คำนำ

สามก๊ก เป็นวรรณคดีซึ่งแปลมาจากนิยายอิงพงศาวดารจีน เดิมเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาในประเทศจีน ต่อมาในสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง จึงมีปราชญ์จีนคนหนึ่งชื่อว่า ล่อกวนตง คิดแต่งสามก๊กขึ้นเป็นหนังสือ ความยาวทั้งหมด ๑๒๐ ตอน ความเริ่มในปี พ.ศ. ๗๑๑ พระเจ้าเลนเต้ทรงเป็นกษัตริย์ที่ปราศจากความสามารถ หลงเชื่อถ้อยคำยุยงจากขุนนางและผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์ ประเทศจีนจึงแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า ก๊กที่สำคัญคือ จ๊กก๊ก (เล่าปี่) วุ่ยก๊ก (โจโฉ) และง่อก๊ก (ซุนกวน) ทั้งสามก๊กทำสงครามแย่งชิงอำนาจกัน บ้านเมืองเกิดกบฏ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนทั่วทุกหย่อมหญ้า จนกระทั่งปี พ.ศ. ๘๒๓ ปีที่ ๑๖ ในรัชกาลพระเจ้าจิ้นอู่ตี้ (สุมาเอี๋ยน) ประเทศจีนจึงได้กลับมารวมกันเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนเรื่อง สามก๊ก ฉบับภาษาไทยนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้อำนวยการแปลจากหนังสือนิยายอิงพงศาวดารของจีนเรื่อง สามก๊กเอี้ยนหงี (ซันกั๋วเอี่ยนอี้) เรื่อง สามก๊ก ฉบับที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลนี้ วรรณคดีสโมสรได้ยกย่องให้เป็นยอดความเรียงเรื่องนิทาน เพราะเนื้อความที่แปลนั้นชัดเจน สำนวนภาษาไพเราะสละสลวย เป็นต้นแบบการแปลหนังสือนิยายอิงพงศาวดารจีนและบันเทิงคดีเรื่องอื่นๆ อีกทั้งเป็นต้นเค้าของวรรณคดีไทยบางเรื่อง และมีผู้นำมาแต่งเป็นบทร้องในเพลงไทยหลายตอน นอกจากนี้เรื่องสามก๊กยังให้ความรู้ด้านการปกครอง การทหาร และตำราพิชัยสงคราม ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง ด้วยเหตุนี้เรื่อง สามก๊ก จึงนับเป็นวรรณคดีที่ทรงคุณค่ายิ่ง

ประวัติการพิมพ์หนังสือสามก๊กฉบับภาษาไทย หมอบรัดเล มิชชันนารีชาวอเมริกันได้รวบรวมต้นฉบับและจัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ เป็นหนังสือชุด ๔ เล่มจบ ดังนั้นจึงมีผู้เรียกหนังสือสามก๊กฉบับพิมพ์ครั้งแรกนี้ว่า สามก๊ก ฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเล การพิมพ์ครั้งนี้ได้รับความนิยมจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก จึงทำให้โรงพิมพ์อื่นๆ พิมพ์สามก๊กออกจำหน่ายอีกหลายครั้ง แต่การพิมพ์ในชั้นหลังมิได้ตรวจพิสูจน์อักษรให้สมบูรณ์เหมือนฉบับพิมพ์ครั้งแรก ทำให้หนังสือสามก๊กฉบับต่อมาเกิดความลักลั่นคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับเดิมมากขึ้น ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระดำริห์จะจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง สามก๊ก เพื่อเป็นมิตรพลีในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ ราชบัณฑิตยสภาจึงดำเนินการตรวจสอบชำระหนังสือสามก๊กขึ้น โดยสอบทานกับฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลที่พิมพ์ครั้งแรก ฉบับตัวเขียนของเก่าที่มีอยู่ในหอพระสมุด และฉบับภาษาจีน การตรวจสอบชำระครั้งนั้นมีมหาเสวกโท พระยาพจนปรีชา (หม่อมราชวงศ์สำเริง อิศรศักดิ์) เป็นบรรณาธิการตรวจชำระต้นฉบับ พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) เลขานุการราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้ตรวจฉบับพิมพ์และจัดทำสารบัญ พระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ) เป็นผู้เชี่ยวชาญความรู้ฝ่ายจีน และศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์เป็นผู้ช่วยหาความรู้เพิ่มเติมในส่วนอื่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่าสามก๊กฉบับที่ราชบัณฑิตสภาชำระนี้ได้เพิ่มเติมปีพุทธศักราชและรูปภาพประกอบ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้มากขึ้น กล่าวได้ว่า หนังสือเรื่อง สามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภาตรวจสอบชำระ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นฉบับสมบูรณ์ที่สุด

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

พฤศจิกายน ๒๕๕๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ