เรื่องนางเคงเกียงสอนบุตร

เป็นบทที่หก ในโกบุนหวม

ในบทที่หกว่า เกงเกงกาจื้อ เกงเกียงกาจื๊อ แปลตามคำอรรถโดยย่อว่า นางเคงเกียงสอนบุตร ด้วยเดิมครั้งแผ่นดินเลียดก๊ก มีชายหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อ ปุ้ญเป็ก อายุได้สิบหกปี เป็นบุตรนางเคงเกียง ปุ้ญเป็กทำราชการในเมืองลู้ เจ้าเมืองลู้เห็นว่าปุ้ญเป็กเป็นญาติก็ตั้งให้เป็นขุนนางแต่หนุ่มๆ วันหนึ่งปุ้ญเป็กออกมาจากที่เฝ้าเจ้าเมืองลู้กลับไปบ้าน ครั้นถึงก็เข้าไปคำนับนางเคงเกียงผู้มารดา ขณะนั้นนางเคงเกียงกำลังฉีกป่านจะเอาไปทอผ้า ปุ้ญเป็กเห็นดั่งนั้น คุกเข่าลงคำนับมารดาจึ่งพูดว่า เราก็มิใช่คนอื่น เป็นเชื้อแถวเจ้าเมืองลู้มีบรรดาศักดิ์ง ซึ่งมารดามานั่งฉีกป่านจะทอผ้าดังนี้ดูไม่สมควร ข้าพเจ้าเกรงกุยซุนผู้อาว์จะติเตียนข้าพเจ้าได้ว่า เป็นคนปราศจากกตัญญู ไม่ห้ามปรามมารดาให้ละการงานเสียจะได้มีความสุข นางเคงเกียงได้ฟังดังนั้นก็ถอนใจใหญ่แล้วว่า เจ้าเมืองลู้ให้เด็กหนุ่มเช่นปุ้ญเป็กเป็นขุนนางดั่งนี้ เห็นบ้านเมืองจะเสื่อมเสีย ด้วยคนเด็กหนุ่มเช่นปุ้ญเป็กนี้ไม่รู้จักอะไรมาก ปุ้ญเป็กเห็นมารดาว่าดังนั้นก็ลุกขึ้นจะไป

นางเคงเกียงว่าเจ้าอย่าเพ่อไปหยุดนั่งอยู่ที่นี่ก่อน มารดาจะสอนให้เจ้าฟัง ในเมืองลู้นี้แต่ก่อนเจ้าเมืองตั้งอยู่ในยุตติธรรม ประกอบด้วยเมตตากรุณาต่ออาณาประชาราษฎร เมื่อจะทรมานสั่งสอนราษฎร ท่านเลือกหาไชยภูมิที่ให้ราษฎรอยู่พอสมควร มิให้ลำบากนักสบายนัก พออยู่ทำมาหากินเลี้ยงชีวิตได้ ด้วยประสงค์จะให้ปราศจากความเกียจคร้านและการชั่วต่างๆ ถ้าให้ไปอยู่ในที่เป็นสุขสบายนักเกินพูมคนไป ก็เป็นเหตุจะให้เกิดความเกียจคร้าน ถ้าเกียจคร้านไม่คิดทำมาหากินแล้วก็จะประกอบการชั่วต่างๆ ท่านเกียจกันการเล่นแลความชั่วเสีย เพราะเหตุดั่งนี้ เมืองลู้จึ่งได้รุ่งเรืองเจริญมาจนทุกวันนี้ เปรียบเหมือนคนแสวงหาเงินทองมาเลี้ยงชีวิต ด้วยค้าขายมาเลี้ยงตัวและมืวิชาการต่างๆ ถ้าเงินทองแลเข้าของได้มาโดยมากแล้ว ก็มักมีความประมาทหมิ่นแก่เข้าของเงินทอง มักฟูมฟายใช้สอยไม่สู้จะเสียดาย แม้นทำมาหาโดยความเหน็ดเหนื่อยลำบากยากแค้นแล้ว ก็มีความเสียดายรักใคร่ในเข้าของเงินทองนั้นมากนัก ถึงจะจับจ่ายใช้สอยก็มัธยัสถ์ ด้วยความเสียดายกลัวจะหมดสิ้นไป

ประการหนึ่งลักษณะคน ถ้าอยู่ในที่เป็นสุขสนุกสบายแล้ว ก็มักจะเป็นคนเกียจคร้าน ไม่ใคร่จะประกอบการทำกิน มิได้คิดถึงแก่ความลำบากยากจน มักกำเริบใจแสวงแต่การเล่นเป็นที่สนุกต่างๆ ถ้าดั่งนี้แล้วคงจะประกอบการชั่วต่างๆ ถ้าการชั่วมีในตัวขึ้นมากแล้ว ทุกข์แลภัยก็คงถึงตัวให้ได้ความฉิบหายด้วยเหตุต่างๆ เพราะดั่งนี้

ลักษณะเกิดมาเป็นคน ต้องประพฤติให้สมควรแก่กำลังแห่งตน ถ้าประกอบการทำมาหากินให้เกินกำลังนักก็ไม่ได้ จะเป็นคนเกียจคร้านเอาแต่ความสุขสนุกสบายภายเดียวก็ไม่ถูก ต้องประพฤติให้สมควรแก่กำลังแห่งตน จึ่งจะเรียกว่าเป็นคนดี ถ้าดีแล้ว ความรุ่งเรืองเจริญก็มีมาตาม แม้นความเจริญมีแล้ว ความสุขก็มี ลักษณะคนดีเกิดมาเดิมเมื่อจะชั่วนั้น เป็นคนเหลาะแหละมาก่อน ถ้าเหลาะแหละเคยตัวเข้าแล้ว ก็ทำการชั่วขึ้นบ้างแต่เล็กน้อยก่อน ถ้าทำการชั่วเคยตัวเข้าแล้ว ความโกงเกะกะก็มีขึ้น สันดานผู้นั้นก็เป็นพาลไป ถ้านํ้าจิตต์เป็นพาลแล้ว ถึงคนที่มีสติปัญญาก็ยากที่จะสั่งสอนว่ากล่าว ครั้นผู้ใดว่ากล่าวห้ามปรามมิได้แล้ว ชอบสิ่งใดก็จะทำเอาตามอำเภอใจ ถ้าดั่งนี้แล้วความฉิบหายก็จะมีมาถึงแก่ผู้นั้นเป็นแท้ ในเมืองลู้ทุกวันนี้ คนเช่นเรากล่าวก็มิใคร่จะมี เมืองลู้ซึ่งรุ่งเรืองจำเริญทั้งนี้ ก็เพราะเจ้าเมืองประพฤติความดีเป็นเดิม ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ต้องเป็นไปตาม ถ้าขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยดีไปตามเจ้าเมืองแล้ว ราษฎรก็ไม่กล้าจะกระทำความชั่ว ต้องประกอบการเป็นสุจริต ที่ ๑ คือศึกษาเล่าเรียนหนังสือ ให้รู้การดีแลชั่วต่างๆ ที่ ๒ คือหากินด้วยการช่างต่างๆ ที่ ๓ คือทำสวนไร่นา ที่ ๔ คือเป็นลูกค้าต่างๆ ขายใหญ่น้อย ที่ ๕ คือหากินด้วยการจ้าง ซึ่งจะหากินด้วยอย่างอื่น นอกจากนี้ไม่มีโดยน้อย

ทุกวันนี้ พระเจ้าจิวเซียงอ๋องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็ประพฤติตามแบบอย่างพระมหากษัตริย์แต่ก่อน ย่อมเอาพระทัยใส่ในราชการบ้านเมือง แลกิจสุขทุกข์ของราษฎรอยู่เสมอมิได้ขาด ถ้าถึงฤดูฝนพระเจ้าจิวเซียงอ๋องเสด็จไปแรกนาแล้วก็เสด็จขึ้นสู่ที่ประทับ ขุนนางข้าราชการเฝ้าอยู่พร้อมกัน พระเจ้าจิวเซียงอ๋องรับสั่งถามขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่ใจเซียงก่อนว่า ในปีนี้ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย แลอาณาประชาราษฎร์เป็นปกติเรียบร้อยดีอยู่ดอกหรือ ขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่ใจเซียงก็กราบทูลตามเหตุให้ทรงทราบทุกประการ แล้วพระองค์ตรัสถามขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายทหารต่อลงมาว่าในปีนี้ไพร่พลทหารเป็นปรกติดีอยู่ดอกหรือ การซ้อมหัดในเพลงอาวุธต่างๆ แคล่วคล่องว่องไวดีขึ้นหรือเสื่อมถอยประการใด ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร ก็กราบทูลความตามเหตุให้ทรงทราบทุกประการ แล้วพระองค์ตรัสถามขุนนางฝ่ายพลเรือนว่า ในปีนี้เข้าปลาอาหารราษฎรลูกค้าวาณิชบริบูรณ์หรือบกพร่องประการใด ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายพลเรือนก็กราบทูลความตามเหตุ ซึ่งมีในปีนั้นให้ทรงทราบทุกประการ แล้วพระองค์ก็ตรัสถามขุนนางผู้น้อย ด้วยข้อความตามตำแหน่งพนักงาน ซึ่งได้ว่าเป็นลำดับกันลงมาทุกๆ คน ขุนนางผู้น้อยก็กราบทูลความตามเหตุ ซึ่งมีในปีนั้นให้ทรงทราบแล้ว พระเจ้าจิวเซียงอ๋อง จึ่งตรัสถามขุนนางซึ่งเป็นพนักงานจดหมายเหตุว่า ในปีนี้มีเหตุอย่างไรบ้าง ขุนนางพนักงานก็กราบทูลข้อความ ซึ่งได้ลงไว้ในจดหมายเหตุให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าจิวเซียงอ๋อง ตรัสถามดั่งนี้จึ่งจะเสด็จเข้าสู่พระราชวัง

การที่มารดาว่าให้เจ้าฟังดั่งนี้ เป็นธรรมเนียมแห่งพระมหากษัตริย์ ใช่แต่เท่านั้น ธรรมดาพระมหากษัตริย์ท่านต้องเอาพระทัยใส่ในราชการแผ่นดินทุกฤดู ด้วยธรรมเนียมในเมืองจีนนั้น ปีหนึ่งมีฤดู ๔ คือเดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ เรียกว่าซุน คือฤดูฝน เดือนห้า เดือนหก เดือนเจ็ด เรียกว่าแฮ คือฤดูร้อน เดือนแปด เดือนเก้า เดือนสิบ เรียกว่าชิว ฤดูไม่หนาวไม่ร้อน เดือนสิบเอ็ด เดือนสิบสอง เดือนอ้าย เรียกว่าตัง คือฤดูหนาว

ประการหนึ่ง เป็นกษัตริย์ต้องเอาพระทัยใส่ในการแผ่นดิน เสด็จออกว่าราชการทุกวันมิได้ขาด เวลาค่ำว่าการข้างในซึ่งเป็นธุระในส่วนพระองค์เสร็จแล้ว จึ่งจะขึ้นสู่ที่พระบรรทม แต่เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน ก็ยังประกอบด้วยกิจธุระดั่งนี้ ใช่แต่พระเจ้าแผ่นดินเมื่อไร ถึงขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ต้องเอาเป็นธุระราชการในตำแหน่งของตัวทุกวันมิได้ขาด ต่อเวลากลางคืนจึ่งจะได้ดูแลว่ากล่าวการในบ้านเรือนซึ่งเป็นธุระของตัว

ประการหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นมเหสีแห่งพระมหากษัตริย์นั้นเล่า ก็ต้องว่าราชการฝ่ายใน แล้วก็เป็นพนักงานเย็บปักพระมหามาลาสำหรับทรง ถ้าเป็นภรรยาขุนนางผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นธุระดูแลว่ากล่าวการในบ้านในเรือน แล้วก็ต้องเป็นธุระในการเย็บเสื้อกางเกงให้สามีใส่ ถ้าเป็นภรรยาผู้น้อยก็ต้องทอสายรัดเองให้สามีใช้ กิจการย่อมมีด้วยกันทุกคน เป็นธรรมดาดั่งนี้

ประการหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นใหญ่จะบำรุงแผ่นดินให้เจริญนั้น คือประกอบด้วยปัญญาสอดส่องทั่วไปในพระราชอาณาจักร ระวังรักษาพระองค์มิให้ผิดธรรมเนียม แล้วก็เอาพระทัยใส่ตรวอตราดูแลขุนนางผู้ใหญ่มิให้กระทำการผิด เป็นขุนนางผู้ใหญ่เล่าก็ต้องตรวจตราดูแลขุนนางผู้น้อย ขุนนางผู้น้อยก็ต้องตรวจตราดูแลคนซึ่งใช้ต่างตัว ระวังระไวอย่าให้กระทำการชั่วขึ้นได้ ถ้าดั่งนี้แล้วบ้านเมืองก็เป็นสุขสบาย

ประการหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นนักเรียน เวลาเช้าไปสู่สำนักอาจารย์เย็นกลับมาบ้าน ครั้นค่ำลงก็ตรึกตรองเล่าบ่นไปจนได้เวลา ผู้ที่หากินด้วยการซื้อขาย เป็นพ่อค้าใหญ่น้อยก็เหมือนกันกลางวันซื้อขาย กลางคืนคิดอ่านตรวจตราต้นทุนกำไร ตรึกตรองหาช่องที่จะค้าขาย แต่เช่นนี้ทุกวันมิได้ขาด แต่อย่างนั้นแล้วก็ไม่อยากหยุดในที่จะกระทำการจ้างด้วยกลัวจะอดอยาก ซึ่งมารดาว่ากล่าวสั่งสอนเจ้าทั้งนี้ ด้วยเห็นเจ้ามาว่ามารดาด้วยเรื่องฉีกป่าน มารดาเกรงเจ้าจะเป็นคนเกียจคร้าน

ปุ้ญเป็กว่า ซึ่งมารดาว่ากล่าวสั่งสอนข้าพเจ้านี้เป็นความจริงทุกอย่าง ตัวข้าพเจ้านี้ใช่จะเป็นคนเกียจคร้านก็หามิได้ ซึ่งว่าทั้งนี้ด้วยเห็นว่ามารดาก็แก่แล้ว ประการหนึ่ง ซึ่งมารดาไม่เป็นคนเกียจคร้านอุตส่าห์ประกอบการงานนี้ควร แต่เกรงเขาจะติเตียนนินทาข้าพเจ้าว่าเป็นขุนนางมียศถาศักดิ์ดั่งนี้ แล้วก็เป็นญาติกับท่านเจ้าเมืองด้วย เหตุใดจึ่งไม่ปฏิบัติมารดา นิ่งให้ฉีกป่านทอผ้าหาเลี้ยงชีวิตปราศจากความกตัญญู

นางเคงเกียงว่า เจ้าพูดนี้ก็จริงดอก แต่มารดานิ่งนอนอยู่เปล่าไม่ได้ ก็ทำตามกำลัง เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วไม่ว่าผู้ดีเข็ญใจ ถ้าเอาใจใส่ในการงานอยู่แล้ว ความชั่วก็มิใคร่จะมี แต่คนที่เป็นผู้ดีมียศถาศักดิ์ ถ้าจะประกอบการงานก็ต้องเอาปัญญาเป็นที่ตั้ง ผู้ที่เข็ญใจไร้ทรัพย์จะประกอบการ ต้องเอากำลังเรี่ยวแรงเป็นที่ตั้ง ซึ่งมารดาว่ากล่าวสั่งสอนทั้งนี้ เพราะเห็นว่าบิดาของเจ้าเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ก็ถึงแก่กรรมไปแล้ว มารดาก็เป็นหม้าย ยังอุตส่าห์รักษาตัวมาจนทุกวันนี้ เพราะกลัวความติเตียนนินทาตลอดไปถึงบิดาเจ้า บิดาเจ้าจะพลอยเสียชื่อเสียงไป ตัวเจ้าเป็นเด็กหนุ่มยังไม่เข้าใจในขนบธรรมเนียมราชการ มารดามีความวิตกนัก ซึ่งสั่งสอนว่ากล่าวเจ้าทั้งนี้ ด้วยกลัวว่าไปเบื้องหน้าไม่มีใครเส้นไหว้ศพบิดาเจ้า

ปุ้ญเป็กคำนับมารดาแล้วก็กลับไปที่อยู่ ครั้นเวลาเช้าก็ไปหาขงจู๊ผู้เป็นอาจารย์เล่าความซึ่งมารดาสั่งสอนนั้นให้ฟังทุกประการ

ขงจู๊ก็ชมนางเคงเกียงว่าประกอบด้วยสติปัญญา รู้ขนบธรรมเนียมมาก หาหญิงจะเสมอเหมือนโดยยาก พูดแล้วก็เรียกศิษย์ทั้งปวงมาให้จดหมายถ้อยคำ ซึ่งนางเคงเกียงสอนบุตรนั้นไว้ ด้วยประสงค์จะให้ศิษย์ภายหลังรู้ต่อไป

แปลคำในบทที่หก สิ้นข้อความแต่เพียงนี้.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ