๑
(สิบสลึงพึงรู้ท่านผู้อ่าน) | เรื่องวันคารเล่มนี้เพราะดีขยัน |
เป็นที่แก้ประกันทุกข์สนุกครัน | จงเชื่อฉันอ่านดูจะรู้ดี |
ฝูงชนามานั่งได้ฟังเรื่อง | คงจะเปลื้องความทุกข์เป็นสุขี |
ขอผู้อ่านผู้ฟังจงมั่งมี | ให้สุขีสุขังมังคลา |
ใครฟังเรื่องนิทานท่านอย่าติ | ฉันแรกริเขียนพจน์บทคาถา |
อย่าซุบซิบเสสรวลชวนนินทา | ญาติกาหญิงชายได้ปรานี |
แม้ศัพท์นำคำกลอนอักษรพลาด | ท่านนักปราชญ์โปรดปลูกให้ถูกที่ |
ช่วยแต่งเสริมเติมความตามวิธี | ได้ปรานีเสมือนฉันร่ำพรรนา |
ทั้งหัวจุกหัวเจ๊กเด็กหัวเปีย๑ | อีกคนง่อยคนเพลีย๒เสียแข้งขา |
แม่อย่าส่อพ่ออย่าสรวลชวนนินทา | ทั้งหลังหน้าขวาซ้ายให้อภัย |
รูปชื่อทุ่มผู้เขียน๓แม้เพี้ยนผิด | หมู่บัณฑิตเห็นด้วยช่วยซ่อมใส่ |
อย่านั่งทำสำนวนให้กวนใจ | ตูข้าไซร้ฝึกสอนยังอ่อนความ |
ใครฟังเรื่องวันคารท่านทั้งสิ้น | อย่ากล่าวนินทาว่าข้าขอห้าม |
วาจาจิตคิดปลงลงให้งาม | ให้ต้องตามบาลีในที่ทาง |
ทั้งหญิงชายมานั่งอย่าฟังเปล่า | จัดหมากพลูยาเมา๔ให้บ้างเอย ฯ |
(ยานี ๑๑)
หัตถังตั้งเหนือเกษ | ต่างประทุมเมศยอไหว้ไป |
พุทธังสั่งสอนใจ | ให้แจ้งในอุระพา |
ธัมมังเห็นดู๕ด้วย | มาชูช่วยนำอักขรา |
ให้เฟื่องเรืองวิชา | พระสังฆาช่วยชี้แจง |
ข้าขอประชุมเชิญ | คุณดำเนินน้อมนึกแถลง |
เรื่องราวกล่าวตบแต่ง | ให้แจ้งสว่างกระจ่างใน |
ประดิษฐ์จิตพันผูก | ตามแต่จะถูกลงบทไหน |
เพียรรจนาอย่ามีภัย | ในอนาคตปัจจุบัน |
สิบนิ้วจำนงนบ | ขอพบสุขทุกคืนวัน |
พบครูผู้วิเศษสรรพ์ | ยุคลบาทสร้างศาสนา |
เนาว์โลกอุดรสถิต๖ | บูรพทิศปัจฉิมา |
หรดีพายัพพา | อาคเนย์มาจนอิสาณ |
พุทธรูปเทพจำนง | ไว้ต่างองค์ผู้นิพพาน |
คุณแก้วทั้งสามประการ | คุณอาจารย์คุณบิดา |
มารดาเห็นดูด้วย | พระคุณช่วยคุ้มรักษา |
จะแต่งให้ปรีชา | เรื่องขวัญฟ้าเจ้าวันคาร |
ผู้สวดช่วยซ่อมใส่ | อย่าไว้ใจจงคิดอ่าน |
ผู้ฟังหนังสือลาน | ฉานไม่ยอว่าเพราะดี |
หาไม่ร่างสำเนา | นึกเขียนเอาไม่เซ้าซี้๗ |
ผู้ฟังท่านทั้งนี้ | จงยินดีอวยพรมา |
(ราบหรือสุรางคนางค์ ๒๘)
จะว่าไม่หก | |
จอจัตวาศก | เดือนสิบเอ็ดหนา |
ขึ้นค่ำวันพฤหัส | ยอนมัสครูบา |
ปัญจะพรหมา | จตุพักตร์พรหมมี |
อัฏฐนาคะ | |
กุกกุฏสัตตะ๘ | นบพระชินสีห์ |
จะทำนิทาน | บุราณย่อมมี |
ขอให้ข้านี้ | สวัสดีสมพร |
ยังมีกรุงแก้ว | |
ประเสริฐเลิศแล้ว | ลือเล่าข่าวขจร |
อาทิตย์ปิ่นเกล้า | เป็นเจ้านคร |
เกษมสุขสโมสร | ด้วยนาฏกัลยา |
มเหสีท้าวนั้น | |
ชื่อนางวันจันทร์ | เป็นที่เสน่หา |
เมืองพรรณรังษี | เป็นที่ลือชา |
กับกรุงอยุธยา | เปรียบปูนปานกัน |
จะร่ำเรื่องนครา | |
แสนสนุกสุขขา | หาไหนใครจะทัน |
ค่ายคูอยู่ด่าน | ล้วนทหารแข็งขัน |
มีฤทธิ์ลือลั่น | ผลัดกันนั่งเวร |
ยังมีเศรษฐี | |
คึกคั่งมั่งมี | บังคับกะเกณฑ์ |
บกเรือเหนือใต้ | ตั้งให้ลาดตระเวน |
สมณะสามเณร | บังคับบรรพชา |
ชื่อเศรษฐีพุทโธ | |
เมียนั้นรูปโอ่ | น้องสาวพระยา |
ชื่อนางวรลักษณ์ | พักตร์คือจันทรา |
อยู่ประมาณนานช้า | เวรานางมี |
วันหนึ่งสนธเยศ | |
นิ่มเนื้อนัยเนตร | ประทมแท่นทิพย์ศรี |
สุบินอัศจรรย์ | เสียวสั่นอินทรีย์ |
ในฝันว่ามี | องค์อัมรินทรา |
ถือเพชรเม็ดแดง | |
แพรวศรีพรายแสง | เข้าในมนทิรา |
โตเท่าผลปราง | แสงสว่างจบหล้า |
สามภพโดยจะหา | บ่ปูนปานกัน |
ยื่นให้สายสมร | |
แล้วอุ้มนางจร | จากแท่นสุวรรณ |
นางกับเศรษฐี | โกสีย์พาผัน |
ไปยังเมืองสวรรค์ | ในยามสนธยา |
สมรแม่แปรตัว | |
รุ่งแล้วยังชระมัว | แสงทองส่องฟ้า |
รู้ว่านิมิต | สะดุ้งจิตติดตา |
โอ้อกเองอา | จะเป็นฉันใด |
นวลหงส์นงนาฏ | |
โฉมตรูยูรยาตร | คลาดจากห้องใน |
ทูลท้าวภัศดา | สนทนาสงสัย |
เศรษฐีสะดุ้งใจ | ตรัสเรียกโหรา |
นั่งเฝ้าพร้อมพรั่ง | |
ตรัสว่าร้อยชั่ง | แม่ยอดเสน่หา |
เชิญแสดงแจ้งความ | แก่พราหมณ์อย่าช้า |
ส่วนยอดเยาวรา | เล่าต้นจนปลาย |
ตาโหรพิชัย | |
มือคว้าย่ามใหญ่ | ผึ่งตำราไว้ |
หยิบดินสอพอง | นั่งยองขึ้นไหว้ |
จับดานชะนวนได้ | ขีดห่วงดวงชะตา |
ถามปีถามวัน | |
แจ้งให้ทุกอัน | บังคมทูลมา |
ดิฉัน๙ไม่สู้ทาย | ฝันร้ายนักหนา |
เศรษฐีจึงว่า | ท่านอย่าเกรงใจ |
โหราทูลมา | |
อันองค์อินทรา | ถือเพชรประไพ |
มาให้แก่นาง | มิใช่อื่นไกล |
แม่ยอดยุพใย | จะมีบุตรา |
ไม่ทันสิ้นความ | |
เศรษฐีซักถาม | จริงหรือโหรา |
ท่านทายให้ดี | ตามมีตำรา |
พุงใหญ่๑๐ก็ว่า | อย่าได้กลอกกลับ |
ตาโหรทูลไป | |
มิใช่อื่นไกล | แม่นแล้วขอรับ |
ฝันว่าอินทรา | อุ้มพางามสรรพ |
ประสูติแล้วแม่จะดับ | ชีวาอาสัญ |
นางฟังโหรทาย | |
นารีมิสบาย | ให้ประมวญป่วนปั่น |
นางคิดจิตหาย | พระกายเสียวสั่น |
โหราทูลว่ากระนั้น | แม่นแท้แม่อา |
ฟังโหรถามไป | |
จักคิดฉันใด | เล่าท่านโหรา |
ข้ากับเศรษฐี | ควรที่ร้างหย่า |
ลูกเต้าอย่าหา | ข้าเห็นว่าจะดี |
ต่างคนต่างร้าย | |
อย่าเข้าแค่ใกล้ | ลองแลสักที |
ฟังชอบหรือไม่ | เคราะห์ร้ายกลับดี |
ร้างกันสักปี | ทรัพย์สินปันกัน |
โหราทูลเล่า | |
โอรสแม่เจ้า | มาแล้วแรกฝัน |
ถึงแม้ร้างหย่า | ไหนจะมาละกัน |
สักสี่ห้าวัน | นุ่งผ้าไม่อยู่ |
สงสารเยาวเรศ | |
โสกังสังเวช | วอนว่าตาครู |
ท่านเป็นโหรา | หยูกยาอะขู๑๑ |
กุมารเข้าสู่ | ให้สูญหายไป |
ช่วยชีพข้าไว้ | |
เงินทองกองให้ | ทาษาข้าไทย |
เครื่องหยูกเครื่องยา | ราคาเท่าใด |
เชิญพาเงินไป | ถามซื้อเขามา |
โหรว่าแม่คุณ | |
ลูกแม่มีบุญ | ยิ่งมนุษย์ใต้หล้า |
กินยาสักถัง | ไม่ฟังแล้วหนา |
เคยชาติสร้างมา | จึงทันเทวี |
มิใช่นุ่นหมอน | |
เป็นรังเป็นก้อน | ผ่าเขี่ยเสียดี |
ผ่าพุงทั้งเป็น๑๒ | ฉันเห็นเต็มที |
บุราณไม่มี | อย่างนี้แม่อา |
เศรษฐีรางวัล | |
ให้ตาโหรนั้น | เงินทองเสื้อผ้า |
โหรรับกลับหลัง | ไปยังเคหา |
นงนาฏฉายา | ค่อยอยู่สบาย |
ทรามสงวนนวลน้อง | |
นารีมีท้อง | ต้องตามโหรทาย |
ตั้งแต่นั้นมา | เศรษฐีมิสบาย |
ทุกข์ร้อนมิวาย | หมายคำโหรา |
ทั้งผัวทั้งเมีย | |
พระพักตร์เศร้าเสีย | แสนโทมนัสสา |
ให้ทนายตีฆ้อง | ร้องป่าวตามทะลา |
ตำแย๑๓หมอยา | เรียกหาประกาศไป |
เศรษฐีให้คน | |
เที่ยวป่าวตามถนน | จบเมืองเวียงชัย |
ป่าวว่าชาวบ้าน | ท่านทั้งหลายไซร้ |
ผู้ใดเข้าใจ | แซกไสบางรา |
อำมาตย์ป่าวไป | |
ทั่วเมืองเวียงชัย | ทุกตรอกทุกลา๑๔ |
ใครเคยทดลอง | ร้องรับออกมา |
ทำได้ให้ค่า | ห้าพันตำลึงทอง |
ตำแยทั้งหลาย | |
ได้ยินคำทาย | นั่งนึกตรึกตรอง |
มือเปิดบานประตู | คอยดูตามช่อง |
ก้มก้มมองมอง | จนเขาแลมา |
เขาจับตัวได้ | |
เขาถามซักไซร้ | ว่านายเจ้าขา |
กรบลูก๑๕เจ้านาย | ทำได้หรือหนา |
แม่คุณเจ้าขา | จงมาการุณย์ |
ยายเฒ่าตอบไป | |
ฉันไม่เข้าใจ | ผ่าหัวเถิดขุน |
ถ้าฉันทำได้ | จักใคร่เอาบุญ |
ฉันนี้เจ้าพระคุณ | ไม่รู้สักอัน |
อำมาตย์เที่ยวป่าว | |
ไม่ได้เรื่องราว | กลับหลังมาพลัน |
บอกแก่เศรษฐี | ไม่มีใครขัน |
หมอยาฝ่ายนั้น | เลือกผู้เข้าใจ |
เศรษฐีจึงว่า | |
น้องแก้วพี่อา | ทุกข์ร้อนไปใย |
ตามกรรมเวรา | เถิดหนากลอยใจ |
อย่าเศร้าพระทัย | ไปเลยน้องอา |
โฉมเฉลาเยาวลักษณ์ | |
นารีมีศักดิ์ | อยู่ประมาณนานมา |
ครบถ้วนทศมาส | สุดสวาทโหยหา |
เมื่อประสูติบุตรา | อัศจรรย์หวั่นไหว |
สะเทือนเลื่อนจบ | |
ถึงนาคพิภพ | เมืองสวรรค์คาลัย |
พสุธาลั่นจบ | ชาวพิภพตกใจ |
วันคารสุดสมัย | รุ่งแล้วเที่ยงตรง |
นางประสูติโอรส | |
ญาติกามาหมด | นั่งพร้อมล้อมวง |
กุมารจากกาย | นางวายชีพชงค์ |
สงสารโฉมยง | ถึงสวรรค์ครรไล |
ต่างเศร้าโศกา | |
เศรษฐีภัศดา | โทรมนัสหทัย |
กอดศพเมียงาม | นั่งน้ำตาไหล |
ว่าโอ้กรรมใด | สุดใจพี่อา |
(ยานี ๑๑)
กอดแก้วแล้ววิโยค | กันแสงโศกหลั่งชลนา |
โอ้โอ้ยอดเสน่หา | มารีบทิ้งพี่กลใด |
เจ้าตายพี่จะตายด้วย | เป็นเพื่อนม้วยนางอรทัย |
พี่จะอยู่ไปเยียใด | แรกรักใคร่ได้พูดกัน |
ตัวเราเป็นเศรษฐี | ได้มั่งมีมากครามครัน |
เงินทองของทั้งนั้น | ไหนจะทันแม่ขวัญตา |
จะตายตามงามพี่ได้ | แต่รักใคร่ลูกกำพร้า |
เงินทองของช้างม้า | พ่อหาไม่๑๖เป็นไพร่หลวง |
เข้าของไม่มีราย | ไหนจะได้คนทั้งปวง |
ยกกรขึ้นข้อนทรวง | พิไรร่ำนังรำพัน |
ลูกชายจะไว้ใย | จะฆ่าไปเสียตามกัน |
จับดาบมาจะฟัน | คนทั้งนั้นยุดหัตถา |
รู้ไปถึงปิ่นเกล้า | อาทิตย์ท้าวเจ้าพารา |
ขึ้นพระวอเสด็จมา | ถึงเคหาท่านเศรษฐี |
เรียกมาแล้วว่ากล่าว | ดูราเจ้าน้องเขยพี่ |
เหตุผลกลใดมี | ที่จะฆ่าโอรสสา |
เมียตายแล้วมิหนำ | ยังจะซ้ำฆ่าบุตรา |
มนุษย์ยักษ์และปักษา | คนใดมีที่ไม่ตาย |
โกรธเรือดไฟเผาเรือน | คิดผิดเพื่อนฟังไม่ได้ |
เสือเฒ่าเข้ากินควาย | พังคอกทะลายไม่ขังต่อ |
ที่นั้นควายพ่าน๑๗เล่า | เห็นเสือเฒ่านั่งหัวร่อ |
ชาวเมืองจะเสียดส่อ | ว่าใจคอไม่สมกาย |
กล้าดีแล้วไปฆ่า | ท้าวยมราให้วอดวาย |
เมามัวฆ่าเสียได้ | ลูกไม่ตายจะฆ่าฟัน |
เศรษฐีฟังคำไท | ช้ำน้ำใจแต่อดกลั้น |
ผินสั่งช่างสุวรรณ | ทำโกษฐ์ทองเรืองรองตา |
ศพใส่ในโกษฐ์ทรง | มนต์พระสงฆ์ให้มาติกา |
พร้อมสุดกุสลา | ท่านช่างว่าเหมือนเสียงเดียว |
เทศนาไม่มีผิด | พวกลูกศิษย์ตามหลังเสียว |
พรรณาช้าจริงเจียว | ยังข้องเกี่ยวข้างทำการ |
เมรุทองสิบสองเสา | สี่กบเลามีหน้าดาน |
ตีเต้าเข้านางกราน | เฉลียงปีกนกลงสี่ฝ่าย |
พรหมสอดยอดแล้วยก | งามกนกดูพร่างพราย |
สี่มุมล่ำยุด๑๘ไว้ | แล้วให้ไพร่ผ่าตอกเหลา |
ไม้ไผ่ผ่าใหญ่ถนัด | แล้วให้ขัดเป็นภูเขา |
ลาดตะกั่วงามไม่เบา | เอาต้นไม้รายทั้งถาง |
ปั้นรูปควายดำขาว | ยืนเขายาวอยู่ข้างข้าง |
แล้วปั้นเป็นรูปช้าง | ยืนตั้งท่างาชนกัน |
ปั้นแรดแปดเก้าตัว | ตาเณรบัว๑๙นายช่างปั้น |
ปั้นกระต่ายหลอกยายสั้น | ปั้นม้าแรดติดกับวัว |
ปั้นค่างปั้นนางชะลี | แลให้ดีขี้คร้านหัว |
ไอ้สุนัขปั้นสองตัว | แย่งยิก๒๐วัวคนหัวฉา |
นายบัวหัวล้านพลาม | ทำงามงามพ้นปัญญา |
เสร็จสรรพกลับเข้ามา | เล่าอาการท่านเศรษฐี |
ฝูงคนดูอัดแอ | ล้วนใคร่แลศพเทวี |
วอทองเรืองรองศรี | ยกโกษฐ์ใส่ลงไว้พลัน |
พวกบ่าวที่นายรัก | ไม่กลัวหนักวิ่งเข้าตรัน๒๑ |
ที่นายเคยตีรัน | หันเข้าแบกแต่เบาเบา |
ยกศพขึ้นใส่บ่า | โห่โฉ่ฉ่าดังขี้เมา |
กาหลอ๒๒ก็ไม่เบา | เข้าเปิดตะตีตะโจง |
มือดีเข้าตีกรับ | ดังโฉกฉับครึมครัมโหม่ง |
งามแง่แลโอ่โถง | พริ้มวาววับจับเนตรคน |
ฝูงชนาต่างมาแล | ดูอัดแอสองฝ่ายถนน |
แม่หม้ายผัวหลายหน | แต่งแต่ตัวหัวย้อมมัน |
สาวสาวชาวบ้านนอก | นุ่งบัวปอก๒๓ห่มแดงฉัน |
หอมรสแต่มันขัน๒๔ | ไรช่างกันเท่าแม่มือ |
จ้างเพื่อนถือเชอ๒๕ตาม | แม่รูปงามเจ้าไม่ถือ |
นุ่งผ้าไว้ใต้ดือ | มือกุมพัด๒๖ราวสมภาร |
พวกเหล่าเมาน้ำลาย | มันไม่อายพูดเกี้ยวพาน |
เพื่อนเอยมาอย่านาน | สูมาแลอะไหรไหร๒๗ |
อีราชา๒๘ด่ากันตัว | ไอ้ฉากหัว๒๙การไหรใคร๓๐ |
มาต้า๓๑มาแลไหร | ไปบอกแม่มึงมากัน |
เฮโลสนัดใน | แม่หัวไรแก้สำคัญ |
เจ้าชู้วิ่งวู่ผัน | โห่แล้วมันวิ่งหายตัว |
เผยอหน้าด่าแก้อาย | ลูกอีฉิ่บหายไอ้ฉากหัว |
ข้างชายแล่นหายตัว | ผ้าคลุมหัวลงนั่งแล |
(ราบหรือสุรางคนางค์ ๒๘)
แห่ศพมิช้า | |
ถึงเมรุรจนา | ฝูงชนาอึงแอ |
ญาติพี่น้อง | ร่ำร้องซึงแซ่ |
เสียงร้องเสียงแห่ | ดุจเสียงเดียวกัน |
อุตตราวัฏศพ๓๒ | |
สามรอบพอครบ | แล้วปลงลงพลัน |
ยกศพสู่เมรุ | อันงามเรืองฉัน |
เหนือเชิงตะกอนพลัน | ทองตัดลี้นจี่ |
ตัดความการศพ | |
เจ็ดวันครั้นครบ | แล้วจุดอัคคี |
เศรษฐีร่ำร้อง | เศร้าหมองทรวงศรี |
โอ้โอ้แก้วพี่ | แต่นี้จะเห็นใคร |
เห็นเงินเห็นทอง | |
เสมือนได้เห็นน้อง | ของพี่ที่ไหน |
หาอื่นก็จะได้ | แต่ไม่เหมือนใจ |
เงินทองถมไป | ไหนจะทันขวัญตา |
นารีมีถม | |
เป็นตายไม่ชม | เรียมถือสัจจา |
เป็นตายเป็นกัน | วันแรกได้มา |
เมียม้วยมรณา | จะหาเมียเยียใด |
เพลิงลุกทุมทุม๓๓ | |
ยิ่งคิดยิ่งกลุ้ม | วิ่งสุ่มเข้าไฟ |
ศพใหม่ศพเก่า | ไฟเผาสิ้นไป |
เคยสร้างก่อนไกล | จองชาติกันมา |
นักปราชญ์หนึ่งเล่า | |
ว่านางกับท้าว | เดิมเป็นชาวฟ้า |
นัดกันปฏิสนธิ์ | จุติลงมา |
ยามม้วยมรณา | ต้องตามกันไป |
ปราชญ์หนึ่งบรรหาร | |
เกิดบุตรวันคาร | เวรกรรมเพื่อใด |
ปราชญ์หนึ่งใจหาย | มิใช่อื่นไกล |
เพราะกรรมจองไซร้ | จริงแล้วเพื่อนอา |
วันคารว่าร้าย | |
ประสูตรมิตาย | มากมายนักหนา |
วันท่านเศรษฐี | ที่ม้วยมรณา |
เพราะกรรมเวรา | จึงมามรณัง |
ข้าหนอยยอไหว้ | |
ญาติกาขวาซ้าย | หญิงชายพรูพรั่ง |
พี่น้องน้าป้า | บรรดาที่ฟัง |
ซ้ายขวาหน้าหลัง | ฟังเรื่องวันคาร |
จงได้เมตตา | |
หมากพลูปูนยา | โปรดปราณีฉาน |
อย่านั่งนิ่งเน่ง | จงเร่งคิดอ่าน |
เสมือนได้ลูกหลาน | ใช้งานทันใจ |
(ยานี ๑๑)
ฝูงชนาว่าเศรษฐี | ไม่พอที่จะบรรลัย |
บางคนบ่นว่าไป | ว่าเศรษฐีดีนักหนา |
รักเมียไม่เสียสัจจ์ | เป็นชายชัดท่านเกิดมา |
ส่วนข้างญาติหลังหน้า | ค่ำเวลากลับเคหัง |
รุ่งเข้าไปดับธาตุ | เชื้อวงศ์ญาติมาพร้อมพรั่ง |
จัดทำจนสิ้นยัง | ดังธรรมดามาแต่ก่อน |
ปางองค์กรุงอาทิตย์ | อันเรืองฤทธิ์ยอดนคร |
ตรัสสั่งสมพัตษร | ฝูงข้าเฝ้าส่งข่าวไป |
ลูกอ่อนที่ไหนมี | หน้าตาดีบ้านใกล้ไกล |
เสนาลาแล้วไป | พบตาใสเป็นควาญควาย |
เมียชื่อยายทองประสา | เกิดลูกมาสามวันตาย |
ถันนังไหลพรั่งพราย | ตำรวจนายพาเอามา |
ท่านมอบกุมารให้ | แก่ท่านยายทองประสา |
แล้วประทานพี่เลี้ยงมา | นามชื่อว่าไอ้ไวทัน |
พวกพ้องของเศรษฐี | เด็กเจ็ดปีพูดดีขยัน |
ยายลาพาผายผัน | มาบ่หึงถึงหนำนา๓๔ |
ตาใสผันเห็นยาย | ลูกใครให้สูสิหวา |
ยายเล่าแแก่ท่านตา | ว่าตัวข้าได้รางวัล |
ลูกตายได้ลูกใหม่ | หายเสียใจที่ป่วนปั่น |
หากระดานมาสักอัน | ผูกเป็นเปลให้เวช้า๓๕ |
ตาว่าอย่าทุกข์ใจ | จักกลัวอะไหรเหวยอีสา |
กระดานเรือที่ชายคา | ข้าหยิบไว้สองสามอัน |
ยายเล่าเรื่องหลานยา | ข้างท่านตาว่าเออหนัน๓๖ |
ยายตาสนทนากัน | จนสุริยันลับเมรุมา |
ครั้นเช้าสองเฒ่าแก่ | อุ้มไปแช่น้ำคงคา |
อาบน้ำแล้วพามา | ผูกเปลผ้าช้าให้นอน |
ยายตารักษาศรี | กุมารรี่รู้ย่างจร |
แง้มตูดูสาคร | จรเยื้องย่างสำอางตา |
ตายายให้ใหลหลง | ไปด้วยองค์กุมารา |
อยู่ประมาณช้านานมา | ค่อยใหญ่กล้าสิบห้าปี |
ตายายให้ขึ้นเฝ้า | พระปิ่นเกล้าเจ้าธรณี |
ตายายให้นามศรี | ชื่อขวัญข้าวเจ้าวันคาร |
ทุกวันมิได้ขาด | เฝ้าพระบาทท้องพระโรงธาร |
อยู่มาเป็นช้านาน | ค่ำสู่บ้านของยายตา |
โฉมศรีมีบุญมาก | แสนลำบากอยู่หนำนา |
วันนั้นกุศลพา | นั่งอยู่หน้าที่นั่งไท |
ยังมีนายเภตรา | ขึ้นทูลลาจะใช้ใบ |
จะไปค้าเมืองหนึ่งใหญ่ | ชื่อเมืองไพยะสาลี |
ทูลลามามินาน | เจ้าวันคารถามว่าพี่ |
ชักใบต่อไรมี | ที่คุณพี่มาทูลลา |
จะชักพรูกเช้า๓๗นี้ | ถามใยมีเจ้าพี่อา |
อย่าเน่ง๓๘เร่งบอกมา | จะถามข้าฝากอะไรขาย |
เจ้าวันคารพานจะโง่ | เอื้อนโอษฐ์โอ้กล่าวภิปราย |
หามีสิ่งใดไม่ | ใครฝากปลาสี่ห้าตัว |
นายสำเภาฟังเจ้าว่า | นั่งรอราแล้วยิ้มหัว |
ปลามีสี่ห้าตัว | ไปเอามาข้าจะใช้ใบ |
วันคารสันดานจริง | พูดแล้ววิ่งเป็นการไว |
หาปลามาบัดใจ | ทูขึ้นราปลาห้าตัว |
ห่อเตาะ๓๙ให้นายสำเภา | เอ็นดูเราเถิดทูลหัว |
อันปลาสี่ห้าตัว | ตามจะแลกให้เถิดอา |
นายเภา๔๐ได้ฤกษ์พลัน | จึงชวนกันชักนาวา |
ชอบลมสมปราถนา | พวกจงกว้าก็ใช้ใบ |
สามวันสามคืนจร | จากพระนครจรครรไล |
ทอดสมอแล้วปลงใบ | ไปหยุดเมืองไพสาลี |
กล่าวถึงท้าวอำไพ | ผู้เป็นใหญ่ครองธานี |
คู่รักสมศักดิ์ศรี | นามกรมีชื่อวันจันทร์ |
ไข้หนาวราวสามเดือน | แต่จะเคลื่อนไม่ไหวหวั่น |
อาหารการทั้งนั้น | วันสามช้อนนอนโศกครวญ |
จืดปาก๔๑อยากปลาทู | เป็นสุดรู้มาหลายเดือน |
บุญญานางมาเตือน | ออกโอษฐ์เอื้อนเตือนภัศดา |
ขอท้าวให้เอาฆ้อง | ตีป่าวร้องชาวนาวา |
ฟังนางท้าวสั่งมา | เหวยเสนาจงเร็วไว |
จงป่าวชาวใต้เหนือ | ทางบกเรือจัดกันไป |
ท่านจงเอาฆ้องชัย | ตีประกาศหาถามปลาทู |
เสนากราบลาไป | ขออทางยายแก่นายประตู |
แบ่งกองเป็นสองหมู่ | ไอ้พวกสูสืบหาดอน |
สี่ทนายพายเรือล่อง | ต่อยปุ่มฆ้องไม่หยุดหย่อน |
แก่นขรี๔๒สี่ห้าท่อน | ย้อนราวตีไม้สีฟัน๔๓ |
สี่ทนายพายเรือมา | ถึงเภตราเข้าด้วยพลัน |
ปากป่าวชาวกำปั่น | ใครมีปลาอย่าเน่งอยู่ |
ปากว่าฆ้องชะวาตี | ของใครมีเหวยปลาทู |
นางพระยาอยากปลาอยู่ | สูเร่งบอกให้รางวัล |
นัคเรศประเทศนี้ | หาไม่มีปลาอย่างนั้น |
ส่วนข้างนายกำปั่น | ครั้นได้ฟังว่ายังมี |
วันคารฝากมาขาย | พอกินได้ปลาไม่ดี |
แวะมาดูต้าพี่ | ทีจะพอได้กระหมึงหนา |
เสนาขึ้นมาดู | แก้ปลาทูออกมิช้า |
พินิจพิจารณา | ผิดกับปลาโคบ๔๔เมืองเรา |
ขึ้นเห็ดเหม็ดแล้ว๔๕นาย | ของหาไม่ก็ต้องเอา |
เสนาลานายสำเภา | ไปด้วยเราหรือพี่อา |
ตอบว่าไปเถิดนาย | ฉานค้าขายจ่ายสินค้า |
ทูลเถิดใช่ปลาข้า | เขาฝากมาปลาวันคาร |
อายุสิบห้าปี | บุตรเศรษฐีมีพงศ์ปราณ |
เรื่องราวเจ้าวันคาร | ท่านเพ็ดทูลเจ้าเมืองกัน |
อำมาตย์ครั้นได้ปลา | ลงนาวารีบผายผัน |
คุ้ยท้ายพายเต็มตรัน | มันร้องอิโหย่๔๖โห่ดังฉา |
ได้ปลาหน้าเท่าด้ง๔๗ | จอดเรือช็อง๔๘ถึงหน้าท่า |
พานพระศรีที่พามา | ใส่ปลาทูชูขึ้นไป |
ก้มกรานคลานเข้าถวาย | สมเด็จไท้ถามว่าอะไหร |
อำมาตย์ทนายใหญ่ | กราบทูลไทว่าปลาทู |
เอื้อมพระกรเปิดดูพลัน | ว่าเออนั่นชอบใจกู |
ให้ประทานผ้าคนละคู่ | เอ็งเอยสูราชการดี |
ดีนักเอ็งรักนาย | ค่อยเติมให้เอ็งอีกที |
ออกพระโอษฐ์เรียกทาสี | วิเศษดีเคยเชื่อใจ |
จักรามอบปลาให้ | แล้วผันผายกราบลาไท |
ทูลถวายให้ทรามวัย | เจ้าทอดพระเนตรพิจารณาปลา |
ร้อยชั่งกำลังไข้ | ฟังสาวใช้กราบทูลมา |
ดูแล้วให้ทาสา | นางครัวพาเอาไปพลัน |
เจี้ยนมันฝานหอมใส่๔๙ | หอมวิไลทั้งปรางค์จันทร์ |
ใส่จานฝานกรูดพลัน | โรยบนปลาหอมอาวรณ์๕๐ |
ข้าวขาวราวไข่มด | แต่งแล้วหมดพาผันผ่อน |
ถวายแก่แม่ดวงสมร | อรอนงค์ทรงเสวยพลัน |
มีรสหมดสองชาม | แม่โฉมงามฉันได้ครัน |
ฉันได้อยู่หลายวัน | ตั้งแต่นั้นชื่นพักตรา |
ความไข้สายสวาทน้อง | หายคลายคล่องแต่นั้นมา |
นึกบุญเดชคุณปลา | ช่วยชีพไว้ไม่อาสัญ |
ปิ่นเกล้าท้าวอำไพ | ค่อยชื่นใจขึ้นมาพลัน |
นึกปลาอย่างยาสวรรค์ | นึกผู้ให้นายวันคาร |
ให้เอาพร้าวกะทิมา | ช่างรจนาทำไม่นาน |
พร้าวกะทิใส่ในจาน | แล้วหลอมทองใส่ลงใน |
หน่วยหนึ่งหลอมเงินตรา | ช่างรจนาก็สวมใส่ |
ปิดแผลที่รอยไช | คนสงสัยหาไม่มี |
ทำแล้วช่อกันเข้า๕๑ | ท้าวจึงสั่งขุนเสนีย์ |
ทำน้ำยาอย่างดี | หน่วยถมเงินฝาจุกทอง |
พานเงินงามแง่นัก | โถปากสลักดูเรืองรอง |
เครื่องยศยังไม่หมอง | ของนี้ให้นายเภตรา |
เสนารับเครื่องประทาน | แล้วก้มกรานกราบลามา |
ถึงคลองลงนาวา | พายรีบมาถึงเรือใหญ่ |
เครื่องยศให้นายสะเภา | เพื่อนรับเอาแล้วดีใจ |
บอกว่าพร้าวสองใบ | ท่านฝากให้นายวันคาร |
ให้แล้วกลับมาทูล | ตามเค้ามูลสั่งเหตุการ |
พระองค์ทรงสำราญ | บานบันเทืองรุ่งเรืองใจ |
บัดนั้นนายนาวา | สิ้นสินค้าจะใช้ใบ |
จากคลองออกทะเลใหญ่ | ลมส่งท้ายไม่หยุดหย่อน |
สามวันเพื่อนประเวศ | ลุถึงเขตพระนคร |
ปลงใบทอดสมอก่อน | แล้วจุดประทัดยิงปืนใหญ่ |
ดังนักหนักหามแล่น | ไม่ใช่เล่นดังเสียงไกล |
ดังระทึงอื้ออึงไป | ทราบถึงไทว่าสะเภามา |
รุ่งเช้าขนของถวาย | แล้วโดยหมายดังจินดา |
วันคารกุมารา | เห็นสะเภามาก็ดีใจ |
มานั่งอยู่ชายคลอง | วาจาพร้องร้องถามไถ่ |
พี่แลกได้สิ่งใด | เล่าแก่น้องหน่อยหนึ่งรา |
นายสะเภาว่าปลาเจ้า | พี่แลกพร้าวของเขามา |
ยื่นให้ไม่ได้ช้า | วันคารพามะพร้าวจร |
ทุ่มไว้๕๒ใต้ซองหนำ๕๓ | เปลือกพุกดำ๕๔ไม่ลิดก่อน๕๕ |
รุ่งปีนาวาจร | ไปค้าเมืองหนึ่งเล่าหนา |
วันคารเอามะพร้าว | ไปฝากเล่าว่าพี่ขา |
เอ็นดูน้องเถิดหนา | ข้าฝากพร้าวไปด้วยกัน |
นายสะเภาเพื่อนเคยได้ | รับโยนไว้ท้องกำปั่น |
วันคารกลับมาพลัน | รุ่งวันนั้นเขาใช้ใบ |
เจ็ดวันเจ็ดเดือนคลาด | ถึงไกรลาศเมืองหนึ่งใหญ่ |
ทอดสมอแล้วปลงใบ | ขายสินค้าราคาดี |
กล่าวถึงเจ้านเรศ | มีฤทธิเดชด้วยศรศรี |
ทรงพระนามกรมี | ท้าวพาลวงศ์ทรงชรา |
อายุเก้าสิบเก้า | เฒ่าเกินเฒ่าไม่มรณา |
บุตรีและบุตรา | ทั้งหญิงชายหาไม่มี |
ลมตีวันละสี่หน | ทนเหลือทนหนังยู่ยี่๕๖ |
นางพัดและนางวี | เข้านั่งยามวันสามคน |
ลมตีมิได้ขาด | กลัวพระบาทจะสิ้นชนม์ |
นั่งยามคืนละสามหน | ท้าวยังบ่นว่าขี้นอน |
อสุรศักดิ์พวกยักษา | ถึงท้าวชรายังกลัวศร |
วันนั้นพระภูธร | ท้าวรนร้อนไม่สบาย |
ไข้สันนิบาตไม่ขาดตน | เจ็ดเดือนหนครางมิวาย |
วันเมื่อท้าวจะหาย | ให้อยากพร้าวกะทิหอม |
ของใครในบุรี | หาไม่มีสิ้นกรมกรอม |
ตรัสหาขุนหมื่นจร | ให้ตีฆ้องเที่ยวสืบหา |
หมื่นไวไปทางน้ำ | เที่ยวถามความทุกนาวา |
ดูก่อนนายเภตรา | พร้าวกะทิมีบ้างหรือนาย |
มาดูเถิดนายสำเภา | ยังจะเอาได้ไม่ได้ |
หยิบพร้าวมายื่นให้ | ดูเถิดนายเอาหรือไร |
อำมาตย์ก็สั่นแล | พร้าวนี่แหละหนักเหลือใจ |
ขลุกขลิก๕๗อยู่ข้างใน | พร้าวกระไรน้ำไม่มี |
ถูกผิดต้องลองแล | พูดนักแช๕๘อยู่จ๊ะพี่ |
ท่านจะไปด้วยข้านี้ | หรือนายพี่มิไคลคลา |
นายสะเภาแจ้งอาการ | ใช่ของฉานไสน้องอา |
เด็กน้อยทูลถวายมา | นามชื่อว่านายวันคาร |
ช่วยทูลเถิดพี่เจ้า | ไม่ใช่พร้าวของดิฉาน |
อำมาตย์ตอบมินาน | ตกหน้างานอย่าทุกข์ใจ |
ข้าจะลาแล้วนะนาย | ลงเรือพายจรครรไล |
รีบดึ่งถึงบัดใจ | ไม่ช้าไวจอดนาวา |
พานพระศรีใส่มะพร้าว | ยกแบกเข้าแล้วรีบมา |
ถึงวังขึ้นบนปรา- | สาทแล้วทูลยกพร้าวถวาย |
ปิ่นเกล้าเจ้าธานี | เห็นเสนีย์หาพร้าวได้ |
ตรัสว่าผ่าเถิดนาย | เป็นกะทิแท้หรือฉันใด |
เสนาผ่ามะพร้าวพลัน | ว่าเออนั่นทองอยู่ใน |
ภูมีท้าวดีใจ | ยืนทั้งไข้แล้วตบมือ |
เสนามาในห้อง | พร้าวเป็นทองอย่าอึงอื้อ |
เข้าห้องประคองถือ | ลืมความไข้ได้ของดี |
ยังลูกหนึ่งเล่าหนา | เอ็งเอ๋ยผ่าดูอีกที |
เสนาจับพร้ารี่ | ผ่าแล้วทูลว่าเงินใน |
เอ้อนั่นเป็นเงินเล่า | พระปิ่นเกล้ายิ่งดีใจ |
พามาเดี๋ยวพาไป | อวดชาวในสนมนาง |
ตั้งแต่ได้พร้าวมา | ไข้ราชาค่อยสว่าง |
ความไข้หายจากร่าง | สว่างอุราอารมณ์สบาย |
นึกในหทัยท้าว | ที่เจ้าพร้าวฝากมาขาย |
กูจะจัดให้จงได้ | ตอบแทนทองของวันคาร |
ชะรอยว่าเจ้าคนนี้ | จะมั่งมีทุกประการ |
มีบุตรสุดสงสาร | พ่อคงให้ได้ตอบแทน |
จะให้ของต้องราคา | จะเจตนาหรือแก้วแหวน |
ยิ่งคิดจิตยิ่งแน่น | แค้นเหมือนจะตายลูกไม่มี |
ยังมีแต่ศรสิทธิ์ | อันเรืองฤทธิ์ปราบยักษี |
กูจะฝากเป็นไมตรี | เจ้าจอมจักรว่ารักกัน |
เครื่องยศเคยทรงเรา | ให้นายสะเภาเอาไปกัน |
พานหมากกาน้ำปั้น | ขันถมยาราคาดี |
ตอบแล้วยื่นศรให้ | เสนานายยอชุลี |
จากเฝ้าเจ้าธานี | มาถึงที่จอดนาวา |
ลงเรือรีบพายไป | ถึงเรือใหญ่มิได้ช้า |
ให้ของนายเภตรา | ว่าของนี้ประทานนาย |
อันนี้ชื่อธนูศร | พระภูธรฝากไปให้ |
วันคารจะสืบสาย | ได้ฝากมิตรไมตรีกัน |
ฝากแล้วขุนเสนา | กลับมาทูลพระทรงธรรม์ |
เหมือนหลังดังพูดกัน | พระทรงธรรม์ฟังชื่นใจ |
บัดนั้นนายเภตรา | สิ้นสินค้าแล้วชักใบ |
จากคลองออกทะเลใหญ่ | ลมพัดกล้าล่องวารี |
เจ็ดวันพลันลุล่วง | ถึงเขตข้วงบุรีศรี |
หยุดเรือที่ทุกที | ขนสินค้าของหลวงถวาย |
ปางหน่อพ่อวันคาร | รู้แจ้งการแล้วผันผาย |
ไคลคลามาโดยหมาย | ชายน้อยหนึ่งถึงนาวา |
มีความถามว่านาย | พร้าวแลกได้สิ่งใดมา |
อ้อ มะพร้าวเจ้าหรือหนา | ข้าแลกธนูได้ทั้งคัน |
ได้ศรว่าได้ธนู | จีนขายหมูรู้อะไรมัน |
วันคารก็ไม่ครั่น | เพื่อนทั้งนั้นว่าธนู |
วันคารได้พามา | ไว้บนผรา๕๙ไกลรังหนู |
ยายตาว่าธนู | มีได้รู้ว่าศรชัย |
ตาว่าเป็นหัวหาง | เหมือนกับอย่างนูหางไก่ |
ที่จะยิงได้ที่ไหน | มันใหญ่นักหนักเกินแรง |
ธนูเรากลืงลูกกลม | น่าแช่มชมสายทองแดง |
นี่อะไรดอกเป็นแฉง | เหมือนเหล็กเครื่องใช้ดันเรือ |
ด้ามเหล็กยาวเต็มถีบ | ชอบจะตีมีดฝานลูกเขือ |
นายสะเภาเขาล่องเรือ | ฝากให้แลกแก้มือใหม่ |
(ราบหรือสุรางคนางค์ ๒๘)
ครั้นถึงรุ่งปี | |
นายสะเภาทุกที | เขาจักใช้ใบ |
วันคารครั้นรู้ | แบกธนูศรชัย |
ถึงกำปั่นใหญ่ | ฝากนายเภตรา |
ข้าฝากธนูด้วย | |
เอ็นดูที่ช่วย | แลกอื่นให้ข้า |
นายสะเภาเคยได้ | รับไว้มิช้า |
วันคารกลับมา | เสมือนอย่างแต่ก่อน |
ครั้นลมสมใจ | |
นายสะเภาใช้ใบ | ใครคลาดผาดจร |
นาวาแล่นล่อง | กลางท้องชโลธร |
จะไปนคร | ไกรลาศนครา |
บังเกิดพายุร้าย | |
พัดต้องชลสาย | เรือเวทะเลบ้า |
มีดชะงมลมพัด | คลื่นซัดนาวา |
จีนร้องไอ้ลา | คลื่นพาฉัดไป |
รอดจกูดเภาหัก๖๐ | |
สายโยงเสาชัก | สะบัดพัดไป |
เป็นเรือปลิวร้าย | กูดท้าย๖๑ก็ไท |
ลมพานผลาญใบ | ลงใช้ไม้เชียง |
เชียง๖๒หักหลักแง้น๖๓ | |
ลมคุมลมแค้น | แทบกินสิ้นเบียง |
ทั้งหลายน้ำรด | สูญหมดลำเลียง |
ลมพาลอยเพียง | ปากน้ำปัญจา |
บุญของวันคาร | |
พระพายพัดพาน | หอบเอานาวา |
ฉัดเข้าริมฝั่ง๖๔ | ดังกุศลพา |
พวกจีนลูกค้า | ค่อยสบายคลายใจ |
ทอดสมอหยุดไว้ | |
ขึ้นตอนตัดไม้ | ทำแฉงกูดใหม่ |
พลางขายสินค้า | เรือมาเรือไป |
ทั้งหลายสบายใจ | อยู่ริมคงคา |
เจ้าเมืองนั้นเล่า | |
ลือจบภพด้าว | ชื่อท้าวปัญจา |
มเหษีท้าวนั้น | นางคันธมาลา |
มีพระธิดา | สิบสี่ปีปลาย |
ชื่อนางวันพุธ | |
งามจริงยิ่งมนุษย์ | หอมประทิ่นกลิ่นไอ |
กลิ่นนางกากี | มิสู้เจ้าได้ |
กลิ่นติดผู้ชาย | ได้สามเดือนตรา |
หอมสี่โยชน์เศษ | |
เนื้อสีการะเกด | พึ่งตุมปทุมมา |
โอฐคือแต้มชาด | พระนลาตเลขา |
นาสิกสมหน้า | พักตราดุจเขียน |
นรลักษณ์สิบสอง | |
คิ้วต่อคอปล้อง | พระศอสมเศียร |
พระกรของนาง | คืออย่างลำเทียน |
ผิวเนื้อนางเนียน | เนตรดั่งเพชรนิล |
เกษาหอมหวล | |
ดุจกลิ่นลำดวน | เทพเจ้าด้าวดิ้น |
พระบาทนวลน้อง | ไป่หมองราคิน |
เดินอย่างนาริน | กินรีเยื้องกราย |
อรชรอ้อนแอ้น | |
ราคาห้าแสน | สุวรรณพรรณราย |
แขนคืองวงคช | ชดช้อยห้อยกราย |
ตกเกลื้อนดอกไม้ | ชายเห็นเป็นฝัน |
พื้นภพจบด้าว | |
สุดจะหาเปรียบเจ้า | ยกแต่ชาวสวรรค์ |
ยอนักจักช้า | ข้างหน้ามากครัน |
วันพุธแจ่มจันทร์ | เจ้าก็งามจริง |
เมื่อนางประสูติมา | |
ถือดวงจินดา | ชบ๖๕ได้ทุกสิ่ง |
เสียดายงามเลิศ | เจ้าเกิดเป็นหญิง |
จินดายอดยิ่ง | มีอิทธิฤทธา |
จะร่ำว่ากลิ่นน้อง | |
เทพทุกแห่งห้อง | หอมรสเสน่หา |
เทวาจะใคร่ได้ | ด้วยกลิ่นยุพา |
ครุฑยักษ์ปักษา | ปองรายหมายขวัญ |
(ยานี ๑๑)
ยังมีกรุงรักษา | นามชื่อว่าเมืองตาวัน |
ปิ่นเกล้าเจ้าเมืองนั้น | ชื่อสี่เศียรอสุรา |
เมียชื่อจันทกินี | เอกมเหษีของยักษา |
เจ้าจอมหม่อมมารา | ถึงมีเมียมิสบาย |
ได้ข่าวเจ้าวันพุธ | ว่างามสุดในพื้นใต้ |
ตรึกคิดจิตมุ่งหมาย | ใคร่ไปรักอัครยุพิน |
ครั้นจะลักอักนิษฐา | ไม่ลือชาทั่วแผ่นดิน |
กระบือหลับเสือจับกิน | เสียเกียรติยศไม่เห็นหาญ |
เป็นตายให้ไว้ชื่อ | เขาเล่าลือฝีมือมาร |
กูจะเขียนราชสาร | ไปขอกล่าวท้าวบิดา |
แผ่นทองม้วนเข้าแล้ว | ใส่ผะอบแก้วมิได้นาน |
ตรัสเรียกนายทหาร | ขุนกระบี่วงศ์พงศ์ยักษา |
เพื่อนเป็นวานรไพร | หัวนั้นไซร้เป็นมารา |
เป็นลูกนางชะลีป่า | กินน้ำลายท้าวยักษี |
ถ่มไว้ที่ใบไม้ | นางชะลีร้ายกินชลธี |
มีท้องด้วยยักษี | ตัวเป็นกระบี่หน้าเป็นมาร |
มาอยู่ด้วยอสุรา | ขออาษาเป็นทหาร |
ใช้ให้ถือราชสาร | ไปถึงท่านกรุงปัญจา |
มาราให้สารศรี | ขุนกระบี่บังคมลา |
เคลื่อนคล้อยค่อยถามา | มิได้ช้าระเห็ดไป |
เร็วคือพระพายพาน | ถึงไม่นานกำลังไว |
เดินดินสองเดือนไป | เหาะรีบได้งาย๖๖เดียวถึง |
เหาะลงหน้าเกยชัย | คนตกใจร่ำระทึง |
ปัญจาท้าวดันดึง | สิ่งอะไรหวาหน้าเป็นมาร |
กุมพระแสงขึ้นแกว่งไว้ | กลัวจะเข้าใกล้พระภูบาล |
มานะพาให้หาญ | จะวิ่งหนีบัดสีใจ |
บ่าวไพร่เคยไว้จิต | ขยำหัวกริชฉุก๖๗อยู่ไกล |
ฉุกนายว่ากลัวไหร | มันจะพูดใดก็ตามที |
ทรงธรรมสั่นจริงจัง | จะกลับหลังอายเสนีย์ |
ตกใจเหงื่อไหลรี่ | พอขุนกระบี่ถวายสาร |
เอื้อมพระกรรับผอบน้อย | รับค่อย ๆ มามินาน |
ข้าเฝ้าต่างหมอบกราน | พระภูบาลค่อยสบายใจ |
สารตราว่าสี่เศียร | ประนมเนียนด้วยอาลัย |
ถวายกายใต้บาทไท | ขอเอาท่านเป็นบิดา |
ด้วยใจอาลัยนุช | เจ้าวันพุธยอดเสน่หา |
ทรงฟังอย่ากังขา | ตามเจ้าฟ้าประสงค์ใด |
กรุงยักษ์เมืองปักษ์ใต้ | ขอถวายดอกมาลัย |
เงินทองของสิ่งใด | มีใจรักจักขอถวาย |
ประสงค์ใดนอกจักรวาฬ | ท้าวต้องการจักหาให้ |
ยกแต่พระสุริฉาย | นอกแต่นั้นตามประสงค์ |
ฉันจะทอดตะพานทอง | มารับรองนาฏนวลหงส์ |
ไปภิเษกเป็นเอกองค์ | ให้เป็นเจ้าปกเกล้ามาร |
ท้าวจะโปรดมิโปรดเกล้า | ขอให้ท้าวตอบสอบสาร |
โฉมปรางนางนงคราญ | อย่าหวงไว้ให้หมองนวล |
มิใช่ดวงจินดา | ถึงไว้ช้าพอได้สงวน |
หวงนุชสุดกระบวน | นวลแก่นักจักหมองศรี |
ท้าวหวงลูกเอาไว้ | คงจะขายฝ่าธุลี |
หวงไว้ไม่สู้ดี | มีแต่คนพูดนินทา |
ถึงจะให้อยู่เมืองท้าว | ตัวข้าพเจ้าจะอาษา |
ขอพระองค์ทรงเมตตา | จบสารตราของมารัน |
อ่านจบตบอกอัก | เหม่กรุงยักษ์แค่มันขัน๖๘ |
ผิดวงศ์พงศ์เทวัญ | กูลงสัน๖๙ก็ผิดที |
แล้วเสด็จเข้าในห้อง | ชลเนตรนองเล่ามเหษี |
ยักษามาย่ำยี | มีสารศรีมาขอนาง |
ท้าวเล่า๗๐ตามราวเรื่อง | นางมิ่งเมืองแค้นเคืองสาร |
ใครมั่งชั่งคิดอ่าน | สารถึงพ่อขอลูกสาว |
ไอ้ยักษ์อักกุศล | ไม่เกรงคนทำหลาวๆ๗๑ |
จมูกงอนอนเขี้ยวยาว | ลูกสาวแม่แต่จะตกใจ |
ผันถามแก่ลูกรัก | เจ้ากับยักษ์ชอบหรือไร |
อย่าเน่งเร่งตอบไป | ใจชอบยักษ์จักให้กัน |
วันพุธสุดเสน่หา | ฟังมารดาทูลตอบพลัน |
แต่ไม่ได้กับมัน | ออกชื่อยักษ์กลัวจักตาย |
ครั้นแม่ส่งให้มาร | ลูกคิดอ่านเต็มพากาย |
จะผูกคอเสียให้ตาย | ไม่ขอเห็นเป็นเมียมาร |
อย่าว่าแต่ยักษ์ร้าย | พ่อแม่ให้ไม่โต้ทาน |
นักโทษเที่ยวขอสาร | มารดายอมฉันพร้อมใจ |
โฉมนางคันธมาลา | ฟังลูกยาพูดเสือกใส |
แม่ถามงามลองใจ | ไม่ชอบยักษ์ใครจักขืน |
หาผัวเหมือนสินค้า | ไม่ชอบตาซื้อที่อื่น |
ยังว่าเจ้างามชื่น | เป็นสาวคะนองสองสามวัน |
แต่แม่เป็นมารดา | กับอสุราสากลัว๗๒มัน |
แล้วนั่งสนทนากัน | ว่าไม่ยอมเป็นพร้อมใจ |
แม้นยักษ์จักยกมา | เป็นไปหน้าช่วยแก้ไข |
รับแพ้เสียแต่ไกล | ใครจะยอว่ากษัตรา |
ท้าวหยิบแผ่นสุวรรณ | เขียนตอบพลันมิทันช้า |
ร่ำว่าสุดคณนา | กับมาราแต่งเสือกไส |
สารตราว่าไม่ให้ | ขุนยักษ์ร้ายผิดวงศ์ไป |
ทั้งนางไม่ชอบใจ | ว่าเป็นยักษ์อักตัญญู |
ผู้ฟังยังสงสัย | สักประเดี๋ยวใจอย่าหนักหู |
เขียนแล้วพระโฉมตรู | พับเข้าใส่ผะอบพลัน |
ถือเสด็จมามินาน | ให้กระบี่มารแล้วจาบัลย์๗๓ |
ท่านบอกสี่เศียรกัน | ว่าเรารักนักใจตรง |
ไปเถิดจวนเวลา | ทูลยักษาว่าโฉมยง |
ทูลเถิดว่านวลหงษ์ | ยังน้อยนักมิควรก่อน |
อสุรีย์กระบี่ยักษ์ | ลาทรงศักดิ์แล้วผันผ่อน |
ผาดโผนแล้วโจนจร | เหาะลอยร่อนท้องเมฆี |
งายหนึ่งเหาะบึ่งมา | ถึงภาราเมืองยักษี |
ล่องตรงลงปฐพี | ขุนมารกระบี่เข้าวังใน |
ขึ้นเฝ้าเจ้ากรุงมาร | ถวายสารบัดเดี๋ยวใจ |
พระยามารรับสารไว | ไทเปิดผะอบออกคลี่อ่าน |
ในลักษณ์อักษรสา | ว่าปัญจาพระภูบาล |
ขอสอบตอบคำมาร | ที่จะเผื่อไผ่เป็นไมตรี |
นอกกิจผิดธรรมดา | หงษ์กับกาไม่บัดสี |
วิฬากับจามรี | พอคลิ้งคล้ายปลายแววขน |
กวางเห็นราชสีห์ | ใคร่ยินดีมิเจียมตน |
ค่างร้ายไม่อายคน | เอาชะลีเป็นวนิดา |
ดอกปดว่ารสมี | ดอกสารภีเขาดีกว่า |
มลิเถื่อนแค่นเผยอหน้า | พลอยขึ้นค้างตามตอกขจร |
ถือธนูเที่ยวโป่งปาก | ว่าลูกมากชวนแลกศร |
เสโลไอ้โตมร | จะขึ้นเคียงด้วยพระขรรค์ |
ขี้เมานั่งเทียมขุน | ผู้มีบุญกลัวอะไรมัน |
กินเหล้าได้ขึ้นสวรรค์ | ฆาตต่อยกันกับเทวา |
จะเอาเป็ดขันต่างไก่ | ข้าอายใจนักยักษา |
จะปลดปลงองค์ธิดา | คนจะว่านอกรีดแสน |
จะเยาะเย้ยว่าเขยยักษ์ | เสียยศศักดิ์ทั่วด้าวแดน |
ยักษาอย่าเคืองแค้น | พ่อแม่แค่นนางไม่ยอม |
มารโกรธซัดสารตรา | ช่างเปรียบว่าชะน้อยถ่อม |
เผยอหน้าว่าลูกมันหอม | ไม่ยอมให้ไอ้ปัญจา |
อ่านสารหาจบไม่ | ขุนมารร้ายโกรธโกรธา |
ทืบพระบาทตบหัตถา | เหวยเสนาตีกลองชัย |
อำมาตย์ฟังคำนาย | วิ่งจับไม้ตีกลองใหญ่ |
ไม่รู้ว่าเท่าใด | ตีเอาไปตามสนุก |
ยักษาแลท่าทาง๗๔ | ตีถูกบางลุดังพลุก |
บางคนเที่ยวซนซุก | บุกดงป่าหากวางทราย |
ได้ยินเสียงเภรี | พลยักษีก็วุ่นวาย |
ลางมารก็กลืนควาย | กลืนแต่ท้ายเขาราพา |
ลางมารฉวยได้ช้าง | กุมไม่วางปล้ำไปมา |
ยืนย้ายพอได้ท่า | กลืนช้างคาไม่คิดอ่าน |
งวงช้างถอนยางกัน | กิ่งต้นรากติดปากมาร |
ล่อล่อครุบเหาะทะยาน | มารคาบพาไปงากาง |
คาบช้างวางผายผัน | ปากกุมภรรณแลท่าทาง |
ยักษามาต่างๆ | ดูเคว้งคว้างในเมฆา |
เข้ามาเต็มหน้าพระลาน | พวกพลมารสักโกฏิฐา |
อำมาตย์มารกรานเข้ามา | ทูลเจ้าฟ้ากรุงยักษี |
พร้อมเสร็จสักโกฏิปลาย | ขอทราบใต้ฝ่าธุลี |
รถทรงพระองค์ขี่ | มีพร้อมหมดทั้งคชสาร |
สี่เศียรครั้นทรงฟัง | ผุดจากนั่งโดยเดือดดาล |
ชำระองค์สรงชลธาร | ชะโลมลูบน้ำผกา |
แล้วทรงตาบเข็มขัด | ปิเหน่ง๗๕รัตน์งามโสภา |
เสื้อปักสุวรรณา | มงกุฏแก้วอันแพรวพราย |
อินทะนูพาหุรัด | ดูจำรัสวิเชียรฉาย |
เลิศยักษ์เมืองปักษ์ใต้ | งามละม้ายกับทศกรรฐ์ |
ผันสั่งจันทกินี | นางมเหษีอสุรัน |
ผัวรักจักจากผัน | ไปรุกรบกรุงปัญจา |
อวดดีว่ามีศักดิ์ | ถมสกุลยักษ์ลงนักหนา |
ว่าพี่นี่สกุลกา | มันเชื้อหงษ์พงศ์เทวัญ |
อวดอ้างว่าค่างป่า | ว่าเสือกหน้า๗๖เรียมทุกอัน |
จิตเรียมเกรียมกรมครัน | มั่นใจนักจักแก้มือ |
อวดกล้าว่าศักดิ์ศรี | ชาติอสุรีมินับถือ |
แต่ละคำทำดึงดื้อ | ถือว่าดีมีลูกสาว |
เป็นตายเรียมไม่ว่า | จะแก้หน้าลองสักคราว |
คอยอยู่ก่อนเถอดนะเจ้า | อย่าสร้อยเศร้าจะหมองนวล |
ส่วนนางจันทกินี | ฟังยักษีสั่งถี่ถ้วน |
จำจะห้ามตามกระบวน | กวนห้ามนักจักอื้ออึง |
ครั้นจะขัดทูลทัดทาน | ท้าวกรุงมารจะว่าหึง |
ถ้าได้เมียมาถึง | คิดอ่านแก้แลสักที |
นางยักษ์ห้ามหวงท้าว | พระปิ่นเกล้าอย่าจรลี |
ฟังน้องเถิดอสุรี | เขามิดีมิท้ามา |
อย่าห้ามเลยสุดสาย | รู้จักตายดอกน้องอา |
มนุสสีเท่าขี้ตา | สาอะไรเจ้าเท่าแม่มือ |
สังเมียแล้วคลาไคล | ทรงบองชัยที่เคยถือ |
รีบไวด้วยใจดื้อ | ออกดังอื้อหน้าเกยชัย |
บังเกิดหนูไล่งูมา | สู้กันหน้าที่นั่งไท |
หนูหริ่งวิ่งว่องไว | โดดขบงูมารดูฉ่า |
หนูไล่งูร้ายหนี | ท้าวอสุรีเห็นกับตา |
ตรัสบอกกับเสนา | งูแพ้ดีเรามีชัย |
แล้วเสด็จขึ้นรถทรง | เหล่าจตุรงค์เฝ้าไสว |
ได้ฤกษ์เลิกพลไกร | ยืดย้ายตามกระบวนมาร |
กระบี่วงศ์เป็นกองหน้า | นำโยธากำแหงหาญ |
โฉฉ่าเต็มหน้าพระลาน | ท้าวกรุงมารทำฤทธา |
แผดเสียงประเปรี้ยงฉาด | ทำสีหนาทบนรถา |
ชมไม้ชายมรรคา | ท้าวยักษาชื่นอุริน |
สุกอร่ามงามทรสาย | ลูกย้ายย้อยห้อยถึงดิน |
ท่านท้าวเจ้าอสุริน | ยินดีรื่นชื่นพระทัย |
ชมพันธ์ฝูงสกุณี | เกาะพฤกษ์ศรีอยู่ไสว |
ไก่ฟ้านกหว้าไพร | แล่นลกลก๗๗ยกเฉี่ยวกิน |
ลูกอ่อนซ่อนป่ารก | ฝูงวิหคก็ไขว่ขวิน |
ตกใจฝูงอสุริน | บ้างโผนผินเกาะพฤกษา |
กล่าวว่าช้ามินาน | รีบพลมารสองเดือนตรา |
ถึงแดนเมืองปัญจา | ตั้งพลับพลาหยุดพลมาร |
แล้วแต่งหนังสือบอก | ออกทุกข้อในราชสาร |
แล้วให้ขุนกระบี่มาร | ไปว่ากล่าวท้าวปัญจา |
กระบี่มารรับสารขยาย | เหาะผันผายทะยานมา |
เหาะตรงลงชาลา | ทำฤทธาอยู่หน้าเกย |
ชาววังวิ่งดังฉาว | มันมาเล่าฉิบแล้วเหวย |
มารกระบี่มิเชือนเชย | เพื่อนทำฤทธิ์สิทธิ์ศักดา |
หางยาวเก้าเส้นเศษ | ทำฤทธิ์เดชขึ้นต่อหน้า |
ม้วนหางเข้ามิช้า | เป็นอาศน์นั่งตั้งโตใหญ่ |
อำมาตย์พวกข้าเฝ้า | วิ่งตาขาวด้วยตกใจ |
ลางคนไม่สาไหร | เข้าเล้าไก่แลท่าทาง |
ลางคนผ้าลุ่ยหลุด | วิ่งสะดุดล้มโพกด่าง |
วิ่งยุ่งกันโหยงหยาง | ผ้ากับร่างไม่ติดพัน |
วิ่งสะดุดเอาผู้หญิง | ล้มลงกลิ้งพาดพิงกัน |
ทวารล่อนเหมือนหัวมัน | คุดคู้ไว้ไม่อายใคร |
ตาบอดกอดตาดี | ช่วยพี่ทียักษ์ที่ไหน |
กอดไว้เพื่อนปล้ำไป | ถด๗๘สองคนเข้าเรือนพลัน |
คนง่อยแล่นไม่ไหว | ว่าเจ้าไหมจูงหวากัน๗๙ |
ฉวยเจ๊กยุงหัวสั่น | ยักหงาย๘๐ตึงร้องไอ้ลา |
ลูกอ่อนวิ่งฉวยลูก | ครุบฉวยถูกแค่บั้นขา๘๑ |
หิ้วแล่นเหมือนลูกหมา | พุทโธร้องเหมือนลูกหมู |
คนแก่แล่นย็องย็อง๘๒ | แลหลังก็อง๘๓เหมือนธนู |
ไม้เท้าทิ่มเป็นรู | ล้มลงนอนลีดลิ้นพลาม |
จีนเฒ่ากินข้าวเปียก | ยินเพื่อนเรียกแล่นคาบชาม |
นางเมียผุดแล่นตาม | ทูนถุงเบี้ยว่าเงินเหรียญ |
คนหนึ่งหัวเพตรา๘๔ | แล่นเที่ยวหน้าราวฉีกเรียน๘๕ |
เอวหักตะโพกเหี้ยน | มือกุมพรก๘๖ไปปละหน่วย๘๗ |
จีนแก่กินกล้วยไล | ฤทธิ์ตกใจจนก้างกล้วย |
เรียกเมียช่วยเหวยช่วย | ครุบหน่วยกล้วยร้องไอ้ลา |
กล้วยหลุดออกมาเสีย | ร้องด่าเมียติ้วหน้าหม่า |
ลิหมุ่งพูไม่ช่วยหวา | หักขาเมียขี้จมเบน |
ป้าชีเรียกปากสั่น | ถ้าเจ้ากันวะตาเณร๘๘ |
แล่นล้มขี้จมเบน | ตาเณรว่าวะเต็มที |
ตีนตรด๘๙เดินจดปลาย | รอยหมายง่ายหมายหยู้หยี้ |
ไอ้จีนที่ทำหมี่ | เที่ยวทูนกะทะเหมือนยมบาล |
แม่ค้ายกขึ้นเต้น | ทูนแผงแล่นจนเบี้ยพ่าน |
เจ้าเณรบิณฑบาตรสาร | แล่นสารหกหมาเบื่อกิน |
คนแก่หน่วยตาบอด | แล่นไม่รอดเที่ยวโจ่งพลิ่น๙๐ |
ตาดีหนีเสียสิ้น | ล้มปากปลิ้นทบเขอตู๙๑ |
ไอ้ที่ไม่รู้จัก | บอกว่ายักษ์อะไรฉู้๙๒ |
หางยาวราวพดงู๙๓ | แต่ใบหูเท่าด้งมอน๙๔ |
ว่าไปก็ไม่งาม | เป็นพลความนอกข้อขอน |
ขออภัยในคำกลอน | ใคร่จีบงอนทุกคำไป |
ไม่ว่าให้ครึ้นๆ | เด็กรื่นๆ๙๕ ไม่ชอบใจๆ |
พวกโลน๙๖จะใยไพ | ไม่สาไหร๙๗เรื่องวันคาร |
ปางนั้นกระบี่วงศ์ | นั่งอยู่ตรงต่อหน้าฉาน |
จดหมายคลายคลี่อ่าน | ฟังเหวยท่านท้าวปัญจา |
ตั้งต้นว่ากรุงมาร | ยกพลหาญบึ่งมาหา |
ล้อมชิดติดพารา | อย่าเชือนช้าส่งลูกสาว |
สี่เศียรแปดพระกร | ย่อมลือฉ่อนทุกแดนด้าว |
ยักษาก็ว่าเล่า | หมาดเถิด๙๘ท้าวคงปะดี |
ไม่ส่งองค์วันพุธ | จะอุก๙๙จุดกรุงบุรี |
ถ้าส่งให้โดยดี | ตัวเรานี้อดโทษา |
อ่านจบแล้วถามไถ่ | เอ็งว่ากระไรท้าวปัญจา |
อย่าเน่งเร่งบอกมา๑๐๐ | ท้าวจะว่าประการใด |
ท้าวว่าเน่งเถิดนาย | อย่าวุ่นวายข้าจะไป |
สามวันจะครรไล | เอ็งทูลไทยท้าวยักษา |
กระบี่ฟังยังซ้ำถาม | ข้าแคลงความอยู่หนักหนา |
แต่พูดไม่ลดละ | ถือมานะกษัตรา |
เป็นตายไว้น้ำหน้า | คิดปรึกษาในข้อความ |
นั่งด้วยมเหษี | พระภูมีสุนทรถาม |
เราจะออกต่อสงคราม | จะคิดความกระแสใด |
ตัวพี่ก็ไม่กล้า | ด้วยชราอาพาธใน |
รบรบก็นั่งไอ | หอบลิ้นล่อ๑๐๑พอแลตาย |
ยิ่งคิดจิตยิ่งเศร้า | มีลูกเต้าก็ไม่ชาย |
พี่จะรบกระไรได้ | เหนื่อยลิ้นล่อมารเบื่อกลัว |
เจ้ากรรมจะทำพรือ๑๐๒ | ครางหือๆมือเกาหัว |
รี้พลก็สากลัว๑๐๓ | เห็นหน้ายักษ์กลัวจักตาย |
โฉมนางคันธมาลา | เห็นภัศดากระหนหาย๑๐๔ |
ว่าท้าวอย่าวุ่นวาย | ส่งลูกให้แก่มันไป |
เป็นตายไม่ส่งให้ | ไอ้ขุนยักษ์จะทำไม |
ลูกไม่ใช่ไข่เป็ดไก่ | หยิบซัดโยนทำคุณกา |
แล้วออกนอกเกยชัย | โองการไขตรัสถามมา |
ดูเคราะห์ทีโหรา | จะเสียเมืองหรือฉันใด |
วันจันทร์เดือนสิบสอง | เราจะคล่องหรือขัดใน |
ถ้าจะออกไปชิงชัย | ได้ไม่ได้เร่งทายมา |
จะชนะหรือจะแพ้ | ทายให้แน่ทีโหรหวา |
ส่วนว่าตาโหรา | ล้วงตำราเปิดดังโกรก |
(ฉบัง ๑๖)
โหรเฒ่าเฒ่าจับดินสอ | คูณหารหารต่อ |
ดินสอขีดสากลากโสก | |
เห็นแล้วทายไปตามโชค | ทายถูกดังโปก |
เกิดเดือนสิบสองขี้เย็น๑๐๕ | |
โหรเฒ่าทายราวตาเห็น | พระเคราะห์ก็ไม่เป็น |
แต่เกณฑ์ปากร้ายไม่ดี | |
นางจะจากท้าวไปปีนี้ | แต่จะได้สามี |
ภูมีจะได้ลูกเขย | |
ถามว่ามนุษย์หรือยักษ์เล่าเวย | ทายไปอย่าเฉย |
ลูกเขยหรือว่าลูกขาย | |
ทูลว่ายักษาไม่ใช่ | เป็นมนุษย์เฉิดฉาย |
อายุผู้ชายเทียมนาง | |
มีศรฤทธิ์รอนทุกอย่าง | ฝากมาให้นาง |
ถึงแล้วอยู่ในนาวา | |
ท้าวว่าจริงหรือโหรา | ถ้าเหมือนเองว่า |
เราจักรางวัลเต็มใจ | |
เท่าเถิดค่อยทายต่อไป | ผินสั่งหมื่นไว |
สูไปปากน้ำเถิดหนา | |
สืบไปใครได้ศรมา | เอาฆ้องชะวา |
ตีป่าวอย่าช้าจงไว | |
เอาเรือพระที่นั่งเราไป | วอทองทำใหม่ |
ไปคอยอยู่ริมคงคา | |
หมื่นไวรับใส่เกษา | ยอชุลีลามา |
เรียกหาฝีพายด้วยไว | |
แปดสิบเล่มลงบัดใจ | นายท้ายพายใหญ่ |
แต่ใบแผ่นเดียวหนาแน่น | |
ด้ามพายใหญ่ยาวราวแขน | คุ้ยท้ายโพกแบน |
เร็วจริงยิ่งผีช่วยพาย | |
มาถึงปากน้ำโดยหมาย | กล่าวคำภิปราย |
ใครได้ธนูศรมา | |
ตีฆ้องร้องป่าวฉาวฉ่า | มาถึงนาวา |
ของนายสะเภาเมืองใหม่ | |
มีความร้องถามขึ้นไป | ท่านอยู่เมืองใด |
จะมาขายอะไรกระมังหนา | |
บัดนั้นนายสะเภาเภตรา | ตอบว่าตัวข้า |
มาแต่เมืองพรรณรังษี | |
อาทิตย์เป็นเจ้าธานี | องค์พระมเหษี |
เทวีชื่อนางวันจันทร์ | |
วันคารหลานท้าวองค์นั้น | รูปโฉมโนมพรรณ |
งามครันเป็นลูกแม่ตาย | |
โฉมตรูฝากธนูมาถวาย | มาดูหรานาย |
ศรธนูฉันไม่เข้าใจ | |
เสนาได้ฟังขึ้นไป | ยกธนูศรชัย |
หัวใจให้สบายหนักหนา | |
ปากว่าเหมือนธนูแรกมา | ไพร่ไพร่อย่างข้า |
เรียกว่าธนูหางไก่ | |
เจ้านายเรียกธนูศรชัย | เกิดแล้วตายไป |
แค่ไหนไม่เห็นสักที | |
พูดช้าฉานลาแล้วพี่ | จะไปในบุรี |
หรือพี่จะไม่หยัดใจ | |
นายอาข้ามาถึงใหม่ | เอาเถิดศรชัย |
พาไปถวายภูมี | |
ข้าต้องขายของทั้งนี้ | เวลาไม่มี |
เชิญพี่พาไปกันเอง | |
เสนาพาศรตั้งเขลง | ใส่เรือพายเร่ง |
คัดเคร่งไม่ช้ามาถึง |
ฯลฯ
(ต้นฉบับต่อจากนี้ฉีกขาดอ่านไม่ได้ความไป ๑ หน้า โปรดอภัยด้วยที่หาต้นฉบับอื่นมาสอบทานไม่ได้)
-
๑. ทั้งหมดนี้หมายถึงเด็ก ๆ เพราะเด็กครั้งนั้นต้องไว้จุกหรือเปียกันจนอายุ ๑๒ ปี จึงจะตัด หัวจุกคือผมที่เว้นไว้กลางกระหม่อนกระจุกเดียวถ้าปล่อยไม่เกล้าจะปรกมาข้างหน้า ผมเปียคือ ผมสองกระจุกเว้นไว้กลางกระหม่อมไม่เกล้าก็จะตกไปสองข้าง หัวเจ๊ก คือผมจุกกระจุกเดียวที่เว้นไว้กลางกระหม่อมค่อนข้างท้ายทอย ถ้าไม่เกล้าจะตกไปข้างหลัง ↩
-
๒. คือ คนเปลี้ย ↩
-
๓. บอกตรงแล้ว พระทุ่มเป็นผู้เขียนคัดลอกลงสมุดข่อยนี้ ↩
-
๔. คือ ยาฉุน ↩
-
๕. คือ เอ็นดู ↩
-
๖. เนาว์โลกอุดรสถิต คือ อยู่ในทิศเหนือ ที่นี้กล่าวทิศเพียง ๗ ขาดทิศทักษิณ ↩
-
๗. ไม่ทู่ซี้ ↩
-
๘. ปัญจะพรหมา จตุรพักตร์พรหมมี อัฏฐนาคะ กุกกุฏสัตตะ ว่าตามกลอนพาไป คงจะเคยท่อง อักขระจารึกยันต์ตรีนิสิงเห จะลงเลขอะไรมีคาถาประจำเลข เลยคล่องปาก ก็กลอนพาไปทั้งนั้น ↩
-
๙. คำว่า ดิฉัน เป็นคำพูดสุภาพที่พูดต่อผู้ที่ตนเคารพ ใช้ทั้งผู้ชายผู้หญิง ↩
-
๑๐. พุงใหญ่ เป็นภาษาพื้นเมือง ว่ามีครรภ์ ↩
-
๑๑. อะขู อักโข มากมาย ↩
-
๑๒. ผ่าพุงทั้งเป็น บุราณไม่มีก็จริง สมัยนี้เรื่องเล็ก ↩
-
๑๓. ตำแย หมอในการเกิดด้วยวิธีผดุงครรภ์แบบโบราณ ↩
-
๑๔. ทลา ถลา หมายความถึงถนน ลา ก็เหมือนกัน ↩
-
๑๕. กลบลูก ทำให้ลูกแห้งหายไปในท้อง ↩
-
๑๖. หาไม่ ไม่มี ↩
-
๑๗. ควายพ่าน ควายไม่มีคอกเที่ยวเพ่นพ่าน ↩
-
๑๘. ยุด ยึด หรือดึงเอาไว้ ↩
-
๑๙. ตาเณรบัว คือคนที่บวชพระแล้วสึกออกมา ชาวบ้านเรียกว่าเณร เช่น พระบัว สึกมาแล้ว ถูกเรียกว่าเณรบัว จะเรียกว่าทิตต้องบวชนาน ตาเณรบัวหมายความถึงนายบัวคนเก่ารุ่นตา ↩
-
๒๐. ยิก ไล่ ↩
-
๒๑. ตรัน เข้าไปเอาไม้หรือมือยันดันเอาไว้ ↩
-
๒๒. กาหลอ วงดนตรีชะนิดหนึ่ง ใช้เฉพาะงานศพ แบบนางหงษ์ ↩
-
๒๓. บัวปอก สีของผ้า ↩
-
๒๔. มันขัน น้ำมันชะนิดหนึ่ง ↩
-
๒๕. เชอ (กะเชอ) ภาชนะสานด้วยหวายสำหรับผู้หญิงใช้ถือใส่หมากพลูเป็นต้นในการเดินทาง ↩
-
๒๖. มือกุมพัด ถือพัด เช่นพัดด้ามจิ้ว ↩
-
๒๗. สูมาแลไหรๆ พวกแกจงมาดูอะไรนี่ซิ ↩
-
๒๘. อีราชา นางตัวดี ↩
-
๒๙. ไอ้ฉากหัว เป็นคำด่าของผู้หญิง ↩
-
๓๐. การไหรใคร ธุระอะไรของใคร ↩
-
๓๑. มาต้า มาซิ ↩
-
๓๒. อุตตราวัฏศพ คือแห่ให้ซ้ายแก่เมรุ ตรงกันข้ามกับทักขิณาวัฏ ↩
-
๓๓. ทุมทุม เป็นอาการที่ไฟลุก ↩
-
๓๔. หนำนา กะต๊อบกลางนา ขนำนาก็เรียก ↩
-
๓๕. เวช้า เวเปล คือ ไกวเปล ช้า คือว่าเพลงกล่อม ↩
-
๓๖. เออนัน เออหนาน เฮอนัน เป็นคำอุทานอย่างเห็นด้วยเต็มที่ ↩
-
๓๗. พรูกเช้า ต่อโพรก คือพรุ่งนี้ ↩
-
๓๘. อย่าเน่งเร่งบอก อย่านิ่งอยู่เร่งบอกมา ↩
-
๓๙. ห่อเตาะ ห่อกาบหมาก ↩
-
๔๐. นายเภา นายสำเภา ↩
-
๔๑. จืดปาก คือ กินอาหารไม่รู้รส ↩
-
๔๒. ขรี ชื่อไม้ชนิดหนึ่ง คล้ายนนทรี ยอดขวาดเป็นผักได้ ↩
-
๔๓. ตีไม้สีฟัน ไม้สีฟันโบราณใช้ไม้ข่อยบ้าง สะเดาบ้าง ตีให้เป็นฝอย เหลาอีกข้างให้แหลมสำหรับชำระฟัน ตามวัดมักตีก่อนเข้าพรรษา ถวายอุปัฌาย์ อาจารย์ ↩
-
๔๔. ปลาโคบ บางทีเรียกปลาโคก เป็นปลาน้ำเค็ม ขนาดเท่ากับปลาทู แต่ตัวสั้นเกล็ดมาก ↩
-
๔๕. ขึ้นเห็ดเหม็ดแล้ว ขึ้นราหมดแล้ว ↩
-
๔๖. ร้องอีโหย่ ร้องชโย โห่ฮี้ว ด้วยความร่าเริงหรือคึกคะนอง ↩
-
๔๗. หน้าเท่าด้ง หน้าบานด้วยความดีใจ ↩
-
๔๘. ช็อง เป็นอาการที่ปักของแหลมลงไปที่ดิน ↩
-
๔๙. ฝานหอมใส่ หั่นหัวหอมใส่ ↩
-
๕๐. หอมอาวรณ์ หอมยวนใจพิลึก ↩
-
๕๑. ช่อกันเข้า ผูกเข้าเป็นพวง ↩
-
๕๒. ทุ่มไว้ ทิ้งไว้ ↩
-
๕๓. ใต้ซองหนำ ซุกซอกไว้ใต้หนำ (กระต๊อบ) ↩
-
๕๔. เปลือกพุกดำ เปลือกผุจนดำ ↩
-
๕๕. ไม่ลิดก่อน ยังไม่ปอกเปลือก ↩
-
๕๖. หนังยู่ยี่ หนังย่นหดเหี่ยว ↩
-
๕๗. ขลุกขลิก มีอะไรกะทบกุกกิก ↩
-
๕๘. แช ช้า ↩
-
๕๙. ไว้บนผรา ผราคือร้านปูฟาก มีอยู่เหนือเตาไฟในครัวชาวบ้านโบราณเกือบทุกบ้าน สำหรับเก็บของที่อาจขึ้นเช่นเกลือน้ำตาลพริกขี้หนูแห้งเป็นต้น ↩
-
๖๐. รอดจะกูดหัก จะกูดคือหางเสือ คานที่ยึดหลักหางเสือหัก ↩
-
๖๑. กูดท้าย หางเสือเรือ ก็ไหวคือสั่นจนไว้ไม่อยู่ ↩
-
๖๒. เชียง คือกรรเชียง ↩
-
๖๓. หลักแง้น หลักหลุดจากฐานกรรเชียงไม่ได้ ↩
-
๖๔. ฉัดเข้าริมฝั่ง ซัดเข้าริมฝั่ง ↩
-
๖๕. ชบ ชุบด้วยเวทย์มนต์ จะให้เป็นอะไรตามปรารถนา ↩
-
๖๖. งาย ครึ่งวัน ↩
-
๖๗. ฉุก ยุ ↩
-
๖๘. แค่มันขัน ที่มันนึกสนุกหรือเล่นตลก ↩
-
๖๙. ลงสัน ตกลง ↩
-
๗๐. เล่า บอก ↩
-
๗๑. ทำหลาวๆ ทำผลุนผลัน ↩
-
๗๒. สา รู้สึก สาอะไร จะรู้สึกอะไร สากลัว = รู้สึกกลัว ↩
-
๗๓. จาบัลย์ คำกวีเมืองนครแปลว่าพูด ↩
-
๗๔. แลท่าทาง ดูมีกิริยาพิกล ↩
-
๗๕. ปิเหน่ง ปั้นเหน่ง ↩
-
๗๖. เสือกหน้า ว่าใส่หน้า ↩
-
๗๗. ลกลก รีบด่วน ↩
-
๗๘. ถด ถัดกระเถิบ ↩
-
๗๙. ว่าเจ้าไหมจูงหวากัน บอกจีนชื่อไหม ให้จูงอั๊วด้วย ↩
-
๘๐. ยักหงาย หงายหลัง ↩
-
๘๑. ครุบฉวยถูกแค่บั้นขา ผะเอิญจับถูกกลางขา ↩
-
๘๒. ย็อง ย็อง เป็นอาการที่วิ่ง ↩
-
๘๓. หลังก็อง หลังโกง ↩
-
๘๔. หัวเพตรา หัวคุดทะราดที่เท้า ↩
-
๘๕. ฉีกเรียน ฉีกทุเรียน ↩
-
๘๖. กุมพรก ถือกะลามะพร้าว ↩
-
๘๗. ปละหน่วย ข้างละใบ ↩
-
๘๘. ตาเณร ในที่นี้หมายถึงคนแก่ที่ยังบวชเป็นเณร ซึ่งบางคราวเรียกเถน ↩
-
๘๙. ตีนตรด ตีนกะจอก คือข้อเท้าซึ่งเคลื่อนไหวไม่ได้ เวลาเดินจรดปลายเท้า ↩
-
๙๐. เที่ยวโจ่งพลิ่น เที่ยววิ่งเพ่นพ่านไม่มีจุดหมาย ↩
-
๙๑. เขื่อน ตู ธรณีประตู ↩
-
๙๒. อะไรฉู้ อะไรไม่รู้ ↩
-
๙๓. พดงู ขนดงู คืออาการที่งูม้วนตัวนอนเป็นวงกลมซ้อนเป็นชั้น ๆ เรียกว่างูนอนพด ↩
-
๙๔. ด้งมอน กะด้งใบใหญ่สำหรับใส่ของตากแดด ↩
-
๙๕. เด็กรื่นๆ เด็กวัยรุ่น ↩
-
๙๖. พวกโลน พวกนักขัดคอ เช่นเวลาหนังโนราแสดง มักมีคนดูคอยพูดขัด เรียกว่าพวกโลน ↩
-
๙๗. ไม่สาไหร ไม่มีรสชาดอะไร ใช้ไม่ได้ ↩
-
๙๘. หมาดเถิด ประมาทอยู่เถิด ↩
-
๙๙. จะอุก จะปล้น ↩
-
๑๐๐. อย่าเน่งเร่งบอก อย่านิ่งอยู่เร่งบอกมา ↩
-
๑๐๑. หอบลิ้นล่อ หอบจนลิ้นห้อย ↩
-
๑๐๒. ทำปรือ ทำอย่างไร ↩
-
๑๐๓. สากลัว รู้สึกกลัว ↩
-
๑๐๔. กระหนหาย กระวนกระวาย ↩
-
๑๐๕. ขี้เย็น มักเย็น คือหนาวเร็วกว่าคนอื่น ↩