พระประวัติกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา

มหาอำมาตย์ตรี พระราชวรวงศเธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ป.ม, ท.จ.ว, ต.ช, ว.ป.ร.๓, ร.ด.ม (ศ), ทรงพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ เปนพระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ คุณเลี่ยมใหญ่เปนจอมมารดา ประสูติในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ กันยายน ปีมะแมตรีศก พุทธศักราช ๒๔๑๔

เมื่อทรงพระเยาว์ได้ศึกษาอักขรสมัยเบื้องต้นที่ในพระราชวังบวร ฯ มาจนโสกันต์และทรงผนวชสามเณรแล้ว ถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณารับทำนุบำรุงพระโอรสธิดาต่อมา เวลานั้นข้าพเจ้าได้เปนผู้จัดการโรงเรียนทั้งปวง แต่ยังมิได้ตั้งเปนกรมศึกษาธิการ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภว่าพระองค์เจ้าชายในกรมพระราชวังบวร ฯ ยังทรงพระเยาว์ พระชันษาอยู่ในเวลาควรเล่าเรียนโดยมาก ดำรัสมอบให้ข้าพเจ้าเปนผู้แลจัดการศึกษาของเธอ ๘ พระองค์ด้วยกัน ข้าพเจ้าจึงส่งเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่สำหรับเจ้านายและผู้ดีมีสกุล วิชชาที่ฝึกสอนสูงกว่าโรงเรียนอื่นในสมัยนั้น เมื่อมาคิดดูก็เห็นว่าน่าชมอย่างหนึ่ง ซึ่งบรรดาพระองค์เจ้าในกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญที่ได้เข้าโรงเรียน ๘ พระองค์ครั้งนั้น ไม่มีพระองค์หนึ่งพระองค์ใดที่จะเสีย มักทรงศึกษาสอบวิชชาได้ถึงชั้นสูงสุด และต่อมาได้มีตำแหน่งรับราชการด้วยความสามารถ ทันได้สนองพระกรุณาคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแทบทุกพระองค์ คือ

๑. พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ ได้รับราชการตำแหน่งใดๆ บ้าง จะแจ้งอยู่ในเรื่องพระประวัตินี้

๒. พระองค์เจ้าสุทัศน์นิภาธร ได้เปนตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลองในกระทรวงโยธาธิการ

๓. พระองค์เจ้าวรวุฒิอาภรณ์ ได้เปนตำแหน่งผู้พิพากษาศาลโปริสภา

๔. พระองค์เจ้าโอภาสไพศาล ได้เปนตำแหน่งเสมียนตรากระทรวงเกษตราธิการ แล้วประชวรสิ้นพระชนม์เสีย

๕. พระองค์เจ้ารุจาวรฉวี รับราชการกระทรวงวังได้เปนตำแหน่งผู้ช่วยเจ้ากรมวังนอก

๖. พระองค์เจ้าวิบูลยพรรณรังษี รับราชการกระทรวงทหารเรือ ได้เปนตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ

๗. พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (คือกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) รับราชการในกระทรวงธรรมการก่อน แล้วย้ายมาอยู่ในกระทรวงพระคลังฯ ได้เปนตำแหน่งอธิบดีกรมกระษาปณ์ กรมตรวจ และกรมสารบัญชีโดยลำดับ.

ไม่ได้มีตำแหน่งรับราชการพระองค์เดียวแต่พระองค์เจ้าชัยรัตนวโรภาส ซึ่งเปนพระน้องน้อยใน ๘ พระองค์นั้น เพราะสิ้นพระชนม์เสียก่อนได้โอกาส แต่เมื่อคิดดูอีกทางหนึ่งก็น่าอนาถใจ ด้วยเจ้านายทั้ง ๘ พระองค์นั้นเดี๋ยวนี้สิ้นพระชนม์เสียแล้วโดยมาก ยังเหลืออยู่แต่ ๓ พระองค์ รวมทั้งพระองค์เจ้าวรวุฒิอาภรณ์ ซึ่งออกรับเบี้ยบำนาญ และพระองค์เจ้ารุจาวรฉวีก็ประชวรพิการไปไหนไม่ได้ คงเหลือทำราชการอยู่แต่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์พระองค์เดียว

จะกล่าวถึงเรื่องพระประวัติของพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติต่อไป เมื่อเธอเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบนั้น พระชันษาเจริญกว่าพระองค์อื่น และได้ทรงศึกษาอักขรสมัยชั้นปฐมตามแบบเก่าสำเร็จมาแล้ว มาอยู่ในโรงเรียนไม่ช้าก็สอบวิชชาได้ตามหลักสูตรชั้นประโยค ๑ ครูบาอาจารย์สังเกตเห็นมาแต่แรกว่าจะเปนนักเรียนที่วิชชาดีต่อไปในภายหน้าพระองค์หนึ่ง ด้วยพระอุปนิสสัยว่องไวในการทรงจำสำเหนียก และกอปด้วยพระวิริยะอุตสาหะ แต่เห็นจะเปนด้วยได้ศึกษาอักษรศาสตร์ตามวิธีเก่ามาเสียจนทรงเจริญวัยอยู่ในพระราชวังบวร ฯ ความนิยมของเธอจึงอยู่ในการที่จะศึกษาทางวรรณคดีภาษาไทยอย่างเดียว วิชชาอย่างอื่นเปนแต่เรียนตามหลักสูตรเพื่อจะสอบวิชชา เรียนอยู่ ๓ ปีก็สอบได้ตลอดชั้นประโยค ๒ อันเปนวิชชาสูงสุดในโรงเรียนสมัยนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ และได้รับพระราชทานรางวัลพิเศษเพราะสอบวิชชาได้ดีกว่านักเรียนคนอื่นในปีเดียวกันนั้นด้วย.

เมื่อพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติสำเร็จการเล่าเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบนั้น ตัวข้าพเจ้ามีหน้าที่รับราชการอยู่เปนสองฝ่าย ฝ่ายพลเรือนเปนอธิบดีกรมศึกษาธิการซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ฝ่ายทหารเปนนายพลตรี ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกในกรมยุทธนาธิการ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติหารือว่าจะเข้ารับราชการกรมไหนดี ข้าพเจ้าแนะนำให้สมัคเข้ารับราชการในกรมยุทธนาธิการ ด้วยในเวลานั้นผู้ซึ่งจะทำการในกระบวนหนังสือได้อย่างเธอยังมีน้อยตัว เธอจึงเข้ารับราชการในกรมยุทธนาธิการใน พ.ศ. ๒๔๓๑ นั้น ได้มีตำแหน่งเปนชั้นเสมียนฝึกหัดราชการในกรมปลัดทัพบกก่อน เมื่อชำนาญการในหน้าที่แล้ว ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรทหารมียศเปนนายร้อยตรี ต่อมาได้เปนตำแหน่งเลขานุการของข้าพเจ้าเมื่อเปนผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก แต่อยู่ด้วยกันในกรมยุทธนาธิการเพียง ๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๓๓ ตัวข้าพเจ้าต้องย้ายตำแหน่งขาดจากราชการฝ่ายทหารมาเปนอธิบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งเทียบที่ว่าจะเปนกระทรวงเสนาบดีต่อไป ส่วนพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติคงรับราชการอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ต่อมาเธอได้เลื่อนยศขึ้นเปนนายร้อยเอก และได้เปนตำแหน่งนายเวรใหญ่ในกรมปลัดทัพบก รับราชการมาจน พ.ศ. ๒๔๓๔ พระชันษาครบอุปสมบท ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วไปอยู่วัดบรมนิวาส ศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักพระพรหมมุนี (เหมือน) พรรษา ๑ แล้วจึงลาผนวช

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อโปรดฯ ให้แก้ไขระเบียบสภาเสนาบดี ทรงพระกรุณาโปรด ฯ ให้ข้าพเจ้าย้ายจากกระทรวงธรรมการไปเปนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทางกรมยุทธนาธิการก็มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในคราวนั้น พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติมาแจ้งแก่ข้าพเจ้าว่าเธอถูกย้ายไปเปนตำแหน่งมีหน้าที่ทำการซึ่งเธอไม่ถนัด เกรงจะไม่พ้นความผิดในวันหน้า ในเวลานั้นข้าพเจ้าก็กำลังหาคนรับราชการในกระทรวงมหาดไทย จึงได้กราบบังคมทูลขอพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ ย้ายจากกรมยุทธนาธิการมารับราชการในกระทรวงมหาดไทย มารับราชการอยู่ด้วยกันกับข้าพเจ้าในตอนนี้อีก ๑๗ ปี เธอได้รับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ และเลื่อนขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่เปนปลัดกรม เปนปลัดบัญชี จนถึงเปนเจ้ากรม ตำแหน่งเลขานุการของเสนาบดี และได้ทำความชอบถึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์เปนบำเหน็จหลายครั้ง ตั้งแต่ชั้นต่ำขึ้นมา คือได้รับพระราชทานเบญจมาภรณ์ช้างเผือกเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๖ จัตุรถาภรณ์มงกุฎสยามเมื่อพ.ศ. ๒๔๔๐ จัตุรถาภรณ์ช้างเผือกเมื่อพ.ศ. ๒๔๔๓

พระอุปนิสสัยของพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติซึ่งทรงนิยมวิชชาวรรณคดีมาตั้งแต่ยังเปนนักเรียนนั้น ในเวลาเมื่อออกจากโรงเรียนมารับราชการอยู่ในกรมยุทธนาธิการก็ดี อยู่ในกระทรวงมหาดไทยก็ดี เธอไม่ทิ้ง ยังพยายามศึกษาต่อมาเปนนิจ มีความสามารถในทางวรรณคดีขึ้นโดยลำดับ แต่พึ่งปรากฎแก่คนทั้งหลายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ด้วยในปีนั้น กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณประกาศจะให้รางวัลการแต่งโคลงตามกระทู้ของหอพระสมุดฯ ประกวดกัน พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติแต่งโคลงกระทู้ส่งเข้าประกวดชนะผู้อื่นเนืองๆ โคลงเหล่านั้นได้พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ ใครอ่านก็ออกปากชมว่าสำนวนหลักแหลม

ข้าพเจ้าได้คัดโคลงกระทู้ของพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติมาพิมพ์ไว้ในนี้บ้างพอให้เห็นเปนตัวอย่าง

ได้รางวัลที่ ๑

๏ ตู ยลเต่าใหญ่ล้ำ ริมหนอง
ตี กระหน่ำกระบอง กดไว้
เต่า กะเดือกเสือกกระดอง กแด่วกแด่ว ดิ้นนา
ตาย ฉิบตูฉวยได้ รีบด้นดลเรือน ฯ

----------------------------

ได้รางวัลที่ ๑

๏ โก ธะผิวเกิดขึ้น แก่คน ไข้นา
โร คะอาจอวยผล เพิ่มให้
โก ธะเกิดโกมล คิดมละ เสียแล
โส มนัสเสพย์ยาไว้ โรคนั้นพลันหาย ฯ

----------------------------

ได้รางวัลที่ ๑

๏ อิ สตรีบุรุษแม้ ลุกลน
หลุก หลิกกิริยาตน อิกถ้อย
ขลุก ขลักมักถูกคน เขาค่อน ขอดนา
ขลุ่ย ว่าดังยังน้อย กว่าน้ำคำฉิน ฯ

----------------------------

ได้รางวัลที่ ๒

๏ อิ ติเหมาะอ้อจบแล้ว มัทรี
หลุก หลิกเหล่าสตรี กราบไหว้
ขลุก ขลักพวกดีดสี ประสานเครื่อง ใหญ่นา
ขลุ่ย ตอดสอดเสียงไห้ โอดแล้วเลยทะยอย ฯ

----------------------------

ได้รางวัลที่ ๑

๏ พา หนะพฤษภไส้ สยมทรง
โล เกศร์ครรไลหงส์ รเห็ดฟ้า
โส ภิตกฤษณธำรง วรพ่าห์ สุบรรณแฮ
เก วละเทพถ้วนหน้า ห่อนล้ำสามเธอ ฯ

----------------------------

ได้รางวัลที่ ๒

๏ พา ละถึงจะเลี้ยง เพียงใด ก็ดี
โล ภะทุจริตใจ ไป่ร้าง
โส นัขอดเสพย์ไฉน โสโครก
เก จิอาจารย์อ้าง เปรียบด้วยพาลชน ฯ

----------------------------

ได้รางวัลที่ ๑

๏ อยู่ ถือไม้เท้ายอด ทองเทียว นะพ่อ
มั่น พละแขงแรงเจียว พ่อเจ้า
ขวัญ พ่ออย่าพึงเปรียว ปล่อยปละ พ่อนา
ยืน ชีพยืนสุขเช้า ค่ำยั้งยืนนาน ฯ

----------------------------

ได้รางวัลที่ ๒

๏ นะ ฤมลนฤมิตห้าม ทัพพระ ไวยแฮ
รก แอบแยบคายอะ มนุษย์แกล้ว
จก จกอัสสุปิยะ บุตรหลั่ง ไหลเอย
เปรต แม่แปรเพศแล้ว หลบหน้าเลยหนี ฯ

----------------------------

ได้รางวัลที่ ๒

๏ ทึก เอาเปล่าเปล่าแท้ ท่านยาย
ทัก ว่าเขาคมคาย ก็ขึ้ง
ตึง ตังคลั่งใหญ่หมาย มั่นว่า รักแล
ตัง กระแทกตัวทึ้ง หยิกข้าขาเขียว ฯ

----------------------------

การแต่งโคลงกระทู้เหล่านี้เป็นมูลเหตุให้เปลี่ยนกระแสในเรื่องพระประวัติของพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติในสมัยต่อมา เพราะเริ่มปรากฎว่าเธอทรงคุณวิเศษในทางวรรณคดีรู้กันแพร่หลาย ในไม่ช้าก็ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ ตำแหน่งผู้ช่วยสารานิยกร อันมีหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วชิรญาณ ส่วนทางมหาดไทยเมื่อเริ่มพิมพ์หนังสือเทศาภิบาล ข้าพเจ้าก็ขอให้เธอเป็นบรรณาธิการ การเหล่านี้ถูกพระอัธยาศัยของเธอ ทำได้ดีด้วยความละเอียดละออ และรู้จักทักท้วงที่ผิดพลาดจะหาตัวสู้เธอได้โดยยาก ต่อมามีการเกิดประกอบอุดหนุนคุณวิเศษของเธอเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้ตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร และทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เปนสภานายก และตัวข้าพเจ้าได้เป็นตำแหน่งกรรมการประจำหอพระสมุดฯ ด้วย พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติช่วยข้าพเจ้าทำการหอพระสมุดฯ ได้โอกาศเฝ้าแหนคุ้นเคยจนเปนที่ชอบพระราชอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่ครั้งนั้น ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๕๐ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดหนังสือ “จดหมายเหตุความทรงจำ” ซึ่งข้าพเจ้าได้มาทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงพระราชนิพนธ์พระราชวิจารณ์จดหมายเหตุนั้น แล้วดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้าจัดการพิมพ์ ข้าพเจ้าให้พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติเป็นบรรณาธิการ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทอดพระเนตรเห็นการที่เธอทำก็ทรงสรรเสริญความสามารถ แต่นั้นเธอจึงได้เปนบรรณาธิการพระราชนิพนธ์ซึ่งโปรดฯ ให้พิมพ์ต่อมาเช่นเรื่อง “ไกลบ้าน” เปนต้น ถึงชั้นนี้มีพระราชดำรัสและพระราชหัตถเลขาตรงถึงเธอเนื่อง ๆ

ได้คัดสำเนาพระราชหัตถ์เลขาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติฉะบับหนึ่ง ในเรื่องที่โปรด ฯ ให้เธอเปนบรรณาธิการพระราชนิพนธ์เรื่องวัดราชาธิวาสซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ มาพิมพ์ไว้ในนี้พอให้เห็นว่าทรงพระเมตตากรุณาเธออย่างไร

สวนดุสิต.

วันที่ ๗ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ถึงกัลยา.

แกตกใจได้เปนนักเปนหนา อยู่ในยกที่ ๕ แก้นิดเดียว ข้อที่ทำให้ต้องแก้นั้น เพราะฉันไปดูพงศาวดารพิศดาร ซึ่งผิดขาดแผ่นดินสมเด็จพระอินทราชาไปทั้งแผ่นดิน เขาเอาเข้าไปรวมไว้กับแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ นึกไปนึกมาก็เฉลียวใจขึ้นมาเอง เปิดพงศาวดารย่อดูจึงได้เห็น เห็นว่านิดหน่อยจึงบอกไปให้แก้เอง

บัดนี้ได้ตรวจแล้วเสร็จตลอด ขอชมว่าตรวจดีจริง ๆ พิมพ์ก็เร็วเหลือเกิน

สยามินทร์

----------------------------

พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติจึงได้เปนผู้ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงชอบพระราชอัธยาศัย และเคยได้รับพระราชทานพระมหากรุณาโดยฉะเพาะพระองค์ จะยกอุทาหรณ์ดังเช่นทรงทราบว่าเธออัตคัดขัดสนก็ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานบ้านหลวงแห่งหนึ่งซึ่งมีเหย้าเรือนพร้อมให้เป็นวังของเธอ ได้อยู่ในที่นั้นมาจนตลอดพระชนมายุ

เธอได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ตรีตาภรณ์ช้างเผือก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ดูเหมือนจะเปนบำเหน็จครั้งสุดท้ายที่ได้รับพระราชทานในรัชกาลที่ ๕

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อจะทำการพระราชพิธีฉัตรมงคลครั้งแรก มีกิจที่จะต้องแต่งคำฉันท์ให้พราหมณ์อ่านสดุดีสังเวยสำหรับรัชกาลใหม่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้าเปนผู้จัดการเรื่องแต่งฉันท์นั้น จึงได้เลือกกวีซึ่งมีชื่อเสียงปรากฎขึ้นชั้นหลัง ๔ คน ให้แต่งถวายคนละลา พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติได้รับเลือกให้แต่งลาที่ ๒ ว่าด้วยขอพรเทวดา เธอแต่งดีปรากฎความสามารถในการแต่งคำฉันท์ยังชมกันอยู่จนทุกวันนี้ ข้าพเจ้าได้คัดคำฉันท์สดุดีสังเวยลาที่ ๒ มาพิมพ์ไว้ด้วยในที่นี้

๑๔๏ อ้าท้าวเถลิงบวรพา หะมหาพิหคหงส์
ศักดิ์สิทธิ์มหิศรธำรง วรเวทวิเศษชาญ
๏ เชิญองค์พระจงกรุณจิตต์ ทนุนิติศาสตร์สาร
ทั้งราชธรรมอุปการ จิรกาละถาวร
๏ อ้าไทผทมกษิรสิน ธวถิ่นชโลธร
เลี้ยงหล้าคณานรนิกร สกลโลกธเอาธูร
๏ เชิญเทพพิทักษ์บรมนาถ มกุฎราชนเรสูร
พร้อมพงศพระขัตติยประยูร สุขโสตถิสำราญ
๏ อ้าองค์พระทรงอุศุภราช สุรกาจกำแหงหาญ
เดโชชโยตมรำบาญ ปรปักษ์ปราชัย
๏ สรวมเดชเผด็จคณอมิตร ทุฐจิตต์จะจองภัย
อัพภันตร์และพาหิรประลัย พลพ่ายพระบารมี
๏ อนึ่งโสดคเณศรบพิตร วรสิทธิศักดิ์ศรี
เปนมหาสวามิศบดี ศรศิลปาคม
๏ ขอท้าวธดลจิตชนา ธิอุสาหส่ำสม
สิ่งสรรพวิทยนิยม นิจยิ่งเจริญเรือง
๏ อ้าเทวรักษบุรฦา ฤทธิคือพระเสื้อเมือง
จงมีมนานุเคราะหเนือง นิจเอื้ออำรุงพล
๏ เสนาพลากรทหาร ณสถานสถลชล
ให้เหิมกำแหงพหลรณ อริพ่ายกระจายหนี
๏ อ้าองค์พระทรงนครขัณ ฑอนันต์อำนาจมี
จงรักษข้าบทธุลี ธุระการกระทรวงปวง
๏ ให้ปองสนองพระคุณโดย วิริเยศใหญ่หลวง
มั่นมุ่งผดุงกิจทบวง บริบูรณ์จรูญเรือง
๏ อ้าเทวก้องกิติรบือ ยศคือพระหลักเมือง
เชิญไทยธใฝ่มนะชำเลือง ทิพเนตรเอาภาร
๏ ในบทและกฎพระธำมนูญ อนุกูลตุลาการ
เที่ยงตรงธำรงยุติพิจารณ์ คติต้องณคลองธรรม์
๏ อ้าองค์บพิตรอิศรนาม พระสยามเทวัน
เดชานุภาพอภิมหัน ตมหิทธิเกรียงไกร
๏ สรวมทรงจำนงนมสรัก ษพิทักษ์ไผทไทย
ให้พูนพิพัฒน์พิธิไพ บุลภาพภิย์โยทวี
๏ ไพร่ฟ้าประชากรเกษม สุขเปรมกมลปรีดิ์
นาไร่เจริญอุดมดี อดิเรกะธัญญา
๏ พูนสรรพโภคพิพิธภัณ ฑมหันต์มโหฬาร์
โสวรรณหิรัญญรตนา ธิอเนกอนันต์นอง
๏ สรวมเดชสุโรรสประสิทธิ พรสิทธิสมปอง
สรวมทรงประสิทธิกิจผอง ศุภสิทธิสมบูรณ์ ฯ

----------------------------

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๓ ตำแหน่งเลขานุการในกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครว่างลง กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ซึ่งได้ทรงเปนกรรมการมาพร้อมกับข้าพเจ้า และได้เลื่อนขึ้นเปนสภานายกหอพระสมุดฯ แทนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรารภแก่ข้าพเจ้า ว่าเมื่อแรกตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร กรรมการอนุโลมเอาบรรณารักษ์คนเก่าของหอพระสมุดวชิรญาณตั้งเป็นเลขานุการ ทำการไม่เรียบร้อยจนต้องเปลี่ยน ผู้ซึ่งจะเปนเลขานุการใหม่ ควรจะเลือกหาผู้ซึ่งคุณวิเศษให้สมกับตำแหน่งจริง ๆ ทรงพระดำริเห็นว่าถ้าได้พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติย้ายไปเป็นตำแหน่งเลขานุการจะเหมาะยิ่งกว่าผู้อื่น แต่เธอมีตำแหน่งรับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้าจะยอมให้ย้ายมาได้หรือไม่ ข้าพเจ้าคิดใคร่ครวญดู เห็นว่าพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติรับราชการมหาดไทยขึ้นถึงชั้นสูงสุดความสามารถของเธออยู่แล้ว อยู่ในมหาดไทยต่อไปก็เห็นจะไม่ได้เลื่อนเป็นตำแหน่งสูงยิ่งขึ้นไปถึงเปนสมุหเทศาภิบาล หรือเปนปลัดทูลฉลอง เพราะเธอไม่ได้ศึกษาภาษาต่างประเทศ และไม่มีอุปนิสสัยในการเมือง คุณวิเศษของเธออยู่ในทางวรรณคดีดังกรมพระสมมตฯ ทรงพระดำริ ข้าพเจ้าจึงถวายอนุมัติ ท่านก็กราบบังคมทูลฯ ขอพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติมาเป็นตำแหน่งเลขานุการของกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครใน พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น ได้เป็นผู้ดูแลบังคับบัญชาการในหอพระสมุด ฯ สำหรับพระนครตั้งแต่ยังตั้งอยู่ที่ตึกอันเปนศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้ และย้ายออกมาอยู่ที่ตึกใหญ่หน้าวัดมหาธาตุต่อมา ตลอดเวลา ๑๔ ปี

พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติได้ทรงทำการหอพระสมุดฯ ให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง ยกมากล่าวแต่ที่สำคัญ คือในการซึ่งหอพระสมุด ฯ พิมพ์หนังสือเรื่องต่าง ๆ ให้เปนประโยชน์แก่บ้านเมือง เธอได้เปนผู้ตรวจชำระต้นฉะบับและจัดการพิมพ์ถึง ๕๐๙ เรื่อง และได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยเนืองๆ ได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลความชอบในรัชกาลที่ ๖ ก็หลายครั้ง คือได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๓ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏสถาปนาขึ้นเปนต่างกรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ เนื้อความในประกาศพระบรมราชโองการฯ ทรงยกย่องความชอบความดี ดังนี้

“พระราชวรวงศเธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติมีความรู้ในวิชชาสยามไวยากรณ์โดยชำนิชำนาญ ได้ทรงรับราชการมา• • •ในกรมยุทธนาธิการเมื่อพระพุทธศักราช ๒๔๓๑• • • •

ครั้นพระพุทธศักราช ๒๔๓๕ โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายมารับราชการกระทรวงมหาดไทย• • •จนถึงพระพุทธศักราช ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายมารับราชการในตำแหน่งเลขานุการหอพระสมุดวชิรญาณ คงรับราชการอยู่ในตำแหน่งจนทุกวันนี้

อนึ่งทรงรำพึงถึงกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ซึ่งเปนพระบิดาแห่งพระองค์เจ้ากัลยาณประวัตินั้น เปนผู้ที่ได้ทรงคุ้นเคยมาแต่ทรงพระเยาว์ย่อมทำให้ทรงพระเมตตาแด่พระโอรสทรงกรมพระราชวังพระองค์นั้นอยู่ ทั้งมาทรงรำพึงดูถึงความชอบแห่งพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติเอง ซึ่งได้รับราชการมาโดยเรียบร้อยเป็นหลายตำแหน่งดังแสดงมาแล้ว และในสมัยนี้ก็นับว่าเปนจินตกวีผู้มีโวหารพิเศษ สมควรจะทรงพระกรุณายกย่องขึ้นไว้ให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายพระราชวังบวรฯ เชิดชูพระเกียรติยศกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระองค์หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา พระราชวรวงศเธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ ขึ้นเปนพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระราชวรวงศเธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา พยัคฆนาม ทรงศักดินา ๑๑๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระราชวังบวร • • • •

เนื่องในการตั้งกรมนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพานทองเครื่องยศกับเครื่องราชอิสสริอาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และพระราชทานเงินพระคลังข้างที่เปนส่วนพระองค์ช่วยกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา สำหรับจะได้สร้างต้นไม้เงินทองของถวาย และแจกจ่ายเจ้าพนักงานด้วยเปนพิเศษ โดยทรงทราบว่าเธอขัดสน เมื่อเปนกรมแล้วได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบในสมัยต่อมา คือได้เปนองคมนตรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้เปนมหาอำมาตย์ตรี และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎสยาม กับเหรียญดุษฎีมลาเข็มศิลปวิทยาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้วได้มียศเปนนายกองตรีเสือป่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐

เรื่องพระประวัติของกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชาอันเป็นฝ่ายวัฒนะดูเหมือนจะถึงที่สุดใน พ.ศ. ๒๔๖๒ หรือ ๒๔๖๓ แต่นั้นมาก็เปนฝ่ายหายนะ ด้วยเธอเริ่มประชวรเปนโรคเส้นประสาทพิการ ทำให้มักหลงลืมและมึนตึงไม่เฉียบแหลมในทางวรรณคดีเหมือนแต่ก่อน แต่อาการโรคค่อยเปนทีละน้อยค่อยซุดโทรมลงโดยลำดับ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ อาการโรคของเธอหนักขึ้นพ้นวิสัยที่จะทำการงานหรือเยียวยาแก้ไขให้คืนดีได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชาออกจากตำแหน่งเลขานุการหอพระสมุด ฯ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญต่อมาจนตลอดพระชนมายุ

กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชาได้ทรงรับราชการอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ๔ ปี อยู่ในกระทรวงมหาดไทย ๑๗ ปี และมารับราชการในหอพระสมุดสำหรับพระนครอยู่อีก ๑๔ ปี รวมเวลาที่เธอได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณ ๓๕ ปี ใน ๓๕ ปีนี้เธอรับราชการอยู่ต่างหากจากข้าพเจ้าเพียง ๒ ปี นอกจากนั้นได้ร่วมราชการอยู่ด้วยกันมาถึง ๓๓ ปี จึงได้รักใคร่คุ้นเคยกันสนิธสนมทั้งสองฝ่าย เมื่อเธอออกจากตำแหน่งประจำการไปแล้ว เวลามีโอกาสที่เจ้านายเข้าเฝ้าแหน เธอก็อุตส่าห์เสด็จไปมิให้ขาด ด้วยถือคติความภักดีมั่นคง แม้ในเวลาเมื่ออาการโรคของเธอหนักขึ้นจนทุพลภาพมากแล้ว เจ้านายพี่น้อง แม้จนตัวข้าพเจ้าเองได้วิงวอนห้ามปรามอย่าให้เข้าเฝ้าแหน เธอก็ไม่ยอมละกิจวัตร์ จนใครเห็นก็ปรารภสงสาร แต่ต้องชมความกตัญญูของเธอด้วยกันทุกคน เธอประชวรมาช้านาน ในชั้นหลังไม่สามารถไปไหนได้ อาการหนักลงโดยลำดับ ถึงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ สิ้นพระชนม์ คำนวณพระชันษาได้ ๕๖ ปี

ทีนี้จะกล่าวถึงเรื่องตำนานการที่กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชาทรงแต่งหนังสืออลินจิตต์คำฉันท์ซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ต่อไป เริ่มเรื่องตำนานแต่เมื่อเธอแต่งคำฉันท์สดุดีสังเวยพระราชพิธีฉัตรมงคลซึ่งได้คัดมาพิมพ์ไว้นั้น ข้าพเจ้าพูดขึ้นแก่เธอว่าความสามารถของเธอในการแต่งบทกลอนก็เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั้งหลายอยู่แล้ว ควรจะแต่งหนังสือบทกลอนขึ้นไว้สักเรื่องหนึ่ง ตามเยี่ยงอย่างกวีแต่โบราณได้เคยทำกันมาจะได้เปนอนุสรให้พระนามปรากฎอยู่ในแผ่นดิน เธอถามว่าจะแต่งเรื่องอะไรดี ข้าพเจ้าจึงแนะให้แต่งเรื่องอลีนจิตตชาดก คือเรื่องพญาช้างเผือกซึ่งเขียนไว้ที่ฝาผนังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ห้องใกล้ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเรื่องสรรเสริญความกตัญญู ด้วยเห็นว่ารูปเรื่องแปลกดี และยังไม่ปรากฎว่ามีใครได้เคยแต่งเป็นบทกลอนด้วย เธอขอทุเลาไปอ่านเรื่องชาดกนั้น แล้วมาบอกว่าเรื่องนั้นถูกใจของเธอแล้วจะลองแต่งดู ครั้นเธอแต่งสำเร็จนำคำฉันท์เรื่องอลินจิตต์มาให้ข้าพเจ้าอ่านดูก็ชอบใจ เห็นว่าแต่งดีควรนับว่าเป็นอย่างยอดสำนวนของกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชาได้ จึงคัดขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฉบับ ๑ แล้วปรึกษากันถึงการที่จะพิมพ์ให้แพร่หลาย ข้าพเจ้าปรารภถึงมูลเจตนาที่แต่งคำฉันท์เรื่องอลินจิตต์เห็นว่าที่จะพิมพ์ในงานของผู้อื่นหาสมควรไม่ ชอบแต่จะเอาไว้พิมพ์ในงานของกรมหมื่นกวีพจน์ฯ เอง เช่นงานฉลองพระชันษาเปนต้น หรือว่าอย่างที่สุดถ้าจะไม่มีโอกาสพิมพ์ในงานเช่นนั้น เก็บเอาไว้พิมพ์แจกในงานพระศพยังจะดีกว่าให้ผู้อื่นเอาไปพิมพ์ เธอทรงพระดำริเห็นชอบด้วย ก็ในเวลานั้นที่ในหอพระสมุด ฯ มีหนังสือจำพวกซึ่งมีผู้ฝากให้สงวนไว้สำหรับพิมพ์ในงานของตนเองทำนองที่กล่าวมาหลายเรื่องแล้ว กรมหมื่นกวีพจน์ ฯ จึงมอบคำฉันท์เรื่องอลินจิตต์ให้รักษาไว้ใน “ตู้พินัยกรรม” ผะเอิญเธอมาสิ้นพระชนม์ลง หน้าที่การพิมพ์หนังสืออลีนจิตต์คำฉันท์จึงตกอยู่แก่ข้าพเจ้าที่จะทำให้สำเร็จ เพื่อเชิดชูพระเกียรติคุณของกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชาให้ปรากฎอยู่มั่นคงถาวรสืบไป

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นายกราชบัณฑิตยสภา

วันที่ ๒๘ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๗๑

  1. ๑. พระองค์เจ้าชายในกรมพระราชวังบวร ฯ ในเวลานั้น พระองค์เจ้าวิลัยวรวิลาศกับพระองค์เจ้ากาญจโนภาสรัศมี (กรมหมื่นชาญชัยบวรยศ) เจริญพระชันษาเกินเขตต์เข้าโรงเรียนเสียแล้ว ๒ พระองค์ พระองค์เจ้าบวรวิสุทธิทรงพระเยาว์ยังเข้าโรงเรียนไม่ได้พระองค์ ๑

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ