คำนำของผู้แปล
ในกระบวนหนังสือไทยเก่า จะหาเรื่องใดที่จับใจและขึ้นใจชาวเรายิ่งไปกว่าหรือแม้แต่ทัดเทียมเรื่องอิเหนานั้นมีน้อยนัก ก็และเรื่องอิเหนานั้นย่อมมีต่างๆ กันอยู่หลายฉบับ เช่นที่เรียกอิเหนาใหญ่ และอิเหนาเล็ก มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาโบราณ เนื้อเรื่องต่างกันมาก ยังมีอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ และที่เจนใจกันมากที่สุด คืออิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ซึ่งมีเนื้อเรื่องแปลกออกไปอีก ด้วยทรงดัดแปลงร้อยกรองโดยเฉพาะให้เป็นท่วงทีงดงามดี เหมาะแก่การเล่นละคอน ในเชิงรำก็ให้ท่าทีจะรำได้แปลกๆ งามๆ ในเชิงจัดคุมหมู่ละคอนก็ให้ท่าทีจะจัดได้เป็นภาพงามโรง ในเชิงร้องก็ให้ทีที่จะจัดลู่ทางทำนองไพเราะเสนาะโสตร ในเชิงกลอนก็สละสลวยเพราะพริ้งไม่มีที่เปรียบ อาจเล่นละคอนให้สมบูรณ์ครบองค์ห้าของละคอนดีได้ คือ ๑. ตัวละคอนงาม ๒. รำงาม ๓. ร้องเพราะ ๔. พิณพาทย์เพราะ ๕. กลอนเพราะ ซึ่งสำเร็จเป็นทั้งทัศนานุตตริยะ และสวนานุตตริยะอย่างไพบูลย์
ก็และด้วยเหตุความขึ้นใจดั่งกล่าวมานั้นประการหนึ่ง กับด้วยความเข้าใจกันแพร่หลายว่าเป็นพงศาวดาร หรือตำนานประวัติการยุคหนึ่งของประเทศชวาอีกประการหนึ่ง ใครมาถึงเกาะชวาจึ่งเว้นไม่ได้ที่จะสืบสาวราวเรื่อง เทียบกับหนังสือนั้น อย่างน้อยเพียงถามหาถิ่นฐานบ้านเมืองที่กล่าวในหนังสือเรื่องอิเหนา และสอบสวนว่าถ้อยคำพากย์ชวามะลายูที่ใช้ในพระราชนิพนธ์นั้น ตรงกับที่มีใช้อยู่ในภาษาปัตยุบันนี้อย่างไร อย่างแรงขึ้นไปอีกก็ถึงสอบสวนว่า ผู้ที่มีชื่อในหนังสือนั้นเกี่ยวดองกับราชวงศ์เจ้าชวา ซึ่งสืบวงศ์ครองเมืองอยู่เวลานี้บ้างอย่างไร การสอบสวนก็ไม่สู้ได้ผล นอกจากในเชิงถ้อยคำค้นไปนานๆ ก็พบโดยมากว่าถูกต้อง จะมีผิดเพี้ยนบ้างก็ไม่มากนัก แต่ในส่วนถิ่นฐาน ย่อมได้ความแต่รัวๆ รางๆ เพราะความเป็นไปของบ้านเมืองย่อมผันแปรไปโดยกาล เช่นที่กล่าวว่าเป็นนครหลวงกลายเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย หรือเพียงหมู่บ้านหรือถึงรกร้างสูญชื่อเสียงก็มี และที่สืบถึงความสัมพันธ์กับวงศ์สกุลเจ้าชวาปัตยุบันนี้นั้นเหลวเลยทีเดียว เพราะราชวงศ์ย่อมตั้งและล้มซับซ้อนกันมามาก แต่ข้อสำคัญนั้น เรื่องอิเหนามิใช่พงศาวดารหรือตำนานบ้านเมืองเสียเลยทีเดียว เป็นเพียงนิยายอันหนึ่งที่เล่าสืบกันมาเท่านั้น นิยายเชิงตำนานเช่นนี้ของไทยเราก็มีมากซึ่งมีผู้เข้าใจผิดๆ ไปว่าเป็นพงศาวดาร ปัญหาจึงมีว่าอะไรเป็นนิยาย หรือเรื่องต้นเค้าของหนังสือเรื่องอิเหนา
ในชั้นนี้ค้นได้เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “ปันหยี สะมิหรัง” ที่แปลนี้ ต้นฉบับเก่าเป็นหนังสือภาษาชวา เก็บไว้ที่ห้องสมุดของสมาคมศิลปวิทยาเมืองบะตาเวีย ส่วนฉบับที่ได้มาแปลนี้ เป็นภาษามะลายู แปลจากต้นฉบับชวานั้นอีกชั้นหนึ่ง คำ “สะมิหรัง” แปลว่า แปลงหรือปลอมตัว คือว่าปันหยีแปลง คำนี้มีอีกนัยหนึ่งว่า “มิสาหรัง” ซึ่งเตือนให้นึกถึงหนังสืออิเหนาของเราซึ่งออกชื่อปันหยีว่า “มิสาระปันหยีสุกาหรา” จะอย่างไรก็ตามเมื่ออ่านไปแล้วย่อมตระหนักว่า มีเค้าที่จะลงรอยกับเรื่องอิเหนาของเราแต่ในกระบวนชื่อเมือง ชื่อคนและวงศ์วารบ้างเท่านั้น ว่าโดยเนื้อเรื่องแล้วต่างกันมากอยู่ จะเทียบกับอิเหนาใหญ่หรืออิเหนาเล็กก็ไม่ตรงกันทั้งนั้น ส่วนที่แตกต่างกันมากน้อยเพียงไร ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวในที่นี้ปล่อยไว้ให้ผู้อ่านพิจารณาเอง
การที่เนื้อเรื่องแตกต่างกันมากดังนี้ ถ้าจะอนุมานว่าเป็นเหตุเพราะคนที่นำเรื่องเข้าไปเล่าในกรุงสยามนั้นฟั่นเฟือนจำเรื่องไม่ได้ จึงไปเล่าผิดเพี้ยนไปจากเค้าเรื่องเดิมก็เห็นจะไม่เป็นการถูกต้อง ด้วยดูผิดแผกกันเกินที่จะหลง จึ่งน่าคิดเป็นอย่างอื่น คืออย่างหนึ่งผู้รับฟังเรื่องในกรุงสยามครั้งโน้น เมื่อเรียบเรียงลงเป็นหนังสือ เห็นว่าเรื่องราวของเดิมไม่สนุกพอ จึงดัดแปลงเสียตามชอบใจ หรือมิฉนั้น อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเรื่องราวอันตั้งเค้าโครงเป็นอย่างเดียวกันนี้มีอยู่เป็นหลายเรื่องด้วยกันมาแต่เดิม เช่นเป็นรูปอิเหนาใหญ่เรื่องหนึ่ง เป็นรูปอิเหนาเล็กเรื่องหนึ่ง เป็นรูปเรื่องปันหยีสะมิหรังนี้อีกเรื่องหนึ่ง และคงจะยังมีรูปอื่นยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก น่าเชื่อมากว่าเป็นเช่นที่กล่าวอย่างหลังนี้ จึ่งยังจะต้องสืบค้นต่อไป อาจพบฉบับที่มีเค้าเรื่องตรงกับอิเหนาใหญ่หรืออิเหนาเล็ก
อนึ่ง ข้าพเจ้าอนุมานว่าผู้ที่นำเรื่องอิเหนาเข้าไปเล่าในกรุงสยามครั้งกรุงเก่านั้น คงจะเป็นคนชวาหรือมะลายู แต่คงจะมีล่ามแปล ล่ามนั้นน่าจะเป็นชาวมะลายูทางปักษใต้ซึ่งพูดไทยได้เป็นเสียงชาวนอก หรือเป็นคนไทยชาวนอกที่พูดมะลายูได้ เหตุฉนั้นสำเนียงชื่อเสียง และคำมะลายูทั้งปวงที่ใช้ในเรื่องอิเหนาจึ่งมีเสียงผันเป็นเสียงชาวนอก ด้วยภาษามะลายูก็ดีชวาก็ดี ไม่มีเสียงผัน ถ้าไม่มีเสียงชาวนอกมาแซกแล้ว ชื่อเสียงในหนังสืออิเหนาก็ไม่น่าจะใช้เสียงผันดังนั้น ตัวอย่างเช่น ตาฮา เปนดาหา สิงคัสซารี เป็นสิงหัศส้าหรี บายัน เป็นบาหยัน วายัง เป็นว่าหยัง เป็นต้น แต่นี้เป็นการเดาโดยแท้ ไม่มีหลักฐานอะไรประกอบ อย่างไรก็ดี สำเนียงที่ใช้ในชื่อเสียงถ้อยคำเหล่านี้ ตามระเบียบในหนังสืออิเหนาของไทย เป็นที่ขึ้นใจแก่ไทยเราเสียเต็มประดาแล้ว จะแปลงเสียงไปอย่างอื่นก็รู้สึกเคอะ เพราะฉนั้น เมื่อเรียบเรียงคำแปลเรื่องปันหยีสะมิหรังนี้ ข้าพเจ้าจึงใช้สำเนียงคล้อยตามไปอย่างอิเหนาฉบับภาษาไทยนั้น เพื่อให้เป็นที่ซึมทราบ แต่ที่ผิดแผกกันก็กระแหนะไว้บ้างพอให้เห็นต่างกัน อนึ่งสำเนียงสระอี กับสระเอ สระอุ กับสระโอ สองคู่นี้ในภาษามะลายูใช้สับปลับกันเนืองๆ แล้วแต่ถิ่นที่อยู่ของผู้พูด เช่น บุหรง จะว่าบุหรุง หรือมะดีหวี จะว่ามะเดหวี ก็ใช้ได้ทั้งสองอย่างไม่ผิด
อนึ่ง จะขอกล่าวสำทับไว้ว่าหนังสือเรื่องปันหยีสะมิหรังนี้ไม่ใช่พงดาวดารตำนานเมืองชวา เป็นเพียงนิทาน ถ้าจะเรียกว่าเป็นเรื่องพงดาวดาร ก็ได้แต่โดยพยัญชนะของคำนั้น กล่าวคือ เรื่องวงศเทวดาอวตาร
ในการแปลหนังสือนี้ ข้าพเจ้ามิได้ใช้วิธีแปลด้น ได้พยายามพี่สุดที่จะแปลให้ตรงคำตรงความตลอดไป เพื่อผู้อ่านจะได้เห็นสำนวนหนังสือของกวีชวา ซึ่งอ่านโดยพจารณาจะเห็นได้ว่าสำนวนที่เขาใช้นั้นก็มีท่วงทีนักเลงในเชิงกวีอยู่ไม่น้อย
บันดุง ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑