ่งไปในฟ้า ฯ |
๏ พระทอดทัศนาผาพฤกษ์ | ล้วนพิลึกแลหลากจากหล้า |
โขดเขาเขียวชอุ่มชุ่มตา | ลานหญ้าแลงามยามเย็น |
เห็นช้างอย่างหมูดูต้อย | (หมูน้อยดูไกลไป่เห็น) |
เหล่านกผกปีกหลีกเร้น | ผินเผ่นผันออกนอกทาง |
ถึงทเลเวลาสายัณห์ | เห็นมหรรณพไกรใหญ่กว้าง |
น้ำนิลดิ้นโลดโดดพลาง | ครึนครางคือคลื่นครืนฟอง |
สีทเลเล่ห์เนตรนวลศรี | แต่มีขาดตกบกพร่อง |
นิลทเลบ้าเบื้อเบื่อมอง | เนตรน้องนิลปลั่งดังเพ็ญ ฯ |
๏ พระเพ่งพักตร์ไปในน้ำ | เกาะก่ำกนกะพระเห็น |
แสงทองส่องอร่ามยามเย็น | คิดเช่นเวียงสวรรค์ชั้นฟ้า |
แน่พระหฤทัยใช่อื่น | แช่มชื่นสมกมลด้นหา |
หมายพบสบถวิลจินดา | ภายน่านึกเกษมเปรมแด |
เกาะก่องส่องศรีดิลก | คือกนกนครเปนแน่ |
แสงคำก่ำล้วนชวนแล | รังแกกวนใจให้ชม |
จังงังบังคับจับตา | แสนสง่าทรวดทรงส่งสม |
เพลินเพ่งเล็งชล่าอารมณ์ | งวยงมจนหัตถ์พลัดพลัน |
หลุดจากคอหงส์ลงฉิว | ลิ่ว ๆ สู่ทเลเหหัน |
อากาศปราศกิ่งสิ่งอัน | จักยันยึดเหนี่ยวเกี่ยวองค์ |
อึดเดียวเจียวขณะพระหล่น | ด้น ๆ ถึงอุทกตกผลง |
กรรมนำกำหนดปลดปลง | ไป่คงชีพไปได้แล้ว |
ชูพักตร์กวักชลด้นน้ำ | คลาคล่ำคลื่นคนองคล่องแคล่ว |
จักถึงซึ่งเมืองเรืองแพร้ว | มาแคล้วเมื่อใกล้ใจนึก |
ยิ่งคิดยิ่งข้องหมองหมาย | จวนตายเจียวตูรู้สึก |
๙๘ว่ายทึกนึกสทกอกทึก | ในสมุทสุดลึกดึกล้น |
เวียนว่ายบ่ายหน้าหาเกาะ | จักเหมาะทิศไหนใคร่ด้น |
ผิวเตร่เร่ร่ายว่ายวน | คือย่นชีวิตปลิดปลง ฯ |
๏ ตรึกพลางกางกายว่ายแหวก | เจียนแยกชีพยุ่ยผุยผง |
คลื่นชลอพอเพอินเชิญองค์ | เกยตรงเกาะว่างหว่างชล |
พระเกาะเกาะลื่นคลื่นซัด | ลมพัดน้ำพราวราวฝน |
ยากยิ่งกลิ้งเกลือกเสือกตน | ขึ้นบนเกาะน้อยลอยน้ำ |
พิปริตผิดแผกแปลกเกาะ | จำเพาะโผล่ชลฝนฉ่ำ |
ลื่นตีนปีนตลิ่งยิงซ้ำ | ล้มคว่ำลมหงายหลายครั้ง |
ย่างเท้าก้าวไปใช่หิน | ใช่ดินไคร่ดื่นลื่นขลัง |
พระกริ่งนิ่งตรับยับยั้ง | คลื่นคลั่งครืนเครงเพลงลม ฯ |
๏ บัดนั้นเกาะเคลื่อนเลื่อนไหว | เออไฉนโอนเอียงเพียงล่ม |
พระถวิลจินดาปรารมภ์ | เกาะกลมนี้หรือคือปลา |
หลังพ้นชลโผล่โตนัก | ประจักษ์แจ้งชัดมัจฉา |
ปลาใหญ่ใจดีมีมา | ช่วยข้าเช่นชั้นบัลลังก์ ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสว่า
๏ อ้าพญาปลาใหญ่ไกรเกียรติ์ | อย่าเคียดข้าจู่สู่หลัง |
มัตสยากล้าล้ำกำลัง | จงฟังคำข้าว่าวอน |
ข้าใคร่ใจจำจำเพาะ | สู่เกาะสุกก่องทองก้อน |
หมายมุ่งกรุงก่ำกำจร | คือกนกนครข่มฟ้า |
ประจักษ์จักลุอยู่แล้ว | คลาดแคล้วเพราะเปลี้ยเสียท่า |
ขอพึ่งการุญคุณปลา | พาข้าสู่เกาะเหมาะนึก ฯ |
๏ บัดนั้นปลาใหญ่ได้ยิน | หน่อนรินทร์กล่าวความยามดึก |
คลี่ครีบรีบไปในทึก | ปลาถึกทูลถามความไป ฯ๙๙ |
ปลาถามว่า
๏ ดูรามานุษสุดคล่อง | ท่านท่องทางหลากจากไหน |
ประสงค์ม่งสรรอันใด | จึงใคร่ถึงทวีปรีบร้อน |
มีเรื่องเบื้องเก่าเรารู้ | แต่สูกล่าวไขไปก่อน |
หนึ่งข้าใคร่ถามนามกร | อันเปนเหตุร้อนรึงมา |
โฉบตรูอยู่ไหนใคร่แจ้ง | หลักแหล่งบ้านเมืองเรืองหล้า |
แม้นเข้าเค้าที่มีมา | จักพาสู่ทวีปรีบไป ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อมรสิงห์ยิ่งทรงสงสัย |
มีเรื่องเบื้องหลังครั้งไร | กูไม่รู้เลยเคยเปน |
ปลาถามควรเราเล่าบอก | จักหลอกทำไมไม่เห็น |
มันเสมอมีปีกหลีกเร้น | ลวงเล่นจักเลมิดเกิดความ ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสตอบว่า
๏ ดูราปลาใหญ่ใจกล้า | อันข้าอกคับวับหวาม |
เพราะเสน่ห์นวลนงองค์งาม | เหลือห้ามเหลือหักรักเรื้อ |
ชาดามหาราชชาติสีห์ | ชัยทัตฤทธีเทียมเสือ |
เสนาคณามาตย์ชาติเชื้อ | โอบเอื้อเอาภารกานดา |
อันพระยุพยงนงราม | ทรงนามนางกนกเรขา |
เวียงรามงามสมสมญา | อินทิราลัยเกษมเปรมทรัพย์ |
ตูข้ามาเดียวเที่ยวท่อง | สืบเรื่องเมืองทองซ้องศัพท์ |
อุตส่าห์ฝ่าดงองค์ยับ | หวังกลับไปถวายรายงาน |
ต่อราชนารีศรีภพ | เพื่อสบประสงค์ทรงขาน |
อันเรื่องเบื้องเก่าเบาราณ | เชิญท่านเล่าสู่ตูฟัง ฯ |
ปลาตอบว่า
๏ อ้ามานุษสุดกล้าสามารถ | พจนาตถ์บอกเบื้องเรื่องหลัง |
ลาดเลาเค้าความตามดัง | เรื่องดั้งเดิมนั้นอันมี |
ชาติก่อนกอบกรรมทำบาป | ตกตามความสาปฤๅษี |
ได้พึ่งซึ่งองค์ทรงตรี | จึ่งมีความปลอดรอดภัย |
ฝ่ายข้าหน้าที่มีอยู่ | จักให้ไปสู่เกาะใหญ่ |
โองการพระวรุณคุณไกร | เธอให้ตูมาพาเมื้อ ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสว่า
๏ อ้าพญามัจฉากล้าคลื่น | ท่านฟื้นสงสัยใหญ่เหลือ |
จินดาการุญจุนเจือ | เปนเรือเร็วพาข้าไป |
โองการพระวรุณคุณเลิศ | เรื่องเกิดเดิมดั้งครั้งไหน |
กรรมกี้มีเรื่องเบื้องไร | เหตุไฉนทราบถนัดชัดดี ฯ |
ปลาตอบว่า
๑๐๐๏ ข้าหรือคือพญามกระ | พาหนะพระวรุณเรืองศรี |
รู้เรื่องเบื้องหลังดังมี | เพราะพระวารุณีวัลลภะ๑๐๑ |
ทรงสังสนทนาพาที | กับพระตรีศุลีอีศะ |
๑๐๒เดชะพระมหากาละ | มอบธุระพระวรุณบุญฤทธิ์ |
เมื่อท่านตกน้ำคล่ำคลื่น | ให้ฟื้นชีพชูสู่ดิตถ์ |
๑๐๓ภาระพระวิศวชิต | มอบตูผู้สนิทนิตย์น้อม |
ไม่ทราบคำสาปใครสาป | แม้นทราบก็ทราบอ้อม ๆ |
อย่าโกรธโหดเหี้ยมเกรียมกรอม | อดออมหฤทัยไว้ดู |
บัดนี้ตูพาฝ่าคลื่น | ถึงตื้นใกล้เกาะเหมาะอยู่ |
จงละบัลลังก์หลังตู | ว่ายสู่เกาะทองผ่องพิศ |
แม้นเราเข้าไปใกล้หนัก | เผลอจักพลั้งตัวกลัวติด |
จงสบอารมณ์สมคิด | ปลดปลิดทุกข์เปลื้องเรื่องร้าย ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อมรสิงห์เสือกองค์ทรงว่าย |
แขงขืนคลื่นชลอยอกาย | พอพระสุริย์ฉายผายฟ้า |
เกาะทองก่องแท้แลเห็น | หมายเปนที่สุดอุตสาห์ |
ดีใจได้แรงแขงมา | ถีบถาถึงฝั่งดังจินต์ |
อ่อนนักพักพิศปลิดเมื่อย | สุดเหนื่อยแสนเหน็บเจ็บสิ้น |
อกห่อศอแหบแสบลิ้น | พื้นหินเหมือนฟูกถูกใจ |
ล้มองค์ลงอ่อนหย่อนเหนื่อย | ลมเฉื่อยชวนรงับหลับใหล |
นานนอนผ่อนองค์ทรงชัย | แทบใกล้ฝั่งสมุทสุดเย็น |
ฝันนาวาน้อยลอยสระ | ปัทมะแข่งแขแลเห็น |
นงรามงามจริงยิ่งเพ็ญ | นั่งเล่นในเรือเหนือน้ำ |
หัตถ์ขาวท้าวคางนางน้อง | เนตรจ้องอัมพุชสุดขำ |
รัศมีสีครามงามล้ำ | ส่องกล้ำกลบกลั้วบัวบาน |
บัวขาวพราวน้ำจำรัส | รับรัศมีครามงามน่าน |
กลายเปนบัวนิลกลิ่นนาน | หอมหวานวอนใจให้แล ฯ |
๏ อมรสิงห์นิ่งนิทร์ปลิดล้า | เห็นหน้านวลน้องผ่องแข |
ผวาตื่นฟื้นองค์ทรงแล | เปลี่ยนแปรไปตามความเปน |
ความหลับกลับดีมีสุข | ความตื่นฟื้นทุกข์ขุกเข็ญ |
เธอคนึงถึงนงองค์เพ็ญ | พลางเห็นเวียงทองผ่องแท้ |
หมายหามาเห็นเช่นหา | บุญตาเจียวตูรู้แน่ |
ควรเราเข้าใกล้ไปแล | เบาะแสข่าวสารฐานความ ฯ |
๏ เสด็จเดินเพลินดูผลูมาศ | มหาธาตุแถวถนนล้นหลาม๑๐๔ |
หินทองรองลาดดาดงาม | ตึกรามแลล้วนชวนตา |
ก่ำทองก่องแก้วแพรวเพริศ | ควรเชิดชูเร่เวหา |
๑๐๕ปราสาทชาตรูปจูบฟ้า | สูงสง่าเงื้อมเยี่ยมเทียมนค๑๐๖ |
ปราการกาญจนาภาพร้อย | หอคอยคำแนมแกมหยก |
๑๐๗หิรัณย์ศาลามาฬก | เบื่อกนกแพรวพราววาวตา ฯ |
๏ เช้าบ่ายร่ายเร่เตร่เตร็จ | พระเสด็จลดเลี้ยวเที่ยวหา |
จนจิตต์คิดค้นคณนา | ใฝ่หามูลเหตุเลศใด |
เวียงร้างกลางน้ำก่ำเก็จ | กาญจน์เพ็ชร์พลอยมุกด์สุกใส |
เกาะหม้ายกรุงหม้ายหมายใจ | หาใครชาวชนพลเมือง |
ไม่พบสักผู้กูค้น | อั้นอ้นใจอดหมดเรื่อง |
ยังมหาปราสาทมาศเรื้อง | จักเยื้องยาตร์ใกล้ไปดู |
เข้าได้ควรเราเข้าค้น | มีคนฤๅใครไม่อยู่ |
เก็บเล็มเต็มตามความรู้ | คืนสู่ยุวดีศรีภพ |
เพื่อถวายรายงานการเที่ยว | ลดเลี้ยวซอกซนจนสบ |
บั่นบุกทุกแห่งแจ้งครบ | เจนจบความรู้กูล้น ฯ |
๏ เสด็จทอดทัศนาปราสาท | ยุพราชเดินเดียวเที่ยวด้น |
งามทวารบานคำอำพน | ซุ้มปพาฬกาญจน์พ้นอำไพ |
อัฑฒจันทร์คือจันทร์พรรณแพร้ว | สกาวแก้วแกมทองส่องใส๑๐๘ |
๑๐๙ดูสดมภ์ชมเดินเพลินใจ | พื้นอุไรรับผนังฝังนิล |
เพดานพิศดารกาญจน์แก้ว | ดาริกาภาแพร้วเพริศสิ้น๑๑๐ |
ทุกห้องอ่องโอ่โศภิน | ยิ่งถวิลยิ่งพวงสงกา ฯ |
๏ รเมียรมองห้องกลางกว้างใหญ่ | หฤทัยรัญจวนหวนหา |
เห็นอาสน์มาศเอี่ยมเยี่ยมตา | อาภาพรรณ์มณีมีนพ |
เหนือแท่นแผ่นกนกปกลาด | กลางอาสน์สำอางวางศพ |
พระคนึงทัศนาปรารภ | มาพบทรากใครในนี้ |
เวียงร้างวังร้างกลางคลื่น | งามรื่นมโนรถสดสี |
ปราศคนปราศสัตว์ปัฐพี | ซึ่งมีชีวิตจิตต์ใจ |
ศพนี้ศพเดียวเจียวหนอ | เครื่องส่อสัญญาว่าได้ - |
เคยมีร่างกายหายใจ | เปนใกล้สิ่งมีชีวิต |
ขออภัยให้ตูดูหน้า | เปิดผ้าผืนกนกปกปิด |
ยลพักตร์สลักทรวงบ่วงพิษ | ตกตลึงอึ้งจิตต์ติดตา ฯ |
๏ เพราะศพซึ่งพระมาพบ | คือศพนางกนกเรขา |
ขยี้เนตรเหตุเหลือเชื่อตา | เปนบ้าฤๅฝันฉันใด |
นางอยู่ดี ๆ ที่โน่น | เมื่อโน้นยุพยงทรงไล่ |
เราหนีลี้นอกวังใน | หวังใจจักแสวงแหล่งตรี |
บุกป่าฝ่าทเลเตร่จบ | ไฉนศพศรีพธูอยู่นี่ |
ขวัญอนงค์องค์สอางอย่างนี้ | ไป่มีสองได้ในภพ ฯ |
๏ พระเพ่งเล็งตลึงอึ้งอยู่ | เหมือนตปูกรึงไว้ใกล้ศพ |
หฤทัยไหม้ฮือคือคบ | เหลือรบเหลือสู้ผลูกรรม |
กำสรดหมดสติตริตรึก | ท่อทึกนัยนาคลาคล่ำ |
นานนิ่งยิ่งในใจช้ำ | จวบค่ำพระตลึงอึ้งแล ฯ |
๏ ค่อย ๆ บรรจงทรงปิด | ภูษิตคลุมพักตร์เพ็ญแข |
ย่องออกนอกห้องหมองแด | ท้อแท้หฤทัยไข้ครวญ |
ถึงคั่นบันไดใกล้สระ | จึ่งพระผู้ช้ำกำสรวล |
อยุดนั่งยั้งคนึงถึงนวล | รัญจวนเจียนพรากจากชนม์ |
เหมือนเลมอเธอฝันตื่น ๆ | เครงคลื่นซัดซ่ากาหล |
แว่วคำจำเรียงเสียงคน | เสาะค้นสืบข่าวป่าวร้อง |
ยินพยุดุปัดพัดคลื่น | ครืน ๆ โครมครึกกึกก้อง |
๑๑๑เสียงตรังค์ดังเยี่ยงเสียงฆ้อง | เพรียกพร้องพร่ำป่าวข่าวไป |
หาผู้รู้เรื่องเมืองมาศ | คู่ราชนารีศรีใส |
สมบัติขัติยาธิปตัย | จักให้แบ่งกึ่งพึงพอ |
เสียงตรังค์ฟังไปใช่คลื่น | ครื้น ๆ มาเครียวเจียวหนอ |
เสียงคนเสียงฆ้องร้องคลอ | สอ ๆ กันมาหากู ฯ |
๏ ดึกดื่นตื่นเลมอเธอฝัน | จนตวันเยี่ยมหาวเช้าตรู่ |
พระตื่นจากฝันผันดู | ปราสาทมาศตรูตาชม |
ตริตรึกนึกในใจพระ | เกษมะหมายไว้ไม่สม |
เคลื่อนคลาศปราศเครื่องเรืองรมย์ | จำก้มพักตร์กลับฉับพลัน |
สู่อินทิราลัยไกรเกรื่อง | เล่าเรื่องวนิดาอาสัญ |
มาพบศพน้องหมองพรรณ | อัศจรรย์ใจร้าวราวพัง |
จักกลับกลับไฉนใช่ง่าย | หวังว่ายข้ามสมุทสุดหวัง |
จำเปนจำกูอยู่ยั้ง | นิ่งนั่งนึกหาท่าทาง |
กายกูดูรอาลามก | สกปรกขุ่นคล้ำดำด่าง |
จำจักจุ่มองค์ลงล้าง | ในอ่างทองคำก่ำนี้ ฯ |
๏ พระเสด็จโดดดำชำระ | เสยสะเศียรองค์ทรงศรี |
ผุดโผโผล่จากวารี | พอดียินข่าวป่าวไป ฯ |
๏ เจ้าเอยเจ้าข้า ใครยินอย่าช้า เร่งมาเร็วไว ฟังคำประกาศ ดังราชหฤทัย ถอยคำจำไป สืบส่อต่อกัน ฯ
๏ ชายดีมีชาติ ควรสู่คู่ราช ชาดาลาวัณย์ เคยเห็นเมืองทอง งามผ่องเพียงจันทร์ จงเฝ้าเจ้าอัน ทรงสิทธิ์ฤทธี ฯ
๏ ท้าวจักยอยศ ลือชาปรากฎ เกียรติ์แกว่นแดนตรี จัดสรรปันให้ ราไชศวรศรี สารพรรณอันมี แบ่งมอบครอบครอง ฯ
๏ หนึ่งจะประทาน ยุพยงนงคราญ ลักษณ์ล้ำลำยอง องค์กนกเรขา บุบผาผิวทอง ประคับประคอง เปนคู่ชูใจ ฯ
๏ ชายดีมีชาติ แจ้งเรื่องเมืองมาศ สู่ราชเร็วไว รางวัลอันยิ่ง ทุกสิ่งสมใจ กอบโกยโดยนัย ที่ประกาศเอย ฯ
๏ อมรสิงห์นิ่งฟังยั้งตรับ | ทรงสดับคำข่าวกล่าวเผย |
ร่ายร้องซ้องเสียงเยี่ยงเคย | พระเงยพักตร์ชแง้แลดู |
เห็นคนไปมาคลาคล่ำ | เร่ร่ำล้นหลามตามผลู |
ผิดแผกแปลกใจใคร่รู้ | เราอยู่เกาะทองผ่องพริ้ง |
อาบในสระคำดำมุด | มาผุดในสระผีสิง |
กรุงอินทิราลัยไกลจริง | คิดกริ่งหฤทัยใช่น้อย |
ขยี้เนตรแยงกรรณพรั่นจิตต์ | วิปริตหูตาบ้าถ่อย |
นิ่งฟังนั่งมองร่องรอย | ยินถ้อยคำคนพลเวียง |
เต็มหูรู้แน่แลเห็น | ความเปนอันแท้แซ่เสียง |
ยินป่าวกล่าวซ้ำจำเรียง | สำเนียงพระประสงค์บงการ |
แห่งท้าวชัยทัตฉัตรเชิด | ยิ่งเกิดความทรงสงสาร |
อันพระยุพยงนงคราญ | สิ้นปราณไปแล้วแคล้วรัก |
เหตุไฉนยังกล่าวป่าวร้อง | เพรียกพร้องพล่อย ๆ บ่อยหนัก |
น่าพวงสงสัยใจนัก | จักซักสอบความถามดู |
พระอมรสิงห์ตรัสว่า
๏ อ้าราชบุรุษอยุดก่อน | ด่วนย้อนเดินไยในผลู |
อันองค์ยุวดีศรีตรู | ยังอยู่แห่งใดในดิน |
คำที่ตีฆ้องร้องป่าว | เปนข่าวจริงจังทั้งสิ้น |
ฤๅเปนเช่นใดใคร่ยิน | บอกรบิลไปเถิดเปิดความ |
ข้านี้มีข่าวกล่าวชาน | หลักฐานติดต่อข้อถาม |
อาจแถลงแจ้งเรื่องเมืองงาม | สมตามจอมกษัตร์ตรัสมา ฯ |
๏ บัดนั้น | ราชบุรุษได้ฟังกังขา |
ชายนี้นี่ใครไหนมา | เสื้อผ้าเปียกน้ำรำคาญ |
กิริยาท่าทางอย่างกล้า | เจรจาองอาจฉาดฉาน |
ควรเราเล่าข้อส่อการณ์ | ข่าวสารสืบสวนทวนความ ฯ |
ราชบุรุษตอบว่า
๏ ดูราชายชาญหาญกล้า | เจรจาปราศท้อข้อถาม |
อันพระยุพยงนงราม | บอกตามลาดเลาเรารู้ |
เนามหาปราสาทราชฐาน | บริวารแวดล้อมพร้อมอยู่ |
นงรามงามฉวีศรีภู | ไร้คู่ควรเคียงเรียงพักตร์ |
พระบิดาหาผู้ชูชาติ | ชายฉลาดเชาวน์เฉลิมเสริมศักดิ์ |
หวังสองครองกันมั่นรัก | เพิ่มภักดีราษฎร์ปราศทุกข์ |
สมบัติจัดสรรปันให้ | เพื่อได้ผดุงเผดิมเหิมสุข |
แต่จักอุปถัมภ์ทำนุก | เฉพาะบุคคลผู้รู้ความ - |
ในเรื่องเมืองทองก่องแก้ว | ผ่องแพร้วเพริศลบภพสาม |
ชายใดได้เรื่องเมืองงาม | ทูลความพระดนุชบุตรี |
ทรงซักหลักพยานฐานเค้า | ลาดเลาเลศขบวนถ้วนถี่ |
จักทรงทราบพลันทันที | ผิวมีความสัตย์ชัดจริง |
แม้นบอกหลอกลวงบ่วงเท็จ | สำเร็จอย่าหมายร้ายยิ่ง |
คือปลดชีวิตปลิดทิ้ง | จักกลิ้งกลางดินสิ้นปราณ |
แม้นสูรู้เรื่องเมืองทอง | ทำนองทรงธรรม์บรรหาร |
จักให้ไปสู่ภูบาล | เพื่อท่านเพ็ดทูลมูลความ ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อมรสิงห์กริ่งเค้าเขาถาม |
จักบอกออกเหตุเขตคาม | ไปตามจริงใจไป่ควร |
ตรัสว่าอ้าท่านชาญเชาวน์ | ข่าวเราเหลือแปลกแผกผวน |
ใช่กล่าวเกลื่อนกลบทบทวน | โดยขบวนปดโป้โลภะ |
พูดเท็จเผด็จสัตย์ขัดขวาง | เปนทางงงโง่โมหะ |
เข็ดบาปหลาบจำธัมมะ | ตูจะบอกความตามตรง |
แต่จักแจ้งชัดบัดนี้ | เกรงมีความคลาดมาดม่ง |
ขอทูลความลับกับองค์ | ยุพยงยอดหญิงมิ่งเมือง ฯ |
๏ บัดนั้น | ราชบุรุษไม่เห็นเปนเรื่อง |
ตอบว่าอย่าวุ่นขุ่นเคือง | เปนเครื่องให้เราเข้าร้าย |
ครั้งก่อนมีชายหมายโชค | มาโหยกเหยกเล่นเห็นง่าย |
มันไม่รักตัวกลัวตาย | ทูลขยายเยี่ยงปดคดเค้า |
หมายมั่นสันดานพาลเติบ | กำเริบลวงล่อล้อเจ้า |
จับได้ไม่ฆ่าพาเรา | ให้เข้าเนื้อด้วยช่วยมัน |
เจ้าอย่ามาทำกำเริบ | อิ่มเอิบอวดเล่นเห็นขัน |
แม้นเราเบาใจไม่ทัน | รู้เท่าเจ้าอันมาลวง |
จักถูกตำหนิติฉิน | ภูมินทร์กริ้วโกรธโทษหลวง |
วาจาบ้าเบื้อเหลือตวง | จาบจ้วงจงใจในเท็จ |
เจ้าอย่ามาเล่นเช่นนี้ | ท้าวมีอาญาข้าเข็ด |
โง่ ๆ โป้ปดคดเคล็ด | จักเสร็จสมหวังดังฤๅ ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อมรสิงห์นิ่งไว้ไขสือ |
ความเก่าเอากลับมารื้อ | จักถือโทษไซร้ไป่ควร |
คราวก่อนกูบอกออกเท็จ | เขาเข็ดคำข่าวกล่าวด้วน |
สืบหลักซักถามลามลวน | สอบสวนข้อขานฐานเค้า |
แม้นกูกระตือรือร้น | ฝูงคนคงหาว่าเขลา |
เห็นบ้าบึ่มบ่ำคำเรา | ไม่เอาเปนส่ำนำพา |
กูจักเล่นตัวยั่วคิด | ให้จิตต์มันงั่งกังขา |
คำป่าวข่าวขานนานช้า | ครั้นหาพบแล้วแคล้วไป ฯ |
พระอมรสิงห์ตรัสว่า
๏ อ้าท่านหาญเหลือเชื่อจิตต์ | ว่าคิดแม่นยำคำไข |
เห็นมั่นฉนั้นแล้ว ๆ ไป | ตามใจจงเลี้ยวเที่ยวร้อง |
แห้งหืดฝืดแหบแสบศอ | ร้องคลอเสียงคล้องฆ้องหม่อง |
เสียงท่านขานแข่งแย่งฆ้อง | เสียงร้องเสียงเคาะเหมาะนัก |
คอฆ้องร้องไกลไม่แสบ | คอคนคับแคบแสบหนัก |
ท่านท่องร้องร่ายหลายพัก | ประจักษ์เปนแน่แพ้ฆ้อง |
อนึ่งพระภูบาลผ่านหล้า | ให้มาสืบข่าวป่าวก้อง |
หาผู้รู้เรื่องเมืองทอง | คู่ครองขวัญอนงค์ทรงลักษณ์ |
ท่านเที่ยวเลี้ยวเลาะเสาะถาม | สืบตามประสงค์ทรงศักดิ์ |
ส่วนข้าหน้าม่งจงรัก | ภูลภักดีองค์ทรงภพ |
ทรามเรื่องเมืองนั้นมั่นเหมาะ | เหตุเพราะข้าได้ไปสบ |
หมายพึ่งจึ่งมาคารพ | นอบนบจอมกษัตร์ฉัตร์ฟ้า |
ความรู้สู่องค์ทรงเดช | โดยเหตุข้าได้ไปหา |
ท่านไม่ฟังคำนำพา | ต่อหน้าที่ซึ่งพึงทำ |
สบช่องส่องทางกว้างให้ | ทรงชัยทราบเรื่องเมืองก่ำ |
ท่านทิ้งโอกาสปราศธรรม | พูดพล่ำผิดพลาดลาดเลา |
เปนข้าหน้าที่มีชัด | ปฏิบัติโดยนัยใจเจ้า |
ความรับผิดชอบรอบเค้า | ย่อมเนาในท่านดาลร้อน |
ตามใจไม่เอื้อเฟื้อข้า | ขอลาคลาไคลไปก่อน |
โอกาสความรู้ภูธร | จักจรกับข้าพาไป |
เชิญท่านเที่ยวเลาะเสาะร้อง | เคาะฆ้องจำเรียงเสียงใส |
๑๑๒อันผู้รู้เรื่องเมืองไร | หาได้เชิญหาอย่าท้อ ฯ |
๏ บัดนั้น | ราชบุรุษฟังไปใจฝ่อ |
หนักอกตกใจใฝ่ง้อ | เห็นข้อบกพร่องถ่องแท้ |
ป่าวร่องมานานปานนี้ | ทุกที่เที่ยวเสาะเบาะแส |
ท่องสื่อสอ ๆ จอแจ | เห็นแน่ว่าใครไม่รู้ |
ชายนี้มีท่าว่าทราบ | โชคลาภมาเอื้อเกื้อกู้ |
ควรสดับยับยั้งฟังดู | อาจรู้จริงจิงดังคำ |
จำเปนพาไปให้เฝ้า | ทูลเค้าคำกล่าวข่าวขำ |
แม้นปดคดข้อก่อกรรม | จักนำโทษใหญ่ใส่มัน |
พลั้งพลาดอาจเราเข้าเนื้อ | แต่เหลือจักแก้แปรผัน |
เคราะห์เข็ญเปนไรเปนกัน | โทษทัณฑ์ยอมเสี่ยงเที่ยงแท้ ฯ |
ราชบุรุษกล่าวว่า
๏ อ้าท่านพาลโกรธโหดเหี้ยม | อย่าเกรียมใจกริ่งยิ่งแก้ |
เอาเล่นเปนจริงดิ่งแด | รีบแร่เร็วไปไป่ควร |
คำเราเย้าถามตามเห็น | ว่าเปนเชิงชอบสอบสวน |
ใช่สภาพหยาบหยามลามลวน | ทบทวนเกินเหตุเลศเลา |
มาเถิดมาไปในวัง | เพื่อฟังโองการผ่านเกล้า |
จงทูลมูลความตามเค้า | ใช่เปล่าปราศทางอ้างอิง ฯ |
๏ พูดพลางพากันผันผาย | ตัวนายนำหน้าพาวิ่ง |
เหย่า ๆ เต้าไปไกลจริง | อมรสิงห์พักตร์เพ่งเร่งร้อน |
เหมือนภัยไล่หลังตั้งหน้า | แล่นถลาเล่ห์ลี้ผีหลอน |
ถึงวังบังคมภูธร | ยอกรทูลความตามมี ฯ |
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวชัยทัตเทียมสีห์ |
สถิตอาสน์มาศรัตน์รูจี | นฤบดีเห็นเขาเข้ามา |
พร้อมทั้งอมรสิงห์พริ้งรูป | ผอมซูบแต่ดูรู้หน้า |
กริ้วกราดตวาดเหม่เสนา | ปล่อยบ้าเข้าวังดังฤๅ |
อ้ายนี่ขี้คดปดโป้ | โยโสพูดจาบ้าดื้อ |
โทษทัณฑ์อันหนักจักรื้อ | ขึ้นหรือหมายมั่นฉันใด |
ครั้งก่อนหลอนหลอกบอกเรื่อง | ข่าวเมืองคำก่องส่องใส |
ครั้นซักหลักเปื้อนเลือนไป | ใส่ใคล้พูดเล่นเห็นดี |
มาหลอกแล้วหลีกอีกหรือ | สองมื้อหมายเห็นเปนผี |
คราวก่อนห่อนดังครั้งนี้ | จักขยี้ชีวิตปลิดปราณ ฯ |
๏ เมื่อนั้น | หน่อนรินทร์ยินราชบรรหาร |
บังคมก้มราบกราบกราน | ภูบาลอย่าเผด็จเม็ตตา |
ข้านี้มีบุญหนุนกรรม | ทรงธรรมจงฟังดังว่า |
ขอเฝ้าเยาวมาลย์กานดา | ตั้งหน้าทูลความตามจริง |
ใช่คิดติดต่อข้อเท็จ | สำเร็จด้วยหลอกกลอกกลิ้ง |
จักทูลหลักทางอ้างอิง | ทุกสิ่งแต่สัตย์อัตรา |
แม้นทูลความเท็จเคล็ดคด | ปรากฎแก่นรินทร์ปิ่นหล้า |
พระจงลงราชอาชญา | เข่นฆ่าข้าบาทฟาดฟัน |
ได้เฝ้าเจ้าหญิงมิ่งรัฐ | ข้อความตามสัตย์จัดสรร |
ทูลแล้วแล้วแต่ทรงธรรม์ | จักทำห้ำหั่นบั่นตี |
ยอมเปนยอมตายวายชีพ | ขอรีบทูลเรื่องเบื้องกี้ |
ซึ่งตูรู้ถนัดชัดดี | ภูมีจงทราบบทมาลย์ ฯ |
๏ เมื่อนั้น | นฤบดินทร์ยินคำร่ำขาน |
ตรองกริ่งนิ่งตรึกนึกนาน | มันหาญคำห้าวกล่าวท้า |
แม้นไม่จริงจังดังบอก | ลวงหลอกจับได้ให้ฆ่า |
อาจเปนเช่นมันสัญญา | ฤๅบ้าบ่ำบุ่มกลุ้มกาย |
ควรคิดรอบคอบสอบสวน | ทบทวนท่าทางอย่างหมาย |
มักไม่รักตัวกลัวตาย | จักวายชีวิตปลิดปราณ ฯ |
๏ ตริตรึกนึกมั่นฉันนี้ | ภูมีมีราชบรรหาร |
ให้รีบเร็วไปไป่นาน | เชิญองค์นงคราญขึ้นมา ฯ |
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์กนกเรขา |
ทราบคำดำรัสราชา | สุภคาขึ้นเฝ้าภูมี |
เคารพนบน้อมจอมภพ | ผินสบยุพราชปราศศรี |
แลตลึงอึ้งสิ้นอินทรีย์ | ยุวดีเดือดใจใคร่จำ |
มีอไรลับลึกนึกได้ | แล้วอไรปางบรรพ์หั่นห้ำ |
ชาติก่อนกอบก่อต่อกรรม | จวนจำได้แล้วแคล้วไป |
คลับคล้ายคลับคลาน่าแค้น | จั๊กแหล่นจักรู้อยู่ไหน |
เลือนๆ เหมือนหมอกหลอกใจ | ทรามวัยพิศวงสงกา ฯ |
๏ ฝ่ายพระยุพราชปราศคิด | พระจริตฟั่นเฟือนเหมือนบ้า |
เห็นองค์นงขวัญกันดา | นัยนานองอาบซาบองค์ |
ซบพักตร์สลักทรวงบ่วงโศก | เหมือนโรครึงใจใหลหลง |
เงยเห็นเพ็ญเนตรนวลนง | แสงส่งรัศมีสีนิล |
ลืมรกำลำบากยากเข็ญ | เปลี่ยนเปนปลื้มปลาบซาบสิ้น |
หัตถ์อ่าหาองค์นงพินทุ์ | แดดิ้นเดือดใคร่ได้ครอง ฯ |
๏ ฝ่ายพระยุพยงทรงยศ | ถอยถดออกห่างพลางจ้อง |
เห็นท่าบ้ารห่ำลำพอง | มาคนองนึกหยามลามลวน |
ความรลึกชาติได้ใกล้ถึง | พอขึ้งเคียดพลันผันผวน |
ลืมสนิทปลิดปลดหมดมวญ | อักอ่วนอกโกรธโทษร้าย |
วานซืนชายนี้มีหน้า | เข้ามาหลอกเล่นเห็นง่าย |
ปล่อยไปในเกณฑ์เดนตาย | ยังหมายกลับมากล้าลวง |
หาญใจในเท็จเคล็ดคด | เลี้ยวลดเริงใจใหญ่หลวง |
แสนซูบลูบหน้าตากลวง | เหมือนขวงแค่นมาน่าแค้น ฯ๑๑๓ |
นางกนกเรขาตรัสว่า
๏ อ้าบุรุษสุดคล่องท่องเที่ยว | ฉลาดเฉลียวรู้ภพจบแผน |
น่าขามความรู้คู่แมน | มั่นแม่นมรรคาพาที |
ข่าวเมืองมุสามาแสร้ง | ส่อแหล่งแสนหลากสากษี๑๑๔ |
ลาดเลาเล่าไปให้ดี | ครั้งนี้เจ้ากล้าน่ากลัว |
แม้นมาปดโป้โอหัง | อีกครั้งเหมือนเหี้ยเสียหัว |
หมายมีชีวิตติดตัว | อย่ามัวหมายเปล่าเบาความ |
โอกาสครั้งนี้ที่สอง | อย่าปองว่ามีที่สาม |
จงนึกตรึกไตรให้งาม | พยายามปดไปให้เพราะ ฯ |
๏ เมื่อนั้น | หน่อนรินทร์ยินพจน์หมดเหมาะ |
โฉมยงทรงเฉลยเย้ยเยาะ | เหมือนเฉาะด้วยมีดกรีดริ้ว |
พระยินนางเยาะเพราะโสต | นางโกรธ ๆ ไปไม่กริ้ว |
บุญญาพาทีหนีปลิว | เนตรหิวเห็นนางพางกลืน |
จักพูด ๆ ไปไป่ออก | จักบอก ๆ ยากขวากขืน |
เสียงติดศอตันยันยืน | ยิ่งฝืนยิ่งฟกอกร้าว |
สองครั้งสามครั้งตั้งหน้า | จักพยายามแสดงแจ้งข่าว |
อึดอัดขัดรคายหลายคราว | จึ่งกล่าวโดยคดีมีมา ฯ |
พระอมรสิงห์ทูลนางว่า
๏ อ้าองค์ยุวดีมีศักดิ์ | นางจักทำไฉนไม่ว่า |
ไป่ลี้หนีราชอาชญา | จักฆ่าฤๅเฆี่ยนเจียนตาย |
ข้าขอทูลถามความขำ | เงื่อนงำโฉมยงทรงฉาย |
ตูฉงนจนใจไม่วาย | มั่นหมายมาทูลมูลมี |
นางมีชีวิตพิศเห็น | เหมือนเพ็ญจันทร์ตรูอยู่นี่ |
เหตุไฉนในกนกธานี | จึ่งมีศพนางวางไว้ ฯ |
๏ เมื่อนั้น | อรพินท์สิ้นทรงสงสัย |
ยินข่าวกล่าวความตามนัย | ทราบได้แจ้งจัดชัดแท้ |
ชายนี้สามารถกาจกล้า | เคยฝ่าไปเห็นเปนแน่ |
ตรึกพลันขวัญอนงค์ทรงแล | เห็นแปรเปลี่ยนไปในบรรพ์ |
รำลึกชาติเก่าเค้ากี้ | จำพญาสามีได้มั่น |
ถูกสาปฤๅษีมีธรรม์ | จากสวรรค์ตกตรงลงมา ฯ |
๏ ยุพยงทรงถลาคว้าสอด | กรกอดยุพราชชาติกล้า |
ชลนัยน์ไหลซาบอาบตา | เศียรซบอังสาสามี |
กาลเก่าเรารกำลำบาก | กรรมซัดพลัดพรากจากที่ |
กรมทุกข์ทุกวารนานปี | แต่นี้จักร่ำสำรวล |
สรวลพลางนางซั้นกันแสง | สำแดงโศกพลางนางสรวล |
ขุ่นเศร้าเคล้าสุขทุกข์ทวน | อักอ่วนอกใจไฟฮือ ฯ |
นางตรัสว่า
๏ พระเอยพระเสด็จเตร็จเตร่ | เดินเอ้องค์เดียวเจียวหรือ |
รู้เรื่องเมืองงามตามลือ | เหตุคือพระได้ไปลุ |
ชาติเก่าเราอยู่คู่รัก | คราวร้างปางควักจักขุ |
ก่อกรรมทำตามความยุ | มุทลุเลศเลาเบารู้ |
ผลกรรมลำบากยากแท้ | จักแก้จักเกื้อเหลือกู้ |
บาปใหญ่ไล่ลามตามตู | พึ่งรู้จักกันวันนี้ |
ผัวเมียเสียทีมีชาติ | แคล้วคลาดจากกันวันกี้ |
ครั้นพบสบหน้าสามี | ต้องลีลาไปไกลองค์๑๑๕ |
พระจงทรงเสาะเบาะแส | กอบแก้กรรมหนุนบุญส่ง |
สบน้องสองครั้งดังจง | จักคงคืนสุขทุกข์ไร้ |
พระองค์จงจำคำน้อง | เพียรท่องเที่ยวค้นจนได้ |
บรรจบพบกันวันใด | จักไปสุขสันต์ทันที ฯ |
๏ ตรัสพลางยุพยงนงลักษณ์ | หัตถ์ผลักองค์พระผละหนี |
แขงขึงอึ้งสิ้นอินทรีย์ | ทรงศรีส่องสว่างพางเพ็ญ |
จำรัสรัศมีสีเนตร | สังเกตเกินใครได้เห็น |
ชนมากหลากใจไม่เว้น | ยิ่งเด่นยิ่งชแง้แลดู |
ยิ่งเปล่งเพ่งจริงยิ่งปลั่ง | ต่างนั่งพิศเพ็ญเปนหมู่ |
แปลกจริงนิ่งชมโฉมตรู | ไม่รู้เหตุใหญ่ใกล้กาล ฯ |
๏ ผ่ายท้าวชัยทัตขัติเยศ | ทรงเดชแสนทรงสงสาร |
พักตร์พิศจิตต์พวงนงคราญ | อาการเปล่งปลั่งดังเดือน |
ก่องก้ำล้ำลบภพสาม | เคยงามแต่ไหนไม่เหมือน |
ยิ่งพิศยิ่งติดตาเตือน | ชักเงื่อนหฤทัยให้ชม |
นางใคร่ได้คู่ชูชื่น | แสนหมื่นใช่ชายหมายสม |
คนนี้ลักษณ์ล้ำขำคม | อารมณ์พระลูกถูกแล้ว |
ได้เขยเลยได้ไร้ทุกข์ | เสพสุขกอบเกื้อเชื้อแถว |
สืบวงศ์ทรงฉายพรายแพรว | ผ่องแผ้วเพราะบุญหนุนทัน ฯ |
๏ ฝ่ายโหราจารย์ชาญเวท | สังเกตหลักแผนแม่นมั่น |
เห็นราชชาดาลาวัณย์ | ยิ่งจันทร์แจ่มงามยามเพ็ญ |
ต่างดูตากันสั่นพักตร์ | ประจักษ์ท่วงทีที่เห็น |
ร้อนอกตกรกำลำเค็ญ | ทุกข์เข็ญอันหนักจักมี ฯ |
๏ ขณะนั้นโฉมยงทรงลักษณ์ | ผิวพักตร์เผือดสลดหมดสี |
ล้มองค์ลงพลันทันที | ชีวีปลิดปลดหมดไป ฯ |
๏ ปางราชบิตุรงค์ทรงภพ | เห็นศพยุวดีศรีใส |
ดาลทุกข์รุกรัดอัดใจ | ภูวนัยซ้อนสลบซบลง ฯ |
• • • • • • • • •
๏ เมื่อนั้น | ยุพราชฟั่นเฟือนเหมือนหลง |
พึมพำพร่ำเพ้อเผลอองค์ | ผินตรงเดินออกนอกวัง |
ผู้คนอลหม่านพล่านพลุก | อุกหลุกเหลือนับคับคั่ง |
พระเสด็จดุ่มไปไป่ยั้ง | ไม่ฟังถ้อยคำส่ำคน |
เหมือนเมาเหล้าเข้มเต็มที่ | ท่วงทีโซเซเตร่หน |
ก้มหน้าฝ่าแหวกแซกวน | มึนมนมัวเมอเพ้อพึม |
เดี๋ยวทำหน้าบูดพูดพร่ำ | เดี๋ยวทำนิ่งหน้าท่าขรึม |
เดี๋ยวหนึ่งนั่งเหงาเซาซึม | มำมึมเหมือนบ้าน่ากลัว |
ฝูงชนยลเธอเมอจิตต์ | วิปริตทำท่าน่าหัว |
บ้างหลีกบ้างลี้หนีตัว | บ้างยั่วบ้างเย้าเข้าชิด |
บ้างชี้บอกกันนั่นแน่ | ชายนี่ขี้แยศักดิ์สิทธิ์ |
เปรอะเปื้อนเหมือนเด็กเล็กนิด | กจิริดน่าเล่นเอ็นดู |
บ้างกล่าวข่าวใหญ่ในวัง | น่าชังชายอยาบจาบจู่ |
หมายคู่ยุวดีศรีตรู | เหมือนงูเปนเสนียดเกลียดชัง |
นางเห็นหน้าเจ้าเข้าหน่อย | สาวน้อยหนีเตลิดเสริดสรัง |
ละชีพรีบไปไป่ยั้ง | เหลือรั้งรออยู่ดูพักตร์ |
ท่าทางอย่างนี้มีหน้า | หมายหายุพยงทรงศักดิ์ |
เหมือนมาฆ่าองค์ทรงลักษณ์ | หนักนักความทลึ่งถึงดี |
ปวงชนบ่นว่าน่าโกรธ | กล่าวโทษยุพราชปราศศรี |
พระยินพระไม่ไยดี | หรือที่แท้ไม่ได้ยิน |
หลีกคนด้นออกนอกผลู | ไป่ดูไป่ฟังทั้งสิ้น |
ความคิดปลิดปลดหมดชิ้น | ความถวิลจำได้ไม่มี ฯ |
๏ ถึงสระซุดองค์ลงนั่ง | จวนคลั่งฆ่าคนป่นปี้ |
พอเพอินจำเพาะเคราะห์ดี | เกิดมีรู้สึกตรึกไตร |
เหตุผลข้นแค้นแสนเข็ญ | กลับเห็นแจ้งจิตต์คิดได้ |
นัยนาพร่าพร่ำช้ำใจ | หลั่งไหลหลากหล่นฝนเค็ม |
เหมือนสมุทมีไว้ในเนตร | สังเวชชลนัยน์ไหลเข้ม |
ตาแดงแสงก่ำน้ำเต็ม | จักเม้มให้อยุดสุดรู้ |
สิ้นแขงแรงโรยโหยหวน | กำสรวลโศกสิงยิ่งสู้ |
กรมเกรียมเทียมไฟไหม้ภู | หล่ออยู่ในทุกข์คลุกเคล้า ฯ |
๏ ล้มองค์ลงนอนอ่อนเปลี้ย | ละเหี่ยหฤทัยไห้เศร้า |
หลับพลันฝันเห็นเพ็ญเพรา | นงเยาว์ยิ้มแย้มแช่มตา |
กองรกำกำสรดหมดสิ้น | พิศนิลเนตรน้องจ้องหน้า |
รัศมีสีครามงามตา | วนิดาพักตร์พริ้มยิ้มยืน |
อาบในแสงเนตรนงลักษณ์ | ประจักษ์สุขยิ่งสิ่งอื่น |
ปรีดาอารมณ์กลมกลืน | เต็มตื้นหฤทัยใดปาน ฯ |
๏ เสวยสุขในฝันหรรษา | ศัยยาร่มไม้ไพศาล |
หลับเหมือนไม้ขอนนอนนาน | ภูบาลพักผ่อนอ่อนล้า |
กลางคืนฟื้นองค์ทรงตื่น | ดึกดื่นเงียบเหงาเศร้าหน้า |
คำนึงนงขวัญกันดา | นัยนานองน้ำช้ำแด ฯ |
๏ อ้าเจ้าเสาวภาคเพ็ญโฉม | ยิ่งโสมส่องขำล้ำแข |
กรรมทันปั่นป่วนปรวนแปร | ถ่องแท้ทางบาปหลาบจริง |
พบแล้วแคล้วกันวันนี้ | หมดที่มุ่งมองน้องหญิง |
ร้างชีพรีบลี้หนีทิ้ง | กูกลิ้งกลางดินสิ้นคิด |
แต่ก่อนมีหวังตั้งหน้า | เสาะหาสืบถามตามติด |
กรรมซัดบัดนี้ชีวิต | ปลดปลิดไปแล้วแคล้วรัก |
นางว่าอย่าขามตามหา | บากหน้าเสาะแสวงแหล่งหลัก |
เมื่อวันบรรจบพบพักตร์ | เราจักสุขสันต์ทันที |
รำพึงถึงคำกำชับ | อาภัพจริงใจไฟจี่ |
วายชนม์พ้นไปใครมี | ถิ่นที่ ๆ ให้ไปตาม |
จักจำคำสั่งดังกล่าว | สืบข่าวข้อไขไป่ขาม |
ท่องเที่ยวเลี้ยวเลาะเสาะความ | ติดตามจนตายวายชนม์ ฯ |
๏ ตรึกพลางพระเสด็จเตร็จเตร่ | เที่ยวเร่ร่อนไปในหน |
ทุกเขตเทศคามถามคน | สืบค้นเสาะข่าวกล่าวคำ |
ท่านพบภริยาข้าหรือ | นางคือเยาวเรศเนตรขำ๑๑๖ |
รัศมีสีครามงามล้ำ | ส่องกล้ำกลบกลั้วทั่วไกล |
เปนราชนารีศรีฉาย | แต่หายไม่รู้อยู่ไหน |
พบแล้วแคล้วคลาดปราศไป | สั่งไว้ให้ข้ามาตาม |
ท่านรู้อยู่ไหนได้โปรด | ยกโทษที่ข้ามาถาม |
อย่าเห็นเปนกวนลวนลาม | บอกความแก่ข้าสามี ฯ |
๏ ปวงคนยินคำพร่ำเพ้อ | บ้าเบ้อเบื่อหูจู้จี้ |
นารีสีใสไหนมี | รังสีเนตรครามงามครัน |
ท่าทางอย่างบ้าน่าเบื่อ | พูดเบื้อบุ่มใจใฝ่ฝัน |
จักตรับยับยั้งฟังมัน | เห็นบ่นว่าเหลวเลวซาม |
พระเสด็จเตร็จเตร่เร่ด้น | ฝูงคนหัวเราะเยาะหยาม |
ทุกแลวกแซกซุกทุกคาม | สืบความทุกแคว้นแดนคน |
ทุกที่ใกล้ไกลในโลก | ทุกโกรกทุกกรอกซอกหน |
หุบเขาเลาน้ำลำชล | ปราศผลมุ่งหมายดายแด ฯ |
๏ พระเสด็จดั้นพงดงพฤกษ์ | ยิงรลึกรักร้างห่างแห |
บ่ายบทลดเลี้ยวเหลียวแล | ยลแถงยามหงายฉายฟ้า๑๑๗ |
คิดแขไขแสงแข่งศรี | ขันสู้ยุวดีเด่นหล้า |
เพ็ญจันทร์พรรณ์นวลยวนตา | หย่อนกว่ารัศมีสีนิล |
หาแถงแง่ฟ้าหาง่าย | เบื่อหน่ายบงนักพักตร์ผิน |
๑๑๘หาเดือนเพื่อนเถินเดินดิน | คือนิลนัยนาหาดาย |
เพ็ญเดือนเพื่อนดินสิ้นหา | เพ็ญเดือนเลื่อนฟ้าหาง่าย |
เดือนเดินแดนดินนิลพราย | เดือนฉายเวหาสปราศนิล. |
เสาะในไตรภพสบแล้ว | คลาดแคล้วคือวิหคผกผิน |
เหลือรกำจำใจไต่ดิน | เสาะสุโนคโบกบินบนฟ้า |
จักทันฉันใดใคร่รู้ | โอ้กูอกกรมคมกล้า |
ครวญพลางครางคร่ำน้ำตา | โศกากลิ้งเกลือกเสือกกาย ฯ |
๏ เมื่อนั้น | พระศุลีศรีมานฉานฉาย๑๑๙ |
สถิตแท่นแผ่นผาอ่ากาย | พรรณรายรังสีถีระ |
ใคร่เสด็จเตร็จเตร่เร่เล่น | ยามเพ็ญไพบุลย์ชุณหะ |
ชมจันทร์ดั้นทเลเมฆะ | บานพระหฤทัยในฟ้า |
ชวนเยาวชายาปรารภ | นางนบนิ้วน้อมจอมหล้า |
พระโอบองค์ขวัญกันดา | กัลยาณิ์อิงแอบแนบพระ |
เหิรเหาะเลาะลัดตัดเมฆ | รุจิเรขรังสีอีศะ |
ชมผาป่าไม้ไศละ | พระศิวะอุ้มนางกลางฟ้า |
สององค์ทรงสราญบานเบิก | เอิกเกริกภูตไพรใต้หล้า |
๑๒๐จวบขณะพระศิวะพระศิวา | ทัศนาแนวไพรในพง |
เห็นองค์อมรสิงห์วิ่งเพ้อ | พร่ำเผลอเพรียกไพรใหลหลง |
โหยหานารีมี่ดง | ทอดองค์ครวญคร่ำรำพรรณ |
พระศิวะระลึกนึกได้ | เปนไปเพราะบาปสาปสรร |
เคราะห์ใหญ่ไล่ลามตามทัน | แกล้งกลั่นบถร้ายบ้ายร้อน |
ภูตผีปีศาจมาดหมาย | ยักย้ายย้อนยอกหลอกหลอน |
กูจำอำนวยช่วยช้อน | ผันผ่อนพอให้ภัยพ้น |
ตรึกพลางพระศุลีตรีเนตร | เล่าเลศเลาเรื่องเบื้องต้น |
อมรสิงห์วิ่งเพ้อเผลอตน | อนุสนธิ์คำสาปบาปบรรพ์ |
พระศิวะทูลนางพลางพา | พระศิวาวรรณฉายผายผัน |
สู่หิมาลัยในพลัน | ฝากบรรพตผู้ชูยศ๑๒๑ |
ส่งเสร็จพระเสด็จเตร็จฟ้า | เรืองโรจน์โชติหล้าปรากฎ |
เหาะจากเขาคันธ์บรรพต | หมายบถบ่ายสู่ภูดล |
ลงในไพรกว้างกลางเขต | ทรงเพศโยคีชีต้น |
แหวกทางหว่างรุกข์บุกพน | ดั้นด้นอารัณย์จัณฑึก |
บรรดาลฆ้องใหญ่ให้เกิด | แขวนเชิดชูไว้ในดึก |
พระศุลีตีฆ้องก้องคึก | อึกทึกภูตผีมี่เกรียว |
ปีศาจรากษสหมดหลาย | แทตย์ร้ายทารุณฉุนเฉียว |
แรดช้างกวางม้ามาเครียว | งูเงี้ยวหมีหมูหมู่ร้าย |
มวญมหิงส์จิ้งจอกออกวิ่ง | ทั้งกทิงถึกเสือเหลือหลาย |
ดาษดามาเฝ้าเจ้านาย | ต่างถวายเคารพนบน้อม ฯ |
๑๒๒๏ ปางปศุบดีตรีเนตร | ปวงเปรตป่วงป่ามาห้อม |
ผีภูตทูษณ์แทตย์แวดล้อม | พรั่งพร้อมทานพครบครัน |
คลาคล่ำส่ำสัตว์ยัดเยียด | เบียดเสียดแซกแซงแข่งขัน |
เรียงรอบนอบน้อมพร้อมกัน | ฟังบัญชาองค์ทรงฤทธิ์ |
พระเผยพจมานหว่านล้อม | โอบอ้อมโองการบานจิตต์ |
อ้าเจ้าเหล่าคนองปองนิตย์ | จักคิดเข่นฆ่ามานุษ |
จงฟังดังเราเล่าชี้ | ป่านี้ชายหนุ่มกลุ้มสุด |
มาเดียวเที่ยวเร่เซซุด | เดินอยุดเดินยั้งคลั่งไคล้ |
ตามหานารีมีลักษณ์ | แสงจักษุครามงามไข |
ฝ่ายองค์นงรามทรามวัย | ร้องไห้ร่ำโหยโพยพาย |
แม้นพบในพงจงเจ้า | จดจำคำเราเล่าหมาย |
อย่าบั่นหั่นห้ำทำลาย | ทำร้ายชีวิตปลิดปราณ |
จักล่อล้อหลอกหยอกเย้า | ยั่วเร้าอย่างไรในย่าน |
ไม่ห้ามตามจิตต์คิดการ | พอสราญใจเล่นเปนพอ |
อย่าฆ่าอย่าขบตบขวิด | ชีวิตสองเขาเราขอ |
จงจำคำสั่งรั้งรอ | คิดข้อที่ห้ามปรามนี้ |
รันทมกรมกรรมจำจอง | ทั้งสองถูกสาปบาปกี้ |
ทนทุกข์ทุกห้วงบ่วงมี | ตามที่ถูกแช่งแหล่งเดิม |
เวรกรรมทำไว้ไล่ล้าง | สองห่างเหินสุขทุกข์เสริม |
ทุกเหยียบทุกข์ย่ำซ้ำเติม | โศกเพิ่มเศร้าเพียบเสียบซ้อน |
วันใดได้พบสบพักตร์ | สองจักสมสุขทุกข์ถอน |
กูมีเม็ตตาอาทร | จักช้อนสู่แหล่งแห่งโน้น |
ปวงเจ้าเข้าใจใส่จิตต์ | อย่าคิดร้ายกาจผาดโผน |
ขืนทำพล้ำเพลี่ยงเอียงโอน | คือโยนทุกข์ใหญ่ใส่ตน ฯ |
๑๒๓๏ ตรัสพลางพระศุลีตรีโลจน์ | ช่วงโชติเฉิดฉายพรายหน |
๑๒๔จรจากฟากมหากานน | ก่องถกลเกียรติ์เฟื่องเลื่องฟ้า ฯ |
• • • • • • • • •
๏ จำจะกล่าวบทไป | ถึงร่างนางกนกเรขา |
วางแท่นแผ่นทองผ่องตา | ในมหาปราสาทมาศล้วน |
สงัดสงบศพเดียวเปลี่ยวดาย | วังหม้ายอยู่ร้างกลางสวน |
เวียงมาศปราศชนคนกวน | ศพนวลนอนนานปานเปน ฯ |
๏ สาวสวรรค์วันเมื่อเมื้อชีพ | ดังปทีบด่วนดับวับเห็น |
หลีกพระอมรสีห์หนีเร้น | เหมือนเล่นซ่อนหาถาทิ้ง |
นางออกนอกร่างนางไป | จากอินทิราลัยไวยิ่ง |
พริบเนตรเดียวไปไกลจริง | เข้าสิงทรากนางทางโน้น |
พักตร์เผือดเลือดค่อย ๆ แล่น | แร้นแค้นเหมือนไม้ใบโกร๋น |
โลหิตกิจกอบปลอบโยน | ซีดโพลนเปลี่ยนแปลงแดงไป |
ค่อยรู้สึกองค์นงลักษณ์ | ลืมจักษุสองส่องใส |
ผุดผวาหาองค์ทรงชัย | เห็นได้แต่ห้องทองล้วน |
อยู่เดียวเปลี่ยวเปล่าเศร้าแสน | คิดแค้นขุ่นค้ำกำสรวล |
เหลือบเหลียวเที่ยวแลแปรปรวน | อักอ่วนอกรทมกรมทุกข์ |
เหมือนฟื้นตื่นพรากจากฝัน | ใครสรรแสร้งให้ไร้สุข |
เอองค์ทรงเศร้าเร้ารุก | เคล้าคลุกอยู่ในภัยร้อน |
เหตุเข็ญเปนไฉนใคร่ทราบ | ชรอยบาปกรรมลามตามหลอน |
หลอกให้เห็นภัยไฟฟอน | ยามนอนหลับเผลอเมอมันท์ |
ลองหยิกจิกเล็บเจ็บเนื้อ | พอเชื่อว่าใช่ใฝ่ฝัน |
เหลือรู้เหลือเราเดาทัน | แม่นมั่นว่ากรรมทำไว้ |
อยู่วังทั้งเขือเมื่อกี้ | บัดนี้นี่กูอยู่ไหน |
เวียงร่างว่างคนหนใด | ทำไมมาอยู่ผู้เดียว |
พรากพญาสามีมีเดช | โดยเขตคำสาปขวาบเขวียว |
สุดหมายบ่ายเบี่ยงเลี่ยงเลี้ยว | แสนเสียวใจสั่นพรั่นพรึง |
สุขสันต์มั่นหมายภายหน้า | จำหาทางให้ไปถึง |
มัวซึมงึมงำคำนึง | จักสึงสุขได้ไป่มี |
สีดาจากรามตามพบ | ราฆพคืนสู่คู่ศรี |
๑๒๕๏ หนึ่งนางนกเลี้ยงเยี่ยงมี | หนึ่งไวทรรภีศรีบูรณ์๑๒๖ |
สามีละร้างห่างหาย | เจียนวายชีวิตปลิดสูญ |
แสนเศร้าเคร่าหาอาดูร | อากูลกรมกรรมทำงน |
ความรักชักใจให้สู้ | ยอมอยู่กลิ้งเกลือกเสือกสน |
ไม่หมายวายพรากจากชนม์ | ดิ้นรนรอหาสามี |
สำเร็จอารมณ์สมมาด | คืนสู่คู่ราชเรืองศรี |
ตั้งสติตริไตรได้ดี | เพราะมีความรักชักใจ |
นางไหนใต้หล้ามาเทียบ | ความรักจักเปรียบเราได้ |
ฤทธิ์รักหนักแน่นแล่นไป | คงได้สมตามความรัก ฯ |
๏ เหลียวแลแง้แหงนแสนเงียบ | โศกเสียบใจเหน็บเจ็บหนัก |
อยู่เดียวเปลี่ยวองค์นงลักษณ์ | อกอักอ่วนร้าวคราวร้อน |
รีบย่องมองซ้ายย้ายขวา | แลหน้าเหลียวหลังยั้งหยอน |
กริ่งภัยใจว้าอาวรณ์ | อื้นอ้อนอกโหยโรยรา |
ถึงทวารบานทองผ่องเพริศ | ลายเลิศล้วนมณีมีค่า |
แนวผลูปูคำก่ำตา | ดาษดาด้วยแก้วแกมกาญจน์ |
เสด็จออกนอกวังตั้งหน้า | จินตนาข่มขลาดอาจหาญ |
ลดเลี้ยวเที่ยวดูอยู่นาน | ไป่พานพบใครในเวียง |
กรุงไกรไร้ราษฎร์ปราศสัตว์ | แสนสงัดเหงาใจไร้เสียง |
เถือกทองส่องแหวแลเรียง | ไฟเพนียงสีฉานปานกัน |
ยุพยงทรงยาตร์บาทย่าง | อ้างว้างเวียนเร่เหหัน |
ถึงทเลเวลาสายัณห์ | อึงอรรณพกว้างทางลม |
แขงขืนยืนยังฝั่งน้ำ | ทุกข์ช้ำชอกชกอกขม |
งามนิลนัยนาน่าชม | เนตรผสมแสงสองส่องน้ำ |
สีสมุทดุจครามยามอยู่ | เดียวดูเพลินใจใสฉ่ำ |
ครั้นนิลนัยนามานำ | ยิ่งทำให้สมุทสุดงาม |
สมุทเฒ่าเจ้ากลยลเล่ห์ | รู้คเนในจิตต์คิดขาม |
ไป่แขงแข่งคู่วู่วาม | ครั่นคร้ามเนตรนิลยินยอม |
แต่ใคร่ได้ความงามเพิ่ม | หวังเฉลิมเลื่องลือชื่อหอม |
ยอมให้นัยนามาย้อม | เพื่อพร้อมเพรียงความงามตน ฯ |
๏ นางยืนกลืนกลัดอัสสุ | อัมพุยิ่งเพลิงเริงหลน |
แลสมุทสุดเศร้าเปล่าชนม์ | ยิ่งจนใจนางครางครวญ ฯ |
๏ อ้าพญาสาครฉ่อนคลื่น | ท่านสอื้นอกไข้ไห้หวน |
เหตุเหี้ยมเกรียมกล้ามากวน | กำสรวลโศกสลักรักรื้อ |
พลัดคู่ผู้เคยเชยชื่น | จึ่งคลื่นเครงกลิ้งจริงหรือ |
อกทเลเล่ห์ไฟไหม้ฮือ | อึงอื้อเพราะพรากจากรัก |
น้ำนิลดิ้นเซ็นเปนฝอย | พร่ำพร้อยพรมหน้าข้าหนัก |
เค็มคือชลนัยน์ไหลพักตร์ | พรากรักคือพรากจากภพ |
อกตูอกสมุทสุดแม้น | มั่นแม่นคือไอไฟอบ |
ทุกข์เราเท่าทันอรรณพ | ช่วยลบเคราะห์บ้างล้างทุกข์ |
เกื้อหนุนจุนใจให้สม | อารมณ์รีบถึงซึ่งสุข |
ช้อนชุบอุปถัมภ์ทำนุก | โปรดปลุกชีพไว้ให้ฟื้น ฯ |
๏ พร่ำพลางนางเล็งเพ่งแล | ท้อแท้ทุกข์เฝือเหลือฝืน |
ดูสมุทสุดหวั่นครั่นครืน | เครงคลื่นลมใหญ่ไล่ยอ |
ละลอกหัวขาวฉาวฉ่า | หลั่น ๆ กันมาสอ ๆ |
ฉาดฉานซ่านเซ็นเล่นล้อ | วิ่งล่อไล่หลามตามกัน |
ยุพยงบงคลื่นดื่นดิ้น | พลางผินพักตร์แลแปรผัน |
โน่นอไรในน้ำสำคัญ | กำปั่นเข้มแขงแข่งลม |
เรือใหญ่ใบกว้างกางแล่น | มั่นแม่นหมายใจได้สม |
รอยบุญหนุนทบอบรม | อาจข่มเคราะห์บาปคาบนี้ ฯ |
๏ ยุพยงทรงโบกภูษา | ลมพาปลิวปลายคลายคลี่ |
เห็นไปในมหาวารี | ถึงที่เรือแล่นแกว่นชล ฯ |
๏ บัดนั้น | หัวหน้าวาณิชคิดผล |
แห่งการค้าขายหมายตน | เปนคนมั่งคั่งทั้งมวญ |
อุตส่าห์ฝ่าสมุทสุดกว้าง | อ้างว้างคืนวันหันหวน |
สลาตันปั่นเหเซซวน | เจียนจวนจักยับอับปาง |
ลมซัดพลัดห่างทางหมาย | แล่นตกายกลางคลื่นดื่นข้าง |
เห็นเกาะเหมาะใจใกล้ทาง | เกาะว่างถิ่นฐานบ้านเมือง |
มีหญิงยืนเดียวเปลี่ยวอยู่ | คิดใคร่ไปดูรู้เรื่อง |
แร้นแค้นแสนเศร้าเปล่าเปลือง | จักเปลื้องชีวิตปลิดไป ฯ |
๏ อันกนกธานีศรีฉาย | แพรวพรายพรรณ์ทองผ่องใส |
ปราสาทมาศก่ำอำไพ | เมืองใหญ่ทั้งเมืองเรืองรอง |
ชนหลายแลไปไป่เห็น | เหมือนเช่นฉากบังทั้งผอง |
เห็นเกาะกรวดรายทรายรอง | เวียงทองไม่มีที่นั้น |
เพราะเทพารักษ์ศักดิ์ล้ำ | เธอกำบังมิดชิดมั่น |
ฝูงชนธรรมดาสามัญ | ใช่ขวัญเนตรซึ่งพึงยล ฯ |
๏ หัวหน้าวาณิชคิดหลาก | ชลมารคห่างไกลในหน |
สตรีนี้เดียวเปลี่ยวตน | อยู่ทนทุกข์ยากตรากตรำ |
เกาะเปล่าปราศผู้รู้จัก | โศกสลักทรวงเศร้าเช้าค่ำ |
ฝนตกแดดออกชอกช้ำ | ยามร้อน ๆ ล้ำจำร้อน |
ยามหนาว ๆ น้ำจำหนาว | ลมกร้าวแดดกล้าน่าหยอน |
ปราศที่กำบังนั่งนอน | อาวรณ์เวรกรรมทำไว้ ฯ |
๏ คิดพลันหันลำกำปั่น | เข้าพลันบังเกาะเหมาะได้ |
ให้หย่อนเรือน้อยลอยใน | น้ำใสสีครามงามซึ้ง |
เรียกพลกันเชียงเพรียงพร้อม | ออกอ้อมเรือใหญ่ไป่หึง๑๒๗ |
คนแรงแขงขันดันดึง | ตีตบึงไปยังฝั่งพลัน |
เชิญองค์นงเยาว์เนาเรือ | รีบเมื้อคืนลำกำปั่น |
เห็นนางพางเห็นเพ็ญจันทร์ | กระสันเสียวทรวงบ่วงรัก |
พูดจาปราไสในที | มารศรีเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหนัก |
เชิญนางวางองค์ลงพัก | บนตักแห่งพี่นี้เจียว |
ขอเปนเก้าอี้ที่นั่ง | บัลลังก์ภูลศักดิ์หนักเหนียว |
อย่าคิดบิดเบี่ยงเลี่ยงเลี้ยว | เชิญเหลียวแลบ้างข้างนี้ ฯ |
๏ เมื่อนั้น | นางกนกเรขามารศรี |
ยินข้อพ่อค้าพาที | ยุวดีเดือดอกตกใจ |
โอ้กรรมเอ๋ยกรรมทำเข็ญ | หมายเร้นไม่ลี้หนีได้ |
ตกในมือมันทันใด | ยลภัยยิ่งพ้นชนม์มรณ์ |
เมืองมาศปราศคนค่นแค้น | โศกแม้นไหม้หมกอกอ้อน |
คิดว่ามาพรากจากร้อน | ยิ่งย้อนทุกข์ยับทับทุกข์ |
อยู่เดียวเปลี่ยวตนบนเกาะ | มั่นเหมาะไม่มีที่สุข |
แต่ยังดีกว่ามาคลุก | ถูกรุกรานเล่นเช่นนี้ |
อกเอ๋ยเคยกรรมทำไว้ | เห็นได้ว่าเหลือเมื้อหนี |
จักบอกออกความตามที | มันมีความขลาดอาจกลัว |
ว่าเราเจ้าหญิงยิ่งยศ | ปรากฎเกียรติ์ไกรไปทั่ว |
บิตุราชเรืองรณคนกลัว | มีผัวเรืองรงค์ทรงฤทธิ์ |
มันเยงเกรงนามขามเดช | ภูธเรศลือชัยไกรกิตต์ |
สยดสยองพองเกล้าเบาคิด | อาจดีมีจิตต์เม็ตตา ฯ |
นางตรัสแก่นายวาณิชว่า
๏ ดูราพาณิชสิทธิโชค | อย่าโหยกเหยกกล่าวกร้าวกล้า |
แม้นเราเล่าเรื่องเนื่องมา | วาจาอนุสนธิ์ต้นปลาย |
ท่านผู้ผลูธรรมนำคิด | ใช่จิตต์ชั่วจักมักง่าย |
การก่อกองกรรมทำลาย | ย่อมหมายเมื้อหลีกปลีกตัว |
ชายอันปัญญากล้ายิ่ง | พบหญิงพลัดพรากจากผัว |
ไป่เข้าพัลวันพันพัว | กริ่งกลัวเกรงกรรมนำพา |
ขอบอกออกไขให้แจ้ง | สำนักหลักแหล่งแห่งข้า |
กรุงไกรใหญ่พ้นคณนา | อินทิราลัยเรืองเลื่องยศ |
ภูวนัยชัยทัตเทียมสีห์ | ฤทธีเกรียงกล้าปรากฎ |
ปวงปัจจามิตรคิดคด | ย่อมสยดสยองย่อท้อคิด |
นั่นคือพระชนกปกเกล้า | แห่งเราผู้รทมกรมจิตต์ |
พรากพระผัวขวัญครรชิต | ชีวิตมีเดียวเปลี่ยวดาย |
สามีมีกิตติ์ฤทธิ์กล้า | อยู่มา ๆ พรากจากหาย |
จักตั้งใจตนจนตาย | ร่อนร่ายเร่หาสามี |
พบแล้วแคล้วกันวันโน้น | เหมือนโจรจับพาล่าหนี |
มุ่งพักตร์จักแสวงแหล่งตรี | ดังที่บุญกรรมทำไว้ |
ท่านมีเม็ตตาการุญ | บุญคุณเลิศล่วงตวงได้ |
จงเร่งเพ่งพาข้าไป | เพื่อให้พบหาสามี |
เมื่อพระบิตุรงค์ทรงลักษณ์ | ประจักษ์จิตต์ล้วนถ้วนถี่ |
ทรงศักดิ์จักทรงยินดี | ในที่ท่านอวยช่วยช้อน |
ต่าง ๆ รางวัลมั่นแท้ | ผ้าแพรเงินทองกองก้อน |
จักสิ้นกังวลรนร้อน | เที่ยวซอนซอกค้ามาไป |
ปวงสูอยู่เย็นเปนสุข | มวญมุขมั่งคั่งหลั่งไหล |
ได้ราชอุปการบานใจ | เพราะไท้ขอบคุณจุนเจือ ฯ |
๏ บัดนั้น | วาณิชคิดคำฉ่ำเหลือ |
สั่งไพร่ให้บอกออกเรือ | ลมเหนือพัดพุ่งมุ่งไป |
พิศนางพลางนึกตรึกว่า | นวลหน้าน่าคิดพิสมัย |
คำไขไพเราะเหมาะใจ | แจ่มใสเลิศสิ้นดินแดน |
ข้อเค้าเล่าบอกออกแจ้ง | หลักแหล่งส่อสัตย์ชัดแสน |
หาจบพบไตรไม่แม้น | นึกแม่นมั่นเห็นเปนจริง - |
ว่าราชนารีมีลักษณ์ | สูงศักดิ์เกียรติ์ไกรใหญ่ยิ่ง |
๑๒๘เหี้ยมทุกข์เทียมผามาพิง | เหมือนกลิ้งกลางหล่มจมนาน |
อยู่เดียวเปลี่ยวตนบนเกาะ | คราวเคราะห์ห้ำหั่นบั่นหาญ |
เยียใดใครทำรำบาน | สงสารเศร้าเสียดเบียดเบียน ฯ |
พ่อค้ากล่าวว่า
๏ อ้าองค์ยุวดีมีลักษณ์ | แสนสลักโศกศัลย์หันเหียน |
๑๒๙ยศศักดิ์อัคคฐานนานเนียร | จวบเจียนจักปลดหมดปราณ |
เหตุเข็ญเปนไฉนใคร่ทราบ | รอยบาปไล่เบียดเสียดผลาญ |
อยู่กรุงฟุ้งเฟื่องเนื่องนาน | นงคราญทรงสวัสดิ์อัตรา |
เกิดเหตุเภทพานปานไหน | คือใครปกปักรักษา |
จึ่งพรากจากพลัดซัดมา | มรรคาข้ามสมุทสุดไกล |
เกาะเลี่ยนเตียนโล่งโปร่งเปล่า | นงเยาว์อยู่เดียวเปลี่ยวได้ |
บ้านเมืองเคืองแค้นแสนใจ | ฤๅไฉนนางลี้หนีมา ฯ |
๏ เมื่อนั้น | ยุพยงทรงพรั่นปัญหา |
ยินเค้าเขาถามความมา | ไตร่ตราตรึกตรองคลองความ |
เวียงทองก่องไกรใหญ่กว้าง | แลสล้างลอยฟ้าน่าขาม |
สีคำก่ำสดงดงาม | เรืองอร่ามแลเหมือนเดือนเพ็ญ |
เมืองใหญ่ใช่น้อยร้อยยอด | ตาบอดฤๅไรไม่เห็น |
อารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ปิดเร้น | มิดเม้นมิให้ใครพบ |
แม้นเราเล่าเรื่องเมืองมาศ | โอภาสพรายแสงแจ้งจบ |
ทั้งเกาะเหมาะมั่นอรรณพ | งามลบเลิศจริงยิ่งฟ้า |
ชี้บอกไป่เห็นเช่นชี้ | เห็นทีจักเห็นเปนบ้า |
แม้นกล่าวราวเรื่องเนื่องมา | เห็นว่าจักเห็นเปนบอ |
ควรบอกออกนัยไปบ้าง | กล่าวคำอำพรางบางข้อ |
ชอกช้ำน้ำตามาคลอ | ย่อท้อทางกรรมลำเค็ญ ฯ |
นางตรัสตอบว่า
๏ อ้าท่านชาญสมุทสุดหาญ | ไขขานซึ่งข้อส่อเข็ญ |
ข้าแสนแค้นเศร้าเช้าเย็น | เพราะเปนกองกรรมทำมา |
พระชนกยกเขยเชยคู่ | สมสู่เษกคล้องสองข้า |
ยามยากพรากพลัดภัดดา | เวรพากรรมพัดซัดเซ |
เธอเที่ยวเลี้ยวเลาะเสาะหา | ตามข้า ๆ จรร่อนเร่ |
เถลถลำลำบากวากเว้ | อยู่เอ้องค์คร้ามตามค้น |
จวบตูสู่เกาะเสาะหา | พระสวามีร้างห่างหน |
สองข้าอาภพอับจน | จำด้นเดินดั้นวันคืน |
ท่านตรึกนึกความยามเข็ญ | ลำเค็ญโศกแค้นแสนขืน |
เอ็นดูตูด้วยช่วยฟื้น | สู่พื้นดินแคว้นแดนคน |
อันผู้รู้หลักรักชื่อ | นับถือความสัตย์ชัดผล |
ตรึกตรองถ่องความงามมน | ย่อมยลทางชอบกอบการ ฯ |
๏ บัดนั้น | วาณิชคิดคำร่ำขาน |
ตรึกกริ่งนิ่งในใจนาน | เยาวมาลย์ทรงลักษณ์ศักดิ์ล้ำ |
เชื่อได้ใช่ปดคดเค้า | แม้นเราเร้ารุกปลุกปล้ำ |
ฤๅเข้าเย้าหยอกชอกช้ำ | จักนำเปนเรื่องเครื่องร้อน |
รู้ถึงซึ่งพระบิตุราช | น่าขยาดฤทธิรงค์ทรงศร |
ยากนักจักบุกซุกซอน | ซอกซ่อนเร้นราชอาชญา |
เราจำทำเช่นเห็นชอบ | โดยรบอบแบบอย่างนางว่า |
ล่อลวงบ่วงเล่ห์เวลา | ที่พาสู่แหล่งแห่งเรา |
โฉมเฉลาเบาคิดจิตต์คุ้น | รู้คุณคงคลายวายเศร้า |
เราลอบปลอบโฉมโลมเล้า | ค่อยพเน้าพนอนวลชวนรัก |
เชยชมสมหวังดังว่า | ภริยาผ่องศรีมีศักดิ์ |
มอบกายหมายถนอมพร้อมพรัก | นงลักษณ์ยินยอมน้อมใจ |
สิงสู่อยู่สองครองสุข | ทำนุกนวลน้องผ่องใส |
นางอวยด้วยแล้วๆ ไป | บิดาว่าใดไป่กลัว |
รักลูกจำใจให้ลูก | อยู่มั่นพันผูกลูกผัว |
กูนี้มีบุญจุนตัว | เหมือนวัวทรงเครื่องเรืองยศ |
ลมพัดซัดไปใกล้เกาะ | โชคงามยามเคราะห์เหมาะหมด |
๑๓๐พบพานกานดาลาลด | รัดทดทุกข์ภัยใช่น้อย |
ลาภกูสู่หน้าปรากฎ | เหมือนมดมาพบสบอ้อย |
นงนุชบุษบามาย้อย | อีกหน่อยหนึ่งภู่จู่ชม ฯ |
วาณิชกล่าวว่า
๏ อ้าองค์นงลักษณ์ศักดิ์ล้ำ | พจน์ร่ำไพเราะเหมาะสม |
ตูหวังตั้งหน้าปรารมภ์ | จักชมบุญนางพางเพ็ญ |
อุปถัมภ์ค้ำจุนหนุนโชค | เฉลิมโฉลกเร็วคิดปลิดเข็ญ |
หวังสึงพึ่งเยาว์เช้าเย็น | อยู่เปนสุขสวัสดิ์อัตรา |
บัดนี้มีคลื่นดื่นดุ | วายุซ้อนซัดพัดกล้า |
มีงานภารหนักจักลา | ไปพาเรือแล่นแกว่นลม |
ข้าเหลือเบื่อค้าวาณิชย์ | แม้นคิดค้าศักดิ์จักสม |
นางจงปลงโศกโรคกรม | อารมณ์ร้างเศร้าเบาใจ ฯ |
๏ ทูลนางพลางลามาพลัน | ให้หันหางเสือเรือใหญ่ |
ตั้งทิศพิศแผนแล่นไป | เจนใจชำนาญการเรือ |
แผนที่ชี้ทางกลางคลื่น | ดึกดื่นเดินเบี่ยงเฉียงเหนือ |
คลื่นคล่ำน้ำเซ็นเปนเกลือ | ลมเอื้อแล่นอ้าวราวบิน |
เทพเจ้าเนาเรือเมื้อด้วย | อำนวยนิรภัยในสินธุ์ |
วันสามยามเย็นเห็นดิน | แถวถิ่นภูมิ์ฐานบ้านเมือง |
เวียงชัยใหญ่กว้างอย่างเอก | รุจิเรขชนลือชื่อเลื่อง |
นาครัฐนามกรุงรุ่งเรือง | ไกรเกรื่องเกียรติ์กล้าธาตรี |
ราชาปรากฎยศยิ่ง | เศิกกริ่งเกรงหน่ายพ่ายหนี |
ทรงนามรามเสนฤทธี | เหมือนมณีช่วงเชิดเลิศชน |
ปวงราษฎร์ปราศร้อนนอนสุข | ทำนุกถิรนานบานผล |
แย้มหยิ่มอิ่มมุขทุกตน | โภคล้นทรัพย์ล้ำสำเริง ฯ |
๏ กล่าวฝ่ายนายลำกำปั่น | มาดมั่นจิตต์มุ่งยุ่งเหยิง |
ใจคอพ่อค้าร่าเริง | แต่เพลิงราคเร่าเร้ารึง |
ใบกว้างกางแล่นแม่นเข็ม | ลมเต็มเร็วพามาถึง |
วิ่งอ้าวอ่าวใหญ่ใบตึง | ห่อนหึงให้ปลดลดใบ |
เรือเลียบเทียบแอบแทบท่า | พลันพายุพดีศรีใส |
จากเรือเมื้อเรือนเหมือนใจ | ทรามวัยหวาดหวั่นพรั่นแด ฯ |
๏ ฝ่ายชนชาวกรุงมุงเห็น | นงเพ็ญเพียงจันทร์พรรณแข |
บอกกันพลันพามาแล | จอแจโจษจรรลั่นเวียง |
พ่อค้าพานางพลางเดิน | นางสเทินใจแท้แซ่เสียง |
คือเดือนเลือนฟ้ามาเมียง | สำเนียงบรรลืออื้อไป |
ว่าวาณิชใหญ่ไปค้า | ได้สาวชาวฟ้ามาใหม่ |
ทั่วภพจบแผนแดนไกล | หาไม่มีนางอย่างนี้ ฯ |
๏ ปางพระราชาปรากฎ | พระยศยรรยงทรงศรี |
แรมป่าล่ามฤคถึกมี | เสือสีห์ซอกซอนซ่อนเร้น |
หลายวันดั้นพงดงพฤกษ์ | คักคึกพลไพร่ไล่เล่น |
ต้อนเต้าเช้าสายบ่ายเย็น | เคี่ยวเข็ญฆ่าเนื้อเหลือนับ |
ผ่อนราชอารมณ์สมหมาย | ทรงสบายเจ็ดวันผันกลับ |
ยามเที่ยงเบี่ยงร้อนผ่อนทัพ | อยู่พลับพลาใหญ่ใกล้เมือง |
ฝูงคนกล่นไกลไปมา | มากหน้ามากผู้รู้เรื่อง |
นงเพ็ญเช่นพรรณ์จันทร์เรือง | ชนเลื่องลือว่าน่าชม |
ใต้หล้าหาใครไม่เหมือน | คือเดือนเด่นพักตร์ศักดิ์สม |
จำเริญเพลินตาอารมณ์ | งามคมคิดเหมือนเลื่อนฟ้า ฯ |
๏ อันคำร่ำลือชื่อไซร้ | ทราบไปถึงท้าวเจ้าหล้า |
ยินข่าวท้าวทรงสงกา | นึกน่าใคร่เห็นเย็นนี้ |
กล่าวความงามสุดผุดผาด | เหลือคาดเหลือคิดอิตถี |
งามเพ็ญเช่นจันทร์วรรณี | จักมีฤๅไรใคร่รู้ |
ความจริงกริ่งใจไม่เชื่อ | วาจาบ้าเบื้อเบื่อหู |
แต่จิตต์คิดใคร่ไปดู | จักสู้นางในได้ฤๅ ฯ |
๏ พระเสด็จเยื้องยาตร์บาทย่าง | ทรงช้างมันมัวตัวดื้อ |
หมอควานชาญคชกดมือ | ขอถือข่มรั้งบังคับ |
สิ้นแดดแผดเผาเบาร้อน | ซับซ้อนเกณฑ์แห่แลสรรพ |
ผู้คนพลเมืองเนืองนับ | คั่งคับกันดูภูมี ฯ |
๏ ฝ่ายองค์นงคราญกานดา | นางกนกเรขาไขศรี |
พ่อค้าพาสู่บูรี | ยุวดียำเยงเกรงภัย |
สังเกตกิริยาอาการ | ห้าวหาญเห็นเหลือเชื่อได้ |
นิสัยใช่ซื่อถือใจ | จักไว้วางจิตต์ผิดจริง |
เขาพามาขังยังบ้าน | ปิดทวารบานใหญ่ไว้นิ่ง |
มุ่งพักตร์จักแนบแอบอิง | สู่สิงสมสองครองนาง |
นางนึกตรึกไตรในจิตต์ | จักคิดหลบลี้หนีห่าง |
เยี่ยมแกลแลไกลในทาง | เห็นช้างไย่ ๆ ไต่เดิน |
นางพยักกวักหัตถ์ตรัสขาน | อ้าท่านเที่ยวท่องคล่องเถิน |
ขับสารผ่านแกลแลเพลิน | ขอเชิญอยุดยั้งฟังตู ฯ |
๏ ปางนายช้างต้นยลนาง | เกี่ยวช้างยั้งไว้ในผลู |
อยุดพลันผันหน้ามาดู | จอมภูทรงพยักพักตร์ยิ้ม |
เขาเกี่ยวช้างไปใกล้แกล | พิศแขไขงามครามจิ้ม |
ชมเนตรนงลักษณ์พักตร์พริ้ม | แสนอิ่มตาปลื้มลืมพริบ ฯ |
๏ ฝ่ายพระทรงชัยไกรยศ | ปรากฎศักดิ์สิทธิ์ทิศสิบ |
เห็นองค์นงรามงามทิพย์ | เหมือนหยิบจันทร์จากฟากฟ้า |
ลืมองค์ทรงตลึงอึ้งอัด | จอมกษัตร์แสนโฉดโอษฐ์อ้า |
พบความงามเลิศเปิดตา | ปัญญาอัดอั้นตันไป |
แลตลึงถึงหน้าหน้าต่าง | ยินนางกล่าวตรัสชัดใกล้ |
นายช้างยั้งช้างอย่างใจ | ท้าวให้เทียบแอบแทบแกล ฯ |
๏ เมื่อนั้นนงรามงามลักษณ์ | ผิวพักตร์ผ่องเห็นเพ็ญแข |
ช้างอยุดยืนดังหวังแด | นึกแน่ในบุญหนุนชนม์ |
เกาะหน้าหน้าต่างพลางปีน | ปล่อยตีนลงกลางช้างต้น |
เสียหลักจักยั้งยังตน | ให้พ้นพลัดตกหกไป |
จึ่งนางกางคว้าหาท้าว | จอมด้าวเอื้อมรับจับได้ |
สัมผัสหัตถ์นางพางใจ | เพียงได้สุขสันต์ชั้นบน |
หมอช้างไสช้างย่างไย่ | เต้าไต่ตามแถวแนวหน |
ท้าวปริ่มอิ่มอาบซาบมน | เหมือนผจญได้แคว้นแสนดิน ฯ |
๏ กล่าวฝ่ายพ่อค้าบ้าจิตต์ | เพลินคิดความรักจักดิ้น |
เอิบอาบปลาบปลื้มลืมกิน | นึกนิลนัยนาน่าชม |
กรุ้มกริ่มอิ่มก้อพอบ่าว | บอกข่าวแขงขืนขื่นขม |
หน้าหมองมองหายาดม | เปนลมเลยตายวายปราณ ฯ |
๏ ปางองค์พงศ์สูรย์ภูลศักดิ์ | ฤทธิ์รักรุมร้าวห้าวหาญ |
เอมใจได้องค์นงคราญ | ภูบาลเร่งช้างย่างดิน |
ครั้นถึงซึ่งราชนิเวศน์ | นรเศรษฐ์ปลาบปลื้มลืมสิ้น |
๑๓๑๏ เล็งพักตร์ลักษณ์นางพางอินทุ์ | งามนิลนัยนาน่าเพลิน |
ตรัสว่าอ้าเจ้าเพราพักตร์ | จงหักใจรหวยขวยเขิน |
ปราศจิตต์คิดข้องหมองเมิน | ขอเชิญนางช่วยอวยความ |
ให้รู้ลู่แหล่งแห่งเจ้า | โฉมเฉลาอย่าขลาดหวาดขาม |
ตรง ๆ จงบอกออกนาม | นงรามอย่าพวงสงกา ฯ |
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์กนกเรขา |
ยินเลศเกศกษัตร์ตรัสมา | กัลยาณิ์ทูลความตามจริง ฯ |
นางทูลว่า
๏ ข้าแต่พระมหาราชา | โศกข้าแสนเข็ญเปนหญิง |
ไร้ผู้กู้เกื้อเอื้ออิง | ทุกสิ่งทุกส่วนล้วนทุกข์ |
กุลเลิศเกิดดีมีชาติ | เปนราชชาดาผาสุก |
กรรมกล้ามาตามลามลุก | บั่นบุกเบียนเบียดเสียดซ้อน ฯ |
พระราชาตรัสว่า
๏ อ้าเจ้าเสาวภาคจากฟ้า | ใจข้าร้อนเริงเพลิงศร |
กานดาอย่าสลัดตัดรอน | ยั้งหย่อนอยู่ยังวังนี้ |
เปนราชนารีมีลักษณ์ | อ่าศักดิ์เอี่ยมทรงพงศ์ศรี |
พ่อค้าบ้าใจใคร่มี | กษัตรีอยู่เย่าเนาเรือน๑๓๒ |
เปรียบอย่างนางสีห์มีศักดิ์ | อยู่พักโพรงหมาพาเปื้อน |
คาดคิดผิดเปรอะเลอะเลือน | ฟั่นเฟือนไพร่ ๆ ใจมัน |
นงเยาว์เนาปนคนบ้า | นึกน่ารังเกียจเดียดฉัน |
พี่เห็นเพ็ญเจ้าเพราจันทร์ | หมายมั่นจักถนอมจอมนาง |
เหมือนมณีมีมาหาพี่ | มารศรีอย่ารคนหม่นหมาง |
ตูหวังฝังเสน่ห์เล่ห์วาง | เพชรกลางมงกุฎสุดรัก |
จักผดุงกรุงไกรใหญ่เกิด | เกียรติ์เชิดชูสูงจูงศักดิ์ |
โชคงามยามเคราะห์เหมาะนัก | นงลักษณ์เร่งลดปลดร้อน ฯ |
นางทูลว่า
๏ อ้าองคทรงเดชเกศหล้า | พระอย่าย้อนยอกหยอกหยอน |
พระองค์ทรงธรรมกำจร | ชนช้อนชูชมสมภาร |
ทรงศักดิ์รักชื่อถือสัตย์ | บำบัดทุกขราษฎร์อาจหาญ |
ทศพิธราชธรรมนำมาน | ปราบพาลพรรคเผ่าเหล่าร้าย |
ตูข้าสามีมีแล้ว | แต่แคล้วคลาดร้างห่างหาย |
เวียนหวังตั้งใจไม่วาย | มั่นหมายเมื้อหาสามี |
พระองค์จงยั้งฟังข้า | เทพดาอารักข์สักขี |
ปราศธรรมนำหทัยไม่ดี | บาปกรรมยำยีชีวิต |
ข้าไซร้ไม่มีที่พึ่ง | ท้าวพึงเอื้อเฟื้อเกื้อจิตต์ |
ละความลามลวนชวนชิด | ทรงฤทธิ์จักล้ำจำเริญ ฯ |
พระราชาตรัสว่า
๏ อ้าองค์นงรามงามหล้า | คือเดือนเลื่อนฟ้ามาเหิร |
แยบอย่างทางธรรมจำเริญ | ตูเพลินจิตต์รักนักธรรม์ |
เจ้าไซร้ใจซื่อถือสัตย์ | สารพัดไพเราะเหมาะมั่น |
ผัวร้างห่างไปไกลกัน | สู่สวรรค์เสียแล้วแคล้วรัก |
ทางธรรม์นั้นตูรู้บ้าง | แต่นางนำคลาดปราศหลัก |
เพราะนิลนัยนามาชัก | ให้พวักพวนใจใคร่ชิด |
แรงราคมากมั่นพันผูก | ไม่รู้จักถูกจักผิด |
มึนเมาเบาเต็งเพ่งพิศ | หมายจิตต์มุ่งจักรักน้อง |
ถ้อยธรรมคำเทศน์เลิศซื่อ | ไป่ถือว่าสัตย์ขัดข้อง |
นางจักชักใจให้ปอง | ทำนองทางธรรมนำคิด |
๑๓๓เหมือนเอาไยบัทม์มัดช้าง | มัดอย่างใด ๆ ไม่ติด |
คลาดรักจักลี้ชีวิต | เชิญขนิษฐ์น้อมใจในรัก |
กานดาการุญหนุนสุข | จักทนุกนงรามงามศักดิ์ |
อุปถัมภ์จำเริญเชิญชัก | ความรักล้อมนางอย่างรั้ว |
หวังผดุงจุงใจให้นุช | แสนสุดสุขปลื้มลืมผัว |
เหมือนหนองน้อยน้ำคล้ำมัว | แห้งทั่วเพราะแดดแผดร้อน ฯ |
นางทูลตอบว่า
๏ อ้าพระราชาปรากฎ | พระยศแผ่ย่านพาลหยอน |
พลัดผัวตัวข้าอาวรณ์ | คือฟอนไฟลุกทุกข์เร้า |
เหมือนสมุทสุดลึกทึกมาก | แสนยากที่แดดแผดเผา |
พระอย่ามายั่วมัวเมา | ขอเนาความสัตย์อัตรา |
ตั้งใจไปเดียวเที่ยวทั่ว | ทุกคามตามตัวผัวข้า |
พากเพียรเวียนหวังตั้งตา | เดินหนด้นหาสามี ฯ |
๏ ปางพระภูเบศเกศแคว้น | หมายแม่นมั่นชมสมศรี |
อิ่มจิตต์พิศหน้านารี | เปนที่จำเริญเพลินรัก |
ฟังนางอย่างผู้หูหนวก | ยิ่งบวกความใคร่ให้หนัก |
ข้อธรรมคำที่ชี้ชัก | พิศพักตร์เพลินไปไป่ยิน |
คำขัดทัดทานฐานซื่อ | เปรียบคือรดชลบนหิน |
น้ำลี้หนีไหลในดิน | แห้งสิ้นสูญไปไป่คง |
แย้มพยักพักตร์ยิ้มอิ่มเอิบ | กำเริบราครุมลุ่มหลง |
กลุ้มกลัดหัตถ์อ้าหาองค์ | สุดทรงเสียวศัลย์ปั่นทรวง ฯ |
๏ เมื่อนั้น | นงเพ็ญเห็นท่าบ้าหลวง |
โอ้กรรมทำแค้นแสนตวง | จักล่วงหลีกจากยากจริง |
ห้วงหนึ่งพึ่งลี้หนีได้ | อีกห้วงบ่วงใหญ่ภัยยิ่ง |
ใจเสือเหลืออ้อนวอนวิง | ค้านติงไม่หยุดสูดรู้ |
จำใจใช้มายาหญิง | ซึ่งสิ่งอื่นไซร้ไป่สู้ |
กลศึกตรึกตัดศัตรู | เนตรกูอาวุธสุดคม |
นึกพลางนางพริ้มยิ้มเยื้อง | ชำเลืองเนตรครามงามสม |
ท่วงทียียวนชวนชม | เหมือนกลมเกลียวใจในรัก ฯ |
นางทูลว่า
๏ อ้าพระทรงฤทธิ์กิตติ์เลิศ | ยศเชิดชูวงศ์ทรงศักดิ์ |
ตัวข้ามาเดียวเปลี่ยวนัก | หมายพักตร์พึ่งองค์ทรงแคว้น |
มาสู่อยู่ในมือท้าว | จอมด้าวเอื้อเฟื้อเหลือแสน |
โอบอ้อมออมใจไป่แคลน | เห็นแม่นมั่นว่าการุญ |
ท้าวเลี้ยงเพียงนี้มีหรือ | จักดื้อใจเดี่ยวเฉียวฉุน |
มอบกายหมายสึงพึ่งบุญ | คิดคุณจอมกษัตร์อัตรา |
ขอสนองรองบาทนาถเจ้า | ใฝ่เฝ้าภูลภักดิ์รักษา |
นบนอบมอบปราณผ่านฟ้า | เปนข้าช่วงใช้ใกล้ท้าว |
แต่วันนี้น้องข้องขัด | ขอผัดภูมินทร์ปิ่นด้าว |
หวังรมย์กลมกลืนยืนยาว | ปราศร้าวร่มราบตราบม้วย |
วันนี้เปนวันอุบาทว์ | โลกาวินาศน์อีกด้วย |
จักสู่คู่ชื่นรื่นรวย | เหมือนช่วยปลูกเคราะห์เพาะทุกข์ |
ลำบากยากแค้นแสนเข็ญ | ย่อมเปนไปเฉกเสกปลุก |
เชื่อข้าอย่าเข้าเร้ารุก | สำบุกสำบันวันนี้ |
พระองค์จงฟังดังว่า | ใจข้าไม่หมายหน่ายหนี |
แม้นไม่เมตตาปรานี | ชีวีจักบั่นสั้นไป ฯ |
๏ เมื่อนั้น | ภูมินทร์ยินคำร่ำไข |
หื่นเหมเปรมปริ่มอิ่มใจ | จักได้รื่นรมย์สมนึก |
นางนัดผัดรุ่งพรุ่งนี้ | วันดีฤกษ์งามยามดึก |
วันนี้ผิวขืนครื้นครึก | อึกทึกเปล่า ๆ เบาความ |
ไม่ให้นงลักษณ์พักผ่อน | บังอรจักคิดจิตต์ขาม |
พึงงดอดออมยอมตาม | โฉมงามปลงใจให้แล้ว |
ใจหญิงจริงอยู่กูทราบ | มีสภาพโอนอ่อนหย่อนแกล้ว |
เพียรเกี้ยวเดี๋ยวใจไม่แคล้ว | ผ่องแผ้วอารมณ์สมคิด ฯ |
๏ ตรองตรึกนึกในใจท้าว | จอมด้าวดูดดื่มปลื้มจิตต์ |
ใคร่เข้าเคล้าคู่ชูชิด | เพลินพิศเพราทรงนงลักษณ์ |
ท้าวยลนางยิ้มพริ้มเนตร | ทรงเดชลืมองค์ทรงศักดิ์ |
จักขยับจับจูบลูบพักตร์ | แสนขยักขย่อนอกฟกร้าว |
ได้คิด ๆ ว่าอย่าเพ่อ | ทำเซ่อซุ่มซ่ามความฉาว |
จักชมสมใจในคราว | เมื่อสาวน้อยน้อมยอมองค์ ฯ |
๏ ท้าวเสด็จเดินออกนอกห้อง | กลับย่องมาเมียงเยี่ยงหลง |
พิศนางร่างสลวยงวยงง | ยุพยงยิ้มพรายชายตา |
เชิญไท้ให้ยาตร์บาทออก | ไปนอกห้องกลางข้างหน้า |
ฤกษ์งามยามดีมีมา | อย่าช้าเชิญกลับฉับไว |
ขอเปนทาสีมีจิตต์ | มานิตน้อมพักตร์รักใคร่ |
ปราโมทโปรดปรานฐานใด | เต็มใจจักยอบมอบกาย ฯ |
๏ ปางพระราชานายก | ทรงวกเวียนเพลินเดินหลาย |
ไปแล้วมาเล่าเมามาย | วุ่นวายสับสนวนเวียน |
หักใจไปนั่งยังอาสน์ | ว่าราชการปรามหนามเสี้ยน |
ปวงโจรใจร้ายตายเตียน | ฆ่าเฆี่ยนตามทรงบงการ |
ฟังคดีมีสัตย์ตัดสิน | สอบสิ้นซ้อมซักหลักฐาน |
ยุติธรรมดำริห์พิจารณ์ | เพ่งใจในงานบ้านเมือง ฯ |
๏ ฝ่ายพระยุพยงทรงเลศ | ใช้เนตรนงรามงามเลื่อง |
เปนศัสตราวุธยุทธเยื้อง | ปลดเปลื้องทุกข์ภัยใดพลาง |
ขวัญอนงค์ทรงเรียกสาวใช้ | ไว ๆ เปิดทวารบานข้าง |
จงแสดงแจ้งที่ชี้ทาง | ปิ่นนางคือนงองค์ใด |
เปนพระมหิษีมีศักดิ์ | ตำหนักโฉมตรูอยู่ไหน |
สูเร่งเพ่งพาคลาไคล | ตูใคร่เฝ้าฟังบังอร ฯ |
๏ บัดนั้นสาวใช้ใจสั่น | หวาดหวั่นภัยองค์ทรงศร |
อันองค์นงรามงามงอน | ภูธรพิสมัยใคร่ชม |
แม้นเราเข้าคัดขัดขาน | เยาวมาลย์หมายใจไม่สม |
นางโกรธโทษแค้นแสนคม | กูจมทุกข์แท้แน่ใจ |
อันองค์ทรงศักดิ์จักรพรรดิ | เหมือนดินในหัตถ์จัดได้ |
นงลักษณ์จักปั้นฉันใด | เปนไปตามอย่างนางทำ |
คิดพลันผันหน้าพานาง | เยื้องย่างเร็วไปในค่ำ |
นงรามตามพลางนางนำ | สู่ตำหนักใหญ่ในวัง ฯ |
๏ จวบขณะพระราชมหิษี | เธอมีหฤทัยไคล้คลั่ง |
เรื่องราวข่าวร้ายหมายฟัง | กำลังเรียกข้ามาทูล |
แค้นใจใคร่ทุบอุบอก | นายกแดนใหญ่ไอสูรย์ |
ปรากฎยศไกรไพบูลย์ | ประยูรพร้อมพรั่งดังดาว |
ควรหรือถือแยบแบบไพร่ | เครื่องให้คนฟังรังหยาว |
คบนางกลางตลาดชาติคาว | เกี้ยวสาวเมื่อเฒ่าเจ้าชู้ |
ใครเถือเนื้อเล่นเช่นแกะ | ใคร่แฉละอกเล่นเช่นหมู๑๓๔ |
เจ็บหนักจักใคร่ไปดู | โอ้กูอกเกรียมเทียมไฟ ฯ |
๏ กำลังนางกษัตร์กลัดกลุ้ม | รึงรุมเพลิงโกรธโรจน์ไหม้ |
บัดเดี๋ยวเหลียวแปรแลไป | สบนัยนานางย่างเดิน |
ท่าทางอย่างยอบนอบน้อม | งามลม่อมมรรยาทปราศเขิน |
นิ่มนวลยวนยิ้มพริ้มเพลิน | จำเริญแลสง่าน่ารัก |
มหิษีมีจิตต์พิศวง | เห็นองค์มารศรีมีศักดิ์ |
เข้ามาคารพซบพักตร์ | นงลักษณ์สงสัยนัยนา ฯ |
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์กนกเรขา |
อภิวาทน์บาทมูลทูลมา | กัลยาณิ์จงทราบบทมาลย์ |
นางเปนที่พึ่งหนึ่งเดียว | ข้าเปลี่ยวเปล่าใจภัยผลาญ |
แม้นไม่ปราโมทโปรดปราน | จักลาญรอนชีพรีบมรณ์ |
วันนี้ภูเบศเกศรัฐ | จอมกษัตร์เรืองรงค์ทรงศร |
เธอเถลิงหลังช้างย่างจร | เนืองนรแห่แหนแน่นมา |
ทรงเขม้นเห็นข้าหน้าต่าง | เทียบช้างอยุดทัพรับข้า |
สู่วังตั้งเปนชายา | เชิดหน้าชูนวลชวนชม |
ตัวข้าสวามีมีแล้ว | แต่แคล้วคลาดร้างห่างสม |
อาภัพอับโชคโศกกรม | รันทมทุกข์ทำยำยี |
ไม่สมัครักท้าวเจ้าหล้า | มุ่งหน้าเปนนิตย์คิดหนี |
รักข้า ๆ ไม่ไยดี | เทวีจงไว้ใจวาง |
ช่วยตูสู่ป่าล่าหนี | รีบลี้เร็วเดินเหินห่าง |
เมตตาข้าเถิดเปิดทาง | ในกลางราตรีนี้เจียว |
เวลาจำเพาะเหมาะแล้ว | ขอแคล้วคลาดไปไป่เหลียว |
ช้านักจักฉาวกราวเกรียว | คืนเดียวคืนนี้ดีนัก ฯ |
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมหิษีมีศักดิ์ |
ยินคำพร่ำว่าน่ารัก | แสงจักษุสองส่องฟ้า |
ทรวดทรงนงเยาว์เพราพริ้ง | ทุกสิ่งหมายเหมือนเลื่อนหล้า |
เกศแก้มแช่มชื่นรื่นตา | นาสาสวยสมกลมกลืน |
ฉนี้หรือทรงศักดิ์จักแคล้ว | คลาดแร้วความรักหักขืน |
ฟั่นเฟือนเหมือนไฟไหม้ฟืน | ยากหนักจักฟื้นฝืนไฟ |
อันความงามนางอย่างนี้ | จักมีใครหักรักได้ |
เห็นนิลนัยนายาใจ | คลั่งไคล้คือบ้าสามานย์ |
เหมือนศรพระอนงค์ทรงแผลง | จากแล่งทั้งห้ามาผลาญ |
แม้นพระภูมินทร์ปิ่นปราณ | ได้สราญเริงรมย์ชมนาง |
ท้าวจะละเลยเฉยทิ้ง | ทุกสิ่งสารพัดขัดขวาง |
บ้านเมืองเคืองขุ่นวุ่นวาง | จะรคางใจเคืองเครื่องร้อน |
ฝ่ายกูผู้พระมหิษี | จักมีทุกข์เถือเหลือถอน |
จำกูจักกันบั่นทอน | ตัดตอนแต่ต้นหนภัย ฯ |
พระมหิษีตรัสว่า
๏ อ้าเจ้าเยาวมาลย์หวานถ้อย | สาวน้อยคือพรรณ์จันทร์ไข |
แยบอย่างทางธรรมนำใจ | งามหทัยเทียมความงามองค์ |
จักช่วยอวยทางอย่างว่า | เดินป่าอย่าเดินเพลินหลง |
ไว้หวังตั้งใจให้ตรง | สงวนองค์สงวนสัตย์อัตรา ฯ |
๏ ตรัสพลางนางกษัตร์ตรัสสั่ง | กำนัลอันนั่งพร้อมหน้า |
ล้วนสนิทชิดใช้ใกล้ตา | วิ่งหาเครื่องแต่งแปลงวรรณ |
ปลอมองค์นงเยาว์เค้าไพร่ | พาให้รีบลี้ผลีผลัน |
ออกจากวังในไปพลัน | สาวสวรรค์หลบหลีกปลีกไป ฯ |
๏ ปางพระภูเบศเกศรัฐ | จอมกษัตร์ชื่นแช่มแจ่มใส |
คอยฤกษ์เบิกบานดาลใจ | จักใคร่สู่สมชมนาง |
คิดเข้าเล้าโลมโฉมศรี | พูดจาพาทีแผ้วถาง |
นึกซ้อมวาจาท่าทาง | อางขนางไปไยใช่ควร |
อุ๊ยอย่าหยิกซีพี่เจ็บ | คมเล็บใช่ซึ่งพึงสรวล |
นึกจูบลูบคางนางนวล | นึกข่วนนางขีดกรีดเกา |
ยามดึกนึกซ้อมออมอุ้ม | ในจิตต์คิดจุมพิตเจ้า |
นึกก่ายกายองค์นงเยาว์ | นึกเดากำดัดอัศจรรย์ ฯ |
๏ ครั้นทราบว่านางร้างหนี | ภูมีเฉียวฉุนหุนหัน |
คลั่งคล้ายคชสีห์มีมัน | วิ่งถลันแล่นบ้าฆ่าคน |
สำเนียงเวียงวังดังล่ม | บ้างล้มบ้างถลากาหล |
อุตลุดสุดใจไพร่พล | แตกร่นล้มตายรายตา ฯ |
• • • • • • • • •
๏ เมื่อนั้น | ยุพยงองค์กนกเรขา |
หนีออกนอกเมืองเนื่องมา | ถึงป่านางยั้งนั่งพัก |
รันทมกรมใจใหญ่หลวง | สุดตวงเต็มโอฆโศกสัก |
เหน็ดเหนื่อยเมื่อยองค์นงลักษณ์ | กรรมสลักทรวงเร้าเศร้าล้น |
โศกลึกนึกในใจนาง | อ้างว้างอารัณย์ดั้นด้น |
แม้นแอบแทบฐานบ้านคน | ฝูงชนเดินดูรู้เค้า |
จักตกคืนไปในวัง | เนานั่งหน้าเปลี้ยเมียเจ้า |
ท้าวผัวปัวเปียเคลียเคล้า | ค่ำเช้าเชยชิดติดกรง |
แม้นไม่คืนไปในหัตถ์ | แห่งกษัตร์ซึ่งใจใหลหลง |
เหลือหลายชายอื่นดื่นองค์ | อันทนงน้ำใจใคร่เรา |
เห็นแสงนัยนาหน้ามืด | เพาะพืชเสนหาบ้าเขลา |
กระสันพันพัวมัวเมา | เหลือเต้าไต่ลี้หนีมัน |
หญิงงามยามร้างห่างผัว | พึงกลัวภัยชายหมายมั่น |
บุกไพรไคลคลาอารัณย์ | ไป่พรั่นสิงห์สัตว์กัดตน |
๑๓๕ส่ำสีห์หมีเสือเนื้อร้าย | ทั้งหลายที่ในไพรสณฑ์ |
โดยมากหากหาญผลาญคน | เพราะผลอาหารการกิน |
ภัยชายร้ายยิ่งสิงห์ร้าย | ทำลายเกียรติ์หญิงยิ่งฉิน |
จำกูอยู่ไพรไต่ดิน | สู่ถิ่นสีห์เสือเนื้อร้าย ฯ |
๏ นางเสด็จเตร็จดั้นบั่นบุก | เหล่ารุกข์ล้วนหลากมากหลาย |
วันคืนขืนองค์ทรงกาย | ทุกข์มลายรักล้ำจำราญ |
สงสารการเสวยเคยเอก | รสอเนกนานาอาหาร |
ยามยากตรากตรำรำคาญ | ยังปราณอยู่ป่วนปรวนแปร |
มันเผือกเลือกหามาได้ | ก็ไม่มีรสหมดแก้ |
ลำธารที่เสวยเชยแด | จอกแหนไหลหลากมากเจียว |
ดงหนามคร้ามครั่นมันเหลือ | นางเมื้อมันมองจ้องเกี่ยว |
เจ็บเนื้อเหลือขามหนามเรียว | ลดเลี้ยวกีดกั้นมรรคา |
หนามเชือดเหลืดไหลใสแสง | คือแดงทับทิมจิ้มหญ้า |
อัสสุพุหล่นบนคา | คือว่าเพ็ชร์แพรวแววพราย |
ทรมาทารกำลำบาก | แสนยากยามร้างห่างหาย |
พลัดพรากจากผัวตัวตาย | จักสลายชีพสลัดตัดลง |
เดินป่ามาเดียวเปลี่ยวแสน | คับแค้นขุ่นเข็ญเปนผง |
ครั้งนี้ชีวิตปลิดปลง | ไป่ทนงว่ามีชีวะ ฯ |
๑๓๖๏ อ้าอโศกปราศโศกโชคชื่น | ยั่งยืนอยู่สถิตอิศระ |
เหลือคเนเวลาวาระ | วัฒนะอยู่ในไพรนี้ |
ช่อช้อยย้อยยวนชวนชื่น | เริงรื่นรุกขมูลภูลศรี |
อยู่เปนหลักป่าตาปี | เปนที่ร่มร้อนผ่อนทุกข์ |
๑๓๗อ้าศรีวีตโศกโบกบัตร | คือฉัตรชูเฉลิมเสริมสุข |
ตูโศกโรคเศร้าเร้ารุก | เคล้าคลุกเคราะห์กรรมลำเค็ญ |
จงอโศกศรีไพรไพศาล | ช่วยสมานทุกข์ข้ากล้าเข็ญ |
บอกแจ้งแหล่งทิศมิดเม้น | ซึ่งเร้นซ่อนตัวผัวตู |
น่าที่ศรีอโศกโบกเศร้า | พฤกษ์เฒ่าจงแถลงแจ้งผลู |
ปัดโบกโศกในใจตู | จึ่งสูจักสมสมญา ฯ๑๓๘ |
อ้าพยัคฆ์ศักดิ์กล้าสามารถ | น่าขยาดยามโกรธโอษฐ์อ้า |
เข้มแขงแรงเรี่ยวเที่ยวมา | แยกเขี้ยวเคี้ยวข้าสาใจ |
โอ้มฤคราชากล้าหาญ | ถิ่นฐานคูหาอาศัย |
เจนแผนแดนป่าราชัย | ข้าไหว้จงบอกออกมา |
ว่าพระอมรสีห์มีศักดิ์ | สำนักอยู่ไหนในป่า |
ช่วยข้าอย่าเผด็จเม็ตตา | กอบการุญตูผู้เมื้อ |
แม้นไม่ให้ทางอย่างว่า | กินข้าเสียเถิดเลิศเหลือ |
โอ้กูผู้ปราศญาติเครือ | บอกเสือ ๆ ไม่ไยดี |
เชิญกินไป่กินผินหลีก | ปลดปลีกตัวหายหน่ายหนี |
รังเกียจเดียดฉันทันที | บัดสีสุดแสนแค้นใจ |
สัตว์ดีมีเกียรติ์เกลียดข้า | จำจิตต์คิดหาหมาไพร่ |
๑๓๙ชาติศวาสามานย์พาฬไพร | คงไม่ปล่อยปละละลด |
เชื้อชาติราชกุลบุญมาก | ยามยากบาปตุ้นบุญหด |
กรรมใหญ่ไล่ทันรันทด | แสนสลดเหลือสลัดปัดทิ้ง ฯ |
๏ อ้าพญากาสรร้อนหนัก | ลงปลักตีแปลงแหล่งสิง |
นอนทึกนึกเห็นเย็นจริง | เกลือกกลิ้งกลางหล่มจมโคลน |
พาหนะพระยมสมยศ | ปรากฎเก่งกาจผาดโผน |
ข้าทำกรรมอยาบบาปโยน | โทษโพ้นเร็วลามตามรุก |
ถึงที่ชีวิตปลิดปลด | รันทดทุกข์เถือเหลือปลุก |
ขอพึ่งซึ่งมหิงส์ทิ้งทุกข์ | สู่สุขปรโลกโศกไร้ |
พาเฝ้าเจ้าแห่งแหล่งหน้า | พึ่งอารีท้าวด้าวใต้๑๔๐ |
จากโคลนโผนพาเข้าไป | ไว ๆ บัดนี้ดีนัก ฯ |
๏ ควายยินผินหน้ามาเบิ่ง | สูงเทิ่งยืนใหญ่ในปลัก |
มีจิตต์บิดเบือนเชือนชัก | หันพักตร์วิ่งแล่นแสนเปรียว ฯ |
๏ หลายวันดั้นเสด็จเตร็จเตร่ | ร่อนเร่ไปในไพรเขียว |
ร่ำไห้ในดงองค์เดียว | ลดเลี้ยวอารัณย์จัณฑึก |
ยามหนาว ๆ เนื้อเหลือหนาว | พรอยพราวน้ำค้างกลางดึก |
วายุดุนักคักคึก | หนาวลึกลงไปในทรวง |
ยามร้อน ๆ เนื้อเหลือร้อน | ทินกรส่องใสในสรวง |
เผาแผดแดดเข้มเต็มดวง | เหมือนล้วงในอกหมกไฟ |
อิดโรยโหยหิวผิวเผือด | คือมีดกรีดเชือดเลือดไหล |
เหน็ดเหนื่อยเมื่อยเหน็บเจ็บใจ | ทรามวัยทอดองค์ลงพัก |
แทบร่มไม้ใหญ่ใบรื่น | ทรงสอื้นไหม้หมกอกหัก |
นัยนานองน้ำพร่ำพักตร์ | นงลักษณ์ซบซ้อนอ่อนแรง ฯ |
๏ จักกล่าวชาวป่าล่าสัตว์ | เลาะลัดมรรคากล้าแขง |
ดินแดนแผนใหญ่ไพรแวง | เจนแจ้งทุกก้าวราวพน |
๑๔๑พวกภิลล์หินชาติกาจกล้า | มากหน้ามีในไพรสณฑ์ |
ถมึงทึงดึงดื้อถือตน | เปนคนเก่งกล้ากว่าใคร |
พากันดั้นพงดงคา | เห็นหญ้าโลหิตติดใหม่ |
ในจิตต์คิดเดาเข้าใจ | สัตว์ไพรลำบากยากตน |
ตามรอยโลหิตทิศนี้ | จรลีกลิ้งเกลือกเสือกสน |
เจ็บหนักจักดิ้นสิ้นชนม์ | ในหนไม่ห่างทางไป |
คิดพลางต่างคนด้นมอง | ย่างย่องแยกกันดั้นไล่ |
ยินเสียงหญิงเศร้าเร้าใจ | ร้องไห้แลเห็นเข็ญจริง |
หลากในใจภิลล์สิ้นพูด | แทตย์ทูษณ์แปลงร่างอย่างหญิง |
จักใกล้ใจขามคร้ามจริง | ต่างนิ่งแอบมองจ้องนาง |
มามากด้วยกันพลันกล้า | วิ่งร่าเข้าล่อมพร้อมข้าง |
นงรามงามพบอยู่กลาง | เหมือนอย่างราหูจู่จันทร์ |
หน้าไพร่ใจดำต่ำช้า | นึกน่ารังเกียจเดียดฉัน |
ภาษาสุดต่ำคำมัน | ฟังกันไป่เดาเข้าใจ |
มันนิ่งดูนางพลางคิด | ในจิตต์มาดม่งหลงใหล |
ชั่วพ่อชั่วแม่แต่ไร | ก็ไม่เห็นนางอย่างนี้ |
อันความงามเพ็ญเปนพิษ | ต่อติดลามเลื่อนเหมือนฝี |
ต่างแยกแตกสามัคคี | ต่างมีมุ่งหมายร้ายกัน |
ต่างคนสนใจใคร่นาง | ต่างหมางใจเพื่อนเฟือนฟั่น |
เกิดการรบราฆ่าฟัน | แย่งกันอุดลดฉุดนาง |
คนนั้นกั้นนางพลางยุด | คนนี้เข้าฉุดอีกข้าง |
คนโน้นโผนฟันบั่นกลาง | กีดขวางวุ่นวิ่งชิงองค์ |
ฆ่าฟันกันตายวายวอด | ม้วยมอดยับยุ่ยผุยผง |
ยิงแย่งแทงฟันลั่นดง | เปลืองปลงชีวิตปลิดไป ฯ |
๏ ปางองค์นงลักษณ์พักตร์เผือด | เห็นเลือดเหล่าภิลล์รินไหล |
บุ่มบ้าฆ่ากันบรรลัย | อรไทยอกสั่นขวัญบิน |
มันวิ่งชิงยุดฉุดคร่า | บ้างคว้าหัตถ์พลางนางดิ้น |
แทงฟันกันล้มจมดิน | ทั้งสิ้นเจ็บตายวายไป |
ทรามวัยได้ทีหนีเร้น | มิดเม้นในป่าอาศัย |
เหนื่อยหนักพักยั้งบังไม้ | แลไปเห็นศพซบซ้อน |
แขนขาดขาขาดดาษป่า | บ้างฆ่ากันม้วยด้วยศร |
สุดสิ้นภิลล์ร้ายตายนอน | บังอรเบาอกฟกองค์ |
ยับยอกชอกช้ำดำเขียว | เจ็บแสนแปลบเสียวเที่ยวหลง |
เวียนวนด้นไปในดง | ยุพยงเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า |
นัยนาคลอคลองนองน้ำ | ทุกข์ค้ำขุ่นแค้นแสนสา |
ภัยภิลล์สิ้นแล้วแคล้วมา | ภัยป่าอื่น ๆ ดื่นดง |
๏ ยามเย็นเห็นหนองส่องใส | มลไร้แลสอาดปราศผง๑๔๒ |
ยุพยงทรงยั้งนั่งลง | ล้างองค์บังอรอ่อนกาย |
สาวสวรรค์บรรธมล้มหลับ | อัจกรับคือแขแลฉาย |
แจ่มแจ้งแสงจันทร์พรรณ์พราย | งามลม้ายรัศมีสีคราม |
โสมส่องมองพักตร์รักรูป | ลอบจูบนางนอนห่อนขาม |
ใช้แสงส่องโลมโฉมงาม | นงรามหลับใหลใต้พฤกษ์ |
ส่ำสีห์หมีเสือเนื้อร้าย | โคควายแรดช้างกวางถึก |
หวังหาอาหารธารทึก | บ้างนึกดื่มน้ำลำนั้น |
เห็นนางนอนอยู่ดูหลาก | แสนอยากขบฆ่าอาสัญ |
นึกว่าอาหารหวานมัน | เขี้ยวคันใคร่เคี้ยวเสียวใจ |
พระศุลีมีคำดำรัส | ห้ามสัตว์ ๆ จำคำได้ |
ขืนคิดผิดอัตถ์ตรัสไว้ | เกรงภัยศัมภูรู้ฤทธิ์ |
ส่ำสัตว์จัตุบาทชาติร้าย | กล้ำกรายใกล้ ๆ ใคร่จิตต์ - |
จักลิ้มชิมกลืนยืนพิศ | นางนิทร์แน่หลับกับพื้น ฯ |
๏ อันหนองน้ำใสในพน | งามชลพราวไพรใช่อื่น |
คือหนองส่องกว้างกลางคืน | วานซืนอมรสิงห์นิ่งแล |
นางแทตย์ทอดกรฟ้อนเล่น | งามเช่นสาวฟ้าหน้าแข |
นงเยาว์เย้ายวนกวนแด | รังแกเล่ห์กลท้นทึก ฯ |
๏ คืนนี้นางอสูรภูลศรี | จรลีแลงามยามดึก |
ถึงหนองน้ำใสไหลลึก | หมายนึกมาเล่นเช่นเคย |
เห็นนางหนึ่งนอนอ่อนนัก | พิศพักตร์เพราสรรพหลับเฉย |
แปลกมากหลากใจใครเลย | มาเกยกายอ่อนนอนดิน |
บรรเจิดเลิศหล้าหน้าพริ้ม | จิ้มลิ้มแลพริ้งยิ่งสิ้น |
ชื่อเรียงเสียงไรใคร่ยิน | ศศพินทุ์พรากฟ้ามาไพร |
เนตรหลับนงรามงามปลื้ม | เนตรลืมจักเปนเช่นไหน |
จับนางพลางสั่นทันใด | อรไทยผู้หลับกลับฟื้น ฯ |
๏ โฉมยงองค์กนกเรขา | ผุดผวาองค์สั่นพลันตื่น |
๑๔๓ทรามวัยไทตยามายืน | กลางคืนแลงามยามเพ็ญ |
ต่างนางต่างคิดพิศวง | งามทรงยิ่งใครได้เห็น |
ทุกส่วนยวนใจไม่เว้น | คือเค้นเอาความงามไว้ ฯ |
นางแทตย์กล่าวว่า
๏ ดูรานารีมีลักษณ์ | ผิวพักตร์ผุดผ่องส่องใส |
เนตรงามครามซึ้งถึงใจ | คือไข่สองแขแลมา |
โฉมงามนามใดใคร่แจ้ง | หลักแหล่งบ้านเมืองเลื่องหล้า |
กุลกษัตร์ชัดแท้แน่ตา | เดินป่าเหตุผลกลใด |
ดงใหญ่ใช่ถิ่นมานุษ | ยากสุดที่กล้ามาได้ |
นี่หนองของตูอยู่ไพร | ทำไมมานอนผ่อนพัก |
พงไพรใช่รัตน์ปัจถรณ์ | เห็นห่อนงดงามตามศักดิ์ |
ผิดถิ่นดินดงนงลักษณ์ | อย่าสมัคมาแย่งแข่งกัน |
กับตูผู้ความงามลบ | สามภพปราศผู้คู่ขัน |
จงยั้งฟังคำสำคัญ | มิฉนั้นขัดใจไม่ดี ฯ |
นางกนกเรขาตรัสว่า
๏ ดูรานงเยาว์เพราพักตร์ | ทรงลักษณ์สุทธิ์ใสไขศรี |
ข้าหรือคือราชนารี | บุตรีจอมกษัตริย์ฉัตร์ฟ้า |
มาเดียวเที่ยวเถินเดินทุ่ง | มาดมุ่งหมายถามตามหา |
สามีมีแล้วแคล้วคลา | พลัดหน้าพรากกายหายไป |
เธอได้ไปเดียวเลี้ยวเลาะ | สืบเสาะกรุงทองผ่องใส |
ลำบากยากจนพ้นใจ | จวบในอารมณ์สมคิด |
ถึงกนกนครตอนหนึ่ง | แล้วจึ่งคืนวังดังจิตต์ |
พบกันพลันจากพรากทิศ | จำติดตามไปให้พบ |
วันใดวันหนึ่งพึงหวัง | จักตั้งหน้าค้นจนสบ |
โฉมตรูผู้ข้าคารพ | ทราบจบเจนแผนแดนไพร |
ย่อมรู้ลู่ทางกลางย่าน | เชิญท่านบอกกล่าวข่าวไข |
เหนือใต้ใกล้ห่างทางใด | ควรไปตามหาสามี ฯ |
๏ นางแทตย์ยินนางพลางนึก | รู้สึกขึ้งเคียดเสียดสี |
นี่หรือคือว่านารี | ซึ่งมีเนตรคมผมงาม |
ยิ่งเกศเนตรกูผู้ยิ่ง | กว่าหญิงทั่วแคว้นแดนสาม๑๔๔ |
น้อยหรือถือดีมีความ | อยาบหยามโอหังตั้งตัว |
ได้เล่นเห็นกันวันนี้ | อวดดื้อถือดีมีผัว |
เปนไรเปนไปไป่กลัว | จักหัวฤๅไห้ใคร่รู้ |
นึกพลางนางแทตย์แปรดแปร้น | โลดแล่นแผดร้องก้องหู |
แปรร่างอย่างยักษ์พักตร์ชู | โอษฐ์ขู่อ้าเขี้ยวเคี้ยวฟัน ฯ |
นางแทตย์กล่าวว่า
๏ นี่แน่ะนางงามสามหล้า | จักหาเปรียบเนื้อเหลือสรร |
ข้ารู้ใจเจ้าเท่าทัน | หมายมั่นมาล่วงล้วงคอ |
ตั้งหน้าหาผัวตัวเอก | อภิเษกกันใหม่ได้หนอ |
พบตัวผัวเมียเคลียคลอ | รูปลออองค์เคียงเรียงพักตร์ |
เมินเสียเถิดเจ้าเราบอก | ใช่หลอกจงแจ้งแหล่งหลัก |
ลูกสาวแทตย์ใหญ่นายยักษ์ | แผ่ศักดิ์สำราญย่านนี้ |
ไม่ให้เจ้าไปได้พ้น | เวียนวนอยู่ในไพรนี่ |
ตรำตรากยากแค้นแสนดี | จักทวีทุกข์ใหญ่ไล่ร้อน |
อย่าเร่งละชีพรีบหนี | อยู่นี่ทนภัยไปก่อน |
ข้าชอบชมหน้าอาวรณ์ | ไฟฟอนคือทุกข์รุกราน ฯ |
๏ ขบเขี้ยวเกรี้ยวพลางนางเยาะ | หัวเราะก้องไพรไพศาล |
เที่ยวเหาะเสาะไปไป่นาน | พบพานเพื่อนป่าหน้าลิง๑๔๕ |
คือรากษสเฒ่าเจ้าเลศ | แปลงเพศหลอกพระอมรสิงห์ |
เล่าความตามในใจจริง | ว่าหญิงมานุษสุดงาม |
คู่รักของชายร้ายกาจ | บังอาจจ้วงจาบอยาบหยาม |
ท่านจงตรงไปไล่ตาม | ลวนลามล่อลวงบ่วงกล |
ทรมานฐานไหนไม่ว่า | ให้ฆ่าตัวในไพรสณฑ์ |
เร้ารุกทุกข์ทับอับจน | วายชนม์ลงเองเกรงไย ฯ |
๏ มันยินนางบอกออกบถ | รากษสยินดีมีไหน |
คิดได้ให้แสนแค้นใจ | กูไซร้มันทำช้ำนัก |
ตัดลิ้นชิ้นใหญ่ใช่เล่น | กระเด็นออกไปไกลหนัก |
พบหน้านารีที่รัก | จำจักแก้แค้นแทนคุณ |
แต่การนี้ไซร้ใช่ง่าย | อาจร้ายแรงเรี่ยวเฉียวฉุน |
แม้นถลำทำพลาดปราศบุญ | คือตุ้นตัวกูสู่เคราะห์ |
พระศุลีมีคำกำชับ | เราสดับรู้กันมั่นเหมาะ |
ตามใจให้ทำจำเพาะ | เพียงเหลาะแหละหลอกหยอกเย้า |
กูจักชักใจให้บ้า | แม้นฆ่าตัวนางช่างเจ้า |
ทรงชัยไม่ห้ามปรามเรา | อาจเย้ายั่วเล่นเช่นใจ ฯ |
๏ ตรึกพลันมันรีบถีบถา | มายาหมายหยอกหลอกใหญ่ |
เมียงมองช่องทางหว่างไม้ | พอได้ทีทำยำยี ฯ |
• • • • • • • • •
๏ เมื่อนั้น | นางกนกเรขามารศรี |
ตกใจไทตยาพาที | ยุวดีอกสั่นขวัญปลิว |
นางแทตย์แผดเสียงเพียงสาย | ฟ้าฟาดปราศกายหายฉิว |
เหมือนลมเร็วปัดพัดริ้ว | ลิ่ว ๆ ลอยไปในฟ้า |
โฉมตรูอยู่เดียวเปลี่ยวดง | ยุพยงเย็นชืดมืดหน้า |
กริ่งภัยในพงสงกา | ไทตยาโกรธเกลียดเคียดตู |
เหตุผลกลใดไม่ทราบ | มันอยาบยิ่งเสือเหลือสู้ |
โอ้อกเอ๋ยกรรมทำกู | เหลือรู้เหลือปลีกหลีกตัว |
จักวายชีวิตคิดแน่ | เว้นแต่ได้พบสบผัว |
ลำบากยากแค้นแสนกลัว | พันพัวทุกข์ภัยไล่ล้อม |
รั้วภัยใหญ่เหลือเบื่อหลีก | จักปลีกตัวเมื้อเหลืออ้อม |
จำเพาะเคราะห์กรรมจำยอม | หวังถนอมชีพมั่นฉันใด ฯ |
๏ แสนขยาดหวาดเสียวเปลียวเปล่า | นงเยาว์ชอกช้ำร่ำไห้ |
เวลาอาทิตย์อุทัย | ทรามวัยหิวโหยโรยรา |
ขณะนั้นขวัญอนงค์ทรงรู้ | มีผู้แหวกชัฎลัดป่า |
ใกล้องค์นงเยาว์เข้ามา | นางถลาเร้นองค์โพรงไม้ |
อกสั่นขวัญหนีดีฝ่อ | ใครหนอบุกฝ่าป่าใหญ่ |
พวกภิลล์หินชาติกาจไพร | มาไล่ลวนลามตามตู |
ฤๅสัตว์สิงห์เสือเนื้อร้าย | กล้ำกรายมาไปในผลู |
ยุพยงทรงเอียงเมียงดู | โฉมตรูดีใจใดปาน ฯ |
๏ เพราะพระสามีลี้ลัด | บุกชัฎมาในไพรสาณฑ์ |
องอาจยาตราอาการ | ห้าวหาญปราศความขามใคร |
ทรงเครื่องเรืองรองทองแก้ว | เพริศแพร้วพลอยมุกด์สุกใส |
กุมขรรค์ดั้นดงพงไพร | ไฉไลรูปลักษณ์ศักดิ์ทรง |
อรไทยใจปลื้มลืมหมด | ทุกข์ปลดปราศไปใหลหลง |
วิ่งเข้าเคล้าสอดกอดองค์ | โฉมยงซบเสือกเกลือกพักตร์ ฯ |
๏ โอ้พระภัดดากล้าแกล้ว | มาแล้วหรือองค์ทรงศักดิ์ |
จงอยู่คู่ครองน้องรัก | ปกปักษ์ปวงภัยไปพ้น |
น้องเที่ยวเลี้ยวเลาะเสาะหา | บุกป่าเถื่อนแถวแนวหน |
ชอกช้ำลำบากยากตน | ภัยคนภัยสัตว์อัตรา |
พบกันวันนี้ดีนัก | เพราะยักษ์กายใหญ่ไล่ข้า |
พรรคเผ่าเหล่าร้ายหมายมา | ตั้งหน้าทำร้ายกายน้อง ฯ |
๏ นางซบพักตร์ตรับหลับเนตร | สิ้นเหตุขุ่นเคืองเครื่องข้อง |
หมดทุกข์หมดกรรมจำจอง | อยู่สองแสนเพลินเดินไพร ฯ |
๏ ครู่หนึ่งนางปลื้มลืมเนตร | สังเวชหวีดสั่นหวั่นไหว |
ผัวหายกลายกลับวับไป | ยักษใหญ่กำยำง้ำตัว |
แอบอิงพิงผัวมัวเผลอ | พูดเพ้อพร่ำไปใช่ผัว |
ยักษ์หยอกกลอกตาน่ากลัว | ยิ้มยั่วแยกแสยะแพละโลม |
โฉมยงองค์สั่นงันงก | ในอกคือไฟไหม้โหม |
กรีดกราดหวาดทุกข์รุกโรม | ถาโถมจากมันทันใด |
องค์สั่นขวัญหายร้ายยิ่ง | นางวิ่งเร็วพลันมันไล่ |
หวุดหวิดชิดนางกลางไพร | ทรามวัยล้มสลบซบลง ฯ |
• • • • • • • • •
๏ เที่ยงคืนชื่นฉ่ำน้ำค้าง | กระจ่างจันทร์แล้งแสงส่ง |
สาวน้อยค่อยฟื้นตื่นองค์ | ในดงนอนเดียวเปลี่ยวแด |
โอ้กูผู้หลาบบาปโทษ | อยู่โดดดงร้างห่างแห |
กรรมเกรี้ยวเคี่ยวเข็ญเห็นแท้ | จักแก้เหลือกู้ผลูทุกข์ |
ยามรงับหลับอยู่กูฝัน | ยักษ์มันเข้าทำปล้ำปลุก |
หนีมัน ๆ ตามลามรุก | อุกหลุกไล่กั้งรังแก๑๔๖ |
ฝันหรือใช่ฝันตันตื้น | ตื่นหรือใช่ตื่นไม่แน่ |
เดี๋ยวนี้นี่ฝันผันแปร | หรือตื่นยืนแลเหล่าพฤกษ์ |
ความจริงกริ่งจิตต์คิดพรั่น | ใช่ฝันดอกกูรู้สึก |
ตื่น ๆ ขืนใจไม่นึก | ยิ่งตรึกยิ่งกริ่งยิ่งล้น |
จักอยุดเกรงภัยในเถิน | จักเดินเกรงภัยในหน |
ริกรัวกลัวกรรมจำทน | นิรมลย่องย่างหว่างไม้ ฯ |
๏ งามจันทร์ดั้นฟ้ากล้าแสง | แขแข่งรังสีศรีใส |
นางท่องช่องทางกลางไพร | อำไพเดือนเพ็ญเห็นมด |
เดินพลางนางชแง้แลเหลียว | แสนเสียวใจซ้ำกำสรด |
รำพึงถึงองค์ทรงยศ | ยิ่งสลดจิตต์หลาบบาปแรง |
โฉบยงทรงแลแปรพักตร์ | พลางชงักแขงขืนยืนแหยง |
โน่นผัวหรือผัวตัวแปลง | มาแสร้งนอนนิ่งพิงไม้ |
เห็นหน้าสามีมีศักดิ์ | นงลักษณ์ยิ่งทรงสงสัย |
คร่ำคร่าผ้าเสื้อเหลือใจ | จำได้ทุกอย่างนางนึก |
นงลักษณ์อักอ่วนป่วนจิตต์ | สุดคิดสุดข้องตรองตรึก |
แสนพรั่นนั่นใครใต้พฤกษ์ | ล้ำลึกเลศหลากยากล้วน |
ผัวหรือใช่ผัวกลัวนัก | ยักษ์หรือใช่ยักษ์อักอ่วน |
แกว่งไกวในแดแปรปรวน | จักควรฉันใดใคร่รู้ |
ความใคร่พ้นภัยไพรผอง | ความใคร่คืนสองครองคู่ |
ความใคร่ไร้เศร้าเนาภู | ความใคร่ได้สู่สุขซึ้ง |
เหมือนเชือกสี่เกลียวเหนี่ยวรั้ง | ลากบังอรไปให้ถึง |
ความกลัวความจำคำนึง | แย่งดึงองค์นางห่างไว้ |
สาวสวรรค์ปั่นป่วนหวนเห | เหลือคเนใจนางอย่างไหน |
พิศพักตร์พระเผือดเลือดไร้ | เหตุไฉนแน่นิ่งกริ่งนัก |
ฤๅมาป่านานปานนี้ | สิ้นชีพรีบลี้หนีผลัก |
จากไปใจชายหน่ายรัก | ฤๅภักดีจิตต์ติดตาม |
นิ่งนอนอ่อนใจใช่หลับ | จักจับกริ่งจิตต์คิดขาม- |
ยักษ์ใหญ่มายาบ้ากาม | นงรามเรรวนป่วนคิด ฯ |
๏ เมื่อนั้นสามีมีเดช | ลืมเนตรเห็นนวลยวนจิตต์ |
ลุกทลึ่งถึงเยาว์เข้าชิด | พระพิศพักตร์นางพางกลืน |
โฉมยงองค์สั่นงันงก | แสนสทกสท้อนใจใฝ่ฝืน |
เธอโอบองค์พลางนางยืน | ใจตื้นเต็มทรงสงกา ฯ |
๏ พระว่าอ้าเจ้าเพราพักตร์ | ยอดรักผู้ร่วมใจข้า |
กรรมซัดพลัดพรากจากมา | เดินป่าเสาะถามตามกัน |
สิ้นรักชีวิตคิดไว้ | ว่าใกล้เวลาอาสัญ |
แสนยากหากบุญหนุนทัน | จากวันนี้ไปไร้ทุกข์ |
แต่ไฉนโฉมยงทรงนิ่ง | เหมือนกริ่งเกรงขามความสุข |
เรามาพากันดั้นรุกข์ | บ่ายมุขสู่เมืองเรืองยศ ฯ |
๏ อ้าพระผัวขวัญครรชิต | ทรงฤทธิ์ลือชาปรากฎ |
น้องไซร้ใช่จิตต์คิดคด | หากสยดสยองในใจนัก |
ภูมีนี้เห็นเช่นผัว | แต่กลัวใช่องค์ทรงศักดิ์ |
แน่หรือคือตัวผัวรัก | ใช่ยักษ์จำแลงแปลงล้อ ฯ |
๏ เธอว่าอ้าน้องของพี่ | มารศรีตรัสหลากมากหนอ |
นงเยาว์เจ้ายั้งรั้งรอ | เพราะข้อขุ่นช้ำกำบัง |
จำพี่มิได้ในดง | โฉมยงลืมตามความหลัง |
ใช่ว่าช้าเหลือเมื่อครั้ง | อยู่ยังโรงคัลวันโน้น |
พบกันพลันนางร้างชีพ | เหมือนรีบลี้เล่นเผ่นโผน |
เข็ดหลาบบาปย่ำกรรมโยน | คือโค่นภูเขาเอาทับ |
นางว่าอย่าคร้ามตามหา | พี่มาเหนื่อยอ่อนนอนหลับ |
พบนางอย่างคำกำชับ | นางกลับหดห่อท้อแท้ ฯ |
๏ นางว่าอ้าองค์ทรงศักดิ์ | น้องรักกริ่งใจไม่แน่ |
กลัวภัยใจป่วนปรวนแปร | เดือดแดเพราะยักษ์ลักษณ์ร้าย |
แปลงเปนเช่นตัวผัวข้า | มายามันยุ่งมุ่งหมาย |
ข้าเขลาเข้าไปใกล้กาย | เจียนสลายเพราะหลงงงงวย ฯ |
๏ อ้าเจ้าเสาวภาคจากหล้า | น้องอย่ามัวเมินเขินขวย |
เหี้ยมโรคโศกใจใกล้ม้วย | จึ่งช่วยให้เห็นเปนไป |
ยักษ์ใหญ่ไหนเล่าเจ้าเอ๋ย | ทรามเชยอย่าทรงสงสัย |
คนไข้ใจเผลอเพ้อไป | ฉันใดนางเปนเช่นนั้น |
บุกป่าฝ่าภัยไพรกว้าง | เหตุร้ายหลายอย่างนางฝัน |
อย่าท้อหนอเจ้าเพราจันทร์ | ลืมมันให้หมดปลดทุกข์ |
พบกันวันนี้ดีแล้ว | จักแคล้วคลาดเศร้าเนาสุข |
งามเพลินเดินร่มชมรุกข์ | ความสนุกในป่าน่าคิด |
ยามพรากจากไปใจเศร้า | พบเจ้าใจชื่นรื่นจิตต์ |
ทรามเชยเงยพักตร์สักนิด | จุมพิตพอให้ใจชื้น ฯ |
๏ โฉมตรูชูพักตร์จักจูบ | เห็นรูปผัวหายกลายอื่น |
ยักษ์ใหญ่กำยำง้ำยืน | มันยื่นปากอ้าหานาง |
หน้าตาน่ากลัวตัวขน | สองทนต์โง้งงอกออกข้าง |
นางกรีดหวีดร้องก้องพลาง | ล้มกลางไพรพลันทันที ฯ |
๏ ยุพยงองค์อ่อนซ้อนซบ | นอนสลบเหมือนหลับกับที่ |
จนล่วงเวลาราตรี | สุริย์ศรีส่องใสไขฟ้า |
แสงสว่างนางฟื้นตื่นขึ้น | เศียรมึนพักตร์มืดชืดหน้า |
ชอกช้ำกำลังวังชา | นอนป่านึกปลดหมดปราณ |
ใคร่ลุก ๆ ขึ้นมึนเศียร | จักเพียรเหลือจักหักหาญ |
องค์เย็นเช่นน้ำลำธาร | นอนนานจนแดดแผดร้อน |
กำลังยังมีมาบ้าง | โฉมนางลุกนั่งยังอ่อน |
น้อย ๆ ค่อยทรงองค์อร | บทจรช้า ๆ คลาไคล |
บาทนางพานางย่างเต้า | จิตต์เจ้าไป่คิดทิศไหน |
จักไปไม่ห้ามตามใจ | ยอมให้สองบาทยาตร์พา |
ไปถึงซึ่งหนองหมองนัก | นงลักษณ์เยี่ยมน้ำช้ำหน้า |
เห็นเงาเศร้าเหลือเบื่อตา | เหมือนบ้าซีดซูบรูปตน ฯ |
๏ โอ้อกกูเอยเคยสุข | สบทุกข์ที่ในไพรสณฑ์ |
เวลาอาภัพอับจน | เพราะผลกรรมเก่าเร้ารุก |
จักหนีที่ไหนไม่พ้น | เหลือด้นเหลือดั้นบั่นบุก |
ในยุคทุกข์ยอมตรอมทุกข์ | ความสุขโลกใหม่ใกล้แล้ว |
ควรกูอยู่นี่ดีกว่า | เปนอาหารเสือเชื้อแกล้ว |
อยู่นี่อยู่ไหนไม่แคล้ว | จักแผ้วพ้นภัยไป่มี |
ผีเสื้อเสือสีห์มีหมด | รากษสแทตย์ทูษณ์ภูตผี |
เก่งกาจอาจทำยำยี | บ้างมีมายาน่ากลัว |
ทำเล่ห์เสแสร้งแปลงรูป | เศร้าซูบท่าทางอย่างผัว |
ลวงเราเข้าไปใกล้ตัว | กูมัวมึนไปไม่คิด |
ล่อใจให้ปลื้มลืมเศร้า | แล้วเข้าขีดล้วงดวงจิตต์ |
โอ้กูผู้กรรมนำทิศ | ความผิดชาติก่อนร้อนรุก |
ชาตินี้ทุกขยากมากล้น | ทานทนไปไยใช่สุข |
จักดั้นรันทมล้มลุก | เพิ่มทุกข์ทำไม่ใช่ดี |
กำลังวังชาหาไม่ | เห็นใกล้ซึ่งเบื้องเมืองผี |
ลำบากยากเข็ญเช่นนี้ | จักมีชีพไว้ไยกู ฯ |
๏ โฉมยงทรงรำกำสรด | แสนสลดโศกสิงยิ่งสู้ |
โหยหวนครวญครางกลางภู | คืออยู่กองเพลิงเริงเร้า |
แดดเที่ยงเบี่ยงผ่อนร้อนหาย | แดดบ่ายเบี่ยงถอยน้อยเข้า |
สายัณห์พลันองค์นงเยาว์ | ยิ่งเร้ารุมอกหมกไฟ |
แรงโรยโหยหวนครวญหา | นัยนานองน้ำคร่ำไห้ |
เหนื่อยอ่อนนอนเศร้าเปล่าใจ | หลับใหลอยู่ดงองค์เดียว |
ฝันว่าสามีลี้ลัด | บุกชัฎมาในไพรเขียว |
อรไทยใจสั่นขวัญเปรียว | แสนเสียวอกอนาถหวาดจริง |
ตื่นเขม้นเห็นผัวกลัวหนัก | นงลักษณ์ผันผละจะวิ่ง |
พบผัวขวางหน้าท่าพริ้ง | ยืนนิ่งหน้าพริ้มยิ้มล้อ |
หันซ้ายพบผัวตัวกล้า | หันขวาพบผัวหัวร่อ |
ซ้ายขวาหน้าหลังนั่งรอ | ยืนกล้ออยู่กลางทางดง |
บ้างแข่งแซงแซกแหวกสู่ | บ้างจู่มาใกล้ไล่ส่ง |
อมรสิงห์วิ่งไขว่หลายองค์ | โฉมยงกายสั่นงันงก |
หลบซ้ายย้ายขวาหาที่ | หลีกลี้วิ่งวุ่นมุ่นหมก |
เหนื่อยหนีผีป่าลามก | นางยกสองหัตถ์อัดกรรณ |
หลับเนตรวิ่งไปในป่า | เปนบ้าเพราะใจไหวหวั่น |
ล้มลุกคลุกคลานนานครัน | พระจริตผิดผันฟั่นเฟือน ฯ |
• • • • • • • • •
๏ ปางพระอมรสีห์มีศักดิ์ | สำนักในแถวแนวเถื่อน |
ร่มไม้ไพรกว้างต่างเรือน | แม่นเหมือนคนป่าสามานย์ |
ตั้งหน้าหาน้องท่องโลก | ถูกโฉลกร้ายหลาบบาปผลาญ |
ดั้นรุกข์บุกชัฎลัดนาน | ไป่พานพบนางกลางพน |
เหน็ดเหนื่อยเมื่อยเปลี้ยเพลียสุด | เธออยุดยั้งในไพรสณฑ์ |
เอนองค์ลงนอนผ่อนตน | มณฑลร่มไม้ศัยยา |
หลับพลันฝันเห็นเพ็ญมาศ | ปราสาทยอดเยี่ยมเทียมผา |
ก่ำทองก่องถ้วนชวนตา | นัศนาเนืองนัยในเวียง |
แลหานาครห่อนเห็น | เยือกเย็นหิมหยาดปราศเสียง |
เข้าใกล้ไปปองมองเมียง | เหลียวเฉวียงแลสดำร่ำค้น๑๔๗ |
เสด็จทอดทัศนาปราสาท | ยุพราชเดินเดียวเที่ยวด้น |
งามทวารบานคำอำพน | ซุ้มปพาฬกาญจน์พ้นอำไพ |
อัฑฒจันทร์คือจันทร์พรรณ์แพร้ว | สกาวแก้วแกมทองส่องใส |
ดูสดมภ์ชมเดินเพลินใจ | พื้นอุไรรับผนังฝังนิล |
เพดานพิสดารกาญจน์แก้ว | ดาริกาภาแพร้วเพริศสิ้น |
ทุกห้องอ่องโอ่โศภิน | ยิ่งถวิลยิ่งพวงสงกา |
รเมียรมองห้องกลางกว้างใหญ่ | หฤทัยรัญจวนหวนหา |
เห็นอาสน์มาศเอี่ยมเยี่ยมตา | อาภาพรรณ์มณีมีนพ |
เหนือแท่นแผ่นกนกปกลาด | กลางอาสน์สำอางวางศพ |
พระคนึงทัศนาปรารภ | มาพบทรากใครในนี้ |
เปิดผ้าผืนกนกปกหน้า | เห็นกนกเรขาไขศรี |
หลากจิตต์พิศหน้านารี | เทวีแลบลิ้นปลิ้นยาว |
๑๔๘เปลี่ยนเห็นเปนไวราคี | เสียงมี่มันหัวยั่วหยาว |
แล่นโดดโลดเลี้ยวเกรียวกราว | ในราวอารัณย์จันฑึก |
ยุพราชหวาดฟื้นตื่นขึ้น | เสียงครึนเครงไพรในดึก |
อื้อฉาวกราวกรูหมู่พฤกษ์ | อึกทึกเย้ยยั่วหัวเราะ ฯ |
๏ ลุกถลันผันแปรแลเนตร | สังเกตเห็นหญิงวิ่งเหยาะ |
เวียนวงพงชัฎลัดเลาะ | มั่นเหมาะรูปนางอย่างน้อง |
แม่นยำจำได้ไม่ผิด | เพ่งพิศโฉมเจ้าเศร้าหมอง |
สงสารกานดาหน้านอง | คร่ำคลองอัสสุพุลง |
พระจู่สู่นางพลางขาน | เยาวมาลย์อย่ากริ่งวิ่งหลง |
อยู่นี่พี่มาหาองค์ | บุกพงพบกันวันนี้ ฯ |
๏ เมื่อนั้นนางสั่นงันงก | หวั่นอกตกใจใฝ่หนี |
โฉมยงหลงว่าสามี | คือผีเพศแสร้งแปลงมา |
หลบองค์ทรงผันดั้นหนี | วิ่งรี่เร็วไปในป่า |
ปางพระยุพราชชาติฟ้า | ทัศนานางลี้หนีไป |
แสนฉงนสนเท่ห์เล่ห์นี้ | จักมีเหตุการฐานไหน |
ทรงฤทธิ์ติดตามทรามวัย | ที่ในแนวป่าอารัณย์ ฯ |
๏ ฝ่ายองค์นงพินทุ์สิ้นท่า | ในจิตต์คิดว่าอาสัญ |
เหยียบหล่มล้มองค์ลงพลัน | สาวสวรรค์เดือดดิ้นสิ้นแรง ฯ |
๏ ขณะนั้นเสือใหญ่ใจร้าย | ร่างกายกำยำกล้ำแขง |
จากซุ้มพุ่มไม้ไพรแวง | สำแดงเดชโผนโจนมา |
คร่อมองค์นงลักษณ์จักเคี้ยว | แสนเสียวใจนางกลางป่า |
เขี้ยวเค้นเห็นได้ไม่ช้า | กานดาจักปลดหมดปราณ ฯ |
๏ ปางพระอมรสิงห์วิ่งสู่ | เข้าสู้เสือร้ายหมายผลาญ |
ทรงขรรค์ฟันฟอนรอนราน | ประหารเสือใหญ่ในดง ฯ |
๏ แต่เสือนั้นไซร้ใช่เสือ | พระเชื่อมายาพาหลง |
เสือเงาเข้าคร่อมห้อมองค์ | เธอทรงแสงขรรค์ฟันเงา |
ต้ององค์นงเยาว์เข้าเหมาะ | จำเพาะถูกถนัดตัดเกล้า |
นงเพ็ญเปนท่อนนอนเนา | หน้าเพราในไพรไร้ปราณ ฯ |
๏ อมรสิงห์นิ่งตลิ่งขึงแขง | สิ้นแรงกำสรดหมดหาญ |
กลิ้งเกลือกเสือกล้มซมซาน | ไป่นานนิ่งแน่แปรไป ฯ |
• • • • • • • • •
๏ เมื่อนั้น | นางอนุศยินีศรีใส |
สิ้นสาปบาปกรรมทำไว้ | ที่ในชาติก่อนร้อนเร้า |
ลอยเลื่อนเหมือนพรากจากฝัน | สาวสวรรค์เปลื้องปลดหมดเศร้า |
ปลาบปลื้มลืมเนตรนงเยาว์ | พลางเข้าปลุกพญาสามี ฯ๑๔๙ |
๏ สององค์ทรงจำคำสาป | ขุ่นแค้นแสนหลาบบาปกี้ |
สิ้นสาปซาบสิ้นยินดี | เหาะลี้สู่แหล่งแห่งฟ้า ฯ |
จบภาค ๒ ในนิทานเรื่องกนกนคร
-
อ ๓๔. “แกล้วกล้ามหารถฤทธี”. “มหารถ” คำนี้แปลว่าทหารใหญ่ มีคาถาว่า
เอโก ทศ สหสฺราณิ โยธเยทฺยสฺตุ ธนฺวินำ ศสฺตรศาสฺตรปฺรวิณศฺจ วิชฺญยะ ส มหารถะ ความว่าผู้รอบรู้ในเชิงอาวุธ คนเดียวอาจสู้ทหารธนูได้ถึงหมื่นคนนั้น ท่านว่าเปนมหารถ ↩
-
อ ๓๕. “ขคราชเริงแรงแขงขร”. “ขค” แปลว่านก (ไปในฟ้า) “ขคราช” คือครุฑผู้เปนพญานก. ↩
-
อ ๓๖. “อุรงค์ฤทธิ์ล้ำกำธร”. “อุรงค์” แปลว่านาค งูก็เรียก (แปลว่าไปด้วยอก). ↩
-
อ ๓๗. “มีมิ่งหมายเหมือนเคลื่อนไหว”. “มิ่ง” ศัพท์นี้ใช้ในที่นี้ตามความเดิมซึ่งแปลว่าชีวิต. ↩
-
อ ๓๘. “พระดนัยดนยาหาไม่”. “ดนย” แปลว่าลูกชาย “ดนยา” แปลว่าลูกหญิง. ↩
-
อ ๓๙. “รอยกรรมทำไว้ในบรรพ์”. “บรรพ” ศัพท์นี้หนังสือไทยใช้มาก ในความว่า “ก่อน” เช่น “บรรพบุรุษ” เปนต้น พจนานุกรมกล่าวว่าเปนคำแผลงมาจากสํสกฤตปุรฺว ซึ่งน่าจะเห็นว่า “แผลง” มาก. ↩
-
อ ๔๐. “ไร้บุตรสุดบาปปลาบจิตต์”. ลัทธิพราหมณ์ถือว่าความไม่มีบุตรนั้นบาป จะต้องรับทุกข์ในภายหน้า เพราะเมื่อตายไปแล้ว แลยังเปนเปรตอยู่นั้น ต้องมีลูกเปนผู้เส้นด้วยก้อนเข้าบิณฑ์เฉพาะตัว ผู้ตายจึงจะได้รับผลเต็มที่ คนอื่นทำไม่ได้เหมือนลูก. ครั้นเมื่อพ้นวิสัยแห่งเปรตไปเปนปิตฤแล้ว ถ้าไม่มีลูกหลานของตนเองเปนผู้เส้น ก็ยังได้ความเดือดร้อนเหมือนกัน แต่ค่อยยังชั่ว เพราะเครื่องเส้นซึ่งลูกหลานในเครือญาติเดียวกันบูชาส่งไปนั้น พวกปิตฤกินด้วยกันได้ ถึงไม่มีลูกหลานของตนเอง ก็พออาศัยผู้อื่นในเครือญาติเดียวกันได้ เปนอันไม่อด แต่เปรตนั้นต้องได้รับเส้นจากลูกหลานเฉพาะตัว มิฉนั้นต้องอด.
อนึ่งมีคำกล่าวไว้ในมนูธรรมศาสตร์ (๙.๑๓๘) ว่า เพราะลูกคุ้มพ่อมิให้ตกนรกขุมที่ชื่อปุต พระสวยํภู จึงทรงเรียกลูกว่า “บุตร” อันที่จริงเราท่านน่าเชื่อว่านรกขุมที่ชื่อปุตฺนั้น มีผู้ “ประดิษฐ์” ขึ้นเพื่อจะแปลคำว่า “บุตร” เท่านั้นเอง. ↩
-
อ ๔๑. “เพ็ญชุณหแจ่มวงทรงกลด”. “ชุณห์” แปลว่าพระจันทร์. ↩
-
อ ๔๒. “นางคลอดชาดาลาวัณย์”. “ชาดา” แปลว่าลูกหญิง. ↩
-
อ ๔๓. “เห็นราชทาริกานารี” “ทาริกา” แปลว่าเด็กหญิง. ↩
-
อ ๔๔. “หอมหรรษ์เหมจิตต์พิสมัย”. “พิสมัย” คำนี้เปนคำสํสกฤต “วิสฺมย” ภาษาบาลีเปนวิมฺหโย แปลว่าแปลกใจ แต่ใช้ว่า “รัก” กันมาก. ↩
-
อ ๔๕. “ควรจำธรรมดานาไร่”. แขกมักจะเปรียบหญิงกับไรนา เพราะหญิงเปนที่เกิดแห่งพืชคน ดังซึ่งไร่นาเปนที่เกิดแห่งพืชข้าว. ↩
-
อ ๔๖. “ชาดาดวงใจใช่เฉา”. “เฉา” ในที่นี้ว่าเขลา ว่าโง่. ↩
-
อ ๔๗. “ตรัสให้หาราชพาลา”. “พาลา” แปลว่านางสาว. ↩
-
อ ๔๘. “มัธยมกลมเกลาเพราเพริศ”. “มัธยม” ในที่นี้แปลว่าสเอว. ↩
-
อ ๔๙. “มาตรแม้นมีวรรณอันเปน”. “มีวรรณ” คือมีชาติซึ่งฝรั่งเรียกว่า Caste. ↩
-
อ ๕๐. “เกรงอุมาบดีเดชิต”. “อุมาบดี” แปลว่าผัวพระอุมา คือพระอิศวร. ↩
-
อ ๕๑. “แจ้งเรื่องเมืองมาศ”. “มาศ” แปลว่าทอง คำนี้หนังสืออนันตวิภาคเอาไว้ในพวกคำเขมร สกดด้วย ศ. เมื่อสอบดูในภาษาเขมร (Bernard’s Dictionary) ก็มี มาส แปลว่าทองจริง ๆ แต่มีผู้เห็นว่าคำ ๆ นี้เปนภาษามลายูก็มี เพราะมลายูก็เรียกทองว่ามาสเหมือนกัน แต่ปทานุกรมของกระทรวงศึกษาธิการแสดงว่า ศัพท์nนี้เปนภาษาบาลีแลสํสกฤต มาโส แล มาษ (A particular Weight of gold. Apte.) อย่างไรจะถูกหรือถ้าหากจะถูกด้วยกันทั้งนั้นก็ตาม ก็ไม่มีหลักซึ่งเห็นควรสกด ศ ได้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเหตุใดหนังสือรุ่นก่อนจึงใช้ ศ แต่เห็นสะดวกดีก็ใช้บ้าง เมื่อท่านเห็น มาศ ท่านอาจเห็นว่าสกดผิด แต่ท่านทราบว่าแปลว่าทองเปนแน่.
อนึ่งในที่นี้ขอกล่าวเสียทีเดียวว่า ตัวสกดแลศัพท์ในหนังสือนี้ใช้ตามที่เห็นสะดวกบ่อย ๆ คำที่ทราบแล้วว่าเห็นกันโดยมากว่าใช้กันผิดมาเดิม ในหนังสือนี้ก็ขืนใช้อย่างเก่าเนือง ๆ ต่อไปภายหน้าถ้าผู้แต่งเปลี่ยนความเห็น อาจแก้ในคราวพิมพ์ต่อไปก็ได้ อันที่จริงอย่าว่าแต่ศัพท์แม้กลอนก็คงเปลี่ยนบ้าง. ↩
-
อ ๕๒. “ยรรยงทรงลักษณ์รูปี”. “รูปี” แปลว่ามีรูปงาม. ↩
-
อ ๕๓. “ศัตรูศัสตรีหนีหน้า”. “ศัตรูศัสตรี” คือศัตรูผู้ถืออาวุธ (ศัสตร = อาวุธ) ↩
-
อ ๕๔. “คงยอทรามวัยให้พลัน”. “ยอ” แปลว่ายก. ↩
-
อ ๕๕. “จักสรรสมบุญสุณหา”. “สุณหา” แปลว่าลูกสะใภ้. ↩
-
อ ๕๖. “จักไม่ชื่นชมรมณี”. “รมณี” แปลว่าเมีย. ↩
-
อ ๕๗. “คุมไว้ในพันทิ์ศาลา”. “พันทิ” แปลว่านักโทษ “พันทิศาลา” ที่ขังนักโทษ. ↩
-
อ ๕๘. “แถวเถินภูธรดอนดิน”. “ภูธร” ในที่นี้แปลว่าภูเขา (ดู อ. ๓๐). ↩
-
อ ๕๙. “ทุกราษฎร์ลดเลี้ยวเที่ยวดู”. “ราษฎร์” ในที่นี้แปลว่าแว่นแคว้น คำเดียวกับรัฏฐ์. ↩
-
อ ๖๐. “มืดเช่นในถ้ำสิงขร”. “สิงขร” ที่จริงแปลว่ายอด แต่เราใช้แปลว่าภูเขาเกือบเสมอ. ↩
-
อ ๖๑. “มากนักมากหนาทาหิน”. “ทาหิน” แปลว่าไหม้ ว่าทำให้เกิดทุกข์ ว่าทำให้เดือดร้อน. ↩
-
อ ๖๒. “อ้าวนัสถายีมีพรต”. “วนัสถายี” แปลว่าฤษีอยู่ป่า. ↩
-
อ ๖๓. “ตูข้าขอถามสามหน”. สามหน = สามทาง. ↩
-
อ ๖๔. “คือเทวาลัยริมฝั่ง”. “เทวาลัย” แล “เทวาศัย” แปลว่าที่อยู่แห่งเทวดา ในที่นี้ คือ ศาลเจ้า ศาลเทพารักษ์ หรือเทวสถาน. ↩
-
อ ๖๕. “กูคือพระบรมพรหมี”. “พรหมี” เปนเพศหญิงแห่งศัพท์พรหม แปลว่าเมียพระพรหม. ↩
-
อ ๖๖. “ปางศิขินยินคั้งคาวถาม”. “ศิขิน” แล “ศิขี” แปลว่านกยูง. ↩
-
อ ๖๗. “พูดอย่างปฤษณาพาที”. “ปฤษณา” คำนี้ตั้งใจใช้ในความที่อังกฤษใช้ว่า riddle น่าจะเขียน ปรัศนามากกว่า เพราะคงจะเปนศัพท์ที่แปลว่าคำถาม นั่นเอง. ↩
-
อ ๖๘. “เสกแสร้งแกล้งจัดอัจฉรา”. นางฟ้าประเภทที่เรียกอัจฉรานี้ ดูน่าเดือดร้อนที่ถูกใช้ลงมาเปนเมียฤษีคร่ำเครอะอยู่เสมอ ๆ สุดแต่ฤษีคนไหนบำเพ็ญพรตแก่กล้าจนจะเปนภัยแก่เทวดาเมื่อใด นางฟ้าพวกนี้ก็ถูกใช้ลงมาทำลายตบะด้วยวิธียวนกาม ถ้าสำเร็จก็ต้องเปนเมียฤษี ถ้าไม่สำเร็จเพราะฤษีบางองค์มีตบะเชี่ยวชาญเกินที่จะยั่วยวนให้สำเร็จได้ ก็ยังจะเสียชื่อว่าไม่เก่งอีกชั้นหนึ่งเล่า แต่ข้อได้เปรียบของนางฟ้ามีอยู่ข้อหนึ่ง คือไม่รู้จักมีราคี ถึงหากจะมาเปนเมียตาสกปรกจนที่สุดมีลูก ก็กลับเปนสาวบริสุทธิ์ได้อยู่เสมอ.
ข้อที่ว่าฤษีบางคนบำเพ็ญพรตแก่กล้าจนเปนภัยแก่เทวดานั้น เพราะเหตุว่าผลแห่งพรตนั้นทำให้ได้เปนใหญ่ ถึงแย่งตำแหน่งพระอินทร์ก็ได้ เหตุฉนั้นเทวดาจึงไม่ชอบให้ฤษีทำตบะเคร่งครัดนัก ถ้าเห็นเชี่ยวชาญหนักเข้า ก็ต้องเพียรทำลายพิธี คือให้นางฟ้ามายวนกามเปนต้น การทำตบะให้แก่กล้าชรอยจะเปนทางให้ได้นางฟ้าเปนเมีย จึ่งมีคนคนองกล่าวว่า ถ้าใครอยากมีเมียเปนนางฟ้า ท่านว่าจงทำตบะ. ↩
-
อ ๖๙. “ความดีทำไว้ไร้คุณ”. ฤษีที่ทำตบะถ้าเกิดเหตุเช่นนี้ก็เสียผลแห่งตบะหมด ต้องตั้งต้นใหม่. ↩
-
อ ๗๐. “เวียงไรโหญโตโศภิต”. “เวียงไร” แปลว่าเมืองทอง. ↩
-
อ ๗๑. “จึงเสด็จโดยแดแต่ดอย”. หมายความว่าไปด้วยใจ ไม่จำเปนต้องไปด้วยตัว เปนสิ่งซึ่งพระผู้เปนเจ้าทำได้. ↩
-
อ ๗๒. “ขอพึ่งพระองค์ทรงตรี”. “ตรี” คือตรีศูล อาวุธสามปลายแหลม ซึ่งเปนอาวุธพระอิศวร. หนังสือไทยเรียกตรีศูลว่าตรีบ่อย ๆ เช่นที่หณุมานถือในเรื่องรามเกียรติ์เปนต้น. ↩
-
อ ๗๓. “แดเผด็จเสด็จลงคงคา”. ในที่นี้ควรอธิบายไว้สักหน่อยว่า แม่น้ำคงคานั้นแขกฮินดูนับถือว่าเปนแม่น้ำบุญ เมื่อใครลงอาบก็ล้างบาปได้ เหตุฉนั้นริมฝั่งแม่น้ำคงคาจึงเปนที่ซึ่งบุคคลพึงไปทำตบะ เมื่อตายศพก็ลอยน้ำไป หรือเมื่อมีผู้เผาแล้วก็เอากระดูกทิ้งลงไป นับว่าเปนบุญทั้งนั้น. ↩
-
อ ๗๔. “รากษสเกรงฤทธิ์หลีกหนี”. รากษสนั้นอ่านในหนังสือสังเกตว่ามีพวกดุเข้ารบเข้าฆ่าซึ่ง ๆ หน้าอย่างกล้า ๆ พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งไม่ใคร่สู้ซึ่ง ๆ หน้า มักจะลวงด้วยมายาต่าง ๆ ให้คนเสียทีเพลี่ยงพล้ำก่อนจึงเข้าทำร้าย มีคำกล่าวว่าเวลาโพล้เพล้เปนเวลารากษสออกหากิน แขกจึงห้ามกันว่าไม่ให้คนนอนหลับเวลานั้น เพราะกลัวว่าถ้ารากษสมาพบกำลังหลับ ก็จะทำร้ายได้ถนัด การห้ามไม่ให้นอนหลับในเวลาโพล้ไพล้นั้น ไทยเราก็ยังห้ามอยู่จนบัดนี้ แต่ไม่เคยได้ยินคำอธิบายว่าทำไมจึงห้าม จะเปนด้วยแขกมาสอนไว้ให้กลัวรากษส จนเดี๋ยวนี้เราเลิกกลัวรากษสแล้ว แต่ยังไม่เลิกกลัวนอนเวลาโพล้เพล้ จึงไม่มีคำอธิบาย ก็เปนได้ หรือถ้ามีข้าพเจ้าไม่เคยได้ยิน.
ถ้าจะกล่าวตามโปรเฟซเซอร์เดาซัน รากษสมีสามจำพวก พวกหนึ่งทำนองเดียวกับยักษ์ คือเปนอสูรชนิดไม่ดุร้าย ไม่สู้เปนภัยแก่ใครนัก รากษสอีกจำพวกหนึ่งเปนศัตรูของเทวดา แลจำพวกที่สามเปนพวกที่เที่ยวอยู่ตามป่าช้า เที่ยวทำลายพิธีบูชา กวนคนจำพรต สิงทรากศพ กินคน แลทำการลามกเปนภัยแก่มนุษย์ด้วยประการต่าง ๆ ราวณะ คือทศกัณฐ์เปนนายใหญ่ของรากษสจำพวกที่สามนี้ แต่บริวารของทศกัณฐ์ไม่กล้าหาญเหมือนนายเสมอไป ดังซึ่งรากษสในเรื่องนี้ซึ่งกล่าวว่าไม่สู้อมรสิงห์ซึ่ง ๆ หน้าเปนต้น. ↩
-
อ ๗๕. “ยุพราชยาตร์ไปในวัน”. “วัน” (วนะ) แปลว่าป่า. ↩
-
อ ๗๖. “ช่วงโชติโรจน์ร่วงท่วงที”. ร่วง คือ รุ่ง ↩
-
อ ๗๗. “แห่งนางทิติสิริสานติ์”. นางทิติองค์นี้คู่กับนางอทิติ เปนบุตรีพระทักษะฤษีประชาบดีด้วยกันทั้งสองนาง นางทิติเปนต้นสกุลมีเผ่าพันธุ์เรียกว่า ไทตยะ หรือแทตย์ (แปลว่าเหล่ากอนางทิติ) นางอทิติเปนต้นสกุลมีลูกหลานเรียกว่าพวกอาทิตยะ (แปลว่าเหล่ากอนางอทิติ) พวกไทตยะเปนอสุระ พวกอาทิตยะ เปนสุระ คือเทวดา. ↩
-
อ ๗๘. “อันเจ้าเผ้าผ่องโศภิน”. “เผ้า” แปลว่าผม. ↩
-
อ ๗๙. “แสนสง่างามศักดิ์นักษัตร์”. “นักษัตร์” คือดาว ↩
-
อ ๘๐. “เกศหญิงกลบกลั้วทั่วองค์”. “เกศ” แปลว่าผม. ↩
-
อ ๘๑. “เหมือนบาศพระอนงค์ทรงคล้อง”. “บาคพระอนงค์” คือบ่วงของพระกามเทพ. ↩
-
อ ๘๒. “อำนาจพระอนงค์ทรงยัง”. “ทรงยัง” คือทรงทำให้เปนไป. ↩
-
อ ๘๓. “คือคลังดนตรีวีณา”. “วีณา” คือพิณ. ↩
-
อ ๘๔. “อ้าภมรอ่อนเขลาเบาราค”. “ภมร” แปลว่าแมลงภู่. ↩
-
อ ๘๕. “มธุกรหย่อนในหน้าที่”. “มธุกร” แปลว่าแมลงภู่ ว่าผึ้ง. ↩
-
อ ๘๖. “ภาวชะ:”. แปลว่า ความรัก เปนชื่อกามเทพ แปลว่า Produced in the heart ตามคำแปลของ Monier – Williams. ↩
-
อ ๘๗. “ยวนยั่วให้มธุปอุปถัมภ์”. “มธุป” แปลว่าแมลงภู่ ว่าผึ้ง ↩
-
อ ๘๘. “เล่ห์ลึกทึกใหญ่ไหลมา”. “ทึก” แปลว่าน้ำ. ↩
-
อ ๘๙. “น้ำคือคงคามาหลง”. “คงคา” คือแม่น้ำพระคงคา. ↩
-
อ ๙๐. “ตามเรื่องโบราณนานมา”. ตรงนี้กล่าวถึงเรื่องแม่น้ำพระคงคาลงมาจากสวรรคตกสู่พื้นดินโดยแรง จนเปนที่วิตกว่าโลกจะแตก พระอิศวรจึงเอาพระเศียรเข้ารับไว้ แม่น้ำพระคงคาตกลงบนพระเศียรพระอิศวร เที่ยวหลงวนเวียนอยู่ในพระเกศาช้านานจึงไหลเลยไปอื่นได้ (ดู อ. ๓) ↩
-
อ ๙๑. “บรรดาลเปนเต่ามาช่วย”. ตรงนี้กล่าวถึงกูรุมาวตาร คือปางเมื่อพระนารายน์อวตารเปนเต่า. ↩
-
อ ๙๒. “รำไพไขกลบลบดาว”. “รำไพ” คือพระอาทิตย์. ↩
-
อ ๙๓. “ผาล้ำเราเห็นเปนศาล”. “ศาล” คือตนไม้ ต้นรัง Shorea robusta. ↩
-
อ ๙๔. “เราไม่รู้ใจไทตยะ”. “ไทตยะ” คือแทตย์. ↩
-
อ ๙๕. “จักซ้ำเติมได้ไป่มี”. มายาชนิดที่นางแทตย์แสดงหลอกอมรสิงห์นี้ กล่าวกันว่าเปนมายาที่ล่อให้เห็นไปเท่านั้น ถ้าไม่กลัวแล้วจะทำร้ายอะไรก็ไม่ได้ เช่นหลอกให้เห็นเปนน้ำท่วม ถ้าผู้ถูกหลอกไม่กลัวแลไม่หนี น้ำก็ไม่ท่วมจริง หรือถ้าทำมายาให้เห็นเปนเสือจะเข้ากัด ถ้าไม่กลัวแลไม่หนี เสือก็ไม่กัด เพราะเสือไม่มี มีแต่มายาที่ทำให้เห็นเปนเสือเท่านั้น แต่ถ้าผู้ถูกหลอกตกใจวิ่งหนี ก็อาจเกิดอันตรายเพราะเหตุอื่น เช่นหกล้ม หรือ “ดีฝ่อ” เปนต้น ตามคำที่เล่าก่นว่าผีหลอก ก็ดูเปนทำนองอย่างนี้ ไม่ปรากฎในคำเล่าบอกว่าผีเข้าทำร้ายคนได้ เปนแต่หลอกให้ตกใจกลัวเท่านั้น. ↩
-
อ ๙๖. “สระชื่อมานสะสระศรี”. สระชื่อนี้ กล่าวว่าเปนหนองบุญอยู่บนเขาไกลาส เปนที่เกิดเดิมของหงส์ (คือห่านคอยาวเรียวซึ่งอังกฤษเรียก Swan) แลกล่าวกันว่า หงส์ทั้งหลายยอมพากันไปยังสระนี้ทุก ๆ ปีในฤดูไข่ หรือก่อนฤดูมรสุม. ↩
-
อ ๙๗. “เล่าสู่บุตรทารหลานเหลน”. “ทาร” แปลว่าเมีย. ↩
-
อ ๙๘. “ว่ายทึกนึกสทกอกทึก”. “ทึก” มีความเปน ๒ นัย คือ (๑) คำเขมรแปลว่าน้ำ (๒) อาการความเต้นเเห่งอก. ↩
-
อ ๙๙. “ปลาถึกทูลถามความไป”. “ถึก” เปนคำไทยเก่า. แปลว่าตัวผู้ ใช้สำหรับสัตว์เท่านั้น เช่นม้าถึกแปลว่าม้าตัวผู้เปนต้น. ↩
-
อ ๑๐๐. “ข้าหรือคือพญามกระ”. “มกระ” เปนชื่อสัตว์น้ำบางชนิด คือปลาฉลามเปนต้น แลแปลเปนคำที่เราใช้ว่ามังกรด้วย มกรเปนพาหนะของพระวรุณเจ้าน้ำ. ↩
-
อ ๑๐๑. “เพราะพระวารุณีวัลลภะ”. “วารุณีวัลลภะ” เปนนามๆ หนึ่งของพระวรุณ. ↩
-
อ ๑๐๒. “เดชะพระมหากาละ”. “มหากาล” เปนนาม ๆ หนึ่งของพระอิศวร. ↩
-
อ ๑๐๓. “ภาระพระวิศวชิต”. “วิศวชิต” เปนนามๆ หนึ่งของพระวรุณ. ↩
-
อ ๑๐๔. “มหาธาตุแถวถนนล้นหลาม”. “มหาธาตุ” แปลว่าทองคำ. ↩
-
อ ๑๐๕. “ปราสาทชาตรูปจูบฟ้า”. “ชาตรูป” แปลว่าทองคำ ↩
-
อ ๑๐๖. “สูงสง่าเงื้อมเยี่ยมเทียมนค”. “นค” แปลว่าภูเขา. ↩
-
อ ๑๐๗. “หิรัณย์ศาลามาฬก”. “หิรัณย์” แปลว่าทองคำ (นานๆ มีแปลว่าเงินบ้าง). ↩
-
อ ๑๐๘. “สกาวแก้วแกมทองส่องใส”. “สกาว” คือขาว. ↩
-
อ ๑๐๙. “ดูสดมภ์ชมเดินเพลินใจ”. “สดมภ์” แปลว่าเสา. ↩
-
อ ๑๑๐. “ดาริกาภาแพร้วเพริศสิ้น”. “ดาริกา” คือดาว. ↩
-
อ ๑๑๑. “เสียงตรังภ์ดังเยี่ยงเสียงฆ้อง” “ตะรังค” แปลว่าคลื่น. ↩
-
อ ๑๑๒. “อันผู้รู้เรื่องเมืองไร”. “เมืองไร” คือเมืองทอง. ↩
-
อ ๑๑๓. “เหมือนขวงแค่นมาน่าแค้น”. “ขวง” แปลว่าผี. ↩
-
อ ๑๑๔. “ส่อแหล่งแสนหลากสากษี”. “สากษี” แปลว่าผู้เห็นด้วยตา. ↩
-
อ ๑๑๕. “ต้องลี้ลาไปไกลองค์”. จงสังเกตว่า ลี้ลา เปนคำ ๒ คำ คือ “ลี้” กับ “ลา” ไม่ใช่ลีลา. ↩
-
อ ๑๑๖. “นางคือเยาวเรศเนตรขำ”. “เยาวเรศ” คำนี้ปทานุกรมแปลว่า “นาง” ลุ่นๆ แต่รูปศัพท์ชอบกล ↩
-
อ ๑๑๗. “ยลแถงยามหงายฉายฟ้า”. “แถง” คือพระจันทร์. ↩
-
อ ๑๑๘. “หาเดือนเพื่อนเถินเดินดิน”. “เดือน” คือพระจันทร์. ↩
-
อ ๑๑๙. “พระศุลีศรีมานฉานฉาย” “ศรีมาน” แปลว่ามีสิริ เปนคำเรียกพระอิศวร พระนารายณ์ ท้าวกุเวร แลผู้เปนเจ้าเปนใหญ่ทั่ว ๆ ไป. ↩
-
อ ๑๒๐. “จวบขณะพระศิวะพระศิวา”. “ศิวา” เปนเพศหญิงแห่งศัพท์ ศิวะเปนนามเรียกพระอุมาในตำแหน่งที่เปนชายาพระอิศวร. ↩
-
อ ๑๒๑. “ฝากบรรพตผู้ชูยศ”. เขาหิมาลัยนั้นมีนามว่า ฤษีบรรพต เปนชนกของพระอุมา. ↩
-
อ ๑๒๒. “ปางปศุบดีตรีเนตร”. “ปศุบดี” แปลว่าเจ้าแห่งสัตว์ เปนนามพระอิศวร คำว่าภูตบดีอีกคำหนึ่ง แปลว่า เจ้าแห่งภูต ก็เปนนามพระอิศวร เหมือนกัน พระอิศวรเปนเจ้าแห่งปศุแลเจ้าแห่งภูต จึงห้ามได้อย่างในเรื่องนี้. ↩
-
อ ๑๒๓. “ตรัสพลางพระศุลีตรีโลจน์”. “ตรีโลจน์” แปลว่าสามเนตร. ↩
-
อ ๑๒๔. “จรจากฟากมหากานน”. “กานน” แปลว่าป่า. ↩
-
อ ๑๒๕. “หนึ่งนางนกเลี้ยงเยี่ยงมี”. “นางนกเลี้ยง” คือนางศกุนตลา มเหสีท้าวทุษยันต มีเรื่องว่าครั้งหนึ่งฤษีวิศวามิตรทำตบะเชี่ยวชาญจนร้อนถึงพระอินทร์ ๆ ให้นางอัจฉราลงมายวน ฤษีหลงจนเสียตบะ นางมีครรภ์คลอดลูกทิ้งไว้แล้วกลับไปสวรรค์ มีศกุนตะ (นก) มาเลี้ยงเด็กไว้ เด็กจึงได้ชื่อว่านางศกุนตลา แปลว่านางนกเลี้ยง. ↩
-
อ ๑๒๖. “หนึ่งไวทรรภีศรีบูรณ์”. “ไวทรรภี” แปลว่านางแห่งกรุงวิทรรภ์ คือนางทมยันตี ผู้เปนมเหสีพระนล. ↩
-
อ ๑๒๗. “ออกอ้อมเรือใหญ่ไป่หึง”. “ไป่หึง” แปลว่าไม่นาน. ↩
-
อ ๑๒๘. “เหี้ยมทุกข์เทียมผามาพิง”. “เหี้ยม” แปลว่าเหตุ. ↩
-
อ ๑๒๙. “ยศศักดิ์อัคคฐานนานเนียร”. “นานเนียร” หมายความว่าไม่มีมานาน (เนียร = นิร) ↩
-
อ ๑๓๐. “พบพานกานดาลาลด”. “ลาลด” แปลว่าลห้อย. ↩
-
อ ๑๓๑. “เล็งพักตร์ลักษณ์นางพางอินทุ์”. “อินทุ” แปลว่าพระจันทร์. ↩
-
อ ๑๓๒. “กษัตรีอยู่เย่าเนาเรือน”. “กษัตรี” แปลว่านางกษัตริย์ ใจความตรงนี้มีอธิบายว่าคนในตระกูลพ่อค้ามีวรรณต่ำ จะกำเริบเอานางกษัตริย์ซึ่งเปนคนวรรณสูงไปเลี้ยงไว้ในเรือนนั้นผิดแบบแผนประเพณีตลอดถึงพระเวท นับว่าเปนบาป. ↩
-
อ ๑๓๓. “เหมือนเอาไยบัทม์มัดช้าง”. “ไยบัทม์” แปลว่าไยบัว. ↩
-
อ ๑๓๔. “ใคร่แฉละอกเล่นเช่นหมู”. เมื่อกำลังแต่งกลอนนี้ ในเวลาอ่านทวนได้มีผู้ทักว่าเรื่องนี้กล่าวว่าเปนเรื่องแขก เหตุใดจึงใคร่แฉละหมู ผู้แต่งคิดว่าเมื่อพิมพ์หนังสือนี้แล้ว อาจถูกทักเช่นนี้อีกหลายราย จึงเห็นควรจะชี้แจงไว้บ้าง.
เรื่องนี้เนื้อเรื่องเดิมเปนเรื่องแขกฮินดู แลแขกนั้นมีหลายพวก ถ้าจะกล่าวให้เข้าใจเรื่องแขกทุกประเภทก็เห็นจะต้องมีสมุดเล่มโต ๆ อีกเล่มหนึ่งจึงจะพอเล่าย่อ ๆ ได้ อันที่จริงคำว่าแขกนั้นภาษาไทยเดิมก็แปลว่าคนมาจากด้าวอื่นเท่านั้น คำที่เราใช้ว่า “แขกเมือง” เดี๋ยวนี้ใช้ตรงตามความเดิม.
แขกเกลียดหมูนั้นแขกอิสลามหรือที่เรียกว่าแขกมหะหมัด แขกฮินดูไม่เกลียดหมูยิ่งกว่าสัตว์อื่น พวกที่มี “วรรณ” สูงแลถือเคร่งย่อมไม่กินเนื้อสัตว์เลย ไม่ว่าหมูหรืออะไรหมด แต่พวกที่ “ วรรณ “ ต่ำหรือไม่เคร่งย่อมกินเนื้อสัตว์รวมทั้งหมูด้วย.
อนึ่งควรเปนที่เข้าใจกันว่าเรื่องนี้เนื้อเรื่องเดิมแขกก็จริง แต่ในที่นี้ไทยแต่งสำหรับไทยอ่าน จึงกลายเปนไทยยิ่งกว่าแขกแปลงชาติ ท่านอย่าลืมว่าเรื่องรามเกียรติ์นั้นก็เรื่องแขกฮินดู แต่พระรามทำอะไรหลายอย่างที่แขกไม่ทำ. ↩
-
อ ๑๓๕. “ส่ำสีห์หมีเสือเนื้อร้าย”. วาฬมิค แล วฺยาลมฤค คือสัตว์ซึ่งกินสัตว์อื่นเปนอาหาร ได้แก่เสือเปนต้น เหล่านี้เรียกว่า “เนื้อร้าย” ↩
-
อ ๑๓๖. “อ้าอโศกปราศโศกโชคชื่น”. คำกล่าวแก่ต้นอโศกทำนองนี้ได้แต่งไว้หลายปีแล้วในพระนลคำฉันท์ ครั้งนี้ลองเอามาว่าเปนกลอนดูบ้าง กลอนสู้ฉันท์ไม่ได้ แต่เมื่อลองอ่านทวนดูก็เห็นว่าพอไปได้ จึงเอาลงไว้ในที่นี้. ↩
-
อ ๑๓๗. “อ้าศรีวีตโศกโบกบัตร”. “วีตโศก” เปนชื่อต้นอโศกอีกชื่อหนึ่ง อโศกแปลว่าไม่มีโศก แลต้นอโศกก็คือต้นไม้ที่เรามักเรียกกันว่าต้นโศกนี้เอง. ↩
-
อ ๑๓๘. “จึ่งสูจักสมสมญา” “สมญา” แปลว่าชื่อ. ↩
-
อ ๑๓๙. “ชาติศวาสามานย์พาฬไพร”. “ศวา” แปลว่าหมา พาฬ แปลว่า สัตว์กินสัตว์อื่นเปนอาหาร (แลแปลว่างูก็ได้). ↩
-
อ ๑๔๐. “พึ่งอารีท้าวด้าวใต้”. พระยมเปนโลกบาลประจำทิศใต้. ↩
-
อ ๑๔๑. “พวกภิลล์หินชาติกาจกล้า”. “ภิลล์” เปนชื่อชนชาวป่าจำพวกหนึ่ง กล่าวว่าเปนพวกดุร้าย เลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์ แลโจรกรรมเปนพื้น. ↩
-
อ ๑๔๒. “มลไร้แลสอาดปราศผง” “มล” คือมลทิน. ↩
-
อ ๑๔๓. “ทรามวัยไทตยามายืน”. “ไทตยา” คือนางแทตย์. ↩
-
อ ๑๔๔. “กว่าหญิงทั่วแคว้นแดนสาม”. “แดนสาม” หรือ สามภพ สามโลกเหล่านี้หมายความว่า โลกสวรรค์ ๑ โลกมนุษย์ ๑ โลกบาดาล ๑. ↩
-
อ ๑๔๕. “พบพานเพื่อนป่าหน้าลิง”. รากษสแลอสูรประเภทอื่นๆ นั้นกล่าวว่ามีมากที่ตัวเปนคนหน้าเปนสัตว์ หรือรูปสัตว์หน้าคน มีลักษณะวิปริตต่าง ๆ ผิดกับลักษณะเทวดาแลมนุษย์.
เทวดานั้นรูปร่างอย่างเดียวกับมนุษย์ เพราะมนุษย์เปนผู้แต่งหนังสือจึงบัญญัติให้เทวดามีลักษณะรูปร่างอย่างเดียวกับตน. ↩
-
อ ๑๔๖. “อุกหลุกไล่กั้งรังแก”. กั้ง = กั้น. ↩
-
อ ๑๔๗. “เหลียวเฉวียงแลสดำร่ำค้น”. “เฉวียง” แปลว่าซ้าย “สดำ”แปลว่าขวา. ↩
-
อ ๑๔๘. “เปลี่ยนเห็นเปนไวราคี”. “ไวราคี” คือฤษีผู้ปราศจากราคะ ในที่นี้คือรากษสที่แปลงเปนโยคี ↩
-
อ ๑๔๙. “พลางเข้าปลุกพญาสามี”. ตรงนี้ในขณะที่ยังเปนร่าง ผู้แต่งเคยถูกถามว่าหัวขาดแล้วทำไมจึงเข้าปลุกผัวได้ ผู้แต่งตอบว่าเห็นจะกลับติดกันกระมัง.
อีกแห่งหนึ่งมีผู้ถามว่าเหตุใดนางกนกเรขาจึงรู้จักชื่ออมรสิงห์ ไม่เห็นกล่าวที่ไหนว่าได้บอกชื่อให้นางทราบ ผู้แต่งตอบว่าไม่ทราบว่าทราบได้อย่างไร (แลไม่เห็นจำเปนจะเพิ่มกลอนเพื่อให้ข้อนี้แจ่มแจ้งขึ้น). ↩