พระพิพิธสาลี
กวีแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ในปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ราชอาณาจักรไทยกำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นตัวจากความหายนะ อันเนื่องมาจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ครั้นทรงสถาปนาพระนครขึ้นใหม่ พระราชภาระอันสำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือ ต้องทรงจัดการให้บ้านเมืองคืนสู่สภาวะปกติ “เหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี” ทั้งด้านศาสนจักรและอาณาจักร
ในส่วนของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการด้านวรรณคดีนั้น ทรงถือเป็นพระราชธุระสำคัญยิ่งประการหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงสนับสนุนให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตสร้างสรรค์ผลงานเป็นหนังสือจำนวนมากไว้เป็นสมบัติของพระนคร ทั้งพระองค์เองก็ร่วมทรงพระราชนิพนธ์ด้วยหลายเรื่อง เช่น บทละครใน เรื่องรามเกียรติ์ อิเหนา และอุณรุท ฯลฯ รัชสมัยของพระองค์จึงมีกวีที่สำคัญเกิดขึ้นเป็นอัญมณีประดับแผ่นดินหลายท่าน เช่น เจ้าพระยาพระคลัง (หน) พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) เป็นต้น
นอกจากที่กล่าวนามมาแล้ว ยังมีกวีอื่นๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มีผลงานดีเด่นแต่ไม่เป็นที่กล่าวขวัญ หรือได้รับยกย่องให้ปรากฏ ซึ่งหนึ่งในกวีเหล่านั้นคือ “พระพิพิธสาลี” ผล งานของท่านผู้นี้ กวีในยุคต่อมายกย่องว่าเป็นผลงานชั้นครู ดังที่กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงอ้างถึงในโคลงนิราศพระประธม ซึ่งทรงแต่งเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๗๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ว่า
กำสรวลศรีปราชญ์ทั้ง | ทวาทศ มาสฤๅ |
อีกพิพิธสาลีพจน์ | พร่ำพร้อง |
ตรังนิราศนรินทร์รจ- | เรขเรื่อง ครวญพ่อ |
สารโศกเรียมแรมน้อง | ยิ่งถ้อยทั้งมวล |
บรรดาศักดิ์พระพิพิธสาลี ปรากฏในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน ซึ่งตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีข้อความว่า “หลวงพิพิทสาลี เจ้ากรมฉาง นา ๑,๔๐๐” ตำแหน่งนี้ขึ้นกับออกญาพลเทพราชเสนาบดี และน่าจะมีการเลื่อนบรรดาศักดิ์จาก “หลวง” ขึ้นเป็น “พระ” ในคราวปูนบำเหน็จข้าราชการ เมื่อแรกสถาปนาพระบรมราชวงศ์จักรี
ผลงานด้านกวีนิพนธ์ของพระพิพิธสาลีเท่าที่พบในปัจจุบัน ได้แก่ โคลงนิราศทวายและโคลงนิราศชุมพร ทั้งสองเรื่องนี้ประพันธ์ขึ้นด้วยความสันทัดจัดเจน มีความไพเราะกินใจยิ่งนัก ทั้งยังมีอิทธิพลต่อโคลงนิราศรัตนโกสินทร์ยุคหลังๆ หลายเรื่อง เช่น โคลงนิราศนรินทร์ โคลงนิราศพระประธม เป็นต้น ผลงานของพระพิพิธสาลี เรื่องโคลงนิราศทวาย ยังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน ส่วนเรื่อง โคลงนิราศชุมพร พ.ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี) เคยนำไปพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือประชุมโคลงนิราศโดยเรียกชื่อว่า โคลงนิราศพระพิพิธสาลี
โคลงนิราศทวาย
นิราศเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยร่ายดั้นสรรเสริญพระนคร ๑ บท และโคลงสี่ดั้น ๖ บท จากนั้นดำเนินเรื่องตามขนบของ โคลงนิราศ ด้วยโคลงสี่สุภาพอีก ๒๐๘ บท โดยเริ่มสำนวนนิราศในโคลงสุภาพ บทที่ ๕ ว่า
ขอแถลงลักษณ์อ้าง | อรองค์ |
โฉมพธูนงยง | แม่ร้าง |
ปางพระหริรักษ์มง- | กุฎโลกย์ |
เสด็จยาตรพลไปล้าง | ม่านม้วยเวียงทวาย |
ข้อความในโคลงบทนี้ระบุอย่างชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกรีธาทัพไปรบพม่าที่เมืองทวาย เนื้อหาโดยสรุปตามพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีว่า จุลศักราช ๑๑๕๓ (พุทธศักราช ๒๓๓๔) แมงจันจา เจ้าเมืองทวายเป็นกบฏต่อพระเจ้าอังวะ และมีศุภอักษรมายังกรุงเทพมหานคร ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทั้งขอกองทัพไทยไปช่วยรักษาเมืองทวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราช คุมพล ๕,๐๐๐ ออกไปต้านทัพพม่ารักษาเมืองไว้พลางก่อน แล้วจึงทรงยกทัพหลวงเสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทตามไปภายหลัง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงหยุดทัพอยู่ที่แม่น้ำน้อย แขวงเมืองกาญจนบุรี ส่วนสมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จยาตราทัพไปยังเมืองทวาย ข้อความในโคลงนิราศทวายของพระพิพิธสาลี บอกรายละเอียดวัน เดือน ปี ที่ทรงยาตราทัพครั้งนั้นละเอียดกว่าในพระราชพงศาวดาร กล่าวคือ
มุสิกมฤคศิระได้ | ดฤษถี |
แรมสี่ศุกรวารมี | ฤกษ์เช้า |
พันร้อยปัญญาสตรี | สังกราช |
องค์อิศรภพเกล้า | คลาดคล้อยเมืองหลวง |
ความว่า “ได้ฤกษ์เวลาเช้า วันศุกร์แรมสี่ค่ำ เดือนอ้าย ปีชวด จุลศักราช ๑๑๕๓ (พุทธศักราช ๒๓๓๔) พระเจ้าอยู่หัวทรงกรีธาทัพออกจากรุงเทพมหานคร” กระบวนทัพครั้งนั้นยกออกจากพระนครโดยทางชลมารค พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เสด็จพระธินั่งเพี้ยง | หริหงส์ |
เหมพิมานอลง | กตแก้ว |
พิจารณาตามความที่ปรากฏในนิราศ พระพิพิธสาลีน่าจะ โดยเสด็จในกระบวนทัพหลวงไปเพียงเมืองกาญจนบุรี มิได้ไปถึงเมืองทวาย สถานที่สุดท้ายที่กล่าวถึงในนิราศคือบ้านห้วยทราย ต่อจากนั้นไปเป็นการเดินทางบกซึ่งมิได้ระบุว่าสิ้นสุดที่ใด
สำนวนโวหารในโคลงนิราศทวาย ของพระพิพิธสาลี หลายบทได้รับอิทธิพลมาจากโคลงนิราศครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ โคลงกำสรวล โคลงทวาทศมาส โคลงนิราศนครสวรรค์ ฯลฯ เช่น
ชั้นสิงห์โสภาคชั้น | ฉานคลี |
สิงฆชำนันนนที | เถ่อหน้า |
พิศเพียรพ่างโกษี | สูรโลกย์ |
สมสมภารล้นหล้า | เลิศล้ำสากล |
(โคลงนิราศนครสวรรค์)
โสภาเสาวภาคย์ชั้น | ฉานคลี |
เนืองช่ำนันนนทรี | เทิ่งหน้า |
ชำนิคชสิงฆสีห์ | โสภาค |
ดูวิวิธไป่ว้า | วากเว้นชนชม |
(โคลงนิราศทวาย)
เทวาเทเวศถ้วน | เทวินทร์ |
เสวยสุขรมย์ย่ำยาม | ยั่วเย้า |
วิไลยวิลาพินทุ์ | เพาโพธ |
สุขภิรมย์สมเหน้า | แน่งมาลย์ |
(โคลงทวาทศมาส)
เทวาเทเวศไท้ | เทเวนทร์ |
องค์อิศรจอมเมรุ | สี่เกล้า |
เชิญพระจากภุชเคนทร์ | อุรอาสน์ |
พระผ่านจอมภพเผ้า | แผ่นแผ้วพงศ์พาล |
(โคลงนิราศทวาย)
นอกจากความไพเราะและสุนทรียภาพเชิงวรรณศิลป์ที่พร้อมสรรพในนิราศเรื่องนี้แล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งปลุกเตือนให้อนุชนไทยได้ตระหนัก คือความทุกข์ยากลำบากของเหล่าผู้กล้าหาญบรรพชนที่ยอมสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้
ลำบากจากสวาดิเจ้า | มาทน |
ทุกข์เทวษทุกตำบล | เถื่อนท้อง |
ตรำฟ้าละอองฝน | คางสั่น |
ลมเฉื่อยชายพัดต้อง | เหน็บเนื้อนอนเดียว |
โคลงนิราศชุมพร
โคลงนิราศชุมพร แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๑๙๓ บท ไม่มีร่ายนำในตอนต้น เนื้อความในโคลงตั้งแต่บทแรกถึงโคลงบทที่ ๑๓ กล่าวสรรเสริญพระนครและพระมหากษัตริย์ ตามประเพณีนิยมของโคลงนิราศ โคลงหลายบทได้รับอิทธิพลจากโคลงสมัยอยุธยา เช่น
เกษมสุขทุกราษฎร์แม้น | เมืองอินทร์ |
สาวบ่าวเมากามยิน | แช่มช้อย |
สายัณห์ร่ายเพลงพิณ | ปากผิ่ว |
โนนาดกรีดกรายก้อย | ม่ายคิ้วเคียงคม |
ภาพชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครที่แสดงออกด้วยโคลงบทนี้ มีสาระคล้ายกับกาพย์ห่อโคลงพระศรีมโหสถที่ว่า
เดิรกลางพลางดีดนิ้ว | ชูชายหิ้วผิวทำเพลง |
บ่าวหนุ่มครุ่มเสียงเครง | วังเวงหวั่นปั่นใจหญิง |
เดิรกลางพลางดีดนิ้ว | นำเพลง |
ฝูงบ่าวพราวครูเครง | เพรียกพร้อม |
หญิงฟังหวั่นใจเลวง | รศราค |
แย้มอยู่ภู่เฟื่องห้อม | เสียดซ้องตาแล |
เมื่อจบบทพรรณนาความสมบูรณ์พูนสุขของบ้านเมืองแล้ว กวีเริ่มดำเนินเนื้อหาตามขนบของนิราศในโคลงบทที่ ๑๔ ว่า
ร่ำปางพิโยคเนื้อ | นงลักษณ์ |
บ เริ่มเรียมแรมรัก | ห่างห้อง |
กำโบลแนบแนมพักตร์ | พูนเทวษ |
กำสรดแสนสวาดิน้อง | แนบไว้กับทรวง |
นิราศเรื่องนี้เป็นการเดินทางทางเรือเช่นเดียวกับโคลงนิราศทวาย สถานที่ที่กวีพรรณนาเป็นแห่งแรก คือ ตำหนักน้ำ หรือตำหนักแพ จากนั้นล่องเรือไปตามลำน้ำเจ้าพระยาสู่อ่าวไทย แล้วเลียบฝั่งทะเลไปจนถึงชุมพรและลางสวน (หลังสวน)
พระพิพิธสาลีแต่งโคลงนิราศชุมพรขึ้นเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐาน ทั้งความในนิราศก็มิได้ระบุถึงสาเหตุของการเดินทางในครั้งนั้น
นอกจากความงามในแง่วรรณศิลป์ที่ปรากฏแล้ว นิราศเรื่องนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ในอดีต เป็นต้นว่าชื่อสถานที่ซึ่งปัจจุบันเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น ฉางพริก ฉางเกลือ คลัง ฝาง สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่เรียงกันเป็นลำดับ ระหว่างสำเพ็งกับคอกกระบือ (บริเวณวัดยานนาวาในปัจจุบัน)
โคลงนิราศชุมพรบทสุดท้าย กล่าวถึงความทุกข์ทรมานที่กวีต้องพลัดพรากจากบ้านเรือน และสาเหตุที่กวีแต่งเรื่องนี้ว่า
อาวรณ์นอนนับนิ้ว | มานาน |
เทียรทุกข์แสนทรมาน | ค่ำเช้า |
จำใจลักษณ์ลองสาร | เสาวภาคย์ นะพ่อ |
หวังจักดับใจเศร้า | สร่างให้ใจคลาย |