พระพิพิธสาลี

กวีแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ในปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ราชอาณาจักรไทยกำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นตัวจากความหายนะ อันเนื่องมาจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ครั้นทรงสถาปนาพระนครขึ้นใหม่ พระราชภาระอันสำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือ ต้องทรงจัดการให้บ้านเมืองคืนสู่สภาวะปกติ “เหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี” ทั้งด้านศาสนจักรและอาณาจักร

ในส่วนของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการด้านวรรณคดีนั้น ทรงถือเป็นพระราชธุระสำคัญยิ่งประการหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงสนับสนุนให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตสร้างสรรค์ผลงานเป็นหนังสือจำนวนมากไว้เป็นสมบัติของพระนคร ทั้งพระองค์เองก็ร่วมทรงพระราชนิพนธ์ด้วยหลายเรื่อง เช่น บทละครใน เรื่องรามเกียรติ์ อิเหนา และอุณรุท ฯลฯ รัชสมัยของพระองค์จึงมีกวีที่สำคัญเกิดขึ้นเป็นอัญมณีประดับแผ่นดินหลายท่าน เช่น เจ้าพระยาพระคลัง (หน) พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) เป็นต้น

นอกจากที่กล่าวนามมาแล้ว ยังมีกวีอื่นๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มีผลงานดีเด่นแต่ไม่เป็นที่กล่าวขวัญ หรือได้รับยกย่องให้ปรากฏ ซึ่งหนึ่งในกวีเหล่านั้นคือ “พระพิพิธสาลี” ผล งานของท่านผู้นี้ กวีในยุคต่อมายกย่องว่าเป็นผลงานชั้นครู ดังที่กรมหลวงวงศาธิราชสนิท    ทรงอ้างถึงในโคลงนิราศพระประธม ซึ่งทรงแต่งเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๗๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ว่า

กำสรวลศรีปราชญ์ทั้ง ทวาทศ มาสฤๅ
อีกพิพิธสาลีพจน์ พร่ำพร้อง
ตรังนิราศนรินทร์รจ- เรขเรื่อง ครวญพ่อ
สารโศกเรียมแรมน้อง ยิ่งถ้อยทั้งมวล

บรรดาศักดิ์พระพิพิธสาลี ปรากฏในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน ซึ่งตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีข้อความว่า “หลวงพิพิทสาลี เจ้ากรมฉาง นา ๑,๔๐๐” ตำแหน่งนี้ขึ้นกับออกญาพลเทพราชเสนาบดี และน่าจะมีการเลื่อนบรรดาศักดิ์จาก “หลวง” ขึ้นเป็น “พระ” ในคราวปูนบำเหน็จข้าราชการ เมื่อแรกสถาปนาพระบรมราชวงศ์จักรี

ผลงานด้านกวีนิพนธ์ของพระพิพิธสาลีเท่าที่พบในปัจจุบัน ได้แก่ โคลงนิราศทวายและโคลงนิราศชุมพร ทั้งสองเรื่องนี้ประพันธ์ขึ้นด้วยความสันทัดจัดเจน มีความไพเราะกินใจยิ่งนัก ทั้งยังมีอิทธิพลต่อโคลงนิราศรัตนโกสินทร์ยุคหลังๆ หลายเรื่อง เช่น โคลงนิราศนรินทร์ โคลงนิราศพระประธม เป็นต้น ผลงานของพระพิพิธสาลี เรื่องโคลงนิราศทวาย ยังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน ส่วนเรื่อง โคลงนิราศชุมพร พ.ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี) เคยนำไปพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือประชุมโคลงนิราศโดยเรียกชื่อว่า โคลงนิราศพระพิพิธสาลี

โคลงนิราศทวาย

นิราศเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยร่ายดั้นสรรเสริญพระนคร ๑ บท และโคลงสี่ดั้น ๖ บท จากนั้นดำเนินเรื่องตามขนบของ โคลงนิราศ ด้วยโคลงสี่สุภาพอีก ๒๐๘ บท โดยเริ่มสำนวนนิราศในโคลงสุภาพ บทที่ ๕ ว่า

ขอแถลงลักษณ์อ้าง อรองค์
โฉมพธูนงยง แม่ร้าง
ปางพระหริรักษ์มง- กุฎโลกย์
เสด็จยาตรพลไปล้าง ม่านม้วยเวียงทวาย

ข้อความในโคลงบทนี้ระบุอย่างชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกรีธาทัพไปรบพม่าที่เมืองทวาย เนื้อหาโดยสรุปตามพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีว่า จุลศักราช ๑๑๕๓ (พุทธศักราช ๒๓๓๔) แมงจันจา เจ้าเมืองทวายเป็นกบฏต่อพระเจ้าอังวะ และมีศุภอักษรมายังกรุงเทพมหานคร ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทั้งขอกองทัพไทยไปช่วยรักษาเมืองทวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราช คุมพล ๕,๐๐๐ ออกไปต้านทัพพม่ารักษาเมืองไว้พลางก่อน แล้วจึงทรงยกทัพหลวงเสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทตามไปภายหลัง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงหยุดทัพอยู่ที่แม่น้ำน้อย แขวงเมืองกาญจนบุรี ส่วนสมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จยาตราทัพไปยังเมืองทวาย ข้อความในโคลงนิราศทวายของพระพิพิธสาลี บอกรายละเอียดวัน เดือน ปี ที่ทรงยาตราทัพครั้งนั้นละเอียดกว่าในพระราชพงศาวดาร กล่าวคือ

มุสิกมฤคศิระได้ ดฤษถี
แรมสี่ศุกรวารมี ฤกษ์เช้า
พันร้อยปัญญาสตรี สังกราช
องค์อิศรภพเกล้า คลาดคล้อยเมืองหลวง

ความว่า “ได้ฤกษ์เวลาเช้า วันศุกร์แรมสี่ค่ำ เดือนอ้าย ปีชวด จุลศักราช ๑๑๕๓ (พุทธศักราช ๒๓๓๔) พระเจ้าอยู่หัวทรงกรีธาทัพออกจากรุงเทพมหานคร” กระบวนทัพครั้งนั้นยกออกจากพระนครโดยทางชลมารค พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

เสด็จพระธินั่งเพี้ยง หริหงส์
เหมพิมานอลง กตแก้ว

พิจารณาตามความที่ปรากฏในนิราศ พระพิพิธสาลีน่าจะ โดยเสด็จในกระบวนทัพหลวงไปเพียงเมืองกาญจนบุรี มิได้ไปถึงเมืองทวาย สถานที่สุดท้ายที่กล่าวถึงในนิราศคือบ้านห้วยทราย ต่อจากนั้นไปเป็นการเดินทางบกซึ่งมิได้ระบุว่าสิ้นสุดที่ใด

สำนวนโวหารในโคลงนิราศทวาย ของพระพิพิธสาลี หลายบทได้รับอิทธิพลมาจากโคลงนิราศครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ โคลงกำสรวล โคลงทวาทศมาส โคลงนิราศนครสวรรค์ ฯลฯ เช่น

ชั้นสิงห์โสภาคชั้น ฉานคลี
สิงฆชำนันนนที เถ่อหน้า
พิศเพียรพ่างโกษี สูรโลกย์
สมสมภารล้นหล้า เลิศล้ำสากล

(โคลงนิราศนครสวรรค์)

โสภาเสาวภาคย์ชั้น ฉานคลี
เนืองช่ำนันนนทรี เทิ่งหน้า
ชำนิคชสิงฆสีห์ โสภาค
ดูวิวิธไป่ว้า วากเว้นชนชม

(โคลงนิราศทวาย)

เทวาเทเวศถ้วน เทวินทร์
เสวยสุขรมย์ย่ำยาม ยั่วเย้า
วิไลยวิลาพินทุ์ เพาโพธ
สุขภิรมย์สมเหน้า แน่งมาลย์

(โคลงทวาทศมาส)

เทวาเทเวศไท้ เทเวนทร์
องค์อิศรจอมเมรุ สี่เกล้า
เชิญพระจากภุชเคนทร์ อุรอาสน์
พระผ่านจอมภพเผ้า แผ่นแผ้วพงศ์พาล

(โคลงนิราศทวาย)

นอกจากความไพเราะและสุนทรียภาพเชิงวรรณศิลป์ที่พร้อมสรรพในนิราศเรื่องนี้แล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งปลุกเตือนให้อนุชนไทยได้ตระหนัก คือความทุกข์ยากลำบากของเหล่าผู้กล้าหาญบรรพชนที่ยอมสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้

ลำบากจากสวาดิเจ้า มาทน
ทุกข์เทวษทุกตำบล เถื่อนท้อง
ตรำฟ้าละอองฝน คางสั่น
ลมเฉื่อยชายพัดต้อง เหน็บเนื้อนอนเดียว

โคลงนิราศชุมพร

โคลงนิราศชุมพร แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๑๙๓ บท ไม่มีร่ายนำในตอนต้น เนื้อความในโคลงตั้งแต่บทแรกถึงโคลงบทที่ ๑๓ กล่าวสรรเสริญพระนครและพระมหากษัตริย์ ตามประเพณีนิยมของโคลงนิราศ โคลงหลายบทได้รับอิทธิพลจากโคลงสมัยอยุธยา เช่น

เกษมสุขทุกราษฎร์แม้น เมืองอินทร์
สาวบ่าวเมากามยิน แช่มช้อย
สายัณห์ร่ายเพลงพิณ ปากผิ่ว
โนนาดกรีดกรายก้อย ม่ายคิ้วเคียงคม

ภาพชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครที่แสดงออกด้วยโคลงบทนี้ มีสาระคล้ายกับกาพย์ห่อโคลงพระศรีมโหสถที่ว่า

เดิรกลางพลางดีดนิ้ว ชูชายหิ้วผิวทำเพลง
บ่าวหนุ่มครุ่มเสียงเครง วังเวงหวั่นปั่นใจหญิง
เดิรกลางพลางดีดนิ้ว นำเพลง
ฝูงบ่าวพราวครูเครง เพรียกพร้อม
หญิงฟังหวั่นใจเลวง รศราค
แย้มอยู่ภู่เฟื่องห้อม เสียดซ้องตาแล

เมื่อจบบทพรรณนาความสมบูรณ์พูนสุขของบ้านเมืองแล้ว กวีเริ่มดำเนินเนื้อหาตามขนบของนิราศในโคลงบทที่ ๑๔ ว่า

ร่ำปางพิโยคเนื้อ นงลักษณ์
บ เริ่มเรียมแรมรัก ห่างห้อง
กำโบลแนบแนมพักตร์ พูนเทวษ
กำสรดแสนสวาดิน้อง แนบไว้กับทรวง

นิราศเรื่องนี้เป็นการเดินทางทางเรือเช่นเดียวกับโคลงนิราศทวาย สถานที่ที่กวีพรรณนาเป็นแห่งแรก คือ ตำหนักน้ำ หรือตำหนักแพ จากนั้นล่องเรือไปตามลำน้ำเจ้าพระยาสู่อ่าวไทย แล้วเลียบฝั่งทะเลไปจนถึงชุมพรและลางสวน (หลังสวน)

พระพิพิธสาลีแต่งโคลงนิราศชุมพรขึ้นเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐาน ทั้งความในนิราศก็มิได้ระบุถึงสาเหตุของการเดินทางในครั้งนั้น

นอกจากความงามในแง่วรรณศิลป์ที่ปรากฏแล้ว นิราศเรื่องนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ในอดีต เป็นต้นว่าชื่อสถานที่ซึ่งปัจจุบันเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น ฉางพริก ฉางเกลือ คลัง ฝาง สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่เรียงกันเป็นลำดับ ระหว่างสำเพ็งกับคอกกระบือ (บริเวณวัดยานนาวาในปัจจุบัน)

โคลงนิราศชุมพรบทสุดท้าย กล่าวถึงความทุกข์ทรมานที่กวีต้องพลัดพรากจากบ้านเรือน และสาเหตุที่กวีแต่งเรื่องนี้ว่า

อาวรณ์นอนนับนิ้ว มานาน
เทียรทุกข์แสนทรมาน ค่ำเช้า
จำใจลักษณ์ลองสาร เสาวภาคย์ นะพ่อ
หวังจักดับใจเศร้า สร่างให้ใจคลาย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ