จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน
ตั้งแต่วัน ๔ ๑๒ฯ ๘ ค่ำ ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๓๐
(พ.ศ. ๒๔๑๑ รัชกาลที่ ๔)
ถึงวัน ๔ ๑๒ฯ ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๓๐
(พ.ศ. ๒๔๑๑ รัชกาลที่ ๕)
----------------------------
ณ วันขึ้น ๑๒ ค่ำเดือน ๘ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์ ๑ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ ๑ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ๑ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค ๑ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ากนกวรรณ ๑ พระองค์เจ้า ๖ พระองค์นี้
ณ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ เวลา ๓ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาทรงประเคนที่พระที่นั่งอนันตสมาคม สมโภชเทียนพระวษา เลื่อนพระราชโมลี ขึ้นเป็นพระโพธิวงษ์
ณ วัน ๗ ๑๕ฯ ๘ ค่ำ เวลา ๓ โมงเช้าเสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงพระราชยานประทับเกย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงปรนนิบัติพระ จุดเทียนพระวษา ถวายพุ่มพระราชาคณะถานานุกรม แล้วเสด็จทรงพระราชยาน ออกทางประตูเทวาพิทักษ์ ประทับวัดพระเชตุพน ทรงจุดเทียนพระวษาทั้ง ๔ คด บนพระอุโบสถวิหารพระพุทธไสธาสน์ เสด็จขึ้นไปบนตำหนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ทรงจุดเทียนบูชา ถวายพุ่ม เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง
ณ วัน ๑ ๑ฯ ๘ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลา ๓ โมงเช้า เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงปรนนิบัติพระ สดับปกรณ์พระบรมอัฐิ พระอัฐิ เสด็จทรงพระราชยาน ออกทางประตู ๒ ชั้น ประทับเกยหน้าโรงลคร
ณ วัน ๒ ๒ฯ ๘ ค่ำ เวลา ๔ ทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงพระราชยาน เสด็จทางสถลมารค ประทับวัดบวรนิเวศน์ ทรงนมัสการถวายพุ่มพระชินศรี เสด็จทรงพระราชดำเนินขึ้นบนพระเจดีย์ ทรงถวายพุ่ม เสด็จขึ้นไปนมัสการพระศาสดา ถวายพุ่ม ทรงพระดำเนินขึ้นบนตำหนักกรมหมื่นบวรรังษี ทรงถวายพุ่ม ทรงพระราชดำเนินไปตำหนักพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๖ พระองค์ ถวายพุ่ม เวลา ๒ ยาม เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง เวลาตี ๓ ยามเสด็จออกทางพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงพระราชยานประทับท่าราชวรดิษฐ์ ทรงเรือพระที่นั่งกลไฟ ชื่ออรรคเรศรัตนาสน์ ล่องน้ำขึ้นไปประทับวังจันทรเกษม
ณ วันแรม ๓ ค่ำ ทรงถวายพุ่มพระราชาคณะ ถานานุกรม ประทับอยู่ ณ เวลาตี ๒ ยาม เวลาโมงเช้าวันแรมสี่ค่ำ ถึงพระบรมมหาราชวัง
ณ วัน ๕ ๕ฯ ๘ ค่ำ เวลา ๒ ทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงพระราชยาน ประทับวังพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์เจ้าสายสมร ทำแซยิดพระราชทาน พัดสดึงส์
ณ วัน ๖ ๖ฯ ๘ ค่ำ เวลาทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางประตูสนามราชกิจ ทรงพระราชยาน ประทับท่าราชวรดิษฐ์ ทรงเรือพระที่นั่งกราบ เสด็จทางชลมารค ล่องน้ำไปประทับวังกรมหลวงวงษา เสด็จขึ้นบนพระราชวังเดิม พระราชทานเลตแซดนพเก้าวง ๑ ทองเท่าปี เงินเหรียญเท่าเดือน อัฐเท่าวัน ประทับอยู่จนเสวยแล้ว เวลา ๔ ทุ่มเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง
ณ วัน ๔ ๑๑ฯ ๘ ค่ำ เวลา ๓ โมงเข้า ทรงปรนนิบัติพระ สดับปกรณ์ที่พุทธมณเฑียร วันสวรรคต ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานเงิน พระเจ้าราชวงษ์เธอ กรมขุนราชสีห์ ๑๒ ชั่ง กรมหมื่นอดุลย์ ๑๐ ชั่ง กรมหมื่นภูวนัย ๕ ชั่ง กรมหมื่นเจริญผล ๓ ชั่ง รวม ๓๐ ชั่ง พระราชทานให้เป็นรางวัลทำการต่าง ๆ มีพระบรมราชโองการว่า ในพุทธมณเฑียรนี้ ทำบุญให้ทานเมื่อใด เป็นข้างหน้า ไม่ใช่เป็นข้างใน เจ้าจอมไม่ได้ไปมาได้ มีกำแพงขวางกั้นบังตาไว้ ถึงจะเดินไปเดินมาก็ไม่แลเห็นดอก อย่าให้พระบรมวงษานุวงษ์ ข้าทูลลอองธุลีพระบาทกลัวเกรงอะไรเลย ถึงหน้าเทศกาลเวลาทรงทำบุญให้ทานสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้พระบรมวงษานุวงษ์ ข้าทูลลอองธุลีพระบาทเข้ามาเถิด
ณ วัน ๖ ๑๓ฯ ๘ ค่ำ เวลา ๘ ทุ่มเศษ เพลิงไหม้ฝั่งฝากข้างโน้นในคลองบางหลวง หลังวัดสังขจาย ที่โรงกระจกเก่า ไหม้เรือนโรง ๓๐ หลังเศษ
ณ วัน ๒ ๑ฯ ๙ ค่ำ เวลา ๓ โมงเข้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงพระราชยานประทับในพระบวรราชวัง เสด็จขึ้นทางพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ทรงบาตร พระราชาคณะ พระองค์เจ้าในพระบวรราชวัง พระเจ้าลูกเธอทรงผนวชเณร หม่อมเจ้าพระหม่อมเจ้าเณร ทรงพระราชอุทิศกุศลถวายพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาบ่ายโมงเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง
ณ วัน ๔ ๓ฯ ๙ ค่ำ เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงปรนนิบัติพระ กรมหมื่นบวรรังษี เจ้าพระเจ้าเณร แล้วอาลักษณ์อ่านคำประกาศเหมือนอย่างทุกปี ทรงถวายตั๋วปิยวัต (กัปปิยวัตร) กรมหมื่นบวรรังษี เจ้าพระเจ้าเณร แล้วแจกชีพ่อพราหมณ์ เวลาบ่าย ๓ โมงเสด็จขึ้น
ณ วัน ๖ ๕ฯ ๙ ค่ำ เวลาบ่าย ๔ โมง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงพระราชยาน เสด็จทางถนนบำรุงเมือง เสด็จทางสถลมารค ประทับพลับพลาเมรุวัดสระเกศ พระราชทานฝักแคศพหม่อมเจ้าศีลวราลังการ ศพนายเอกบุตรพระยาเพ็ชร์พิไชย ขุนทอง ศพพระนมในพระบวรราชวัง โปรดให้มีโขน หุ่น หนัง ต้นกัลปพฤกษ์สองต้นๆ ละ ๕ ตำลึง เวลา ๕ โมงเย็น เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง
ณ วัน ๒ ๘ฯ ๙ ค่ำ หลวงสรสำแดงฤทธิ์ ชื่อรอด ผูกคอตาย
ณ วัน ๖ ๑๒ฯ ๙ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส อำเปรอ ให้มองซิเออร์ ครอศ กงซุนฝรั่งเศสกับออฟิซเซอร์ เชิญพระราชสาส์น คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ เข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย โปรดให้จัดเรือเอกชัย พานทองสองชั้นใส่พระราชสาส์นตั้งบนบุษบก เรือศรีสองลำกงซุนขี่ กับออฟิซเซอร์บาดหลวงฝรั่งเศส มีเรือศรีแห่พระราชสาส์นสิบคู่ กลองชนะประโคมมโหระทึกปี่พาทย์ แห่มาจอดที่ศาลต่างประเทศ
ณ วัน ๕ ๓ฯ ๙ ค่ำ เวลา ๓ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชยานออกทางประตูสนามราชกิจ ประทับท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จลงไปในเรือกำปั่นไฟ ชื่ออรรคเรศรัตนาสน์ ทรงปรนนิบัติพระราชาคณะ พระสงฆ์ประน้ำมนต์รอบเรือพระที่นั่ง เสด็จประทับอยู่จนเวลาย่ำเที่ยง เสด็จขึ้นพระบรมมหาราชวัง ครั้นถึงเวลา ๕ ทุ่ม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เสด็จออกทางพระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จทรงพระที่นั่งรถฝรั่ง เสด็จทางสถลมารค เสด็จทางถนนบำรุงเมือง แล้วเสด็จทางถนนเฟื่องนคร แล้วประทับในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศน์ ทรงนมัสการพระชินศรี ทูลลาจะเสด็จไปทะเล เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง ประทับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จขึ้นบนพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนนมัสการทูลลาพระแก้วมรกต แล้วเสด็จขึ้น
ณ วัน ๖ ๔ฯ ๙ ค่ำ เวลา ๓ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทางพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เสด็จทรงพระราชยาน พระสงฆ์มหานิกาย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ณ วัน ๘ฯ ๙ ค่ำ เสด็จถอยเรือพระที่นั่งประทับหาดหน้าเกาะจาน เสด็จประทับแรมบนพลับพลา
ณ วัน ๑๓ฯ ๙ ค่ำ ทรงปรนนิบัติพระสงฆ์สมภารวัดคลองวาน ฉันแล้วถวายไตรไทยทานของต่าง ๆ
ณ วัน ๑๔ฯ ๙ ค่ำ ทรงปรนนิบัติพระกรมหมื่นบวรรังษี พระราชาคณะถานาฯ คอเวอร์แมนต์ฝรั่งเศส มาเรือรบ ยิงสลุต ๒๑ นัด ฝ่ายสยามยิงรับ ๒๑ นัด ทหารแม่นปืนใหญ่ยัดปืน สากอยู่ในลำปืนไม่ได้ชักออกก่อน ยิงออกไปแขนขาดทั้ง ๒ ข้าง ตายคน ๑ เจ้าเมืองสิงคโปร์อังกฤษ ยิงสลุตคำนับ ๒๑ นัด ทหารผู้ยิงตกน้ำตายคน ๑ ฝ่ายสยามยิงสลุตรับ ๒๑ นัด
ณ วัน ๓ ๑ฯ ๑๐ ค่ำ ๔ โมงเช้า กับ ๕ มินิต สุริยอุปราคาจับทิศพายัพค่อนอุดร จับจนหมดดวงมืดอยู่บาทนาฬิกา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สรงน้ำมุรธาภิเสก แจกเงินเจ้าต่างกรม ข้าราชการที่ตามเสด็จคนละ ๘ ตำลึงอย่างมาก อย่างน้อยคนละ ๑ สลึง แต่บรรดาตามเสด็จไปครั้งนี้ ในกรุงเทพพระมหานคร สุริยอุปราคา ๔ โมง กับ ๓ บาท จับทิศพายัพค่อนข้างอุดร จับ ๔ ส่วนเหลืออยู่ส่วน ๑ บ่ายโมง ๑ โมกขบริสุทธิ์ที่กรุงเทพ เกาะจานพร้อมกัน แต่ในกรุงเทพเห็นดาวพระศุกร์ แต่ที่เกาะจานเห็นดาวพระศุกร์ ดาวพระพฤหัส และดาวพระเสาร์ พระอาทิตย์เมื่อยังไม่ได้จับ ทรงกลดที่กรุงเทพก็เห็น ที่เกาะจานก็เห็นเหมือนกับในกรุงเทพมหานคร พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์ และกรมหลวงวงษา ๒ พระองค์ แจกเงินทั้งข้างหน้าข้างใน อย่างมากองค์ละกึ่งตำลึง อย่างน้อยเฟื้อง ๑ ที่พลับพลาเกาะจาน เวลากลางคืน โปรดให้มีลครผู้หญิงข้างในให้แขกเมืองดู
ณ วัน ๔ ๒ฯ ๑๐ ค่ำ เวลา ๕ โมงเช้า เสด็จลงเรือพระที่นั่ง ทอดพระเนตรเห็นหลวงนายเดช นายชิต นายขัน และนายพินัย ๔ คน เล่นไพ่ตองบนเรือพระที่นั่ง ไม้ธารพระกรตี หลวงนายเดช มีพระบรมราชโองการ สั่งพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ให้เอาตัวหลวงนายเดช นายชิด นายขัน และนายพินัย ใส่เรือหลวงไปปล่อยเสียที่ท่ามะนาว โปรดให้พระยาบำเรอภักดิ์
ณ วัน ๖ ๔ฯ ๑๐ ค่ำ เรือพระที่นั่งทอดท่าหน้าราชวรดิษฐ์ เวลาบ่ายโมง ๑ เสด็จขึ้นประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย มีพระบรมราชโองการกับพระยาภัยรณฤทธิ์
ณ วัน ๗ ๕ฯ ๑๐ ค่ำ โปรดให้เอาท้าวสมศักดิ์ ท้าวทรงกันดาน ท้าวโสภา
ณ วัน ๑ ๖ฯ ๑๐ ค่ำ เวลา ๓ โมงเข้า ทรงขึ้นที่พุทธมณเฑียร มีลครบวงสรวงสมโภชพระที่นั่ง เวลา ๒ ทุ่มเศษ เณรลูกศิษย์พระครูวัดอรุณราชวราราม ลงมาซื้อของที่ตลาดวัดอรุณ นายเจิมและนายจันทร์ ๒ คน เข้าแทงด้วยมีดกะลาป๋า ใต้ซี่โครงตลอดขึ้นมาถึงไหปลาร้า พระมายกเยาลูกศิษย์ขึ้นไปบนกุฏิ พูดอยู่ได้ประมาณครู่หนึ่งสิ้นใจตาย
ณ วัน ๓ ๘ฯ ๑๐ ค่ำ เวลา ๓ ยามเศษ เกิดเพลิงไหม้ที่เชิงสพานช้าง หน้าบ้านพระยาเพ็ชร์พิไชยศรี ตรงถนนข้าม เรือนฝาจาก ๒ ห้องหลัง ๑
ณ วัน ๔ ๙ฯ ๑๐ ค่ำ เวลา ๒ ทุ่มเศษ เจ้าจอมอินทร์ประสูติ เป็นอยู่ประมาณครู่สิ้นพระชนม์
ณ วัน ๕ ๑๐ฯ ๑๐ ค่ำ เวลา ๓ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงพระราชยาน เสด็จประทับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จขึ้นบนพระอุโบสถ ทรงปรนนิบัติพระสงฆ์ ๑๐ รูป มีโขนที่หน้าพระที่นั่งไชยชุมพล เวลา ๕ โมงเสด็จขึ้น
ณ วัน ๓ ๑๕ฯ ๑๐ ค่ำ พระบริบูรณ์ใช้ให้พวกจีนกับพวกหมาต๋ามาจับฝิ่นที่โรงก๊วนหน้าวัดสัมพันธวงศ์ พวกหมาต๋าเอาปืนยิงจีนตาย ๓ คน จีนที่รักษาโรงก๊วนจุดไฟเผาโรงก๊วน ไหม้ตั้งแต่ริมน้ำฟากข้างเหนือตึกหลวง มาจนถึงตึกแถวหลวงหน้าวัดสัมพันธวงศ์ ผู้หญิงอยู่ไฟ ๆ เผาตายอีกคน ๑ เกิดเพลิงไหม้เวลา ๒ โมงเช้า
ณ วัน ๑๐ฯ ๙ ค่ำ น้ำหลากมาแต่เหนือสีแดงเหมือนสีดินแดงจาง ๆ จนขึ้น ๘ฯ ๙ฯ ๑๐ ค่ำ
ณ วัน ๗ ๑๐ฯ ๑๐ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระประชวร ปวดพระเจ้า เมื่อยพระองค์ ทรงพระกันสะ ทรงจับเป็นคราว ๆ ทรงจับเชื่อมมัวประมาณ ๕-๖ วัน
ณ วัน ๔ ๑ฯ ๑๐ ค่ำ ปวดมวนพระนาภี จับสั่น พระบังคนเบาจืดบ้าง กร่อยบ้าง วันละ ๙-๑๐ ครั้ง พระบังคนหนักเป็นมันมอกมัว ลางครั้งเป็นพระเสมหะ เป็นพระโลหิต เป็นสายๆครั้งละ ๑-๒-๓ ครั้งบ้าง เสวยพระโอสถสรรพคุณไม่ให้เจือซึ่งของร้อน เชื่อมมัวปวดพระนาภีเป็นกำลัง พระกระยาเสวยได้เวลาละ ๑๐ – ๑๕ ฉลองพระหัตถ์บ้าง เป็นพระโรคใหญ่ เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์สั่งให้รักษาพระบรมมหาราชวัง ประจำซองมากเข้ากว่าตามธรรมเนียมถึง ๒ เท่า
ณ วัน ๒ ๑๓ฯ ๑๐ ค่ำ เวลา ๓ โมงเช้า เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์
ณ วัน ๖ ๒ฯ ๑๑ ค่ำ พระอาการพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบังคนหนักสีเหลืองอ่อน พระกระยาเสวยได้ถ้วยฝาขนาดน้อยบ้าง พระอาการค่อยคลายขึ้น
ณ วัน ๑ ๔ฯ ๑๑ ค่ำ เวลายามเศษ ฝนตกห่าใหญ่ สายอสุนีบาตลงเสาข้างป้อมอินทรังสรรแห่งหนึ่ง ลงที่ในพระบรมมหาราชวัง ตำหนักเจ้าจอมมารดาพิมแห่งหนึ่ง ตำหนัก ๙ ห้องริมพระมหา...........ด้านตะวันตกแห่งหนึ่ง ลงที่บ้านพระยาราชมนตรีแห่งหนึ่ง ลงที่หอนั่งบ้านพระวิสูตรโยธามาตย์
ณ วัน ๘ฯ ๑๑ ค่ำ พระราชวรวงษ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม ประชวรพระโรคไข้ป่า ได้ ๒๕ วัน เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ สิ้นพระชนม์ พระชันษาได้ ๕๓ ปี โปรดให้ใส่โกศลังกา พระศพอยูที่บ้านพระยาราชมนตรี
ณ วัน ๖ ๙ฯ ๑๑ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ทรงพระอาเจียนเป็นพระโลหิตครั้งหนึ่ง เวลา ๓ ยาม ทรงพระบังคนหนักเป็นพระโลหิตสดบ้าง เหมือนศรีษะกุ้งเน่าบ้าง ประมาณ ๒-๓ ขัน พระวาโยกำเริบให้ระทวยพระทัย มีพระบรมราชโองการกับพระเจ้าลูกเธอองค์โสมาวดี ให้จัดธูปเทียนเครื่องนมัสการไปทูลลาพระแก้วมรกต กับพระบรมอัฐิ หีบพระธำมรงค์หีบหนึ่ง พระมหาสังวาลย์องค์หนึ่ง ให้ถวายพระพุทธรัตน์จักรพรรดิวิมลมณีมัย (พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย) กับเงินพระเจ้าลูกยาเธอที่ยังไม่ได้เงินแจก มีพระบรมราชโองการสั่งกับพระเจ้าลูกเธอ พระองค์ยิ่งเยาวลักษณ์ ให้แจกองค์ละ ๒๐๐ ชั่ง กับทององค์ละ ๕ ชั่ง พระเจ้าลูกเธอแต่บรรดาที่ยังไม่ได้วังนั้น โปรดให้แจกเงินองค์ละ ๓๐ ชั่ง เสวยพระกระยาเสวยได้ ๔ ฉลองพระหัตถ์ กุ้งสงขลาตัวหนึ่ง ส้มกระรังกานูกลีบหนึ่ง พระอาการทรุด
ณ วัน ๒ ๑๑ฯ ๑๑ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดของไปพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนพินิตประชานารถ ได้พระประคำสายหนึ่ง พระธำมรงค์สี่องค์ กรมหลวงเทเวศร์ ได้พระธำมรงค์สององค์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษา ได้พระกล่องประดับเพ็ชรองค์หนึ่ง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรานุภาพ ได้พระแสงประดับเพ็ชรองค์หนึ่ง ตลับประดับเพ็ชรองค์หนึ่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ได้กล่องนากมีเครื่องตะบันในนั้นพร้อม ท่านเจ้าพระยาศรีสุรวงศ์ ได้หีบเขียนหนังสือกาหลั่ยเงินราคา ๑๐๐ ชั่ง พระราชทานให้เป็นมรดก หลวงทิพจักษุ ได้พระราชทานเงิน ๒ ชั่ง พระประเสริฐจางวางหมอในพระบวรราชวัง ได้พระราชทานเงิน ๒ ชั่ง ขุนราชวโรสถ ได้พระราชทานเงิน ๑๕ ตำลึง พระองค์รักษาจางวางหมอนวดในพระบวรราชวัง ได้พระราชทานทองคำแห่ง ๑ หลวงราโช
ณ วัน ๓ ๑๓ฯ ๑๑ ค่ำ พระราไชยได้ถวายพระโอสถไพรเสกกับเกลือแต่เวลาตี ๑๑ มาจนเวลา ๓-๔ โมงเช้า แน่นที่พระอุระค่อยถอยลงไปบ้าง เสวยกระยาต้มได้ ๔ ฉลองพระหัตถ์ ซุบได้ถ้วยฝาขนาดน้อย แป้งจี่ได้ ๗ วง พระบังคนเบาครั้งหนึ่ง พระอาการค่อยประทังขึ้น
ณ วัน ๔ ๑๔ฯ ๑๑ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระโรคแน่นเฟ้อลงพระบังคนถึงอติสาร เวลาพลบทรงแต่งเป็นบาลี ส่งให้พระอาลักษณ์ไปถวายพระราชาคณะราชบัณฑิตย์ พระอาการทวีมากขึ้น
ครั้นถึง ณ วัน ๕ ๑๕ฯ ๑๑ ค่ำ เวลายามหนึ่ง กับ ๖ บาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต มีอัศจรรย์อยู่หลายอย่าง เป็นสายลงมาแต่อากาศ สีเหมือนสีเมฆ ลงมาจับแต่ที่พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ ฝนตกมืดอยู่ถึง ๗-๘ วัน เมื่อเวลาจะสวรรคตหมอกมากมืดอยู่ถึง ๕ ทุ่มเศษ ทรงพระประชวรเดือน ๑ กับ ๖ วัน อยู่ในราชสมบัติ ๑๗ ปี กับ ๖ เดือน ๑๕ วัน ถ้าจะคิดเป็นปี ๑๘ ปี
ท่านเจ้าพระยาศรีสุริวงษ์ปรึกษา กรมหลวงเทเวศร์ กรมหลวงวงษา กรมขุนวรจักร์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนบำราบปรปักษ์ กรมหมื่นบวรรังษี พระราชาคณะ กรมหมื่นพร้อมกันหลายพระองค์ ท่านเจ้าพระยาภูธราภัย เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยามุขมนตรี
ณ วัน ๖ ๑ฯ ๑๑ ค่ำ เวลา ๔ โมงเช้า พระบวรวงษ์เธอ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ตำรวจในกรมถือหวายมัดนำเสด็จ ๑๐ คู่ เสด็จลงมาจากพระราชวังเดิม ทางสถลมารค ประทั่บบนพระที่นั่งอนันตสมาคม ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ไปเชิญเสด็จ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ เสด็จประทับอยู่ตำหนักสวนกุหลาบ เชิญเสด็จให้ขึ้นมาสรงน้ำพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ ประชวรพระโรคไข้จับค่อยคลายขึ้นแล้ว แต่ยังทรงดำเนินไม่ถนัด ทรงพระราชยาน เจ้ากรมปลัดกรม พระตำรวจ ขัดดาบสพายแล่ง แห่เสด็จมาประทับถึงบันไดพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงพระเก้าอี้เชิญขึ้นมาประทับในพระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้าต่างกรมยังไม่ได้ตั้งกรม หม่อมเจ้า ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน กราบถวายบังคม แล้วทรงพระเก้าอี้เชิญขึ้นไปบนพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ ทรงสรงน้ำพระบรมศพ แล้วทรงมอบการที่จะทรงเครื่องพระบรมศพให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ เจ้าต่างกรมยังไม่ได้ตั้งกรม หม่อมเจ้า พากันขึ้นไปสรงน้ำพระบรมศพ เจ้าพนักงานภูษามาลา ทรงเครื่องพระบรมศพอย่างแต่ก่อนมา เชิญพระบรมศพขึ้นใส่ในพระลองเงิน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ถวายพระมหากฐินใหญ่ ทรงพระบรมศพ เสด็จลงจากพระที่นั่ง เสด็จไปประทับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เชิญพระบรมศพออกจากประตูสนามราชกิจ ตั้งบนพระยานุมาศสามคาน พระเจ้าลูกเธอพระองค์คัคณางคยุคล พระองค์ทวีถวัลยลาภ ทรงผ้าลายเขียนทอง พื้นขาว ทรงฉลองพระองค์ครุย ขึ้นประคองพระโกศพระบรมศพ
สิ้นพระบรมศพแต่เท่านี้
เวลายามเศษ กรมหลวงเทเวศร์ เจ้าต่างกรม พระองค์เจ้าพร้อมกัน ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ท่านเจ้าพระยาภูธราภัย ขุนนางฝ่ายทหารพลเรือนพร้อมกันเข้าไปที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายสัตยานุสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ ต่อสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ทั้งสองพระองค์
ณ วัน ๗ ๒ฯ ๑๑ ค่ำ เวลา ๔ โมงเช้า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เจ้ากรม ปลัดกรม พระตำรวจ ในพระบวรราชวังแห่เสด็จลงมาทางสถลมารค ประทับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เจ้าต่างกรมยังไม่ได้ตั้งกรม หม่อมเจ้า หม่อมหลวง ถือน้ำที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จนเวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ถือน้ำในโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เสด็จกลับไปพระราชวังเดิม
ณ วัน ๖ ๘ฯ ๑๑ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ มีรับสั่งกับท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ทรงพระประชวรยังเสด็จออกพระกฐินไม่ได้ โปรดพระราชทานขึ้นไปกับสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ๒๐ พระอาราม โปรดพระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระพี่นางเธอ พระน้องนางเธอ พระเจ้าน้องยาเธอทุกๆ พระองค์ แต่ราชาคณะและถานาฯ ซึ่งเคยรับพระราชทานไตร ในเวลาทอดพระกฐินให้งดไว้ก่อน ราษฎรอาณาประชาราษฏร์ที่ซื้อขายกัน ในพระนครนอกพระนคร ทุ่มเถียงกันด้วยอัฐปลอมเอิกเกริกเป็นโกลาหล มีหมายประกาศท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ให้เลือกอัฐปลอมออกเสีย ราษฎรจึงตื่นกันเป็นอันมาก
ณ วัน ๑ ๑๐ฯ ๑๒ ค่ำ เวลาย่ำเที่ยงฝนตกสีเหมือนรุ้งเกิดขึ้นด้านตะวันตกข้างทิศใต้ ยาวประมาณ ๙ - ๑๐ วา อยู่ประมาณสักครึ่งชั่วโมง หายไปข้างทิศตะวันตก
ณ วัน ๒ ๑๑ฯ ๑๒ ค่ำ เวลา ๓ โมงเช้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ ผู้สำเร็จราชการกรุงสยาม เสด็จทรงพระราชยานถมตะทอง เสด็จออกทางประตู ๒ ชั้น ประตูวิเศษไชยศรี เสด็จทางสถลมารค ประทับวัดราชประดิษฐ์ ทรงพระราชทานพระกฐิน แล้วทรงประเคน เสด็จประทับจนตี ๕ โมงเศษ เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง
ณ วัน ๔ ๑๓ฯ ๑๒ ค่ำ พระสงฆ์ ๕ รูปสวดชยันโต นายเทียน นายเวร อาลักษณ์ นุ่งผ้าขาว แผ่นพระสุพรรณบัฏตั้งบนราชอาสน์ แผ่นพระสุพรรณบัฏ ยาว ๑๒ นิ้ว กว้าง ๗ นิ้ว ได้พระฤกษ์ ๔ โมง กับ ๕ นาฬิกา นายเทียนจารึกพระนามในแผ่นพระสุพรรณบัฏ พระสงฆ์ถวายชยันโต จารึกแล้วม้วนแผ่นพระสุพรรณบัฏ ใส่ในกล่องลงยาราชาวดีถุงตาด ตุ่มทองลงยาราชาวดี ใส่ในพระหีบทองจำหลักลายกุดั่น ใส่ถุงเข้มขาบประทับตราอุณาโลม เชิญขึ้นตั้งไว้บนพานทองสองชั้น ประดิษฐานไว้บนเตียงทอง บายศรี เงิน ทอง แก้ว ชีพ่อพราหมณ์สมโภชรดน้ำสังข์น้ำกลศ เวียนพระเทียนสมโภช ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันที่หอพระมณเฑียรธรรม ในแผ่นพระสุพรรณบัฏนั้นจารึกพระนามว่าดังนี้
(ตรงนี้ต้นฉบับเว้นหน้าไว้ ยังมิได้นำพระนามที่จารึกมาเขียน)
ณ วัน ๗ ๑ฯ ๑๒ ค่ำ กงซุนฝรั่งเศสมีหนังสือขึ้นมาถึงท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ กล่าวโทษพระองค์เจ้าเบญจางค์ ข่มเหงจีนเจ้ามือโป อยู่ในร่มธงฝรั่งเศส ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ สั่งให้พระยาอัพภันตริกามาตย์ไปเกาะพระองค์เจ้าเบญจางค์มาคุมไว้บนโรงสดึงส์
ณ วัน ๔ ๕ฯ ๑๒ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เสด็จลงมาในพระบรมมหาราชวัง ถวายดอกไม้ธูปเทียน เจ้าต่างกรมยังไม่ได้ตั้งกรม หม่อมเจ้า ถวายดอกไม้ธูปเทียนพร้อมกันที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ เสด็จออกประทับหน้าพระแท่นถม ประทับอยู่ครู่หนึ่งเสด็จขึ้น
ณ วัน ๑ ๙ฯ ๑๒ ค่ำ มีตำรวจถือหวายนำ ๕๐ คู่ เทวดาคู่แห่ เครื่องสูงสำรับหนึ่ง กลองชนะแตรสังข์ ตั้งกระบวนโรงลครหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เชิญพระสุพรรณบัฏมีคลุมครอบ ภูษามาลาเชิญขึ้นตั้งบนพระยานุมาศ แห่มาเข้าในพระบรมมหาราชวัง ขึ้นตั้งบนพระแท่นมณฑล พระเจดีย์ถมตะทองบรรจุพระบรมธาตุ พระพุทธรัตน์จักร์พัตร์วิมลมณีมัย (พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย) องค์หนึ่ง พระแสงอัษฎาวุธ ๑๖ องค์ พระไตรปิฎกสามคัมภีร์ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระมาลาเส้าสะเทิ้น หีบพระเครื่องต้น พระแส้หางพระยาช้างเผือก ธารพระกรองค์หนึ่ง ฉลองพระบาท มหาสังวาลย์สร้อยอ่อน พระประทุมนิมิตห้าองค์ หม้อน้ำปัญจมหานที ๕ หม้อ พระเต้าเบญจคัพย์องค์หนึ่ง พระเสมาธิปัตย์ฉัตรไชย พระเกาวพ่าย พระแสงง้าว ๔ องค์ พระแสงขอองค์หนึ่ง ธงชัยกระบี่ครุฑสององค์ พระแสงหอก ๔ องค์ พระแสงทวน ๔ องค์ เสโล ๔ ขัดพระแสงดาบ ๔ พระแสงเหล่านี้ผูกที่พระแท่นมณฑล พัดวาลวิชนีตั้งในพระแท่นมณฑล พระแท่นลาตั้งบัตร ๙ บัตร มีเทียนนพเคราะห์ทั้ง ๙ บัตร พระแท่นมณฑลตั้งหน้าหอพระสุลาลัยวิมาน มีพระแท่นอัฐทิศ กลางปักเศวตฉัตร ๗ ชั้น มีตั่งทำด้วยไม้ไผ่ลำมะลอก ทาฝุ่นตั้งพระมหาสังข์กลศ ทั้งแปดทิศ ข้างหอบรมอัฐิ ตั้งภัทรบิฐ ปักเศวตฉัตร ๙ ชั้น บนพระแท่นภัทรบิฐนั้นมีแผ่นทองจำหลักลายราชสีห์ลงยาราชาวดี พระมณฑปที่สรงทำด้วยไม้มะเดื่อทั้งองค์ ตั้งที่ชะลาข้างหอพระสุลาลัยวิมาน บนเพดานในพระแท่นที่สรงมีตั่งพระสุหร่าย พระแท่นสรงตั้งขันถมตะทอง เจือน้ำปัญจมหานที มีพระแท่นราชอาสน์ตั้ง ใบละมุดสีดาทอดไว้สำหรับทรงเหยียบ เรียกว่าเหยียบนามข่มนาม มีฉัตรเครื่องสูง ๔ องค์ ราชวัติทรงเครื่องล้อมพระบุษบก จั่นหมาก จั่นมะพร้าว ผูกที่ราชวัติทรงเครื่อง ที่หน้าแท่นมณฑลนั้น ตั้งเครื่องนมัสการพระแท่นอัฐทิศ มีเครื่องนมัสการทั้งแปดทิศ บนพระมหามณเฑียรในพระแท่นบรรทมตั้งพระพุทธรูป พระราชาคณะรามัญ ๕ รูปตั้งเครื่องนมัสการเครื่อง ๕ ถาดสรงพระพักตร์พระมหามงคลใส่ในพระครอบ ของตั้งในพระที่นั่งไพศาลทักษิณบนพระมหามณเฑียรมีแต่เท่านี้
ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย บนพระที่นั่งบุษบก ตั้งพระกาไหล่ทอง ข้าหลวงเดิมในพระบรมโกศ หน้าพระที่นั่งบุษบก เครื่องนมัสการเครื่อง ๕ ที่ข้างพระที่นั่งเศวตฉัตร ตั้งเครื่องนมัสการตามธรรมเนียม เศวตฉัตรลดไว้คอยพระฤกษ์ มีเทียนไชยที่พระแท่นพระสวดท้องภาณ พระสงฆ์สวด ๓๐ รูป รอบพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ราชวัติฉัตรเบญจรงค์สังการศาลา ชีพ่อพราหมณ์ทำพิธีไสยศาสตร์ มีรูปเทวดานพเคราะห์ อิศวรนารายณ์ พิธีพรตกุม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ ทรงพระภูษาเขียนทองพื้นขาว ทรงฉลองพระองค์ตาดขาวอย่างน้อย ทรงรัตพระองค์ประดับเพชร ทรงฉลองพระองค์ครุยขาว เจ้ากรมพระตำรวจ ๘ คนนำเสด็จ ขึ้นทางพระทวารเทวราช เสด็จขึ้นประทับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ถวายไตรจีวรแพรตัวหนึ่ง ย่ามแพรฝรั่งปักทอง พัดวาลวิชนีแพรฝรั่งลายทอง ทรงจุดเทียนนมัสการพระสงฆ์ ๘๕ รูป ขึ้นไปบนพระมหามณเฑียร ๕ รูป อยู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ๕๐ รูป ออกมาจุดเทียนที่อมรินทรวินิจฉัย ๓๐ รูป ทรงจุดเทียนนมัสการ ถวายเทียนชนวนกรมหมื่นบวรรังษี ๆ เสด็จออกมาจุดเทียนไชย พระอะโนมุณี
ครั้นถึง ณ วัน ๔ ๑๒ฯ ๑๒ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานารถ ทรงพระภูษาขาวเขียนทอง ฉลองพระองค์ครุยขาว เสด็จขึ้นไปประทับบนพระมหามณเฑียร ทรงจุดเทียนนมัสการ พระสงฆ์ ๓๕ รูป ครั้นได้พระฤกษ์ย่ำรุ่งแล้วกับเก้านาฬิกา ทรงพระภูษาขาว ทรงฉลองพระองค์ทอดขลิบทอง ราชบัณฑิตย์นำพระไชย พระห้ามสมุทร พราหมณ์นำพระอิศวรนารายณ์ ไม้บัณเฑาะว์ นำเสด็จ ๒ คู่ สังข์อุตราวัฏคู่หนึ่ง ทักษิณาวัฏคู่หนึ่ง เป่านำเสด็จเข้าที่พระกระยาสนาน ขึ้นประทับบนพระแท่นราชอาสน์ ทรงเหยียบไม้ใบ พระโหราถวายทรงทัด ทรงถือ บ่ายพระพักตร์สู่ทิศอิสาณ พระราชโกษา
(หมดฉบับเพียงนี้)
-
๑. เรื่องพระเจ้าลูกยาเธอทรงผนวรเป็นสามเณรนี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๒ จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต หน้า ๒๐ ว่ามี ๗ พระองค์ คือ ๑. พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร ๒. พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ๓. พระองค็เจ้าสุขสวัสดิ์ ๔. พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ ๕. พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ๖. พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ (มิใช่เกษมศรีศุภโยค) ๗. พระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์ ส่วนในหนังสือนี้ว่ามีเพียง ๖ พระองค์ ซ้ำยังระบุพระนามองค์สุดท้ายผิด คือพระองค์เจ้ากนกวรรณ (กนกวรรณเลขา) ซึ่งความจริงเป็นพระองค์เจ้าหญิง ↩
-
๒. เมื่อรัชกาลที่ ๔ โปรดให้ใช้คำนำพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พึ่งมาเปลี่ยนเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๓ และใช้คำนำพระนามเจ้านายวังหน้าว่าราชวรวงศ์ เมื่อรัชกาลที่ ๖ ↩
-
๓. พระโพธิวงษ์ (เกิด) ↩
-
๔. โรงละครนี้สร้างในรัชกาลที่ ๑ แต่มิใช่สำหรับเล่นละครอย่างเดียว เป็นโรงใหญ่สำหรับใช้ราชการอื่น ๆ ในพระบรมมหาราชวังด้วย พึ่งรื้อปราบเป็นสนามหญ้าในรัชกาลที่ ๕ ตรงหน้าศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้ ↩
-
๕. พัดดึงส์ เป็นเหรียญทอง ขนาดเล็ก ราคาอันละ ๑๐ สลึง ↩
-
๖. พระราชสาส์นเดิมเชิญขึ้นท่าพระ ถึงรัชกาลที่ ๔ ย้ายไปขึ้นที่ท่าเตียน ด้วยจะใช้ตึกศาลต่างประเทศซึ่งสร้างขึ้นใหม่ (ตรงคลังราชการ สำนักพระราชวังบัดนี้) เป็นที่พักทูตานุทูตเมื่อก่อนแห่ ↩
-
๗. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) วัดประยุรวงศาวาส ↩
-
๘. นามบรรดาศักดิ์ พระยาเทพวรชุนนี้ รัชกาลที่ ๔ ทรงแปลงเป็นพระยาเทพประชุน และโดยเฉพาะท่านที่กล่าวถึงในที่นี้ คือ พระยาเทพประชุน (ท้วม บุนนาค) ภายหลังเป็นเจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดี ↩
-
๙. พระยาบำเรอภักดิ์ (ดิศ โรจนดิศ) ↩
-
๑๐. พระยาภัยรณฤทธ (เฉย ยมาภัย) ภายหลังเป็นเจ้าพระยายมราช ↩
-
๑๑. ท้าวสมศักดิ์ (เนย) ท้าวทรงกันดาน (ศรี) ท้าวโสภานิเวศ (ลิ้ม) ↩
-
๑๒. พระโหราธิบดี (ชุ่ม) ↩
-
๑๓. พระพรหมมุนี (พุทธสิริ ทับ) วัดโสมนัสวิหาร ภายหลังเป็นสมเด็จพระวันรัตน์ ↩
-
๑๔. พระอมรานุริกขิต น่าจะเป็นอมราภิรักขิต เพราะสมณศักดิ์นามนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นใหม่) และโดยเฉพาะองค์นี้ เข้าใจว่าเป็นพระอมราภิรักขิต (อมร เกิด ป. ๙) วัดบรมนิวาส ↩
-
๑๕. เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ภายหลังเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ↩
-
๑๖. เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) ↩
-
๑๗. เจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี) ↩
-
๑๘. เจ้าพระยาสิงหราชฤทธิไกร (บัว) ↩
-
๑๙. พระยาภัยรณฤทธิ์ (เฉย ยมาภัย) ภายหลังเป็นเจ้าพระยายมราช ↩
-
๒๐. พระจำนงค์สรไกร (รุ่ง) ต่อมาเป็นพระยาจำนงสรไกร จางวางทหารปืนเล็ก ↩
-
๒๑. พระวิสูตรโยธามาตย์ (โหมด อมาตยกุล) ต่อมาเป็นพระยากระสาปนกิจโกศล ↩
-
๒๒. หลวงราโชวาต (แก้ว) ภายหลังเป็นพระยาสัมพาหบดี ↩
-
๒๓. เจ้าพระยามุขมนตรี (เกต สิงหเสนี) ↩
-
๒๔. วังนี้อยู่ริมคลองโรงไหมฝั่งเหนือ ตรงที่ตั้งโรงพยาบาลทหารบกบัดนี้ ↩
-
๒๕. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจำนงจะให้พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กับเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ประคองพระบรมศพ ได้ตรัสสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้า ฯ กรมขุนพินิตประชานารถแต่วันแรกทรงประชวร ผู้อื่นหาได้ทราบพระราชประสงค์ไม่ แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ มาประชวรเสียด้วยตลอดมา การเรื่องนี้จึงมิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ในเวลานั้นพระเจ้าลูกยาเธอที่โสกันต์แล้ว ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ทั้ง ๗ พระองค์ ที่เลือก ๒ พระองค์นั้น เพราะพระองค์เจ้าคัคณางคยุคล คือกรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นหลานเลี้ยงของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ คือกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ เป็นหลานตัวเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก ↩
-
๒๖. อโนมมุนี (ศรี) วัดปทุมคงคา ภายหลังเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ↩
-
๒๗. พระครูราชพิธี คือพระมหาราชครูพิธี (พุ่ม คุรุกุล) ↩
-
๒๘. พระราชโกษา (จัน วัชโรทัย) ภายหลังเป็นพระยาในนามเดิม ↩
-
๒๙. หลวงอัฎยา (อ่อน) ภายหลังเป็นพระสิทธิชัยบดี ↩
-
๓๐. พระยาบุรุษรัตนราชพรรลภ (เพ็ง เพ็ญกุล) ต่อมาเป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ↩