อธิบายเรื่อง พระสี่เสาร์กลอนสวด

เรื่องพระสี่เสาร์ที่โบราณกวีนำมาแต่งเป็นกลอนสวดนี้ มีที่มาจาก “สิโสรชาดก” ในปัญญาสชาดก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในคำนำหนังสือปัญญาสชาดก ภาค ๑ ฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๗๓ ว่า

“หนังสือปัญญาสชาดกนี้คือ ประชุมนิทานเก่าแก่ที่เล่ากันในเมืองไทยแต่โบราณ ๕๐ เรื่อง พระสงฆ์ชาวเชียงใหม่รวบรวมแต่งเป็นชาดกไว้ในภาษามคธ เมื่อพุทธศักราช ประมาณราวในระหว่าง ๒๐๐๐ จน ๒๒๐๐ ปี อันเป็นสมัยเมื่อพระสงฆ์ชาวประเทศนี้พากันไปเล่าเรียนมาแต่ลังกาทวีป มีความรู้ภาษามคธแตกฉาน เอาแบบอย่างของพระภิกษุสงฆ์ในลังกาทวีป มาแต่งหนังสือเป็นภาษามคธขึ้นในบ้านเมืองของตน แต่งเป็นอย่างอรรถกถาธรรมาธิบายเช่นมงคลทีปนีเป็นต้นบ้าง แต่งเป็นเรื่องศาสนประวัติเช่นคัมภีร์ชินกาลมาลินีเป็นต้น ตามอย่างเรื่องมหาวงศพงศาวดารลังกาบ้าง แต่งเป็นชาดกเช่นเรื่องปัญญาสชาดกนี้เอาอย่างนิบาตชาดกบ้าง โดยเจตนาจะบำรุงพระศาสนาให้ถาวรและจะให้หนังสือซึ่งแต่งนั้นเป็นหลักฐานมั่นคง ด้วยเป็นภาษาเดียวกับพระไตรปิฎก แต่หนังสือปัญญาสชาดกนี้เห็นจะแต่งในตอนปลายสมัยที่กล่าวมา เพราะความรู้ภาษามคธทรามลง ไม่ถึงหนังสือชั้นก่อน”

เรื่องราวในปัญญาสชาดกนับว่ามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการสร้างสรรค์วรรณกรรมร้อยกรองไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นเรื่องสมุทรโฆษ เรื่องพระรถเสน เรื่องพระสุธน เป็นต้น สำหรับเรื่องพระสี่เสาร์นี้ หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) กวีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นกล่าวถึงใน “นิราศเดือน” ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

พี่เป็นทุกข์ทุกเดือนเหมือนจะม้วย ใครจะช่วยทุกข์ได้ไม่ประจักษ์
ให้คับแค้นวิญญาณ์นักหนานัก จนสุดรักสุดฤทธิ์จะคิดการ
ให้สุดแค้นแสนวิตกในอกพี่ เหมือนพระสี่เสาร์กระษัตริย์พลัดสถาน
พระเสาร์ทับชันษาอยู่ช้านาน พระภูบาลเป็นบ้าเข้าป่าไป
ถึงกระนั้นพระองค์ก็คงหาย กคับสบายคืนมาพาราได้
แต่ทุกข์พี่นี้ยิ่งกว่านั้นไป ทำกระไรจะได้ชื่นทุกคืนมา

เรื่องพระสี่เสาร์ที่กรมศิลปากรตรวจชำระและพิมพ์อยู่ในหนังสือนี้แต่งเป็น “คำกาพย์” หรือ “กลอนสวด” ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งเมื่อใดและใครเป็นผู้แต่ง เรื่องย่อในกลอนสวดมีดังนี้

ท้าวสุนทราชกษัตริย์แห่งเมืองอนันตนคร มีมเหสีชื่อนางนพรัตน์ คราวหนึ่งนางนพรัตน์บรรทมหลับทรงสุบินประหลาดว่า พระบาทเบื้องขวาก้าวเหยียบอยู่เหนือยอดเขาพระสุเมรุ พระบาทเบื้องซ้ายเยียบยอดเขาสัตตบริภัณฑ์ และเด็ดได้ดอกมณฑาทองมาชมเชย นางได้นำความฝันทูลแก่พระสามี ท้าวสุนทราชจึงให้โหรทำนาย โหรทูลว่านางจะประสูติโอรสที่มีบุญญาธิการมาก

อยู่มานางนพรัตน์ก็ทรงครรภ์และประสูติโอรสนามว่า พระสี่เสาร์ ครั้นอายุได้ ๑๖ ชันษา ท้าวสุนทราชก็มอบราชสมบัติให้ครอบครอง พร้อมกับอภิเษกนางอนันตเทวีให้เป็นชายา พระสี่เสาร์ปกครองบ้านเมืองด้วยความยุติธรรม ประชาราษฎรต่างมีความสมบูรณ์พูนสุข มีเมืองใหญ่น้อยมาพึ่งโพธิสมภารมากถึงหนึ่งหมื่นสี่พันเมือง ด้วยบุญบารมีของพระสี่เสาร์ บันดาลให้เกิดม้าวิเศษ ๒ ตัว ชื่อว่าไตรจักรกับมหาศักดา ม้าทั้ง ๒ ตัวนี้ สามารถเหาะเหิรเดินอากาศได้ พระองค์จะทรงม้าท่องเที่ยวไปทั้งโลกมนุษย์ สวรรค์และบาดาล เป็นที่ยำเกรงในภพทั้งสาม

วันหนึ่งพระสี่เสาร์ทรงสุบินว่า ยอดปราสาทที่ประทับหักยับลง จึงรับสั่งให้ขุนโหรทำนายสุบินโหรคำนวณชันษาแล้วทูลว่า อีก ๗ วัน ดวงชะตาของพระสี่เสาร์จะร้ายนัก พระเสาร์จะเข้าทับลัคนาจะทำให้พระองค์ต้องเดือดร้อนลำบากแสนสาหัสและต้องพลัดพรากจากบ้านเมือง ต่อล่วงเวลาสองปีครึ่งจึงพ้นพระเคราะห์ โหรทูลแนะให้ตั้งพิธีบูชาพระเสาร์ เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา พระสี่เสาร์ทะนงพระองค์ว่ามีฤทธิ์เป็นที่เกรงกลัวของเหล่าทวยเทพได้ฟังโหรทูลดังนั้นก็กริ้ว สั่งให้จัดไพร่พลเตรียมการรับมือพระเสาร์ เกณฑ์ทหารฝีมือดีล้อมปราสาทไว้ถึง ๗ ชั้น ครั้นถึงวันที่ดวงชะตากำหนด พระเสาร์ทับลัคนา พระสี่เสาร์ก็มีอาการวิปลาส ฉวยพระขรรค์ไล่ฟันผู้คนวุ่นวายไปทั้งวัง เสนาอำมาตย์ไม่สามารถที่จะยับยั้งไว้ได้ พระองค์ทรงเครื่องกษัตริย์ ถือพระขรรค์ ขึ้นหลังม้าเหาะไปจากเมือง ฝ่ายนางอนันตเทวีผู้เป็นชายาส่งคนออกติดตามด้วยความห่วงใยก็ไม่พบ

พระสี่เสาร์ทรงม้าเหาะไปถึงกลางป่าก็ลงสู่พื้นดิน ด้วยอำนาจเคราะห์กรรมทำให้ม้าไม่สามารถเหาะได้ พระองค์จูงม้าเดินไปด้วยความเหนื่อยอ่อนจนถึงทุ่งนากว้างใหญ่ ขณะนั้นชาวนาผู้หนึ่งออกไปขับไล่ฝูงนกที่ลงมากินข้าวในนา วางกระบายใส่อาหารไว้แล้วมีสุนัขลอบมาคาบกระบายนั้นไป เคราะห์กรรมของพระสี่เสาร์บันดาลให้มงกุฎที่สวมอยู่บนพระเศียรกลับกลายเป็นกระบายไปทันที ชาวนาสำคัญว่าพระสี่เสาร์ขโมยกระบายของตนจึงตรงเข้าทุบตีจนบาดเจ็บสาหัสและชิงเอากระบายที่ครอบพระเศียรไป

พระสี่เสาร์จูงม้าเดินต่อไปถึงทุ่งนาอีกแห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของนาถูกขโมยลักลอบเกี่ยวข้าวไปเนือง ๆ แลเห็นพระสี่เสาร์ก็เข้าใจว่าเป็นขโมย บัดดลพระขรรค์ในพระหัตถ์ก็กลับกลายเป็นเคียวไปอีก เจ้าของนาจึงทุบตีและชิงเอาพระขรรค์ที่กลายเป็นเคียวนั้นไป พระองค์จูงม้าเลยไปถึงทุ่งข้าวอีกแห่งหนึ่ง เจ้าของนาผูกวัวไว้แล้วไปเกี่ยวข้าว บังเอิญวันนั้นวัวเกิดเป็นสัด สะบัดจนเชือกที่ผูกอยู่ขาดแล้ววิ่งไปเข้ารวมอยู่ในฝูงวัวตัวเมีย ทันใดนั้นเองม้าของพระสี่เสาร์ก็กลายเป็นวัว เจ้าของนาเข้าใจว่าพระสี่เสาร์ขโมยวัว ก็ตรงเข้าทำร้ายและชิงเอาวัว (ม้า) ไป

พระสี่เสาร์ได้รับความทุกข์เวทนาอย่างสาหัส ทรงดำเนินไปจนถึงเรือนของตายายชาวไร่จึงขออาศัยพักแรม ครั้นรุ่งเช้าสองตายายค้นหาเมล็ดถั่วงาเพื่อจะนำไปปลูก ปรากฏว่าเมล็ดพันธุถั่วงาหายไปทั้งหมด จึงค้นดูที่พระสี่เสาร์ ทันใดนั้นแก้วแหวนต่างๆ ที่ทรงนำติดพระองค์ไปด้วยก็กลายเป็นเมล็ดถั่วงา พระสี่เสาร์ซึ่งทรงบอบชํ้าอยู่แล้ว จึงถูกสองตายายทุบตีแล้วขับไล่เสียจากเรือน

พระองค์ทรงดำเนินไปจนถึงวัดแห่งหนึ่งก็หมดกำลัง ร้องขอความช่วยเหลือจากพระสงฆ์ สามเณรน้อยใจอารีรูปหนึ่งไปบอกให้พระสงฆ์มาช่วย สามเณรน้อยเฝ้าพยาบาลเอาใจใส่ดูแลจนพระสี่เสาร์ค่อยคลายจากอาการบาดเจ็บ พระสี่เสาร์แจ้งต่อท่านสมภารว่าจะขอบวชเป็นพระสงฆ์อยู่ในวัดนั้นด้วย ท่านสมภารไม่ขัดข้อง เตรียมผ้าไตรจีวรให้พระสี่เสาร์นำไปย้อมต้มด้วยน้ำกรัก (แก่นขนุน) พระเคราะห์ยังไม่สิ้น ขณะที่พระองค์กำลังต้มกรักอยู่นั้น มีชายผู้หนึ่งถูกโจรลักวัวไปก็ออกติดตาม แลเห็นพระสี่เสาร์จึงเข้าไปดู ทันใดนั้นกรักก็กลายเป็นเนื้อวัว น้ำกรักกลายเป็นเลือดวัว ผ้าจีวรกลายเป็นหนังวัว เจ้าของวัวเข้าใจว่าพระองค์เป็นขโมยจึงทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสแล้วชิงเอาสิ่งของทั้งหมดไป

พระสงฆ์สามเณรทั้งวัดเห็นประจักษ์แก่ตาว่าทุกอย่างเป็นผลของเคราะห์กรรม เกรงว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะติดตามมาจับกุม จึงขอให้พระสี่เสาร์ออกจากวัดไป

กล่าวถึงท้าวกินนุวัตเจ้าเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่ง มีชายาชื่อนางสุทธิเทวีและมีธิดารูปงามชื่อนางสุทัตต์ โหรทำนายว่านางสุทัตต์จะทำให้พระองค์ใด้รับความเสื่อมเสีย จึงขับไล่นางออกจากเมือง ให้ปลูกตำหนักอยู่กับเหล่าสาวใช้ นางสุทัตต์มีจิตใจโอบอ้อมอารี ตั้งโรงทานบริจาคอาหารและสิ่งของแก่ผู้ยากไร้เป็นประจำ

พระสี่เสาร์เหลือภูษาติดพระองค์เพียงผืนเดียว ทรงดำเนินระหกระเหินมาจนถึงเมืองกินนุวัต ด้วยบุพเพสันนิวาสจึงได้นางสุทัตต์เป็นชายา อยู่มาจนประสูติโอรสองค์หนึ่งนามว่า สุทัตศรี ท้าวกินนุวัตทรงทราบว่าธิดาได้สวามีเป็นคนเข็ญใจก็กริ้วนัก หาทางที่จะฆ่าพระสี่เสาร์ให้จงได้ วันหนึ่งจึงรับสั่งให้จองจำพระสี่เสาร์ไว้ นางสุทัตต์อ้อนวอนให้มารดาทูลขอโทษ ต่อมาท้าวกินนุวัตได้ทราบว่าชายเข็ญใจสามีของนางสุทัตต์คือพระสี่เสาร์ก็มีความเกรงกลัวยิ่งนัก จึงถวายบ้านเมืองให้ครอบครอง

เวลาล่วงไปสองปีครึ่งพระเสาร์ก็โคจรออกจากลัคนา สิ้นพระเคราะห์ สิ่งของต่างๆที่เคยกลับกลายก็คืนรูปดังเดิม กระบายเป็นมงกุฎ เคียวเป็นพระขรรค์ วัวเป็นม้า ฯลฯ ชาวนาชาวไร่ที่ครอบครองอยู่ต่างก็พากันตกใจ เกรงความผิดจะถึงตัวจึงนำสิ่งของทั้งนั้นไปถวายท้าวกินนุวัต

เมื่อพระสี่เสาร์ได้ของสำคัญทั้งหมดคืนมาแล้ว ทรงคิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นผลของเคราะห์กรรมจึงมิได้พยาบาทจองเวรกับผู้ที่เคยทำร้ายพระองค์ ทั้งยังประทานรางวัลให้อีกมากมาย พระสี่เสาร์รำลึกถึงพระสงฆ์และเจ้าสามเณรน้อยที่เคยช่วยเหลือพระองค์ จึงนิมนต์มาฉันอาหารในวัง แล้วขอสามเณรน้อยไว้เป็นโอรสบุญธรรม ภายหลังนางอนันตเทวีทราบว่าพระสี่เสาร์ทรงพำนักอยู่ที่เมืองกินนุวัต จึงจัดกองทัพใหญ่ไปเชิญเสด็จกลับมาครองเมืองสุนทราชดังเดิม

การชำระต้นฉบับ

เรื่องพระสี่เสาร์กลอนสวดนี้ กรมศิลปากรยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน ต้นฉบับเป็นเอกสารสมุดไทยเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก หอสมุดแห่งชาติ การตรวจสอบชำระครั้งนี้ใช้เอกสารโบราณต้นฉบับตัวเขียน ๒ สำรับ คือ

สำรับที่ ๑

เอกสารเลขที่ ๕๖๒ หมวดวรรณคดี

หมู่กลอนสวด เรื่องพระสี่เสาร์

ประวัติ นางเครือวัลย์ เทพหัสดินทร์ มอบให้หอพระสมุดฯ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๕

สำรับที่ ๒

เอกสารเลขที่ ๕๖๓ หมวดวรรณคดี

หมู่กลอนสวด เรื่องพระสี่เสาร์

ประวัติ หม่อมเจ้าหญิงทิพา ประทานหอพระสมุด ฯ พุทธศักราช ๒๔๖๐

เนื้อหาเรื่องราวในเอกสารทั้ง ๒ สำรับมีลักษณะใกล้เคียงกัน เอกสารสำรับที่ ๑ นั้น ไม่มีบทนมัสการตอนต้น พิจารณาจากสำนวนภาษาที่ปรากฏแล้วเอกสารสำรับนี้น่าจะมีอายุเก่ากว่าเอกสารสำรับที่ ๒ แต่ถ้อยคำหลายแห่งหายไปไม่ครบตามบังคับฉันทลักษณ์ เอกสารสำรับ ที่ ๑ เริ่มต้นว่า

๏ จะกล่าวตำนาน
นิยายบูราณ แต่ก่อนโพ้นมา
เมื่อพระสรรเพชญ์ สมเด็จศาสดา
สร้างสมภารมา ได้สี่อสงไขย
๏ ยังมีเมืองหนึ่ง
ดังชั้นดาวดึงส์ ประเสริฐเลิศไกร
ช้างม้าบริบูรณ์ เพิ่มพูนพิสมัย
ชื่อว่าภพไตร นันทราชพารา
๏ ท้าวผู้เสวยราชย์
ทรงนามพระบาท สันณุราชราชา
บุญหนักศักดิ์ใหญ่ ที่ในโลกา
รี้พลโยธา เสนาเนืองนอง
๏ เวลาเข้าเฝ้า
ทุกวันค่ำเช้า มากมายก่ายกอง
โหราพฤฒาจารย์ ทหารเนืองนอง
ดาบเงินดาบทอง เพชฌฆาตซ้ายขวา
๏ มีพระมเหสี
ทรงกัลยาณี มีศรีโสภา
ชื่อนางนพรัตน์ หน่อท้าวกระษัตรา
งามยิ่งเทวา ไม่มาเทียมสอง
๏ นักสนมกรมใน
ห้อมล้อมไสว ล้วนโฉมลำยอง
ดวงพักตร์ลักขณา โสภาขาวผ่อง
ดุจดาวเรืองรอง แวดล้อมจันทรา
๏ แสนสนิทพิศวาส
ด้วยโฉมนุชนาฏ ประภาสมุกดา
นางทรงสุบิน ว่าบาทเบื้องขวา
เหยียบยอดสุเมรุรา เด็ดมณฑาทอง
๏ ฝันเท่านั้นแล้ว
สมเด็จนางแก้ว เสด็จออกจากห้อง
ขึ้นเฝ้าเจ้าพี่ นบบาททูลฉลอง
แก้ฝันทั้งผอง ถูกต้องทุกอัน
๏ เมื่อนั้นราชา
ได้ฟังวาจา กัลยาเมียขวัญ
ให้หาโหรา เข้ามาฉับพลัน
อำมาตย์ผายผัน ตามมีโองการ
๏ บัดนั้นอำมาตย์
รับสั่งพระบาท ลินลาศมินาน
ครั้นถึงโหรเฒ่า บอกเล่าอาการ
ว่าปิ่นจักรพาฬ หาท่านโหรา
๏ บัดนั้นโหรเฒ่า
แจ้งว่าปิ่นเกล้า รับสั่งให้หา
มาถวายบังคม พระบรมตรัสมา
นิมิตกัลยา ดีร้ายเป็นไฉน
๏ ในฝันนั้นว่า
องค์นางกัลยา บาทขวาอรไท
เหยียบเมรุมาศ หัตถ์นาฏยื่นไป
เด็ดมณฑาได้ กุมไว้กับกร
๏ บัดนั้นโหรา
พิเคราะห์ลัคนา สุบินดวงสมร
ต้องในตำรา ทายว่าสุนทร
จักทรงครรภ์อ่อน แม่นแล้วทูลไป
๏ ว่าองค์เทวี
ทรงสุบินดังนี้ สวัสดีมีไชย
จักมีบุตรา โสภาอำไพ
บุญหนักศักดิ์ใหญ่ ใครไม่เทียมทัน

ฯลฯ

เมื่อเปรียบเทียบเนื้อความจากเอกสารสำรับที่ ๑ ตามที่ยกมา เป็นตัวอย่างกับเนื้อความในเอกสารสำรับที่ ๒ ซึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ จะเห็นว่า เนื้อความเท่ากันเอกสารสำรับที่ ๑ ใช้คำประพันธ์เพียง ๑๔ บท แต่เอกสารสำรับที่ ๒ ขยายคำประพันธ์ยาวออกไปถึง ๒๔ บท และหากพิจารณาในแง่ของสำนวนโวหารก็จะเห็นว่าความในเอกสารสำรับที่ ๑ รัดกุมไพเราะกว่าแต่ข้อความขาดหายไปหลายแห่ง สันนิษฐานว่า เอกสารสำรับที่ ๒ น่าจะเป็นสำนวนที่มีการแต่งซ่อมในภายหลังและผู้แต่งได้ขยายรายละเอียดบางส่วนออกไปอีกโดยที่เค้าเรื่องไม่เปลี่ยนแปลง

การตรวจชำระเรื่องพระสี่เสาร์กลอนสวดเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่ในครั้งนี้ มุ่งที่จะรักษาเรื่องราวนิทานโบราณของไทยไว้ให้คงอยู่ จึงถือเอาเนื้อความตามเอกสารสำรับที่ ๒ เป็นหลักในการตรวจสอบ ทั้งนี้ได้ปรับอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน

อนึ่ง การพิมพ์ครั้งนี้ได้นำสำเนาต้นฉบับเอกสารสำรับที่ ๑ มาพิมพ์ไว้ตอนท้ายของหนังสือนี้ เพื่อให้ผู้สนใจศึกษาพิจารณาเปรียบเทียบความแตกต่างของสำนวนโวหารที่ปรากฏ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ