นิทานอิหร่านราชธรรม ๑๒ เรื่อง ฤๅที่เรียกกันว่าเรื่องสิบสองเหลี่ยม

นิทานพระเจ้าเนาวสว่านวาดินทรงธรรมนั้น ว่าในกาลวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้ามามูนบรมกระษัตริย์ อันผ่านสมบัติอยู่ณกรุงบัดดาด เสด็จออกน่าพระที่นั่ง ตรัสแก่มุขมนตรีว่า เราได้ยินผู้เถ้าผู้แก่เล่าสืบกันมา ว่าสมเด็จพระเจ้าเนาวสว่าน เปนพระมหากระษัตริย์ทรงธรรมอันประเสริฐ เสวยราชสมบัติอยู่ณเมืองมะดาวิน อาณาประชาราษฎรชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงอยู่เย็นเปนศุขปราศจากทุกข์ภัยอันตราย ครั้นพระเจ้าเนาวสว่านเสด็จสวรรคตแล้ว พระเจ้าหรมุกได้ครองราชสมบัติแทนพระราชบิดา จึงให้ทำมณฑปบนยอดภูเขาที่ในป่าแว่นแคว้นเมืองมะดาวิน ไว้พระศพพระเจ้าเนาวสว่านผู้เปนพระราชบิดา มณฑปนั้นทำด้วยทองคำประดับเนาวรัตนต่าง ๆ แล้วจารึกอักษรในแผ่นทอง เปนข้อบัญญัติแลนิทานทำนองคลองธรรมไว้ในมณฑปนั้นทั้ง ๑๒ เหลี่ยม สำหรับพระมหากระษัตริย์แลเสนาบดีจะได้ปรนนิบัติตาม ให้อาณาประชาราษฎรอยู่เย็นเปนศุข แลพระมณฑปนั้นอยู่แห่งใดตำบลใดใครยังรู้เห็นบ้างฤๅ เสนาบดีมุขมนตรีกราบทูลว่า เคยได้ยินแต่เล่าฦๅสืบมาต่อ ๆ กันว่า แต่พระเจ้าเนาวสว่านเสด็จสวรรคตมาจนตราบเท่าบัดนี้ นับตามศักราชได้ ๒๕๐๐ ปี แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจะได้รู้ว่าพระมณฑปซึ่งไว้พระศพนั้น อยู่แห่งใดตำบลใดหามิได้ พระเจ้ามามูนจึงตรัสแก่เสนาบดีมุขมนตรีว่า พระเจ้าเนาวสว่านก็สิ้นพระญาติวงศ์แล้ว และเมืองมะดาวินนั้นก็ขึ้นแก่เมืองเรา ควรเราจะไปเยือนพระศพ จะได้แจ้งในอักษรคำซึ่งบัญญัติจารึกไว้นั้น ครั้นตรัสดังนั้นแล้วพระเจ้ามามูนเสด็จไปเมืองมะดาวิน

ครั้นไปถึงมะดาวินแล้ว ชาวเมืองมะดาวินจึงเอาเข้าโภชนสาลีรวงนั้นยาวสองศอก ผลนั้นเท่าผลทับทิมมาถวาย ว่าชาวนาไถนาอยู่ได้ตุ่มใต้ดิน พระเจ้ามามูนจึงสืบถามผู้เถ้าผู้แก่ว่า เข้าโภชนสาลีเปนแต่เมื่อครั้งพระมหากระษัตริย์องค์ใดจึงเติบใหญ่ถึงเพียงนี้ แลมณฑปพระเจ้าเนาวสว่านอยู่ตำบลใดผู้ใดรู้บ้างฤๅ ผู้เถ้าผู้แก่ให้กราบทูลว่าอายุข้าพระพุทธเจ้าทั้งนี้ต่ำอยู่ จะได้แจ้งเนื้อความนั้นหามิได้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นจะแจ้งเนื้อความครั้งนั้นแต่มุอายหยัดเปนผู้เถ้าอยู่ณเมืองปาสันนั้น พระเจ้ามามูนจึงสั่งให้หามุอายหยัดมาน่าพระที่นั่ง แลพระเจ้ามามูนจึงตรัสถามมุอายหยัดว่าอายุมากน้อยเท่าใด แลรวงเข้าโภชนาสาลีนี้เปนแต่เมื่อครั้งใด แลพระมณฑปพระเจ้าเนาวสว่านนั้นแจ้งบ้างฤๅว่าอยู่ตำบลใด มุอายหยัดจึงกราบทูลว่าอายุข้าพเจ้าได้ ๓๒๐ ปีแล้ว แลรวงเข้าโภชนสาลีนี้ เปนแต่ครั้งพระเจ้าเนาวสว่านวาดินทรงธรรม แต่เมืองมะดาวินไปถึงเขาพระมณฑปอยู่นั้นเปนทาง ๑๕๐๐ เล้น เธอสร้างพระมณฑปนั้นบนภูเขาสูงถึง ๑๗๐ เส้น ภูเขานั้นมีธารน้ำไหล พระมณฑปนั้นทำด้วยทองคำประดับด้วยเนาวรัตนสว่างรุ่งเรืองอยู่ในภูเขานั้นประดุจกลางวัน แลพื้นพระมณฑปนั้นดาษไปด้วยแผ่นเงิน แลเมื่อพระเจ้าหรมุกจะใกล้สวรรคตนั้นให้สมทบทางเสีย พระเจ้ามามูนจึงสั่งให้ช่างศิลาไปด้วยมุอายหยัด ให้ไปตัดทางแต่พอทรงม้าเสด็จไปได้ มุอายหยัดก็เอาช่างศิลาไปตัดทางตามรับสั่งสำเร็จแล้ว เข้ามากราบทูลแก่พระเจ้ามามูน ๆ เธอเสด็จทรงม้าพระที่นั่งไปด้วยมุอายหยัดกับมนตรี ๓ คน มหาดเล็กคน ๑ เปน ๖ คนด้วยกันทั้งพระองค์ แลให้รี้พลทั้งนั้นอยู่แต่นอกภูเขาซึ่งสมทบทางไว้นั้น แล้วพระเจ้ามามูนตรัสว่าพระเจ้าเนาวสว่านเปนพระมหากระษัตริย์ผู้ทรงธรรม เราจะลงจากหลังม้าเข้าไปจึงจะควร ทรงพระราชดำริห์แล้วเท่านั้น ก็เสด็จลงจากม้าเข้าไปจนถึงพระมณฑป เห็นประตูเหล็กปิดอยู่

แลในบานประตูเหล็กนั้นจารึกไว้ด้วยทองคำว่า มนุษย์นั้นมีแก้ว ๕ ดวง ดวง ๑ คือแก้วปัญญา บำรุงแก้วนั้นให้ประหยัด ศัตรูแก้วนั้นคือโมโห ดวง ๒ นั้นคือแก้วความรู้ บำรุงแก้วนั้นคือมัธยัต ศัตรูแก้วนั้นคือ (อะไรความในฉบับขาด) ดวง ๓ นั้นคือแก้วความอาย บำรุงแก้วนั้นคือมานะ ศัตรูแก้วนั้นคือมาตุคาม ดวง ๔ นั้นคือแก้วความซื่อ บำรุงแก้วคือสัจ ศัตรูแก้วนั้นคือดาบ ดวง ๕ นั้นคือแก้วอัฏ บำรุงแก้วนั้นคือถือคำ ศัตรูแก้วนั้นคือโลภ ว่าถ้าผู้ใดทำการชั่วจะได้ชั่ว ถ้าผู้ใดทำชอบจะได้ที่ชอบ

ครั้นพระเจ้ามามูนทรงพระอักษรนั้นแล้วมิช้า ท่านผลักบานประตู ๆ นั้นก็เปิดออก จึงเสด็จเข้าไปถึงพระมณฑป เห็นม่านนั้นผูกเปนสายยนต์ไว้ เอาพระหัดถ์ไปต้องม่าน ๆ นั้นก็ลุ่ยหลุดลง พระเจ้าก็เสด็จเข้าไปในมณฑปนั้น จึงเห็นบานประตูแลฝาผนังนั้นแล้วไปด้วยทองคำ แลพระที่นั่งซึ่งไว้พระศพพระเจ้าเนาวสว่านนั้น แล้วไปด้วยทองคำถมราชาวดีกุดั่นประดับพลอย องค์พระเจ้าเนาวสว่านนั้นทรงเครื่อง เสด็จอยู่บนพระที่นั่งดุจเปนอยู่ พระเจ้ามามูนจึงไปนบนอบพระเจ้าเนาวสว่านตามเคารพ แล้วเปลื้องพระภูษาทรงให้ใหม่ แลเห็นพระองค์สดชื่นประดุจเปนอยู่ เห็นแต่พระภักตร์เปนฝ้าหมองอยู่สักหน่อย แลกลิ่นยาซึ่งแพทยาณเมืองมะดาวินประกอบทาพระองค์ไว้นั้นมีกลิ่นหอมประหลาด ๆ จะเปรียบด้วยกลิ่นอันใดมิได้มี จึงพระเจ้ามามูนเอาเครื่องหอมไปทาพระองค์แล้ว เอาพระภูษาซึ่งเอาไปนั้นทรงให้ใหม่

จึงเห็นแผ่นทับทิมซึ่งจารึกไว้เปนอักษร ๕ ประการห้อยไว้ตรงหน้าพระภักตร์นั้น ประการ ๑ ว่าโลกมิได้ยืน ชอบให้ประหยัดความชั่วจึงจะได้ความชอบ ๒ ประการนั้นให้ผู้มีบันดาศักดิ์โอบอ้อมเอนดูอย่าข่มเหงผู้อยู่ในบังคับ ผู้อยู่ในบังคับนั้นก็ให้เกรงกลัวผู้มีบรรดาศักดิ์ ๓ ประการนั้นว่ารบพุ่งเอาบ้านเมืองมาไว้ในบังคับก็ดี ใช่ว่าจะครองอยู่ไปได้ชั่วนิรันดร ชอบให้ทำความดีจะได้เปนเสบียงไปภายภาคน่าดีกว่า ๔ ประการนั้นว่า ถ้าจะทำดีทำร้ายเท่าใด ๆ ก็จะได้เท่าที่ทำนั้นแล ๕ ประการนั้นว่าพระมหากระษัตริย์ประดุจต้นไม้อันสดชน แลราษฎรประดุจรากไม้ ถ้าแลรากไม้นั้นมดปลวกกิน ต้นก็เหี่ยวแห้งพลันล้ม ถ้าแลรากนั้นมดปลวกมิได้เบียดเบียน ต้นนั้นก็ชื่นสดจะยั่งยืนเปนผลสืบไป

อนึ่งธำมรงค์อยู่ที่นิ้วพระหัดถ์ขวานั้น ๔ วง จารึกเปนอักษรไว้ ๔ ประการ ประการ ๑ ว่าถ้าจะลงโทษแก่ผู้อยู่ในบังคับนั้นแต่พอสมควร ให้โปรดจงมาก ๒ ประการนั้นให้ตรึกถึงทุกข์ศุขว่าบัญญาน้อยจึงอยู่ในบังคับ ๓ ประการนั้นว่าถ้าอายุจะยืนอยู่สักพันปีก็ดี อย่าให้ลืมซึ่งความตาย ๔ ประการนั้นว่าอันผู้อยู่ในพิภพนี้ยิ่งแต่ผู้ที่โปรดให้น้ำใจมนุษชื่น

แลพระธำมรงซึ่งใส่ในนิ้วพระหัดถ์ซ้ายนั้น ๔ วง จารึกเปนอักษรไว้ว่า เปนพระมหากระษัตริย์นั้นอย่าลืม ๔ ประการนี้ ประการ ๑ ให้ทรงธรรม ๒ ประการนั้นตั้งแต่งผู้จะเปนเสนาบดีนั้นให้มีปัญญาซึ่งต่างพระเนตรพระกรรณได้ ๓ ประการนั้นว่าให้บำรุงพระสาสนาให้รุ่งเรือง ๔ ประการนั้นว่าถ้าผู้ใดจะกราบทูลด้วยเนื้อความสิ่งใด ๆ (ฟัง) ให้ถ่องแท้แล้วจึงตรัสสั่ง

แลแผ่นทับทิมซึ่งผูกข้อพระหัดถ์ขวานั้นจารึกไว้ว่า (๑) ถ้าจะใช้การสิ่งใด ๆ ให้ใช้คนผู้มีปัญญา (๒) ถ้าจะทำการสิ่งใดอย่าทำใจเร็ว (๓) ถ้าจะไปทางใดให้ดูทางซึ่งจะกลับมาได้นั้น (๔) ถ้าจะเจรจาสิ่งใดปฤกษาก่อนแล้วจึงเจรจา

แลจารึกไว้ในปัทมราชผูกอยู่ข้อพระหัดถ์ซ้ายนั้นว่า ถ้าเสนาบดีทำมิได้มีความชอบแก่พระมหากระษัตริย์นั้น ๔ ประการ ๆ ๑ มิได้เอาใจใส่แก่ราชการ ๒ ประการนั้นว่าเห็นแต่จะได้พัสดุทองเงิน ๓ ประการนั้นฤษยาแก่เพื่อนกัน ๔ ประการนั้นสิ่งใดมิควรทำมาทำ (ดังนี้ไม่ควรชุบเลี้ยงให้มียศศักดิ์)

แลในฝาผนังพระมณฑปนั้นจารึกไว้ว่า (๑) ถ้าผู้ใดทำผิดอย่าให้ทำผิดตอบ (๒) ถ้าจะทำการอันใดให้ประกอบด้วยอัธยาศรัย

อนึ่งอันจะเปนความชอบแต่พระมหากระษัตริย์จะได้สืบพระชัณษานั้นมี ๔ ประการ ๆ ๑ ทรงธรรม ๒ ประการทำบุญแก่ผู้มีศีล ๓ ประการนั้น (ทำ) ทานผู้เถ้าผู้แก่ ๔ ประการให้ทานกระยาจกวรรณิพกด้วยศรัทธา

อนึ่งไปมิได้กลับมามี ๓ ประการ ๆ ๑ วาจาซึ่งออกไปแล้วมิได้กลับคืน ๒ ประการอายุล่วงไปแล้วมิได้กลับคืน ๓ ประการนั้นตายไปแล้วมิได้กลับคืนมา

อนึ่งพระมหากระษัตริย์ดุจแพทยา ราษฎรทั้งปวงประดุจหนึ่งผู้ป่วย ๆ นั้นหวังจะใคร่แจ้งโรคแต่แพทยา ถ้าแพทยามิฟังผู้ป่วยบอกอาการ ที่ไหนจะประกอบยารักษาโรคหาย ให้เร่งคิดประดุจหนึ่งพระเจ้าสุไลมานผู้เปนพระมหากระษัตราธิราชเจ้าอันสูงใหญ่อันมหาประเสริฐ ได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้ารู้ภาษาสัตว์ทั้งปวง แต่มดตัวหนึ่งมาฟ้องยังเอาธุระ เหตุว่าทรงธรรม ฉนั้นจึงมนุษย์นิกรยักษ์มารสิงสัตว์ทั้งปวงอยู่ในบังคับ

อนึ่งพระมหากระษัตริย์ทรงธรรมแต่ครู่หนึ่ง จะได้อานิสงษ์ยิ่งกว่านมัสการพระพุทธเจ้าปีหนึ่ง แลทรงธรรมนั้นประดุจตราชูเที่ยงฟ้าแลดินยั่งยืนด้วยทรงธรรม พระมหากระษัตริย์อันทรงธรรมนั้นสูงกว่าฟ้า ใหญ่กว่าพิภพ ฦกกว่าพระมหาสมุท เย็นกว่าพระคงคา

แล้ว (พระเจ้ามามูน) เสด็จไปทักษิณรอบพระมณฑป ๆ นั้นเปน ๑๒ เหลี่ยม จารึกอักษรไว้เปนนิทานทุกเหลี่ยม

  1. ๑. สงไสยว่าฉบับเดิมจำนวนจะเพียง ๒๕๐ ปี จะเขียนสูญเกินไปสูญหนึ่ง

  2. ๒. ความในฉบับตัวทองของหลวงขึ้นตั้งแต่ต่อนึ้ไป

  3. ๓. สงสัยว่าที่ถูกจะเปน ๑๒๐ ปี

  4. ๔. อธิบายแก้ว ๕ ดวง ความในฉบับเห็นจะวิปลาศด้วยคัดลอกกันต่อ ๆ มา ได้สอบฉบับที่มีอยู่ในหอพระสมุด ฯ ถึง ๓ ฉบับก็เป็นอย่างเดียวกัน

  5. ๕. ตรงนี้ – ที่ถูกเห็นจะเป็นเทพยเจ้า

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ