คำนำ
เรื่อง “วันคาร” นี้ เป็นหนังสืออ่านของคนเรียนหนังสือวัดตามวิธีเก่า ได้ยินคนผู้เฒ่าผู้แก่พูดถึงมานาน เคยได้ยินท่านท่องให้ฟังบางบทบางตอน รู้สึกว่าเพราะและขำขัน ปรารถนาจะอ่านมานาน วันหนึ่งไปในงานหล่อพระที่วัดพิศาลนฤมิตร อำเภอร่อนพิบูลย์ พระปลัดสุนันท์ นำสมุดข่อยเล่มหนึ่งมาให้อ่าน เป็นเรื่องวันคาร จึงขอคัดลอกเอาไว้ เพราะหาต้นฉบับที่อื่นไม่ได้ ต่อมาหนังสือพิมพ์เสียงราษฎร์นำไปลงพิมพ์ เห็นคนชอบอ่าน บัดนี้จะทำงานศพโยม เห็นว่าพิมพ์แล้วจะมีประโยชน์แก่ผู้รับไปอ่าน เช่นได้ความเพลิดเพลินในเนื้อเรื่องด้วย ช่วยรักษาวรรณคดีภาษาท้องถิ่นของเมืองนครฯ ด้วย จึงได้พิมพ์ขึ้นสนองอุปการะแก่ท่านที่มีเมตตาให้ความอุปถัมภ์ และกรุณามาในงานฌาปนกิจศพโยมของอาตมาในครั้งนี้
ตัวละครสำคัญในเรื่อง ใช้ชื่อตามวัน เช่น วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ ชื่อหนังสือตั้งตามชื่อของละครตัวเอก ตามแบบหนังสือวรรณคดีรุ่นเก่าที่เรียกว่าเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ วันคาร ก็ชื่อของพระเอกในเรื่องนั่นเอง
สำหรับท่านที่ไม่คุ้นกับภาษาปักษ์ใต้ ซึ่งได้พิมพ์ตัวดำไว้ในเรื่อง ก็มีภาคผนวกไขความของบางคำที่ฟังยากไว้บ้างเล็กน้อย แต่คำที่ไม่เพี้ยนนักก็ไม่ได้อธิบาย เข้าใจว่าคงกำหนดเนื้อความได้เอง
ส่วนเนื้อเรื่องก็ธรรมดาๆ มิได้มีเค้าโครงแยบคายเป็นพิเศษอย่างไร แต่บทกลอนคำพูดแยบคายเป็นภาษิตและไพเราะหลายตอน เข้าใจว่ามีสาระพอสมควรแก่ท่านผู้อุตส่าห์เสียเวลามาตั้งใจอ่านเป็นแน่
นามผู้แต่งไม่ปรากฏ เข้าใจว่าตัดกันต่อ ๆ มานาน ส่วนคำว่ารูปชื่อทุ่มผู้เขียนนั้น เข้าใจว่าเพียงแต่คัดลอกลงสมุดข่อยเท่านั้น มิได้แต่งขึ้นเอง เพราะคำพูดนั้นเป็นกลอนตลาด ซึ่งสำนวนผิดไปจากเรื่องวันคาร ผู้แต่งกลอนตลาดเป็นศิษย์สุนทรภู่ทั้งสิ้น แต่เรื่องวันคารเป็นสำนวนที่มีก่อนสมัยนั้น หรือใครเห็นอย่างไร ก็สุดแล้วจะมีเหตุผลอ้างอิง
ขอความสุขความเจริญ จงมีแก่ท่านผู้อ่านทุกท่านเทอญ
พระเทพปัญญากวี
วัดราชาธิวาสวิหาร