ประวัติชนชาติภูไทย

ว่าด้วยกำเนิดชาติเชื้อสาย

คนจำพวกนี้เดิมมีภูมิลำเนาเปนหลักฐานอยู่ที่เมืองน้ำน้อยอ้อยหนู ฟากแม่น้ำทางฝั่งซ้ายขึ้นกับเมืองไร่เมืองปุง ๒ เมืองนี้เดิมเรียกกันว่าเปนเมืองหลวง แต่ผู้ใดจะเปนเจ้าเมืองไม่ปรากฎ ครั้นต่อมาที่เมืองน้ำน้อยอ้อยหนูยังเกิดการอัตคัดอดอยาก แลทั้งท้าวว่าคนชาติภูไทย ซึ่งเปนหัวหน้าของคนจำพวกภูไทยนี้ เกิดมีการแก่งแย่งไม่พอใจกันกับเจ้าเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู เจ้าเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูก็ไม่มีความพอใจให้อยู่ในความปกครองด้วยเช่นเดียวกัน ท้าวก่าจึงได้เกลี้ยกล่อมสมัคพรรคพวกชาติภูไทยได้แล้ว ควบคุมครอบครัวคนจำพวกที่กล่าวนี้รวมทั้งชายหญิงประมาณหมื่นคนพาอพยพไปขอสมัคขึ้นแก่เจ้าอนุรุทกุมารเจ้าเมืองเวียงจันท์ซึ่งเวลานั้นเจ้าเมืองเวียงจันท์ยังเปนเอกราชอยู่ เจ้าอนุรุทกุมารได้สอบถามคนจำพวกภูไทยว่าเมื่ออยู่เมืองน้ำน้อยอ้อยหนูนั้นเคยประกอบการหาเลี้ยงชีพอย่างใด ท้าวก่าและพวกภูไทยจึงว่าเคยทำแต่ไร่ปลูกข้าวและไร่สวนผลไม้ต่าง ๆ แต่นาไม่เคยทำ เจ้าอนุรุทกุมารจึงสั่งให้ไปตั้งภูมิ์ลำเนาอยู่ที่เมืองวังซึ่งเปนที่อยู่ของคนจำพวกข่าอยู่โดยไม่ได้ขึ้นกับผู้ใด และไม่มีใครปกครอง แต่แผ่นดินเมืองวังนี้อยู่ในอาณาเขตของเมืองเวียงจันท์ ครั้นพวกภูไทยไปตั้งภูมิ์ลำเนาอยู่ที่เมืองวังแล้ว คนจำพวกข่าซึ่งมีภูมิ์ลำเนาอยู่แต่เดิมก็เกิดการอิจฉาแก่งแย่งอยากจะยกตนเปนนายพวกภูไทย พวกภูไทยก็อยากจะยกตนเปนนายพวกข่าเช่นเดียวกัน ต่างพวกต่างไม่ยินยอมกันจึงได้ตกลงสัญญากันว่าถ้าฝ่ายใดเอาหน้าไม้ยิงผา (ภูเขา) ลูกหน้าไม้ติดคาอยู่กับผาฝ่ายนั้นจะได้เปนนายอิกฝ่ายหนึ่งจะขึ้นอยู่ในความปกครอง เมื่อสัญญาตกลงกันแล้วหัวหน้าทั้ง ๒ ฝ่าย จึงพร้อมกันนำหน้าไม้ไปยิงผาชื่อผาบุญ (เขาบุญ) อยู่ทางทิศตวันตกเมืองวัง ครั้นเมื่อไปถึงผาบุญแล้วได้ตกลงให้พวกข่ายิงผาก่อน คนพวกข่าเปนคนมีนิสัยซื่อไม่มีไหวพริบจึงเตรียมหาหน้าไม้ขนาดใหญ่และแข็งแรง ขาหน้าไม้ยาวได้ ๓ ศอกยิงไปถูกก้อนหินผาลูกหน้าไม้กระดอนกลับคืนหาเข้าติดคาก้อนผาไม่ ฝ่ายพวกภูไทยมีไหวพริบดีกว่าทำธนูคันเล็ก ๆ แล้วเอาขี้สูตร์ (ชันนางโรง) ติดปลายลูกธนูยิ่งไปเบา ๆ ลูกธนูไปติดอักอยู่กับก้อนหินผา คนพวกข่าเห็นเปนการอัศจรรย์เลยยอมขึ้นอยู่ในความปกครองของพวกภูไทย ส่วนพวกชาติข่าที่ไม่ยอมอยู่ในความปกครองของพวกภูไทยมีบ้างเล็กน้อย ต่างก็พากันหลบหนีไป พวกภูไทยได้ทราบเหตุจึงได้จัดการออกติดตามไปสกัดทางอยู่ยังผาอีกแห่งหนึ่งชื่อผากาด (เขากาด) ซึ่งเปนผาที่มีช่องทางแคบเปนทางเดินได้เฉภาะช่องเดียว แต่ไม่พบจึงติดตามต่อไปอีก ถึงผาอีกแห่งหนึ่งที่ผาอูด (เขาอูด) เปนผาที่มีถ้ำลึก คนพวกข่าได้หนีเข้าไปอยู่ในถ้ำหลายครัวเรือน พวกภูไทยติดตามไปถึงปากถ้ำผาอูดเห็นมีรอยเท้าคนเดินเข้าไปในถ้ำเปนจำนวนมาก จึงจัดหาพริกไปเผาสุมตรงปากถ้ำควันพริกเข้าไปกลบอยู่ในถ้ำคนพวกข่าที่หนีหลบเข้าไปอยู่ในถ้ำทนควันพริกรมไม่ได้ออกมายอมสามิภักดิ์อยู่ในความปกครองของพวกภูไทยทั้งสิ้น เจ้าอนุรุทกุมารได้ทราบเหตุจึงได้ตั้งให้ท้าวก่าซึ่งเปนหัวน่าพวกภูไทยและพวกข่าในเมืองวังขึ้นเปนพระยาว่าตำแหน่งเจ้าเมืองวังขึ้นอยู่ในความปกครองของเมืองเวียงจันท์ เมื่อถึงเวลาสิ้นปีต้องจัดหาพร้าปลายตัด (มีดโต้) แลขวานรวมปีละ ๕๐๐ เล่ม นำไปส่งส่วยเมืองเวียงจันท์ทุก ๆ ปี ที่เมืองเวียงจันท์นั้นแขตแดนใกล้กับเมืองคำรั้วซึ่งเปนเมืองของชนชาติญวน พระยาว่ามีความเกรงกลัวว่าพวกญวนจะมาตีเอาบ้านเมืองจึงได้นำเอาขี้ผึ้งหนักปึกละ ๕ ชั่ง ๕ ปึก ไปส่งส่วยให้แก่เจ้าเมืองราชคำรั้วอีกด้วย ต่อมาพระยาก่าเจ้าเมืองถึงแก่กรรม เจ้าอนุรุทกุมารเจ้าเมืองเวียงจันท์จึงให้พระยาติโช นามเดิมไม่ปรากฎเปนเจ้าเมืองแทน ครั้นพระยาติโชถึงแก่กรรมเจ้าอนุรุทกุมารเจ้าเมืองเวียงจันท์จึงตั้งให้ท้าวก่ำบุตร์คนที่ ๒ ของพระยาก่าเปนพระยาก่ำ เปนเจ้าเมืองวังต่อมา พระยาก่ำได้ตั้งให้ท้าวแก้วผู้น้องชายเปนอุปฮาตอยู่บ้านหนึ่งต่างหาก ท้าวแก้วเปนคนสัตย์ซื่อมีใจอารีอารอบต่อไพร่บ้านพลเมือง มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่บ่าวไพร่ราษฎร ส่วนพระยาก่ำผู้พี่ชายเปนคนใจดุร้ายเหี้ยมโหดไม่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ราษฎร พวกราษฎรจึงพากันนิยมนับถือท้าวแก้วอุปฮาตเปนจำนวนมาก พระยาก่ำรู้สึกว่าราษฎรพากันนิยมนับถืออุปฮาตมากกว่าตน เกรงว่าอุปฮาตจะคิดทรยศแก่ตนจึงสั่งให้ท้าวแก้วอุปฮาตมาหาที่เมืองวัง อุปฮาตแก้วพร้อมด้วยนางหมอหลวงภรรยาขี่ช้างมาถึงเมืองวัง พระยาก่ำจึงได้เอาหอกแทงอุปฮาตแก้วตาย นางหมอหลวงภรรยาอุปฮาตแก้วจึงขี่ช้างหนีกลับคืนไปแจ้งแก่นางลาวผู้เปนมารดา นางลาวได้ทราบก็มีความโกรธ จึงแช่งไว้ว่าคนชาติเชื้อภูไทยนี้พี่น้องท้องเดียวแท้ ๆ ก็ยังฆ่ากันเอง ต่อไปขออย่าให้คนพวกนี้มีอายุมั่นยืนนาน ถ้าจะได้เปนเจ้าเปนนายก็ขออย่าให้ได้รับความเจริญแลอย่าให้คนจำพวกนี้ได้อยู่เรือนพื้นกระดานฝากระดานเลย

ว่าด้วยการแต่งกายแลลักษณภาษา

การแต่งกาย ในเวลาปรกติผู้ชายนุ่งผ้าด้ายตาเมล็ดงาสีดำ หรือนุ่งผ้าขาวม้าด้ายสีขาวสวมเสื้อด้ายสีดำ (ผ้าพื้นเมือง) ผู้หญิงนุ่งสิ้นใช้เสื้อผ้าสีดำ (ผ้าพื้นเมือง) ถ้าไม่สวมเสื้อแทนที่จะห่มผ้าเอาแขนเสื้อผูกสพายแล่งเฉียงบ่าใช้แทนห่มผ้า เครื่องประดับของชายในเวลาปรกติไม่มี ของหญิงมีกำไลเงินใส่ข้อมือกับกระจอนหู (ต่างหู) ทำด้วยเงินหรือทองเหลืองใส่ประจำตัวอยู่เสมอ เฉพาะคนที่มีทรัพย์สักหน่อยกับมีผ้ามนต์ขีต (ผ้าเก็บดอก) สี่เหลี่ยมผืนเล็ก ๆ ผูกคล้องศีร์ษะรัดผมไม่ให้รุงรัง โดยมากใช้ทั้งหญิงทั้งชายในเวลางานนักขัตฤกษ์ ถ้าเปนเวลาปรกติใช้แต่หญิง ถ้าเปนเวลางานนักขัตฤกษ์ ผู้ชายนุ่งผ้าไหมสวมเสื้อชั้นในห่มผ้าขีต (ผ้าพื้นเมือง) ส่วนผู้หญิงนุ่งสิ้นหมี่ไหม สวมเสื้อผ้าดำแขนยาว รูปเสื้อกระบอกติดลูกกระดุมถ้วยแถวหนึ่งประมาณ ๓๐-๔๐ เม็ด มาสมัยนี้บางคนใช้สตางค์ห้าหรือสตางค์ ๑๐ ร้อยช้อนกับลูกกระดุมทุกลูก ทำตามฐานะคนจนและคนมี เครื่องประดับกายมีลูกปัดแก้วรับเปนสายใช้คล้องคอผูกข้อมือเกี่ยวหูพันผมหลายเส้นใช้ทั้งหญิงแลชาย พวกผู้หญิงยังเอาเงินบาทเหรียญสลึงเหรียญสองสลึงเหรียญเฟื้องและเงินต่างประเทศเจาะรูร้อยผูกเปนแถว คล้องคอคล้ายเสมาอีกด้วย ถ้าเปนนักขัตฤกษ์การทำบุญต่างบ้านและต้องเดินทางไปจากบ้านพวกผู้หญิงต้องมีกระหยั่งใส่เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องแต่งตัวหวีกระจกแป้ง พร้อมไปด้วยทุกคน เมื่อเวลารับศีลพวกผู้หญิงต้องถอดเครื่องประดับกายออกกองไว้หมด เมื่อรับศีลแล้วจึงกลับแต่งตามเดิม ลักษณร่างกายของคนจำพวกนี้รูปพรรณ์สัณฐานเหมือนกับคนไทยธรรมดา เว้นแต่หญิงไว้ผมยาวทุกคน แลสำเนียงพูดต่างกับคนไทยธรรมดา คล้ายกับสำเนียงพวกพม่า แลถ้าจะสังเกตกิริยาที่เดินจะมีแปลกบ้าง โดยมากมักเปนคนผิวขาวเนื้อหยาบเดินส้นหนัก ท่าเดินท่าก้ม ๆ โดยสันนิษฐานว่าคนจำพวกนี้ชินในการเดินขึ้นเขาลงเขาเสมอ

ว่าด้วยลัทธิสาสนา

ในครั้งนั้นจำพวกภูไทยยังไม่มีการสาสนาจะไร นัยถือแต่ผีด้าม คือผีแต่บิดามารดาหรือปู่ย่าตายายที่ตายล่วงไปแล้ว เวลานั้นพระยาก่ายังไม่มีภรรยา เจ้าอนุรุทกุมาร เจ้าเมืองเวียงจันท์จึงประทานสาวสนมมาให้เปนภรรยาพระยาก่า คนหนึ่งชื่อนางลาว แลให้พระครูอิกรูป ๑ (พระสงฆ์) ไปตั้งวัดอยู่ที่เมืองวัง เพื่อช่วยแนะนำสั่งสอนทางพระพุทธสาสนา นางลาวเปนหัวน่าช่วยแนะนำในการทำบุญให้ทาน พวกภูไทยจึงมีการเลื่อมใสนับถือพระพุทธสาสนารู้จักการทำบุญกุศลตั้งแต่นั้นสืบมา มีการทำบุญ คือ ๑ ทำบุญบ้องไฟ ๒ ทำบุญพระเวศ (มหาชาติ) ๓ ทำบุญวันออกพรรษา ๔ ทำบุญอพานกรรม หรือทำบุญเข้าจี่ ๕ ทำบุญเข้าประดับดิน ๖ ทำบุญเข้าสาต ๗ ทำบุญกฐิน ๘ ทำบุญวันสงกรานต์

การทำบุญบ้องไฟนั้นมีวิธีที่จะกล่าวโดยย่อ ๆ ต่อไปนี้ คือนัดประชุมหญิงชายชาวบ้านไปรวมที่วัด แล้วนำบ้องไฟ (ดอกไม้ไฟคล้ายจรวด) ออกมาหามแห่เวียนรอบโบถหลายรอบ พวกผู้ชายแต่งตัวเปนเพศต่าง ๆ บางคนก็แต่งเปนตลกแลเปนรูปลามกร้องรำทำเพลงตามภาษาพื้นเมือง เรียกว่าเซิ้ง พวกผู้หญิงนั่งดูอยู่ตามปรำซึ่งเขาปลูกรอบโบถเรียกว่าตูบ เมื่อแห่บ้องไฟสมควรแก่เวลาแล้ว นำบ้องไฟขึ้นไปเก็บไว้บนกุฎีในวัด พวกที่แห่ต่างก็พากันเซิ้งไปตามหมู่บ้านเพื่อขอสุราสาโทกินจนถึงเวลากลางคืน พวกผู้ชายก็ออกเที่ยวแอ่นสาวตามปรำ (เกี้ยวสาว) จนตลอดคืน รุ่งเช้าจึงนำเอาบ้องไฟไปวางพาดกับบันไดซึ่งทำเตรียมไว้บนต้นไม้สูง ๆ ริมทุ้งกว้าง ๆ ถ้าจุดบ้องไฟขึ้นถือว่าเปนลางทำให้ฝนฟ้าข้าวปลาอุดม ถ้าบ้องไฟไม่ขึ้นถือว่าเขาปลาอัตคัด เมื่อจุดบ้องไฟขึ้นพวกผู้ชายที่เสพสุราสาโท ต่างก็ร้องรำทำเพลงแสดงความยินดีแล้ว หามเอาช่างผู้ทำบ้องไฟแห่ไปขอสุราสาโทตามบ้านกินอีก ถ้าบ้องไฟไม่ขึ้นต่างก็พากันจับช่างผู้ทำบ้องไฟลงทิ้งในโคลนตม เพื่อเปนการลงโทษโดยความสนุกสนาน การทำบุญชนิดนี้ต้องทำภายในเดือน ๖ ถึง เดือน ๘ กลางเดือน

การทำบุญพระเวศ (มหาชาติ) มีวิธีคือแบ่งกัณฑ์เทศน์ในจำนวน ๑๓ กัณฑ์ แบ่งออกอีกเปนหลายผูกส่งแจกไปตามวัดต่าง ๆ เพื่อนิมนต์มาเทศน์ในวันกำหนด และมีฎีกาบอกไปตามชาวบ้านหลายบ้านเพื่อให้มาฟังเทศน์ ถึงวันกำหนดพวกชาวบ้านต่างมาประชุมฟังเทศน์ ในคืนวันแรกงานมีเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน (เทศน์พระมาลัย) พอถึงเวลารุ่งเช้าเทศน์ศักราชบอกพระพุทธศักราช แลดำเนินความเบื้องต้น ต่อไปนี้จึงเริ่มเทศน์พระเวศเรียงตามลำดับกัณฑ์ แต่ในกัณฑ์ ๑ แบ่งออกเปน ๕-๖ ตอน แล้วแต่กัณฑ์ไหนจะมีความยืดยาว เพื่อให้พระเทศน์เปนตอน ๆ เมื่อพระเทศน์จบตอนหนึ่งก็ลงมาสับเปลี่ยน พระองค์หนึ่งก็เทศน์ต่อไป ทำนองที่เทศน์เปนทำนองไทยร้อยเอ็จทุก ๆ กัณฑ์ เทศน์เปนทำนองเดียวกันหมด ขณะที่พระเทศน์กล่าวบทคาถา พวกทายกที่ฟังต่างเอาดอกไม้เข้าตอกเข้าสารบางทีก็สตางค์หว่านซัดไปที่ธรรมมาสน์ เพื่อสมมุติว่าหว่านเข้าตอกดอกไม้ เมื่อผู้ใดที่นั่งฟังมีใจศรัทธาจะถวายสตางค์แลเงินทำบุญในขณะนั้นก็ส่งไปที่ทายกผู้เปนไวยาวัจกร ทิ้งใส่ถาดดัง ๆ ร้องบอกอนุโมทนาให้ผู้ที่มาฟังเทศน์ได้ยินทั่วๆกัน ว่าผู้นั้นมีใจศรัทธานำเงินหรือสตางค์มาอนุโมทนาด้วย บุญชนิดนี้ทำในระหว่างเดือน ๔

ทำบุญออกพรรษา คือพวกชาวบ้านทั้งหญิงชายพากันนำเอาดอกไม้ธูปเทียนไปจุดบูชาพระที่วัด ซึ่งพระเจ้าวัดเอาก้านกล้วยทำเปนรูปคล้ายเรือปักไว้กลางวัด พวกชาวบ้านก็พากันเอาดอกไม้ธูปเทียนไปปักเรียกว่าใต้ประธูป รุ่งขึ้นพวกชาวบ้านหญิงชายพากันไปที่วัดอีกพร้อมด้วยพระสงฆ์นำเอารูปซึ่งสมมุติว่าเปนเรืออีกลำหนึ่งไปลอยน้ำที่น้ำลึกหรือน้ำไหล เรียกว่าร่องเรือไฟ บุญชนิดนี้ทำในวันออกพรรษา

ทำบุญอพานกรรม หรือ ทำบุญเข้าจี่ คือพวกชาวบ้านพร้อมด้วยพระสงฆ์ไปตัดต้นไม้ข้าวจี่เปนต้นไม้ชนิดหนึ่งคล้ายต้นปอ มาจากป่ามากองไว้ที่วัด รุ่งขึ้นเช้าพวกชาวบ้านหญิงชายต่างนำเอาข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วไปประชุมที่วัด เอาเข้าเหนียวปั้นโอบไม้ที่ตัดมาเปนก้อน ๆ แล้วปิ้งไฟเอาไข่ไก่ทาเกลือโรยเอาน้ำอ้อยใส่ข้างในเข้าแล้วปิ้งสุก แล้วเรียกว่าข้าวจี่ (ข้าวปิ้ง) นำขึ้นไปถวายพระซึ่งมาประชุมพร้อมอยู่ที่ศาลาวัด เมื่อพระฉันข้าวจี่แล้ว มีเทศน์บอกอานิสงส์ ๑ กัณฑ์ บุญชนิดนี้เคยทำในเดือน ๓

ทำบุญเข้าประดับดิน คือ เมื่อถึงวันสิ้นเดือน ๙ เวลาเช้ามืดพวกชาวบ้านได้นำเอาอาหารพร้อมหมากบุหรี่อย่างละเล็กน้อยแบ่งเปนห่อมาวางไว้ตามต้นไม้หรือพื้นดินในบริเวณวัดโดยถือว่านำเอาไปเลี้ยงผีปู่ย่าตายาย พี่น้องที่ตายไปแล้ว พอถึงเวลาพระบิณฑบาตร์จึงนำเอาเครื่องไทยทานไปตักบาตร์อีกครั้งหนึ่ง

(ทำบุญเข้าสาต กับทำบุญกฐินไม่มีอธิบาย เห็นจะเปนด้วยผู้แต่งเผลอไป)

ทำบุญวันสงกรานต์ คือก่อนวันเนา ๑ วัน พระสงฆ์ในวัดได้นำพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ มาตั้งไว้บนร้านกลางวัด รุ่งขึ้นเปนวันเนาเวลาเย็น พวกชาวบ้านหญิงชายก็พากันเอาดอกไม้น้ำอบน้ำหอมไปประพรมพระพุทธรูปในวันเนานี้ ถือกันไม่ให้กระทำกิจการใด ๆ เว้นแต่การทำบุญโดยถือว่าถ้าใครทำในวันนี้จะเปนเสนียดจัญไร ในระหว่างตั้งแต่นี้ต่อไปถือว่าเปนวันรื่นเริงมีการประชุมก่อพระทรายหญิงสาวชายหนุ่มตักน้ำรดสาดกัน และพากันไปเที่ยวกินเข้าป่า เก็บดอกไม้มาจากป่ามาถวายพระพุทธทุก ๆ วัด ยังมีทำบุญข้าวพันก้อนพวกชาวบ้านจัดการข้าวเหนียวของหวานใส่ถาดเอาด้ายดิบหรือไหมผูกเปนสาแหรกหาม โดยมากใช้พวกผู้หญิงหาม มีพระสงฆ์นำน่าไปถวายพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ

ว่าด้วยการถือผี

การถือผี แต่การนับถือผีก็ยังคงนับถืออยู่ต่อมาจนทุกวันนี้ การที่นับถือผีกันมาทุกวันนี้ โดยมีเหตุผลบรรยายต่อมาว่าเมื่อพระยาก่าได้นางลาวมีบุตร์เปนชายด้วยกัน ๓ คน ๆ ที่ ๑ ชื่อท้าวคำ คนที่ ๒ ชื่อท้าวก่า คนที่ ๓ ชื่อท้าวแก้ว ในครั้งนั้นมีผีอยู่ที่เขาถ้ำใช้แสดงให้เห็นเปนตัวคนธรรมดา ถ้าพวกภูไทยมีกิจการจะทำงานสิ่งใดไปขอแรงพวกผีมาช่วยทำงานก็ได้เช่นเดียวกับคนธรรมดา แต่อาหารที่จะเลี้ยงพวกผีนั้นจะเลี้ยงได้แต่เครื่องของหวาน ของคาวพวกผีไม่กิน พูดจากันได้เหมือนกับคนธรรมดา แต่จะทำการต้องแยกกันทำเปนฝ่ายหนึ่งต่างหากไม่รวมกัน โดยกล่าวว่าพวกผีนั้นเหม็นสาบกลิ่นคน การถือผีโดยเข้าใจว่าผีบิดามารดาหรือปู่ย่าตายายที่ตายไปแล้ว เปนผู้ปกครองคอยดูแลการกระทำผิดของบรรดาลูกหลานญาติพี่น้องอยู่เสมอ ดังเช่นมีชายไปจับแขนหรือกอดจูบลูกสาวบนเรือนอย่างหนึ่ง หรือคนในครัวเรือนนั้นไปเรียนวิชาอาคมอย่างใดมาจากที่ใดโดยไม่บอกกล่าวกับผีอย่างหนึ่ง หรือลูกสะใภ้หลานสะใภ้เดินบนเรือนกระทืบส้นแรงหรือตีเคาะไม้เสาเรือนฝาเรือนแลไม้อย่างอื่นซึ่งเปนเครื่องประกอบเรือนนั้นอย่างหนึ่ง เหตุที่กระทำดังกล่าวนี้ ถือว่าผิดผีปู่ย่าตายาย ผีนันจะต้องมากระทำให้คนใดคนหนึ่งมีอาการเจ็บป่วยขึ้น เมื่อมีคนเจ็บป่วยเกิดขึ้นแล้ว ต้องไปพาหมอลำเหยาหรือหมอลำส่อง มาเสี่ยงทาย ถ้าหมอลำเหยาทายว่าผู้นั้นทำผิดอย่างนั้น ผีจะต้องกินไก่ กินหมู กินกระบือ คนที่กระทำผิดต้องจัดหามาเส้นผีตามความต้องการ แต่ต่อมาทุกวันนี้ การเส้นหมูและกระบือนั้นใช้แต่ไก่สมมุติกันเอาว่าเปนกระบือโดยมาก วิธีหมอลำเหยาหรือลำส่องเสี่ยงทายเปนพิธีเช่นเดียวกัน คือเมื่อมีการป่วยไข้ดังเหตุที่กล่าวมาแล้ว พวกญาติพี่น้องจึงได้ไปหาหมอลำส่อง หรือหมอลำเหยามาลำเสี่ยงทาย ก่อนที่จะทำพิธีลำส่องต้องจัดหา เทียนเล่ม ๑ หนัก ๑ บาท ๒ คู่ เทียนเล็ก ๕ คู่ ดอกไม้ขาว ๕ คู่ บุหรี่ ๔ ม้วน หมากกลีบ ๕ คำ กรวย ๓๒ กรวย เงินฮ่อย (เปนเงินรางอย่างเก่า หนักรางละ ๔ บาท) ๔ ฮ่อย ขันหมากเบ็ง (บายศรี ๑ คู่) สพานผ้า คือเอาผ้าขาวโยงลงมาจากที่ตั้งเครื่องบูชาเอามาไว้ที่ตั้งบายศรี ไข่ไก่ ๒ ฟอง เข้าสารเหนียว ๑ ถ้วยแช่หวาย (หวายลำเล็ก) ๑ ต้น ดอกไม้พุ่ม ๑ พุ่ม ของเหล่านี้ตั้งรวมไว้ในที่แห่งเดียวกัน ยังมีเรียกว่าคายเล็ก (ขวัญเข้า) คือดอกไม้หมากพลูเงิน ๑ สลึง ใส่ในพานตั้งไว้ แลหาเครื่องแต่งตัวสำหรับผู้หญิงแลชายเตรียมไว้ คือสิ้นผ้านุ่งผ้าห่มเสื้อชายเสื้อหญิงแพรห่มสีต่าง ๆ แหวนกำไรหรือสายสร้อย เมื่อเตรียมสิ่งของ ๆ พร้อมแล้ว มีคนนำแคนมาเป่าเรียกว่าหมอม้าแล้วหมอลำส่อง (คนทรงผี) จึงยกคายเล็ก (พานดอกไม้) ขึ้นว่าเปนคำลาวโบราณ มีใจความแปลว่าเชิญผีแลเจ้าให้ลงมาทรงคนที่เปนหมอลำส่อง เมื่อผีลงมาทรงสังเกตคนทรงมีอาการตัวสั่นเสียงสั่น วางพานดอกไม้ลงลุกขึ้นเรียกเอาของที่เตรียมไว้ให้แต่งตัว มาแต่งตัวเสร็จแล้วกินเหล้า ผีที่จะเข้าทรงครั้งแรก ๑ ชื่อหมอเฒ่า ๒ ชื่อหมอน้อยบริศาจ ๓ ชื่อหูระมาน ๔ ชื่อพระยาข่าสามแสน ชื่อผีที่กล่าวนี้เปนผีผู้ชาย เมื่อผีตนหนึ่งออก ผีอีกตน ๑ ก็เข้าสิงสู่แทน เมื่อผีชายเข้าสิงสู่หมดทั้ง ๔ แล้ว ผีหญิงจึงเข้าสิงสู่แทน มีชื่อ ๑ นางสีดา ๒ นางอำคา ๓ นางเมฆลา ๔ นางอั้วข่า แต่เมื่อผู้หญิงเข้าสิงสู่คนทรงชอบกินน้ำดอกไม้ ในขณะผีเข้าคนทรง คนทรงมีอาการร้องรำและทำนายอาการป่วยของคนไข้ ซึ่งนอนอยู่ข้างที่ตั้งเครื่องบูชา ว่าเปนอาการเนื่องมาจากสิ่งนั้น ๆ ถ้าทำนั้น ๆ อาการจะหาย เวลาที่ผีทรงชี้แจงโรคคนป่วยต้องมีหมอสอย (คนถาม) คอยถามอาการอยู่ที่นั้นด้วย

ว่าด้วยภูมิลำเนาแลเคหะสถาน

เมื่อประมาณ ๙๐ ปีเมืองเวียงจันท์ได้แตกเสียแก่ทัพไทย คนจำพวกภูไทยในเมืองวังนี้ได้ขึ้นแก่ความปกครองของเมืองราชคำรั้ว ครั้นต่อมาเมื่อปีขาลได้ ๘๓ ปีนี้ พระยามหาสงครามแม่ทัพไทยกับอุปฮาตเมืองเวียงจันท์ซึ่งแม่ทัพไทยจับมาไว้ที่เมืองไทยนั้น ได้พร้อมด้วยราชบุตร์เมืองกาฬสินธุ์ กับพระพิไชยอุดมเดช เจ้าเมืองภูแล่นช้าง แลท้าวเพ็ชร์ท้าวสาน เมืองเวหรือเรณุนครกรมการเมืองยโสธรเมืองมุกดาหาร ยกกองทัพไทยไปเอาไฟเผาบ้านเมืองแลยุ้งข้าว คนจำพวกภูไทยพวกข่าที่เมืองวังหมด ส่วนพระยาก่ำเจ้าเมืองวังได้อพยพครอบครัวหนีไปอยู่บ้านราชคำรั้วเขตแดนของญวน แม่ทัพไทยได้กวาดต้อนครอบครัวพวกราษฎรผู้ไทยแลข่าในเมืองวัง ให้มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ท้องที่อำเภอสหัสขันธ์และอำเภอกุฉินนารายน์ คืออยู่บ้านโพน บ้านหนองยาง บ้านหนองช้าง ตำบลโพน ท้องที่อำเภอสหัสขันธ์ ประมาณ ๓๐๐ หลังคาเรือน มีจำนวนพลเมืองรวมชายหญิงประมาณ ๑๒๐๐ คน แลอยู่ในตำบลบัวขาว ๕ บ้าน อยู่ในตำบลแจนแลน ๔ บ้าน ตำบลภูแล่นช้าง ๕ บ้าน ตำบลสงเปลือย ๖ บ้าน ตำบลคุ้มเก่า ๑๑ บ้าน ท้องที่อำเภอกุฉินนารายน์รวมชายหญิงทั้งหมดประมาณ ๑๔๕๒๑ คน พวกเจ้าของโรงกลาง คือพวกราชวงศบ้านวังมาตั้งอยู่เมืองพนานิคม พวกเมืองแสน ตั้งอยู่ที่บ้านหนองสูง บ้านคำชอี ท้องที่อำเภอมุกดาหาร ครั้นแม่ทัพไทยกวาดต้อนครอบครัวข้ามลำน้ำมาพ้นแล้ว พระยาก่ำจึงนำครอบครัวที่อพยพหนีไปนั้นมาตั้งอยู่ที่เมืองวังอีก เคหะสถานของคนจำพวกภูไทยนี้เรือนทำทรงรูปเรือนหอ (เปนแบบเรือนหลังคาตั้งสูง) แต่ก่อนใช้เแฝกมุงหลังคาฝาใช้ไม้ไผ่สานขัดกั้น แล้วกั้นเปนห้อง ๆ เล็ก ๆ ทางในอีก ๑ ห้องหรือ ๒ ห้องสำหรับคนนอนได้พอจำนวนคนที่มีอยู่ ในเรือนมากและน้อย พื้นเรือนใช้ปูด้วยฟากก็มีด้วยกระดานก็มี เสาใช้เสาไม้แก่นโดยมาก แต่ไต้ถุนเรือนชอบสูง เพราะตามธรรมดาเขาอาศรัยไต้ถุนเรือนเปนที่ทำการหัตถกรรม สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ตามธรรมดามีเสื่อกกปูเฉพาะในห้องนอน ถ้าเปนคนที่มีหลักฐานสักหน่อย ก็มีที่นอนยัดด้วยนุ่น แต่หมอนบางทีก็ยัดด้วยฟาง ถ้าสิ่งของที่เปนเงินทองใช้ฝังไว้ไต้ดิน เสื้อผ้าที่สำหรับใช้แต่งกายในงานนักขัตฤกษ์ใส่กระหยั่งหรือสมุกไว้ในเรือน โดยมากเตาไฟใช้ตั้งไว้ในเฉลียงเรือนหรือในชายคาเรือน หรือมิฉนั้นก็ทำครัวที่ไต้ถุนเรือน แต่เวลานี้คนจำพวกภูไทยได้เปลี่ยนแปลงการทำบ้านเรือนเหมือนกับเรือนไทยธรรมดา (ไทยร้อยเอ็จ) กล่าวคือถ้าเปนคนฐานะกลาง ๆ ทำเรือนเสาไม้แก่นทรงปั้นหยาหลังคามุงแฝกหรือกระดาน ฝาแผงหรือกระดานหรือกระแชงอ่อน เดี่ยวฝาต่ำ ๆ ช่องน่าต่างเปิด ๒ ช่องทางหัวแลท้ายเรือน มีเฉลียงต่อจากเรือนหลังใหญ่ บางทีก็มีหลังคาตรงเฉลียง บันไดพาดสำหรับชักขึ้นชักลงได้ แสงสว่างเวลากลางคืนใช้กระบอกจุด (ไต้) มีเขียงกระบองสำหรับรองขี้กระบอกจะตกถูกพื้น เสื่อใช้คล้าเสื่อกกไม้ไผ่

ว่าด้วยการอาชีพ

การอาชีพของคนจำพวกนี้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ข้างต้น ว่าเมื่อครั้งอยู่เมืองวังไม่เคยทำนาทำแต่ไร่ข้าวไร่ผักไร่แตงต่าง ๆ เท่านั้น ครั้งต่อมาเมื่อมาอยู่ในท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ คนจำพวกนี้จึงหันเปลี่ยนประกอบการเลี้ยงชีพในทางทำไร่ทำนา แลค้าขายโคกระบือเปนใหญ่กว่าอย่างอื่น เครื่องใช้ในทางอาชีพเหล่านี้มีมีดขวาน จอม เสียม ไถ คราด แลใช้กระบือเปนกำลังในการไถคราด

ว่าด้วยสัตว์พาหนะแลยานพาหนะ

พาหนะที่ใช้สอยของคนจำพวกภูไทยนี้ มีโคกระบือแลม้าเท่านั้น ยานพาหนะมีเกวียนโคสำหรับใช้บรรทุกข้าวแลสินค้าต่าง ๆ ลักษณของเกวียนมีไม้ทวก ๒ อันประกอบเปนตัวเกวียน มีล้อไม้ ๒ ล้อมีแพดประกอบมีประทุนพร้อมแบบเดียวกับเกวียนของชาวไทยร้อยเอ็จ ขนาดกว้างของเรือนเกวียน ๒ ศอกยาว ๓ ศอกคืบ เกวียนเล่มหนึ่งบรรทุกสิ่งของได้หนักประมาณ ๔ หาบเปนอย่างหนัก เกวียนนี้ใช้ได้เเต่จำเพาะที่มีทางเกวียนอยู่แล้วแต่เดิม หรือเปนทางเตียนพอตัวเกวียนเดินลอดไปได้ คิดราคาเกวียนธรรมดาราว ๓๐ บาท เกวียนเล่ม ๑ ใช้ได้เปนเวลาราว ๑๐ ปีเปนอย่างช้า ยังมีเกวียนอีกชนิดหนึ่งล้อทำด้วยไม้ทั้งต้น เลื่อยออกเปนแว่นวงกลมวัดส่วนสูงกลางกว้างประมาณศอกคืบ ตัวเกวียนยาว ๒ ศอกคืบ ใช้กระบือเทียมลาก ๑ ตัว เกวียนชนิดนี้ใช้บรรทุกข้าวๆได้ประมาณ ๒ หาบ ใช้ได้ราว ๑๐ ปีเปนอย่างมาก รูปพรรณ์สัณฐานคล้ายเกวียนใหญ่ ต่างกันแต่เปนขนาดเกวียนเล็กแลต่ำ มีราคาซื้อขายกันเล่มหนึ่งราว ๘ บาท ยังมีต่างอีกชนิดหนึ่งสำหรับใส่สิ่งของเครื่องใช้แลอาหารในเวลาเดินทางไปทำการค้าขาย ต่างชนิดนี้ใช้บรรทุกบนหลังโคใส่ของได้อย่างหนักประมาณ ๓ หมื่น ราคาซื้อขายอัน ๑ ราว ๑ บาทหรือ ๖ สลึง

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ