คำชี้แจง

ลำอีสานหรือนิทานของชาวอีสาน เรื่อง พระยาคันคาก นี้เป็นวรรณคดีที่แพร่หลายมากเรื่องหนึ่งในอดีต ทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งนี้เพราะวรรณคดีเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับฝนฟ้าอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวไทยซึ่งอาศัยการเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ปีใดฝนแล้ง ผู้คนก็จะอดอยากยากแค้น บางทีถึงขนาดต้องเข้าป่าหาขุดเผือกขุดมันมากินแทนข้าวเพื่อประทังความหิวโหย ฉะนั้นน้ำฝนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของชีวิตชาวไร่ชาวนาทั้งในอดีตและปัจจุบัน

วรรณกรรมเรื่องนี้อ่านสนุกให้ทั้งความรู้และความบันเทิง โดยเฉพาะตอนว่าด้วยมหาสงครามระหว่างราชาคันคากและพระยาแถนฟ้า ประพันธ์ได้สนุกเร้าใจ นอกจากนั้นยังให้ความรู้ด้านคติธรรม เช่น ความสามัคคี ประเพณี ความเชื่อ ศิลปะการดนตรี สถาปัตยกรรม วิจิตรศิลป์ และอีกหลาย ๆ ประการที่ผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกไว้ในเนื้อเรื่อง

เรื่องพระยาคันคากนี้ จัดเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาได้ เพราะผู้ประพันธ์ได้ยกให้ตัวเอกของเรื่องเป็นพระโพธิสัตว์ผู้มากด้วยบุญบารมี อีกทั้งวรรณกรรมเรื่องนี้ชาวอีสานจะใช้ในพิธีกรรมขอฝนโดยจะจัดให้เป็นพิธีใหญ่เช่นเดียวกับบุญพระเวส คือเริ่มต้นด้วยการจัดหาสถานที่แล้วปลูกปะรำหรือผามขึ้น แล้วขุดสระลึกกว้างพอประมาณ เสร็จแล้วนำน้ำมาเทใส่ เอาจอกแหน เต่า หอย ปลา ปู กุ้ง ปล่อยลงไป ที่ขอบสระปั้นรูปสัตว์ต่าง ๆ มี ช้าง ม้า วัว ควาย กบ เขียด อึ่ง ต่อ แตน เป็นต้น ไว้ และจัดเครื่องบูชาอย่างละร้อย ข้าวตอกหนึ่งถ้วย ดอกไม้หนึ่งถ้วย น้ำส้มป่อยหนึ่งขัน ดอกไม้ธูปเทียนอย่างละห้าคู่และแปดคู่ใส่พานอย่างละหนึ่งพาน แล้วนิมนต์พระมาสวดคาถาปลาค่อวันละ ๑๐๘ จบ เป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นนิมนต์พระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงมาเทศน์เรื่อง พระยาคันคาก ๒ ธรรมาสน์ ชาวบ้านที่มาร่วมพิธีจะพากันนุ่งขาวห่มขาว สมาทานศีลห้า ศีลแปด แล้วอธิษฐานขอให้ฝนตก ตลอดเวลา ๓ วัน จึงเสร็จพิธี

วรรณกรรมเรื่องนี้ ต้นฉบับเดิมเป็นคัมภีร์ใบลานจำนวน ๘๖ ลาน คิดเป็นผูกประมาณ ๔ ผูก ได้มาจากวัดโจดนาห่อม ต. คลีกลิ้ง อ. ราษีไศล จ. ศรีสะเกษ ท่านพระครูสุพจน์วรนาถ เจ้าคณะตำบลคลีกลิ้ง เจ้าอาวาสวัดโจดนาห่อม เป็นผู้มอบให้ในคราวที่ผู้ถ่ายถอดออกสำรวจตามโครงการสำรวจเอกสารโบราณในท้องที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๓๕ ผู้ถ่ายถอดเห็นว่าจักเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจวรรณกรรมอีสาน จึงได้ทำการถ่ายถอดไว้

อักษรที่ใช้จาร เป็นอักษรไทยน้อย ลายมือผู้จารจัดว่าสวยพอประมาณ อ่านง่าย เพียงแต่ไม่มีวรรคตอน ซึ่งเป็นธรรมดาของการจารใบลาน ส่วนใหญ่จะจารติดต่อกันไปเรื่อย ๆ บรรทัดต่อบรรทัดจนจบเรื่อง ผู้อ่านต้องจัดวรรคตอนเอง สำหรับเรื่องนี้ผู้ถ่ายถอดได้จัดวรรคตอนใหม่ให้ถูกต้องตามรูปแบบคำประพันธ์ซึ่งผู้ประพันธ์ใช้ฉันทลักษณ์แบบโคลงสาร โคลงสารนี้เป็นคำโคลงโบราณ มีบทบัญญัติเช่นเดียวกับโคลงวิชชุมาลี

กฎเกณฑ์ของโคลงสาร มีดังนี้

๑. คณะ บทหนึ่งมีสองบาท บาทหนึ่งมี ๗ คำ จะรวมเป็นวรรคเดียวหรือแบ่งเป็น ๒ วรรค คือ วรรคหน้า ๓ คำ วรรคหลัง ๔ คำก็ได้ นอกจากนี้อาจมีสร้อยคำเพิ่มได้อีกทั้งข้างหน้าและข้างหลัง

๒. กำหนดเอก โท บทเอก กำหนดเอก ๓ ตำแหน่ง โท ๒ ตำแหน่ง ส่วนบทโท กำหนดเอก ๓ ตำแหน่ง และโท ๓ ตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังมีคำสร้อยได้ทุกวรรค ข้างหน้า ๒ - ๔ คำ ข้างหลังอีก ๒ คำ ดังนี้

บทเอก ..๐๐่๐้ ๐๐่๐๐..
  ..๐๐๐ ๐่๐้๐๐.
บทโท ..๐๐๐้ ๐๐๐๐่..
  ..๐๐่๐้ ๐๐้๐่๐..

ตัวอย่าง

(บทเอก) บัดนี้ จักกล่าวเถิง ราชาไท้ นามมะหน่อโพธิสัตว์
  พระก็ ทรงวิมาน อยู่สวรรค์เมืองฟ้า
(บทโท) มีหมู่ นารีแก้ว สาวสนมสามหมื่น
  งามยิ่งย้อย แฝงเฝ้าแก่บา.

(พระยาคันคาก)

อย่างไรก็ดี จากการอ่านวรรณกรรมอีสานหลาย ๆ เรื่องพบว่า กวีโบราณท่านไม่ได้เคร่งครัดกับกฎเกณฑ์ของฉันทลักษณ์มากนัก เพราะฉะนั้น จะพบว่าในการแต่งวรรณกรรมเรื่องต่าง ๆ บางบาทจะน้อยกว่าหรือมากกว่า ๗ คำ ก็มี แม้บทเอกโท คำที่เป็นเสียงเอกและเสียงโทก็ไม่ตรงตามกฎเกณฑ์ไปทั้งหมด

อักษรที่จารนั้นไม่มีวรรณยุกต์ จึงต้องอ่านหาระดับเสียงให้ได้ความการสะกดการันต์ จะเขียนแบบง่ายๆ อักษร ล, ร กล้ำ มีบ้างแต่ไม่มาทมักตัดให้สั้นลง เช่น ไกล - ไก, เครื่อง - เคื่อง, เปลื้อง - เปื้อง อักษร ร จะหาใช้ได้ยากแทบไม่มีเลย ส่วน ว กล้ำมีบ้างในบางคำ เช่น ไกว คำศัพท์พูดก็สั้น เช่น

คำพูด วรรณคดี
กวง กวาง
ก้วง กว้าง
ขวง ขวาง
ส่วง สว่าง

อักษรไทยน้อย และอักษรธรรมอีสาน มีอักษรอยู่ตัวหนึ่งที่ไม่มีใช้ในอักษรไทย อักษรตัวนั้น คือ ตัวหยอ หรือหยอหยาดน้ำ บางท่านเติมหางให้ยาวเป็น ย่ แต่บางท่านก็เขียนเป็น อฺย ที่เขียนเป็น อฺย ก็เพื่อให้เข้ากับอักษรกลาง จะผันได้ว่า อยา อย่า อย้า อย๊า อย๋า อฺย หรือ ย มี อ นำนี้ทางภาคกลางมีใช้เขียนอยู่ ๔ คำ คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก ซึ่งเป็นคำออกเสียงทางเพดานปาก ตัวหยอหยาดน้ำนี้ก็เช่นเดียวกัน ออกเสียงทางเพดานปาก จัดอยู่ในหมู่อักษรกลาง ในหนังสือเล่มนี้ผู้ปริวรรตใช้ อฺย แทนตัวหยอหยาดน้ำ เพื่อจะได้เป็นที่สะดุดตาของนักอักษรศาสตร์ ขอให้ท่านผู้อ่านอย่าได้สับสน หากสงสัย กรุณาเปิดดูศัพทานุกรมท้ายเล่มก็จะเข้าใจความหมายได้ดี

ภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทยอีสาน รูปแบบคำประพันธ์เป็นแบบร้อยกรองประเภทโคลงสาร จัดเป็นวรรณกรรมประเภทนิทานอิงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยยกให้ตัวเอกเป็นพระโพธิสัตว์

ยุคสมัยที่ประพันธ์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ใครเป็นผู้ประพันธ์เรื่องนี้ขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ปรากฏเพียงชื่อผู้คัดลอก บางฉบับก็จะบอกวันเดือนปีที่คัดลอกไว้ด้วย แต่ก็มีบ้างที่นักประวัติศาสตร์และวรรณคดีหลายท่านลงความเห็นว่าน่าจะแต่งในสมัยอาณาจักรเชียงใหม่กำลังรุ่งเรือง คือสมัยที่นำเอานิทานพื้นบ้านมาแต่งแล้วจัดไว้ในหมวดนิบาตชาดก ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า ปัญญาสชาดก เรื่องพระยาคันคากนี้ก็เช่นกัน คงแต่งในสมัยเดียวกันนี้ แล้วตกทอดมายังอาณาจักรลานช้างในสมัยพระเจ้าชัยเชฏฐาธิราช (พ.ศ. ๒๐๙๓ - ๒๑๑๔) พร้อมกับวรรณกรรมอื่น ๆ เช่น จำปาสี่ต้น ลิ้นทอง สุพรหมโมกข์ เป็นต้น

ตั้งแต่ภาคคำอ่านปัจจุบันไปจนจบเล่ม ผู้ถ่ายถอดได้ชำระให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย-ไทยอีสานปัจจุบัน โดยยึดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน และพจนานุกรมภาษาไทยอีสานฉบับต่าง ๆ เป็นหลัก ถ้าต้นฉบับผิดหรือตก ผู้ถ่ายถอดจะทำเชิงอรรถไว้ให้เป็นที่สังเกต การที่ผู้ถ่ายถอดชำระให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทยปัจจุบันเช่นนี้ เพราะมีเจตนามุ่งไปที่ผู้อ่านเป็นหลัก หวังจะให้ผู้อ่านเข้าใจได้โดยง่าย อย่างไรก็ดี ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผู้ถ่ายถอด ถ้าท่านพอใจจะคงไว้ตามต้นฉบับเดิมโปรดยึดภาคถ่ายถอดเป็นหลัก

อีกประการหนึ่ง การที่ผู้ถ่ายถอดใส่ชื่อบทหรือตอนต่าง ๆ เช่น บทไหว้ครู เป็นต้น ไว้ ก็เพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่านที่ยังเป็นเด็กระดับประถมและมัธยมเป็นต้น จะกำหนดเรื่องได้โดยง่ายเพราะหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกเพศทุกวัย

ภาคถอดความเป็นภาษาไทยนั้น ผู้ถ่ายถอดพยายามถอดให้ได้ใกล้ความเดิมมากที่สุด ยกเว้นบางประโยคที่มีเนื้อความซ้ำกันจึงจะตัดออก และมีบางคำบางประโยคเติมเข้ามาเพื่อให้เนื้อความเชื่อมต่อกันไม่ขาดห้วนแต่ก็มีน้อยมาก ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านภาคภาษาไทยและเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้เนื้อความต่างไปจากต้นฉบับ ฉะนั้นผู้อ่านอาจพบว่าถ้อยคำสำนวนภาษาไทยอ่านแล้วไม่ลื่น

ในการตรวจทานชำระให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทยอีสานปัจจุบัน ในภาคคำอ่านปัจจุบัน ผู้ถ่ายถอดได้อาศัยหนังสือดังมีรายชื่อต่อไปนี้เป็นหลัก คือ

๑. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕

๒. พจนานุกรม ภาคอีสาน - ภาคกลาง ฉบับปณิธานสมเด็จพระมหาวีรวงศ์

๓. พจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

๔. สารานุกรมภาษาอีสาน - ไทย - อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

ท้ายเล่มผู้ถ่ายถอดได้รวบรวมคำศัพท์ที่เห็นว่าค่อนข้างจะเข้าใจยากจัดทำเป็นศัพทานุกรมให้ความหมายเป็นภาษาไทยกลางไว้

นายสมชัย ฟักสุวรรณ์

นักภาษาโบราณชำนาญการ

งานภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ