วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ น

บ้านปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๖๓

กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

อนุสนธิแต่ได้เขียนหนังสือกราบทูลไปแล้ว ในเรื่องเพลงที่หมายไว้ท้ายชื่อว่า “โอด” แล “พัน” นั้น ได้ตริตรองต่อไป นึกจำได้แน่นอนเพลงหนึ่งคือ “ดอกไม้ไทรโอด” ได้เคยถามครู คือพระประดิฐตาด ก็ลาออกบอกไม่ได้ว่าทำไมจึงมีคำโอดต่อท้าย ที่จิงเพลงดอกไม้ไทร เกล้ากระหม่อมก็เรียนไว้ได้ มีอยู่สองท่อน นึกว่ายังจะมีนอกไปจากสองท่อนที่ได้ไว้นั้นอีก เรียกว่าดอกไม้ไทรโอดกระมัง ครั้นมาเมื่อเขียนหนังสือถวายไปวานนี้ ได้แปลคำโอดว่า สูง พันว่า ต่ำ พาเอากลับหวนไปคิดถึงเพลงดอกไม้ไทรนั้นอีก เพลงดอกไม้ไทรอยู่ในเรื่องทำขวัญที่เรียกว่าเรื่องทำขวัญนั้น คือคนโบราณเฃาจัดเพลงต่าง ๆ ร้อยเฃ้าลำดับกันไว้ สำหรับตีปี่พาทย์ในคราวที่ต้องตีอยู่นานๆ ถ้ายืนอยู่เพลงเดียวก็เบื่อหู จึงจัดให้เปลี่ยนไป ๆ เรียกกันว่าเพลงเรื่อง ก็อย่างมโหรีนั้นเอง แต่มโหรีเรียกว่าเพลงตับ ความก็ต้องกันนั้นเอง เพลงเรื่องทำขวัญ สำหรับตีเมื่อเวียนเทียนทำขวัญ ขึ้นต้นด้วยเพลงนางนาค แล้วมหาฤกษ ฯลฯ แล้วไปถึงดอกไม้ไทร ต่อนั้นถึงพัดชา ได้นึกไล่เนื้อเพลงเหล่านั้น เหนเปนลีลาสทำนองเดียวกันหมด คือเปนเพลงสองท่อน ท่อนแรกกับท่อนหลัง ตั้งต้นเหมือนกันฃ้างปลายแยกกันก็มี ตั้งต้นต่างกันลงปลายเหมือนกันก็มี จะทูลถวายตัวอย่างที่ทรงได้เนื้ออยู่แล้ว คือนางนาคท่อนแรกกับท่อนหลังตั้งต้นเหมือนกันแยกกันฃ้างปลาย พัดชาแยกกันฃ้างต้น ปลายเหมือนกัน เพลงอื่น ๆ ในเรื่องนี้ก็เปนทำนองนั้นทั้งสิ้น แลยังสังเกตเหนอีกว่าที่แยกนั้น ขึ้นไปทางสูงท่อนหนึ่ง ลงมาทางต่ำท่อนหนึ่ง จึ่งลงความเหนว่าไม่ใช่อื่นไกลไปไหนเลย ดอกไม้ไทรโอดก็คือดอกไม้ไทรท่อนแรก อันมีลีลาสขึ้นสูง ท่อนหลังซึ่งลงต่ำก็เปนพัน ตลอดถึงพัดชาแลนางนาค ท่อนแรกก็เปนโอด ท่อนหลังก็เปนพัน อยู่ในที่แทนเดี๋ยวนี้เรียกว่าท่อน ๑ ท่อน ๒ ถ้าลงชื่อเพลงเกลี้ยงๆ เช่นว่า “ดอกไม้ไทร” ควรเฃ้าใจว่า ร้องทั้งสองท่อน ถ้าลงว่า “ดอกไม้ไทรโอด” คงแปลว่าให้ร้องแต่ท่อนหนึ่งท่อนเดียว นี่เหนจะเปนใกล้ถูกที่สุด ที่ทูลถวายตัวอย่างเพลงเขมรใหญ่ไปวานนี้ เหนจะเปนความเหนที่ประณีตเกินไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรส

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ