สุภาษิตขงจู๊

บานแพนก

วันเสาร์ เดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำ จุลศักราช ๑๑๘๘ ปีจอ อัฐศก อาตมภาพ พระอมรโมลี สถิตณวัดราชบุรณ พระอารามหลวง แปลฮักยี่ฉะบับจีนออกเป็นไทยได้ความว่า

ขงจู๊ผู้เป็นนักปราชญ์ในเมืองจีนกล่าวไว้ว่า ถ้าผู้ใดจะรักเรียนรู้ในหนังสือขนบธรรมเนียมทั้งปวง พึงอุตสาหะเรียนทุกเวลา ถ้าหมั่นอยู่ฉะนี้แล้ว เหตุใดจะไม่รู้ แล้วก็เพียรเล่าเรียนมาแต่ถิ่นฐานบ้านไกล เหตุใดจึ่งไม่สนุก อนึ่ง ถ้าคนโง่มาติเตียนก็อย่าโกรธ เพราะมันไม่รู้ว่าคนดี และมันติเตียนนั้น ใช่ตนจะกลับเป็นคนชั่วก็หาไม่

อิวจู๊เป็นศิษย์ขงจู๊จึ่งว่า อันเกิดมาเป็นคนให้มีกตัญญู ให้รู้จักเด็กผู้ใหญ่ อย่าทำให้เกินผู้ใหญ่ ถ้าคนใดเรียนรู้จริงๆ แล้ว ที่จะทำความชั่วนั้นน้อย เพราะไม่เรียนรู้จึ่งทำความชั่วมาก อนึ่ง มีคำปราชญ์ว่า ให้อุตส่าห์เรียนรู้ไปเถิด สติปัญญาก็เกิดเพราะเล่าเรียน อาจคิดการงานทั้งปวงให้สำเร็จได้ และให้มีกตัญญูรู้จักผู้ใหญ่ ความชอบทั้งนี้ถ้ามีในตัวแล้ว จะกลับไปเป็นของผู้ใด ก็จะได้แก่ตัวเอง

คำขงจู๊ว่า ถ้าผู้ใดมักพูดจาเป็นตลกคะนอง ทำหน้าซื่อใจคด มักล้อเลียนผู้ใหญ่ ปากหวาน ห้ามมิให้คบ มีประโยชน์น้อยนัก ถึงผู้นั้นก็หามีวาสนาไม่

คำเจงจู๊ ศิษย์ขงจู๊ว่า ถ้าจะทำการทั้งปวงอย่าให้ด่วนได้ใจเร็ว ให้ตรองแล้วตรองเล่า นํ้าใจผู้อื่นมาใส่ใจตัว น้ำใจตัวไปใส่ใจผู้อื่น ถ้าได้รับธุระเขาแล้วก็ให้สำเร็จดังวาจา ทำกิริยาให้ซื่อตรง จึงเป็นที่นับถือ ถ้าคบเป็นเพื่อนรักกันแล้ว อย่าลวงกันจึ่งจะยืดยาว

คำขงจู๊ว่า ถ้าเป็นเจ้าเมืองผู้ใหญ่ มีรถรบถึงพันเล่ม มีทหารมากพร้อมเพรียงอยู่ก็ดี ก็อย่าให้ทะนงตัว จะมีกิจราชการประมาณน้อยหนึ่งก็ดี ก็ให้ตรึกตรองให้ถ่องแท้ อันธรรมเนียมเป็นเจ้าเมือง ให้รักราษฎรเหมือนบุตร จะใช้ก็ให้ใช้เป็นเวลา อนึ่งผู้เรียนรู้ ถ้าอยู่ในเรือนให้เคารพบิดามารดาและญาติผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งปวง ถ้าออกจากเรือนให้ยำเกรงผู้มียำเกรงผู้มียศ อายุมากกว่าตน จะพูดสิ่งใดๆ ให้คนทั้งปวงนับถือเชื่อฟังได้ ให้เมตตาแก่คนทั้งปวง ถ้าเห็นพอจะคบได้ จึ่งคบหารักใคร่กัน ถ้าเห็นชั่วก็อย่าคบ ให้หลีกหนีเสีย อย่าเคียดแค้นชิงชังเขา ถ้าจะสั่งสอนว่ากล่าวให้ดูคนก่อน ถ้าเห็นพอจะว่ากล่าวได้จึงว่า

คำจู๊แฮ ศิษย์ขงจู๊ว่า รักผู้หญิงมากฉันใด ก็ให้รักนักปราชญ์มากฉันนั้น อนึ่ง ให้ปรนนิบัติบิดามารดาด้วยนํ้าพักน้ำแรงตัวเอง อย่าเกลียดใช้ผู้อื่น ถ้าอาสาเจ้าชีวิตอย่าให้คิดถึงชีวิตตน ตั้งใจอาสากว่าจะตาย ถ้าจะคบเพื่อนอย่าพูดให้เป็นคำสอง ถ้าทำได้ดั่งนี้แล้ว ถึงมิได้เรียนรู้ก็ดี นักปราชญ์ก็สรรเสริญว่า ผู้นั้นรู้มากแล

คำขงจู๊ว่า ถ้าเป็นปราชญ์ไม่ตรง ผู้นั้นวาสนาจะน้อยเพราะเรียนรู้ไม่ตั้งใจจะเอาจริง ถ้าเป็นข้าเจ้า ให้ตรงต่อเจ้า จะพูดสิ่งใดให้เจ้าเชื่อถือวางใจได้ ถ้าจะคบเพื่อน ให้เลือชอบ ถ้าเห็นว่าผิดแล้วให้เร่งแก้เสีย

คำเจงจู๊ว่า เป็นคนให้รู้จักเจียมตัว ถ้าเห็นพ่อแม่แก่ก็อย่าไปไกล ถ้าทำได้ดั่งนี้ คนทั้งปวงก็จะนับถือ

จู๊ขิมจึ่งถามจู๊ข้องว่า ขงจู๊อาจารย์เราทั้งสอง เที่ยวไปเมืองใด ก็ย่อมล่วงรู้กิจการเมืองนั้น เพราะไปเที่ยวถามเขาหรือจึ่งรู้ หรือว่าเจ้าเมืองบอกให้

จู๊ข้องจึงว่า ครูของเรามีสติปัญญามาก จะเที่ยวไปถามผู้ใดนั้นหามิได้ แต่แลเห็นกิริยาอาการชาวบ้านชาวเมืองแลภูมิฐานบ้านเมือง ก็อาจล่วงรู้กิจการเมืองนั้น แลอาจล่วงรู้นํ้าใจเจ้าเมืองว่าดีแลชั่ว มีปัญญาแลไม่มีปัญญา อนึ่ง ครูเราประกอบด้วยอัชฌาสัยน้ำใจดี มีแต่จะคิดให้มีประโยชน์แก่คนทั้งปวง เจรจาสิ่งใดก็เจือไปด้วยคำสั่งสอนควรจะจำไว้เป็นแบบแผนได้ และรู้จักขนบธรรมเนียมมาก เมื่อไปอยู่ในที่ใดๆ คนทั้งปวงได้รู้ได้เห็นแล้วก็ชวนกันไปมาหาสู่มาก แล้วก็เล่าความกิจการบ้านเมืองให้ฟัง เป็นอย่างนี้จึ่งรู้

คำขงจู๊ว่า ถ้าพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ จะทำการสิ่งใดๆ ก็ให้ปรึกษาพ่อแม่ก่อน ถ้าตายแล้วก็ให้ระลึกถึงคำที่พ่อแม่สอน จึ่งได้ชื่อว่ามีกตัญญู อิวจู๊จึ่งว่า อันขนบธรรมเนียมย่อมเป็นที่นับถือ ถ้าผู้ใดรู้ก็จะมีความสุขมาก อันคำสั่งสอนนักปราชญ์แล้วถึงเป็นความเล็กน้อยก็ดี อย่าได้ประมาทเลย พึงทำตามทุกคำเถิด ยิ่งจะดีขึ้นไปทุกครั้ง

อิวจู๊จึ่งว่า จะพูดจาสิ่งใดให้ระวังตัว อย่าเสียขนบธรรมเนียม อย่าไว้ใจคนใกล้คนคุ้น จะพูดจาตามอำเภอใจ ถ้าพูดดีเขาก็จะนับถือ ถ้าพูดผิดเขาก็จะดูถูก พูดออกไปแล้วให้เอากลับเข้ามาได้ อย่าพูดทิ้งเสีย จะเดินเหินให้มีกิริยา จะไปจากบ้านให้รักหน้า อย่าให้คนที่อื่นดูถูกได้ คนมีคุณอย่าทำให้เคืองใจ ถ้าคนใดปรนนิบัติได้ดังนี้ ให้คบหาเถิด

คำขงจู๊จึ่งว่า เป็นคนปราชญ์จะกินอย่าเห็นแก่อิ่ม จะอยู่อย่าเห็นแก่สนุกสบาย จะทำการสิ่งใด ก็ให้ว่องไว แต่อย่าให้เสีย จะพูดก็อย่าให้มากนัก อันคำนี้ใกล้เข้ากับคำพระ ประเสริฐนัก ควรจำไว้

จู๊ข้องว่า ถ้ายากจนก็ให้ค่อยนิ่งค่อยอยู่ อย่าเที่ยวประจบประแจง ค่อยหาไปตามสติกำลังของตัว ถ้ามั่งมีแล้วให้เอ็นดูคนทั้งปวง อย่าเลือกว่าคนโง่คนฉลาด ให้ตั้งจิตคิดอนุเคราะห์จงถ้วนหน้า ข้าพเจ้าว่าทั้งนี้ผิดหรือชอบ

ขงจู๊จึ่งว่าชอบแล้ว ถ้ายากจนทำให้ใจชื่นไว้ อย่าเสียใจวุ่นวายไป หาได้น้อยก็ให้กินตามน้อย หาได้มากก็ให้กินตามมาก ถ้ามั่งมีแล้วก็ให้เร่งเรียนรู้ดูขนบธรรมเนียมจงหนัก

จู๊ข้องว่า ในโคลงบทหนึ่งท่านเปรียบไว้ว่า ไม้กระดานแรกเลื่อยใหม่ ก็ยังไม่เกลี้ยงก่อน ต้องไสกบแลขัดสีจึ่งจะเกลี้ยง ศิลาแรกต่อยออกมาก็ยังไม่เกลี้ยงก่อน ต้องไสกบแลขัดสีจึ่งเกลี้ยง เปรียบดังคนทั้งปวงแต่เกิดมานั้น ก็หยาบอยู่ก่อน ต่อเมื่อใดเรียนรู้ดูคำสั่งสอน จึ่งจะค่อยดีได้

ขงจู๊จึ่งว่า ถึงมาตรว่าคนทั้งปวงจะไม่รู้ว่าเราดี เราก็ไม่เป็นทุกข์ เป็นทุกข์อยู่แต่ว่าเราไม่รู้จักน้ำใจคน อนึ่งจะทำการทั้งปวงให้ดูเยี่ยงดาวปักเตา คือดาวจระเข้อันประจำอยู่ที่เดียว แลเป็นประธานแก่ดาวทั้งปวง ให้มั่นคงยั่งยืนเหมือนฉันนั้น อนึ่งผู้เป็นใหญ่นั้น จะทำการสิ่งใด ก็ให้เป็นเยี่ยงอย่างได้ คนทั้งปวงเขาคอยจะทำตามอยู่ อย่าทำให้ผิดให้พลาด ถ้าผู้ใดทำผิดก็ให้ทำโทษตามผิด ถ้ามีปัญญารู้ว่าตนทำผิดแล้ว ก็ย่อมจะอายยิ่งกว่าเอาไปทำโทษอีก ถ้าหาปัญญามิได้ ถึงเอาไปทำโทษก็ยังไม่อาย จะสั่งสอนคนทั้งปวงให้มีความอาย ให้รู้จักขนบธรรมเนียม อนึ่ง ตั้งแต่อายุ ๗-๘-๙-๑๐ ขวบ จึ่งให้เริ่มเรียนหนังสือแต่ต่ำๆ ก่อน อายุ ๑๕ จึ่งเรียนหนังสือใหญ่ขึ้นไป อายุ ๓๐ จึ่งจะมีใจเชื่อถือลงเป็นแท้ อายุ ๔๐ ใจค่อยมั่นคงเข้า จะคิดทำอันใดก็พอจะทำได้ อายุ ๕๐ อาจรู้การฟ้าแลดิน อายุ ๖๐ ได้เห็นได้ยินอันใดก็อาจทำตามได้ อายุ ๗๐ แต่บรรดาที่เรียนรู้มา ก็อาจทำตามได้ทุกประการ มิได้ล่วงขนบธรรมเนียมยั่งยืนนัก

มีคำเบ้งอิจู๊ว่า ขุนนางในเมืองฬ่อ ถามขงจู๊ว่า ซึ่งจะให้มีกตัญญูแก่บิดามารดานั้น จะให้ทำเป็นประการใด ขงจู๊จึ่งว่า อย่าให้ขัดบิดามารดา จึ่งว่ามีกตัญญู ฮ่อนติศิษย์ขงจู๊จึ่งถามว่า ไม่ขัดบิดามารดา ได้ชื่อว่ากตัญญูเท่านั้นหรือ หรือจะให้ทำอย่างไรอีก ขงจู๊จึ่งว่า เมื่อบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ก็ให้เลี้ยงตามธรรมเนียม เมื่อตายก็ให้ทำการศพตามธรรมเนียม แล้วก็ให้เซ่นวักบูชาจงทุกเวลา อย่างนี้จึ่งเรียกว่ามีกตัญญู

เบ้งบูเป็ก บุตรเบ้งอิจู๊ ถามขงจู๊ว่า กตัญญูนั้นอย่างไร ขงจู๊จึ่งว่า อันบิดามารดา เมื่อบุตรเจ็บไข้ก็ให้เป็นทุกข์นัก ปรารถนาแต่จะให้บุตรหาย ถ้าบุตรผู้ใด เมื่อบิดามารดาเจ็บก็ให้เป็นทุกข์เหมีอนฉันนั้นนัาง จึ่งจะว่ามีกตัญญู

จู๊อิว ศิษย์ขงจู๊ ถามความกตัญญู ขงจู๊จึ่งว่า อันเลี้ยงบิดามารดา จะให้แต่สิ่งของเหมือนเลี้ยงสัตว์มีสุนัขเป็นต้นนั้น ก็ยังไม่เชื่อมีกตัญญูก่อน ต่อเมื่อใดใจรักใคร่ให้มาก ตั้งใจปรนนิบัติโดยคำรพ จึ่งเรียกว่ามีกตัญญู

จู๊แฮถามเรื่องความกตัญญู ขงจู๊จึ่งว่า อันปรนนิบัติบิดามารดา จะทำให้หน้าชื่นเสมออยู่นั้นยากนัก เมื่อยังไม่เหนื่อยก็พอจะชื่นอยู่ได้ ครั้นเหนื่อยเข้าแล้วก็มักขึ้งโกรธ อนึ่ง ถ้าธุระบิดามารดามีก็ให้เอาเป็นธุระตนจงสิ้น อนึ่งให้เลี้ยงญาติทั้งปวงจงทั่วกัน จึ่งเรียกว่าคนมีกตัญญู

คำขงจู๊ว่า เราพูดกับงันเงียนศิษย์ผู้ใหญ่ทุกวันๆ งันเงียนนั้นก็มิได้ขัด เหมือนเราพูดกับคนโง่ งันเงียนนั้นครั้นไปถึงที่อยู่ตนแล้ว ก็ไปตรึกตรองออกได้ความมาก จะว่าที่แท้นั้น งันเงียนเป็นคนมีปัญญามาก อนึ่งจะรู้จักว่าคนดีและชั่วนั้น ให้ดูกิริยาอันประพฤติการทั้งปวง ถ้าประพฤติการที่ดี จะเป็นคนดี ถ้าประพฤติการที่ชั่วก็จะเป็นคนชั่ว อนึ่งให้พิจารณาดูที่อยู่ ก็จะว่าคนดีแลชั่ว ถ้าทำความชั่วถึงจะปกปิดก็ไม่มิด ดูแต่กิริยาก็อาจล่วงรู้ได้ ถ้าคนดีแล้วก็ทำการทั้งปวงตลอดต้นตลอดปลาย อนึ่ง หนังสืออันใดที่เล่าเรียนไว้แล้ว ก็ให้หมั่นตรึกตรองดูแลให้ชำนิชำนาญ ก็เห็นอธิบายกว้างขวางออกไปทุกครั้งๆ หนังสืออันใดที่ยังไม่ได้เล่าเรียน ก็อาจล่วงรู้ตลอดไปได้ อนึ่งคนปราชญ์ไม่เลือกการทั้งปวง อาจทำได้ทุกประการ

จู๊ข้องจึ่งถามขงจู๊ว่า อย่างไรจึ่งเรียกว่าเป็นปราชญ์ ขงจู๊จึ่งว่า คนปราชญ์นั้น ปากพูดออกไปอย่างไรก็ทำเหมือนปาก อนึ่งนักปราชญ์นั้น ใจละเอียดรอบคอบไม่ลำเอียงอาธรรม์ ถ้าเรียนหนังสือไม่หมั่นตรึกตรอง เรียนไปแต่ปากก็เหมือนหนึ่งไม่ได้เรียน ถ้าเป็นแต่คิดเปล่าไม่ได้เรียน ก็มักวนเวียนอยู่ด้วยความสงสัย อนึ่งคนชั่วมีสองจำพวก พวกหนึ่งใจคับแคบ ตระหนี่นักไม่เผื่อแผ่ญาติและผู้อื่น เมื่อคราวตนอับจนก็พึ่งผู้ใดมิได้ พวกหนึ่งนั้นใจกว้างขวางนักเผื่อแผ่ไม่เลือกหน้า ให้พ่อแม่อย่างไรก็ให้คนอื่นอย่างนั้น ทำอย่างนี้ได้น้อยเสียมาก

ขงจู๊ว่าแก่จู๊ฬ่อว่า ซึ่งคำเราสั่งสอนท่านทั้งปวงนี้ ที่ท่านรู้ก็ให้บอกว่ารู้ ที่ไม่รู้ก็ให้บอกว่าไม่รู้ อย่าให้อวดรู้ต่อครู เล่าเรียนไปข้างหน้าจึ่งรู้ง่าย

จู๊เตียนว่าแก่ขงจู๊ว่า เมื่อแรกจะเรียนรู้ทั้งปวง ก็ปรารถนาจะเป็นขุนนางกินเบี้ยหวัดสิ้นด้วยกัน มิได้คิดที่จะทำอย่างอี่น

ขงจู๊จึ่งว่า ถ้ารู้มากชำนิชำนาญแล้ว ก็หากจะเป็นคนดีไปเอง ความสงสัยก็น้อยลง อนึ่งจะพูดจาสิ่งใดให้สำรวมปาก จึ่งจะไม่มีความผิด ถ้าได้รู้เห็นการทั้งปวงมากแล้ว จะทำสิ่งใดก็ไม่พลาด ถ้าประพฤติได้ดังนี้ แล้วก็ไม่ต้องไปเดินบนบานเป็นขุนนาง ท่านผู้มีวาสนาก็จะมาเชื้อเชิญไปเอง

อายกอง ขุนนางในเมืองฬ่อ จึ่งถามขงจู๊ว่า จะทำอย่างไรคนทั้งปวงจึ่งจะนับถือ ขงจู๊จึ่งว่า เป็นขุนนางให้ตั้งอยู่ในความสัตย์ ผู้ใดดีก็ให้ยกย่อง ผู้ใดชั่วก็ให้ข่มขี่ว่ากล่าวสั่งสอนเสีย อย่าเห็นแก่ลาภ กลับเอาคนดีเป็นคนชั่ว คนชั่วเป็นคนดี ทำอย่างนี้คนทั้งปวงจึ่งจะนับถือ

กุยข้องจู๊เป็นขุนนางผู้ใหญ่อยู่ในเมืองฬ่อ ถามขงจู๊ว่า ข้าพเจ้าใช้คนทั้งปวงไม่หักหาญ ค่อยปลอบโยนเอาใจเห็นพอจะทำได้จึ่งให้ทำ ถ้าเห็นทำยังไม่ดี ก็ค่อยสั่งสอนว่ากล่าวไป ทำอย่างนี้จะเห็นเป็นประการใด ขงจู๊จึ่งว่า ถ้าใช้คนอยู่ในอำนาจให้ทำขึง อย่าทำเหลาะแหละ บังคับการให้ถูก คนทั้งปวงจึ่งจะเกรงกลัว อนึ่งให้มีกตัญญูและรักคนอันอยู่ในอำนาจ ให้สรรเสริญคนดี สั่งสอนคนโง่ คนทั้งปวงจึ่งจะซื่อตรงต่อตัว

คนทั้งปวงจึ่งถามขงจู๊ว่า ท่านดีถึงเพียงนี้แล้ว เหตุใดจึ่งไม่เป็นขุนนาง คำในหนังสือท่านว่าไว้ ถ้ามีกตัญญูรู้คุณผู้ใหญ่ในตระกูล แลสั่งสอนญาติให้พร้อมเพรียงรักใคร่กัน ให้มีคำรพต่อผู้ใหญ่ ถ้าทำได้แล้วเหมือนอย่างปราบเมืองอันใหญ่ได้ ก็จะมีสุขเหมือนได้เป็นขุนนาง

คำขงจู๊ว่า เป็นคนไม่มีสัตย์ เหมือนเกวียนไม่มีแอก จะทำสิ่งใดก็ไม่สำเร็จ จู๊เตียนถามขงจู๊ว่า การจะมีไปข้างหน้าแต่แผ่นดินจิวเตียนนี้ ลงไปอีกสิบชั่วอายุคน ท่านยังอาจล่วงรู้หรือไม่ ขงจู๊จึ่งว่า ถ้าเอาเยี่ยงอย่างแต่ก่อน ตั้งแต่แผ่นดินเสี้ยงถางนั้นมาพิจารณาดูจนถึงทุกวันนี้ ก็อาจทายไปในเบื้องหน้าได้

คำขงจู๊ว่า ปีศาจทั้งปวงนั้นไม่ควรที่จะเส้น ให้เส้นวักแต่ที่เป็นประโยชน์ คำขงจู๊ว่า เป็นคนไม่มีเมตตา ถึงจะรู้จักขนบธรรมเนียมมาก เทวดามนุษย์ก็ไม่สรรเสริญ เพราะใจไม่ดี ถึงจะแกล้งทำเป็นดี ก็ไม่ตลอด ปากกับใจไม่เท่ากัน เปรียบเหมือนมะโหรีขลุ่ยซอทั้งปวง ไม่รู้จักตีก็ไม่เข้ากัน ฟังไม่เพราะ

ลิมหอง ชาวเมืองฬ่อ มาถามธรรมเนียมขงจู๊ๆ จึ่งชมแล้วบอกว่า เป็นคนอย่าเห็นแก่งดงามนัก ถ้างามมีประโยชน์จึ่งทำ งามไม่มีประโยชน์อย่าทำ แต่งแต่ใจให้เป็นประมาณ อย่าทำรื่นเริงอยู่เป็นนิตย์ ถึงคราวควรจะทุกข์ ก็ให้ทุกข์

คำขงจู๊ว่า นักปราชญ์แต่ก่อนจะพูดก็ไม่ชิงกันพูด จะทำก็ไม่ชิงกันทำ อนึ่งเป็นคนรู้มากแล้วให้ประกอบกิริยาและวาจาให้สมกับรู้ จึ่งจะดูงาม เปรียบเหมือนเขียนรูปภาพแต้มด้วยลายทอง ถ้าทำไม่สมกับรู้ เหมือนเขียนรูปภาพไม่มีเครื่องแต้ม

วองซุนแก๊เป็นขุนนางผู้ใหญ่อยู่ในเมืองโอย จึ่งถามขงจู๊ว่า ซึ่งท่านไปไหว้กระดูกกษัตริย์นั้น กระดูกจะทำประโยชน์สิ่งใดให้ ถ้าท่านมาไหว้เรา เห็นจะมีประโยชน์มากกว่า ขงจู๊จึ่งตอบว่า ซึ่งท่านว่านั้นไม่ถูก เป็นมนุษย์เกิดมาใต้ฟ้า ทำให้เทวดาโกรธ จะเอาอันใดเป็นที่พึ่ง เกิดมาในเมืองท่าน ไม่คำนับเจ้าเมือง จะเอาอันใดเป็นที่พึ่ง ถึงตายแล้วก็ต้องคำนับด้วยกตัญญู

ขงจู๊เข้าไปในศาลเจ้าจิวกง จึ่งถามคนรักษาศาลเจ้าว่า ธรรมเนียมที่จะคำนับเจ้าจิวกงนี่อย่างไร คนรักษาศาลเจ้าจึ่งตอบว่า ท่านเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ คนทั้งปวงก็นับถือว่าสาระพัตรจะรู้ เหตุใดจึ่งมาถามธรรมเนียมศาลเจ้านิดหนึ่งเท่านี้ ขงจู๊จึ่งตอบว่า อันเป็นปราชญ์ถึงจะรู้มากก็จริง สิ่งใดที่รู้แล้วก็ไม่ต้องถาม สิ่งใดที่ยังไม่รู้ถึงมาตรว่านิดหน่อยหนึ่งก็ดี ก็ต้องถามจึ่งควร

คำขงจู๊ว่า ในแผ่นดินเลียดก๊กนี้ ลองฝีมือทหารให้ยิงเป้าให้ถูกแล้วให้ตลอดด้วยจึ่งเอาเป็นนายทหาร ทำอย่างนี้ไม่ถูก ด้วยลางคนแรงมาก ลางคนแรงน้อย สุดแท้แต่ให้ถูกเป้าเป็นประมาณ

เจ้าเมืองฌ่อ ถามขงจู๊ว่า เป็นเจ้าเมืองจะให้ใช้ขุนนางอย่างไร เป็นขุนนางจะให้ปรนนิบัติเจ้าเมืองอย่างไร ขงจู๊จึ่งว่า เป็นเจ้าเมืองให้ใช้ขุนนางตามธรรมเนียม ถ้าเป็นขุนนางก็ให้ซื่อตรงต่อเจ้าเมือง คำข้อหนึ่งว่า เป็นคนดีให้สืบดูว่าที่ใดจะมีคนมีปัญญาบ้าง ถ้ารู้ว่ามีปัญญาแล้วให้ไปหา ถ้ามีปัญญาไม่ไปหา คนมีปัญญาจะว่าดีอย่างไร อนึ่ง ชาติคนชั่วถึงจะเอาเนื้อเอาใจบำรุงไว้ให้เป็นสุข ก็ไม่ดีได้ มีแต่จะคิดทำความชั่วต่างๆ แล้วคงจะไปหาที่ชั่ว ต้องทรมานไว้ให้ลำบากจึ่งจะได้ ถ้าตามใจก็จะรื่นเริงหนักไป ถ้าคนดีเล่าก็คงจะไปหาแต่ที่ดี ถึงคนชั่ว จะเอาไปหาแต่ที่ดี ถึงคนชั่วจะเอาไปบำรุงไว้ ก็ไม่อยู่ได้ อนึ่งอย่าหลงรักคนชั่ว จะให้ฉิบหาย ให้รักแต่คนดี จึ่งจะมีประโยชน์ จะทำการสิ่งใดให้ตั้งเมตตาไว้เป็นประธาน อนึ่งการมั่งมีและที่ขุนนางนั้น ก็ย่อมปรารถนาทุกคน ถ้าหากินโดยสุจริต ก็จะมั่งมียืดยาว ถ้าหากินไม่ชอบธรรม ก็ไม่ยั่งไม่ยืน ถ้าเป็นขุนนางและตั้งอยู่ในยุติธรรมก็จะยั่งยืน ถ้าไม่เป็นธรรมก็ไม่ยั่งไม่ยืน ถ้ายากจนเล่า ก็ให้เจียมตัว ทำการพอสมควรกับสติกำลัง ถ้าคราววาสนามาถึงก็หากเป็นไปเอง ถ้าจนแล้วยิ่งทำความชั่ว เหมือนแกล้งตัวเอง ถ้าเป็นปราชญ์ไม่มีเมตตา ผู้ใดจะว่าดี อันปราชญ์แล้วย่อมมีเมตตาอยู่ทุกเวลา จนชั้นแต่ว่า เวลากินข้าวก็คิดเมตตาอยู่ทุกค่ำเช้า ถึงยากจนก็ไม่เสียทางธรรม อนึ่ง ถ้าเป็นคนชั่วแล้ว และรู้ตัวกลับประพฤติที่ดี อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นคนดีได้ อนึ่ง ถ้าเวลาเช้าให้เราได้ความดี ถึงเวลาค่ำ ให้เราตายเสียเราก็จะยอม อนึ่ง คนเรียนหนังสือ ก็ปรารถนาจะหาธรรมเนียมที่ดี ถ้ายังวุ่นวายอยู่ด้วยนุ่งห่มและการกินว่าไม่เทียมเพื่อน มีความเดือดร้อนกินแหนงต่างๆ ก็หาจัดว่าเป็นคนรู้ได้ไม่ อนึ่ง เป็นคนดีในมนุษย์ อย่าให้เลือกการทั้งปวงว่าสิ่งนี้จะทำได้ สิ่งนี้จะทำไม่ได้ สุดแท้แต่ชอบทำแล้ว ก็ให้ทำเถิด อนึ่ง เป็นปราชญ์แล้ว มักระวังตัวกลัวผิดอยู่เป็นนิตย์ อันคนชั่วแล้ว เอาแต่ได้ทรัพย์เป็นประมาณ ไม่รู้ว่าผิดและชอบ อนึ่ง ถ้าคนโลภ ถึงจะเป็นขุนนางก็ดี เป็นไพร่ก็ดี จะทำการสิ่งใดก็มีแต่คนชัง อนึ่ง ถ้าเป็นเจ้าเมืองถ้าตั้งอยู่ในฉะบับธรรมเนียม มีใจอดออมโอบอ้อมอารี จะไปตีเมืองใดก็จะได้ ถ้าอยู่ในเมืองของตัวเล่า ขุนนางทั้งปวงก็จะทำตามธรรมเนียม อนึ่ง เกิดมาเป็นคน ถึงจะไม่ได้เป็นใหญ่ ก็ไม่เป็นทุกข์ จะเป็นทุกข์อยู่แต่ปัญญาจะน้อย จะไม่รู้จักดีแลชั่ว ถ้าคนทั้งปวงจะไม่รู้ว่าเป็นคนดีเล่า ก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเราทำดี เขาก็จะรู้ไปเอง อนึ่งจะทำการสิ่งใด ให้คนทั้งปวงเห็นดีด้วยจึ่งทำ อนึ่ง ถ้าจะใคร่เป็นคนดี ถ้าเห็นผู้ใดทำดีแล้ว ให้จำเอาเยี่ยงอย่างมาสั่งสอนตัว ทำให้เหมือนให้จงได้ ถ้าเห็นผู้ใดทำชั่ว อย่าให้เอาเยี่ยงอย่าง อนึ่ง ถ้าเป็นคนมีกตัญญู ถ้าเห็นบิดามารดาทำผิด ก็ให้ค่อยว่าค่อยกล่าวห้ามปราม อย่าตะคอกขู่ข่มขี่ ถ้าบิดามารดามิฟัง จะเฆี่ยนตี ก็ให้ค่อยกราบค่อยไหว้อ้อนวอนไป อย่าให้โกรธตอบ อนึ่ง คนแต่ก่อนไม่พูดมาก เพราะมีความอาย พูดออกไปก็ให้ทำได้ดังปาก ถ้าเห็นจะทำไม่ได้ก็อย่าให้พูด ถ้าผู้ใดทำการมักระวังตัวกลัวผิด การนั้นก็มิได้เสีย ถ้าเป็นคนปราชญ์อย่าพูดให้เร็วนัก ถ้าจะเล่าเรียนจึ่งให้ว่องไว อนึ่ง ถ้าเป็นคนดี ใช่จะดีแต่ตัวนั้นหาไม่ ถ้าตัวเป็นบิดามารดา ลูกจะประพฤติตาม ถ้าไม่มีลูก ญาติและเพื่อนบ้านก็จะประพฤติตาม

คำจู๊อิวว่า ถ้าเป็นขุนนางเห็นเจ้าเมืองทำผิด ก็ให้ห้ามปรามแต่ครั้งเดียว ถ้าเห็นเพื่อนทำผิด ก็ให้ห้ามปรามแต่ครั้งหนึ่ง ถ้าขืนว่าซ้ำไปก็จะห่างกันเสีย อนึ่ง ถ้าฟังผู้ใดพูด อย่าเพ่อเชื่อก่อน ให้ดูกิริยา ถ้าทำเหมือนพูดก็ให้เชื่อเถิด

ขงจู๊ชมเบ้งบูจู๊ว่าฉลาด ถ้าอยู่เมืองไหนเห็นเจ้าเมืองมีสติปัญญาจึ่งเตือนสติสั่งสอน ถ้าเห็นเจ้าเมืองไม่มีสติปัญญา ก็ทำเป็นโง่เสีย ขงจู๊ชมเบกอี แล จกเจ สองคนพี่น้องว่า ถ้าผู้ใดทำผิดแต่ก่อน ยกโทษเสียแล้ว ครั้นทีหลังผิดอีก ก็ไม่ยกเอาความเก่ามาว่า แล้วสันดานไม่พยาบาท

คำขงจู๊ว่า ถ้าคนมักพูดมาก ล้อเลียนหน้าเป็น อย่าให้ตอบรับนัก ถ้าคบกัน ขัดเคืองกันแล้ว ก็อย่าคบ ถ้าขืนคบไปจะได้ความเดือดร้อน

ขงจู๊นั่งอยู่ งันเอียน กับ กุยหลอ ยืนสองข้าง ขงจู๊จึ่งถามว่า ใจท่านทั้งสองดีอย่างไร จู๊หลอจึ่งว่า ถ้าข้าพเจ้าจะแต่งตัว ขี่รถ ขี่ม้า ไปก็ดี ถ้าเพื่อนมาทำให้ของที่งามเสียไป ข้าพเจ้าก็ไม่โกรธ งันเอียนจึ่งว่า ข้าพเจ้ามิได้ยกตัวเอง แลทำคุณแก่ผู้ใดแล้วไม่ลำเลิก ขงจู๊จึ่งว่า ใจเรายั่งยืน จะพูดกับเด็กผู้ใหญ่ก็ดี ก็มิได้พลาด คำขงจู๊ว่า สิบบ้านก็พอจะมีคนซื่อตรงเหมือนเราสักคนหนึ่ง แต่จะหาคนที่รู้หนังสือเหมือนเรานั้น เห็นจะไม่มี อนึ่ง ถึงรู้ก็ไม่เท่าใจรัก ใจรักก็ไม่เท่าเพลิดเพลินยินดี

ฮ่อนสี ถามขงจู๊ว่า จำทำตามธรรมเนียมชาวบานชาวเมืองทั้งปวง ซึ่งประพฤติอยู่ทุกวันนี้ จะเป็นประการใด ขงจู๊จึ่งว่า อันชาวบ้านชาวเมืองทุกวันนี้ หลงเซ่นผีนักมักผิดอยู่ ถ้าท่านจะทำตาม ก็ทำแต่พอประมาณเถิด อย่าหลงนัก ฮ่อนสีจึ่งถามว่า จะประพฤติอย่างไรจึ่งจะเป็นปราชญ์ ขงจู๊จึ่งว่า อันนักปราชญ์นั้นจะประพฤติการทั้งปวง มักทรมานกายลำบากเสียก่อน ปลายมือจึ่งสบาย อนึ่ง นักปราชญ์จะคิดการสิ่งใดให้เหมือนน้ำไหล ถ้าถือศีลให้มั่นคงเหมือนภูเขา ถ้าคนมีสติปัญญาแล้ว ใจรอบคอบคิดอยู่ไม่รู้วาย ถ้าคนมีศีล มักอยู่ที่สงัด อนึ่ง คนมีสติปัญญามักรักการสนุก คนมีศีลรักอายุยืน

ใจง่อ ถามขงจู๊ว่า คนใจกรุณานั้น ถ้าเห็นคนตกเหวลงไป มิต้องโดดลงไปตามหรือจะได้สมกับความกรุณา ขงจู๊จึ่งว่า ไม่เป็นเช่นนั้น อันคนกรุณาแล้ว ถ้าเห็นผู้ใดทำผิด ก็ให้ช่วยสั่งสอนว่ากล่าว อย่าให้เขาได้ความเดือดร้อนเพราะปาก อนึ่ง เป็นคนดี จะทำการสิ่งใด ให้ต้องด้วยอย่างธรรมเนียม อย่าให้กลับไปกลับมา

คำขงจู๊ว่า ถ้าจะตั้งอยู่ในธรรม ให้ทำใจให้อ่อน ถ้าจะเล่าเรียน ให้รู้จักแปลจงถ่องแท้ ถ้าได้ยินเขาพูดความดีอยู่อย่าลุกหลีกหนี ให้จำไว้ ถ้าทำผิดแล้วให้เร่งละเสีย อนึ่งเราจะกินของสิ่งใด ถ้าคนริมเรือนเขานุ่งห่มขาว พ่อแม่เขาตาย เราก็ไม่กินอิ่มได้ ถ้าเราไปช่วยเขาส่งสักการศพกลับมาแล้ว ก็ไม่อาจรื่นเริงได้

ขงจู๊จึ่งว่ากับงันเอียนว่า ถ้าเจ้าชีวิตจะใช้เราไปสั่งสอนชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงให้เป็นสัตย์เป็นธรรม เราก็จะอุตส่าห์ไปสั่งสอน ถ้าไม่ใช้เราไป ก็จะเก็บเอาแต่ความดีไว้ในใจเรา ท่านกับเราทุกวันนี้ ก็ประพฤติเหมือนกันอยู่

จู๊ฬ่อได้ยินดังนั้น จึ่งว่ากับขงจู๊ว่า ท่านสรรเสริญแต่งันเอียนคนเดียว ไม่สรรเสริญคนมีกำลังบ้างเลย เมื่อมีคนมาข่มเหงท่านๆ จะคิดประการใด ขงจู๊จึ่งตอบว่า อันคนมีแต่กำลังไม่มีปัญญา ถึงจะสู้กับผู้ใด เหมือนเอามือเปล่าไปตีเสือ ไม่มีเรือจะไปข้ามแม่น้ำ มีแต่จะแพ้ฝ่ายเดียว เราไม่สรรเสริญ

คำขงจู๊ว่า อันให้ข้าช่วยให้มั่งมีนั้น ช่วยกันไม่ได้ จะใช้ให้เข้าไปถือแส้ตามหลังเห็นจะดีกว่า ด้วยวาสนาไม่ควรจะมีแล้ว ถึงจะหาได้ก็ไม่อยู่ ถ้าจะรักเรียนรู้ทั้งปวงเล่า ก็สุดแต่ใจรักจึ่งจะรู้ ถ้าไม่รักก็เหลือสติปัญญาอาจารย์

ขงจู๊ไม่พอใจพูดอยู่ ๔ สิ่ง คือของไม่เคยมี ๑ อวดกำลังอวดรู้ ๑ ความเทลาะวิวาทรบพุ่ง ๑ เจ้าผี ๑ ขงจู๊สั่งสอนใน ๔ อย่าง ให้รู้หนังสือ ๑ ให้มีกิริยาดี ๑ ให้ตรง ๑ ให้มีสัตย์ ๑ อนึ่ง คนมักเอาของที่ไม่มีมาพูดว่ามี น้อยว่ามาก คนอย่างนี้ไม่ยืดยาว อนึ่ง การสิ่งไรที่ยังไม่รู้ ข้าก็ไม่ทำ ถ้าคนทั้งปวงจะทำสิ่งไร ถ้าข้าเห็นดี ข้าก็จะทำตาม ขงจู๊สั่งสอนศิษย์ว่า คนที่บ้านฮ่อเหียงนี้โง่นัก ไม่ควรที่จะเอาความดีออกพูด มีเด็กคนหนึ่งมาหาขงจู๊ ๆ สั่งสอน ลูกศิษย์ทั้งปวงก็ว่าขงจู๊ ๆ ก็ตอบว่า เด็กมาหาโดยคำรพตามธรรมเนียมก็ต้องสั่งสอน อนึ่ง ถ้าจะเอาบุญ จะว่าบุญไกลก็ไกล จะว่าใกล้ก็ใกล้ ถ้าใจจะเป็นบุญๆ ก็ถึง อนึ่งถ้าอุตส่าห์ ก็ให้ถูกธรรมเนียม ถ้าผิดธรรมเนียม ก็ลำบากเสียเปล่า ถ้าจะทำให้มั่นคง ก็ให้ถูกธรรมเนียม ถ้าไม่ถูก ก็แน่นหนาเปล่า แก้ไม่ออก ถ้ากล้าหาญ ก็ให้ถูกธรรมเนียม ถ้าไม่ถูกก็มักเป็นอันตราย ถ้าซื่อตรงก็ให้ถูกธรรมเนียม ถ้าไม่ถูกก็เป็นคนซื่อโง่ ให้รู้จักคนดีคนชั่ว คนทั้งปวงก็รักตัว ถ้ารู้จักเลี้ยงคนดี บ้านเมืองก็ไม่เป็นอันตราย

เจ็งจู๊ ว่าตัวเรา พ่อแม่ให้เกิดมา ให้รู้จักรักษาตัวอย่าให้เป็นอันตราย จนเลือดสักนิดหนึ่งก็อย่าให้ออก อนึ่ง ถ้าคนมาหาให้ดูหน้า ถ้าหน้าเขาไม่ปกติ อย่าให้คบ ถ้าหน้าตาตรงเป็นปกติ จะพูดจาก็ตามจริง จึ่งให้คบ ถ้ามาพูดยกยอเสียงต่ำเสียงสูง ก็อย่าให้คบ อนึ่ง ผู้ใดเป็นที่ไว้ใจฝากลูกกันได้ เหมือนเล่าปี่ฝากเล่าเสี้ยนกับขงเบ้ง และใช้ไปข้างไหนไม่เสียการถ้ามีศึกตายแทนเจ้าได้ ถ้าพร้อมสามสิ่งนี้จึ่งว่าเป็นคนดีได้ อนึ่ง ถ้าเรียนหนังสือได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่แล้ว ถ้าอยู่ในเมืองให้รักตน ถ้าทำศึกให้กล้าอย่ารักตน ขงจู๊ว่า ถ้าจะสอนคน ให้สอนแต่ตื้นๆ คือให้หมั่นทำมาหากิน แลรักพ่อรักแม่ก่อน อย่าเพ่อสอนให้ลึกไปใจจะกำเริบ อนึ่ง ถ้าจะทำใจกว้างแผ่เผื่อเงินทองไปแล้ว ครั้นยากจนลง อย่าเสียน้ำใจ ถ้าคนมาทำร้าย อย่าให้โกรธนัก อนึ่ง ถ้าผู้ใดมีความคิดดี รู้ธรรมเนียมมากเหมือนจิวกงก็ดี ถ้าใจคับแคบดีแต่จะเอาของเขา ทำความชั่วมาก เราก็ไม่ขอเห็น อนึ่ง ถ้าผู้ใดเรียนหนังสือจนสามปี ใจก็ยังมิได้คิดที่จะเป็นขุนนาง คนอย่างนี้หายาก อนึ่ง ผู้ใด ถ้ารู้หนังสือแล้ว ให้มีใจซื่อตรงรักทำความดีไปจนตาย ถ้าเห็นเจ้าเมืองไหนไม่เป็นสัตย์ไม่เป็นธรรม รักแต่เงินรักแต่ทอง เมืองนั้นจะเสีย เราอย่าอยู่ ถ้าเมืองไหนวุ่นวาย ลูกฆ่าพ่อ น้องฆ่าพี่ ก็อย่าให้อยู่ ถ้าเห็นเจ้าเมืองมั่นคงเป็นสัตย์เป็นธรรมแล้ว ก็ให้ไปเป็นขุนนางทำราชการเถิด ถ้าเมืองไหนไม่ดีแล้วให้อยู่ป่าเสียดีกว่า คนที่จะปรนนิบัติได้ดังนี้ ทุกวันนี้หายาก ถ้าผู้ใด เมื่อบ้านเมืองไม่เป็นธรรม มาทำราชการเป็นขุนนางก็ดี เมื่อบ้านเมืองเป็นสัตย์เป็นธรรม ไม่มาทำราชการ คนสองจำพวกนี้ ไม่ดี คนมีปัญญาดี จะคิดอันใดก็ทีเดียวได้ ไม่ลังเลเป็นสองใจ คนใจบุญก็ไม่มีทุกข์ คนกล้าก็ไม่กลัวใคร อนึ่ง ถ้าเป็นเจ้าเมืองได้ฟังว่า ผู้ใดมีคุณวิชาดี ก็อย่าเพ่อเชื่อถือนัก ถ้าเห็นว่าดีจริงแล้ว ก็อย่าให้วางใจนัก ถ้าเห็นน้ำใจว่าดีจริงแล้ว ก็อย่าตั้งให้เสมอตัวนัก อนึ่ง ลูกศิษย์สรรเสริญขงจู๊ว่า เมื่อพูดกับชาวบ้าน ก็หน้าชื่น พูดแต่ตื้นๆ ตรงๆ ตามธรรมเนียมชาวบ้าน ถ้าเป็นขุนนาง ก็พูดไม่ให้เสียธรรมเนียมขุนนาง ถ้าพูดกับขุนนางน้อยๆ กว่าตัวก็หน้าชื่น พูดเป็นคำสั่งสอน ถ้าพูดกับขุนนางผู้ใหญ่ก็หน้าชื่น อย่าให้ผิดธรรมเนียม ถ้าต่อหน้าเจ้าเมือง ก็นิ่งสำรวมหน้าชื่นอยู่.

จบฮักยี่สุภาษิตจีนแต่เท่านี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ