๒
(ยานี ๑๑)
ปางนั้นหน่อสุริยวงศ์ | ทุกข์แน่นองค์ไม่เกษมศานติ์ |
ปวดหัวสากลัวมาร | นึกวันคารเป็นอาจิณ |
ความทุกข์อยู่เต็มอก | ซื้อห่อหมกมานั่งกิน |
ยอลูกว่ามีกลิ่น | พระภูมินเก็บเยาะเมีย |
ความยากนั้นกลุ้มโครง | แต่ความโกง๑นั้นไม่เสีย |
แลตาหน้าลิ่มเหลี่ย | อาจใคร่ได้ซึ่งลูกเขย |
โอ้เจ้าคันธมาลา | เจ้าอย่าว่าพี่นักเลย |
ใช่ชั่วเจ้าทรามเชย | มันคนดีมีศิลป์ศร |
พูดพูดจนหลับไหล | อยู่ที่ในแท่นบรรจถรณ์ |
หยุดหน่อยค่อยกล่าวกลอน | พระภูธรบันทมนาน |
กล่าวถึงท้าวพันตา๒ | ร้อนกายาคือเพลิงกาฬ |
ทรงพระกายไม่ได้นาน | จึงเล็งญาณในสุธา |
ท้าวส่องตาทิพย์ดู | ท้าวจึงรู้ในปัญญา |
แลเห็นนางชาวฟ้า | ลงมาเกิดพื้นดินดาน |
นามกรเจ้าวันพุธ | คู่พระนุชเจ้าวันคาร |
ทีนี้ไอ้กรุงมาร | จักปองผลาญชิงฉายา |
จำจักไปช่วยเจ้า | นางสร้อยเศร้าอยู่นักหนา |
จึงเรียกเพษณุ๓มา | ว่าท่านจงเร่งลงไป |
ช่วยบอกนางวันพุธ | นางนั้นบุตรของเราไส |
นางม้วยมรณาลัย | จุติในมนุสสา |
ส่งให้ถึงวันคาร | ตัวของท่านกลายรูปา |
เป็นหญิงงามโสภา | ออกอาษาต่อรบมาร |
จึงพระเพษณูกรรม์ | บังคมคัลแล้วก้มคลาน |
ออกจากรัตนพิมาน | แล้วจึงเหาะลอยลงมา |
ศักดาวราฤทธิ์ | แล้วนิรมิตกลายรูปา |
เป็นรูปเทพยดา | งามนักหนาเหมือนนารี |
อ่านพระเวทย์เปิดตูปรางค์ | เข้าห้องนางถึงแท่นศรี |
ปลอบปลุกนางเทวี | เชิญนารียกขึ้น๔ก่อน |
งามชื่นตื่นแปรผัน | เห็นนางสวรรค์รูปบวร |
ตกประหม่าให้อาวรณ์ | จากแท่นนอนเลื่อนลงมา |
ใจนึกว่าอสูรแสง | มันแปลงรูปเข้ามาหา |
พระกายสั่นแต่บัญชา | ถามว่ามาแต่แห่งใด |
ชื่อชามนามกรพี่ | อยู่ธานีบุรีไหน |
พี่เจ้าเล่าน้องไป | ธุระอะไรจู่เข้ามา |
พี่ชื่อนางสนูกรรม์ | เจ้าเอววัลย์อย่าสงกา |
เทพเจ้าคิดปรึกษา | กลัวฉายาสะดุ้งใจ |
ฉันบ่าวเจ้าวันคาร | แจ้งอาการเถิดหน้าใย |
เขาพาเข้ามาไส | พี่ลองใจดอกน้องอา |
ให้อยู่ด้วยงามสรรพ | แล้วข้าจะกลับไปภารา |
จะให้พี่รบยักษา | แล้วให้พาเจ้างามไป |
พูดกันจนรุ่งราง | แสงทองสว่างกระจ่างใส |
วันพุธนุชครรไล | ไปทูลท้าวเล่ากิจจา |
บอกว่าเจ้าวันคาร | ให้ทหารผู้หญิงมา |
ปิ่นเกล้าท้าวปัญจา | เรียกออกมาแล้วถามไถ่ |
จริงเหมือนเล่าแก่นาง | หัวเราะพลางทางดีใจ |
เทวาจึงเล่าไป | ในเรื่องราวท้าวยักษา |
เล่าว่าขุนอสุรี | มีเศียรสี่แปดหัตถา |
มารนั้นมีฤทธา | ไปชั้นฟ้ามิขาดวัน |
ไปเฝ้าพระอิศวร | นางฟ้าชวนจับกับมัน |
เล่นเล่นจนโกรธกัน | นางสวรรค์มันไล่ตี |
พระอิศวรร้องทักมา | ไอ้ยักษาแพ้สตรี |
อายุสิบห้าปี | ตั้งแต่นั้นถูกสาปมา |
ครั้นจะฆ่าขุนมารร้าย | กับผู้ชายไม่สังขาร์ |
ตายหนึ่งเป็นโกฏิฐา | จงจักราทราบพระทัย |
ข้าขอออกต่อยุทธ | เอาวันพุธเป็นเพื่อนไป |
จะฆ่ามารอันชาญชัย | ให้บรรลัยด้วยฤทธา |
ผัวเมียหัวเราะพลาง | เหม่ชะนางน้ำใจกล้า |
ชื่นชมภิรมยา | แล้วออกมาหน้าเกยชัย |
ตรัสสั่งขุนเสนา | แต่งโยธาให้พร้อมไป |
ส่วนว่านายหมื่นไว | เที่ยวจัดแจงแต่งโยธา |
นายรถแต่งรถทรง | แต่งกุญชรงค์อันตัวกล้า |
รี้พลสุดคณนา | แน่นเต็มหน้าพระลานชัย |
เสนามาทูลท้าว | พระปิ่นเกล้าเข้าห้องใน |
ปลอบนุชสุดอาลัย | ไวแต่งองค์ทรงภูษา |
ส่วนนางวิษณูกรรม์ | ว่าเร็วพลันเถิดน้องอา |
กลัวอะไรแก่ยักษา | พี่มิให้ได้อาวรณ์ |
พิรุธในกลางณรงค์ | จะอุ้มอนงค์เหาะผันผ่อน |
มิให้มิ่งสมร | สวาทน้องต้องมือมาร |
นางฟังขึ้นแต่งองค์ | ทรงเครื่องต้นสร้อยสังวาลย์ |
จะร่ำว่าช้านิทาน | แต่บุราณกษัตรา |
แต่งเป็นผู้ชายฉิ้ม | งามพราวพริ้มดังเทวา |
ต่างองค์แต่งกายา | แล้วออกมาหน้าเกยชัย |
ส่วนนางเวษณูกรรม์ | เห็นรถนั่นไม่ชอบใจ |
ทำฤทธิ์ต่อหน้าไท | ให้เห็นฤทธิ์สิทธิ์ศักดา |
อ่านพระเวทมิทันหมด | บัดเดี๋ยวรถล่องลอยมา |
สารถีขับรถา | มีทั้งม้าแก้วมณี |
ล่องมาตรงหน้าบาท | ประชาราษฎร์ดูก้องมี่ |
ชาวเมืองพูดจู้จี้ | เห็นทีจะชนะมาร |
ว่าแล้วทั้งสององค์ | ขึ้นรถทรงไม่ได้นาน |
ดังองค์พระอวตาร | กับพระลักษณ์อนุชา |
แล้วเลื่อนรถอมเรศ | งามวิเศษสะอาดตา |
ครั้นจะชมราชรถา | รถไหนมาเทียมรถสวรรค์ |
แล้วเลื่อนพลโยธา | พลคชาไปเป็นหลั่น |
พลช้างข้างเคียงกัน | ถัดแต่นั้นพลหอกทวน |
พลปืนเป็นแถวมา | พลดาบหน้าเป็นกระบวน |
เกาทัณฑ์เสโลทวน | ตามกระบวนยืดย้ายมา |
ถัดนั้นรถปิ่นเกล้า | ของท่านท้าวกรุงปัญจา |
ต่อนั้นรถฉายา | งามกว่ารถของท้าวไท |
ออกจากกรุงภารา | พลโยธาสะท้านไหว |
จากเมืองเข้าป่าใหญ่ | ถึงแนวไพรอื้ออึงมา |
ยังมีนายคีรีนันท์ | ตัวของมันเป็นพรานป่า |
รักษางูบองหลา๕ | ใช้ให้หาแต่มฤคี |
อันตัวคีรีนันท์ | เพื่อนคงกระพันทั้งกล้าดี |
ใครจะฟันกับกระบี่ | ผิดทุกทีไม่มีกิน |
เสือสางและช้างงา | มารยักษามันกลัวสิ้น |
เพื่อนเที่ยวเร่หากิน | พบฤษีมีวิชา |
ได้ยินเสียงพลไกร | ยกงูใหญ่ขึ้นพาดบ่า |
ซาบมองย่องออกมา | เห็นเจ้าฟ้าทรงรถชัย |
เข้าขอขันอาษา | องค์เจ้าฟ้าก็ดีใจ |
เป็นทหารนำพลไกร | ถึงภูมิชัยที่รบรา |
ส่วนข้างอำมาตย์มาร | ได้ยินสะท้านดูเต็มตา |
เห็นมนุษย์ยกโยธา | เป็นกระบวนรบหลบทูลนาย |
ทูลว่ามนุสสา | ยกโยธามามากมาย |
ไม่ใช่จะมาไหว้ | มามุ่งหมายจะชิงชัย |
สี่เศียรฟังวาที | เรียกมารกระบี่มาปราศรัย |
ลูกเอยเจ้าจงไป | ดูแยบคายร้ายหรือดี |
มารกระบี่ชุลีลา | แปลงกายาเป็นแมงบี้๖ |
บินไปไวทันที | มาถึงที่พลโยธา |
เกาะงอนรถโฉมฉาย | คนทั้งหลายไม่สงกา |
ชมนุชสุดเสน่หา | ดังหยาดฟ้าวิมานเมือง |
ยิ่งแลยิ่งไหลหลง | งามทั้งองค์ดูงงเงื่อง |
สององค์นั่งทรงเครื่อง | ชะงามจริงหญิงหรือชาย |
ดูไปถึงสองที | สององค์นี้หาเห็นไม่ |
หอมประทินซึ่งกลิ่นไอ | ดูเป็นชายหน้าสตรี |
อย่าเลยจะโจมจับ | จะกลับเปล่าไปใยมี |
จะถวายท้าวยักษี | ให้อสุรียอฤทธา |
จึงกลายจากแมงบี้ | เป็นอสุรีใหญ่มหึมา |
ปากว้ำราวถ้ำลา | ยุดรถาจับสองนาง |
ส่วนว่ารูปเนรมิต | จับศรสิทธิ์ยืนกั้นขวาง |
ตีตรงลงดังผาง | มารล้มคว้างลงบัดใจ |
พวกพลที่ยกมา | เห็นยักษาต่างวุ่นไขว่ |
เครื่องมือเอาไปไหน | ดันเข้ารกถกคอแล๗ |
ปากบ่นตีนวิ่งไป | กูขวยใจ๘แต่นายแก |
ลูกกูไม่ให้แช | ส่งให้มันพากันไป |
นายเราท้าวดิดลึ่ง๙ | ลูกคนหนึ่งเอาไปไหน |
ไอ้ยักษ์มันทำไขว่ | กูน้อยใจใคร่ด่านาย |
กูแล่นตีนออกเลือด | เดือดเหลือเดือดไม่รู้หาย |
อึงมี่หนีทิ้งนาย | สิ้นพลไพร่ท้าวปัญจา |
ยังแต่คีรินันท์ | ถือสำคัญงูบองหลา |
ยืนแอบราชรถา | เห็นมาราสลบลง |
กระบี่มารเพื่อนฟื้นกาย | เมลินเนตร๑๐ได้ให้พิศวง |
กูเอยมาคิดทะนง | เจ้าสององค์มีฤทธา |
สู้ไปคงจะวอดวาย | แล้วผุดได้เหาะหนีมา |
ข้าพเจ้าเฝ้าจับลอง | มันตีต้องด้วยศรศรี |
เข้าเฝ้าท้าวยักษา | กลับทูลว่ามาไพรี |
ข้าพเจ้าเฝ้าจับลอง | มันตีต้องด้วยศรศรี |
สลบพับลงกับที่ | ฟื้นชีวีจึงหนีมา |
สององค์ทรงศิลปศร | งามบวรยิ่งนักหนา |
หอมทิ่นกลิ่นโอชา | พิศดูหน้าเป็นนารี |
จะดูกายเป็นชายชาติ | แต่เลาลาดเป็นสตรี |
งามละอองทั้งสองศรี | ดูท่วงทีพี่น้องกัน |
กรุงมารฟังสนอง | ผุดจับบองเข้าด้วยพลัน |
ว่าเว้ยไปจับมัน | ว่าแล้วผันขึ้นรถชัย |
รถเอยรถของยักษ์ | รวดเร็วนักรีบรัดไป |
กองหน้าถึงรถชัย | ดูเห็นไปสองรถา |
โยธาหามีไม่ | มีทนายหนึ่งเดินหน้า |
เพื่อนถืองูบองหลา | มารเสนาร้องถามไป |
ถามว่าเว้ยนายงู | มาจะสู้เราหรือไร |
หรือถวายนางทรามวัย | หรือชิงชัยเร่งบอกมา |
ส่วนว่านายคิรินันท์ | มิได้พรั่นแก่ยักษา |
ขานตอบแก่มารา | สูจะมาถามเราใย |
กูไม่ใช่ลูกทาส | มึงอย่าอาจนักยักษ์ไห |
อันองค์พระทรงชัย | ใช่ลูกข้าตายายเต่า |
จะเตือนให้ส่งนาง | อย่าท่าทางนักพรือเหลา๑๑ |
นายกูใช่ใจเบา | นายเองเม่า๑๒ติดตามเมีย |
ขอลูกเขาไม่ให้ | ยกพลไพร่ไปฆ่าเสีย |
ขี้ร้ายไอ้หน้าเหมีย๑๓ | ไปลาเมียของมึงมา |
ยักษ์ว่าไอ้ขี้ร้าย | เถียงแทนนายปากคอกล้า |
ชาติไพร่อ้ายขี้ข้า | ว่าเสือกหน้าถึงนายกู |
วันนี้ทั้งนายไพร่ | สูจะตายยังไม่รู้ |
ตัวน้อยต้อยเท่าหนู | หาญมาสู้กับกุมภรรณ |
กูนุ้ย๑๔มึงสู้ยาก | หน้ายักษ์กากแต่ปนนั่น๑๕ |
พาเมียมึงมากัน | รบสักวันลองกับกู |
ยักษ์เอยมึงไตรใคร๑๖ | เดี๋ยวตกใจกูปล่อยงู |
ชนิดไพร่ไอ้พวกสู | แต่กับงูวิ่งไม่ทัน |
พวกพลของยักษี | เขาล้อมตีนายคิรินันท์ |
ลางตีลางบางรัน | ลางบางฟันด้วยดาบยาว |
ยักษ์ตีนายคิรีจับ | ต่อรบรับกันโฉ่ฉาว |
รุมกันบองสั้นยาว | เข้าอาจอุกรุกไปมา |
โซเซอ้ายเทเพน | เหมือนลิงเสน๑๗เข้าฝูงหมา |
คีริจับเอานาคา | ตีมาราวินาศไป |
ตีซ้ายย้ายตีขวา | พลยักษาม้วยบรรลัย |
เพื่อนปล่อยให้งูใหญ่ | ถกหลักซื่อเจาะดือมาร |
งูร้ายขบตายครัน | นอนทับกันดับดินดาน |
ไอ้ที่มิวายปราณ | วิ่งพาตัวกลัวนาคา |
พลมารหนีสิ้นแล้ว | ใกล้รถแก้วท้าวยักษา |
สี่เศียรอสุรา | กับกระบี่มารชาญไพรี |
ขับรถเข้าใกล้นาฎ | แล้วร้องตวาดเสียงอึงมี่ |
ปัญจาคนใดมี | ลูกสาวศรีมิพามา |
ขับรถเข้าตรงกลาง | หอมกลิ่นนางจับนาสา |
พิศดูเจ้าสองรา | ประหลาดจริงหญิงหรือชาย |
ครั้นกูไม่พิจารณา | เหมือนแกล้งฆ่านางโฉมฉาย |
มีความถามต้นปลาย | เจ้าสองชายชื่อใดหนา |
วันพุธสุดสวาทน้อง | วาจาพร้องตอบมารา |
ท่านจะถามนามชื่อข้า | แล้วจะพาไปเล่าใคร |
ตัวท่านนั้นมาเอง | ยังทำเพลงแกล้งถามไถ่ |
จะถามชื่อข้าไปไหน | ข้าจะบอกทำไมมี |
อสุรังฟังมิ่งมิตร | เพราะจับจิตของยักษี |
เสียงหวานขานวาที | เป็นสตรีแม่นนักหนา |
แต่งกายเป็นชายแท้ | รูปงามแง่ทั่วลักขณา |
วันพุธคนไหนหนา | ดูหน้าตาพิมพ์เดียวกัน |
ยิ่งแลยิ่งหลงไหล | ลืมสติไปด้วยนางสวรรค์ |
เทียบรถเข้าถึงกัน | ย่างขึ้นพลันรถนารี |
เคลื่อนกายขึ้นใกล้แก้ว | เหมือนตายแล้วขุนยักษี |
ปลื้มใจในอุรี | ดูไม่มีจะพริบตา |
นางฟ้าซิบบอกนาง | เจ้าอย่าวางพระขรรคา |
ได้ทีบั่นเกศา | ฟังพี่ว่าอย่าเชื่อมัน |
ตัวพี่บั่นไม่ได้ | ฆ่ามารร้ายไม่อาสัญ |
ตายแล้วเป็นหมื่นพัน | แม่ดวงจันทร์อย่าสงกา |
อสุราขึ้นรถนาง | ตาชมพลางถดเข้ามา |
ดูนางมิวางตา | ท้าวยักษาเงื่องงงไป |
พอถนัดนางฟันลง | ด้วยขรรค์ทรงของทรามวัย |
เศียรขาดตกลงไป | จากรถทองของกัลยา |
ส่วนว่ากระบี่วงศ์ | จับศรทรงของยักษา |
ฉวยตะบองของมารา | วิ่งเหยียบหน้ารถของนาง |
ตะบองตีมิละลด | ต้องราชรถดังโผงผาง |
วิศณุสู้กั้นกาง | กลัวจะต้องนางนาฏฉายา |
ได้ทีเทพตีต้อง | ด้วยพระแสงทองถอยออกมา |
หงายพักตร์ยักษ์ใจกล้า | วิ่งเหยียบหน้าราชรถชัย |
วันพุธนุชนงนาฎ | เอาศรฟาดตกลงไป |
ยักษีสู้ไม่ไหว | ถอยออกไปทำฤทธา |
นิมิตรเป็นคชสาร | งายาวน่าน๑๘เสยถึงฟ้า |
สูงล้นพ้นบรรพตา | สูงยิ่งกว่ายุคนธร |
แปร๋นเสียงเพียงฟ้าลั่น | ดังอัศกรรณจะเร้อ๑๙ถอน |
แผดร้องก้องดินดอน | หมายจะแทงรถเจ้าสองรา |
ปัญจาสั่นทดทด๒๐ | วิ่งทุ่มรถของเองมา |
ขึ้นรถของลูกยา | ปากถามว่าสู้หรือหนี |
วันพุธทูลภูธร | ลูกจะแผลงศรดูสักที |
แล้วทูลเหนือเกศี | นางเทวีอธิษฐาน |
เดชะเจ้าศักดิ์สิทธิ์ | อันเรืองฤทธิ์ศักดาหาญ |
ทั้งบุญนายวันคาร | พระคุณท่านล้ำโลกา |
ข้าจะแปลงศรสิทธิ์ | ให้ตัดจิตจอมคชา |
ชุลีทุกเทวา | ขึ้นศรสาแล้วแปลงไป |
ศรสิทธิ์ฤทธิ์แกล้วกล้า | มีดดินฟ้าสุราลัย |
ปักอุราคชาไกร | ช้างหายไปเป็นมารมา |
กระบี่วงศ์คิดจะเข้าสู้ | แก้มือดูแลสักครา |
ผาดโผนโจนเข้ามา | เหยียบรถาจะตีนาง |
ปัญจาท้าววิ่งหลบ | ยักหงาปทบรถดังผาง |
เวศณูสู้กั้นกาง | แล้ววิ่งวางจับมารา |
ชิงตะบองของยักษ์ได้ | มารนั่งไหว้กลัวบุญญา |
รับแพ้ถวายภารา | ขอเป็นข้าอาษาไป |
สามกษัตริย์คิดตกลง | ให้กระบี่วงศ์กลับเวียงชัย |
เอ็งไปอยู่กรุงไกร | แทนองค์ไทท้าวยักษา |
เกิดศึกในนคร | จะใช้ศรให้ไปหา |
กระบี่รับคำสองรา | บังคมลาแล้วเหาะไป |
ถึงเมืองเล่าถ้วนถี่ | จันทกิณีก็ร่ำไร |
ให้กระบี่มีฤทธิไกร | ครองเวียงชัยแทนมารา |
ฝ่ายนางจันทกิณี | ผู้มเหษีท้าวยักษา |
รู้ว่าพระภัศดา | ม้วยมรณาในไพรเขียว |
ว่าโอ้พระผ่านฟ้า | ทิ้งน้องยาไว้คนเดียว |
เมียนี้ไม่มีที่จะเหลียว | เปลี่ยวพระทัยให้โหยหา |
ลูกชายยังน้อยไส | ให้แทนไทพระบิดา |
ปกป้องครองนครา | ในมหาเมืองตาวัน |
กล่าวถึงนางเทเวศ | อันเรืองเดชเวศนุกรรม์ |
เห็นยักษ์กลับนครัน | ทั้งพลขันธ์คลายหัวใจ |
คีรีแบกไอ้งูยาว | ตามส่งท้าวถึงเวียงชัย |
ปัญจาท้าวจอมไตร | ถึงวังในเทียบรถทรง |
ท้าวขึ้นปรางค์ปราสาท | ด้วยสองนาฏนิ่มนวลหงษ์ |
ท้าวสระชำระองค์ | แล้วขึ้นทรงแท่นมณี |
โฉมนางคันธมาลา | เห็นผัวมาก็ยินดี |
มาเฝ้าท้าวสวามี | แจ้งเหมือนที่ราวีกัน |
ครั้นจะเล่าเป็นซ้ำความ | สนธยายามค่ำลงพลัน |
ท้าวเสด็จเข้าปรางค์จันทน์ | ด้วยนางคันธมาลา |
เวศณุกรรม์กับวันพุธ | สองพระนุชเข้าห้องปรา |
บรรทมภิรมยา | นางเหนื่อยมาหลับลืมไป |
อรุณรุ่งเรืองโรจน์ | แสงช่วงโชติจักรวาลัย |
ต่างตื่นจากบรรทมใน | ชำระพักตร์แล้วขึ้นปรางปรา |
ปัญจาท้าวออกนั่ง | ยังท้องพระโรงรจนา |
ข้าเฝ้าต่างเข้ามา | พระราชาโกรธคือไฟ |
ชาติชั่วกลัวมารร้าย | วิ่งทิ้งนายคิดอย่างใด |
เกลี้ยงดีไม่มีใคร | กูขอบใจคีรีนันท์ |
ชาติไพร่ไอ้พวกบ้า | ชอบกูจะฆ่าสี่ห้าพัน |
แรกไปกลัวไหรมัน | เห็นหมู่ยักษ์กลัวจักตาย |
แล่นวิ่งทิ้งนายเสีย | สากลัวเมียจะเป็นไหม้ |
สองนางเห็นวุ่นวาย | ทูลห้ามท้าวขอโทษภัย |
เอองดแลนางขอ | คนอื่นพ่อไม่ลงใจ |
สี่กษัตริย์กล่าวปราศรัย | นึกถึงบุญคุณวันคาร |
ปางองค์พระทรงภพ | สิ้นศึกรบไพรีมาร |
จะให้นางแก่วันคาร | จึงคิดอ่านแต่งหีบกล |
เหล็กตีเป็นหีบใหญ่ | พออยู่ในได้สองคน |
ช่างเหล็กมือแยบยล | รุมกันทำเป็นการไว |
ช่างกลุ้มรุมกันทำ | เช้ายังค่ำแค่สอบไส่ |
ประแจกลไว้ข้างใน | ใครเปิดได้หาไม่มี |
แล้วพาเข้ามาถวาย | ชอบใจไท้พระจักรี |
แล้วให้นางมเหษี | สอนบุตรีอรธิดา |
นางคันธมาลานาฏ | จรลีลาศเข้าห้องปรา |
ขึ้นสู่แท่นรัตนา | อุ้มลูกยาแล้วร่ำไร |
โอ้ว่าดวงเนตรแม่ | แต่นี้แหละจะจากไกล |
โอ้โอ้เจ้าดวงใจ | ไปไกลแม่มิเห็นกัน |
โอ้โอ้จินดาดวง | หวงเหลือหวงแต่กรรมทัน |
ฟังแม่อย่าโศกศัลย์ | สั่งสอนกันจำใส่ใจ |
มีผัวคือหัวแหวน | ชายดูแคลนได้ที่ไหน |
ไม่มีคู่ร่วมใจ | เหมือนต้นไม้ชายทางเดิน |
ใครนั่งใต้ต้นไทร | สับฟันไปเล่นเพลินๆ |
มีหนามคนคร้ามเกิน | แต่จะเดินก็อ้อมไกล |
มีผัวอยู่กับกาย | จึงผู้ชายไม่ไยไพ |
แม่ทุกข์แต่หูกใน | ฝ่ายทิ่มตำไม่ทำเลย |
ทั้งนั้นผัวไม่โกรธ | แม่ไม่โทษเจ้าไม่เคย |
โฉมงามแม่ทรามเชย | ไม่ห่อนเลยจะหยิบทำ |
แม่สอนจงจำหมาย | อย่านอนสายเจ้างามขำ |
ยามนอนอตสาหยำ | คลำบีบบาทให้ภัศดา |
เจ้าไม่เคยได้ผัว | แม่สากลัวพ้นปัญญา |
ผัวโกรธผัวเจ้าด่า | นั่งน้ำตาราวงวงตาล |
ผัวโกรธอย่าโกรธกัน๒๑ | จงอดกลั้นเถิดนงคราญ |
อย่าทำหริตหญิงพาล | ลงกลางบ้านร้องด่าผัว |
ทำกรรมอย่าทำเวร | อย่าทำเณรรู้กว่าขรัว |
เพื่อนบ้านเขาจะหัว | ว่านะผัวเหมือนแรตไฟ |
เนื้อเย็นยังเป็นสาว | เพื่อนคราวๆยังไม่ไขว่ |
เพราะพ่อเจ้าดวงใจ | น้ำลายไหลอยากลูกเขย |
ปัญจาห้ามเมียรัก | ยังสอนนักเทียวหรือเหวย |
อย่าสอนให้มากเลย | นั่งเอ่ยเอื้อนเหมือนทำเพลง |
แต่งองค์เถิดโฉมตรู | นางไม่รู้สอนใจเอง |
สนมนางต่างครื้นเครง | ร้องไห้รักอัคยุพิน |
กล่าวใยความโศรกเศร้า | ทั่วแดนด้าวรักกันสิ้น |
ผู้ฟังจะติฉิน | ว่าชิหนอพ่อสำนวน |
ท้าวให้นางสองคน | ลงบัดดลในหีบกระบวน |
เงินทองของค่าควร | ส่งให้นวลพาติดไป |
ฝูงคนไม่ให้รู้ | นางโฉมตรูเข้าหีบใหญ่ |
ลั่นแจไว้ข้างใน | เรียกหมื่นไวเอาวอมา |
จึงยกใส่วอทอง | ธิษฐานต้องตามปรารถนา |
ผู้ใดเอามีดพร้า | มาสับฟันอย่าหวั่นไหว |
เสนากราบลาไทย | หามหีบใหญ่ถือหวายหน้า |
เดินทางมากลางทะลา | ฝูงเสนาดูเต็มไป |
ที่รู้ว่ามิ่งสมร | นั่งให้พรแก่นางไท |
ที่ไม่รู้ว่าไอ้ไหร | โน้นผีใครเขาหามมา |
พวกตำรวจจับไพล่ศอก | ถองขี้ออกหะน้ำฉา๒๒ |
ส่งให้ศรีรักษา๒๓ | ใส่หราง๒๔ไว้ไอ้ปากดี |
หามหีบถึงชายคลอง | คนทั้งผองมาอึงมี่ |
ใส่เรือลงทันที | พายเร็วรี่ถึงกำปั่น |
ร้องเรียกนายนาวา | เพื่อนคอยมาดูด้วยพลัน |
เครื่องประทานยื่นให้กัน | แล้วรุม๒๕ยกเอาหีบใหญ่ |
ขึ้นตั้งบนนาวา | แล้วสนทนาเปรยปราศรัย |
หีบนี้ท่านฝากไป | กุมารไทเจ้าวันคาร |
ฝากฝังแล้วมิช้า | ลงนาวามาสู่บ้าน |
รีบดึ่งถึงมินาน | จอดเรือแล้วกรากเข้าไป |
ขึ้นวังบังคมบาท | ปัญจาราชชื่นพระทัย |
ทูลเล่าเรื่องราวไป | เจ้าสุริไอยภิรมยา |
ส่วนว่านายเรือใหญ่ | เพื่อนดีใจทุกทีมา |
วันนั้นสิ้นสินค้า | ลมพัดกล้าเพื่อนใช้ใบ |
ถึงทะเลเวลาเช้า | แล่นลมว่าวไปไรไร |
โลมาปลาเพียนใหญ่ | ตีน้ำฟุ้งเทียมปลายตาล |
ลาวจีนบอกกันแซ่ | หวาชอบแลกับปลาวาฬ |
ชมปลาช้านิทาน | สามวันวารถึงภารา |
ทอดสมอนอกทะเลใหญ่ | พูดกันไปตามภาษา |
หีบนี้เขาฝากมา | อะไรหนาอยู่ข้างใน |
นายสะเภาเข้าเปิดดู | ลิ้นมันอยู่ที่ตรงไหน |
เปิดบอบเที่ยวรอบไป | ช่างเรียด๒๖กระไรเขาทำมา |
คนหนึ่งเพื่อนคิดออก | เอาสิ่วตอกออกดีกว่า |
เจาะลงมิได้ช้า | เหล็กกล้ากินสิ่วสิ้นไป |
ฉวยเสียมบ้างฉวยขวาน | เข้าสังหารเอาหีบใหญ่ |
เหล็กสะกัดทั้งบุ้งไบ | หีบใหญ่กินสิ้นเครื่องมือ |
คนหนึ่งได้ขวานปลี | ถุ้ง๒๗สักทีก่อนเถิดหรือ |
ตั้งใจทุ้งสองมือ | เหล็กกล้ากินจนสิ้นไป |
ยังกุมแต่ปลายปลี | ค่านิ้วชี้มิสาไหร |
ต่างคนต่างจนใจ | เหนื่อยเหงื่อไหลไม่เป็นการ |
นายสะเภาว่าเราอา | สิ้นมีดพร้าทั้งสิ่วขวาน |
จนจิตเราคิดอ่าน | ราวพระกาฬอยู่ข้างใน |
พูดพลางเจ๊กหัวร่า | ติ้วหน้าหม่าไม่สาไหร |
ถึงจะให้วันคารไป | ออกเมื่อใดเปล่าเหมือนกัน |
ไหนไหนของประจง | เอาไปส่งให้แก่มัน |
ช้าใยพาไปพลัน | คิดพร้อมกันลงเรือมา |
จอดเรือแล้วขนของ | ทั้งเงินทองและเสื้อผ้า |
ข้าเฝ้าโฉ่ฉาวมา | ลงนาวาขนของไป |
วันคารกุมารรู้ | ลงมาสู่นาวาใหญ่ |
กล่าวพร้องร้องถามไป | นูฉันไสแลกอะไรมา |
นายสะเภาฟังเยาวยอด | สุนทรพลอดว่าน้องอา |
พี่นี้ได้หีบมา | มิรู้ว่าสิ่งใดใน |
มาเอาเถิดเยาวยอด | รอดไม่รอด๒๘ก็ตามใจ |
วันคารเจ้าลงไป | ยกหีบใหญ่ขึ้นใส่บ่า |
เทพเจ้าเบาหีบให้ | ขึ้นดอนได้แบกหีบมา |
นายสะเภายอวาสนา | ว่ากระไรนี่ที่เรี่ยวแรง |
วันคารได้หีบใหญ่ | แบกเดินไปด้วยกล้าแข็ง |
แบกเล่นราวนายแรง | แข็งนักหนาพาโอเอ |
ถึงทับ๒๙ปลงลงไว้ | นอนพิงไม้แลเอเต |
ใต้ต้นไม้สาเก | ต้องแดดนายหาไม่มี |
คิดจะเปิดดูข้างใน | เปิดตรงไหนไม่รู้ที่ |
รอยดานหาไม่มี | ช่างเรียดดีเหมือนเนื้อเดียว |
วิ่งเข้าไปในทับ | จับเอาพร้ามาบัดเดียว |
ทำกระไรเรียดจริงเจียว | เอาพร้าฟันลิ้นหีบใหญ่ |
ทุ้งเข้าเสียงดังปับ | เหล็กเป็น๓๐รับกินค่อนไป |
ต่อยด้ามเอากั่นไช | เหล็กด้ามพร้าเป็นสิ้นกัน |
แล่นกลับไปบอกตา | พ่อข้ามาดูหีบฉัน |
ฝากธนูไปวันนั้น | ของสำคัญแลกได้มา |
หีบนั้นเปิดไม่ออก | หีบเปล่าหลอกกระมังหนา |
มันหนักสุดปัญญา | ไม่รู้ว่าสิ่งใดใน |
ตาไสฟังลูกบอก | ขวานเฉียงออกกลัวอะไร |
กุบกับ๓๑จับขวานใหญ่ | ราคาบาทแบกนาด๓๒มา |
ถึงหีบพิจารณาไป | เฉียง๓๓ตรงไหนทีละหา๓๔ |
ว่าแล้วก็ตั้งท่า | เฉียงกลางตรงลงดังป็อง๓๕ |
หีบกินขวานสิ้นไป | ยืนเสียใจกุมด้ามจ้ง๓๖ |
ผิดแล้วแยะนั่งท็อง๓๗ | กูมันล็อง๓๘สรรพราสา๓๙ |
พ่อลูกถูกคนที | นั่งหยู้หยี้๔๐ยี่หน่วยตา๔๑ |
เจ้ากรรมจริงฟ้าผ่า | ด้ามขวานถา๔๒เม้น๔๓ถึงโคน |
เพราะตามไอ้วันคาร | ไม่คิดอ่านเอาขวานโลน๔๔ |
จนแล้วจนถึงโคน | ด่าพี่สาวเจ้าหีบใหญ่ |
ยิ่งสั้นมันยิ่งคด | พร้าขวานหมดหดเข้าไป |
คิดจะเอาของข้างใน | ไอ้ข้างนอกปอกด้ามปล่อย |
ยิ่งค้ายิ่งขาดทุน | ขาดในหุ้นอยู่บ่อยๆ |
เครื่องใช้ยังนิดหน่อย | ย่อยด้วยกูถูปะเม๔๕ |
เสียดายขวานถาใหญ่ | สูญเปล่าไปไม่สมคะเน |
พิงไว้โคนสาเก | นั่งแลควายพอได้การ |
เข้าทับเล่ายายประสา | หร่อย๔๖นักหนาหีบกินขวาน |
ยายนั่งฟังอาการ | ใจเดือดดาลโทษเอาตา |
เฒ่าแล้วยังทำเด็ก | ขวานเฉียงเหล็กไม่ประสา |
ครั้นเรานั่งบ่นว่า | หน้าเหมือนลิงต้องน้ำฝน |
ขันตะกั่วตักตะกั่ว๔๗ | เฒ่าฉากหัว๔๘โม่๔๙เกินคน |
เคอะ๕๐แล้วมัทกะ๕๑ปน | ลึ่ง๕๒เข้ากันสมเป็นล็อน๕๓ |
ตาว่าชะแม่ยาย | ฟันหาไม่แล้วยังด้น๕๔ |
คนอื่นกลัวเหมือนอ้น | ได้แต่ด้น๕๕ข่มเหง๕๖เรา |
อย่าด่าให้ปากเมลือก๕๗ | คลำแลเหงือกมั่งปรือเหลา๕๘ |
ยายเหออย่าด่าเรา | บาปไม่เบาเทพนิมนต์๕๙ |
ยายว่าเฒ่าจังไหร | เทพดาไหนแค่สัปดน |
เทพเจ้าเล่าชอบกล | มนต์มาเบียนขวานเหี้ยนกู |
ตาว่าแม้ชิหนอ | ของไม่พอจะหนักหู๖๐ |
แรกเราได้ก้บสู | กูไปไหว้ลุงให้ขวาน |
ตัดหัว๖๑เฒ่าตายโหง | ซื้อดานโลงแล้วยังพาล |
เงินบาทค่าขายสาร | ลงทุนซื้อไม่ใช่หรือ |
กูแพ้แล้วแม่ยาย | ลืมใจหายจะทำปรือ |
มนต์เท่าเถิด๖๒อย่าดื้อ | ค่อยซื้อใช้สี่ห้าขวาน |
ยายตาด่ากันอึง | กล่าวไปถึงเจ้าวันคาร |
ค่ำเช้าเป็นนิจกาล | นอนแลควาย๖๓บนหีบใหญ่ |
ยามค่ำเข้าหนำร้าย๖๔ | นอนกับยายสบายใจ |
วันคารสุดแก้ไข | เปิดหีบใหญ่ไม่เคลื่อนคลาย |
ขวัญข้าวเจ้างามครบ | ธำรงชบ๖๕เป็นของถวาย |
ไก่ขันมาไจ้ไจ้ | ย่องตั้งไว้หลังหีบใหญ่ |
มรับ๖๖ทองของคาวหวาน | เต็มทุกจานหอมวิไล๖๗ |
เจ้าตั้งแล้วฉับไว | เข้าหีบใหญ่ใส่แจกล๖๘ |
(ราบหรือสุรางคนางค์ ๒๘)
รุ่งแจ้งแสงฉาน | |
ทรงธรรม์วันคาร | ตื่นขึ้นก่อนคน |
ล้างหน้ากินหมาก | ตามยากตามจน |
จากหนำของตน | ไปยังหีบใหญ่ |
มาถึงทันที | |
เห็นของสองที่ | ไอ้นี่ของใคร |
โตกเงินโตกทอง | เจ้าของไปไหน |
มาเหวยเอาไป | ข้าจะนอนแลควาย |
ยิ่งเรียกยิ่งเหียบ๖๙ | |
ยิ่งเรียกยิ่งเพรียบ๗๐ | เจ้าของหาไม่ |
ชอบกลนักหนา | แลขวาแลซ้าย |
เห็นคนเงียบหาย | ขึ้นได้เปิดดู |
หยิบจานฝอยทอง | |
กินแล๗๑ชิมลอง | ไอ้นี้หร่อยอยู่ |
ตานั่งในหนำ | ร้องเรียกฉาวฉู่๗๒ |
ว่าเหวยเจ้าหนู | มากินข้าวปลา |
เรียกช้าเรียกนาน | |
เรียกเรียกไม่ขาน | คลานคอยช่องฝา |
ออโน๗๓วันคาร | พ่อจานลูกหวา๗๔ |
ใครให้นุ้ยหา๗๕ | ไม่ถ้า๗๖พ่อกัน |
ลงจากหนำไว | |
ขึ้นบนหีบใหญ่ | ชะใครให้มัน |
วันคารฟังพ่อ | หัวร่อพูดกัน |
ตาว่าหัวมัน๗๗ | ของใครตามใจ |
ลูกว่าลางที | |
เขาถวายเจ้าที่๗๘ | ตาว่าช่างใจ |
ไม่ใช่ที่ตั้ง | มาตั้งไว้ไตร๗๙ |
ของใครตามใจ | ถดมาลูกบ่าว |
(ยานี ๑๑)
ส่วนว่าท่านตาไส | หยับเข้าใกล้โตกของคาว |
มือร่าคว้าถ้วยข้าว | ซาวแกงหมูดูอรักหร่อย |
เปิบรุกจุกเข้าไป | ได้ดังใจไอ้นั่นปล่อย |
บอกลูกว่ามันหร่อย | จุกเหนียวพลอยตามน้ำแกง |
ลูกเห็ดเกล็ดกับเหงือก | เคี้ยวเป็นเปือกบอกมันแข็ง |
หมูขั้วอั้วหอยแครง | ไม่แข็งแรงเหมือนทอดมัน |
ผันบอกแก่ลูกน้อย | พ่อมันหร่อยเหมือนขึ้นสวรรค์ |
ลูกว่าข้าเหมือนกัน | หร่อยเฉื่อยเรื่อยเหมือนลูกลม |
ของอื่นหาหมดไม่ | เฒ่าขยายถดหาขนม |
ขัดสมาธิ์พุงตึงกลม | เปิดฝาเชอหยิบฝอยทอง |
ใส่ปากย้ำกลืนคลก | ได้แรงอกอกราวเขาถอง |
บอกลูกว่าฝอยทอง | แล้วชิมลองสิ้นสองอ่าง |
ลอดช่องสองโถยอด | ซดดังวอดฟัดโถผาง |
เออไอ้นี่หนม๘๐ขี้กวาง | ยกถางซดตดขี้ฉา |
เครื่องทิพย์ของคาวหวาน | กินสิ้นชามเต็มขึ้นมา |
ฉวยถูกจานสังขยา | จุกขวาซ้ายไม่โอเอ |
ร้องบอกแก่ลูกชาย | หวานเหมือนจะตายไอ้นุ้ยเหน |
นั่งพิงโคนสาเก | มือยังหยิบบ่นคัดพุง |
จาจาตาเทเพน | กินสิ้นเกณฑ์พุงเท่าบุง |
บอกลูกว่าเสียดพุง | กูปรือฉู้ฉิบหายเหวย |
ปากบ่นแต่โพกถด | แกงบวชหมดหรือยังเหลย |
กูจะกินให้ออกเอย | ตายกับกินช่างหัวมัน |
ฉวยโถซดดังวอ | พ่อเหยพ่อมันหวานครัน |
ทั้งหวานและทั้งมัน | เจ้าของมันอยู่แค่ไหน |
ผันบอกแก่ลูกน้อย | พ่อมันหร่อยเหมือนจะขาดใจ |
ยกซดเข้าปึงไป | แกงบวชไหลหกเต็มพุง |
แมงโรมตอมพุงอื้อ | แมงวันฮือราวโพรงอุง |
ตั้งโถมือคลำพุง | ปากเรียกเมีย เหว้อ ! อีสา |
มาจูงกูที่ไฮ้ | เดินไม่ไหวเนฟ้าผ่า |
เอาโนไม่เร่งมา | เจ็บในพุงกูหนักเหน |
ยายว่าเรียกข้าไตร | ธุระไหรโคนสาเก |
แม้ชิยังถามเป้ | บอกเหลือบอกว่าคัดพุง |
ยายออกมาถามไถ่ | เอาเติ้นกินไหรพุงเท่าบุง |
แลโนยังถามยุ่ง | มาแคละพุงกูไปที |
ยายพาเข้าหนำไว | ถึงห้องในเสียงอึงมี่ |
แยะนั่งหน้าหยู้หยี้ | เอยดังควากแกงบวดฉ่า |
ยายว่าเฒ่าจังไร | กินแต่ไหนกินเผื่อหมา |
กูมันชังแต่น้ำหน้า | ครั้นเราว่าเถียงหนักหู |
อย่ามาฉาวเฒ่าหัวงม | มันหร่อยหนมทำปรือกู |
เนกูจะบอกให้รู้ | ของใครฉู้กูลักกิน |
ยายว่ากินของใคร | กูไขวใจฉิบหายสิ้น |
ดีนักเที่ยวลักกิน | จนดือปลิ้นครางอย่างวัว |
วันนั้นสนธยาย่ำ | พอพลบค่ำอำชะมัว |
ท่านตาครางน่ากลัว | ทั้งเมียผัวหลับลืมไป |
ไก่ขันนายวันคาร | ตื่นคิดอ่านรำพึงใน |
แม้ชิชิหนมของใคร | กูฉงนใจพ้นปัญญา |
ครั้นจะนิ่งเขาว่าโม่ | ครั้นฉาวโฉ่เขาว่าบ้า |
อย่าเลยตัวกูอา | จะซาบมองลองสักวัน |
คิดแล้วยกขึ้นไว | ย่องออกไปแต่ไก่ขัน |
มาเล่าคงปะกัน | ให้รู้จักมันสักที |
แล้วย่องมองเข้าไป | ข้างหีบใหญ่ทับเรียดดี |
ขยับย้ายพอได้ที่ | พระสุรีย์สร้างขึ้นมา |
กล่าวอ้างนางวันพุธ | กับเทวบุตรนางชาวฟ้า |
ครั้นถึงยามเวลา | ที่เคยพาขนมออกไป |
นางชบ๘๑มรับเงินทอง | มีข้าวของอยู่ข้างใน |
หวานมันครบครันไป | ใส่แล้วยื่นให้เทวา |
นางฟ้าศักดาเดช | ของวิเศษรับเอามา |
ไขแจไม่พิจารณา | ด้วยฉายาถึงคู่กัน |
ไขแจพลางปราศรัย | พูดอยู่ในสองนักธรรม์ |
ข้างนอกรู้ด้วยกัน | ว่าใครฉู้๘๒อยู่ข้างใน |
หีบนี้มีแจลิ้น | รู้อยู่สิ้นสมอาลัย |
เปิดออกมาเมื่อใด | ดันเข้าไปแลสักที |
ยืนหมัง๘๓ตั้งท่าดัน | พอนางสวรรค์เจ้ายกที่ |
นางฟ้าเจ้าลาลี | เท้าข้างหลังยังอยู่ใน |
วันคารกลัวไม่ทัน | เอาหัวดันดุนเข้าไป |
วันพุธนางตกใจ | ชะ๘๔หีบใหญ่ปิดติดพุง |
มือร่า๘๕คว้าฉวยนาง | แลท่าทางนางหลบยุ่ง |
ฉวยผ้าคว้าพบพุง | สู้กันฟุ้งปัดกันไป |
คว้าติดมือวันพุธ | เพื่อนวิ่งผลุดเข้าหีบใหญ่ |
ฮาย๘๖แม่เอยสว่างใจ | กว่าจะถึงในเหงื่อเป็นมัน |
เทวาหลุดมานอก | คอยซาบ๘๗บอกนางสวรรค์ |
พี่นี้วิศนุกรรม์ | อยู่ในชั้นฉกามา |
นำอนงค์มาส่งแล้ว | พี่จะลาแก้วคืนเมืองฟ้า |
นางอนงค์วงศ์เทวา | ทราบกรรฐาบาย๘๘พระทัย |
จะร่ำว่าสุดานุช | นางวันพุธในหีบใหญ่ |
อยู่เดี่ยวเปลี่ยวพระทัย | นั่งแล๘๙ใจนายวันคาร |
วันคารนั่งนานช้า | ชมยุพาสุดามาลย์ |
หอมกลิ่นประทิ่นหวาน | ใจพล่านพล่านใคร่ดมแล |
ปากว่ากีดเหลือกีด๙๐ | ถดทีหีด๙๑จนเข้าแค่๙๒ |
นางว่าอย่ามาแหย่ | แค่ข้านักจะเกิดความ |
นางถามว่าอยู่ไหน | นายชื่อใดแลหลูมหลาม๙๓ |
เราถดถดมาตาม | นั่งเล่าความอย่าเข้ามา |
ชื่อพี่หรือนงคราญ | นายวันคารบ้านปลายนา |
ไม่มีปิตุมารดา | อยู่ด้วยตาพ่อยกใหม่ |
พี่นี้เมียหาไม่ | ให้พี่ตายไปเดียวใจ๙๔ |
เห็นนุชสุดอาลัย | ใจพี่รักอยู่หน่อยหน่อย |
นางว่านายวันคาร | อย่าเกี้ยวพาลแต่หร่อยหร่อย |
พูดเล่นแต่พล่อย ๆ | ได้ทีพลอยเกี้ยวถึงตัว๙๕ |
ท่านไม่มีภรรยา | ถึงตัวข้าหาไม่ผัว |
แต่ข้าไม่เอาตัว | ข้าสากลัวเชิญออกไป |
เชิญออกไม่ออกแน่ | เชิญเข้าแค่ติดเต็มใจ |
มดคันมาพบไห | น้ำผึ้งแล้วอย่ายิก๙๖เลย |
นางว่านายวันคาร | ด้านเหลือด้านพ่อคุณเอ๋ย |
เร่งยิกเร่งทำเฉย๙๗ | เหมือนลิงเฒ่าเข้าไร่แตง |
จริงแลน้องลิงพบเหมีย | ลิงจนเมียลิงฤดูแล้ง |
อดน้ำมาปะแตง | ถึงยิกก็ทนจนได้กิน |
ทูลพลางเจ้ย๙๘คางสมร | นางปัดกรบ่ายพักตร์ผิน |
หอมลมชมรสกลิ่น | มารวยริ่นจับใจชาย |
นางว่านายวันคาร | ขอเชิญท่านเร่งผันผาย |
อย่าเชิญเลยทรามเสียดาย๙๙ | ใช่เข้าง่ายแจอยู่ใน |
แม้นนุชจะขับไล่ | ตัวพี่ชายไม่ออกไป |
แม้นจะม้วยลงด้วยใย | พี่ไม่ไปไกลจากนวล |
ถึงแม้นจะวอดวาย | ดีกว่าตายอยู่แต่ส่วน๑๐๐ |
โฉมยงอนงค์นวล | อย่าตัดรักหักอาลัย |
วันพุธสุดเสน่หา | ฟังวาจากล่าวปราศรัย |
ถึงท่านไม่ออกไป | ใครจะรวย๑๐๑ไปด้วยชาย |
วันคารฟังตอบพลาง | แลทีนางแค่ตัดได้๑๐๒ |
ครั้นเจ้ามิรักใคร่ | ถึงพี่ชายไม่ไปไหน |
หีบนี้หีบของข้า | แลกธนูมาแต่เมืองไกล |
โฉมนุชสุดอาลัย | ในหีบใหญ่เป็นของชาย |
นางว่านายวันคาร | หีบของท่านเอาเถิดนาย |
ศรศรีข้ามิไว้ | ท้าวฝากให้มาด้วยกัน |
น้องเป็นคนพลอยมา | จักขอลาจรคลาผัน |
งามขำทำปึ่งปั่น | หันแทงแจแลใจชาย |
วันคารฉวยมือชัก | ลากใส่ตักกอดนางไว้ |
นางเอยถึงวันตาย | มิปล่อยไห้เจ้างามไป |
อิสตรียังมีกระบวน | ฟังพอควรอย่าเสียใจ |
สองสนิทสองมิตรไม๑๐๓ | ใจต่อใจกรากถึงกัน |
วั่นคารลืมตายาย | นางโฉมฉายลืมไอสวรรย์ |
วันคารลืมรสมัน | นางเอววัลย์ลืมสนมใน |
วันคารลืมแลควาย | นางโฉมฉายลืมปรางชัย |
วันคารลืมแอกไถ | นางทรามวัยลืมเตียงทอง |
ฝ่ายว่าตากับยาย | นั่งหัวให้กันในห้อง |
ตาเฒ่าข้าวสอกท้อง | มาฉีกช่องนั่งย่องคอย |
วันนี้ลูกไปไหน | ถอนใจใหญ่ยังนึกหร่อย |
จากทับเดินหัวห้อย | บ่นลูกน้อยว่าไปไหน |
เหวยเหวยเจ้าวันคาร | ออกมานานอยู่แห่งใด |
ลัดเลี้ยวเที่ยวเรียกไป | เจ้าสุดใจอยู่ไหนหนา |
เร่งเรียกเร่งเหงียบเสียง | แต่เท้าเที่ยง๑๐๔จนเวลา |
ไม่พบหลบ๑๐๕หลังมา | ขึ้นบนหนำนั่งร่ำไร |
ลูกเหอเจ้าวันคาร | เลี้ยงมานานจนเติบใหญ่ |
เห็นทีจะเสียใจ | ว่ากูไปกินหนมหมัน๑๐๖ |
ถึงด่ากูจะว่าไหร | กูติดใจทั้งหวานมัน |
โดยจะกินถึงสามวัน | ใครไม่รู้จนกูตาย |
นั่งบ่นจนสนธเย | ค่ำโพล้เพล้ลงลับไม้ |
ตาไสใจปลิวหาย | ผิดลูกชายซ่อนกินหนม |
สนธเยเพลานอน | ไม่มาก่อนผิดนิยม |
นั่งคิดจิตเกรียมกรม | ข่มแขงขืนกลืนน้ำลาย |
ยายว่าท่านตาเอย | อย่าทุกข์เลยมันไม่ตาย |
เห็นทีจะผันผาย | ขึ้นไปเฝ้าเจ้าลุงตา |
ทีหลังเฝ้าลืมไป | ค่ำไรไรไม่สู้มา๑๐๗ |
ยายเฒ่าสองคนตา | นั่งบ่นหาแต่วันคาร |
กล่าวถึงเจ้าสองไท | อยู่หีบใหญ่คิดสงสาร |
ด้วยตาเรียกช้านาน | ไม่แจ้งการบ่นหาอยู่ |
น้องเอยมาไปไหว้ | ให้ตายายแกพึงรู้ |
แล้วจึงนายโฉมตรู | เจ้าแต่งองค์ทรงภูษา |
ไขประแจแล้วเชิญผัว | เชิญทูนหัวออกก่อนข้า |
วันคารว่าขวัญตา | เชิญยุพาออกก่อนชาย |
พี่ออกเจ้าอยู่ใน | ปิดหีบใหญ่ใส่แจไว้ |
เหมือนเจ้าแกล้งพี่ชาย | ให้เงยควายยืนเลียนเทียน๑๐๘ |
นางว่าอย่ากระนั้น | ออกพร้อมกันให้เสมอเศียร |
ฟังน้องต้องทะเบียน | ไม่วงเวียนออกพร้อมกัน |
พานางเข้าหนำนา | ถึงยายตานั่งอภิวันท์ |
ตาไสถามไปพลัน | ว่านางนั้นลูกของใคร |
เชิญเล่าเรื่องราวตา | เจ้าไปพามาแต่แห่งไหน |
โฉมศรีนี้ลูกใคร | ในชื่อชามนามกรปรือ |
แม่ยัง๑๐๙หรือแม่ตาย | พอมันให้มึงมาหรือ |
หรือพามากับดื้อ | หรือนางงามตามมึงมา |
มึงลาก๑๑๐หรือมึงขอ | มึงชอบพอกันหรือหนา |
เร่งบอกไปอย่าช้า | กูสากลัวนครบาล |
หอมผิดชาวข้างเรา | ไม่ใช่เหล่าชาวนอกบ้าน๑๑๑ |
เล่าตามาอย่านาน | เจ้าวันคารคงขายกู |
ใครชักใครสื่อให้ | กูบถ๑๑๒ได้กูไม่รู้ |
งามหมดรสอูชู๑๑๓ | หน้าตาดูดังนางสวรรค์ |
เร่งบอกมาไวไว | นางลูกใครอยู่ไหนนั่น |
วันพุธนุชตัวสั่น | ว่าฉันจะเล่าให้เข้าใจ |
ฉันเล่าแรกวันคาร | เป็นเดิมการฝากศรชัย |
จนรบมารบรรลัย | บิดาไทใส่หีบมา |
นางเล่าเรื่องราวไป | ตาดีใจโห่ดังฮา |
นางเล่าชื่อบิดา | ท้าวปัญจาเจ้าเวียงชัย |
แม่ชื่อคันธมาลา | ให้ลูกมาด้วยอาลัย |
อันตัวของลูกไส | ชื่อวันพุธสุดโปรดปราน |
นางเล่าขนมชบ | เล่าจนพบเจ้าวันคาร |
นางเล่าเจ้าวิมาน | องค์ทรงฤทธิ์วิศณุกรรม์ |
ฟังจบตบมือฮา | นั่นนางสาค่าธนูมัน |
ได้เมียราวนางสวรรค์ | มีบุญครันลูกวันคาร |
ขนมเจ้าหรือสะไภ้น้อย | หร่อยเหลือหร่อยหวานเหลือหวาน |
นางว่าหนมดิฉาน | ให้วันคารกับบิดา |
ตาว่ามาอยู่นี้ | ทำสักทีก่อนลูกหวา |
ยายเฒ่าคลานเข้ามา | เฮอนั้นสะไภ้ได้เหมือนใจ |
นางว่าฉานจะลายาย | ทิ้งมิได้ลูกหีบใหญ่ |
เงินทองของอยู่ใน | ล้วนอย่างดีมีราคา |
นางบอกแก่ตายาย | อยู่มิได้เมืองนี้หนา |
เพชรดีสีมุกดา | ธำมะรงค่าควรธานี |
ท้าวพระยาจักฉ้อขาย | ครั้นจักถวายเราไม่ดี |
อันตัวของลูกนี้ | ดีไม่ดีติดเข้าวัง |
คิดจะสู้พ่อแม่ไกล | จะเอาใครเป็นกำลัง |
บอกตาว่าจะไปตั้ง | สร้างพิภพชบเมืองใหม่ |
ตาว่าเจ้าอย่าทุกข์ | ครั้งนี้สนุกแส้วสุดใจ |
แต่งเกียน๑๑๔ทุกหีบใหญ่ | ทุกข์ร้อนใยวัวควายยัง |
พูดพูดจนรุ่งแจ้ง | ตั้งเมฆแดงในนภัง |
ตาลุกขึ้นฮึงฮัง๑๑๕ | ปล้ำคุงคัง๑๑๖แต่งเกียนใหญ่ |
ไอ้โฮบกับอีฮำ | ไม่ขี้ปล้ำควายคู่ไถ |
เทียมเกียนเป็นการไว | กลับหนำใหญ่ไปย็องย็อง๑๑๗ |
ฮายกูหอบเหงื่อไหล | นั่งลงไออยู่ข็องข็อง๑๑๘ |
หบไอ๑๑๙ไปฉวยด้ง๑๒๐ | เก็บเชอ๑๒๑กร้า๑๒๒พาไปกัน |
ยายว่าเอาไปไหน | ใครเอาไปชั่งหัวมัน |
สอบหมากกับตะบัน๑๒๓ | พาไปกัน๑๒๔เหวยท่านตา |
เปลือกย่อน๑๒๕กับพลูหนัง๑๒๖ | คงปะมั่งไปข้างหน้า |
ถึงไม่มีรสชา | แก้คาวคอพอได้การ |
ของใช้ยายมิทุ่ม๑๒๗ | สอบสองมุม๑๒๘จุกปากบาน |
ถ้วยโถทั้งโอจาน | ไว้ให้ทานที่หนำนา |
ไอ้ของจะพาไป | ทุกเกียนใหญ่ไม่ได้ช้า |
แล้วว่าวันคารอา | เอาหีบมาทุกเกียนลง |
วันคารยกหีบใหญ่ | ลำดับใส่ลงโดยจง |
ยายว่าเจ้าสององค์ | จงเร็วหรามาจะไป |
เร็วแร่แต่หัวรุ่ง | ยายาตยุ่งแต่ขนใส่ |
มาเหวยมาจะไป | อย่าให้ใครทันเที่ยวมา |
ขวัญข้าวเจ้าวันคาร | ทั้งนงคราญท่านยายตา |
ขึ้นเกียนไล่ควายมา | พอสว่างฟ้าไม่รุ่งดี |
พอรุ่งพ้นทุ่งนา | เข้าเขตป่าพนาลี |
ฝูงคนหาไม่มี | เที่ยงราตรีถึงไพรวัน |
(ราบหรือสุรางคนางค์ ๒๘)
บัดนั้นตาเฒ่า | |
ชี้ให้สองเจ้า | ชมไม้นับพัน |
ทั้งศรีสะใภ้ | ลูกชายด้วยกัน |
เข้าในไพรวัน | ชมพันธุ์รุกขา |
ยอมยุมชุมพู่๑๒๙ | |
สาเกสาคู | สาเหล้าสาลา |
เสาวรสเสาวรัตน์ | คนทัตคนทา |
จิกน้ำจันทน์นา | กระดาดลาดดง |
สักโศกสมเสร็จ | |
ตาไก่ตาเป็ด | กาหลา๑๓๐กาหลง |
พุดตาลดานงา๑๓๑ | เพกาหมู่กง๑๓๒ |
ลิ้นจี่ลินจง | คันธงคนที |
มังค่า๑๓๓มังคุด | |
กอเปียกอปุด | กำหยันกำหยี |
กะถินกะถบ | ตะขบ๑๓๔ตะขรี๑๓๕ |
ลูกจันทน์ลิ้นจี่ | กะลุมพีกะลำพัก |
ยูงยางซางไทร | |
ระกำลำไย | เฟืองไฟสนสัก |
เหม็งซอ๑๓๖กิ่งเซ่อ๑๓๗ | นุ้ยเหอน่ารัก |
ชี้ไม้ช้านัก | ชมปักษาไป |
นกแก้วจับกุ่ม | |
นกเค้าเข้าซุ่ม | บินคาบฉาบ๑๓๘ไข่ |
ขุนทองจับเทียน | กระทุงเกรียน๑๓๙ร่อนไป |
แซงแซวจับไทร | ไต่ยิกจิกกัน |
นกเดินสุธา | |
นกสัก๑๔๐นกสา | เคียงคู่ดูขยัน |
พบหนองย่องหา | ได้ปลาชิงกัน |
อิ้ลุ้ม๑๔๑นกชัน๑๔๒ | หักซุ้ม๑๔๓หุ้มตัว |
สัตว์ดินเดินดง | |
ฟานเต้นเม่นจง๑๔๔ | ค่างเห็นคอยหัว |
ชะนีน้อยห้อยไม้ | เยื้องกายโยนตัว |
ปีนไม้ป่ายมัว | พาตัวขึ้นไป |
กะต่ายแล่น๑๔๕เต้นไล่ | |
หมาไน๑๔๖เยื้องกราย | ขบทราย๑๔๗ใต้ไทร |
เสือไล่หมูแล่น | เม่นพลอยตกใจ |
บัดขนเกร็งไป | แทงชึง๑๔๘ถึงดำ๑๔๙ |
ควายพาเกียนไคล | |
ค่ำนอนรุ่งไป | เดินเช้าหยุดค่ำ |
โดยจะนับคณนา | แรกมาแต่หนำ |
ได้นับได้จำ | สิบห้าวันมา |
นางเห็นมหาสถาน | |
ที่นี่สนุกสนาน | ถามท่านยายตา |
ว่าเขานี้ไซร้ | ชื่อเขาใดหนา |
ตาบอกไม่ช้า | ว่าเขานิลกรรณ |
ลงจากเกวียนไว | |
ทางเที่ยวเดินไป | แสนสนุกสุขสรรพ์ |
แล้วกลับมานั่ง | ยังร่มไทรพลัน |
ตายายพร้อมกัน | นางชบโภชนา |
ข้าหนอยกไหว้ | |
ญาติกาขวาซ้าย | จงได้เมตตา |
ฟังเรื่องนิทาน | อย่าพาลนินทา |
พี่น้องน้าป้า | ได้มาโปรดปราน |
ซ้ายขวาหน้าหลัง | |
ที่ประดามานั่ง | ฟังเรื่องวันคาร |
หมากพลูปูนยา | โปรดปรานีฉาน |
มิได้รับประทาน | ผู้อ่านเต็มที |
คอแห้งแรงหย่อน | |
ซุกเซาหาวนอน๑๕๐ | กล่าวกลอนไม่ดี |
ศัพท์เสียงของข้า | โรยราเต็มที |
ผู้ฟังทั้งนี้ | อย่ามีฉันทา |
(ยานี ๑๑)
ปางนั้นอนงค์นุช | นางวันพุธยอดยุพา |
เจ้ายกดวงจินดา | อธิษฐานพลางวางมณี |
บังเกิดเป็นสำรับ | ตั้งลำดับมาด้วยดี |
หวานที่ของคาวที่ | ตั้งเรียงมาทุกหน้าไป |
สองราชวนตายาย | กินให้สบายคลายอาลัย |
สององค์เสวยไว | ฝ่ายข้างหลังยังยายตา |
ส่วนว่าท่านตาเฒ่า | ขัดสมาธิ์เข้ามิได้ช้า |
ปากว่ากูข้าวปลา | ในวันนี้เป็นไม่กิน |
เห็นหนมในโตกใหญ่ | นึกในใจกูคาด๑๕๑สิ้น |
สังขยาตาหยิบกิน | ชะหวานดิ้นเทียวอียาย |
ยายว่าอย่านักไฮ | แล้วมึงจะไตรอีฉิบหาย |
กูกินของลูกสะใภ้ | กูไม่ใช่กินของใคร |
แล้วยกโถลอดช่อง | ซดแลลองฮือชื่นใจ |
ตั้งโถหยิบกินใหม่ | ฉวยหนมโคทอดกลืนคลก๑๕๒ |
สาคูซดดังวอ | พ่อเหยพ่อได้แรงอก๑๕๓ |
ยายว่าเฒ่าหยาจก | ซดลกลกราวคนชิง |
อย่าว่ากูเลยแม่ | กูไม่แชเหมือนคนหญิง |
กูกินกินจริงจริง | ไม่เหมือนสูนั่งเช็ดเลีย |
พุงตาไม่ป้งดี | ยายยกที่ออกไปเสีย |
เหม็ดผ้าคาดชกเมีย | งดอยู่เสียเกรงใจนาง |
อีดอกทือดื้อไม่กลัว | หึงษาผัวเห็นทั้งขวาง |
ถ้าไม่เกรงใจนาง | ใคร่ปล่อยแก่แลสักที |
เสร็จสิ้นกินอาหาร | วันคารเตือนมิ่งมารศรี |
เยาวเรศดวงเนตรพี่ | เชิญนารีชบพารา |
นางว่าพ่อตาไส | ดูฤกษ์ชัยหน่อยหนึ่งรา |
ตาฟังนางฉายา | ผึ่งตำราดูฤกษ์ชัย |
หาจบพบห่วงปลอด | เมื่อแมวคลอดลูกเป็นไก่ |
บอกสะใภ้ว่าสายใจ | แมวเป็นไก่ดีนักหนา |
พุธสามพฤหัสสี่ | เมื่อฝามีวิ่งขึ้นผรา |
ร้อยชั่งฟังตาว่า | ยกจินดาทูนเกษี |
สำนึกถึงเทวัน | เวศณุกรรม์ชั้นพรหมมี |
คุณพระเจ็ดคัมภีร์ | ให้ข้านี้ลุปรารถนา |
คุณแก้วทั้งสามประการ | ขอคุณท่านปกเกษา |
อาจารย์บิตุมารดา | มาชูช่วยอวยพรชัย |
ธรณีผีเจ้าป่า | เจ้าถ้ำลาภูเขาใหญ่ |
ขอชบเป็นสุริไอย์ | ให้พร้อมไปด้วยโยธา |
รถรัตน์อัศวราช | กุญชรชาติอันแกล้วกล้า |
ปรางค์จันทร์สุวรรณา | ให้เกิดมาทุกสิ่งอัน |
ธิษฐานแล้วมารศรี | โยนมณีขึ้นไวพลัน |
พสุธามาหวาดหวั่น | ลมมืดมิดทุกทิศไป |
นางรับดวงจินดา | หมอกมัวฟ้าค่อยสว่างใส |
บังเกิดเป็นสุรีไอย์ | ตาดีใจว่าเฮโล |
เออน่านแลต้าอีสา | อีนุ้ยคว้าเอาใหญ่โต |
ลูกเราเล่าเต็มโซ | โม่เห็นแต่จะพลอยเมีย |
นางนึกสิ่งอันใด | เกิดครบไปมิได้เสีย |
เสสรวลตาชวนเมีย | เรียกนางพระยามาจะไป |
เชิญหราขวัญตาพ่อ | นั่งหัวร่ออยู่ทำไม |
เร็วรามาจะไป | ชมเวียงชัยดูสักที |
ว่าแล้วทั้งสี่ไท | ขึ้นเกียนใหญ่ใจเกษมศรี |
ขับควายไม่ช้าที | มิช้าดึ่งถึงพารา |
ขับเกียนเข้าในเมือง | คนนั่งเนืองกลัวบุญญา |
ตาเฒ่ายืนตั้งท่า | ป้องมือแลแกดีใจ |
ชมนั่นเดียวชมนี่ | แล้วชวนชี้ชมปรางค์ชัย |
เป็นขั้นถัดกันไป | มีคูล้อมป้อมแข็งขัน |
เข๑๕๔เกียนเวียนรอบตลาด | ฝูงประชาราษฎร์นั่งเรียงกัน |
ควายพาเกียนพาผัน | มาน้อยหนึ่งถึงวังใน |
ตาเฒ่าจูงลากควาย | รุนเกียนไว้ชายวังใหญ่ |
สนมนางในปรางค์ชัย | ไปรับอนงค์องค์นารี |
เชิญนางขึ้นปรางค์แก้ว | พร้อมกันแล้วฝูงสาวศรี |
กำนันเหล่าขันที | นั่งพัดวีพร้อมมูลกัน |
นางขึ้นยังเกยมาศ | ฝูงอำมาตย์นั่งเรียงรัน |
ตาไสในวันนั้น | ราวขึ้นสวรรค์เสียทั้งเป็น |
ปากว่ากูเกิดมา | ชั่วโป๑๕๕ย่าไม่เคยเห็น |
งามนักงามเขี้ยวเข็ญ๑๕๖ | ทีนี้เห็นสนุกแล้วกู |
เป็นชั้นมันเป็นช่อง | แลเป็นห้องเป็นซองรู |
งามแง่แลน่าดู | กูแลแลก็เวียนหัว |
เป็นชั้นเป็นเชิงนัก | ทั้งน่ารักทั้งน่ากลัว |
เที่ยวแลจนลืมตัว | ชมวังเวียนเข้าชั้นใน |
นาคทันต์ทั้งลับแล | แลงามแง่ตาชอบใจ |
เร่งชมเร่งเวียนไป | ถึงชั้นในแท่นสุวรรณ |
โคมระย้าชวาลาเรียง | มีกงเกียงวิสูตรกั้น |
มณีสีต่างกัน | แต่ชั้นชั้นเพียงวิมาน |
ชมเดินเที่ยวเพลินเนตร | งามวิเศษทุกประการ |
ยิ่งชมยิ่งพลุ่งพล่าน | ลานเลิงใจใฝ่เพราะชม |
ดีจริงฝีมือนาง | ทั้งทำปรางค์ทั้งทำหนม |
รูปร่างก็สบสม | ครั้นมือหนมกูชมครัน |
ชมแล้วแลหลังมา | เดินเหมือนบ้าเที่ยวเวียนวัน |
แลทีแค่มันขัน๑๕๗ | หันหลังหน้าด่าไปอึง |
เดินเมื่อยแล้วนั่งลง | กูมันหลงแล้วไสหมึง๑๕๘ |
เดินเก้อฉะเมร่อลึ่ง๑๕๙ | ขึงตาขาวราวตากวาง |
เดินเวียนเหมือนนับตู๑๖๐ | แลทีกูมันท่าทาง |
ครั้นจะเรียกบัดสีนาง | กูแลแลมันชอบกล |
อย่าเลยเรียกแลที | มันจะบัดสีสักกี่หน |
กุมตูดูชอบกล | ปากเรียกเมียเหวยนางสา |
ปากเรียกมือห่มตู | แลไหรฉู้๑๖๑มาเหวยมา |
เฮโลสาละพา๑๖๒ | ดังเพื่อนตัวนึกกลัวผี |
ยายฟังยังไม่ขาน | เจ้าวันคารฟังดูที |
แกเรียกทำไมมี | เห็นจะหลงแล้วหัวฉา |
ตาแก่กลัวทดทด | สั่นเสียหมดตกประหม่า |
ชั่วโปและชั่วย่า | ไม่มีใครเล่าข่าวที่ไหน |
แล่นเข้าคราวเดียวผิด | น่าเสียจิตน่าเสียใจ |
ทีนี้เข้าปรางค์ใน | ปูนขีดไว้หมายสำคัญ |
ลาหมาย๑๖๓ให้จนพอ | สิ้นสักหม้อช่างหัวมัน |
นึกกลัวเรียกปากสั่น | มาแลนี้เหวยอียาย |
ยายเฒ่าจึงขานไป | ว่าเรียกไตรเรียกเหมือนจะตาย |
ตาว่าแสนสบาย | หมายจะเรียกให้ชมกัน |
ยายว่าหลงดอกกระหมึง๑๖๔ | อย่าหกอึงใส่นี่นั่น |
หลงก็ว่าอย่างพรางกัน | เรียกเสียงสั่นเหมือนตกใจ |
โกรธยายตาเหมือนจง | แฮ่กูหลงแหล่มึงจะไตร |
ลมตีตั้งพักใหญ่ | เรียกจะตายยังไม่มา |
ยายฟังนั่งหัวร่อ | เชิญเถิดพ่อออกนอกหน้า |
ตาว่ายายทองประสา | เดินมานั่งยังเกยชัย |
นางจัดให้ยายตา | เป็นวังหน้ามอบปรางค์ใหญ่ |
สนมนางในปรางค์ชัย | แบ่งปันไปให้เท่ากัน |
วันคารเป็นวังหลวง | จัดการตามกระทรวงทุกสิ่งสรรพ์ |
เมืองชื่อเมืองนิลกรรณ | มีครบครันทุกสิ่งไป |
วันคารกับวันพุธ | สองพระนุชครองราชัย |
ตายายสบายใจ | ไปด้วยพวกนางสาวศรี |
เช้าเช้าเจ้าวันคาร | ออกว่าการด้วยนารี |
ตรัสสั่งชาวธานี | ตรวจหน้าที่เมืองเวียงชัย |
ทางเรือทั้งเหนือใต้ | ตั้งด่านไว้ทุกแห่งไป |
อำมาตย์รับสั่งไท | ไปตรวจตราข้าราชการ |
วันคารสำราญรื่น | น้ำใจชื่นด้วยนงคราญ |
เทียมเสวยภพศฤงฆาร | ใจเบิกบานแต่นั้นมา |
จบบริบูรณ์
-
๑. ความโกง ความอวดเก่ง หรือคุยโม้ ยกตนข่มท่าน ↩
-
๒. ท้าวพันตา พระอินทร์ ↩
-
๓. เพษณุ พระพิษณุกรรม ↩
-
๔. ยกขึ้น ตื่นขึ้น ลุกขึ้น ↩
-
๕. งูบองหลา งูจงอาง ↩
-
๖. แมงบี้ แมงปอ ↩
-
๗. ถกคอแล ชูคอขึ้นคอยดู ↩
-
๘. ขวยใจ เป็นห่วงกังวลใจ ↩
-
๙. ติดลึ่ง ออกจะทะลึ่ง ↩
-
๑๐. เมลินเนตร ลืมตา ↩
-
๑๑. อย่าทำท่านักปรือเหลา อย่าอวดเก่งนักมิได้หรือ ↩
-
๑๒. เม่า โง่ ๆ บ้าๆ ↩
-
๑๓. หน้าเหมีย หน้าสัตว์ตัวเมีย เหมียแปลว่าเพศหญิงใช้กับสัตว์ ↩
-
๑๔. นุ้ย น้อย ↩
-
๑๕. ปนนั่น เพียงแค่นั้น ↩
-
๑๖. ไตรใคร ทำอะไรใครได้ ↩
-
๑๗. ลิงเสน ลิงชนิดหนึ่ง ↩
-
๑๘. น่าน เป็นวิเศษณ์ของคำยาว คือยาวรีไปตรง ๆ ยาวมาก ↩
-
๑๙. เร้อ รื้อ ↩
-
๒๐. ทดทด อาการของคำว่าสั่น ↩
-
๒๑. กัน ด้วย ผัวโกรธอย่าโกรธกัน ผัวโกรธอย่าโกรธด้วย ↩
-
๒๒. หะน้ำฉ่า อาเจียนออกน้ำทะลักออกดังฉ่า ↩
-
๒๓. ศรีรักษา ตำแหน่งขุน ↩
-
๒๔. หราง ตะราง คุก ↩
-
๒๕. รุม ทำพร้อมกันในจุดเดียว กลุ้มรุม ↩
-
๒๖. เรียด แน่นเรียบ ↩
-
๒๗. ถุ้ง กะทุ้ง ↩
-
๒๘. รอด เข้ากับคำว่า ยก แบก หาม พา แปลว่าไหว ยกรอด=ยกไหว แบกรอด=แบกไหว ↩
-
๒๙. ถึงทับ ถึงกะต๊อบ ↩
-
๓๐. เหล็กเป็น แม่เหล็ก ↩
-
๓๑. กุบกับ รีบร้อน ↩
-
๓๒. นาด ไกวแขน เดินนาด คือ เดินไกวแขน ↩
-
๓๓. เฉียง ผ่า ↩
-
๓๔. ทีละหา ทีละหวา ↩
-
๓๕. ดังป็อง ดังปังใหญ่ ดังโป้ง ↩
-
๓๖. กุมด้ามจ้ง จับถือด้ามจอบซื่อ ๆ อยู่ ↩
-
๓๗. แย่นั่งท็อง นั่งกะแทกดังโครม ↩
-
๓๘. ล็อง สัปปะดน ↩
-
๓๙. สรรพรสา, ราสา มากเหลือเกิน ↩
-
๔๐. ยู่ยี่ หน้าหดเหี่ยวจนหมดรูปเดิม ↩
-
๔๑. ยีหน่วยตา ขยี้ลูกตา ↩
-
๔๒. ขวานถา ขวานสำหรับถากไม้ ↩
-
๔๓. เม้น เหี้ยนร่นเข้าไปมาก ↩
-
๔๔. โลน ทำให้เปลืองของเปล่าโดยใช่เหตุ ↩
-
๔๕. ถูปะเม ถูส่งเดชไร้ประโยชน์ ↩
-
๔๖. หร่อย อร่อย ↩
-
๔๗. ขันตะกั่วตักตะกั่ว ขันที่ทำด้วยตะกั่ว เอาไปตักตะกั่วกำลังเหลว เพราะความร้อนนอกจากตักตะกั่วไม่ได้แล้ว ขันก็ละลายเสียอีกด้วย ↩
-
๔๘. ฉากหัว คำด่าของผู้หญิง ↩
-
๔๙. โม่ โง่ ↩
-
๕๐. เคอะ เซอะ ↩
-
๕๑. มัดกะ บ้าระห่ำ ↩
-
๕๒. ลึ่ง ทะลึ่ง ↩
-
๕๓. ล็อน คือประสมทั้ง ๔ อย่างข้างต้น (ล็อนไม่มีใครพูดแล้ว) ↩
-
๕๔. ฟันหาไม่แล้วยังด้น ฟันไม่มีแล้วยังดุร้าย ↩
-
๕๕. ด้น ดุ ↩
-
๕๖. ข่มเหง คือ คุมเหง ↩
-
๕๗. เมลือก เมือก ↩
-
๕๘. คลำแลเหงือกมังปรือเหลา คลำดูเหงือกเสียบ้างซี (จะได้รู้ว่าแก่แล้ว) ↩
-
๕๙. เทพนิมนต์ เทวดาบันดาน ↩
-
๖๐. หนักหู หนวกหู ↩
-
๖๑. ตัดหัว คำด่าของผู้หญิง ↩
-
๖๒. มนต์เท่าเถิด ขอเชิญให้หยุดได้แล้ว ↩
-
๖๓. แลควาย เลี้ยงควาย เฝ้าดูให้คอยกินหญ้ากินน้ำและปลอดภัย ↩
-
๖๔. หนำร้าย คือกระต๊อบเก่าแก่ชำรุดกะรุ่งกะริ่ง ↩
-
๖๕. ธำรงชบ ใช้แหวนชุบให้เป็นของที่ปรารถนา ↩
-
๖๖. มรับ สำรับ มรับทอง สำรับเป็นภาชนะทอง ↩
-
๖๗. หอมวิไล หอมน่ากิน น่าพอใจ ↩
-
๖๘. แจกล กุญแจยนต์ ↩
-
๖๙. เหียบ เงียบสงบ ↩
-
๗๐. เพรียบ เงียบอย่างใบไม้ไม่กะดุกกะดิก ↩
-
๗๑. กินแล ลองกินดู ↩
-
๗๒. ฉาวฉู ฉาวโฉ่ ↩
-
๗๓. ออโน เป็นคำทักว่า เอ้า นั่นแน่ ↩
-
๗๔. ลูกหวา ลูกจ๊ะ ↩
-
๗๕. ใครให้นุ้ยหา ใครให้เจ้าฮะ ↩
-
๗๖. ไม่ถ้า ไม่รอ ↩
-
๗๗. ตาว่าหัวมัน ตาว่าช่างหัวมันเถิด ↩
-
๗๘. เจ้าที่ พระภูมิ เทวดาประจำบ้าน ↩
-
๗๙. ไตร ทำไม ↩
-
๘๐. หนม ขนม ↩
-
๘๑. ชบ ชุบ เนรมิต ↩
-
๘๒. ใครฉู้ ไม่รู้ว่าใคร ↩
-
๘๓. ยืนหมัง ยืนจ้องคอยที จังหมังก็ว่า ↩
-
๘๔. ชะ กะชาก ดึงเข้ามาโดยแรง ↩
-
๘๕. มือร่า อ้ามือออก ↩
-
๘๖. ฮาย คำอุทาน ↩
-
๘๗. ซาบ แอบ ซาบบอก แอบกระซิบบอก ↩
-
๘๘. บาย สบาย ↩
-
๘๙. แล ดู ↩
-
๙๐. กีด เกะกะ คับแคบ ↩
-
๙๑. ถดทีหีด เขยิบเข้าไปทีละน้อยๆ ↩
-
๙๒. เข้าแค่ เข้าใกล้ ↩
-
๙๓. หลูมหลาม ไม่เรียบร้อย เซอะซะ ↩
-
๙๔. เดียวใจ ในทันใด ประเดี๋ยวเถอะ ↩
-
๙๕. ตัว เป็นบุรุษที่ ๒ ↩
-
๙๖. ยิก ไล่ ↩
-
๙๗. เร่ง ยิ่ง เร่งยิกเร่งทำเฉย ยิ่งไล่ยิ่งทำเฉย ↩
-
๙๘. เจ้ย ช้อน เชย ↩
-
๙๙. ทรามเสียดาย น่ารัก ↩
-
๑๐๐. แต่ส่วน แต่เพียงคนเดียว ↩
-
๑๐๑. รวย คือ อ่อนระลวย ↩
-
๑๐๒. แลทีนางแค่ตัดได้ ดูซินางที่ตัดได้ ↩
-
๑๐๓. มิตรไม มิตรไมตรีนั่นเอง แต่พูดค้างไว้ ↩
-
๑๐๔. แต่เท้าเที่ยง จนเวลาเที่ยง ↩
-
๑๐๕. หลบ กลับ หลบหลังมา คือกลับหลังมา ↩
-
๑๐๖. หมัน บุรุษที่ ๑ หมัน แต่เน้นเสียงให้หนักในบางความหมาย ↩
-
๑๐๗. ไม่สู้มา ไม่กล้ามา ↩
-
๑๐๘. ให้เงยควายยืนเลียเทียน เทียนคือหวายที่ร้อยจมูกควาย ควายที่ถูกล่ามอยู่กับที่ ↩
-
๑๐๙. แม่ยัง ยัง แปลว่ามี แม่ยัง คือมีแม่ = แม่ยังอยู่ ↩
-
๑๑๐. ลาก ลากในกรณีฉุดผู้หญิง เรียกว่าลากผู้หญิง ลากลูกสาว ↩
-
๑๑๑. นอกบ้าน หมายความถึงบ้านนอกทุ่งนา คู่กับคำว่า ในเมือง ↩
-
๑๑๒. บถ สะบถ ↩
-
๑๑๓. อูชู สมบูรณ์ มีมาก รสอูชู = กลิ่นหอมยิ่ง ↩
-
๑๑๔. เกียน เกวียน ↩
-
๑๑๕. ฮึงฮัง กิริยาที่ทำจริงจัง ↩
-
๑๑๖. คุงคัง เสียงดังกุงกัง ↩
-
๑๑๗. ย็องย็อง อาการที่เดินซึ่งมีอาการสูง ๆ ต่ำ ๆ อย่างเร็ว ๆ ↩
-
๑๑๘. ข็องข็อง เสียงไอ ↩
-
๑๑๙. หบไอ หยุดไอ ↩
-
๑๒๐. ด้ง กะด้ง ↩
-
๑๒๑. เชอ กะเชอ (ภาชนะใส่ของ) ↩
-
๑๒๒. กร้า ตะกร้า ↩
-
๑๒๓. ตะบัน ภาษาชาวบ้าน เรียกว่า ยน แต่นี้บทกวี ↩
-
๑๒๔. พาไปกัน พาไปด้วย ↩
-
๑๒๕. เปลือกย่อน เปลือกไม้ชนิดหนึ่ง มีรสขวาดแทนหมากได้ ↩
-
๑๒๖. พลูหนัง ชื่อพลูชนิดหนึ่ง ไม่นิยมกินนอกจากขัดสน ↩
-
๑๒๗. มิทุ่ม มิละทิ้ง ↩
-
๑๒๘. สอบสองมุม กะสอบทำด้วยกกหรือกะจูดใบเล็ก ๆ พอใส่ของเต็มแล้วถือได้ ใบแบน ๆ เหมือนกะเป๋าเอกสาร ↩
-
๑๒๙. ยอมยุมชุมพู่ พะยอม มะยม ชมพู่ ↩
-
๑๓๐. กาหลา สันตะกาลา ต้นคล้ายกะทือแต่โตกว่ามาก ดอกเป็นผัก ↩
-
๑๓๑. พุดตาลดานงา พุดตาล กะดังงา (ที่จริงเรียกดังงา) ↩
-
๑๓๒. เพกา และกง ชื่อต้นไม้ ↩
-
๑๓๓. มังค่า ชื่อต้นไม้ ยอดกินเป็นผักฯ มะค่า ↩
-
๑๓๔. ตะขรบ ตะขบ ↩
-
๑๓๕. ตะขรี ชื่อไม้ขนาดกลาง ↩
-
๑๓๖. เหม็งซอ ต้นไม้ ชิงชี่ ↩
-
๑๓๗. กิ่งเซ่อ กิ่งห้อยรุมรู่ เป็นซุ้มที่รกรุงรัง ↩
-
๑๓๘. ฉาบ โฉบ เกือบไป ฉาบไข่ = โฉบฉาบใกล้ไข่ ↩
-
๑๓๙. กะทุงเกรียน นกกะเรียน ↩
-
๑๔๐. นกสัก นกมูลไถ ↩
-
๑๔๑. อีลุ้ม นกตะกรุม ↩
-
๑๔๒. นกชัน นกอัญชัน ↩
-
๑๔๓. หักซุ้ม หักไม้ทำรังคล้ายซุ้ม ↩
-
๑๔๔. ฟานเต้นเม่นจง ตามตัวอยู่แล้ว ฟานบางคนว่าเลียงผา ↩
-
๑๔๕. แล่น วิ่ง ↩
-
๑๔๖. หมาไน สุนัขป่าชะนิดหนึ่ง ↩
-
๑๔๗. ขบทราย กัดกวางทราย ↩
-
๑๔๘. แทงชึง แทงดังจื๊ก ↩
-
๑๔๙. ถึงดำ ขนเม่นสีดำแต่ตอนปลายขาว ↩
-
๑๕๐. หาวนอน ง่วงนอน ↩
-
๑๕๑. คาด คิดหมายไว้ ↩
-
๑๕๒. ทอดกลืนคลก กลืนเสียงดังเฮือก ↩
-
๑๕๓. ได้แรง อร่อย ได้แรงอก = อร่อยอก ↩
-
๑๕๔. เข ขี่ ↩
-
๑๕๕. โป ปู่ ↩
-
๑๕๖. งามเขี้ยวเข็น งามจริงจังนัก ↩
-
๑๕๗. แลทีแค่มันขัน ดูซิที่มันน่าขำ ↩
-
๑๕๘. กูมันหลงแล้วไสหมึง กูมันหลงแล้วละกระมัง ↩
-
๑๕๙. เมร่อลึ่ง บ้า + เซอะ = เมร่อ, ลึ่ง = ทะลึ่ง ↩
-
๑๖๐. หับตู หับประตู ↩
-
๑๖๑. แลไหรฉู้ ดูอะไรไม่รู้จัก ↩
-
๑๖๒. เฮโลสาละพา เป็นคำพูดดัง ๆ เวลาทำอะไรพร้อมกัน ↩
-
๑๖๓. ลาหมาย ทาปูนหมายไว้ คือทำเครื่องหมายด้วยปูน ↩
-
๑๖๔. กระหมึง กระมัง ↩