ประวัติชนชาติญ่อ

ว่าด้วยกำเนิดเชื้อสาย

ชาติญ่อนี้เดิมจะอยู่ที่ไหน จะเปนชาติเชื้อติดต่อมาจากชาติใดไม่ปรากฎ ๆ เมื่อภายหลังว่าชาติญ่อนี้สืบเนื่องมาจากขุนบุรม ซึ่งเปนคนพื้นเมืองชาวเวียงจันท์ ขุนบุรมได้ปลีกตัวออกไปตั้งเปนก๊กเปนเหล่าขึ้นที่เมืองคำเกิด จะเปนจุลศักราชเท่าใดไม่ปรากฎ เรียกว่าพวกญ่อขึ้นอยูในความปกครองของเมืองเวียงจันท์ ครั้นเมืองเวียงจันท์เสียแก่กรุงเทพมหานครแล้ว ต่อมาเมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๑๙๘ พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) กับพระมหาสงคราม เกณฑ์กำลังพลเมืองฝ่ายเหนือเฉียงตวันออก ยกกองทัพไปตั้งอยู่นครพนมจัดราชการและปราบปรามบรรดาหัวเมืองฝั่งโขงตวันออกมีเมืองมหาไชยเปนต้น ขณะนั้นพระคำก้อนเจ้าเมืองคำเกิด พร้อมด้วยอุปฮาต ราชวงศ์ ราชบุตร์ มาคิดเห็นว่าเมืองเวียงจันท์เปนเมืองใหญ่ ยังเสียแก่กรุงเทพมหานครแลยอมสวามิภักดิ์แล้ว เมืองคำเกิดเปนเมืองน้อยก็ควรจะสวามิภักดิ์เสียด้วย จึงได้ทำบาญชีท้าวเพียราษฎรชายหญิง ภิกษุสามเณรได้ประมาณ ๒๘๕๙ คน ซึ่งอยู่ในปกครองของพระคำก้อนเจ้าเมืองนำขึ้นสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพ ฯ มหานคร พระยามหาอำมาตย์จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่มาณปีกุญ จุลศักราช ๑๒๐๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงรับไว้ให้อยู่ในร่มโพธิสมภาร พระคำก้อนจึงได้พาท้าวเพี้ยราษฎรอพยพจากเมืองคำเกิดลงมาตั้งภูมิลำเนาเคหะสถานอยู่ที่บ้านท่าขรยาง ในตอนนี้จะได้ศรอบครัวชายหญิงลงมาเท่าใดไม่ปรากฎ แต่คงลงมาไม่หมด ครั้นจุลศักราช ๑๒๐๖ พระคำก้อนพร้อมด้วยอุปฮาต ราชวงศ์ ราชบุตร์ พากันลงไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ณกรุงเทพ ฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้บ้านท่าขรยางเมืองท่าขอนยาง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร์บรรดาศักดิ์ให้พระคำก้อนเปนพระสุวรรณภักดี ปกครองเมืองท่าขอนยาง แต่คงให้ขึ้นอยู่กับเมืองกาฬสินธุ์ ส่วนราษฎรที่ตกค้างอยู่ณเมืองคำเกิดนั้นให้คงเปนไพร่หลวงเก็บส่วยขึ้นเมืองท่าขอนยาง และเมืองท่าขอนยางให้เรียกเก็บส่วยเปนชายฉกรรจ์ ๔๐๐ คน ค่าส่วยคนละ ๒ บาท กับเร่วอีก ๔๐ หาบ ในเวลานั้นหาบละ ๒๐ บาทมาขึ้นส่งต่อกรุงเทพ ฯ ทุกปี ต่อมาในปีชวด จุลศักราช ๑๒๑๔ พระสุวรรณภักดี ถึงแก่กรรม จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้อุปฮาต เปนพระสุวรรณภักดี ให้ท้าวหนูบุตร์คนใหญ่ของพระสุวรรณภักดีเปนอุปฮาต แลให้ท้าวหงบุสตร์ที่ ๒ เปนราชวงศ์รับราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบต่อมา ถึงปีจุลศักราช ๑๒๓๗ พระสุวรรณภักดีถึงแก่กรรม รุ่งขึ้นปีชวดจุลศักราช ๑๒๓๘ พระยามหาอำมาตย์กลับจากราชทัพเมืองหนองคาย ลงมาพักอยู่เมืองร้อยเอ็จ ในปีนี้ โปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาตเปนพระสุวรรณภักดี ให้ราชวงศ์เปนอุปฮาต ต่อมาในปีวอกจุลศักราช ๑๒๔๖ พระสุวรรณภักดีได้พาไพร่ประมาณ ๓๐๐ คน อพยพไปทำราชการขึ้นกับเมืองท่าอุเทน (คืออำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมเดี๋ยวนี้) คงเหลืออยู่แต่อุปฮาตปกครองเมืองท่าขอนยาง

ในปีมะโรงจุลศักราช ๑๒๖๖ (พ.ศ. ๒๔๔๗) อุปฮาตถึงแก่กรรม รุ่งขึ้นปีมะเส็งจุลศักราช ๑๒๖๗ (พ.ศ. ๒๔๔๘) โปรดเกล้า ฯ ให้ยุบเมืองท่าขรยางเปนอำเภอเมืองท่าขรยาง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๔ จึงได้ยุบอำเภอท่าขอนยางเปนตำบลขึ้นกับอำเภอกันทวิไชย คืออำเภอโคกพระเดี๋ยวนี้

ว่าด้วยภูมิลำเนาแลเคหะสถาน

พวกญ่อนี้หาได้มีภูมิ์ลำเนาอยู่ในตำบลท่าขอนยางแห่งเดียวไม่ เมื่อคราวอพยพมาจากเมืองคำเกิดนั้น บางพวกเห็นพื้นภูมิ์ไหนเหมาะแก่การอาชีพของตนก็หยุดตั้งภูมิ์ลำเนาอยู่ณที่นั้น ๆ เปนระยะ ๆ คือ บ้านนายุงอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดร บ้านกุดนางแดง บ้านหนามแท่ง อำเภอบ้านหัน จังหวัดสกลนคร บ้านจำปา บ้านดอกนอ บ้านบุ้งเป้า บ้านนาสินวน อำเภอวานรนิวาศ จังหวัดสกลนคร บ้านสิม บ้านหนองแวง บ้านสา ตำบลอิตื้ออำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ บ้านหนองไม้ตาย ตำบลโคกเครือ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

ในท้องที่อำเภอโคกพระ อยู่บ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง บ้านกุดน้ำไสย บ้านยาง บ้านสิ้นฟ้า บ้านเหล่ากลาง บ้านโพน ตำบลคันธาธิราช

เคหะสถานของพวกนี้ การก่อสร้างเช่นเดียวกับคนพื้นเมือง ๆ ชาวมณฑลร้อยเอ็จ คือผู้ขัดสนก็ปลูกทับกระท่อมใช้ฝาแผงหรือฝาแถบตองมุงด้วยหญ้าแฝก ส่วนผู้ที่พอมีอันจะกินก็ใช้ฝาไม้กระดานดีเลวตามฐานะ รูปเรือนทรงมลิลา

การพูดจาภาษาคล้ายกับชาวพื้นเมือง แต่เสียงแปร่งบางคำก็ไม่เหมือนกัน บางคำก็เหมือนกัน ผิวเนื้อเหลืองขาวหรือขาวมากกว่าดำ ชั้นเดิมพวกชายไว้ผมโหยง (ภาษาไทยเรียกว่าผมมหาตไทย) ส่วนพวกผู้หญิงไว้ผมยาวเกล้าตรงกลางศีร์ษะ แต่มาสมัยนี้พวกชายไว้ผมเหมือนคนไทย และผู้หญิงก็ตัดผมเหมือนคนไทยเกือบหมดแล้ว เหลือพวกที่เกล้าผมอยู่บ้างเล็กน้อย โดยมากเปนผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งไว้ผมยาวมาแต่เดิม

อาหาร อาหารการบริโภคพวกญ่อรับประทานข้าวเหนียวใช้วิธีนึ่งรับประทาน ปลาร้าเปนอาหารสำคัญขาดไม่ใคร่ได้ ส่วนนอกจากนี้ก็รับประทานเช่นเดียวกันกับคนชาวพื้นเมือง

ว่าด้วยการแต่งกาย

การแต่งกายของพวกชาย

ก. ชั้นเดิมถ้าเปนผู้มีตระกูล หรือมีทรัพย์สมบัติเปนหลักฐาน ชอบใช้เครื่องตกแต่งที่ส่งมาจากประเทศญวน มีผ้าฝ้ายและไหมต่างๆ ใช้ตัดเสื้อคล้ายเสื้อญวน คือเปนเสื้อผ่าอกแขนยาวแลกว้างนุ่งผ้าโจงกระเบน ผ้าที่ใช้นุ่งทอในพื้นเมือง คือผ้าไหมควบหรือที่เรียกกันว่าผ้าหางกระรอก

ข. ถ้าเปนราษฎรสามัญใช้เสื้อทอด้วยผ้าสีดำ ตามภาษาญ่อเรียกว่าเสื้อปีก มีลักษณคล้ายเสื้อที่ชาวนาใส่ทำนา คือเปนเสื้อผ่าอกใช้กระดุมไม่น้อยกว่า ๙ เม็ด ทรงรัดตัวและเอว ต่อจากเอวผายออกยาวปกหน้าขา มีสายทั้ง ๒ ข้าง ขลิบริมด้วยผ้าสีต่าง ๆ ตามแต่ชอบ ส่วนผ้านุ่งภายาญ่อเรียกว่าผ้าขี้งา คือทำด้วยฝ้ายยืนสีดำพุ่งสีขาวนุ่งโจงกระเบน แต่มาสมัยนี้ได้เปลี่ยนแปลงเหมือนคนไทย คือมีผ้านุ่งโสร่ง กางเกงจีน และสวมเสื้อเหมือนคนไทยเกือบหมดแล้ว

การแต่งกายพวกหญิง

ก. ในชั้นเดิมการแต่งกายของพวกหญิงที่มีตระกูลหรือมีทรัพย์สมบัติชอบนุ่งสิ้นทิว หรือสิ้นน้ำเปียก หรือสิ้นหมี่ แลนิยมการห่มผ้า คือห่มสะไบเฉียง ผ้าห่มมักซื้อมาจากประเทศญวน นอกจากนี้ก็มีใส่กระจอนหูกำไลข้อมือ กำไลเท้าซึ่งทำด้วยเงินและทอง และแหวนทองรูปพรรณ์ต่าง ๆ

ข. ส่วนการแต่งกายของหญิงธรรมดา ใช้นุ่งสิ้นฝ้ายเรียกว่าสิ้นตามืด ถ้าเปนสิ้นไหมก็เรียกว่าสิ้นหมี่ ถ้าทำด้วยฝ้ายกับไหมก็เรียกว่าสิ้นขั้นมีลวดลายต่าง ๆ กัน และนิยมห่มผ้าสะไบเฉียง แต่มาสมัยนี้การแต่งกายของหญิงชั้นดีและเลวก็ได้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง คือซิ้นคงนุ่งอย่างเดิม พวกสาวรุ่นใหม่ ๆ นิยมใส่เสื้ออย่างหญิงไทยสมัยนี้ ห่มผ้าก็มีบ้างแต่น้อยเต็มทีโดยมากเปนพวกขัดสน

ว่าด้วยลัทธิสาสนาและถือผี ลัทธิในการนับถือพวกญ่อนับถือพระพุทธสาสนา และนับถือผี

ว่าด้วยวิธีเมื่อคลอดบุตร

กำเนิด ธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณมา เมื่อเด็กคลอดออกจากครรภ์มารดาแล้ว บรรดาญาติพี่น้องโคตร์วงศ์ต้องมาแสดงการรื่นเริงหรือที่เรียกว่างันกันที่เรือนผู้คลอดบุตร์ ต่างมีหมาก พลู บุหรี่ ฝ้าย ไหม ขี้ผึ้ง ฯลฯ นำไปรวมกันแล้วก็สนุกเฮฮากัน ใครถนัดในทางหมอลำ หมอแคนหรืออย่างไรก็แสดงกันไปตามถนัด ฝ่ายชายกับหญิงก็พูดเกี้ยวพาราษีกันอย่างสนุกสนาน เมื่อเจ้าของบ้านมีธุระติดขัดอะไรก็เรียกใช้สอยไหว้วานกันได้ ทำพิธีสนุกครึกครื้นอยู่เช่นนี้ตลอด ๓๐ วัน เมื่อครบกำหนด ๓๐ วันแล้ว ต้องทำพิธีปกหม้อกรรม

ปกหม้อกรรมวิธีทำดังนี้ คือ ขุดดินเปนรางยาวประมาณ ๓ ศอกเศษ กว้าง ๒ ศอก ลึกประมาณ ๑ ศอก หาไม้เป้า ไม้ขามป้อม ไม้ชื่นชม ไม้สะแก ไม้เเดง (เปนไม้ยา) ได้พอสมควรแล้ว นำไม้เหล่านี้สุมไฟให้เปนถ่านเกลี่ยให้เสมอกันในรางที่ขุดไว้ แล้วยกแคร่ขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณ ๑ ศอก และนำเอาใบของไม้จำพวกที่กล่าวแล้วเกลี่ยลงบนแคร่ให้พอดี จึงให้หญิงขึ้นไปนอน หาผ้าหนา ๆ คลุม ให้หญิงนั้นพลิกคว่ำพลิกหงาย พอร้อนสมควรแล้วจึงเขาน้ำสาดลงที่ถ่านไฟ ไอจะขึ้นอบตัวหญิงนั้นจนเหงื่อโซมตัวพอควรจึงนำลงจากแคร่ เลิกการอยู่กรรม (อยู่ไฟ) ตกเวลากลางคืนจะมีญาติพี่น้องทั้งหญิงและชายนำบายศรีมาผูก (บะศรีสู่ขวัญ) เมื่อผูกขวัญ (สู่ขวัญ) เสร็จแล้วนับว่าเปนเสร็จการ

ว่าด้วยวิธีบวชนาค

การบวช ก่อนจะบวชเปนพระภิกษุนั้น ต้องนำดอกไม้ธูปเทียนไปสมาญาติพี่น้องเพื่อขออภัย และผู้นั้นจะต้องนุ่งผ้าจีบ และเปนผ้าสีไหนก็ได้ ไม่นุ่งโจงกระเบน และต้องห่มผ้าขาวสะใบเฉียงโกนศีร์ษะ จะใช้ผ้าสีอื่น ๆ ไม่ได้ เมื่อเสร็จสมาแล้ว เวลาเย็นทำพิธีมีพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์และมีการเลี้ยงดูญาติพี่น้อง ในเวลากลางคืนมีการละเล่นเช่นหมอแคนหมอลำ เล่นกันอย่างสนุกสนาน รุ่งเช้าเลี้ยงพระและญาติพี่น้องเสร็จแล้ว เวลานาคจะไปวัดมีกระบวรแห่อย่างครึกครื้น มีฆ้อง กลอง ปี่ แคน ฯลฯ เล่นกันระเบ็งเซงแซ่ไปตามทาง เมื่อถึงวัดต้องเวียน ๓ รอบแล้วก็บวช เหมือนอย่างพิธีของไทยทุกวันนี้

ว่าด้วยวิธีการสมรส

การสมรสก่อนที่ชายจะไปสู่ขอหญิง ฝ่ายชายต้องจัดขันหมากไปด้วย นขันหมากมี หมากพลู บุหรี่ สุรา ๑ ขวด กับเงิน ๒ บาท ๔ บาทตามฐานานุรูป และมีผ้าขาวปิดปากขันตามภาษาญ่อเรียกว่าเหล้าไขตู พลูไขปาก หมากไขคอ เมื่อฝ่ายชายพูดสู่ขอฝ่ายหญิงตกลงยินยอมแล้วก็เปิดเอาของในขัน แล้วกำหนดสินสอดทองมั่น (ตามภาษาญ่อเรียกว่าคาดค่านางวางค่าท้าว) ถ้าเปนคนมีหลักฐานหรือคนมีตระกูลมักกำหนดสินสอด ๑๒ ตำลึงทองคำเบี้ย ๑ (หนัก ๒ บาท) และช้างกับควาน ถ้าไม่มีช้างกับควานต้องคิดเปนราคาเงิน ๓๐ ตำลึง และกำหนดอาหารการบริโภคที่จะเลี้ยงดูญาติพี่น้องโคตรวงศ์แล้วกำหนดวันส่งเจ้าบ่าว เมื่อได้ฤกษ์ยามดีแล้วญาติพี่น้องพวกพ้องโคตร์วงศ์ก็จัดกระบวรแห่นำเจ้าบ่าวไปส่งตัวยังเรือนเจ้าสาว ส่วนฝ่ายหญิงก็จัดการรับรอง แต่ก่อนเจ้าบ่าวจะขึ้นเรือน ฝ่ายหญิงต้องนำเอาหินลับมีดไปวางไว้ที่น่าบันไดเรือนยังพื้นดินแล้วมีใบตองกล้วย ๑ ก้านปู และมีผ้าขาวปูทับใบตองอีกชั้น ๑ พวกหมอลำหมอแคนที่มาในกระบวรแห่มักไปเล่นสนุกครึกครื้นกันที่น่าบันได และญาติพี่น้องโคตร์วงศ์ฝ่ายหญิงต้องนำข้องสำหรับใส่ปลา ๑ ใบกับขวานฟันฟืน ๑ เล่ม มอบให้เจ้าบ่าวเจ้าบ่าวต้องรับเอาข้องแขวนเอวไว้ แล้วนำขวานไปฟันฟืนสัก ๓-๔ ดุ้นพอเปนพิธี (ถ้าฟันฟืนไม่เปนต้องจ้าง) เมื่อฟันฟินเสร็จแล้ว เจ้าบ่าวต้องขึ้นเหยียบบนหินลับมีด ฝ่ายพวกหญิงก็เอาน้ำล้างเท้าเจ้าบ่าว เสร็จแล้ว ขึ้นบันไดตรงเข้าครัวก่อน นำฟืนที่หอบมานั้นใส่ไฟหุงข้าว ต้มแกงพอเปนพิธีซึ่งฝ่ายหญิงจัดทำไว้ ครั้นแล้วเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวเข้านั่งคู่กัน มีบะศรี (บายศรี) ๒ สำรับ เจ้าบ่าว ๑ เจ้าสาว ๑ มีผู้เรียกขวัญ ๒ คน เมื่อเรียกขวัญให้พรเสร็จแล้ว บรรดาญาติพี่น้องทั้ง ๒ ฝ่าย ทำพิธีผูกข้อมือให้เงินทองกันตามสมควร ฝ่ายผู้เรียกขวัญก็ป้อนไข่ ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวนับว่าเปนเสร็จพิธีการสมรส

ว่าด้วยวิธีจัดการศพ

อนึ่งถ้าผู้ตายมีบุตร์เขย ในเวลากลางคืนต้องมีการกระทบสาก วิธีนี้จะเว้นเสียมิได้ คือมีสาก ๗ คู่ จับกระทบกันแล้ว ลูกเขยทุกคนเต้นไปตามระหว่างสาก ถ้าเต้นไม่ดีสากถูกขา ถ้าเต้นไม่เปนต้องจ้างคนเต้นแทน ต้องเต้นทุก ๆ คืนจนกว่าจะนำศพออกจากบ้าน นอกจากนี้ ก็มีหมอลำ หมอแคนเล่นกันสนุกสนานครึกครื้นเฮฮากันง่วงเหงา การนำศพไปเผาหรือฝัง ถ้าเปนผู้มีตระกูลหรือมีทรัพย์สมบัติ มักมีพระสงฆ์นำหน้าศพ และมีสวดอภิธรรมไปตามทาง นอกจากนี้ก็มีหมอลำหมอแคนเล่นกันเฮฮาไปตามทาง

ว่าด้วยอาชีพ

การอาชีพก็มีการทำไร่ทำนา ทำสวน จับสัตว์น้ำ มีโคเกวียนรับจ้างบันทุกขนส่ง เครื่องมือเหล่านี้ก็ไม่ผิดอะไรกับคนพื้นเมือง

ว่าด้วยกาลนักขัตฤกษ

การรื่นเริงและการมโหรศพ มีหมอลำ หมอแคน แต่หมอลำหมอแคนเวลานี้มีน้อยนับว่าเกือบจะเลิกเล่นกันแล้ว ชอบเล่นกลองยาวพิณพาทย์ ลิเกตามที่พวกชาวเมืองเล่นกันทุกวันนี้ ส่วนการนักขัตฤกษ์เบ็ดเตล็ดต่าง ๆ การทำบุญมีเดือน ๖ บุญบั้งไฟ คือทำพิธีขอฝน สิ้นเดือน ๙ ทำบุญเข้าประดับดิน กลางเดือน ๑๐ ทำบุญเข้าสาก กลางเดือน ๑๑ ทำบุญกาลพฤกษ์ มีจุดดอกไม้เพลิง เดือน ๑๒ บุญกะฐิน และบุญปราสาทผึ้ง เดือน ๓ ข้างแรม บุญเข้าจี่ เดือน ๔-๕ บุญมหาชาติ แต่การทำบุญการลัทธิต่าง ๆ เหล่านี้มีเปนบางแห่งและบางบ้าน ลัทธิเช่นนี้เปนลัทธิคล้ายคลึงกันกับพวกชาวพื้นเมือง เขาทำกันมาแต่โบราณกาลแล้ว เวลานี้ธรรมเนียมของพวกญ่อออกเลือนแล้ว เพราะอยู่ในหมู่คณะพื้นเมือง ทั้งลาวพื้นเมืองก็ประสมอยู่ด้วย ขนบธรรมเนียมออกจะแปรมาทางลาวพื้นเมืองมาก

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ