อธิบายนิทานอิหร่านราชธรรม

นิทานพวกนี้เปนนิทานแขก จะเรียกชื่อเรื่องหนังสือในภาษาแขกว่ากะไรหาทราบไม่ แต่ไทยเราเรียกกันมาว่า “เรื่องสิบสองเหลี่ยม” เข้าใจว่าได้ต้นฉบับเดิมเข้ามาแปลเปนภาษาไทยแต่เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเปนราชธานี ข้อนี้รู้ได้ด้วยสำนวนที่แปลเปนสำนวนโบราณ แลมีหลักฐานอิกอย่างหนึ่ง ที่หนังสือเรื่องนี้ในหอพระสมุดฯ มีฉบับตัวทองของหลวงครั้งรัชกาลที่ ๑ มีบานแพนกปรากฎว่าอาลักษณเขียนเมื่อเดือน ๗ ปีขาลจัตวาศก พ.ศ. ๒๓๒๕ อันเปนปีซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุลาโลกเสด็จปราบดาภิเศก แต่มิได้กล่าวถึงการที่แปลไว้ในบานแพนก จึงเห็นว่าเปนหนังสือเรื่องที่นับถือกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะเปนนิทานสุภาสิตว่าด้วยราชธรรม จึงโปรด ฯ ให้สร้างขึ้นเปนฉบับหลวงเก็บไว้ใกล้พระองค์สำหรับจะได้ทรงสอบสวนได้โดยง่าย แลหนังสือเรื่องนี้นอกจากฉบับหลวงยังพบฉบับอื่นอิกหลายฉบับ ส่อให้เห็นเปนหลักฐานประกอบกับข้อความที่กล่าวมา ควรเชื่อได้ว่าแปลแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี

แต่หนังสือเรื่องนี้จะได้มาแต่แขกชาติไหน แลได้มาในรัชกาลไหน ข้อนี้ได้แต่คาดคเนตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่บ้าง คือในตัวนิทานเองสังเกตุดูมักเปนนิทานว่าด้วยครั้งพวกอิหร่านมีอำนาจปกครองทั้งประเทศเปอรเซียแลประเทศอิรักรวมกัน เปนเรื่องนิทานทางอินเดียก็มีบ้าง ลาดเลาดูจะเปนของพวกแขกชาวเปอรเซียรวบรวมแต่งขึ้น ข้อที่นำมาถึงประเทศนี้นั้น มีเค้าเงื่อนในพงศาวดาร ว่าเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช พระเจ้าแผ่นดินเปอรเซียได้แต่งราชทูตเข้ามายังเมืองไทย โดยประสงค์จะให้มาเกลี้ยกล่อมสมเด็จพระนารายน์ ฯ ให้เข้ารีตสาสนาอิศลาม เหมือนอย่างที่พวกฝรั่งเศสพยายามเกลี้ยกล่อมจะให้เสด็จเข้ารีตสาสนาคริศตัง ทูตเปอรเซียเข้ามาครั้งนั้นคงจะพาครูบาอาจารย์ที่ชำนาญสาสนาแลราชธรรมทางประเทศเปอรเซียเข้ามาด้วย บางทีจะนำหนังสือเรื่องนี้เข้ามา แลสมเด็จพระนารายน์ ฯ ได้โปรดให้แปลออกเปนภาษาไทยในครั้งนั้น เหตุด้วยหนังสือเรื่องนี้ว่าด้วยราชธรรมเปนพื้น ไม่สู้เกี่ยวแก่สาสนาจึงรักษาไว้เปนแบบฉบับสืบมา.

ในหนังสือเรื่องนี้มีศัพท์ที่แปลแปลกอยู่ในนิทานเรื่องที่ ๕ ศัพท์หนึ่งส่อให้เห็นว่าแปลมาเก่าแก่ คือเรียกสัตว์อันเกิดแต่ม้ากับฬาประสมกันว่า “แม้” สัตว์อย่างนี้เรียกกันในชั้นหลังว่า “ล่อ” ที่เรียกว่า “แม้” ไม่เคยเห็นเรียกในหนังสือเรื่องอื่นเลย ยังมีศัพท์อื่นๆ ในนิทานเหล่านี้ ที่พอจะค้นหาหลักฐานได้ก็หลายศัพท์ ได้วานโปรเฟศเซอร์ เซเดส์ บรรณารักษ์ใหญ่ในหอพระสมุด ฯ สอบในพงศาวดารประเทศเปอรเซียได้ความอธิบายดังนี้

ชื่อในนิทานนำ

พระเจ้ามามูน Mahmud เปนพระเจ้าแผ่นดินเปอรเซีย ในราชวงศ์ คัคเนวิด ทรงราชย์เมื่อราว พ.ศ. ๑๕๑๔

พระเจ้าเนาวสว่าน Nushirwan เปนพระเจ้าแผ่นดินเปอรเซีย ในราชวงศ์สัสสนิด ทรงราชย์เมื่อราว พ.ศ. ๑๐๗๔

เมืองบัดดัด Baghdad เปนราชธานีประเทศอิรักบัดนี้

เมืองมะดาวิน Mada’in (แปลว่า นคร) คือเมืองสเตลิฟน อยู่ข้างใต้เมืองบัดดัด

ชื่อในนิทานเรื่องที่ ๑

พระเจ้าฟารุดิน Faridun พระเจ้าแผ่นดินในราชวงศเปอรเซีย

ชื่อในนิทานเรื่องที่ ๒

พระเจ้าหุมายุน Humayun พระเจ้าแผ่นดินในราชวงศมงโคลในอินเดีย

เมืองบุทราฐ Gujarat เมืองในอินเดีย

ชื่อในนิทานเรื่องที่ ๓

พระเจ้าสันหยัน Shahryar พ้องนามพระเจ้าแผ่นดินในต้นเรื่องอาหรับราตรี

ชื่อในนิทานเรื่องที่ ๔

พระเจ้าบหราม Bahram พระเจ้าแผ่นดินเปอรเซีย ทรงพระนามนี้มีหลายองค์ องค์ที่มีเกียรติมาก เสวยราชย์เมื่อราว พ.ศ. ๙๖๓

ชื่อในนิทานเรื่องที่ ๕ ที่ ๖ ซ้ำกับที่สอบแล้วบ้าง สอบไม่ได้ความบ้าง

ชื่อในนิทานเรื่องที่ ๗

พระเจ้ามันสูร Mansur พระเจ้าแผ่นดินเปอรเซียในราชวงศ์สัสสนิด ทรงราชย์เมื่อราว พ.ศ. ๑๕๐๔

พระเจ้ายัมสิต Jamshid พระเจ้าแผ่นดินเปอรเซียราชวงศ์ที่ ๑

พระเจ้าอรุม Roum คือพระเจ้าแผ่นดินที่ครองประเทศเตอรกี

เมืองเหราช Herat อยู่ในประเทศอัฟคานีสถาน

เมืองยุมาน Yemen อยู่ในประเทศอาหรับ

ชื่อในนิทานเรื่องที่ ๘ สอบไม่ได้ความ ชื่อในนิทานเรื่องที่ ๙ ซ้ำกับที่สอบแล้วบ้าง สอบไม่ได้ความบ้าง

ชื่อในนิทานเรื่องที่ ๑๐

เมืองอาราม Haram เปนชื่อเก่าของเมืองเมกกะ

ชื่อในนิทานเรื่องที่ ๑๑ ไม่จำต้องสอบ นิทานเรื่องที่ ๑๒ เปนเรื่องชาดก ไม่ต้องสอบ

นิทาน ๑๒ เรื่องนี้ หมอสมิทเจ้าของโรงพิมพ์ที่บางคอแหลมได้พิมพ์เปนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ แต่ฉบับของหมอสมิทความบกพร่องไม่บริบูรณ์เหมือนฉบับที่มีในหอพระสมุดฯ อิกประการ ๑ ที่เรียกชื่อกันมาแต่เก่าก่อนว่า “เรื่องสิบสองเหลี่ยม” เห็นว่าไม่ชวนอ่าน เสมือนนามปิดค่าของหนังสือเสีย นิทานเหล่านี้สิเปนนิทานของพวกแขกอิหร่านแลว่าด้วยราชธรรม พิมพ์ใหม่ครั้งนี้จึงให้ชื่อเสียใหม่ว่า “นิทานอิหร่านราชธรรมสิบสองเรื่อง”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ