คำนำ

นายพลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค) ผู้ช่วยสมุหราชองครักษ์ มาแจ้งความยังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครว่า พร้อมใจกับน้อง ๆ จะใคร่พิมพ์หนังสือเปนของแจกในงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงตลับ สุรวงศ์วัฒนศักดิ์ ผู้มารดาสักเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือในหอพระสมุด ฯ ให้พิมพ์ ขณะนั้นประจวบเวลากรรมการคิดรวบรวมนิทานโบราณ หมายว่าจะพิมพ์เปนหนังสือประชุมปกรณัมขึ้นอิกสักพวก ๑ เช่นเดียวกับประชุมพงศาวดารแลประชุมลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ได้พิมพ์อยู่ ข้าพเจ้าชวนให้พิมพ์หนังสือนิทานอิหร่านราชธรรม ๑๒ เรื่อง ซึ่งได้จัดไว้เปนภาคที่ ๑ ในประชุมปกรณัม บุตรธิดาของท่านผู้หญิงตลับเห็นชอบด้วย จึงชำระต้นฉบับแล้วจัดการพิมพ์ให้ตามประสงค์.

เรื่องตำนานของหนังสือนิทานอิหร่านราชธรรม ๑๒ เรื่องมีมาอย่างไร แจ้งอยู่ในคำอธิบายที่พิมพ์ไว้อิกแพนก ๑ ในที่นี้จะกล่าวถึงเรื่องประวัติของท่านผู้หญิงตลับ สุรวงศ์วัฒนศักดิ์ก่อน.

ประวัติท่านผู้หญิงตลับสุรวงศ์วัฒนศักดิ์

ท่านผู้หญิงตลับ เปนธิดาคนใหญ่ของพระสุพรรณสมบัติ (ถมยา โอสถานนท์) เกิดในรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันศุกร เดือน ๔ ปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๓๙๘ เมื่ออายุได้ ๑๐ ปีท่านผู้หญิงอ่วมสุรวงศ์วัยวัฒน์มารดาเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศํกดิ์มีความรักใคร่ขอบิดาไปเลี้ยง จึงได้คุ้นกับเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์มาแต่ยังเยาว์อยู่ด้วยกัน ครั้นเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ไปศึกษาณประเทศยุโรปกลับมา ได้มาพบปะกันเมื่อเปนหนุ่มสาว ความที่คุ้นกันมาก็พาให้เกิดสมัครักใคร่กัน ท่านผู้หญิงอ่วมจึงขอต่อบิดา แล้วยกให้เปนภรรยาเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่เมื่อเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ยังเปนนายพันตรี ที่พระอมรวิสัยสรเดช บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ ท่านผู้หญิงตลับได้ร่วมทุกข์ศุขอยู่ด้วยกันกับเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ ฉันเปนแม่เจ้าเรือนแต่นั้นมาจนตลอดอายุของสามี มีบุตรธิดาด้วยกัน ๙ คน ถึงแก่กรรมเสียแต่น้อย ๔ คน อยู่มาจนเติบใหญ่ ๕ คน คือ.

ที่ ๑ บุตรชื่อเต็น ได้เปนที่พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า สำหรับตระกูลเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ แลเปนตำแหน่งปลัดมณฑลปัตตานี แต่ถึงอนิจกรรมเสียก่อนมารดาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑

ที่ ๒ ธิดาชื่อเลียบ

ที่ ๓ บุตรชื่อเตี้ยม ได้เปนที่พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ รับพระราชทานพานทอง เปนนายพลตรีทหารบก รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยสมุหราชองครักษ์อยู่บัดนี้

ที่ ๔ ธิดาชื่อเลียม ถวายตัวทำราชการฝ่ายในในรัชกาลที่ ๕ ได้เปนเจ้าจอมรับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน

ที่ ๕ บุตรชื่อเต็ม ได้เปนที่จ่ายง รับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็กบัดนี้.

อันเรื่องประวัติของสัตรีที่เปนแม่เจ้าเรือน คนภายนอกมักจะรู้แต่ส่วนข้างเสีย เช่นดุร้ายฤๅสุรุ่ยสุร่าย ฤๅเทลาะวิวาทกับสามี การจึงได้โด่งดังแพร่หลาย แต่ส่วนข้างดีนั้นมิใคร่จะปรากฎแก่คนภายนอก เพราะธรรมดาแม่เจ้าเรือนที่มีปรีชาฉลาดไม่หนักไปในอคติ ย่อมประพฤติ์รักษามารยาตสัมมาคารวะ อย่างโบราณเรียกว่าเปนช้างตีนหลัง ให้สามีนำหน้ารักษาเกียรติยศของสามี ถึงจะสามารถประกอบกิจเปนกำลังของสามีสักเพียงใด ก็มิใคร่จะให้ปรากฎแก่ผู้อื่น แม่เจ้าเรือนที่ดีมักเปนเช่นนั้น จึงยากที่คนภายนอกจะล่วงรู้เรื่องประวัติได้ ก็แต่หลักฐานอันเปนทางที่จะสังเกตมีอยู่ในประวัติของสกุล ดังเช่นที่เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์อยู่ด้วยกันมากับท่านผู้หญิงตลับตั้งแต่ยังมีถานันดรเปนผู้น้อย ค่อยเจริญรุ่งเรืองด้วยกันมาโดยลำดับ จนสามีได้เปนที่เจ้าพระยาภรรยาได้เปนท่านผู้หญิง เปนใหญ่ในสกุลวงศ์อันกอปด้วยเกียรติยศแลศฤงฆาร ข้อนี้ถ้าว่าโดยเฉภาะตัวก็ควรนับว่าท่านผู้หญิงตลับเปนภรรยาที่ดีประการ ๑ อิกประการ ๑ ท่านผู้หญิงตลับมีบุตรธิดาหลายคน ได้บำรุงเลี้ยงแลฝึกสอนมาจนเติบใหญ่ ที่ควรทำราชการก็ได้ทำราชการมีเกียรติยศตั้งตัวได้ทันตามารดาเห็นทุกคน ข้อนี้ก็ควรนับว่าท่านผู้หญิงตลับเปนมารดาที่ดีด้วยประการ ๑ อิกประการ ๑ ในเวลาเมื่อเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ยังมีชีวิตรอยู่ก็ดี ฤๅเมื่อถึงอสัญกรรมแล้วก็ดี ท่านผู้หญิงตลับอยู่ในสัตรีมีบันดาศักดิ์ผู้หนึ่ง ซึ่งมีผู้ชอบพอมากทั้งเจ้านายขุนนางแลบุคคลชั้นอื่น แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงคุ้นเคยชอบพระราชอัธยาศรัยมาทั้ง ๒ รัชกาล ได้พระราชทานเครื่องยศท่านผู้หญิง แลเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในชั้นที่ ๒ มาแต่รัชกาลก่อน ข้อนี้ควรนับว่าเพราะท่านผู้หญิงตลับเปนมิตรที่ดีด้วยอิกประการ ๑ ความ ๓ ข้อที่กล่าวมาว่าเปนเกียรติคุณของท่านผู้หญิงตลับ คือว่าเปนภรรยาที่ดี เปนมารดาที่ดี แลเปนมิตรที่ดีนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าบรรดาผู้ที่ได้รู้จักคุ้นเคยกับเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์แลท่านผู้หญิงตลับมาแต่ก่อน เห็นจะไม่มีผู้ใดคัดค้าน.

เรื่องประวัติของท่านผู้หญิงตลับในตอนเมื่อสามีถึงอสัญกรรมแล้ว คนภายนอกพอรู้ข้อความได้ถ้วนถี่ขึ้น ด้วยท่านผู้หญิงตลับต้องรับภาระปกครองครอบครัวแลบ้านเรือนของสามีต่อมา ได้รับความลำบากในชั้นแรกไม่น้อย เหตุด้วยเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ถึงอสัญกรรมโดยปัจจุบันมิได้ทันสั่งเสียเรื่องทรัพย์สมบัติ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงตั้งกรรมการจัดการแบ่งมรดก ข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้อยู่ในกรรมการด้วยผู้หนึ่ง จึงได้ทราบความครั้งนั้น ได้นึกชมท่านผู้หญิงตลับ ว่าสมควรเปนผู้ใหญ่ในสกุล ด้วยอดออมอารีต่อวงศ์วารของสามีไม่เอาเปรียบผู้น้อย เพราะฉนั้นจึงเปนที่เคารพนับถือของบรรดาบุตรธิดาภรรยาอื่น แลอนุภรรยาของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ต่อมาจนตลอดอายุของท่านผู้หญิงตลับ.

ตั้งแต่เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ถึงอสัญกรรมแล้ว ท่านผู้หญิงตลับนิยมแต่บำเพ็ญศีลทานการกุศล มิใคร่จะไปสู่ที่สมาคมดังแต่ก่อน แต่กิจธุระอันใดที่ได้รับภาระสืบมาจากสามี ดังเช่นการทนุบำรุงบุตรภรรยาของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์เปนต้น ท่านผู้หญิงตลับมิได้ทอดทิ้งจนตลอดอายุ อนึ่งเมื่อเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ยังมีชีวิตรอยู่ ได้รับเปนตำแหน่งมรรคนายกวัดประยุรวงศาวาศ อันเปนวัดสำหรับสกุล ครั้นเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ถึงอสัญกรรม พระสงฆ์วัดประยุรวงศ์ ฯ ขอให้ท่านผู้หญิงตลับเปนมรรคนายก ก็ยอมรับน่าที่นั้น ทำการบำรุงพระอารามแทนสามีต่อมา ได้ขวนขวายทำการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถแลพระมหาสถูปวัดประยุรวงศาวาศจนสำเร็จทั้ง ๒ อย่าง.

ท่านผู้หญิงตลับป่วยเรื้อรังมากว่า ๒ ปี ถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ คำณวนอายุได้ ๖๗ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระอนุสรคำนึงถึงความชอบความดีแลความสามิภักดิ์ของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์กับท่านผู้หญิงตลับที่ได้มีมาแต่หนหลัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโกษฐ์ให้ประดับศพเปนเกียรติยศ กำหนดจะได้ทำการปลงศพในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ นี้ มีพิธีทำบุญที่หน้าศพณบ้านเรือนในวันที่ ๒๕ ที่ ๒๖ ธันวาคม ครั้นวันที่ ๒๗ เวลา ๕ นาฬิกาหลังเที่ยง จะพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงตลับที่เมรุวัดประยุรวงศาวาศ สิ้นเนื้อความตามเรื่องประวัติท่านผู้หญิงตลับเพียงเท่านี้.

กรรมการหอพระสมุด ฯ ขออนุโมทนากุศลบุญราษีทักษิณานุปทานซึ่งบุตรธิดาได้พร้อมใจกันบำเพ็ญการกุศลปลงศพสนองคุณท่านผู้หญิงตลับสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ ผู้มารดา ด้วยความกตัญญูกตเวที แลได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้ได้อ่านกันแพร่หลาย เชื่อว่าท่านทั้งหลายผู้ที่ได้รับสมุดเล่มนี้ไป คงจะพอใจแลอนุโมทนาด้วยทั่วกัน.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพสภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๒๐ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ