คำนำ

นิราศเป็นรูปแบบงานเขียนกวีนิพนธ์ของไทยชนิดหนึ่ง เนื้อหาเป็นการพรรณนาการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยกวีจะนำสถานที่ต่างๆ ที่ผ่านมาเปรียบเทียบคร่ำครวญแสดงความห่วงใยอาลัยรักสตรีผู้เป็นที่รักของตน ทั้งสอดแทรกขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีสังคมสมัยนั้นๆ ไว้ด้วย

การตั้งชื่อนิราศมีหลายลักษณะได้แก่ ตั้งชื่อตามจุดหมายปลายทางที่กวีต้องเดินทางไป เช่น นิราศพระบาท นิราศสุพรรณ ฯลฯ บางครั้งใช้ชื่อของกวีผู้ประพันธ์เป็นชื่อนิราศ เช่นนิราศนรินทร์ นิราศพระยามหานุภาพ หรืออาจนำชื่อสถานที่อันเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางมาตั้งเป็นชื่อนิราศ เช่น นิราศวัดรวก เป็นต้น

โคลงนิราศพระพิพิธสาลี ที่นำมาพิมพ์ในหนังสือนี้ ประกอบด้วยนิราศสองเรื่องคือ โคลงนิราศทวาย และโคลงนิราศชุมพร โคลงนิราศทวายนั้นพระพิพิธสาลีประพันธ์ขึ้นในคราวตาม เสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไปราชการการศึกที่เมืองทวาย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๓๔ จัดเป็นโคลงนิราศที่มีกวีโวหารไพเราะยิ่งสำนวนหนึ่ง ซึ่งยังไม่เคยมีการพิมพ์เผยแพร่มาก่อน ส่วนโคลงนิราศชุมพรนั้น ไม่ทราบปีที่ประพันธ์และสาเหตุที่ต้องเดินทางไปยังเมืองชุมพร โคลงนิราศชุมพรนี้ พ.ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี) เคยนำมาพิมพ์ในหนังสือประชุมโคลงนิราศ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า โคลงนิราศพระพิพิธสาลี พิจารณาเปรียบเทียบสำนวนโวหารของนิราศทั้งสองเรื่องนี้แล้วจะเห็นว่า โคลงนิราศทวายแต่งได้ดีกว่าโคลงนิราศชุมพร

อนึ่ง พระพิพิธสาลี ผู้ประพันธ์โคลงนิราศทั้งสองเรื่องนี้ เป็นกวีที่มีชื่อเสียงมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีฝีปากในการประพันธ์โคลงได้ยอดเยี่ยมผู้หนึ่ง

กรมศิลปากร เห็นว่าควรนำโคลงนิราศพระพิพิธสาลี มาพิมพ์เผยแพร่เพื่อเป็นการรักษาต้นฉบับไว้มิให้สูญ จึงมอบให้นางเรวดี ฐิตะโลหิต นักอักษรศาสตร์ ๗ กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ตรวจสอบชำระเรียบเรียงคำนำ จัดทำคำอธิบายศัพท์ และแก้ไขตัวสะกดการันต์ให้ถูกต้องตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่

กรมศิลปากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือโคลงนิราศพระพิพิธสาลี ซึ่งประกอบด้วยโคลงนิราศทวาย และโคลงนิราศชุมพรนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านและผู้สนใจวรรณคดีตามสมควร

อธิบดีกรมศิลปากร

กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

มิถุนายน ๒๕๔๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ