ประวัตินายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน)

นิราศนรินทร์ เป็นวรรณคดีที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่ง ของกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยมีความไพเราะเป็นเยี่ยม ผู้แต่งไม่บอกไว้ชัดเจน นอกจากปรากฏอยู่ในโคลงบาทสุดท้ายของเรื่องว่า “โคลงเรื่องนิราศนี้ นรินทร์อิน รองบาทบวรหวังถวิล ว่าไว้” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงสันนิษฐานเรื่องราวของผู้แต่งว่าควรจะชื่อ อิน (ตามที่บ่งไว้ในโคลง) และควรเป็นมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเมื่อสอบดูทำเนียบข้าราชการวังหน้าในสมัยนั้นก็มีตำแหน่งนายนรินทร์ธิเบศร์ ทั้งเมื่อสอบกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ก็ได้ความชัดยิ่งขึ้นคือ ปรากฏตามประวัติศาสตร์ว่าในรัชกาลที่ ๒ นี้มีศึกพม่ามาตีเมืองถลางและเมืองชุมพร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรเสด็จยกทัพหลวงไปปราบพม่า เส้นทางที่ทรงยกกองทัพไปก็เป็นทางเดียวกับที่นายนรินทร์อิน อธิบายไว้ในนิราศของตน คือออกจากกรุงเทพฯ ทางเรือ และไปขึ้นบกที่เพชรบุรี เพื่อเดินเท้าต่อไป แต่มีข้อที่น่าสังเกตอยู่ว่า ตามประวัติศาสตร์นั้น กรมพระราชวังบวรเสด็จยกทัพเดินเท้าจากเมืองเพชรบุรี ตรงไปยังเมืองชุมพรทีเดียว ส่วนเส้นทางของนายนรินทร์อินนั้น เมื่อออกจากเพชรบุรีแล้วตรงไปเมืองกำเนิดนพคุณ และวกกลับไปยังเมืองตะนาวศรี อันเป็นเมืองด่าน ทั้งนี้ทำให้สันนิษฐานต่อไปว่า นายนรินทร์อินนี้ อาจจะไปในกองทัพ เนื่องในโอกาสนี้เหมือนกัน แต่มิได้ไปพร้อมทัพหลวง อาจจะไปกับทัพหน้าซึ่งส่งไปดูลาดเลาพม่าก่อน จึงไปยังเมืองตะนาวศรีใกล้ด่านสิงขร ทั้งประวัติศาสตร์ก็มีระบุไว้ว่า กรมพระราชวังบวรได้ส่งทัพหน้าล่วงไปก่อน อย่างไรก็ตาม นายนรินทร์อินนี้ ก็คงเป็นมหาดเล็กของกรมพระราชวังบวร ในรัชกาลที่ ๒ และเป็นผู้เขียนนิราศเรื่องนี้ขึ้นในโอกาสนี้อย่างแน่นอน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ